“แด่วานรด้วยความรัก”

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 05, 2021 9:39 pm

……"แด่วานรด้วยความรัก" ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546/2003,
โดย Brian Eads ย่อและแปลหมายเหตุเพิ่มจากวิกิพีเดีย 2021
โดย กอบกิจ ครุวรรณ
เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียจ้าง ‘วิลลี่ สมิตส์’ บุกเบิกงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์ป่าฝน
ที่ถูกทำลายอย่างหนัก สมิตส์เป็นอาจารย์หนุ่มวิชาวนศาสตร์ ชาวดัตซ์
ซึ่งเชี่ยวชาญด้านไม้เนื้อแข็งเขตร้อน แต่สิ่งที่เขาพบโดยบังเอิญในวันหนึ่งเมื่อ ค.ศ.1989
ทำให้เขามีภารกิจใหม่ไปตลอดชีวิต
ขณะที่สมิตส์เดินเล่นกับภรรยาและลูก ๆ ที่ตลาดบนเกาะบอร์เนียว เขาสะดุดตา
กับลังไม้ข้างแผงขายผัก ซึ่งมีสัตว์ตัวเล็กอยู่ข้างใน
“นั่นอะไร” สมิตส์ถามภรรยาชาวอินโดนีเซีย
“ลูกลิงอุรังอุตังค่ะ” เธอตอบ ลูกลิงสูงราว 30 เซนติเมตรตัวผอมแห้งและหัวเกือบล้าน
“ขายถูก ๆ ครับคุณ” เจ้าของแผงร้องบอก
สมิตส์ตอบว่า “ไม่เอา” แล้วรีบเดินจากไปด้วยความอึดอัดแต่สายตาเศร้าสร้อยของ
ลูกลิงยังคงติดตาเขาตลอด เย็นนั้น สมิตส์ย้อนกลับไปที่ตลาดอีกครั้ง แต่พวกพ่อค้าแม่ค้า
กลับกันหมดแล้ว กรงชั่วคราวเปิดอยู่และว่างเปล่า ไม่ไกลจากบริเวณนั้นเขาพบอุรังอุตัง
ตัวเดิมนอนใกล้ตายอยู่ในกองขยะ “ผมอุ้มร่างเล็กมอมแมมขึ้นมาแล้ววิ่งกลับบ้านทันที”
สมิตส์เล่า
ตลอด 48 ชั่วโมงต่อมา เขานวดหน้าอกเล็ก ๆ ของมัน ป้อนน้ำและนมหวานด้วยสายยาง
เมื่ออาการของลูกลิงดีขึ้น เขาตั้งชื่อมันว่า “อูซ” ตามเสียงหอบที่มันทำเวลาพยายามหายใจ
2-3 สัปดาห์ต่อมา เพื่อนคนหนึ่งขอให้เขาดูแลลูกอุรังอุตังป่วยอีกตัว “จู่ ๆ ผมก็ต้องเลี้ยง
ลิง 2 ตัว ซึ่งน่าจะอยู่ในป่ามากกว่า”
