ประวัตินักบุญอย่างย่อ เดือนสิงหาคม( วันที่1-15)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 01, 2021 9:30 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑ สิงหาคม
นักบุญอัลฟอนโซ แห่งลิโกวรี
ผู้ตั้งคณะพระมหาไถ่
พระสังฆราชและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

St. Alphonsus Liguoriท่านเป็นนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร มีบทบาทสำคัญ
ในคำสอนด้านเทวศาสตร์ศีลธรรม ท่านเกิดปี๑๖๙๖ ที่เมืองเนเปิล สติปัญญาของ
ท่านดีเลิศตั้งแต่เด็ก ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายด้วย
วัยเพียง ๑๗ ปี ต่อมา ท่านลาออกจากอาชีพทนายความที่กำลังรุ่งเรือง
เพราะแพ้คดีความเรื่องหนึ่ง

ท่านสมัครเข้าบ้านเณรและได้รับการบวชในอีก ๓ ปีต่อมา ไม่ช้า ท่านก็เป็นนักเทศน์
ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ฟังแก้บาปที่ใครๆ ก็ต้องการสารภาพบาปด้วย ท่านใช้ภาษาธรรมดา
ในการเทศน์ แต่จัดเตรียมเนื้อหาอย่างมีระบบ ดึงดูดผู้คนมาฟังมากมาย
ทั้งปัญญาชนและชาวบ้านธรรมดา

ในปี ๑๗๓๒ ท่านไปที่เมืองสกาลาและตั้งคณะนักเทศน์ชื่อ พระมหาไถ่ ท่านเป็นนัก
เทวศาสตร์ศีลธรรมคนสำคัญ หนังสือที่ท่านเขียนได้ตีพิมพ์หลายครั้งและเป็นที่นิยมทั่วไป

ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชทั้งที่อายุมากแล้ว ท่านทำหน้าที่ปกครอง
สังฆมณฑลอย่างดี และหลังลาเกษียณในปี ๑๗๗๕ ท่านกลับสู่คณะที่ท่านก่อตั้ง
และเสียชีวิตในปี ๑๗๘๗ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๘๓๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ส.ค. 02, 2021 8:53 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒ สิงหาคม
นักบุญเปโตรจูเลียน ไอมาร์ด
St. Peter Julian Eymard

นักบุญเปโตรจูเลียน ไอมาร์ด ช่วยให้ชาวคาทอลิก ทั้งพระสงฆ์นักบวชและฆราวาส
ให้เห็นความสำคัญของศีลมหาสนิท ท่านเป็นผู้ริเริ่มชักนำให้ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้น
ในพระศาสนจักร

ท่านเกิดใกล้เมือง Grenoble ประเทศฝรั่งเศสในปี ๑๘๑๑ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ท่านปรารถนา
จะเป็นพระสงฆ์ แต่บิดาห้ามไว้เพราะต้องการให้ท่านรับช่วงดูแลธุรกิจของครอบครัว

เมื่ออายุ ๑๘ ปีท่านได้รับอนุญาตให้เป็นนวกชนของคณะ Oblate แต่ท่านล้มป่วยและ
มีอาการหนักมากถึงขนาดถูกส่งกลับไปเตรียมตัวตายที่บ้าน ทว่า ท่านกลับหายป่วยและ
เข้าบ้านเณรอีกครั้งหลังจากบิดาเสียชีวิต ท่านบวชเป็นพระสงฆ์ของสังฆมณฑล
ในปี ๑๘๓๔ แต่ภายหลังเข้าร่วมกับคณะนักบวชMarists
ในปี ๑๘๕๑

ท่านตอบรับต่อเสียงเรียกให้ตั้งคณะนักบวชที่อุทิศตนเพื่อการนมัสการศีลมหาสนิท
คือคณะแห่งศีลมหาสนิท (Congregation of the Blessed Sacrament)
ภารกิจของคณะคือการส่งเสริมความสำคัญและความหมายที่พิเศษของศีลมหาสนิท
คณะนี้ยังทำงานกับคนจนและช่วยเตรียมตัวพวกเขาสำหรับการรับศีลมหาสนิทครั้งแรก

ท่านเสียชีวิตในปี ๑๘๖๘ และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในปี ๑๙๖๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 04, 2021 4:02 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓ สิงหาคม
นักบุญนิโคเดมัส
St. Nicodemus

นิโคเดมัสเป็นศิษย์ของพระเยซูอย่างลับๆ เพราะเป็นสมาชิกของสภาซันเฮดริน
ท่านจะแอบมาพบพระเยซูตอนกลางคืนเพื่อไม่ให้คนอื่นเห็น ท่านเป็นผู้เตือน
สภาซันเฮดรินว่าพระเยซูมีสิทธิที่จะรับการไต่สวนก่อน ท่านร่วมกับนักบุญโยเซฟ
แห่งอาริมาเธียจัดเตรียมพระศพพระเยซูและนำพระองค์บรรจุใน
คูหาฝังศพ

ตามธรรมประเพณีท่านเป็นมรณสักขีแม้จะไม่มีบันทึกไว้ก็ตาม

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 04, 2021 4:05 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๔ สิงหาคม
นักบุญยอห์น มารีย์เวียนเนย์
องค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์
St. John Mary Vianney

ยอห์น เวียนเนย์หรือรู้จักกันอีกชื่อว่าคุณพ่อผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งอาร์ส (the Holy Curé de Ars)
เกิดวันที่ ๘ พฤษภาคม ๑๗๘๖ ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๘๑๕ และถูกส่งไป
ยังดินแดนห่างไกลอาร์ส (Ars) เพื่อเป็นพ่อเจ้าอาวาสที่นั่น

ทันทีที่มาถึง ท่านสวดภาวนาและปฏิบัติภารกิจเพื่อการกลับใจของลูกวัด แม้ท่านจะเห็นว่า
ตัวเองไม่มีค่าพอสำหรับงานในฐานะพ่อเจ้าวัด แต่ด้วยความรักร้อนรนต่อพระเจ้าท่านจึง
ทำงานรับใช้ผู้คนที่นั่นท่านค่อยๆ ช่วยให้ความเชื่อของชุมชนกลับฟื้นมีชีวิตชีวา
โดยผ่านการสวดภาวนาและการเป็นประจักษ์พยานด้วยรูปแบบชีวิตของท่าน
ท่านเทศน์อย่างทรงพลังถึงเรื่องความรักและเมตตาของพระเจ้า เล่ากันว่าแม้แต่
คนบาปหนักที่สุดก็กลับใจเมื่อได้ฟังท่านเทศน์ ท่านซ่อมแซมวัด สร้างบ้านเด็กกำพร้า
และช่วยเหลือคนยากจน
ชื่อเสียงในฐานะผู้ฟังแก้บาปของท่านโด่งดังไปทั่ว นักจาริกแสวงบุญหลั่งไหลมาขอ
แก้บาปกับท่านและท่านจะใช้เวลาถึง ๑๖ ชั่วโมงในแต่วันเพื่อฟังแก้บาป ท่านมุ่งมั่นต่อการ
กลับใจของทุกคนท่านถูกทดสอบด้วยความทุกข์ยากหลายอย่างและถูกปีศาจรบกวน
แต่ท่านก็ยังคงมั่นคงในความเชื่อ

ท่านศรัทธาในศีลมหาสนิท ใช้เวลานานในการสวดภาวนาและทำพลีกรรมทรมานกาย
ท่านกินน้อยนอนน้อย ทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยด้วยความถ่อมตน อ่อนโยน
อดทนและร่าเริง

ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๐ ปี ผู้คนกว่าหนึ่งพันมาร่วมพิธีฝังศพท่าน รวมทั้งพระสังฆราชและ
พระสงฆ์ของสังฆมณฑล ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์

พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๑ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๒๕
ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์ทุกวันนี้มีผู้จาริกแสวงบุญไปที่อาร์สเพื่อระลึกถึง
ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของท่านอย่างไม่ขาดสาย

ในปี ๒๐๐๙ ในการรำลึกถึงการเสียชีวิต ๑๕๐ ปีของท่าน พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๖
ประกาศให้เป็นปีแห่งพระสงฆ์ พระองค์เขียนจดหมายถึงพวกพระสงฆ์สนับสนุนให้พวกเขา
เอาท่านเจ้าอาวาสแห่ง อาร์สเป็นตัวอย่างของการอุทิศตนตามกระแสเรียกชีวิตสงฆ์

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 04, 2021 4:20 pm

เพิ่มเติมค่ะ……..
วันที่ 4 สิงหาคม
ระลึกถึง นักบุญยอห์น มารีย์ เวียนเนย์ พระสงฆ์
(St John Baptist Mary Vianney, Priest, memorial)

