ประวัตินักบุญอย่างย่อ เดือน พฤศจิกายน(วันที่1-15)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ย. 01, 2021 8:36 pm

วันที่ ๑ พฤศจิกายน
วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย
All Saints' day

การฉลองนักบุญทั้งหลายถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เกียรติแด่นักบุญทุกองค์ทั้งที่รู้จักและ
ไม่เป็นที่รู้จัก พระสันตะปาปาอูร์บัน ที่ ๔ ทรงกล่าวว่าการระลึกถึงในวันนี้เพื่อชดเชยต่อ
บรรดานักบุญที่ขาดหายไปในระหว่างปี

ในยุคแรกของพระศาสนจักร ชาวคริสต์มีการชุมนุมกันในวันเสียชีวิตของมรณสักขี
ณ สถานที่ๆ พวกท่านสิ้นใจ เมื่อถึงศตวรรษที่ ๔ สังฆมณฑลที่อยู่ใกล้เคียงเริ่มจัดชุมนุม
พิธีรำลึกร่วมกัน มีการแบ่งพระธาตุและฉลองวันสำคัญๆ พร้อมกัน ดังคำเชิญของ
นักบุญบาซิลแห่งเซซารียา (ปี ๓๙๗) ที่มีไปยังบรรดาสังฆราชของแคว้นปอนตุส บ่อยครั้ง
กลุ่มมรณสักขีถูกสังหารในวันเดียวกัน ซึ่งทำให้สามารถ
รำลึกถึงพวกท่านร่วมกันได้

ในการเบียดเบียนยุคจักรพรรดิ Diocletian จำนวนมรณสักขีมีมากจนกระทั่งกำหนดวัน
สำหรับแต่ละท่านไม่พอ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงกำหนดให้มีวันๆ หนึ่งสำหรับระลึกถึง
พวกท่านทุกคน

แรกเริ่ม มีเพียงแต่บรรดามรณสักขีและนักบุญยอห์น บัปติสต์เท่านั้นที่มีวันฉลองพิเศษ
ในปฏิทินพิธีกรรม ต่อมา นักบุญองค์อื่นๆ ได้ถูกเพิ่มเติม และมีจำนวนมากขึ้นเมื่อมีการ
กำหนดขั้นตอนสถาปนาการเป็นนักบุญ

พระสันตะปาปาเกรกอรี่ ที่ ๓ (ปี๗๓๑-๗๔๑) อภิเษกวัดน้อยในอาสนวิหารนักบุญเปโตร
ถวายแด่นักบุญทั้งหลายและกำหนดวันฉลองให้เป็นวันที่ ๑ พฤศจิกายน

พระสันตะปาปาเกรกอรี ที่ ๔ (ปี ๘๒๗-๘๔๔) ประกาศให้การรำลึกนี้เป็นวันฉลองของ
พระศาสนจักรทั้งมวล มีพิธีตื่นเฝ้าที่จัดพร้อมกับการประกาศนี้

CR. : Sinapis


สมโภชนักบุญทั้งหลาย (1 พฤศจิกายน)
วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ (2 พฤศจิกายน)
เดือนระลึกถึงผู้ล่วงลับ (ตลอดเดือนพฤศจิกายน)

ชีวิตมนุษย์ยืนยาวเพียงแค่ต้นหญ้า ออกดอกงอกงามอยู่เพียงชั่วประเดี๋ยว แล้วก็
เหี่ยวเฉาร่วงโรยสิ้นสุดไป เหมือนต้องลมก็ปลิวกระจายไป

ไฉน มนุษย์จึงคิดจะมีชีวิตยืนยาว คิดค้นหาอาหารและยาอายุวัฒนะ กะจะต่อชีวิต
ให้ยืดยาวไปอย่างหาที่สุดมิได้ แต่พันวันของมนุษย์ก็เท่ากับแค่หนึ่งวันของพระเจ้า

อันที่จริง พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ โดยเฉพาะจิตวิญญาณให้เป็นอมตะ นิรันดร มนุษย์
จึงควรคิดคำนึงถึงชีวิตทางด้านฝ่ายจิต มิใช่คิดถึงแต่ชีวิตทางฝ่ายกายนี้เท่านั้น

วันนี้เราระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีผู้คนมากมายเหลือคณานับที่ได้รับการต้อนรับเข้าไป
ในพระอาณาจักรของพระเจ้า พวกเขาคือพระศาสนจักรซึ่งได้รับชัยชนะแล้ว ซึ่งก็คือบรรดา
นักบุญทั้งหลายนั่นเอง

จากหนังสือวิวรณ์ นักบุญยอห์นได้เห็นภาพนิมิต “ประชาชนมากมายเหลือคณานับจากทุกชาติ
ทุกเผ่า ทุกประเทศและทุกภาษา กำลังยืนอยู่เฉพาะพระบัลลังก์และเฉพาะพระพักตร์ลูกแกะ”
นี่แสดงให้เห็นว่ามีคนธรรมดาๆ มากมายที่อยู่ในโลกนี้ ที่อาจจะไม่มีใครสังเกต พวกเขาได้
ทำความดี และได้ผ่านพ้นจากการเบียดเบียนครั้งใหญ่ พวกเขาได้รับการชำระล้างด้วยพระ
โลหิตของพระชุมพา จากหนังสือพระวรสารโดยนักบุญมัทธิว (บทที่ 5 : 1-12) บรรดาผู้มีบุญ
ก็คือบุคคลธรรมดาๆ ทั้งหลาย ผู้มีใจยากจน ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ผู้มีใจอ่อนโยน ผู้หิวกระหาย
ความชอบธรรม ผู้มีใจเมตตา ผู้มีใจบริสุทธิ์ ผู้สร้างสันติให้เกิดขึ้น ผู้ที่ยอมถูกเบียดเบียน ดูหมิ่น
ข่มเหง และใส่ร้ายต่างๆ นานา พวกที่ผ่านการเบียดเบียนและทุกขเวทนาเหล่านี้ ก็จะได้พระราชัย
สวรรค์เป็นกรรมสิทธิ์ นี่แสดงให้เห็นว่า มีคนธรรมดาๆ มากมาย ในโลกนี้ ในวัดของเรานี้
พวกเขาได้ถือตามคำสอนเรื่องบุญลาภ หรือ "ความสุขแท้จริง" ของพระเยซูเจ้าอย่างดี และ
เมื่อตายไปก็ได้รับการต้อนรับในพระอาณาจักรของพระองค์

น่าสงสารคนที่พลาดไป คนที่ยังมีความขาดตกบกพร่อง คนที่ตายไปโดยที่ยังขาดความพร้อม
ของการกลับใจที่แท้จริง คนที่ยังมีโทษบาปหลงเหลืออยู่ให้ทำการใช้โทษ คนที่เมื่ออยู่บนตาชั่ง
เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและพบว่ายังขาดไป เขาเหล่านั้นยังไม่ได้รับรางวัลทันที ต้องไปใช้โทษ
อยู่ในไฟชำระ พวกเขาคือพระศาสนจักรที่กำลังทนทุกข์ กำลังได้รับการชำระให้ปราศจากบาป
มลทิน จนกว่าจะถึงวันที่หลุดพ้นจากไฟชำระขึ้นสวรรค์

