“อธิบายสาระสำคัญของพระเมตตา”

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ค. 20, 2021 10:14 pm

……อธิบายสาระสำคัญของพระเมตตา ตอนที่ (1)
แปลและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ จากหนังสือ
เรื่อง“Divine Mercy Image Explained”
โดย คพ. มีคาแอล E. Gaitley, MIC,
(Marians of the Immaculate Conception)
…สารพระเมตตาของพระเยซูเจ้าเป็น “กระบวนการพื้นฐานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก” ที่เปลี่ยนชีวิตของผู้คนนับ
ล้านคน และเป็น“วิธีหนึ่งที่จะเข้าถึงพระเมตตาได้ง่าย ชัดเจนและรวดเร็ว!”
พระเมตตาเป็นหัวใจของความเชื่อ เป็นบทสรุปของพระคัมภีร์ ดังที่คำสอน
ของพระศาสนจักรฯ กล่าวว่า “พระวรสารคือการเผยแสดงพระเมตตาของ
พระเป็นเจ้าต่อคนบาปโดยพระเยซูเจ้า” ที่จริง “พระเมตตา” ก็คือ ‘ความรัก”
นั่นเอง เพราะเราทุกคนเป็นคนบาป ความรักของพระองค์ที่มีต่อเราจึงเป็น
พระเมตตาเสมอ เป็นของกำนัลที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ประทานแก่เรา
คนบาปผู้ยากไร้ด้วยพระองค์เอง
สารของพระเมตตาเกี่ยวข้องกับซิสเตอร์โฟสตินา (Maria Faustina Kowalska,
เกิด 25 ส.ค.1905-5 ต.ค.1938) คำว่า “โฟสตินา’ แปลว่า "ผู้มีบุญ"
ในคืนวันอาทิตย์ที่ 22 ก.พ. 1931 ในห้องของซิสเตอร์ฯ ที่บ้านคณะฯ เมือง Płock
ประเทศโปแลนด์ พระเยซูเจ้าทรงปรากฏพระองค์ต่อซิสเตอร์ฯ ในลักษณะของ
“กษัตริย์แห่งพระเมตตา” ทรงฉลองพระองค์ชุดขาวที่มีรังสีแสง 2 สายเป็นสีแดง
และสีจางพวยพุ่งออกมาจากพระหฤทัย
สารที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่ซิสเตอร์ฯ ก็คือสารที่พระองค์ทรงเปิดเผยเมื่อ 2000 ปี
มาแล้ว กับสาวกและมีบันทึกอยู่ในพระวรสาร เป็นสารเดิมที่นำเราคนบาปทั้งหลายกลับ
สู่แก่นของพระคัมภีร์ พระองค์ตรัสว่า “บัดนี้เป็นเวลาที่เราประสงค์จะมอบพระหรรษทาน
ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษแก่พงศ์พันธุ์มนุษย์ เราประสงค์จะมอบความเมตตาของเราอย่างเต็มที่”
ทำไมพระองค์ประทานให้เราในยุคนี้? พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงอธิบายว่า
ในยุคปัจจุบัน เรามีพระหรรษทานนานัปการ เช่น เทคโนโลยี อีเมล, สมาร์ทโฟน,
เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เกิดจากพระหรรษทานก็จริง แต่ก็เป็นที่มาของ
สิ่งชั่วร้ายที่ทรงพลังและมีมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ “ไม่ต้องกลัว” เพราะคำตอบมี
อยู่ในบทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรมันที่ว่า “ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทาน
ก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า” (รม 5:20) นั่นคือ ปีศาจไม่อาจอยู่เหนือพระเป็นเจ้าได้ ดังนั้นในยุคสมัย
ที่มีความชั่วร้ายมากนี้ พระเป็นเจ้าก็ทรงทวีพระหรรษทานให้กับเรามากขึ้นเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจึงไม่ตักตวงพระหรรษทานไว้กับเรา? ซึ่งทำได้ง่ายมาก ขอเพียง
ให้เราจดจำคำสั้น ๆ ว่า “F-I-N-C-H” ซึ่งแปลว่า “นกตัวเล็กชนิดหนึ่ง” ดังรายละเอียดต่อไปนี้

โปรดติดามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ค. 20, 2021 10:19 pm

…อธิบายสาระสำคัญของพระเมตตา ตอนที่ (2)
แปลและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ
จากหนังสือเรื่อง“Divine Mercy Image Explained”
โดย คพ. มีคาแอล E. Gaitley, MIC,
(Marians of the Immaculate Conception)
……F = Feast : คือ “การฉลองพระเมตตา” ใน“วันอาทิตย์พระเมตตา”
“วันอาทิตย์พระเมตตา” เป็นวันสมโภชที่สำคัญที่สุดของพระศาสนจักร เนื่องจาก
“ปัสกา” เป็นการสมโภชใหญ่ถึง 8 วันเต็ม ที่เรียกว่า “อัฐมวารปัสกา”(Octave of Easter)
และในวันสุดท้ายซึ่งถือเป็นสุดยอดของการสมโภชก็ตรงกับ ”วันอาทิตย์พระเมตตา”นั่นเอง!
ที่จริงวันสมโภชนี้มีมาตั้งแต่พระศาสนจักรยุคแรกแล้ว ดังนั้นเมื่อซิสเตอร์ฯ เล่าเรื่องนี้
ให้พระสงฆ์และนักเทววิทยาทราบ พวกเขาขอให้เธอกลับไปทูลพระเยซูเจ้า เธอจึงทูล
พระองค์ว่า “พวกเขาบอกดิฉันว่า เป็นวันสมโภชที่มีอยู่แล้วนี่คะ พระเยซูเจ้าจึงตรัสตอบว่า
“ถูกต้อง แต่ในยุคนี้ มีผู้ใดบ้างล่ะที่ทราบเกี่ยวกับวันสมโภชนี้?--- ไม่มีใครเลยใช่ไหม!”
พูดง่าย ๆ ก็คือผู้คนพาลืมกันไปหมดแล้วจนแทบไม่เป็นที่รู้จักกันเลย
พระเยซูจึงตรัสกับซิสเตอร์ฯ ว่า “ เราต้องการให้ผู้คนรู้จักและเฉลิมฉลองวันนี้ เราสัญญา
จะประทานพระหรรษทานที่ยิ่งใหญ่ในวันอาทิตย์พระเมตตา ... ในวันนั้น ห้วงลึกแห่ง
ความเมตตาอันอ่อนโยนของเราเปิดออก เราจะระบายมหาสมุทรแห่งพระหรรษทาน
ให้กับผู้ที่เข้ามาใกล้ต้นธารแห่งความเมตตาของเรา... นี่คือ “พระหรรษทานแห่งการชำระ
ล้างอย่างหมดจด”
พระเยซูตรัสกับเธอ ว่า “เราปรารถนาจะอภัยโทษและโทษบาปทั้งหมดให้กับผู้ที่สารภาพบาป
และรับศีลมหาสนิทในวันฉลองพระเมตตาของเรา” ฉะนั้น หากเราเกิดเสียชีวิตหลังจาก
ได้รับพระหรรษทานนี้ เราจะไม่ต้องผ่านไฟชำระเลย! เป็นการล้างบัญชีบาปทั้งหมดของเรา
พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงมอบหมายให้นักเทววิทยาศึกษาเรื่องนี้ และได้คำตอบว่า
“พระหรรษทานในวันอาทิตย์พระเมตตาเป็นเหมือนกับการรับศีลล้างบาปครั้งที่สอง”
คือเป็นพระหรรษทานพิเศษที่ชะล้างทั้งบาปและโทษของบาปที่ทำด้วย
หลายคนสับสนระหว่างพระเมตตายิ่งใหญ่ใน “วันอาทิตย์พระเมตตา” กับ
“พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์” ซึ่งไม่เหมือนกัน เพราะเพื่อจะได้รับพระคุณครบบริบูรณ์
เราต้องสวดตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา, แก้บาป (ภายใน 20 วัน),
รับศีลมหาสนิท และละทิ้งบาปทั้งหลาย
นักบุญฟีลิป เนรี กล่าวกับสัตบุรุษจำนวนมากที่มาร่วมพิธีในวัดเพื่อขอรับพระคุณ
การุณย์ครบบริบูรณ์ พระจิตเจ้าโปรดให้นักบุญฟีลิปทราบว่า ผู้ที่ร่วมพิธีในวันนั้น
ทั้งหมดมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ คือตัวท่านเองกับ
เด็กชายวัย 7 ขวบอีกหนึ่งคน
เราสามารถได้รับพระหรรษทานตามที่พระทรงสัญญาเมื่อเราแก้บาปก่อนหรือใน
วันอาทิตย์พระเมตตานั้น – ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่าขอให้มีการแก้บาปในช่วงมหาพรต
หรือวิญญาณของผู้นั้นอยู่ในสถานะพระหรรษทาน (คือไม่มีบาปหนัก) ก็พอ -- และรับ
ศีลมหาสนิทด้วยความตั้งใจขอรับพระหรรษทานตามพระสัญญา แน่นอน เราควรที่จะ
ปฏิบัติกิจเมตตาด้วย เช่นการให้อภัยผู้อื่น สวดภาวนาให้ผู้อื่น และตั้งใจมีเมตตาจิตต่อผู้อื่น

โปรดติดตามตอนที่ (3)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ค. 20, 2021 10:23 pm

……อธิบายสาระสำคัญของพระเมตตา ตอนที่ (3)
แปลและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ จากหนังสือ
เรื่อง“Divine Mercy Image Explained”
โดย คพ. มีคาแอล E. Gaitley, MIC,
(Marians of the Immaculate Conception)
……2. I = Image : คือ “ภาพพระเมตตา” พระเยซูตรัสให้มีการวาดภาพตามที่ซิสเตอร์ฯ
เห็น เธอขอให้ศิลปินชาวโปแลนด์วาดมากกว่า 12 ครั้งก่อนที่เธอจะตอบว่า “คล้ายกับ
ภาพที่เธอเห็น” ในภาพพระหัตถ์ขวาทรงยกขึ้นในท่าอวยพร พระองค์ทรงกำลังก้าว
พระบาทมาหาเรา พระหัตถ์ซ้ายแตะฉลองพระองค์บริเวณพระหฤทัยที่มีลำแสงสองสาย
ฉายออกมา ลำแสงหนึ่งเป็นสีแดง อีกลำแสงหนึ่งสีจาง พระองค์ทรงให้จารึกด้านล่างว่า
“พระเยซูเจ้าข้า ลูกวางใจในพระองค์” พระองค์ทรงสัญญาว่า “โดยภาพนี้ เราจะประทาน
พระหรรษทานอย่างอุดมให้กับทุกคน”
3. N = Novena : คือ “นพวาร” ซึ่งเป็นการสวด 9 วันต่อเนื่องกัน เริ่มเมื่อใดก็ได้ แต่เวลา
ที่ดีที่สุดคือเริ่มวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์และสิ้นสุดวันเสาร์หลังวันอาทิตย์ปัสกา ซึ่งเป็นวันก่อน
วันอาทิตย์สมโภชพระเมตตา แม้ว่าเราไม่จำต้องสวดนพวารเพื่อจะได้รับพระหรรษทาน
ในวันอาทิตย์พระเมตตา แต่การเตรียมตัวเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี และพระเยซูทรงสัญญาว่า
“โดยการสวดนพวารนี้ เราจะประทานพระหรรษทานทุกชนิดให้แก่ผู้นั้น”
4. C = Chaplet : คือ “สายประคำ” คือการสวดด้วยสายประคำพระเมตตาตามปกติและ
ใช้เวลาสวดประมาณ 7 นาที
คุณพ่อผู้เขียนหนังสือฯ แนะนำว่าควรสวดในมิสซาซึ่งเป็น “ช่วงเวลาที่ทรงพลังที่สุดของ
บูชามิสซา” (The supercharged moment of the Mass) เป็นการเสริมตอนที่พระสงฆ์
ถือพระกายและพระโลหิตไว้ในมือบนพระแท่นและถวายแด่พระบิดาด้วยข้อความที่ว่า
“โดยพระองค์ พร้อมกับพระองค์และในพระองค์ ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ
พระองค์ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระจิต ตลอดนิรันดร”
นี่คือช่วงเวลาที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดของมิสซา พระเยซูทรงมอบพระองค์ทั้งพระกาย
พระโลหิต พระวิญญาณและพระเทวภาพไว้ในมือของของพระสงฆ์ผู้แทนสัตบุรุษทุกคน
ที่ร่วมใจถวายพร้อมกับยัญบูชาของพระสงฆ์บนพระแท่น ซึ่งพระบิดาจะไม่ทรงสามารถ
ปฏิเสธยัญบูชาแห่งความรักที่ครบครันเช่นนี้ได้ การถวายเช่นนี้จึงเป็นคำภาวนาที่สมบูรณ์ที่สุด
ความเมตตาของเราจะสวมกอดผู้ที่สวดสายประคำพระเมตตาระหว่างที่มีชีวิตและโดยเฉพาะ
เวลาใกล้จะตาย เพราะพระเมตตาของเราจะหวั่นไหวเพื่อเห็นแก่ผู้ที่สวดสายประคำพระเมตตา

โปรดติดตามตอนที่ (4)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ค. 20, 2021 10:29 pm

……อธิบายสาระสำคัญของพระเมตตา ตอนที่ (4) (ตอนจบ)
แปลและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ จากหนังสือ
เรื่อง“Divine Mercy Image Explained”
โดย คพ. มีคาแอล E. Gaitley, MIC,
(Marians of the Immaculate Conception)
…5. H = Hour : คือ “ชั่วโมง” หมายถึงชั่วโมงแห่งพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากพระเยซู
สิ้นพระชนม์บนกางเขนเพื่อเราเวลาบ่าย 3 โมง ดังนั้นทุกวันระหว่างเวลาบ่าย 3-4 โมง
จึงเป็นชั่วโมงแห่งพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่
หากเราไม่สามารถสวด “มรรคากางเขนพระเมตตา” อย่างน้อยก็ขอให้มีจิตใจจดจ่ออยู่กับ
การสวดภาวนาในบริเวณที่เราอยู่นั้นแม้เพียงชั่วครู่... เพื่อคิดรำพึงถึงพระมหาทรมาน
โดยเฉพาะขณะเข้าตรีทูตและถูกทอดทิ้ง
ช่วงบ่ายสามโมงของทุกวันจึงเป็นเสมือน ”วันอาทิตย์พระเมตตาน้อย” ที่เราจะสวดสายประคำ
พระเมตตาเพื่อคนที่เรารัก และเพื่อการกลับใจของคนบาปที่ไม่สำนึกผิด
(*)สรุป ขอให้เราทำความเข้าใจอักษรย่อทั้ง 5 จากคำว่า FINCH และนำไปปฏิบัติเพื่อถวาย
ความศรัทธาต่อพระเมตตาและตักตวงพระหรรษทานที่ยิ่งใหญ่จากองค์พระผู้ไถ่ของเรา
นอกจากนั้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั้น คุณพ่อยอร์จ Kosicki ยังได้นำเสนอ
เครื่องช่วยความจำที่เรียกว่า “ABC’s of Mercy” โดยอธิบายสั้น ๆ ดังนี้
1. A = Ask for mercy (จงขอรับพระเมตตา) : ในพระคัมภีร์ พระเยซูตรัสกับเราว่า
“จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ... เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ” (มธ 7:7, 8) พระเยซูทรงเตือนเรา
ในเรื่องนี้ดังที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของนักบุญโฟสตินาว่า เราพอใจผู้ที่สวดขอความเมตตา
ของเรา เราจะให้พระหรรษทานมากกว่าที่พวกเขาขอจากเรา แม้แต่คนบาปหนาที่สุดเรา
ก็ไม่สามารถจะลงโทษเขาได้หากเขาได้สวดขอความเมตตาของเรา จงขอความเมตตา
สำหรับชาวโลกทั้งมวล ไม่มีผู้ใดที่ขอความเมตตาของเราแล้วผิดหวัง
2. B = Be merciful in deed, word, and prayer (จงมีใจเมตตาในการกิจการ คำพูด และ
การสวดภาวนา) : ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า “ความเมตตา” คือ “ความรัก” ที่อยู่เหนือความทุกข์ยาก
ความยากจน ความล้มเหลว และบาป ความเมตตาคือ ”หัวใจ” ที่รู้สึกเมตตาสงสารคนใด
คนหนึ่งและมีการกระทำควบคู่ไปด้วย คือมีการทำงานของ ‘แขนขา’ เพื่อบรรเทาทุกช์ยากของผู้อื่น
ดังที่พระเยซูตรัสอยู่ในบันทึกของนักบุญโฟสตินาว่า
“เราขอให้เธอปฏิบัติความเมตตาต่อผู้อื่นใน 3 รูปแบบ คือด้วยกิจการ คำพูด และคำภาวนา”
นี่คือความเมตตา 3 ระดับ ซึ่งพิสูจน์ความรักของเราที่มีต่อผู้อื่นอย่างไม่มีข้อสงสัย
เป็นวิธีที่มนุษย์ถวายเกียรติและแสดงความเคารพต่อความเมตตาของเรา
ดังที่นักบุญโฟสตินาบันทึกว่า “ถ้าลูกมิอาจช่วยได้ด้วยกิจการหรือคำพูด ขอให้ลูกแผ่เมตตา
ด้วยคำภาวนาแก่เขาทุกคน ทุกแห่งหนที่ลูกไม่อาจไปถึงได้” ซึ่งก็หมายถึงการสวดสายประคำ
พระเมตตานั่นเอง
3. C = Completely Trust (จงวางใจเต็มที่) : การวางใจในพระเมตตาเป็นหัวใจของสาร
พระเมตตา ดังนั้นด้านล่างของพระฉายาลักษณ์พระเมตตาจึงมีคำภาวนาว่า
น่ารัก “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกวางใจในพระองค์” อย่างไรก็ตามการวางใจไม่ได้หมายความว่า
เมื่อเราวางใจในพระองค์แล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะทำบาปได้ตามใจชอบ แต่หมายถึงการเป็นทุกข์
เสียใจต่อบาปของเราด้วย ให้เราอ่านบันทึกของนักบุญโฟสตินาในเรื่องการวางใจที่ว่า :
“จงให้กำลังใจผู้ที่ท่านพูดคุยด้วยให้มีความวางใจในความเมตตาที่ไม่สิ้นสุดของเรา
เรารักผู้ที่วางใจในเราอย่างสุดใจ เราจะทำทุกสิ่งเพื่อเขา”
“ทำไมท่านจึงหวาดหวั่นและเกรงกลัวเมื่อท่านสนิทอยู่กับเรา? เราไม่ยินดีกับผู้ที่หวาดกลัวเรา
โดยปราศจากเหตุผล จะมีผู้ใดกล้าแตะต้องท่านได้เล่าเมื่อท่านอยู่กับเรา? ผู้ที่เชื่อในความดีงาม
ของเราอย่างจริงจังและวางใจในเราอย่างเต็มเปี่ยมคือผู้ที่เป็นที่รักที่สุดของเรา...เราปรารถนา
ให้ชาวโลกรู้จักความเมตตาที่ไม่สิ้นสุดของเรา เราปรารถนาจะมอบพระหรรษทานเหลือคณานับ
แก่ผู้ที่วางใจในความเมตตาของเรา”
“เราคือองค์ความรักและความเมตตา เมื่อมีผู้มาหาเราด้วยความวางใจ เราจะให้พระหรรษทาน
มากจนความวางใจนั้นไม่สามารถรับไว้ได้หมดและแผ่ขยายออกไปสู่ผู้อื่น”
“สวรรค์และแผ่นดินจะไม่ดับสูญไปก่อนที่ความเมตตาของเราจะโอบกอดผู้ที่วางใจเรา”

***************************
:s005: :s005: :s005:
ตอบกลับโพส