ราวร้อยปีก่อน เอเชียเคยมีอุรังอุตังถึง 300,000 ตัว แต่ทุกวันนี้เหลือไม่ถึง 35,000 ตัว
กระจายกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ บนเกาะบอร์เนียวและสุมาตรา
สมิตส์พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับอุรังอุตัง เขาเชื่อว่าอุรังอุตังทุกตัวที่ถูกจับมาเลี้ยงสามารถ
ฝึกใหม่เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตในป่าธรรมชาติเช่นที่ควรจะเป็น หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับ
อุรังอุตังที่คนนำมาปล่อยไว้ในสวนสัตว์กรุงจาการ์ตาเพิ่มอีก 7 ตัว ภายในหนึ่งปี สถานีวิจัย
ป่าไม้ที่เขาจัดตั้งขึ้นทางฝั่งตะวันออกของบอร์เนียวก็มีอุรังอุตัง 30 ตัว
“ผมไม่เคยคิดว่าจะมีลิงมาให้เลี้ยงมากขนาดนี้” สมิตส์กล่าว “และเข้าใจว่ายังมีอุรังอุตัง
อีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ” ในปี 1991 เขาริเริ่มโครงการคืนอุรังอุตังสู่ธรรมชาติ
ต่อมาก็ตั้งสมาคมคุ้มครองสัตว์ชนิดนี้ซึ่งขยายเครือข่ายไปทั่วโลกจนกลายเป็นมูลนิธิเพื่อ
ความอยู่รอดของอุรังอุตัง (The Borneo Orangutan Survival Foundation)
โดยทั่วไป ลูกอุรังอุตังต้องได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอนจากแม่นาน 7 ปี แต่พวกพรานฆ่าแม่ลิง
เพื่อจับลูกไปขาย จึงมีน้อยตัวที่ได้รับการสั่งสอนถึงวิธีใช้ชีวิตในป่า
สมิตส์เฝ้าดูเจ้าหน้าที่ขนผลไม้เป็นตัน ๆ สำหรับเลี้ยงอุรังอุตังวัยกำลังโต 300 ตัว
บนเนื้อที่ราว 13 ไร่ ตามมุมต่าง ๆ ในบริเวณสำหรับเล่น มีลูกเกด ถั่ว และผลไม้ซ่อนอยู่
ผู้ดูแลจะล่อลิงที่เขาดูแลให้ค้นหา “ของอร่อย” โดยหยิบใส่ปากตนเองคำโต จากนั้นจึงค่อย
ป้อนพวกลูกลิง นี่เป็นขั้นแรกของการเรียนรู้
โปรดติดตามตอนที่ (2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ส.ค. 05, 2021 9:44 pm

