เรื่องที่คาดไม่ถึง

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ค. 22, 2021 3:34 pm

"รักผ่านอินเทอร์เน็ต" จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนเมษายน 2546/2003,
โดย Marc Lerner รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ
……โดโลเรส (ชื่อสมมุติ) ทุ่มเททำงานด้านการเมืองและการบริการสาธารณะอยู่หลายปี
จนไม่มีเวลาเปิดหูเปิดตา โดยเฉพาะการสานสัมพันธ์รัก ดังนั้น กลางดึกคืนหนึ่ง
ในปี ค.ศ. 1997 สาวสวยชาวฟิลิปปินส์วัย 27 ปี ผู้นี้จึงเปิดเข้าไปในคอลัมน์หา
เพื่อนใน Yahoo.com เธอลงทะเบียนโดยแจ้งรายละเอียดว่า เป็นสาวโสดชาวเอเชียและ
อยากรู้จักชายหนุ่มที่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ โดโลเรสไม่เคยไปสหรัฐฯ แต่เชื่อว่า
ที่นั่นคงมีแต่สิ่งสวยงาม เหมือนที่เห็นในโทรทัศน์และภาพยนตร์
“ทีแรกก็นึกสนุก” โดโลเรสเล่า “ตอนนั้นฉันรู้สึกเบื่อและแอบหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น
ในชีวิตสักครั้ง ฉันรู้สึกว่าผู้ชายอเมริกันน่ารัก” ไม่กี่วันต่อมา เธอก็ได้รับอีเมลตอบกลับ
มาจากผู้ชายกว่า 300 ราย
โดโลเรสจัดการคัดเฉพาะที่น่าสนใจเพียง 10 คน จากนั้นก็เริ่มคุยกันอย่างออกรสทาง
อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกับวิลเลี่ยม (ชื่อสมมุติ) เธอติดใจเขาเป็นพิเศษเพราะรู้สึกว่า
เขาเป็นศิลปินแหวกแนวและมีแนวคิดทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง ซึ่งตรงใจเธอ
“เวลาอยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ต คนเราไม่เห็นหน้าตากันจริง ๆ ความสนิทสนมจึง
ก่อตัวได้ง่ายโดยไม่ต้องระแวงว่าจะมีภัย” โดโลเรสกล่าว
ช่วงปีต่อมา โดโลเรสกับวิลเลี่ยมก็แลกเปลี่ยนรูปถ่ายดิจิทัลกัน และพัฒนาถึงขั้นพูดคุยกัน
ทางโทรศัพท์ เมื่อหน้าที่การงานเปิดโอกาสให้เดินทางไปแคลิฟอร์เนีย โดโลเรสก็คว้าไว้ทันที
หนุ่มอเมริกันรูปหล่อที่เธอพบช่างสรรหาเรื่องสนุก ๆ มาเล่าให้ฟังได้ไม่รู้เบื่อ
ตั้งแต่เรื่องสมัยเรียนมหาวิทยาลัยไปจนถึงประสบการณ์การเดินทางอย่างโชกโชน
ท่าทางเขาเป็นหนุ่มที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังแย้มด้วยว่ามีโครงการจะ
เปิดบริษัทใหม่ที่คงทำกำไรอย่างงามในเร็ว ๆ นี้
“เขาสร้างภาพได้ใหญ่โตโอ่อ่ากว่าตัวจริงมาก” โดโลเรสกล่าว สัมพันธภาพเจริญรุดหน้า
อย่างรวดเร็วจนถึงขั้นสนิทสนมแนบแน่น
หลังพบกันได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ วิลเลี่ยมก็เอ่ยปากขอแต่งงาน ไม่ถึง 3 เดือนต่อมา
ทั้งคู่ก็แต่งงานกัน ปีต่อมา โดโลเรสลาออกจากงานเพื่อย้ายไปตั้งรกรากในสหรัฐฯ
แต่พอเดินทางไปถึงแคลิฟอร์เนีย เธอก็ได้รับรู้ความจริงที่แสนขมขื่นว่า วิลเลี่ยมกำลัง
มีปัญหาการเงินอย่างหนักและต้องไปอาศัยนอนในสำนักงาน แห่งหนึ่งซึ่งไม่มีห้องครัว
หรือห้องอาบน้ำ ชีวิตสมรสพังทลายลงอย่างรวดเร็วและกลายเป็นการทุ่มเถียงกันไม่รู้จบ
เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อวิลเลี่ยมดื่มจัดขึ้นเรื่อย ๆ วันหนึ่ง เขาเมามากและทุบตีเธอ
จากนั้นก็หยิบมีดขึ้นมา โดโลเรสเริ่มไม่แน่ใจว่าเขาตั้งใจจะใช้มีดตอกน้ำแข็งใส่แก้วเหล้า
หรือจะแทงเธอกันแน่ แต่โดโลเรสอยู่ไม่ได้แล้ว เธอหนีไปแจ้งความ วิลเลี่ยมถูกตัดสินว่า
มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายภรรยาและต้องถูกคุมประพฤติเป็นเวลา 3 ปี
ปัจจุบัน ทั้งสองแยกกันอยู่ โดโลเรสทำงานอยู่ในองค์กรแห่งหนึ่งพร้อมกับรอคอยวันที่จะได้
กลับสู่มาตุภูมิ “ฉันไม่ได้เชื่อคนง่ายจนคิดว่าอินเทอร์เน็ตจะนำมาซึ่งความรัก และความสุขได้
แต่ยอมรับว่า ตาพร่ามัวเพราะเสน่ห์ของวิลเลี่ยม เขาดูเป็นผู้ชายที่เชื่อมั่นในตนเอง มีความมุ่งมั่น
และน่าหลงใหล แต่ท้ายที่สุด ภาพทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องสลายไปเมื่อตัวจริงปรากฏให้เห็น”

