ภคินีแมรี่ แมคคิลลอป นักบุญองค์แรกของออสเตรเลีย

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 02, 2021 5:12 pm

ภคินีแมรี่ แมคคิลลอป นักบุญองค์แรกของออสเตรเลีย (ตอนที่ 1)
โดยแอนโทนี แบริช, แปลและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2010 ออสเตรเลียมีนักบุญองค์แรก มีผู้บรรยายบุคลิกของท่านว่าเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็งและไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ท่านเป็นต้นแบบชีวิตของการให้อภัยและความสุภาพอ่อนน้อมในโลกที่สับสนวุ่นวายในปัจจุบัน
แมรี่ แมคคิลลอป (Mary MacKillop : 1842-1909) รู้จักกันในกลุ่มภคินีสมัยนั้นว่า “คุณแม่อธิการิณีแมรี่ แห่งไม้กางเขน” คุณแม่ฯ เป็นผู้ตั้งคณะภคินีนักบุญยอแซฟแห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในรัฐเซ้าธ์ออสเตรเลียในปี 1866 ร่วมกับคุณพ่อจูเลียน เทนิสัน วู้ดส์ (Julian Tenison Woods) ผู้เคยเดินทางไปเยี่ยมคณะภคินีนักบุญยอแซฟที่เมืองเลอปึย ในฝรั่งเศสมาก่อน แม้ว่าภคินีทั้งสองคณะนี้จะมีชื่อและวิสัยทัศน์เหมือนกัน แต่คณะภคินีที่ตั้งขึ้นในออสเตรเลียนี้ก็มิได้เป็นคณะที่มีกำเนิดมาจากคณะที่ตั้งขึ้นในฝรั่งเศส
(+)การขัดแย้งกัน
เมื่ออายุ 24 ปี คุณแม่อธิการิณีแมคคิลลอป เลือกทำงานเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในยุคนั้น ตามคติพจน์ของ “ชาวคณะนักบุญยอแซฟ” ที่รู้จักกันทุกวันนี้ คุณแม่เริ่มงานแรกด้วยการเปิดโรงเรียน ให้การศึกษาแก่เด็กยากจนที่ในถิ่นทุรกันดาร จากนั้นก็ตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าขึ้นหลายแห่ง ให้การดูแลผู้ไร้บ้านและคนยากจนรวมทั้งให้ที่พักอาศัยแก่อดีตนักโทษและอดีตโสเภณีที่ต้องการสร้างชีวิตใหม่
วิถีการดำเนินชีวิตนักบวชของชาวคณะเหมาะกับสภาพการตั้งอาณานิคมที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ชาวคณะทำงานเป็นกลุ่ม 2-3 คน อย่างไรก็ตามวิธีการขอรับบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจการของคณะตามท้องถนนตามคำแนะนำของคุณพ่อวู้ดส์ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลโดยเฉพาะในหมู่พระสงฆ์ประจำสังฆมณฑล
ล่วงมาในเดือนเมษายน 1871 พระคุณเจ้า ควินน์ (James Quinn) พระสังฆราชแห่งควีนส์แลนด์ ผู้เคยขอให้คุณแม่แมคคิลลอปตั้งคณะที่นั่นในปีก่อนนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวิถีชีวิตของชาวคณะซึ่งเสนอวิธีทำงานโดยให้มีภคินีฆราวาสร่วมอยู่ในกลุ่มย่อยในการปฏิบัติงานด้วย และให้บ้านของคณะแต่ละแห่งอยู่ในอำนาจของพระสงฆ์พื้นเมือง
คุณแม่แมคคิลลอปไม่เห็นด้วย และต้องการให้คณะมีการปกครองเป็นอิสระ คุณแม่ฯ มีหนังสือถึงพระสังฆราช ชีล (Lawrence Shiel) เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแจ้งด้วยว่า ท่านกำลังมองหาดินแดนอื่นเพื่อจะสามารถทำตามพระกระแสเรียกที่ได้รับ หลังจากที่มีพระสงฆ์เรียกร้องให้พระคุณเจ้าชีลส่งคุณพ่อวู้ดส์ไปยังรัฐนิวเซ้าธ์เวลส์ พระคุณเจ้าชีลไม่พอใจวิธีการของคุณแม่ฯ ที่ “ดูเหมือนจะขาดความรอบคอบ” และดังนั้นในวันที่ 22 กันยายน 1871 พระคุณเจ้าได้คว่ำบาตรคุณแม่ฯ ด้วยการตัดขาดจากพระศาสนจักรขณะที่คุณแม่ฯ มีอายุได้ 29 ปี โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 02, 2021 5:14 pm

ภคินีแมรี่ แมคคิลลอป นักบุญองค์แรกของออสเตรเลีย (ตอนที่ (2)
