เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ชุดที่ 22

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 7:56 pm

มี4 ตอนจบ


🔥ควันมรณะ ตอนที่ ( 1 )เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Chris Bohjalian รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตลอดคืนอันหนาวเหน็บ รอน ฟอร์ด (Ron Ford) ต้องอดหลับอดนอนทาสีภายในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต
ที่เขาทำงานในเมืองลินคอล์น รัฐเนบราสกา (Nebraska) รุ่งเช้าจึงได้กลับบ้านไปนอนสักงีบก่อนจะ
กลับไปทาสีต่อจนเสร็จ ระหว่างนั้นภรรยาอยู่ที่บ้านกับลูกชายวัย 18 เดือน

“เมื่อคืนคุณทาสีที่ร้านจนไม่ได้กลับบ้านเลย” ดาเน่ภรรยาพูดขึ้น สีหน้าผิดหวัง

“พรุ่งนี้ก็วันปีใหม่แล้วนะ”

รอนถอนใจแล้วอุ้มลูกชายจากตักดาเน่มากอด เขาเข้าใจดีว่า ภรรยารู้สึกเหงา เธอกำลัง
ท้อง 6 เดือน และเขาก็เพิ่งไปทำงานหารายได้พิเศษเป็นผู้จัดการอพาร์ทเมนท์ที่พักอยู่ในเมืองโอมาฮา
(Omaha) จึงไม่ค่อยได้อยู่บ้าน

“ทำไงได้ล่ะ ผมจะรีบกลับมาแล้วกันนะจ๊ะ”

เขาพูดพลางคว้าแจ็กเก็ตมาสวม เพราะอากาศเย็นจัดอาจทำให้โรคหืดกำเริบขึ้นมาได้ ดูท่าว่า
อุณหภูมิวันนั้นคงลดต่ำใกล้ศูนย์องศาเซลเซียสเสียด้วย

รอนปิดประตูห้องพักในอพาร์ทเมนท์และเหลียวมองห้องใกล้เคียงซึ่งอยู่ชั้นสามด้วยกัน
เขานึกย้อนไปเมื่อครั้งที่พบกับ “เพ็ก แซนเดอร์”(Peck Sander) เพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกเมื่อ 3 เดือน
ก่อน เพ็กพักอยู่ในอพาร์ทเมนท์ขนาดสองห้องนอนกับเอลิซาเบธแม่วัย 79 ปี ซึ่งนอนพักฟื้นหลังจาก
ล้มป่วยด้วยโรคลมปัจจุบันและกระดูกสะโพกหัก

ตอนนั้น รอนกำลังหาโซฟาที่เก็บไว้ในห้องเก็บของอพาร์ทเมนท์แต่ไม่พบ รอนจึงคิดว่าผู้เช่า
รายอื่นคงคิดว่าเขาทิ้งแล้วเลยเอาไปใช้ก็เป็นได้ จากนั้นรอนก็ลองเคาะประตูตามห้องต่าง ๆ ถามหา
โซฟา เมื่อมาถึงห้องของเพ็ก หญิงผิวขาวร่างเล็ก เธอแง้มประตูออกมามองอย่างระแวดระวัง
“เห็นโซฟาสีเขียวของผมมั้ย” เขาถามห้วน ๆ แล้วรู้สึกตัวว่าน้ำเสียงห้วนไปหน่อยแต่ก็สายไปเสียแล้ว

หญิงคนนั้นเปิดประตูกว้างแล้วพูดอย่างคนอารมณ์เสีย “เฟอร์นิเจอร์ของฉันมีเท่านี้
ฉันจ่ายเงินซื้อมาทุกชิ้นนะ” พูดจบก็ปิดประตูทันที

รอนพบโซฟาของเขาอยู่กับเจ้าของห้องอีกรายหลังจากนั้น แต่เขากับเพ็กก็มองหน้ากันไม่ติดเสียแล้ว

ก่อนไปทำงาน รอนรู้สึกอยากคุยกับใครสักคน จึงขับรถไปเยี่ยมวอร์เรน (Warren) น้องชาย
ซึ่งพักอยู่ที่ตึกใกล้กัน บันไดสำหรับใช้ทาสีพับมัดติดอยู่บนหลังคารถตู้ของรอนส่งเสียงโคล้งเคล้ง
ขณะเลี้ยวรถเข้าไปหาน้องชาย

ระหว่างที่กำลังคุยกับวอร์เรน โทรศัพท์ก็ดังขึ้น วอร์เรนรับโทรศัพท์แล้วหันมาทางรอน
“ดาเน่โทรฯมา ไฟไหม้ที่บ้านพี่ เธอกับลูกออกมาไม่ได้”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:05 pm

🔥ควันมรณะ ตอนที่ ( 2 )เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Chris Bohjalian รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

รอนรีบวิ่งลงบันไดตึก ภาวนาในใจว่า “ขอให้ไฟไหม้แค่นิดเดียวเถอะ อย่าให้สองแม่ลูก
เป็นอะไรเลย” พอวิ่งพ้นมุมตึก ภาพตรงหน้าทำให้เขาถึงกับอ้าปากค้าง ควันทึบกำลังพวยพุ่ง
จากปล่องระบายอากาศของตึกซึ่งอยู่ห่างออกไป 30 เมตร

เขามาถึงตึกอพาร์ทเมนท์ในไม่กี่วินาที “เราลงบันไดไปไม่ได้” ดาเน่ตะโกนลงมาจาก
หน้าต่างห้องเด็กชั้นสาม “ควันหนาเกินไป”

“รออยู่ตรงหน้าต่างนั่นแหละนะ” รอนตะโกนบอก เขารู้ดีว่าตึกไม่มีบันไดหนีไฟ รอนจึงวิ่งอ้อมไป
ด้านหน้า แต่พอจะเข้าไป ควันก็พุ่งออกมากลบทั้งหน้าตาและเนื้อตัวจนถึงกับผงะ

เขาสูดลมเข้าเต็มปอดแล้วแหวกฝ่าควันทึบผ่านห้องโถงอพาร์ทเมนท์ และคลำทางไปได้จนถึงราว
บันไดไม้ แต่ราวนั้นร้อนเหมือนอิฐเผาไฟ รอนรีบกระตุกมือกลับแล้วถอยออกมา “ต้องมีทางสิน่า!”

ทันใดนั้นเขาก็นึกถึงบันไดทาสีบนหลังคารถตู้ขึ้นมาได้ บันไดสูง 7 เมตรเมื่อยืดออกคงไม่ถึงชั้นสาม
แต่ก็ใกล้มาก เขารีบวิ่งกลับออกไปตรงที่วอร์เรนกำลังตะโกนปลอบดาเน่อยู่

“ผมไปเอาบันไดก่อน”รอนตะโกน “เดี๋ยวมา”

รอนขับรถตู้มาที่ใต้หน้าต่างห้องเด็กแล้วรีบปลดบันไดลงมา แต่ยังขาดอีก 1 เมตรจึงจะถึงหน้าต่าง
รอนปีนขึ้นไปโดยมีวอร์เรนช่วยจับ เมื่อขึ้นไปถึงตัวดาเน่ เอวของรอนอยู่ระดับขอบหน้าต่างพอดี

ดาเน่เปิดหน้าต่างมุ้งลวดออก ควันทำให้น้ำตาเธอไหลพรากและเหงื่อย้อยตามแก้มกับคอ
เธอหายใจสั้น ๆ ถี่ ๆ เพื่อจะได้ไม่สูดควันฉุนเข้าไป เพราะลูกในท้องขาดออกซิเจนไม่ได้เสียด้วย

“ผมต้องพาลูกลงไปก่อน เดี๋ยวมานะ” รอนบอกภรรยา

“ค่ะ แต่เร็ว ๆ นะ ฉันเป็นห่วงลูกในท้อง” เธออุ้มลูกให้ยืนขึ้นบนขอบหน้าต่าง

รอนโน้มตัวไปข้างหน้า กางขาออกยันขอบบันได มือหนึ่งจับขอบหน้าต่างไว้มั่น แล้วใช้แขนอีกข้าง
โอบรอบเอวลูกชาย หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ไต่บันไดลงมาโดยใช้มือข้างเดียวจับราวไว้

รอนส่งลูกให้วอร์เรนแล้วรีบปีนบันไดกลับไปหาดาเน่ เสียงไซเรนรถดับเพลิงดังแว่วมาแต่ไกล แต่เขา
รอไม่ได้ มีควันลอยเป็นสายออกมาจากหน้าต่างห้องเด็กแล้ว
ดาเน่ค่อย ๆ แหย่ขาออกจากหน้าต่าง มานั่งคร่อมขอบหน้าต่างขณะที่รอนยื่นมือออกไปประคองตัวเธอ
หลังจากนั้น ดาเน่ก็บิดตัวนิดหนึ่งเพื่อเหยียดขาลงมา แต่พอมองลงไปเห็นพื้นข้างล่าง เธอก็กลับสั่นหัว

“ตั้ง 3 ชั้น!”

“ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ” รอนปลอบ

เธอพยักหน้าแล้วเหยียดขาลงมาอีก แต่พอเท้าสัมผัสบันไดขั้นแรก มันก็ทำท่าจะล้มเพราะรอนตั้งไว้
ชันเกินไป ดาเน่อ้าปากค้างขณะที่รอนรีบเอนไปข้างหน้าเพื่อประคองตัวไว้

“ไม่เป็นไรแล้ว” เขาบอก

เธอก้าวขาอีกข้างข้ามขอบหน้าต่าง แล้วทั้งสองก็เริ่มไต่บันไดลงมา เมื่อถึงพื้นโดยปลอดภัยแล้ว
ดาเน่จึงคว้าลูกขึ้นมากอด

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:08 pm

🔥ควันมรณะ ตอนที่ ( 3 )เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Chris Bohjalian รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทันใดนั้นก็มีเสียงร้องขอความช่วยเหลือดังลั่นมาจากอีกด้านของตัวตึก ยังมีคนติดอยู่ข้างใน
รอนจำได้ว่าเป็นเสียงของเพื่อนบ้านชื่อเพ็ก แซนเดอร์

เขารีบพับบันไดเก็บ แล้วช่วยกันแบกบันไดเดินอ้อมตัวตึกไปกับวอร์เรนไปทางด้านที่มีห้อง
ของเพ็ก ควันหนาทะลักออกมาจากห้องของเธอ

“ช่วยเราลงไปด้วย” เพ็กกรีดร้อง
“แม่ฉันหายใจไม่ออก”

“รอน นายกลับเข้าไปไม่ได้แล้วนะ อันตรายเกินไป”
วอร์เรนเตือน “รถดับเพลิงกำลังมาแล้ว”
“แต่ยังมาไม่ถึงนี่นา” รอนคิด

“ยังไงก็ต้องช่วยสองแม่ลูกออกมาก่อน” เขากับวอร์เรนช่วยกันกางบันไดออก
ด้านนี้ของตัวตึกตั้งอยู่บนเนินเขาลาดเล็กน้อย จึงทำให้ห้องของเพ็กอยู่สูงจากพื้นดินมากกว่าห้อง
ของรอน เขากำขอบบันไดไว้ แล้วสูดลมหายใจเข้าปอดเพื่อเตรียมตัวปีน การออกแรงและควันที่
แสบจมูกทำให้โรคหืดของเขากำเริบขึ้นมาอีก แต่เขาหยุดไม่ได้แล้ว เมื่อขึ้นไปสุดบันไดก็พบว่า
ไหล่ของเขาอยู่แค่ขอบหน้าต่างเท่านั้น

“ช่วยแม่ฉันด้วย” เพ็กอ้อนวอน “แม่ลุกจากเตียงไม่ได้
รอนมองผ่านมุ้งลวดเข้าไปอย่างไม่เชื่อสายตา เขาได้ยินเสียงไอเบา ๆ แต่ควันในห้องหนาทึบเสีย
จนเขามองอะไรไม่เห็น นอกจากหน้าตาตื่นของเพ็กที่เปื้อนเขม่าดำไปหมด

“ผมจะพาคุณลงไปก่อนแล้วกัน เดี๋ยวค่อยขึ้นมาช่วยคุณแม่” เขาพูดพร้อมทั้งกระชากมุ้งลวดออก
“ปีนออกมา เดี๋ยวผมช่วยจับให้”

“ฉันทิ้งแม่ไปไม่ได้หรอก”
รอนพยายามพูดปลอบใจเพ็กด้วยน้ำเสียงราบเรียบ “เราไม่ได้ทิ้งแม่เธอหรอก ผมจะพาคุณลงไป
ก่อนแล้วจะรีบกลับขึ้นมาครับ”

หลังจากลังเลอยู่ครู่หนึ่ง เพ็กก็เริ่มคลานออกมาทางหน้าต่าง แต่ต้องชะงักเพราะหน้าต่างติด
เขาดันหน้าต่างขึ้นไปจากขอบล่างได้เพียงเมตรเท่านั้น

“แคบเกินไป” เธอร้อง

รอนต้องหลับตาชั่วครู่เพื่อหลบควัน “เราพยายามเต็มที่แล้ว” เขาคิด “หมดหวังจริง ๆ” แต่แล้ว
เขาก็ได้ยินเสียงแม่ของเพ็กไอแผ่ว ๆ เขาคว้าขอบโลหะของบานหน้าต่างแล้วกระชากหน้าต่าง
อย่างแรงจนหน้าต่างหล่นไปแตกอยู่ข้างล่าง

“มาได้แล้ว” เขาบอกเพ็ก

เพ็กแหย่ขาข้างหนึ่งข้ามหน้าต่าง แต่แล้วก็หดกลับเข้าไปด้วยความกลัว
“สูงเกินไป ฉันกลัวตก”

รอนเอื้อมมือไปจับแขน แล้วจ้องตาเธอ “ไม่ตกหรอก ผมอยู่นี่ทั้งคน” เขาพูด
“ขึ้นมานั่งบนขอบหน้าต่างนี่ เดี๋ยวผมช่วยเอง”

“ก็ได้” เธอหันหลังเพื่อนั่งลงบนขอบหน้าต่างแล้วเขยิบออกมา

รอนใช้เข่าดันไว้กับตัวตึกพลางเอื้อมมือไปช้อนสะโพกยกเพ็กออกจากหน้าต่าง จังหวะนั้น
ทั้งสองทำท่าจะเสียหลัก แต่รอนรีบเอนตัวเข้าหาตึก แล้วช่วยเพ็กวางเท้าลงบนขั้นบันไดได้สำเร็จ
“ค่อย ๆ ก้าวลงไปทีละก้าวนะ” รอนบอก แล้วทั้งสองก็ค่อย ๆ ลงบันไดไป

