“ พ่อผู้ทรงคุณธรรม”

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 19, 2021 11:08 pm

เรื่อง "พ่อผู้ทรงคุณธรรม" ตอนที่ (1)
โดย Claudia Cornwall
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2545/2002,
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

……เฟิงฉาน บิดาของ ‘ม่านลี่ แซ่โหว’ เกิดที่มณฑลเหอหนาน ค.ศ.1901 ปู่เสียชีวิตตอน
ที่พ่ออายุ 7 ขวบ ทิ้งให้ครอบครัวต้องต่อสู้ดิ้นรนกันเอง แต่ต้องขอบคุณผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์
ชาวนอร์เวย์ที่ทำให้เฟิงฉานได้รับทุนการศึกษาที่วิทยาลัยเยล ในประเทศจีน เมื่อจบการศึกษา
ระดับปริญญาตรีในปี 1926 ก็ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิวนิค
ประเทศเยอรมนี ด้วยความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ เยอรมัน และจีนกลางได้อย่างดี
เฟิงฉานเริ่มต้นอาชีพนักการทูตครั้งแรก ที่ประเทศจีนในปี 1935 และต่อมารับหน้าที่เดียวกันนี้
ให้กับไต้หวัน โดยอยู่ในอาชีพนี้นานถึง 40 ปี ประเทศที่พ่อเคยไปประจำได้แก่ อียิปต์ เม็กซิโก
โบลิเวีย โคลัมเบีย และออสเตรีย
ม่านลี่เดินมุ่งหน้าไปยังอนุสรณ์สถาน ‘ยาด วาแชม’ (Yad Vashem) บนยอดเขาเหนือกรุงเยรูซาเล็ม
ประเทศอิสราเอล เบื้องล่างเป็นพื้นที่ป่าซึ่งปลูกขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมชายหญิงที่เคยช่วยชีวิตชาวยิว
จากเงื้อมมือนาซี ผู้คนเนืองแน่นหอประชุมอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ขณะที่ม่านลี่เดินขึ้นเวทีด้านหน้า
ในชุดกี่เพ้าสีดำคลุมทับด้วยเสื้อสูท เธอกวาดตาไปยังแขกผู้มีเกียรติที่นั่งอยู่ซึ่งมีทั้งเอกอัครราชทูตจีน
เอกอัครราชทูตออสเตรีย, และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาของอิสราเอล
อดีตผู้พิพากษากล่าวสดุดี ‘เฟิงฉาน แซ่โหว’ บิดาของม่านลี่ และมอบรางวัลบุคคลผู้ทรงคุณธรรมแห่ง
ประชาชาติ พร้อมมอบเหรียญที่ระลึกให้ม่านลี่และพี่ชายของเธอในฐานะตัวแทน ด้านหนึ่งของเหรียญ
สลักชื่อพ่อของเธอ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นสุภาษิตยิว มีข้อความว่า “ใครก็ตามที่ช่วยแม้เพียงชีวิตเดียว
เสมือนช่วยประชาคมโลกทั้งมวล”
ม่านลี่กล่าวกับผู้มาร่วมงานว่า พ่อของเธอคงรู้สึกตกใจเพราะไม่เคยคาดหวังว่าจะได้รับคำสดุดีใด ๆ
เป็นรางวัลตอบแทนสิ่งที่ท่านได้กระทำ
ความดีที่เฟิงฉาน โหว กระทำอาจเลือนหายไปพร้อมกับประวัติศาสตร์ หากไม่ใช่เพราะเหตุบังเอิญ
อย่างเหลือเชื่อ

………โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ค. 19, 2021 11:13 pm

เรื่อง "พ่อผู้ทรงคุณธรรม" ตอนที่ (2)
โดย Claudia Cornwall
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2545/2002,
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

……“ถึงเวลาที่พ่อต้องไปแล้ว” เฟิงฉาน กล่าวเหมือนอำลาในวันหนึ่งของเดือนมิถุนายน 1997
นัยน์ตาของม่านลี่เอ่อท้นด้วยน้ำตา
พ่อของม่านลี่เป็นคนเข้มแข็ง แม้ในวัย 80 ปีเศษ ก็ยังคงออกกำลังด้วยการเดินไกล ๆ แต่บัดนี้
ในวัย 96 ท่านกำลังจะสิ้นลมและจากไปอย่างสงบ 3 เดือนต่อมา
ในวันที่ 28 กันยายน 1997 ม่านลี่ อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์นั่งลงที่โต๊ะทำงานของพ่อผู้จากไป
รอบตัวเต็มไปด้วยสมุดหนังสือของพ่อ เธอลงมือเขียนบทความไว้อาลัยให้พ่อจนเสร็จ
จากนั้นม่านลี่ก็เขียนถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พ่อประจำอยู่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียช่วงก่อน
เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว วันหนึ่งพ่อเข้าไปขัดขวางทหารนาซี
ที่ข่มขู่ชาวยิว และช่วยชีวิตชาวยิวไว้ด้วยการออกวีซ่าเพื่อให้ออกนอกประเทศได้
ม่านลี่เขียนถึงการเผชิญหน้าระหว่างพ่อกับตำรวจลับเกสตาโป จากนั้นก็ส่งบทความไว้อาลัยนี้
ไปยังหนังสือพิมพ์ที่เธอเคยทำงานในสหรัฐฯ... หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ตื่นเต้น นำบทความ
ชิ้นนี้. ไปตีพิมพ์ซ้ำและบังเอิญไปสะดุดตาของ ‘เอริก ซอล’
ซอล วัย 47 ปี เป็นเจ้าของร้านกรอบรูปในซานฟรานซิสโก เขาเคยเป็นนักประวัติศาสตร์ทำงาน
ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง สมัยนั้นเขาเป็นผู้ค้นคว้าเรื่องราวของชิอูเนะ นักการทูตชาวญี่ปุ่นที่ช่วยชีวิต
ชาวยิวในโปแลนด์นับพันคนในปี 1940 ซอลรู้สึกประทับใจในความกล้าหาญของเฟิงฉาน
เขาติดต่อสอบถามบริการหมายเลขโทรศัพท์และพบว่าคนแซ่ ‘โหว’ รายนี้อยู่ห่างจากบ้านของเขา
เพียงไม่กี่กิโลเมตร และเมื่อหมุนไปตามหมายเลขที่ได้ ผู้ที่ยกหูรับโทรศัพท์ก็คือม่านลี่
ทั้งสองนัดพบกันในสัปดาห์ต่อมา ซอลซักไซ้ม่านลี่ถึงข้อมูลของคนที่พ่อของเธอช่วยชีวิตไว้
ม่านลี่ยอมรับว่า เธอไม่มีรายละเอียดมากนัก นอกจากรายหนึ่งที่เกี่ยวกับตำรวจลับเกสตาโป

โปรดติดตามตอนที่ (3)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ค. 20, 2021 12:20 pm

เรื่อง "พ่อผู้ทรงคุณธรรม" ตอนที่ (3)
โดย Claudia Cornwall
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2545/2002,
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
……เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 1938 ช่วงนั้นโบสถ์ชาวยิวทั่วเยอรมนีและออสเตรีย
ถูกเผาทำลาย หน้าต่างร้านค้าของชาวยิวถูกขว้างปาจนแหลกละเอียด และชาวยิวนับพันนับหมื่นถูกจับกุม
เฟิงฉาน เป็นกงสุลจีนประจำอยู่ในกรุงเวียนนา ขณะที่ทหารนาซียังกวาดล้างชาวยิวอย่างไม่ลดละ
เฟิงฉานออกไปพบครอบครัวโรเซนเบิร์กเพื่อนชาวยิวเพื่อสอบถามทุกข์สุข
วันนั้น โรเซนเบิร์กถูกลากตัวไปไต่สวน ขณะที่เฟิงฉานอยู่กับภรรยาของโรเซนเบิร์ก ชายสองคน
ในเสื้อคลุมยาวบุกเข้ามาและประกาศกร้าวว่าจะค้นบ้าน
ม่านลี่จำได้ว่าพ่อออกท่าทางประกอบเลียนแบบชายทั้งสองขณะเล่าเรื่องนี้ให้เธอฟัง
พ่อทำท่าดึงหมวกลงมาที่ระดับสายตา ขมวดคิ้วบึ้งตึง และกุมมือที่กระเป๋าเสมือนหนึ่งมีปืนอยู่ในนั้น
พ่อเล่าว่าหนึ่งในนั้นจ่อปืนมาที่ท่านและถามเสียงดุดันว่า พ่อเป็นใคร
“แล้วนายล่ะเป็นใคร” พ่อตอบโต้อย่างไม่เกรงกลัว
เจ้าหน้าที่เกสตาโปคนหนึ่งบังคับให้นางโรเซนเบิร์ก บอกมาว่าแขกของนางเป็นใคร
“กงสุลจีน” นางตอบ
“ให้ตายสิ แล้วทำไมไม่บอกแต่แรก” เจ้าหน้าที่คนนั้นตะคอกใส่และออกจากบ้านไป
โรเซนเบิร์กได้รับการปล่อยตัวหลังสอบสวน ม่านลี่เล่าว่า ตอนนั้นพ่อออกวีซ่าประเทศจีน
ให้ทั้งครอบครัว เพื่อใช้เดินทางออกจากออสเตรีย
“เขาทำอย่างนั้นทำไม” ซอลถาม
“ถ้าคุณรู้จักพ่อฉัน คุณคงไม่ถามแบบนี้”
“หลังจากพ่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวยิว ท่านรู้สึกว่าใครก็ตามที่พบเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น
คงต้องเห็นอกเห็นใจและอยากช่วย”
ซอลยิ้มพร้อมกับลางสังหรณ์ว่า การช่วยเหลือคงไม่ได้จบแค่ครอบครัวโรเซนเบิร์ก

โปรดติดตามตอนที่ (4)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ค. 21, 2021 4:34 pm

เรื่อง "พ่อผู้ทรงคุณธรรม" ตอนที่ (4 )
โดย Claudia Cornwall
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2545/2002,
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
เดือนต่อมา ซอลคุยกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแห่งสหรัฐฯ
ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และถามเธอว่า รู้เรื่องเกี่ยวกับครอบครัวชาวออสเตรียในเวียนนา
ที่ได้รับวีซ่าประเทศจีนไหม เธอจำไม่ได้ว่าเรื่องนี้เคยผ่านตาหรือไม่ แต่สัญญาว่าจะค้นข้อมูลให้
ไม่นานหลังจากนั้น ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์โทรศัพท์กลับไปหาซอลเพื่อแจ้งว่า พบหลักฐานเรื่องนี้ในบันทึก
มีอยู่รายหนึ่งชื่อเอริก โกลด์สท็อป เป็นชายวัย 70 ปีเศษอยู่ในประเทศแคนาดา เธอมีหมายเลข
โทรศัพท์พร้อม
ซอลตื่นเต้นกับข่าวนี้มากจึงรีบโทรฯบอกม่านลี่ซึ่งไปพบซอลทันที
“คิดดูสิ” เขาเปรย “เป็นโชคชะตาแท้ ๆ”
ซอลโทรศัพท์ไปแคนาดา ชายที่รับสายยังส่อสำเนียงพื้นเพออสเตรียอยู่
เมื่อซอลอธิบายถึงเหตุผลที่โทรศัพท์ไปหา โกลด์สท็อปบอกว่า ไม่เคยพบกงสุลจีนคนนั้นและ
ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร ซอลเอ่ยชื่อเฟิงฉาน โหว และพูดเสริมว่า “ลูกสาวของเขาอยู่กับ
ผมตรงนี้ คุณอยากพูดสายกับเธอไหม” โกลด์สท็อปถึงกับนิ่งอึ้งไป
โกลด์สท็อปเริ่มเล่าเรื่องราวของเขาว่า
“ตอนนั้นผมอายุ 17 ปี เป็นนักเรียนมัธยมปลาย มีชีวิตสนุกสนานไปวัน ๆ แต่แล้วในปี 1938
ก็ถูกพวกนาซีบังคับให้ขัดถนนด้วยแปรงสีฟัน และต้องเปล่งเสียงสดุดีฮิตเล่อร์ที่โรงเรียนทุกวัน
หลังจากนั้นนักเรียนชาวยิวทุกคนถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียน โกลด์สต็อปวิ่งพล่านไปตาม
สถานกงสุลประเทศต่าง ๆ เพื่อหาทางหนีออกนอกประเทศ แต่ไม่มีใครยอมออกวีซ่าให้เลย”
“ไม่มีที่ไหนต้องการคนยิว ผมผ่านไปที่หน้าสถานกงสุลจีนและก็ไม่เคยคิดจะไปประเทศจีน
แต่ผมประหลาดใจเมื่อพบว่าสถานกุงสุลจีนไม่มีปัญหาที่จะออกวีซ่าให้ ผมจึงขอวีซ่าสำหรับ 20 คน
ซึ่งรวมถึงพ่อแม่ ตัวผมเองและญาติพี่น้อง”

โปรดติดตามตอนที่ (5)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ค. 22, 2021 11:50 am

เรื่อง "พ่อผู้ทรงคุณธรรม" ตอนที่ (5)
โดย Claudia Cornwall
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2545/2002,
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

………ครอบครัวโกลด์สท็อปจองตั๋วเรือเพื่อจะเดินทางออกจากออสเตรียในวันที่ 20 ธันวาคม 1938
แต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 1938 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เฟิงฉานเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เกสตาโป
โกลด์สท็อปและพ่อของเขาก็ถูกจับกุม
“แต่เราก็โชคดีเพราะเรามีวีซ่าและตั๋วเรือแล้ว เขาเลยปล่อยตัว วีซ่าที่ได้ช่วยชีวิตเราไว้”
ก่อนวางหู ซอลถามโกลด์สท็อปว่ายังเก็บหนังสือเดินทาง พร้อมวีซ่าพวกนั้นไว้หรือไม่
โกลด์สท็อปสัญญาว่าจะส่งไปให้
เดือนถัดมา มีพัสดุภัณฑ์จากแคนาดาส่งถึงซานฟรานซิสโก ภายในเป็นหนังสือเดินทางออสเตรีย
ของ ‘ออสการ์ ไฟด์เล่อร์’ ซึ่งเป็นลุงของโกลด์สท็อป พร้อมประทับอักษรตัว ‘J’ สีแดงตัวใหญ่
เป็นการระบุว่าเขาเป็นชาวยิว สิ่งแรกที่ม่านลี่สังเกตเห็นคือวันเกิดของออสการ์ ไฟด์เล่อร์ตรงกับ
วันที่ 10 กันยายน 1901 วันเดียวกับพ่อของเธอ เธอค่อย ๆ พลิกหน้าหนังสือเดินทางและพบวีซ่า
ประเทศจีนลงวันที่ 20 กรกฎาคม 1938 ลำดับที่ 1193. ซอลบอกม่านลี่ว่า จะต้องพบคนอื่น ๆ
อีกแน่ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง และคนเหล่านั้นกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
ในเดือนกรกฎาคม 1999 ทั้งสองพบ ‘เฮดี เดอร์เลสเตอร์’ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เธออายุเพียง 3 ขวบ
ตอนที่พ่อแม่หนีออกจากออสเตรีย
จากประวัติส่วนตัวที่พ่อของเธอบันทึกไว้ ทำให้ม่านลี่รู้ว่า เอกอัครราชทูตจีนในเบอร์ลินมีคำสั่ง
ให้พ่อหยุดออกวีซ่าให้ชาวยิวเพราะต้องการรักษาสัมพันธภาพกับเยอรมนี แต่พ่อของเธอไม่สนใจ
คำสั่งดังกล่าว วีซ่าที่ออกให้แก่พ่อของเดอร์เลสเตอร์ลงวันที่ก่อนวีซ่าของลุงเอริก โกลด์สท็อป 1 เดือน
พอดี เมื่อเทียบลำดับหมายเลขวีซ่า ทั้งสองพบว่ามีการออกวีซ่าจำนวน 900 ฉบับ
ในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว

โปรดติดตามตอนที่ (6)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ค. 23, 2021 9:51 am

เรื่อง "พ่อผู้ทรงคุณธรรม" ตอนที่ (6)(ตอนจบ)
โดย Claudia Cornwall
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2545/2002,
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
……ต่อมา พี่ชายของม่านลี่พบรายงานซึ่งบันทึกโดยกงสุล ที่มารับหน้าที่ต่อจากเฟิงฉานว่า
ตั้งแต่เฟิงฉานประจำอยู่ที่กรุงเวียนนาจนพ้นหน้าที่ในเดือนพฤษภาคม 1940 สถานกงสุลจีน
ออกวีซ่าเฉลี่ยเดือนละ 400-500 ฉบับ พ่อของเธอช่วยชีวิตคนไว้นับร้อย ๆ หรืออาจหลายพันด้วยซ้ำ
คนหนึ่งในนั้นคือ ‘ฮันส์’ ซึ่งยืนเข้าคิวคอยอยู่ด้านนอกสถานทูตจีนเป็นวัน ๆ จนแทบหมดกำลังใจ
วันหนึ่งเขาเห็นรถของเฟิงฉานขับผ่าน หน้าสถานทูตจึงโยนเอกสารขอวีซ่าผ่านกระจกรถ
ที่เปิดอยู่เข้าไปในรถ สองสามวันต่อมาฮันส์ก็ได้รับวีซ่าเรียบร้อย
อีกรายคือ ‘ซิงเกอร์’ ซึ่งถูกปฏิเสธจากสถานทูตประเทศต่าง ๆ ถึง 62 แห่ง กว่าจะได้รับวีซ่าที่
เฟิงฉานอนุมัติให้ทั้งครอบครัว พวกเขาโดยสารเรือเที่ยวสุดท้ายที่จะออกเดินทางจากยุโรปสู่สหรัฐฯ
ขณะที่ญาติ ๆ ของซิงเกอร์ถูกฆ่าหมด แต่ปัจจุบัน เขามีลูกชายดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภายิวโลก
ในนครนิวยอร์ก “ดูสิว่าการกระทำของคนเพียงคนเดียวมีผลขนาดไหน เพียงหนึ่งชีวิตที่เขาช่วยไว้
สามารถสร้างชีวิตใหม่ได้อีกรุ่น”
ขณะนั่งอยู่ในหอประชุมอนุสรณ์สถานยาด วาแชมเมื่อเดือนมกราคมปีก่อน ‘ซูซี่ มาร์กาลิต’ วัย 76 ปี
นึกถึงวีรกรรมของชายชาวจีนที่กำลังจะได้รับการสดุดี พ่อของเธอถูกจำคุกในค่ายกักกัน เจ้าหน้าที่
บอกแม่ของเธอว่า สามีจะได้รับการปล่อยตัวหากเขาสามารถออกนอกประเทศได้ภายใน 24 ชั่วโมง
และมีกงสุลเพียงคนเดียวในกรุงเวียนนาที่จะช่วยพวกเขาได้คือ เฟิงฉาน โหว
หลังสงคราม มาร์กาลิตอพยพไปอยู่อิสราเอล และช่วยก่อตั้งชุมชนชาวยิวขึ้น ปัจจุบัน เธอยังอยู่ที่นั่น
พร้อมลูก 2 คน และหลาน 8 คน เธอเชิญม่านลี่ไปเยี่ยมครอบครัวหลังพิธี
“ทุกครั้งที่พบคนอีกคนซึ่งพ่อช่วยชีวิตไว้ ฉันรู้สึกเหมือนท่านยังอยู่ในตัวผู้คนเหล่านั้น” ม่านลี่เผยความรู้สึก
****************************

จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส