เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ (ชุดที่7 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 01, 2022 4:14 pm

(+)ฟ้าลิขิต
ตอนที่ (1) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนธันวาคม 2006
และจาก Dartmouth Medicine Magazine, Spring 2007
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ความฝันสู่เหรียญทองโอลิมปิกของ “ลี”(Robert Seung-bok Lee) นักกีฬายิมนาสติก
ต้องสลายลงเนื่องจากอุบัติเหตุขณะฝึกซ้อมเพื่อเตรียมไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกในปี 1984
เหตุเกิดในวันที่ 4 กรกฎาคม 1983 ก่อนวันเกิดอายุครบ 18 ปีเพียง 2 วัน เขาตีลังกา 360
องศากลางอากาศ ม้วนหน้าก่อนจะใช้สองมือลงพื้นซึ่งเป็นท่าที่เคยฝึกซ้อมมาแล้วนับร้อยครั้ง
แต่ครั้งนี้ เขากระโดดสูงไม่พอ คางจึงกระแทกพื้นอย่างจังและหมดสติไป แรงกระแทกทำ
ให้กระดูกสันหลังชิ้นที่ 7 แตกและกดไขสันหลังทำให้แขนและขาทั้งสองข้างเป็นอัมพาต

ในปี 1973 พ่อแม่ของลีอพยพมาจากเกาหลีใต้ทั้งครอบครัว​ มีลูก 3 คนคือลีกับน้องชายและ
น้องสาว “พ่อแม่อยากให้พวกเรามีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ที่สหรัฐฯ กลับลำบากกว่าที่เราคิด” จากที่
เคยมีบ้านช่องใหญ่โตในกรุงโซล พวกเขาต้องเบียดกันอยู่ในห้องพักขนาด 1 ห้องนอน
ในนิวยอร์ก พ่อของลีเป็นเภสัชกรแต่ไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานด้านเภสัชในสหรัฐฯ เขาจึง
ต้องทำงานเป็นพนักงานถูพื้นในโรงพยาบาลซึ่งต้องนั่งรถไปทำงานนาน 1 ชั่วโมง ส่วนแม่
ทำงานในโรงงานผลิตเครื่องเย็บกระดาษใกล้บ้านทั้งที่เคยเป็นแต่แม่บ้านมาตลอดและ
ไม่เคยทำงานมาก่อน

ลีไม่มีพื้นภาษาอังกฤษมาก่อนจึงมีปัญหามากในสื่อสาร เขาพยายามปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ
เช่นซื้อสเกตบอร์ดและใส่เสื้อผ้ายี่ห้อเดียวกับเด็กอเมริกัน แต่ก็ยังคงรู้สึกแปลกและแตกต่าง
จากคนอื่น “ผมเหงาและโดดเดี่ยว”

ขณะชมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1976 ทางโทรทัศน์ที่บ้าน เขาประทับใจนาเดีย
โคมาเนซี (Nadia Comaneci) นักยิมนาสติกหญิงจากโรมาเนียที่ทำคะแนนเต็ม 10 ได้ถึง
7 ครั้ง และเป็นนักยิมนาสติกคนแรกที่ได้คะแนนในการแข่งขันบาร์ต่างระดับ “ผมจะเป็น
นักกีฬาเหรียญทองเหมือนเธอ ผมจะบอกพวกที่เคยดูถูกผมว่า ผมภูมิใจที่เป็นชาวเกาหลีใต้”
ลีพูดกับตัวเองนับแต่นั้น เขาแอบเข้าไปฝึกยิมนาสติกในสมาคมวายเอ็มซีเอ และเมื่อเก็บเงิน
ได้มากพอ เขาก็ได้สมัครเรียนอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นด้วยม้าหู ห่วง และบาร์คู่ จากนั้นจึง
ฝึกฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์บนสนามหญ้าของสวนพฤกษศาสตร์ตรงข้ามที่พัก

เมื่ออายุ15 ปีเขาเข้าร่วมการคัดตัวที่ศูนย์ฝึกโอลิมปิกในเมือง Allentown รัฐเพนซิลเวเนีย
พ่อขอร้องและคัดค้านด้วยน้ำเสียงโกรธเพราะเขาเป็นลูกชายคนโต จึงอยากให้ใส่ใจกับการ
เรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่อาจยับยั้งลีไว้ได้

ต้นทศวรรษ 1980 เขาชนะเลิศ 2 เหรียญทองจากการแข่งขันระดับเยาวชนในกีฬาแห่งชาติ
ของสหรัฐฯ ขณะได้รับอุบัติเหตุร้ายแรง ลียังถือสัญชาติเกาหลีใต้และติดโผรายชื่อนักกีฬา
ทีมชาติสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกปี 1984 ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ

หลายชั่วโมงหลังอุบัติเหตุ ครอบครัวเขามาเยี่ยมที่โรงพยาบาล แม่กับน้องสาวร้องไห้ พ่อมอง
ลีด้วยสีหน้าที่เขาไม่มีวันลืมและกล่าวว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นเพราะลูกไม่เชื่อฟังคำเตือนของพ่อ”

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 02, 2022 12:57 pm

(+)ฟ้าลิขิต
ตอนที่ (2)(ตอนจบ) จากหนังสือสรรสาระ​ฉบับเดือนธันวาคม 2006
และจาก Dartmouth Medicine Magazine, Spring 2007
ย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังเกิดอุบัติเหตุ 3 เดือน สิ่งที่ทำให้เขาเสียใจที่สุดคือ หมอไม่เคยพูดเลยว่า อาการ
เขาจะเป็นอย่างไรต่อไป “หมอได้แต่หลีกเลี่ยง พูดคุยกันเองด้วยภาษาหมอ แล้วก็เดิน
ออกไป” ลีจำเรื่องนี้ได้แม่น “ผมรู้สึกเหมือนเป็นแค่หนูทดลอง” ความโกรธและคับข้อง
ใจผลักดันให้เขาเริ่มสนใจเรื่องการแพทย์ “ผมตั้งใจว่า สักวันผมจะเป็นแพทย์ที่เอาใจใส่
และให้กำลังใจผู้ป่วย”

เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว เขาเป็นอัมพาตบริเวณแขนและขาทั้งสองข้าง
“ชีวิตผมดูเหมือนจะดับวูบไปแล้ว”

ปีถัดมา เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ฝึกกายภาพบำบัดที่สถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูในนครนิวยอร์ก
หลังฝึกกายภาพอย่างหนัก แขนขาเคลื่อนไหวได้เพียงเล็กน้อย ลีฝึกเขียนด้วยอุปกรณ์พิเศษ
ยึดติดกับมือเพื่อช่วยจับปากกา นักกายภาพช่วยเขาฝึกการใช้ชีวิตบนท้องถนนในนครนิวยอร์ก
ขึ้นลงรถประจำทางและช่วยนำทางฝ่าฝูงชน เป้าหมายสุดท้ายคือให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้

ฤดูร้อนปีนั้น เขานั่งเก้าอี้รถเข็นชมการถ่ายทอดโอลิมปิก 1984 ทางโทรทัศน์ที่บ้านพ่อ
“พ่อไม่เคยเอ่ยปากถึงความผิดหวัง แต่ผมรู้สึกได้ ผมอยากประสบความสำเร็จในชีวิตสักด้าน
เพื่อลบล้างความรู้สึกผิดหวังในใจพ่อ”

ปลายปีนั้น ลีสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขาปรับตัวได้ดีกับชีวิตนักศึกษาแม้จะ
มีอุปสรรคบ้าง เช่นครั้งหนึ่งเขาตกรถเข็นขณะจะขึ้นรถประจำทาง “ผู้โดยสารคนอื่นตกใจแ
ทบแย่ แต่ผมยังแข็งแรงอยู่ เรื่องแค่นี้ไม่ทำให้ผมท้อหรอก”

เรื่องที่ทำให้ลีท้อคือเมื่อเรียนถึงปีสุดท้าย เขาทำเรื่องขอเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ แต่คณบดี
ปฏิเสธโดยถามว่า “ถ้าต้องนั่งรถเข็นแล้วคุณจะเรียนหมอได้อย่างไร” เขาจึงยอมถอยและเปลี่ยนใจ
ไปเรียนปริญญาโทด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อย่างไรก็ตามในปี 1993 ลีสมัครเ
รียนแพทย์อีกครั้งหนึ่งและได้รับการตอบรับจากวิทยาลัยแพทย์ดาร์ตมัท (Dartmouth)
เขาเป็นนักศึกษาแพทย์บนเก้าอี้รถเข็นคนแรก

ขณะนั้นพ่อแม่ของลีกลับไปเกาหลีใต้ตั้งแต่ราวปี 1985 และไม่ได้มาร่วมงานรับปริญญาแพทย
ศาสตร์ของลีเมื่อปี 2001 “นี่เป็นเรื่องที่ผมผิดหวังมากที่สุดในชีวิตเรื่องหนึ่ง” ลีกล่าว
“ผมมุมานะอย่างหนักเพื่อให้มีวันนี้”

เขาทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดของวิทยาลัยแพทย์
จอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) แพทย์หัวหน้าหน่วยกล่าวว่า
“ลีสร้างความหวังและกำลังใจให้กับผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บได้ดีกว่าแพทย์ทุกคน”

ลีจบการอบรมในปี 2005 หรือกว่า 20 ปีหลังได้รับอุบัติเหตุ มีผู้ติดต่อขอตัวเขาไปทำงาน
จากทั่วประเทศ ลีเลือกทำงานที่สถาบันเคนเนดี ครีเกอร์ในเมืองบัลติมอร์ซึ่งเป็นศูนย์รักษา
ภาวะไขสันหลังบาดเจ็บแห่งใหม่ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีระดับสุดยอด

ลีได้รับสัญชาติอเมริกันตั้งแต่ปี 1984 ช่วงที่เขียนเรื่องนี้​ ลีอาศัยอยู่ตามลำพังในห้องเช่าขนาด
2 ห้องนอนที่บัลติมอร์ ทุกเช้าเขาขับรถไปทำงานด้วยตัวเอง รถยนต์ของเขาติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ
ที่ใช้มือควบคุมเพียงอย่างเดียวและมีทางลาดอัตโนมัติสำหรับเก้าอี้รถเข็น

ทุกสัปดาห์ลีต้องวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยนับสิบราย “เขาเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยได้
อย่างแท้จริง ผู้ป่วยวางใจและปรึกษาเขาได้ทุกเรื่องแม้แต่เรื่องที่ไม่กล้าถามใคร เช่นปัญหาการ
ถ่ายปัสสาวะหรือกิจกรรมทางเพศ” แพทย์หญิงคริสตินา หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าว

“ทุกวันนี้ ผมรู้สึกเสมอว่าใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้ว” เขาหวังว่าสักวันจะกลับไปเกาหลีใต้เพื่อช่วยเหลือ
ผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บที่บ้านเกิด

เดือนมกราคม 2006 พ่อแม่ลีเดินทางมาจากเกาหลีใต้เพื่อร่วมการประชุมซึ่งเขาเป็นผู้บรรยาย
คืนนั้น พ่อเอ่ยคำที่ลีเฝ้ารอมานานแสนนาน “พ่อภูมิใจในตัวลูกมาก”

เดือนพฤษภาคม 2006 ขณะที่ลีปฏิบัติงานในศูนย์เคนเนดี ครีเกอร์ มีเด็กชายวัย 5 ขวบนั่งเก้าอี้
รถเข็นไฟฟ้าชี้มาที่เขา แม่ของเด็กบอกว่าผู้ชายคนนั้นเป็นหมอ เด็กน้อยตะโกนลั่นด้วยน้ำเสียงดีใจ
“ดูสิแม่ หมอคนนั้นเดินไม่ได้เหมือนผมเลย” หมอลีเลื่อนรถเข็นเข้าไปใกล้และกอดเด็กน้อย
ไว้เต็มอ้อมแขน

