“ชีวิตอุทิศเพื่อสยาม”

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 25, 2021 8:14 pm

เพื่อนในไลน์แบ่งปันมา.....
.....“ชีวิต อุทิศเพื่อสยาม” ......
ฝรั่งทั้งครอบครัวโอนใจเป็นไทย! ตั้งโรงเรียนแพทย์ คิดพิมพ์ดีดภาษาไทย!!
...

แม้ในสมัยที่ประเทศไทยยังไม่มีความสะดวกสบายเหมือนทางตะวันตก แต่วิถีชีวิตความเป็นไทยก็มีเสน่ห์ ทำให้คนหลายชาติหลายภาษาเลือกเอาเมืองไทยเป็นเรือนตายแทนถิ่นเกิด หลายคนกลายเป็นต้นสกุลไทยในวันนี้ และได้สร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยไว้มาก รายที่จะเล่าในวันนี้ต่างโอนใจเป็นไทยทั้งครอบครัว ตั้งแต่พ่อแม่ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมา กับลูกชายหญิงอีก ๔ คนที่เกิดในเมืองไทย ต่างก็สร้างผลงานให้เป็นที่ระลึกไว้จนถึงวันนี้ พร้อมหนังสือชีวประวัติที่ประกาศว่า “ชีวิต อุทิศเพื่อสยาม”

ครอบครัวที่ว่านี้ก็คือครอบครัว “แมคฟาร์แลนด์” เริ่มด้วยรุ่นพ่อรุ่นแม่ คือ ศาสนาจารย์ แซมมูเอล แกมเบิล แมคฟาร์แลนด์ และ เจนนี แมคฟาแลนด์ ภรรยา ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกัน ได้เดินทางเข้ามาในปี ๒๔๐๓ สมัยรัชกาลที่ ๔ ในปีต่อมาจึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสถานีมิชชันนารีขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๔ คน เกิดในเมืองไทยทั้งหมด ๓ คนแรกเป็นชาย คนที่ ๔ เป็นหญิง เติบโตที่จังหวัดเพชรบุรี จนพูดภาษาไทยเป็นสำเนียงคนเมืองเพชร์

คนสำคัญในพี่น้องทั้ง ๔ คนนี้ก็คือคนที่ ๓ ชื่อ ยอร์ช บรัดเลย์ แมคฟาแลนด์ เหตุที่มีชื่อกลางว่าบรัดเลย์นั้น ก็เนื่องจากตอนคลอดมีปัญหาบางอย่างที่บิดามารดาเกรงว่าการแพทย์ที่เพชรบุรียังไม่ปลอดภัยพอ จึงนั่งเรือ ๓ วัน ๒ คืนมากรุงเทพฯให้หมอบรัดเลย์ทำคลอดให้ เลยเอาชื่อหมอบรัดเลย์มาเป็นชื่อด้วยเหมือนผู้ให้กำเนิด

เมื่อยอร์ช บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์อายุได้ ๙ ขวบ ได้ไปอเมริกาพร้อมกับครอบครัวทั้ง ๖ คน แต่กลับมาแค่ ๔ เพราะวิลเลียมและเอ็ดวินพี่ชายอยู่เรียนที่อเมริกา ยอร์ชกลับมาได้เข้าโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดให้ตั้งขึ้นที่พระราชวังนันทอุทยาน ฝั่งธนบุรี เพื่อเป็นที่เรียนของพระบรมวงศานุวงศ์และบุตรขุนนางข้าราชการ โดยมีศาสนาจารย์แซมมูเอลบิดาของยอร์ชเป็นอาจารย์ใหญ่

เมื่อจบแล้วยังช่วยสอนอยู่ ๒ ปีก่อนจะไปศีกษาต่อที่อเมริกาในปี ๒๔๒๗ ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์แล้ว ได้ไปฝึกการผ่าตัด พร้อมศึกษาวิชาทำฟันได้ปริญญาทันตแพทย์มาอีกปริญญาหนึ่ง เมื่อกลับมาเมืองไทยในปลายปี ๒๔๓๔ ก็ได้รับภาระจากนายแพทย์เฮย์วาร์ด เฮย์ หรือ “หมอเฮย์” แพทย์ประจำราชสำนักซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนการแพทย์ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เริ่มเปิดสอนในปี ๒๔๓๓ มีชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” แต่หมอเฮย์เพิ่งมาเมืองไทยได้ ๒ ปี พูดภาษาไทยยังไม่แข็งแรง เลยสอนด้วยความยากลำบาก ทำให้นักเรียนที่สนใจมาเรียนพากันทยอยออกไป เลยมอบภาระนี้ให้หมอยอร์ช หมอหนุ่มวัย ๒๖ รับภาระต่อ

หมอยอร์ชได้แก้ปัญหาโดยเรียบเรียงตำราแพทย์ขึ้น บัญญัติศัพท์ต่างๆเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่าย นอกจากนั้นยังนำอุปกรณ์การสอนสมัยใหม่มาใช้ อย่างเครื่องฉายกระจกสไลด์ ทำให้ได้รับความสนใจและก้าวหน้าขึ้น เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชแพทย์วิทยาลัย จนกลายเป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” ในปัจจุบัน ซึ่ง ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ยกย่องท่านว่าเป็น “อิฐก้อนแรกของศิริราช”

ท่านผลิตนักศึกษาแพทย์อยู่ถึง ๓๕ ปีจนเกษียณอายุราชการในปี ๒๔๖๙ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์เอก และศักดิ์เป็นพระอาจวิทยาคม

นอกจากนี้ หมอยอร์ชยังได้ชื่อว่าเป็นหมอฟันอเมริกันคนแรกของบางกอกด้วย โดยใช้เวลาช่วงบ่ายเปิดสำนักงานทำฟันขึ้นที่ปากคลองตลาดในปี ๒๔๓๕ ช่วยบรรเทาโรคปวดฟันให้ประชาชนทั่วไป ตลอดจนถึงในพระราชวังได้มาก ทั้งยังสั่งฟันเทียมสีดำตามความนิยมเข้ามาด้วย แต่ก็ต้องเลิกกิจการไปในปี ๒๔๓๙ เพราะต้องพาบิดาไปอเมริกา

เมื่อกลับมาหมอยอร์ชมีภรรยากลับมาด้วย ชื่อ แมรี รูท แต่อยู่ด้วยกัน ๒๒ ปีเธอก็เสียชีวิต หมอยอร์ชแต่งงานใหม่อีกครั้งกับ เบอร์ทา เบล๊านท์ ครูใหญ่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งหมอยอร์ชมีส่วนช่วยส่งเสริมโรงเรียนนี้มาตั้งแต่ย้ายมาจากวังหลัง นอกจากขายที่ดินให้ในราคาที่ซื้อมาแล้ว ยังบริจาคที่ดินให้อีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้หมอยอร์ชกับภรรยาคนหลัง ยังได้สร้างโรงเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ซี่งบันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินเล็กๆแปลงหนึ่งได้ที่สะพานสว่าง ข้าพเจ้ากับภรรยาได้เป็นผู้สนับสนุนในการเงินให้ตั้งโรงเรียนสตรีที่นั่น แหม่มโคล์เป็นผู้ควบคุม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๒๒ ข้าพเจ้าก็ยกโรงเรียนเป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่อเมริกันเพรสไบทีเรียนเพื่อความมั่นคงสืบไปในอนาคต และขอร้องให้เขาใช้ชื่อว่า โรงเรียนเยนเฮส์เมมโมเรียล เพื่อเป็นอนุสรณ์ของมารดาผู้ได้พลีกำลังในชีวิตของท่าน เพื่อการศึกษาของหญิงในจังหวัดเพชรบุรี”

เมื่อสมัยบิดาไปเปิดสถานีมิชชันนารีที่เมืองเพชรบุรี มารดาของท่านได้เปิดโรงเรียนฝึกหัดสตรีขึ้นที่นั่น สอนวิชาการทั่วไปและการเย็บปักถักร้อย โดยนำจักรเย็บผ้ามาใช้เป็นครั้งแรก นั่นก็คือจุดกำเนิดของโรงเรียนอรุณประดิษฐ์ในปัจจุบัน

มารดาของท่านยังสอนบุตรธิดาทุกคนให้สำนึกว่า สยามคือแผ่นดินแม่ ต้องทดแทนบุญคุณ ลูกทุกคนที่ไปศึกษาที่อเมริกาจึงกลับมารับราชการทุกคน วิลเลี่ยม ลูกชายคนโต เข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหมอยู่ ๗ ปี เป็นผู้เขียนตู่มือสำหรับเรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยขึ้น ทั้งยังคิดคำที่ใช้ในการทหารในภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยขึ้น เช่น กลับหลังหัน วันทยาวุธ เป็นต้น

เอ็ดวิน ลูกชายคนที่ ๒ เข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการ ในตำแหน่งเลขานุการในพระองค์กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดี ในปี ๒๔๓๔ เอ็ดวินได้ขอลาราชการไปอเมริกา และได้เห็นเครื่องพิมพ์เอกสารที่เรียกว่า Typewriter หรือ พิมพ์ดีด เกิดความคิดว่าน่าจะทำแบบเป็นภาษาไทยได้บ้าง จึงติดต่อกับบริษัทสมิธพรีเมียร์ ซึ่งเพิ่งผลิตรุ่นแรกออกมาในปี ๒๔๓๓ หาทางทำเป็นภาษาไทยซึ่งมีอักษรและพยัญชนะมากกว่าภาษาอังกฤษถึง ๒ เท่า แม้ทำแป้นพิมพ์เป็น ๗ แถวๆละ ๑๒ ตัวก็ยังเกินแป้นอีก ๒ ตัว ในที่สุดเอ็ดวินก็ตัดสินใจตัดตัว “ซ” และตัว “ฅ” ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้ จนสำเร็จในปี ๒๔๓๕ นำมาทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยมาก รับสั่งให้ทำมาอีก ๑๗ เครื่องใช้ในราชการ

เมื่อเอ็ดวินถึงแก่กรรม ได้ทำพินัยกรรมมอบกรรมสิทธิ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยให้หมอยอร์ชผู้น้องชาย ซึ่งได้ทำอย่างจริงจังเปิดเป็นห้างขายในชื่อ “ห้างสมิธพรีเมียร์” ในปี ๒๔๔๐ ปรากฏว่าขายได้เป็นพันๆเครื่อง ต่อมาจึงขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทเรมิงตัน

ในบั้นปลายชีวิต หมอยอร์ชมีสุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์นัก และล้มป่วยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะถูกกักตัวอยู่ในบ้านหลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาเพราะมีเชื้อชาติเป็นอเมริกัน อาการไส้เลื่อนของคุณหมอได้กำเริบขึ้น ต้องได้รับการผ่าตัดด่วน แต่กว่าญาติมิตรจะขออนุญาตนำไปถึง ร.พ.จุฬาลงกรณ์ได้ คุณหมอกก็ต้องรอคอยด้วยความเจ็บปวดอยู่ถึง ๑๒ ชั่วโมง

ในที่สุด นายแพทย์ ยอร์ช บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ หรือ มหาอำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม ก็จากไปในวัย ๗๕ ปี ตายในสยามบ้านเกิด ที่คุณหมอได้สร้างคุณประโยชน์ให้มาตลอดชีวิต สมดังชื่อหนังสืออัตชีวประวัติที่คุณหมอตั้งชื่อว่า “ชีวิต อุทิศเพื่อสยาม”
ตอบกลับโพส