หน้า 1 จากทั้งหมด 1

“ถ้าไม่ยอมแลกทุกสิ่งที่มี ก็ไม่มีทางได้ทุกอย่างที่ต้องการ”

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 05, 2021 10:24 pm
โดย rosa-lee
"🥋👊 ถ้าไม่ยอมแลกทุกสิ่งที่มี
ก็ไม่มีทาง ได้ทุกอย่างที่ต้องการ..."

🧒 30 เมษายน ปี 1974 หนุ่มน้อยคนหนึ่ง ลืมตาดูโลกครั้งแรก ณ เมืองซองนัม จังหวัดคยองกี ประเทศเกาหลีใต้ ครอบครัวของเขา ตั้งชื่อให้เขาว่า “เช ยอง ซอก (Choi Young Seok)”

👨‍👩‍👧‍👦 ครอบครัวของ เช ยอง ซอก มีทั้งหมด 5 คน นั่นคือ คุณย่า, คุณพ่อ, คุณแม่, พี่สาว และ ตัวเขา

อันที่จริง เจ้าหนูเช คงมีชีวิตที่ดีกว่านี้ หากคุณพ่อ ซึ่งเป็นวิศวกรในบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่ง ไม่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งตับ ตั้งแต่อายุ 39 ปี ในขณะที่ เช ยอง ซอก อายุได้เพียง 7 ปี เท่านั้น 😥😥

คุณพ่อของโค้ชเช เป็นคนขยันมาก จากคำบอกเล่าของคุณย่า โดยหลายครั้งที่นั่งรถเมล์ หรือรถไฟผ่านสะพานฮันนัม คุณย่ามักจะชี้ไปที่อพาร์ทเมนต์หนึ่งที่คุณพ่อของเขามีส่วนร่วมกับการก่อสร้าง แล้วบอกว่า มันคือตึกที่คุณพ่อภาคภูมิใจมาก 🏣🏣

แต่ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนซีเรียส และจริงจังกับงานมาก จนทำให้เกิดความเครียดอย่างหนัก หลังจากที่มีลูกน้องคนสนิท ตกตึกเสียชีวิตจากการทำงานหนัก นั่นทำให้คุณพ่อของเขา ดื่มหนักมาก โดยมีเพียงแค่ข้าวสวยกับแตงกวาที่เป็นกับแกล้มพยุงท้อง 🍺😭

กว่า 2 ปี ที่คุณพ่อต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ครอบครัวของเขาต้องใช้จ่ายเยอะมาก จนทำให้การเงินเกิดปัญหา คุณแม่ของเช ยอง ซอก ที่เป็นแม่บ้าน ต้องพยายามหาเงินเลี้ยงลูกสองคนด้วยการทำงานที่โรงงานทำขนม พอพระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า เธอก็จะไปทำงานเป็นแม่บ้านตามบ้านต่างๆ ทำให้ ลูกชาย กับ ลูกสาว ต้องถูกเลี้ยงด้วยคุณย่า มากกว่าโตมาด้วยไออุ่นของพ่อ และแม่

ในสมัยนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ จะมีการแบ่งสถานภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ยากจนออกเป็นสามประเภท โดยสถานภาพของครอบครัว เช ยอง ซอก อยู่ในประเภทที่สอง (ระดับปานกลาง) ซึ่งจะได้รับข้าวสาร และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เดือนละ 1 ครั้ง (ถ้าระดับยากจนน้อย จะได้รับข้าวสาร เดือนละครั้ง ส่วนระดับยากจนมาก จะได้รับ ข้าวสาร, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ เงิน เดือนละครั้ง)

เช ยอง ซอก มองคุณแม่ที่ตรากตรำทำงานหนักเพื่อลูก โดยที่เขามักจะเห็นคุณแม่ปาดน้ำตาบ่อยครั้ง เพราะทนไม่ได้ที่เห็นลูกต้องอยู่กันอย่างลำบาก

"เชตั้งใจเรียน และคิดเสมอว่า เขาอยากทำให้คุณแม่สบาย ในวันที่คุณพ่อไม่อยู่แล้ว"

🥋 เช ยอง ซอก ชื่นชอบกีฬาเทควันโด เขาสัมผัสอะไรบางอย่างที่มีเสน่ห์ในกีฬาชนิดนี้

เขาเรียนรู้ เขาฝึกฝน และเขาตั้งใจ

คุณแม่ของ เช เห็นลูกชายชอบกีฬาชนิดนี้ จึงทำงานให้หนักขึ้น เพื่อส่งให้เขาไปเรียนเทควันโดของสถาบันเอกชน ทั้งที่ต้องใช้เงินที่มากขึ้น เธอก็ยอม

