คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส กับ ความศรัทธาต่อแม่พระ

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 06, 2020 1:39 pm

....คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส กับความศรัทธาต่อแม่พระ
โดยภราดา ยอห์น ซามาฮา เอสเอ็ม (Marist Sisters),

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (1451-1506) เชื่อกันว่าน่าจะเป็นชาวเจนัว (อิตาเลียน) แต่ก็เป็นไปได้ว่าท่านอาจเกิดที่อื่น โคลัมบัสเป็นนักสำรวจและพ่อค้า วันที่ 3 สิงหาคม 1492 ท่านออกเดินทางจากท่าเรือเมือง Palos de la Frontera (สเปน) ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงทวีปอเมริกาวันที่ 12 ต.ค.1492 ในนามของประเทศของสเปน ความสำเร็จในการค้นพบโลกใหม่นี้ เป็นผลสืบเนื่องจากแรงศรัทธาที่ท่านมีต่อแม่พระ ซึ่งท่านเชื่อมั่นว่า พระนางมารีย์ปฏิสนธิโดยปราศจากมลทินใด ๆ
ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางที่เดิมพันด้วยชีวิตของตนเองและของลูกเรือ ท่านแสดงความศรัทธาต่อแม่พระด้วยการตั้งชื่อเรือนำขบวนว่า ซานตา มารีอา (Santa María) ซึ่งเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในขบวนเรือ 3 ลำที่ออกเดินไปพร้อมกัน (เรืออีก 2 ลำได้แก่เรือนีนา (Niña) และพินตา (Pinta) ทุกค่ำก่อนนอนโคลัมบัสจะรวบรวมลูกเรือทุกคนร้องเพลง “วันทาพระราชินี”(Salve Regina) เพื่อแสดงความเคารพและขอความคุ้มครองจากพระมารดา
โคลัมบัสศรัทธาในพระศาสนามาก ดังจะเห็นได้จากการตั้งชื่อแผ่นดินของโลกใหม่ที่พบในเป็นครั้งแรกว่า ซาน ซัลวาดอร์ (San Salvador : ปัจจุบันคือบาฮามาส) ซึ่งแปลว่า พระผู้ไถ่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายพระเกียรติ์แด่พระคริสตเจ้า แผ่นดินที่พบต่อมาตั้งชื่อว่า “Santa Maria de la Concepcion” ซึ่งหมายถึงแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมล และแผ่นดินที่พบในลำดับต่อมาจึงตั้งชื่อว่าเฟอร์ดินันด์, อิซาแบลลา และ ฮวนนา ซึ่งเพระนามของกษัตริย์, พระราชินี และมกุฎราชกุมารแห่งสเปนตามลำดับ แผ่นดินที่พบต่อมา จึงตั้งชื่อว่า “Española”(เอสปาญอล่า) ซึ่งหมายถึงประเทศสเปนนั่นเอง
น่าเสียดายที่ชื่อทางพระศาสนาและชื่อที่เป็นเกียรติภูมิแก่ประเทศที่กล่าวมานี้ ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นชื่ออื่นที่มิได้มีความหมายเช่นเดิม นักภูมิศาสตร์ระบุว่า ดินแดนที่พบในช่วงแรกนี้ ปัจจุบันได้แก่ชื่อของเกาะต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้ เกาะวัตลิ่ง (Watling), เกาะรัมเคย์ (Rum Cay), เกาะลองไอส์แลนด์ (Long Island), เกาะคิวบา, เกาะครูเก็ด (Crooked) และเกาะเฮติ (Haiti)
ในการเดินทางไปทวีปอเมริกาในครั้งต่อ ๆ มา โคลัมบัสเรียกหมู่เกาะทางตะวันออกของคิวบาว่า “ทะเลแห่งแม่พระ” รวมทั้งเรียกเกาะที่มีลักษณะกลมเป็นพิเศษว่า “ Santa Maria Rotunda” แผนที่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ นอกจากนั้นนักภูมิศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกาะใดคือเกาะที่โคลัมบัสพบในเดือนสิงหาคม 1498 ซึ่งท่านตั้งชื่อทางศาสนาว่า เกาะ“Santa Maria de la Concepcion”
