ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนมกราคม(วันที่ 21-31)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 22, 2021 1:29 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๑ มกราคม
นักบุญอักแนส
St. Agnes

แม้จะไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับชีวิตของอักแนส แต่เรื่องราวของเธอถูกเล่าต่อกันมาด้วยความเคารพตั้งแต่ศตวรรษที่ ๔ ชื่ออักแนสในภาษาละตินหมายถึงลูกแกะ ในวันฉลองของเธอ พระสันตะปาปามีธรรมเนียมอำนวยพรแก่พวกแกะ ซึ่งขนของพวกมันจะถูกนำมาทำเป็นสายพาดบ่า (Pallium) ของพระสังฆราช

อักแนสเกิดในครอบครัวมั่งคั่งในปลายศตวรรษที่ ๓ เธออาศัยอยู่ในกรุงโรมในช่วงเวลาของการเบียดเบียนพระศาสนจักรครั้งสุดท้ายโดยจักรพรรดิ Diocletian แม้ว่าจักรพรรดิจะอดทนต่อบรรดาคริสตชน แต่ในปี ๓๐๒ พระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัย กลับมุ่งจะกวาดล้างพระศาสนจักรคาทอลิกให้หมดสิ้นจากจักรวรรดิ

จักรพรรดิทรงสั่งให้ทำลายวัดและเผาหนังสือ พระสงฆ์และฆราวาสถูกจับคุมขังและลงทัณฑ์ทรมาน บังคับให้นมัสการจักรพรรดิแทนพระคริสต์

อักแนส ซึ่งเป็นหญิงสาวเลอโฉมและมีเสน่ห์ ได้รับความสนใจจากพวกข้าราชการระดับสูงมากมาย แต่เธอตั้งใจจะใช้ชีวิตเป็นโสดเพื่อยืนยันถึงอาณาจักรพระเจ้าตามอย่างพระคริสต์และนักบุญเปาโล เธออธิบายแก่เหล่าผู้ติดตาต้องใจเธอว่าเธอได้ให้คำมั่นสัญญาไว้แล้วกับคู่ครองที่มองไม่เห็นและอยู่บนสวรรค์

คนเหล่านั้นมีทั้งที่เข้าใจและที่ไม่ยอมรับการตัดสินใจของเธอ บางคนรายงานเรื่องเธอเป็นคริสตชนให้ทางการทราบ หวังจะให้เธอเปลี่ยนใจ อักแนสถูกนำมายืนต่อหน้าผู้พิพากษา ซึ่งทีแรก พยายามหว่านล้อม ต่อมาก็ข่มขู่ให้เธอปฏิเสธความเชื่อ

ผู้พิพากษาแสดงทัณฑ์ทรมานที่เธออาจได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเผาไฟ เกี่ยวด้วยตะขอเหล็กหรือยึดกับรางเพื่อยืดร่างฉีกอวัยวะ แต่อักแนสก็ไม่ยอมตาม เธอถูกพามายืนหน้าแท่นเทพเจ้าเพื่อกราบไหว้นมัสตามธรรมเนียมปฏิบัติของจักรวรรดิโรม

แต่เธอปฏิเสธ ผู้พิพากษาจึงสั่งให้ส่งตัวเธอไปที่ซ่องโสเภณีเพื่อให้เธอเสียพรหมจรรย์ อักแนสทำนายว่าพระเจ้าจะไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น และถ้อยคำของเธอก็เป็นจริง ชายคนแรกที่พยายามเข้าหาเธอตาบอดในทันทีด้วยแสงที่สว่างวาบฉับพลัน คนอื่นไม่กล้าจะเข้าใกล้เธออีก

แต่มีชายคนหนึ่งที่ลุ่มหลงอักแนสจนกลายเป็นความแค้น เขาจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษาตัดสินประหารเธอ ก่อนจะถูกตัดศีรษะ เพชฌฆาตให้โอกาสเธอครั้งสุดท้ายที่จะปฏิเสธพระคริสต์ แต่อักแนสแน่วแน่ เธออธิษฐานภาวนาและยอมรับความตายอย่างกล้าหาญ

อักแนสเสียชีวิตในปี ๓๐๔ เธอเป็นมรณสักขีคนสำคัญที่ได้รับการจารึกนามในพระศาสนจักร
Cr.Sinapis
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ อาทิตย์ ก.พ. 28, 2021 10:47 pm, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 22, 2021 1:31 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๒ มกราคม
นักบุญวินเซนต์
St. Vincent