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:12 pm

🔥ควันมรณะ ตอนที่ (4)(ตอนจบ) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Chris Bohjalian รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ร้อยตำรวจเอกโจ แอ็ดเล่อร์มาถึงที่เกิดเหตุพร้อมกับทีมนักผจญเพลิง และประหลาดใจที่เห็นคน
สองคนกำลังไต่บันไดลงมา วอร์เรนถลาเข้ามาตะโกนว่า “มีผู้หญิงติดอยู่บนชั้นสาม เธอเดินไม่ได้”

โจรู้ว่าเสี่ยงเกินไปที่จะนำคนทุพพลภาพลงทางบันได เขารีบพาลูกน้องเข้าไปทางห้องโถงของตึก
ซึ่งมีควันหนาทึบ ทุกคนสวมหน้ากากออกซิเจนวิ่งฝ่าขึ้นไปชั้นบนทั้งที่ไม่เห็นทาง

รอนกับเพ็กรู้ว่ารถดับเพลิงมาถึงแล้ว แต่ยังคงยืนอยู่ใต้หน้าต่างห้องเพ็ก และไม่เห็นพนักงาน
ดับเพลิงสักคน

“คุณต้องช่วยแม่ฉันนะ” เธออ้อนวอน รอนจึงไต่บันไดขึ้นไปอีกครั้งเป็นครั้งที่สี่ เพราะเกรงว่า
หญิงชราจะเหลือเวลาน้อยเต็มที

เมื่อขึ้นไปถึงหน้าต่างชั้นสาม รอนรีบเหวี่ยงตัวเข้าไปในห้อง เขามองอะไรไม่เห็นแต่ได้ยินเสียง
หายใจของเอลิซาเบธอยู่ใกล้ ๆ จึงคลานไปตามเสียงและคลำถูกโครงเหล็กอะไรสักอย่าง
“เตียงคนไข้นั่นเอง”

รอนตะกายลุกขึ้น ช้อนแขนใต้ร่างหญิงชราซึ่งหมดสติ แต่ตัวเขาเองก็หลงทิศเสียแล้ว จึงต้องหันไป
รอบ ๆ เพื่อมองหาหน้าต่างซึ่งมีแสงลอดฝ่าควันหนาเข้ามา

เมื่อไปถึงหน้าต่าง เขามองลงไปยังบันไดขั้นบนซึ่งอยู่ห่างจากขอบหน้าต่างลงไป 1 เมตร เขาจะ
ลงไปได้อย่างไรในเมื่อต้องอุ้มหญิงชราไว้เช่นนี้ แต่ไม่มีทางเลือกแล้ว
รอนยกศีรษะหญิงชราออกไปนอกหน้าต่างเพื่อให้เธอได้หายใจ แต่ตัวเขาเองกลับไอจนตัวงอ
จึงต้องชะโงกตัวออกไปนอกหน้าต่างเป็นครั้งคราวเพื่อช่วยให้เจ็บคอน้อยลง เขาเห็นเพ็กกำลัง
จ้องมาทางเขาอย่างเป็นห่วง มีดาเน่กับวอร์เรนยืนอยู่ข้าง ๆ

“พี่ต้องออกมาแล้วนะ” วอร์เรนตะโกนขึ้นมา

“ขืนทิ้งเธอไว้ เธอตายแน่” รอนตะโกนตอบ

“รอน ลงมาเถอะค่ะ” ดาเน่อ้อนวอน

รอนรู้สึกวิงเวียน แต่ยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่คอและหน้าอก
เขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตายพร้อมหญิงชรา

และแล้วรอนก็ได้ยินเสียงโจกับทีมนักผจญเผลิงพังประตูเข้ามา โจเห็นว่ารอนกำลังจะเป็นลม
จึงรีบเข้าไปอุ้มหญิงชราแล้วส่งหน้ากากให้เขา

“รีบออกไปได้แล้ว”
โจบอก เขาเห็นรอนพุ่งศีรษะออกไปนอกหน้าต่าง ใช้มือจับขอบบันไดไว้แล้วเหวี่ยงตัวกลับมายืน
บนขั้นบันไดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซ้ำยังกอดบันไดแล้วรูดตัวลงไปข้างล่างอย่างปลอดภัย ไม่กี่นาทีต่อมา
พนักงานดับเพลิงก็หามหญิงชราซึ่งใส่หน้ากากออกซิเจนออกมาจากตึก

เจ้าหน้าที่รีบนำรอนและเอลิซาเบธส่งโรงพยาบาลเมธอดิสต์ (Methodist) ในเมืองโอมาฮา รอนอยู่ที่
โรงพยาบาลจนถึงบ่ายหลังจากแน่ใจว่าปอดไม่เป็นอะไร ส่วนเอลิซาเบธออกจากโรงพยาบาลอีก 4 วัน
ต่อมา

วันที่ 23 มีนาคม 2537 ดาเน่คลอดลูกสาวสุขภาพแข็งแรงชื่อแอนเจลิกา ส่วนรอนได้รับยกย่องชมเชย
ในความกล้าหาญและรับมอบกุญแจเมืองจากนายกเทศมนตรีเมืองโอมาฮา

สัมพันธภาพระหว่างรอนกับเพ็กเปลี่ยนไปอย่างมากหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ รอนกับดาเน่พูดคุยกับเพ็ก
เป็นประจำ และเขายังซ่อมรถคันเก่าของเธอให้ด้วย เพ็กขอรูปแอนเจลิกามาใส่ไว้ในกระเป๋า
เอาไว้อวดคนรู้จัก

ครั้งหนึ่งที่เข้าไปเยี่ยมเอลิซาเบธในห้องพัก รอนยืนอยู่ข้างเตียงของหญิงชราและรู้สึกประหลาดใจ
ตัวเองเมื่อก้มลงจูบหน้าผากเธอ หลังจากที่เธอเงยหน้าขึ้นมายิ้มให้

เพ็กเดินเข้ามาในห้องพร้อมเครื่องดื่ม 2 แก้ว ส่งแก้วหนึ่งให้รอน แล้วชูอีกแก้วในมือ

“ขอดื่มให้วีรบุรุษ...ขอดื่มให้เพื่อน”

************************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:19 pm

(มี13 ตอน)

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 1 ) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ในยุคที่สงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุด เรือดำน้ำโซเวียตเก่าคร่ำคร่าติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ออก
ลาดตระเวนชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ หากได้รับคำสั่ง ผู้การเรือลำนี้พร้อมจะทำลายเมืองต่าง ๆ
ของสหรัฐฯ เพียงแค่กดปุ่ม แต่เขาหารู้ไม่ว่า ก่อนการลาดตระเวนครั้งนั้นจะเสร็จภารกิจ อาวุธของเขา
จะกลับมาคุกคามทั้งตัวเขาเองและลูกเรือที่เกือบจะกลายเป็นหายนะทางนิวเคลียร์ และเรื่องราวที่เกือบ
จะกลายเป็นหายนะทางนิวเคลียร์นี้ก็ได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรก

ผู้การบริตานอฟ (Captain Britanov) จิบน้ำชาพลางฟังเสียงเรือ หลังจากออกทะเลมาแรมเดือน เขา
ไม่ได้ยินเสียงอื่นใดนอกจากเสียงอึกทึกของเครื่องยนต์กลไก เสียงไอน้ำ และเสียงเอะอะโครมคราม
ของเครื่องยนต์ 2 เครื่องในเรือดำน้ำ โลกของเขาคือศูนย์ยุทธการในเรือดำน้ำ สภาพภายในเป็น
ห้องเพดานต่ำร้อนอบอ้าว ทหาร 20 คนอัดทะนานทำงานอยู่ในห้องแคบ ๆ นั้น เสียงครางกระหึ่มของ
เครื่องจักรและเสียงใบพัดหมุนกระฉึกกระฉักหนวกหูเหมือนกับโรงงานมากกว่าจะเป็นมันสมองของ
เรือดำน้ำติดขีปนาวุธ

วันที่ 3 ตุลาคม 2529 เรือดำน้ำเค-219 (K-219 Submarine ) ในการควบคุมของผู้การบริตานอฟ
แล่นอยู่ในน่านน้ำแอตแลนติกเหนือห่างจากนครนิวยอร์กไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1,200 ไมล์
ทะเล (2,200 กม.) ผู้การบริตานอฟได้รับมอบหมายให้ลาดตระเวนชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อข่มขวัญศัตรูด้วย
ประสิทธิภาพการทำลายในชั่วพริบตา

ช่วงประมาณปี 2525 สงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ กำลังจะยุติ แต่กองเรือขีปนาวุธ
ของทั้งสองฝ่ายยังอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง ปกติจะมีเรือดำน้ำขีปนาวุธของ
สหภาพโซเวียต 3 ลำตระเวนชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ทุกลำติดขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์เล็งเป้า
ไปที่เมืองหลัก ๆ ของสหรัฐฯ

การปฏิบัติงานของผู้การบริตานอฟในน่านน้ำนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์เกือบจะสิ้นสุดแล้ว ผู้การกำลังมุ่ง
ลงใต้เพื่อลาดตระเวนแถบเบอร์มิวดา (Burmuda) เป็นครั้งที่สองก่อนจะผลัดเวรกับเรือติดขีปนาวุธลำอื่น

การลาดตระเวนแบบนี้กระทำกันอย่างต่อเนื่อง ทันทีที่เรือดำน้ำลำหนึ่งมุ่งหน้ากลับบ้าน กองบัญชาการ
กองทัพเรือโซเวียตจะส่งอีกลำมารับช่วงภารกิจต่อทันที ราวปลายปี 2529 จังหวะการผลัดเวรปฏิบัติการ
ดังกล่าวเริ่มมีปัญหา เพราะกองเรือของโซเวียตหาเรือดำน้ำไปผลัดเวรลำบากขึ้นทุกที จนถึงกับส่งเรือเก่า
คร่ำคร่าอย่างเค-219 ไปปฏิบัติการ

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:22 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ (2) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวม
และเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อโซเวียตนำเรือดำน้ำขีปนาวุธลำนี้ออกปฏิบัติการครั้งแรกในปี 2514 เรือลำนี้มีความเร็ว
ขณะอยู่ใต้น้ำเกือบ 30 นอต (1 นอต : knot หรือ 1 ไมล์ทะเล = 1.852 กม./ชม.) แต่ในการปฏิบัติการ
ครั้งนี้ในปี 2529 มีความเร็วแทบไม่ถึง 25 นอต เค-229 เป็นเรือดำน้ำขนาด 9,300 ตัน บรรทุกเตา
ปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่องซึ่งเป็นรุ่นโบราณและอันตราย ลูกเรือ 119 คนแออัดกันในตัวเรือเก่าที่
รายรอบไปด้วยกัมมันตภาพรังสีและสารพิษเคมี

ภายในเรือลำนี้ซอยพื้นที่ออกเป็นสิบห้องพร้อมระบบประตูกั้นน้ำที่ผนึกแน่นกั้นแต่ละห้อง
ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ผู้การเรือต้องวิตกคือ บริเวณห้องหมายเลข 4 ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่และปิดกั้นไว้
เป็นที่บรรจุขีปนาวุธ 16 ลูกท่อที่ใช้เก็บขีปนาวุธเป็นท่อขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 2 เมตร
สูงราว 10 เมตร ขีปนาวุธเหล่านี้เป็นอันตรายกับเรือดำน้ำเองพอ ๆ กับที่เป็นอันตรายต่อศัตรู จรวด
เหล่านี้ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวระเหยง่าย 2 ตัวคือไนโตรเจน เตโตรไซด์ (Nitrogen tetroxide)
กับไฮดราซีน (Hydrazine) ซึ่งจุดระเบิดเมื่อสัมผัสกัน ไนโตรเจน เตโตรไซด์ยังมีปฏิกิริยาอย่างฉับไว
หากสัมผัสน้ำทะเลจะกลายเป็นกรดไนตริก (nitric acid) อานุภาพร้ายแรงกัดกร่อนได้ทุกอย่าง ไม่ว่า
จะเป็นสายไฟ ผนึกฝากั้นน้ำหรือแม้กระทั่งตัวถังอะลูมิเนียมของขีปนาวุธ
ท่อบรรจุขีปนาวุธทั้งหมดติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้พร้อม มีการตรวจวัดปริมาณน้ำที่ซึมเข้าไปในท่ออย่าง
เข้มงวด ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญ เพราะเคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในท่อที่ 16 มาแล้ว

อุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นหลังจากเรือ K-219 ออกปฏิบัติการได้สองปีแรก ส่งผลให้ลูกเรือคนหนึ่งเสียชีวิต
และน้ำท่วมในท่อเก็บขีปนาวุธ แต่ผู้การเรือจัดการนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำและสูบน้ำออกจากท่อได้สำเร็จ
ตั้งแต่วันแรกที่เรือดำน้ำเค-219 ออกจากท่าเพื่อทำภารกิจครั้งนี้ นายทหารการอาวุธอเล็กซานเดอร์
เปตราคอฟ (Alexander Petrachkov) ตรวจสอบเครื่องวัดน้ำในท่อที่ 6 และพบว่ามีน้ำทะเลรั่วซึมอยู่
ตลอดเวลา เขาให้ลูกน้องสูบน้ำออกวันละ 2 ครั้งตั้งแต่วันนั้น ถึงตอนนี้ 2 ครั้งก็ยังเอาไม่อยู่ น้ำรั่วซึม
เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:29 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 3 )เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)แผนระห่ำอีวาน

ผู้การบริตานอฟเห็นว่าการมีอุปสรรคและการแก้ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของงานกัปตัน ผู้การ
วัย 36 เป็นหนุ่มรูปงามหนวดสีน้ำตาลดกครึ้มทำให้ดูเหมือนโจรสลัด ท่านเป็นคนสุขุมและฉลาด
ก้าวจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุอิเล็กทรอนิกขึ้นมาเป็นผู้การ ถือว่าเป็นเส้นทางขึ้นสู่ตำแหน่ง
ผู้การเรือดำน้ำที่ไม่ธรรมดา บรรดาเพื่อนฝูงบอกว่าท่านเป็นนักวางแผนตัวยง เป็นเซียนหมากรุกที่
เล่นกับตัวหมากขนาด 9,300 ตัน ท่านรู้ดีว่าต้องเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ยามที่ออกลาดตระเวน

ก่อนออกเดินทาง ลูกเรือของท่านต้องเข้าผลัดทำงานตลอดวันตลอดคืนเพื่อเตรียมเรือเค-219 ให้อยู่
ในสภาพพร้อมปฏิบัติการได้ตลอดเวลา ทุกคนรู้ว่าต้องมีปัญหาเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา สำหรับครั้งนี้
ผู้การบริตานอฟคิดว่าจะใช้เวลา 3 เดือนในช่วงลาดตระเวนแก้ปัญหาเล็กน้อยต่าง ๆ ซึ่งทหารช่างที่
ฐานทัพเรือยังซ่อมไม่เสร็จหรือไม่ยอมซ่อมให้
ท่านยังคาดไว้ด้วยว่า เมื่อถึงบริเวณทะเลเปิด ฝ่ายสหรัฐฯจะต้องจับตาดูเรือลำนี้ใต้ทะเลเป็นอาณา
บริเวณที่ใช้เล่นเกมสงครามเย็นได้ยอดเยี่ยมที่สุด
ฝ่ายสหรัฐฯ มีอุปกรณ์ค้นหาเรือดำน้ำที่น่าเกรงขามหลายอย่าง เช่น การตรวจการณ์ทางอากาศ
การติดตั้งแนวคลื่นเสียงใต้น้ำ และที่น่ากลัวที่สุดคือเรือดำน้ำล่าสังหาร เรือพวกนี้มีเครื่องมือโซนาร์
ชนิดดักฟังที่มีความไวต่อเสียงมาก สามารถรับสัญญาณเสียงจากเรือของผู้การบริตานอฟได้แม้จะ
อยู่ไกลหลายสิบกิโลเมตร

บางครั้ง เรือสหรัฐฯ ก็โผล่มาใกล้เหมือนผีหลอก ทั้งนี้เพราะความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่า
ทำให้สามารถติดตามเป้าหมายเรือโซเวียตได้โดยอีกฝ่ายไม่รู้ตัว ผู้การบริตานอฟซึ่งบังคับการเรือเก่า ๆ
จำต้องอาศัยไหวพริบในการล่อหลอกเพื่อสกัดเรืออเมริกันที่มีเทคโนโลยีเหนือชั้นกว่าได้

ขณะนั้นเป็นเวลา 22.00 น. ผู้การฯ เพิ่งติดต่อไปที่มอสโก จากระดับความลึกของกล้องเพริสโคป
(periscope) และรู้ว่ามีเรือดำน้ำสหรัฐฯ กำลังตามพวกเขาอยู่ “ตอนนี้อาจถึงเวลากวนน้ำให้ขุ่นแล้ว”

ท่านคิดเล่น ๆ “อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้ลูกเรือตื่นตัวขึ้น”

“ยามถือท้าย เตรียมการนำเรือหลบหลีก พลประจำโซนาร์เตรียมพร้อม ผมรู้สึกว่าเราอาจจะได้เล่นงาน
พวกอเมริกันทีเผลอแล้ว”

ยุทธวิธีที่เรือดำน้ำโซเวียตใช้คือ หักเลี้ยวและดำดิ่งในมุมแคบเพื่อเปลี่ยนทิศทางอย่างฉับพลันไม่ให้
เรือดำน้ำของศัตรูที่กำลังสะกดรอยตามได้ตั้งตัวและจำต้องเปิดเผยตำแหน่งเรือของตนเอง หัวเรือเค-219
จะพุ่งเข้าใส่เส้นทางเรือดำน้ำอีกฝ่าย จนฝ่ายนั้นต้องเลือกว่าจะหยุดกะทันหันหรือเลี้ยวหลบอย่างรวดเร็ว
จนใบพัดเรือหมุนวกวนน้ำเพื่อเลี่ยงไม่ให้ถูกชน และผู้การจะใช้เสียงน้ำม้วนตัวหาตำแหน่งเรือที่เงียบกริบ
ของฝ่ายสหรัฐฯได้ในที่สุด ฝ่ายสหรัฐฯเรียกแผนนี้ว่า “แผนระห่ำอีวาน” เป็นยุทธการที่พวกเขาเกลียดมาก

ผู้การบริตานอฟเอื้อมมือคว้าคันเหล็กเหนือศีรษะยึดตัวเอง ก่อนจะตะโกนสั่งว่า “แพนหางเรือ ซ้ายหมด”

เรือเค-219 ทิ่มหัวดิ่งลง บรรดาลูกเรือในศูนย์ยุทธการรู้สึกเสียววูบเหมือนตัวจะลอยจากพื้นแบบเดียว
กับผู้โดยสารในลิฟต์รู้สึกเวลาที่ลิฟต์กำลังหล่นวูบลงสู่เบื้องล่าง จากนั้นเรือดำน้ำก็เอียงข้าง
อย่างรวดเร็วเหมือนเครื่องบินไอพ่นเลี้ยวทำมุมแคบ ๆ

เรือออกัสตา (Submarine Augusta) ภายใต้บัญชาการของนาวาโทเจมส์ วอน ซัสคิล
(Captain James von Suskil) ติดตามเรือโซเวียตอย่างระมัดระวังทันทีที่เครื่องโซนาร์ตรวจจับสัญญาณ
เรืออีกฝ่ายที่อยู่ห่างไปราว 50 กิโลเมตรได้ ผู้การซัสคิลเป็นคนเข้มงวด แข็งกร้าวและเป็นตัวของตัวเอง
เรือโซเวียตขณะนี้อยู่ในตำแหน่งที่จะโจมตีสหรัฐฯ ได้อย่างง่ายดาย

นี่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมท่านถึงมีอำนาจตัดสินใจว่า จะเลือกใช้มาตรการใดที่คิดว่าเหมาะสมหากอีกฝ่าย
เริ่มมีพิรุธ โดยเฉพาะถ้าดูเหมือนว่าฝ่ายนั้นเตรียมพร้อมโจมตีด้วยขีปนาวุธ

เมื่อผู้การซัสคิลได้ยินพลประจำโซนาร์ร้องตะโกนว่า

“แผนระห่ำอีวาน” ท่านตัดสินใจนั่งรอแล้วปล่อยให้เรือรัสเซียเข้าใกล้ จากนั้นก็จะส่งคลื่นเสียงโซนาร์
ไปยังเรือของอีกฝ่าย ในหมู่เรือดำน้ำ การส่งคลื่นโซนาร์นั้นถือเสมือนการท้าทายฝ่ายศัตรู เหมือนกับ
เครื่องบินรบบินโฉบเข้าใส่เป้าหมาย

ระยะห่างระหว่างเรือดำน้ำทั้งสองหดสั้นลงทีละน้อย สักครู่ต่อมา ผู้การซัสคิลได้ยินเสียงบางอย่าง
ท่านมองไปยังลูกเรือในห้องยุทธการ พวกนั้นก็ได้ยิน “เสียงระเบิดแว่วดังก้อง”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:33 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 4 )เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)ระเบิดเวลา

เมื่อเริ่มปฏิบัติการตาม “แผนระห่ำอีวาน” ลูกเรือเค-219 รู้สึกว่าตัวเรือเอียงวูบทันที แต่ละคน
ต่างคว้าอะไรก็ได้ที่ใกล้ตัวยึดไว้ ทันใดนั้น เสียงสัญญาณเตือนภัยจากท่อเก็บขีปนาวุธที่ 6 ก็ดังขึ้น
นายทหารการอาวุธอเล็กซานเดอร์เผ่นขึ้นบันไดและวิ่งไปที่แผงควบคุม เขากดปุ่มเปิดเครื่องสูบน้ำ
ในท่อที่ 6 และกระโจนไปปิดสัญญาณเตือนภัย เสียงสัญญาณอีกตัวดังขึ้น เข็มชี้ของเครื่องตรวจไอพิษ
จากสารเคมีตีขึ้นไปถึงขีดสีแดง

ดูเหมือนว่าน้ำทะเลจะซึมเข้าไปจนสัมผัสเชื้อเพลิงของขีปนาวุธ กลายเป็นกรดไนตริกภายในท่อที่ 6
และอาจกัดกร่อนเข้าไปถึงแกนสำคัญของจรวด”RSM 25” การระเบิดอาจเกิดขึ้นได้ทุกวินาที
ฝันร้ายกำลังกลายเป็นจริง

อเล็กซานเดอร์คว้าไมโครโฟนติดต่อภายใน “น้ำทะเลเข้ามาหนักมากในท่อที่ 6 และมีแก๊สด้วย”

ขณะที่เรือดำน้ำลอยขึ้น เขาเปิดฝาปิดสวิตซ์สีแดงซึ่งมีหมายเลข “6” กำกับอยู่ หมุนคันโยกสีแดง
คลายล็อกเพื่อเปิดฝาท่อขีปนาวุธ แต่กว่าจะเปิดออกก็คงอีกหลายนาที ขณะเดียวกันสัญญาณเตือนภัย
จากควันพิษของสารเคมียังไม่หยุดแผดเสียง ทุกช่องประตูในห้องขีปนาวุธใช้ฝากันน้ำปิดแน่นเพื่อ
ป้องกันและสกัดปัญหาลุกลาม อเล็กซานเดอร์ตะโกนใส่เครื่องติดต่อภายในเตือนบรรดาลูกเรือที่ยืน
ตะลึงอยู่ในห้องขีปนาวุธว่า

“ใส่หน้ากากออกซิเจนเดี๋ยวนี้”

ทันทีที่ได้ยินรายงานวิกฤต ผู้การบริตานอฟกดสัญญาณเตือนภัย ส่งเสียงสั่งผ่านเครื่องติดต่อ
ภายในว่า “แก๊สพิษในท่อที่ 6 นี่ไม่ใช่การซ้อม”

เรือดำน้ำที่อยู่ในระหว่างการลอยตัวขึ้นขณะเกิดระเบิดขนาดใหญ่กลางลำเรือ ไฟในศูนย์ยุทธการ
กะพริบเหมือนกำลังจะดับ เสียงระเบิดดังก้องตลอดลำเรือ ฝาปิดท่อขีปนาวุธเปิดออกด้วยแรงระเบิด

เชื้อเพลิงขีปนาวุธที่รั่วออกมาจุดชนวนให้เกิดระเบิดในท่อที่ 6 ซากเศษจรวดเป็นชิ้น ๆ กระเด็นออกมา
ข้างนอก รวมทั้งหัวรบนิวเคลียร์ 2 หัวหลุดลงสู่ก้นทะเล จากนั้นวัตถุระเบิดร้ายแรงรอบ ๆ แกนพลูโตเนียม
ของหัวรบนิวเคลียร์แตกเป็นชิ้น ๆ เศษสารกัมมันตรังสีกระจายไปทั่วมหาสมุทร น้ำทะเลซึ่งเป็นตัวกระตุ้น
ชิ้นส่วนพลูโตเนียมและเชื้อเพลิงขีปนาวุธระเบิดผ่านรอยแตกที่เดิมเคยมีฝาท่อขีปนาวุธปิดอยู่

เรือดำน้ำหยุดลอยขึ้นและเริ่มดำดิ่งลงโดยไม่อาจควบคุมได้สู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือซึ่งมี
ความลึกประมาณ 5,600 เมตร

ขณะที่เสียงสะท้อนของระเบิดแผ่วหายไป พลประจำโซนาร์เรือออกัสตารายงานว่า มีเสียงน้ำไหลทะทัก
เข้าไปในท่อกลวง ซึ่งอาจเดาได้ว่าเรือดำน้ำโซเวียตเตรียมยิงขีปนาวุธ ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้การซัสคิล
จะต้องยิงตอร์ปิโดจมเรืออีกฝ่ายทันที เพื่อสกัดไม่ให้ขีปนาวุธแต่ละลูกของศัตรู และเป็นการช่วย
ให้เมืองที่เป็นเป้าหมายรอดปลอดภัย

พลประจำโซนาร์ตรวจสอบภาพบนหน้าจอ เขาเห็นเป้า 2 เป้าในทะเล คือ เรือดำน้ำและขีปนาวุธ

ผู้การซัสคิลรู้ตำแหน่งแน่นอนของเรือดำน้ำศัตรู ท่านพร้อมจะกำจัดเรือลำนั้นอยู่แล้ว แต่แล้วพล
ประจำโซนาร์ก็ตะโกนขึ้นว่า “ขีปนาวุธลอยอยู่เฉย ๆ” ส่วนเรือดำน้ำก็ได้ยินเป็นเสียงกำลังจมดิ่งอย่างรุนแรง
พร้อมกับพยายามขับน้ำออกจากถังอับเฉาเพื่อให้เรือลอยตัว ใช่แล้ว เรือโซเวียตกำลังดิ้นรนเพื่อรักษาตัวรอด

เสียงลางร้ายผ่านเข้ามาทางเครื่องจับเสียงซึ่งติดอยู่ที่หัวเรือกลมมนของเรือออกัสตา เสียงเหมือนน้ำรั่วไหล
ทะลักและผุดเป็นฟองออกจากบริเวณลำเรือที่แตก เสียงที่ได้ยินอาจหมายความว่า มีคนกำลังจะตาย
พวกเขาเป็นคนเหมือนกับตัวท่านและลูกเรือของท่านเองนั่นแหละ ผู้การซัสคิลไม่รู้จะช่วยพวกเขาได้อย่างไร

“อะไรล่ะที่ระเบิด” ถ้าเป็นเตาปฏิกรณ์ของเรือดำน้ำจะต้องเกิดปัญหาการปนเปื้อนของนิวเคลียร์แน่
ผู้การซัสคิลสั่งให้ลอยเรือขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อติดต่อผู้บัญชาการ

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:40 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 5 ) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวม
และเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)กลิ่นอายมรณะ

เรือดำน้ำโซเวียตดิ่งลงทะเลลึกเกือบ 90 เมตรแล้วตอนที่ผู้การบริตานอฟสั่งให้ระบายน้ำ
ออกจากถังอับเฉา เขาตัดสินใจแล้วว่า สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือต้องกระทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิต
ลูกเรือทั้ง 119 นาย เขาอาจต้องยอมทำ “บาปที่ไม่อาจให้อภัยได้” นั่นคือยอมปรากฏตัวให้ศัตรูเห็น
ซึ่งหมายความว่า ภารกิจและชีวิตการงานของเขาเป็นอันจบสิ้น

จากนั้นอาการจมดิ่งของเรือเค-219 เริ่มชะลอลง เรือค่อย ๆ ลอยขึ้น “พระแม่เจ้า” บางคนในศูนย์
ยุทธการอุทานเสียงแผ่วเบา

เมื่อเรือลอยขึ้น กรงเล็บของความดันน้ำที่อยู่รอบตัวเรือค่อยคลายลง ผนังเรือครวญครางดังเอี๊ยดอ๊าด
สักครู่เรือดำน้ำก็โผล่พ้นผิวน้ำ หลังเหตุระเบิดแค่ 2 นาที

แต่ผู้การบริตานอฟรู้ดีว่ายังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เสียงสัญญาณเตือนภัยยังคงดังขึ้นจากจุดต่าง ๆ
จากนั้นก็มีเสียงอู้อี้ออกมาจากเครื่องติดต่อภายใน เป็นเสียงคนพูดผ่านหน้ากากยางหนาหนัก
“ห้องที่ 4 มีควันเต็มไปหมด อเล็กซานเดอร์หมดสติไปแล้ว” เสียงจากเครื่องติดต่อภายในเงียบไป
ครู่หนึ่งก่อนที่จะดังขึ้นมาใหม่ “ข้างในนี้ร้อนมาก น้ำ ควันไฟและควันพิษเต็มไปหมด
ขออนุญาตอพยพคนออก”

