“สัญชาตญาณแม่”

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มิ.ย. 24, 2021 12:10 am

เรื่อง "สัญชาตญาณแม่" ตอนที่ (1)
โดย Paula Michaels จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนสิงหาคม 2545/2002, รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

‘แซค’ ลูกชายฉันเกิดมาเป็นเด็กสมบูรณ์น่ารัก หนัก 3,200 กรัม ผมสีทองและ
ตาสีน้ำเงินเข้ม ลูกมีพัฒนาการเหมือนเด็กทั่วไปทุกอย่าง เช่น ยิ้มเมื่ออายุ 7 สัปดาห์
และพลิกตัวเมื่อ 12 สัปดาห์
ทุกครั้งที่เราพาลูกไปตรวจสุขภาพตามกำหนดและถามข้อสงสัยบางอย่าง กุมารแพทย์
จะตอบว่า “ปกติ” แถมทำเสียงขึ้นลงเหมือนทำนองเพลงจนกลายเป็นเรื่องตลกที่ฉันกับ
เดวิดสามีนำมาล้อเล่นกัน “ปกติ...ปกติ...ปกติ...” เรามักจะเดินร้องเพลงนี้ออกมาจากห้องหมอ
แต่ฉันจำได้แม่นถึงวันที่เราร้องเพลง “ปกติ” ไม่ออกอีกต่อไป ตอนบ่ายสุดสัปดาห์วันหนึ่ง
ฉันอุ้มแซคซึ่งอายุ 6 เดือนขณะนั่งคุยกับพี่เลี้ยงเด็กอยู่ในครัว แล้วจู่ ๆ แขนของแซคก็กระตุก
และตากรอกไปด้านหลังเล็กน้อย เหมือนปฏิกิริยาที่เรียกว่า “โมโร” (moro reflex) ซึ่งฉันเคย
อ่านพบในหนังสือการดูแลเด็ก แต่ผิดกันตรงที่ลูกทำท่าแบบนี้ซ้ำ 6 ครั้งแล้ว ฉันโทรฯหาหมอเด็ก
ในวันรุ่งขึ้น ฉันเล่าอาการให้หมอฟัง “ปกติ ฟังดูก็ปกตินี่” หมอตอบ ฉันอยากให้คำยืนยันนี้
เป็นจริงเช่นกัน แต่อาการของลูกยังไม่หาย แม้จะไม่กระตุกถี่ทุก 2-3 ชั่วโมง แต่ก็บ่อยพอดูทีเดียว
นอกจากนี้ แซคยังค่อนข้างจะเชื่องช้าลง ไม่พลิกตัวบ่อยอย่างเคย และไม่แสดงทีท่าว่าจะหัดนั่ง
อาการเหล่านี้ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย พ่อแม่ทั่วไปอาจคิดว่าเป็นเพราะเด็กเหนื่อยหรืออ้วนเกิน
กว่าจะนั่งเองได้
ผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ แต่อาการที่เล่ามาก็ยังไม่หาย ฉันเลยโทรฯหาหมออีก คราวนี้หมอค่อน
ข้างจะเคือง “หมอไม่กังวลเลยจริง ๆ” หมอบอก “ถ้าเด็กอายุ 8 เดือนแล้วยังมีอาการเหมือนเดิม
เราค่อยมาดูกันอีกที” แต่อาการของแซคยังคงถี่ขึ้นจนเช้าวันหนึ่งเมื่ออาการของแซครุนแรงกว่า
ทุกวัน ฉันรีบตะโกนเรียกเดวิดให้หยิบกล้องวิดีโอมาบันทึกภาพ ส่วนตัวฉันรีบโทรฯ หาหมอ
เราไปถึงโรงพยาบาลพร้อมกับกล้องวิดีโอ เดวิดฉายภาพให้หมอดู “อาการแบบนี้หมอคิดว่า
ไม่มีอะไรจริง ๆ” หมอพูดพลางชี้ไปที่ภาพ
ความคิดบางอย่างแวบขึ้นมาในใจ ปกติฉันเป็นคนขี้อาย พูดจานิ่มนวลแถมยังพูดตะกุกตะกัก
แต่วินาทีนั้น ฉันกลับลุกขึ้นยืนและพูดว่า “ฉันจะไม่ยอมไปไหนจนกว่าหมอจะติดต่อให้ลูกฉัน
ได้พบหมอเฉพาะทางสมอง และอยากให้หมอตรวจวันนี้เลย แล้วฉันก็เริ่มร้องไห้”
ไม่รู้เหมือนกันว่ามีอะไรมาดลใจให้ทำเช่นนั้น ฉันเดาว่าคงเป็นสัญชาตญาณความเป็นแม่
อย่างที่ภาษิตโบราณกล่าวว่า “คนเป็นแม่ย่อมรู้ดีเสมอ”
ครึ่งชั่วโมงต่อมา เราก็ได้นัดพบหมอเฉพาะทางในบ่ายวันนั้น
ทันทีที่เห็นกุมารแพทย์ระบบประสาทซึ่งเป็นชายวัย 50 ปี เศษและสวมแว่นตาหนาเตอะ
ฉันรู้ทันทีว่าเราได้หมอที่ดีแล้ว “หมอจะลองตรวจดู” หมอพูดขณะจับแซคนอนลงบนเตียงตรวจ
เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ฉันนึกย้อนกลับไปเสมอเวลาที่สงสัยว่าปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่
แซคแสดงอาการให้หมอเห็นต่อหน้าต่อตาบนเตียงตรวจ ฉันมองใบหน้าและดวงตา
ที่เปี่ยมเมตตาของหมอ พร้อมกับแสงแห่งความหวังอันเรืองรองในใจที่ไม่มีวันลืม

โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มิ.ย. 24, 2021 12:15 am

เรื่อง "สัญชาตญาณแม่" (ตอนจบ)
โดย Paula Michaels
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2545/2002,
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังอ่านผลการตรวจคลื่นสมองของแซค หมอเชิญเรากลับเข้าห้องตรวจ ใบหน้าเขาไม่มี
รอยยิ้มขณะขยับเก้าอี้เข้ามาใกล้ “เราพบคำตอบแล้ว” หมอบอกว่า แซคมีอาการของ
โรคลมชักในทารกซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก
“เลวร้ายที่สุดเป็นยังไงครับ” เดวิดถาม
“สมองอาจถูกทำลาย” หมอตอบ
สีหน้าของเดวิดดูว้าวุ่นแฝงความตระหนกและความเศร้าที่พยายามซ่อนไว้
หมอสั่งยากันชักให้แซคกิน ภายในสัปดาห์แรกที่กินยา อาการชักของแซคก็
หายเป็นปลิดทิ้ง เราลองค้นข้อมูลเพิ่มจากอินเทอร์เน็ตเท่าที่จะหาได้
เรื่องราวที่เราอ่านพบนั้นน่ากลัวทีเดียว แม้โรคลมชักในทารกจะหายได้เอง
แต่ผลของการชักอาจทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปได้ว่ากระแสไฟฟ้า
ที่ผิดปกติจะทำลายสมองของทารก เด็กบางคนอาจตาบอดหรือหูหนวก
หรือบางคนกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อนในที่สุด และร้อยละ 85 มีพัฒนาการช้า
ในทางใดทางหนึ่ง
จากเรื่องที่อ่านในอินเทอร์เน็ต ไม่มีเด็กคนไหนหายเป็นปกติ การวินิจฉัยและรักษา
แต่เนิ่น ๆ รวมทั้งการตอบสนองต่อยาอย่างรวดเร็วเท่านั้น ที่เป็นตัวบ่งชี้ของการฟื้น
จากโรค 2-3 วันที่ฉันวุ่นวายอยู่กับเรื่องนี้ กุมารแพทย์ของแซคไม่เคยโทรหาฉันเลย
ทั้งที่ตรวจลูกมานับ 10 ครั้งตั้งแต่แรกคลอด
ขณะที่ฉันเขียนเรื่องนี้ เหตุการณ์ผ่านไป 6 เดือนแล้ว แซคเพิ่งอายุครบหนึ่งขวบ
ฉันกลายเป็นคนที่เชื่อว่า ชีวิตคนเรามีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้เสมอเพราะแซค
ไม่ชักอีกเลย ลูกคลาน ลุกขึ้นนั่ง เดิน และเรียก “พ่อ” กับ “แม่” รวมทั้งยิ้มน่าเอ็นดู
เหมือนเด็กชายในวัยเดียวกัน อีกไม่นานหมอจะสั่งยาให้ลูกน้อยลง หมอโรคสมอง
เชื่อว่าแซคจะเป็นกรณีโชคดีที่หาได้ยาก
เราไม่อาจทราบได้ว่าทำไมแซคถึงเป็นโรคลมชัก การตรวจหาสาเหตุพื้นฐานทั้งหมด
ไม่พบอะไรผิดปกติ แม้จะมีข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปได้ตั้งแต่ยาฆ่าแมลงจนถึงความผิดปกติ
แต่กำเนิด มีปัจจัยมากมายที่ทำให้แซคหายจากโรคนี้ แต่ทุกครั้งที่คิดถึงคำว่า “หาย”
ฉันก็อดโมโหไม่ได้ เพราะฉันมักจะย้อนนึกถึงช่วงเวลาที่โทรฯ หากุมารแพทย์คนแรก
ซึ่งเอาแต่บอกปัดความทุกข์ร้อนกังวลใจของฉัน ถ้าเชื่อหมอและรอจนแซคอายุ 8 เดือนแล้ว
ค่อยตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เด็กชายน่ารัก และเฉลียวฉลาดคนนี้คงกลายเป็นเด็ก
ที่สมองถูกทำลายไปแล้ว
ฉันจึงเล่าเรื่องนี้เพื่อบอกว่า จงเชื่อในสัญชาตญาณของคุณ ถ้าคุณเชื่อว่ามีบางอย่าง
ไม่ปกติเกิดขึ้นกับลูก จงหาคำตอบจนกว่าจะสบายใจ อย่ากลัวว่าคนอื่นจะมองคุณเป็นแม่
จอมจุ้นจ้าน จงทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนเข้าใจปัญหาของคุณให้ได้
ในบรรดาสิ่งที่เคยทำมาตลอดชีวิต สิ่งที่ฉันภูมิใจที่สุดคือวันที่ยืนอยู่ในห้องหมอ
น้ำตานองหน้าขณะบอกหมอว่าลูกฉันต้องได้พบหมอเฉพาะทาง คนอื่นอาจคิดว่าฉัน
เหมือนคนบ้าหรือคนเป็นโรคประสาท แต่วันนั้นฉันช่วยชีวิตลูกไว้ได้ค่ะ
****************************
จบบริบูรณ์
:s007:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 06, 2021 8:17 pm

■ ตอนนี้จิตแพทย์งานหนักมาก เจอเคสพ่อแม่พาลูกมาปรึกษาเต็มไปหมด
เพราะคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเป็นพลังพัฒนาประเทศ กลายเป็นคนที่เปราะบาง
รักสบาย ใครขัดใจไม่ได้ พร้อมจะระเบิดอารมณ์ ถ้าระเบิดอารมณ์ไม่ได้ ก็ระเบิด
ใส่ตัวเอง กลายเป็นโรคซึมเศร้ากันหมด แล้วประเทศชาติจะเอาใครไปช่วยพัฒนา...

■ เหตุการณ์แบบนี้ในไทยและไต้หวัน เรียก "สตรอเบอรี่เจนเนอเรชั่น" ดูสวยงาม
แต่เปราะบาง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเด็กในประเทศจีน ที่ลูกชายคนเดียวของครอบครัว
ถูกเลี้ยงตามอกตามใจราวกับเทวดา ไร้มารยาท ไร้ความเกรงใจผู้อื่น ควบคุมอารมณ์
ไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้ากันหมด เวลาเจอเรื่องที่ผิดหวัง...เรียก
"ฮ่องเต้ซินโดรม" หรือกลุ่มอาการฮ่องเต้

■ self esteem หรือความภาคภูมิใจในตนเองไม่มี มีแต่หายอดไลค์ไปวันๆ ตามโซเชี่ยลมีเดีย
เสียเวลาไปมากมาย เพื่อรอการยอมรับ (approve)​ จากคนอื่น เพราะสร้างด้วยตนเองไม่เป็น
มีแต่เปลือกที่เปราะบาง ไม่ต่างจากบ้านสวย ราคาแพงและหรูหรา... แต่ไม่มีเสาเข็ม
แค่ลมพัดกรรโชกมา ไม่ช้าก็พัง

"วิธีฝึกความอดทน
ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ

■ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งรู้ว่า ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมาก ถ้าขาดความอดทน
ชีวิตจะล้มเหลวแทบทุกอย่าง