วินเซนต์เป็นสังฆานุกรของเมือง Saragossa (ซาราโกซา) ท่านเป็นมรณสักขีในสมัยจักรพรรดิ Diocletian (ปี ๓๐๔)

วินเซนต์ได้รับการอบรมสั่งสอนจากสังฆราช Valerius แห่งซาราโกซา ภายหลังจากได้รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร ท่านทำหน้าที่เทศน์ในสังฆมณฑลเนื่องจากพระสังฆราชถูกห้ามเทศน์สอน

ผู้ว่าการเมืองสั่งให้นำตัววินเซนต์และสังฆราชมาที่วาเลนเซีย ทั้งสองถูกจำจองไว้ในคุกเป็นเวลานาน ต่อมาพระสังฆราช Valerius ถูกปล่อยตัว แต่วินเซนต์ต้องรับทัณฑ์ทรมานนานัปการจนเสียชีวิต

ร่างกายของท่านถูกโยนให้พวกแร้งกิน แต่มีกาตัวหนึ่งมาปกป้อง ผู้ว่าการเมืองจึงสั่งให้ทิ้งศพลงทะเล แต่ร่างของท่านก็ลอยคืนสู่ฝั่งและได้รับการฝังโดยแม่ม่ายใจศรัทธาคนหนึ่ง หลังจากความสงบกลับคืนมา วัดแห่งหนึ่งได้ถูกสร้างเหนือบริเวณที่ฝังศพของท่านนอกกำแพงเมืองวาเลนเซีย

วินเซนต์เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเมืองวาเลนเซีย ซาราโกซา และประเทศโปรตุเกส

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 24, 2021 5:23 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ มกราคม
นักบุญอิลเดฟอนซัส
St. Ildephonsus

อิลเดฟอนซัสเป็นอัครสังฆราชของเมือง Toledo ท่านเป็นหลานของนักบุญ Eugenius นับแต่เยาว์วัย ท่านสนใจชีวิตนักพรตและได้เข้าอาราม ท่านบวชเป็นสังฆานุกร และได้เป็นอัครสังฆราชของ Toledo ในปี ๖๕๗ ซึ่งท่านทำหน้าที่อยู่นาน ๙ ปี

ท่านมีความศรัทธาแรงกล้าต่อพระนางมารีย์ เล่ากันว่าพระนางปรากฏให้ท่านเห็นในคุก ท่านเสียชีวิตในปี ๖๖๗

งานเขียนของอิลเดฟอนซัสเป็นที่รู้จักกันมากกว่ารายละเอียดของชีวิตท่าน และทำให้ท่านมีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะนักเขียนชาวสเปน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 24, 2021 5:24 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๔ มกราคม
นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์
พระสังฆราชและนักปราชญ์ของพระศาสนจักร
St. Francis de Sales

ฟรังซิสเกิดในปี ๑๕๖๗ ที่เมือง Savoy ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส บิดาของท่านเป็นทูต ครอบครัวท่านศรัทธายิ่งต่อนักบุญฟรังซิส อัสซีซี

ในวัยหนุ่ม ฟรังซิสเรียนวิชาวาทศิลป์ ศิลปศาสตร์ และกฎหมายเพื่อเตรียมทำงานด้านการเมือง ท่านมีความศรัทธาลึกซึ้งต่อพระนางมารีย์ และได้ตัดสินใจลับๆ ที่จะถือโสด ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องทะเลาะกับบิดา เพราะบิดาท่านได้จัดเตรียมการแต่งงานไว้ให้แล้ว

ช่วงเวลานั้นเอง พระสังฆราชแห่งเจนีวาได้ตั้งฟรังซิสให้ทำงานในพระศาสนจักรของสวิส ซึ่งทำให้ท่านตัดสินใจเรียนและรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๕๙๓