เมื่อได้ยินดังนั้น ผู้การบริตานอฟสั่งผ่านไมโครโฟนว่า “ทุกคนใส่หน้ากากออกซิเจน” จากนั้นท่านก็
ส่งหน่วยกู้ภัยไปยังห้องที่ 4

อีกอร์ (Igor) แพทย์ทหารประจำเรือยืนรออยู่นอกห้องขีปนาวุธ หมอหนุ่มใส่หน้ากากออกซิเจนเตรียม
พร้อมช่วยผู้บาดเจ็บ จากฝาช่องที่เปิดอยู่ เขาเห็นควันสีน้ำตาลเต็มห้องขีปนาวุธ ควันพิษแพร่กระจาย
ไปทั่ว ผู้การออกคำสั่งให้ถอยไปห้องที่ 7 ที่นั่นหมอให้การช่วยเหลือลูกเรือ 2 คนที่หมดสติ เลือดไหล
เป็นฟองจากจมูกและปาก
หมอรู้ดีว่า นั่นคือพิษของไนโตรเจนไดออกไซด์ เลือดที่ไหลออกมาเป็นฟองเกิดจากปฏิกิริยาของ
เยื่อบุต่อควันพิษที่อาจคร่าชีวิต ซึ่งกลายเป็นกรดไนตริกเมื่อสูดดมเข้าไป กรดที่ว่านี้ร้ายแรงพอที่
จะกัดกร่อนผนังโลหะของขีปนาวุธได้ แล้วปอดคนหรือจะทานไหว

หมอหนุ่มพยายามสุดกำลังที่จะช่วยให้ลูกเรือทั้งสองฟื้น เขาทิ่มเข็มฉีดยาทะลุผ่านเสื้อยางกันน้ำ
แต่เมื่อไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนมาเป็นปั๊มหัวใจแทน ทว่าสิ้นหวัง ทหารเรือทั้งสองนายเสียชีวิตแล้ว

ระหว่างนั้น ทีมกู้ภัยกลับไปยังห้องที่ 4 เพื่อหาตัวอเล็กซานเดอร์ และพบเขาในสภาพหน้ากาก
ออกซิเจน ปิดอยู่ครึ่งหน้า เขาเสียชีวิตแล้วเช่นกัน
ท้ายที่สุด ทีมกู้ภัยจัดการพาตัวคนอื่น ๆ ออกจากห้องที่ 4 ได้สำเร็จ หลังจากตรวจดูจนทั่วอีกครั้งว่า
ไม่มีใครหลงเหลืออยู่ ก่อนจะออกจากห้อง พวกเขากระแทกประตูเหล็กหนักอึ้งปิดและหมุนวงล้อ
เพื่อล็อกจนแน่น

“ดูนั่นสิ” ลูกเรือคนหนึ่งพูดพร้อมกับชี้ไปข้างหน้า
หมอกควันพิษสีน้ำตาลลอยเป็นสายซึมออกมาตามของฝาประตู พวกเขาเปิดประตูและกระแทกปิด
อีกหน ขันล้อล็อกให้แน่นยิ่งขึ้น แต่ควันพิษยังคงซึมผ่านออกมา

พวกเขาเปิดประตูเป็นรอบที่สาม ตรวจดูยางบุขอบ กรดไนตริกกัดทำลายยางขอบประตูจนสึก
ผู้การบริตานอฟหวั่นใจว่าส่วนผสมของเชื้อเพลิงขีปนาวุธกับน้ำทะเลกำลังจะกัดกร่อนชิ้นส่วน
สำคัญของเรือดำน้ำ กว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดในห้องขีปนาวุธได้ก็อาจสายไปเสียแล้ว เพราะสารพิษ
อาจกัดกร่อนเรือทั้งลำจนหมดสิ้น ถ้ากรดนี้สามารถทำลายยางขอบประตูซึ่งอยู่ห่างไกลจุดระเบิด
แล้วบรรดากลไก ควบคุมที่อยู่ติดกันนั้นจะเหลืออะไร ตรงนั้นมีทั้งระบบควบคุมเครื่องยนต์ ขีปนาวุธ
และเตาปฏิกรณ์ 2 เครื่องลูกเรือในชุดป้องกันพิเศษกลับไปยังห้องที่ 4 อีกครั้งเพื่อรายงานความเสียหาย
และกลับออกมาพร้อมข่าวร้าย ไฟไหม้ลุกลามน่ากลัวที่บริเวณส่วนล่างของห้องขีปนาวุธ ผู้การบริตานอฟ
กลัวว่าความร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกทีอาจจุดเชื้อเพลิงขีปนาวุธให้ระเบิดได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นก็สุดจะ
คาดเดาว่าความหายนะนั้นจะร้ายแรงเพียงไร

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:44 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 6 ) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)“เราอาจเผชิญวิกฤต”

หลัง 7.00 น.เล็กน้อย นาวาโทไมเคิลรับสายที่ทำเนียบขาว นาวาโทไมเคิลเป็นผู้อำนวยการ
ศูนย์รับเรื่องวิกฤตของทำเนียบขาว ศูนย์นี้มีหน้าที่กรองและวิเคราะห์ข่าวจากทั่วโลกนำเสนอต่อ
ประธานาธิบดีเรแกน

วันนั้น เขามาทำงานแต่เช้าตรู่ ช่วงอาทิตย์นั้นมีงานหลายอย่างรออยู่ ประธานาธิบดีเรแกนเพิ่ง
เดินทางไปแคมป์เดวิดเพื่อเตรียมประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีมิฮาอิล กอร์บาชอฟ
(Mikhail Gorbachev)ที่ประเทศไอซ์แลนด์ในสัปดาห์หน้า

โทรศัพท์มาจากนายทหารประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารเรือ “สวัสดี ไมค์” เขาเริ่มเรื่อง “
เราอาจเผชิญภาวะวิกฤตที่ต้องรายงานคุณด่วน มีเรือดำน้ำโซเวียตประสบปัญหานอกฝั่งเบอร์มิวดา
ดูเหมือนจะค่อนข้างร้ายแรง เกิดระเบิดบนเรือ อาจจะเป็นขีปนาวุธก็ได้”

“เตรียมรายละเอียดทั้งหมดให้ประธานาธิบดีเรแกนด้วยครับ” ว่าแล้วไมเคิลก็ขึ้นไปรายงานสรุป
ให้พลเรือโทจอห์น ผู้ช่วยหน่วยรักษาความมั่นคงแห่งชาติรับทราบ จากนั้นจึงโทรศัพท์รายงาน
ประธานาธิบดีเรแกนที่แคมป์เดวิด ตลอดวันนั้นเขาคอยส่งข่าวคืบหน้าเกี่ยวกับเรือดำน้ำโซเวียต
ให้พลเรือโทจอห์นทราบทุกระยะ

ไมเคิลเห็นภาพถ่ายทางอากาศของเรือดำน้ำโซเวียตที่กำลังประสบปัญหา ดูสภาพแล้วท่าจะแย่จริง ๆ
กลุ่มควันสีเหลืองลอยขึ้นมาจากรูโหว่บริเวณดาดฟ้าขีปนาวุธ
เช้าวันนั้น ทำเนียบขาวได้รับการติดต่อจากรัฐบาลโซเวียตผ่านกระทรวงต่างประเทศ แจ้งให้รัฐบาล
สหรัฐฯทราบว่า เรือดำน้ำนิวเคลียร์ของโซเวียตเกิดไฟไหม้และอยู่ในภาวะคับขันห่างจากเบอร์มิวดา
ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 950 กิโลเมตร ข้อมูลที่ส่งเข้ามาระบุว่า เรือดำน้ำดังกล่าวติดขีปนาวุธ
แต่ย้ำว่าไม่มีอันตรายจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ตลอดจนระเบิดนิวเคลียร์หรือการยิง
ขีปนาวุธผิดพลาดโดยอุบัติเหตุ นอกจากนั้นยังระบุว่ามีเรือโซเวียตอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อช่วย
เรือดำน้ำที่ประสบปัญหาแล้วและเรือลำอื่น ๆ กำลังตามมาสมทบ

วันรุ่งขึ้น เมื่อประธานาธิบดีเรแกนกลับมาถึงทำเนียบขาว พลเรือโทจอห์นนำภาพถ่ายทางอากาศ
ไปให้ดู เป็นภาพที่ดูเลวร้ายยิ่งไปกว่าเดิม และรายงานว่า “ฝ่ายเราคิดว่ามีขีปนาวุธลูกหนึ่งในเรือเกิด
ระเบิดขึ้นและอาจจะมีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี”

ประธานาธิบดีเรแกนบอกพลเรือโทจอห์นให้แจ้งกอร์บาชอฟว่า สหรัฐฯยินดีให้ความช่วยเหลือ
จากนั้นท่านถามพลเรือโทจอห์นว่าได้จัดการทำอะไรเพื่อช่วยลูกเรือไปแล้วบ้าง

พลเรือโทจอห์นรายงานว่า หน่วยกู้ภัยเรือเพาฮัตตัน (USS Powhatan) กำลังเดินทางไปที่เกิดเหตุ

ประธานาธิบดีเรแกนพลิกดูภาพถ่ายต่าง ๆ อีกครั้งและกำชับให้บอกกอร์บาชอฟว่าสหรัฐฯพร้อม
จะช่วยทุกทางที่ทำได้

โปรดติดตามตอนที่ ( 7 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:47 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 7 )เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวม และเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
(.)ลางร้ายว่าเรือจะมลาย

หลังจากเรือขึ้นสู่ผิวน้ำ ผู้การบริตานอฟตัดสินใจประเมินความเสียหายของเรือจากภายนอก
ต้นกลเรือปีนขึ้นไปบนสะพานเดินเรือ ไต่บันไดขึ้นไปอีกชั้น จากนั้นค่อยเปิดฝาผนึกน้ำหลักเป็น
ครั้งแรกนับแต่เรือออกจากท่าที่ลูกเรือได้สูดกลิ่นอากาศสดชื่นของทะเล

ต้นกลเรือก้มลงมองที่ดาดฟ้าด้านท้ายพร้อมกับพึมพำขึ้นว่า “พระแม่เจ้า”
ฝาปิดท่อหมายเลข 6 หายไปไม่เหลือซาก คลื่นซัดขึ้นมาบนดาดฟ้าเรือและทุกครั้งที่คลื่นซัดเข้ามา
น้ำทะเลก็ไหลเข้าไปในห้องที่ 4 กลบควันที่ลอยขึ้นมาเป็นสาย เวลาที่ไม่มีน้ำซึมเข้า ควันก็ลอยออก
ยิ่งคลื่นซัด น้ำทะเลก็ยิ่งเข้ามามาก นั่นหมายความว่าปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดสารพิษจากเชื้อเพลิง
ขีปนาวุธก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ภายในเรือ แก๊สพิษ ควันและน้ำท่วมแผ่วงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ บีบให้ลูกเรือต้องอพยพหนีสารพิษไป
อยู่อีกซีกของเรือ ถึงตอนนี้ ผู้การสั่งให้ลูกเรือไปรวมกันที่ห้องหมายเลข 8 ซึ่งปลอดภัยที่สุดในขณะนั้น
เพื่อรอฟังคำสั่งเพิ่มเติม ผู้การไม่อยากให้พวกลูกเรืออ้อยอิ่งอยู่ในห้องที่ 7 เพราะตอนนี้ในห้องคลุ้ง
ไปด้วยแก๊สพิษ

ในบรรดาลูกเรือที่อพยพออกมาจากห้องที่ 7 มีนิโคไลนายทหารฝ่ายปฏิกรณ์ปรมาณูและแซรเกย์
(Sergei) พลช่างกลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ที่เหลืออยู่เพียง 2 คนทางซีกนี้ของเรือดำน้ำ
การเดินทางออกทะเลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของแซรเกย์นับแต่เรียนจบด้านช่าง แต่เขาเป็นคนจริงจัง
กับงานมาก ลูกเรือวัย 21 ผู้นี้มาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งไม่มีทางออกทางทะเลและเพิ่งมีไฟฟ้าใช้
เขาและน้องชายหนีจากชีวิตยากจนในชนบทโดยสมัครเป็นทหารเรือและแซรเกย์ก็มุมานะจนได้
เข้าทำงานในหน่วยงานที่มีเกียรติอย่างกองเรือดำน้ำ

ทันทีที่มีคำสั่งให้อพยพ เขาและนิโคไลเข้าไปหลบอยู่ในห้องที่ 8 เสียงผู้การบริตานอฟพูดเข้ามา
ในเครื่องติดต่อภายในบอกว่า ระบบปิดเตาปฏิกรณ์อาจทำงานไม่สมบูรณ์ ก้านช่วย 4 ตัวซึ่งช่วย
ในกระบวนการปิดเตาปฏิกรณ์ล็อกไม่เข้าที่ ไฟไหม้ในห้องขีปนาวุธทำลายสายไฟที่ต่อกับเครื่อง
ควบคุมเตาปฏิกรณ์
หายนะทางนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล (Chernobyl) เพิ่งเกิดก่อนหน้านี้เพียง 5 เดือน ผู้การบริตานอฟ
ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นอุบัติเหตุแบบเดียวกันในเรือลำนี้ ถ้าเตาปฏิกรณ์
หลอมละลาย กากกัมมันตรังสีซึ่งเป็นลูกไฟร้อนก้อนใหญ่จะทะลวงเข้าไปถึงกลางเรือและท้องเรือดำน้ำ
เมื่อสัมผัสกับน้ำเย็นจะเกิดระเบิดเป็นก้อนเมฆของฝุ่นไอกัมมันตภาพรังสีคละคลุ้ง และมลภาวะ
แผ่กระจายเป็นวงกว้างในแถบแอตแลนติก
โชคดีที่เรือดำน้ำมีระบบสำรอง ผู้การบริตานอฟพูดผ่านเครื่องติดต่อภายในให้นิโคไลปลดสลักช่วยปิด
เตาปฏิกรณ์ ซึ่งเป็นกลไกที่ได้รับการออกแบบมาโดยใช้หลักการปลดสลักให้สอดเข้าที่เพื่อสกัดหรือระงับ
ปฏิกิริยาลูกโซ่ของนิวเคลียร์

พวกเขารู้ว่าจะต้องลงมือขันสลักปิดเตาปฏิกรณ์ให้เข้าที่ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีคนปีนขึ้นไปที่
เตาปฏิกรณ์ ใช้เครื่องมือพิเศษหมุนสลักทั้งสี่ทีละตัว
นิโคไลวิทยุกลับไปบอกผู้การเรือว่า “ผมจะไปปิดเอง”

เขาอยู่ที่ห้องหมายเลข 8 ซึ่งมีทหารเรืออัดกันอยู่ 60 คน เขารู้ว่าในสถานการณ์ที่แก๊สรั่วซึมไปทั่วทั้ง
เรือแบบนี้ เขาจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจกว่าจะฝ่าไปถึงเตาปฏิกรณ์ในห้องถัดไป

พวกลูกเรือรวบรวมกระป๋องออกซิเจนเต็ม ๆ ได้ 6 กระป๋อง แต่ละกระป๋องใช้หายใจได้นาน 15 นาที
นิโคไลมองอุปกรณ์หยิบมือที่ได้มา “ที่เหลืออยู่ที่ไหนหมด” เขาถาม แต่ได้คำตอบว่าทั้งหมดมีอยู่เท่านั้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 8)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:51 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 8 ) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)ฝ่าเปลวนรก

นิโคไลกำกระป๋องออกซิเจนไว้กระป๋องหนึ่งและใส่ชุดป้องกันซึ่งเขารู้ดีว่าไม่ได้ช่วยกันความร้อน
ของห้องปฏิกรณ์ได้สักเท่าไร

แซรเกย์อาสาจะไปด้วย แต่นิโคไลห้ามไว้โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเขาขันสลักปิดเตาไม่ได้ทั้งหมด
แซรเกย์จะต้องเป็นคนสานงานต่อให้เสร็จ ว่าแล้วนิโคไลก็สวมหน้ากากออกซิเจนและก้าวผ่าน
ช่องประตูเข้าไป เสียงปิดไล่หลังดังน่าใจหาย

เตาปฏิกรณ์ทั้งสองอยู่ด้านในสุดของห้องที่ 7 ซึ่งมืดมิด น้ำทะเลเปื้อนคราบน้ำมันสีน้ำตาลเจิ่งท่วม
ทั่วพื้นแล้ว นิโคไลรู้ดีว่าเครื่องมือที่เขาต้องใช้ในงานนี้อยู่ในตู้ แต่พอไปถึงปรากฏว่าตู้ล็อก
เขาเองก็ไม่มีกุญแจไข

เพื่อไม่ให้เสียเวลา เขาคว้าขวานที่ใช้สำหรับดับเพลิงจามประตูตู้เก็บของ ภายในมีอุปกรณ์รูปร่าง
เหมือนที่บดเนื้อขนาดใหญ่ ซึ่งที่จริงก็คือประแจหมุนเหล็กกล้าหนักอึ้ง เขาเดินตรงไปที่ช่องประตูเล็ก ๆ
ซึ่งเปิดเข้าไปยังส่วนเตาปฏิกรณ์ที่ปิดอย่างแน่นหนา เมื่อมองผ่านหน้าต่างเล็ก ๆ ตรงกลางประตู
เขาเห็นยอดเตาปฏิกรณ์ทรงโค้งมน ขนาดเขายืนอยู่นอกห้องยังรู้สึกร้อนมาก

ทันทีที่เขาเปิดประตู เปลวความร้อนวูบใหญ่พัดออกมา นิโคไลเอี้ยวตัวหลบผ่านช่องเล็ก ๆ ที่เปลวไฟ
ไปไม่ถึง ท่อเตาปฏิกรณ์ที่เดือดพล่านตั้งอยู่ตรงหน้า

นิโคไลเดินตรงไปที่เตาปฏิกรณ์ ด้านบนโค้งมนมีช่องขันนอตรูป 6 เหลี่ยม 4 ตัว แต่ละตัวเป็น
ที่หมุนสลักฟันเฟืองสำหรับปิดเตาปฏิกรณ์
เขาสอดประแจเข้าไปในช่องและพยายามขันนอต แต่ไม่ขยับ ความร้อนทำลายเหลี่ยมทรงของโลหะ
จนเสียหาย เขาออกแรงขันหนักขึ้นอีกครั้ง ฟันเฟืองที่ฝืดเริ่มส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด และตัวสลักค่อย ๆ
ขยับทีละนิด เขาออกแรงเพิ่ม ฟันเฟืองค่อย ๆ เขยื้อนตามมากขึ้น

ตอนนี้ นิโคไลเริ่มมีอาการตาพร่า เขาออกแรงหนักขึ้น หายใจหอบ เมื่อก้มลงมองกระป๋องออกซิเจน
อากาศหมดเสียแล้ว เขาต้องการอากาศโดยด่วน และจะต้องออกจากที่ตรงนั้นทันที
นิโคไลปีนบันไดขึ้นไป ใช้ประแจทุบฝาประตูห้องที่ 8 พอประตูเปิด เขาล้มลงแทบเท้าแซรเกย์

แซรเกย์ถามนิโคไลว่าปิดเตาปฏิกรณ์สำเร็จหรือไม่ นิโคไลได้แต่ส่ายหน้าอย่างหมดเรี่ยวแรง
เขาปิดสลักให้ได้แค่บางส่วน เท่านี้ก็เหนื่อยจนหมดแรงแล้ว สลักที่เหลืออีก 3 ตัวจะทำอย่างไรกันดี

แซรเกย์รีบใส่ชุดป้องกันและเหน็บกระป๋องออกซิเจน 2 กระป๋องไว้ที่เข็มขัด นิโคไลลุกขึ้นยืน
ขาสั่นโงนเงน หยิบกระป่องออกซิเจนอีกกระป๋องสำหรับตัวเอง ทั้งสองคนกลับเข้าไปลุยไฟกันใหม่
ในห้องปฏิกรณ์ แซรเกย์เริ่มขันนอตเพื่อให้สลักตัวที่สองสอดเข้าที่ นิโคไลจัดการตัวแรกได้เรียบร้อย
แล้วจึงออกไปรายงานให้ศูนย์ยุทธการทราบ พอกลับเข้ามาอีกครั้ง แซรเกย์บอกว่าเขารู้สึกเหนื่อย
จะหมดแรง หลังจากพักกันสักครู่ ทั้งสองจัดการกับสลักตัวที่สอง แต่ตอนนี้แซรเกย์อาการหนักจน
นิโคไลต้องช่วยพยุงออกไปที่ประตูทางไปห้องที่ 8

นายทหารทิ้งพลทหารหนุ่มไว้ในห้องและกลับไปจัดการกับสลักตัวที่สามตามลำพัง เขาทำสำเร็จ
แต่รู้สึกเหมือนกำลังจะเป็นลม พยายามกระเสือกกระสนไปถึงประตู แซรเกย์ยังอยู่ที่เดิม ทั้งสอง
ทุบประตูเรียกเพื่อน ๆ มาช่วยกันดึงพวกเขาไปในที่ปลอดภัย ลูกเรือช่วยถอดชุดป้องกันออกจาก
นิโคไลและเอาน้ำราดตัวเขา สักพักพวกเขาได้ยินเสียงผู้การบริตานอฟตะโกนผ่านเครื่องติดต่อ
ภายในเข้ามาว่า “ปิดเครื่องปฏิกรณ์ให้ได้เดี๋ยวนี้"

แซรเกย์พูดอย่างอ่อนแรงว่า “ผมไปเอง” จากนั้นเขาเดินขาลาก คว้าออกซิเจนกระป๋องสุดท้าย
หยิบประแจแล้วโซซัดโซเซกลับเข้าไปใหม่

โปรดติดตามตอนที่ ( 9 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 8:56 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ (9)เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(*)ร้องเพลงรอ

บนเรือออกัสตา ผู้การซัสคิลและลูกเรือได้แต่นั่งสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาเห็นขีปนาวุธผุดออก
มาจากท่อเก็บและจมน้ำ ได้ยินเสียงเรือดำน้ำรัสเซียจมสู่หายนะ จากนั้นก็ลอยเงียบ ๆ ขึ้นสู่ผิวน้ำ

แล้วก็มีเสียงระเบิด เกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่ไม่ใช่ปัญหาหัวรบนิวเคลียร์ เพราะถ้าใช่ น้ำทะเลหลาย
ลูกบาศก์กิโลเมตรจะเดือดกลายเป็นไอเรียบร้อยไปแล้ว รวมทั้งเรือออกัสตาด้วย

หรือว่ามีการก่อกบฏขึ้นในเรือรัสเซียเมื่อใครบางคนอาจพยายามยิงขีปนาวุธ แล้วตอนนี้ฝ่ายนั้น
กำลังเตรียมยิงอีกลูกหรือไม่

เรือออกัสตาถอยฉากออกไปอยู่ในระยะที่ปลอดภัยขึ้น และคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำ
โซเวียตจากกล้องเพริสโคป เห็นภาพราง ๆ ของควันไฟ ไฟกำลังไหม้เรือดำน้ำโซเวียต

เมื่อผู้การซัสคิลได้รับแจ้งว่า มีเรือโซเวียตกำลังเร่งฝีจักรไปช่วยเรือเค-219 เขารู้ในทันทีว่าจะต้อง
ตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง และในฐานะผู้การเรือดำนำ ผู้การซัสคิลก็มีอำนาจในการตัดสินใจพอสมควร

โปรดติดตามตอนที่ ( 10 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:08 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 11 ) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)ฟ้ากว้างและอากาศบริสุทธิ์

ภายในห้องที่ 8 ลูกเรือช่วยกันทำเปลฉุกเฉินโดยใช้เศษไม้และผ้าปูที่นอนผูกตามแนวยาว
กระทั่งความพยายามช่วยเช็ดหน้าคนเจ็บก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เมือกเลือดเป็นฟองทางจมูก
และปากไหลเร็วจนเช็ดไม่ทัน เนื้อเยื่อในปอดของพวกเขาถูกไนโตรเจนไดออกไซด์กัดจนเกรียม
ส่วนเมือกที่ไหลออกมาเกิดจากระบบป้องกันของร่างกายที่ตอบสนอง ลูกเรือเสียชีวิตไปแล้ว 3
ตอนนี้แซรเกย์เป็นรายที่ 4 และคาดว่าอาจเสียชีวิตเพิ่มหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วน

อุณหภูมิในห้องตอนนี้สูงเกิน 40 องศาแล้วและยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในห้องขีปนาวุธซึ่งไฟ
กำลังไหม้ร้อนกว่านี้ด้วยซ้ำ ขีปนาวุธที่เหลือจวนจะร้อนถึงขีดอันตรายและจะระเบิดแล้ว

ขณะที่แก๊สเริ่มซึมเข้าห้องที่ 8 ผู้การไม่มีทางเลือกนอกจากสั่งให้ลูกเรืออพยพไปห้องที่ 9 และ 10 ทันทีที่
ได้รับสัญญาณ ทหารเรือ 60 นายท่าทางอ่อนล้าและตื่นตระหนกเริ่มเคลื่อนย้ายไปยังห้องสุดท้าย

ห้องทั้งสองมีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าห้องอื่นในเรือดำน้ำซึ่งก็แคบอยู่แล้ว ห้องที่ระเกะระกะอยู่แล้วด้วย
ฟันเฟืองเครื่องจักรและตอนนี้มีอีก 60 ชีวิตอัดกันเข้าข้างใน ในไม่ช้าพวกเขาคงเริ่มทนไม่ไหวและหายใจ
ไม่ออกและอาจอยู่ในนั้นก่อนที่จะถูกแก๊สพิษรมเสียด้วยซ้ำ ทุกห้องที่ผ่านมาเต็มไปด้วยควันพิษ อีกไม่ช้า
ห้องนี้ก็จะอยู่ในสภาพเดียวกัน พวกเขารวมตัวกันที่เชิงบันไดแคบยาวซึ่งทอดออกสู่ช่องทางสละเรือ
เหนือขึ้นไปเป็นท้องฟ้ากว้างและอากาศบริสุทธิ์

ผู้การหยุดชั่วขณะเมื่อรู้ว่าลูกเรือใกล้ถึงประตูแล้ว ท่านระลึกเสมอว่าชีวิตลูกเรือนั้นสำคัญกว่าเรือดำน้ำ
และมีความหมายมากกว่าเกียรติยศของกองทัพเรือ คำสั่งของท่านต่อไปนี้จะตามหลอนท่านตลอดไป
ผู้การจ่อไมโครโฟนที่ปากและออกคำสั่งให้เปิดช่องทางสละเรือและให้ลูกเรือรวมตัวกันที่ดาดฟ้า
เตรียมสละเรือ

เมื่อได้ยินคำสั่งแล้ว พลทหารหนุ่มในห้องที่10 รีบปีนขึ้นบันไดไป หมุนวงล้อเพื่อเปิดล็อกประตูจากด้านใน
ออกไปสู่ช่องทางสละเรือ สายตาทุกคู่จับจ้องอยู่ที่เขา ถ้าประตูเปิดไม่ออก ทุกคนคงต้องพบจุดจบเพราะ
ไม่มีที่หลบแก๊สพิษอีกแล้ว

ลูกเรือหนุ่มหมุนวงล้อ แล้วใช้ไหล่ดัน เสียงสลักประตูหนักอึ้งเปิดออก จากนั้นร่างท่อนบนของทหารหนุ่ม
ก็หายออกไปทางช่องสละเรือ ซึ่งเป็นช่องแคบขนาดพอ ๆ กับท่อระบายน้ำ เชื่อมต่อไปถึงประตูทางออก
มีเสียงโครมคราม ชายหนุ่มใช้เท้าถีบช่องที่ปิดอยู่ด้านบนจนเปิดออกสำเร็จ พวกเขาจะรอดชีวิตกันแล้ว
ลูกเรือคลานทีละคนขึ้นไปบนดาดฟ้าท้ายเรือดำน้ำที่ลอยเท้งเต้งกลางทะเล ต่างรู้สึกเหมือนฝันหลังจาก
อุดอู้อยู่ในเรือดำน้ำ เมื่อโผล่ขึ้นมาพบอากาศสดชื่น อุ่นสบาย ท้องฟ้าสดใส

ทันใดนั้น พวกเขาก็พบว่าไม่ได้อยู่ตามลำพัง เครื่องบินวนโฉบและส่งเสียงหึ่งอยู่เหนือศีรษะ เป็นเครื่องบิน
ลาดตระเวนของกองทัพเรือสหรัฐฯ หลังจากผู้การบริตานอฟวิทยุแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังกองบัญชาการเรือ
รัฐบาลโซเวียตสั่งให้เรือสินค้า 3 ลำที่อยู่ในบริเวณนั้นเบนหัวไปช่วยเรือเค-219 ผู้การบริตานอฟเกรงว่า
ทหารสหรัฐฯ จะยกพลขึ้นเรือร้างของเขา