****************************
:s015:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ค. 22, 2021 3:40 pm

เรื่อง "ก่อนตัดสินใจแต่งงาน"
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนเมษายน 2546/2003,
โดย Marc Lerner รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ
……เจ้าสาววัยอ่อน
‘เลียม’ (ชื่อสมมุติ) วัย 15 ปี มีรอยยิ้มสดใสและผิวพรรณขาวเนียนจนเป็นที่
สะดุดตาของหนุ่ม ๆ ในละแวกบ้านบนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย
ยิ่งไปกว่านั้น พวกแม่สื่ออาชีพก็สนใจสาวน้อยคนนี้ทันที ที่พบเธอเมื่อ 2-3 ปีก่อน
“มีผู้ชายจากไต้หวันมาหาผู้หญิงที่นี่ไปแต่งงานด้วย” นายหน้าจัดหาคู่บอกแม่ของเลียม
“ถ้าลูกสาวของคุณยอมแต่ง เจ้าบ่าวก็คงให้เงินตอบแทนมากพอให้คุณเอาไปซ่อมบ้านได้”
ฟังดูน่าสนใจไม่น้อย ที่ผ่านมา มีเด็กสาวในละแวกบ้านหลายคนที่แต่งงาน กับชายต่างชาติ
ฐานะดี และครอบครัวของเด็กสาวเหล่านั้น ต่างก็มีบ้านหลังงาม แต่เลียมยืนกรานไม่ยอม
เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าอยากแต่งงานอยู่กินกับหนุ่มแถวบ้านเหมือนพี่ ๆ ที่ออกเรือนกันไปแล้ว
“ผู้ชายที่มาจากไต้หวันเป็นคนดีทั้งนั้น” แม่สื่อเกลี้ยกล่อม” ผู้หญิงไต้หวันสมัยนี้อยากทำงาน
ในเมืองแทนที่จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน” แล้วแม่สื่อก็หยิบรูปของว่าที่เจ้าบ่าวออกมา
ให้เลียมดู ชายหนุ่มในรูปหน้าตาดีและรูปร่างล่ำสัน เลียมเริ่มหวั่นไหวเพราะตระหนักดี
ว่ารายได้จากการกรีดยางของพ่อไม่ค่อยพอเลี้ยงครอบครัว
ดังนั้น สัปดาห์ต่อมาเธอจึงทาลิปสติกบาง ๆ และมุ่งหน้าไปยังเมืองใกล้ ๆ
เพื่อทำความรู้จักกับหนุ่มไต้หวันชื่อเฉิน (ชื่อสมมุติ)
เนื่องจากพูดภาษาจีนคนละอย่างกับเฉิน เลียมจึงได้แต่นั่งตาปริบ ๆ ขณะที่นายหน้าจัดหาคู่
พูดโฆษณาถึงคุณสมบัติของเธอให้เฉินฟัง
คืนนั้น นักจัดหาคู่มาที่บ้านของเลียมพร้อมกับข่าวดีว่า “เขาต้องการแต่งงานกับเธอ” เลียมลังเล
อยู่พักหนึ่งก่อนตอบตกลงในที่สุด
เฉินมาเจรจาสู่ขออย่างเป็นทางการอีกครั้ง เขาบอกว่าครอบครัวของตนที่ไต้หวันอบอุ่นและ
เอื้ออาทรกันมาก และสัญญาว่างานที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะทำให้เลียมมีกินมีใช้เหลือเฟือในอนาคต
เขามอบสร้อยคอทองคำให้เลียมและให้เงินสดเกือบ 20,000 บาท แก่พ่อของเธอ ซึ่งมากกว่า
รายได้ที่ผู้เป็นพ่อหาได้ใน 18 เดือนรวมกัน จากนั้นว่าที่เจ้าบ่าวก็กลับไปไต้หวัน
ช่วงหลายสัปดาห์ต่อมา นักจัดหาคู่จัดการเอกสารการเดินทางให้เลียมและแก้ไขวันเดือนปีเกิด
เพื่อให้เธออายุมากกว่าความเป็นจริง แต่พอเลียมไปถึงไต้หวัน เธอถึงได้รู้ว่าการแต่งงานต้อง
เลื่อนออกไป เฉินไม่มีเงินเหลือพอจะจัดงานแต่งงานเพราะต้องจ่ายค่านายหน้า ค่าเครื่องบิน
ค่าโรงแรมและค่าวีซ่าไปแล้วถึง 400,000 บาท
ระหว่างที่รอ เลียมค้นพบความจริงอันขมขื่นเกี่ยวกับครอบครัว ที่เฉินเคยบอกว่าอบอุ่นและ
เอื้ออาทรกันมาก เธอถูกกักตัวอยู่ในบ้านทั้งวันเพื่อทำความสะอาดบ้าน, ซักเสื้อผ้า และทำอาหาร
มื้อเย็นรอสมาชิกในครอบครัวกลับมากิน “เขาทำกับฉันแย่ยิ่งกว่าคนใช้เสียอีก” เลียมกล่าว
“แต่ฉันก็ยังแอบหวังว่าเมื่อเขารู้จักนิสัยใจคอของฉันแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย”
เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาใจครอบครัวของเฉิน แต่แม่สามีมักเอาอาหารที่เธอทำไปเททิ้ง
และปล่อยให้ว่าที่ลูกสะใภ้น้ำตาร่วงด้วยความช้ำใจ ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เฉินชอบทุบตีเธอ
เวลาดื่มเหล้า หลายเดือนต่อมา เฉินหาเงินมาจัดงานแต่งงานจนได้ พอแต่งเสร็จเขาก็พาภรรยา
กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่อินโดนีเซีย เลียมเล่าทุกอย่างให้พ่อกับแม่ฟังด้วยน้ำตานองหน้า
แต่พ่อบอกว่าตัวเองไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายเรื่องของผัวเมีย
สัปดาห์ต่อมา ขณะรอขึ้นเครื่องบินกลับไต้หวันพร้อมสามี เลียมขอตัวอ้างว่าจะไปเข้าห้องน้ำแต่หนี
ขึ้นแท็กซี่ไปเลย เธอกลับไปที่บ้านพ่อแม่ ร้องไห้จนน้ำตาแทบเป็นสายเลือดทั้งที่อุ้มท้องสามเดือน
“ถ้ามันหนักหนาจนไม่มีหวังอย่างนี้ ฉันก็ไม่อยากบังคับให้ลูกกลับไป” แม่กล่าว
นายหน้าจัดหาคู่พยายามบังคับให้เลียมกลับไปไต้หวันจนทนายความต้องยื่นมือเข้ามาช่วย
โดยอ้างว่าสัญญาการแต่งงานเป็นโมฆะเพราะมีการปลอมอายุของลูกความ
โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ไม่เห็นด้วย ปรากฏว่าได้ผล
“บางคนอาจได้คู่ที่ดีด้วยวิธีนี้ แต่มันไม่เหมาะกับฉัน” เลียมกล่าว ทุกวันนี้ เธออาศัยอยู่
ในบ้านพ่อแม่พร้อมกับลูกชายวัยหนึ่งขวบ เธอไม่แน่ใจว่าจะมีผู้ชายในละแวกบ้านคนไหนยินดี
จะแต่งงานกับแม่ลูกติดอย่างเธอ
ส่วนเฉินไม่เคยติดต่ออดีตภรรยาหรือมาเยี่ยมลูกชายเลย

********************************
:s015:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ค. 22, 2021 3:47 pm

"แค่อยากประชด" จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนเมษายน 2546/2003, โดย Marc Lerner
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ
‘……ฮง ฟาน’ (ชื่อสมมุติ) วัย 19 ปี ทำงานในทุ่งนาที่หมู่บ้านห่างไกลของเวียดนาม
เธอฝันอยู่เสมอที่จะย้ายไปตั้งรกรากในเมืองกับคนรัก แต่ก็ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง
พ่อไม่ยอมให้ฮงแต่งงานกับคนรักโดยให้เหตุผลว่า “เขาไม่รวยพอ” ดังนั้นชายหนุ่ม
จึงเลือกหญิงสาวในหมู่บ้านอื่นเป็นเจ้าสาว ฮงซึ่งหัวใจสลายประกาศกร้าวด้วยความ
เดือดดาลว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่กี่เดือนต่อมา เธอได้ยินผู้หญิงในหมู่บ้านซุบซิบกันว่า
เพื่อนบ้านคนหนึ่งได้สามีเป็นชาวต่างชาติจากการติดต่อผ่านนายหน้า
เธอตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าและคิดว่าการแต่งงานกับผู้ชายต่างชาติจะช่วยให้หนีจาก
ความยากจน ซ้ำยังจะได้แก้แค้นอดีตคนรักและพ่อของตัวเองด้วย
เธอสืบหาว่ามีสำนักงานจัดหาคู่ที่ไหนบ้าง จนในที่สุดก็ไปนั่งอยู่ในโรงแรมพร้อมกับผู้หญิง
ที่หวังจะเป็นเจ้าสาวผู้โชคดีอีกเกือบสิบคน ทันใดนั้น เจ้าหน้าที่ก็เรียกชื่อเธอ “นี่คือคุณหวัง
(ชื่อสมมุติ) มาจากไต้หัน” นายหน้ากล่าวแนะนำเธอให้รู้จักกับผู้ชายร่างผอมเล็กวัย 40 ปีเศษ
ฮงนั่งเงียบ มือประสานบนตักขณะฟังนายหน้าพูดภาษาจีน กับหวังและพี่สาวที่มาช่วยเขาเลือกคู่
นายหน้าหันมาถามเธอเป็นครั้งคราวเกี่ยวกับครอบครัว การศึกษาและความปรารถนาเรื่องลูก
ในที่สุด นายหน้าก็หันมาบอกว่า
“คุณหวังอยากให้เธอแต่งงานกับเขา แล้วย้ายไปอยู่กับครอบครัวเขาที่ไต้หวัน” นายหน้าบอก
ฮงไม่ลังเลเลย “ตกลงค่ะ”
หวังเล่าให้ฟังว่าเขาเปิดร้านขายของเล็ก ๆ พร้อมกับสัญญาว่าจะมีบ้านให้เธออยู่อย่าง
สบาย และให้เงินเธอไปเรียนภาษาจีนด้วย
“เราควรแต่งงานกันให้เรียบร้อยในเวียดนาม” เขาบอก “จากนั้นผมจะกลับไปก่อนแล้ว
คุณค่อยบินตามไปเมื่อได้วีซ่าแล้ว”
พอเธอบอกพ่อในคืนนั้น พ่อโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ “แกจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต” พ่อตะโกน
ใส่หน้า แต่พอด่าทอทั้งน้ำตาจนเหนื่อยอ่อนแล้ว พ่อก็ตระหนักว่าลูกสาวคนนี้โตและหัวดื้อจน
ไม่ยอมฟังเสียง ใครอีกแล้ว จึงปล่อยเลยตามเลย ส่วนครอบครัวก็พากันไปเที่ยวเมืองต่าง ๆ
ในเวียดนามตาม คำเชิญของหวังและไปจบลงด้วยพิธีแต่งงานที่โฮจิมินห์ซิตี้
“ไม่ต้องห่วงอะไรทั้งสิ้น” หวังเขียนจดหมายบอกภรรยาซึ่งเพิ่งแต่งงานกัน “คุณจะมีความสุข
ในไต้หวัน
ทุกคนจะให้เกียรติและยกย่องคุณ เราจะสร้างครอบครัวด้วยกันและมีบ้านเป็นของเราเอง
ในเร็ว ๆ นี้”พอไปถึงกรุงไทเป เจ้าสาวหมาด ๆ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พี่สาวและ
น้องสาวของหวังให้ของขวัญเป็นหวี กระจก เสื้อผ้าและสร้อยข้อมือทองคำ แต่ความสุขจางหาย
ไปอย่างรวดเร็ว หวังอยู่อย่างผวาภายใต้การกำกับของแม่และพี่สาวคนโต แม้ฮงจะทำงานหนัก
แม่สามีก็ไม่ชอบเธอ
วันหนึ่ง เธอขอให้สามีช่วยซื้อของบางอย่างเพื่อส่งกลับไปให้ญาติ ๆ ในเวียดนาม แต่หวังไม่ยอม
ทำตาม พอเธอขู่ว่าจะเอาเครื่องทองไปจำนำเพื่อส่งเงินไปให้ที่บ้าน เขาก็ไปฟ้องแม่กับพี่สาว
ทั้งสองคนโกรธจัด พากันรุมด่าทอฮงและลงไม้ลงมือกับเธอ เรื่องรุนแรงถึงขั้นต้องเรียกตำรวจ
มาระงับเหตุ หวังโทษว่าเป็นความผิดของภรรยา ในที่สุด ฮงต้องหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่
ในพี่พักฉุกเฉินของโบสถ์
ทุกวันนี้ เธอทำงานอยู่ที่โรงงานอัญมณีแห่งหนึ่งในกรุงไทเป พยายามเก็บเงินเป็นค่าเดินทางกลับ
เวียดนาม “ฉันอายเกินกว่าจะบากหน้าไปหาพ่อแม่” ฮงกล่าว
“ขอแค่กลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไหนสักแห่งก็พอ”