■ คนรุ่นใหม่ไม่อดทนกันเลย พ่อ-แม่ลืมฝึกให้ลูกอดทน เพราะพ่อ-แม่ช่วยลูกมากไป
ทำให้แทบทุกอย่าง ลูกๆ เลยทำอะไรไม่เป็น ไม่อดทน รอคอยไม่เป็น เติบโตเป็นผู้ใหญ่
ก็กลายเป็นคนโกรธง่าย ท้อถอย ทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ มักโทษตัวเองหรือคนอื่น หรือโทษ
โชคชะตา

■ ความอดทนเป็นวุฒิภาวะอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรมี คนที่ขาดความอดทน มักจะมีสภาวะ
ทางจิตใจและท่าทางเป็นเด็ก จิตที่มีความอดทน จะทำให้เราอดทนทางกายและทางวาจา
ได้มากขึ้น

■ บางคนชินต่อการบ่น ทำอะไรเหนื่อยหน่อยก็บ่น ยิ่งบ่นมากเท่าไรยิ่งไม่อดทนมากเท่านั้น
พาลจะเลิกทำกิจกรรมนั้นอยู่เรื่อยๆ การบ่นถึงความเหนื่อยยาก เหมือนเป็นการเปิดประตู
จิตใจรับฟังความอ่อนแอของตนเอง ทำให้เชื่อว่าตัวเองอ่อนแอ ไม่สู้พร้อมจะแพ้และไม่อดทน

■ นอกจากไม่บ่นเวลาฝึกหรือทำงานหนักแล้ว ผมยังอยากแนะนำให้ชมตัวเองด้วยว่าเราเก่งขึ้น
ทุกวันทุกนาทีที่กำลังทำงานหนัก จะเกิดกำลังใจและฮึกเหิมที่จะอดทนมากขึ้น

■ ในแนวคิดทางพุทธศาสนาสอนให้คิดว่า เรากำลังชดใช้ “เวร” และ “กรรม” กันอยู่ โดยเราเป็น
ฝ่ายที่เคยทำให้คนอื่นเดือดร้อนมาก่อน ขณะนี้เรากำลังชดใช้เวรกรรมคืนเขาไป จะได้หมดเวร
หมดกรรมกันเสียที แล้วเราจะสบายมากขึ้น นี่เป็นแนวคิดในทางพุทธศาสนา

■ แต่ถ้าเป็นแนวคิดทางคริสเตียนเขาเชื่อว่า การที่เรากำลังลำบากและต้องอดทนให้ได้นั้น
เป็นเพราะพระเจ้าต้องการจะทดสอบความอดทนของเรา โดยประสงค์ให้เราต้องเจ็บปวด
และต้องอดทนให้ได้ หลังจากนั้นเราจะสบาย และมีความสุขมากขึ้น

■ อีกวิธีหนึ่งที่ผมเคยใช้แนะนำหลายๆ คนในการฝึกความอดทน โดยให้คิดว่า
“ความอดทนคือความกล้าหาญ” เราจะทนได้มากขึ้น เพราะคำว่า “กล้าหาญ”
เป็นเสมือนเหรียญตราที่มีเกียรติประดับอยู่ที่หน้าอกเรา ฉะนั้น แม้เราจะเหนื่อย
หรือเจ็บปวดบ้าง ก็ไม่เป็นไรหรอก จงอดทนต่อไปเถิด เพราะเราคือคนกล้าหาญไงเล่า

■ ใครที่มีความอดทนจะได้เปรียบในทุกๆ ด้านของชีวิต จากความอดทนจะทำให้เรา
อดกลั้นได้มากขึ้นทั้งทางกาย วาจา และทางความคิด

■ ทั้งอดทนและอดกลั้น จะทำให้เราเป็นคนกล้าหาญ ยืนหยัดในโลกได้อย่างมั่นคง
ไม่เปราะง่ายเหมือนคนอื่นๆ ใครได้พบเห็นก็ชื่นชม และเราก็จะภูมิใจตัวเองว่ามี
“เหรียญตราของความกล้าหาญ” ประดับอกเสื้ออยู่ตลอดไป

■ บทความโดย ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ
คอลัมน์ #โลกและชีวิต @แนวหน้าออนไลน์
ตอบกลับโพส