ประวัตินักบุญอย่างย่อ เดือนกันยายน (วันที่16-30)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ย. 17, 2021 8:06 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๖ กันยายน
นักบุญคอร์เนลีอุส และนักบุญซีเปรียน
St.Cornelius and St.Cyprian

คอร์เนลีอุสได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในปี ๒๕๑ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลา
ที่พระศาสนจักรถูกเบียดเบียนโดยจักรพรรดิเดซีอุส ภารกิจอย่างแรกของท่าน
นอกเหนือจากการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่โรมันอยู่เสมอแล้วก็คือยุติการแตก
แยกที่เกิดจากคู่แข่งของท่าน โนวาเชียน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์พระสันตะปาปา
คนแรก ท่านจัดประชุมสังคายนาเพื่อรับรองว่าท่านเป็นผู้สืบตำแหน่งที่ชอบธรรม
ของนักบุญเปโตร

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นสืบเนื่องจากผลของการเบียดเบียน มีปัญหาว่าพระศาสนจักร
สามารถให้อภัยและยอมรับผู้ประกาศละทิ้งความเชื่อไปแล้วให้กลับสู่พระศาสนจักร
ได้หรือไม่?
สังฆราชกลุ่มหนึ่งยืนยันว่าศาสนจักรไม่สามารถยอมรับผู้ทิ้งความเชื่อกลับมาได้
ส่วนอีกกลุ่มเห็นควรว่าต้อนรับกลับมาได้ คอร์เนลิอุสออกกฤษฎีกาประกาศว่า
พวกคนเหล่านั้นจะได้รับการต้อนรับกลับมาและให้มีการชดใช้โทษบาปแต่พอเพียง

ในปี ๒๕๓ ท่านถูกขับไล่โดยจักรพรรดิกาลลัส และเสียชีวิตด้วยความยากลำบากที่
ได้รับ ท่านได้รับการยกย่องในฐานะมรณสักขี

นักบุญซีเปรียนแห่งคาร์เธจมีความสำคัญเป็นรองเพียงนักบุญออกัสติน ในฐานะ
ปิตาจารย์แห่งศาสนจักรแอฟริกัน ท่านเป็นเพื่อนสนิทของพระสันตะปาปาคอร์เนลีอุส
และสนับสนุนพระองค์ในการต่อสู้กับโนวาเชียน และสนับสนุนความเห็นให้ต้อนรับ
พวกทิ้งความเชื่อกลับคืนมาได้

ท่านเกิดมาในครอบครัวคนนอกศาสนาที่ร่ำรวยในปี ๑๙๐ และได้รับการศึกษาแบบ
กรีกคลาสสิคและวาทศิลป์ ท่านกลับใจเมื่ออายุ ๕๖ ปี และบวชเป็นพระสงฆ์หนึ่งปี
ให้หลัง อีกสองปีต่อมา ท่านก็ได้เป็นพระสังฆราช

งานเขียนของท่านมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องว่าด้วยความเป็นหนึ่ง
เดียวของศาสนจักรคาทอลิก ท่านถือว่าความเป็นหนึ่งเดียวนี้มีพื้นฐานอยู่ที่อำนาจ
ของสังฆราช และอำนาจสูงสุดคืออำนาจของพระสันตะปาปา

ในหนังสือ "ความเป็นหนึ่งเดียวของศาสนจักรคาทอลิก" นักบุญซีเปรียนเขียนว่า
"ท่านไม่อาจมีพระเจ้าเป็นบิดา หากท่านไม่มีศาสนจักรเป็นมารดา ... พระเจ้าเป็นหนึ่ง
พระคริสต์เป็นหนึ่ง และพระศาสนจักรของพระองค์เป็นหนึ่ง หนึ่งในความเชื่อ
และหนึ่งในผู้คนที่รวมกันอย่างกลมกลืน เหมือนความเป็นหนึ่งเดียวของร่างกายที่แข็งแรง ...
ถ้าเราเป็นทายาทของพระคริสต์ ขอให้เราอยู่ในสันติสุขของพระคริสต์
ถ้าเราเป็นลูกของพระเจ้า ก็ขอให้เราเป็นผู้รักสันติ"

ในระหว่างการเบียดเบียนของจักรพรรดิเดซิอุส ท่านซีเปรียนเห็นว่าเป็นการฉลาด
รอบคอบกว่าที่จะซ่อนตัวและนำฝูงแกะของท่านอย่างลับๆ แทนที่จะรับมงกุฎรุ่งเรือง
ของการเป็นมรณสักขีซึ่งการตัดสินใจดังนี้เปิดช่องให้ศัตรูว่าร้ายท่าน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๘ ท่านได้เป็นมรณสักขีระหว่าง
การเบียดเบียนของจักรพรรดิวาเลอเรียน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ย. 17, 2021 8:11 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๗ กันยายน
นักบุญโรเบิร์ต เบลลาร์มีน
St. Robert Bellarmine

โรเบิร์ต เบลลาร์มีน ชาวเยอรมัน เป็นนักเทววิทยาและคาร์ดินัล เป็นหนึ่ง
ในนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ของคณะเยสุอิต ท่านยังได้รับกานประกาศเป็นนักปราชญ์
ของพระศาสนจักร และเป็นองค์อุปถัมภ์ของครูคำสอนด้วย

ท่านเกิดที่เมือง Tuscan ในแคว้น Montepulciano เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๑๕๔๒
ลุงของท่านเป็นพระคาร์ดินัล ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นพระสันตะปาปา พระนาม
มาร์เซลลุส ที่ ๒ ในวัยหนุ่ม ท่านได้รับการศึกษาจากคณะเยสุอิต ซึ่งเวลานั้นเพิ่ง
ได้รับการอนุมัติเป็นคณะนักบวชเพียง ๒ ปีก่อนท่านเกิด

เดือนกันยายน ปี ๑๕๖๐ ท่านสมัครเข้าคณะเยสุอิต และศึกษาปรัชญาที่โรมเป็นเวลา
๓ ปีจากนั้นทำหน้าที่สอนวิชามนุษยศาสตร์จนกระทั่งถึงปี ๑๕๖๗ จึงเริ่มศึกษาเทววิทยา
จนจบในปี ๑๕๖๙ ในปีสุดท้ายของการศึกษา ท่านได้รับการอบรมเป็นพิเศษเรื่อง
ความผิดพลาดของโปรเตสแตนท์

ท่านรับศีลบวชที่เบลเยี่ยม ที่นั่น การเทศน์ของท่านดึงดูดผู้ฟังจำนวนมากทั้งคาทอลิก
และโปรแตสแตนท์ ในปี ๑๕๗๖ ท่านกลับมาอิตาลีและรับตำแหน่งวิชาการเพื่อรับมือ
ความคิดเห็นขัดแย้งทางเทววิทยา ผลงานเขียนของท่าน "ข้อโต้แย้ง" (Disputations)
เป็นงานปกป้องความเชื่อคาทอลิกที่ถือว่าคลาสสิค

ในช่วงปี ๑๕๘๕-๙๐ ท่านได้เป็น "บิดาชีวิตฝ่ายจิต" ของวิทยาลัยโรมัน ท่านทำหน้าที่ผู้
แนะนำชีวิตภายในให้นักบุญอลอยซีอุส กองซากา ในระยะสุดท้ายของชีวิต และท่านดำเนิน
การจัดพิมพ์พระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับทางการ ตามความต้องการของสังคายนาเทรนต์

ปลายศตวรรษที่ ๑๖ ท่านได้เป็นที่ปรึกษาของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ ๘ พระสันตะปาปา
ตั้งท่านเป็นคาร์ดินัลในปี ๑๕๙๙ ทรงประกาศว่าท่านเป็นผู้ทรงภูมิที่สุดของพระศาสนจักร
ท่านมีบทบาทในวิวาทะระหว่างคณะดอมินิกันกับเยสุอิตเรื่องพระหรรษทาน

พระสันตะปาปาแต่งตั้งท่านให้เป็นอัครสังฆราชแห่งคาปัวการทำหน้าที่ของท่านที่คาปัว
เป็นตัวอย่างที่ซื่อสัตย์ต่อจิตตารมณ์การปฏิรูปและข้อกำหนดของสังคายนาเทรนต์
ท่านเป็นตัวเลือกในตำแหน่งพระสันตะปาปาถึง ๒ สมัยติดต่อกัน แต่ท่านไม่ต้องการ

ต้นศตวรรษที่ ๑๗ ท่านยืนหยัดเพื่ออิสรภาพของพระศาสนจักรเมื่อถูกโจมตีในเวนิส
และอังกฤษ ท่านพยายามที่จะต่อรองให้เกิดสันติระหว่างวาติกันกับเพื่อนสนิทของท่าน
กาลิเลโอกาลิเลอีในเรื่องจุดยืนทางวิทยาศาสตร์ว่าโลกและจักรวาลหมุนรอบดวงอาทิตย์

ท่านลาออกจากการทำหน้าที่เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพในฤดูร้อนปี ๑๖๒๑ สองปีก่อนหน้านั้น
ท่านเขียนข้อคิดคำนึงถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในหนังสือชื่อ "ศิลปะแห่งการตายอย่างดี"
ในหนังสือเล่มนี้ท่านอธิบายว่าการเตรียมตัวตายเป็นงานที่สำคัญที่สุดของชีวิต
เพราะสภาวะของวิญญาณก่อนตายจะกำหนดเป้าหมายนิรันดรของบุคคลนั้น

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๑๗ กันยายน ๑๖๒๑ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๑
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญและเป็นนักปราชญ์พระศาสนจักรในปี ๑๙๓๑

Cr. Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ย. 18, 2021 10:58 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๘ กันยายน
นักบุญโยเซฟแห่งคูแปร์ติโน
St. Joseph of Cupertino

ท่านเป็นรหัสนิก (mystic) ที่มีชื่อเสียงว่าสามารถเหาะได้ บิดาของท่านซึ่งเป็นช่างไม้
ยากจน ตายก่อนที่ท่านจะเกิด มารดาผู้ไม่สามารถจ่ายหนี้สิน ต้องสูญเสียบ้านของตน
ได้ให้กำเนิดท่านในรางหญ้าของเมืองคูแปร์ติโน อิตาลี เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๑๖๐๓

โยเซฟเริ่มเห็นภาพนิมิตตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และทำให้ท่านมักลืมตัวจนไม่รับรู้กับสิ่ง
รอบข้าง ทำให้เพื่อนๆ พากันล้อเลียน เรียกท่านว่า "เจ้าปากอ้า" ท่านเป็นคนอารมณ์
ฉุนเฉียวง่ายและอ่านหนังสือแทบไม่ออก คนอื่นจึงคิดว่าท่านทึ่มและไม่อาจเอาดีทาง
ไหนได้ นอกจากนั้นท่านมักเข้าภวังค์นานๆ จนทำให้ไม่สามารถทำกิจการเฉพาะหน้า
ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะได้งานอะไรก็จะตกงานอย่างรวดเร็ว

ในที่สุด ท่านได้รับหน้าที่ดูแลรางอาหารสัตว์ในอารามฟรังซิสกันใกล้เมืองคูแปร์ติโน
พวกภราดาของอารามสังเกตเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์และนิสัยชอบทำพลีกรรม
ความถ่อมตนและนบนอบของท่าน จึงให้ท่านเรียนเตรียมเป็นพระสงฆ์ ท่านเป็นนักเรียน
ที่ไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ในการสอบไล่ผู้สอบได้ถามคำถามที่บังเอิญเป็นเรื่องที่ท่านรู้อย่างดี
ท่านจึงสอบผ่านและได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์

ในไม่ช้าผู้คนก็ตระหนักว่าแม้ท่านจะรู้น้อยในเรื่องทางโลก และมีปัญหาด้านการเรียนรู้
แต่ท่านได้รับพระพรความรู้เรื่องชีวิตฝ่ายจิต ซึ่งทำให้ท่านสามารถไขปัญหายากๆ
ทางเทววิทยาได้

ตลอดเวลา ๓๕ ปีของชีวิตการเป็นสงฆ์ท่านไม่สามารถทำมิสซาต่อหน้าผู้คนได้จนจบ
เพราะร่างท่านจะลอยขึ้นเมื่อเข้าฌาน ซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกครั้งที่ท่านทำมิสซา ท่านถูก
ย้ายอารามเรื่อยๆ เพราะสาเหตุเข้าฌานจนทำอะไรก็ไม่เสร็จ และมีข้อกล่าวหาจาก
พี่น้องนักบวชที่อิจฉาพระพรของท่าน อย่างไรก็ตาม ท่านมอบตนให้กับ
พระญาณสอดส่องของพระเจ้าตลอดเวลา

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๑๘ กันยายน ๑๖๖๓ และถูกประกาศเป็นนักบุญ
โดยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่๑๓ ในปี ๑๗๖๗

ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้เดินทางเครื่องบิน และนักเรียนที่เตรียมตัวสอบ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ย. 19, 2021 10:41 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ 19 กันยายน
นักบุญเอมิลีเดอโรดาต์
St. Emily de Rodat

เอมิลีเกิดในปี ๑๗๘๗ ที่เมืองโรเดซ ประเทศฝรั่งเศส ท่านได้รับการศึกษาที่
Villefranceh และทำงานเป็นครูสอนหนังสือเมื่ออายุ ๑๘ ปีท่านเห็นลูกหลาน
คนยากจนจำนวนมากไม่ได้ไปโรงเรียน จึงเปิดโรงเรียนเพื่อพวกเขา สอนหนังสือ
ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ท่านมีความสนใจชีวิตนักบวช แต่หลังจากทดลองเข้าอยู่ในอารามคณะนักบวช
สามสี่คณะเป็นเวลาสั้นๆ ท่านก็ตระหนักว่าตนเองไม่ได้มีกระแสเรียกของคณะนักบวช
ที่มีอยู่ในเวลานั้น ท่านอุทิศชีวิตเพื่อการสอนคนจน และรวบรวมหญิงสาวอื่นๆ
มาช่วยสอนพวกเด็กที่ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หญิงสาวเหล่านี้ต่อมาได้เป็นกลุ่ม
เริ่มต้นของคณะนักบวชครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แห่งวิลเลฟรางเช
(Congregation of the Holy Family of Villefranche)

นักบวชคณะนี้นอกจากสร้างโรงเรียนเพื่อคนจนแล้วยังใส่ใจดูแลผู้สูงวัย
นักโทษและเด็กกำพร้า ซิสเตอร์บางคนเป็นผู้พิศเพ่งภาวนาและใช้เวลาตลอดชีวิต
เพื่อการภาวนาและนมัสการพระเจ้า

ท่านเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๑๘๕๒ ในเวลาที่ท่านเสียชีวิต
มีองค์กรการกุศลที่ท่านก่อตั้งทั้งหมด ๓๘ แห่ง พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๕๐

Cr: Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ย. 20, 2021 5:29 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๐ กันยายน
นักบุญอันดรูว์คิม แตกอน และเปาโล ชอง ฮาซัง
Sts. Andrew Kim Taegon, Paul Choñg Hasang

คริสตศาสนามาสู่ประเทศเกาหลีโดยทางหนังสือที่ถูกนำผ่านพรมแดนจีน
ในปี ๑๗๘๔ ชุมชนชาวเกาหลีกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งที่ได้กลับใจเพราะสิ่งที่ได้อ่านพบ
ในหนังสือ ส่งบุคคลหนึ่งในกลุ่มไปเมืองปักกิ่งเพื่อรับศีลล้างบาป

ในครึ่งศตวรรษต่อมากลุ่มคริสตชนเกาหลีก็เติบโตอย่างรวดเร็ว พวกเขาได้รับ
การอภิบาลด้านศีลศักดิ์สิทธิ์จากพระสงฆ์ ๒ องค์จากจีน จนกระทั่งถึงปี ๑๘๓๖
ภายหลังการวอนขออยู่นานหลายปีพระสงฆ์ธรรมทูตฝรั่งเศสก็ถูกส่งมาที่เกาหลี

ปลายศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา เกิดการเบียดเบียนข่มเหงคริสตศาสนาถึง ๖ ครั้งใหญ่ๆ
มีมรณสักขีหนึ่งหมื่นคนหลั่งเลือดเพราะความเชื่อ พระสงฆ์ธรรมทูตจากฝรั่งเศสรวมอยู่
ในจำนวนมรณสักขีเหล่านี้ด้วย

นักบุญอันดรูว์ คิม แตกอน และเปาโล ชอง ฮาซัง เป็นผู้นำศาสนจักรคาทอลิกในเกาหลี

คิม แตกอน เกิดในครอบครัวฐานะดีของเกาหลีพ่อแม่ของท่านกลับใจถือคริสตศาสนา
เมื่อท่านอายุ ๑๕ปีท่านเดินทางกว่าพันไมล์เพื่อเข้าเรียนที่บานเณรและได้เป็นพระสงฆ์
พื้นเมืองเกาหลีคนแรก ท่านถูกทรมานและถูกตัดศีรษะในปี ๑๘๔๖

ชอง ฮาซัง เป็นผู้นำฆราวาสที่ปกป้องความเชื่อต่อหน้ารัฐบาลเกาหลี และรวบรวมคริสตชน
ระหว่างการถูกกดขี่ ให้กำลังใจพวกเขาให้มั่นคงในความเชื่อ พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ ๑๐
ทรงตอบรับต่อคำวิงวอนโดยตรงของท่าน พระองค์ประกาศรับรองพระศาสนจักรเกาหลีและ
ส่งพระสงฆ์จำนวนมากขึ้นมาทำงานธรรมทูต ท่านเป็นมรณสักขีในปี ๑๘๓๙

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ย. 21, 2021 8:32 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๑ กันยายน
นักบุญมัทธิว อัครสาวก
St. Matthew, Apostle

มัทธิวเป็นคนเก็บภาษี ท่านติดตามเป็นอัครสาวกของพระเยซู และได้เขียนถึง
ชีวิตและภารกิจของพระองค์ แม้เราจะไม่ทราบถึงรายละเอียดชีวิตของท่าน
แต่เรื่องของพระเยซูคริสต์ที่ท่านเขียน ซึ่งถือกันว่าเป็นพระวรสารฉบับแรก
มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อพระศาสนจักรโดยเฉพาะการยืนยันว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์

พระวรสารเล่าถึงเหตุการณ์ที่ท่านพบกับพระเยซู ท่านเป็นคนเก็บภาษีให้กับพวกโรมัน
ที่ปกครองดินแดนยูเดียในศตวรรษแรก พวกชาวยิวดูถูกและเกลียดชังผู้ทำหน้าที่นี้
เพราะถือว่าทำงานให้ผู้กดขี่พวกเขา และบ่อยครั้ง พวกคนเก็บภาษีก็เบียดบังเงินเข้า
กระเป๋าตัวเอง

พระเยซูคงจะพบท่านแถวบริเวณบ้านของเปโตรในคาเปอร์นาอุม ใกล้ทะเลสาบกาลิลี
พระองค์เห็นท่านนั่งอยู่ที่ด่านเก็บภาษีเอ่ยกับท่านว่า "จงตามเรามาเถิด" ท่านลุกขึ้น
ติดตามพระองค์

การที่พระเยซูทรงเรียกมัทธิวให้มาอยู่ในกลุ่มผู้ติดตามใกล้ชิดพระองค์ เป็นเครื่องหมาย
ของภารกิจสากลของพระเมสสิยาห์ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ผู้นำชาวยิวประหลาดใจ พวกเขา
ถามศิษย์ของพระองค์ว่า"ทำไมอาจารย์ของท่านรับประทานร่วมกับคนเก็บภาษีและคนบาป"
คำตอบของพระเยซูบ่งบอกถึงเป้าหมายพันธกิจของพระองค์
"เราไม่ได้มาเพื่อผู้ชอบธรรม แต่มาเพื่อคนบาป"

มัทธิวเป็นพยานถึงการกลับคืนชีพของพระคริสต์การเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์และวันพระจิต
เสด็จลงมา ท่านบันทึกคำสั่งที่พระองค์ให้กับอัครสาวกว่า "จงไปสั่งสอนนานาชาติล้างบาป
พวกเขาในพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนพวกเขาให้ถือตามทุกอย่างตามที่
เราได้สั่งสอนพวกท่าน"

เช่นเดียวกับอัครสาวก ๑๑ ใน ๑๒ องค์ ธรรมประเพณีถือว่านักบุญมัทธิวตาย
ด้วยการเป็นมรณสักขีขณะประกาศพระวรสารในดินแดนใกล้กับอียิปต์

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ย. 22, 2021 10:36 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๒ กันยายน
นักบุญโมริกและสหาย
St. Maurice and Companions

ท่านเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกองทหาร Theban ซึ่งเป็นกองกำลังโรมันที่
ประกอบไปด้วยทหารคริสตชนจากแอฟริกา ทหารกองร้อยนี้ถูกเรียกมา
เพื่อปราบขบถใน Aaunum ใกล้กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี ๒๘๗

มีตำนาน ๒ เรื่องที่เล่าถึงการเป็นมรณสักขีของท่านและสหาย ตามตำนาน
พวกทหารในกองกำลังนี้ได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมในพิธีบูชายัญของชนต่าง
ศาสนา หรือไม่ก็ได้รับคำสั่งให้ทำร้ายและเข่นฆ่าพวกชาวคริสต์บางคนใน
ท้องถิ่น แต่ทหาร ๖,๖๐๐ นายของโมริกปฏิเสธที่จะทำทั้งสองอย่างนั้น
และเพื่อลงโทษ ต่อการขัดขืนคำสั่ง ทหารลำดับที่สิบทุกคนของกองกำลัง
จึงถูกประหาร แต่เมื่อทหารที่เหลือยังปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งอีก
พวกเขาก็ถูกประหารทุกคน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ย. 24, 2021 8:17 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๓ กันยายน
นักบุญปีโอแห่งปีเอเตรลชีนา
St. Pio of Pietrelcina

ท่านเป็นพระสงฆ์คณะฟรังซิสกัน ซึ่งรู้จักกันในนาม ปาเดรปีโอ (คุณพ่อปีโอ)
ท่านมีชื่อเสียงในความสุภาพถ่อมตน ยอมรับความทุกข์ทรมานและมีอัศจรรย์
หลายอย่างเกิดเนื่องจากท่าน

ท่านเกิดในปี ๑๘๘๗ บิดามารดา กราซิโอและมารีอา ตั้งชื่อท่านว่า ฟรานเชสโก
ฟอร์จิโอเน ท่านมีพี่น้อง๗ คน แต่สองคนตายแต่ยังเล็ก บิดามารดาดูแลลูกทุกคน
อย่างเอาใจใส่ให้พวกเขาไปร่วมมิสซาทุกวันร่วมสวดสายประคำในครอบครัวและ
ทำพลีกรรมใช้โทษบาปเสมอๆ
ฟรานเชสโกตัดสินใจแต่ยังเล็กว่าจะสละชีวิตให้พระเจ้า เมื่ออายุ ๑๐ ปีท่านได้รับแรง
บันดาลใจจากตัวอย่างของภราดากาปูชินคนหนึ่ง ท่านบอกบิดามารดาว่า
"ผมอยากเป็นภราดาและมีหนวดเคราอย่างนั้นด้วย" บิดาของฟรานเชสโกไปอเมริกา
ทำงานส่งเสียให้ลูกชายได้เรียนหนังสือเพื่อเขาจะสามารถเข้า เป็นนักบวชได้

วันที่ ๒๒ มกราคม ๑๙๐๓ ฟรานเชสโกได้สวมชุดเครื่องแบบฟรังซิสกันเป็นครั้งแรก
ท่านได้รับชื่อใหม่ว่า ปีโอ ซึ่งเป็นชื่อภาษาอิตาเลียนสำหรับปีอุส ตามพระสันตะปาปาปีอุส ที่ ๕
ท่านปฏิญาณตัวในอีก ๔ ปีต่อมาและได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในฤดูร้อนปี ๑๙๑๐
หลังจากนั้นเพียงเล็กน้อย ท่านก็ได้รับสติกมาตา บาดแผลของพระคริสต์อยู่บนร่างกายของท่าน

นอกจากบาดแผลลึกลับเหล่านี้ คุณพ่อปีโอยังต้องทรมานกับปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้ท่าน
ต้องแยกออกจากหมู่คณะในช่วงหกปีแรกของชีวิตสงฆ์ในปี ๑๙๑๖ ท่านสามารถเข้ามา
ใช้ชีวิตกลุ่มได้ที่บ้านคณะใน San Giovanni Rotondo ที่ซึ่งท่านจะอยู่จนตลอดชีวิต
ท่านทำหน้าที่สอนและเป็นผู้แนะนำชีวิตฝ่ายจิต แทนพวกภราดาที่ถูกเรียกตัวไปร่วม
ในสงครามโลกครั้งที่ ๑

ในระหว่างปี๑๙๑๗ และ ๑๙๑๘ คุณพ่อปีโอทำงานในหน่วยพยาบาลของกองทัพอิตาลี
ท่านมอบถวายตัวเองให้เป็น "เหยื่อ" ทางจิตวิญญาณเพื่อให้สงครามยุติท่านขอยอมรับ
ความทุกข์ทรมานเป็นคำภาวนาเพื่อสันติภาพ รอยแผลของพระคริสต์ปรากฏบนร่างกาย
ท่านอีกครั้ง บาดแผลเหล่านี้จะอยู่กับท่านไป
ตลอดเวลาอีก ๕๐ ปี

ชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์และอัศจรรย์ของท่านเริ่มดึงดูดผู้คน แต่ผู้นำศาสนจักรบางคน
ประกาศปฏิเสธท่าน และห้ามท่านทำงานอภิบาลในปี ๑๙๓๑ แต่พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๙
ยกเลิกการห้ามนี้ใน๒ ปีให้หลังและผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระองค์พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒
กลับส่งเสริมให้มีการจาริกแสวงบุญไปยังที่พำนักของท่าน

คุณพ่อปีโอเป็นที่รู้จักในการเพียรทนรับความทุกข์สวดภาวนาเสมอและเร่าร้อนในการแนะนำ
ชีวิตฝ่ายจิต ท่านยังสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ชื่อ "บ้านบรรเทาทุกข์"
ท่านสิ้นใจในปี๑๙๖๘ และถูกประกาศเป็นนักบุญในปี ๒๐๐๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ย. 24, 2021 8:19 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๔ กันยายน
บุญราศีอันตน มาร์ติน สโลมเช็ค
Blessed Anton Martin Slomshek

มาร์ติน สโลมเช็คเกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๑๘๐๐ ที่เมือง Ponikva
ประเทศสโลวีเนีย ท่านเป็นชาวสโลวีเนียคนแรกที่เป็นบุญราศีท่านมีชื่อเสียง
ในฐานะนักการศึกษา เอาใจใส่ชาวสโลวีเนียที่ไม่รู้หนังสือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๙

ช่วงเวลานั้น ระบบการศึกษาของชาวสโลวีเนียถูกระงับโดยกฎหมายบังคับของ
จักรวรรดิออสเตรีย ซึ่งห้ามพวกเขาใช้ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้ชาวสโลวีเนีย
ปราศจากโรงเรียน ตำราและหนังสือพิมพ์

ในฐานะสังฆราช ท่านมาร์ติน สโลมเช็คได้ฟื้นฟูโรงเรียนในสโลวีเนียและก่อตั้งระบบ
การศึกษา โดยให้คริสตศาสนาคาทอลิกและประวัติศาสตร์สโลวักเป็นพื้นฐาน ท่านเขียน
ตำราจำนวนมาก เริ่มให้มีนิตยสารรายสัปดาห์ ท่านเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับ
ทุกประเด็นที่ท่านเห็นว่าจะช่วยพัฒนาสติปัญญาประชาชนของท่าน ท่านตั้งสมาคมเพื่อ
ส่งเสริมวรรณกรรมคาทอลิก ตั้งองค์กรเพื่อฟื้นฟู
วัฒนธรรมคาทอลิกบนพื้นฐานความเป็นชาติสโลวีเนีย

ท่านเป็นคนเรียบง่ายและถ่อมตน มีความบริสุทธิ์เหมือนเด็กและเป็นที่รักของพระสงฆ์และ
สัตบุรุษท่านเคยกล่าวว่า "ตอนข้าพเจ้าเกิด มารดาวางข้าพเจ้าบนเตียงปูด้วยฟาง ข้าพเจ้า
จึงไม่ปรารถนาอะไรมากกว่านั้นเมื่อตาย ขอแต่เพียงให้อยู่ในสภาวะพระหรรษทานและ
มีค่าควรแก่ความรอด"

ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๑๘๖๒ ในมาริบอร์ ประเทศสโลวีเนีย
และได้รับประกาศเป็นบุญราศีในวันที่ ๑๙ กันยายน ๑๙๙๙
โดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ย. 27, 2021 9:40 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๕ กันยายน
นักบุญแฮร์มาน คอนตราตุส
St. Hermann Contractus

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ปี ๑๐๑๓ ที่ Altshausen (สวาเบีย)
ท่านพิการแต่กำเนิด ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้โดยปราศจากคนช่วยเหลือ
ท่านอุตสาหะเรียนอ่านเขียนด้วยความยากลำบากเป็นที่สุด แล้วด้วยความตั้งใจ
มุ่งมั่นสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดของท่านก็เป็นที่ประจักษ์แก่คนรอบข้าง

บิดาของท่าน เคาท์ Wolverad II เห็นความฉลาดปราดเปรื่องของลูกชายจึงได้ส่ง
แฮร์มานน้อย ซึ่งขณะนั้นอายุ 7 ปีให้ไปอยู่กับฤษีคณะเบเนดิกติน บนเกาะ Reichenau
ในเยอรมันตอนใต้ แฮร์มานใช้ชีวิตบนเกาะนั้นตลอดชีวิต ท่านปฏิญาณตัวเป็นนักพรต
ในอารามเมื่อปี ๑๐๔๓

นักศึกษาจากทั่วยุโรปหลั่งไหลมายังอารามฤษีบนเกาะเพื่อเรียนรู้จากท่าน ท่านยังมี
ชื่อเสียงในคุณธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ท่านได้เขียนบันทึกลำดับเหตุการณ์หนึ่งพันปีแรกของคริสตศาสนา ท่านเป็นนักคณิตศาสตร์
นักดาราศาสตร์ และกวี ท่านยังเขียนเพลงสรรเสริญแม่พระ Salve Regina และ
Alma Redemptoris Mater

ท่านสิ้นใจบนเกาะแห่งนั้นเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๑๐๕๔

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ย. 27, 2021 9:41 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๖ กันยายน
นักบุญคอสมาและดาเมียน
Sts. Cosmas and Damian

ท่านทั้งสองเป็นพี่น้องฝาแฝด เกิดในครอบครัวคริสตชนในอาระเบีย
ในศตวรรษที่ ๓ พวกท่านอยู่ในแคว้นที่มีชายแดนติดตุรกีและซีเรีย
ทั้งสองท่านเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงในการรักษาผู้คนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ความเมตตาและตัวอย่างชีวิตของท่านทั้งสองทำให้มีคนกลับใจถือคริสตศาสนา
มากมาย พวกท่านได้รับการยกย่องอย่างสูงในชุมชนคริสตชนแห่งเอเชียไมเนอร์
ดังนั้น เมื่อเกิดการเบียดเบียนคริสตศาสนาในยุคจักรพรรดิดีโอคลีตุสในครึ่งหลัง
ของศตวรรษที่ ๓ พวกท่านจึงเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ถูกกำจัด

ในปี ๒๘๗ พวกท่านถูกจับและถูกบังคับให้ปฏิเสธความเชื่อในพระคริสต์พวกท่าน
ไม่ยอมทำตาม จึงได้รับทัณฑ์ทรมานหลายชนิด รวมทั้งถูกตรึงกางเขน แต่พวกท่าน
ก็ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ทรมานพวกท่านเห็นว่าไม่มีทางใดที่จะบังคับให้พวกท่านปฏิเสธ
ความเชื่อได้จึงตัดศีรษะท่านทั้งสองในที่สุด

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ย. 27, 2021 9:44 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๗ กันยายน
นักบุญวินเซนต์เดอ ปอล
St. Vincent de Paul

เราไม่ทราบปีเกิดแน่ชัดของนักบุญวินเซนต์เดอ ปอล แต่คาดว่าอยู่ระหว่างปี ๑๕๗๖
และ ๑๕๘๑ ท่านเกิดมาในครอบครัวยากจนทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส
แต่ได้รับพระพรด้านสติปัญญา ท่านเรียนเทววิทยาตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ต่อมา
หลังจากได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๖๐๐ ท่านทำหน้าที่เป็นครูสอนนักเรียน
ในเมืองตูลูส

ระหว่างการเดินทางในทะเลปี ๑๖๐๕ ท่านถูกโจรสลัดตุรกีจับและขายเป็นทาส
ท่านทำงานทาสอยู่จนถึงปี ๑๖๐๗ ผู้เป็นนายทาสซึ่งกลับใจเพราะการเทศน์สอน
ของท่าน ได้ช่วยท่านหลบหนีออกจากตูนิเซีย ท่านพำนักที่โรม ใช้เวลาศึกษาค้นคว้า
พร้อมกับทำหน้าที่ผู้อบรมและแนะนำชีวิตฝ่ายจิตให้ลูกหลานตระกูลชนชั้นสูงของฝรั่งเศส

แรกเริ่มนั้น วินเซนต์เลือกเป็นพระสงฆ์เพราะต้องการจะมีชีวิตมั่นคงสะดวกสบาย
แต่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจเมื่อท่านฟังแก้บาปชาวนาใกล้ตายคนหนึ่ง
แล้วด้วยความรู้สึกเห็นใจคนจน ท่านเริ่มภารกิจก่อตั้งสถาบันช่วยเหลือพวกเขาทั้ง
ทางวัตถุและจิตใจ

ท่านตั้งคณะพระสงฆ์เพื่องานธรรมทูตในปี ๑๖๒๕ เพื่อประกาศพระวรสารแก่คนชนบท
และส่งเสริมกระแสเรียกพระสงฆ์ที่กำลังขาดแคลน ไม่นานหลังจากนี้ท่านร่วมทำงานกับ
นักบุญหลุยส์เดอ มาริลลัค (Louise de Marillac) เพื่อตั้งองค์กรธิดาเมตตาธรรม
ซึ่งเป็นคณะนักบวชหญิงคณะแรกที่ทำงานกับคนจน คนป่วยและนักโทษ

ภายใต้การบริหารของนักบุญหลุยส์คณะได้รวบรวมเงินบริจาคให้ท่านวินเซนต์ใช้แจกจ่าย
แก่ผู้จำเป็นการช่วยเหลือยังเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัวที่มีเด็กๆ ถูกทอดทิ้ง สถานพยาบาลผู้สูงวัย
และอาคารที่คนจน๔ หมื่นคนต้องพักอาศัยร่วมกัน ท่านยังพยายามช่วยเหลือผู้อพยพ
และช่วยคนที่ถูกขายเป็นทาสในต่างประเทศด้วย

ท่านได้รับความยกย่องต่อกิจการดีเหล่านี้แต่ท่านก็ยังคงความถ่อมตน ท่านใช้ประโยชน์
จากชื่อเสียงและสายสัมพันธ์เพื่อช่วยคนจนและทำให้พระศาสนจักรมั่นคง ในด้านข้อความเชื่อ
ท่านเป็นผู้ต่อต้านลัทธิเจนเซนอย่างแข็งขัน พวกเจนเซนเป็นเฮเรติกที่ปฏิเสธความเป็นสากล
ของความรักของพระ และไม่สนับสนุนการรับศีลมหาสนิท ท่านยังช่วยเหลือฟื้นฟูคณะนักบวช
หลายคณะในฝรั่งเศส

ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๑๖๖๐ พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ ๑๒
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๗๓๗

ในปี ๑๘๓๕ บุญราศีเฟรเดอริกโอซานัมเชิดชูท่านเป็นแรงบันดาลใจ ตั้งชื่อองค์กรคาทอลิก
ช่วยบรรทุกข์คนจน ตามชื่อของท่านว่าสมาคมนักบุญวินเซนเดอปอล

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ย. 27, 2021 9:50 pm

+ สมาคมนักบุญวินเซน เดอ ปอล (Society of Saint vincent de Paul)

สมาคมนักบุญวินเซน เดอ ปอล ได้มีการก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ.1833
โดยท่านเฟเดอริค โอซานัม ชาวฝรั่งเศสได้ร่วมกันกับกลุ่มเพื่อนก่อตั้งใน
ในระยะแรกใช้ชื่อว่า “คณะสมาชิกแห่งความเมตตา” ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น
“สมาคมนักบุญวินเซน เดอ ปอล”
เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านนักบุญวินเซน เดอ ปอล ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ
และมีการรับรองอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1845 หลังจากนั้น ท่านเฟเดอริค โอซานัม
ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี ค.ศ. 1997 ปัจจุบันมีการจัดตั้งสมาคมฯ
อยู่ใน 130 ประเทศ มีสมาชิกทั่วโลก มีผู้ปฏิบัติงาน 950,000 คน
ส่วนในประเทศไทย🇹🇭 คุณพ่อมอริส ยอลี จิตตาธิการคนแรกของสมาคมฯ
ได้ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1947 ใช้ชื่อว่า “สมาคมนักบุญวินเซนเดอปอลแห่งประเทศไทย”
เป็นเวลา 69 ปีปัจจุบันประเทศไทยมีคณะวินเซน เดอ ปอลใน 10 สังฆมณฑล และมี
คณะประมาณ 140 คณะ มีสมาชิกปฏิบัติงาน ประมาณ 1,500 คน
โดยมีคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม อุปสังฆราช เป็นจิตตาธิการของสมาคมฯ

👁 วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับสากล ที่สนับสนุนศักดิ์ศรี
อันเสมอภาคของผู้ยากไร้

🤝 พันธกิจ
เครือข่ายของเพื่อนผู้แสวงหาความศักดิ์สิทธิ์และการเติบโตในชีวิตจิต
ผ่านทางการให้บริการและช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ดุจรับใช้พระคริสต์
ในผู้ยากไร้ และต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม

💖 คุณค่า
เคารพและรักเพื่อนบ้าน มีชีวิตชีวาผ่านทางพันธกิจ, มีการสื่อสารกับผู้ยากไร้
ด้วยความถ่อมตนและเห็นอกเห็นใจ

💝 จิตตารมย์​
“ชาววินเซน” พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ตัดสินว่า ใครดี
ใครเลว แต่พร้อมที่จะรับใช้องค์พระเยซูเจ้าในผู้ยากไร้ทุกคน ดังพระวรสารที่ว่า

“ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา”

(มธ. 25:40)

💙 วัตถุประสงค์
สมาคมนักบุญ วินเซน เดอ ปอล ก่อตั้งโดยกลุ่มคริสตชนคาทอลิก เพื่อบำเพ็ญ
เมตตาจิตแด่พี่น้องผู้ยากไร้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญของสมาคม คือ

1. ให้ความบรรเทาช่วยเหลือคนยากจน และผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งกายและใจ

2. พัฒนาให้คนยากจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในที่สุด ทั้งนี้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ
และศาสนา

😌 โดยระลึกในการทำงานเสมอว่า
•​ ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือทุกคน เป็นพี่น้องของเราในสายตาของพระ
เขามีศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเรา

• อย่าให้ความช่วยเหลือโดยพลการ ทุกเรื่องควรจะผ่านและได้รับความเห็นชอบ
จากที่ประชุม

• ประวัติเรื่องราวของผู้มาขอความช่วยเหลือ ให้ถือเป็นความลับ

• สร้างบรรยากาศของความรัก ความเข้าใจ และความไว้ใจซึ่งกันและกัน

• ชาววินเซน ต้องเป็นผู้ไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ จากสมาคมฯ ไม่ว่าการรับการ
ช่วยเหลือ ชื่อเสียงเกียรติยศทั้งสิ้น เมื่อสมัครเป็นสมาชิก ทุกคนจำเป็นต้องบำเพ็ญตน
และฝึกตนเองให้มี

ความรัก ต่อเพื่อนมนุษย์

ความเมตตา ต่อผู้ยากไร้

ความสุภาพ ต่อทุกคน

ความเสียสละ เวลาและทรัพย์สินส่วนตัว

ความอดทน ต่อสมาชิกร่วมงาน

🔵 ตราสัญลักษณ์ของสมาคม มีความหมายดังนี้
• ปลา เป็นสัญลักษณ์ของคริสตชนในยุคแรกเริ่ม ในกรณีนี้คือสัญลักษณ์ของสมาคม

• ตาสีแดงของปลา แสดงถึงการมีชีวิตอยู่เสมอและการประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ที่เสาะแสวงหาผู้ยากไร้ที่ตกอยู่ในความมืดมิด

• เส้นไขว้ทับกันเป็นหางปลา แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสมาชิกและในเวลาเดียวกัน
เราก็เป็นหนึ่งเดียวกับผู้ยากไร้ด้วย

• วงกลมที่ล้อมรอบตราสัญลักษณ์ แสดงถึงการทำงานของสมาคมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
เป็นสมาคมที่ดำเนินกิจกรรมระดับนานาชาติ

• servians in spe เป็นภาษาละติน หรือ service in hope ในภาษาอังกฤษ แปลว่าการ
ให้บริการแห่งความหวัง กล่าวคือ เมื่อเราให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้เขาพ้นทุกข์
ทำให้เขามีความหวังในชีวิตเพื่อก้าวต่อไป และชาววินเซนเองก็มีความหวังใจ
ในพระคริสต์ด้วยเช่นกัน

📍 ที่อยู่ สมาคมนักบุญวินเซน เดอ ปอล แห่งประเทศไทย
290 ถนนสามเสน ซอย 13 แขวงวชิรพยาบาล
เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
https://goo.gl/maps/WUS1RroDw8ek3Mxw8

📞 เบอร์โทร
0-2668-9314

📧 อีเมล์
ssvp.thailand@hotmail.com

🖥 เว็บไซต์
https://www.ssvpthailand.org

👍 เพจ
https://www.facebook.com/ssvp.thailand/

CR. : 1. http://www.layapostlebkk.com/l041/l041.html
2. https://www.ssvpthailand.org

CR. Picture : 1.https://www.ssvpthailand.org

CR. : https://www.facebook.com/44175628624166 ... 057166214/
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ย. 28, 2021 8:08 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๘ กันยายน
นักบุญเวนเชสเลาส์
St. Wenceslaus

เวนเชสเลาส์เป็นผู้ครองแคว้นยุโรปภาคกลาง เสียชีวิตด้วยน้ำมือของน้องชายตนเอง
ในขณะพยายามส่งเสริมความเชื่อคาทอลิกในโบฮีเมีย ดินแดนบ้านเกิดของท่าน

ท่านเกิดในปี ๙๐๓ บิดาของท่าน ดุ๊กวราติสลอ (Wratislaw) เป็นคาทอลิก แต่มารดา
เจ้าหญิงดราโกเมอร์ (Dragomir) ถือศาสนาท้องถิ่น ภายหลัง พระนางวางแผนสังหาร
เวนเชสเลาส์และย่าของท่าน ลุดมิลล่า (Ludmilla)

ในวัยเยาว์ท่านได้รับการปลูกฝังด้านศาสนาอย่างมั่นคงจากย่าของท่าน รวมทั้งตัวอย่าง
ที่ดีของบิดา ท่านไปศึกษาที่วิทยาลัยใกล้เมืองปราก แต่การเสียชีวิตของบิดา ทำให้เกิด
วิกฤตด้านการเมือง ดราโกเมอร์มารดาของท่าน ซึ่งไม่เคยยอมรับความเชื่อคาทอลิกได้
ใช้การตายของสามีเป็นโอกาสทำลายศาสนาของพ่อแม่ของเขา พระนางถอดผู้เป็นคาทอลิก
ออกจากตำแหน่งทางการเมือง ปิดวัด และห้ามสอนเรื่องความเชื่อ

ลุดมิลล่า แม่สามีของดราโกเมอร์สนับสนุนให้เวนเชสเลาส์ยึดอำนาจจากแม่และปกป้อง
ความเชื่อ การดำเนินการดังนี้ทำให้ประเทศแตกแยกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งปกครอง
โดยเวนเชสเลาส์ มีลุดมิลล่าเป็นที่ปรึกษา อีกฝั่งปกครองโดยโบเลสเลาส์ น้องชาย
ของท่าน ซึ่งซึมซับความเกลียดชังคริสตศาสนาจากแม่ไว้ในตัว

เวนเชสเลาส์ผู้ปรารถนาจะเป็นฤษีมากกว่าดุ๊กได้รับกำลังในการต่อสู้นี้ด้วยการสวดภาวนา
จำศีลอดอาหาร งานกิจเมตตา และคำสาบานถือความบริสุทธิ์ แต่ขณะเดียวกันนั้น
แม่ของเขาก็วางแผนสังหารลุดมิลล่าสำเร็จ นางถูกรัดคอในวัดเล็กส่วนตัว
วันฉลองนักบุญลุดมิลล่าตรงกับวันที่ ๑๖ กันยายน

ดุ๊กแห่งโบฮีเมียยังต้องเผชิญกับการข่มขู่จากแคว้นต่างแดน ผู้รุกราน เจ้าชายราดิสเลาส์
แห่งกูริมา สั่งให้ท่านยอมส่งมอบอาณาจักรให้ เวนเชสเลาส์หลีกเลี่ยงสงครามด้วยการ
ท้าดวลตัวต่อตัว กล่าวกันว่าเทวดา ๒ องค์ช่วยปัดป้องหอกที่พุ่งใส่เวนเชสเลาส์
และเมื่อราดิสเลาส์เห็นดังนั้น ก็คุกเข่ายอมแพ้ทันที

ในระหว่างครองราชย์เวนเชสเลาส์ได้รับพระธาตุนักบุญหลายองค์จากจักรพรรดิออตโต ที่ ๑
ผู้มอบตำแหน่ง "กษัตริย์เวนเชสเลาส์" ให้ท่าน แต่พวกขุนนางบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ
จริยธรรมเคร่งครัดของกษัตริย์นักบุญองค์นี้ ได้ผูกพันธมิตรกับดราโกเมอร์และโบเลสเลาส์

น้องชายของเวนเชสเลาส์เสนอตัวเป็นผู้เจรจาสันติภาพ เชิญเวนเชสเลาส์ให้มายังแคว้น
ของเขาเพื่อเฉลิมฉลอง เมื่อเวนเชสเลาส์สวดภาวนาในวัดน้อยระหว่างการมาเยือน
ทหารของโบเลสเลาส์ก็บุกเข้าโจมตีทำให้ท่านบาดเจ็บ โบเลสเลาส์เป็นผู้ลงมือสังหาร
พี่ชายตนเองด้วยการพุ่งหอกทะลุร่าง

เวนเชสเลาส์เสียชีวิตในวันที่ ๒๘ กันยายน ปี ๙๓๕ จักรพรรดิอ็อตโตตอบโต้การเสียชีวิต
ของเวนเชสเลาส์ด้วยการบุกโจมตีโบฮีเมียและทำสงครามรบสู้กับโบเลสเลาส์เป็นเวลาหลายปี
พระองค์พิชิตดินแดนนี้ได้ในที่สุด และบังคับให้โบเลสเลาส์ยกเลิกมาตรการต่อต้านคาทอลิก
ที่เขาและมารดาบังคับใช้

ไม่มีหลักฐานว่าดราโกเมอร์ซึ่งเสียชีวิตไม่นานหลังการสังหารเวนเชสเลาส์มีความสำนึกเสียใจ
หรือไม่ แต่โบเลสเลาส์สำนึกในบาปของตนเมื่อพบเจออัศจรรย์ที่หลุมฝังศพของพี่ชายเขา
เขาย้ายร่างของเวนเชสเลาส์ไปที่อาสนวิหารเพื่อให้ผู้มีความเชื่อได้เคารพสักการะ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ย. 29, 2021 8:27 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒๙ กันยายน
อัครเทวดามีคาแอล กาเบรียล และราฟาแอล
Sts. Michael, Gabriel, Raphael, Archangels

มีคาแอล กาเบรียล และราฟาแอล เป็นทูตสวรรค์ที่มีชื่อกล่าวถึงในพระคัมภีร์
แต่ละท่านมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ความรอด

มีคาแอลเป็น "เจ้าชายแห่งกองทัพสวรรค์" เป็นผู้นำของปวงเทวดา ชื่อของท่าน
เป็นภาษาฮีบรูหมายถึง"ใครเล่าจะเสมอเหมือนพระเจ้า?" และเป็นเสียงร้องยาม
ทำสงครามของเทวดาฝ่ายดีที่สู้รบกับลูซีแฟร์และสมุนที่เป็นขบถต่อพระเจ้า
ท่านถูกกล่าวถึง ๔ ครั้งในพระคัมภีร์คือในหนังสือดาเนียล บทที่ ๑๐และ ๑๒
ในจดหมายของยากอบ และหนังสือวิวรณ์

กองกำลังทูตสวรรค์ของมีคาแอลกวาดไล่ลูซีแฟร์และจิตชั่วร้ายลงสู่นรก ดังนั้น
จึงมีธรรมเนียมเอ่ยนามท่านเพื่อปกป้องภัยจากซาตานและความชั่วทั้งหลาย
ในปี ๑๘๙๙ พระสันตะปาปาลีโอ ที่ ๑๓ เห็นนิมิตของความชั่วร้ายที่จะรุกราน
พระศาสนจักรและโลกในศตวรรษที่ ๒๐ จึงทรงกำหนดให้มีบทสวดขอ
การพิทักษ์คุ้มครองจากนักบุญมีคาแอลในตอนท้ายมิสซา

ธรรมประเพณีของคริสตชนยึดถือบทบาท ๔ ประการของนักบุญมีคาแอลคือ
๑. ต่อสู้กับซาตาน
๒. ช่วยเหลือผู้มีความเชื่อจากอำนาจของศัตรูโดยเฉพาะในเวลาใกล้ตาย
๓. เป็นผู้นำของประชากรพระเจ้า
๔. นำวิญญาณมนุษย์ไปรับการพิพากษา

“ข้าพเจ้าคือกาเบรียลผู้ยืนอยู่เบื้องเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า” (ลก ๑:๑๙)

นักบุญกาเบรียล ซึ่งชื่อของท่านหมายถึง "พลังของพระเจ้า" ถูกกล่าวถึง ๔ ครั้ง
ในพระคัมภีร์เหตุการณ์สำคัญ ๒ ครั้งที่กล่าวถึงท่านในพระวรสารคือการประกาศ
ถึงการถือกำเนิดของยอห์น บัปติสต์ แก่บิดาของเขา เศคาริยาห์ และการที่พระวจนาตถ์
จะทรงรับเอากายอยู่ในครรภ์ของพระนางมารีย์

ธรรมประเพณีคริสตชนถือว่าท่านปรากฏต่อหน้านักบุญโยเซฟและพวกคนเลี้ยงแกะ
และช่วย "เป็นกำลัง" ให้พระเยซูช่วงเวลาที่พระองค์ทุกข์ใจในสวนเกธเสมนี

"เราคือราฟาแอล หนึ่งในเจ็ดทูตสวรรค์ที่อยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า" (ทบ ๑๒, ๑๕)

ราฟาแอล หมายถึง "พระเจ้าทรงบำบัดรักษา" ท่านถูกพระเจ้าส่งมาให้ช่วยรักษา
อาการตาบอดของโทบิยาห์ในหนังสือโทบิต โทบิตเป็นหนังสือเล่มเดียวที่กล่าวถึงท่าน
หน้าที่ของท่านคือการเยียวยารักษาและแสดงภารกิจแห่งความเมตตา

ธรรมประเพณียังถือว่าราฟาแอลเป็นผู้ที่ลงมายังสระน้ำและช่วยรักษาบุคคลแรกที่ลงถึง
สระหลังน้ำกระเพื่อม ตามคำเล่าในเหตุการณ์พระวรสารนักบุญยอห์น (ยน ๕:๑-๔)

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ย. 30, 2021 10:21 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓๐ กันยายน
นักบุญเยโรม
St. Jerome

เยโรมเป็นพระสงฆ์ฤษีและนักปราชญ์ของพระศาสนจักร ท่านมีชื่อเสียงใน
ความรอบรู้และเป็นผู้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาลาติน ที่เรียกกันว่าวูลเกท (Vulgate)

นอกจากท่านจะเป็นหนึ่งในปิตาจารย์พระศาสนจักรและองค์อุปถัมภ์ของนักวิชาการ
คาทอลิกแล้ว ยังถือกันว่าท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้ที่มีบุคลิกแปรปรวน ทั้งนี้เนื่อง
จากความคิดเห็นทางวิชาการและคำสอนของพระศาสนจักรที่ท่านยึดถืออย่างสุดโต่ง
ท่านขึ้นชื่อในความศรัทธาต่อชีวิตเคร่งครัด และ ยืนยันถึงความสำคัญในการศึกษา
เรื่องของชาวยิว

ท่านเกิดในปี ๓๔๐ มีชื่อว่ายูเซบิอุส เฮียโรนีมูส โซโฟรนีอุส
(Eusebius Hieronymous Sophronius) ท่านเกิดในดินแดนที่เป็นประเทศโครเอเชีย
ในปัจจุบัน บิดาปลูกฝังความเชื่อคริสตชนให้ท่าน และส่งท่านไปโรมเพื่อศึกษา
วรรณกรรมคลาสสิคและวาทศิลป์ ชีวิตวัยหนุ่มของท่านดิ้นรนระหว่างการแสวงหา
ความเพลิดเพลินทางโลก ซึ่งนำท่านพบการผจญล่อลวงหลายชนิด กับการเลือกชีวิต
แห่งความเชื่อ ความรู้สึกขัดแย้งในใจเช่นนี้เกิดขึ้นเสมอๆ ในระหว่างเที่ยวชมหลุม
ฝังศพใต้ดินที่โรมกับเพื่อนๆ ของท่าน

เมื่อได้รับศีลล้างบาปในปี ๓๖๐ จากพระสันตะปาปาลิเบรีอุส ท่านก็เดินทางท่องเที่ยว
ไปในดินแดนศูนย์กลางแห่งปัญญาชนและอารามฤษีต่างๆ ระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิด
ซึ่งอยู่ในช่วงสิ้นสุดวิกฤตจากพวกเฮเรติก ลัทธิเอเรียน (Arianism) ท่านได้ศึกษา
เทววิทยาที่สำนักมีชื่อเสียงของ Trier และทำงานใกล้ชิดกับผู้จะเป็นนักบุญในอนาคต
๒ ท่าน คือโครมาทีอุสและเฮลิโอโดรุส ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเทววิทยาที่มีชื่อเสียง

ท่านเดินทางออกจากทะเลอาเดรียติก มุ่งตะวันออกสู่ซีเรียเพื่อแสวงหาชีวิตที่คล้ายคลึง
กับ "ปิตาจารย์ทะเลทราย" ของยุคแรก ท่านเยี่ยมเมืองกรีกที่มีความสำคัญทางบ้านเมือง
และศาสนจักรหลายแห่ง "ทะเลทรายที่รกร้าง มีแต่หินทราย... ที่ซึ่ง ...กล้าก้าวเผชิญความ
พรั่นพรึงหรือนรก ข้าฯ ปวารณาตัวที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่โดยปราศจากมิตรสหาย
มีเพียงแมงป่องและสัตว์ป่า" จดหมายของท่านบรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่และ
การประจญที่ท่านพบผ่านในช่วงหลายปีของการเป็นฤษีทะเลทราย อย่างไรก็ตาม
ภายหลังรับการบวชเป็นสงฆ์โดยสังฆราชแห่งอันติโอก และใช้เวลาศึกษาระยะหนึ่งที่
คอนสแตนติโนเปิล และรับใช้พระสันตะปาปาดามาซุส ที่ ๑ ที่กรุงโรม ท่านก็เลือกชีวิต
สันโดษอย่างถาวรในเมืองเบธเลเฮม

ในช่วงกลางปี ๓๘๐ แต่ท่านยังคงมีบทบาทเสมอๆ ในวิวาทะกับนักคิดคนอื่นๆ ของ
พระศาสนจักร ท่านเป็นบิดาชีวิตฝ่ายจิตของกลุ่มศิษย์หญิง พวกนักพรตฤษีและผู้
แสวงบุญจากทั่วประเทศและทุกวัฒนธรรมเดินทางมาพบท่านที่อาราม ท่านเล่าว่า
"มีเสียงขับบทเพลงสดุดีมากมายหลายชาติหลายภาษา"

ท่านเลิกอ่านวรรณกรรมต่างศาสนาเพราะเห็นว่าหนังสือเหล่านั้นเบี่ยงเบนความสนใจ
ท่านเรียนภาษาฮีบรูจากพระสงฆ์คนหนึ่งที่กลับใจจากการถือศาสนายูดาย ท่านยัง
ศึกษากับรับไบชาวยิว พยายามจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมฮีบรู
กับโลกของกรีกและละตินที่กำลังเริ่มเจริญก้าวหน้า ท่านทำงานเป็นเลขานุการของ
พระสันตะปาปาดามาซุส ผู้มอบหมายหน้าที่ให้ท่านแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาละติน
ท่านใช้เวลา 15 ปีในการแปลจากต้นฉบับคัมภีร์ภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ฉบับแปลเป็น
ภาษาละตินของท่านถูกใช้เป็นทางการในพระศาสนจักร

อย่างไรก็ตาม อารมณ์ฉุนเฉียวและการวิจารณ์เผ็ดร้อนของท่านต่อผู้คิดเห็นแตกต่าง
ทำให้ท่านมีศัตรูมากมายในศาสนจักรและในโรม และที่สุดท่านถูกบีบบังคับให้ออก
จากโรม ท่านไปเมืองเบธเลเฮม ตั้งอารามที่นั่นและใช้ชีวิตที่เหลือในการศึกษา
สวดภาวนาและบำเพ็ญพรต

ท่านกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า "ข้าฯ ตีความ (ในการแปลพระคัมภีร์) ตามคำสั่งของพระคริสต์
จงแสวงหาแล้วจะพบ นักบุญเปาโลกล่าวว่า พระคริสต์คือพลังและปรีชาญาณของพระเจ้า
ใครไม่รู้จักพระคัมภีร์ก็ไม่รู้จักพลังและปรีชาญาณของพระเจ้า ดังนั้น การไม่รู้จักพระคัมภีร์
ก็คือการไม่รู้จักพระคริสต์นั่นเอง"

ท่านผ่านวันเวลาที่เหลือของชีวิตในช่วงที่อาณาจักรโรมันเริ่มถูกรุกรานโดยพวกบาร์เบเรียน
และเกิดความวุ่นวายจากการโต้แย้งเรื่องข้อความเชื่อในศาสนจักร ในปี ๔๒๐
ท่านเสียชีวิตในอารามของท่านที่เบธเลเฮม

CR. : Sinapis
ตอบกลับโพส