พวกเราช่วยเขาเหล่านั้นได้ด้วยคำภาวนา โดยเฉพาะคำภาวนาในพิธีบูชามิสซา คำภาวนาและ
การทำพลีกรรมเป็นพิเศษให้ท่านเหล่านั้น เราเป็นพระศาสนจักรที่กำลังเดินทางแสวงบุญอยู่ใน
โลกนี้ เป็นสหพันธ์นักบุญเดียวกัน (หรือปัจจุบันใช้คำว่า "ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์")
พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ภาวนาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เพื่อว่า สักวันหนึ่ง เราจะได้อยู่ร่วม
เป็นหนึ่งเดียวกันในพระอาณาจักรของพระบิดาของเราทั้งหลาย

อย่าลืมถวายคำภาวนาแด่พระเจ้าตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อผู้ที่ล่วงลับไปในพระคริสตเจ้า

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อปี ค.ศ. 2008 )
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 02, 2021 7:52 pm

วันที่ ๒ พฤศจิกายน
วันระลึกถึงบรรดาผู้ล่วงลับ
All Souls day

แนวคิดทางเทววิทยาที่อธิบายถึงวันระลึกนี้คือข้อความเชื่อที่ว่าวิญญาณทั้งหลาย
เมื่อออกจากร่างกายแล้วยังไม่สะอาดสมบูรณ์เพราะมีบาปติดตัว หรือยังไม่ได้ชดใช้บาป
ในอดีตที่กระทำมา ดังนั้นจึงยังไม่สามารถประสบพบความรุ่งเรืองงดงามของพระเจ้าได้
คริสตชนในโลกสามารถช่วยเหลือพวกผู้ล่วงลับได้ด้วยการสวดภาวนาการทำบุญให้
ทานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุทิศถวายในมิสซา

ยุคแรกๆ ของคริสตศาสนา มีการจดบันทึกรายชื่อคริสตชนที่เสียชีวิตไว้ต่อมาภายหลัง
ในศตวรรษที่ ๖อารามคณะเบเนดิกตินมีธรรมเนียมให้จัดวันระลึกถึงสมาชิกคณะที่ล่วงลับ
นักบุญ Odilo แห่ง Cluny มีคำสั่งให้จัดพิธีระลึกถึงผู้ล่วงลับเช่นนี้ขึ้นทุกปีในอารามทุกแห่ง
ของคณะ นับจากนั้น ธรรมเนียมนี้ก็
แพร่หลายออกไปสู่คณะคาร์ธูเซียนและคณะอื่นๆ

ต่อมาธรรมเนียมวันระลึกถึงผู้ตายได้เริ่มถือปฏิบัติในพระศาสนจักรท้องถิ่นของอิตาลีสเปน
โปรตุเกสและละตินอเมริกา พระสงฆ์จะทำมิสซา ๓ มิสซาในวันนี้

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ พ.ย. 03, 2021 10:04 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๓ พฤศจิกายน
นักบุญมาร์ติน เดอ พอร์เรส
St. Martin de Porres

"จากช่างตัดผมผิวสีสู่นักบุญ"
มาร์ติน เดอ พอร์เรส เกิดที่เมืองลิมา เปรูในปี ๑๕๗๙ บิดาของท่านเป็นชาวสเปน
มารดาเป็นคนพื้นเมือง การเป็นลูกผสมทำให้ท่านมีฐานะต่ำในสังคม แต่บิดาดูแล
ท่านอย่างดีและให้ท่านฝึกอาชีพเพื่อเลี้ยงตัว

มาร์ตินเรียนเป็นช่างตัดผม ซึ่งในยุคนั้นจะต้องเรียนรู้เรื่องการเยียวยารักษาโรคไปด้วย
ท่านเป็นที่รู้จักว่ามีจิตใจเมตตาและเชี่ยวชาญในฝีมือตัดผม ท่านช่วยเหลือคนจำนวนมาก
รวมทั้งพวกสัตว์ด้วย ต่อมาท่านสมัครเป็นสมาชิกฆราวาสของคณะโดมินิกันและได้ใช้ชีวิต
อยู่ที่อารามนักบวช แม้ท่านปรารถนาจะเป็นธรรมทูต แต่ก็ไม่ได้รับโอกาส

ชีวิตภาวนาของมาร์ตินเป็นไปอย่างเข้มข้น ท่านบำเพ็ญพรตและทำกิจพลีกรรมอย่างจริงจัง
บางครั้งร่างท่านลอยขึ้นขณะอยู่ในปีติศานต์หน้าพระแท่น ท่านได้รับการยกย่องว่ามี
ปรีชาญาณ ผู้คนจำนวนมากมาขอคำแนะนำและขอให้ท่านช่วยสวดวิงวอนให้

ท่านเสียชีวิตปี ๑๖๓๙ แม้การสืบสวนเพื่อตั้งท่านเป็นนักบุญจะเริ่มต้นอย่างรวดเร็วหลัง
การตาย แต่เกิดความล่าช้าอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เรืออับปางและอื่นๆ
กระทั่งในที่สุด ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญในอีก ๓๐๐ ปีให้หลัง คือในปี ๑๙๖๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 05, 2021 4:32 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๔ พฤศจิกายน
นักบุญชาร์ลส์ โบร์โรเมโอ
St. Charles Borromeo

ทุกยุคสมัยในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิกมีเรื่องสับสนวุ่นวายและ
ความคดโกงเสื่อมเสียกระนั้น ก็จะมีบุคคลหรือขบวนการหนึ่งก่อเกิดขึ้นมาเป็นตัวแทน
ความเชื่อที่ชัดเจนและแสดงให้เห็นด้วยการกระทำ นักบุญชาร์ลส์โบร์โรเมโอ
ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในสังคายนาเมืองเตรนท์เป็นตัวอย่างของความเป็นผู้นำ
ในยุคที่พระศาสนจักรปั่นป่วนวุ่นวาย

ชาร์ลส์เกิดเมื่อปี ๑๕๓๘ ในตระกูลมั่งคั่ง บิดามารดาท่านเป็นผู้สูงศักดิ์แต่ท่านสนใจ
ที่จะรับใช้พระศาสนจักรอย่างจริงใจ ท่านขอร้องให้บิดาแจกจ่ายเงินทองส่วนใหญ่
ของครอบครัวให้คนยากไร้

ชาร์ลส์ใช้ฐานันดรในสังคมของท่านเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร ท่านทำงาน
เป็นทนายความและนักกฎหมาย เมื่อท่านอายุ ๒๒ ปี ลุงของท่านก็ได้รับเลือกเป็น
พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๔ ท่านได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นทูตของพระสันตะปาปา
และเป็นผู้ดูแลคณะนักบวชใหญ่ๆ ทั้งหลาย

ท่านพักผ่อนด้วยการอ่านวรรณกรรมและฟังดนตรี ไม่หลงใหลไปกับสิ่งเย้ายวนใจทั่วโรม
ของยุคสมัยเรอเนซองส์ตอนปลาย ท่านถึงกับคิดอยากจะถือชีวิตเข้มงวดในอารามนักพรต
แต่พระเป็นเจ้าจะให้ท่านทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนจักรได้มากกว่า ซึ่งรวมถึงสิ่งที่
ท่านจะกระทำในการสังคายนาเมืองเตรนท์

สังคายนาสากลครั้งนี้เริ่มต้นปลายปี ๑๕๔๕ แต่ประสบความล่าช้าเพราะเหตุการณ์หลายอย่าง
ภารกิจ ๒ ประการของสังคายนาครั้งนี้คือการกำหนดข้อคำสอนคาทอลิกเพื่อต่อสู้กับการปฏิเสธ
ต่อต้านของโปรเตสแตนท์และการฟื้นฟูภายในพระศาสนจักรเนื่องด้วยปัญหาต่างๆ ที่หมักหมม
ยาวนาน ในฐานะตัวแทนของพระสันตะปาปา ชาร์ลส์เข้าร่วมการประชุมสรุปสังคายนา
ในปี ๑๕๖๓ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุเพียง ๒๕ ปี ท่านยังมีบทบาทเป็นผู้นำคนสำคัญของการรวบรวม
ข้อสรุปของคำสอนโรมัน ที่เรียกกันว่าคำสอนแห่งสังคายนาเมืองเตรนท์

รางวัลที่ชาร์ลส์ได้รับคือภารกิจหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีก ท่านได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ระหว่างการ
ประชุมสังคายนาและได้เป็นอัครสังฆราชและคาร์ดินัลเพียงอีกไม่กี่เดือนต่อมา ท่านพบว่า
สังฆมณฑลมิลานที่ท่านรับมอบหมายให้ดูแลอยู่ในสภาพเสื่อมทราม ไม่มีการบริหารหรือดูแล
จากผู้นำของสังฆมณฑลมาถึง ๒ ชั่วอายุคน พระสังฆราชชาร์ลส์ดำเนินการตั้งโรงเรียน บ้านเณร
และศูนย์กลางสำหรับชีวิตนักบวช

การปฏิรูปสังฆมณฑล ซึ่งสอดคล้องกับกฤษฎีกาของสังคายนาเกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
พวกฤษีกลุ่มหนึ่งที่เสียผลประโยชน์ถึงกับพยายามลอบสังหารท่าน การรอดชีวิตมาได้นั้นถูกเล่ากัน
ว่าเป็นเพราะอัศจรรย์จากพระเจ้า

ความพยายามของท่านในการสอนคำสอนและอบรมเยาวชนเกิดผลสำเร็จเป็นพิเศษ ทำให้มีการ
ก่อตั้งกลุ่มเพื่อคำสอนคริสตชนและได้เกิดชั้นเรียนคำสอนวันอาทิตย์เป็นครั้งแรก ท่านยังเอาใจใส่
อภิบาลพวกคาทอลิกชาวอังกฤษที่หนีเข้ามาอิตาลีเพราะกฎหมายต่อต้านความเชื่อคาทอลิก
ที่อังกฤษในเวลานั้น

ความขยันเอาการเอางาน การเดินทางอยู่เสมอและการดำเนินชีวิตถือพรตเคร่งครัดส่งผลต่อสุขภาพ
ของท่าน ท่านเสียชีวิตในปี ๑๕๘๔ ด้วยอายุเพียง ๔๖ ปีและในอีก ๒๖ ปีต่อมาก็ได้รับประกาศตั้งเป็น
นักบุญในปี ๑๖๑๐

ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของครูคำสอนและผู้เรียนคำสอน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 05, 2021 4:36 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๕ พฤศจิกายน
บุญราศีแบร์นฮาร์ด ลิคเทนแบร์ก
Blessed Bernhard Lichtenberg

แบร์นฮาร์ดเป็นมรณสักขีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเกิดในปี ๑๘๗๕
บวชเป็นพระสงฆ์ของสังฆมณฑลเบอร์ลิน เยอรมนี ท่านทำงานอภิบาลที่อาสนวิหาร
เบอร์ลิน ท่านวิจารณ์พรรคนาซีอย่างเปิดเผย และตำหนิการรณรงค์ให้ชาวเยอรมัน
ต่อต้านพวกยิว

ท่านก่อตั้งกลุ่มประท้วงนอกค่ายกักกัน นำสวดในที่สาธารณะให้พวกชาวยิวและยื่น
คำประท้วงต่อพรรคนาซี ในที่สุด ท่านถูกจับและถูกคุมขัง ๒ ปี แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่อาจ
กั้นขวางท่านได้

เมื่อได้รับการปล่อยตัวคุณพ่อแบร์นฮาร์ดกลับสู่กิจกรรมประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์
พวกนาซีต่อไป

ท่านถูกจับตัวอีกครั้งและถูกตัดสินให้ส่งตัวไปค่ายกักกันที่ Dachau แต่ท่านไปไม่ถึงเพราะ
ถูกสังหารในระหว่างทาง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๑๙๔๓ ขณะนั้นท่านมีอายุ ๖๗ ปี

พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ประกาศตั้งท่านเป็นบุญราศีในปี ๑๙๙๖

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ย. 07, 2021 7:43 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๖ พฤศจิกายน
นักบุญฌอง เธโอฟาน เวนาร์ด
St. Jean-Théophane Vénard

ท่านเป็นมิสชันนารีชาวฝรั่งเศส ทำงานธรรมทูตที่เวียดนาม และเป็นมรณสักขีฌอง เธโอฟาน
เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักบุญเทเรซาแห่งลิซิเออร์ กล่าวกันว่าท่านเป็นบุคคลที่
ได้ดำเนินชีวิตตามภาพลักษณ์ความเป็นมรณสักขีและมิสชันนารีของนักบุญเทเรซา

ท่านเกิดในฝรั่งเศส หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ในคณะธรรมทูตมิสซังต่างประเทศ
ท่านก็ถูกส่งตัวไปทำงานที่เวียดนาม ในสมัยนั้น เวียดนามอยู่ใต้การปกครองของ
จักรพรรดิมินห์หมาง มีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ พวกพระสงฆ์จึงต้องซ่อนตัวในป่า
และใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ พวกเขาจะแอบออกมาเวลากลางคืนเพื่อทำมิสซาและฟังแก้บาป
แต่มีบุคคลหนึ่งทรยศ ซึ่งทำให้ฌอง เธโอฟานถูกจับ ในระหว่างการไต่สวน
ท่านไม่ยอมปฏิเสธความเชื่อจึงถูกตัดสินให้รับความตาย ช่วงเวลาสองสามสัปดาห์
สุดท้ายของชีวิต ท่านถูกขังอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง

ในช่วงเวลานี้ท่านได้เขียนจดหมายหลายฉบับ บางฉบับเขียนถึงคนในครอบครัวของท่าน
ข้อความที่มีชื่อเสียงที่สุดมาจากจดหมายที่ท่านเขียนถึงบิดา "พวกเราเป็นดอกไม้ที่ถูก
ปลูกบนโลก พระเจ้าจะเด็ดไปตามเวลาที่พระองค์เห็นควร บางครั้งเร็ว บางครั้งช้า คุณพ่อ
และผมจะพบกันในสวรรค์ ผมขอไปก่อน
ลาก่อนครับ"