อย่างไรก็ตาม เรือลำแรกที่มาถึงคือเรือสินค้าของโซเวียต ตามด้วยเรือสินค้าอีก 2 ลำ เรือสินค้าหย่อน
เรือเล็กลงเทียบข้างเรือดำน้ำที่ประสบภัย จากนั้นลูกเรือเริ่มอพยพลงเรือเล็ก ผู้การสั่งให้ทุกคนสละเรือ
ยกเว้นหน่วยควบคุมความเสียหายเพียงไม่กี่คน

จากนั้นก็ปรากฏผู้มาเยือนอีกราย เรือเพาฮัตตันของกองทัพเรือสหรัฐฯ บรรทุกอุปกรณ์ในการลากจูง
มาด้วยเรือสินค้าลำใหญ่ที่สุดในบริเวณได้รับคำสั่งให้ลากเรือดำน้ำอาการสาหัสลำนี้กลับสหภาพ
โซเวียต ที่สุดเรือสินค้าลำใหญ่สุดก็ใช้สายเคเบิลสำหรับลากมาเกี่ยวเรือเค-219 น้ำทะเลม้วนตัว
ขวางเป็นคลื่น ลูกเล็ก ๆ เรือดำน้ำเค-219 กำลังมุ่งหน้ากลับสหภาพโซเวียตแล้ว

อย่างไรก็ตาม ใต้ผิวน้ำยังมีอีกปัจจัยที่ต้องคำนึง นั่นคือเรือดำน้ำออกัสตาของสหรัฐฯ
ผู้การบริตานอฟเห็นกล้องเพริสโคปของเรือออกัสตาตัดผ่านผิวน้ำไปด้วยความเร็วสูง เขาจับตาดู
เพริสโคปของศัตรูที่วิ่งแล่นหาช่องว่างระหว่างเรือของเขาและเรือสินค้า จากนั้นเรือออกัสตาก็ดำหลบ
ลงใต้น้ำ เห็นแต่ร่องรอยของพรายฟองที่บ่งบอกว่าเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพิ่งแล่นผ่านไป

ทันใดนั้นขบวนลากจูงเกิดกระตุก เสียงแหลมดังสะเทือนก้องไปตลอดลำเรือเค-219 แล้วสายเคเบิล
ก็ขาดผึงลง ตะขอเกี่ยวเรือขนาดมหึมาแฉลบไปด้านข้างและตกน้ำหายไปต่อหน้าต่อตา

สายเคเบิลที่ลากจูงเรืออยู่หลุดออก ส่งผลให้เรือเค-219 ลอยแน่นิ่งกลางท้องน้ำอีกครั้ง

โปรดติดตามตอนที่ ( 12 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:12 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 1 2 )เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(#)ภารกิจสุดท้าย

ผู้การบริตานอฟรีบประเมินสถานการณ์ทันที จุดที่เรือลอยอยู่ตอนนี้ไม่ห่างจากฐานทัพเรือ
ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯบางแห่ง ส่วนหนทางกลับบ้านหรือไปยังฐานทัพพันธมิตรโซเวียตก็ยังอีกไกล
(ราว 7,000 กิโลเมตร) ทะเลตอนนี้เต็มไปด้วยเรือของสหรัฐฯและโซเวียต ต่างฝ่ายต่างไม่ขยับเขยื้อน
ไปไหน รัฐบาลโซเวียตสั่งให้เลิกล้มความพยายามที่จะลากเรือกลับโดยสิ้นเชิง

แต่แล้วผู้การบริตานอฟก็ตกใจเมื่อเห็นเรือลากเพาฮัตตันของสหรัฐฯแล่นเข้ามาใกล้มากจนเห็นใบหน้า
ราง ๆ ของคนบนดาดฟ้าเรือลำนั้นทั้งที่ฟ้าสลัวเพราะใกล้ค่ำ ผู้การรู้ว่าทหารอเมริกันจะพากันแห่ขึ้นเรือ
ทันทีที่ท่านและลูกเรือสละเรือ ผู้การจะไม่มีวันยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเด็ดขาด

หลายชั่วโมงต่อมา ผู้การและต้นกลเรือยืนอยู่บนสะพานเรือดำน้ำหมดสภาพ ควันสีเหลืองยังลอยขึ้นมา
จากท่อนิวเคลียร์ที่ระเบิด ผู้การจ้องออกไปกลางทะเล แล้วถามว่า “ทะเลตรงนี้ลึกเท่าไร”

มีเสียงตอบมาว่า เกือบ 6,000 เมตร

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เรือสินค้าโซเวียตส่งหน่วยปฏิบัติการเข้าไปรับลูกเรือที่เหลือ หลังจากลูกเรือคนสุดท้าย
ลงเรือเล็กแล้ว รอผู้การบริตานอฟอีกคนเดียว แต่ผู้การโบกมือให้คนอื่นไปและบอกว่า “ผมจะอยู่”

เรือกู้ภัยแล่นจากไป ผู้การยืนบนสะพานเรือตามลำพังและเป็นคนสุดท้ายที่เหลืออยู่บนเรือเค-219
เรือภายใต้การบังคับบัญชาของเขากลายเป็นโลงพิษบรรจุร่างลูกเรือ 4 คน

ขณะยืนโดดเดี่ยวบนสะพานเดินเรือ เสียงกุกกักจากวิทยุดังขึ้น ผู้บังคับบัญชาติดต่อมาจากเรือสินค้า
บอกว่า รัฐบาลโซเวียตวิทยุสั่งให้ลูกเรือกลับลงเรือดำน้ำทันทีที่สว่าง

ผู้การบริตานอฟหัวเราะ “เจ้างั่ง” ถ้าส่งทุกคนกลับลงเรือสภาพเลวร้ายแบบนั้น เท่ากับฆ่าพวกเขาทั้งเป็น
ผู้การสั่งให้ลูกน้องอยู่กับที่และกำชับให้พวกเขารับประทานอาหารและพักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่วนคนป่วย
ก็ให้รักษาพยาบาล ซึ่งเท่ากับเป็นการขัดคำสั่งรัฐบาลโซเวียต

ผู้การรู้ว่า ถ้าต้องการจมเรือเค-219 แค่เปิดสลักลิ้นถังอับเฉาในห้องที่ 3 เรือก็จะค่อย ๆ จมลง หรือเปิด
ท่อตอร์ปิโดตรงส่วนหัวพร้อมกับเปิดฝาช่องทางขึ้นลงสะพานเดินเรือ น้ำจะไหลท่วมเข้ามาอย่างรวดเร็ว
ผู้การคว้าหน้ากากออกซิเจนมาใส่และปีนลงบันไดเข้าไปในเรือดำน้ำเพื่อจัดการจมเรือซึ่งเท่ากับป้องกัน
ไม่ให้ฝ่ายศัตรูเข้ามาในเรือได้ด้วย

บนเรือกู้ภัย ลูกเรือเค-219 มองดูเรือลอยเท้งเต้งอยู่กลางน้ำ และรู้ดีว่าเรือกำลังจะจม
อาศัยแสงไฟสปอตไลต์จากเรือสินค้าทั้ง 3 ลำ พวกเขาเห็นผู้การไต่ขึ้นบันไดไปยังสะพานเดินเรือ
เบื้องล่างน้ำไหลทะลักท่วมดาดฟ้าขีปนาวุธของเรือที่ใกล้จม น้ำล้นไปรอบหอตรวจการณ์ ผู้การปีน
ขึ้นไปบนสะพานและตัดเชือกธงเรือเค-219 ขณะลอยไปในน้ำ ผู้การยึดเชือกที่ผูกแพชูชีพไว้ได้
หอบังคับการค่อย ๆ จมลงใต้น้ำ ตัวเรือสีดำอยู่ใกล้ขนาดเอื้อมถึง

ตอนแรกผู้การว่ายน้ำหนีจนพ้นกระแสคลื่นที่เกิดจากเรือกำลังจม แต่แล้วแพชูชีพของผู้การก็ถูกดูด
เข้าไปในวังน้ำวนขนาดใหญ่ ผู้การสูดหายใจลึกขณะเรือดำน้ำจมลงพร้อมกับดึงร่างผู้การตามไปด้วย

สักครู่ แพชูชีพสีเหลืองโผล่ขึ้นเหนือน้ำ หน่วยกู้ภัยจากเรือสินค้ารีบรุดไปยังที่เกิดขึ้น เรือโทเจ้าหน้าที่
คนหนึ่งของเรือเค-219 อยู่บนเรือด้วย เมื่อมองไปที่แพชูชีพ เขาใจหายวูบเพราะไม่เห็นอะไรในแพ
นอกจากน้ำ แต่พอเขากระโจนลงไปกลางแพ ขาเขาไปโดนอะไรบางอย่าง เมื่อคลำไปในความมืด
ก็สัมผัสถูกใบหน้ามีหนวด ผู้การโผล่ศีรษะออกมาจากน้ำ กะพริบตาและลืมตาขึ้น

“คิดแล้วเชียวว่าคุณต้องมา” ผู้การกล่าวกับเรือโทคนนั้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 13 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:15 pm

🌊วิกฤตกลางแอตแลนติก ตอนที่ ( 13) (ตอนจบ) เรื่องจริงระทึกใจจากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Peter Huchthausen และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)ตำนานเรือเค-219

ในเมื่อเรือเค-219 จมใต้ท้องทะเลแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งส่งผู้เชี่ยวชาญกัมมันตภาพรังสี
ไปยังจุดเกิดเหตุ เรือเพาฮัตตันรออยู่สักพักตรงที่เรือจมเพื่อเก็บตัวอย่างอากาศและน้ำ ส่วนเรือ
โซเวียตยังป้วนเปี้ยนในบริเวณนั้นเพื่อหาชิ้นส่วนเรือเค-219 ที่หลุดลอยขึ้นมา แต่ก็แทบไม่มีอะไร
มากนัก นอกจากชิ้นส่วนฉนวนเรือ 2-3 ชิ้น ขวดเก็บอาหารดองและนิตยสารเก่า ๆ

ส่วนโลกยังคงดำเนินต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีเรแกน
และกอร์บาชอฟในกรุงเรกยะวิก (Reykjavik) เมืองหลวงของประเทศไอซ์แลนด์ดำเนินไปตามปกติ แม้ว่า
ผู้นำทั้งสองจะหน้านิ่วคิ้วขมวดเนื่องจากเหตุการณ์เรือเค-219
สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ ในเดือนมิถุนายนปีถัดไป นายพลเรือระดับสูงของโซเวียตรายหนึ่งเดินทาง
ไปกรุงวอชิงตันเพื่อพบปะกับนายทหารเรือสหรัฐฯในระดับเดียวกัน เขายื่นประท้วงเป็นทางการและ
กล่าวหาว่าสหรัฐฯเข้าแทรกแซงเหตุการณ์เรือดำน้ำเค-219

ส่วนในประเด็นที่ว่ามีท่อเก็บขีปนาวุธรั่วและระบบความปลอดภัยของนิวเคลียร์บนเรือเค-219 ไม่ทำงาน
ในยามจำเป็นที่สุดนั้น นายพลเรือโซเวียตได้แต่ปิดปากเงียบ แม้แต่เรื่องชะตากรรมของผู้การบริตานอฟ
ก็ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูด

เมื่อผู้การบริตานอฟกลับถึงสหภาพโซเวียต ท่านถูกตั้งข้อหาละทิ้งหน้าที่และก่อวินาศกรรม มีการพูดกัน
ถึงขนาดจะส่งท่านขึ้นศาลทหารโทษฐานทรยศต่อชาติ แต่ยกฟ้องไปในเวลาต่อมา ท่านไม่ได้ถูกสั่งปลด
แต่ได้รับอนุญาตให้เป็นกำลังพลสำรองในกองทัพเรืออยู่

อย่างไรก็ตาม หลายปีต่อมา ผู้การบริตานอฟแทบเป็นแกะดำในสังคมทหารเรือโซเวียต ท่านทนทุกข์
กับความรู้สึกที่เหมือนถูกกีดกันและไม่ยอมพบหน้าลูกเรือเก่าอยู่หลายปี สำหรับพวกลูกเรือ ตำนาน
ของเรือดำน้ำที่ถึงกาลอวสานเหลือเพียงความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เล่าขานตกทอดกันต่อมา
ไม่ว่าจะเป็นกรดที่กัดกร่อนปอดทำให้พวกเขาบางคนปอดบวม ควันพิษจากกรดไนตริกทำให้บางคน
ไตพิการ ในจำนวนลูกเรือที่รอดชีวิต 115 คน สองคนเสียชีวิตจากที่ได้รับบาดเจ็บและอีก 11 คนพิการ

วันที่ 27 สิงหาคม 2537 มีการจัดพิธีเพื่อเป็นเกียรติแก่ลูกเรือที่เสียชีวิต งานจัดขึ้นที่เมืองท่า’กัดจีเยโว’
(Gadzhiyevo) ซึ่งถือเป็นบ้านเกิดของเรือเค-219

ตัวเมืองเก่าแก่ทรุดโทรมหลังยุคที่สหภาพโซเวียตแตกสลาย อาคารบ้านเรือนไม่ได้ทาสีและเก่าลอก
เหมือนจะพังลงมา ท่าเรือเอียงจนน่ากลัวว่าจะหล่นลงน้ำ เรือดำน้ำหลายลำสนิมเกาะไม่ได้ออกจากท่า
มาเป็นปี ๆ ไม่ปลอดภัยแม้แต่จะลงไปในเรือด้วยซ้ำ บางลำจมทั้งที่เทียบท่าอยู่
แต่ในวันที่จัดพิธีนี้ ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส บรรดาทหารเรือและครอบครัวชุมนุมกันที่ตึกโทรม ๆ
หลังหนึ่งเพื่อร่วมพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว ผู้รอดชีวิตจากเรือเค-219 ไปร่วมงานกันคับคั่ง

แผ่นจารึกอนุสรณ์ของเหตุการณ์ครั้งนั้นตั้งอยู่ที่มุมตึก มีผ้าคลุมไว้พร้อมทหารยามเฝ้า 2 คน หลังจาก
นายกเทศมนตรีกล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ เสร็จก็ดึงเชือกเปิดผ้าคลุม
เพื่อเป็นการยกย่องวีรกรรมภายหลังการเสียชีวิต พลช่างกลแซรเกย์ (Sergei Preminin)ได้รับดาวแดง
สำหรับความกล้าหาญ (the Order of the Red Star) ในงานมีวงดุริยางค์บรรเลงเพลงจังหวะช้าๆ
เพื่อนๆและครอบครัวแซรเกย์เรียงตัวกันเข้าไปสัมผัสแผ่นบรอนซ์พร้อมกับวางดอกไม้ไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์
จากนั้นมีร่างชายผู้หนึ่งถือช่อดอกไม้เดินมาตามลำพังบนถนนจากประตูใหญ่ เสียงกระซิบกระซาบจาก
ฝูงชนดังขึ้นทันใดและเงียบลงเกือบจะทันที

