ประวัติสำเพ็ง น่ารู้

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 31, 2020 3:39 pm

วันนั้น..วันสำคัญ ณ สำเพ็ง
เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
......

สําเพ็ง เริ่มตั้งต้นมีชีวิต แจ้งเกิดเป็นชุมชนมาถึงทุกวันนี้ด้วยเหตุเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.2325

พื้นที่ที่โปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง แต่เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนกลุ่มหนึ่ง…โปรดเกล้าฯให้ย้ายชุมชนชาวจีนออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกประตูพระนครทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองสามเพ็ง ต่อมาเรียกชุมชนแห่งนั้นว่า สำเพ็ง

ชื่อ “สำเพ็ง” นั้นไม่มีใครทราบว่ามีความหมายว่ากระไร หรือมาจากคำว่าอะไร ได้มีผู้สันนิษฐานไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่ามาจากคำว่า “สามแพร่ง” หรือมาจากคำจีนแต้จิ๋วว่า “สามเผง” แปลตรงตัวได้ว่า “ศานติทั้งสาม”

......

กาลต่อมา…ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.3 กิจการค้าของชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านสำเพ็งเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อการค้ากับสยามประเทศ เรียกขานย่านสำเพ็งว่า “ตลาดจีน” หรือ “Chinese Bazaar”

ในบันทึกของฝรั่งมิชชันนารีที่ได้เข้ามาเยี่ยมย่านสำเพ็งในปี พ.ศ.2378 ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า ตลาดทั้งหมดดูแล้วน่าจะเรียกว่า “เมืองการค้า” (Trading town) มากกว่า

พื้นที่บริเวณนี้ พัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว ร้านค้าผุดขึ้นมากหลากหลาย ตั้งอยู่บนสองฝั่งฟากถนนยาวประมาณ 3 กม. ร้านค้าต่างๆ ตั้งอยู่ปะปนกัน สามารถหาซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ได้ครบตามที่ต้องการ ณ สำเพ็ง

ในเวลาเดียวกัน สำเพ็งก็เป็นแหล่งบันเทิงเริงรมย์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะหญิงบริการ และโรงฝิ่นที่ปลูกติดกันจนแน่นขนัด หลังคาของแต่ละหลังเกยกัน มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนมีคำเปรียบเปรยว่า
ที่นี่ “ไก่บินไม่ตกพื้น” และคำว่า “ไฟไหม้สำเพ็ง”

เป็นที่รับรู้กันว่า ชาวจีนที่อพยพเข้ามาสยาม มีแหล่งพักพิง มีญาติพี่น้องที่พึ่งพาอาศัย ซุกหัวนอนได้ที่สำเพ็ง ทุกสรรพสิ่ง อาคาร สถานที่ อาหารการกิน แนวทางการใช้ชีวิต รวมทั้งภาษาที่ใช้ เป็นจีนทั้งหมด

สำเพ็ง คือ เมืองจีนในแผ่นดินสยาม เฉกเช่นไชน่าทาวน์ในหลายเมืองหลวงของหลายประเทศ

......

เหตุการณ์ที่ ภาพเก่า..เล่าตำนาน ขอนำมาถ่ายทอดให้สังคมไทยย้อนอดีตได้รับทราบ คือ เหตุวิวาท จลาจลระหว่างชาวจีนและชาวสยาม ที่ดุเดือด รุนแรง ร้าวลึก ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 8

หากแต่พระบารมี น้ำพระทัยของพระมหากษัตริย์ พ่อของแผ่นดิน ทรงพระปรีชาสามารถ ดับร้อนผ่อนเย็น ดับทุกข์เข็ญของแผ่นดินลงได้ราบคาบ…ลองมาย้อนอดีตครับ…

…..หลังสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม รัฐบาลก๊กมินตั๋งของจีนซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย) ในการต่อสู้กับญี่ปุ่น จีนเป็น 1 ใน 5 มหาอำนาจของโลกในเวลานั้นที่ชนะสงครามแสดงความประสงค์ที่จะส่งกำลังทหารจีนเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในสยาม

คนจีนบางกลุ่มในประเทศไทยเองเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ชนะสงคราม เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปเข้าเป็นพวกกับญี่ปุ่น ดังนั้นชาวจีนจึงคิดว่าไทยเป็นฝ่ายแพ้สงคราม

เงื่อนไขของฝ่ายสัมพันธมิตร ประการหนึ่งก็คือ ให้กองทัพจีนส่งกำลังทหารเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในสยาม

ชาวจีนในสยามลุกฮือ ต้องการให้กองทัพจีนเข้ามาจัดการทหารญี่ปุ่นที่ชาวจีนแสนจะชิงชัง เพราะกองทัพลูกพระอาทิตย์ได้สังหารชาวจีนกว่า 3 แสนคน และข่มขืนหญิงชาวจีนกว่า 2 หมื่นคนในระหว่างสงคราม

......

รัฐบาลสยามในสมัยในหลวง ร.8 ตระหนักดีว่า เงื่อนปมตรงนี้แหลมคม อันตรายยิ่งนัก ถ้าก้าวพลาด คือ สยามจะกลายเป็นผู้แพ้สงครามและล่มจมทันที

รัฐบาลสยามโดยเสรีไทยยืนยันว่า สยามถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญากับญี่ปุ่น รัฐบาลสยามขอยืนยันว่า “เสรีไทย” และคนไทยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตรเพื่อทำสงครามกับญี่ปุ่น

รัฐบาลสยามอ่านหมากเกมแห่งอำนาจทะลุขาด จึงขอให้ทหารญี่ปุ่นยอมวางอาวุธ ต่อลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอังกฤษ ประจำภาคเอเชียตะวันออกไกล แทนที่จะให้กองทัพจีนยาตรากำลังเข้ามา

ชาวจีนในสยามที่เกลียดชังญี่ปุ่นเข้ากระดูกดำ ปลุกระดมสร้างกระแสความไม่พอใจในท่าทีของรัฐบาลสยาม ชาวจีนที่พักอาศัยในบริเวณย่านเยาวราช ราชวงศ์ สำเพ็ง ต่างได้แสดงออกถึงความรู้สึกชาตินิยมด้วยการประดับธงชาติจีนตามร้านค้า บ้านเรือน เพื่อแสดงออกว่าตนเป็นคนจีนไม่ใช่คนไทย

เหตุการณ์บานปลายแบบนึกไม่ถึง เกิดเหตุการณ์ทำร้ายคนไทยที่ผ่านเข้าไปในย่านของคนจีนที่เรียกกันว่า เลียะพะ รวมทั้งการหยุดงาน ปิดร้าน ทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนจีนในประเทศ เกิดการกระทบกระทั่งจนทางการต้องส่งกำลังเข้าระงับเหตุ

ชาวจีนกลุ่มชาตินิยมย่านสำเพ็ง ปลุกใจชุมชนชาวจีนด้วยการใช้คำขวัญว่า ชาติฮั่นผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อชักจูงคนพรรคก๊กมินตั๋งในไทยระดมคนจีนคลั่งชาติ อันธพาล ให้ เลียะพะ เกิดจลาจลถึงขนาดปิด เยาวราช เจริญกรุง หัวลำโพง บางรัก บางลำพู สำเพ็ง สามย่าน ฯลฯ รุนแรงขนาดยิงกับ เสรีไทย บางส่วน

แก๊งชาวจีนจับคนไทยมาทำร้ายจนคนไทยต้องหนี คนจีนกำเริบห้าวหาญ นำอาวุธปืนขึ้นตึกสูงตามย่านชุมชนแล้วยิงลงมาใส่กลุ่มคน เช่น ตึกโรงหนังเทียนกัวเทียน ถนนเยาวราช ตึกตั้งโต๊ะกังถนนพระยาไพบูลย์สมบัติ
ตึก รพ.กว๋องสิว ถนนเจริญกรุง

......

ตอนนั้นรัฐบาลไทยต้องใช้ ตำรวจสนาม เข้าปราบปราม การต่อสู้ที่ดุเดือดที่สุดอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยพวกเลียะพะยึดตึก 3 ชั้นข้างโรงภาพยนตร์กรุงเกษม บริเวณริมคลองกรุงเกษม แล้วตั้งปืนกลกระบอกหนึ่งยิงลงมาใส่ผู้คน ทหารบกต้องนำรถหุ้มเกราะออกมาปราบปราม

เป็นความขัดแย้งที่ล้ำลึก รุนแรงระหว่างเชื้อชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสยาม

วันที่ 3 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาในขณะนั้น ตัดสินพระทัยเสด็จประพาสสำเพ็ง ชุมชนชาวจีน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ขัดแย้งหลัก

การตัดสินพระทัยในขั้นต้น ได้รับการทักท้วงเพราะรัฐบาลเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย แต่ทรงมีรับสั่งให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์ แจ้งยืนยันให้รัฐบาลทราบ เพราะทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาแล้ว

เมื่อชาวจีนในสำเพ็งได้ทราบข่าวอันน่ายินดีนี้ ต่างได้ร่วมแรงร่วมใจกันเก็บกวาดขยะ สิ่งรกรุงรังเพื่อเตรียมสถานที่รอรับเสด็จ

......

3 มิถุนายน 2489 เวลา 9 นาฬิกา ล้นเกล้าทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินถึงสำเพ็ง นายกเทศมนตรีพระนคร เป็นผู้ถวายบังคมทูลเบิกผู้รักษาการแทนนายกสมาคมพาณิชย์จีน เข้าเฝ้าฯ

ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสำเพ็ง ชาวสำเพ็งได้จัดสร้างซุ้มรับเสด็จถึง 7 ซุ้ม ตลอดระยะทาง 3 กม. ในเวลา 4 ชั่วโมง

จากน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาบารมีตลอดเช้าวันนั้น พลิกสถานการณ์กลับกลายเป็นความรักความผูกพัน ความบาดหมางระหว่างชาวจีน-ชาวสยามมลายหายไปเป็นปลิดทิ้ง

มีการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา และประดับธงไตรรงค์ดูสวยงาม โดยที่ตลอดสองข้างทางมีคนจีนที่อาศัยในย่านนั้นเดินทางมาเฝ้าฯ

ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน บรรดาพ่อค้าชาวจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายของมีค่า เช่น เครื่องกระเบื้อง และสิ่งของที่ทำด้วยหยก รวมทั้งถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล รวม 13,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากในสมัยนั้น ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว โปรดเกล้าฯตั้งเป็น ทุนพ่อค้าหลวง และพระราชทานแก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อให้เก็บดอกผล สำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ยากไร้

ประวัติศาสตร์บันทึกว่า เมื่อเสด็จฯจนสุดย่านสำเพ็งแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ฯได้เสด็จฯเยือนสถานที่สำคัญในย่านใกล้เคียง ได้แก่ รพ.เทียนอัน สมาคมพาณิชย์จีน ที่สาทร ทรงเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ทางสมาคมจัดถวาย แล้วเสด็จฯเยี่ยมมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และ รพ.หัวเฉียว ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับในช่วงเย็นวันดังกล่าว

ด้วยพระราชปณิธานอันมุ่งมั่น ต่อพสกนิกรชาวจีน ชาวไทยทั้งแผ่นดินได้ประสานรอยร้าว ก่อเกิดสัมพันธภาพระหว่างคนไทยกับคนจีนให้กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง คนไทยเชื้อสายจีนต่างน้อมรับและเทิดทูนไว้ตั้งแต่รุ่นบรรพชนจนถึงรุ่นลูกหลานในปัจจุบันอย่างมิรู้ลืม

พระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นของล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ ในวันนั้น ณ สำเพ็ง เสมือนพลิกแผ่นดินด้วยฝ่ามือดับร้อน กำจัดเหตุร้าย บำบัดทุกข์ลำเค็ญของแผ่นดิน สร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ให้เป็นสุขยิ่งนัก…เป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

.......

ขอขอบพระคุณ

บทความ เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก มติชนออนไลน์ วันที่ 18 มีนาคม 2562

ภาพ จาก มติชนออนไลน์, ทีนิวส์, สยามานุสติ, Facebook พิชาญ พงษ์พิทักษ์ และ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์
ตอบกลับโพส