เมื่ออ่านจดหมายนี้นักบุญเทเรซาเข้าใจอย่างซาบซึ้งและใช้ภาพเปรียบเทียบดอกไม้น้อย
สำหรับตัวเธอเองว่า พระเจ้าทรงเอาใจใส่และดูแลรักษา แม้เธอจะเล็กน้อยไม่สำคัญเพียง
ใดก็ตาม

ฌอง เธโอฟานถูกตัดศีรษะในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๑๘๖๑ ศีรษะของท่านถูกขุดค้นภายหลัง
และเก็บรักษาเป็นพระธาตุในเวียดนาม ร่างกายส่วนอื่นถูกบรรจุในโลง
ที่บ้านของคณะของท่านในปารีส

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ย. 07, 2021 7:45 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๗ พฤศจิกายน
นักบุญเปโตร อู๋
St. Peter Ou

เปโตรอู๋เป็นหนึ่งในบรรดามรณสักขีของจีน ท่านเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้เป็น
คริสตชนในปี ๑๗๖๘ ในวัยหนุ่ม ท่านรักความยุติธรรมและเป็นปากเสียงให้กับ
คนยากจนและคนถูกกดขี่ข่มเหงอยู่เสมอ

ท่านแต่งงานและเปิดโรงแรมขนาดใหญ่ เมื่อมิสชันนารีมาถึงดินแดนที่ท่านอยู่อาศัย
ท่านเป็นคนแรกๆที่กลับใจเป็นคริสตชน และได้รับชื่อเปโตรในการล้างบาป
ท่านสอนเรื่องคริสตศาสนาอย่างกระตือรือร้นให้กับทุกคนที่ผ่านไปมา ภายหลัง
ท่านเป็นผู้นำฆราวาสของกลุ่มผู้กลับใจในตำบลนั้นท่านยังเป็นครูสอนคำสอนด้วย

ปี ๑๘๑๔ ท่านถูกจับคุมขังและลงทัณฑ์ทรมาน แต่แม้ในสภาพเช่นนั้น ท่านยังให้
กำลังใจเพื่อนนักโทษให้มีความเชื่อ ท่านนำการสวดภาวนาในห้องคุมขัง ที่สุด
ท่านถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะไม่ยอมเหยียบไม้กางเขน

พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๒๐๐๐

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ย. 08, 2021 8:41 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๘ พฤศจิกายน
บุญราศีเอลิซาเบธแห่งพระตรีเอกภาพ
Blessed Elizabeth of The Trinity

เอลิซาเบธ คาเธซ (Elizabeth Catez) เกิดที่เมือง Bourges ประเทศฝรั่งเศส
ในปี ๑๘๘๐ บิดาของเธอซึ่งเป็นนายร้อยในกองทัพเสียชีวิตเมื่อเธออายุ ๗ ขวบ
มารดาให้การอบรมเลี้ยงดูเธอและมาร์กาเร็ต น้องสาว

เอลิซาเบธเป็นเด็กหญิงร่าเริงและเป็นนักเล่นเปียโนที่มีพรสวรรค์ แต่เธอก็เป็นคน
หัวรั้นและขึ้งโกรธได้นาน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอารมณ์ขึ้นลงรุนแรง เธอก็มีความรัก
ต่อพระเจ้าและสนใจชีวิตภาวนาและการพิศเพ่งรำพึงตั้งแต่วัยเยาว์ เธอเยี่ยมคนป่วย
บ่อยๆ และสอนคำสอนให้พวกเด็ก

เมื่ออายุ ๒๑ ปี เอลิซาเบธตัดสินใจเข้าคณะนักบวชคาร์เมไลท์ในปี ๑๙๐๑ แม้จะขัด
กับความปรารถนาของมารดาก็ตาม เธอก้าวหน้าอย่างยิ่งในชีวิตฝ่ายจิต แต่ก็ทุกข์ทรมาน
กับห้วงเวลาของความมืดหนักหน่วงจนทำให้พ่อวิญญาณสงสัยในกระแสเรียกของเธอ
แต่เธอก็ผ่านปีนวกภาพและได้ถวายตัวตลอดชีพในปี ๑๙๐๓ เธอเสียชีวิตในอีก ๓ ปี
ต่อมาเมื่ออายุเพียง ๒๖ ปี สาเหตุด้วยโรค Addison ในช่วงเวลาชีวิตนักบวชที่ไม่นานนัก
ของเธอเธอได้เป็นผู้นำวิญญาณให้กับหลายคน และได้ทิ้งมรดกอันมีคุณค่าเป็นจดหมาย
และข้อแนะนำการเข้าเงียบ

เธอเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้สูญเสียบิดามารดา

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 11, 2021 10:23 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๙ พฤศจิกายน
นักบุญเบนอิงกัส แห่งคิลบันนอง
St. Benignus of Kilbannon

เบนอิงกัสเป็นลูกชายของ Sesenen หัวหน้ากลุ่มชนแถบ Meathในไอร์แลนด์
นักบุญปาตริกได้โปรดศีลล้างบาปให้ท่าน ท่านเป็นศิษย์คนโปรดและผู้ร่วมงาน
คนสำคัญของนักบุญปาตริก

เบนอิงกัสติดตามอาจารย์ในการเดินทางทำงานธรรมทูตทุกหนแห่ง ท่านช่วย
ตั้งกลุ่มนักขับร้องในแต่ละท้องที่ เหตุนี้จึงทำให้ท่านถูกเรียกว่า นักขับเพลงของ
ปาตริก ท่านดึงดูดผู้คนจำนวนมากเข้าหาพระคริสต์ด้วยน้ำเสียงไพเราะเสนาะ
โสตของท่าน

ท่านช่วยดำเนินการรวบรวมกฎหมายของไอริช และมีบทบาทสำคัญในการประชุม
สมัชชาเพื่อออกระเบียบทางด้านศาสนา ซึ่งได้บันทึกไว้ในหนังสือ Armagh

ท่านลาเกษียณจากหน้าที่การงานในปี ๔๖๗ และสิ้นชีพปลายปีนั้นเอง

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 11, 2021 10:27 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน
นักบุญพระสันตะปาปาเลโอผู้ยิ่งใหญ่
Pope St. Leo the Great

พระสันตะปาปาเลโอ ที่ ๑ แห่งศตวรรษที่ ๕ เป็นที่รู้จักในสมัญญา นักบุญเลโอผู้ยิ่งใหญ่
ท่านจัดประชุมสังคายนาที่ช่วยปกป้องการเผยแพร่คำสอนที่ผิดๆ ในเรื่องสภาวะ
พระเจ้าและธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสต์

ท่านยังป้องกันพระศาสนจักรตะวันตกให้ปลอดภัยด้วยการโน้มน้าวให้อัตติลา
หัวหน้าชนเผ่าฮั่น ถอยกลับไม่รุกรานโรม

ต้นกำเนิดของท่านไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่กล่าวกันว่าท่านสืบเชื้อสายจากตระกูล
Tuscany ท่านเป็นสังฆานุกรที่โรมประมาณปี ๔๓๐ ในสมณสมัยของ
พระสันตะปาปาเซเลสติน ที่ 1

ในช่วงเวลานี้อำนาจศูนย์กลางเริ่มเสื่อมถอยจากจักรวรรดิโรมันตะวันตก ท่านได้รับ
บัญชาจากจักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ ๓ ให้ไปยังแคว้น Gaul และระงับข้อพิพาท
ระหว่างกองทัพกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

เมื่อพระสันตะปาปาซิสตุส ที่ ๓ สิ้นพระชนม์ในปี ๔๔๐ ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็น
พระสันตะปาปา ท่านทำหน้าที่นานกว่า ๒๐ ปี พยายามรักษาเอกภาพของพระศาสนจักร
ในเรื่องข้อความเชื่อและความปลอดภัยต่อการรุกรานของพวกบาร์บาเรียน

สันตะปาปาเลโอบังคับใช้อำนาจของพระองค์ทั้งในทางข้อความเชื่อและการปกครอง
เพื่อควบคุมพวกเฮเรติกที่สร้างปัญหาให้กับศาสนจักรตะวันตกในเวลานั้น ซึ่งได้แก่
กลุ่ม Pelagiznism ซึ่งปฏิเสธเรื่องบาปกำเนิด กลุ่ม Manichaeanism และกลุ่ม
Gnosticism ที่ถือว่าโลกวัตถุชั่วร้าย

ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวคริสต์ทางตะวันออกก็เริ่มถกเถียงกันถึงความเป็นมนุษย์
และพระเจ้าของพระเยซู ท่านเข้าเกี่ยวข้องกับการโต้เถียงนี้ซึ่งกำลังจะส่งผลถึงการแตกแยก
ระหว่างศาสนจักรที่เมืองอเล็กซานเดรียและคอนสแตนติโนเปิล แล้วที่สุด ก็เป็นจริง
เกิดการแยกกันระหว่างศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ตะวันออกและศาสนจักรที่เรียกว่า
non-Chalcedonian มาจนปัจจุบัน

ความขัดแย้งทางความคิดเห็นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ยังดำเนินต่อไป สันตะปาปาเลโอ
จึงเรียกประชุมสังคายนาเพื่อหาข้อตกลง สังคายนา Chalcedon ในปี ๔๕๑ ได้กำหนด
เรื่องอำนาจคำสอนของพระสันตะปาปา ซึ่งบรรดาสังฆราชแห่งนิกายตะวันออกก็ให้การ
ยอมรับ พวกเขากล่าวว่า "เปโตรพูดผ่านปากของเลโอ"

คำสอนของสันตะปาปาเลโอยืนยันถึงความเป็นพระเจ้าแต่นิรันดร์ของพระคริสต์และ
ธรรมชาติที่ไม่ได้ซึมรับหรือปฏิเสธต่อธรรมชาติมนุษย์ที่พระองค์ได้รับในการเข้าสู่
กาลเวลาเมื่อบังเกิดเป็นมนุษย์

"ดังนั้น โดยมิได้ทอดทิ้งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาของพระองค์พระบุตรพระเจ้าได้
ลงมาจากบัลลังก์สวรรค์และเข้าสู่โลกของเรา" ท่านสอน "ขณะที่ยังคงสภาวะก่อน
การดำรงอยู่ของสิ่งทั้งปวง พระองค์ก็ทรงเริ่มการดำรงอยู่ในกาลเวลา เจ้านายของ
จักรวาลผู้ยิ่งใหญ่สุดหยั่งถึงทรงรับเอาสภาพทาส พระเจ้าผู้ไม่รู้จักความทุกข์ทรมาน
ไม่ทรงรังเกียจจะมาบังเกิดเป็นมนุษย์ผู้ทุกข์ทน และพระองค์ผู้ไม่ตายก็ยอมรับกฎ
ของความตาย"

ปี ๔๕๒ หนึ่งปีหลังสังคายนา Chalcedon สันตะปาปาเลโอเป็นผู้นำการเจรจากับ
กษัตริย์อัตติลาเพื่อป้องกันการบุกโรม เมื่อผู้นำทัพพวก Vandal ชื่อ Genseric
ยึดครองโรมในปี ๔๕๕ ท่านก็เผชิญหน้าเขาโดยปราศจากอาวุธและได้รับการรับประกัน
ว่าชาวเมืองและวัดวาอารามต่างๆ จะปลอดภัย

สันตะปาปาเลโอผู้ยิ่งใหญ่สิ้นพระชนม์วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ปี ๔๖๑ พระองค์ได้รับประกาศ
ตั้งเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ ๑๔ ในปี ๑๗๕๔
งานเขียนและบทเทศน์ของท่านตกทอดมาถึงคนในยุคเราจำนวนมาก

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. พ.ย. 11, 2021 10:31 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน
นักบุญมาร์ตินแห่งตูรส์
St. Martin of Tours

มาร์ตินเกิดเมื่อปี ๓๑๖ ในดินแดนที่เป็นประเทศฮังการีทุกวันนี้ ครอบครัวของเขา
ต้องย้ายไปอิตาลีเพราะบิดาซึ่งเป็นทหารในกองทัพโรมันได้รับคำสั่งให้ไปประจำการ
ที่นั่น พ่อแม่ของมาร์ตินเป็นคนนอกศาสนา แต่เขาสนใจความเชื่อคาทอลิกซึ่งได้รับ
การประกาศรับรองแล้วจากจักรพรรดิในปี๓๑๓ เขาได้รับการอบรมด้านศาสนา
เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ และสนใจอยากเป็นฤษีในทะเลทราย

แต่สภาพแวดล้อมบังคับให้มาร์ตินต้องเข้าร่วมกองทัพโรมันตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี
เขาใช้ชีวิตเคร่งครัดตามระเบียบวินัยของกองทัพ เงินเดือนที่ได้รับเขาแจกจ่าย
ให้คนยากจน นิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเขานำไปสู่เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต
เขาพบชายคนหนึ่งกำลังนอนตัวสั่นเทาเพราะปราศจากเสื้อผ้าอบอุ่นที่ประตูเมือง
Amiens ใน Gaul

เพื่อนทหารต่างผ่านเลยไป แต่มาร์ตินชะงัก เขาตัดแบ่งเสื้อคลุมของเขาเป็นสอง
ส่วนด้วยดาบ และมอบครึ่งหนึ่งของเสื้อคลุมแก่ขอทานผู้ใกล้จะหนาวตาย คืนนั้น
เขาเห็นพระคริสต์ในความฝัน พระองค์สวมเสื้อคลุมครึ่งส่วนที่เขาตัดแบ่งให้ผู้ยากไร้
คนนั้น พระเยซูตรัสแก่เขาว่า "มาร์ตินได้ห่มคลุมเราด้วยอาภรณ์ของเขา"

มาร์ตินรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะเข้าสู่พระศาสนจักร เขาจึงรับศีลล้างบาป เขายังทำงาน
ในกองทัพอีก 2 ปีแต่มีความปรารถนาตลอดเวลาที่จะอุทิศชีวิตแด่พระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม
ยิ่งกว่าอาชีพทหาร อย่างไรก็ตามเมื่อเขาขอลาออกจากกองทัพ ซึ่งขณะนั้นกำลังรบสู้กับ
พวกเยอรมัน เขาก็ถูกกล่าวหาว่าขลาดกลัว

มาร์ตินให้คำตอบด้วยการเสนอจะออกไปเผชิญหน้ากองกำลังศัตรูโดยปราศจากอาวุธ
"ในพระนามของพระเยซูและไร้ซึ่งเกราะหรือโล่ห์ แต่ด้วยเครื่องหมายกางเขน ข้าฯ
จะเดินเข้าสู่แถวนักรบหนาแน่นที่สุดของศัตรูโดยไม่หวาดหวั่น" แต่การแสดงความเชื่อ
ของเขายังไม่จำเป็นเพราะพวกเยอรมันได้ขอสงบศึก มาร์ตินถูกปลดประจำการตามที่
เขาต้องการ

หลังจากดำเนินชีวิตคาทอลิกช่วงเวลาหนึ่ง มาร์ตินก็เดินทางไปพบสังฆราชฮิลารีแห่ง
Poitiers ซึ่งเป็นนักเทววิทยาที่มีชื่อเสียง และภายหลังได้รับประกาศเป็นนักบุญด้วย
สังฆราชฮิลารีประทับใจในการอุทิศตนต่อความเชื่อของมาร์ตินและเชื้อเชิญเขาไปที่
สังฆมณฑลของท่าน มาร์ตินขอเดินทางไปเยี่ยมบิดามารดาที่ฮังการีก่อน ที่นั่น เขาได้
โน้มน้าวมารดาให้รับศีลล้างบาปเป็นคาทอลิก

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนั้น สังฆราชฮิลารีได้ก่อความโกรธแค้นให้กับพวก Arians
ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิเสธว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า ส่งผลให้ท่านถูกขับไล่ ดังนั้นมาร์ตินไม่สามารถ
เข้าสังฆมณฑลของท่านสังฆราชดังตั้งใจได้ เขาจึงหาสถานที่ดำเนินชีวิตบำเพ็ญพรตอย่าง
เข้มงวดจนเกือบเสียชีวิต ที่สุด ทั้งสองคนได้พบกันในปี ๓๖๐ เมื่อสังฆราชฮิลารีสามารถ
กลับคืนสู่สังฆมณฑล Poitiers ของท่าน

สังฆราชฮิลารีอนุญาตให้มาร์ตินตั้งอารามนักพรตแห่งแรกในอาณาจักร Gaul ในช่วงเวลา
สิบปีแห่งชีวิตฤษีมาร์ตินมีชื่อเสียงจากการเรียกผู้ตายสองคนให้กลับคืนชีพโดยคำภาวนา
ของเขา ประจักษ์พยานความศักดิ์สิทธิ์นี้ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชคนที่ ๓
แห่งตูรส์ซึ่งอยู่ตอนกลางของฝรั่งเศสในปัจจุบัน

แต่มาร์ตินไม่อยากเป็นสังฆราช บรรดาผู้ต้องการให้ท่านเป็นผู้นำศาสนจักรท้องถิ่นถึงกับ
ต้องใช้กลวิธีหลอกล่อท่านออกจากอาราม เมื่อรับตำแหน่ง มาร์ตินยังคงดำเนินชีวิตเยี่ยงฤษี
ท่านสวมใส่ชุดธรรมดาและไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติ ท่านเดินทางไปทั่วสังฆมณฑล
ซึ่งท่านกล่าวว่าเพื่อขับไล่การถือปฏิบัติผิดๆ ของคนต่างศาสนา

เมื่ออายุมากขึ้น มาร์ตินยังดำเนินชีวิตเคร่งครัด ท่านใส่ใจกับการดูแลวิญญาณของสัตบุรุษ
นักบุญซัลพิซิอุส เซเวรุส (Sulpicius Severus) ศิษย์และผู้เขียนประวัติชีวิตของมาร์ติน
เล่าว่าท่านช่วยเหลือทุกคนที่มีปัญหา ไม่ว่าจะด้านศีลธรรม สติปัญญา และชีวิตฝ่ายจิต
ท่านยังช่วยฆราวาสจำนวนมากเข้าสู่กระแสเรียกชีวิตนักบวช

มาร์ตินรู้ล่วงหน้าถึงการตายของตนและบอกพวกศิษย์ แต่เมื่อการเจ็บป่วยสุดท้ายมาถึง
ระหว่างเดินทางทำงานอภิบาล ท่านก็ไม่แน่ใจที่จะต้องทอดทิ้งพวกเขา ท่านสวดภาวนาว่า
"พระเจ้าข้าถ้าหากข้าพเจ้ายังเป็นที่ต้องการสำหรับประชากรของพระองค์ ข้าพเจ้าไม่ขอ
ปฏิเสธภารกิจ ขอให้พระประสงค์ของพระองค์จงสำเร็จไป"

มาร์ตินมีไข้แต่ไม่หลับพักผ่อน ท่านใช้เวลาเจ็ดคืนสุดท้ายของชีวิตด้วยการสวดภาวนา
ในการประทับอยู่ของพระเจ้า

"พี่น้องของข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้มองสู่สรวงสวรรค์ยิ่งกว่าโลกนี้เพื่อวิญญาณของข้าพเจ้า
จะโบยบินถึงพระเจ้า" ท่านบอกกับบรรดาศิษย์ก่อนจะเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน ปี ๓๙๗

นักบุญมาร์ตินแห่งตูรส์เป็นนักบุญผู้เป็นที่รักยิ่งคนหนึ่งในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรยุโรป
Cr : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ พ.ย. 12, 2021 7:45 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน
นักบุญเกอทรูด ผู้ยิ่งใหญ่
St. Gertrude the Great

เกอทรูดเป็นซิสเตอร์ของอารามชีลับในยุคกลาง เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิต
ภายในตามแนวทางคณะเบเนดิกติน ชื่อจริงของเธอคือเกรทรูดแห่งเฮล์ฟตา (Helfta)
แต่เป็นรู้จักกันในนามเกอทรูดผู้ยิ่งใหญ่ เธอมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อ
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู

เกอทรูดเกิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๑๒๕๖ เธอถูกส่งเข้าอารามนักพรตหญิงที่เฮล์ฟตา
ตั้งแต่อายุ ๕ ขวบเพื่อรับการศึกษาและอบรมด้านศาสนา อารามที่มีชื่อเสียงแห่งนี้
อยู่ภายใต้การปกครองของคุณแม่อธิการิณีผู้ได้รับการยกย่องในด้านชีวิตภายใน
และสติปัญญาคือคุณแม่เกอทรูดแห่งแฮคกีบอร์น (Gertrude of Hackeborn)