….."แด่วานรด้วยความรัก" ตอนที่ 2(ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546/2003,
โดย Brian Eads ย่อและแปลหมายเหตุเพิ่มจากวิกิพีเดีย 2021
โดย กอบกิจ ครุวรรณ
……………เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ทั้ง 90 คนมีทั้งสัตวแพทย์ นักโภชนาการ นักพฤกษศาสตร์
และนักปีนต้นไม้ซึ่งจะคอยเก็บอาหารป่า นับเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของโลกในการนำสัตว์
ตระกูลไพรเมต (Primate) กลับคืนสู่ธรรมชาติ ในจำนวนอุรังอุตัง 450 ตัวที่กลับคืนสู่ป่า
ไปแล้วนั้น เกือบทั้งหมดยังมีชีวิตดีอยู่
ความสำเร็จนี้เกิดจากการเรียนรู้โดยตรงที่สมิตส์ได้รับจาก “อูซ” ซึ่งเป็นลิงตัวแรกที่เขา
เลี้ยงและรู้สึกผูกพัน “ผมเลี้ยงมันโดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงลูกชาย 2 คน ผมเริ่มจาก
อ่านสายตาของมันออก ซึ่งก็เหมือนเลี้ยงเด็ก คือต้องรู้ว่ามันอยากได้อะไร ฟังดูไม่เป็น
วิทยาศาสตร์นักแต่ก็เป็นเรื่องจริง แต่ละตัวเรียนรู้ได้เร็วช้าไม่เท่ากันและต้องการ
ให้เราเอาใจใส่ต่างกัน”
อูซอยู่ในกลุ่มแรกที่ได้กลับคืนสู่ป่า “ผมไม่แน่ใจนักว่ามันพร้อมแล้ว มันอายุ 5 ปี
สุขภาพแข็งแรงและดูมีความมั่นใจ” สมิตส์ปล่อยอูซกับเพื่อน ๆ อีก 27 ตัวสู่ป่ารกชัฏที่
ได้รับการคุ้มครอง อูซหายหน้าไปหลายปี แต่แล้วในปี 1999 นักแกะรอยของมูลนิธิฯ
ก็โทรศัพท์บอกสมิตส์ว่ามีผู้พบเห็นมัน เขาจึงรีบไปดู
“อูซนั่งกอดลูกอยู่บนต้นไม้” เขากล่าวพร้อมกับยิ้มกว้าง “พอผมเรียก มันก็ลงมากอด
จูบผมและอวดลูกตัวเล็กให้ผมดูใกล้ ๆ จนผมได้จับเนื้อตัวและได้กลิ่นมัน”
อูซพาสมิตส์ไปยังต้นตาลใกล้ ๆ จากนั้นก็ใช้ปากฉีกใบออกแล้วส่งให้เขาราวกับจะบอกว่า
“ใบนี่กินอร่อยดี” เหมือนเช่นที่สมิต์เคยสอนในวันที่ปล่อยมันเป็นอิสระเมื่อ 7 ปีก่อน
“มันจำได้ทุกอย่าง” เขาบอก
สมิตส์บอกว่าอุรังอุตังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของป่าฝน “พวกมันกินอาหาร
ได้กว่า 500 ชนิด ซึ่งมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นใด และกระจายเมล็ดไปในมูลที่ขับถ่าย จึงเท่ากับ
ช่วยเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ”
อย่างไรก็ตาม การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายยังคงดำเนินต่อไป ลูกลิงราคา 2,000 บาท
ในตลาดบอร์เนียว แต่ขายได้ถึง 200,000 บาทในไต้หวัน และอาจสูงถึง 1 ล้านบาท
ในยุโรปหรือสหรัฐฯ
เมื่อไม่นานมานี้ ทางมูลนิธิฯ จัดตั้งพื้นที่คุ้มครองเพิ่มเป็นแห่งที่สองและซื้อเกาะเล็ก ๆ
ไว้สองเกาะเพื่อฝึกสัตว์ที่จะมาอยู่ใหม่ในอนาคต สมิตส์หวังว่าจะสามารถปกป้องป่าบึง
ขนาด 4.3 ล้านไร่ อันเป็นที่อยู่ของอุรังอุตังป่า 3,000 ตัวซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากที่สุด
“ถ้าเราให้ความสำคัญกับป่าและปล่อยให้พวกมันอยู่อย่างสงบ ผมคิดว่าทุกตัวจะอยู่รอด”
สมิตส์กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ
สมิตส์ (Willie Smits) เกิด ค.ศ.1957 ชาวฮอลันดาและได้สัญชาติอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 1985
สมิตส์ได้รับรางวัล “Satya Lencana Pembangunan” ในปี 1998 เทียบเท่าเหรียญอัศวิน
จากเนเธอร์แลนด์ นับถึงปี 2018 สมิตส์มีส่วนช่วยเหลือลิงอุรังอุตังประมาณ 1,300 ตัว
และจัดตั้งโครงการอนุรักษ์ 114 แห่งในอินโดนีเซีย

