ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนตุลาคม (วันที่1-15)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ต.ค. 01, 2021 10:37 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑ ตุลาคม
นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู
St. Thérèse of the Child Jesus

นักบุญเทเรซาเกิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๑๘๗๓ ในเมือง Alencon ประเทศฝรั่งเศส
บิดามารดาของเธอเป็นคาทอลิกใจศรัทธา (ภายหลัง ทั้งสองได้รับประกาศเป็น
"ผู้ควรเคารพ" โดยพระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ ๒ และเป็นนักบุญโดย
พระสันตะปาปาฟรังซิส)
มารดาเสียชีวิตเมื่อเทเรซาอายุ๔ ขวบ บิดาและพวกพี่สาวช่วยกันอบรมเลี้ยงดูเธอ

ในวันคริสต์มาสปี ๑๘๘๖ เทเรซามีประสบการณ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอย่างแนบแน่น
ซึ่งเธอบรรยายว่าเป็น "การกลับใจอย่างสมบูรณ์" ต่อมา เมื่อเธอร่วมคณะจาริกแสวงบุญ
ไปโรม และได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเลโอ ที่ ๑๓ เธอทูลขอพระองค์อนุญาตให้เธอเข้า
อารามคาร์เมไลท์ได้แม้อายุเพียง ๑๕ ปี

เมื่อเทเรซาเข้าอยู่ในอารามคณะคาร์เมไลท์เธอพยายามดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์เธอทำ
ทุกอย่างด้วยความรักและไว้วางใจอย่างเด็กๆ ในพระเจ้า เธอต้องปรับตัวกับการดำเนิน
ชีวิตกลุ่มในอาราม เธอตัดสินใจกระทำทุกอย่างด้วยความรักโดยเฉพาะกับคนที่เธอไม่ชอบ
เธอทำสิ่งต่างๆ โดยไม่เลือกว่าจะเล็กน้อยหรือใหญ่โต กิจการเหล่านี้ช่วยให้เธอเข้าใจ
ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อกระแสเรียกของเธอ

เธอเขียนในอัตชีวประวัติว่าเธอใฝ่ฝันอยากเป็นธรรมทูต เป็นอัครสาวกเป็นมรณสักขีแต่เธอ
เป็นเพียงชีลับคนหนึ่งในอารามเงียบสงัดในฝรั่งเศส แล้วความปรารถนานี้จะเป็นจริงได้อย่างไร?

"ความรักมอบกุญแจไขกระแสเรียกของฉัน ฉันเกิดความเข้าใจว่าพระศาสนจักรมีหัวใจและ
หัวใจนี้ลุกไหม้ด้วยความรัก ฉันรู้ว่าความรักผลักดันให้สมาชิกของพระศาสนจักรออกกระทำ
กิจการดีต่างๆ ถ้าความรักนี้มอดดับ อัครสาวกก็จะไม่ประกาศพระวรสารอีกต่อไป มรณสักขี
จะไม่หลั่งเลือดอีกต่อไป ฉันเข้าใจว่าความรักเป็นที่มาของกระแสเรียกทั้งหลายความรักเป็น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่สวมกอดทุกแห่งแหล่งที่และทุกกาลเวลา ...กล่าวอีกอย่าง นั่นเป็นนิรันดร
ดังนั้นด้วยความเบิกบานจนสุดจะข่มกลั้น ฉันร้องออกมาว่า โอ้พระเยซูความรักของฉัน
กระแสเรียกของฉัน ในที่สุด ฉันพบแล้วกระแสเรียกของฉันคือความรัก"

เทเรซาถวายตัวเธอเป็นพลีบูชาแด่ความรักของพระเจ้าในวันที่ ๙ มิถุนายน ๑๘๙๕
ในวันฉลองพระตรีเอกภาพ แล้วปีต่อมา ในคืนระหว่างวันพฤหัสฯ ศักดิ์สิทธิ์ และศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
เธอก็พบอาการแรกของวัณโรค ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยที่จะนำไปสู่ความตายของเธอ

เทเรซาตระหนักว่าความเจ็บป่วยของเธอคือการเชื้อเชิญอย่างลึกลับของการเป็นเจ้าสาวของ
พระเจ้าและเธอยินดีต้อนรับความทุกข์ทรมานในฐานะเป็นคำตอบรับสำหรับการถวายตัว
ของเธอเมื่อปีก่อนเธอได้พบการทดสอบด้านความเชื่อ ซึ่งคงอยู่จนกระทั่งถึงวันที่เธอสิ้นใจ
คำพูดสุดท้ายของเธอคือ"พระเจ้าของลูก ลูกรักพระองค์"

ภายหลังการสิ้นใจด้วยวัยเพียง ๒๔ ปีของเธอ คริสตชนนับล้านได้รับแรงบันดาลใจจาก
"ทางสายน้อย" ในการแสดงความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ของเธอ มีอัศจรรย์เกิดขึ้น
มากมายจากผู้วอนขอ เธอเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตในสวรรค์ของฉันจะถูกใช้เพื่อกระทำสิ่งดีๆ ในโลก"

ในปี ๑๙๙๗ อันเป็นวาระ ๑๐๐ ปีการเสียชีวิตของเธอ นักบุญเทเรซาได้รับประกาศเป็น
นักปราชญ์ของพระศาสนจักรโดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ เธอเป็นสตรีคนที่สาม
ที่ได้รับประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร ต่อจากนักบุญแคทเธอรีนแห่งซีเอนา
และนักบุญเทเรซาแห่งอาวิลา

นักบุญเทเรซาเคยเขียนไว้ว่า "พระเจ้าไม่ได้มองการกระทำของเราว่ายิ่งใหญ่หรือต้อง
ประสบทุกข์ยากลำบากเพียงใด แต่ทรงมองที่ความรักของเราในการกระทำสิ่งนั้น"

CR. : Sinapis

✦ 1 ตุลาคม
ระลึกถึงนักบุญเทเรซา แห่งพระกุมารเยซู
พรหมจารี และนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร
(St Thérèse of the Child Jesus, Virgin & Doctor, memorial)

+++++

มารี ฟร็องซัวส์ เทแรส (Marie Francoise Thérèse) เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1873
เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนทั้งหมด 9 คน จากครอบครัวที่ศรัทธาแห่งอะลังซอง (Alencon)
ประเทศฝรั่งเศส ทั้งคุณพ่อ Louis และคุณแม่ Zelie Martin ของท่านนักบุญเคยคิดที่จะเจริญ
ชีวิตเป็นนักบวชมาก่อน แต่พระเจ้าทรงทดแทนให้ท่านทั้งสองโดยรับลูกๆของพวกท่าน
ถึง 5 คนให้ได้ไปเป็นนักบวช หนูน้อยเทเรซาตั้งแต่อายุ 9 ขวบเป็นต้นมาได้พยายามตาม
บรรดาพี่ๆของเธอไปที่อารามคณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้าที่เมือง ลีซีเออซ์ (Lisieux)
ขณะที่เธอมีอายุได้ 14 ปี พระสังฆราชก็ยังพิจารณาเห็นว่าเธอยังเด็กไปที่จะเข้าอาราม
ดังนั้นในปีศักดิ์สิทธิ์เธอได้เดินทางไปที่กรุงโรม และได้ร้องขอเป็นการส่วนตัวต่อสมเด็จ
พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ให้อนุมัติแก่เธอเป็นพิเศษเพื่อจะได้เข้าอาราม ในที่สุด ท่านก็ได้
รับการต้อนรับให้เข้าอารามได้จาก Mother Prioress ในขณะที่อายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

⋇⋆✦⋆⋇

ซิสเตอร์เทเรซา แห่งพระกุมารเยซู ซึ่งใครๆก็เรียกเธอด้วยชื่อนี้ ได้รับคำชื่นชมโดย
เห็นได้ชัดว่าเป็นผลิตผลแห่งพระหรรษทาน เธอได้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและรวดเร็วใน
เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งเมื่ออายุ 22 ปีก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนวกจารย์ -
ความซื่อแบบเด็กๆ ความสุภาพที่ปรากฏออกมาภายนอก การเสียสละอุทิศตนอย่าง
สม่ำเสมอ และความรักต่อพระเจ้าอย่างไม่มีขอบเขต รวมถึงความไว้วางใจในพระองค์
โดยสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้คือคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของเธอ "ไม่มีใครจะวอนขอมากเกิน
ไปจากพระเจ้า ผู้ทรงฤทธานุภาพและทรงเมตตาสงสาร เขาจะได้รับจากพระองค์จริงๆ
ตามสัดส่วนของความไว้วางใจที่เขามีต่อพระองค์" แต่โดยผ่านทาง "หนทางเล็กๆ"
(Little Way) ของเธอ ในการกระทำหน้าที่เล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันอย่างครบครันด้วย
ความรักต่อพระเจ้า ก็ได้กลายเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจสำหรับคนธรรมดาอย่าง
มากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งเธอได้เปิดเผยในหนังสืออัตชีวประวัติที่มีชื่อเสียงของเธอที่ชื่อว่า
"เรื่องเล่าของวิญญาณดวงหนึ่ง" (The Story of a Soul) ซึ่งเธอได้เขียนเพราะความนบนอบ
น่ารัก "อย่าทำตนให้เด่นในทุกสิ่ง อย่าบ่นว่า อย่าบอกว่าตนไม่สบาย จงแสดงความเป็นมิตร
อย่างพิเศษกับคนเหล่านั้นที่ใจจืดใจดำกับเรา จงให้คำตอบอย่างหลักแหลมด้วยรอยยิ้ม
พิมพ์ใจ" - เหล่านี้คือ สิ่งที่เธอปฏิบัติจริง

⋇⋆✦⋆⋇

ในช่วงระยะเวลาเก้าปีครึ่งในการใช้ชีวิตอยู่ในอารามเธอไม่ได้ทำตัวโดดเด่น
แต่กลับวางตัวเป็นธรรมชาติมากจนว่าเธอสามารถผ่านเวลานี้ไปโดยไม่เป็นที่สังเกต
สิ่งที่เธอตั้งใจทำเป็นพิเศษ คือเธอรู้สึกว่าจะต้องช่วยบรรดาพระสงฆ์และบรรดามิชชันนารี
ของพระศาสนจักร ดังนั้น เธอจึงสวดภาวนาและทำพลีกรรมเพื่อพวกเขา และหลังจากการ
ตายต่อตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ (เธอเคยใฝ่ฝันจะเป็นมรณสักขีตั้งแต่วัยเด็ก)
เธอได้มอบถวายตนด้วยความอ่อนหวานและความอดทนขั้นวีรกรรม ให้เป็นเสมือนเชลย
ของความรักเปี่ยมเมตตาของพระเจ้า เธอได้สิ้นชีพเพราะวัณโรคเมื่อ
วันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1897 เมื่อมีอายุ 24 ปี "มีเพียงสิ่งเดียวที่ต้องทำเมื่อเราอยู่ในโลก
ข้างล่างนี้ คือรักพระเยซูเจ้า และช่วยวิญญาณต่างๆ ให้รอด เพื่อพระองค์จะทรง
ได้รับความรักมากขึ้น"

⋇⋆✦⋆⋇

ได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศี ในปี ค.ศ. 1923 และได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญ
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ปี ค.ศ.1925 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ชื่อของท่านนักบุญ
ที่ว่า "ดอกไม้น้อยๆ" (the Little Flower) กลายเป็นชื่อที่คนรู้จักกันอย่างกว้างขวาง
ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดานักบิน ของประเทศรัสเซีย และพร้อมกับนักบุญฟรังซิสเซเวียร์
ของประเทศมิสซังทั้งหลาย และท่านยังได้รับการประกาศเป็น
นักปราชญ์แห่งพระศาสนจักรในปี ค.ศ.1997 โดย นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา

+++++

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ต.ค. 02, 2021 10:32 pm

ฉลองวันที่ ๒ ตุลาคม
เทวดารักษาตัว
The Guardain Angels

"เพราะพระองค์ได้ทรงมอบเทวดาให้คุ้มครองเจ้า ให้เจ้ารักษาหนทางของพระองค์"
บทสดุดี ๙๐:๑๑

พระคัมภีร์เก่าและใหม่เล่าถึงเทวดารักษาตัวที่ช่วยปกป้องเราจากความชั่วร้ายทั้ง
ทางกายและใจ ในหนังสือกิจการอัครสาวกเทวดาช่วยนำนักบุญเปโตรออกจากคุก
และในพระวรสาร พวกท่านช่วยบรรเทาทุกข์ของพระเยซูในสวนเกธเสมนี

พระเยซูทรงกล่าวถึงการมีอยู่และทำหน้าที่ของเทวดาว่า "จงระวังอย่าดูหมิ่นคนเล็ก
น้อยในหมู่ท่านเพราะเราขอกล่าวแก่ท่านว่า เทวดาของพวกเขาในสวรรค์เฝ้าอยู่
เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า" (มธ. ๑๘:๑๐)

พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า ทุกคน แม้แต่เด็กเล็กๆ มีเทวดารักษาตัวเทวดาเหล่านั้น
อยู่ในสวรรค์ เฝ้าเบื้องพระพักตร์พระเจ้า ภารกิจของพวกท่านบนโลกคือนำทางและ
ปกป้องเราตลอดการเดินทางไปสู่บ้านพระบิดาของเรา นักบุญเปาโลกล่าวว่า
"พวกท่านเป็นจิตที่ถูกส่งมาเพื่อดูแลพวกเขาผู้จะได้รับมรดกแห่งความรอดมิใช่หรือ?"
(ฮบ. ๑:๑๔)

อย่างไรก็ตาม พวกท่านนำทางเราไปสู่สวรรค์ต่อเมื่อเราต้องการเท่านั้น นักบุญโทมัส
อไควนัสเขียนว่าพวกเทวดาแม้จะสามารถทำสิ่งใดโดยผ่านทางความรู้สึกและจินตนาการ
ของเราแต่จะไม่สามารถกระทำการใดๆ ต่อความตั้งใจหรือสติปัญญาของเราได้ดังนั้น
ท่านสนับสนุนให้เราเลือกการตัดสินใจที่ถูกต้อง

บทภาวนาต่อเทวดารักษาตัวมีอยู่ในพระศาสนจักรตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ ๑๒
"ทูตสวรรค์ของพระเจ้า พระองค์ทรงพระกรุณามอบข้าพเจ้าไว้ในความอารักขาของท่าน
โปรดส่องสว่าง พิทักษ์รักษาคุ้มครองและนำทางชีวิต ข้าพเจ้าในวันนี้(คืนนี้) ด้วยเทอญ
อาแมน"