การเดินทางกลับหลังจากการพบแผ่นดินใหม่ในครั้งแรก ประสบปัญหามากกว่าการเดินทางขาไปเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากขาดแคลนเสบียงอาหารแล้ว ยังถูกพายุเฮอริเคนกระหน่ำอีกมากกว่า 100 ลูก จนที่สุดเรือซานตา มารีอา เกยตื้นและอับปางลงในวันคริสต์มาสปี 1492 นั้นเอง
อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 ก.พ.1493 เมื่อเรือแล่นฝ่าพายุขนาดใหญ่จนทุกคนคิดว่าวาระสุดท้ายมาถึงแล้ว โคลัมบัสได้เรียกชุมนุมลูกเรือและร่วมกันสวดภาวนาขอความช่วยเหลือจากเบื้องบน หลังจากสวดพร้อมกันแล้ว ลูกเรือแต่ละคนก็บนบานต่อหน้าทุกคนว่า หากตนเป็นผู้ที่จับฉลากได้ ก็จะเดินทางไปแสวงบุญตามสถานที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งโคลัมบัสเป็นผู้กำหนดสถานที่จะแสวงบุญเพื่อขอบคุณพระเป็นแห่งแรกคือ สักการะสถานแม่พระ แห่งกัวดาลูปที่อยู่ทางใต้ของสเปน โดยผู้นั้นจะต้องนำเทียนขนาด 5 ปอนด์ไปถวายด้วย มีการใช้เม็ดถั่วมาจับฉลากตามจำนวนเท่ากับลูกเรือ โดยทำเครื่องหมายกางเขนไว้ที่ถั่วเม็ดหนึ่ง ซึ่งโคลัมบัสเป็นผู้จับได้
จากนั้น โคลัมบัส ก็ได้เลือกสถานที่จาริกแสวงบุญที่สองซึ่งได้แก่ สักการะสถานแม่พระแห่งโลเรโตในอิตาลี ครั้งนี้ ผู้จับได้เม็ดถั่วที่มีเครื่องหมายกางเขนคือ เปโดร เดอวิลลา ซึ่งโคลัมบัสสัญญาจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้เขาสำหรับการไปจาริกแสวงบุญที่ยาวไกลนี้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพายุยังคงไม่สงบลง และดังนั้นโคลัมบัสจึงจัดให้มีการจับฉลากขึ้นอีก และเป็นผู้จับฉลากได้จะต้องไปสวดภาวนาตลอดคืนในวัดนักบุญคลาร่า แห่งโมแกร์ (Santa Clara de Moguer) ซึ่งอยู่ที่เมืองท่าที่ใช้ต่อเรือนีนา การสวดภาวนายังคงดำเนินต่อไป ที่สุดโคลัมบัสขอให้ลูกเรือทุกคนสัญญาจะเดินเท้าเปล่าและสวมเพียงเสื้อเชิ้ตเพื่อไปสวดภาวนาขอบพระคุณในวัดแม่พระหลังแรกเมื่อแลเห็นแผ่นดิน
สมัยนั้น คนทั่วไปเมื่อประสบเคราะห์กรรม ก็มักจะบนบานขอความช่วยเหลือจากพระ และก็ลืมที่จะปฏิบัติตามคำสัญญาเมื่อภัยพิบัติผ่านพ้นไป แต่โคลัมบัสมิได้เป็นเช่นนั้นเลย พวกเขาผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนั้นได้อย่างอัศจรรย์ และมุ่งเดินทางกลับบ้าน พวกเขาได้ขึ้นบกที่เกาะอะโซเรส (Azores : 1564 กม.ทางตะวันตกของกรุงลิสบอน) เมื่อวันที่ 17 หรือ 18 ก.พ.1493 โคลัมบัสเตือนให้พวกเขากระทำตามคำสัญญา และได้เดินเท้าเปล่าไปยังวัดแม่พระเล็ก ๆ โดยมีพระสงฆ์ที่นั่นเป็นผู้ถวายบูชามิสซา วันนั้นเกือบทั้งวัน โคลัมบัสใช้เวลาสวดภาวนาในวัดหลังนั้น
สองสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 3 มี.ค.1493 พวกเขาก็ต้องผจญพายุที่รุนแรงมากอีกครั้งหนึ่ง พายุได้พัดจนใบเรือขาด และแทบจะปลิวหลุดออกจากเสากระโดง อีกครั้งหนึ่ง พวกลูกเรือรีบสวดภาวนาขอความช่วยเหลือจากสวรรค์ และเริ่มจับฉลากเพื่อแสวงบุญไปยังสักการะสถานแม่พระ แห่งลาซินตา (Santa Maria de la Cinta) ที่เมืองฮูเอลวา (Huelva) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่พวกเขาออกเดินทางเพื่อไปค้นหาโลกใหม่ โคลัมบัสเป็นผู้จับฉลากได้อีก จนแทบจะกล่าวได้ว่า แม่พระคือผู้ที่มีส่วนเข้าปกป้องพวกเขาและนำพาโคลัมบัสออกเดินทางไปพบพระนางตามสักการะสถานต่าง ๆ
