การฆาตกรรมครั้งแรกของโลกคือการฆาตกรรมในครอบครัว

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ค. 15, 2019 11:09 am

การฆาตกรรมครั้งแรกของโลก
คือการฆาตกรรมในครอบครัว

พระคัมภีร์ไบเบิ้ลเล่าถึงเหตุการณ์นี้ ทันทีหลังจากอาดัมและเอวา(อีฟ) ออกจากสวรรค์ มาอยู่ในโลก ทำให้เป็นบาปแรกของมนุษย์ที่กระทำเมื่อมาอยู่ในโลก

ลูกสองคนพี่น้องของอาดัมและเอวา คือกาอินและอาเบล กาอินทำการฆ่าน้องชายตนเอง

ความเจ็บปวดที่สุดของคนเป็นพ่อแม่คือลูกที่ตนรักหันมาฆ่ากัน

เลือดข้น ของอาเบลฟ้องทวงความยุติธรรมจากพระเจ้า

(1ยอห์น 4:20)ถ้าใครกล่าวว่า "ข้าพเจ้ารักพระเจ้า" แต่ใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน เขาเป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่มองเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่มองไม่เห็นไม่ได้.

การฆาตกรรมพี่น้องกันเอง ปรากฎในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด โดยหลักแล้วก็เพื่อแย่งชิงความรักและการเอาใจใส่จากพ่อแม่ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดความขาดแคลนของทรัพยากรตัวที่แข็งแรงเท่านั้นจะรอด ซึ่งเป็นนิสัยสันดานพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวเองก่อนคนอื่น ดังนั้นหากไม่เรียนรู้ที่จะรัก แบ่งปัน ให้อภัย ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมนำมาซึ่งการแย่งชิงและการฆ่าอย่างแน่นอน พระคัมภีร์ไบเบิ้ลจึงเล่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เพราะมนุษย์จะอยู่รอดได้ต้องอาศัยพึ่งพากัน หากกัดกินกันเองเมื่อใด ย่อมพากันพินาศ ไม่ว่าจะคนในครอบครัว หรือคนในประเทศเดียวกันก็ตาม

(กาลาเทีย 5:14-15) เพราะว่า พระบัญญัติทั้งสิ้นนั้นสรุปได้เป็นคำเดียว คือว่า ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง’ แต่ถ้าท่านกัดและกินเนื้อกันและกัน จงระวังให้ดีเกรงว่าท่านจะทำให้กันและกันย่อยยับไป

เรื่องราวของกาอินและอาเบล

ปรากฎในหนังสือ ปฐมกาลบทที่4 ข้อ4-16 หลังจากมนุษย์คู่แรกต้องมาอยู่ในโลก เอวาก็กำเนิดบุตรคนแรกชื่อ กาอิน และน้องชายชื่อ อาเบล กาอินนั้นเพาะปลูก อาเบล นั้นเลี้ยงสัตว์ แต่แล้วจุดแห่งความขัดแย้งก็เกิดขึ้น เมื่อทั้งสองถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า พระเจ้าพอพระทัยเครื่องบูชาของคนน้องคือ อาเบล แต่ไม่พอพระทัยของกาอิน กาอินก็ทำหน้าบูดบึ้งไม่พอใจ

พระคัมภีร์ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมพระเจ้าไม่พอพระทัยเครื่องบูชาของกาอิน หรือกาอินทำผิดในจุดไหน แต่พระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่กาอินที่หน้าหงิกคว่ำปากอยู่นั้นชัดเจนมาก

(ปฐมกาล4:6-7)พระยาห์เวห์จึงตรัสถามคาอินว่า “ทำไมเจ้าโกรธ? ทำไมหน้าเจ้าบูดบึ้ง? ถ้าเจ้าทำดี เจ้าก็จะเป็นที่ยอมรับไม่ใช่หรือ? ถ้าเจ้าทำไม่ดี บาปก็หมอบอยู่ที่ประตู อยากตะครุบเจ้า เจ้าจะต้องเอาชนะบาปนั้น”

พระคัมภีร์ไม่เขียนว่ากาอินทำผิดอย่างไร เพราะมันไม่สำคัญว่าผิดเรื่องอะไร เพราะบทนี้กำลังบอกเราว่าไม่ว่าจะผิดหรือบาปเรื่องอะไร ก็เหมือนกันคือ ถ้าทำผิดก็ทำให้ถูกเสีย ไม่ใช่วีนเหวี่ยงโทษอย่างอื่นหรือโทษพระเจ้า พระเจ้าตรัสชัดเจนว่า ถ้าเจ้าทำดีเราก็ยอมรับเหมือนกัน ไม่ได้ทรงอคติหรือลำเอียง

ที่สำคัญสังคมยิวไม่ต่างกับสังคมจีน บุตรชายคนโตนั้นสำคัญที่สุดและได้มรดกทั้งหมด แต่ในเรื่องราวนี้ แม้บุตรชายคนโตสำคัญที่สุด แต่ถ้าทำผิดทำไม่ดี พระเจ้าก็ไม่พอพระทัย แต่พอพระทัยคนน้องที่ทำดีมากกว่า ดังนั้นแม้มนุษย์เลือกที่รักมักที่ชังคนในครอบครัวด้วยสถานะหรือเพศ แต่พระเจ้าเลือกรักคนดีคนชอบธรรม และแม้เคยทำผิดถ้าเพียงกลับมาทำดีพระเจ้าก็ยอมรับด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดเรียบง่ายมากและควรจะจบลงตรงนี้ แต่กาอินกลับทำบาปมหันต์ โดยลวงน้องชายแท้ๆของตนไปฆ่าทิ้งในทุ่งนา !!!

แทนการปรับปรุงตัวให้ดี เขาเลือกกำจัดคู่แข่งของเขาเสีย น่าประหลาดใจ ทุกวันนี้มนุษย์ก็ยังเป็นเช่นนี้ ยังคงใช้ตรรกะ Loser ขี้แพ้ชวนตี อย่างที่ทำมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ คือ แทนการปรับปรุงตัว หรือทำให้ดีขึ้น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับหรือถูกเลือก กลับฆ่า ทำลาย กำจัดคนที่เป็นคู่แข่งตนเองแทน

เลือดข้น ของอาเบล

เมื่อกาอินฆ่าน้อง พระเจ้าก็ถามกาอินว่า น้องเจ้าไปไหนเสียแล้ว กาอินกลับกวนพระบาทพระเจ้าโดยตอบประชดประชันว่า ข้าจะไปรู้ได้ไงข้าไม่ใช่คนดูแลเขานี่

เมื่อชัดเจนว่ากาอินไม่สำนึก พระเจ้าจึงเปิดเผยว่า เลือดของอาเบลร้องหาความเป็นธรรมถึงสวรรค์

โทษของกาอิน

หลายคนคงคิดว่า คำสอนจากพระคัมภีร์โบราณเช่นนี้ สงสัยจะประหารกาอินแน่ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่

พระเจ้าไม่ใช้วิธีเลือดล้างเลือด และไม่อนุญาตให้มนุษย์คนไหนมอบโทษประหารแก่กาอินผู้เป็นฆาตกร

พระเจ้าลงโทษกาอินให้เขาต้องทำงานอย่างยากลำบากพืชผลไม่งอกเงย และยังทำเครื่องหมายที่ตัวกาอินเพื่อปกป้อง ห้ามใครเป็นศาลเตี้ย ฆ่าเขาเพื่อลงโทษความผิดร้ายแรงนี้ ดังนั้นแม้มนุษย์จะคิดว่าการฆ่าเป็นบาปและความผิด แต่พระเจ้าไม่ได้สนับสนุนให้มนุษย์ทำการฆ่าต่อไปเรื่อยๆ แม้จะเพื่อลงโทษคนที่เป็นฆาตกรก็ตาม เพราะมันก็คือการเพิ่มจำนวนการฆ่าที่มนุษย์ไม่ได้มีสิทธิ์กระทำเช่นกัน

อาเบลและพระเยซู

ในพระธรรมใหม่ น.เปาโล เปรียบเทียบอาเบลกับพระเยซู ผู้บริสุทธ์ที่ถูกฆ่าเพราะความอิจฉาริษยาเช่นกัน ทั้งอาเบลและพระเยซูเป็นที่รักของพระเจ้า กลับถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด เหล่าฟาริสีและธรรมาจารย์ที่เคยถูกพระเยซูตำหนิ แทนที่จะปรับเปลี่ยนหรือสำนึก กลับเลือกที่จะฆ่าคนที่ชี้ผิดตัวเองแทน จนปัจจุบัน มนุษย์ก็ยังคงเป็นเช่นนี้ เรายังคงเห็นอยู่เสมอ ที่คนที่มีอำนาจในสังคมหวาดกลัวคนชี้ผิด แทนที่จะปรับปรุงแก้ไขความผิด กลับกำจัดคนที่มาชี้ผิดตัวเองแทน แล้วหน้าด้านทำผิดต่อไป

พระคัมภีร์เก่าแต่ไม่เก่า

“ทำไมเจ้าโกรธ? ทำไมหน้าเจ้าบูดบึ้ง? ถ้าเจ้าทำดี เจ้าก็จะเป็นที่ยอมรับไม่ใช่หรือ? ถ้าเจ้าทำไม่ดี บาปก็หมอบอยู่ที่ประตู อยากตะครุบเจ้า เจ้าจะต้องเอาชนะบาปนั้น”

ทุกวันนี้มนุษย์ยังเหมือนเดิม คำถามที่พระเจ้าถามตั้งแต่ครั้งนั้น ยังคงถูกถามซ้ำไปมา เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับความผิดของตน ไม่ยอมรับข้อบกพร่อง ไม่คิดปรับปรุงตัว ไม่คิดเอาชนะความบาป ไม่คิดแก้ไขตนให้ดีขึ้น เมื่อเกิดสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีใครรัก หรือคนอื่นไม่ยอมรับ กลับไม่พอใจ โกรธแค้นทุกสิ่ง อิจฉาทุกอย่าง กล่าวโทษว่าพระเจ้าไม่ยุติธรรม คิดว่าคนอื่นแหละผิดที่ไม่ยอมรับฉัน

แล้วบางคนก็ลุกลามไปอิจฉาริษยาคนอื่น ที่ได้ดีกว่าตนเอง ไม่ยอมรับว่า การที่ตัวเองไม่ได้รับการยอมรับเกิดจากการกระทำตัวเอง กลับไปโทษไปเกลียดคนอื่นที่ทำดีกว่า คิดโง่เขลาว่า ถ้าทำลายเขาแล้วตัวเองจะได้มาแทนที่

ทั้งที่จริง ถ้าเราทำไม่ดี ต่อให้เหลือเราคนเดียว พระเจ้า โลกหรือคนอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับหรือชื่นชอบสิ่งแย่ๆที่เหลืออยู่จากการกำจัดคู่แข่งแต่อย่างใด

วิธีคิดเช่นนี้จึงบั่นทอนทุกอย่างและสังคมทั้งหมด วิธีที่สร้างสรรค์ควรเป็นแข่งกันทำถูกทำดี พยายามทำดียิ่งขึ้นแก้ไขสิ่งผิดของตนเพื่อชนะใจคนอื่นๆ แล้วเมื่อเราทำดีก็จะมีคนเห็นความดีของเราเอง และยอมรับเรา แล้วสังคมที่มีแต่คนแข่งกันสร้างสรรค์แข่งกันทำดีก็จะเจริญรุ่งเรืองโดยไม่ต้องทำลายกันเลย

cr. www.facebook.com/holysmn

ภาพ-The First Mourning (การไว้อาลัยครั้งแรก)
(Adam and Eve mourn the death of Abel)
อาดัมและเอวาอาลัยการตายของอาเบล
สีน้ำมัน คศ.1888
โดย William-Adolphe Bouguereau
ตอบกลับโพส