CR. : Sinapis

😇 อารักขเทวดา - เทวดาผู้คุ้มครองมนุษย์

 
ตั้งแต่เราเกิด … พระเป็นเจ้าทรงประทานมิตรสหายผู้ซื่อสัตย์ให้แก่เรา
พระองค์ทรงแต่งตั้งอารักขเทวดาให้มาคอยพิทักษ์เรา
 
เทวดาคือ จิตบริสุทธิ์ผู้อยู่เฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้าเสมอ ท่านขับร้องสรรเสริญ
องค์พระผู้สร้างตลอดเวลา
 
เทวดาทำหน้าที่เป็นผู้นำสาส์นของพระเป็นเจ้า นำพระวาจาของพระองค์มาแจ้ง
แก่มนุษย์ทุกคน ถึงแม้เราไม่สามารถมองเห็นท่าน ท่านก็พร้อมเสมอที่จะคอยเฝ้า
พิทักษ์ปกป้องเราตามพระบัญชาของพระเป็นเจ้า

***
 
นักปราชญ์แห่งพระศาสนาจักรสอนว่า อารักขเทวดาจะหมดหน้าที่ก็ต่อเมื่อ มนุษย์เข้าสู่
สวรรค์แล้วเท่านั้น ผู้เห็นญาณนิมิตบางคนกล่าวยืนยันว่า เทวดาคอยช่วยวิญญาณใน
ไฟชำระด้วย
 
ถ้าเราเอาใจใส่ต่อคำสอนของพระศาสนาจักรและวิงวอนต่ออารักขเทวดาเสมอ ท่านจะ
ให้ความช่วยเหลืออันทรงพลังแก่เรา ในวาระที่เราใกล้เสียชีวิต ท่านจะช่วยเราในการต่อสู้
กับการประจญและปลอบบรรเทาความทุกข์โศกของเรา
 
อารักขเทวดาจะนำวิญญาณของเราไปสู่การพิพากษา และเรามั่นใจได้ว่าท่านจะปลอบประโลม
เราถ้าเราต้องไปอยู่ในไฟชำระ ณ ที่นั้น … ท่านจะช่วยเหลือเราด้วยมิตรจิตดุจดังญาติมิตรสนิท
และท่านจะช่วยดลใจให้ญาติพี่น้องของเราบนโลกนี้ทำบุญ ขอมิสซาและอุทิศบุญกุศลต่างๆมา
ให้แก่เรา

***
 
ความศรัทธาต่ออารักขเทวดาทำได้โดย - สวดภาวนาถึงท่านทุกวัน
(เพื่อขอความช่วยเหลือโดยเฉพาะเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ในโลกนี้) --
 
ความปรารถนาและความตั้งใจของอารักขเทวดาคือ การได้เห็นเราอยู่ในสวรรค์แล้วเท่านั้น
 
ท่านจะวอนขอพระหรรษทานต่างๆจากพระเป็นเจ้าเพื่อนำเราให้เข้าสู่ชีวิตนิรันดร
 
อารักขเทวดาสวดภาวนาเพื่อเราด้วยความรักยิ่งเฉพาะพระพักตร์พระบัลลังก์ของพระเป็นเจ้า
ท่านจะนำพระหรรษทานที่ท่านได้รับจากพระเป็นเจ้ามาให้แก่วิญญาณในไฟชำระ ซึ่งเป็นผล
มาจากการอุทิศบุญกุศลของผู้ที่อยู่บนโลกนี้ที่มอบให้แก่เรา
 
อารักขเทวดาจะส่งข่าวไปแจ้งแก่วิญญาณในไฟชำระเมื่อมีผู้ส่งบุญกุศลมาให้ เพื่อที่ให้วิญญาณ
สวดภาวนาแด่ผู้นั้นเป็นการตอบแทน

ตามที่นักบุญออกุสตินกล่าว "ผู้จากไปอาจได้รับการแจ้งข่าวจากเทวดาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้
เท่าที่พระผู้ทรงพิพากษาทุกๆสิ่งจะทรงอนุญาต … " วิญญาณนั้นไม่สามารถสวดภาวนาเพื่อตัวเอง
แต่สามารถสวดภาวนาเพื่อพวกเราที่อยู่บนโลกนี้ได้ ”
 
ขณะที่นักบุญมาร์กาเร็ตแห่งคอร์โตนากำลังสวดภาวนาอยู่ด้วยน้ำตานองหน้าเพื่อเพื่อนของเธอทุกคน
ที่จากไป เพื่อนของเธอได้มาปรากฏต่อเธอล้อมรอบด้วยรัศมีเจิดจรัสจนเธอไม่สามารถทนมองได้
 
องค์พระผู้ไถ่ได้ตรัสต่อมาร์กาเร็ตว่า "ความเจ็บปวดทรมานที่พวกเขาได้รับนั้นมากมายยิ่งนัก.
แต่มันจะยิ่งทรมานมากกว่านั้นอีกหลายเท่า ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับการเยี่ยมเยียนและ
ปลอบประโลมจากเทวดาของเรา การปรากฏของพวกท่านช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมาน
ของเขาและทำให้พวกเขาสดชื่นขึ้นจากการถูกลงทัณฑ์เพื่อชำระให้บริสุทธิ์ที่พวกเขาได้รับ"
 
นักบุญเจโรมกล่าวย้ำว่า
 
"วิญญาณช่างยิ่งใหญ่เพียงไร เพราะตั้งแต่เกิด แต่ละคนก็มีเทวดามาคอยเฝ้าอารักขาแล้ว"
 
จงสวดภาวนาขอความช่วยเหลือจากอารักขเทวดาทุกวัน ท่านจะดูแลเราทั้งบนโลกนี้
และในไฟชำระ และท่านจะต้อนรับเราในสวรรค์

(ขอบคุณบทความจาก : จิตอิสระ)
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ต.ค. 03, 2021 5:33 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓ ตุลาคม
บุญราศีแอน-เทแรซ เกแรง
Blessed Anne-Thérèse Guérin

ท่านเกิดที่เมือง Etables แคว้น Brittany ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๑๗๙๘
และเสียชีวิตวันที่๑๔ พฤษภาคม ๑๘๕๖ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ประกาศตั้ง
ท่านเป็นบุญราศีในวันที่ ๒๕ตุลาคม ๑๙๙๘

ในช่วงที่ท่านเป็นเด็ก รัฐบาลฝรั่งเศสต่อต้านพระสงฆ์นักบวชอย่างรุนแรง มีการปิด
บ้านเณรและวัดรวมทั้งจับกุมคุณพ่อ ซิสเตอร์บราเดอร์ญาติคนหนึ่งของท่านซึ่งเป็นเณร
หลบหนีมาซ่อนตัวอยู่กับครอบครัวของท่าน เขาสอนท่านเรื่องความเชื่อและความรู้ทางศาสนา

เมื่ออายุ ๒๖ ปี ท่านเข้าคณะซิสเตอร์แห่งพระญาณสอดส่อง (Sisters of Providence)
ท่านอุทิศตัวเองเพื่อการอบรมสั่งสอนความรู้ด้านศาสนา ท่านมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
จนสถาบันวิชาการของประเทศให้การยอมรับ

ในปี ๑๘๔๐ ท่านถูกส่งไปรัฐอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตั้งอารามของคณะใน
สังฆมณฑลVincennes ที่นั่น ท่านได้บุกเบิกงานด้านการศึกษาคาทอลิก ท่านเปิดโรงเรียนประจำ
สตรีแห่งแรกในรัฐอินเดียน่าและรับมือกับการต่อต้านคาทอลิกในยุคสมัยนั้น

ท่านกล้าหาญยืนหยัดเป็นพยานความเชื่อความหวังและความรักของพระเจ้า หลายครั้งอาราม
ที่ท่านก่อตั้งถูกพวกต่อต้านคาทอลิกเผาทำลาย การเบียดเบียนยังมีมาจากภายในพระศาสนจักร
เองด้วย พระสังฆราช ซึ่งไม่ได้รับสิทธิ์เหนือคณะของท่าน ได้ประกาศอัปเปหิท่านออกจาก
พระศาสนจักร แต่การประกาศนี้ภายหลังถูกยกเลิกโดยสังฆราชองค์ใหม่

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 04, 2021 1:53 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๔ ตุลาคม
นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี
St. Francis of Assisi

ฟรังซิสแห่งอัสซีซีเป็นสังฆานุกรชาวอิตาเลียนผู้นำการปฏิรูปมาสู่พระศาสนจักร
โดยการดำเนินชีวิตตามพระวาจาของพระเยซูเจ้าอย่างเที่ยงตรงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

ท่านเกิดเมื่อปี ๑๑๘๐ ในตระกูลค้าขายที่มั่งคั่ง บิดาท่านชื่อ Pietro Bernardone
และมารดาชื่อ Pica ท่านได้รับชื่อแรกเกิดว่า Giovanni (ยอห์น) แต่บิดาของท่าน
เลือกจะเรียกท่านว่า Francesco (ฟรังซิส)

ฟรังซิสแตกต่างจากนักบุญองค์อื่นๆ ของยุคกลาง ในวัยหนุ่มท่านไม่ได้โดดเด่นพิเศษ
เรื่องความศรัทธาหรือการศึกษา ความร่ำรวยของบิดาทำให้ท่านสามารถใช้ชีวิตชนชั้นสูง
ท่านเป็นหนุ่มสังคม แต่งตัวโฉบเฉี่ยวทันสมัยและชอบร้องเพลง ท่านสนใจเรื่องการรบพุ่ง
จนเข้าร่วมรบในสงครามของรัฐอิตาเลียนคู่แข่งช่วงเวลาที่ท่านถูกคุมขังเพราะการรบสู้นั้น
ท่านเริ่มหันเหความคิดสู่เรื่องที่จริงจังกว่า ท่านกลับเมืองอัสซีซีในปี ๑๒๐๕ และเริ่มคิดถึง
การใช้ชีวิตถือความยากจน

มีเหตุการณ์ ๓ อย่างที่สร้างความมั่นใจให้กับทางเลือกนี้ของฟรังซิส ที่เมืองอัสซีซีท่านเอา
ชนะความกลัวด้วยการจูบมือคนเป็นโรคเรื้อน หลังจากนั้น ท่านจาริกแสวงบุญไปยังโรม
ท่านบริจาคเงินที่มีติดตัวให้กับตู้ทานสุสานนักบุญเปโตร และแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากับขอทาน
คนหนึ่ง ไม่นาน หลังกลับถึงบ้าน ฟรังซิสได้ยินพระคริสต์ตรัสกับท่านในภาพนิมิตว่า
"ไปเถิด ฟรังซิส ไปซ่อมแซมบ้านของเรา ท่านเห็นแล้วว่ามันกำลังปรักหักพังเพียงใด"

ฟรังซิสใช้เงินทองของบิดาซ่อมแซมวัดวาต่างๆ บิดาท่านไม่พอใจเกิดการโต้เถียงรุนแรง
ท่านตัดสินใจถอดเสื้อผ้าคืนให้และประกาศว่าท่านไม่มีบิดาไหนอื่นนอกจากพระเจ้า
ท่านถือว่าตัวเองเป็นสามีของ"เลดี้ยากจน" และตัดสินใจจะรับใช้พระคริสต์ในฐานะ
"ผู้นำสาสน์ของกษัตริย์ยิ่งใหญ่"

ในปี ๑๒๐๘ ท่านได้รับแรงบันดาลใจก่อตั้งขบวนการฟรังซิสกัน ในมิสซาเช้า ท่านได้ยิน
บทอ่านพระวรสารที่พระคริสต์แนะนำให้อัครสาวกออกเดินทางไปโดยไม่มีเงินทองรองเท้า
และเสื้อผ้าสำรอง วิถีชีวิตแบบนี้ไม่ช้าก็ได้รับการรับรองพระวินัยโดยพระสันตะปาปา
และดึงดูดผู้ติดตามจำนวนมากในช่วงชีวิตของฟรังซิส

ในการดำเนินชีวิตจำลองแบบพระคริสต์ ฟรังซิสก็ร่วมรับพระทรมานกับพระองค์ด้วย
ท่านได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ระหว่างเดือนกันยายน ๑๒๒๔ สุขภาพของท่านเสื่อมโทรม
ตลอด ๒ ปีต่อมา ท่านเป็น"เครื่องบูชาที่มีชีวิต" ด้วยการสอนและใช้โทษบาป
เป็นเวลา ๒๐ ปีของงานแพร่ธรรมของท่าน

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๓ ตุลาคม ๑๒๒๖ พระสันตะปาปาเกรกอรี ที่ ๙
เพื่อนและผู้ศรัทธาต่อท่านประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๒๒๘

CR. : Sinapis

******************

4 ตุลาคม ระลึกถึงนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี
[St. Francis of Assisi (C. 1181 - 1226)]

นักบุญฟรังซิส เกิดที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ.1181 (หรือ 1182)
ครอบครัวมีฐานะมั่งคั่ง และเจริญชีวิตอย่างหรูหรา จึงได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง
แรกเกิดได้รับชื่อทางคริสตชนว่า โจวานนี (Giovanni) โดยแม่ซึ่งชื่อว่า โจวานนา
(Giovanna) เป็นผู้ตั้งให้ แต่ได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น ฟรานเชสโก (Francesco)
โดยพ่อที่ร่ำรวยของท่านที่ชื่อว่า ปิเอโตร ดิ แบร์นาร์โดเน (Pietro di Bernardone)
ผู้ซึ่งในเวลาที่ฟรังซิสเกิดมา เขากำลังเดินทางไปทำธุรกิจอยู่ที่อื่น

เหมือนกับหนุ่มๆ ทั่วไปในสมัยนั้น ฟรังซิสเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่มีชื่อเสียง
แต่ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็อยากเป็นอัศวินตามความนิยมของคนในสมัยนั้น
และฟรังซิสก็ได้เป็นสมใจ คือในปี ค.ศ. 1202 เมืองอัสซีซีทำสงครามกับเมืองเปรูจา
(Perugia) ที่อยู่ใกล้เคียง ท่านได้สวมชุดอัศวินและไปทำสงครามในครั้งนี้ ผลคือท่าน
ถูกจับ และถูกนำตัวไปขังคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา และหลังจาก
ที่ท่านหายจากการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง ท่านพยายามจะเข้าร่วมรบอีกในปลายปี ค.ศ.1205
โดยเข้าร่วมกับกองกำลังของพระสันตะปาปาต่อสู้กับกองกำลังของพระเจ้าเฟรเดริคที่ 2
(Frederick II) ที่เมือง Apulia แต่ก็เป็นความพยายามที่สูญเปล่าเมื่อภาพนิมิตที่เมือง Spoleto
ได้บอกให้ท่านกลับไปยังเมืองอัสซีซี และจากที่นั่น ให้รอคอยกระแสเรียกของการเป็นอัศวิน
ชนิดใหม่ ซึ่งจะทำให้ท่าน "ได้รับใช้พระอาจารย์เจ้ามากกว่ามนุษย์" - นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ
การกลับใจ