เกอทรูดเป็นนักเรียนที่กระหายหาความรู้ เธอมีผลการศึกษาเป็นเลิศในด้านศิลปศาสตร์
และวิทยาศาสตร์ของยุคสมัย แต่พร้อมกันนั้น เธอก็ดำเนินชีวิตตามวินัยเคร่งครัดของ
นักบุญเบเนดิกต์

อย่างไรก็ตาม เธอเล่าว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไปในความศรัทธาส่วนตัวของเธอ ซึ่งทำ
ให้เธอทุกข์ทรมาน นั่นคือเธอสนใจต่อความรู้ทางสติปัญญาและวัฒนธรรมทางโลกเกินไป

ความเปลี่ยนแปลงมาถึงเกอทรูดในปลายปี ๑๒๘๐ เธอมีอายุ ๒๔ ปี และโดดเด่นเป็นเลิศ
ในความรู้หลายสาขา แต่กลับพบว่าความสำเร็จเหล่านี้ไร้ความหมายเมื่อเธอไตร่ตรองถึง
จุดประสงค์และความหมายแท้จริงของกระแสเรียกชีวิตในอารามนักพรตของเธอ เกอทรูด
ซึ่งกระวนกระวายและซึมเศร้ารู้สึกว่าเธอได้สร้าง "หอแห่งความฟุ้งเฟ้อว่างเปล่า" แทนที่จะ
แสวงหาความรักของพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด และดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

เดือนมกราคมของปีถัดมา เธอเห็นภาพนิมิตพระคริสต์ได้ยินพระองค์กล่าวกับเธอว่า
"เรามาเพื่อปลอบบรรเทาเธอและนำความรอดมาให้" ลำดับความสำคัญในชีวิตเธอ
เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จากการใฝ่หาความรู้ทางโลกถึงการศึกษาพระคัมภีร์และ
เทววิทยา เกอทรูดกลับอุทิศตัวเองให้การสวดภาวนาส่วนตัวและการพิศเพ่งภาวนา
เธอเริ่มเขียนบันทึก ประสบการณ์ชีวิตจิตเพื่อประโยชน์แก่ซิสเตอร์ร่วมอาราม

เกอทรูดเข้าใจถึงความรักของพระคริสต์ว่าเป็นสัจธรรมที่เป็นฐานรากและสิ่งสูงสุด
เธอถ่ายทอดสัจธรรมนี้ในหนังสือที่เขียนและพยายามดำเนินชีวิตสอดคล้องกับ
ความจริงดังกล่าว เธอสำนึกถึงความผิดพลาดที่ยังคงมีอยู่เสมอในตัวเอง แต่เธอก็
เข้าใจในความเมตตาลึกซึ้งของพระเจ้า เธอยอมรับโรคภัยและความเจ็บปวดทรมาน
ในปีท้ายๆ ของชีวิตด้วยจิตใจสงบ อุทิศเป็นพลีกรรม โดยรำลึกถึงความดีของพระเจ้า
ที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ

เกอทรูดสิ้นใจวันที่ ๑๖ พฤศจิกายนของปี ๑๓๐๑ หรือ ๑๓๐๒
หนังสือหลายเล่มที่เธอเขียนได้ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ย. 13, 2021 4:02 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน
นักบุญฟรานเชส คาบรินี
St. Frances Cabrini

ฟรานเชส คาบรินี ปรารถนาจะเป็นธรรมทูตที่ประเทศจีนตั้งแต่เยาว์วัย
แต่พระเจ้าทรงมีแผนการอื่นสำหรับเธอ

ฟรานเชสเกิดที่อิตาลี เมื่ออายุ ๑๘ ปีก็เป็นกำพร้า เธอสมัครเข้าคณะซิสเตอร์
แห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ (Sisters of the Sacred Heart) และได้รับชื่อว่า เซเวียร์
ตามชื่อนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ธรรมทูตระบือนามแห่งตะวันออกไกล

พระสันตะปาปาเลโอ ที่ ๑๓ แนะนำเธอว่า "ไม่ใช่ตะวันออกแต่จงไปตะวันตก"
เธอจึงไปทำงานธรรมทูตที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของพระสังฆราชคอร์ริแกน
แห่งนิวยอร์ก เธอเดินทางไปมาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกถึง ๓๐ ครั้งและได้ไป
ทั่วประเทศสหรัฐเพื่อก่อตั้งบ้านเด็กกำพร้า โรงพยาบาล

อารามนักบวชหญิงและโรงเรียน โดยเฉพาะสำหรับชาวอพยพอิตาเลียนที่เป็น
คนชายขอบสังคมในเวลานั้น

ฟรานเชสได้รับสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน เธอเสียชีวิตในปี ๑๙๑๗
และถูกประกาศเป็นนักบุญในปี ๑๙๔๖ ก่อนคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่จะมาสู่สหรัฐ

ฟรานเชส คาบรินีเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้อพยพ

CR. : Sinapis

13 พฤศจิกายน (31 ตุลาคม ตามปฏิทินจูเลียน) - ระลึกถึงมรณสักขีชาวจอร์เจียแสนคน

ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 มองโกลภายใต้การนำของเจงกิสข่านได้รุกรานจักรวรรดิโคเรซเมีย
(Khwarezmia) ในเอเชียกลางและอิหร่าน หลังเดือดจากกรณีที่มีผู้ว่าเมืองหนึ่งในจักรวรรดิ
สั่งประหารกองคาราวานมองโกล และคณะทูตที่มองโกลส่งมาในภายหลังถูกสั่งตัดศีรษะ
ไปคนหนึ่งโดยสุลต่านมูฮัมหมัดที่ 2

เมื่อกษัตริย์องค์ดังกล่าวสวรรคต พระราชบุตรคือเจ้าชายญะลัล อัล-ดิน (Jalal al-Din)
จึงทรงขึ้นครองราชย์ต่อ กษัตริย์องค์ใหม่พอต้านมองโกลได้ประมาณหนึ่งแต่ก็ยังไม่ไหว
อยู่ดี จนในที่สุดก็แพ้มองโกลในยุทธการแม่น้ำสินธุ ค.ศ. 1221 และต้องหนีข้ามแม่น้ำ
ไปตั้งหลักในอินเดีย

แม้ผลของสงครามเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจักรวรรดิโคเรซเมียที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรได้พ่ายแพ้
และถูกยึดครองโดยมองโกลแล้ว แต่สุลต่าน ญะลัล อัล-ดิน ยังคงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่
รวบรวมทัพสู้กับมองโกลต่อและพยายามยึดคืนดินแดนที่เสียไป

ใน ค.ศ. 1225 สุลต่านได้นำทัพขึ้นเหนือไปยังเทือกเขาคอเคซัสเพื่อบุกจอร์เจีย หลังจอร์เจีย
ไม่ยอมสยบ ทั้งนี้เนื่องจากทางราชสำนักจอร์เจียไม่เกรงกลัวสุลต่านของโคเรซเมีย เพราะ
ทราบดีว่าจักรวรรดิถูกมองโกลยึดไปแล้ว ตัวสุลต่านญะลัล อัล-ดินที่สู้กับมองโกลอยู่เรื่อย ๆ
ก็แพ้ยับกลับมาบ่อย เมื่อแพ้ขนาดนี้แล้วใครมันจะไปกลัว

