ประวัตินักบุญอย่างย่อ เดือนมิถุนายน (วันที่16-30)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 16, 2021 3:30 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๖ มิถุนายน
นักบุญลุทการ์ดิส
St. Lutgardis, Nun

ลุทการ์ดิส (ค.ศ.๑๑๘๒-๑๒๔๖) เป็นซิสเตอร์คณะ Cistercian
และเป็นมิสติกคนสำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่ ๑๓

ลุทการ์ดิสเกิดที่เมือง Tongeren เมื่อเธออายุ ๑๒ ปี บิดานำเธอมาฝากไว้
ที่อารามคณะเบเนดิกติน พวกซิสเตอร์คิดว่าลุทการ์ดิสไม่มีกระแสเรียกชีวิต
นักบวชเลย อย่างไรก็ตาม พระเยซูได้ประจักษ์แก่ลุทการ์ดิสและแสดงบาดแผล
ทั้งห้าให้เธอเห็น ลุทการ์ดิสสลัดละความสนใจโลกทั้งสิ้น เธอดำเนินชีวิตแห่ง
การสวดภาวนาและรำพึงพระมหาทรมานของพระคริสต์ การเปลี่ยนแปลงของลุทการ์ดิส
ทำให้ซิสเตอร์ในอารามหลายคนอยากเลือกเธอเป็นอธิการ แต่ลุทการ์ดิสปฏิเสธ
เธออยู่ที่อารามแห่งนั้นเป็นเวลา ๑๒ ปีจึงย้ายไปอารามคณะ Cistercian
ที่เคร่งครัดกว่าที่เมือง Aywieres ตามคำแนะนำของผู้ฟังสารภาพบาปเธออยู่ที่นั่น
เป็นเวลา ๓๐ ปีมีคนมากมายมาขอคำแนะนำและรับการบำบัดจากเธอ
เธอสิ้นใจในวันที่ ๑๖ มิถุนายน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มิ.ย. 17, 2021 3:35 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๗ มิถุนายน
นักบุญไรเนริอุสแห่งปิซา
St. Rainerius of Pisa

ไรเนริอุส (ค.ศ.๑๑๑๗-๖๑) เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเมืองปิซ่า ท่านเกิดที่เมืองปิซ่า
เป็นลูกชายของพ่อค้าผู้ร่ำรวย ในปี ๑๑๔๐ ท่านสละวิถีทางโลกและออกเดินทาง
จาริกแสวงบุญไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนถึงปี ๑๑๕๓
จึงเดินทางกลับปิซ่าอัครสังฆราชและชาวเมืองต้อนรับท่านอย่างดี

ท่านเข้าพักในอารามฤษี ความรู้ในภาษาละตินทำให้ท่านสามารถอ่านพระคัมภีร์
และเทศน์สอน ท่านมีชื่อเสียงในการใช้ชีวิตพลีกรรมทรมานตน ท่านช่วยรักษาคนป่วย
และทำให้คนจำนวนมากกลับใจ เมื่อเสียชีวิต ท่านถูกฝังในอาสนวิหารเมืองปีซ่า
ระฆังใบหนึ่งบนหอระฆังได้รับการขนานนามตามชื่อของท่าน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มิ.ย. 18, 2021 4:29 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๘ มิถุนายน
นักบุญเกรกอรี บาร์บาริโก
St. Gregory Barbarigo

เกรกอรี บาร์บาริโก (ค.ศ.๑๖๒๕-๙๗) เป็นผู้นำศาสนจักรที่เอาจริงเอาจังในศตวรรษที่ ๑๗
ท่านเกิดในครอบครัวขุนนางเมืองเวนิสที่มั่งคั่ง ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๖๕๕
ท่านทำงานอภิบาลคนป่วยอย่างกล้าหาญในช่วงที่เกิดโรคระบาดในปี ๑๖๕๗ ต่อมา
ท่านได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราชของเมือง Bergamo และถูกแต่งตั้งเป็นคาร์ดินัล
ท่านย้ายไปอยู่เมือง Padua ในปี ๑๖๖๔ ท่านก่อตั้งบ้านเณรและวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ท่านบริจาคเครื่องพิมพ์และรวบรวมหนังสือของปิตาจารย์ชั้นเยี่ยมไว้ในห้องสมุด
ท่านพยายามสร้างเอกภาพกับศาสนจักรตะวันออกที่แยกตัวออก
ท่านเสียชีวิตวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๑๖๙๗

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ มิ.ย. 19, 2021 12:38 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๙ มิถุนายน
นักบุญโรมูอัลโด เจ้าอธิการ
St. Romuald, Abbot

โรมูอัลโด (ค.ศ.๙๕๐-๑๐๒๗) เป็นผู้ก่อตั้งคณะ Camaldolese ท่านเกิดในตระกูล
ขุนนางเมือง ravenna ท่านหนีเข้าอยู่ในอารามนักพรตหลังจากบิดาของท่านสังหาร
ญาติคนหนึ่งในการดวลกรณีพิพาททรัพย์สิน โรมูอัลโดดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดและ
ศรัทธาจนทำให้นักพรตหลายคนในอารามไม่ชอบท่าน ท่านพักอยู่ที่นั่นนาน ๓ ปี
จากนั้นก็ออกจากอารามมาฝากตัวอยู่ภายใต้การแนะนำชีวิตฝ่ายจิตกับฤษีคนหนึ่ง
ใกล้เมืองเวนิส ต่อมา ท่านเดินทางไปทั่วภาคเหนือของอิตาลีก่อตั้งอาศรมฤษีหลายแห่ง
และได้รับคำบัญชาจากพระสันตะปาปาให้ไปทำงานธรรมทูตกับพวก
Magyars ในฮังการี แต่ความเจ็บ ไข้ได้ป่วยทำให้ท่านต้องเดินทางกลับอิตาลี

โรมูอัลโดได้ศึกษาชีวิตของฤษีในทะเลทรายยุคศตวรรษแรกๆ และได้ข้อสรุปว่า
หนทางแห่งความรอดคือวิถีทางวิเวกสันโดษ ท่านก่อตั้งอารามที่ Fonte Avellana
ซึ่งภายหลังได้รับการปฏิรูปโดยศิษย์คนหนึ่งของท่าน คือ นักบุญ Peter Damian โรมูอัลโด
ยังสร้างอารามอีกแห่งที่เมือง Camaldoli อารามแห่งนี้เองที่ได้เติบโต
จนกลายเป็นคณะ Camaldolese

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ มิ.ย. 21, 2021 1:18 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๐ มิถุนายน
นักบุญอัลบัน มรณสักขี
St. Alban, Martyr

อัลบัน (ศตวรรษที่ ๓) เป็นมรณสักขียุคแรกของอังกฤษ ท่านได้รับการบันทึกว่า
เป็นผู้ถูกสังหารด้วยข้อหาเป็นคริสตชนคนแรกสุดของอังกฤษ ท่านถูกกล่าวหาว่า
นับถือศาสนาของคนต่างชาติให้ที่พักแก่พระสงฆ์ชาวคริสต์ที่ถูกตามล่าโดยทหาร
ของจักรพรรดิ (ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของผู้ลี้ภัย)
อัลบันประทับใจในความเด็ดเดี่ยวของพระสงฆ์คนนี้ท่านกลับใจและเรียนรู้เรื่อง
ความเชื่อจากเขา เมื่อทหารทราบตำแหน่งที่พักของผู้หลบหนีก็พากันมาที่บ้านของ
อัลบันและพบอัลบันสวมใส่ชุดของพระสงฆ์ อัลบันยอมให้ตัวเองถูกจับแทน
แต่การปลอมตัวของท่านก็ถูกเปิดเผยท่านสารภาพพร้อมกับยืนยันความเชื่อไม่ขอ
นมัสการรูปปั้นเทพเจ้า ผู้พิพากษาตัดสินให้ท่านรับโทษประหารด้วยการถูกตัดศีรษะ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ มิ.ย. 21, 2021 1:20 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๑ มิถุนายน
นักบุญอลอยซีอุส กอนซากา
St. Aloysius Gonzaga

อลอยซีอุส กอนซากา (ค.ศ.๑๕๖๘-๙๑) เป็นสมาชิกคณะเยสุอิต ท่านเสียชีวิต
เมื่ออายุยี่สิบต้นๆ ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเยาวชนและนักศึกษา
ในมหาวิทยาลัย

อลอยซีอุสเกิดในตระกูลมียศศักดิ์สูงของเมือง Castiglione ใกล้กับ Lombardy
บิดาต้องการให้ท่านรับราชการในกองทัพ แต่ในขณะที่ครอบครัวเดินทางไปเที่ยว
พักผ่อนที่สเปนพร้อมกับจักรพรรดินีแห่งออสเตรีย
อลอยซีอุสได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกคณะเยสุอิต ท่านประกาศสละมรดกทั้งหมด
และเข้านวกสถานที่โรมในเดือนพฤศจิกายน ปี ๑๕๘๕

อลอยซีอุสทุ่มเทชีวิตกับการสวดภาวนาและทรมานกายอย่างหนัก ท่านดำเนินชีวิต
ตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของท่าน ท่านเสียชีวิตขณะดูแล
คนป่วยจากโรคระบาดในเมืองเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๑๕๙๑

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 23, 2021 11:59 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๒ มิถุนายน
นักบุญยอห์น ฟิชเชอร์
St. John Fisher

ยอห์น ฟิชเชอร์ (ค.ศ.๑๔๖๙-๑๕๓๕) เป็นพระสังฆราชของเมือง Rochester
ท่านยังเป็นพระคาร์ดินัลผู้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องความเชื่อคาทอลิก
ในอังกฤษช่วงสมัยปฏิรูปพระศาสนจักร

ฟิชเชอร์เกิดที่เมือง Beverley ในแคว้น Yorkshire ท่านได้รับการศึกษาที่
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปีจนกระทั่งได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๔๙๑
เมื่อท่านอายุ ๓๕ ปีท่านได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราชและเป็นที่ปรึกษาของ
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ท่านทำงานอภิบาลด้วยความใส่ใจและกระตือรือร้น

ฟิชเชอร์เป็นนักเทศน์และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง งานเขียนด้านเทววิทยาของท่าน
มีอิทธิพลต่อการประชุมสังคายนาเมืองเตรนท์ (ค.ศ.๑๕๔๕-๖๓) ท่านเขียนหนังสือสี่เล่ม
ใหญ่เพื่อตอบโต้มาร์ติน ลูเธอร์

เมื่อกษัตริย์เฮนรี่ ที่ ๘ คิดจะหย่าร้างและแต่งงานใหม่ ฟิชเชอร์คัดค้านด้วยหลักคำสอน
ของพันธะศีลสมรสที่ไม่อาจลบล้างได้ท่านยังโต้แย้งต่อการประกาศตำแหน่งใหม่
ของกษัตริย์เฮนรี่ที่เป็น "หัวหน้าสูงสุดของศาสนจักรแห่งอังกฤษ" โดยเสนอว่าจะต้อง
เพิ่มคำว่า"เท่าที่กฎของพระคริสต์จะทรงอนุญาต"

ฟิชเชอร์ถูกจับในฐานะขบถ ท่านถูกประหารด้วยการตัดศีรษะ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มิ.ย. 24, 2021 12:00 am

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ มิถุนายน
นักบุญเอเธลเดรดา
St. Etheldreda

เอเธลเดรดา (เสียชีวิต ค.ศ.๖๗๙) เป็นผู้ก่อตั้งอาราม Ely และเป็นนักบุญสตรี
ชาวแซ็กซันที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ท่านเกิดที่เมือง Exning ในแคว้น Suffolk
เป็นธิดาของกษัตริย์แห่ง Anglia ตะวันออก และเป็นพี่สาวของนักบุญถึง ๓ องค์
เอเธลเดรดาแต่งงานสองครั้ง แต่ตามชีวประวัติท่านยังคงรักษา
พรหมจรรย์ไว้ได้

ในปี ๖๗๒ ท่านเข้าอารามนักพรตหญิงที่เมือง Coldingham ซึ่งป้าของท่านเป็น
อธิการิณีหลังจากนั้นหนึ่งปีท่านได้ก่อตั้งอารามขึ้น ๒ แห่งที่ Ely อารามหลังหนึ่ง
สำหรับนักพรตหญิง อีกหลังสำหรับนักพรตชาย ท่านเสียชีวิตเมื่อเกิด
โรคระบาดในปี ๖๗๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มิ.ย. 25, 2021 10:19 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๔ มิถุนายน
สมโภชนักบุญยอห์น บัปติสต์
St. John the Baptist

ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง (ศตวรรษที่หนึ่ง) เป็นประกาศกผู้มาเตรียมหนทาง
ให้พระเยซูคริสต์ยอห์นทำพิธีล้างให้พระเยซูที่แม่น้ำจอร์แดน ท่านเป็นนักบุญ
องค์อุปถัมภ์ของจอร์แดน เมืองฟลอเรนซ์ของพวกฤษีและถนนซุปเปอร์ไฮเวย์

เรื่องราวการถือกำเนิดของยอห์นถูกเล่าไว้ในพระวรสารนักบุญลูกาบทที่หนึ่ง
ยอห์นเป็นญาติของพระเยซูสืบตระกูลสงฆ์ ท่านเป็นบุตรของเศคาริยาห์และ
เอลิซาเบ็ธเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับยอห์นนับจากนั้นจนกระทั่งถึงปีที่ ๑๕
ในรัชสมัยจักรพรรดิ Tiberius ซึ่งนักบุญลูกาเล่าว่ายอห์นเริ่มออกประกาศ
สั่งสอนต่อสาธารณชนให้เป็นทุกข์กลับใจและรับพิธีล้างในแม่น้ำจอร์แดน
ยอห์นกล่าวถึงบุคคลสำคัญกว่าท่านที่จะมาถึง ซึ่ง "พระองค์จะเพิ่มขึ้น ส่วนข้าพเจ้า
จะลดน้อยลง" พระวรสารสหทรรศน์เล่าว่ายอห์นทำพิธีล้างให้พระเยซูภายหลัง
พระเยซูเจ้าทรงยกย่องยอห์นเป็นเหมือนประกาศกคนสำคัญในพระธรรมเก่า

ยอห์นถูกประหารชีวิตโดยกษัตริย์เฮโรด อันทิพาส ผู้ปกครองแคว้นกาลิลีเพราะ
ท่านตำหนิพฤติกรรมผิดศีลธรรมของกษัตริย์องค์นั้น

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มิ.ย. 25, 2021 10:21 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๕ มิถุนายน
นักบุญปรอสแปร์แห่งอาควิตาญ
St. Prosper of Aquitaine

ปรอสแปร์ (ค.ศ.๓๙๐-๔๖๐) เป็นนักเทววิทยาที่มีอิทธิพลในศตวรรษที่ ๕
ท่านอาจเป็นฆราวาสมาจากเมือง Provence ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของ
ฝรั่งเศส ปรอสแปร์เป็นศิษย์เอกของนักบุญออกัสติน

จดหมายติดต่อระหว่างท่านกับนักบุญออกัสตินได้ตกทอดมาถึงเรา เนื้อหาที่
ปรอสแปร์สรุปจากงานเขียนของนักบุญออกัสตินถูกเอามาใช้ในการประชุม
สังคายนาเมือง Orange (ปี ๕๒๙) ปรอสแปร์เข้าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของ
กลุ่ม Pelagianism ซึ่งถือว่าควาใรอดของมนุษย์สามารถบรรลุถึงได้ด้วยความพยายาม
ของตัวเอง ไม่ต้องอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้าแม้ปรอสแปร์จะอิงตามความคิดของ
นักบุญออกัสตินอย่างมาก แต่ท่านให้ความเห็นที่ประนีประนอมกว่าในเรื่องพระหรรษทาน
เรื่องเจตน์จำนงอิสระ และเรื่องชะตากรรมที่ถูกกำหนดล่วงหน้า

ท่านกล่าวว่าพระหรรษทานเป็นของขวัญให้เปล่าจากพระเจ้าที่มีพร้อมแก่ทุกคน เพราะพระเจ้า
ทรงพระเมตตา ปรอสแปร์ยังทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้พระสันตะปาปาเลโอมหาราช
(ปี ๔๔๐-๖๑) ท่านเสียชีวิตที่กรุงโรมระหว่างปี ๔๖๐-๔๖๓

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ มิ.ย. 26, 2021 11:25 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ มิถุนายน
นักบุญยอห์นและปอล มรณสักขี
St. John and Paul, Martyrs

ยอห์นและปอล (เสียชีวิตก่อน ค.ศ.๔๑๐) เป็นมรณสักขีชาวโรมันในศตวรรษที่ ๔
ชีวิตของพวกท่านมีบันทึกไว้ในทำเนียบมรณสักขีของท่านบีดผู้น่าเคารพ
(Martyrology of Bede) และในปฏิทินพิธีกรรมที่ใช้กันทั่วอังกฤษ

เรื่องเล่าชีวประวัติของพวกท่านซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลาย กล่าวว่ายอห์นและปอล
เป็นพี่น้องกันและเป็นทหารของจักรพรรดิคอนสแตนติน ทั้งสองรับใช้คอนสแตนติน
จนถึงวันที่พระองค์สิ้นพระชนม์ แต่จูเลียน หลานของคอนสแตนตินผู้สืบทอดตำแหน่ง
ไม่โปรดปรานแนวทางของพวกคริสตชน พระองค์สั่งให้ยอห์นและปอลปฏิเสธความเชื่อ
ทั้งสองไม่ยอม จึงถูกสังหารที่บ้านของพวกเขาใน Celian Hill ร่างพวกท่านถูกฝังไว้ใน
สวนแห่งนั้น

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ มิ.ย. 27, 2021 9:34 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๗ มิถุนายน
นักบุญซีริลแห่งอเล็กซานเดรีย
St. Cyril of Alexandria

ซีริล (ค.ศ.๓๗๖-๔๔๔) เป็นนักเทววิทยาชั้นนำคนหนึ่งของศตวรรษ ที่ ๕ ท่านเป็นพระอัยกา
ของเมืองอเล็กซานเดรียและเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร (ประกาศเมื่อปี ๑๘๘๒)

ซีริลเกิดที่เมืองอเล็กซานเดรีย ท่านเป็นหลานของ Theophilus ซึ่งเป็นพระอัยยาแห่ง
อเล็กซานเดรีย ซีริลสืบทอดตำแหน่งนี้ในปี ๔๑๒ ท่านมีคู่ขัดแย้งคนสำคัญคือ Nestorius
พระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิล Nestorius สอนว่าธรรมชาติพระเจ้าและมนุษย์ของ
พระคริสต์เป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกันเพราะ
ความสอดคล้องทางศีลธรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระนางมารีย์พรหมจารีย์ไม่ควรถูก
เรียกว่าพระมารดาพระเจ้าแต่เป็นเพียงพระมารดาของพระคริสต์

การประชุมสังคายนาเมืองเอเฟซัส ปี ๔๓๑ ซึ่งซีริลเป็นประธานได้ออกระเบียบต่อต้าน
Nestorius เป็นผลให้ศาสนจักรกลุ่ม Nestorian แยกตัวออกไปศาสนจักร Nestorian
นี้เองที่ได้ไปทำงานแพร่ธรรมในจีนและอินเดียก่อนจะถูกกลืนหายเพราะการ
รุกรานของพวกมองโกลในศตวรรษที่ ๑๔

การประชุมสังคายนาเมือง Chalcedon (ปี ๔๕๑) เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง
คำสอนของซีริล ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการให้ความสนใจน้อยเกินไปต่อมิติทางชีวิตจิต
น่ารักของเทววิทยาของซีริล และสนใจกับมิติความขัดแย้งและระบบมากเกินไป
ประเด็นสำคัญของคำสอนของท่านคือข้อความเชื่อเรื่องภาพลักษณ์ของพระเจ้า
ในตัวมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีศักดิ์ศรีและความสุข

Cr.sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร มิ.ย. 29, 2021 7:20 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ มิถุนายน
นักบุญอิเรเนอุส สังฆราชและมรณสักขี
St. Irenaeus, Bishop and Martyr

อิเรเนอุส (ค.ศ.๑๓๐-๒๐๐) เป็นสังฆราชและนักเทววิทยาผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของ
ศตวรรษที่ ๒ ท่านเกิดในดินแดนตะวันออก มาศึกษาที่โรมและบวชเป็นพระสงฆ์
ที่เมือง Lyons ซึ่งเป็นสังฆมณฑลหลักของ Gaul ในระหว่างการเบียดเบียนคริสตชน
อิเรเนอุสถูกส่งตัวพร้อมจดหมายไปเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา Eleutherius เพื่อให้ทรง
ประณามกลุ่มเฮเรติกที่เมือง Phrygia ในเอเชียไมเนอร์ พระศาสนจักรจะได้เกิด
ความสงบและเป็นเอกภาพ เมื่ออิเรเนอุสเดินทางกลับในปี ๑๗๘ ท่านก็ได้รับเลือก
ให้เป็นสังฆราชแทนสังฆราชองค์ก่อนที่ถูกสังหารในระหว่างการเบียดเบียน

อิเรเนอุสเป็นนักเทววิทยาคนสำคัญ แนวคิดท่านได้รับการยอมรับอย่างสูงในศตวรรษที่ ๑๒
เพราะมีการค้นพบงานเขียนชิ้นเอกของท่าน อิเรเนอุสเป็นผู้ต่อต้านพวก Gnosticism
อย่างแข็งขันและประสบความสำเร็จ ท่านยืนยันหลักการเรื่องการสืบต่อความเป็น
อัครสาวกเพื่อทำหน้าที่เผยการไขแสดงของพระเจ้าแก่ทุกคน ท่านมองว่าประวัติศาสตร์
มนุษยชาติและประวัติศาสตร์ชาติยิวเป็นกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงเผย
แสดงและชักนำด้วยหรรษทาน พระเยซูคริสต์เป็นจุดสูงสุดของกระบวนการทั้งหมด
อิเรเนอุสเสียชีวิตในเมืองลียงปี ๒๐๐ ท่านได้รับความเคารพในฐานะมรณสักขีด้วย

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร มิ.ย. 29, 2021 7:25 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๙ มิถุนายน
สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลอัครสาวก
St. Peter and Paul, Apostles

เปโตร (เสียชีวิต ค.ศ.๖๔) เป็นอัครสาวกคนแรกที่พระเยซูทรงเรียกและเป็นผู้นำ
ของอัครสาวกทั้งสิบสอง ท่านเป็นชาวเมืองเบธไซดาซึ่งอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาปกาลิลี
ชื่อดั้งเดิมของเปโตรคือซีมอน ท่านเป็นบุตรของโยนาห์และเป็นพี่ชายของอันดรูว์ซึ่ง
เป็นผู้ชักนำท่านให้รู้จักกับพระเยซู

เปโตรและน้องชายเป็นชาวประมง เช่นเดียวกับบิดาของท่าน พระเยซูทรงตั้งชื่อใหม่
ให้เปโตรว่า เคฟาสหรือเปโตร ซึ่งหมายถึงศิลาและทรงมอบหมายให้ท่านเป็น
"ชาวประมงจับมนุษย์"

เปโตรเป็นที่จดจำของคริสตชนว่าครั้งหนึ่งแม้ในฐานะอัครสาวก ท่านได้เคยปฏิเสธ
พระเยซูแต่พระเยซูทรงภาวนาให้ความเชื่อของท่านกลับเข้มแข็งธรรมประเพณีเล่าว่า
เปโตรเป็นสังฆราชคนแรกของโรม

ท่านถูกจับตัวไต่สวนและถูกตรึงกางเขนกลับหัวตามที่ท่านร้องขอ ท่านเป็นนักบุญ
องค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรและพระสันตะปาปาเปาโล (ประมาณ ค.ศ.๑/๕-๖๒/๖๗)
เป็นธรรมทูตคนสำคัญที่สุดของคริสตศาสนายุคแรก ท่านได้ชื่อว่า
"อัครสาวกของคนต่างศาสนา" เปาโลเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศกรีซและมอลต้า
งานฆราวาสแพร่ธรรม และกลุ่มคูร์ซิลโล

เปาโลเกิดที่เมืองทาร์ซัส ท่านได้รับศึกษาเป็นฟาริสี เดิมท่านชื่อ ซาอูล ท่านเกิด
ประสบการณ์กลับใจบนถนนไปเมืองดามัสกัส ท่านรับการล้างบาปและทำงานประกาศ
เรื่องพระเยซูคริสต์แก่คนต่างศาสนา
เปาโลถูกแนะนำตัวแก่เปโตรโดยบาร์นาบัสที่เยรูซาเล็ม เปาโลพบเปโตรอีกครั้งที่เมืองอันติโอก
ซึ่งครั้งนั้น ทั้งคู่โต้เถียงกันอย่างรุนแรงเรื่องธรรมเนียมของคนต่างศาสนาที่กลับใจมาถือคริสต์

เปาโลเดินทางแพร่ธรรม ๓ ครั้งก่อนจะสิ้นสุดที่โรม ท่านถูกจับและกักบริเวณในบ้านเป็นเวลา ๒ ปี
หลังจากนั้น ท่านถูกประหารชีวิตที่โรมและถูกฝังไว้ที่สักการสถานนักบุญเปาโลนอกกำแพง

ธรรมเนียมการฉลองนักบุญเปโตรและเปาโลพร้อมกันมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๘

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร มิ.ย. 29, 2021 7:38 pm

29 มิถุนายน
สมโภชนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล อัครสาวก
(SS. Peter and Paul, Apostles, solemnity)

วันสมโภชนี้ พระศาสนจักรหวนกลับมาดูจุดกำเนิดของตน และเฉลิมฉลอง
ความจำที่มีต่อบุคคลสำคัญสองท่าน ที่เป็นเหมือนแม่พิมพ์ให้กับชีวิตพระศาสนจักร
ในระยะเริ่มต้น ที่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยสำคัญที่ลบเลือนไม่ได้ในรากฐานและลักษณะเฉพาะ
ทั้งสองท่านต่างกันโดยสิ้นเชิง (as different as chalk and cheese)
แต่ท่านนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลก็ได้รับขนานนามว่า "เป็นเสาหลักสองต้นของ
พระศาสนจักร" เป็นดัง "ตะเกียงหรือดวงไฟสองดวง" ที่กำลังลุกโชติช่วงเพื่อพระคริสต์
เพื่อส่องสว่างหนทางไปสู่สวรรค์

นักบุญเปโตร - "ซีมอน บุตรของโยนาห์" เป็นชาวเบธไซดา ริมฝั่งทะเลสาบกาลิลี
แต่งงานและตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาเปอรนาอุม พร้อมกับน้องชาย "อันดรูว์" หาเลี้ยงตน
ด้วยอาชีพจับปลา จนกระทั่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเรียกเขา จากชาวประมงจับปลา
มาเป็นชาวประมงจับมนุษย์ เมื่อเขาประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์
พระบุตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูเจ้าจึงทรงประกาศตั้งพระศาสนจักรบนหินก้อนนี้
ที่มีเปโตรเป็นรากฐาน [เพราะชื่อเปโตร หรือ Petrus ภาษาลาติน หรืออีกชื่อหนึ่ง
คือ เคฟา(ส) ภาษาอาราเมอิค แปลว่า "หิน"] สำนวนที่พระองค์มอบกุญแจแห่ง
พระอาณาจักรสวรรค์ให้แก่นักบุญเปโตร และสำนวนที่ว่าถึงการผูกและการแก้
มีความหมายทางกฎหมายชัดแจ้งถึงตำแหน่งสูงสุดในการปกครองที่พระเยซูเจ้า
ทรงแต่งตั้งขึ้นมา

หลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ นักบุญเปโตรเป็นหนึ่งในพวกแรกๆ
ที่พระเยซูเจ้าทรงปรากฏองค์ให้เห็น เป็นนักบุญเปโตรที่เป็นประธานในการเลือก
มัทธีอัสมาแทน ยูดาส อิสคาริโอท (กจ 1:15-20) นักบุญเปโตรเป็นผู้เทศน์สอน
อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันเปนเตกอสเตที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมา (กจ 2:14-40)
ให้คำปราศรัยกับสภาซันเฮดริน (กจ 4:5-22) เป็นผู้รับชาวยิวพวกแรกมาเป็น
คริสตชน (กจ 2:41) และต่อมารับคนต่างชาติพวกแรก (กจ 10:44-48) เข้ามา
ในพระศาสนจักร นักบุญเปโตรได้ทำอัศจรรย์ครั้งแรกต่อหน้าสาธารณชน (กจ 3:1-11)
และเป็นผู้ให้คำตัดสินชี้ขาดในสภาสังคายนาครั้งแรกของพระศาสนจักร (กจ 15:7-11)

นักบุญเปาโล - นักบุญเปาโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีอัจฉริยภาพทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่
ที่สุดคนหนึ่งของคริสตศาสนา (ต่อจากนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร) ท่านมาจาก
ดินแดนที่ชาวยิวกระจัดกระจายไปอยู่ (Diaspora) คือเมืองทาร์ซัส ซึ่งทำให้ท่านคุ้นเคย
ทั้งวัฒนธรรมของชาวยิวและชาวกรีก น่าชื่นชมที่ท่านได้รับการปูพื้นฐานความรู้เป็นอย่างดี
ซึ่งจะเหมาะกับงานที่พระเจ้าทรงมอบให้ท่านในอนาคต ในการที่จะต้องเป็น
"อัครสาวกสำหรับคนต่างศาสนา" และเป็นผู้ช่วยพระศาสนจักรซึ่งเพิ่งเริ่มต้น
ให้ก้าวเดินอย่างเป็นอิสระพ้นจากลัทธิของชาวยิว จากการที่ท่านได้มีประสบการณ์พิเศษ
ที่ได้พบกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพในระหว่างการเดินทางไปเมืองดามัสกัส
เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ท่านเป็นหนึ่งในผู้ร้อนรน เปี่ยมด้วยพลัง และเป็นผู้แทน
ที่กล้าหาญของพระคริสตเจ้าเท่าที่มีมา

จดหมายต่างๆของนักบุญเปาโล (นับได้ 7 ฉบับที่แท้จริง และอีก 6 ฉบับที่อ้างว่าท่าน
ได้เขียนทั้งทางตรงและทางอ้อม) ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเหมือนบ่อน้ำพุแห่งความจริง
การเป็นพยานยืนยัน และเป็นคำเทศน์สอนที่มาถึงเราจนทุกวันนี้ เราจะเห็นลักษณะการเขียน
ของท่านที่เปี่ยมด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลม และพลังใจที่ล้นปรี่ ท่านเป็นผู้ติดตาม
พระคริสต์ที่อุทิศตนอย่างลุกร้อนด้วยไฟแห่งความรักที่มากล้น ชนิดที่สามารถเห็นว่า
ทุกสิ่งอยู่ในพระคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นการเบียดเบียน การถูกลบหลู่ หรือความอ่อนแอก็ไม่
สามารถจะหันเหท่านไปจากข้อตั้งใจที่จะกลายเป็น "ทุกสิ่งสำหรับทุกคน" (1คร 9:22)
งานที่ยากลำบากต่างๆเหล่านี้ที่ท่านทำอย่างแข็งขัน ช่วยสร้างรูปแบบของพระศาสนจักรต่างๆ
ที่ท่านตั้งขึ้นให้อยู่ใน "พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า" ท่านตระหนักตนว่าเป็นเหมือน
"เด็กที่คลอดก่อนกำหนด" ชื่อเปาโล ซึ่งหมายถึง "เล็ก" จึงสุภาพที่จะเรียกตนว่าเป็น
ผู้รับใช้ (servant) "เป็นผู้น้อยที่สุดในบรรดาอัครสาวก" และแม้แต่
"เป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์" (อฟ 3:8)

บทสรุป :
นักบุญทั้งสองเป็น "มนุษย์กิจกรรม" (men of action) งานของท่านทั้งสองส่งเสริม
กันและกัน ทั้งสองรักองค์พระผู้เป็นเจ้าสิ้นสุดจิตใจ ทั้งสองสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า
"ข้าพเจ้าได้ต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว
ยังเหลืออยู่ก็เพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรม ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพิพากษา
อย่างเที่ยงธรรม จะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น..." (2 ทธ 4:7-8)

ที่น่าประหลาดใจยิ่ง ท่านทั้งสองได้รับ "มงกุฎแห่งความชอบธรรม" ช่วงราวปี ค.ศ. 67
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้ๆกัน ในสมัยของจักรพรรดิเนโร ซึ่งต้องการทำลายล้าง
กลุ่มคริสตชนให้หมดสิ้นไป นักบุญเปโตรถูกตรึงกางเขนที่เนินวาติกัน
(ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบันนี้) แต่ท่านได้ขอให้กลับหัวลง
เพราะคิดว่าตนไม่สมควรจะตายแบบที่พระคริสต์ทรงถูกตรึง ส่วนนักบุญเปาโลซึ่งมีสัญชาติโรมัน
ถูกตัดศีรษะแถวบริเวณเส้นทาง Ostian ตรงบริเวณน้ำพุ 3 แห่ง (Tre Fontane)
ซึ่งบัดนี้เป็นที่ตั้งบาสิลิกานักบุญเปาโลที่สง่างามนอกกำแพงเมือง

วันที่ 29 มิถุนายน (C. 268) ร่างของมรณสักขีทั้งสองท่านได้ถูกนำมาไว้ด้วยกันที่
คาตาคอมบ์นักบุญเซบาสเตียน ดังนั้น วันสมโภชของท่านทั้งสอง ซึ่งถือเป็นหนึ่ง
ในสิบสองของการเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมที่มีความสำคัญมากของพระศาสนจักรคาทอลิก
จึงเลือกสมโภชท่านในวันที่ 29 มิถุนายน ตามเหตุการณ์นี้

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ มิ.ย. 30, 2021 6:33 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๐ มิถุนายน
มรณสักขีกลุ่มแรกของพระศาสนจักรโรม
First Martyrs of the Church of Rome

วันนี้เราระลึกถึงผู้ถูกสังหารเพราะความเชื่อในยุคเบียดเบียนศาสนา
โดยจักรพรรดิเนโร ซึ่งครองราชย์ปี๕๔-๖๘ นักบุญเปโตรและเปาโลก็
เสียชีวิตระหว่างการเบียดเบียนครั้งนี้ด้วยวันฉลองนี้ถูกนำเข้าสู่ปฏิทิน
พิธีกรรมพระศาสนจักรฉบับปฏิรูปในปี ๑๙๖๙ ทั้งนี้เพื่อให้มีการระลึกถึง
มรณสักขีชาวโรมันคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีอยู่ในวันฉลองของพระศาสนจักร

Tacitus นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันบันทึกว่าในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ.๖๔
เกิดเพลิงไหม้รุนแรงในโรม ซึ่งส่งผลให้อาคารบ้านเรือนสองในสามของเมือง
พังพินาศจักรพรรดิเนโรประกาศว่าพวกคริสตชนเป็นผู้ก่อเหตุ พระองค์สั่ง
ให้จับกุมและสังหารพวกเขา บางคนถูกตรึงกางเขน บางคนถูกราดด้วยขี้ผึ้ง
แล้วจุดไฟเป็นคบเพลิงและบางคนถูกคลุมด้วยหนังสัตว์โยนให้ฝูงสัตว์ทำร้าย
ความโหดร้ายน่าสะพรึงกลัวทำให้แม้แต่คนที่เคยชมดูการประหารชีวิตมาก่อน
ก็ยังต้องตกตะลึง

CR. : Sinapis
ตอบกลับโพส