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 03, 2022 1:58 pm

👶ทารกริมฝั่งน้ำ โดย เจ้าเฟงชิน
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006 เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันที่ 3 พฤษภาคม 1990 ‘อาหง’ภรรยาของ’อาเจียง’ซึ่งเป็นน้องชายฉัน (เจ้าเฟงชิน)
คลอด ’เถียนเถียน’ อย่างยากลำบากหลังปวดท้องคลอดอยู่นานถึง 5 ชั่วโมง ‘เถียนเถียน’
ที่แปลว่า ’อ่อนหวาน’ เป็นชื่อที่ครอบครัวเราตั้งไว้ตั้งแต่เถียนเถียนยังอยู่ในครรภ์แม่

ขณะที่คอยอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองเหลียวหยาง เมืองที่เราอยู่ตอนนั้น ความสุขของเรา
กลายเป็นความเศร้าเมื่อหมอทำคลอดบอกว่า ไม่พบสัญญาณชีพของเถียนเถียน
ไม่มีลมหายใจและหัวใจก็ไม่เต้น หมอจึงประกาศว่าทารกเสียชีวิตแล้ว

หมอแนะนำอาเจียงให้บริจาคร่างทารกให้กับเจ้าหน้าที่จัดหาซากศพให้กับนักวิชาการแพทย์
เพื่อการศึกษา แต่อาเจียงน้องชายฉันนึกถึงภาพของเถียนเถียนที่จะถูกหั่นเป็นชิ้น ๆ เหมือน
ก้อนเนื้อในร้านขายเนื้อจึงตอบปฏิเสธไป

อาเจียงพ่อของทารกตัดสินใจนำร่างไปวางทิ้งไว้ที่ริมแม่น้ำไท่ซี (太四河)ที่ไหลผ่านเมือง
เหลียวหยาง (辽阳市) ซึ่งครอบครัวคนจีนยากจนถือว่าเป็นการกระทำที่จะช่วยให้วิญญาณ
ของทารกไปสู่โลกที่ดีกว่า เราตั้งใจว่าจะนำชิ้นส่วนที่เหลือของเถียนเถียนไปเผา
และอุทิศส่วนกุศลให้ในภายหลัง

อาเจียงห่อร่างทารกในผ้านวมลายดอกสีแดงแล้วซ้อนท้ายจักรยานของพี่ชาย อาเจียงน้ำตาไหล
ขณะบรรจงวางร่างของทารกบนผืนหญ้าริมฝั่งแม่น้ำ โรยดอกไม้สีขาวบนตัวทารกและวางขวดนม
กับถุงนมผงสำหรับเด็กทารกไว้ข้างตัวเธอ

สัปดาห์ต่อมา ตอนบ่ายแก่ ๆ ฉันกำลังเดินกลับบ้านหลังเลิกงานที่บริษัทน้ำมันในเมือง ระหว่างทาง
ฉันได้ยินเสียงผู้หญิงกลุ่มหนึ่งคุยกันถึงเรื่องเพื่อนคนหนึ่ง เธอบอกว่าขณะเดินใกล้แม่น้ำได้ยินเสียง
คนเลี้ยงวัวพูดขึ้นว่า ได้ยินเสียงเด็กร้อง เธอเองก็ได้ยินเหมือนกันแต่ไม่แน่ใจนัก​ เพราะแถวนั้นไม่มี
ผู้คนอาศัยอยู่และเสียงดูเหมือนจะมาจากริมฝั่งน้ำ

ฉันสังหรณ์ใจว่าพวกเธอกำลังคุยกันเรื่องของเถียนเถียนแน่ จึงพยายามระงับความตื่นเต้นและถามว่า
เกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนั้น ก็ได้คำตอบว่า ทารกคงถูกนำตัวไปบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าในเมืองแล้ว

ฉันรีบวิ่งไปที่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากที่นั่น เป็นอาคารทึม ๆ
“มีใครพบเด็กทารกหญิงที่กอหญ้าริมแม่น้ำหรือเปล่า” ฉันถามสตรีวัยเยาว์ที่โต๊ะด้านหน้า หัวใจฉัน
เต้นแรงขณะพยายามกลั้นความร้อนใจที่จะได้พบทารกน้อย

เธอผู้นั้นพยักหน้าอย่างไม่แยแสนักไปทางห้องที่อยู่ถัดไป มีเสียงของทารกหลายคนดังเซ็งแซ่ออกมา
ฉันไม่รอคำอนุญาตจากเธอ แต่ก้าวเข้าไปในห้องซึ่งเต็มไปด้วยเตียงเด็ก หนึ่งในนั้น ฉันเห็นผ้านวม
ลายดอกสีแดงที่น้องชายใช้ห่อร่างลูกสาว

ฉันรุดไปที่เตียงที่เถียนเถียนนอนอยู่ ร่างเปื้อนดินแต่ยังมีชีวิตอยู่ ฉันเริ่มสะอื้น “หลานเอ๊ย น่าสงสารจริง”
ฉันคร่ำครวญซ้ำไปมา จากนั้นก็พยายามสงบสติอารมณ์และเดินไปหาพยาบาลที่กำลังปฏิบัติงาน
อยู่ใกล้ ๆ บอกเธอว่า “ทารกคนนั้นเป็นลูกสาวของน้องชายฉัน หมอบอกเราว่าทารกเสียชีวิตตั้งแต่แรก
เกิด แต่คุณเห็นแล้วว่า ทารกยังไม่ตาย”

เจ้าหน้าที่ที่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าและตำรวจต่างเห็นใจเมื่อได้ยินเรื่องที่ฉันเล่า ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาจัดการ
ปัญหาขั้นตอนที่ยุ่งยากของระบบราชการได้อย่างไร แต่พวกเขาก็ทำได้และฉันได้รับอนุญาต
ให้พาเถียนเถียนกลับบ้านในเย็นวันนั้น

ฉันโทรศัพท์ไปหาอาเจียงและบอกเขาว่าเถียนเถียนยังมีชีวิตอยู่ เขากับพี่เขยคนหนึ่งเดินกลับบ้าน
พร้อมฉันขณะที่ฉันอุ้มหลานเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตรไปยังบ้านแม่ เมื่อถึงบ้าน ทุกคนแห่กันมา
ห้อมล้อม หัวเราะและร้องไห้ พยายามเข้ามาขอดูหน้าเถียนเถียน ทารกมหัศจรรย์

หลายเดือนต่อมา เราเริ่มตระหนักว่า เถียนเถียนพิการทางสมองอย่างรุนแรง เธอส่งเสียงสื่อสาร
ไม่ได้เหมือนเด็กวัยเดียวกัน เธอมีปัญหาในการกิน หมอไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเถียนเถียน
จึงอยู่ในสภาวะที่เหมือนเสียชีวิตแล้วระหว่างการคลอดที่มีปัญหา แต่ตอนนี้สิ่งที่ปรากฏชัดคือ
สภาพขาดออกซิเจนก่อความเสียหายแก่สมองน้อย ๆ จนไม่อาจแก้ไขได้

อาเจียงกับอาหงรับไม่ได้กับความคิดที่มีลูก“ไม่ปกติ” ดังนั้น แม่กับฉันและพี่สาวอีก 2 คนจึง
รับภาระเลี้ยงดูเธอ ตอนแรกเพื่อนบ้านแนะให้เรานำเถียนเถียนไปคืนบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า
แต่เราเมินเฉยกับข้อเสนอนี้ เราเสียหลานไปครั้งหนึ่งแล้ว และเราจะไม่ยอมทิ้งเธอไปอีก

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เถียนเถียนเข้าเรียนในชั้นเรียนสำหรับเด็กพิเศษ เธอพูดไม่ชัด แต่ก็เรียนรู้
ที่จะสื่อสารกับพวกเราด้วยวิธีพิเศษของเธอเอง เธอยังเรียนรู้อักษรจีนราว 400 ตัว

เถียนเถียนยังอยู่กับแม่ฉัน และเมื่อวันเวลาผ่านไป เราหวังว่าเธอจะรับหน้าที่ช่วยดูแลคุณย่าได้
จะว่าไปแล้วเธอดูแลพวกเราทุกคน เพราะทุกครั้งที่เธอเห็นว่าใครต้องการความช่วยเหลือ
เธอจะเข้าไปช่วยโดยไม่ต้องให้เอ่ยปาก นิสัยอบอุ่นและโอบอ้อมอารีทำให้เธอเป็นที่รักของทุกคน
ที่รู้จัก ฉันนึกขอบคุณที่บังเอิญได้ยินเสียงสนทนาของชาวบ้าน
จนทำให้ได้หนูน้อยล้ำค่าที่”อ่อนหวาน”ของเราคืนมา

******************
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 05, 2022 9:38 pm

🎯จารชนพลังจิต ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006 และ “Reading the Enemy’s Mind”
โดย Paul H. Smith เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผม (‘พอล สมิธ : Paul Smith) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการศึกษาตะวันออกกลาง
ในปี 1976 จาก BYU (Brigham Young University รัฐ Utah); ปริญญาโทด้านข่าวกรอง
เชิงกลยุทธ์โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง

ผมหลงใหลการทำงานของทหารมาตลอดชีวิต ตอนเป็นนักเรียนผมชอบวาดรูปรถถัง
(เครื่องบิน)เครื่องบินและเรือรบ ผม​ฝันอยากมีโอกาสผจญภัยกับการสืบราชการลับ
แบบเจมส์บอนด์ ภรรยาผมแนะว่าผมควรรับราชการในกองทัพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว
ในปี 1983 ผมรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองใกล้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมี
บ้านพักแบบทาวน์เฮาส์ร่วมกับนายทหารสัญญาบัตรคนอื่น ๆ

วันหนึ่ง ขณะที่เราทำอาหารกินร่วมกันในสวนหลังบ้าน ผมถามทอมกับเฟรดเพื่อนบ้านว่า
พวกเขาทำงานอะไร ทอมตอบว่า “ผมเป็นสายลับ” ผมมองหน้าเขาโดยคิดว่าเขาจะอธิบาย
เพิ่มเติม แต่เขาพูดสั้น ๆ ต่อว่า “ขอโทษ ถ้าผมบอกคุณมากกว่านี้ ผมต้องฆ่าคุณ”

หลังจากนั้นไม่นาน ทอมถามว่าผมสนใจจะทำงานแบบเขาไหม พอผมตอบว่าสนใจ เขาก็
บอกว่าผมน่าจะลองผ่านการทดสอบเพื่อเข้าร่วมโครงการลับ เพราะเขาทราบว่าผมทำงาน
ด้านข่าวกรองให้กองทัพบกมาแล้วและรู้หลายภาษา ผมตอบตกลงทันที

ตอนนั้นผมทำงานในหน่วยปฏิบัติการของกองทัพบกมาหลายปีแล้ว ผมมีหน้าที่อ่าน วิเคราะห์
และจัดเตรียมข้อมูลที่ได้จากสายลับของสหรัฐฯที่ประจำอยู่ต่างประเทศ เขียนรายงานและ
จัดส่งไปให้หน่วยข่าวกรองต่าง ๆ ในสหรัฐฯที่ขอมา

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ทอมทำอยู่เกี่ยวกับการใช้พลังจิตซึ่งผมสนใจมาก ทอมจัดให้ผมรับ
การทดสอบกับนักจิตวิทยาด้านความมั่นคงและข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ และสัปดาห์ต่อมา
ทอมโทรศัพท์แจ้งผมว่า “คุณผ่านการทดสอบ วันศุกร์หน้าจะเรียกเข้ามาคุยอีกครั้ง”

ผมไปตามนัดและเข้าไปในอาคารที่เคยเป็นศูนย์ฝึกของกองพันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
พอผมนั่งลงที่โต๊ะไม้ตรงข้ามกับทอม เขาก็เลื่อนกระดาษแผ่นหนึ่ง บนหัวกระดาษเขียนว่า
“หลักการปฏิบัติงานในโครงการเพื่อการรักษาความลับ” แล้วทอมก็พูดขึ้นว่า
“ก่อนที่ผมจะพูดต่อ คุณต้องเซ็นชื่อลงในเอกสารนี้เพื่อยืนยันว่าในอนาคต คุณจะไม่เปิด
เผยรายละเอียดของโครงการนี้”

ผมเซ็นชื่อพร้อมกับลงวันที่ด้วย จากนั้นทอมก็พูดต่อไปว่า “ภารกิจของเราคือการเป็น
จารชนพลังจิตด้วยการสืบหาข่าวกรองของกองกำลังต่างชาติโดยการเพ่งมองด้วยกระแสจิต”
นับว่าเป็นสายงานใหม่จริง ๆ
“ผมจะเริ่มงานได้เมื่อไหร่” ผมถาม

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 05, 2022 9:42 pm

🎯จารชนพลังจิต ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006
และ “Reading the Enemy’s Mind” โดย Paul H. Smith
เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ระหว่างเตรียมการย้ายงานผมไปประจำโครงการที่เรียกว่า “Center Lane” เฟรดซึ่งเป็น
หัวหน้าโครงการที่นั่นมอบหมายให้ผมอ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการเพ่งมองด้วย
กระแสจิตซึ่งมีนักฟิสิกส์ร่วมบุกเบิกหลายคน โดยเฉพาะ ‘ฮัล พุทออฟ’ (Hal Puttoff)
ที่ทำงานร่วมกับ ‘อิงโก สวอน’ (Ingo Swann) ผู้ศึกษาด้านพลังจิตด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น
ทศวรรษ 1970 พวกเขาทดลองด้านพลังจิตและประสบความสำเร็จด้วยดี จนเจ้าหน้าที่
ซีไอเอพอใจมากและอนุมัติเงินทุนสนับสนุนการวิจัยของพุทออฟกับทีมงาน

เทคนิคที่ได้ผลที่สุดและน่าจะนำมาใช้กับซีไอเอที่สุดคือ การบอกให้บุคคลที่มีพลังจิต
ทราบพิกัดทางภูมิศาสตร์ของเป้าหมายโดยไม่ชี้ชัดว่าเป็นสถานที่ใด จากนั้นก็ให้
บุคคลนั้นใช้พลังจิต “ไปเยี่ยมเยือน”สถานที่นั้น และนำข้อมูลที่ได้มารวมกัน

ในการทดลองครั้งหนึ่ง ซีไอเอให้เบาะแสว่าเป็นสถานที่มีต้นไม้ล้อมรอบบนเนินเขา
ในรัฐเวอร์จิเนียตะวันตกใกล้กระท่อมพักตากอากาศ ทุกคนที่ร่วมการทดลองไม่มีผู้ใด
ทราบเลยว่ามีหน่วยปฏิบัติการใต้ดินของหน่วยงานด้านความปลอดภัยแห่งชาติตั้งอยู่ห่าง
จากพิกัดที่ให้นั้นไม่กี่กิโลเมตร

“ไม่เห็นมีอะไรเลย” สวอนกล่าว

ฮัล พุทออฟ จึงให้สวอนดูไปรอบ ๆ

“ผมเห็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากพิกัดนั้น​ ผมรู้สึกว่ามีสนามหญ้าที่ได้รับการดูแลอย่างดี
ทำให้ผมนึกถึงที่ตั้งของฐานทัพ” สวอนกล่าว “รู้สึกจะมีการปฏิบัติงานใต้ดินอยู่ในบริเวณนั้นด้วย
น่าจะเป็นฐานยิงจรวด” ขณะที่สวอนพูดต่อ เขาก็ร่างภาพสิ่งที่เขารู้สึกออกมาด้วย

“สิ่งที่สวอนบรรยายไม่เพียงแต่ถูกต้องทั้งหมดเท่านั้น” พุทออฟกับเพื่อนอีกคนเขียนในหนังสือ
“หยั่งรู้ด้วยจิต” (Mind-Reach) ในปี 1977 “แม้แต่สัดส่วนของระยะห่างในแผนที่ก็สอดคล้อง
กับของจริงด้วย” และเรียกกระบวนการนี้ว่า “การเพ่งมองด้วยพลังจิต” ผลการทดลองดูเหมือน
จะไม่มีวัสดุใดหลุดรอดจากสายตาของจารชนพลังจิตไปได้ แม้วิธีการนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ
จากแวดวงวิทยาศาสตร์ก็ตาม บางคนบอกว่า ในจักรวาลนี้มี “แหล่งกำเนิด”(Matrix)
ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทุกอย่างในจักรวาล

แม้ว่ากองทัพและรัฐบาลต่างคลางแคลงใจ แต่โครงการ “Center Lane”ก็ยังดำเนินงานอยู่
เมื่อผมเข้าร่วมในปี 1983

หลังจากเข้าทำงานได้ไม่นาน ในเดือนกันยายน 1983 เฟรดบอกผมว่า วันรุ่งขึ้นจะฝึกผม
โดยให้ ‘ทอมกับชาร์ลีน’ออกไปข้างนอกโดยไม่บอกผมว่าไปที่ไหน ตัวเขาจะเป็นคนควบคุม
แล้วให้ผมเพ่งมองด้วยกระแสจิตและบรรยายสภาพเเวดล้อมขณะที่ทั้งสองออกไปข้างนอก

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 06, 2022 3:48 pm

🎯จารชนพลังจิต ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006
และ “Reading the Enemy’s Mind” โดย Paul H. Smith เรียบเรียง
และย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมกับเฟรดเดินเข้าในสนามประลอง ซึ่งความจริงคือคือห้องสีเทา

“เอาละ พอล นั่งลงแล้วทำใจให้สบาย” เฟรดพูดเป็นเชิงปลอบขณะที่ติดไมโครโฟน
ไว้ที่เสื้อเชิ้ตของผม แล้วเฟรดก็พูดใส่ไมโครโฟนของตัวเองระบุวันเวลา สถานที่
และชื่อผม ต่อไปนี้ทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้อย่างครบถ้วน

“เราจะเริ่มกันเลยนะ” เฟรดพูด “พอล ช่วยบรรยายอย่างละเอียดสิว่า
ตอนนี้ทอมกับชาร์ลีน อยู่ที่ไหน”

ผ่านไป 2-3 อึดใจ ผมรู้สึกตาพร่ามัว “มีห้อง ๆ หนึ่ง” ผมเริ่มบรรยาย “ผนังห้องตกแต่งด้วย
ก้อนกรวดสีเหลือง ๆ เกือบขาว มี(หน้าต่าง)หน้าต่างบานหนึ่งซึ่งที่จริงไม่ใช่หน้าต่าง
แต่มีไว้เพื่อหลอกตา

ด้านหลังมีสิ่งของเล็ก ๆ เรียงรายเป็นแนวหลายแถว” ผมกล่าว “รู้สึกว่าจะมีโต๊ะ 2-3 ตัว
กับเก้าอี้ เห็นแล้วผมนึกถึงภัตตาคารแต่ไม่ใหญ่ขนาดนั้น”

ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา เรากลับไปที่สำนักงานใหญ่ ขณะที่ทอมกับชาร์ลีนมาถึงพอดี
พวกเขาถือกล่องโดนัทมาด้วย เฟรดเอาโน้ตและภาพร่างของผมให้สองคนนี้ดู
“เอาละ เราจะประเมินผลงานของคุณกัน” ชาร์ลีนบอก

เราทั้งสี่คนนั่งอัดกันอยู่ในรถซึ่งแล่นไปได้พักหนึ่งก็หยุดบนถนนโรยกรวด เบื้องหน้า
คือหอเก็บน้ำมหึมาทาสีน้ำเงิน สภาพแตกต่างจากที่สิ่งที่ผมบรรยายไว้โดยสิ้นเชิง
ผมล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่มีใครปริปากพูดอะไรตอนเราเริ่มขับรถกลับ ทันใดนั้น เมื่อมอง
ออกไปนอกหน้าต่างรถ ผมก็สังเกตเห็นร้านเล็ก ๆ ตรงริมถนน

“รอเดี๋ยว” ผมบอก “นั่นอะไร”

“อ๋อ ร้านที่เราแวะซื้อโดนัทไง” ทอมตอบ

“เข้าไปดูหน่อยเถอะ” ผมยืนกราน เมื่อเดินเข้าไปในร้าน ผมสังเกตเห็นเคาน์เตอร์ที่มี
หน้าต่างสำหรับโชว์โดนัทเรียงกันเป็นแถว มีโต๊ะขนาด 2 ที่นั่งกับเก้าอี้อยู่ด้วย ผนังร้าน
ตกแต่งด้วยก้อนกรวดสีเหลืองซีด นี่คือสถานที่ที่ผมบรรยายไว้ค่อนข้างชัดเจน

“ขอโทษนะ ตรงนี้ไม่นับ” เฟรดชิงพูดก่อนที่ผมจะเปิดปากพูด “คุณบรรยายไว้ไม่ตรง
เป้าหมายที่เราต้องการ เมื่อไม่ตรงเป้าก็ไม่มีความหมาย ต่อไปคุณต้องบรรยายให้ถูก
ในเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ใช่สถานที่ทอมกับชาร์ลีนแวะซื้อโดนัทหลังเสร็จงาน”

อย่างไรก็ตาม ผมพิสูจน์แล้วว่า ตัวเองมีความสามารถด้านพลังจิตพอสมควร ประสบการณ์
ครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

ช่วงสองปีต่อมา ผมกับเพื่อนร่วมงานใน Center Lane ฝึกอย่างหนัก ส่วนใหญ่ผู้ฝึกคือ
พุทออฟกับสวอน และที่สุดพวกเราก็ได้เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 1985

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 07, 2022 10:40 pm

🎯จารชนพลังจิต ตอนที่ (4)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006
และ “Reading the Enemy’s Mind” โดย Paul H. Smith
เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

งานแรกที่ปฏิบัติเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่สายสืบขององค์กรปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ
ชื่อ ‘คามาเรนา’ ถูกลักพาตัวจากที่จอดรถในเมืองกัวดาลาฮารา (Guadalajara)
ประเทศเม็กซิโก ขณะที่ไปกินอาการกลางวันกับภรรยา คามาเรนาเป็นสายสืบที่แฝงตัว
ในหมู่คนร้ายในเมืองนี้มาร่วม 10 ปีแล้ว เชื่อกันว่ามีตำรวจ 1 หรือ 2 คนหักหลังให้ข้อมูล
แก่พวกโจรลักพาตัว เมื่อการสืบหาตัวด้วยวิธีปกติไม่ได้ผล เจ้าหน้าที่ของหน่วยปราบปราม
ยาเสพติดฯจึงติดต่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานของเรา

เฟรดทำหน้าที่ควบคุมการทำงานชิ้นนี้ เมื่อถึงหน้าที่ของผม ผมใช้กระแสจิตร่างภาพตึก 2 ชั้น
ออกมาหนึ่งหลัง ผมรู้สึกว่าเห็นภาพของทุ่งโล่งที่แห้งแล้ง บอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร จะว่ากลัวก็
ไม่เชิง

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ข่าวภาคค่ำก็เผยให้เราทราบว่า ข้อมูลที่ได้นั้นใกล้เคียงกับความจริง
เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่าคามาเรนาถูกทรมานและถูกสังหาร โทรทัศน์แพร่ภาพบ้านซึ่งเป็นสถานที่
กังขัง ภาพที่เห็นตรงกับภาพร่างของผมไม่มีผิด ผมเสียใจมากที่บุคคลซึ่งเราพยายามสืบหา
อย่างเต็มที่ต้องพบกับจุดจบอย่างน่าอนาถ

ข้อเสียอย่างหนึ่งของงานนี้คือ เราไม่ค่อยได้รับทราบว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นถูกต้องหรือมีประโยชน์
เพียงใด แต่บางครั้งก็ทราบเหมือนกันเมื่อเวลาผ่านไปแล้วหลายปี เช่น เดือนมิถุนายน 1987
เราได้รับการร้องให้ตรวจสอบสายลับสองหน้า​ ที่แฝงตัวอยู่ในซีไอเอว่าเป็นใคร เราทั้งสี่
ร่วมกันทำงานนี้

เราบรรยายว่า เห็นผู้บริหารชายวัยกลางคนเครียดกับปัญหาที่รุมเร้ารอบตัวกับผู้หญิงสวย
แต่ท่าทางลึกลับ เรารู้สึกว่าสองคนนี้อาจมีสัมพันธภาพในทางชู้สาว ผู้หญิงคนนี้อาจเป็นชาว
โคลัมเบีย และมีรายละเอียดอื่น ๆ อีก เช่นผู้ชายอาศัยอยู่ในบ้านหรูหราชานเมืองกรุงวอชิงตัน
ดี.ซี.เขาขับรถหรูหราจากต่างประเทศสีเทา ฯลฯ

เมื่อ ‘อาเมส’ เจ้าหน้าที่ซีไอเอถูกจับในอีก 7 ปีต่อมาพร้อมกับภรรยาชาวโคลัมเบีย เราจึงทราบว่า
รายละเอียดที่เราบรรยายไปนั้นถูกต้องทุกประการ ภรรยาเขาไม่พอใจกับรายได้ของสามีที่ทำงาน
ให้ซีไอเอ จึงกดดันให้สามีหารายได้เพิ่มด้วยการขายความลับให้เคจีบี

อาเมสถูกจับกุมขณะขับรถจากัวร์สีน้ำตาลเข้มกำลังมุ่งหน้าไปที่สำนักงานใหญ่ซีไอเอ
(แต่ขณะที่เราเพ่งมองด้วยกระแสจิตในปี 1987 นั้น เขาใช้รถสีเทา) ขณะเดียวกัน ภรรยาของเขา
ก็ถูกจับที่บ้านซึ่งโอ่อ่าราวกับวังในเขตชานเมืองกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

กลางเดือนพฤษภาคม 1987 การปฏิบัติงานของผมในวันนั้นคือ เอ็ดให้พิกัดของสถานที่แห่งหนึ่ง,
ไม่นานจิตของผมก็ดำดิ่งสู่ห้วงภวังค์ ภาพต่าง ๆ เริ่มผุดขึ้นในสมองราวกับตกอยู่ในความฝัน
ในกระดาษผมจดคำว่า “แผ่นดิน” “น้ำ” และ “สิ่งก่อสร้าง” ผมเห็นสีเทาบ้างสีขาวบ้าง ได้ยินเสียง
โลหะกระทบกันและได้กลิ่นผักเซเลอรี่ ผมสัมผัสกับบางสิ่งที่ลื่นมัน เย็นและเปียก ผมเขียนลงไปว่า
“ต้องห้าม ถอยกลับ”ผมร่างภาพสิ่งก่อสร้างสูง ๆ ซึ่งมีหลายส่วนยื่นออกมา สร้างด้วยโลหะ
เยือกเย็น อาจเป็นอาวุธอะไรสักอย่างและดูเหมือนกำลังเคลื่อนที่ ไม่นานผมก็รู้สึกว่า สิ่งนั้นคือ
เรือพิฆาต (Frigate) ของสหรัฐฯ กำลังแล่นไปตามน่านน้ำซึ่งสองฟากเป็นพื้นทรายแบนราบและ
ร้อนจัด ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน ลูกเรือนอนหลับอยู่

ผมรู้สึกมีแสงจ้าแสบตาและเสียงดังสนั่น ผมจดบันทึกว่า “เฟี้ยว ๆๆๆ” กระบอกโลหะซึ่งมีสิ่งของ
บางอย่างติดอยู่เหมือนปีกถูกทิ้งลงไป คนที่อยู่บนเรือพากันเดินเพ่นพ่าน ท่าทางทุกคนวุ่นวาย
และสับสน

โปรดติดตามตอนที่ (5) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ม.ค. 08, 2022 1:45 pm

🎯จารชนพลังจิต ตอนที่ (5) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2006
และ “Reading the Enemy’s Mind” โดย Paul H. Smith เรียบเรียง
และย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทันใดนั้น เรือก็สั่นอย่างรุนแรง มีเสียงโลหะปะทะกันดังเปรี้ยงปร้าง ตามมาด้วยควัน
หลายคนนอนอยู่กลางซากโลหะ ผมรู้สึกว่า มีสายดับเพลิงคดเคี้ยวอยู่บนพื้นราบ
ได้ยินเสียงกรีดร้องด้วยความตกใจ ผมจดบันทึกว่า “กำลังล่มหรืออัปปาง”

เวลาผ่านไปราว 1 ชั่วโมง เอ็ดทำหน้าผิดหวังมาก “เราต้องหยุดแล้วละพอล” เขากล่าว
“ผมรู้สึกว่า วันนี้คุณไม่ค่อยมีสมาธิเลย” ข้อมูลที่ผมให้ดูเหมือนจะไม่ตรงกับส่ิงที่เขา
มองหาอยู่ ดังนั้น ขณะผมผ่อนคลายจิตใจ เราสองคนก็เดินกลับมาถึงสำนักงานใหญ่
จากนั้นผมก็เลิกงานและเก็บของกลับบ้านเพื่อหยุดพักช่วงสุดสัปดาห์

เช้าวันจันทร์โทรศัพท์ของผมดังขึ้น “พอล” บันทึกที่คุณจดไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 15 อยู่ที่ไหน”
เฟรด หัวหน้าแผนกปฏิบัติการโทรมาถาม “ผมต้องการรายงานฉบับนั้นด่วนที่สุด”

“ทำไมต้องรีบร้อนขนาดนั้นครับ” ผมถาม

“เห็นพาดหัวข่าววันนี้แล้วหรือยัง ไปหาอ่านเดี๋ยวนี้เลย”

ผมรีบหาหนังสือพิมพ์ “วอชิงตัน โพสต์” มาอ่านทันที พอคลี่ออกก็เห็นพาดหัวข่าวตัวเบ้อเร่อว่า
“อิรักยิงจรวดถล่มเรือรบของสหรัฐฯ เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย”

เรื่องที่เกิดขึ้นจริงคือ ช่วงเวลานั้นมีสงครามอิรัก-อิหร่าน และในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม1999
เวลา 9.00 น.ตามเวลาของกรุงแบกแดด เรือรบ “USS Stark” ถูกโจมตีด้วยจรวดเอ็กโซเซต์ 2 ลูก
(Exocet Missiles) ขณะลาดตระเวนอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย จรวดถูกยิงจากเครื่องบันขับไล่ของอิรัก
(Dassault Mirage F1 ที่ซื้อจากฝรั่งเศส) ทหารเรือเสียชีวิตทันทีและเสียชีวิตต่อมารวม​ 37 คน
และบาดเจ็บอีก 21 คน

ผมบรรยายสถานการณ์ตอนเกิดเหตุไว้อย่างละเอียดก่อนเกิดเหตุจริงถึง 50 ชั่วโมง ผมอึ้งจนพูด
ไม่ออก ครั้งนั้นนับเป็นผลงานที่แม่นยำที่สุดตลอด 7 ปีที่ทำหน้าที่นักสืบกระแสจิตให้รัฐบาลสหรัฐฯ
ทั้งที่ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะกลายเป็นนักสืบกระแสจิตเลย

ปี 1990 ทางกองทัพเรียกตัวผมกลับไปทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองในสงครามที่
ต่อมารู้จักกันในนามของ “ปฏิบัติการพายุทะเลทราย” ตอนล่ำลาทีมงาน ผมมีลางสังหรณ์ว่า
จะไม่ได้กลับมาปฏิบัติงานที่สำนักงานแห่งนี้อีกแล้ว และต่อมาก็เป็นจริง เพราะโครงการเพ่ง
มองด้วยกระแสจิต “Center Lane” ถูกยุบไปในปี 1995 และเปลี่ยนชื่อเป็น “สตาร์ เกท”
(Star Gate - America's Psychic Espionage Program) ขึ้นตรงต่อซีไอเอ

ที่จริงการยุบหน่วยงานครั้งนี้ส่งผลดีต่อชีวิตผมอย่างคาดไม่ถึง เพราะผมไม่จำเป็นต้องรักษา
ข้อมูลเป็นความลับอีกต่อไป โครงการที่ถูกยุบไปกลายเป็นหัวข้อข่าวที่สื่อมวลชนทุกแขนง
พากันสืบเจาะข่าวกันอย่างโกลาหล

หลังเกษียณอายุจากกองทัพบกในเดือนสิงหาคม 1996 ผมตั้งบริษัทเพื่อสอนเทคนิค
การเพิ่มพลังจิตตามที่เรียนรู้มา ผมสามารถพูดถึงกรณีต่าง ๆ ได้อย่างเสรีและกลับไป
เรียนปริญญาเอกด้านปรัชญา

เกือบ 9 ปีต่อมา ซีไอเอเปิดเผยเอกสารส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจารกรรมความลับ
ด้วยการใช้กระแสจิต

ช่วงที่ผมทำงานด้วยการเพ่งกระแสจิตนั้น ผมมองผ่านผนังห้องใต้ดินของห้องทดลอง
อาวุธชีวภาพของโซเวียต, “มองหา”ตัวประกันในเลบานอน ฯลฯ ผมเรียนรู้ว่า จิตใจของ
มนุษย์ไม่ได้ถูกขังไว้ในร่างกาย แต่สามารถล่องลอยไปยังอีกฟากของโลกได้ นี่คือความจริง
ที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ แต่สะท้อนสัจธรรมอย่างหนึ่งคือ มนุษย์ไม่สามารถ
เข้าใจปรากฏการณ์ได้ทุกอย่าง

คงมีสาเหตุที่แท้จริงสักอย่างที่กั้นมนุษย์ไม่ให้รู้ว่า การเพ่งมองด้วยกระแสจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร
เพียงแต่เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 10, 2022 10:32 am

🌞กลับมาผงาด ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007 และจากเรื่อง
“Sucking the Marrow Out of Life” โดย John Maclean and Paul Connolly
เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผม (จอห์น แม็กคลีน) เกิดที่ชานเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลียในปี 1966 ผมชอบเล่นกีฬา
โดยเฉพาะการวิ่งและการออกกำลังทุกชนิดโดยฝึกซ้อมวันละหลายชั่วโมง เคยลงแข่ง
ไตรกีฬาระดับท้องถิ่น 2 ครั้ง มีรายได้จากการเล่นรักบี้ให้กับสโมสรต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาชีพ
ที่ผมใฝ่ฝัน ผมเคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ผมยินดีจะใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมผุ ๆ
และกินแต่มันฝรั่งชืด ๆ ตลอดชีวิตเพื่อแลกกับการเสียขาไป

วันที่ 27 มิถุนายน 1988 ขณะที่ผมฝึกซ้อมไตรกีฬาเนเปียน (Nepean) และกำลังขี่จักรยาน
ตามทางหลวงกลับบ้านหลังจากฝึกขี่จักรยานเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร จู่ ๆ ก็มีรถบรรทุก
สีขาวขนาด 8 ตันวิ่งด้วยความเร็ว 110 กม./ชม.พุ่งชนท้ายจักรยานผมเต็มแรง

ผมหมดสติเป็นพัก ๆ อยู่หลายวัน จำได้ราง ๆ ว่าได้ยินเสียงใบพัดเฮลิคอปเตอร์ตอนเจ้าหน้าที่
ย้ายผมออกจากโรงพยาบาลในซิดนีย์ไปที่โรงพยาบาล “Royal North Shore” ผมบอกตัวเองว่า
​ “ยังตายไม่ได้” บ่ายวันนั้น หมอพบว่ากระดูกหลังผมหัก 3 ที่, กระดูกเชิงกรานหัก 4 จุด,แขนขวา
หัก 2 ท่อน, กระดูกสันอกแตก 2 จุด, ซี่โครงก็หักและปอดทั้ง 2 ข้างฉีกขาด หมอให้เลือด 3 ลิตร
และบอกให้พ่อทำใจเพราะผมไม่มีโอกาสรอด

แต่หลังจากหลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่ 4 วัน ผมก็รู้สึกตัว ผมถามแม่ว่า “ผมจะวิ่งได้เหมือนเดิมไหม”
คำถามนี้ทำให้แม่อึ้งจนพูดไม่ออกและรีบผละจากข้างเตียงก่อนน้ำตาจะทะลักออกมา
ไม่นานก่อนหน้านั้น ผมยังเป็นหนุ่มวัย 22 ปี ร่างกายกำยำ แต่ตอนนี้ผมไม่มีแรงแม้แต่
จะเช็ดตัว

ผลสรุปว่ากระดูกในตัวผมหักทั้งหมด 15 จุดซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของแผนกสันหลัง ผมจึงสร้าง
สถิติใหม่อีก จนได้แม้จะไม่ได้อยู่ในสนามแข่งขันก็ตาม ความคิดผมวนเวียนอยู่ที่
“จะทำอย่างไรจึงจะหายปวดได้”
ยาแก้ปวดเป็นเสมือนของขวัญจากสวรรค์ แต่ก็ระงับได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

(+)ยืนหยัดสู้

แม้ผมจะยอมรับว่าตัวเองหมดโอกาสที่จะเดินได้แล้วแต่ก็จะพยายามรักษาสภาพร่างกาย
ให้แข็งแรงที่สุด

8 สัปดาห์หลังอุบัติเหตุ สภาพของผมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกและผิวซีดมาก ผมทุ่มเทพลัง
ทั้งหมด ให้กับการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อจะกลับไปใช้ชีวิตที่มีพลังและแจ่มใสเหมือนเดิม
ผมยอมทนทรมานกับกระบวนการฟื้นฟูที่ซับซ้อนเป็นขั้น ๆ และที่สุดก็จบลงที่สระวารีบำบัด
ของโรงพยาบาล ผมมีโอกาสหัดว่ายน้ำอีกครั้งโดยมีถังไวน์เปล่า 2 ใบผูกโยงกันด้วยผ้าฝ้าย
สำหรับพยุงตัว

หลายเดือนต่อมา ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ผมว่ายน้ำได้ไกลขึ้น กล้ามเนื้อค่อย ๆ ฟื้นตัวและสภาพ
จิตใจก็เริ่มมั่นคง จากนั้นก็เริ่มซ้อมขึ้นเขาโดยอาศัยเนินในโรงพยาบาลเป็นที่ฝึก

ก่อนเกิดอุบัติเหตุเมื่อกลางปี 1988 ผมวางแผนจะเข้าแข่งไตรกีฬาเนเปียนที่ออสเตรเลีย
นักกีฬาต้องว่ายน้ำ 1 กม., ปั่นจักรยาน 40 กม.และวิ่งอีก 12 กม. พอร่างกายเริ่มหายดี
ผมเริ่มคิดสานความตั้งใจเดิมให้สำเร็จ เรื่องว่ายน้ำคงไม่มีปัญหา, การวิ่งก็พอไหวโดย
ใช้เก้าอี้วีลแชร์เป็นตัวช่วย แต่จักรยานต้องใช้แบบที่ยาวเป็นพิเศษมี 3 ล้อและบังคับด้วยมือ

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ผมก็ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมแข่งไตรกีฬาเนเปียน และยัง
แข่งอีกหลายครั้ง รวมทั้งรายการ “มนุษย์เหล็กแห่งฮาวาย”ในปี 1994
(Ironman World Championship) ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งไตรกีฬามหาโหดติดอันดับโลก

ไฟแห่งความทะเยอทะยานยังคงลุกโชนอยู่ในใจ ผมจรดปากกาเขียนคำประกาศสิ่งที่ท้าทาย
ใหม่คือ “การว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษ” เนื่องจากผมพบว่า ยังไม่เคยมีนักกีฬาที่นั่งวีลแชร์
ผู้ใดทำมาก่อน

ผมทุ่มเทฝึกซ้อมอยู่หลายเดือนทุกวันก่อนฟ้าสางโดยหย่อนตัวลงในทะเลสาบเพ็นริท (Penrith Lakes)
ใกล้บ้านที่อยู่นอกเมืองด้านตะวันตกของซิดนีย์ ไม่นานต่อมาโคชว่ายน้ำชื่อดัง​ เดวิด ฮาร์วีย์ (Harvey)
เสนอตัวเป็นโค้ชให้ โดยให้ผมฝึกว่ายเริ่มจากวันละ 4 ชม.เป็น 8 ชม.และ 12 ชม.ตามลำดับ
ผมฝึกอยู่ 7 เดือนและว่ายน้ำไปประมาณ 1,800 กม.

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 10, 2022 10:37 am

🌞กลับมาผงาด ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007
และจากเรื่อง “Sucking the Marrow Out of Life”
โดย John Maclean and Paul Connolly เรียบเรียง
และย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)วันตัดสิน

ร้อยโท แมตทิว เว็บบ์ (Captain Matthew Webb) เป็นนักกีฬาคนแรกของโลกที่ว่ายน้ำ
พิชิตช่องแคบอังกฤษด้วยท่ากบเมื่อ 25 สิงหาคม 1875 ใช้เวลา 21 ชม. 45 นาที ระหว่าง
ทางมีการหยุดพักเพื่อจิบน้ำชาร้อน ตอนนั้นเทศมนตรีเมืองโดเวอร์ (Dover) ประกาศว่า
“ในประวัติศาสตร์จะไม่มีใครทำได้อีกแล้ว”

คำพูดของเขาผิดถนัด เพราะในช่วง 130 ปีต่อมามีนักว่ายน้ำกว่า 600 คนพิชิตช่องแคบ
อังกฤษได้เช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าไม่มากนักหากจะเทียบกับการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ที่มีการ
พิชิตได้เป็น ครั้งแรกในปี 1953 และในช่วง 50 ปีต่อมามีผู้พิชิตได้มากกว่า 2000 คน

และวันนั้นก็มาถึง... กลางเดือนสิงหาคม 1998 ระหว่างที่อยู่บนเรือ ทุกคนอารมณ์เบิกบาน
ผมมีทีมงานสนับสนุนหลายคน ตั้งแต่โค้ช, นักว่ายน้ำสนับสนุน 2 คน
(หลังว่ายไปได้ 2 ชม. นักว่ายน้ำเพื่อพิชิตช่องแคบฯ มีสิทธิ์ให้เพื่อนนักว่ายน้ำลงไปว่ายเป็น
เพื่อนได้ครั้งละ 1 ชม.เว้น 1 ชม.)
นอกจากนั้นยังมีพี่สาวกับน้องชายผม และเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์จากสมาคมว่ายน้ำข้าม
ช่องแคบอังกฤษ

ทันทีที่เริ่มว่ายน้ำ ผมตระหนักว่า น้ำในช่องแคบอังกฤษแตกต่างจากน้ำทะเลแถวหาดในซิดนีย์
อย่างมาก ผมจับจังหวะความเร็วการว่ายน้ำไม่ค่อยได้ในช่วงแรก แต่หลังจากออกจากโดเวอร์
ได้ราว 5 ชม. ผมก็ว่ายได้ดีขึ้นมาก

ต่อมาลมเริ่มแรงขึ้นเป็นลำดับ คลื่นสูงเป็นอุปสรรคสำคัญ ผมถูกคลื่นซัดจนตัวลอย ผมเริ่มพุ้ยน้ำ
หาทิศทางที่ถูกต้องแล้วก็ถูกคลื่นอีกลูกซัดจนคว่ำคะมำอีกครั้ง ขณะนั้นแรงลมอยู่ที่ระดับ 8
ซึ่งถ้าอยู่ที่ระดับ 12 แสดงว่าเป็นพายุเฮอริเคน

หลังว่ายได้ 6 ชม. โค้ชของผมแจ้งว่า กัปตันเรืออยากให้ผมขึ้นจากน้ำเพราะข้อมูลดาวเทียม
ที่ได้รับในห้องบังคับแสดงว่าอากาศจะเลวร้ายต่อและไม่มีทางว่ายน้ำข้ามช่องแคบสำเร็จแน่นอน

ผมไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่จ้วงแขนมุ่งไปข้างหน้าทั้งที่คลื่นกระหน่ำอยู่ตลอดเวลา แต่ละครั้งที่จ้วง
แขนลงไป ผมจะถูกคลื่นซัดจนตัวลอยเหมือนเศษขยะที่ถูกคลื่นซัด ผมแข็งใจว่ายไปได้อีก 2 ชม.
จนเห็นหน้าผาฝั่งฝรั่งเศส โค้ชก็ตกอยู่ในสภาพไม่ยอมรับความจริงเช่นกัน เขาตะโกนสุดเสียงว่า
“ว่ายต่อไป” ผมได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือจากหลายคนหลังเกิดอุบัติเหตุ ถ้าผมยอมแพ้
ตอนนี้ ผมจะทำให้ทุกคนผิดหวังโดยเฉพาะตัวผมเอง

หลังจากว่ายไปได้ 9 ชม. กัปตันเรือก็แจ้งที่ข้างเรือว่า ในช่วง 3 ชม.หลัง ผมไม่มีความคืบหน้าเลย
มีแต่ถอยหลัง ผมปวดร้าวใจที่สุด ทุกสิ่งที่ลงแรงไปดูเหมือนจะพังทลายลงต่อหน้าต่อตา
ผมยอมรับความล้มเหลวขณะอยู่ห่างจากชายฝั่งฝรั่งเศสที่กาเลส์ (Calais) ราว 10 กม. เจ้าหน้าที่
ช่วยกันลากตัวผมขึ้นบนเรือในสภาพเหนื่อยอ่อนและเสียใจ ขณะที่เรือเบนหัวมุ่งหน้ากลับอังกฤษ
ผมได้แต่ก้มหน้าและสาปแช่งโชคชะตาที่ไม่เป็นใจ

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 12, 2022 11:57 pm

🌞กลับมาผงาด ตอนที่ (3) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสารกะฉบับเดือนมกราคม 2007 และจากเรื่อง
“Sucking the Marrow Out of Life” โดย John Maclean and Paul Connolly
เรียบเรียงและย่อโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ลองอีกครั้ง

คืนนั้นแม้จะอ่อนล้าแต่ผมกลับนอนไม่ค่อยหลับครุ่นคิดถึงแรงกระหน่ำของคลื่น
แถมไหล่ซ้ายยังระบมจากการบาดเจ็บตั้งแต่ลงแข่งมนุษย์เหล็กที่ฮาวาย ที่เลวร้ายกว่านั้น
คือภาพตัวเองเมื่อกลับถึงออสเตรเลียในฐานะคนล้มเหลว​ วนเวียนอยู่ในสมองตลอดเวลา
ผมจึงตัดสินใจจะต้องหาโอกาสลองอีกครั้ง

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมพูดกับกัปตันขอแก้ตัวอีกครั้ง แต่เขาไม่รับปากและตอบเพียงว่า
“ดูไปอีกหน่อยก็แล้วกัน” ทีมสนับสนุนก็แยกย้ายกันไป เหลือแต่ผมกับโค้ชยังคงอยู่ที่อังกฤษ
น้องชายผมกลับไปแคนาดา นักว่ายน้ำสนับสนุนคนหนึ่งไปเยี่ยมญาติที่โครเอเชีย ส่วนอีก
คนหนึ่งที่ชื่อเดวิดก็กลับบ้านไปพักผ่อนกับครอบครัวในออสเตรเลีย