เพียงไม่นาน คุณพ่อฟรังซิส เดอ ซาลส์ก็มีชื่อเสียงโดดเด่นในการเป็นนักเทศน์และทำงานอภิบาลคนจนและคนป่วย ที่สุด ท่านได้เป็นสังฆราชแห่งเจนีวาในปี ๑๖๐๒ ซึ่งท่านทำหน้าที่อย่างดีเลิศในการบริหาร การเทศน์ การสอนคำสอน ให้การอบรมพระสงฆ์นักบวช และให้คำแนะนำชีวิตฝ่ายจิตแก่บุคคลต่างๆ ท่านทำงานเพื่อฟื้นฟูวัดวาอารามและคณะนักบวชในเจนีวา ท่านยังช่วยเหลือนักบุญเจน ฟรังซิส เดอ ซังตาล ให้ก่อตั้งคณะนักบวชหญิงด้วย

ในระหว่างทำหน้าที่สังฆราช ท่านสามารถนำชาวโปรแตสเตนท์ ๔๐,๐๐๐-๗๐,๐๐๐ คนให้กลับมาถือความเชื่อคาทอลิก แม้จะต้องเผชิญกับความโกรธแค้นชิงชังและถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง

ท่านเสียชีวิตในปี ๑๖๒๒ และเพียง ๓ ปีต่อมาก็ได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ในปี ๑๘๗๗ ท่านได้รับการยกย่องเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร

แก่นสำคัญของคำสอนของท่านคือ ความเพียบพร้อมในชีวิตฝ่ายจิตนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้เฉพาะบุคคลพิเศษบางคน และไม่ต้องใช้ชีวิตถือพรตทรมานตนเคร่งครัดหรือถอนตัวจากชีวิตประจำวันทางโลก ท่านเป็นผู้วางรากฐานให้ชีวิตภายในของฆราวาส ท่านเขียนหนังสือชีวิตฝ่ายจิตที่เป็นคลาสสิค ชื่อ Introduction to the Devout Life (ข้อแนะนำเบื้องต้นของชีวิตศรัทธา) มีคณะนักบวชมากมายที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่ออุปถัมภ์ของท่าน

ฟรังซิส เดอ ซาลส์เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของนักเขียน ดังนั้น วันฉลองของท่านจึงเป็นวันที่พระสันตะปาปาทรงออกพระสมณสาสน์เนื่องในวันสื่อมวลชนโลก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 25, 2021 8:16 pm

วันที่ ๒๕ มกราคม
การกลับใจของนักบุญเปาโล
Conversion of St. Paul

เปาโล (เกิดประมาณปีค.ศ.๑/๕ เสียชีวิตปี ๖๒/๖๗) เป็นธรรมทูตยุคแรกเริ่มคนสำคัญที่สุดของของคริสตศาสนา ท่านได้รับฉายาว่า "อัครสาวกของคนต่างศาสนา"

เปาโลเกิดที่เมืองทาซัสในเอเชียไมเนอร์ ครอบครัวของท่านเป็นชาวยิวเชื้อสายเผ่าเบนจามิน ท่านได้ชื่อว่าเซาโล และได้รับการศึกษาทั้งทางยิวและกรีก ท่านมีสัญชาติโรมัน ท่านเล่าว่าท่านตามล่าเบียดเบียนศิษย์ยุคแรกของพระเยซูอย่างเอาจริงเอาจัง ในเหตุการณ์สังหารสเตเฟน มรณสักขีคนแรกของพระศาสนจักร เปาโลมีส่วนรู้เห็นเป็นพยานด้วย

แต่เปาโลได้พบประสบการณ์ลึกซึ้งที่ทำให้ท่านกลับใจอันเป็นที่มาของวันระลึกฉลองวันนี้ ประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนถนนไปเมืองดามัสกัสประมาณปี ค.ศ.๓๕ ท่านอธิบายถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นกระแสเรียกให้ท่านประกาศเรื่องพระคริสต์ผู้กลับคืนชีพแก่บรรดาคนต่างศาสนา หลังจากอยู่ที่เมืองดามัสกัสเป็นเวลา ๓ ปี ท่านก็ออกเดินทางทำงานธรรมทูตครั้งแรก (ปี ๓๘-๔๘) ในซีเรียและเอเชียไมเนอร์