……..นักบุญผู้โดดเด่นองค์นี้ ซึ่งพระศาสนจักรยกย่องให้เป็นแบบอย่างและองค์อุปถัมภ์
ของพระสงฆ์พื้นเมือง เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1786 ในระหว่างช่วงเวลาที่มีการ
ต่อต้านบรรดาสมณะอย่างรุนแรง (ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส) และช่วงที่ไม่นับถือศาสนา
(สมัยของ นโปเลียน โบนาปาร์ต) ท่านเป็นลูกคนที่ 4 ในทั้งหมด 6 คนจากพ่อแม่
ที่ศรัทธา อาศัยทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ตอนเด็กไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือ
เพราะขาดพื้นฐานการศึกษาเช่นนี้เอง ทำให้ท่านต้องเผชิญกับความลำบากเป็นอย่างมาก
ในการเรียนที่บ้านเณรเพื่อเป็นพระสงฆ์ และเป็นแต่เพียงลักษณะนิสัยซื่อๆและมีชีวิตจิต
ที่ลึกซึ้งของท่าน ผนวกกับคำขอร้องพิเศษจากเจ้าอาวาสของท่าน
จึงทำให้ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 1815

เมื่อบวชแล้วท่านได้รับมอบหมายให้ไปดูแลวัดเล็กๆที่ตำบลอาร์ส ใกล้เมืองลีอองส์
อุปสังฆราชบอกท่านว่า "สัตบุรุษที่นั่นไม่ค่อยรักพระ จงไปทำให้เกิดขึ้นมาให้ได้"
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านและชาวนาถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสถานะทางด้านฝ่ายจิต
และศีลธรรมอย่างนั้น นักบุญยอห์น เวียนเนย์ ได้เริ่มทำงานอย่างเงียบๆกับสัตบุรุษ
ที่ยากจน และพวกเจ็บไข้ได้ป่วยในวัดก่อน นอกนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันอยู่ต่อหน้า
ศีลมหาสนิท เพื่อภาวนาขอให้ลูกแกะของท่านกลับใจ และตลอดเวลา 40 ปีของชีวิตที่ยัง
คงเหลืออยู่ ท่านได้พลีกรรมโดยเฆี่ยนตัวเองจนมีเลือดออก และทำพลีกรรมอย่างเคร่งครัด
ทุกชนิดเพื่อใช้โทษบาปแทนพวกสัตบุรุษ ท่านเทศน์ด้วยภาษาง่ายๆ โดยใช้ตัวอย่างที่เห็น
ได้ชัดจากการดำรงชีวิตประจำวัน สำหรับบรรดาเด็กผู้หญิงที่ยากจนข้นแค้นอย่างมาก
ท่านเปิดบ้านเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กเหล่านี้ ชื่อบ้าน "La Providence" ซึ่งในกาลเวลา
ต่อมากลายเป็นโรงเรียนและเป็นสถานที่ที่เปิดตามกันมาอย่างแพร่หลายทั่วประเทศฝรั่งเศส
คณะภราดรภาพของศีลมหาสนิทก็เริ่มต้นขึ้นที่นี่ด้วย

แต่งานที่สำคัญที่สุดและเกิดผลสูงสุดคือ "การให้คำแนะนำฝ่ายจิตแก่คนทั้งหลาย
ในที่ฟังแก้บาป" ที่ซึ่งท่านใช้เวลาในแต่ละวัน 14 ถึง 18 ชั่วโมง
(ไม่ว่าจะเป็นวันที่ร้อนมากในฤดูร้อน หรือ วันที่หนาวจนสั่นในฤดูหนาว) ไม่นานต่อมา
ก็เป็นที่เลื่องลือว่าท่านมีความสามารถในการอ่านใจคน มีความรู้เหนือธรรมชาติต่อบาป
ที่ยังไม่สารภาพออกมาและสิ่งที่จะติดตามมา และโดยคำภาวนาของท่านทำให้คนป่วย
ได้รับการรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์ ไม่เพียงคนในหมู่บ้านที่ตำบลอาร์สเท่านั้นที่เปลี่ยน
แปลงดีขึ้นทั้งทางด้านจิตและทางด้านจริยธรรม แต่ผู้คนเริ่มเดินทางมาหาท่านจากทุกภาค
ส่วนของทวีปยุโรปและอเมริกาด้วย ท่านนักบุญเองเคยกล่าวไว้ว่า
"ผู้ที่มีพระจิตเจ้าทรงนำทาง จะสามารถมองเห็น(=อ่าน)สิ่งต่างๆได้" อีกครั้งหนึ่ง
ท่านประกาศว่า "และนี่เองที่ทำไมคนที่โง่เขลาจึงล่วงรู้มากกว่าคนที่ปรีชาฉลาด" ผู้คน
หลั่งไหลกันมามากจนต้องจัดรถบัสพิเศษเพิ่มขึ้น 5 สาย และต้องมีช่องขายตั๋วรถไฟพิเศษ
จากสถานีที่เมืองลีอองส์สำหรับผู้แสวงบุญที่มุ่งไปเมืองอาร์ส ถ้าจะนับจำนวนนักแสวงบุญ
ในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งรวมทั้งคนสุขภาพดี คนป่วย และคนที่ต้องทุกข์ทรมาน ในบรรดา
คนเหล่านี้มีทั้งพวกพระคาร์ดินัล พระสังฆราช (บางทีไม่เปิดเผยตน) พระสงฆ์ นักบวช
และฆราวาส จากทุกๆรูปแบบของชีวิต รวมแล้วเกินกว่า 2 ล้านคน

นักบุญยอห์น เวียนเนย์ เป็นผู้มีใจร้อนรนอย่างมาก และมีความเป็นมิตรดียิ่ง มีความ
อดทนและสุภาพเป็นที่สุด พูดตามภาษามนุษย์แล้ว การกินและนอนที่น้อยเกินไป
ตลอดระยะเวลา 40 ปีในงานอภิบาลของท่าน ย่อมไม่สามารถทำให้ท่านมีชีวิตต่อไปได้
พวกชาวบ้านเหล่านี้เองยังเป็นพยานว่า ท่านได้ทนทรมานจากฤทธิ์อำนาจของปีศาจ
เป็นเวลาหลายปี บั้นปลายชีวิตท่านได้รับตำแหน่งทรงเกียรติเป็น Honorary Canon of Lyons
และรัฐบาลฝรั่งเศสให้เกียรติแก่ท่านด้วยตำแหน่งอัศวิน A Knighthood of the Legion
of Honour ซึ่งแน่นอนว่าท่านไม่ได้สนใจตำแหน่งใดๆทางฝ่ายโลกนี้อยู่แล้ว

ท่านสิ้นใจในวันที่ 4 สิงหาคม 1859 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ
โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 ในปี ค.ศ.1925

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 05, 2021 9:30 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๕ สิงหาคม
บุญราศีเฟรเดริกแจนซูน
Blessed Frederic Janssoone

ความปรารถนาสูงสุดของบุญราศีเฟรเดริกคือช่วยให้ผู้คนใกล้ชิดพระเจ้า
งานอภิบาลในฐานะสมาชิกคณะฟรังซิสกันส่งเสริมให้ท่านได้ทำตามความตั้งใจนี้
ในหลายที่ไม่ว่าจะเป็นยุโรป แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และอเมริกาเหนือ

ท่านเกิดใน Flanders ปี ๑๘๓๘ เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวน ๑๓ คน ครอบครัวของท่าน
มีฐานะดีเมื่อท่านอายุ ๙ ขวบ บิดาได้เสียชีวิต ภายหลัง ท่านลาออกจากโรงเรียนเพื่อ
ทำงานเป็นเซลล์แมนที่ต้องเดินทางไปทั่วเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว ผู้เป็นมารดาเสียชีวิต
เมื่อท่านอายุ ๒๓ ปีท่านเรียนจนจบและสมัครเข้าคณะฟรังซิสกัน ท่านได้รับศีลบวชในปี ๑๘๗๐
และทำงานเป็นจิตตาธิการของทหารในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียจากนั้น ท่านถูกส่ง
ไปทำงานที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น ท่านได้จัดสถานที่ตั้งกางเขนระลึกถึงพระมหาทรมาน
ตามถนนในเยรูซาเล็ม ท่านได้สร้างวัดหลังหนึ่งที่เบธเลเฮม และช่วยตกลงต่อรอง
ในกลุ่มคริสต์คาทอลิกคริสต์นิกายตะวันออกและอาร์เมเนียน เรื่องสักการสถาน
ในเมืองเบธเลเฮม

ท่านเดินทางมาถึงแคนาดาครั้งแรกในปี ๑๘๘๑ เพื่อเทศน์ระดมทุน แต่อีก ๗ ปีต่อมา
ท่านก็ได้มาประจำอย่างถาวร ท่านช่วยพัฒนาสักการสถานที่มีชื่อเสียงของควิเบก
คือแม่พระแห่ง Cap-de-la-Madeleine ท่านเขียนประวัตินักบุญหลายองค์ เขียนบท
ความลงหนังสือพิมพ์และขายหนังสือศรัทธาแบบเคาะถึงประตูบ้าน

ท่านเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ปี ๑๙๑๖ และถูกฝังที่ Trois-Rivieres
อันเป็นเมืองซึ่งตั้งอยู่ใกล้สักการสถานของแม่พระ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒
ประกาศตั้งท่านเป็นบุญราศีในปี๑๙๘๘