-ในการปลีกวิเวกและภาวนา ท่านแสวงหาที่จะพบพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีสำหรับตัวท่าน
การค้นพบใหม่เรื่องของคนยากจนและเจ็บป่วยมาถึงจุดสูงสุดตอนที่ท่านลงจากหลังม้าแล้ว
ให้ทานกับคนโรคเรื้อนตามทาง และมหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้น ท่านดึงคนโรคเรื้อนที่น่ารังเกียจ
เข้ามาโอบกอด เหตุการณ์นั้น จากคำของท่านเองได้เปลี่ยนจาก "ความขมขื่นไปสู่ความอ่อนหวาน"

-ต่อมาได้รับคำสั่งที่ออกมาจากกางเขนวัดซานดามิอาโนให้ซ่อมแซมวัดที่เหลือแต่ซากปรักหักพัง
แรกๆ ท่านใช้เงินทุนจากทางบ้านมาซ่อมแซม แต่พ่อของท่านไม่พอใจ ท่านจึงสละทุกสิ่ง และคืน
ทุกอย่างให้กับผู้เป็นพ่อ จากหนุ่มร่ำรวยกลายเป็นขอทานชั่วข้ามคืน ท่านทำเช่นนี้เพื่อเห็นแก่
พระอาจารย์เจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของท่านนั่นเอง

- ต่อมา แม้ท่านเป็นเพียงฆราวาส แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากพระวรสาร มธ 10 : 5-14
จึงเริ่มเดินทางประกาศพระวาจาแก่ทุกคน การดำรงชีวิตเรียบง่าย และคำสอนของท่านดึงดูด
ชายหนุ่มมากมายให้มาติดตาม วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1209 ท่านก็ตั้งเป็นคณะนักบวช
"ภราดาน้อย" ขึ้นมา มีคติพจน์คือ "ติดตามคำสั่งสอนขององค์พระเยซูคริสตเจ้าของเรา
และเดินตามรอยพระบาทของพระองค์" โดยมีพระนางมารีย์ ราชินีแห่งนิกรเทวดาเป็นผู้นำทาง
และปกป้อง ต่อมาพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงรับรองคณะที่ตั้งใหม่นี้

- บรรดาภราดา แต่งชุดสีน้ำตาล เดินทางจากเหนือสู่ใต้ของอิตาลีและนอกดินแดนอิตาลีด้วย
ได้ทำการเทศน์สอนด้วยความร้อนรนและศรัทธาเข้มแข็ง จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย
ในปี ค.ศ.1219 ซึ่งมีการประชุมของคณะ ปรากฏว่ามีภราดาราว 5,000 คนเข้าร่วม

- ฟรังซิส ปฏิเสธอย่างสุภาพไม่รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ด้วยความเคารพต่อความเป็นสงฆ์
ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีที่ท่านถือว่าตนเองไม่คู่ควร

- ฟรังซิส เป็นคนแรกที่คิดและทำถ้ำพระกุมารขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ในการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในปี ค.ศ.1223

- ในปี ค.ศ.1224 ในวันฉลองเทิดทูนกางเขน ในขณะที่ท่านรำพึงถึงเรื่องพระทรมานของ
พระคริสตเจ้า ท่านได้รับพระพรให้เกิดตราประทับเป็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าขององค์
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนบนตัวของท่าน นี่ถือว่าเป็นการบันทึกครั้งแรกเกี่ยวกับ
เรื่องรอยประทับของรอยแผลศักดิ์สิทธิ์

- ฟรังซิสพิจารณาว่า ธรรมชาติเป็นกระจกส่องของพระเจ้า จึงเขียนบทเพลงสดุดีขึ้นมา
ชื่อว่า Brother Sun และกลายเป็นบทเพลงสดุดีที่มีชื่อเสียงของท่าน

- ท่านได้รับความยากลำบากจากโรคภัยเกี่ยวกับตา และร่างของท่านมีอาการบวมน้ำ
แต่ท่านสวดด้วยความอดทนว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์สำหรับ
ความเจ็บปวดที่ข้าพเจ้าได้รับ"

- ความหมายของความยากจน ซึ่งเป็นพื้นฐานคุณธรรมของฟรังซิสไม่เพียงปรากฏแต่เพียง
ภายนอกว่ายากจนเท่านั้น แต่ท่านสละตัวตนจนหมดสิ้นเหมือนพระคริสตเจ้าที่ท่านได้ค้นพบ
ใน ฟป 2 : 7 และจะเห็นชัดเจนมากขึ้น ตอนกำลังจะตายท่านได้ขอและได้รับอนุญาตจากอธิการ
ของท่านให้ตายอย่างเปลือยเปล่าบนพื้นดินว่างเปล่า ในแบบเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
และพระอาจารย์เจ้าของท่าน คือพระเยซูคริสตเจ้าที่ท่านรักนั่นเอง

- (จากประวัติของนักบุญกลารา พรหมจารี ที่เราระลึกถึงวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งเป็นผู้ติดตาม
นักบุญฟรังซิสและจิตตารมณ์ของท่านอย่างใกล้ชิด ได้เล่าว่าก่อนที่นักบุญกลาราจะสิ้นใจ
เพื่อนรุ่นแรกๆสามคนของนักบุญฟรังซิส ได้อ่านบทพระทรมานของพระเยซูเจ้าตามคำบอกเล่า
ของนักบุญยอห์นดังๆให้ท่านได้ฟัง เหมือนที่พวกเขาได้เคยทำเช่นนี้เมื่อ 27 ปีก่อนหน้านั้น
ให้นักบุญฟรังซิสได้ฟังก่อนสิ้นชีพที่ Portiuncula ที่เล่ามานี้เพื่อจะบอกว่า ก่อนที่นักบุญฟรังซิส
จะสิ้นชีพ ท่านได้ขอให้เพื่อนๆสามคนแรกที่ติดตามท่านอ่านพระทรมานของพระเยซูเจ้าที่เล่า
โดยนักบุญยอห์นให้ฟังก่อนจากโลกนี้ไป)

- วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1226 ฟรังซิสสิ้นลมหายใจที่ Portiuncula (="little portion" อยู่ในวัด
ที่ชื่อ พระนางมารีย์แห่งนิกรเทวดา) ซึ่งเป็นที่ที่ท่านได้รับการเผยแสดงถึงพันธกิจของท่าน
และเป็นที่กำเนิดของคณะภราดาของท่าน ร่างของท่านแต่แรกฝังไว้ที่วัด ซาน จอร์โจ ที่อัสซีซี
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม แต่ต่อมาเคลื่อนมาไว้ที่บาสิลิกาที่ตั้งเป็นเกียรติแก่ท่าน
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1230

- ได้รับการประกาศเป็นนักบุญวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1228 โดยพระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 9

- พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 15 เรียกท่านว่า "เป็นภาพพจน์ที่ครบสมบูรณ์ที่สุดของพระคริสต์
ที่เคยมีมา" (the "most perfect image of Christ" that ever lived!)

- ในปี ค.ศ.1916 ท่านได้ถูกประกาศให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของกิจการคาทอลิก

- ในปี ค.ศ.1926 พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ขนานนามท่านว่าเป็น "พระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง"
(alter Christus = another Christ)

- ใน Encyclopaedia Britannica กล่าวเกี่ยวกับท่านว่า "บางทีไม่มีใครเลยในประวัติศาสตร์
ที่จะปฏิบัติตนเองอย่างจริงจังเช่นนี้ เช่นที่ฟรังซิสได้ทำ คือเลียนแบบชีวิตของพระคริสตเจ้า
และปฏิบัติงานของพระคริสต์จนสำเร็จในแบบที่พระคริสต์เองทรงกระทำ นี่คือกุญแจแห่ง
คุณลักษณะและจิตตารมณ์ของนักบุญ ฟรังซิส ถ้าละทิ้งแง่มุมนี้จะทำให้ไม่พบดุลภาพของ
นักบุญที่เป็นผู้รักธรรมชาติ นักสังคมสงเคราะห์ นักเทศน์ที่เดินทางไปทั่ว และเป็นผู้รักความยากจน"

- ในปี ค.ศ.1939 นักบุญที่น่ารักองค์นี้ได้รับการประกาศเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศอิตาลี

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ;
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

###############

+ ชายผู้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสัตว์ในคริสตปรัชญา +

ในเวลาที่เราเห็นคนเรียกน้องหมา น้องแมว มากขึ้น เราพบพฤติกรรมอันใหม่นี้แพร่หลาย
ไม่เกิน 30 ปีที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้าไม่ช้านานการนับสัตว์เป็นครอบครัวญาติพี่น้อง
ถูกมองว่า "โอเว่อร์" หรือ "เพี้ยน" และในกระแสการยกระดับและคลั่งไคล้เอ็นดูสัตว์
ในปัจจุบัน ก็ปรากฎการฟีเวอร์ขึ้นในการพูดถึงและให้ความเคารพแก่นักบุญท่านหนึ่ง
ผู้ราวกับเกิดมาก่อนกาลเวลาล้ำหน้ากว่าใครในยุคสมัยของตน เพราะเขาผู้เรียกสัตว์
เป็นน้อง เมื่อเกือบ 900 ปีที่แล้ว แล้วไม่ใช่แค่สัตว์ แม้พระอาทิตย์กับพระจันทร์ก็นับเป็นพี่
เขาจึงอาจเป็นมนุษย์คนแรกที่นับญาติกับสัตว์ และสิ่งสร้างทั้งหมดของพระเจ้า

นักบุญ ฟรังซิส แห่ง อัสซิซี เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1181 เป็นนักบุญคนสำคัญของคริสตศาสนา
เพราะได้ชื่อว่า สวรรค์ส่งมาเกิดให้เป็นผู้กอบกู้พระศาสนจักรในยุคกลาง ที่พระสงฆ์นักบวช
เริ่มมีอำนาจทางโลกมากเกินไป และเริ่มฟุ้งเฟ้อเกินฐานะศิษย์พระคริสต์ผู้ยากจน ชายผู้ก่อตั้ง
คณะนักบวชที่ทำตัวเช่นเหล่าศิษย์ของพระเยซู ไม่ขอมีทรัพย์สินใด ไม่แตะเงิน อาหารส่วนหนึ่ง
มาจากการขอบริจาคทาน และกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบที่พระเยซูทำในพระคัมภีร์ ท่านทำให้
เหล่าพระสังฆราชถึงแก่ถกเถียงกันว่า ที่ท่านทำนี้มันสุดโต่งเกินไปไหม จนมีพระสังฆราช
ท่านหนึ่งพูดขึ้นกลางที่ประชุมว่า ถ้าที่ฟรังซิสทำมันผิด เท่ากับเรากำลังบอกว่าสิ่งที่พระเยซูสอน
ทำไม่ได้จริง ท่านจึงเป็นนักปฏิรูปคริสตศาสนาคนแรกๆ ที่ปฏิรูปศาสนาสู่ความสมถะยากจน
จากภายใน ท่านจึงเป็นนักบุญในสาระบบของคาทอลิก และโปรแตสแตนท์ แองกลีกัน
และลูเธอรัน ด้วย

บทอธิษฐานที่ท่านแต่งยังลึกซึ้งกินใจชาวคริสต์ทั้งคาทอลิกและโปรแตสแตนท์จำนวนมากที่ว่า

"ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือของพระองค์ เพื่อสร้างสันติ
- ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความรัก
- ที่ใดมีความเจ็บแค้น ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการอภัย
- ที่ใดมีความแตกแยก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสามัคคี...."

บทอธิษฐานภาวนาของท่านจึงเป็นบทที่ถูกยกขึ้นมาเสมอในงานสานสัมพันธ์ระหว่าง
คริสต์นิกายต่างๆ

และยิ่งกว่านั้นวีรกรรมที่ท่านบุกเข้าไปหาสุลต่านมุสลิมในค่ายทหารมุสลิม เพื่อเสวนา
สร้างความเข้าใจ ในศาสนาคริสต์อย่างไม่กลัวความตาย จนสุลต่าน ทึ่งและนับถือในตัวท่าน
และปล่อยท่านออกมาอย่างปลอดภัยทั้งที่เคยฆ่าคริสตชนมามากมาย ทำให้ในปัจจุบัน
เมื่อการเสวนาระหว่างศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น เป็นวิสัยทัศน์ของพระศาสนจักร ท่านจึงถูก
ยกขึ้นมาเป็นองค์อุปถัมภ์การเสวนาระหว่างศาสนาด้วย

แต่การสร้างสันติและมิตรภาพของท่านไม่จำกัดแค่คนต่างศาสนากัน หรือคนนิกายกัน
แต่วีรกรรมในชีวิตท่านยังเต็มไปด้วยมิตรภาพของท่านและสัตว์ต่างๆอีกด้วย

ก่อนหน้ายุคสมัยของท่าน ตั้งแต่ศาสนายิวมา การฆ่าสัตว์เป็นวิถีชีวิตธรรมดาของมนุษย์
ด้วยข้อความในปฐมกาล

“ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาตามอย่างของเรา ให้ครอบครองฝูงปลาในทะเล ฝูงนกในอากาศ
และฝูงสัตว์ ให้ปกครองแผ่นดินทั่วไปและสัตว์ต่างๆ ที่เลื้อยคลานบนแผ่นดิน” (ปฐมกาล 1:26)

ชาวยิว คริสต์ อิสลาม จึงไม่สอนว่าบาปในการฆ่าสัตว์โดยเฉพาะเพื่อเอามากิน แต่เทววิทยา
ของฟรังซิสผู้นี้ บอกว่า การปกครองที่พระเจ้าหมายถึงไม่ใช่การมุ่งแสวงหาประโยชน์ แต่ให้ดู
แลรักษา ดุจ ดังลูกที่ดีที่รักพ่อ ย่อมดูแลและรักษาของขวัญที่พ่อให้อย่างดี ไม่ใช่ใช้ทิ้งขว้าง
ทำลายล้างอย่างไม่เห็นค่า ท่านยังชี้ว่า พระเจ้า สร้างมนุษย์คู่แรกมาให้ปลอดภัยและสุขสบาย
อยู่ใน"สวน" ไม่ใช่มหาวิหารหรือราชวังสุดหรู แต่คือสวนที่มีแต่ต้นไม้ใบหญ้า และสัตว์น้อยใหญ่
ท่านและคณะของท่านจึงเน้นการอยู่กับธรรมชาติในป่าในสวน ทำงานเพาะปลูก และค้นพบ
พระเจ้าในธรรมชาติและสิ่งที่พระองค์สร้าง สำหรับท่านแล้วทุกสิ่งที่พระเจ้าสร้างล้วนเป็น
พี่น้องร่วมบิดาผู้สร้างเดียวกัน ท่านจึงเรียกสิ่งต่างๆทั้งดวงดาว ดิน น้ำ พืช สัตว์
เป็นพี่น้องของท่านทั้งหมด

ท่านไม่ได้พูดสอนโลกสวยเป็นทฤษฎีดีแต่ปาก แต่มีการกระทำจริง มีบันทึกชีวประวัติของท่าน
และคณะนักบวชได้เล่าเรื่องราว(ที่ยากจะสรุปว่าเหนือธรรมชาติหรือสุดแสนจะธรรมชาติกันแน่
)ของท่านกับสัตว์ไว้มากมายกว่านักบุญคนอื่นๆในคริสตศาสนา

- การเทศนาให้เหล่านก -
มีบันทึกว่า เมื่อคนไม่มาฟังท่านเทศนา ท่านเลยหันไปเทศนาให้นกฟัง ปรากฏว่าเริ่มมีนกมากมาย
มาชุมนุมกัน แม้แต่นกแปลกๆต่างถิ่นที่คนแถวนั้นไม่เคยเห็น พวกมันเกาะเต็มพื้นเต็มต้นไม้รอบ
ตัวท่าน ท่านได้สอนพวกมันถึงพระเมตตาของพระเจ้าที่มีต่อพวกมัน ให้มีขนสวยงาม ให้มีอาหาร
ประจำวัน ฯลฯ พวกมันฟังกันอย่างสงบนิ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้พบเห็นจนเอาไปเล่าต่อๆกัน
ทั่วเมือง

-กระต่ายป่าที่ แกร๊กโซ-
ในปี 1229 ท่านพบกระต่ายติดกับดักที่ชายป่าแกร๊กโซ ท่านช่วยมันจากกับดัก และอุ้มมันอย่าง
อ่อนโยนและพูดกับมันว่า "น้องกระต่ายระวังอย่าให้ใครจับได้อีกนะ"จากนั้นท่านก็ปล่อยมัน
แต่มันกลับไม่ยอมไปไหน และกระโดดมาบนตักท่าน ท่านจึงค่อยๆอุ้ม และพูดกับมันว่า
กลับเข้าป่าไปได้แล้วปลอดภัยแล้ว แต่ไม่ว่ากี่ครั้งมันก็กระโดดกลับมาหาท่านตลอด จนท่าน
ต้องขอให้นักบวชท่านอื่นในคณะช่วยนำมันไปปล่อยที่อีกฟากของป่า

-ปล่อยปลาที่เรียตี-
มีคนเอาปลาตัวใหญ่ที่เพิ่งจับได้มาทำบุญให้ท่าน ท่านไม่อยากฆ่ามัน จึงเอามันไปปล่อยพร้อม
พูดกับมันว่า"จงไปและสรรเสริญพระเจ้าเถิด"

-น้องน้ำ-
ท่านเคยอธิษฐานขอบคุณพระเจ้าว่า "สรรเสริญพระเจ้าสำหรับน้องน้ำ ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์
สุภาพ ล้ำค่า และบริสุทธิ์"

และเรื่องที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดคือเรื่อง หมาป่าแห่งกุบบิโย ซึ่งเล่าลือไปทั่วอิตาลี
ใน คศ.1220 ที่กุบบิโย มีหมาป่าดุร้ายตัวหนึ่งมักลอบเข้ามากัดกินสัตว์และทำร้ายคนในหมู่บ้าน
ชาวบ้านตามล่ามันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ฟรังซิสทราบเรื่องเข้าท่านรีบเข้าไปในป่า พบหมาป่า
ดุร้ายตัวนี้เข้า ท่านพูดกับมันอย่างอ่อนหวานว่า "น้องหมาป่าเอ๋ย ในนามพระเยซูเจ้า ฉันขอสั่ง
ห้ามเธอไม่ให้ทำร้ายใครๆอีกเลยนะ" หมาป่านั่นหมอบลงราวกับรู้ภาษา และเดินตามท่านกลับ
เมือง เมื่อถึงเมืองท่านเจรจากับชาวบ้านว่าอย่าฆ่ามันเลย เพราะที่มันทำไปเพราะ มันหลงฝูงขาด
แคลนอาหารจึงหิวโหยโหดร้าย พวกท่านจะช่วยแบ่งปันอาหารให้มันเลี้ยงดูมัน มันจะได้ไม่ทำร้าย
ใครอีก และฟรังซิสได้หันไปยื่นมือขอสัญญาจากมัน มันก็ยกอุ้งเท้าวางบนมือท่าน ชาวบ้านเห็นมัน
เชื่องไปเช่นนี้ จึงยอมทำตามและช่วยกันเลี้ยงดูมันในหมู่บ้าน จน2ปีต่อมามันจึงตายลงอย่างสงบ
ที่หมู่บ้านนั่นเอง สิ่งที่ท่านทำเรียกได้ว่าเป็นการฝึกให้ชุมชนร่วมรับผิดชอบและอยู่ร่วมกับสัตว์จรจัด
เป็นคนแรกๆของโลก

หลายร้อยปีผ่านไป เมื่อกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ และการรักสัตว์บูมในโลกตะวันตก ชื่อของท่าน
ก็บูมขึ้นมาด้วย เรื่องราววีรกรรมกับสัตว์ในชีวิตของท่านถูกยกขึ้นมาสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์
และปรัชญาเทววิทยาที่ท่านได้ตีความเกี่ยวกับสัตว์อย่างไม่เหมือนใคร ได้ทำให้ศาสนาคริสต์ที่
ไม่มีการสอนว่า ฆ่าสัตว์เป็นบาป ก็สามารถใช้ เทววิทยาของน.ฟรังซิส เข้ารองรับกระแสใหม่นี้
ได้ทันที แม้แต่ในกลุ่มวีแกน(Vegan)หลายกลุ่มยังยกย่องท่านขึ้นมาเป็นแบบอย่าง
(แม้ท่านจะไม่ถึงขนาดกินผักทุกมื้อก็ตามเพราะขอทานมาได้อะไรก็กิน) ผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับสัตว์
บางคน เช่น ซีซาร์ มิลาน นักฝึกสุนัขชื่อดังของอเมริกามีรูปปั้นของท่านท่ามกลางสัตว์ อยู่ที่หน้าบ้าน
ของตน ปัจจุบัน หลายโบสถ์ในคาทอลิกและแองกลีกัน มีพิธีอวยพรสัตว์เลี้ยงในวันระลึกท่านคือ
วันที่ 4 ตุลาคม ของทุกปี

นักบุญฟรังซิส ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญ ผู้อุปถัมภ์สัตว์และระบบนิเวศน์ เพราะท่านรักทุกสรรพสิ่ง
ที่พระเจ้าสร้าง และเห็นชัดเจนว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ พืช สัตว์ ดวงดาว สิ่งแวดล้มต่างๆ ล้วนถูกสร้างมาอย่าง
มีเหตุผลและต้องอยู่อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เราทั้งผองไม่เพียงมนุษย์ แต่ทุกสิ่งทั้งจักรวาลนี้ล้วนเป็นพี่น้องกัน

( มัทธิว 5:5,7) ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา

CR. : จิต ศรัทธา


:s012: :s012:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 06, 2021 1:13 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๕ ตุลาคม
บุญราศีบาร์โธโลมิว ลองโก
Blessed Bartholomew Longo

"ความปรารถนาหนึ่งเดียวของข้าพเจ้าคือได้พบพระนางมารีย์ผู้นำทางและช่วยเหลือ
ข้าพเจ้าพ้นจากอุ้งมือของซาตาน" คำพูดสุดท้ายของบุญราศีบาร์โธโลมิว ลองโก

เรื่องราวการกลับใจของท่านน่าสนใจและน่าพิศวงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์
ของพระศาสนจักร ท่านเคยเป็นพระสงฆ์ของลัทธินิยมซาตาน และได้รับการช่วยเหลือ
อย่างพิเศษจากพระนางมารีย์จนกระทั่งถูกประกาศเป็นบุญราศี

ท่านเกิดมาในครอบครัวคาทอลิกในปี ๑๘๔๑ เมื่อเยาว์วัยก็เข้ามิสซาที่วัดสม่ำเสมอ
แต่เมื่อโตเป็นวัยรุ่นไปศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยในเมืองเนเปิล ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
แรกเริ่ม ท่านเข้ากลุ่มคาทอลิกที่ต่อต้านพระสันตะปาปา จากนั้นได้กลายเป็นคนไม่เชื่อว่า
มีพระเจ้าและได้เป็นผู้นิยมลัทธิซาตาน จนที่สุดบวชเป็นพระสงฆ์ของกลุ่มลัทธินี้ ท่านได้
เป็นผู้ต่อต้านความเชื่ออย่างสมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและเพื่อนๆ ของท่านพยายามสวดภาวนาให้ท่านกลับใจสู่
ความเชื่อ ในวัยเด็กอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งพูดคุยกับท่าน จนทำให้ท่านเริ่มมอง
เห็นความผิดพลาดของตนเอง แล้วท่านก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักพระสงฆ์คณะโดมินิกัน
องค์หนึ่งชื่อคุณพ่ออัลเบิร์ต ซึ่งได้ช่วยนำทางท่านให้เปลี่ยนความคิด และในที่สุดก็นำ
ท่านกลับมาสู่พระศาสนจักร

ท่านมีความเชื่ออีกครั้งแต่ตระหนักดีถึงความอื้อฉาวและความเสียหายที่ตนเองได้ก่อไว้
ท่านอยากชดเชย ท่านรับรู้ถึงความยากไร้ของผู้เช่าที่นาใกล้บ้านเกิด เมื่อเห็นพวกเขา
ถ้อยคำของแม่พระแห่งสายประคำผุดขึ้นในความคิดท่านว่า
"ผู้ส่งเสริมการสวดสายประคำจะได้รับความรอด"

นับจากวันนั้น ท่านอุทิศตนเพื่อเผยแผ่ความศรัทธาต่อสายประคำ ท่านจัดตั้งกลุ่มสวด
สายประคำที่วัดบ้านเกิด และที่พระแท่นภาพวาดแม่พระแห่งสายประคำ พระแท่นได้
พัฒนาเป็นสักการสถานในปี๑๙๐๑ ดึงดูดผู้จาริกแสวงบุญนับพันคนในแต่ละวัน

ผู้ช่วยเหลือท่านในภารกิจนี้คือเคาเตสท์ดิฟุสโกแม่หม้ายใจศรัทธา พระสันตะปาปาเลโอ ที่ ๑๓
ทรงแนะนำให้ทั้งสองแต่งงานกันเพื่อยุติคำครหานินทา ทั้งคู่นบนอบต่อพระสันตะปาปา
แต่ปฏิญาณตนดำเนินชีวิตถือความบริสุทธิ์ พวกท่านเปิดบ้านเด็กกำพร้าสำหรับลูกๆ
ของพวกนักโทษ ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งสำหรับพวกเด็กเพราะสังคมสมัยนั้นถือว่าไม่มี
อนาคต เพราะมีเชื้อสายของอาชญากร

ในช่วงยี่สิบปีสุดท้าย ท่านเจ็บป่วยและมีผู้โจมตีกล่าวร้ายท่านเพราะอิจฉา ท่านยึดเอา
ความศรัทธาต่อสายประคำเป็นที่พึ่ง ท่านประกาศว่าแม่พระมีบทบาทสำคัญที่ช่วยเหลือ
ท่านจากลัทธิซาตานและกลับใจมาสู่สัจธรรม ท่านเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันถึงข้อความ
เชื่อเรื่องการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางมารีย์ซึ่งได้รับการประกาศในปี ๑๙๕๐
โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒

ท่านสิ้นใจในวันที่ ๕ ตุลาคม ๑๙๒๖ ด้วยอายุ ๘๕ ปีพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒
ประกาศตั้งท่านเป็นบุญราศีในปี ๑๙๘๐ พระองค์เทศน์ในพิธีวันนั้นว่า
"ด้วยสายประคำในมือ ท่านบุญราศีบาร์โธโลลองโก บอกเราแต่ละคนว่าจงปลุก
ความไว้วางใจในพระนางมารีย์พรหมจารีย์แห่งสายประคำ พระนางผู้น่าเคารพ
ในพระนาง เราขอมอบปัญหาทุกข์ยากทุกประการความไว้วางใจและความหวังทั้งมวล"

Cr: Sinapis

+ จากผู้นำลัทธิซาตาน สู่การประกาศเป็นบุญราศี +

'Every saint has a past, and every sinner has a future.'
- Oscar Wilde
"นักบุญทุกคนมีอดีต และคนบาปทุกคนมีอนาคต"

คำกล่าวของ ออสการ์ ไวลด์ กวีชาวไอริชผู้โด่งดังนี้ บุคคลคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างได้ดีที่สุด
คือ บาร์โทโล ลองโก้ ชายผู้ครั้งหนึ่งเคยชื่นชอบลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้า เข้าร่วมลัทธิซาตาน
จนได้รับการอภิเษกแต่งตั้งเป็นนักบวชผู้นำลัทธิซาตาน และกระทำบาปทุกสิ่งที่คำสอน
ของศาสนาอันล้าหลังคร่ำครึในสายตาเขาได้ห้ามไว้ แล้ววันฟ้าถล่มดินทลายของชีวิตเขาก็
มาถึง เขาได้กลับตัวกลับใจ อุทิศชีวิตแก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ จนได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวิน
ของพระศาสนจักร ได้รับการคำนับและยกย่องจากบรรดาพระสันตะปาปา และได้เข้าสู่
กระบวนการแต่งตั้งนักบุญ และในขณะนี้อยู่ในสถานะ "บุญราศี"

บาร์โทโล ลองโก้ (Bartolo Longo)ชาวอิตาลี เกิดเมื่อ10กุมภา1841 ในครอบครัวคาทอลิก
เมื่อพ่อของเขาเสียชีวิตไปเมื่ออายุได้10ขวบ เขาก็ค่อยๆห่างไกลจากความศรัทธาในศาสนา
ไปเรื่อยๆ จนอายุได้20ปี เขาได้เข้ามหาวิทยาลัยเนเปิ้ลส์(Naples) เพื่อเรียนวิชากฎหมาย