จากนั้นท่านใช้เวลา ๘ ปี (ปี ๔๙-๕๗) ในการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนทั่วเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ในระหว่างการเดินทาง ท่านเขียนจดหมายหลายฉบับ ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมใหม่ ในปี ๕๗ ท่านเดินทางกลับเยรูซาเล็ม ที่ซึ่งท่านถูกจับคุมขังเป็นเวลา ๒ ปี ท่านร้องเรียนต่อซีซาร์ในฐานะพลเมืองชาวโรมัน จึงทำให้ถูกส่งตัวไปที่โรม และท่านถูกขังบริเวณในบ้านแห่งหนึ่งเป็นเวลาอีก ๒ ปี ในระหว่างช่วงปี ๖๒ และ ๖๗ ท่านถูกสังหารด้วยคำสั่งของผู้มีอำนาจท้องถิ่น

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ม.ค. 26, 2021 6:05 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ มกราคม
นักบุญทิโมธีและทิตัส สังฆราชและมรณสักขี
Sts. Timothy and Titus

ทิโมธีและทิตัสเป็นผู้ที่นักบุญเปาโลเขียนจดหมายถึง ๓ ฉบับ แต่เราไม่ทราบเรื่องราวของท่านทั้งสองมากนัก

ทิโมธี (เสียชีวิตปี ๙๗) มาจากเมือง Lystra ในเอเชียไมเนอร์ (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) แม่ของท่านเป็นชาวยิวที่เป็นคริสต์ ส่วนบิดาเป็นชาวกรีก นักบุญเปาโลพบท่านในระหว่างการเดินทางเทศน์สอนครั้งที่ ๒ ทิโมธีร่วมทางไปกับนักบุญเปาโล และอีกครั้งในการเดินทางครั้งที่ ๓ เปาโลส่งทิโมธีไปให้กำลังใจชาวเมืองเธสสะโลนิกา และช่วยแก้ปัญหาในเมืองโครินธ์และฟิลิปปี ธรรมประเพณีของคริสตชนถือว่าทิโมธีเป็นสังฆราชคนแรกของเมืองเอเฟซัส จดหมายของนักบุญเปาโลที่เขียนถึงทิโมธีแนะนำให้ท่านตักเตือนพวกที่สอนคำสอนผิดๆ และให้แต่งตั้งผู้ดูแลคริสตชน (สังฆราช) และสังฆานุกร

ทิตัสเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด และอาจจะเป็นชาวเมืองอันติโอก ในปี ๔๘ ท่านร่วมทางกับเปาโลและบาร์นาบัสจากเมืองอันติโอกไปเยรูซาเล็มเพื่อพบบรรดาผู้นำของศาสนจักรเยรูซาเล็มเกี่ยวกับประเด็นที่คริสตชนต่างชาติต้องรับพิธีเข้าสุหนัตและถือบัญญัติของโมเสสหรือไม่ เปาโลยกทิตัสเป็นตัวอย่างของชาวกรีกที่ไม่ถูกบังคับให้เข้าสุหนัตเมื่อกลับใจเป็นคริสตชน ทิตัสรับใช้เปาโลในฐานะเพื่อนร่วมงานและเลขานุการที่เมืองเอเฟซัส เปาโลส่งทิตัสไปเมืองโครินธ์เพื่อเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในระหว่างคริสตชนที่นั่น เรารู้ว่าทิตัสทำงานสำเร็จเพราะเปาโลได้รับความบรรเทาใจจากข่าวที่ทิตัสนำมาแจ้ง ทิตัสเป็นสังฆราชคนแรกของเกาะครีต

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 27, 2021 9:51 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๗ มกราคม
นักบุญอัญจลา เมริชี
St. Angela Merici

อัญจลาเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบวชหญิงอุร์สุลิน เธอเกิดประมาณปี ๑๔๗๐/๗๔ ที่เมือง Desenzano ในเวนิส เธอเป็นกำพร้าแต่เยาว์วัย ต่อมา เธอย้ายไปอยู่เมือง Brescia ที่ซึ่งเธอได้เป็นสมาชิกฆราวาสของคณะฟรังซิสกันและเริ่มต้นทำงานอุทิศตนเพื่อการศึกษาของสตรียากจน เธอและเพื่อนๆ มอบตัวเองภายใต้ความคุ้มครองของนักบุญอุร์สุลา ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหญิงอังกฤษในศตวรรษที่ ๔ และหลบหนีไปอยู่เมืองโคโลญจน์เพื่อรักษาพรหมจรรย์และถูกสังหารพร้อมกับมิตรสหาย คณะซิสเตอร์อุร์สุลินไม่ได้ถือคำปฏิญาณ และสวมเสื้อผ้าฆราวาส แต่พระวินัยบ่งบอกให้ยึดถือการปฏิบัติพรหมจรรย์ ความยากจน และความนบนอบ