CR. : Sinapis

🔔5 สิงหาคม🔔
🌿กำเนิดคณะซิสเตอร์ซาเลเซียน🌿
.
วันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1872 นักบุญมาเรีย มัสซาแรลโล พร้อมกับเพื่อนรวม 15 คน
ได้เข้าพีธีปฏิญญาณตนเป็นนักบวชต่อหน้าพระสังฆราช
และนักบุญยอห์น บอสโก ผู้ตั้งคณะ
.
ซิสเตอร์ซาเลเซียนจึงได้ถือกำเนิดมาในโลก
โดยใช้ชื่อว่า “คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์”
หรือที่เรียกกันติดปากว่า 'ซิสเตอร์ซาเลเซียน'
.
ปัจจุบัน มีซิสเตอร์ซาเลเซียนจำนวน 11,535 คน
ที่ทำงานใน 97 ประเทศทั่วโลก
ในประเทศไทย มีกิจการของคณะด้านการศึกษา
ด้านสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ
โดยทำงานในโรงเรียน ศูนย์ผู้พิการหญิงทางสายตา
บ้านสำหรับเยาวชนหญิงที่ขาดโอกาสและเด็กในกลุ่มเสี่ยง

CR. : Salesian Thailand - คณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 06, 2021 4:57 pm

ฉลองวันที่ ๖ สิงหาคม
พระเยซูประจักษ์พระวรกายต่อหน้าอัครสาวก
The Transfiguration

ก่อนที่พระเยซูจะเสด็จเข้าเมืองเยรูซาเล็มอย่างสง่า พระองค์ขึ้นไปบนภูเขาทาบอร์
พร้อมกับศิษย์ ๓ คนคือเปโตร ยากอบ และยอห์น ขณะที่พระองค์สวดภาวนาอยู่บน
ภูเขานั้น ร่างกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปด้วยแสงสว่างเจิดจ้าจากพระกายและอาภรณ์
ของพระองค์ แล้วโมเสสและประกาศกเอลียาห์ก็ปรากฏตัวข้างพระองค์ ทั้งสองกล่าวถึง
เหตุการณ์ที่พระคริสต์ต้องรับทรมานและสิ้นพระชนม์ก่อนจะกลับคืนพระชนม์ชีพ

นักบุญมัทธิว มาระโก และลูกา ต่างก็บันทึกว่ามีสุรเสียงของพระเจ้ายืนยันว่าพระเยซู
เป็นบุตรของพระองค์ เปโตรและยอห์นได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในจดหมายและวรสาร
ของพวกท่าน ว่าพระเยซูมีสภาวะพระเจ้าและพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ แสงสว่างจาก
พระคริสต์ทั้งในการสำแดงพระองค์และหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพ คือชัยชนะอย่าง
ถาวรเหนืออำนาจแห่งความมืด

ชาวคริสต์นิกายตะวันออกถือว่าวันฉลองนี้สำคัญเป็นพิเศษ พวกเขายกเอาการประจักษ์
พระวรกายเป็นต้นแบบของความสว่างในชีวิตฝ่ายจิต ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับศิษย์ของ
พระเยซู "การประจักษ์แจ้ง" จะเกิดขึ้นโดยผ่านความเคร่งครัดเรื่องภาวนาอดอาหารและ
ประกอบกิจเมตตา

"การแสดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง..." ท่านอัครสังฆราช Raya เขียน "ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อ ๒พันปีที่แล้ว หรือเป็นเรื่องของอนาคต แต่เป็นความเป็นจริงปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่พร้อมจะ
เกิดกับบรรดาผู้ชิดสนิทพระคริสต์"

CR. : Sinapis

:s002: :s002:

✳️ ฉลองพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์ต่อหน้าอัครสาวก
(Transfiguration of the Lord, feast.)
6 สิงหาคม

ในขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำรงพระชนมชีพท่ามกลางบรรดาอัครสาวกของพระองค์
พระองค์ได้ตรัสกับพวกเขาถึงอาณาจักรของพระองค์ และการเสด็จมาครั้งที่สอง
ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์อยู่บ่อยครั้ง the "parousia" (ในห้วงเวลาสุดท้าย)
แต่ว่า ราวหนึ่งปีก่อนจะทรงรับทนทรมาน พระองค์ทรงสำแดงให้พวกเขาได้เห็นภาพ
นิมิตที่มหัศจรรย์ อันจะเป็นประสบการณ์ที่ตระเตรียมพวกเขาให้เข้าใจดีขึ้นถึงสิ่งที่กำลัง
จะมาถึง เพื่อให้ความเชื่อของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องพระอาณาจักรและพระสิริรุ่งโรจน์
ของอาณาจักรนั้นเข้มแข็งมากขึ้น

พระองค์ทรงนำอัครสาวกสามคนผู้อยู่ใกล้ชิด คือ เปโตร ยากอบ และยอห์น ขึ้นไปบน
ภูเขาสูง - เชื่อกันว่าคือภูเขาทาบอร์ในแคว้นกาลิลี ซึ่งอยู่สูงเหนือทะเลสาบทิเบเรียส
ราว 2,000 ฟุต ณ ที่นั้นพวกเขาได้เห็นพระวรกายของพระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงไปโดยฉับพลัน
ลักษณะของพระพักตร์ส่องแสงประกายดุจดวงอาทิตย์ และฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า
ทันใดนั้น บุรุษสองคน คือโมเสส และประกาศกเอลียาห์มาสนทนากับพระองค์ ซึ่งหมายถึง
ความหมายที่สำคัญว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้กฎหมายต่างๆของโมเสสครบสมบูรณ์
และข้อความทำนายต่างๆ ของบรรดาประกาศกที่มีประกาศกเอลียาห์เป็นตัวแทนนั้นบรรลุถึง
ความจริงทุกประการ

✥✤✣ ✥✤✣

การสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ไม่เพียงเป็นการไขแสดง
ให้เห็นขั้นต้นว่า ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ผู้คนเฝ้ารอคอยมาแต่ยาวนาน แต่ทำให้ตระหนักถึง
ความจริงด้วยว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรสุดที่รักและเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าพระบิดา
สำหรับ เปโตร ยากอบ และยอห์นนั้น เป็นการชิมลางล่วงหน้าถึงแก่นแท้ของการไถ่ให้รอด
ของพระองค์ ซึ่งอธิบายตนเองออกมาในเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ ว่าอยู่บนพื้นฐานของ
การรับทนทรมาน และการสิ้นพระชนม์นั่นเอง จริงๆแล้วการสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์เป็นภาพ
ที่มาก่อนให้เรามองเห็นการประทับบนบัลลังก์ตลอดนิรันดร์ของพระคริสต์ สิริรุ่งโรจน์ข้อนี้เองที่
พระศาสนจักรทำการฉลองในวันนี้

กำหนดวันฉลองนี้เราไม่รู้แน่ๆว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร ที่รับรู้กันก็คือมีการฉลองวันนี้ในกรุงเยรูซาเล็ม
เมื่อต้นศตวรรษที่ 7 และในจักรวรรดิไบเซนไทน์เมื่อศตวรรษที่ 9 ส่วนในพระศาสนจักรออร์โธด๊อกซ์
ก็ถือว่าวันฉลองนี้มีความสำคัญมากเสมอมา สำหรับพวกซีเรียนและอาร์เมเนียนเฉลิมฉลองถึงสามวัน
นับจากวันอาทิตย์ที่เจ็ดหลังวันสมโภชพระจิตเจ้า โดยมีการจำศีลอดอาหารหกวันก่อนหน้านั้น
ในพระศาสนจักรตะวันตกพบหลักฐานกล่าวถึงวันฉลองนี้ในข้อเขียนราวศตวรรษที่ 9 แต่การถือ
วันฉลองนี้ก็ค่อยๆ แพร่หลายไปทั่วทั้งพระศาสนจักรในเวลาต่อๆมา พระสันตะปาปากัลลิสตุสที่สาม
(Pope Callistus III) ได้กำหนดวันฉลองให้เป็นที่วันที่ 6 สิงหาคม เพื่อระลึกถึงวันที่มีชัยชนะอย่าง
ยิ่งใหญ่ต่อพวกเติร์ก (Turks) ที่กรุงเบลเกรด ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1456

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

:s005: :s005:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ส.ค. 09, 2021 8:09 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๗ สิงหาคม
นักบุญกาเยตาน พระสงฆ์
Saint Cajetan

ท่านเป็นคนสำคัญในยุคปฏิรูปพระศาสนจักรยุคนั้นมีการโกงกินและมัวเมากับ
เรื่องทางเนื้อหนัง คนจำนวนมากทรยศต่อพระศาสนจักร แต่ความภักดีของ
ท่านกาเยตานมั่นคงแน่วแน่

ท่านเกิดในเดือนตุลาคม ปี ๑๔๘๐ บิดาเสียชีวิตเมื่อท่านอายุ ๒ ขวบ มารดากวดขัน
ท่านเรื่องการศึกษาความรู้ด้านกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายพระศาสนจักรทำ
ให้ท่านได้ทำงานเป็นนักกฎหมายในพระราชวังของพระสันตะปาปาจูลิอุส ที่ 2
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา ท่านก็ลาออกเพื่อเรียนเตรียมเป็นพระสงฆ์

ท่านรับศีลบวชเมื่ออายุ ๓๖ ปี และตั้งกลุ่มพระสงฆ์ที่ใช้ชีวิตแบบนักพรตในอาราม
ถือเคร่งเรื่องความยากจนและการสวดภาวนาแต่ก็ใช้ชีวิตและทำงานใกล้ชิดกับผู้ยากไร้
เพื่อต่อสู้กับความเหลวแหลกทั้งทางด้านชีวิตจิตและด้านการเมืองของยุคสมัย
คณะของท่านชื่อ Congregation of Clerks Regular เรียกกันทั่วไปว่า Theatines
ตามชื่อตำแหน่งของสหายคนหนึ่งของท่าน คือโจวันนี ปิเอโตรการาฟา
ผู้เป็นพระสังฆราชแห่ง Chieti ซึ่งเขียนเป็น Theate ในภาษาละติน พระสังฆราชท่านนี้
ภายหลังได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาเปาโล ที่ ๔

ความเอาใจใส่ต่อคนจนเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในชีวิตของท่าน ท่านช่วยเหลือ
คนอื่นเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือการตั้งสถาบันอย่างโรงพยาบาลเพื่อช่วยผู้คน
ที่เป็นโรครักษาไม่หาย นอกจากนี้ท่านยังตั้งธนาคารสำหรับคนจน ให้พวกเขายืมเงิน
โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ อย่างที่ต้องเสียให้พวกเจ้าหนี้เงินกู้ ในปี ๑๕๓๓
ท่านสร้างบ้านของคณะในเมืองเนเปิลส์ ที่นี่ท่านต้องต่อสู้กับการเติบโตของกลุ่มลูเธอรัน

ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๑๕๔๗
พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ ๑๐ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๖๗๑

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ส.ค. 09, 2021 8:12 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๘ สิงหาคม
นักบุญดอมินิกแห่งกู๊ซมาน
St. Dominic Guzman

ท่านเกิดที่เมืองคาเลรูเวกา ประเทศสเปน ประมาณปี๑๑๗๐ บิดามารดาของท่าน
อยู่ในตระกูลขุนนางภายหน้า มารดาของท่าน โยอานาจะได้รับการแต่งตั้งเป็น
บุญราศีเช่นเดียวกับน้องชายที่เป็นสมาชิกคณะดอมินิกัน

ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากลุงผู้เป็นพระสงฆ์จากนั้นท่านเข้าเรียนต่อ
ในมหาวิทยาลัย Palencia เป็นเวลา ๑๐ ปี มีเรื่องน่าประทับใจเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
ท่านขายหนังสือหายากที่สะสมไว้ทั้งชุดเพื่อเอาเงินช่วยเหลือคนจน

หลังบวชเป็นพระสงฆ์ พระสังฆราชดีเอโกแห่งออสมาขอให้ดอมินิกช่วยฟื้นฟู
ศาสนจักรท้องถิ่น ท่านอยู่ที่ออสมา ๙ ปีดำเนินชีวิตภาวนาอย่างเข้มข้น จากนั้น
ท่านถูกเรียกตัวให้ร่วมเดินทางไปกับพระสังฆราชเพื่อปฏิบัติภารกิจให้
กษัตริย์อัลฟอนโซ ที่ ๙ แห่ง Castile ในปี ๑๒๐๓ ขณะเดินทางในฝรั่งเศสกับ
ท่านสังฆราช ดอมินิกสังเกตเห็นผลเลวร้ายของคำสอนผิดๆ ของพวกอัลบีเจนเซียน
(Albigensians) ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในดินแดนตอนใต้ของฝรั่งเศส ลัทธินี้ฟื้นฟูแนวคำสอน
เดิมของลัทธิมานีเค (Manicheasnism) ซึ่งประนามโลกวัตถุว่าเป็นอาณาจักรชั่วร้าย
ที่ไม่ได้ถูกสร้างโดยพระเจ้า

ด้วยความกังวลต่อการแพร่ขยายของคำสอนผิดๆ ดอมินิกจึงคิดจะตั้งคณะนักบวช
เพื่อสอนถึงข้อความเชื่อที่จริงแท้ ในปี ๑๒๐๔ ท่านและสังฆราชดิเอโกถูก
พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ ๓ ส่งไปช่วยงานต่อต้านพวกอัลบีเจนเซียน
ซึ่งนอกจากการใช้กำลังทางทหารแล้วยังต้องใช้การชักชวนจูงใจด้านเทววิทยาด้วย

ในฝรั่งเศส ดอมินิกเข้าร่วมวงโต้วาทีเกี่ยวกับข้อคำสอนอยู่เนืองๆ และท่านได้ตั้งอาราม
ซึ่งใช้พระวินัยที่ต่อมาเป็นแนวทางสำหรับคณะดอมินิกันหญิง ท่านปฏิบัติภารกิจเทศน์สอน
ระหว่างปี ๑๒๐๘-๑๒๑๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้กำลังทางทหารอย่างรุนแรง
กับกลุ่มอัลบีเจนเซียน

ในปี ๑๒๑๔ สุขภาพของท่านทรุดโทรมเพราะการทรมานตน อาการวิกฤต
แม่พระทรงประจักษ์มาและแนะนำให้ท่านเผยแผ่การสวดสายประคำ
ใช้ข้อรำพึงเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับเอากายและชีวิตของพระคริสต์ต่อสู้กับทัศนะของ
พวกอัลบีเจนเซียน ที่เห็นว่าโลกวัตถุชั่วร้าย

ในปีเดียวกันนี้เอง ท่านคืนสู่เมือง Toulouse และได้รับความเห็นชอบจากพระสังฆราช
ในการตั้งคณะนักบวชเพื่อการเทศน์ท่านเดินทางพร้อมกับพระสังฆราชไปโรม
เพื่อเข้าร่วมสังคายนาสากลในปี ๑๒๑๕ สังคายนาครั้งนี้เน้นถึงความจำเป็นของ
พระศาสนจักรที่จะต้องมีการเทศน์สอนที่ดีกว่าเดิม แต่ก็กำหนดข้อขัดขวางสำหรับ
การก่อตั้งสถาบันนักบวชใหม่ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม คณะของท่านได้รับการอนุมัติจาก
พระสันตะปาปาในปี ๑๒๑๖ คณะนักเทศน์ (Order of Preachers) หรือคณะดอมินิกัน
(Domicans) แผ่ขยายไปทั่วยุโรปด้วยความสนับสนุนของพระสันตะปาปาองค์นี้

ท่านใช้เวลาปีท้ายๆ ของชีวิตกับภารกิจเทศน์สอน กล่าวกันว่าท่านได้ทำ
ให้คนกลับใจถึง ๑ แสนคน วัน
ที่ ๖ สิงหาคม ๑๒๒๑ ท่านสิ้นใจหลังป่วยหนักอยู่หลายสัปดาห์
พระสันตะปาปาเกรกอรี่ ที่ ๙ ประกาศ
ตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๒๓๔

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ส.ค. 09, 2021 8:18 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๙ สิงหาคม
นักบุญเทเรซา เบเนดิกตาแห่งไม้กางเขน
St. Teresa Benedicta of the Cross

ชื่อเดิมของท่านคือเอดิธ สไตน์ท่านกลับใจจากถือศาสนายิวเป็นคาทอลิก
ในช่วงศึกษาปรัชญา ภายหลังท่านเข้าเป็นนักบวชคณะคาร์เมไลท์และเสียชีวิต
ในค่ายกักกันของนาซีที่เอาชวิทซ์ในปี๑๙๔๒

เอดิธ สไตน์เกิดวันที่๑๒ ตุลาคม ๑๘๙๑ วันนั้นตรงกับวันฉลองยัม คิปปูร์ (Yom Kippur)
วันแห่งการชดเชยบาปของชาวยิวพอดีบิดาเสียชีวิตขณะท่านอายุ๒ ขวบ
เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ท่านก็เลิกถือความเชื่อแบบยิวเอดิธมีสติปัญญาลึกซึ้ง
ท่านได้เลือกศึกษาด้านปรัชญาและเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงแห่งยุค
คือเอ็ดมุนด์ฮุสเซิลในชั้นเรียน เอดิธผู้ไม่ถือศาสนาใดได้รู้จักชาวคริสต์หลายคน
ที่เธอชื่นชมในความเฉลียวฉลาดและชีวิตฝ่ายจิตของ
พวกเขา

หลังจบการศึกษาโดยได้รับปริญญาเกียรตินิยมสูงสุดจากมหาวิทยาลัย Gottingen
ในปี ๑๙๑๕ ท่านสมัครทำหน้าที่พยาบาลในโรงพยาบาลสนามช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
และกลับคืนสู่งานวิชาการ ท่านได้รับปริญญาเอกจากวิทยานิพนธ์ที่ถือว่าโดดเด่น
เรื่องปรากฏการณ์ของความเห็นใจ

ในปี ๑๙๒๑ ขณะเยี่ยมและพักผ่อนกับเพื่อน เอดิธใช้เวลาทั้งคืนอ่านประวัติชีวิตของ
ซิสเตอร์คาร์เมไลท์ในศตวรรษที่ ๑๖ คนหนึ่ง ชื่อของซิสเตอร์คนนั้นคือเทเรซาแห่งอาวีลา
"เมื่อฉันอ่านจบ" ท่านเล่าภายหลัง "ฉันบอกตัวเองว่า นี่ล่ะคือความจริง" เธอรับศีลล้างบาป
เป็นคาทอลิกในวันแรกของเดือนมกราคมปี ๑๙๒๒

เอดิธตั้งใจจะเข้าคณะคาร์เมไลท์ทันทีหลังการกลับใจ แต่ท่านต้องรอคอยอีก 11 ปีก่อน
จะสมหวังระหว่างนั้น ท่านสอนที่โรงเรียนของคณะดอมินิกัน และให้การบรรยายหัวข้อเ
รื่องสตรีท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับนักบุญโทมัส อไควนัส และรับตำแหน่งสอน
ในมหาวิทยาลัยปี ๑๙๓๒

ปี ๑๙๓๓ ลัทธินาซีเริ่มเรืองอำนาจเอดิธผู้มีเชื้อสายยิวถูกบังคับให้ยุติอาชีพการสอน
หลังการอำลาอย่างเจ็บปวดกับแม่ซึ่งไม่อาจยอมรับการเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ของลูกสาว
ท่านได้เข้าอารามคาร์เมไลท์ในปี ๑๙๓๔ และเลือกใช้ชื่อ "เทเรซา เบเนดิกตาแห่งไม้กางเขน"
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับความทุกข์ยากลำบาก

"ฉันรู้สึกว่า..." เธอเขียน "ผู้ที่เข้าใจถึงไม้กางเขนของพระคริสต์ควรรับแบกไว้แทนทุกคน"
เธอเห็นว่ากระแสเรียกของเธอคือ "การวิงวอนพระเจ้าเพื่อคนอื่นๆ" แต่เธอภาวนาพิเศษ
สำหรับชาวยิวในเยอรมันซึ่งชะตากรรมน่าสลดกำลังปรากฏชัด "ฉันขอให้พระองค์ทรงรับ
เอาชีวิตและความตายของฉัน" ท่าน
เขียนในปี ๑๙๓๙ "เพื่อว่าพระองค์จะได้เป็นที่ยอมรับของประชากรของพระองค์และ
อาณาจักรของพระองค์จะรุ่งเรือง เพื่อความรอดของเยอรมันและสันติสุขของโลก"

หลังเสร็จสิ้นงานเขียนชิ้นสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวกับนักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน ชื่อ
"ศาสตร์แห่งไม้กางเขน"
ท่านก็ถูกจับพร้อมกับโรซา น้องสาวที่กลับใจเป็นคาทอลิกด้วยและพร้อมกับ
สมาชิกในบ้านนักบวช
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๑๙๔๒ การจับกุมครั้งนี้เป็นการโต้ตอบพวกสังฆราชชาวดัชท์
ที่เขียนจดหมาย ประณามการกระทำของพวกนาซีต่อชาวยิว

เทเรซา เบเนดิกตาแห่งไม้กางเขน เสียชีวิตในค่ายกักกันเอาชวิทซ์
ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๒ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๙๘ และปีถัดมา
ประกาศให้ท่านเป็นหนึ่ง ในนักบุญองค์อุปถัมภ์ของยุโรป

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 11, 2021 10:51 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๐ สิงหาคม
นักบุญลอเรนซ์
St. Lawrence

"พระคริสต์มอบชีวิตของพระองค์เพื่อเราฉันใด เราควรจะมอบชีวิตของเราเพื่อพี่น้อง
ฉันนั้น " ท่านลอเรนซ์เข้าใจสิ่งนี้ดีและท่านได้ลงมือกระทำให้เห็นจริง ในชีวิต
ท่านรักพระคริสต์ในความตาย ท่านได้ดำเนินตามรอยพระบาทพระองค์"
นักบุญออกัสติน บทเทศน์ในวันฉลองนักบุญลอเรนซ์

นักบุญลอเรนซ์เป็นมรณสักขีในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ปี ๒๕๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของ
การเบียดเบียนพระศาสนจักรโดยจักรพรรดิวาเลรีอัน ท่านเสียชีวิตพร้อมกับ
พระสงฆ์ชาวโรมันคนอื่นๆ จำนวนมาก ท่านเป็นหนึ่งในสังฆานุกรคนสุดท้ายของ
โรมภายหลังจากพระสันตะปาปาซิกส์ตุส ที่ ๒ ถูกประหารเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม
ลอเรนซ์ก็ได้เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของพระศาสนจักร เมื่อถูกเรียกตัวไปต่อหน้า
ผู้กดขี่ข่มเหง ท่านนำเอาสิ่งมีค่าทั้งมวลของพระศาสนจักรไปด้วย ท่านยืนร่วมกับ
คนพิการคนยากไร้คนป่วย บอกพวกเขาว่า "นี่ล่ะ ทรัพย์สมบัติแท้จริงของ
พระศาสนจักร" ท่านถูกนำตัวไปตะแลงแกงทันทีพวกเขาจับท่านย่างทั้งเป็น
ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักบุญองค์อุปถัมภ์ของโรม
ร่วมกับนักบุญเปโตรและเปาโล

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 11, 2021 10:55 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๑ สิงหาคม
นักบุญคลาราแห่งอัสซีซี
St. Clare of Assisi

"จงก้าวไปข้างหน้าอย่างปราศจากความหวาดกลัววิญญาณคริสตชนเอ๋ย
เพราะเจ้ามีมัคคุเทศก์ที่ดีสำหรับการเดินทางของเจ้าจงเดินต่อไปอย่าง
ไม่พรั่นพรึง พระองค์ผู้ทรงสร้างเจ้าได้ทำให้เจ้าศักดิ์สิทธิ์ทรงพิทักษ์เจ้า
ตลอดเวลาและรักเจ้าประดุจมารดา" วาทะสุดท้ายของนักบุญคลาราก่อนสิ้นใจ

นักบุญคลาราเกิดเมื่อปี ๑๑๐๓ ที่เมืองอัสซีซีตระกูลของเธอมียศศักดิ์ ก่อน
ให้กำเนิด มารดาได้รับเครื่องหมายว่าลูกสาวคนนี้จะนำแสงสว่างของ
พระเจ้ามายังโลก คลาราชอบการภาวนาตั้งแต่เยาว์วัยเธอเฝ้าศีลมหาสนิท
อย่างศรัทธาและแสดงความออนโยนแก่ผู้ยากไร้ เมื่ออายุ ๑๘ ปีคลาราได้
ฟังนักบุญฟรังซิสเทศน์ที่ลานจัตุรัสกลางเมืองในช่วงมหาพรต เธอรู้ทันทีว่า
พระเจ้าต้องการให้เธอสละตัวเองเพื่อพระองค์ เย็นวันต่อมาคลาราหลบออก
จากบ้านในเวลากลางคืน วิ่งไปพบนักบุญฟรังซิสและกลุ่มของท่านที่วัดซึ่ง
พวกท่านพำนัก เธอบอกถึงความปรารถนาที่จะใช้วิถีชีวิตเหมือนอย่างท่าน
นักบุญฟรังซิสรับเธอไว้มอบเสื้อนักพรตให้ ตัดผมยาวสลวยสีทองของเธอ
และส่งเธอไปที่อารามเบเนดิกตินเพราะไม่สามารถให้เธอพักกับกลุ่มภราดาได้
น้องสาวของเธออักแนสก็ตามมาอยู่ร่วมกับเธอด้วย ทั้งสองต้องขัดขืนอย่างหนัก
ต่อแรงกดดันของครอบครัวที่ต้องการให้ทั้งคู่กลับบ้าน

เมื่อคลาราอายุ ๒๒ ปีนักบุญฟรังซิสมอบหมายให้ท่านเป็นอธิการิณีดูแลบ้านนักบวช
แห่งหนึ่ง ท่านทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง ๔๒ ปีจนกระทั่งเสียชีวิต
"พวกคลาริสยากจน" เป็นชื่อที่ผู้คนเรียกพวกท่าน พวกท่านดำเนินชีวิตที่ถือพรตเคร่งครัด
ผิดจากสตรีในสมัยนั้น พวกท่านเดินเท้าเปล่าทั่วเมืองเพื่อขอทาน สวมใส่เสื้อผ้ากระสอบ
และไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติใดๆ สิ่งที่เน้นเป็นสำคัญในชีวิตของพวกท่าน
คือการรำพึงภาวนา เยาวสตรีสูงศักดิ์จำนวนมากละทิ้งทุกอย่างมาสวมชุดนักบวช
คณะคลาริสคณะเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการก่อตั้งบ้านคณะตามที่ต่างๆ ทั่วอิตาลี
ทุกคนยึดเอาคลาราเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์
ของคลาราเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