โดยแอนโทนี แบริช, แปลและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
(+)คุณแม่ฯ ผู้ถูกคว่ำบาตร
บันทึกของคุณแม่แมคคิลลอปให้รายละเอียดถึงช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทั้งด้านอารมณ์และวิญญาณ เป็นบันทึกที่แสดงถึงความสุภาพอ่อนน้อมและความวางใจในพระเป็นเจ้าเป็นอย่างมาก คุณแม่ฯ บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เมื่อมีผู้สั่งให้ดิฉันคุกเข่าลงต่อหน้าพระสังฆราช ดิฉันรู้สึกว้าเหว่และสับสน แต่เมื่อพระสังฆราชเป็นผู้สั่งให้ดิฉันคุกเข่า ดิฉันกลับรู้สึกโล่งอก และจำไม่ได้ว่าคุกเข่าอยู่นานเท่าใดต่อหน้าพระสังฆราชและพระสงฆ์ 4 องค์โดยมีภคินีของคณะทั้งหมดยืนอยู่รอบ ๆ ดิฉันทราบเพียงแต่ว่าพวกเขาอยู่ที่นั่นแต่ดิฉันมองไม่เห็นผู้ใดเลยและคิดว่าตอนนั้นดิฉันกำลังพยายามสวดภาวนาอยู่ ดิฉันไม่มีวันลืมความรู้สึกที่สงบและงดงามแห่งการประทับอยู่ของพระในขณะนั้นได้เลย”
ภคินีมารีอา โฟอัล (Maria Foale, RSJ) นักประวัติศาสตร์เล่าถึงมาตรการถูกคว่ำบาตรของคุณแม่อธิการิณีว่า พระสังฆราชชีลมีคำสั่งปิดโรงเรียนมากกว่า 2 ใน 3 ของโรงเรียนคาทอลิกที่มีอยู่ในอาณานิคมที่นั่น ภคินีโฟอัลกล่าวต่อว่า “พระคุณเจ้าทราบเช่นกันว่า ผู้คนในขณะนั้นให้การสนับสนุนกิจการของคุณแม่อธิการิณีอย่างแข็งขัน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลงข่าวสนับสนุนกิจการของคุณแม่ฯ อย่างไรก็ดีในส่วนของคุณแม่ฯนั้น คุณแม่ฯ ยังคงให้ความเคารพพระคุณเจ้าและรู้สึกโกรธมากเมื่อหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์พระคุณเจ้า”
“ที่จริงตลอดเวลาที่ตกอยู่ในสภาวะแห่งความมืดมนนั้น คุณแม่ฯปฏิบัติตนอย่างน่ายกย่องและไม่ยอมให้ผู้ใดพูดจาโจมตีพระคุณเจ้าในวงสนทนาเลย”
ที่สุดพระคุณเจ้าก็ตระหนักได้ว่าคำแนะนำที่ได้รับจากพระสงฆ์กลุ่มนั้นไม่ถูกต้อง และ 5 เดือนต่อมาได้ถอนการคว่ำบาตรก่อนการมรณภาพของพระคุณเจ้า 1 สัปดาห์ ที่จริงระหว่างที่ถูกคว่ำบาตรนั้น งานของคณะยังคงดำเนินต่อไปโดยได้รับอนุญาตจากพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องการให้งานของคณะที่คุณแม่ฯ ตั้งขึ้นเป็นงานของสังฆมณฑล ขณะที่คุณแม่ฯเดินทางไปกรุงโรมเพื่อขอการสนับสนุน คุณแม่ฯเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ที่ตรัสเรียกคุณแม่ฯ ว่า “คุณแม่ฯ ผู้ถูกคว่ำบาตร” โปรดติดตามตอนที่ (3)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 03, 2021 11:58 am

ภคินีแมรี่ แมคคิลลอป นักบุญองค์แรกของออสเตรเลีย (ตอนที่ (3)
โดยแอนโทนี แบริช, แปลและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
(+)พ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมด
ภคินีแอนน์ เดอร์วิน (Anne Derwin, RSJ) คุณแม่อธิการิณีในปัจจุบันกล่าวกับพระสงฆ์ถึงวิธีการที่คุณแม่แมคคิลลอปใช้ปกครองชาวคณะและถูกกล่าวหาว่าไม่ชำระหนี้สินและเป็นคนติดสุรา ซึ่งในที่สุดคุณแม่ฯ ก็พ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดระหว่างที่มีชีวิตอยู่
ภคินีแอนน์ กล่าวว่า “มีพระสงฆ์พยายามกล่าวหาว่าคุณแม่ฯเป็นคนติดสุรา แต่หลังจากที่ได้สอบถามภคินีในคณะแล้วก็พบว่า คุณแม่ฯดื่มบรั่นดีบ้างเพื่อใช้เป็นยาเนื่องจากคุณแม่ฯมีเจ็บปวดมากระหว่างที่มี ‘รอบเดือน’โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ “วัยทอง” ในสมัยนั้นบรั่นดีเป็นสิ่งเดียวที่สตรีทุกคนรู้จักเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด คุณแม่ฯ เขียนบันทึกว่า ท่านดีใจที่ “เพื่อน” (รอบเดือน) ได้จากไปแล้ว ก่อนหน้านั้นคุณแม่ฯเขียนในบันทึกอยู่หลายครั้งว่า “วันนี้ดิฉันเจ็บมากจนลุกขึ้นจากเตียงไม่ไหว”
“หลังการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ที่สอบถามภคินีในคณะกล่าวว่า เป็นการไม่ยุติธรรมต่อคุณแม่ฯเลยที่ถูกกล่าวหาเช่นนั้น เนื่องจากผู้กล่าวหาเป็นผู้ชายที่ไม่เคยรู้จักความทุกข์ทรมานจากการมี ‘รอบเดือน’ ” --- “ในปี 1926 พระศาสนจักรให้มีการสอบสวนเพื่อการบันทึกนามในสารบบนักบุญหลังการมรณภาพของคุณแม่ฯที่ซิดนีย์ในวันที่ 8 สิงหาคม 1909 ต่อมามีคำสั่งยกเลิกการสอบสวนและหลังจากนั้นก็ให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหาทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ผลของการสอบสวน คุณแม่ฯพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมด”
ภคินีแอนน์ กล่าวปิดท้ายว่า การได้รับบันทึกนามในสารบบนักบุญของผู้ตั้งคณะของพวกเธอคงจะทำให้คณะ“มีการรื้อฟื้นวิธีการทำงานและจิตตารมณ์ของคณะใหม่โดยเน้นทำงานกับคนยากจน และปฏิบัติงานด้วยจิตใจแห่งความชื่นชมยินดีตามแนวทางของคุณแม่ฯ เพื่อที่พวกเราผู้เจริญรอยตามจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานดังกล่าว”
“การมีชื่อในสารบบนักบุญของคุณแม่ฯ ทำให้คณะของเราเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นรวมทั้งการเป็นต้นแบบสำหรับชาวออสเตรเลียจำนวนมาก เป็นการกระตุ้นให้พวกเขานำความรู้ความสามารถออกช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสแม้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในความทุกข์เช่นกัน”
(+)การอบรมเลี้ยงดูด้านพระศาสนาแต่เล็ก
บิดามารดาของแมรี่ แมคคิลลอป เป็นชาวสก็อต แมรี่เกิดที่เมืองฟิตซ์รอย (Fitzroy) รัฐวิคตอเรีย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 1842 เธอเป็นบุตรคนโตและมีพี่น้อง 8 คน แมรี่ได้รับการศึกษาอย่างดีจากอเล็กซานเดอร์ผู้บิดา ซึ่งเคยศึกษาเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตและกลับไปสก็อตแลนด์ก่อนที่จะอพยพครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งในออสเตรเลียในปี 1835
คุณพ่อโดนัลด์ แมคคิลลอป น้องชาย เป็นพระสงฆ์คณะเยสุอิตและเป็นหนึ่งใน 19 คนของชาวคณะเยสุอิตที่มาทำงานมิชชันนารีในปี 1882 ที่รัฐนอร์เธอร์น เทอร์ริทอรี่ ออสเตรเลียเป็นเวลา 17 ปี คุณพ่อโดนัลด์ทำงานกับชาวพื้นเมืองออสเตรเลียเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์และภาษาถิ่นของพวกเขา หลังจากนั้นจึงทำการแพร่ธรรม คุณพ่อโดนัลด์ได้พัฒนาสังคมความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองด้านเกษตรกรรม สุขพลานามัยและการศึกษาของเด็ก ทุกวันนี้ คณะภคินีของคุณแม่ฯ ทำงานอยู่ในออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เปรู, บราซิล, ไอร์แลนด์ และสก็อตแลนด์ โปรดติดตามตอนที่ (4)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 04, 2021 9:49 pm

ภคินีแมรี่ แมคคิลลอป นักบุญองค์แรกของออสเตรเลีย (ตอนที่ (4)
โดยแอนโทนี แบริช, แปลและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
(+)อัศจรรย์ 2 ครั้ง