****************************
:s015:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ค. 23, 2021 10:26 pm

....ปาฎิหารย์.....

https://youtu.be/1tD_Rs0gUWA

"ปาฏิหาริย์"

หนูน้อยวัย 8 ขวบ ได้ยินพ่อแม่บ่นปรับทุกข์กันเรื่องสุขภาพของน้องชาย
ตัวน้อยของเธอ เธอจับประเด็นได้ว่าน้องชายป่วยมาก และพ่อแม่ไม่มีเงินเลย
และกำลังจะย้ายไปอยู่บ้านหลังเล็กๆ เพราะหมดเงินไปกับค่ายาของน้องชาย
และน้องชายจะหายขาดจากโรคได้จะต้องได้รับการผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงมาก
และพ่อกับแม่ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจากไหน เธอได้ยินพ่อกระซิบกับแม่ว่า
มีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะช่วยชีวิตน้องชายเธอได้

สาวน้อยเข้าไปในห้องนอน หยิบกระปุกออมสินที่แอบซ่อนไว้ทุบออกแล้วแล้วนับเงิน
ที่เธอหย่อนสะสมมานาน เธอนำเงินจำนวนนั้นไปร้านขายยา คนขายยาถามเธอว่า
ต้องการอะไร เธอตอบว่า "น้องชายหนูป่วยมาก ขอซื้อปาฏิหาริย์ซักนิดนะคะ"

คนขายยาถามว่า"ขอโทษ หนูจะซื้อยาอะไรนะจ๊ะ?"
"น้องชายหนูชื่อแอนดรู มีเนื้องอกในสมอง คุณพ่อบอกว่า มีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะ
ช่วยชีวิตเขาได้ หนูขอซื้อปาฏิหาริย์ค่ะ ราคาเท่าไหร่คะ?"
"ที่นี่ไม่มีปาฏิหาริย์ขายจ้ะ เสียใจนะหนู" คนขายยาบอกพร้อมยิ้มอย่างเศร้าๆ
"ฟังนะ หนูมีเงินจ่ายนะ และถ้าเงินนี้ไม่พอจะไปหามาเพิ่มได้อีก บอกมาเถอะราคาเท่าไหร่"

ขณะนั้นภายในร้านขายยามีลูกค้าอีกคนหนึ่ง แต่งกายดี เขาหยุดชะงัก หลังได้ยินคำพูด
ของเด็กน้อย เขาจึงถามว่า "น้องชายของหนูต้องการปาฏิหาริย์แบบไหนจ๊ะ?"

"หนูไม่รู้" เด็กน้อยตอบ "แต่เขาป่วยมาก คุณแม่บอกว่าเขาต้องได้รับการผ่าตัด แต่คุณพ่อ
ไม่มีเงินจ่าย หนูจึงต้องใช้เงินที่สะสมไว้มาช่วย"
"แล้วหนูมีเงินเท่าไหร่?" ชายผู้นั้นถาม
"หนึ่งดอลลาร์สิบเอ็ดเซ็นต์ แต่หนูไปหามาได้เพิ่มอีกนะ" เธอตอบเสียงแผ่ว
"โอ้...บังเอิญจริงๆ" ชายผู้นั้นกล่าวยิ้มๆ "หนึ่งดอลลาร์สิบเอ็ดเซ็นต์ เท่ากับราคาปาฏิหาริย์พอดี"

เขารับเงินจำนวนนั้นของเธอ จูงมือเธอพร้อมกับบอกว่า"พาฉันไปบ้านของหนู ฉันอยากเจอ
น้องชายของหนูและพบกับพ่อแม่ของหนู ดูซิว่าปาฏิหาริย์ของฉันจะช่วยได้มั้ย"

ชายคนนั้นเป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทชื่อนายแพทย์คาร์ลตัน อาร์มสตรอง...การผ่าตัดครั้งนั้น
เสร็จสิ้นลงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่นานนักแอนดรูก็กลับบ้านได้ และหายเป็นปกติ

"การผ่าตัดครั้งนั้น" แม่ของเด็กน้อยพึมพำ "เป็นปาฏิหาริย์จริงๆ อยากรู้จังว่าราคาค่า
ผ่าตัดจริงๆ เท่าไหร่กันแน่"
เด็กน้อยยิ้ม เธอรู้ดีว่า ปาฏิหาริย์ราคาเท่าไหร่
...หนึ่งดอลลาร์สิบเอ็ดเซ็นต์...บวกกับชะตากรรมของเด็ก

ความมานะพยายามทำให้เกิดปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์อาจมาได้หลายรูปแบบ หมอ ทนายความ
ครู ตำรวจ เพื่อน คนแปลกหน้า และอีกมากมาย

แม่น้ำตัดภูเขาได้ไม่ใช่เพราะความแรงของน้ำ แต่เพราะความสม่ำเสมอของสายน้ำ

ขอพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งด้วยพระองค์

ปาฏิหาริย์เกิดได้ทุกวันด้วยสองเข่า ความเชื่อมั่นคง และการอธิษฐานอย่าง
สม่ำเสมอของเราทุกคน

อธิษฐานร่วมกัน ขอพระเจ้าอภัยบาปผิดคนไทยตั้งแต่บรรพบุรุษจนปัจจุบัน ขอพระเจ้า
เมตตารักษาแผ่นดินไทยให้หาย
หยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 เมตตาให้มีวัคซีนและการจัดสรรอย่างทั่วถึงลงตัว
และโปรดเมตตารักษาผู้ป่วยทุกคนให้หาย ขอพระเจ้าเมตตาจัดสรรทุกสิ่งอย่างพอเพียง
สำหรับการดีแก่เราทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า
และนำการฟื้นฟูสภาพประเทศไทยกลับมา ขอพระเจ้าอวยพรประเทศไทย คนไทยให้ได้
รับความรอดจากข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์ ด้วยความเชื่อความหวังใจและความรัก
ในองค์พระเยซูคริสต์เจ้าเอเมน.