เมื่อใกล้วาระสุดท้าย พระสันตะปาปาเป็นผู้มาโปรดศีลทาสุดท้ายให้ท่านในปี ๑๒๕๓
พระองค์อยากจะประกาศให้ท่านเป็นนักบุญทันทีที่ท่านสิ้นใจ หากแต่ได้รับคำแนะนำ
จากเหล่าคาร์ดินัลให้รอก่อน คลาราสิ้นใจอย่างสงบ ท่านพูดกับภราดาคนหนึ่งที่เฝ้าอยู่
ข้างเตียงว่า ""บราเดอร์ที่รัก ตั้งแต่ฉันรู้จักพระหรรษทานของพระเยซูคริสตเจ้าพระเจ้า
ของเราผ่านทางฟรังซิส ผู้รับใช้ของพระองค์ ความเจ็บปวดหรือการป่วยไข้ใดๆ
ไม่เคยทำให้ฉันทุกข์เลยในชีวิต"

ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๒๕๕ เพียงสองปีหลังการตายของท่าน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 12, 2021 10:45 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๒ สิงหาคม
นักบุญเจน ฟรังเชส เดอชังตาล
St. Jane Frances de Chantal

"ในตัวมาดามเดอชังตาลข้าพเจ้าเห็นสตรีที่สมบูรณ์ครบครัน อย่างที่กษัตริย์ซาโลมอน
จะหาได้ยากในเยรูซาเล็ม" นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ผู้แนะนำชีวิตจิตของเธอ

เจน ฟรังเชส เกิดในตระกูลผู้ดีบิดาเป็นประธานสภาเบอร์กันดีเมื่ออายุ ๒๐ ปี
ท่านสมรสกับบารอนเดอ ชังตาล มีลูก ๔ คน ท่านรักและดูแลครอบครัวอย่างดี
จนกระทั่งสามีเสียชีวิตในอุบัติเหตุล่าสัตว์เมื่อเขาอายุ ๒๘ ปีท่านจำต้องใช้ชีวิตอยู่
ในบ้านของพ่อสามีเป็นเวลา ๗ ปีต้องอดทนรับอารมณ์เกรี้ยวกราดของเขา
ในช่วงเวลานี้ท่านปฏิญาณว่าจะไม่แต่งงานใหม่ท่านภาวนาขอให้พระเจ้าส่งผู้แนะนำ
มาให้และได้เห็นในภาพนิมิตถึงหน้าตาของผู้ที่พระองค์จัดเตรียมไว้ช่วงระหว่าง
มหาพรตปี ๑๖๐๔ ท่านไปเยี่ยมบิดาที่เมืองดิจอง ที่นั่น นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์กำลัง
เทศน์ที่วัด Sainte Chapelle ท่านจำได้ทันทีว่านี่คือบุคคลที่เห็นในภาพนิมิต
จึงสมัครมอบตัวอยู่ภายใต้การแนะนำของท่านนักบุญ บุคคลทั้งสองเขียนจดหมาย
ติดต่อกันมากมายหลายฉบับ ซึ่งตกทอดเป็นมรดกล้ำค่าในเรื่องการแนะนำชีวิตฝ่ายจิต

ในปี๑๖๑๐ ท่านเดินทางไปเมือง Annecy ที่ซึ่งท่านเชื่อว่าพระเจ้าต้องการให้ท่านตั้งคณะ
นักบวชหญิงที่มีกระแสเรียกดำเนินชีวิตคริสตชนครบครัน โดยไม่ต้องปฏิบัติเคร่งครัด
เหมือนคณะนักบวชในเวลานั้นท่านจึงก่อตั้งคณะแห่งการเยี่ยมเยียน (Visitation)
ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๑๖๑๐ แนวทางชีวิตจิตของซิส
เตอร์คณะผู้เยี่ยมเยียน เป็นแนวทางอย่างเดียวกับของนักบุญฟรังซิส คือให้รักษาจิตใจ
เป็นหนึ่งกับพระประสงค์ของพระเจ้าและทำทุกอย่างให้พระองค์พอพระทัย เมื่อท่านสิ้นใจ
ในอีก ๓๑ ปีต่อมา มีอารามคณะผู้เยี่ยมเยียนมากถึง ๘๖ แห่ง ชีวิตจิตของนักบุญเจน
ฟรังเชส เดอ ชังตาลเข้มแข็งแต่ก็ยืดหยุ่น ท่านไม่ชอบเห็นลูกๆ ของท่านยอมแพ้ต่อความ
อ่อนแอประสามนุษย์ ท่านกระตุ้นพวกเขาเสมอๆ ให้ต่อสู้กับกิเลสและความโน้มเอียงที่นำตน
ให้ห่างจากพระ ท่านพบการทดสอบอย่างต่อเนื่องและทนรับอย่างกล้าหาญ ท่านรับแบกกางเขน
ภายใน โดยเฉพาะระยะเวลา ๙ ปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานยิ่งในวิญญาณ
แต่ท่านก็หลุดพ้นเป็นอิสระได้ใน ๓ เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นใจ

ชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์ของท่านขจรขจาย พระราชินีเจ้าชายเจ้าหญิงหลั่งไหลกันมายัง
ห้องรับแขกของอาราม ที่แห่งใดก็ตามที่ท่านไปตั้งสาขาคณะผู้คนพากันชื่นชมต้อนรับ
"พวกคนเหล่านี้" ท่านกล่าว"ไม่รู้จักฉัน พวกเขาเข้าใจผิดไปแล้ว" ร่างของท่านได้ถูกเก็บแสดง
ให้ผู้คนเคารพร่วมกับนักบุญฟรังซิสเดอ ซาลส์ ในวัดของคณะที่ Annecy
ท่านถูกประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๗๖๗

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 13, 2021 3:36 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๓ สิงหาคม
นักบุญมักซีมุส
St. Maximus

"การควบคุมความอิจฉา ความโกรธเคือง ความรำคาญต่อผู้ทำผิดต่อท่าน
ยังไม่ใช่ความรัก เพราะแม้ปราศจากความรัก บุคคลก็ยังสามารถควบคุมตน
ที่จะไม่ตอบแทนความเลวด้วยความเลวได้ แต่การตอบแทนความชั่วร้ายด้วย
ความดีชนิดที่เป็นไปเองตามธรรมชาติต่างหากที่เป็นความรักของชีวิตฝ่ายจิต
ที่สมบูรณ์" นักบุญมักซีมุส

นักบุญมักซีมุสเป็นที่รู้จักในชื่อ "นักเทววิทยา" และ "มักซีมุสผู้ฟังแก้บาป"
ท่านเกิดที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล ประมาณปี ๕๘๐ และเสียชีวิตในการถูก
อัปเปหิวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๖๖๒ ท่านทำงานร่วมกับพระสันตะปาปามาร์ติน ที่ ๑
ต่อสู้กับพวกนอกรีต Monothelist และเข้าร่วมสังคายนาลาเตรันปี ๖๔๙ท่าน
เป็นนักปราชญ์ของนักเทววิทยาในเรื่องการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระวจนาตถ์
และรหัสนิยม เคร่งครัด

ท่านมาจากครอบครัวสูงศักดิ์ของเมืองคอนสแตนติโนเปิล ท่านทำงานเป็นเลขานุการ
ให้จักรพรรดิเฮราคลิตุส ซึ่งโปรดปรานท่านมากแต่มักซีมุสกลับปลีกตัวจากโลกใช้ชีวิต
ในการรำพึงภาวนาในอารามที่ครีโซโปลีส ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองคอนสแตนติโนเปิล
ท่านได้เป็นอธิการอาราม แต่ต้องออกจากอารามเพราะความอาฆาตของศัตรู

ท่านพยายามปกป้องข้อความเชื่อเที่ยงแท้ทำให้ถูกกล่าวหาว่าทรยศ ท่านถูกจับกุมตัว
และบังคับด้วยกำลังให้กลับไปเมืองคอนสแตนติโนเปิล ที่นั่น ท่านผ่านวันเวลาทุกข์ยาก
ในที่คุมขังจนกระทั่งถึงอายุ๘๒ ปีจึงถูกพิพากษาครั้งสุดท้ายท่านถูกประกาศว่ามีความผิด
ด้านข้อคำสอน ร่วมกับนักบุญมาร์ตินและนักบุญโซโฟรนิอุส ผู้ปกครองเมืองสั่งให้ทุบตี
พวกท่าน ตัดลิ้นและมือขวาลากประจานให้คนทั้งเมืองเห็น และถูกส่งตัวไปคุมขังภายใต้
คำสั่งเนรเทศตลอดชีวิต

จดหมายของชาวโรมันคนหนึ่ง ชื่ออนาธาซีอุส บอกให้เราทราบถึงความทุกข์ทรมาน
ในการเดินทางไปเมือง Colchis ที่ซึ่งพวกท่านถูกแยกขังในป้อม เขาบอกเราว่า
นักบุญมักซีมุสเห็นล่วงหน้าถึงวันที่ท่านจะตายและแสงสว่างน่าอัศจรรย์ปรากฏทุกคืน
บนหลุมฝังศพของท่าน

ท่านมักซีมุสตายเพื่อคำสอนที่เที่ยงแท้และด้วยความนบนอบต่อศาสนจักรโรม
ท่านเป็นหนึ่งในนักเขียนเด่นด้านเทววิทยาของศาสนจักรกรีกและ
ได้รับเกียรตินามว่า นักเทววิทยา