ทหารคนหนึ่งของเรือเค-219 ร้องขึ้นว่า “ทั้งหมด ตรง”
ผู้การบริตานอฟ บุรุษร่างสูงยืนตรง ใบหน้าเด็ดเดี่ยว สวมหมวกเบเรต์ เดินผ่านกลุ่มอดีตลูกเรือของเขา
เข้าไปวางช่อดอกไม้ที่อนุสรณ์ที่ระลึกถึงแซรเกย์ จากนั้นก็หันกลับออกมา บรรดาลูกน้องเก่าเข้ามา
รุมล้อมโอบกอดท่าน

หลายปีหลังจากที่หลบลี้หนีหน้าไป นาวาเอกบริตานอฟก็กลับมาหากลุ่มคนที่ท่านยอมเสียสละอาชีพ
การงานเพื่อรักษาชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น

หมายเหตุ : ตราบจนทุกวันนี้ ปฏิบัติการของเรือดำน้ำสหรัฐฯและลูกเรือในเวลานั้นยังคงเป็นความลับ
เนื่องจากมีกฎห้ามไม่ให้นายทหารเรือดำน้ำเปิดเผยปฏิบัติการที่เป็นความลับทางทหาร ผู้เขียนจึงต้อง
อาศัยแหล่งข่าวลับอื่น ๆ รวมทั้งผู้เห็นเหตุการณ์ในเรือเค-219 และผู้เชี่ยวชาญด้านนาวีร่วมกันจำลอง
เหตุการณ์บนเรือดำน้ำสหรัฐฯขึ้น

***************************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:19 pm

(มี 5 ตอน )

แรงงานทาสในปากีสถาน ตอนที่ ( 1 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Jonathan Silvers และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าที่อบอ้าววันหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นปัญจาบ เจ้าของโรงงานทอพรมนามว่า ‘
ซาติค’ กำลังต่อรองซื้อขายเด็ก “ฉันชื่นชมลูกชายแกมาหลายเดือนแล้ว” เขากล่าวกับช่างทำอิฐ
วัย 30 ปีนามว่าเมียร์ซา “มันเป็นเด็กฉลาดและทะเยอทะยาน แค่ 6 เดือนมันก็จะเรียนรู้วิชาเยอะแยะ
จากโรงทอพรม และมากกว่าที่จะได้จากเรียนหนังสือ 6 ปีที่โรงเรียนเสียอีก”

เมียร์ซาซึ่งหลังค่อมและผ่ายผอมจากการทำงานในโรงเผาอิฐมาหลายปี ดูไม่ค่อยวางใจคำพูดนั้น
อาจเป็นเพราะลูกชายของเขาอายุเพียง 7 ขวบ และเป็นคนโตในบรรดาลูก 3 คน
หรืออาจเป็นเพราะเขาเห็นลูก ๆ ของเพื่อนบ้านต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากข้อเสนอในทำนองนี้
แต่ไม่ว่าเมียร์ซาจะรู้สึกเลวร้ายเพียงใด ความนึกคิดทั้งมวลก็ถูกบดบังด้วยความแร้นแค้นแน่นในหัวอก
หลังจากใช้อุบายหลอกล่อแล้ว ‘ซาติค’ เสนอให้เงินเมียร์ซา 5,000 รูปี (6,000 บาท) เพื่อแลกกับแรงงาน
ลูกชายเขาเป็นเวลา 5 ปี เงินจำนวนน้อยนิดนี้เท่ากับค่าจ้างราว 2 เดือนที่คนงานผู้ใหญ่ในโรงงานทอ
พรมได้รับ ปีนี้ธุรกิจไม่ดี ‘ซาติค’ ชิงพูดตัดหน้าก่อนที่เมียร์ซาจะคัดค้าน พ่อหลายคนคงดีใจจนเนื้อเต้น
หากได้เงินสักครึ่งของข้อเสนอนี้

เงินที่เขาเสนอให้นี้จะจ่ายเป็นงวด ๆ ‘ซาติค’ จะหักค่าใช้จ่ายในด้านอาหาร เครื่องมือ วัตถุดิบ ค่าเวลา
ที่ครูฝึกสอนเด็ก รวมทั้งค่าชดใช้ความผิดพลาดที่เด็กทำขึ้น หลังจากต่อรองราคากันอีกไม่นาน
เมียร์ซาก็จับมือ’ซาติค’เป็นการตกลงรับข้อเสนอ

องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งปากีสถานซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาของเอกชนประมาณว่า
ในปี 2538 มีเด็กเข้าสู่ตลาดแรงงาน 15 ล้านคนในปากีสถาน และอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุ
ต่ำกว่า 10 ขวบ แรงงานเด็กเป็นหนึ่งในสี่ของแรงงานไร้ฝีมือ องค์กรยูนิเซฟเชื่อว่าร้อยละ 90
ของแรงงานในอุตสาหกรรมทอพรมนั้นเป็นแรงงานเด็ก

พรมชนิดนี้ทอโดยการผูกปม ช่างผูกด้ายสีเส้นเล็กเข้ากับด้ายขาวเส้นใหญ่กว่าที่ขึงไว้ทีละปม
ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยาวนานน่าเบื่อหน่าย พรมขนาด 4 x 6 ฟุตประกอบด้วยปมกว่า 1 ล้านปมอัดกันแน่น
ช่างทอที่เก่งต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนจึงจะทอพรมผืนขนาดนี้เสร็จ พรมยิ่งละเอียด ลวดลายประณีตก็
ยิ่งมีจำนวนปมถี่ยิบ ปมยิ่งเล็กก็ยิ่งมีจำนวนปมมากและมีราคาสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนมือเล็ก ๆ ของเด็กย่อม
ผูกปมเล็ก ๆ ได้เก่งกว่ามือของผู้ใหญ่

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ มีเด็กปากีสถานอายุ 4 – 14 ปีจำนวน 500,000 ถึง 1,000,000 คนทำงานเป็นช่าง
ทอพรมเต็มเวลา แรงงานเด็กที่แสนถูกนี้ทำให้ผู้ผลิตพรมชาวปากีถานได้เปรียบในตลาดตะวันตก
พวกพ่อค้าจะขายพรมได้ถูกกว่าคู่แข่งชาติอื่น ๆ ซึ่งมิได้ใช้แรงงานเด็ก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปนำเข้าพรมที่ทำโดยแรงงานเด็กจากปากีสถานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แน่นอนว่าแรงงานเด็กนั้นเป็นประเพณีนิยมในประเทศโลกที่สาม และมีการใช้แรงงานเด็กเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าแล้ว แม้ว่าปากีสถานจะพยายามยกเลิกการกระทำดังกล่าว
แต่การใข้แรงงานเด็กก็ยังคงแพร่หลายอยู่

อายุโดยเฉลี่ยของเด็กปากีสถานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานนั้นดูจะน้อยลงทุกที “จ้างเด็กถูกกว่าซื้อรถไถ
และเด็กก็ฉลาดกว่าวัว” เจ้าของที่ดินคนหนึ่งในเมืองราวัลปินดีกล่าว

สมัยก่อนพ่อแม่ในชนบทจะสอนลูกเล็ก ๆ ว่าพวกเขาต้องหาเงินเลี้ยงตัวเอง ในหมู่ชนชั้นต่ำสุดในสังคม
เด็กจะถูกใช้แรงงานแทบจะทันทีที่เดินได้ งานในไร่นาหลายอย่างเป็นหน้าที่ของเด็กวัยเตาะแตะ
เช่นกลุ่มเด็กอายุ 3 ขวบ, 4 และ 5 ขวบจะร่วมกันเทียมแอกไถคราด หว่านและเก็บเมล็ดพืชในนาตั้งแต่
รุ่งอรุณจนตะวันตกดิน ตามคูคลองและลำรางชลประทานเรียงรายไปด้วยเด็กน้อยหน้าตามอมแมม
กำลังซักผ้าให้กับเพื่อนบ้านฐานะดีกว่า เด็กสวมเสื้อผ้าเก่าขาดวิ่นเดินเข้าออกโรงงานทำอิฐ โรงงาน
ถลุงเหล็ก และโรงย่อยหินอยู่ตลอดเวลา

ถนนสายต่าง ๆ ทางตอนเหนือของเมืองลาฮอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นปัญจาบและเป็นศูนย์กลาง
การค้าที่สำคัญเนืองแน่นไปด้วยเกวียนเทียมลาขับขี่โดยกลุ่มเด็กอายุ 8-9 ขวบ ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง
เด็กชาย 3 คนวัย 7, 8 และ 12 ขวบวิ่งให้บริการรถยนต์โดยไม่มีผู้ใหญ่เป็นผู้ให้บริการให้เห็น
ในบริเวณปั๊มนั้นเลย

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:22 pm

แรงงานทาสในปากีสถาน ตอนที่ ( 2 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Jonathan Silvers และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตามตลาดนอกเมืองก็ขาดแคลนผู้ใหญ่ ที่ตลาดแห่งหนึ่ง ร้านขายของ 12 แผงในจำนวนทั้งหมด
15 แผงดำเนินกิจการโดยเด็กวัยต่ำกว่า 14 ปี ร้านขายผลไม้มีเด็กชายท่าทางเผด็จการวัย 8 ขวบกับ
น้องสาวสองคนวัย 4 และ 5 ขวบดูแลอยู่ ตลอดเช้าเด็กชายผู้นั้นหั่นแตงโมเป็นชิ้น ๆ โดยใช้มีดที่มี
ขนาดครึ่งหนึ่งของตัวเขา ในขณะที่น้องสาวทำหน้าที่แยกประเภทผลไม้ซึ่งมีอยู่เต็มรถเข็นหลายคัน

ในแผงถัดไป เด็กชายลูกพี่ลูกน้องสองคนวัย 1 ขวบทำรองเท้าแตะจากยางรถยนต์ที่ทิ้งแล้ว
ด้านหลังร้านที่อยู่ท้ายสุด เด็กชายท่าทางร่าเริงวัย 9 ขวบชื่อว่าฟาอิซ กำลังออกแรงขนพรมกองเป็น
ตั้งลงจากเกวียนเทียมลา เด็กน้อยหนักประมาณ 30 กิโลกรัมแต่ต้องแบกพรมซึ่งแต่ละผืนหนักถึง
27 กิโลกรัม ฟาอิซทำงานรับจ้างขนของมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และทำการค้าด้วยตัวคนเดียว
โดยขนส่งสินค้าระหว่างหมู่บ้าน 6 แห่ง

“ผมหาเงินได้พอเลี้ยงปากท้องตัวเองและเลี้ยงลา 1 ตัว” เขากล่าวด้วยความภาคภูมิแบบนักธุรกิจ
“แต่ผมตัวเล็ก และใช้เวลาในการส่งของนานกว่า ผมจึงต้องคิดราคาค่าขนส่งถูกกว่าคนอื่น”

ที่โรงงานผลิตเครื่องกีฬาในเมืองใกล้เคียง เด็กวัย 5-10 ขวบหลายสิบคนรับจ้างทำลูกฟุตบอลโดย
ได้ค่าจ้าง 40 รูปี (45 บาท) ต่อวัน พวกเขาทำงานอาทิตย์ละ 80 ชั่วโมงในโรงงานที่แทบจะไม่มีแสงสว่าง
และไม่ได้พูดคุยกันเลย ความมืดนั้นนอกจากช่วยประหยัดไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการป้องกันพวกนักต่อสู้
เพื่อสิทธิเด็กไม่ให้ถ่ายรูปได้ในที่มืด นอกจากนั้น การไม่ให้พูดคุยกันก็เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า
“ถ้าเด็ก ๆ คุยกัน” หัวหน้าคนงานกล่าว “พวกเขาจะทำงานผิดพลาด”

เด็ก ๆ จะถูกลงโทษถ้าใช้เวลาหยุดพักรับประทานอาหารเกิน 30 นาทีซึ่งจำกัดเพียงวันละครั้ง รวมทั้ง
ถ้าเผลอหลับ หรือใช้วัสดุสิ้นเปลือง หรือบ่นเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม การลงโทษมีตั้งแต่ขังเด็ก
ไว้ในตู้เก็บของโดยมัดหัวเข่าแล้วแขวนให้หัวห้อยลง, ให้เด็กอดอาหารและเฆี่ยนตี
เมื่อถามนักอุตสาหกรรมชาวปากีสถานเรื่องการใช้แรงงานเด็ก พวกเขาจะอ้างประเพณีดั้งเดิม
“เป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว ที่เด็ก ๆ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่พ่อแม่” อิมราน มาลิก ผู้ส่งออกพรมรายใหญ่
ในเมืองลาฮอร์อธิบาย “งานที่เด็ก ๆ ทำตอนนี้ก็เป็นการสืบสานประเพณีดังกล่าว”

จริงอยู่ที่เด็กปากีสถานต้องทำงานกันมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำงานในบ้าน จนกระทั่ง
ในทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่สาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ทุ่มเทความพยายามในการขยายฐานการผลิต
ส่งผลให้มีการใช้แรงงานเด็กมากขึ้น และเมื่ออยู่นอกเหนือการดูแลของครอบครัว เด็ก ๆ ที่ทำงานใน
โรงงานก็ตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุจากการทำงานและการทารุณกรรมมากขึ้น
ในช่วงทศวรรษ 1990 ปากีสถานออกกฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็กในอาชีพอันตราย และยกเลิกการ
ทำสัญญาผูกมัดแรงงาน อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ก็ยังมิได้นำกฎหมายนี้มาบังคับใช้ ความขัดแย้งภายใน
รัฐบาลและการฉ้อราษฎร์บังหลวงทำให้การยกเลิกใช้แรงงานเด็กตกเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้พิทักษ์
สิทธิมนุษยชน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:25 pm

(at)แรงงานทาสในปากีสถาน ตอนที่ ( 3 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Jonathan Silvers และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

“รัฐนิ่งดูดายและไม่ยอมบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการใช้แรงงานทาส และไม่แม้แต่จะแจ้ง
ให้สาธารณชนทราบว่าการใช้แรงงานเด็กและแรงงานทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” จากคำกล่าว
ของเอห์ซาน อัลลาห์ข่าน (Ehsan Ullah Khan) ผู้ก่อตั้งและผู้นำองค์กรการปลดปล่อยแรงงาน
ทาสของปากีสถานหรือบีแอลแอลเอฟ (BLLF: Bonded Labour Liberation Front)

“ประชาชนธรรมดาจะต้องเป็นคนลงมือในการปลดปล่อยคนงานที่เป็นทาส”

