3ก.ย.ระลึกถึง น.เกรโกรี่

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ย. 03, 2020 8:43 pm

03 กันยายน ระลึกถึง #นักบุญเกรโกรี่
พระสันตะปาปา นักปราชญ์พระศาสนจักร
(St.Gregory the Great, Pope & Doctor)

เกรโกรี่เป็นบุตรชายที่เฉลียวฉลาด และเปี่ยมด้วยพลังของขุนนางชาวโรมันที่ชื่อว่า Gordianus กับภรรยาที่ชื่อว่า Sylvia (ต่อมาได้เป็นนักบุญซิลเวีย) เกิดราวปี ค.ศ. 540 เมื่อเกรโกรี่อายุได้ 33 ปี เขาก็ได้เป็นนายกเทศมนตรีของกรุงโรมแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นาน ได้ละทิ้งความทะเยอทะยานทางโลกทั้งหมด และเข้าไปเป็นฤาษีคณะเบเนดิกตินที่ถูกขับไล่จากมอนเต คาสสิโน มาที่กรุงโรมโดยพวกลอมบาร์ด (Lombards) ผู้รุกราน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 579-586 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตของพระสันตะปาปาประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิล หลังจากจบภารกิจแล้วกลับมา ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการอารามฤาษีของท่านที่ตั้งอยู่บน Coelian Hill

สามปีต่อมาได้เกิดน้ำท่วมที่ทำให้เกิดหายนะใหญ่หลวง ซึ่งได้ทำลายล้างยุ้งฉางของพระสันตะปาปา ก่อให้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง และทำให้ผู้คนล้มตายไปจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสันตะปาปาในขณะนั้นด้วย ในช่วงเวลานั้น เกรโกรี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของพระสันตะปาปามาหลายปีแล้ว ก็ได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 590 ทั้ง ๆ ที่ท่านรู้สึกลังเลใจเป็นอย่างมาก แต่ต้องถือว่านับเป็นกรณีแรกที่ฤาษีได้เป็นพระสันตะปาปา

หนึ่งในกิจการแรกในฐานะพระสันตะปาปา ท่านเรียกร้องให้ชาวโรมันออกมารวมตัวกัน ตั้งเป็นขบวนแห่เพื่อขออภัยโทษบาปเจ็ดขบวนใหญ่ ๆ รอบ ๆ มหาวิหาร Santa Maria Maggiore เพื่อวอนขอการอภัยโทษจากพระเจ้า และเพื่อขอให้หยุดโรคระบาด

ตามตำนานเล่าว่า อัครเทวดามีคาแอลได้ปรากฏตนมาในเวลานั้น เหนือหลุมศพของจักรพรรดิเฮเดรียน (Hadrian's tomb - เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใช้บรรจุศพ สร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 123-139 แต่ต่อมาเรียกชื่อว่า "ปราสาทของทูตสวรรค์" Castel Sant' Angelo) และแสดงให้เห็นดาบของท่านที่อยู่ในฝัก หมายถึงกาลอวสานของโรคระบาดที่น่ากลัวนั้น

พระสันตะปาปาเกรโกรี่ได้ปกครองพระศาสนจักรเพียง 14 ปี แต่ผลงานของพระองค์มีความสำคัญ และยังคงมีผลสืบต่อไปอีกยาวนาน กระทั่งพระองค์ได้รับการจัดให้เป็นพระสันตะปาปาที่น่าจับตามองที่สุดในรอบหนึ่งพันปีแรก

พระสมณสาส์นด้านการอภิบาลของท่านที่ชื่อว่า Liber Pastoralis Curae ได้รับความชื่นชมมาก ซึ่งแสดงออกถึงความคิดของพระองค์ ในเรื่องบทบาทหน้าที่ของพระสังฆราช เนื้อหาของคำสอนนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาบันพระสังฆราชคาทอลิกสืบต่อมาอีกหลายศตวรรษ

พระองค์ยังคงดำรงชีวิตอย่างอดออมแบบฤาษี และยังทรงสวมชุดฤาษีตลอด ยกเว้นโอกาสทางการ พระองค์ทรงต่อสู้กับการหาประโยชน์ทางศาสนา การไม่รู้จักบังคับตนเอง คำสอนผิด ความอยุติธรรม แต่ทรงส่งเสริมให้มีความสนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในเรื่องพิธีกรรมของพระศาสนจักร และดนตรีศักดิ์สิทธิ์ (บทเพลงเกรโกเรียนภาษาลาติน และการขับร้องบทเพลงเกรโกเรียน)​

การบริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่ของพระศาสนจักร ซึ่งแผ่กระจายอยู่ทั่วอิตาลี แอฟริกา และเกาะซิซิลีนั้น พระสันตะปาปาเกรโกรี่ ผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร ลำดับที่ 64 ได้ทรงถือคติว่า ทั้งพระองค์ และบรรดาผู้จัดการทรัพย์สินของพระองค์ เป็นเพียงผู้ดูแลผลประโยชน์ภายใต้ความรักของพระคริสตเจ้า เพื่อดูแลคนยากคนจน จึงทำงานด้านสงเคราะห์นี้ด้วยความรักอย่างไม่มีขอบเขต

ในช่วงเวลานั้น ที่กรุงโรมอดอยากมาก แถมยังมีผู้อพยพที่หนีมาจากพวกลอมบาร์ด ได้ทรงช่วยเหลือผู้คนมากมายเหล่านั้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 598 ถึงจะทรงสามารถทำสนธิสัญญากับผู้รุกรานเหล่านี้ที่เรียกว่าพวก Arian โดยที่พระองค์ได้ทรงเจรจากับพระราชินีคาทอลิกของพวกเขาที่ชื่อว่า Theodelinda สนธิสัญญาที่มีชื่อเสียงนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ ทำให้เราได้ทราบถึงรายละเอียดต่างๆที่น่าสนใจ

ในเวลาต่อมาได้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับจักรพรรดิแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล พระสันตะปาปาเกรโกรี่ได้ประกาศว่าหน้าที่ของผู้มีอำนาจทางโลกจะต้องป้องกันเรื่อง "สันติสุขของความเชื่อ" (the peace of the faith) ทรงยืนยันว่า พระสันตะปาปาทรงมีอำนาจสูงสุดทุกเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนจักร จะต้องไม่มีกฤษฎีกาของสภาสังคายนา หรือการประชุมพระสังฆราช​ใดถือว่าถูกต้อง โดยปราศจากการรับรองของพระสันตะปาปา

พระองค์ทรงงานหนักอย่างร้อนรน ในการเจรจากับพวกลอมบาร์ดในอิตาลี พวกโกธ (Goths) ในสเปน พวกนอกศาสนาในแคว้นโกล (Gaul) และได้ทรงส่งฤาษีคณะออกัสตินออกไป 40 คน เพื่อทำให้เกิดการกลับใจใหม่ในแคว้น Saxon England

ในปี ค.ศ. 596 ยังทรงจัดการปลดปล่อยเด็กชายชาวอังกฤษที่เป็นทาสให้เป็นอิสระ และให้การศึกษากับพวกเขา ซึ่งอาจได้กลับไปบ้านในเวลาต่อไปในฐานะเป็นมิชชันนารี

นักบุญเกรโกรี่ พระสันตะปาปา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 604 และได้รับความเคารพในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดานักร้อง ผู้คงแก่เรียน (นักวิชาการ) และบรรดาครู

(ถอดความโดยคุณพ่อวิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

#แบบอย่างนักบุญ #สารกระแสเรียกฯ
#สามเณรใหญ่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ตอบกลับโพส