เมื่อพวกเขากลับถึงสเปน กษัตริย์และพระราชินีพร้อมกับชาวเมือง จัดงานฉลองต้อนรับโคลัมบัสอย่างมโหฬาร แม้จะอยู่ในบรรยากาศแห่งผู้มีชัยโคลัมบัสก็มิได้ลืมสัญญาที่ได้ให้ไว้กับพระ ท่านออกเดินทางจากเมืองบาร์เซโลนาไปยังเมืองเซวีญา (Sevilla) ทางใต้ของประเทศ เพื่อไปยังสักการะสถานแม่พระแห่งกัวดาลูป
ในการเดินทางสู่โลกใหม่ครั้งที่สอง โคลัมบัสยังได้ตั้งชื่อเกาะแห่งหนึ่งที่พบว่า เกาะกัวดีเปีย (Guadipea) เพราะเทือกเขาที่เกาะนี้มีลักษณะคล้ายกับเทือกเขาที่มองเห็นจากสักการะสถานแม่พระแห่งกัวดาลูป โคลัมบัสศรัทธาและถวายเกียรติแด่แม่พระตลอดชีวิต ในปี 1498 ท่านได้ทำพินัยกรรมอย่างเป็นทางการคือให้นำมรดกส่วนใหญ่ไปใช้สร้างวัดที่เกาะเอสปาญอล่า และให้ตั้งชื่อว่า วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล 7 ปีต่อมา ท่านได้กำหนดบริเวณที่จะใช้สร้างวัดขึ้นในพินัยกรรมฉบับสุดท้าย อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่มีการสร้างวัดหลังจากการเสียชีวิตของท่าน ผู้ปกครองสเปนมิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่โคลัมบัสเขียนขึ้นและมรดกของท่านก็มีไม่พอสำหรับการสร้างวัดด้วย
จิตวิญญาณนักบวชคณะฟรังซิสกัน
ช่วงท้าย ๆ ของชีวิต โคลัมบัสแสดงความศรัทธาต่อแม่พระอย่างเปิดเผยมากขึ้น บ่อยครั้งท่านคาดเอวด้วยเชือกสีขาวของคณะฟรังซิสกัน และเคยสวมเครื่องแบบฤษีคณะฟรังซิสกันด้วย ท่านสนิทสนมกับชาวคณะฟรังซิสกันตั้งแต่ปี 1484 เพื่อขอรับคำแนะนำและกำลังใจจากชาวคณะฟรังซิสกันซึ่งมีความศรัทธาต่อแม่พระปฏิสนธินิรมลเป็นพิเศษ สมัยนั้นนักเทววิทยายังมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับพระรหัสธรรมการปฏิสนธินิรมลของแม่พระ อย่างไรก็ตาม ชาวคณะฟรังซิสกันเป็นนักบวชพวกแรก ๆ ที่มีความเชื่อเช่นนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1263 คณะฟรังซิสกันจัดให้มีการฉลอง การปฏิสนธินิรมลของแม่พระ และตั้งแต่ปี 1480 พวกเขาจัดฉลองทุกปีโดยจัดให้มีจารีตพิธีฉลองอย่างสมพระเกียรติ ชาวฟรังซิสกันเป็นเพื่อนแท้ของโคลัมบัสโดยเฉพาะขณะที่โคลัมบัสประสบมรสุมชีวิต ฤษีฟรังซิสกันที่เมืองฮูเอลวา (Huelva) เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ในการโน้มน้าวพระนางอิซาแบลลาออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเดินทางครั้งแรกของโคลัมบัส
โคลัมบัส ผู้มีจิตวิญญาณนักบวชคณะฟรังซิสกัน ท่านคารวะพระนางมารีผู้ปฏิสนธินิรมล และขอความช่วยเหลือจากพระนางเมื่อประสบภัย พระนางก็ได้ประทานความช่วยเหลือท่าน เป็นไปได้ไหมว่า แรงจูงใจที่แท้จริงของโคลัมบัสในการออกเดินทางค้นหาดินแดนใหม่ คือความพยายามที่จะค้นหาขุมทรัพย์ใหม่ ๆ เพื่อถวายแทบพระบาทของพระนาง ?
*******************
แปลและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
ตอบกลับโพส