ขอบคุณพี่น้องทุกท่าน ที่เราจะร่วมใจอธิษฐานเผื่อกันและกัน อธิษฐานเผื่อประเทศไทยและ
คนไทยที่รัก และพี่น้องครอบครัวของเราทุกคน
รวมทั้งพี่น้องเพื่อนบ้าน รอบๆประเทศไทยของเราครับ



Cr : รายการ ดนตรี กวี เรื่องเล่า
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 24, 2021 11:01 am

……คนดีของสังคม…(ตอนที่1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2546/2003,
โดย ปฏิมา กลิ่นส่ง รวบรวมและหมายเหตุจาก
Google 2021โดย กอบกิจ ครุวรรณ
……เตรียมตัวสู่สังคม
เมื่อครั้งเป็นเด็ก "นวลน้อย ทิมกุล" เติบโตมาในครอบครัวที่ขัดสน ไม่มีหนังสือเรียน
และไม่เคยได้ของเล่นที่อยากได้ ครั้นเป็นผู้ใหญ่ เธอกลับหยิบยื่นความเอื้ออาทร
ให้เด็กยากไร้ และช่วยเติมสิ่งที่ขาดหายให้เด็ก ๆ
“ดิฉันมาจากครอบครัวยากจน เป็นลูกคนรับใช้ในบ้านคนมีฐานะ จึงเห็นความแตกต่าง
ระหว่างลูกคนใช้กับลูกคนมีเงิน “จักรยานของลูกคนมีเงิน เราขอจับหน่อยก็ไม่ได้
ชิงช้าเราไปขอเล่นเขาก็ผลักเรากระเด็นเลย” นวลน้อยเล่า “เมื่อเด็กไม่มีขนม ไม่มีของเล่น
ดิฉันก็อยากให้เท่าที่จะให้ได้” นอกจากให้สิ่งของแก่เด็ก ๆ แล้ว เธอยังสละเวลาว่างสอน
ความรู้เบื้องต้นในการเรียนให้ด้วย จึงได้รับการเรียกขานจากเด็ก ๆ ว่า ‘ครูน้อย’
ขณะที่เขียนบทความนี้ (พ.ศ.2545) ครูน้อยอยู่ในวัย 59 ปี มีเด็กในความดูแล 116 คน
โดยอาศัยเงินบริจาคที่ได้รับมาใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ หากมองย้อนกลับไป
เมื่อปี 2523 อาจไม่เชื่อว่าครูน้อยจะสามารถเป็นที่พึ่งของเด็กได้มากถึงเพียงนี้
ครั้งนั้นบ้านที่เธออยู่อาศัยเป็นเพิงไม้เก่า ๆ และเธอเองก็มีรายได้เพียงพอใช้ไปวัน ๆ
แม้กระนั้นเธอก็ยังรับดูแลเด็ก 12 คน ในเวลากลางวัน และรายได้ก็หมดไปกับอาหาร
กลางวันของเด็ก ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เด็กที่มาหาเธอล้วนมาจาก
ครอบครัวผู้ใช้แรงงานแถวบ้านย่านสาธุประดิษฐ์
การที่ครูน้อยเกื้อกูลเด็กด้อยโอกาส ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของสังคมและลดปัญหา
ซึ่งอาจเกิดจากเด็กที่มีทัศนคติไม่ดีต่อสังคม “ดิฉันเน้นการดูแลด้านจิตใจเพราะบางคน
ถูกทอดทิ้งหรือเคยถูกทำร้าย” ครูน้อยกล่าว “เราปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกที่ดีว่า
สังคมให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาและให้โอกาสได้เรียน”
ครูน้อยจัดให้เด็กได้รับการศึกษาตามความสามารถ และให้เด็กบางส่วนพักอยู่ที่บ้าน
ของเธอและบ้านเช่าบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีผู้บริจาคเงินให้เป็นค่าเช่าบ้าน หลังกลับจาก
โรงเรียนและในวันหยุดสุดสัปดาห์ เด็ก ๆ จะมาทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้านครูน้อย โดยมี
กลุ่มอาสาสมัครมาช่วยให้การอบรมเพื่อเสริมทักษะด้านดนตรี, เย็บปักถักร้อย,
ทำงานประดิษฐ์, เรียนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์
เด็กที่ครูน้อยเคยดูแลโตเป็นผู้ใหญ่มีงานทำไปแล้วกว่า 100 คน แต่เธอก็ยังติดตามทุกข์สุข
ของศิษย์เก่าและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเสมอ “ดิฉันมีความสุขและภูมิใจ
ที่เห็นเด็กซึ่งเคยยากลำบาก มีอาชีพ มีกินมีใช้ และอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ” ครูน้อยกล่าว
หมายเหตุ จาก Google 2021
"ครูน้อย" ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือแก่เด็กด้อยโอกาส เธอยอมนั่งสอนนักเรียนโดยมีเท้าแช่
อยู่ในน้ำนานช่วงที่น้ำท่วมบ้านส่งผลให้ทุกวันนี้เธอต้องเสียนิ้วเท้าและยังเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว
เธอทุ่มเทชีวิตเพื่อเด็กๆในความดูแลของเธอ จนไม่มีเวลาดูแลร่างกายที่นับวันจะทรุดโทรมไป
ตามกาลเวลา และขาดแคลนทุนทรัพย์ เธอทุ่มเทให้กับเด็กยากไร้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานับ
สิบปี จน "บ้านครูน้อย" ได้รับการรับรองจากรมประชาสงเคราะห์ ให้เป็นสถานสงเคราะห์
เด็กยากจน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 และดำเนินการช่วยเหลือเด็กยากไร้ และเด็กด้อยโอกาส
มาถึงปัจจุบัน
นับแต่ปี พ.ศ. 2523 ถึง ปัจจุบัน ครูน้อยได้ช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กที่พ่อแม่ต้องโทษ
จำคุก และเด็กเร่ร่อนให้มีโอกาสรับการศึกษาภาคบังคับเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ มากกว่า 800 คน
ปัจจุบันมีเด็กในความดูแลของ "บ้านครูน้อย" 128 คนทั้งหญิงและชาย อายุ 6-18 ปี ในจำนวนนี้
มีเด็กที่กำลังเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ 98 คน นอกนั้นเป็นเด็กเล็ก หรือเด็กพิการซ้ำซ้อน
ปัจจุบัน งานของครูน้อยมีการประสานความร่วมมือกับมูลนิธิ และองค์กรต่างๆ
ที่ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เช่น
มูลนิธิสิธาสินี โรงเรียนศรีนาถสยาม และโรงเรียนศรีวรา เป็นต้น
ในวันธรรมดาหลังเวลาเรียน, วันสุดสัปดาห์, วันนักขัตฤกษ์และเวลาปิดภาคเรียน
จะมีกลุ่มบุคคลมาบริจาคสิ่งของ และค่าใช้จ่าย หรือจัดเลี้ยงอาหารในวาระต่างๆ
มีกลุ่มอาสาสมัครจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาจัดกิจกรรมบันเทิงและกิจกรรมวิชาการ
แก่เด็กๆ ที่บ้านครูน้อยซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ การแบ่งปันน้ำใจและรอยยิ้มที่ช่วย
ให้เด็กๆ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติให้เป็นเชิงบวก ซึ่งจะมีผลให้พวกเขาได้เติบโต
เป็นคนดีของสังคมในวันข้างหน้า ตามเจตนารมณ์ของครูน้อย ผู้ปรารถนาให้ศิษย์มีความสุข
ความเจริญ โดยไม่เคยคาดหมายสิ่งใดเป็นการตอบแทน
นางนวลน้อย ทิมกุล (ครูน้อย) เกิดวันที่ 16 ก.พ. 2486 สมรสกับ นายวิเชียร ทิมกุล มีบุตร 2 คน
ครูน้อยสำเร็จการศึกษามัธยมปลายจากโรงเรียนสมบูรณ์ปัญญา รับการอบรมและเป็นผู้ช่วย
พยาบาลที่โรงพยาบาลหญิง (รพ.ราชวิถี) และเคยรับราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
รับเครื่องราช ปี 2551 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ ฐานะผู้ทำประโยชน์ด้านพัฒนาสังคม
ข่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 รายงานว่า "สถานรับเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย"
ในซอยราษฎร์บูรณะ 26 คึกคักด้วยกองทัพสื่อมวลชนและผู้ใจบุญ ครูน้อยในวัย 73 ปี
สีหน้าเหนื่อยล้าให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่มาให้กำลังใจ หลังจากทราบข่าวประกาศ
ปิดทำการในวันที่ 31 ก.ค.2558
"วิกฤตครั้งนี้เกิดจากไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ทุกวันนี้มีค่าขนมให้เด็กไป
โรงเรียนวันละ 3,500 บาท เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ 8 คนวันละ 2,000 บาท ค่ากับข้าว 3 มื้อ 1,000 บาท
ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าแก๊ส และอื่นๆ รวมประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน”
ส่วนรายรับได้จากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เดือนละ 30,000 บาท
ดร.นิกร หงษ์ศรีสุข 10,000 บาท, ผู้ใหญ่ใจดี 4-5 รายที่ให้เดือนละ 3,000 บาท และผู้บริจาค
เป็นครั้งคราวรวมรายรับประมาณ 80,000 บาท ส่วนที่ขาดก็ไปยืมเขารวมทั้งเอาของไปขาย
ข่าวล่าสุด พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เข้ามาเคลียร์หนี้เป็นครั้งที่สอง พร้อมทั้งให้ความมั่นใจว่า
จะช่วยให้ครูเปิดบ้านหลังนี้ต่อไป ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่ก่อหนี้นอกระบบ และไม่ไปหยิบยืมเงิน
คนอื่นมาใช้อีก ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