หลังการประชุมวันที่ 19 ธันวาคม 2009 ร่วมกับสมณกระทรวงพิจารณาแต่งตั้งนักบุญ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงประกาศรับรองอัศจรรย์ที่สองตามเงื่อนไขการบันทึกนามในสารบบนักบุญ เป็นอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในปี 1955 กับสตรีที่ป่วยเป็นมะเร็งและไม่สามารถผ่าตัดได้ ก่อนหน้านั้นในปี 1961 ก็มีสตรีผู้หนึ่งหายจากโรคลูคีเมีย ที่มีผลต่อการบันทึกนามคุณแม่ฯในสารระบบบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2
อัศจรรย์ครั้งที่ 2 เกิดกับนางคัธลีน เอเว่นส์ (Kathleen Evans) วัย 66 ปีผู้เปิดเผยเรื่องของเธอเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2010 ณ บ้านใหญ่ของคณะภคินีนักบุญยอแซฟ ที่ตั้งอยู่ในเขตเหนือของซิดนีย์ เธอแถลงต่อสื่อมวลชนว่า “ดิฉันเชื่อว่าอัศจรรย์มีจริง”
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกส์ที่ 16 ระหว่างการเสด็จงานวันเยาวชนโลกปี 2008 ที่ซิดนีย์ พระองค์ตรัสระหว่างการเสด็จเยี่ยมสักการสถานบุญราศีแมรี่ แมคคิลลอป ว่า “ความอดทนต่ออุปสรรค การเรียกร้องความยุติธรรมแทนผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคม และการเป็นตัวอย่างด้านความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน เป็นแรงบันดาลใจสำหรับชาวออสเตรเลียทุกคน”
พระสังฆราชฟิลิป วิลสัน แห่งอะดิเลด ประธานที่ประชุมพระสังฆราชคาทอลิกออสเตรเลียกล่าวว่า คุณแม่แมคคิลลอป “เป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็งและไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ” โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับการถูกคว่ำบาตร และแม้ว่าเธอมีปัญหาด้านสุขภาพเกือบตลอดชีวิต แต่เธอก็ยังสามารถก่อตั้งคณะนักบวชขึ้นใหม่โดยมีเป้าหมายรับใช้คนยากจน โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีการดำเนินการต่อเนื่องมาอย่างแข็งขันในออสเตรเลีย
พระคุณเจ้าวิลสันกล่าวเสริมว่า “วีรกรรมของเธอยืนยันอย่างชัดเจนเหนือสิ่งอื่นใด เพราะเธอมิได้แสวงหาชื่อเสียงหรือเป็นคนที่โดดเด่นด้านกีฬา แต่เป็นเรื่องของความรักที่เธอมีต่อพระเยซูคริสต์และเป็นชีวิตที่อุทิศตนเพื่อพระและเพื่อนมนุษย์” พระคุณเจ้าวิลสันสรุปถึงชีวิตของคุณแม่ฯ ว่า “เธอเป็นดวงดาราของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักและการให้อภัย รวมทั้งความวางใจในพระและการขับเคลื่อนไปข้างหน้า”
(+)แรงบันดาลใจในออสเตรเลีย
ระหว่างปี 2010 ออสเตรเลียมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมายอันเนื่องมาจากการการบันทึกนามนักบุญแมรี่ แมคคิลลอป มีการคัดเลือกหานักแสดงระดับชาติ 60-80 คนเพื่อจัดแสดงเรื่องของ “แมคคิลลอป” ประกอบดนตรี โดยจัดแสดงที่ซิดนีย์และแมลเบิร์นในเดือนตุลาคม 2010
คณะภคินีนักบุญยอแซฟออกเว็บไซ้ต์ (www.marymackillop.org.au) เพื่อเผยแพร่ภาพถ่ายและรายละเอียดชีวิตของท่านนักบุญที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน นอกจากนั้นยังมีการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับจดหมายในบั้นปลายของชีวิตที่แสดงถึงโรคคิดถึงบ้าน การเจ็บป่วย และการโต้แย้งกับภคินีของคณะในการเปิดบ้านของคณะในนิวซีแลนด์ ขณะที่สภาพระสังฆราชออสเตรเลียก็มีการจัดตั้งคณะทำงานประสานงานในระดับชาติในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เป็น “ช่วงเวลาแห่งพระหรรษทาน” สำหรับชาวออสเตรเลียทั่วประเทศ ........................... จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส