ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนเมษายน(วันที่16-30)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ เม.ย. 16, 2021 3:02 pm

16 เมษายน
นักบุญ มารี แบร์นาแด๊ต สุบีรูส์
( St. Marie Bernadette Soubirous, Virgin )

เราเรียกชื่อนักบุญองค์นี้ง่ายๆว่า นักบุญแบร์นาแด๊ต เธอเกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1844 ที่เมืองลูร์ด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนบนของเทือกเขาปีรานีสฝั่งฝรั่งเศส (Lourdes, Hautes - Pyrénées, France) เป็นลูกคนโตในจำนวนทั้งหมด 9 คน ของนายฟร็องซัวส์ (Francoise) และหลุยส์ สุบีรูส์ (Louise Soubirous) พ่อของเธอได้เคยเป็นเจ้าของโรงสี แต่เกิดสถานการณ์ยากลำบากทำให้ต้องทำงานเป็นกรรมกรรายวันเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

เธอเป็นเด็กตัวเล็กและบอบบาง และต้องทุกข์ทรมานด้วยโรคหืดจนตลอดชีวิตของเธอ ในขณะที่เธอยังเด็ก เธอต้องไปอยู่หมู่บ้านใกล้ๆ เพื่อพักฟื้น พอโตขึ้นมาหน่อย ก็มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลฝูงแกะ ต่อมาเธอได้กลับมาอยู่ที่บ้านของพ่อเธออีกตอนอายุ 14 ปี เพราะความเจ็บป่วยและไม่ได้เข้าโรงเรียนทำให้การรับศีลมหาสนิทครั้งแรกของเธอต้องถูกเลื่อนเวลาออกไป

ในวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1858 แบร์นาแด๊ตพร้อมกับน้องสาวชื่อมารีและเพื่อนชื่อ Jeane ได้ออกไปหาฟืนเพื่อมาใส่เตาผิงให้กับครอบครัวที่ถ้ำมัสซาเบียล (Grotto of Massabielle) บริเวณฝั่งแม่น้ำกาฟ (Gave) เธอได้เห็นนิมิต - สุภาพสตรีผู้หนึ่งที่งดงามมาก เธอได้อธิบายการประจักษ์นี้ให้กับอีก 2 คนที่มากับเธอว่า "เป็นสุภาพสตรีที่สวมชุดขาว อายุน่าจะสัก 16-17 ปี ชุดขาวของเธอมีผ้าสีน้ำเงินคาดที่เอว มีผ้าคลุมผมสีขาวห้อยยาวไปทางเบื้องหลัง... เท้าทั้งสองของเธอไม่สวมรองเท้าแต่มีดอกกุหลาบอยู่ที่เท้าข้างละดอก ที่มือข้างขวาของเธอถือสายประคำที่มีเม็ดสีขาว... และโลหะที่ร้อยเป็นสีทอง ส่องแสงประกายเรืองรองเช่นเดียวกับดอกกุหลาบที่เท้าทั้งสองของเธอ" นั่นคือ พระมารดาของชาวเรานั่นเอง

พระนางมารีย์ได้ประจักษ์แก่แบร์นาแด๊ต 18 ครั้งด้วยกัน และได้ทรงสนทนากับเธอ พระนางตรัสว่า "ฉันสัญญาจะทำให้เธอมีความสุข ถ้าไม่ใช่ในโลกนี้ อย่างน้อยก็ในโลกหน้า" (18 กุมภาพันธ์) และ "จงใช้โทษบาป จงใช้โทษบาป จงใช้โทษบาป" (24 กุมภาพันธ์) และ "จงไปบอกกับบรรดาพระสงฆ์ให้สร้างวัดน้อยขึ้นที่นี่" (27 กุมภาพันธ์) และ "ฉันคือผู้ปฏิสนธินิรมล" (25 มีนาคม)

ในวันที่ 3 มิถุนายน แบร์นาแด๊ตได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก เธอถูกล้อเลียน ถูกดูถูกเหยียดหยันจากพวกที่ไม่เชื่อ และพวกที่สงสัย แม้กระทั่งมีการทำรั้วกั้นบริเวณถ้ำโดยนายกเทศมนตรีของเมืองลูร์ด เพื่อป้องกันไม่ให้แบร์นาแด๊ตเข้าไปข้างในเขตนั้น แต่เธอก็สามารถเห็น "สุภาพสตรี" ผู้นั้น ณ ที่ประจักษ์เดิมจากระยะไกล

แบร์นาแด๊ตต้องอดทนการต่อต้านจากครอบครัวของเธอเองเป็นอย่างมาก จากเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมือง และแม้จากพวกสมณะ พวกเขาปฏิเสธจะเชื่อเรื่องเล่าของเธอ พระสังฆราชแห่งตาร์บส์ (Tarbes) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการของพระศาสนจักรและพวกแพทย์ให้ช่วยสอบสวนความจริง และเนื้อแท้ของการประจักษ์ รวมทั้งอัศจรรย์ที่ได้เกิดขึ้นที่ลูร์ด พวกเขาทำงานนี้เกือบ 3 ปีด้วยกัน และก่อนที่รายงานของคณะกรรมการจะได้รับการรับรองจากพระสังฆราชด้วยซ้ำ ชื่อเสียงของลูร์ดก็แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว ได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่สำหรับแสวงบุญอย่างมั่นคงแล้ว

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1866 แบร์นาแด๊ตได้เดินทางไปเมืองเนแวรส์ (Nevers) เพื่อเข้าเป็นผู้ฝึกหัดที่บ้านเจ้าคณะของคณะซิสเตอร์แห่งเนแวรส์ และเธอได้อยู่ที่นั่นจนสิ้นชีพ โดยการถือตามวินัยอย่างเคร่งครัด เธอกล่าวว่า "ทุกๆวัน ฉันส่งใจไปยังถ้ำอันเป็นที่รัก เพื่อเป็นการแสวงบุญที่นั่น" เธอต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจในช่วงที่อยู่ในคอนแวนต์นั้น เธอกล่าวไว้ว่า "เราจะทำอะไรกับไม้กวาด เมื่อเรากวาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว... ก็นำมันไปไว้ที่มุมห้องสิ" แบร์นาแด๊ตเป็นประดุจไม้กวาดของพระเจ้า ซึ่งได้ทำการเก็บกวาดเรียบร้อยแล้ว ช่างเป็นงานที่ดีอะไรเช่นนี้

วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1878 เธอได้ปฏิญาณตนตลอดชีวิต ในเดือนธันวาคมของปีนั้น เธอได้ปรากฎตัวต่อหน้าบรรดาผู้แทนของบรรดาพระสังฆราชของตาร์บส์ (Tarbes) และเนแวรส์ เพื่อทำการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรใหม่ จากครั้งแรกที่ได้เคยทำไว้แล้วเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับเรื่องการประจักษ์มาที่ถ้ำนั้น

โรคหืดและจากสาเหตุเนื่องมาจากโภชนาการที่ไม่ดีและความยากจนในวัยเด็กเรื่อยมาจนถึงวัยรุ่นตอนต้น ทำให้เธอค่อยๆ เป็นวัณโรค และส่งผลให้เกิดแผลที่เข่าของเธอ และภาวะไตเป็นพิษ ซึ่งค่อยๆบั่นทอนชีวิตของเธอ ดังนั้น ในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1879 เธอได้จากไปด้วยรอยยิ้นบนใบหน้าเพื่อไปพบกับ "สุภาพสตรีในชุดสีขาว" ด้วยอายุ 35 ปี

แบร์นาแด๊ต สุบีรูส์ ได้รับการประกาศเป็นบุญราศี โดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1925 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1933


(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ เม.ย. 17, 2021 5:06 pm

#คริสต์ต้นแบบ ฉลองทุกวันที่ ๑๗ เมษายน
นักบุญคาเทรี เทคัควิธา
Saint Kateri Tekakwitha

#องค์อุปถัมภ์ : นักนิเวศวิทยา, ระบบนิเวศ, นิเวศวิทยา, สิ่งแวดล้อม, นักสิ่งแวดล้อม, ผู้สูญเสียบุพการี, ผู้ถูกขับไล่, บรรดาผู้คนที่ถูกเยาะเย้ยเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของตน

#สิ่งสื่อแทนถึงท่าน : ดอกลิลลี่

ท่านเป็นธิดาของมารดาคริสตชนอินเดียนแดง มารดาของท่านจากกลุ่มอินเดียนแดง อโลกอนควิน โดยมารดาของท่านได้ถูกพวกอินเดียนแดงกลุ่มอิโรควออิส จับตัวไป และได้แต่งงานร่วมกันกับหัวหน้าเผ่าโมฮอว์ค ที่หาใช่คริสตชนแต่อย่างใดไม่ ก่อนจะให้กำเนิดออกมาเป็นท่าน ท่านมีอันต้องเสียบุพการีไปจากเหตุไข้ทรพิษระบาด และผลจากไข้พิษนี้ยังทำให้ท่านหลงเหลือรอยแผลเป็นบนใบหน้าของท่าน พร้อมกับดวงตาที่เสียหาย

ในปี ๑๖๗๖ ท่านได้กลับใจหันมารับเชื่อ และได้รับศีลล้างบาปโดยคุณพ่อ แจ๊ค เดอร์ แลมเบอร์วิล ผู้เป็นมิชชันนารีจากคณะเยซูอิต ซึ่งผลจากการมารับเชื่อและศรัทธาในคริสตศาสนานี่เอง ทำให้ท่านกลายเป็นบุคคลอันเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์จากบุคคลรอบข้าง ซ้ำยังกลายเป็นเป้าหมายแรกๆ ของการทำร้ายกลั่นแกล้ง และเป็นที่ติฉินนินทาด้วย

ต่อมาท่านได้หลบหนีจากสถานที่ท่านอยู่ ออกเดินทางไปในระยะทางกว่า ๒๐๐ ไมล์ ท่ามกลางเส้นทางในป่าเขาลำเนาไพรอันรกร้าง เพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านของคริสตศาสนิกชาวพื้นเมืองอเมริกัน แห่ง เซาล์ท เซนเต มารี ในปี ๑๖๗๙ ท่านได้ถือสัตยาบันถือครองซึ่งพรหมจรรย์ความสะอาดบริสุทธิ์ และได้เป็นที่เลื่องลือถึงความถือเคร่งและชีวิตอันเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณอย่างที่ท่านเป็น นอกจากนี้ท่านยังสามารถก่อกิจอัศจรรย์ได้อีกด้วย

สุสานของท่านกลับกลายเป็นหนึ่งในสถานที่จากรึกแสวงบุญ และสถานแห่งเหตุอัศจรรย์สำหรับคริสตศาสนิกชนชาวพื้นเมืองอเมริกัน และ ชาวฝรั่งเศส ชาวพื้นเมืองอเมริกันได้ยื่นเรื่องเสนอให้สถาปนาท่านเป็นนักบุญ โดยเริ่มมีการดำเนินเรื่องครั้งแรกในปี ๑๘๘๔ โดยพระสันตะปาปาเลโอที่ ๑๓ ได้มีสถาบันสภาคาทอลิก และองค์กรอีกมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับทางชาวพื้นเมืองอเมริกัน ได้นำชื่อของท่าน มาตั้งเป็นนามของสถาบันองค์กร หรือถือนำท่านมาเป็นองค์อุปถัมภ์ด้วย
------------------------
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ เม.ย. 17, 2021 5:07 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๗ เมษายน
บุญราศีคลารา แห่งปีซา
Blessed Clare of Pisa

คลาราแห่งปีซา (ปี ค.ศ.๑๓๖๒-๑๔๑๙) เป็นซิสเตอร์โดมินิกันผู้ปฏิรูปชีวิตนักบวช

คลาราเกิดในเมืองเวนีส (หรือฟลอเรนซ์) ในตระกูลที่ได้รับความเคารพสูงส่ง เธอถูกหมั้นหมายไว้ตั้งแต่เมื่ออายุเยาว์ หลังแต่งงาน สามีเธอเสียชีวิตด้วยโรคระบาด ขณะนั้นเธออายุเพียง ๑๕ ปี

คลาราสละทรัพย์สินทั้งหมดและเข้าคณะนักบวช Poor Clares ใช้ชื่อว่าคลารา พวกญาติบังคับให้เธอออกจากอาราม แต่บิดาเข้ามาขัดขวางและพวกเขายอมให้เธอเข้าอารามคณะโดมินิกันในที่สุด แต่อารามแห่งนั้นย่อหย่อนในการถือปฏิบัติพระวินัย ซิสเตอร์ส่วนมากไม่ยอมให้ความร่วมมือกับความพยายามปฏิรูปของคลารา บิดาจึงสร้างอารามใหม่ให้เธอ ซิสเตอร์บางคนที่สนับสนุนเธอได้เข้าร่วมอารามแห่งใหม่นั้น คลาราเป็นอธิการิณีของอาราม ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์ฝึกอบรมและต้นแบบของชีวิตนักบวชถือวินัยเคร่งครัด พวกซิสเตอร์ใช้ชีวิตในเขตพรต สวดภาวนา ทำงานด้วยมือคลาราสิ้นใจในปี ๑๔๑๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ เม.ย. 18, 2021 2:13 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๘ เมษายน
บุญราศีมารีย์แห่งพระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย
Blessed Mary of the Incarnation

มารีย์แห่งพระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย มีชื่อเดิมว่า Barbe Acarie (ปี ค.ศ.๑๕๖๖-๑๖๑๘) เธอมีบทบาทสำคัญในการนำซิสเตอร์คณะคาร์เมไลท์เข้ามาสู่ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับชื่อว่า "มารดาผู้ก่อตั้งคณะคาร์แมลแห่งฝรั่งเศส"

Barbe เป็นลูกสาวของข้าราชการระดับสูงของปารีส เมื่ออายุ ๑๗ ปี เธอสมรสกับ Pierre Acarie ซึ่งเป็นขุนนาง ทั้งคู่มีลูก ๖ คน ลูกสาว ๓ คนเข้าเป็นซิสเตอร์คณะคาร์แมล ลูกชายคนหนึ่งบวชเป็นพระสงฆ์

Barbe เป็นที่รู้จักทั่วปารีสในกิจเมตตาของเธอ เธอทำให้กษัตริย์ยอมอนุญาตให้ซิสเตอร์คาร์เมไลท์เปิดอารามในปารีสได้ หลังจากนั้นก็มีอารามแห่งอื่นๆ เปิดตามมา

เมื่อสามีของ Barbe เสียชีวิตในปี ๑๖๑๓ เธอก็เข้าอารามคาร์แมลใน Amiens ในฐานะซิสเตอร์ฆราวาสและใช้ชื่อว่า มารีย์แห่งพระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย

เธอสิ้นใจวันที่ ๑๘ เมษายน ๑๖๑๘ มีรายงานเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้นที่หลุมศพของเธอ เธอได้รับการประกาศเป็นบุญราศีในปี ๑๗๙๑

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ เม.ย. 19, 2021 3:50 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๙ เมษายน
นักบุญเลโอ ที่ ๙ พระสันตะปาปา
St. Leo IX, Pope

เลโอเป็นพระสันตะปาปานักปฏิรูปที่วางรากฐานสำหรับการปฏิรูปเกรกอเรียนในครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๑

เลโอเกิดเมื่อปี ๑๐๐๒ ใน Alsace ท่านมีชื่อว่าบรูโน (Bruno) ท่านเป็นบุตรของเคาน์ Hugh แห่งEgisheim ท่านได้รับการศึกษาที่ Toul และเป็นผู้ดูแลอาสนวิหารที่นั่น ท่านได้เป็นสมาชิกศาลของจักรพรรดิเยอรมันระยะหนึ่งและได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชแห่ง Toul ในปี ๑๐๒๗ ซึ่งท่านทำหน้าที่อย่างแข็งขันนาน ๒๐ ปีโดยเฉพาะการปฏิรูปชีวิตสงฆ์และอาราม

เมื่อพระสันตะปาปา Damasus ที่ ๒ สิ้นพระชนม์หลังจากดำรตำแหน่งไม่ถึงหนึ่งเดือน บรูโนก็รับข้อเสนอของจักรพรรดิที่ให้ท่านเป็นพระสันตะปาปา

สองเดือนต่อมา ท่านจัดประชุมสมัชชาที่โรมซึ่งได้ออกระเบียบประณามการซื้อขายตำแหน่ง และการละเมิดข้อบังคับถือโสด มีพระสังฆราชที่ซื้อขายตำแหน่งจำนวนมากถูกถอด เลโอเดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อส่งเสริมการปฏิรูป ท่านเรียกการเดินทางนี้ว่า "การจาริกเพื่องานอัครสาวก" ท่านยังจัดประชุม
สมัชชาอีกสิบกว่าครั้งในอิตาลีและเยอรมนีและยืนยันว่าสังฆราชต้องถูกเลือกตั้งโดยสงฆ์และฆราวาสท้องถิ่น และอธิการอารามต้องถูกเลือกโดยพวกนักพรตของอารามนั้น

แต่ช่วงท้ายของสมณสมัยเลโอเกี่ยวข้องกับการระดมกำลังทหารเพื่อต่อสู้กับผู้บุกรุกชาวนอร์มันในภาคใต้ของอิตาลี ท่านถูกกักตัวนานหลายเดือน และเริ่มมีการแตกแยกกันระหว่างศาสนจักรตะวันออกกับตะวันตก ท่านล้มป่วย ตกอยู่ในสภาวะเศร้าเสียใจและเสียชีวิตในปี ๑๐๕๔

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร เม.ย. 20, 2021 2:48 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๐ เมษายน
นักบุญอักแนสแห่งมอนเตปูลชิอาโน
St. Agnes of Montepulciano

อักแนส (ราวปี ค.ศ.๑๒๗๐-๑๓๑๗) เป็นซิสเตอร์คณะโดมินิกันที่ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและศรัทธา

เธอเกิดมาในครอบครัวมีอันจะกินในหมู่บ้าน Tuscan ซึ่งห่างไม่กี่ไมล์จาก Montepulciano เธอเข้าอารามซิสเตอร์ท้องถิ่น ชื่อ Sisters of the Sack ซึ่งสวมชุดเครื่องแบบที่เนื้อผ้าหยาบเหมือนกระสอบ เธอใช้ชีวิตพลีกรรมทรมานกายอย่างเคร่งครัด เมื่ออารามถูกย้ายไปอยู่อีกแห่งใกล้ Viterbo อักแนสก็ย้ายไปด้วย ชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของเธอเริ่มขจรขจาย ชาวเมือง Montepulciano เรียกร้องให้เธอกลับมา เธอ
จึงกลับมาเปิดอารามแห่งใหม่ภายใต้การดูแลของคณะโดมินิกันโดยที่เธอเป็นอธิการิณี

วันที่ ๒๐ เมษายน ๑๓๑๗ อักแนสสิ้นใจด้วยโรคเรื้อรัง ปรากฏว่าร่างกายเธอไม่เปื่อยเน่าผู้คนมากมายจาริกแสวงบุญมายังหลุมศพของเธอเธอถูกประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๗๒๖

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 21, 2021 2:39 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๑ เมษายน
นักบุญอันเซลม์แห่งแคนเตอร์บิวรี
พระสังฆราชและนักปราชญ์
St. Anselm of Canterbury, Bishop and Doctor of the Church

อันเซลม์ (ปี ค.ศ.๑๐๓๓-๑๑๐๙) เป็นนักเทววิทยาคนสำคัญและเป็นอัครสังฆราชของแคนเตอร์บิวรี

ท่านได้ให้คำจำกัดความของเทววิทยาที่ยังคงสืบต่อกันมาว่า เป็น "ความเชื่อที่แสวงหาความเข้าใจ"

อันเซลม์เกิดที่ Aosta ใน Lombardy ปี ๑๐๖๐ ท่านเข้าอารามที่ Bec เพราะกิติศัพท์ของ Lanfrance อธิการอารามแห่งนั้น ท่านศึกษางานเขียนของนักบุญออกัสตินและได้เขียนข้อโต้แย้งอันมีชื่อเสียงของท่านเรื่องการมีอยู่จริงของพระเจ้า

ในปี ๑๐๗๘ อันเซลม์ได้รับเลือกเป็นอธิการอาราม และสมควรได้ขึ้นเป็นอัครสังฆราชแห่งแคนเตอร์บิวรีเมื่ออัครสังฆราชคนก่อนเสียชีวิตในปี ๑๐๘๙ แต่กษัตริย์ William ที่ ๒ คัดค้านและปล่อยให้ตำแหน่งว่างนาน ๔ ปี ในที่สุดพระองค์ก็ยินยอม แต่ทั้งสองมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจของพระสันตะปาปา การแต่งตั้งฆราวาส และอำนาจผู้นำฝ่ายจิตที่อยู่ในลำดับเหนือกว่าผู้นำฝ่ายโลก

เมื่ออันเซลม์ปฏิเสธที่จะสนับสนุนปฏิปักษ์พระสันตะปาปา (Antipope) Urban ที่ ๒ กษัตริย์วิลเลียมก็อัปเปหิท่านในปี ๑๐๙๗ ในระหว่างการถูกเนรเทศ ท่านเขียนผลงานที่มีชื่อเสียงเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย ท่านกลับมาอังกฤษช่วงสั้นๆ แต่ก็ถูกอัปเปหิอีกครั้ง ที่สุด ท่านได้รับอนุญาตให้คืนสู่อังกฤษในปี๑๑๐๖ ท่านเสียชีวิตวันที่ ๒๑ เมษายน ปี ๑๑๐๙

ไม่มีบันทึกอย่างเป็นทางการถึงการตั้งท่านเป็นนักบุญ แต่ปฏิทินแคนเตอร์บิวรีของปลายศตวรรษที่ ๑๒ระบุวันฉลองเกี่ยวกับท่านสองวัน คือวันเสียชีวิตและวันเคลื่อนย้ายสังขารของท่าน ในปี ๑๗๓๔ ท่านได้รับการประกาศชื่อเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. เม.ย. 22, 2021 3:22 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๒ เมษายน
นักบุญธีโอดอร์แห่งซีคีออน พระสังฆราช
St. Theodore of Sykeon, Bishop

ธีโอดอร์ (เสียชีวิตปี ค.ศ.๖๑๓) เป็นฤษีผู้ทำอัศจรรย์มากมายและเป็นสังฆราชของเอเชียไมเนอร์

ท่านเกิดที่เมืองกาลาเทียนของซีคีออน และได้เป็นฤษีที่ Arkea ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านท่านประมาณ ๘ ไมล์

ท่านอาศัยอยู่ในถ้ำของวัดน้อยแห่งหนึ่ง ชื่อเสียงของท่านในการขับไล่จิตชั่วเป็นที่รู้จักไปทั่ว ผู้คนมากมายมาขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากท่าน ต่อมา ท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์และจาริกแสวงบุญไปที่เยรูซาเล็ม เมื่อกลับมา ท่านพักอยู่ในกรงที่แขวนอยู่เหนือถ้ำของท่าน ในที่สุด ท่านก่อตั้งอารามและบ้านพักสำหรับผู้มาเยี่ยม และสร้างวัดเพื่อรองรับผู้คน

ท่านถูกเลือกจากพระสงฆ์ท้องถิ่นและประชาชนให้เป็นสังฆราชของ Anastasiopolis ท่านทำงานรับใช้
ในหน้าที่นี้ ๑๐ ปี ก่อนจะลาออกเพื่อกลับคืนสู่ชีวิตบำเพ็ญภาวนาที่ท่านรัก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ เม.ย. 24, 2021 11:42 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ เมษายน
นักบุญยอร์จ มรณสักขี
St. George, Martyr

ยอร์จ (เสียชีวิตปีค.ศ.๓๐๓) เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของอังกฤษและเป็นที่รู้จักดีที่สุดในตำนานผู้สังหารมังกรและช่วยเหลือบรรดาสตรี

เรื่องเกี่ยวกับการสังหารมังกรของท่านได้รับความนิยมอย่างมากผ่านทางการแปลและตีพิมพ์หนังสือรวบรวมชีวิตนักบุญและวันฉลองคริสตชน ปลายยุคกลางยอร์จได้กลายเป็นบุคลาธิษฐานของอุดมคติการเป็นทหารคริสตชน จนท่านเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเมืองเวนิส เจนัว โปรตุเกส และคาทาโลเนีย

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ เม.ย. 24, 2021 11:44 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๔ เมษายน
นักบุญฟีเดลิสแห่งซิกมาริงเก็น
พระสงฆ์และมรณสักขี
St. Fidelis of Sigmaringen, Priest ans Martyr

ฟีเดลิส (ปี ค.ศ.๑๕๗๘-๑๖๒๒) เป็นภราดากาปูชินแห่งฟรังซิสกัน ท่านถูกสังหารขณะเทศน์สอนพวกโปรแตสแตนท์ในสวิสเซอร์แลนด์

ฟีเดลิสเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์คนหนึ่งของพวกทนายความ ท่านได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยFreiburg-im-Breisgau ท่านได้รับปริญญาเอกสาขาปรัชญาและกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายศาสนจักร ท่านบวชเป็นพระสงฆ์ประมาณปี ๑๖๑๐ และเข้าคณะกาปูชินซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของคณะฟรังซิสกัน โดยใช้ชื่อนักบวชว่า Fidelis ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่า "ผู้มีความเชื่อ"

ท่านเป็นอธิการของบ้านคณะสามแห่งและมีชื่อเสียงในฐานะนักเทศน์ผู้ฟังแก้บาป ผู้อภิบาลคนป่วยและผู้บำเพ็ญเพียรเคร่งครัด ฟีเดลิสถูกสังหารในวันที่ ๒๔ เมษายน ๑๖๒๒ ระหว่างภารกิจพยายามนำพวกโปรแตสแตนท์กลับคืนสู่ศาสนจักรคาทอลิก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ เม.ย. 25, 2021 2:26 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๕ เมษายน
นักบุญมาระโกผู้นิพนธ์พระวรสาร
St. Mark, the Evangelist

มาระโก (เสียชีวิตประมาณปี ค.ศ.๗๔) ตามธรรมประเพณีระบุว่าท่านคือยอห์น มาระโกในพระธรรมใหม่ท่านเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเล่มที่สอง

ตามเรื่องเล่าในหนังสือกิจการอัครสาวกแม่ของมาระโกเป็นเจ้าของบ้านในเยรูซาเล็มที่กลุ่มคริสตชนแรกเริ่มใช้เป็นที่รวมตัวกัน (กจ ๑๒:๑๒) เมื่อเปาโลและบาร์นาบัสได้มาที่เยรูซาเล็ม พวกเขานำตัวมาระโกกลับไปเมืองอันติโอกด้วย มาระโกช่วยเหลือพวกเขาประกาศพระวรสารในไซปรัส แต่เมื่อโดยสาร
เรือมาถึง Perga ท่านก็ละจากพวกเขากลับคืนเยรูซาเล็ม

จดหมายฉบับแรกของนักบุญเปโตร ซึ่งน่าจะเขียนขณะท่านอยู่ที่โรม ได้กล่าวถึงมาระโกว่าเป็นเหมือน"บุตร" ของเปโตร ซึ่งเป็นคำเรียกที่แสดงความรักหรือไม่ก็บ่งบอกว่าเปโตรเป็นบิดาด้านความเชื่อของมาระโก การที่มาระโกอยู่กับเปโตรที่โรมก็สอดคล้องกับธรรมประเพณีที่ว่ามาระโกจดบันทึกเรื่องจากความทรงจำของเปโตรในเรื่องคำสอนและกิจการของพระเยซูธรรมประเพณีนี้ถูกเขียนเล่าโดย Papias แห่ง Hierapolis

นักประวัติศาสตร์ Eusebius ผู้ซึ่งกล่าวด้วยว่ามาระโกเป็น "ผู้ตีความ" ของเปโตรเล่าว่ามาระโกเป็นสังฆราชคนแรกของอเล็กซานเดรีย และเป็นมรณสักขีในปีที่แปดของรัชสมัยของจักรพรรดิเนโร

มาระโกได้รับความเคารพในฐานะมรณสักขีตั้งแต่ศตวรรษที่ ๔

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ เม.ย. 26, 2021 11:28 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ เมษายน
นักบุญสตีเฟนแห่งเพิร์ม
St. Stephen of Perm, Bishop

สตีเฟน (ปี ค.ศ.๑๓๔๐-๙๖) เป็นมิสชันนารีผู้โดดเด่นของศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย ท่านเกิดที่เมืองVelikij Ustyug ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจากเมืองมอสโคว์ประมาณ ๕๐๐ ไมล์

สตีเฟนเข้าเป็นฤษีในอารามนักบุญ Gregory Nazianzen ในเมือง Rostov ท่านเรียนภาษาของพวกZyrani เพื่อทำงานกับพวกเขา ท่านได้ประดิษฐ์ตัวอักษรและแปลพระคัมภีร์และบทภาวนาในพิธีกรรมเป็นภาษาท้องถิ่นนั้น

ในปี ๑๓๘๓ สตีเฟนได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆราชคนแรกของ Perm ท่านสร้างวัดและโรงเรียนหลายแห่งรวมทั้งบ้านเณรแห่งหนึ่งด้วย ท่านเสียชีวิตวันที่ ๒๖ เมษายน ๑๓๙๖ และได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซียในปี ๑๕๔๙ ซึ่งการประกาศนี้ก็ได้รับการรับรองจากศาสนจักรคาทอลิก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร เม.ย. 27, 2021 11:49 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๗ เมษายน
นักบุญซิตา พรหมจารีย์
St. Zita, Virgin

ซิตา (ปีค.ศ.๑๒๑๘-๗๘) ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ Sitha และ Citha เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของคนรับใช้ในบ้าน

ซิตาเกิดที่เมือง Monsagrati ซึ่งอยู่ห่างไม่กี่ไมล์จาก Lucca ในอิตาลีเธอเป็นสาวใช้ในครอบครัว Fatinelli ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปีจนเสียชีวิต เพื่อนคนใช้และครอบครัว Fatinelli ดูหมิ่นชีวิตศรัทธาของซิตา แต่เธอก็เอาชนะใจพวกเขาได้ในที่สุดด้วยความดีของเธอ ซิตารักเมตตาพวกคนยากจนและคนเจ็บป่วยและนักโทษ

หลังจากซิตาสิ้นชีวิต ความศรัทธาต่อเธอเป็นที่นิยมแพร่หลายในบรรดาผู้มีสถานะต่ำของสังคม เธอกลายเป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงที่สุดในอังกฤษยุคกลาง

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 28, 2021 2:00 pm

28 เมษายน
วันระลึกนักบุญหลุยส์ มารี กรีญียง เดอ มงฟอร์ต พระสงฆ์ ผู้ก่อตั้งคณะภารดาเซนต์คาเบรียล
[Memorial of St. Louis Grignion de Montfort, Priest, Founder of Brothers of Saint Gabriel]

นักบุญหลุยส์ มารี กรีญียง เดอ มงฟอร์ต (Louis-Marie Grignion de Montfort) เป็นมิชชันนารี นักเทศน์ และบาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ผู้ส่งเสริมการอุทิศตนต่อพระนางมารีย์พรหมจารีและการสวดสายประคำ ผู้ก่อตั้งคณะนักบวชคาทอลิก ได้แก่ คณะธรรมทูตพระแม่มารีย์ คณะภราดาเซนต์คาเบรียล และคณะธิดาปรีชาญาณ

ประวัติ
สถานที่เกิดของหลุยส์
หลุยส์เป็นพี่ชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 8 คน เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1673 ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส บิดาของเขาเป็นนักกฎหมาย ครอบครัวจึงมีทรัพย์สมบัติอยู่บ้างแต่ไม่ถึงขั้นร่ำรวยและมิได้อยู่ในระดับชนชั้นสูง หลุยส์เกิดมาในครอบครัวที่เชื่อถือคาทอลิกอย่างเคร่งครัด และได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากคุณพ่อของท่านเอง จนเมื่ออายุได้ 12 ปี หลุยส์ก็เดินทางไปที่เมืองแรน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นเบรอตาญเพื่อเข้าเรียนที่ "วิทยาลัยนักบุญทอมัส เบ็กเก็ต" ของคณะเยสุอิต หลังจากเรียนที่วิทยาลัยนี้ได้ 2 ปี ครอบครัวของเขาก็ย้ายตามมาอยู่ในเมืองแรนด้วย
ด้วยการแนะแนวของนักบวชคณะเยสุอิต หลุยส์ตัดสินใจรับศีลอนุกรมขั้นบาทหลวงที่สักการสถานพระนางมารีย์ในโบสถ์ของนักบวชคณะคาร์เมไลท์ที่เมืองแรน หลังจากเรียนที่คณะเยสุอิตได้หลายปี หลุยส์ได้รับการสนับสนุนทางการเงินให้เข้าเรียนที่แซงต์ ซูลปีส ในกรุงปารีส หลุยส์ต้องทำงานหาเงินเรียนจนได้เป็นบาทหลวง หลังจากบวชแล้วท่านได้รับหน้าที่ไปดูแลคนเจ็บป่วยและคนชราที่โรงพยาบาล และที่โรงพยาบาลแห่งนี้เอง ท่านได้ตั้งกลุ่มสตรีที่เจ็บป่วยอยู่ แต่มีน้ำใจดี สมัครทำงานช่วยเหลือคนอื่น ๆ ซึ่งสตรีกลุ่มนี้ต่อมาได้ถือกำเนิดเป็น คณะธิดาปรีชาญาณ
หลุยส์เป็นนักพัฒนาและก่อสร้าง เขาซ่อมแซมโบสถ์ต่างๆที่ถูกทอดทิ้ง และพร้อมๆกับบูรณะโบสถ์ด้วย เขาก็ได้ปรับปรุงโรงเรียน ตามความคิดที่ว่า โรงเรียนมีความสำคัญเท่ากับโบสถ์ เพราะเป็นที่อบรมเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แต่จะต้องมีครูที่ดีสอนด้วย ในที่สุด หลุยส์จึงตั้งคณะภราดาเซนต์คาเบรียล เพื่ออบรมเยาวชนให้เป็นคนดี

มรณกรรม
บาทหลวงหลุยส์ เดอ มงฟอรต์ ถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1716 ขณะอายุได้ 43 ปี

สถาปนาเป็นนักบุญ
บาทหลวงหลุยส์ เดอ มงฟอร์ตได้รับการประกาศเป็นบุญราศีในปี ค.ศ. 1888 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 และการประกาศเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 โดยมีพระดำรัสว่า
"ขอให้เราปฏิบัติตนตามตัวอย่างที่นักบุญหลุยส์ทำไว้ คือมีความศรัทธาอย่างยิ่งในการที่จะทำให้มนุษย์เป็นคนดี ช่วยเหลือผู้ที่น่าสงสารกว่าเรา ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพระเจ้าแต่เพียงองค์เดียว เพื่อสร้าง สันติภาพขึ้นในโลก ท่านนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์"
สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ เม.ย. 28, 2021 2:02 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ เมษายน
นักบุญเปโตร ชาเนล พระสงฆ์และมรณสักขี
St. Peter Chanel, Priest and Martyr

ปีเตอร์ชาเนล (ปี ค.ศ.๑๘๐๓-๔๑) เป็นมรณสักขีและนักบุญองค์อุปถัมภ์ของโอเชียเนีย

ปีเตอร์เกิดในครอบครัวชาวนาในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตะวันออกของฝรั่งเศส ความศรัทธาและเฉลียวฉลาดของเขาสะดุดตาของคุณพ่อเจ้าวัด ท่านจึงส่งเสริมให้ปีเตอร์เรียนเตรียมเป็นพระสงฆ์

ปีเตอร์รับศีลบวชในปี ๑๘๒๗ หลังจากทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและพ่อเจ้าวัดสามปีเขาก็เข้าคณะนักบวชชื่อ Society of Mary หรือเรียกกันว่า Marists ซึ่งเป็นคณะสงฆ์มิสชันนารีที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในปี ๑๘๓๑

ปีเตอร์ถูกส่งตัวไปประกาศพระวรสารในหมู่เกาะของแปซิฟิกตอนใต้ท่านกับเพื่อนอีกคนขึ้นฝั่งที่เกาะ Fatuna ซึ่งอยู่ระหว่างฟิจิและซามัวฝรั่งเศส ท่านได้รับความเคารพชื่นชมจากงานดูแลเอาใจใส่คนเจ็บป่วย แต่เมื่อลูกชายของหัวหน้าเผ่าขอรับศีลล้างบาป หัวหน้าเผ่าก็โกรธแค้นและส่งนักรบกลุ่มหนึ่งมาสังหารปีเตอร์

ปีเตอร์ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๙๕๔ วันฉลองของท่านเดิมจัดเฉพาะในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ต่อมาก็ได้รับบันทึกให้เป็นวันฉลองสากลในปฏิทินพระศาสนจักร (General Roman Calendar)

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ เม.ย. 30, 2021 11:25 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๙ เมษายน
นักบุญแคทเธอรีนแห่งซีเอนา
พรหมจารีและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร
St. Catherine of Siena, Doctor of the Church

แคทเธอรีน (ปี ค.ศ.๑๓๔๗-๘๐) เป็นนักปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปาในสมัยนั้น เธอเป็นฆราวาสคนแรกและเป็นผู้หญิงไม่กี่คนที่ได้รับการประกาศว่าเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรแคทเธอรีนยังเป็นหนึ่งในสองของนักบุญองค์อุปถัมภ์หลักของอิตาลี (ร่วมกับนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี) ในปี ๑๙๙๙ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ทรงประกาศให้เธอเป็นผู้อุปถัมภ์ของยุโรป ร่วมกับนักบุญบริยิตแห่งสวีเดนและเทเรซา เบเนดิกตาแห่งไม้กางเขน (เอดิธ สไตน์)

แคทเธอรีนเกิดในเมือง Siena เธอได้รับชื่อว่า Caterina di Giacomo di Benincasa เธอเป็นลูกคนที่ ๒๔จากจำนวน ๒๕ คน เธอตัดสินใจแต่เล็กว่าจะไม่แต่งงานและได้สมัครเป็นสมาชิกชั้นสามของคณะโดมินิกัน เธอใช้เวลาสวดภาวนาและจำศีลอดอาหารเป็นเวลาหลายปีอย่างสันโดษ ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง
กล่าวกันว่าเธอได้รับพระพรแห่งรหัสนัยเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์ หลังจากนั้น แคทเธอรีนรู้สึกว่ามีเสียงบอกให้เธอออกทำงานประกาศประกาศพระวรสาร เธอสมัครเข้าดูแลคนป่วยในโรงพยาบาลท้องถิ่น

แคทเธอรีนได้เดินทางเทศน์ประกาศให้คนเป็นทุกข์กลับใจและปฏิรูปชีวิตตัวเอง เธอประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงแต่ก็ได้ก่อให้เกิดการต่อต้านจากบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับฐานะฆราวาสแต่ทำหน้าที่เทศน์ประกาศของเธอ ในปี ๑๓๗๖ เธอกระตุ้นให้สันตะปาปาเกรโกรี่ ที่ ๙ ออกจากเมือง Avignon คืนสู่โรม และภายหลัง เมื่อมีความขัดแย้งครั้งใหญ่เกิดขึ้น (Great Western Schism) เธอได้เรียกร้องให้พวกผู้ปกครองและผู้นำยอมรับ อูร์บัน ที่ ๖ เป็นสันตะปาปาที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้เกิดเอกภาพในพระศาสนจักร ในปี ๑๓๗๗-๗๘ เธอเขียนงานคลาสสิคที่ตกทอดถึงเราทุกวันนี้คือ บทสนทนาระหว่างวิญญาณกับพระเจ้า (The Dialogue)

แคทเธอรีนเสียชีวิตในปี ๑๓๘๐ เธอได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรในปี ๑๙๗๐

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ เม.ย. 30, 2021 12:09 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๐ เมษายน
นักบุญปีโอ ที่ ๕ พระสันตะปาปา
St. Pius V, Pope

ปีโอ ที่ ๕ (ปี ค.ศ.๑๕๐๔-๗๒) เป็นผู้บังคับใช้กฤษฎีกาแห่งสังคายนาเมืองเตรนต์ (Trent) พระองค์จัดพิมพ์คำสอนคาทอลิก (Roman Catechism) ปฏิรูปบทมิสซาและหนังสือสวดทำวัตร พระองค์ประกาศอัปเปหิราชินีเอลิซาเบ็ธ ที่ ๑ แห่งอังกฤษจากศาสนจักรคาทอลิก

ปีโอเกิดมาในครอบครัวชาวนายากจน มีชื่อว่า Antonio Ghislieri ท่านเข้าคณะโดมินิกันเมื่ออายุ ๑๔ ปีหลังจากได้รับศีลบวชในปี ๑๕๒๘ ท่านสอนปรัชญาและเทววิทยา หลังจากนั้น ท่านถูกแต่งตั้งให้รับหน้าที่เป็นผู้ไต่สวน (Inquisitor) ของเมือง Como และ Bergamo ความสามารถของท่านเป็นที่จับตามองของคาร์ดินัล Gian Pietro Carafa ผู้ซึ่งภายหลังเป็นสันตะปาปาเปาโล ที่ ๔ ท่านได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราช และต่อมารับแต่งตั้งเป็นคาร์ดินัล ท่านเป็นหัวหน้าคณะผู้ไต่สวนของศาลศาสนาโรมันในปี๑๕๕๘

ปีโอได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในวันที่ ๗ มกราคม ๑๕๖๖ โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันของคาร์ดินัล Charles Borromeo ซึ่งถือว่าท่านเป็นนักปฏิรูป

ภารกิจหลักของพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๕ คือการบังคับใช้กฎระเบียบที่ออกมาจากสภาสังคายนาเมืองเตรนต์ พระองค์วางมาตรฐานที่เคร่งครัดให้กับตนเองกับพวกคูเรียและชาวเมืองโรม พระองค์ดำเนินชีวิตตามระเบียบวินัยของอาราม ให้มีการรับประทานอาหารแบบง่ายๆ และลำพังและสวมชุดเครื่องแบบสีขาวของคณะโดมินิกัน พระองค์ต่อต้านการซื้อขายตำแหน่งและให้พวกพระสังฆราชอยู่ในสังฆมณฑลตัวเอง พระองค์ตรวจตราดูแลคณะนักบวชต่างๆ อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ภูมิหลังการเป็นนักไต่สวนของศาลศาสนาทำให้พระองค์ใช้หลักการไต่สวนซึ่งบ่อยครั้งเป็นวิธีการที่ขาดมนุษยธรรม พระองค์สร้างวังสำหรับศาลไต่สวนทางศาสนาวางระเบียบอย่างเคร่งครัดและเข้าร่วมการประชุมเสมอๆ มีบุคคลสำคัญจำนวนมากที่ถูกไต่สวนและต้องรับโทษระหว่างสมณสมัยของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงคิดว่าตนเองยังย่อหย่อนเกินไป พระองค์ประกาศอัปเปหิราชินีเอลิซาเบ็ธ ที่ ๑ แห่งอังกฤษออกจากศาสนจักรคาทอลิกในปี ๑๕๗๐

พระองค์สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๑๕๗๒

CR. : Sinapis
ตอบกลับโพส