👊👊👊 เขาซ้อมเทควันโด วันละ 3 เวลา เช้า บ่าย และค่ำ เป็นเช่นนี้ทุกวัน

ทุกครั้งที่เหนื่อย หรือท้อ เขาจะเงยหน้าเพื่อขอกำลังใจจากคุณพ่อ และก้มลงมองหน้าคุณแม่ที่เหนื่อยยิ่งกว่า

"โชคชะตา กลัวความพยายามอยู่เสมอ"

เช ยอง ซอก พาตัวเองเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ในฐานะนักกีฬาเทควันโด ซึ่งทำให้เขาแบ่งเบาภาระเรื่องค่าเล่าเรียนได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ครอบครัวของเขาไม่ต้องใช้เงิน เพราะยังมีรายจ่ายอื่นๆ จากการเข้ามหาวิทยาลัย

เขารู้ว่า เงินนั้นได้มาจากการทำงาน เงินไม่ได้ร่วงลงมาจากฟากฟ้า อยากได้เงินก็ต้องทำงาน หลักการง่ายๆ ที่ใครก็รู้

เชตัดสินใจทำงานก่อสร้าง แบกอิฐ ขนหิน ผสมปูน เททราย เขาทำทุกอย่างเพื่อเงิน เพื่อการเรียน เพื่อคุณแม่ เพื่อครอบครัว โดยเขาต้องตื่นแต่เช้าทุกวันไปรับจ้างส่งหนังสือพิมพ์ด้วย

เขาไม่เคยเก็บเงินไว้กับตัว เขาไม่เคยเลือกสบาย ทั้งที่ครอบครัวกำลังลำบาก นี่คือ “เช ยอง ซอก” ผู้ชายที่คิดแต่ให้ และใจเป็นครู

เช ยอง ซอก ได้เงินมาก้อนแรกจากการทำงานหนัก เกือบ 1 แสนบาท เขานำเงินทั้งหมดให้คุณแม่ เพื่อใช้จ่ายทุกอย่าง น้ำ ไฟ ค่าเล่าเรียน ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร

เขาไม่เคยอายหรอก ที่ต้องทำงานแบบนี้ ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ได้เที่ยวตามประสาวัยรุ่น เพราะเขาจะอายยิ่งกว่า หากเป็นผู้ชายอกสามศอกแท้ๆ แต่ไม่ทำอะไรเลยเพื่อครอบครัว

ครั้งหนึ่งในชีวิตของ เช ยอง ซอก ครอบครัวของเขาเคยโดนยึดเครื่องซักผ้าไป เนื่องจากค้างการผ่อนจ่ายต่อบริษัท นั่นคือภาพจำที่ทำให้เขาคิดมาตลอดว่า เขาต้องพยายามให้มากกว่านี้ เขาต้องเดินทางไปทำงานที่เมืองนอก เพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ เพื่อให้คุณแม่อยู่สุขสบาย

เช ยอง ซอก เป็นทหารตามกฏหมายของเกาหลีใต้ หลังเรียนจบ แล้วเขาก็ตัดสินใจไปเป็นโค้ชกีฬาเทควันโด ให้กับทีมชาติบาห์เรน จำนวนสัญญา 2 ปี

หลังจากบรรทัดนี้ ผมขออนุญาตใช้คำว่า “โค้ชเช”

โค้ชเช ได้รายได้ที่บาห์เรน เดือนละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.2 แสนบาท)

เขาโอนเงินครึ่งนึงทุกเดือนให้กับคุณแม่ เขาบอกคุณแม่เสมอว่า เขาอยู่สุขสบาย ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย

โค้ช เช ยอง ซอก มีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิปกติ 48–50 องศาเซลเซียส ทำให้ซ้อมได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไร

จากนั้น อีกเพียง 1 ปีครึ่ง โค้ชเช ต้องกลับประเทศเกาหลีใต้ก่อนกำหนด ทั้งที่จะหมดสัญญาในอีกแค่ 6 เดือน ด้วยเหตุผลเดียวที่สามารถดึงเขาออกจากสมาธิในการทำงานทุกอย่างได้

"คุณแม่ของเขา เสียชีวิต 👩‍👦"

คุณแม่ของโค้ชเช เสียชีวิตช่วงที่เขาทำงานในประเทศบาห์เรน ด้วยโรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ภายหลัง โค้ชเช มาทราบอีกว่า คุณแม่เป็นหนี้ธนาคารกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากนำเงินมาใช้จ่ายภายในบ้าน และลงทุนเช่าแผงขายผลไม้กับเนื้อหมูในตลาด โดยหลังจากงานศพ ญาติก็ช่วยเหลือเขาด้วยการจ่ายชำระหนี้ให้จนหมด โดยเขาสัญญาว่าจะใช้คืนโดยเร็วที่สุด (ปัจจุบัน ใช้หนี้หมดเรียบร้อย)

"โค้ชเช อยู่ในช่วงเวลาสับสน
เขาสูญเสียคุณแม่ ที่เป็นทุกอย่างในชีวิต เขาทิ้งทุกอย่าง ทิ้งงาน ทิ้งอนาคต ทิ้ง
เทควันโด และเขาเริ่มดื่มเหล้า 🍺😭"

"เขาดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน ทุกวัน เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า มันไม่เคยล้างแผลใจให้สะอาดได้หรอก"

🇹🇭🥋 ปี 2002 สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ติดต่อสหพันธ์เทควันโดสากล เพื่อให้จัดหาโค้ชเทควันโดมาฝึกสอนนักกีฬาไทย และโค้ชเช คือตัวเลือกคนนั้น

"โค้ชเช ปฏิเสธในตอนแรก เขาไม่อยากไปทำงานต่างประเทศแล้ว

เขาเลือกบาห์เรน เพราะคุณแม่ เมื่อคุณแม่ไม่อยู่ เขาจะเลือกประเทศไทยไปทำไม"

จนกระทั่งวันหนึ่ง เช ยอง ซอก ในวัย 27 ปี ถามตัวเองที่กำลังเศร้าหมอง

"ถ้าคุณแม่มาเห็นเราในสภาพแบบนี้ เขาคงผิดหวังน่าดู เราไม่ควรทำให้คุณแม่ต้องผิดหวัง"

1 กุมภาพันธ์ 2002 โค้ชเช ยอง ซอก บินข้ามน้ำข้ามทะเลมายังดินแดนที่เขาไม่เคยมา เพื่อสอนกีฬาประจำชาติของเกาหลีใต้ ให้กับคนที่นั่น

ที่นั่นเป็นพื้นที่ที่ใหญ่พอสมควร มีผู้คนที่น่ารัก มีวัฒนธรรมที่ดี และมีคำทักทายว่า "สวัสดี"

"ผู้คนที่นั่นเป็นกันเอง และรักโค้ชเช" ที่นั่นคือ "ประเทศไทย 🇹🇭❤"

19 ปีเต็ม นานมากเกินกว่าที่ใจเขาคิดไว้ตอนแรกโค้ช เช ยอง ซอก ยังคงอยู่ที่นี่ และทำงานในหลายหน้าที่เขาเป็นครู เขาเป็นโค้ช เขาเป็นเพื่อน เขาเป็นพี่ เขาเป็นเสมือนพ่อของนักกีฬาเทควันโด้ ทีมชาติไทย

บนหลักการของการเป็นโค้ชที่ดี โค้ชเชใส่ความใจสู้เข้าไปอยู่ในตัวนักกีฬาไทย และเคยมีคำกล่าวหนึ่งที่บอกกับทุกคนว่า "แชมป์โลกเป็นสิ่งที่ยากมากๆ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยเป็น แต่ผมจะสร้างให้พวกคุณเป็น"

โค้ชเช พาทีมชาติไทย ก้าวขึ้นสู่แรงกิ้งอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งที่ 19 ปีที่แล้ว ก่อนเขามา ทีมชาติไทย ยังเรียกได้ว่าเพิ่งตั้งไข่ในกีฬาชนิดนี้ด้วยซ้ำ

🥇 เขาสร้างนักกีฬาเหรียญทองให้กับประเทศไทย ในการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ 2020

🥇🥈🥉 เขาสร้างนักกีฬาดีกรีเหรียญ โอลิมปิก เกมส์ หลายท่าน (ไม่เคยพลาดเหรียญตั้งแต่โอลิมปิก ปี 2004)

🥇 เขาสร้างนักกีฬาดีกรีเหรียญทอง เอเชี่ยนเกมส์ หลายคน (ได้เหรียญทองทุกครั้งตั้งแต่ เอเชี่ยนเกมส์ 2010)

🏆 เขาสร้างนักกีฬาไทย ให้ขึ้นถึงระดับ "แชมป์โลก" ถึง 5 คน ได้แก่ รังสิยา นิสัยสม (ปี 2011), ชัชวาล ขาวละออ (ปี 2011), ชนาธิป ซ้อนขำ (ปี 2013), พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (ปี 2015 , 2019) และ พรรณนภา หาญสุจินต์ (ปี 2019)

👊 เขาไม่เคยเกรงใจใคร หากต้องประท้วง เพื่อปกป้องสิทธิ์ที่พึงได้ของลูกศิษย์ทุกคนบนสนามแข่งขัน แม้จะต้องประท้วงกับชาติตัวเอง หรือเสียเงินประท้วงก็ทำมาแล้ว (โค้ชเช เคยไม่พอใจคำตัดสินของกรรมการ และใช้เงินสดของตนเองจำนวน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อวางประกัน ขอให้มีการนำวิดีโอเทปมาตัดสิน จนทำให้นักกีฬาเยาวชนของทีมชาติไทย พลิกกลับมาคว้าเหรียญได้ในการแข่งขันเทควันโด เยาวชนชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2010)

เดือนธันวาคม ปี 2017 คุณย่าของโค้ชเช ที่เลี้ยงเขามาตั้งแต่ยังเล็ก ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา ในวัย 98 ปี และนั่นคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ หลังจบจากศึก เอเชี่ยนเกมส์ 2018 “โค้ชเช” ตกเป็นข่าวอีกครั้งเรื่องของสัญชาติ ที่เขาตัดสินใจเตรียมสละสัญชาติเกาหลีใต้ เพื่อเปลี่ยนมาถือสัญชาติไทยแทนที่ เนื่องจาก “ไม่มีอะไรต้องห่วงอีกแล้ว” ที่ประเทศเกาหลีใต้ ก่อนที่เรื่องจะเงียบไป และกลับมามีข่าวอีกครั้งในช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา

"ผมตัดสินใจแล้วครับ ผมอยากได้สัญชาติไทย ผมอยากเป็นคนไทยแล้ว ผมอยากทำเหรียญทองในกีฬาเทควันโดให้ประเทศไทย แบบไม่ใช่ในฐานะเป็นคนเกาหลีใต้ แต่เป็นในฐานะคนไทยที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก"

นี่คือคำพูดของ โค้ชเช ก่อนหน้านี้ ที่ยืนยันผ่าน "บิ๊กเอ" ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน โค้ชเช มีครอบครัวที่ประเทศไทย ลูกชายของเขาเกิดเมื่อตอนที่เขาคุมทีมชาติไทย และเรียนอยู่ทีประเทศไทย โดยมีภรรยาคอยดูแล และเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตในเมืองไทยแบบสมบูรณ์

🇹🇭❤ โค้ชเช รักเมืองไทยมากจริงๆ โดยในหน้าที่ 207 ของหนังสือ "ความฝันสายดำ" ที่เป็นอัตชีวประวัติของเขา ได้มีคำพูดของเขาที่กลั่นออกมาจากใจว่า

"ผมรักเมืองไทย ผมจะทำงานให้ต่อไป จนกว่าคนไทยไม่อยากให้ผมอยู่ ผมคิดเสมอว่า จะทำหน้าที่ โค้ชเทควันโดทีมชาติที่ประเทศไทย เป็นที่สุดท้าย"

การตัดสินใจถือสัญชาติไทยครั้งนี้ ดูแน่วแน่ชัดเจน สำหรับ "โค้ชเช" ที่มีชื่อไทยว่า “ชัยศักดิ์” จากการที่คุณปรีชา ต่อตระกูล ได้ให้พระสงฆ์ที่โค้ชเชเคารพนับถือตั้งชื่อให้ ซึ่งโค้ชเชชอบชื่อนี้อย่างมาก เนื่องจากมีความหมายสื่อถึง ผู้ที่มีชัยชนะ และมีศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่

และตลอด 19 ปีเต็ม ที่ผ่านมา "โค้ชเช" ก็แสดงให้เห็นว่า เขาคือ คนที่มีดีเอ็นเอของผู้ชนะ และมีศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง 🥋🇹🇭👊

"จอน"
25-07-2564

🙏 ขออนุญาตลงเรื่องของโค้ชเชอีกครั้ง

📸 ประโยค "ถ้าไม่ยอมแลกทุกสิ่งที่มี ก็ไม่มีทาง ได้ทุกอย่างที่ต้องการ..." อยู่ในหน้าปกหลังของหนังสือ "ความฝันสายดำ" ที่โค้ชเชเขียน