CR. : Sinapis

ให้เราดูตัวอย่างของนักบุญ 2 องค์คือ: (1) นักบุญ ปอนซีอาโน พระสันตะปาปา;
และ (2) นักบุญ ฮิปโปลิต พระสงฆ์ และมรณสักขี:

(1) นักบุญ ปอนซีอาโน พระสันตะปาปา (+230) พระศาสนจักรถือว่าท่านเป็น
มรณสักขีด้วย เพราะท่านได้จบชีวิตลงในถิ่นเนรเทศ โดยได้รับการปฏิบัติอย่าง
เลวร้ายในเหมืองแร่ที่เกาะซาร์ดีเนีย ท่านยอมสละหน้าที่ และตำแหน่งของท่าน
เพื่อพระศาสนจักรกรุงโรมจะได้มีเอกภาพ

(2) นักบุญฮิปโปลิต (+225) เป็นพระสงฆ์ และเป็นนักเขียนที่มีความสามารถมาก
ผลงานของท่านคือ “หนังสือว่าด้วยเรื่องจารีตพิธีกรรมของพระศาสนจักร”
ท่านยังเป็นผู้อธิบายพระคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่คนแรก; เนื่องจากท่านเป็นคนหัวรุนแรง
จึงดูเหมือนกลายเป็นปฏิปักษ์กับพระสันตะปาปาหลายองค์ รวมทั้งพระสันตะปาปา
ปอนซีอาโนด้วย แต่ในที่สุด ท่านก็ได้ปรับความเข้าใจและคืนดีกัน ตามคำพระเจ้าสอน
; ท่านถูกเนรเทศไปที่ซาร์ดิเนีย และตายที่นั่นเหมือนพระสันตะปาปาปอนซีอาโน ในปี 235;
ศพของท่านทั้งสองถูกฝังไว้ที่กรุงโรม ในฐานะมรณสักขีอย่างสง่า

############
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 14, 2021 7:37 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๔ สิงหาคม
นักบุญมักซีมีเลียน โกลเบ
St. Maximilian Kolbe

ท่านเป็นพระสงฆ์คณะฟรังซิสกันชาวโปแลนด์ เป็นมิสชันนารีและเป็นมรณสักขี
ท่านเสียชีวิตในค่ายกักกันเอาชวิทช์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเป็นที่จดจำ
ในฐานะ "มรณสักขีแห่งความรัก" เพราะยอมสละชีวิตตายแทนเพื่อนนักโทษคนหนึ่ง
พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตั้งท่านเป็นนักบุญวันที่
๑๐ ตุลาคม ๑๙๘๒

ท่านยังทำงานโดดเด่นด้านแพร่ธรรม ท่านใช้สื่อสมัยใหม่ประกาศพระวรสาร ท่านมี
ความศรัทธาพิเศษต่อพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล ท่านก่อตั้งองค์กร Militia Immaculata
(กองกำลังของแม่พระปฏิสนธินิรมล) ซึ่งยังคงสืบสานภารกิจชักจูงบุคคลและสังคม
เข้าสู่ศาสนจักรคาทอลิกโดยอุทิศถวายแด่พระนางมารีย์พรหมจารี

ตามประวัติชีวิต ท่านถูกเรียกจากพระนางมารีย์ให้ดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์และเป็นมรณสักขี
ในวัยเด็กท่านอารมณ์ร้อนและทำตัวไม่ดี ท่านได้สวดขอพระนางให้ช่วยนำทาง และเล่า
กันว่าพระนางปรากฏองค์แก่ท่าน ถือมงกุฎ ๒ วงวงหนึ่งสีขาวแทนความบริสุทธิ์และอีก
วงสีแดงแทนการเป็นมรณสักขี

เมื่อถูกถามว่าจะเลือกมงกุฏใด ท่านตอบว่าท่านต้องการทั้งสอง เหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนชีวิตท่าน
ท่านสมัครเข้าบ้านเณรเล็กเมื่ออายุ ๑๓ ปีท่านปฏิญาณตนในคณะฟรังซิสกันเมื่ออายุ ๒๐ ปี
และศึกษาจนสำเร็จปริญญาเอกด้านปรัชญาในปีถัดมา แต่ท่านเป็นวัณโรคเรื้อรัง ซึ่งทำลาย
ปอดไปข้างหนึ่งและอีกข้างอ่อนแอ

ในปี ๑๙๑๗ ท่านก่อตั้ง Militia Immaculata เพื่อรับมือกับกลุ่มต่อต้านคาทอลิกที่เรียกว่า
กลุ่มFreemasons อิตาเลียน การก่อตั้งกลุ่มบังเอิญตรงกับเหตุการณ์ปฏิวัติบอลเชวิก
ในรัสเซีย และการประจักษ์ของพระแม่ที่ฟาติมา โปรตุเกส

ท่านกลับไปทำงานที่โปแลนด์ในช่วงทศวรรษ ๒๐ ที่นั่น ท่านทำงานส่งเสริมความเชื่อ
คาทอลิกผ่านทางหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ซึ่งมียอดพิมพ์จำนวนสูงมากปี ๑๙๓๐
ท่านย้ายไปทำงานที่ญี่ปุ่น และก่อตั้งหนังสือพิมพ์คาทอลิกญี่ปุ่นพร้อมกับตั้งอาราม

ท่านกลับคืนโปแลนด์ปี ๑๙๓๓ เยอรมันบุกโปแลนด์ท่านถูกจับและได้รับการปล่อยตัว
ช่วงสั้นๆ ซึ่งท่านพิมพ์นิตยสารฉบับสุดท้ายก่อนถูกจับอีกครั้งและถูกส่งตัวไปค่ายกักกัน
เอาชวิทซ์ในปี ๑๙๔๑

ต้นเดือนสิงหาคมของปีนั้น นักโทษ ๑๐ คนโดนสั่งประหารชีวิตด้วยวิธีให้อดตายเพราะ
มีเพื่อนนักโทษหลบหนี นักโทษคนหนึ่งร้องไห้คร่ำครวญ เขามีภรรยาและลูกหลายคน
มักซีมีเลียน โกลเบจึงอาสาขอรับความตายแทนเขา

ผู้รอดชีวิตจากค่ายนั้นให้การว่าพวกนักโทษประหารที่ต้องอดอาหาร พากันสวดภาวนา
และร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า นำโดยพระสงฆ์ผู้อาสารับความตายอย่างทรมานกับ
พวกเขา หลังจากนั้น 2 สัปดาห์
ในคืนก่อนวันฉลองการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางมารีย์พวกทหารดูแลค่ายตัดสินใจ
เร่งความตายของคุณพ่อโกลเบให้เร็วขึ้นด้วยการฉีดกรดคาร์บอลิกเข้าตัว

ร่างกายของท่านถูกเผาในวันตรงกับวันฉลองแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 14, 2021 7:50 pm

15 สิงหาคม
สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
(The Assumption of the Blessed Virgin Mary, solemnity)

แม้ไม่มีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนถึงสิทธิพิเศษของการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์
ของแม่พระในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่ทางธรรมประเพณีและดูเหมือน
เหตุผลทางเทววิทยาก็ชี้ให้เห็นถึงการไขแสดงโดยปริยายในพระคัมภีร์ถึงเรื่องนี้

ในพันธสัญญาเดิม เอกลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของพระแม่มารีย์ถูก
ประกาศในฐานะเป็น "สตรี" ที่โดยผ่านทางเธอ การไถ่ให้รอดที่ทรงสัญญาไว้จะ
เป็นไปได้จริง (ปฐก 3:15)

ในพันธสัญญาใหม่ได้ประกาศความจริงเรื่องการไถ่ให้รอดนั้น (ลก 1:31-35; 1ยน 3:9)
และพระนางพรหมจารีมารีย์เป็นผู้ "เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน" ซึ่งจะไม่สามารถทรงเป็นผู้
ครบครันบริบูรณ์ดังที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นแต่ว่าพระนางจะทรงดำรงอยู่โดย
ไม่เสื่อมสลายไป (เทียบ 1คร 15:54-57)

จึงเป็นการถูกต้องแล้วที่ นักบุญเยอร์มานุส แห่งคอนสแตนติโนเปิล (ราวปี 733)
ได้เขียนไว้ว่า "พระวรกายอันเป็นพรหมจรรย์ของพระนางมารีย์เป็นสิ่งที่รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์
และบริสุทธิ์เข้าไว้ด้วยกันซึ่งดำรงอยู่เพื่อพระเจ้า และไม่มีวันจะเสื่อมสลายเป็นฝุ่นดินเลย"

ธรรมประเพณีเรื่องการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ได้ถูกประกาศมาแต่เนิ่นนานแล้วตั้งแต่
ในปี ค.ศ.749 โดยนักบุญยอห์น ดามาซีน (St. John Damascene)
ส่วนพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (1159-1181) ได้เขียนไว้ว่า พระนางมารีย์ได้ให้บังเกิด
โดยไม่มีความด่างพร้อยทางพรหมจรรย์ ทรงให้กำเนิดพระบุตรโดยปราศจากความเจ็บปวด
ดังนั้น จึงเสด็จจากไปโดยไม่เน่าเปื่อย ตามคำของทูตสวรรค์ หรือโดยพระเจ้าตรัสผ่านทาง
ทูตสวรรค์ว่า "พระนางจะทรงเป็นผู้ที่มีพระหรรษทานเต็มเปี่ยม ไม่ใช่แบบครึ่งๆกลางๆ"
และในปี 1568 พระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ได้ทรงประกาศให้วันสมโภชการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์
เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งพระศาสนจักร