เกือบ 2 สัปดาห์ต่อมา กัปตันเรือโทรฯ ถึงผมแจ้งว่าเขาจะว่างวันที่ 30 สิงหาคม (1998)
และมีรายงานว่าสภาพอากาศวันนั้นจะแจ่มใส

ผมกับโค้ชดีใจเป็นอย่างยิ่งและรีบตามทุกคนกลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่งยกเว้นเดวิดที่
ขณะนั้นกำลังเล่นสกีอยู่บนเขาห่างจากซิดนีย์ไปประมาณ 6 ชม. ผมโทรฯไปขอให้เขา
อวยพรให้ แต่เดวิดกลับตอบผมว่า “อวยพรอะไรกัน...ผมจะเดินทางไปสมทบเดี๋ยวนี้”

ผมคาดไม่ถึงว่าเดวิดจะทิ้งครอบครัวเพื่อเดินทางข้ามโลกมาช่วยผม เขาช่างเป็น
เพื่อนแท้จริงๆ ก่อนหน้านี้เขาก็แสดงความจริงใจและศรัทธาในตัวผมด้วยการร่วมฝึก
และว่ายประคับประคองในการว่ายครั้งแรกของผม แต่ครั้งนี้ดูเหมือนผมจะรอเขาไม่ได้
เพราะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 วันก่อนการว่ายน้ำครั้งใหม่จะเริ่มขึ้น

กัปตันเรือตัดสินใจว่า ในการว่ายครั้งนี้ผมควรเริ่มตั้งแต่ตี 5 ดังนั้นตอนเราขึ้นเรือ
ในวันที่ 30 สิงหาคม ทุกอย่างรอบตัวจึงมืดสนิท เรื่องแล่นฝ่าความมืดไปที่หาด
เมืองฟอล์กสโตน (Folkestone) และไปจอดใกล้หน้าผา Shakespeare ที่ยื่นออกไป
ในมหาสมุทร จากนั้นตัวผมก็ถูกหย่อนลงสู่ผิวน้ำ แต่ยังว่ายไปชายฝั่งฝรั่งเศสไม่ได้
เพราะต้องขยับตัวไปที่ชายฝั่งอังกฤษก่อนตามกฎของสมาคมว่ายน้ำข้ามช่องแคบฯ
นักกีฬาผู้ว่ายจะต้องไปตั้งต้น ณ จุดที่น้ำขึ้นสูงสุดบนชายหาดก้อนกรวด โดยกลับหลัง
หันและถัดถอยหลังไปเรื่อย ๆ จนถึงก้อนกรวดแห้ง ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น

เมื่อเสียงแตรดังขึ้นเป็นสัญญาณว่าเริ่มว่ายได้ ผมก็ว่ายไปตามเส้นทางมหาโหดเช่นครั้งก่อน
ชั่วโมงแรกผมจ้วงแขนได้แรงสม่ำเสมอและรู้สึกสบาย ๆ แม้รอบตัวจะยังมืดสนิท
ผมคืบหน้าไปพอสมควร โค้ชมีสีหน้าพอใจ

หลังว่ายอยู่คนเดียว 2 ชั่วโมง จากนั้นนักว่ายน้ำสนับสนุนคนแรกก็มีสิทธิ์ลงว่ายน้ำประกบ
ผมชอบให้มีคนว่ายเป็นเพื่อน แม้เราจะคุยกันไม่ได้ขณะว่ายน้ำแต่การที่มีคนว่ายอยู่ข้าง ๆ
ก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมาก

ขอย้อนกลับไปกล่าวสั้น ๆ ถึงเดวิดนักว่ายน้ำสนับสนุนคนที่สอง​ ตั้งแต่ได้รับโทรฯของผม
ทันทีที่วางสาย เขากับครอบครัวรีบเก็บข้าวของแล้วขับรถกลับซิดนีย์ตรงไปที่สนามบินทันที
จากนั้นก็ซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวบินถัดไปที่ไปลอนดอนที่ใช้เวลาทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง (ผ่านกรุงเทพฯ)
เมื่อมาถึงลอนดอนในสภาพที่อ่อนล้าหมดแรง เดวิดกัดฟันเช่ารถและขับตรงไปจนถึง
เมืองโดเวอร์ราว 7.00 น. ซึ่งถึงตอนนั้นผมว่ายน้ำไปได้ 2 ชั่วโมงแล้ว

ถ้าเป็นคนอื่นก็ถือว่าทำเต็มที่แล้ว แต่เดวิดไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เขาตระเวนไปรอบท่าเรือจนพบ
ชาย 2 คนที่กำลังจะออกเรือไปจับปลาพอดี ดังนั้นหลังจากเดินทางชนิดไม่ได้พักเลยมาแล้ว
40 ชั่วโมงนับแต่เก็บข้าวของออกจากบริเวณเล่นสกีในออสเตรเลีย เดวิดก็ดั้นด้นมาสมทบ
กับทีมงานของพวกเราจนได้ในที่สุด

“หวัดดี พรรคพวก” เขาทักทายก่อนจะรีบสวมชุดว่ายน้ำกับแว่นกันน้ำและกระโจนลงมาหาผม
ในน้ำ ผมรู้สึกยิ่งกว่าประหลาดใจกับอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น

ที่จริงก่อนที่เดวิดว่ายน้ำอยู่เคียงข้าง ผมว่ายน้ำไปได้ 6 ขั่วโมงแล้วและเริ่มรู้สึกเจ็บมากขึ้น
เป็นความเจ็บปวดที่ค่อย ๆ บั่นทอนกำลังใจ แต่พอเห็นเดวิดปรากฏตัวขึ้นราวกับปาฏิหาริย์
กำลังใจเพิ่มมาเป็นกอง ผมจะยอมแพ้ได้อย่างไรในเมื่อเห็นชัดว่าหลายคนเสียสละเพื่อผม
มากขนาดนี้

ดังนั้น ผมจึงก้มหน้าก้มตาว่ายต่อไปโดยมีเดวิดว่ายอยู่ใกล้ ๆ ร่างกายผมเริ่มค้นพบขุมพลัง
ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวและมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกแม้ตอนที่เดวิดกลับขึ้นไปบนเรือและปล่อย
ให้ผมว่ายต่อไปคนเดียวก็ตาม

โชคดีเหลือเกินที่คราวนี้ธรรมชาติดูจะปรานีต่อผม คลื่นค่อนข้างเบา ล่วงเข้าชั่วโมงที่เก้า
ผมก็เห็นชายฝั่งฝรั่งเศสอยู่ตรงหน้า

หลังว่ายไป 12 ชั่วโมงผมก็มาถึงจุดชี้เป็นชี้ตายจนได้ ผมเห็นประภาคารของเมืองกาเลส์แล้ว
กระแสน้ำเริ่มเปลี่ยนทิศทาง โค้ชตะโกนมาจากบนเรือว่า ถ้าไม่พาตัวเองให้หลุดจากตรงนี้ก็
จะหมดสิทธิ์ไปถึงจุดหมาย ผมเริ่มรู้สึกกังวลมาก ดังนั้นแม้จะเหนื่อยอ่อน แต่ผมก็แข็งใจออก
แรงเร่งจังหวะจ้วงแขนให้เร็วขึ้นเพราะกลัวสุดขีดเมื่อคิดว่า มาจนเกือบถึงแล้วแต่จะต้องมา
ล้มเหลวซ้ำสอง

ชั่วโมงต่อมา ผมทุ่มเทแรงกายและแรงใจทั้งหมดที่เหลืออยู่ และที่สุดก็เหมือนกับในภาพยนตร์
ผมฝ่ากระแสน้ำเปลี่ยนทางได้สำเร็จ หมู่เมฆที่ดูหม่นหมองมาทั้งวันเริ่มมีแสงแดดส่องลงมาเบื้องล่าง

ในที่สุด เมื่อผมหย่อนก้นลงบนผืนทรายแห้ง นาฬิกาที่เป็นทางการก็หยุดลง ผมใช้เวลาว่ายน้ำ
12 ชั่วโมง 55 นาที ผมนอนเหยียดยาวมองท้องฟ้า พร้อมกับความรู้สึกโล่งอกสุด ๆ พวกเรา
ทำสำเร็จแล้ว ผมเป็นนักว่ายน้ำร่างกายพิการคนแรกที่พิชิตการว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษ
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1998

(*)หมายเหตุ

หลังกลับบ้านได้ไม่กี่เดือน จอห์นก่อตั้งมูลนิธิ “จอห์น แม็กคลีน” เพื่อสนับสนุนให้เด็กที่นั่ง
วีลแชร์ใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ที่สุด ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ jmf.com.au

ปี 2000 รับเหรียญแห่งออสเตรเลีย "สำหรับการเป็นนักกีฬาไตรกีฬาและนักว่ายน้ำที่ช่วย
ส่งเสริมกีฬาสำหรับคนพิการและนักกีฬาวีลแชร์รุ่นน้อง" ในปีเดียวกัน ได้เป็นผู้ถือคบเพลิง
โอลิมปิกและพาราลิมปิกสำหรับการแข่งขันกีฬาซิดนีย์ปี 2000

จอห์น แม็กคลีนเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกหลายรายการ เช่น

ปี 2001 ร่วมการแข่งขันเรือยอทช์ซิดนีย์ถึงโฮบาร์ต (Sydney to Hobart Yacht Race)

ปี 2002 เป็นคนแรกที่ไม่ใช่พลเมืองของสหรัฐฯ และเป็นคนพิการคนแรกที่มีชื่ออยู่
ในหอเกียรติยศมนุษย์เหล็ก

ปี 2006 เข้าร่วมการแข่งขัน Ultraman endurance ที่ฮาวาย

ปี 2007 และ 2008 พายเรือ (TA2x) คู่กับแคธรีน รอสส์ (Kathryn Ross)
และได้เหรียญเงินร่วมในการแข่งขันเรือพายชิงแชมป์โลกที่มิวนิกและที่ปักกิ่ง

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 13, 2022 12:00 am

🧔บุคคลแห่งเอเชีย 2007 ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007 โดย อโศก มหาเทวัญ
และจากวิกิพีเดีย เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

นายแพทย์ ’รูอิต’ ชาวเนปาล เกิดที่เชิงเขาคันเช็งจุงกา (Kanchenjunga)ซึ่งมียอดสูง
อันดับสามของโลก (8,586 ม.) สูงรองจากยอดเขาเอเวอเรสต์ (8,848 ม.)และยอดเขา
เคทู (8,611 ม.) ยอดเขาทั้ง 3 นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยที่ทอดยาวผ่าน 5 ประเทศ
(ปากีสถาน, อินเดีย, จีน, ภูฏาน และเนปาล) มียอดเขาสูงกว่า 7,200 เมตรมากกว่า 100 ยอด
และเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำสินธุ, แม่น้ำคงคา-พรหมบุตร, แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง
อีกทั้งยังเป็นที่อยู่ของผู้คนราว 750 ล้านคน

บิดาของรูอิตมีอาชีพเป็นพ่อค้ารายย่อย ท่านส่งรูอิตเข้าโรงเรียนประจำในอินเดียตั้งแต่
อายุ 6 ขวบเพราะแถวบ้านไม่มีโรงเรียน เมื่อรูอิตอายุได้ 16 ปี น้องสาวเสียชีวิตด้วยสาเหตุ
วัณโรคดื้อยา ความสูญเสียครั้งนี้ทำให้รูอิตตัดสินใจเป็นหมอ

รูอิตมีพรสวรรค์พิเศษในด้านการผ่าตัด “เขาเกิดมาพร้อมกับมือเทวดา” เพื่อนร่วมงานคน
หนึ่งกล่าวยกย่อง และไม่นานก็ประจักษ์ชัดว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริง

หลังจากรูอิตช่วยงานในแคมป์ผ่าตัดคนไข้โรคต้อที่ยากจนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เขารู้สึก
ประทับใจมากเพราะเป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลาสั้นแต่สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ ดังนั้นรูอิตจึง
ตัดสินใจเลือกเป็นจักษุแพทย์ และสำเร็จการศึกษาเฉพาะทางจากสถาบันการแพทย์ชั้นนำ
ในกรุงนิวเดลีในปี 1984 ขณะที่มีอายุได้ 29 ปี

รูอิตไต่เต้าจนติดอันดับหมอชั้นนำของเนปาล และไม่นานต่อมาก็ตัดสินใจจะทุ่มเทให้กับ
“โครงการป้องกันอาการตาบอด”
อย่างจริงจัง เนื่องจากช่วงนั้นเนปาลและประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปมีปัญหาร่วมกันคือ
“การผ่าตัดต้อให้แก่ผู้ป่วยที่ยากจน” ซึ่งวิธีการในขณะนั้นจะต้องเริ่มจากการลอกเลนส์
ธรรมชาติที่หมดสภาพออก แล้วให้คนไข้สวมแว่นตาหนาเตอะ เมื่อเสร็จแล้วคนไข้จะมอง
เห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้เพียงราง ๆ พอจะแยกสัตว์ตรงหน้าได้ว่า เป็นวัวหรือแพะเท่านั้น
แต่แทบจะมองไม่เห็นภาพด้านข้างเลย

กรรมวิธีที่ดีกว่าคือ การใส่เลนส์เทียมทำด้วยพลาสติกพิเศษแทนเลนส์ธรรมชาติซึ่งมีค่า
ใช้จ่ายสูงมาก เฉพาะเลนส์ก็มีราคากว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินมหาศาล
สำหรับชาวไร่ชาวนา

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 13, 2022 11:53 am

🧔บุคคลแห่งเอเชีย 2007 ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007 โดย อโศก มหาเทวัญ
และจากวิกิพีเดีย เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หมอรูอิตเริ่มพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดที่เร็วและง่ายกว่าเดิม รวมทั้งใช้วิธีง่าย ๆ เช่นบอก
ให้คนไข้ล้างหน้าให้สะอาดจริง ๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคในเบื้องต้น
เขานำกล้องจุลทรรศน์ที่เพิ่งตกรุ่นมาใช้และผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ที่ได้รับบริจาคจากเพื่อน
ชาวตะวันตก การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาได้ผลดีและภาวะติดเชื้อหลังผ่าตัดก็แทบไม่มีเลย
แต่อุปสรรคยังไม่หมดเพราะเลนส์ตาที่ผลิตจากประเทศตะวันตกมีราคาสูง หมอรูอิตวางแผน
จะผลิตเลนส์เทียมขึ้นในเนปาล แม้ว่าเขาสามารถโน้มน้าวจักษุแพทย์ในเนปาลและจากตะวันตก
ที่เคยมาดูงานของเขาที่เนปาลไม่กี่คนที่สนับสนุนโครงการของเขา

ปณิธานของหมอรูอิตถูกทดสอบอีกครั้งหนึ่งเมื่อวิธีผ่าตัดที่แหวกแนวของเขาถูกต่อต้านอย่าง
รุนแรง หนึ่งในผู้สนับสนุนไม่กี่คนของเขาคือเฟรด ฮอลโลว์ (Frederick Hollows : 1929 – 1993)
ชาวออสเตรเลียซึ่งเคยช่วยฝึกการผ่าตัดให้หมอรูอิตมาก่อน ครั้งนี้เขาตั้งใจจะหาเงินมาตั้ง
โรงงานผลิตเลนส์และจัดตั้งศูนย์รักษาดวงตา​”ทิลกังกา”ในกรุงกาฐมาณฑุ (เนปาล)

ในปี 1992 งานของหมอรูอิตรุดหน้าไปมาก เขาวางเป้าจัดตั้ง “ศูนย์รักษาดวงตาในกรุงกาฐมาณฑุ”
เพื่อเป็นฐานส่งทีมแพทย์ออกไปรักษาดวงตาตามแคมป์ในชนบทและวิจัยพัฒนาเทคนิคงานจักษุ
แพทย์ด้วยเงินบริจาคของวัดในกาฐมาณฑุ, องค์กรการกุศลและกลุ่มนักธุรกิจในเนปาล
หลังลองผิดลองถูกอยู่ 18 เดือน ห้องปฏิบัติการก็เริ่มผลิตเลนส์ได้สำเร็จในเดือนมกราคม 1994
ขณะที่เขียนเรื่องนี้ (2006) เลนส์ที่ผลิตจากโรงงานนี้ใช้แพร่หลายใน 70 ประเทศและมีราคา
เพียงชิ้นละ 5 เหรียญฯ เมื่องานของ
หมอรูอิตประสบความสำเร็จการผ่าต้อในเนปาล 98% ต่างก็ใช้วิธีใส่เลนส์เทียม และชาวเนปาล
ที่ตาบอดก็ลดจำนวนลงอย่างเป็นรูปธรรม

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 16, 2022 10:51 pm

🧔บุคคลแห่งเอเชีย 2007 ตอนที่ (3)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007 โดย อโศก มหาเทวัญ
และจากวิกิพีเดีย เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

การผ่าตัดต้อที่แคมป์ในชนบทให้บริการฟรี แต่ที่ศูนย์ฯ ในกรุงกาฐมาณฑุ คนไข้ที่มีเงิน
ก็ต้องจ่ายตามความสามารถ (จ่ายบางส่วนก็ได้) นโยบายนี้ช่วยให้ศูนย์ฯ มีเงินทุน
ดำเนินการรวมทั้งเงินเดือนพนักงาน ส่วนเงินช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกก็นำไปช่วย
การรักษาที่แคมป์ตามชนบทและใช้ซื้อเครื่องมือ

คนไข้ที่ศูนย์ฯ เกือบ 1/3 ไม่มีเงินค่ารักษาเลย อย่างไรก็ตาม หมอรูอิตกำหนดแนวทาง
ชัดเจนว่า คนไข้ทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค แม้แต่คนไข้จนที่สุดก็มี
สิทธิ์เลือกหมอผ่าตัดได้ การปฏิบัติแบบไม่เลือกชนชั้นเช่นนี้หาได้ยากในสังคมศักดินา
ของเนปาล

ครั้งหนึ่ง หมอรูอิตได้รับคัดเลือกให้ร่วมทีมถวายการรักษาแด่กษัตริย์พิเรนทรา เขาปฏิบัติ
หน้าที่เหมือนหมอที่เคยปฏิบัติหน้าที่นี้มาก่อน คือแบกเครื่องมือไปที่พระราชวัง เมื่อไปถึง
ก็รู้สึกไม่สะดวกเพราะห้องที่จัดไว้เพื่อถวายการรักษาไม่สว่างพอ มีการละเลยมาตรฐานทาง
สุขอนามัยเพื่อความสะดวกสบายของคนไข้ซึ่งเป็นกษัตริย์ หมอรูอิตจึงทูลเชิญพระองค์
ให้เสด็จไปที่ศูนย์ฯ หลายคนแทบไม่เชื่อหูเมื่อได้ยินคำกราบทูลเช่นนั้น แต่พระองค์ก็ทรง
ตกลงไปตามที่หมอรูอิตทูลขอ

ก่อนหน้านั้น 2 ปี ข้อสงสัยเรื่องความสำเร็จในการผ่าตัดของหมอรูอิตหมดไปเมื่อมีการศึกษา
ทางคลินิกในเนปาลด้วยการแบ่งผู้ป่วยโรคต้อ108 คนโดยการสุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกอยู่ในความดูแลของหมอรูอิต และกลุ่มที่สองดูแลโดยนายแพทย์เดวิด จาง
ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดต้อที่ถือกันว่าเก่งที่สุดและเร็วที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งใช้เครื่องมือ
อัลตราซาวน์ที่มีราคาสูงถึง 100,000 เหรียญฯ ขณะที่หมอรูอิตใช้เครื่องมือที่มีราคาถูกกว่า
6 เท่าและใช้เวลาน้อยกว่าครึ่ง ผลปรากฏว่าคนไข้ทั้งสองกลุ่มสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
98% เท่ากัน หมอจางถึงกับออกปากว่า “ช่างเป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่งจริง ๆ”
นับแต่นั้นมา แพทย์จำนวนมากจากทั่วโลกรวมทั้งจากสหรัฐฯ พากันมาศึกษาเทคนิคใหม่ ๆ
ที่ศูนย์ฯ นี้ หมอรูอิตเดินทางไปสาธิตการผ่าตัดด้วยวิธีที่เขาคิดค้นขึ้นอยู่เสมอ ในปี 2005
เขาพาทีมงานไปเกาหลีเหนือและผ่าตัดต้อรวม 700 ครั้ง

โปรดติดตามตอนที่ (4) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 16, 2022 10:53 pm

🧔บุคคลแห่งเอเชีย 2007 ตอนที่ (4) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007 โดย อโศก มหาเทวัญ
และจากวิกิพีเดีย เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลายปีมาแล้วที่เชษฐาวัย 54 ปีชาวเนปาลทรมานเพราะโรคต้อจนถึงขั้นมองไม่เห็น
หมอรูอิตส่องดูดวงตาของเขาผ่านกล้องขยาย จากนั้นก็ลงมือกรีดด้านข้างดวงตาขวา
ของเชษฐาจนมีดผ่าตัดกระทบกับเลนซ์ตาที่มีปัญหา เขาค่อย ๆ แซะต้อออก ขณะที่ก้อน
สีขาวขุ่นไหลออกข้างแก้มของเชษฐา หมอรูอิตก็สอดเลนส์พลาสติกใสขนาดเท่าของจริง
เข้าไปแทนที่ตำแหน่งเดิม เพียง 5 นาทีก็เรียบร้อยก่อนจะปิดดวงตาข้างขวาของเชษฐา

จากนั้นก็ให้เชษฐานอนตะแคง ขณะที่หมอรูอิตหันไปผ่าตัดให้คนไข้โรคต้ออีกคน
เมื่อเสร็จแล้วก็หันกลับมาผ่าตัดตาข้างซ้ายให้เชษฐาต่อจนเสร็จก่อนจะนัดให้เชษฐา
กลับมาที่ศูนย์ฯ วันรุ่งขึ้น

ช่วง 23 ปีที่ผ่านมา หมอรูอิตผ่าตัดคนไข้โรคต้อมาแล้วเกือบ 70,000 ราย (วันละกว่า 100 คน)
ความสำเร็จสุดวิเศษเหล่านี้ทำให้รีดเดอร์ส ไดเจสท์ ภูมิใจยิ่งที่จะประกาศยกย่องให้หมอรูอิต
เป็นบุคคลแห่งเอเชียประจำปี 2007

เช้าวันรุ่งขึ้น ลักษมี ภรรยาพาเชษฐากลับมาที่ศูนย์ฯ โดยมีดวงตาที่มีผ้าพันแผลปิดอยู่
หมอรูอิตแกะผ้าพันแผลออก เชษฐายังคงหลับตาแน่นอีก 2-3 วินาที จากนั้นก็ลืมตาขึ้นแล้ว
ค่อย ๆ หันไปมองรอบห้อง ใบหน้าเขายังคงนิ่งเฉย

“นี่กี่นิ้ว” หมอรูอิตถามพร้อมกับแบมือ

“5 นิ้วครับ” เชษฐาตอบ

“จับจมูกเมียซิ” หมอบอกพลางชี้ไปที่ลักษมี เชษฐาฉีกยิ้มกว้างวางมือลงบนเป้าหมายที่หมอ
สั่งได้อย่างแม่นยำ และขณะที่หมอที่พูดจานุ่มนวลและถ่อมตนผู้นี้หันไปตรวจคนไข้รายต่อไป
ลักษมีก็กระซิบเบา ๆ กับสามีว่า “นี่แหละ หมอเทวดาตัวจริง”

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 16, 2022 10:57 pm

……รัสเซียวันนี้ (2006) ตอนที่ (1) จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนมกราคม 2007 โดย เดวิด แซตเทอร์ เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 1991
เมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟลาออกและ 12 สาธารณรัฐองค์ประกอบที่เหลือเป็น
รัฐเอกราช ในช่วงเวลา 15 ปีต่อมา รัสเซียเปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2006
รัสเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 8)

1. ด้านเสรีภาพส่วนบุคคล (คะแนน A-)

ทุกวันนี้ ร้านหนังสือในมอสโกเต็มไปด้วยผลงานวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมร่วม
สมัยของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน และที่จตุรัสปุชคินมีการประท้วงทางการเมืองอยู่
เป็นประจำ ตอนที่ผู้เขียน (เดวิด แซตเทอร์) คุยกับริต้าแม่บ้านชาวมอสโกในช่วงปีแรก ๆ
หลังการล่มสลาย ริต้าพูดถึงเสรีภาพที่เปลี่ยนไปว่า
“ประชาชนมีสิทธิ์เดินทางและอ่านหนังสือได้ตามใจชอบ ไม่ต้องคอยระวังว่าเจ้าหน้าที่จะ
ดักฟังโทรศัพท์ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการปกป้องคนจน ข้าราชการยังคงหยาบคาย โหดร้าย
และไม่ซื่อสัตย์ ถ้าใครถูกตำรวจทำร้าย รับรองว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ”

2. ด้านสื่อมวลชน (คะแนน C)

เมื่อผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมบุกยึดโรงเรียนในเมืองเบสลันทางตอนใต้ของรัสเซีย
ในปี 2004 และจับนักเรียนเป็นตัวประกัน หนังสือพิมพ์รัสเซียฉบับหนึ่งอ้างว่า เจ้าหน้าที่
ระบุว่ามีตัวประกันเพียง 354 คน และใช้ประกอบเหตุผลในการบุกเข้าจู่โจมเพื่อช่วยตัว
ประกัน แต่ที่จริงมีตัวประกันราว 1,200 คน หนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ เกือบทุกฉบับถูกทำเนียบ
ประธานาธิบดีควบคุม นักข่าวหลายคนยังคงกลัวอำนาจรัฐ “แค่ปูตินขมวดคิ้ว หลายคนก็
ขาสั่นแล้ว” บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าว
เมื่อ 3 ปีก่อน สำนักข่าวโทรทัศน์อิสระ​”เอ็นทีวี”ถูกยุบ ส่งผลให้เครือข่ายโทรทัศน์
แห่งชาติทุกแห่งตกอยู่ใต้การควบคุมและบริหารของรัฐบาล
นักข่าวที่พยายามขุดคุ้ยอาชญากรรมหรือการทุจริตมักถูกฆ่าตาย ข้อมูลของคณะ
กรรมการปกป้องผู้สื่อข่าวระบุว่า นับแต่ปูตินเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1999
มีนักข่าวอย่างน้อย 12 คนถูกฆ่าตาย รัสเซียจึงอยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศอันตรายสำหรับ
นักข่าว และยังไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดีเลย

โปรดติดตามตอนที่ (2) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 19, 2022 11:00 pm

รัสเซียวันนี้ (2006) ตอนที่ (2)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007
โดย เดวิด แซตเทอร์ เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

3. ด้านหลักนิติธรรมสื่อมวลชน (คะแนน D)
องค์กรที่ติดตามตรวจสอบการทุจริตทั่วโลกในปี 2005 จัดให้รัสเซียอยู่ในลำดับ
ที่ 126 ของโลกในด้านความซื่อสัตย์ เจ้าหน้าที่ทุจริตกันทั่วไปและเชื่อมโยงกับเจ้าของ
ธุรกิจจนแยกกันไม่ออก แต่ละปียอดเงินสินบนในรัสเซียสูงถึง 316,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ซึ่งมากกว่ารายได้รวมของประเทศทั้งปีถึง 2.5 เท่า
เมื่อเจ้าของธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กจ่ายสินบนให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ผลที่ตามมาคือ นักธุรกิจจะต้องหาทางโกงภาษี ไม่มีนักธุรกิจคนใดแสดงตัวเลขยอดขายที่
แท้จริงเลย
ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรของรัสเซียซึ่งมีสิทธิ์ตั้งแง่อะไรก็ได้
กับสินค้าของคุณ ทางที่ดีคือจ้างนายหน้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร และเงินที่คุณจ่าย
ให้นายหน้านั้น ส่วนหนึ่งจะไปอยู่ในกระเป๋าของเจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน
มีกิจการประเภทหนึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อขโมยบริษัทจากเจ้าของที่แท้จริงไปขายต่อให้กับคนที่
ให้ราคาสูงสุด วิธีการคือมีบริษัทเข้าไปซื้อหุ้นในโรงงานแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ยื่นฟ้องผู้บริหารของ
โรงงานนั้นต่อศาลซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร ศาลนี้จะตัดสินให้โจทก์ชนะแลกกับเงิน
สินบน ขั้นต่อไปคือผู้ถือหุ้นคนใหม่จะเข้าตรวจสอบบัญชีของกิจการแห่งนั้น เวลาที่​”กรรมการ”
คนใหม่เดินเข้าไปในบริษัท จะมีการจ้างนักเลงไปคุ้มครองด้วย จากนั้นผู้บริหารชุดใหม่จะแก้
บันทึกรายการผู้ถือหุ้นใหม่ด้วยการตัดชื่อของผู้บริหารชุดเก่าออกไป
เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่น้อยหน้า พวกเขามักรีดไถประชาชนขณะตรวจบัตรประจำตัวหรือตั้ง
ด่านตรวจตามท้องถนน

4. ด้านเศรษฐกิจ (คะแนน C-)
มอสโกมั่งคั่งเพราะรัสเซียได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการค้าน้ำมัน เมืองหลวงนี้มีมหาเศรษฐี
มากที่สุดในโลก นายโรมัน อับราโมวิช เศรษฐีอันดับหนึ่งของรัสเซียเป็นเจ้าของปราสาทหลายแห่ง
ในสกอตแลนด์และฝรั่งเศส เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลเชลซีในกรุงลอนดอน มีเครื่องบินโบอิ้ง 767
และเรือยอร์ชสุดหรู 4 ลำ แต่ละลำมีสระว่ายน้ำและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งมีเรือดำน้ำ
ขนาดเล็กด้วย
เศรษฐีใหม่ชาวรัสเซียหลายคนอยู่ในหมู่บ้าน “จูคอฟดา”ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองมอสโก 8 กม.
นอกบ้านแต่ละหลังมียามถือปืนเดินตรวจตรา หลังกำแพงสูงคือสถานที่คนมีเงินใช้ชีวิตอย่างสำราญ
เต็มที่ ที่ศูนย์สรรพสินค้าของหมู่บ้านนี้ มีโทรศัพท์มือถือทองคำพร้อมกุญแจทองคำวางจำหน่าย
ในราคา 111,000 เหรียญฯ, โทรศัพท์ทองคำขาวฝังเพชรราคาเครื่องละ 59,000 เหรียญ, ปากกา
ด้ามทองคำที่ตรงหัวปากกาบรรจุลิปสติกที่มาริลีน มอนโรใช้ก่อนเสียชีวิตราคา 18,000 เหรียญ,
แผนกอัญมณีมีสร้อยคอผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ปี 1945 ซึ่งมีเพชร 20 เม็ด สร้อยเส้นนี้ราคา
63,000 เหรียญ, เข็มกลัดไพลินล้อมเพชรราคา 49,000 เหรียญฯ ฯลฯ “ลูกค้ามีแต่คนรัสเซียเท่านั้น”
พนักงานขายบอก “คนต่างชาติเข้ามาดูกันบ้าง แต่ไม่เคยซื้อเลย”
รัสเซียมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ รายงานทางการระบุว่า ในปี 2004
มีเศรษฐี 5% ของประชากรทั้งประเทศ พวกเขาเป็นเจ้าของเงินออม 75% ของทั้งหมด
ขณะที่ประชากร 71% มีเงินออมรวมกันแค่ 3% ของเงินออมทั้งประเทศ

โปรดติดตามตอนที่ (3) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 19, 2022 11:02 pm

รัสเซียวันนี้ (2006) ตอนที่ (3) (ตอนจบ)
จากหนังสือศรรสาระฉบับเดือนมกราคม 2007
โดย เดวิด แซตเทอร์ เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

5. ด้านสุขภาพ (คะแนน D)
ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ระหว่างปี 1988-1994 อายุขัยของชายชาวรัสเซีย
คือ 58 ปี ส่วนในปี 2005 ยาวขึ้นเป็น 65 ปี จัดอยู่ในลำดับที่ 112 ของโลก
จากแหล่งข้อมูลเดียวกันในปี 2002 ระบุว่า รัสเซียเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ประชาชนคนละ 12.5 เหรียญต่อเดือน (เทียบกับของสหรัฐฯ = 439 เหรียญ/คน) ทำให้รัสเซีย
อยู่ในลำดับที่ 82 ของโลกในด้านการดูแลประชาชน แม้รัสเซียจะมีหมอที่ผ่านการฝึกอบรม
มาเป็นอย่างดี แต่รัสเซียก็ไม่ได้เอาใจใส่ดูแลประชาชนเท่าที่ควร

6. ด้านการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นของภาครัฐ (คะแนน D+)
เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เบสลันเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2004 ประธานาธิบดีปูตินประกาศว่า
การต่อสู้กับการก่อการร้ายต้องใช้ “นโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงถึงราก” เขาเสนอให้
ยกเลิกการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแบบโดยตรง ปูตินอาศัยโศกนาฏกรรม​ครั้งนี้เป็นข้ออ้าง
สนับสนุนแผนการที่จะทำให้รัฐบาลสามารถครอบงำรัฐสภากับฝ่ายตุลาการได้ เพราะการแต่งตั้ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดจะช่วยให้รัฐบาลตัดระบอบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคได้
เมื่อไม่นานมานี้ มีการออกกฎหมายใหม่ควบคุมองค์กรเอกชนของต่างประเทศที่เคยพอจะ
ต่อต้านระบอบของฝ่ายรัฐบาลได้ แต่กฎหมายใหม่ให้อำนาจรัฐปฏิเสธการจดทะเบียนขององค์กร
เอกชนต่างประเทศได้ถ้า “พวกเขาเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ” นอกจากนั้นรัฐบาล
ยังสามารถสั่งปิดองค์กรเหล่านี้ได้ตามที่เห็นสมควร
ข้อมูลขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป(OSCE)ระบุว่า การเลือกตั้ง
ประธานาธิบดีปี 2004 มีสิ่งผิดปกติมากมายจนกล่าวได้ว่า รัสเซียกำลังก้าวเข้าสู่ระบอบเผด็จการอีก
กล่าวโดยรวม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวรัสเซียดีขึ้นกว่าเดิม คือมีเสรีภาพส่วนบุคคลมากขึ้นบ้าง
แต่ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง คือฝ่ายผู้ปกครองมองว่าผู้ถูก
ปกครองเป็นเพียงวัตถุที่สามารถเอาเปรียบได้ ประชาชนเป็นแค่เฟืองตัวหนึ่งในเครื่องจักร
ไม่มีสิทธิ์หรือแม้แต่ความรู้สึกใด ๆ ดังนั้นแม้รัสเซียจะก้าวมาไกลแล้วก็ตาม
แต่หนทางข้างหน้าก็ยังอีกยาวไกลนัก

******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 19, 2022 11:03 pm

:s002: :s002: :s002: :s002:
ตอบกลับโพส