อัญจลา เมริชีเสียชีวิตวันที่ ๒๗ มกราคม ๑๕๔๐ และถูกประกาศเป็นนักบุญเมื่อปี ๑๘๐๗

CR. : Sinapis

ขอเพิ่มเติมค่ะ
"ตามรอยพระบาท" วันนี้ (พ 27/1/2021) ให้เราดูตัวอย่างของ นักบุญอังเยลา เมริชี พรหมจารี (1474-1540) เกิดที่เมืองเดแซนซาโน ทางเหนือของอิตาลี ครอบครัวของเธอมีความศรัทธา สวดภาวนาก่อนนอนพร้อมกันทุกคืน เธอฟังบิดาอ่านประวัตินักบุญ แล้วก็รู้สึกอยากเป็นนักบุญด้วย; พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงแสดงให้เธอเห็นในนิมิตว่า เธอจะเป็นผู้นำกลุ่มสตรีใจศรัทธา ที่อุทิศชีวิตในการรับใช้พระองค์; วันหนึ่ง ขณะกำลังรำพึงในทุ่งนา มีแสงสว่างจ้าปรากฎขึ้น ในแสงนั้นมีบันไดทอดขึ้นไปสวรรค์ และมีพรหมจารีจำนวนมากกำลังเดินขึ้นไป เธอได้ยินเสียงหนึ่งกล่าวว่วา “อังเยลา เข้มแข็งเข้าเถอะ สักวันหนึ่งเธอจะตั้งคณะพรหมจารีเหมือนดังที่เห็นนี้”; เมื่ออังเยลาอายุได้ 22 ปี เธอพบว่าบรรดาเด็กเล็กๆ ในหมู่บ้านขาดการอบรมสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศีลธรรมและศาสนา เธอจึงรวบรวมเพื่อนหญิง 12 คน ที่เมืองเบรสเซีย ที่ดำเนินชีวิตพรหมจรรย์อยู่ร่วมกัน รับหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กๆ ให้มีการศึกษาและประพฤติดี; เธอตั้งชื่อคณะว่า “อูรสุลิน” ซึ่งได้เลือกเอานักบุญอูรซูลา พรหมจารีย์และมรณสักขี เป็นองค์อุปถัมภ์; อังเยลา ได้รับเลือกตั้งเป็นอัคราธิการคณะ และดำรงตำแหน่งจนสิ้นชีวิต; เมื่อใกล้สิ้นใจเธอเตือนบรรดาภคินีว่า “ลูกรัก ขอให้ความรักจงดำรงอยู่ในพวกเธอเสมอ”; เธอสิ้นใจเมื่ออายุ 66 ปี ตลอด 3 วัน มีแสงสว่างปรากฎเหนือวัดน้อยที่ตั้งศพของเธอ และตลอด 30 วันที่ตั้งศพให้สัตบุรุษมาแสดงความเคารพ ปรากฎว่าไม่มีการเปื่อยเน่าเลย แขนขาพับเข้าออกสะดวก ใบหน้ายิ้มละไม แสดงความสงบราบรื่น เหมือนที่เคยมีชีวิตอยู่; เธอเป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้ป่วยพิการทางกาย และเด็กกำพร้า
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 28, 2021 9:23 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ มกราคม
นักบุญโทมัส อไควนัส นักปราชญ์ของพระศาสนจักร
St. Thomas Aquinas

โทมัสเป็นนักบวชคณะโดมินิกัน ได้รับฉายาว่า "ปราชญ์เทวดา" เพราะท่านเป็นนักเทววิทยาที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร

โทมัสเกิดเมื่อปี ๑๒๒๕ ท่านได้รับการศึกษาในอารามเบเนดิกตินที่ Monte Cassino และมหาวิทยาลัย Naples ท่านสมัครเข้าคณะโดมินิกันในปี ๑๒๔๔ แม้จะถูกทัดทานอย่างรุนแรงจากครอบครัว พวกพี่ๆได้ลักพาตัวท่านไปขังไว้ในปราสาทเป็นเวลา ๑ ปี และพยายามชักชวนให้ท่านละทิ้งกระแสเรียกด้วยการหาหญิงสาวมาใกล้ชิด แต่โทมัสหลุดพ้นออกมาได้ ท่านไปปารีสเพื่อศึกษาต่อ และจากนั้นไปเมืองโคโลญจน์ ศึกษากับนักบุญอัลเบิร์ต ผู้ยิ่งใหญ่ ในระหว่างนี้ ท่านบวชเป็นพระสงฆ์