****************************
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ก.ค. 24, 2021 11:10 am, แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 24, 2021 11:08 am

……"คนดีของสังคม" ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนมกราคม 2546/2003,
โดย ปฏิมา กลิ่นส่ง รวบรวมและหมายเหตุจาก Google 2021
โดย กอบกิจ ครุวรรณ…
……ให้อาหารนกกา……
‘นิภา เกตุทอง’ ไม่ได้ออกจากบ้านในย่านบางกะปิไปไกลเป็นเวลานานแล้ว
เพราะเป็นห่วงว่า หากไม่อยู่บ้าน กาทั้งฝูงเล็กและฝูงใหญ่ที่ทยอยมารับอาหาร
จากเธอ เป็นประจำตั้งแต่เช้าถึงเย็นอาจผิดหวังและต้องหิวโหย เนื่องจากไม่สามารถ
หาอาหารตามธรรมชาติได้เพียงพอ
“ดิฉันจะอยู่บ้านตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงเย็น เพราะกาที่แวะมาช่วงนี้คือกาที่หาอาหาร
จากที่อื่นมาแล้วเกือบทั้งวันได้ไม่พอ ที่นี่จึงเป็นเหมือนที่พึ่งสุดท้ายชองกาที่ยังหิวโหย”
แม่บ้านวัย 65 ปีกล่าว แต่เดิม นิภาให้อาหารนกและสัตว์ต่าง ๆ เพื่อความเพลิดเพลิน
แต่นานวันเข้ากลับกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสัตว์เหล่านี้ เพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่
ธรรมชาติน้อยลงจึงมีอาหารสำหรับสัตว์น้อยลงไปด้วย “ตอนเริ่มให้อาหารกา
เมื่อปี พ.ศ.2523 มีกา 3 ตัวที่บินมาเป็นประจำ” นิภากล่าว “จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ถึงประมาณ 100 ตัวในขณะที่ให้สัมภาษณ์นี้ (พ.ศ. 2545) โดยเฉพาะในตอนเช้า”
นิภาตื่นตีห้าทุกเช้าเพื่อหุงข้าวและปั้นเนื้อบดเป็นก้อนขนาดเท่าลูกชิ้น 200 กว่าก้อน
ปั้นทิ้งไว้ตั้งแต่บ่ายสำหรับวันรุ่งขึ้น จากนั้นจึงเริ่มให้อาหารกาฝูงแรกจำนวน 40-50 ตัว
โดยแต่ละตัวจะได้เนื้อปั้นอย่างน้อย 1 ก้อน นอกเหนือจากข้าวคลุกเนื้อในถาดที่ตั้งอยู่บน
ชั้นที่วางไว้หน้าบ้าน
หลังกาฝูงแรกบินต่อไปตามเส้นทางหากินธรรมชาติแล้ว นิภาจะเติมข้าวให้เต็มถาดอีก
ครั้งหนึ่ง เพราะจะมีฝูงกาย่อย ๆ รวมแล้วกว่า 50 ตัวแวะมาหาเธอตลอดวัน เมื่อได้ยินเสียง
ร้องของกาที่คุ้นเคยร้อง เธอจะละงานบ้านที่ทำอยู่และไปหยิบเนื้อปั้นที่เหลือเก็บไว้ในตู้เย็น
ออกมาแจก “นิสัยของกาสะท้อนให้เห็นว่า คนกับสัตว์ก็ประพฤติตัวไม่ต่างกันนัก เช่นกา
บางตัวจะคาบเนื้อไปฝากครอบครัวด้วย หรือครั้งหนึ่งกาแม่ลูกบินมาด้วยกัน กาตัวแม่จะ
แบ่งเนื้อเป็นก้อนเล็ก ๆ ให้ลูกกินก่อน แต่ลูกกลับเอาเนื้อที่ได้ไปซ่อนไว้เพื่อจะได้มากขึ้น
หลายครั้งเข้าแม่กาจับได้ก็ไล่จิกตีเป็นการสั่งสอน” นิภาเล่า
นิภาดีใจที่บ้านของเธอเป็นที่พึ่งของกา ถึงแม้ค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารให้กาจะสูงถึง
13,000 บาทต่อเดือน ประเสริฐ เกตุทอง สามีของนิภารับหน้าที่ไปจ่ายตลาดทุกสองวัน
และรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยปันมาจากดอกเบี้ยเงินเกษียณอายุ การทำงาน
“ดิฉันกับสามีไม่เสียดายเงินส่วนนี้เลย เรากินอยู่อย่างเรียบง่ายเพื่อใช้เงินที่เหลือส่วนใหญ่
ไปซื้ออาหารให้กาดีกว่า” นิภากล่าว