ทว่า สุลต่านของอดีตจักรวรรดิยิ่งใหญ่นี้ ยังคงแข็งแกร่งเกินกว่าจอร์เจียจะรับมือไหวอยู่
หลังจากนั้นพ่ายศึกในยุทธการที่การ์นี (Battle of Garni) ได้ไม่นาน กรุงทลิบิซี (Tbilisi)
เมืองหลวงโบราณของจอร์เจียก็ถูกยึดไปในที่สุดด้วยความช่วยเหลือจากชาวมุสลิมท้องถิ่น

มีเรื่องเล่ากันว่าหลังทัพโคเรซม์ยึดทลิบีซีสำเร็จแล้ว พวกเขาทำการปล้นสะดมและข่มขืน
ผู้หญิง มีการเสนอให้ชาวจอร์เจียเปลี่ยนศาสนา บ้างว่ามีการนำเอารูปพระแม่มารีย์มาวาง
บนสะพานข้ามแม่น้ำมิทควารีในเมือง เพื่อให้ชาวจอร์เจียเหยียบและถ่มน้ำลายใส่
เป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขาทิ้งความเชื่อในพระคริสต์แล้ว (คล้ายกับเคสของญี่ปุ่นที่มีการนำ
รูปสลักนูนต่ำที่เรียกว่า "ฟุมิเอะ" มาให้คาทอลิกญี่ปุ่นเหยียบ)

เมื่อชาวจอร์เจียไม่ยอม สุลต่านจึงสั่งสังหารหมู่ชาวจอร์เจียเหล่านั้น กล่าวกันว่ามีจำนวน
เป็นแสน ศพที่ถูกฆ่าลอยเต็มแม่น้ำมิทควารีเลยทีเดียว ทางศาสนจักรจอร์เจียจึงเคารพ
พวกเขาเหล่านั้นเป็นนักบุญมรณสักขีผู้พลีชีพเพื่อศาสนา และกำหนดให้มีวันฉลอง
ในวันที่ 31 ตุลาคม (13 พฤศจิกายน ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ซึ่งจะมีการเดินขบวนระลึกถึง
มรณสักขีเหล่านั้นทุกปี บนสะพานข้ามแม่น้ำมิทควารีที่บรรพชนชาวจอร์เจียถูกสังหารหมู่

/AdminMichael

CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา - ทั้งตะวันตกและตะวันออก
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ย. 14, 2021 3:08 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน
บุญราศียอห์น ลิกชี
Blessed John Licci

ยอห์น ลิกชีเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่อายุยืนที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร
ชีวิตยาวนานถึง ๑๑๑ปีของท่านในเมืองเล็กใกล้ปาเลอร์โม เกาะซิซิลีเต็มไปด้วย
เรื่องอัศจรรย์มากมาย

มารดาเสียชีวิตในการคลอดยอห์น บิดาซึ่งเป็นชาวนายากจนและทำงานหนัก
ในไร่นาจำใจต้องทอดทิ้งทารกแรกเกิด

สตรีเพื่อนบ้านได้ยินเสียงเด็กทารกร้องไห้จึงนำกลับมาที่บ้านตัวเองและให้นม
นางวางทารกยอห์นไว้บนเตียงถัดจากสามีผู้นอนป่วยเป็นอัมพาต ปรากฏว่าเขา
หายเป็นปรกติในทันที

เมื่อเติบโตขึ้น ยอห์นได้รับคำแนะนำจากบุญราศีปีเตอร์เกเรมีอาให้ใช้ชีวิตเป็น
นักบวช เขาจึงเข้าคณะโดมินิกันในปี ๑๔๑๕ ที่สุดแล้วเขาจะเป็นนักบวชนานถึง ๙๖ ปี
นานที่สุดเท่าที่ทราบในทุกคณะนักบวช

ยอห์นรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์และตั้งอารามนักบุญ Zita ใน Caccamo บ้านเกิดของเขา
ระหว่างก่อสร้างอารามมีเรื่องอัศจรรย์มากมาย ตั้งแต่ทำเลที่สร้างจนถึงไม้คานสุดท้าย
ที่วางเข้าที่ เช่น วันหนึ่งคนงานขาดแคลนวัตถุก่อสร้างก็มีเกวียนที่ลากด้วยวัวตัวใหญ่
มาจอดหน้าสถานที่ ในเกวียนนั้นบรรทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ หรือเมื่อไม้หลังคาถูกตัด
สั้นเกินไป ยอห์นจะสวดภาวนาและไม้ก็ยืดออกมา บางวันยอห์นทวีขนมปังและเหล้าองุ่น
เพื่อเลี้ยงพวกคนงานด้วย

เมื่อยอห์นและเพื่อนสมาชิกโดมินิกัน ๒ คนถูกโจรปล้นบนถนน โจรคนหนึ่งพยายามแทงท่าน
แต่มือของเขากลับบิดงอและเป็นอัมพาต พวกแก๊งค์โจรรีบปล่อยพวกท่าน ขอร้องให้ยกโทษ
ยอห์นทำเครื่องหมายกางเขนเหนือพวกเขาและมือของโจรคนนั้นก็กลับใช้การได้

การสวดอวยพรของยอห์นทำให้กล่องบรรจุขนมปังของหญิงม่ายเพื่อนบ้านเต็มอยู่ตลอดเวลา
ช่วยให้เธอสามารถเลี้ยงดูลูกๆ 6 คนได้ ยอห์นยังช่วยป้องกันโรคร้ายไม่ให้ลามสู่ฝูงสัตว์ของ
ลูกวัด และช่วยรักษาคน ๓ คนที่ศีรษะถูกกระทบรุนแรงในอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ท่านถูกยกเป็น
นักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

ยอห์นเกิดในปี ๑๔๐๐ ท่านเสียชีวิตในปี ๑๕๑๑ ด้วยอายุขัยตามธรรมชาติ

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ พ.ย. 15, 2021 8:55 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน
นักบุญอัลเบิร์ต ผู้ยิ่งใหญ่
St. Albert the Great

นักบุญอัลเบิร์ตเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร และเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของ
นักวิทยาศาสตร์ ท่านเป็นชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๑๓ ท่านเข้าร่วม
คณะนักบวชที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ในเวลานั้นคือคณะโดมินิกัน ท่านได้รับปริญญาเอก
จากมหาวิทยาลัยปารีส และสอนเทววิทยาที่นั่น และในเมืองโคโลญจน์
เยอรมนี

อัลเบิร์ตได้ชื่อว่า "ผู้ยิ่งใหญ่" เพราะความสามารถด้านสติปัญญา ท่านเป็นนักปรัชญา
ที่ผู้คนเคารพนับถือ เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทววิทยา และอาจารย์ ท่านคุ้นเคยกับ
วัฒนธรรมของชาวอาหรับ นักเรียนคนหนึ่งของท่าน ซึ่งภายหลังได้เป็นเพื่อนและนำ
วิธีศึกษาของท่านไปปรับใช้คือโทมัส อไควนัส

ท่านเสียชีวิตในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๒๘๐

CR. : Sinapis
ตอบกลับโพส