********************************
:s007: :s007:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ส.ค. 07, 2021 11:55 am

…………การทำธุรกิจด้วยสติปัญญาของคนจีน

สามีภรรยาคู่หนึ่ รับจ้างเลี้ยงปลาให้กับเถ้าแก่ชาวจีน
เถ้าแก่จ่ายเงินเดือนให้คู่นี้เดือนละ 5,000 บาท*บ้านพัก ข้าวสารอาหารแห้ง
และของใช้เถ้าแก่เป็นผู้จัดหามาให้

เขาทั้งสองคน มีหน้าที่ให้อาหารปลาวันละ 2 รอบ รอบเช้า 1 รอบ
และรอบเย็นอีก 1 รอบ นอกเหนือจากนั้น แล้วแต่สองสามีภรรยา
จะจัดการกับชีวิตอย่างไร เถ้าแก่ไม่ได้จำกัดกับชีวิตส่วนตัวของลูกน้อง
เขามาที่บ่อเลี้ยงปลาเพียงแค่ต้นเดือน กลางเดือน และปลายเดือน
ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องนำอาหารปลามาให้ และถือเป็นการนำข้าวของเครื่องใช้
มาให้ลูกน้อง อีกทั้งถือเป็นการมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ

เมื่อผ่านไป 2 ปี ปลาในบ่อทำกำไรให้เถ้าแก่ 4 แสนบาท
เถ้าแก่ดีใจเป็นอย่างยิ่ง เขาจึงนำเงิน 1 หมื่นบาท
มอบให้ลูกน้องเพื่อเป็นกำลังใจ และอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด
ได้ 1 เดือน ส่วนค่าเดินทางก็มอบให้อีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อภรรยาของเถ้าแก่รู้เข้า ก็โมโหเห็นอย่างยิ่ง
"คุณจะบ้าเหรอ? สมองบวมน้ำหรือยังไง? เงินเดือนก็จ่ายเต็มที่
บ้านก็ไม่ต้องเช่าข้าวก็ไม่ต้องซื้อ นี่ยังแถมทั้งเงินหมื่นและเงินค่ารถอีก
ทำอะไรทำไมไม่ปรึกษาฉันก่อน..."

เถ้าแก่ได้แต่หัวเราะ จากนั้นก็บอกกับภรรยาว่า
"ผมจะเล่าอะไรให้คุณฟัง...." "มีหมู่บ้านหนึ่ง
ชาวบ้านต่างมีอาชีพปลูกลูกพลับ เมื่อถึงฤดูหนาว พวกเขาพากันเก็บลูกพลับ
จนไม่เหลือคาต้นไว้แม้แต่ลูกเดียว ปีหนึ่งที่อากาศหนาวมากเป็นพิเศษ
หิมะก็ตกมากกว่าทุกปี นกสาลิกาจำนวนสองสามร้อยตัว
หาอาหารกินไม่ได้ พากันหนาวตายภายในคืนเดียว

เมื่อฤดูใบไม้ผลิของอีกปี ต้นพลับก็ผลิใบใหม่ออกมา
เมื่อมันเริ่มออกดอก ไม่รู้ว่าหนอนมาจากไหนจำนวนมากมาย
พากันกัดกินทั้งดอกและใบของต้นพลับ จนเกิดความเสียหายมากมาย
ส่วนลูกพลับที่เล็ดรอดมาได้ พอโตสักนิ้วก้อย ก็ถูกหนอนเหล่านั้นกัดกิน
ไปจนหมด ชาวบ้านต่างก็พากันคิดถึงนกสาลิกา หากยังมีนกสาลิกาอยู่
หนอนเหล่านี้ก็คงจะไม่นำภัยมาให้..."

"...จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงฤดูเกี่ยวเกี่ยวลูกพลับ
ชาวบ้านก็จะเหลือลูกพลับคาไว้บนต้นเพื่อให้เป็นอาหารของนกสาลิกา
ในหน้าหนาว ลูกพลับสีเหลืองแสดดึงดูดให้นกสาลิกา
จำนวนมากมาจิกกินในฤดูหนาว นกสาลิกาก็แสนรู้คุณ
เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิก็ไม่ยอมบินจากไป คอยจัดการกับหนอนที่มารังควาน
ต้นพลับ
จากนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านก็มีลูกพลับให้เก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ทุกปี"
"ผมเหลือลูกพลับไว้ให้นกสาลิกากิน คุณว่าผมโง่เหรอ?"

เมื่อภรรยาได้ฟังจบ ก็เข้าใจในทันที

จุดหมายที่เหลือลูกพลับไว้บนต้น ก็เพื่อแบ่งปันให้กับนกสาลิกาได้อยู่รอด

การดูแลให้สวัสดิการแก่ลูกน้อง ก็เพื่อให้ลูกน้องรู้ว่า
เถ้าแก่สำนึกคุณพวกเขาเช่นกัน คุณได้มาก คุณให้ลูกน้องมากตาม
ความจริงก็คือคุณให้ตัวคุณเองต่างหาก....!

:s015: :s015:
ตอบกลับโพส