โทมัสทำหน้าที่สอนสมาชิกร่วมคณะในหลายเมือง จนเมื่อมาอยู่ที่โรม ท่านจึงเริ่มเขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของท่าน คือ Summa Theologiae โดยใช้เวลานาน ๕ ปี แต่แล้วในวันที่ ๖ ธันวาคม ๑๒๗๓ ท่านกลับชะงักการเขียนอย่างฉับพลัน จะเป็นเพราะท่านตระหนักว่าสิ่งที่เขียนไม่สามารถบรรยายความลึกซึ้งที่ท่านประสบ หรือเพราะปัญหาด้านสุขภาพ ก็ไม่อาจคาดเดา ท่านเสียชีวิตไม่กี่เดือนต่อมาในวันที่ ๗ มีนาคม ๑๒๗๔

พันธกิจในฐานะผู้สอนและนักเทศน์ของโทมัสคือการถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้รับจากการรำพึงภาวนา ซึ่งสำหรับท่านแล้วนับเป็นกิจการสูงส่งที่สุดเมื่อกระทำด้วยความรัก ความเปิดกว้างและใจเมตตาการุณย์ส่งผลให้ท่านศึกษางานเขียนของคริสตชน ชาวยิวหรือแม้กระทั่งคนต่างศาสนาที่จะสามารถนำท่านไปสู่ความจริงได้

โทมัสได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๓๒๓ และประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรในปี ๑๕๖๗ ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยคาทอลิก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 29, 2021 3:16 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๙ มกราคม
นักบุญกิลดัส อธิการอาราม
St. Gildas, Abbot

กิลดัสเกิดประมาณปี ๕๑๗ ในภาคเหนือของอังกฤษหรือเวลส์ บิดาของท่านชื่อ Cau (หรือ Nau) สืบเชื้อสายขุนนาง ท่านมีพี่น้องชายหญิงหลายคน มีหลักฐานว่าน้องชายคนหนึ่งของท่าน ชื่อ Cuil (หรือ Hueil) ถูกกษัตริย์อาเธอร์สังหาร และกิลดาให้อภัยกษัตริย์อาเธอร์

ยุคนั้น อิทธิพลของโรมเริ่มเสื่อมถอยในอังกฤษ กองกำลังลีเจียนภายใต้การนำของ Maximus ถอนตัวออกไปเพื่อบุกล้อมโรมและตัวเขาขึ้นดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ

กิลดาเข้าอารามนักพรตหลังจากภรรยาเสียชีวิต ท่านโดดเด่นในความศรัทธาและมีการศึกษาสูง ท่านไม่หวั่นเกรงที่จะตำหนิผู้ปกครองประเทศในเวลานั้น แม้จะเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย

ท่านเขียนหนังสือชื่อ ซากปรักหักพังของอังกฤษ (De Excidio Britanniae) อธิบายถึงความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของผู้ปกครองทางโลกและพระสงฆ์นักบวชในอังกฤษเวลานั้น ว่าเป็นเพราะชัยชนะของผู้บุกรุกชาวแองโกลเซ็กซัน

ท่านตั้งอารามบนเกาะแห่งหนึ่งในอ่าว Morbihan ของอังกฤษ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มอารามของท่าน ปัจจุบันเกาะแห่งนี้ยังมีชื่อเรียกว่า "เกาะของพวกฤาษี"

ท่านเสียชีวิตประมาณปี ๕๗๑ ที่เมือง Rhuys

ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของศาสนจักรอังกฤษยุคแรก งานเขียนของท่านยังส่งผลมาถึงยุคกลาง โดยเฉพาะต่อศาสนจักรเคลท์ ท่านเป็นนักเขียนอังกฤษคนแรกที่งานเขียนตกทอดมาถึงคนรุ่นหลังอย่างครบสมบูรณ์