****************************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 31, 2021 10:59 am

"เมื่อลูกรักถูกรังแก" ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546/2003,
โดย รักขิต รัตจุมพฏ ย่อ และเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
………เกือบ 17.00 น. แล้ว เด็กชายหลายคนยังเตะฟุตบอลกันอยู่กลางสนามที่
โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเขตดอนเมือง ในจำนวนนี้ ‘สมพงษ์’(ชื่อสมมุติ)
นักเรียนชั้นมัธยม 3 รวมอยู่ด้วย เด็กชายวัย 14 ปี ไม่ต้องรีบกลับบ้านเพราะบ้าน
อยู่ใกล้โรงเรียน ทันใดนั้นมีนักเรียนชั้นมัธยม 4 และมัธยม 5 กลุ่มหนึ่งราวสิบคน
เดินตรงมาหาสมพงษ์ที่กลางสนามและพูดว่า “เอาเงินมาใช้หน่อยซิ”
นักเรียนกลุ่มนี้เคยขู่เอาเงินจากนักเรียนรุ่นน้องที่เรียบร้อยอย่างสมพงษ์หลายครั้งแล้ว
เขาต้องให้ มิฉะนั้นจะถูกตบศีรษะหรือชกแรง ๆ แต่คราวนี้สมพงษ์ตอบว่า “ไม่มี” ทั้งที่
ในกระเป๋ากางเกงมีเงิน 20 บาท ในใจคิดว่าอยู่กลางสนามหน้าโรงเรียนอย่างนี้
พวกรุ่นพี่คงไม่กล้าทำร้ายเขา แต่ผิดคาด เด็กกลุ่มนั้นช่วยกันจับตัวสมพงษ์ไว้ แล้วล้วงไป
ตามกระเป๋าเสื้อและกางเกงจนได้เงินสมใจ เพื่อน ๆ ที่เห็นเหตุการณ์ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจึง
ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากมีปัญหากับนักเรียนเกเรกลุ่มนี้
สมพงษ์ทั้งอับอายและหวาดกลัว เขารีบวิ่งออกจากสนามแล้วหาเหรียญเพื่อโทรศัพท์ไปเล่า
ให้แม่ฟัง เธอบอกให้สามีทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น เขาจึงพาลูกชายไปหาเด็กกลุ่มนั้นที่
โรงเรียนทันที หลังถูกต่อว่า เด็กที่ก่อเรื่องก็ยกมือไหว้ขอโทษ อย่างไรก็ตาม อาจารย์ฝ่าย
ปกครองซึ่งเห็นความเป็นไปก็เรียกทุกคนที่เกี่ยวข้องไปสอบสวน หลังจากนั้นทาง
โรงเรียนก็ภาคทัณฑ์นักเรียนที่ก่อเหตุทั้งหมด
‘กิติกร มีทรัพย์’ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิทยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า
“ปัญหานักเรียนรังแกกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่ค่อยมีเวลา
ใกล้ชิดกับลูกและมองข้ามปัญหาเหล่านี้ คนที่เป็นเหยื่อมักจะเป็นเด็กที่แปลกไปจากเพื่อน ๆ
เช่น ขี้อาย, เรียบร้อย, ขี้โรค, อ้วน, เรียนเก่งจนเพื่อนหมั่นไส้ เป็นต้น”
“แม้โรงเรียนทั่วไปจะมีมาตรการควบคุมพฤติกรรมลักษณะนี้อยู่พอสมควร แต่ก็มีบ้างที่หลงหู
หลงตาไป” กิติกรซึ่งขณะที่เขียนบทความนี้เป็นที่ปรึกษาด้านจิตวิทยามวลชน สำนักเลขาธิการ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เมื่อเป็นข่าวแต่ละครั้งก็ฮือฮากันไประยะหนึ่ง แต่ไม่ได้มีการดำเนินการ
อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ทำให้บางครั้งโรงเรียนหรือครูก็มองข้ามปัญหานี้ไป”
ตัวอย่างเช่น สุธี (ชื่อสมมุติ) วัย 13 ปี นักเรียนชั้นมัธยมหนึ่งของโรงเรียนในเขตบางรัก
ถูกเพื่อนร่วมชั้นชื่อวรพจน์ (ชื่อสมมุติ) แกล้งบ่อย ๆ เขาเคยถูกวรพจน์กระชากคอเสื้อแล้วลาก
เข้าไปในซอกตึกภายในบริเวณโรงเรียน จากนั้นก็ลงมือชกต่อยจนหนำใจ พอกลับบ้าน พ่อแม่เห็น
ร่องรอยบนใบหน้าก็ซักถามจนได้ความ วันรุ่งขึ้น พ่อไปหาครูที่โรงเรียน อาจารย์ฝ่ายปกครอง
จึงเรียกวรพจน์ไปตักเตือนและทำจดหมายเชิญผู้ปกครองให้เขานำไปให้พ่อแม่
“แต่เด็กคนนั้นเก็บจดหมายไว้ไม่ส่งให้พ่อแม่ ส่วนครูก็ไม่ได้ตามเรื่อง พอเห็นเรื่องเงียบ
สามีก็ไปสอบถามครูและขอร้องให้เรียกเด็กมาตักเตือน” แม่ของสุธีกล่าว
หลังจากถูกวรพจน์แกล้งอีก

โปรดติดตามตอนที่ (2)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ค. 31, 2021 11:04 am

"เมื่อลูกรักถูกรังแก" ตอนที่ (2)(ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546/2003,
โดย รักขิต รัตจุมพฏ ย่อ และเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
…… เรื่องไม่ได้จบแค่นั้นแต่กลับรุนแรงขึ้น ต่อมาไม่นาน สุธีก็ถูกทำร้ายอีก
วรพจน์เข้ามาด้านหลัง กระชากเขาล้มหงายแล้วตรงเข้าจะกระทืบซ้ำบริเวณใบหน้า
สุธียกมือขึ้นปิดป้องตามสัญชาตญาณ จนแขนข้างซ้ายหักต้องเข้าเฝือกอยู่หลายเดือน
“ทางโรงพยาบาลแนะให้ดิฉันแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดี แต่ดิฉันสงสารเด็ก กลัวจะ
เสียอนาคต ประกอบกับพ่อของเด็กมาขอร้องถึงที่บ้าน ดิฉันเลยใจอ่อน” แม่ของสุธีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนตัดคะแนนความประพฤติและภาคทัณฑ์วรพจน์ไว้
‘ศ.พญ. นงพงา ลิ้มสุวรรณ’ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ในระยะยาว เด็กที่ถูกรังแกอาจกลายเป็นคนไม่เชื่อมั่น
ในตัวเองและอาจเป็นโรคซึมเศร้าจนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ดังนั้น ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่
หรือครู จึงต้องจัดการปัญหานี้ตั้งแต่แรกและสอนให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมให้ได้
ด้วยตัวเองไปพร้อม ๆ กัน”
เหนือสิ่งอื่นใดคือ พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ลูก และที่สำคัญพอ ๆ กันคือ ครูต้องสอดส่องพฤติกรรม
ของนักเรียนที่อยู่ในความดูแล หากพบสิ่งผิดปกติต้องรีบหาทางแก้ไขทันทีเพราะคงไม่มีใครอยาก
ให้เกิดเหตุการณ์อย่างกรณีของ ‘ฤทธิ์’ ที่มีการบันทึกเรื่องราวไว้ในหนังสือ “อาชญากรเด็ก?”
ฤทธิ์ นักเรียนชั้นมัธยม 4 ในจังหวัดพัทลุง ถูกเพื่อนร่วมชั้นชื่อ ‘พร’ กับ ‘ชัย’ พร้อมเพื่อน ๆ
ในกลุ่มของทั้งสองรังแกมาตั้งแต่มัธยม 2 เขาเป็นเด็กสุภาพเรียบร้อยและทำกิจกรรมช่วยเหลือ
โรงเรียนมาตลอด ทีแรก พรกับชัยก็แค่พูดจากระทบกระเทียบและโห่ฮาตามใจชอบ เมื่อเห็นว่า
ฤทธิ์ไม่สู้ก็ได้ใจ และหาเรื่องชกต่อยหลายครั้งหลายหน
วันหนึ่ง พรและชัยร่วมกับเพื่อน ๆ ทั้งหมด 10 คน ปิดประตูห้องเรียนซ้อมฤทธิ์จนบอบช้ำต้อง
ขาดเรียนไปหลายวัน อาจารย์ฝ่ายปกครองของโรงเรียนทราบเรื่องจึงเรียกผู้ปกครองของทั้งฝ่าย
มาพบและพิจารณาให้นักเรียน 2 คนในกลุ่มที่รังแกฤทธิ์ซึ่งมีประวัติไม่ดี และถูกภาคทัณฑ์อยู่แล้ว
ออกจากโรงเรียน ส่วนที่เหลือถูกภาคทัณฑ์รวมทั้งพรและชัย
เมื่อมีการคาดโทษ พรกับชัยก็ไม่กล้าหาเรื่องชกต่อยฤทธิ์อีก แต่ยังไม่เลิกพูดเยาะเย้ยถากถากทุกครั้ง
ที่มีโอกาส
เช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคม 2544 ฤทธิ์ตัดสินใจกู้ศักดิ์ศรีของตนกลับคืนมา ด้วยการขโมยปืนของ
พี่เขยไปยิงพรกับชัยในโรงเรียนจนถึงแก่ชีวิตทั้งคู่ นักเรียนสองคนต้องสังเวยชีวิตไปกับเหตุการณ์นี้
และตอนนี้ฤทธิ์ก็หมดหวังที่จะเป็นตำรวจตามที่เคยวาดฝันไว้
“เห็นได้ชัดว่า การรังแกกันทำให้เกิดความเจ็บปวดทางจิตใจ ที่เรื้อรังและกลายเป็นความแค้นได้
ดังนั้น การรังแกกันในกลุ่มเด็กจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ควรเพิกเฉย เพราะผลลัพธ์อาจรุนแรง
จนคาดไม่ถึงได้” หมอนงพงา กล่าวสรุป

**********************************
:s008: :s008:
ตอบกลับโพส