การพัฒนาของข้อความเชื่อนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับวันฉลองที่อุทิศแด่แม่พระที่กระทำใน
วันที่ 15 สิงหาคม เพื่อระลึกถึง "การบรรทมของพระนาง" (her dormition or "falling asleep")
เมื่อวันฉลองนี้ ซึ่งแต่เดิมเกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิไบเซนไทน์ - อาจจะในศตวรรษที่ 5 -
เข้ามาสู่พระศาสนจักรตะวันตก คำว่า "บรรทม" (dormition) ก็ถูกแทนด้วยคำว่า
"ได้รับยกขึ้นสวรรค์" (assumption) นี่เป็นผลมาจากการเน้นถึงความสำคัญทางเทววิทยา
ที่เพิ่มขึ้นในเรื่องพระสิริรุ่งโรจน์ของความเป็นบุคคลทั้งครบของพระนางมารีย์ ตัวอย่างเช่น
ในเรื่องของกายและวิญญาณของพระนาง ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นล่วงหน้าถึงสถานะที่ทรงสัญญา
ไว้กับมนุษยชาติทั้งมวลที่ยังมาไม่ถึง

อนึ่ง คริสตชนมักจะถือว่าพระนางมารีย์เป็นพระมารดาของพระเจ้า และนั่นหมายถึง
ตั้งแต่แรกที่พระนางปฏิสนธิเลยทีเดียว บาปไม่มีอำนาจใดๆเหนือพระนาง จึงทรงพร้อมเสมอ
ที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าในฐานะทาสีของพระองค์ พระนางทรงอยู่ในตำแหน่งที่มี
ความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งความรอด เป็นรองก็เพียงแต่พระบุตรของพระนางเท่านั้น
และเพราะว่าพระคริสต์ทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต พระองค์เองก็ได้ตรัสว่า "เราอยู่ที่ใด
ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย" (ยน 12:26) ถ้าเป็นเช่นนี้ ทำไมพระมารดาของพระองค์เองจะ
ไม่มีส่วนร่วมในสถานที่พำนักของพระองค์เล่า ผลที่ตามมาก็คือ พระสันตะปาปาปีโอที่ 12
ภายหลังจากทรงสอบถามบรรดาพระสังฆราชทั่วโลกด้วยแบบประเมินอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ
ความรู้สึกของคริสตชนจากทุกสังฆมณฑลและทรงได้รับคำตอบแล้ว จึงทรงประกาศอย่างเป็น
ทางการว่า "การรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของพระนางพรหมจารี"
(the Assumption) เป็นข้อความเชื่อของพระศาสนจักร ในสมณลิขิตของพระองค์ที่มีชื่อว่า
"Munificentissimus Deus," เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1950

บัดนี้ ผู้ที่เป็นเสมือนหีบพันธสัญญาใหม่อันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงให้กำเนิดองค์พระผู้สร้าง
ในครรภ์ของพระนาง ได้เสด็จมาพักผ่อนในพระวิหารของพระเจ้าเอง วันนี้ พระศาสนจักร
ปลื้มปิติในการเทิดเกียรติทาสีผู้ต่ำต้อยขององค์พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงแล้ว องค์พระเจ้าผู้ทรง
ฤทธานุภาพผู้ได้ "ทรงทำสิ่งยิ่งใหญ่" สำหรับพระนางมารีย์ ดังที่พระนางได้ทรงประกาศไว้
ในบท "สรรเสริญของพระนาง" (Magnificat) มาบัดนี้ได้ทรงกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกว่า
ทุกสิ่งเพื่อพระนาง แท้จริงแล้วเรื่องการเข้าสู่สวรรค์ของพระนาง (Assumption) อาจจะอธิบาย
ได้เป็นอย่างดีในฐานะว่าเป็นปัสกาของพระมารดาของเรา (as Our Lady's Easter)
เพราะในวันนี้ เราสมโภชไม่เพียง เฉพาะพระนางเสด็จผ่านจากชีวิตบนโลกนี้เท่านั้น แต่สมโภช
การกลับคืนชีพของพระนาง และการเสด็จสู่สวรรค์ที่เต็มไปด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย ณ ที่นั้น
พระนางทรงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับชัยชนะขององค์พระผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ

ภายใต้จิตสำนึกเช่นนี้ บท Magnificat อาจจะเข้าใจได้ดีที่สุดว่าเป็น พันธสัญญาแห่ง
ความเชื่อของพระนางมารีย์เอง (as Mary's own Testament of Faith) - เป็น "พันธสัญญา"
ที่ทำให้เรากล้าจะแสดงความเชื่อในส่วนลึกของเราออกมา เป็นความเชื่อที่ท้าทายเราให้
พิจารณาเข้าไปภายใน ดังเช่นที่นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ได้ตรัสไว้ว่า
"เราแต่ละคนต้องพิจารณาชีวิตของตนเองด้วยสายตาของพระแม่มารีย์ - ทุกสิ่งที่พระเจ้าได้
ทรงกระทำต่อพระแม่ พระองค์ได้ทรงกระทำเพื่อเรา และดังนั้นได้ทรงกระทำในเรา"
ดังนั้น ในวันสมโภชนี้ ซึ่งเป็นวันสมโภชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวันสมโภชทั้งหลายของพระนางมารีย์
พระศาสนจักรทั่วสากลร่วมเสียงเป็นหนึ่งเดียวกับพระนางสรรเสริญพระเจ้าว่า
"พระนามของพระองค์ทรงศักดิ์สิทธิ์"

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ส.ค. 16, 2021 5:22 pm

วันที่ ๑๕ สิงหาคม
สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
The Assumption of the Blessed Virgin Mary

วันนี้ชาวคาทอลิกฉลองการเข้าสู่สวรรค์ของพระนางมารีย์พรหมจารี พระนางเสด็จจาก
โลกนี้เข้าร่วมประทับอยู่กับพระเจ้าทั้งกายและวิญญาณ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒
ประกาศข้อความเชื่อนี้ในปี๑๙๕๐ ในธรรมนูญของพระศาสนจักรเรื่อง
“Munificentissimus Deus” (พระเจ้าทรงอานุภาพสูงสุด)

แต่ความเชื่อนี้มีมาแต่ช้านานแล้วในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ปิตาจารย์ของ
พระศาสนจักรหลายท่านได้เขียนข้อรำพึงทางเทววิทยาจากข้อความหลายตอนใน
พระคัมภีร์ซึ่งบ่งแสดงว่าแม่พระเสด็จสู่สวรรค์หลังจากชีวิตบนโลกสิ้นสุดลง

เหตุการณ์เสด็จสู่สวรรค์ของแม่พระแม้จะไม่มีบันทึกในพระวรสาร แต่ธรรมประเพณี
ของคาทอลิกระบุว่าแม่พระก็คือ "สตรีที่มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์" ตามที่หนังสือวิวรณ์
ของนักบุญยอห์น บทที่ ๑๒กล่าวถึงในข้อความตอนนี้สตรีผู้นั้นเป็น "หมายสำคัญยิ่งใหญ่"
ซึ่ง "ปรากฏบนท้องฟ้า" เธอคือมารดาของพระเมสสิยาห์ "ดวงจันทร์อยู่ใต้เท้านางและ
เหนือศีรษะมีมงกุฎที่มีดาว ๑๒ ดวงล้อมรอบ" ดังนั้นจึงมักมีภาพวาดพระนางมารีย์เสด็จ
สู่สวรรค์ด้วยลักษณาการนี้

ชาวคริสต์ออร์โธดอกซ์ก็ถือว่าการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางมารีย์เป็นข้อความเชื่อที่สำคัญ
พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ กล่าวถึงข้อความในพิธีกรรมไบเซนไทน์ยุคแรกเริ่มหลายตอน
นักบุญยอห์นแห่งดามัสกัส นักเทววิทยาชาวอาหรับ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๘ เขียนถึง
การเสด็จสู่สวรรค์ของแม่พระว่า "เหมาะควรยิ่งแล้วที่พระนาง ผู้คงพรหมจรรย์แม้ยาม
ให้กำเนิด จะคงร่างกายไม่เปื่อยเน่าหลังความตาย" และ "พระนางผู้อุ้มพระผู้สร้าง
ในวัยเด็กไว้แนบอกควรจะประทับอยู่ในแท่นบูชาแห่งสวรรค์"

เดิมทีธรรมเนียมคริสต์ออร์โธดอกซ์เรียกชื่อวันฉลองนี้ว่าการนิทรา (Dormition)
ของพระนางมารีย์พวกเขาเตรียมฉลอง
โดยให้มีการจำศีลอดอาหารลวงหน้าก่อนเป็นเวลา ๒ สัปดาห์

CR. : Sinapis
ตอบกลับโพส