หากแต่ว่าในช่วงศตวรรษที่19 เป็นช่วงเวลาวุ่นวายทางการเมืองของอิตาลี มีการปฎิวัติ
หลายครั้ง และในช่วง 1860 มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองชาตินิยม ที่ชี้ประเด็นว่าศาสนา
และโดยเฉพาะคาทอลิก เป็นสิ่งถ่วงความเจริญของอิตาลี ให้ล้าหลังคร่ำครึ
และพระสันตะปาปาถูกมองว่าเป็นศัตรูของแนวคิดชาตินิยม การเหยียดนักบวช หรือล้อเลียน
ศาสนาเป็นตัวตลก เป็นเทรนด์นิยมของคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้น และ มหาวิทยาลัยเนเปิ้ลส์ในเวลา
นั้นนอกจากเป็นที่สอนหนังสือ ยังเป็นที่เผยแพร่อุดมการณ์ต่างๆ กลายเป็นแหล่งรวมของกลุ่ม
สมาคม ชมรม ทุกรูปแบบ และรวมแนวคิดที่ต่อต้านระเบียบจารีตยุคเก่า อันนำเอาคริสตศาสนา
คาทอลิกมาเป็นจำเลย ก็เฟื่องฟูในมหาวิทยาลัย มีชมรม หรือสมาคม ที่นำเอาเรื่องศาสตร์
คุณไสยจากต่างประเทศรูปแบบต่างๆ ทั้งแม่มด คนทรง ไปจนถึงแนวคิดบูชาซาตาน เข้ามา
เฟื่องฟูในมหาวิทยาลัยด้วย

บาร์โทโล นักศึกษาหนุ่ม เข้าสมาคมสื่อวิญญาณ(séances) อันพาเขาลุ่มหลงไปกับไสยศาสตร์
วิชามาร การมั่วสุมใช้ยาเสพติดทุกชนิด และการมั่วเพศแบบเซ็กส์หมู่ เพื่อทำให้ผีปีศาจพอใจ
และลบหลู่ศีลธรรมแบบคริสตศาสนา บาร์โทโล ได้รับการยกย่องชื่นชม ในการท้าทาย
เหยียดหยามศาสนาดูหมิ่นพระเจ้าในที่สาธารณะ จนชาวคณะทำการบวช(ordained)
เขาเป็นบาทหลวงซาตาน(Satanic priest)ในระดับผู้นำลัทธิ(Satanic bishop)

บาร์โทโล หลงระเริงในความสุขเนื้อหนังและอบายมุขและการยกย่องชื่นชมจากบรรดา
ปัญญาชนผู้รักในวิถีชีวิตเสรีที่แหวกขนบธรรมเนียมล้าหลัง ในหมู่เพื่อนเขาคือฮีโร่
แต่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนเก่า เห็นว่า เขาเหมือนคนบ้า มีอาการเหมือนคนเป็น
โรคประสาท มีการนอยด์ตลอดเวลา และหมกมุ่นในโลกส่วนตัว เหมือนคนเสียสติ มากกว่า
คนฉลาดที่มีการศึกษาอย่างที่เขาเคยเป็น

+ คำอธิษฐานภาวนาของครอบครัว +

เมื่อครอบครัวของเขารู้เรื่องที่เขาไปบ้าคลั่งลัทธิจนชีวิตพัง ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากสวดภาวนา
ขอพระเจ้าให้เขากลับใจ และคำภาวนาของผู้คนที่รักเขาก็ได้รับการตอบรับ

คืนหนึ่งขณะที่ บาร์โทโล ผู้มีการการเครียด ซึมเศร้า และวิตกจริตกำลังจะหลับ เขาได้ยินเสียง
ที่เขาคุ้นเคยในวัยเด็ก เขาจำได้ดีว่าคือเสียงพ่อที่จากไปของเขา ร้องเสียงดังว่า
"กลับมาหาพระเจ้าเถิดลูกเอ๋ย!"

บาร์โทโล เอง รู้ตัวดีว่า เส้นทางความสุขจอมปลอมที่เขาเดินทางเข้ามาจมปลักนั้น ทำลาย
ตัวตนของเขาไปมาก แต่ความสับสนในชีวิต ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกขังในห้องมืดที่ไม่รู้
จะออกจากสภาพนี้ได้ยังไง แต่เสียงของพ่อคืนนั้นเหมือนใครสักคนผลักประตูเข้ามาจน
แสงสว่างจ้าเห็นทางออก บาร์โทโลรีบไปพบเพื่อนเก่า ชื่อ วีเซนโซ่ เปป( Vincenzo Pepe)
และขอความช่วยเหลือจากเพื่อน เปปร้องไห้พูดกับเขาว่า"นายอยากตายในสถานบำบัด
คนโรคจิตแล้วตกนรกไปตลอดกาลหรือไง?" ทั้งสองตกลงกันว่าต้องช่วยกันพากันออกจาก
ชีวิตเหลวแหลกนี้ เปปพาบาร์โทโล ไปพบคุณพ่ออัลเบอโต้(Fr. Alberto Radente)
พระสงฆ์คณะโดมินิกัน

บาร์โทโล เข้าสู่การสารภาพบาป และบำบัดที่เหมือนเข้าเงียบระยะยาว กับคุณพ่ออัลเบอโต้
ผู้ซึ่งอดทนใช้เวลาในการในคำปรึกษาฝ่ายจิตแก่เขาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอดทน
หลังจากบำบัดกับคุณพ่อนานนับเดือน บาร์โทโลฟื้นฟูจิตวิญญาณของตน จนในปี 1871
บาร์โทโล สมัครเข้าเป็นสมาชิกโดมินิกันชั้น3
(ฆารวาสที่ร่วมปฎิบัติวินัยบางข้อของคณะนักบวชที่เข้าร่วมสังกัด)
และกลับไปยังสมาคมสื่อวิญญาณของมหาวิทยาลัย ในคาเฟ่ ท่ามกลางปาร์ตี้มั่วสุมของนักศึกษา
และยืนขึ้นบนโต๊ะประกาศว่า "ผมขอประกาศลาออกจากลัทธิวิญญาณนี้ เพราะมันคือเขาวงกต
แห่งความหลงผิดและความเท็จ" เขาใช้เวลา6ปี ในการอุทิศตนนำคนที่หลงผิดแบบเขากลับมา
หาพระเจ้า และช่วยเหลือรับใช้คนยากจน

- ที่หลบภัยของคนบาป +

แต่ดูเหมือนชีวิตมันไม่ง่ายเช่นนั้น เมื่ออาการทางจิตประสาทกลับมาคุกคามเขา อาการวิตกจริต
และนอยด์ กลับมาหลอกหลอนเขาอีก เขาเริ่มหลอนว่าตนเองยังถูกซาตานยึดวิญญาณไว้
และกลัวว่าพระเจ้าจะยังไม่ให้อภัย เขาจะต้องตกนรก เขาเริ่มมีอาการซึมเศร้าจนอยากจะ
ฆ่าตัวตาย แต่ก็กลัวตกนรก กลัวต้องกลับไปอยู่กับซาตาน วันหนึ่งเขานึกถึงวัยเด็ก กิจศรัทธา
เรียบง่ายอย่างการสวดสายประคำ และ ความรักอันอ่อนโยนของแม่พระที่เขาจำได้ และเขา
ได้ยินแม่พระพูดกับเขาว่า "โดยการสอนผู้อื่นเรื่องสายประคำ ลูกจะปลอดภัย"

ในเทววิทยา พระแม่มารีย์ไม่ใช่ผู้ไถ่บาป แต่แม่เป็น "ที่หลบภัยของคนบาป" เป็นที่พึ่งทาง
จิตวิญญาณโดยเฉพาะของผู้ที่ขาดความวางใจหรือเสียใจในบาปมากเสียจนคิดว่าพระเจ้า
จะไม่ให้อภัย เหมือนความรู้สึกของลูกล้างผลาญที่บอกกับพ่อว่า "ลูกไม่สมควรเป็นลูกของพ่อ"
แม่พระทำสิ่งที่เหมือนนางรีเบคาห์ แม่ของฝาแฝด เอซาวและยาโคบ คือเป็นที่พึ่งและกำลังใจ
ให้ยาโคบ ที่คิดว่าตนไม่เป็นที่รักของพ่อแบบเอซาว แม่พระจึงเหมือนนางรีเบคาห์ที่เป็นแม่ผู้
เชื่อมพ่อลูกที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ต่อกันไว้ไม่ให้แตกหักลงไป

บาร์โทโล จึงได้เอาชนะความวิตกจริต และการป่วยทางจิต โดยมุ่งมั่นทำพันธกิจการแผยแพร่
เรื่องการสวดสายประคำ เขาเดินทางไปยังปอมเปอี ซึ่งเขาได้เขียนเล่าในบันทึกว่า

"เต็มไปด้วยเรื่องซูแปร์ติซัง(ความเชื่อโชคลางคุณไสย)มีทั้งการใช้เวทย์มนต์คาถา แม่มด
คนทรงเครื่องรางของขลังมั่วไปหมด"

เหตุการณ์เมื่อครั้งนักบุญโดมินิกได้รับสายประคำจากพระเยซูและแม่พระ โดยอาศัยการสวดสาย
ประคำขับไล่ลัทธิหลงผิดในยุคของท่าน บาร์โทโล ก็เดินหน้าเปลี่ยนแปลงความหลงผิดของ
ที่นี่ด้วยสายประคำเช่นกัน

+ พันธกิจของผู้รับใช้พระเจ้า +

กว่า50ปี ของการทำพันธกิจเพื่อความศรัทธาในพระเจ้า บาร์โทโลและภรรยา เค้าท์เตส มาเรียน่า
(Countess Mariana di Fusco) ได้ตั้งโรงเรียนเพื่อเด็กยากจน บ้านเด็กกำพร้า และบ้านพักพิง
สำหรับเด็กที่พ่อแม่จำคุก และการปฏิวัติแท้จริงก็คือ ปอมเปอี จากพื้นที่ซูแปร์ติซัง ได้กลายเป็น
ชุมชนความศรัทธา ท่านได้ฟื้นฟูโบสถ์ที่ถูกทิ้งร้าง จนกลายเป็นวิหารพรหมจารีย์แห่งสายประคำ
แห่งปอมเปอี(Shrine of the Virgin of the Rosary of Pompei) ซึ่งมีผู้แสวงบุญจำนวนมาก

พระศาสนจักรมอบเกียรติให้ท่าน โดยแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน ชั้น
Order of the Holy Sepulchre of Jerusalem และมหาวิหารนี้คือที่วางร่างของชายเป็นที่รักและ
อยู่ในความทรงจำของผู้คนในโลงแก้วเพื่อทุกคนจะระลึกถึงเขาได้ตลอดเวลา บรรดาพระสันตะปาปา
ล้วนมาคำนับศพเขา จากนักบวชลัทธิซาตานพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่2เรียกเขาว่าเป็น
"คนของแม่พระ" และพระศาสนจักร ประกาศให้ บาร์โทโล เป็นบุญราศี และมีวันที่ระลึกถึง
ในวันที่ 5 ตุลาคม

🙏 เพื่อพระเจ้าจะโปรดการกลับใจ แก่ผู้หลงผิด จะทรงรักษาผู้ติดยา และชี้ทางสว่างแก่ผู้หลงไหล
ในลัทธิซาตาน ขอ บุญราศี บาร์โทโล ช่วยวิงวอนเทอญ 🙏

ปล.ภาพซ้ายบนคือภาพบาร์โทโลในวัย22ปี ขณะเป็นเจ้าลัทธิซาตาน ภาพขวาบน
คือภาพของเขาท่ามกลางเด็กกำพร้าที่เขาดูแล สีหน้าและแววตานั้นต่างกันราวคนละคน

cr.www.facebook.com/holysmn

CR. : จิต ศรัทธา
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 06, 2021 1:24 pm

เพิ่มเติม
ประวัตินักบุญวันที่5 ตุลาคม
นักบุญโฟสติน่า โควัลสกา

นักบุญโฟสตินามีชื่อเดิมว่า เฮเลนา โควัลสกา เกิดวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1905
ณ หมู่บ้านโกลโกเวียช ประเทศโปรเเลนด์ เธอได้รับศีลล้างบาป
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.1905 เข้าอารามคณะภคินีพระเเม่เเห่งความเมตตา
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1925 สมาชิกคณะนี้อุทิศตนเพื่อดูเเลเเละให้การศึกษา
แก่สตรีที่ประสบปัญหาชีวิต ท่านถวายตัวครั้งเเรกในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1928
โดยใช้ศาสนนามว่า " ซิสเตอร์มาเรีย โฟสตินาแห่งศีลมหาสนิท " ในช่วงปี ค.ศ. 1930
ท่านได้รับสารพระเมตตาจากพระเยซูเจ้า ในปี ค.ศ.1934 ท่านเขียนบันทึก
" พระเมตตาในวิญญาณของฉัน " เป็นคู่มือความศรัทธาต่อพระเมตตา หนากว่า 600 หน้า
ด้วยภาษาซื่อๆ เพื่อย้ำเเละอธิบายเรื่องในพระวรสาร เกี่ยวกับความรักที่พระเป็นเจ้า
ทรงมีต่อประชากรของพระองค์ เเละเน้นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องวางใจในกิจการแห่ง
ความรักของพระองค์ ความศรัทธาเป็นพิเศษของท่านต่อพระนางมารีย์ ต่อศีลมหาสนิท
เเละศีลอภัยบาป ทำให้ท่านมีพละกำลังทนรับความทุกข์ทรมานทั้งปวง เเละยกถวาย
พระเป็นเจ้าเพื่อพระศาสนจักร เเละผู้ที่มีความต้องการเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนบาปเเละ
คนใกล้ตาย ท่านสิ้นใจในเมืองคราคูฟ ในวัย 33 ปีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1938 ร่างของ
ท่านพักอย่างสงบ ณ สักการะสถานพระเมตตาในเมืองลาเจียฟนิกิ ประเทศโปเเลนด์
นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ประกาศให้ท่านเป็นบุญราศี
เมื่อปี ค.ศ.1993 เเละได้สถาปนาเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2000
ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม โดยนักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2

:s002: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 06, 2021 1:26 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๖ ตุลาคม
นักบุญบรูโน
St. Bruno, Founder

ท่านเป็นผู้ตั้งคณะฤษีคาร์ธูเซียน (Carthusian) ซึ่งยังคงโดดเด่นในธรรมเนียม
และพระวินัยเคร่งครัดของชีวิตบำเพ็ญภาวนา

ท่านเกิดเมื่อปี ๑๐๓๐ ในตระกูลสำคัญของเมืองโคโลญจน์ ท่านศึกษาเทววิทยา
ในเมือง Reims ของฝรั่งเศสก่อนจะคืนสู่บ้านเกิด ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ปี ๑๐๕๕

ท่านกลับไปที่ Reims และได้เป็นผู้นำสถาบันที่ท่านเคยศึกษา ท่านสอนและบริหารสถาบัน
นั้นเกือบ๒๐ ปี มีชื่อเสียงในฐานะนักเทววิทยาและนักปรัชญาผู้เปรื่องปราด จนกระทั่งได้รับ
ตำแหน่งที่ปรึกษาของสังฆมณฑลท้องถิ่นในปี ๑๐๗๕

ต่อมา ท่านและเพื่อน ๒ คนตัดสินใจสละทรัพย์สมบัติและตำแหน่งหน้าที่ทางโลกเข้าสู่ชีวิต
นักบวชท่านได้รับการดลใจในฝันให้ไปรับการแนะนำจากสังฆราช Hugh แห่ง Grenoble
ซึ่งภายหลังเป็นนักบุญ

ท่านพำนักในภูเขา Chartreuse ในปี ๑๐๘๔ มีคนกลุ่มหนึ่งที่แสวงหาวิถีชีวิตฤษีมาอยู่ร่วมด้วย

ในปี ๑๐๘๘ พระสันตะปาปาอูร์บัน ที่ ๒ เรียกตัวท่านจากอารามบนภูเขาอัลไพน์ที่ซึ่งท่านพำนัก
อยู่ ๖ ปีให้ช่วยรับมือคู่แข่งที่ประกาศตนเทียบเท่าพระสันตะปาปา คือจักรพรรดิเฮนรี่ที่ ๔

บรูโนทำหน้าที่ผู้แนะนำอย่างใกล้ชิดให้พระสันตะปาปาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูป
ท่านปฏิเสธที่จะเป็นสังฆราชของแคว้นอิตาลีชื่อ Calabria เมื่อได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปา
ให้กลับคืนสู่ชีวิตในอาราม ท่านก็ยังถูกขอร้องให้อยู่ในอิตาลีเพื่อช่วยพระองค์เป็นครั้งคราว

ในปี ๑๐๙๐ มีผู้มอบที่ดินให้กลุ่มฤษีของท่านตั้งอาราม ฤษีคณะนี้ได้เป็นที่รู้จักนับแต่ในครั้งนั้น
ตลอดจนทุกวันนี้ว่าบำเพ็ญพรต ถือความยากจนและการสวดภาวนาอย่างเข้มข้น ทั้งมีการจัด
การบริหารที่พิเศษเฉพาะรวมเอาชีวิตที่สันโดษเข้ากับชีวิตกลุ่ม

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๖ ตุลาคม ๑๑๐๑ มีมรดกข้อเขียนของท่านที่เน้นถึงความเชื่อเรื่องการประทับ
อยู่จริงของพระคริสต์ในพิธีมิสซา

"ข้าพเจ้าเชื่อในศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระศาสนจักรเชื่อและยึดถือด้วยความเคารพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ศีลมหาสนิทบนพระแท่นที่เป็นพระกายและพระโลหิตแท้จริงของพระเยซูคริสต์พระเจ้าของเรา
อาศัยพระกายและพระโลหิตนี้เอง เราได้รับการอภัยบาปและมีความหวังถึงความรอดนิรันดร"

ในปี ๒๐๐๖ มีการถ่ายทำหนังสารคดีเรื่อง Into Great Silence (สู่ความเงียบสงัด)
ที่ถ่ายทอดชีวิตของฤษีคณะคาร์ธูเซียน ในอารามที่ Grand Chartreuse

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ต.ค. 07, 2021 10:20 pm

วันที่ ๗ ตุลาคม
ระลึกถึงแม่พระแห่งสายประคำ
Feast of Our Lady of The Rosary

วันฉลองแม่พระแห่งสายประคำ มีชื่อเรียกในอดีตว่าวันฉลอง "แม่พระแห่งชัยชนะ"
สืบเนื่องจากเป็นวันที่กองทัพเรือของชาวยุโรปพิชิตพวกเติร์กที่บุกรุกราน
พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๕ ถือว่าชัยชนะนี้เกิดจากการสวดวิงวอนขอต่อ
พระนางมารีย์พรหมจารี

กองทัพจักรวรรดิออตโตมานของชาวเติร์กได้บุกรุกและยึดครองดินแดนไบแซนไทน์
ในปี ๑๔๕๓ ทำให้ดินแดนบางส่วนของชาวคริสต์ตกอยู่ใต้การปกครองด้วย
กฎหมายอิสลาม ตลอดหลายร้อยปีต่อมา ชาวเติร์กก็ขยายอาณาจักรของพวกเขา
สู่ตะวันตกและประกาศศักดาด้วยกองกำลังทางเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ในปี ๑๕๖๕ พวกเติร์กก็โจมตีมอลต้า มุ่งหวังจะบุกกรุงโรม พวกเขาถูกยับยั้งแต่
ก็ยังสามารถยึดครองไซปรัสได้ในฤดูใบไม้ร่วงปี ๑๕๗๐ ปีต่อมากองกำลังของ
คาทอลิก ๓ ฝ่ายในทวีปยุโรป คือเจนัว สเปน และรัฐพระสันตะปาปา ได้ผนึกกำลัง
รวมกลุ่ม เรียกว่า Holy League (กองทัพศักดิ์สิทธิ์) เพื่อปกป้องอารยธรรมคริสต์ศาสนา
กองทัพเรือได้แล่นออกเผชิญหน้าชาวเติร์กทางฝั่งตะวันตกของกรีกในวันที่ ๗ ตุลาคม ๑๕๗๑
พวกนักรบบนเรือกว่า ๒๐๐ ลำ พากันสวดสายประคำ เตรียมต่อสู้พร้อมกับชาวคริสต์ทั่ว
ยุโรป ซึ่งพระสันตะปาปาประกาศให้รวมตัวกันในวัด สวดวิงวอนต่อพระนางมารีย์พรหมจารี

มีเรื่องเล่าว่าพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๕ ได้รับภาพนิมิตให้เห็นชัยชนะของกองทัพศักดิ์สิทธิ์
และเมื่อมีผู้รายงานว่าเรือรบเกือบ ๓๐๐ ลำของพวกเติร์กถูกทำลายจมน้ำเกือบหมด
พระองค์ก็เข้าใจถึงความสำคัญของเหตุการณ์วันนี้จึงทรงกำหนดให้เป็นวันฉลองอย่าง
เป็นสากล ด้วยชื่อวันแห่งชัยชนะของแม่พระซึ่งต่อมาได้เป็นวันฉลองแม่พระแห่งสายประคำ

นักประวัติศาสตร์การทหารจอห์น กิลมาร์ติน (John F. Guilmartin, Jr.) เขียนว่า
"หากกองทัพของชาวเติร์กรบชนะในวันนั้น นั่นจะเป็นหายนะยิ่งใหญ่ของอาณาจักรคริสตชน
และยุโรปจะมีเส้นทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง"

พระสันตะปาปาเลโอ ที่ ๑๓ ทรงศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระสายประคำ พระองค์ออก
สมณสาสน์ ๑๑ฉบับเกี่ยวกับวันฉลองแม่พระนี้ และเน้นถึงความสำคัญของการสวด
สายประคำตลอดสมณสมัยของพระองค์

สมณสาสน์ฉบับแรก ซึ่งออกในปี ๑๘๘๓ ชื่อ "Supremi Apostolatus Officio”
พระองค์ทรงอ้างถึงบทภาวนาถึงแม่พระที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งรู้จักกันในชื่อละติน
ว่า Sub Tuum Praesidium "เป็นนิสัยของชาวคาทอลิกเมื่อพบอันตรายหรือ
ความยากลำบากก็จะเข้าพึ่งพิงพระนางมารีย์"

CR. : Sinapis

7 ตุลาคม
ระลึกถึงแม่พระแห่งลูกประคำ
(Our Lady of the Rosary)

- วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1571 มีการรบทางเรือครั้งใหญ่ที่เมือง เลปานโต (Lepanto)
เป็นการต่อสู้กับผู้รุกรานชาวเติร์ก ชัยชนะของพวกยุโรปในการรบที่มีชื่อเสียงครั้งนี้
ได้ช่วยรักษาอารยธรรมแบบคริสตชนไว้ได้ เพื่อระลึกอย่างรู้คุณต่อบทบาทของ
พระแม่มารีย์ในชัยชนะนี้ พระสันตะปาปาปีโอที่ 5 จึงได้ตั้งวันนี้เป็นวันฉลองแม่พระ
แห่งชัยชนะ (The Feast of Our Lady of Victory) แต่บรรดาพระสันตะปาปาองค์ต่อๆมา
ต่างก็ทรงตระหนักถึงความจริงของชัยชนะนี้ว่าเป็นผลมาจากลูกประคำ จึงให้คำศัพท์ใหม่ว่า
วันฉลองแม่พระแห่งลูกประคำ

- กำเนิดของลูกประคำเองต้องย้อนไปถึงวันที่นักบุญโดมินิกได้รับการเผยแสดงจาก
แม่พระในภาพนิมิต ในสมัยศตวรรษที่ 13 นักบุญโดมินิกเป็นผู้ตั้งคณะผู้เทศน์ (ดอมินิกัน)
ความศรัทธาต่อลูกประคำค่อยๆแพร่หลายโดยบรรดานักเทศน์ดอมินิกันก่อน ต่อมาแพร่
ไปตอนเหนือของฝรั่งเศสและแถบทุ่งริมฝั่งทะเลส่วนเหนือของฝรั่งเศสกับส่วนใต้ของเบลเยี่ยม
(Flanders) จากนั้นจึงเผยแพร่ไปสู่ยุโรปที่เหลือ

- พระสันตะปาปาเลโอที่ 10 ทรงเห็นชอบให้เรื่องลูกประคำได้รับรองอย่างเป็นทางการ
ในปี ค.ศ.1520 และทรงประกาศให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งแม่พระลูกประคำ

- วันฉลองได้ถูกกำหนดไว้เป็นการถาวรในปฏิทินพิธีกรรมของพระศาสนจักรสากล
ในปี ค.ศ.1716 - เมื่อเจ้าชายยูยีน (Prince Eugene) ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
เหนือศัตรูพวกเดิมในฮังการี

- คำศัพท์ที่ว่า "ลูกประคำ" เป็นคำที่มาจากภาษาลาตินว่า "rosarium" ซึ่งมีนัยหมายถึง
"สวนกุหลาบ", (a rose garden) "แปลงกุหลาบ" (a bed of rose), "มาลัยดอกไม้"
(a garland of flowers)

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย
A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)


:s005: :s005:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ต.ค. 08, 2021 3:53 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๘ ตุลาคม
นักบุญเพลาเจีย
St. Pelagia the Penitent

เพลาเจียเป็นหัวหน้าคณะนางรำในเมืองอันติโอก เธอใช้ชีวิตเกลือกกลั้วกับโลกีย์วิสัย
เยี่ยงโสเภณี วันหนึ่งเธอเดินผ่านวัดด้วยอาภรณ์วับแวมยั่วยวน พระสังฆราช Nonnus
แห่ง Edssa กำลังเทศน์อยู่พอดีท่านมองเห็นความสวยงามของดวงวิญญาณเธอจึงสวด
ภาวนาให้เธอเป็นพิเศษ

วันต่อมา เมื่อเพลาเจียไปฟังสังฆราชเทศน์ที่วัด ท่านพูดเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้าย
และผลที่จะตามมาเธอจับใจกับบทเทศน์จนน้ำตาไหลเป็นทุกข์เสียใจและขอให้พระสังฆราช
ล้างบาปให้เธอ ท่านเห็นความตั้งใจจริงและความสำนึกของเธอจึงตกลงล้างบาปให้

คืนนั้น ปีศาจปรากฏมาชักชวนให้เพลาเจียกลับสู่ชีวิตแบบเดิม เธอสวดภาวนาและ
ทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน ทำให้ปีศาจหายวับไป

เธอมอบข้าวของมีค่าทั้งหมดให้วัดเพื่อแจกจ่ายแก่คนยากจน สังฆราชกล่าวกับเธอว่า
"จงใช้สิ่งเหล่านี้อย่างฉลาด เพื่อว่าความร่ำรวยที่ได้รับมาจากบาป จะได้เป็นความมั่งคั่ง
แห่งความชอบธรรม" เธอจากเมืองอันติโอกไปโดยแต่งกายในชุดเสื้อผ้าผู้ชาย

หลังจากนั้น เธอเดินทางไปถึงเขามะกอกในเยรูซาเล็ม ใช้ชีวิตเป็นฤษีหญิง โดยปลอมตัว
ใช้ชื่อว่า เพลาจีอุส ที่นั่น เธอดำเนินชีวิตบำเพ็ญพรตอย่างเคร่งครัด ทรมานกายใช้โทษบาป
ในความสันโดษ ซึ่งทำให้เธอได้รับพระพรฝ่ายจิตหลายประการเมื่อเธอสิ้นชีวิต
เธอถูกฝังไว้ในห้องเล็กของเธอ

ก่อนหน้านั้น ผู้คนเรียกเธอว่า "ฤษีไม่มีเครา" จนกระทั่งพวกเขาพบว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นผู้หญิง
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ต.ค. 09, 2021 3:17 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๙ ตุลาคม
นักบุญยอห์น เลโอนาร์ดี
St. John Leonardi

ท่านเรียนเป็นแพทย์แต่ตัดสินใจเลือกชีวิตพระสงฆ์ ท่านตั้งคณะนักบวช
และก่อตั้งองค์กรหนึ่งของวาติกัน ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สมณกระทรวง
เพื่องานประกาศพระวรสาร

ท่านเกิดในครอบครัวคนชั้นกลางในปี ๑๕๔๑ ที่แคว้น Tuscan ของ Lucca
ท่านเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวน ๗ คน เมื่ออายุ ๑๗ ปีท่านสมัครเข้าเรียนแพทย์
และใช้เวลาร่ำเรียน ๑๐ ปีจนกระทั่งสำเร็จได้ใบอนุญาตประกอบอาชีพ แต่ท่านมี
ความสนใจชีวิตสงฆ์อยู่ตลอดมาจึงเรียนเทววิทยาเพื่อเตรียมรับศีลบวช

หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๕๗๒ ท่านทำหน้าที่ผู้นำวิญญาณให้กลุ่มเยาวชนชาย
ที่สนใจกระแสเรียกพระสงฆ์ พวกเขาได้รวมกลุ่มดำเนินชีวิตร่วมกันใกล้กับวัดท้องถิ่น
และเริ่มกระบวนการที่นำไปสู่การก่อตั้งคณะนักบวช ชื่อคณะพระมารดาของพระเจ้า
(Order of the Mother of God)

พวกผู้ปกครองบ้านเมืองต่อต้านการตั้งคณะนักบวชใหม่ และพยายามหาวิธีหยุดยั้ง
แม้จะไม่สำเร็จแต่ก็ส่งผลให้ท่านถูกห้ามไม่ให้อยู่ใน Lucca ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็น
ครั้งคราว

ท่านพยายามรักษาจิตตารมณ์ของสังคายนาเมืองเทรนต์ที่รับมือกับการปฏิรูป
ท่านและสมาชิกสงฆ์พยายามอบรมให้นักบวชและฆราวาสมีความรู้และถือปฏิบัติ
ความเชื่อลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในจดหมายที่เขียนถึงพระสันตะปาปาเปาโล ที่ ๕
ในต้นศตวรรษที่ ๑๗ ท่านเน้นความเป็นสากลของกระแสเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์
ของสมาชิกทุกคนในพระศาสนจักร

"ในเรื่องการเยียวยาที่จำเป็นของพระศาสนจักรโดยส่วนรวม การฟื้นฟูต้องเกิดขึ้น
ทั้งกับคนระดับสูงและล่าง พวกผู้นำและพวกอยู่ใต้การดูแลของพวกเขา" ท่านเชื่อว่า
สิ่งสำคัญอันดับต้นคือการอบรมพวกพ่อเจ้าวัด "เพื่อว่าการฟื้นฟูที่เริ่มต้นในหมู่
พวกเขาจะได้เกิดขึ้นต่อไปแก่คนอื่นๆ"

ท่านได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปาให้ตั้งคณะนักบวชพระมารดาของพระเจ้า
ในปี ๑๕๙๕ และท่านยังถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลการฟื้นฟูอารามนักพรตสำคัญสอง
แห่งแม้งานของคณะท่านจะจำกัดอยู่ในอิตาลีแต่ท่านก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของ
พ่อวิญญาณของท่าน คือนักบุญฟิลิป เนรีด้วยการตั้งบ้านเณร สำหรับงานธรรมทูต
ต่างแดน ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นวิทยาลัยเพื่องานประกาศส่งเสริมความเชื่อ

ท่านติดโรคจากการดูแลคนป่วยโรคระบาด และเสียชีวิตที่โรมใน
วันที่ ๙ ตุลาคม ๑๖๐๙ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๑ ประกาศตั้ง
ท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๓๘

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 11, 2021 8:10 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๐ ตุลาคม
นักบุญฟรังซิส บอร์เจีย
St. Francis Borgia

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๑๕๑๐ ในแกนเดีย (Gandia) แคว้นวาเลนเซีย
ประเทศสเปน บิดาของท่าน ดุ๊กแห่งแกนเดียเป็นเหลนของพระสันตะปาปา
อเล็กซานเดอร์ ที่ ๖ ผู้อื้อฉาว ส่วนมารดาท่าน ก็เป็นเหลนของกษัตริย์เฟอร์ดินาน
แห่งอารากอน

ยายของฟรังซิสเข้าอารามนักบุญแคลร์ผู้ยากจนพร้อมกับลูกสาว หลังการเสียชีวิต
ของสามี และเธอมีผลต่อเรื่องศรัทธาทางศาสนาในราชสำนักบอร์เจีย ซึ่งฟรังซิส
ได้รับสืบทอดมา สตรีสองท่านนี้นำความศักดิ์สิทธิ์สู่วงศ์วานตระกูลบอร์เจียอันอื้อฉาว

ฟรังซิสเติบโตมาเป็นหนุ่มใจศรัทธา มีพรสวรรค์หลายอย่างและเป็นที่นิยมรักใคร่ของ
คนในราชสำนักพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ ๕ เล่ากันว่าวันหนึ่ง ฟรังซิสเดินทางเข้าไปในเมือง Alcala
พร้อมกับผู้คุ้มกัน เขาได้สบตาชายยากไร้น่าสงสารคนหนึ่งที่กำลังถูกคุมตัวไปคุก
โดยตุลาการศาลศาสนา ชายคนนี้คืออิกญาซีโอแห่งโลโยลา ในขณะนั้น ฟรังซิสไม่ล่วงรู้
เลยว่าคนๆ นี้จะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของเขาเป็นอย่างมาก

ในปี ๑๕๓๙ ฟรังซิสได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลแคว้นคาตาโลเนียและสี่ปีต่อมา หลังจาก
บิดาเขาเสียชีวิต ฟรังซิสก็ได้เป็นดุ๊กแห่งแกนเดียเขาสร้างมหาวิทยาลัยที่นั่น เขาได้รับ
ปริญญาเอกด้านเทววิทยา และเชิญคณะเยสุอิตให้มายังแคว้นของเขา

ภรรยาเขาเสียชีวิตในปี ๑๕๔๖ ฟรังซิสสมัครเข้าคณะเยสุอิตในปี ๑๕๔๘ แต่ได้รับบัญชา
จากพระสันตะปาปาให้ยังใช้ชีวิตทางโลกต่อไปจนกว่าจะเสร็จภารกิจดูแลลูกๆ ทั้งสิบคน
และแคว้นในปกครอง

สองปีต่อมา ฟรังซิสออกจากแกนเดียและไม่ย้อนกลับมาอีก ท่านเข้าร่วมกับกลุ่มเยสุอิต
ที่โรมและเริ่มต้นโครงการใหญ่ทันที ท่านให้ความมั่นใจกับอิกญาซีโอว่าจะก่อตั้งวิทยาลัย
แห่งโรม และหนึ่งปีให้หลังท่านเดินทางไปสเปน เทศน์สอนและดำเนินชีวิตแบบยากจน
ทำให้เกิดการฟื้นฟูด้านศาสนาในประเทศ
นั้น ดึงดูดให้มีผู้จาริกแสวงบุญจากที่ไกลๆ มาฟังท่านเทศน์

ในปี ๑๕๕๖ ท่านถูกแต่งตั้งให้รับผิดชอบงานแพร่ธรรมทั้งหมดของคณะและพลังความ
กระตือรือร้นของท่านสร้างความเปลี่ยนแปลง ท่านยังริเริ่มการแพร่ธรรมที่อเมริกา
ใต้ดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่

ท่านได้รับเลือกเป็นอัคราธิการของคณะเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๑๕๖๕ และถึงแม้สุขภาพไม่ดี
ในปีท้ายๆ ของชีวิต ท่านก็บริหารคณะและริเริ่มโครงการต่างๆ ท่านนำการฟื้นฟูมากมาย
ให้คณะเยสุอิตจนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งคณะคนที่สอง ท่านมีทั้งชีวิตสวดภาวนาและ
ชีวิตการทำงาน พลังสร้างสรรค์ของท่านเป็นผลจากความเงียบสงัดในเวลาภาวนานั่นเอง

ท่านเสียชีวิตที่โรมในวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๕๗๒ สองวันหลังเดินทางกลับจากงานประกาศ
พระวรสารที่สเปน

นักบุญฟรังซิส บอร์เจียเป็นหนึ่งในนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ของการปฏิรูปคาทอลิก
ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ ๑๐ ในปี ๑๖๗๐

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 11, 2021 8:13 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๑ ตุลาคม
นักบุญยอห์น ที่ ๒๓ พระสันตะปาปา
St. John XXIII, Pope

อังเจโล กุยเซ็ปเป รอนคอลลี (Angelo Giuseppe Roncalli) เกิดที่ Sotto il Monte
ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่๒๕ พฤศจิกายน ๑๘๘๑ ท่านได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๑๙๕๘ สิ้นพระชนม์วันที่ ๓ มิถุนายน ๑๙๖๓ ที่โรม และถูกแต่งตั้ง
เป็นบุญราศีโดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ และ
ประกาศเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส ในปี ๒๐๑๔

อังเจโลเป็นลูกคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้อง ๑๔ คน บิดาของท่านเป็นคาทอลิกใจศรัทธา
ท่านได้รับการอบรมเรื่องศาสนาจากพ่ออุปถัมภ์ผู้เอาใจใส่ เขาปลูกฝังให้ท่านมีความรัก
และเคารพต่อพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้า

อังเจโลเข้าบ้านเณรเล็กในปี ๑๘๙๒ เมื่ออายุ ๑๑ ปี และในปี ๑๙๐๑ ก็เข้าบ้านเณร
Pontifical Roman หลังจากท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๙๐๔ ท่านได้ถูกเลือก
เป็นเลขานุการของสังฆราชแห่งแบร์กาโม และทำหน้าที่สอนที่บ้านเณร

นักบุญที่ท่านถือเป็นแบบอย่างในชีวิตคือนักบุญชาร์ล บอโรมีโอ และฟรังซิส เดอ ซาลล์
ผู้โดดเด่นด้านสติปัญญาและงานอภิบาล

ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ท่านทำหน้าที่เป็นพ่อวิญญาณรักษ์ของกองทัพ หลังจากนั้น
เป็นผู้แนะนำชีวิตภายในของบ้านเณร

ปี ๑๙๒๕ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๙ ตั้งท่านเป็นสังฆราชและส่งท่านไปที่ประเทศบัลแกเรีย
ทำหน้าที่ผู้แทนองค์พระสันตะปาปา จากนั้นท่านถูกมอบหมายให้ไปประจำที่ประเทศตุรกี
และกรีก ที่ซึ่งท่านทำงานอภิบาลคาทอลิกและเสวนาทางศาสนากับชาวคริสต์นิกาย
ออร์โธดอกซ์และชาวมุสลิม

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านใช้วิถีทางการทูตช่วยเหลือชาวยิวจำนวนมาก
ให้พวกเขาสามารถเดินทางอย่างปลอดภัย

ท่านถูกตั้งเป็นพระคาร์ดินัลและเป็นอัยกาแห่งเวนิสในปี ๑๙๕๓ ท่านทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาล
ที่มีความรัก เสียสละอุทิศตนเองเพื่อประโยชน์ของลูกแกะของท่าน

เมื่อพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ สิ้นพระชนม์ท่านได้รับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่
ท่านเป็นโป๊ปที่ทำหน้าที่อภิบาลเป็นนายชุมพาบาลที่ดีที่ใส่ใจต่อลูกแกะของท่าน ท่านแสดง
ความห่วงใยพวกเขาในสมณสาสน์ด้านสังคม โดยเฉพาะ Pacem in Terris ว่าด้วยสันติภาพ
ในโลก

ภารกิจยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์คือการเรียกประชุมสังคายนาวาติกันที่ ๒ ซึ่งเริ่ม
วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๑๙๖๒

ความสุภาพเรียบง่าย ความดี และชีวิตภาวนาลึกซึ้งแสดงออกในทุกกิจการของพระองค์
และสร้างความรักเคารพจนฝูงชนเรียกพระองค์ว่า "โป๊ปยอห์นแสนดี" (Good Pope John)

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 13, 2021 7:28 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๒ ตุลาคม
นักบุญวิลฟรีดแห่งยอร์ก
St. Wilfrid of York

ท่านเกิดในปี ๖๓๔ ที่เมือง Northumbria ประเทศอังกฤษ มารดาของท่าน
เสียชีวิตเมื่อท่านยังเด็ก บิดาแต่งงานใหม่ ท่านเข้ากับแม่เลี้ยงไม่ได้ ดังนั้น
เมื่ออายุ ๑๔ ปีก็ถูกส่งเข้าอาราม ท่านอยู่ที่อารามในเมืองลีอองจนกระทั่งได้
เป็นนักพรต แต่เกิดการเบียดเบียนคริสตชนในท้องถิ่นนั้น ทำให้ท่านต้อง
หลบหนีออกมา ท่านถูกแต่งตั้งเป็นอธิการของอารามที่เมือง Ripon ท่านทำ
หน้าที่ที่นั่นเป็นเวลา ๕ ปีโดยใช้พระวินัยของคณะเบเนดิกติน

ท่านนำเอาระเบียบและการถือปฏิบัติพิธีกรรมโรมันมาใช้อย่างได้ผลที่สังคายนา
Whitby ปี ๖๖๔ แต่มีสังฆราชคนหนึ่งต่อต้านและได้ขอลาออก วิลฟรีดถูกเลือก
เป็นสังฆราชคนใหม่ ท่านเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อรับอภิเษก ท่านกลับมาอังกฤษ
ในปี ๖๖๖ แต่ระหว่างทางเกือบเสียชีวิตเพราะเรืออัปปางและถูกพวกนอกศาสนา
โจมตี ช่วงเวลานี้นักบุญ Chad ถูกเลือกเป็นสังฆราชแทนท่าน วิลฟรีดจึงเข้าอยู่ที่
อารามที่Ripon และทำงานประกาศพระวรสารในละแวกนั้น ปี๖๖๙ อัครสังฆราช
เธโอดอร์แห่งแคนเตอร์บิวรีอธิบายแก่นักบุญ Chad ว่าวิลฟรีดควรได้นั่งตำแหน่งนี้
ในักบุญ Chad จึงถอนตัวและวิลฟรีดก็คืนกลับมาเป็นสังฆราช

ระหว่างทำหน้าที่สังฆราช วิลฟรีดประกาศใช้พิธีกรรมโรมัน ก่อตั้งอารามเบเนดิกติน
หลายแห่ง ท่านใช้ชีวิตเรียบง่ายและศักดิ์สิทธิ์แม้จะถูกลากเข้าไปพัวพันกับความขัด
แย้งทางการเมืองจนถูกจับขังคุกที่Bambrough และถูกเนรเทศไปที่ Sessex

ทำงานธรรมทูตในหมู่คนนอกศาสนาจนพ้นการเนรเทศและกลับมาเป็นสังฆราชแห่ง
Hexham และ Ripon ท่านมีความเห็นว่าความปั่นป่วนวุ่นวายจะสงบลงได้ก็ต่อเมื่อ
ทุกคนที่เกี่ยวข้องยอมรับอำนาจและความเป็นผู้นำสูงสุดของพระสันตะปาปา ซึ่งหลัก
การนี้ท่านได้ยืนยันมาตลอด

ท่านเสียชีวิตในปี ๗๐๙ ที่ Oundle และเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของ
Ripon ประเทศอังกฤษ

Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ต.ค. 13, 2021 7:30 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๓ ตุลาคม
นักบุญเอ็ดเวิร์ด
St. Edward the Confessor

เอ็ดเวิร์ดเกิดในปี ๑๐๐๓ ท่านเป็นบุตรของดุ๊กแห่งนอร์มังดี และหลานของกษัตริย์
เอ็ดมุนด์ไอออนไซด์แห่งอังกฤษ ช่วงเวลานั้น พวกเดนมาร์กเข้าครองอังกฤษ
ท่านจึงเติบโตมากับชีวิตเนรเทศในนอร์มังดี

ตั้งแต่อายุ ๑๐ ปีประสบการณ์การสูญเสียแต่วัยเยาว์บวกกับความศรัทธาในศาสนา
ทำให้ท่านสละความทะเยอทะยานฝ่ายโลกและอุทิศตัวเองแก่ความรักของพระเจ้า

เมื่อกษัตริย์ของพวกเดนมาร์กสิ้นพระชนม์ท่านถูกเชิญมาครองบัลลังก์ที่อังกฤษ ซึ่ง
ท่านยอมรับและปฏิบัติหน้าที่จนกระทั่งถึงปี ๑๐๖๖ ความเมตตาและศรัทธาเยี่ยง
นักบุญของท่านเป็นที่ชื่นชม ท่านยกเลิกระบบภาษีไม่เป็นธรรม และกล่าวกันว่าท่าน
สามารถรักษาผู้คนให้หายจากโรคภัยเพียงการสัมผัส

ท่านถือปฏิญาณความบริสุทธิ์ แต่ยอมรับพิธีวิวาห์เพื่อเห็นแก่ราชอาณาจักร
ท่านครองคู่กับราชินีของท่านเยี่ยงพี่ชายน้องสาว ท่านต้องการจะจาริกแสวงบุญ
ไปที่สุสานนักบุญเปโตร แต่การเดินทางจะทำให้อาณาจักรเสี่ยงถูกรุกราน ท่านจึง
ขออนุญาตพระสันตะปาปาสร้างวิหารนักบุญเปโตรขึ้นที่เวสมินเตอร์ที่ซึ่งท่านถูกฝัง
ในหนึ่งสัปดาห์หลังจากพิธีอภิเษกวิหาร

ท่านสิ้นใจเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๑๐๖๖ พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ ๓
ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๑๖๑

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 18, 2021 11:22 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๔ ตุลาคม
นักบุญกัลลิสตุส ที่ ๑, พระสันตะปาปา
St. Callistus I, Pope

พระสันตะปาปากัลลิสตุส ที่ ๑ เป็นนักบุญและมรณสักขี ท่านเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง
สำคัญที่คงอยู่เกือบ ๒๐ ปี ทั้งนี้เพราะท่านเลือกหนทางแห่งพระเมตตาของพระเจ้าในการ
บริหารของท่าน

ต้นแบบการเป็นผู้นำและการเป็นมรณสักขีของท่านในปี ๒๒๒ ได้ยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์
ของพระสันตะปาปาในยุคแรกของพระศาสนจักรท่านนี้

เนื่องจากไม่มีงานเขียนชีวประวัติของท่านหลงเหลืออยู่ นักประวัติศาสตร์ต้องอาศัยเรื่องเล่า
จากบุคคลร่วมสมัยคือฮิปโปลีตุส (Hippolytus) แห่งโรม แม้ฮิปโปลีตุสจะกลับคืนดีกับ
พระศาสนจักรและได้รับประกาศเป็นมรณสักขี แต่ท่านก็เป็นปากเสียงต่อต้านการเป็น
สันตะปาปาของกัลลิสตุส และผู้สืบทอด
ตำแหน่งอีก 3 คน อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าถึงชีวิตกัลลิสตุสและสมณสมัยของท่านก็ได้ให้
รายละเอียดที่สำคัญแก่เรา

ตามคำเล่าของฮิปโปลีตุส กัลลิสตุส ซึ่งปีเกิดไม่ทราบแน่นอน ทำงานเป็นผู้รับใช้ในบ้านของ
ผู้มีตำแหน่งสูงของโรมัน และได้รับผิดชอบธุรกิจธนาคารของเจ้านายแต่เมื่อธนาคารล่ม
เขาก็ถูกป้ายความผิด จึงพยายามหลบหนีเมื่อถูกจับตัวได้ก็ถูกส่งตัวไปทำงานแรงงานในโรม

เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อต่อมากัลลิสตุสถูกส่งไปตัวทำงานในเหมือง อาจเพราะเป็นต้นตอ
สร้างความวุ่นวายต่อสาธารณะ ตามคำเล่าของฮิปโปลีตุส อย่างไรก็ตาม กัลลิสตุสอาจถูก
ตัดสินเช่นนั้นเพียงเพราะท่านเป็นคริสตชน ภายหลัง ท่านถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมกับบรรดา
ผู้มีความเชื่อโดยการดำเนินการของพระสันตะปาปาเซนต์วิกตอร์ ที่ ๑

ในสมัยของพระสันตะปาปาองค์ต่อมาคือเซฟรีนุส (Zephyrinus) กาลิสตุสเป็นสังฆานุกรและ
ผู้ให้คำปรึกษาพระสันตะปาปาเรื่องความขัดแย้งทางเทววิทยา นอกนั้น ท่านยังเป็นผู้ดูแล
สุสานของคริสตชนชาวโรมัน (ซึ่งยังคงมีชื่อตามชื่อท่านในทุกวันนี้ว่า "สุสานนักบุญกัลลิสตุส")
เมื่อเซฟรีนุสสิ้นพระชนม์ในปี ๒๑๙ กัลลิสตุสจึงสืบทอดตำแหน่งพระสันตะปาปา

ฮิปโปลีตุส ผู้เป็นนักเทววิทยาที่เคร่งครัด กล่าวหาพระสันตะปาปากัสลิสตุสที่เห็นอกเห็นใจ
พวกเฮเรติกเขาไม่เห็นด้วยที่พระองค์ประกาศว่าแม้แต่คนบาปหนักที่สุดก็ยังสามารถได้รับ
การอภัยเมื่อสารภาพบาปอย่างจริงใจ การยืนยันถึงความเมตตาของพระเจ้ายังเป็นที่สะดุด
แก่แตร์ตูเลียน (Tertullian) ผู้เป็นเสาหลักของคริสตชนในแอฟริกาเหนือ ซึ่งแยกตัวออกจาก
ศาสนจักรที่เมืองคาร์เธจ เขามีความเห็นว่ามีบาปบางประการที่สาหัสรุนแรงเกินกว่าที่จะรับ
อภัยได้โดยการสารภาพบาป

หนึ่งในบาปที่ฮิปโปลีตุสกล่าวหากาลิสตุสที่ยอมอนุญาตให้อภัยได้คือเรื่องเพศสัมพันธ์นอก
สมรส และการคุมกำเนิดตามวิธีของคนยุคนั้น นี่เป็นความผิดที่พระสันตะปาปาไม่ควรอภัย
แต่พระองค์ก็เต็มใจยกโทษให้ในกรณีที่ผู้ทำผิดต้องการกลับคืนดีกับพระศาสนจักร

กาลิสตุสไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้ติดตามฮิปโปลีตุสยอมรับอำนาจของท่านในฐานะ
สันตะปาปาได้ในช่วงชีวิตของท่าน แต่ศาสนจักรคาทอลิกยืนยันถึงความถูกต้องและ
ศักดิ์สิทธิ์ของพระสันตะปาปากัลลิสตุส ที่ ๑

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ต.ค. 18, 2021 11:28 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๕ ตุลาคม
นักบุญเทเรซาแห่งอาวิลา
St. Teresa of Avila

เทเรซา ซานเชส เด เซเปดา ยี อาฮูมาดา (Teresa Sanchez de Cepeda y Ahumada)
เกิดในปี ๑๕๑๕ ที่เมืองอาวิลา เธอเป็นลูกคนที่สามของครอบครัวที่สืบเชื้อสายจากพ่อค้า
ชาวยิวซึ่งกลับใจเป็นคริสต์ในรัชสมัยของกษัตริย์เฟอร์ดินานและราชินีอิสซาเบลล่า
บิดาของเทเรซาอัลฟอนซุสเป็นคาทอลิกใจศรัทธา

เมื่อยังเล็กเทเรซาซาบซึ้งกับความคิดเรื่องชีวิตนิรันดรและภาพที่พระเจ้าทรงให้พวกนักบุญ
เข้าสวรรค์เธอและน้องชายร็อดริโก พากันหนีออกจากบ้านเพื่อจะไปตายเยี่ยงมรณสักขี
ในประเทศมุสลิม แต่เจอญาติระหว่างทางเสียก่อน จึงถูกนำตัวกลับมาส่งให้มารดา บีอาทริส

เมื่อเทเรซาอายุ ๑๔ ปี มารดาเสียชีวิต สร้างความเศร้าโศกอย่างลึกซึ้งแก่เธอ เธอมอบความ
ศรัทธาต่อแม่พระให้เป็นมารดาฝ่ายจิตของเธอแต่ในช่วงชีวิตวัยรุ่น เธอก็ได้ให้ความสนใจ
กับการอ่านนิยายยอดนิยมของยุค ซึ่งมักจะเป็นตำนานยุคกลางเกี่ยวกับอัศวิน และเอาใจใส่
กับเรื่องรูปร่างหน้าตาและการแต่งเนื้อแต่งตัว

พ่อวิญญาณของเทเรซาในภายหลังถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นความผิดเล็กน้อย แต่เรื่องเหล่านี้ก็
ทำให้เธอสูญเสียความกระตือรือร้นในวัยเด็กต่อพระเจ้า อัลฟอนซุส ผู้บิดา ตัดสินใจว่าลูกสาว
วัยรุ่นจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่จึงส่งเธอไปศึกษาในอารามของซิสเตอร์คณะออกัสติเนียน
เทเรซาพบว่าชีวิตพวกซิสเตอร์น่าเบื่อหน่ายแต่ไม่ช้าก็เริ่มเข้าใจถึงประโยชน์ที่มีต่อชีวิตภายใน

อาการเจ็บป่วยทำให้เทเรซาต้องออกจากอารามหลังจากอยู่ที่นั่นหนึ่งปีครึ่งอิทธิพลของลุงผู้ศรัทธา
ของเธอ พร้อมกับการได้อ่านฃจดหมายของนักบุญเยโรม ซึ่งเป็นฤษีและปิตาจารย์ของศาสนจักร
ทำให้เทเรซามั่นใจว่าหนทางแน่นอนสู่ความรอดอยู่ที่การสละชีวิตแต่งงาน ทรัพย์สมบัติและความ
ยินดีทางโลกอย่างสิ้นเชิง เธอตัดสินใจเข้าคณะคาร์เมไลท์แม้บิดาจะขอให้เลื่อนความตั้งใจไปก่อน

เทเรซาถวายตัวเป็นสมาชิกของคณะเมื่ออายุ ๒๐ ปีแต่ไม่ช้าก็ป่วยหนักจนต้องถูกส่งตัวกลับบ้าน
เธอประสบกับความเจ็บปวดสาหัสและมีอาการอัมพฤกษ์เป็นเวลา ๒ ปี ใครๆ คาดว่าเธอคงจะตาย
มีการนำขี้ผึ้งมาปิดตาและเตรียมหลุมศพเธอไว้แล้วเธอเข้าโคม่าอยู่ ๔ วัน แต่กลับฟื้นคืนมา
เธอยืนยันที่จะกลับเข้าอารามทันทีที่สามารถแม้ว่าจะยังอยู่ในสภาพเจ็บปวดและไม่อาจเคลื่อนไหว
ได้เต็มที่

เทเรซาเติบโตก้าวหน้าในชีวิตภายใน ฝึกการรำลึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าตลอดช่วงเวลา
เพ่งพิศภาวนา แต่เมื่อสุขภาพกลับคืนดีเธอก็หละหลวมกับตารางการภาวนาแม้จะยังเป็นคาร์เมไลท์
ผู้นบนอบแต่เธอไม่อาจสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวใกล้ชิดกับพระเจ้าได้เป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุย่างเข้า ๔๐ ปี เทเรซาก็พบว่าตัวเองถูกเรียกคืนสู่จิตภาวนาแบบพิศเพ่ง
(contemplative prayer) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในจิตวิญญาณเธอ เธอได้รับภาพนิมิต
จากพระเจ้าและภายใต้การแนะนำของพ่อฟังแก้บาป เทเรซาเขียนเล่าประสบการณ์เหล่านี้
ในอัตชีวประวัติที่เธอเขียนแล้วเสร็จในปี ๑๕๖๕

เทเรซาคุ้นเคยกับการรำพึงถึงการประทับอยู่ของพระคริสต์ในตัวเธอหลังจากรับศีลมหาสนิท
บัดนี้เธอเข้าใจว่าการประทับอยู่ของพระเจ้าไม่ได้แผ่วจางหาย พระเจ้าอยู่กับเธอเสมอและได้
ทรงอยู่ด้วยตลอดมา สิ่งสำคัญคือเพียงแต่มอบตัวเองให้อยู่ในการประทับของพระองค์ด้วย
ความรักและการใส่ใจ ซึ่งสามารถทำได้ทุกเวลา

การเปลี่ยนแปลงของชีวิตจิตทำให้เทเรซาสามารถมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพระศาสนจักร
หลังสังคายนาเทรนต์ เธอเสนอให้คณะคาร์เมไลท์กลับคืนสู่พระวินัยดั้งเดิม ซึ่งถือปฏิบัติชีวิต
นักพรตที่เรียบง่ายและเคร่งครัดอย่างสงบและสันโดษ ตามที่พระสันตะปาปาทรงอนุญาต
ในศตวรรษที่ ๑๒ และสืบย้อนถึงประกาศกเอลียาห์ในพระธรรมเก่า

เธอร่วมงานกับยอห์นแห่งไม้กางเขน พระสงฆ์และนักเขียน ผู้จะเป็นนักบุญในภายหลังก่อตั้ง
คณะคาร์เมไลท์เท้าเปล่า ซึ่งหมายถึงความเรียบง่ายก่อนคณะกลายสภาพ การฟื้นฟูคณะเผชิญ
การต่อต้านอย่างรุนแรง แต่สุดท้าย ส่งผลให้มีการตั้งอารามถึง ๓๐ แห่งในช่วงชีวิตของเธอ

สุขภาพของเทเรซาทรุดโทรมในระหว่างการเดินทางปี ๑๕๘๒ เธอยอมรับความเจ็บป่วยครั้ง
สุดท้ายนี้ว่าเป็นหนทางที่พระเจ้าเลือกใช้เพื่อเรียกเธอเข้าสู่การประทับอยู่กับพระองค์ตลอดนิรันดร

เทเรซาเสียชีวิตวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๑๕๘๒ และได้รับการประกาศเป็นนักบุญ พร้อมกับผู้ศักดิ์สิทธิ์
ร่วมยุคสมัยอีก ๓ ท่าน คือ นักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา นักบุญฟรังซิส เซเวียร์และนักบุญฟิลิป เนรี

ปี ๑๙๗๐ พระสันตะปาปาเปาโล ที่ ๖ ประกาศตั้งท่านเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร

Cr : Sinapis
ตอบกลับโพส