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 30, 2021 4:14 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๐ มกราคม
นักบุญไฮยาซินธา มาริสคอตตี
St. Hyacintha of Mariscotti

ไฮยาซินธา (๑๕๘๖-๑๖๔๐) เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มดูแลคนป่วย ผู้สูงวัยและคนยากจนในเมือง Viterbo เธอเกิดในครอบครัวขุนนางอิตาลี ได้รับชื่อเมื่อรับศีลล้างบาปว่า คลาริส และรับการอบรมในอารามคณะฟรังซิสกันใกล้บ้าน

ไฮยาซินธาถูกพ่อแม่ส่งเข้าอารามเพราะอารมณ์รุนแรงเอาแต่ใจตัวของเธอ เธอได้รับชื่อใหม่ว่าซิสเตอร์ไฮยาซินธา แต่สิบปีแรกในอาราม เธอดำเนินชีวิตนักบวชเพียงแต่ชื่อ เธอกินอยู่อย่างหรูหราและมีสิ่งของเครื่องใช้ฟุ่มเฟือย เธออยู่อย่างสุขสบายในอารามนักบวชที่สาบานตนถือเคร่งทรมานกาย

แต่ครั้งหนึ่งเธอล้มป่วย พระสงฆ์ฟังแก้บาปนำศีลมหาสนิทมาส่งให้เธอที่ห้อง เขารู้สึกสะดุดต่อข้าวของบรรดามีของเธอ จึงตักเตือนให้เธอดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

คำแนะนำนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวไฮยาซินธา เธอสละอาภรณ์สูงค่าและอาหารพิเศษ เลือกจะจำศีลอดอาหาร พร้อมทั้งยอมทำงานต่ำต้อยที่สุดในอาราม เธอฝึกตนจนก้าวหน้าในความศรัทธาต่อพระมหาทรมานของพระคริสต์เป็นพิเศษ ความเปลี่ยนแปลงของเธอเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างให้กับเพื่อนซิสเตอร์ในอาราม จนกระทั่งเธอได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลนวกชน

เธอเสียชีวิตในวันที่ ๓๐ มกราคม ๑๖๔๐ และได้รับประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๘๐๗

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 01, 2021 10:49 am

วันที่ 31 มกราคม
ระลึกถึงนักบุญยอห์น บอสโก พระสงฆ์
(St John Bosco, Priest, memorial)

นักบุญยอห์น บอสโก เกิดที่ Piedmont ในเขตสังฆมณฑลตุริน ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1815 ตั้งแต่วัยเด็กมาแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระแม่มารีย์ได้ดลใจนักบุญยอห์น ซึ่งเป็นเด็กชายชาวนายากจนทางภาคเหนือของอิตาลี ในรูปแบบที่ท่านให้คำนิยามว่า "เป็นความฝันที่จะช่วยเยาวชนจากหนทางแห่งความชั่ว และฝึกอบรมพวกเขาให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์ แต่ต้องทำด้วยความนุ่มนวลและความรักเมตตา" ดังนั้น หลังจากได้รับศีลบวชที่เมืองตุรินแล้ว ท่านก็ตั้งใจที่จะหาทุกๆ วิถีทางเพื่อชนะใจพวกเยาวชน ทำให้พวกเขาไว้วางใจและเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกล โยนบอล ไต่เชือก เล่นไวโอลิน ร้องเพลง เล่านิทาน เล่นละคร เล่นเกมส์ พาเที่ยว โดยจะมีการสอนคำสอนง่ายๆ ตอนเริ่มต้นกับตอนจบของแต่ละกิจกรรม หรือมีการสวดสายประคำ และการอธิบายพระวรสารประจำวัน ความลำบากต่างๆ ที่ท่านต้องพานพบคือการพยายามหาสถานที่ให้บรรดาเด็กๆ มาประชุมกันทุกวันอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาว ลองจินตนาการสิว่า ภายในปี ค.ศ. 1845 พวกเด็กๆ เยาวชนของท่านมีจำนวนมากกว่า 800 คน

แต่งานของนักบุญยอห์น บอสโก ก็ได้รับการรับรู้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ และมี "ผู้ร่วมงาน" หลายคนคอยสนับสนุน จนกระทั่งท่านสามารถตั้งโรงเรียนที่สอนตอนกลางคืนขึ้นมาได้ และได้วางรากฐานที่ถาวรในการก่อตั้งสถาบันซาเลเซียนของท่านในเมืองตุริน และมอบให้อยู่ในความปกป้องคุ้มครองพระแม่มารีย์องค์อุปถัมภ์ของคริสตัง และนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ มีโรงเรียนอาชีวะเต็มเวลาเกิดขึ้นมาเพื่อฝึกงานและหอพักนักเรียนซึ่งได้สร้างขึ้นมา ทำให้เด็กๆ ของท่านได้เรียนเรื่องศาสนา การอ่าน การเขียน และการค้าภายใต้ระบบการศึกษาที่โดดเด่น โดยวางรากฐานให้มีการแก้บาปเป็นประจำและมีมิสซาประจำวัน

Don Bosco ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันดี สามารถอ่านใจของนักเรียนของท่านได้ ในทางกลับกันพวกเด็กมองท่านว่าเป็นนักบุญ อิทธิพลที่พิเศษของท่านที่มีต่อคนอื่นๆ เห็นได้อย่างชัดเจน เช่นในโอกาสหนึ่งท่านได้รับอนุมัติให้นำนักโทษจำนวน 300 คนจากคุกในเมืองออกมาข้างนอกในวันหยุด โดยไม่ต้องมีผู้คุมมาดูแล และเพื่อขยายงานช่วยเหลือไปยังเด็กผู้หญิงด้วย ท่านนักบุญได้ร่วมมือกับนักบุญมารีย์ มาซซาเร็ลโล (St. Mary Mazzarello) ก่อตั้งคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ของคริสตังขึ้นมาในปี ค.ศ. 1872 คณะซาเลเซียนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนสมาชิกและเป็นที่ชื่นชอบ ในขณะที่นักบุญยอห์น บอสโก สิ้นชีพเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1888 ก็มีบ้านของคณะอยู่แล้ว 200 หลัง และได้ผลิตพระสงฆ์มากกว่า 2,500 องค์

ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1929 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1934 โดยพระสันตะปาปาพระองค์เดิม

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.พ. 01, 2021 10:49 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๑ มกราคม
นักบุญยอห์น บอสโก
St. John Bosco

ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบุญฟรังซิสเดอซาลส์ หรือที่รู้จักกันในนามคณะซาเลเซียน ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของการพิมพ์คาทอลิก บรรณาธิการ และผู้ฝึกงานวัยรุ่น

ยอห์น บอสโก เกิดในเดือนสิงหาคม ปี ๑๘๑๕ ครอบครัวของท่านเป็นชาวนา เมืองเกิดของท่านคือ Castelnuovo d'Asti ซึ่งภายหลังได้ถูกตั้งชื่อใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านว่า Castelnuovo Don Bosco

บิดาของยอห์นตายเมื่อยอห์นอายุเพียง ๒ ขวบ แต่ยอห์นได้รับการดูแลอย่างดีจากมารดา คุณแม่มาร์การิต้า ผู้ซึ่งปลูกฝังความเชื่อลึกซึ้งให้กับยอห์น

ยอห์นบวชเป็นสงฆ์ในปี ๑๘๔๑ และอุทิศตัวเองเพื่อการศึกษาและอบรมเด็กและวัยรุ่นชาย โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน สมตามความฝันในวัยเด็ก

ท่านเปิดศูนย์ฝึกอาชีพช่างทำรองเท้า ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างพิมพ์และงานตีเหล็ก ดังนั้น ดอน บอสโก จึงเป็นผู้บุกเบิกโรงเรียนฝึกอาชีพ ต่อมา เมื่อมีพระสงฆ์อื่นๆ มาช่วย พวกเขาก็ได้รวมตัวกันเป็นหมู่คณะ และกลายเป็นคณะนักบวชซาเลเซียนซึ่งได้รับการรับรองจากสันตะสำนักในปี ๑๘๘๔

ยอห์น บอสโกสิ้นใจเวลาเช้าตรู่ของวันที่ ๓๑ มกราคม ๑๘๘๘ คำพูดสุดท้ายของท่านคือ "บอกพวกเด็กๆ ด้วยว่าพ่อจะรอพวกเขาทุกคนในสวรรค์"

พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๑ ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสงฆ์หนุ่มได้รู้จักดอนบอสโก ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๓๔

CR. : Sinapis
ตอบกลับโพส