ผู้ร่วมขบวนการที่มีพลังมากที่สุดคนหนึ่งขององค์กรนี้คือเด็กชายขี้โรคตัวน้อยชื่ออิคบาล มาซิห์
(Iqbal Masih) ซึ่งถูกขายเป็นทาสให้แก่เจ้าของโรงงานทอพรมในหมู่บ้านตั้งแต่อายุ 4 ขวบ
เขาถูกล่ามโซ่ติดกับกี่ทอพรมถึง 6 ปี จนกระทั่งอายุ 10 ขวบจึงหนีหลุดจากโซ่และขอความช่วยเหลือ
จากองค์กร “BLLF” ซึ่งคุ้มครองให้ความปลอดภัยและส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา
อิคบาลมีความคิดอ่านเป็นผู้ใหญ่และมีสำนึกในความยุติธรรมเกินอายุ เมื่อถึงวันเกิดอายุ 12 ปี
เขาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยปลดปล่อยเด็กจากการเป็นทาสในโรงงานทอผ้า โรงงานอิฐ โรงฟองหนัง
และโรงงานเหล็กมาแล้วถึง 3,000 คน อิคบาลกลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนนานาชาติและใช้ความ
มีชื่อเสียงที่พิเศษนี้กระตุ้นให้ทั่วโลกเลิกใช้แรงงานเด็ก
ผู้บริโภคในหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของปากีสถานดูจะคล้อยตามคำขอร้องของ
เขา ยอดขายพรมลดลง อิคบาลยังเป็นที่รู้จักในหมู่นักการเมืองและนักอุตสาหกรรมปากีสถานในระบบ
ศักดินาซึ่งพากันต่อต้านเขา คนเหล่านั้นโต้ตอบด้วยการใส่ร้ายป้ายสี และขู่ทำร้ายเขาเป็นครั้งคราว

ในวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2538 อิคบาล มาซิห์ถูกยิงเสียชีวิตด้วยปืนลูกซองสันนิฐานว่าโดย
“กลุ่มมาเฟียพรม” ขณะที่เขากับเพื่อนบางคนกำลังขี่จักรยานอยู่ในหมู่บ้าน Muridke ใกล้เมืองลาฮอร์
เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถคลายเงื่อนงำการฆาตกรรมได้ ผู้คนราว 800 คนมาร่วมไว้อาลัยในงานศพ
หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้น ผู้ประท้วงประมาณ 1,000 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นอายุต่ำกว่า 12 ปี
พากันเดินขบวนในเมืองลาฮอร์ เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก

เอห์ซาน อัลลาห์ ข่านผู้นำองค์กรฯ เรียกร้องให้มีการห้ามขายพรมที่ทำโดยเด็ก “นี่เป็นคำขอร้อง
ครั้งสุดท้ายของอิคบาล” เขากล่าวว่า “การที่คนยังคงซื้อสินค้าที่ใช้แรงงานเด็กในส่วนใดของโลก
ก็ตามเท่ากับเป็นการสบประมาทความทรงจำที่มีต่ออิคบาล”

ตั้งแต่นั้นมา บรรดาผู้นำเข้าในสหรัฐฯ สวีเดน อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีต่างยกเลิกการสั่งพรม
ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ความกดดันทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูปใด ๆ
จากการกระตุ้นของนักการเมืองและนักอุตสาหกรรม หน่วยสอบสวนกลางของปากีสถาน
(FIA : Federal Investigation Agency) บุกเข้าตรวจค้นที่ทำการองค์กร “BLLF” และยึดอุปกรณ์ต่าง ๆ
รวมทั้งยังข่มขู่เจ้าหน้าที่ในองค์กรนี้อีกด้วย ที่สุดในเดือนมิถุนายน 2538 หน่วยสอบสวนกลางฯ
ฟ้องเอห์ซานผู้นำองค์กรด้วยข้อหาก่อความไม่สงบและเป็นกบฏทางเศรษฐกิจ

เอห์ซานซึ่งขณะที่เขียนเรื่องนี้ลี้ภัยอยู่ในยุโรป “โรงเรียนของเราอาจถูกปิด เด็กเป็นพัน ๆ คน
อาจต้องไป ขายแรงงานในโรงงานซึ่งพวกเราช่วยเหลือเขาออกมา” เขากล่าว
“แล้วชะตากรรมของเด็กปากีสถานจะเป็นเช่นไร”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:28 pm

(at)แรงงานทาสในปากีสถาน ตอนที่ ( 4 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Jonathan Silvers และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ที่โรงทอพรมแห่งหนึ่งใกล้เมืองลาฮอร์ ปรอทวัดอุณหภูมิพุ่งขึ้นไปถึง 40 องศาเซลเซียส
ผนังห้องก่อด้วยดินนั้นร้อนจนแตะไม่ได้ หากเปิดหน้าต่างก็น่าจะช่วยบรรเทาความร้อนได้บ้าง
แต่ก็ถูกปิดเพื่อกันไม่ให้แมลงกินผ้าบินเข้ามา”

อัคบาร์วัย 8 ขวบนั่งอยู่ตรงที่ทอพรม เขาถูกขายเป็นแรงงานทาสให้กับเจ้าของโรงงานทอพรมและ
ทำงานอาทิตย์ละ 6 วันรตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม อัคบาร์ร่างเล็กและผอมแห้งขาดอาหาร เขาป่วยเป็น
โรคกระดูกสันหลังโก่งงออย่างรุนแรงเพราะออกกำลังกายไม่เพียงพอและต้องนั่งขัดสมาธิตลอดทั้งวัน
มือของเด็กน้อยเต็มไปด้วยริ้วรอยของบาดแผล นิ้วคดงอเพราะการทำงานซ้ำ ๆ การหายใจอย่าง
ยากลำบากบ่งบอกว่าเป็นวัณโรค ความเจ็บไข้หลาย ๆ อย่างรวมกันนี้คร่าชีวิตครึ่งหนึ่งของเด็กที่ทำงาน
ตามโรงงานทอพรมในปากีสถาน

“นายบอกว่าผมทำงานและซุ่มซ่าม” อัคบาร์เล่า “เมื่อ 10 วันก่อนผมถูกเฆี่ยนเพราะมัดด้ายผิดสีหลายครั้ง
” เขาเสยปอยผมเผยให้เห็นรอยฟกช้ำตรงขมับขวา “และผมยังถูกปรับ 1,000 รูปี” เงินค่าปรับเพิ่มหนี้
ให้อัคบาร์ ซึ่งหมายถึงการยืดระยะเวลาสัญญาที่ผูกมัดตัวเขา อัคบาร์หันไปทอพรมต่อ เด็กน้อยมีความ
อดทนอย่างน่าทึ่งและความสามารถด้านศิลปะจัดอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม เขาทำกรรไกรหลุดมือ และเห็น
รอยเฆี่ยนบนแขนได้อย่างชัดเจน สะท้อนภาพความจริงในฉับพลันนั้นว่า ความซ้ำซากจำเจในการผูก
ด้ายชั่วโมงละนับพัน ๆ เส้นดูเหมือนเป็นการทารุณที่โหดร้ายที่สุด ไม่ต่างไปจากการลงทัณฑ์
ถึงขั้นประหารชีวิต

“ผมรู้ว่าต้องเรียนการฝึกอาชีพ” เขากล่าว “แต่พ่อแม่อยู่ไกลเหลือเกิน ผมอยากอยู่กับครอบครัว
อยากเล่นกับเพื่อน เด็ก ๆ ไม่น่าต้องอยู่แบบนี้เลย”

หมายเหตุ :

1) อิคบาล มาซิห์ (Iqbal Masih : 2526 – 16 เมษ.2538) ได้รับรางวัลทั้งก่อนและหลัง
การถูกฆาตกรรมดังนี้

1. ในปี 2537 มูลนิธิของบริษัทรีบอคผู้ผลิตรองเท้าและเสื้อผ้าออกกำลังกาย ประเทศสหรัฐฯ มอบรางวัล
“The Reebok Human Rights Award” เป็นเช็คเงินสด 50,000 ดอลลาร์ (ก่อนถูกฆาตกรรม 1ปี)
เพื่อใช้ในกิจกรรมการปลดปล่อยแรงงานทาสของปากีสถานขององค์กร “BLLF”

ในปีเดียวกัน อิคบาลได้รับเชิญไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยม “Broad Meadows”เมืองควินซี (Quincy)
รัฐแมสซาชูเซตส์ และเป็นผู้พูดกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เกี่ยวกับชีวิตและแรงบันดาลใจของเขา
เมื่อนักเรียนทราบถึงการเสียชีวิตของเขาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2538 พวกเขาตัดสินใจทำโครงการ
"Penny Power" โดยมีเด็กหลายหมื่นคนจาก 50 รัฐของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมรณรงค์หาเงินสร้าง
โรงเรียนเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในเมือง Kasur ประเทศปากีสถาน โรงเรียนเปิดเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2540

2. ในปี 2543 รับรางวัลเด็กแห่งโลกเพื่อสิทธิเด็ก (World's Children's Prize for the Rights of the Child)
หลังเสียชีวิต 5 ปี

3. ล่าสุดวันที่ 23 มีนาคม 2565 รับรางวัล “Sitara-e-Shujaat” จากรัฐบาลปากีสถานซึ่งเป็นรางวัลสูงสุด
อันดับสองสำหรับชาวปากีสถานผู้มีความกล้าหาญโดดเด่นในการปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือผู้ที่อุทิศตน
โดดเด่นเพื่อผลประโยชน์ของชาติ

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 15, 2023 9:32 pm

แรงงานทาสในปากีสถาน ตอนที่ ( 5 ) (ตอนจบ) จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540 โดย Jonathan Silvers และจากวิกิปีเดีย 2565
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

2) เอห์ซาน อัลลาห์ ข่าน (Ehsan Ullah Khan : 9 ก.พ.2490 – ปัจจุบันอายุ 76 ปี)

ศึกษาด้านวารสารศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ (Punjab University) ในเมืองลาฮอร์
ขณะที่ยังเป็นนักเรียน เขาเริ่มเป็นผู้นำการต่อต้านการการใช้แรงงานเยี่ยงทาสของในโรงงาน
เตาเผาอิฐ องค์กรที่เขาตั้งขึ้นมีส่วนช่วยปลดปล่อยการใช้แรงงานเยี่ยงทาสได้มากกว่า 100,000 คน

เอห์ซาน ไม่ใช้วิธีใช้ความรุนแรงในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กเยี่ยงทาส แต่กล่าวว่า
“ให้เด็กเหล่านั้นมีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิและมีความหวังสำหรับ
อนาคตของตนเอง”

ขณะทำงานเป็นนักข่าว เขาถูกจับหลายครั้งเนื่องจากกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ
ของสื่อมวลชน ในปี 2525 เอห์ซานถูกจำคุก 6 เดือนในห้องมืดในป้อมปราการเมืองลาฮอร์
(Lahore Fort) ซึ่งในช่วงนั้นปากีสถานมีการปกครองแบบเผด็จการ (2521-2531)

ทั้งนี้เพราะในบทความหนึ่ง เขาเขียนประณามคนงานเตาเผาอิฐที่ถูกมัดเป็นหนูตะเภาจนเสียชีวิต
เนื่องจากการทดลองในโครงการวิจัยลับ ระหว่างถูกคุมขัง เชาถูกทรมานจนเกือบหูหนวก
หลังจากช่วยให้อิคบาลเป็นอิสระในปี 2537แล้ว ปลายปีนั้นในเดือนธันวาคม เขาได้เป็นผู้ติดตาม
อิคบาลไปรับรางวัลระดับนานาชาติที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส เอห์ซานลี้ภัยอยู่ในยุโรป
ตั้งแต่วันที่16 เมษายน 2538 แม้ว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ศาลสูงเมืองลาฮอร์ได้ประกาศว่า
คดีที่เขาถูกกล่าวหาไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อกล่าวหาเป็นเท็จ แต่จนทุกวันนี้ (2565) รัฐบาลปากีสถาน
ก็ยังไม่อนุญาตให้เขากลับเข้าประเทศได้

นายไกลาส สัตยานธิ (Kailash Satyarthi) นักปฏิรูปสังคมและนักต่อต้านการใช้แรงงานเด็กชาวอินเดีย
ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2557 กล่าวถึงเอห์ซานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ซึ่งสรุปข้อความ
บางตอนได้ดังนี้

“อิคบาล มาซิห์เป็นมรณสักขีของการเป็นทาสเด็กก็จริง แต่เอห์ซาน เป็นคนเดียวที่อยู่เคียงข้าง
และต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กให้พ้นจากการเป็นแรงงานทาส เอห์ซานถูกเนรเทศออกจากประเทศ
เขาเสียสละทุกอย่างทั้งครอบครัว อาชีพ เพื่อนฝูง และเครือข่ายโรงเรียนทั่วปากีสถาน เขาถูกจำคุก
12 ครั้งและถูกทรมานต่าง ๆ นานา เขาเป็นผู้บุกเบิกที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของขบวนการ
ต่อต้านการใช้แรงงานผูกมัดและการใช้แรงงานเด็กในปากีสถาน”

“พฤษภาคม 2557 เอห์ซานเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกเป็นเวลาสี่วันที่สเปนเกี่ยวกับ
การต่อต้านการว่างงาน การเอารัดเอาเปรียบ และการเป็นทาส”

“เมษายน 2559 เอห์ซานมีบทบาทอย่างมากในหมู่เกาะคานารี เขากล่าวสุนทรพจน์
ในโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง”

“7 เมษายน 2560 เขาได้พบปะกับนายกเทศมนตรีเมือง Santiago de Compostela ประเทศสเปน
และเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการสามวันเกี่ยวกับสารคดีและการกระทำที่ไม่รุนแรงต่อการแสวง
ประโยชน์จากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า”

“16 เมษายน 2561 รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายวิชาการและการมีส่วนร่วมทางสังคม นายกาเบโร
(Enrique Cabero) อธิการบดีมหาวิทยาลัยซาลามันกา (Salamanca) ให้การต้อนรับเอห์ซานเ
นื่องในโอกาสวันแรงงานทาสเด็ก”

“พฤษภาคม 2561 เอห์ซานเข้าพบกับบิชอปสังฆมณฑลวิตอเรีย
(Vitoria's Bishop, Juan Carlos Elizalde
) ผู้ประสานงานกับบิชอปในสังฆมณฑลอื่น ๆ ในสเปนเชิญเอห์ซานเป็นวิทยากรเผยแพร่แนวคิด
ของเขาในเรื่องการใช้แรงงานที่เป็นธรรม”

“12 มิถุนายน 2562 ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุและโทรทัศน์ของสเปน”

***************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส