เรื่องดีๆจากหนังสือสารสาระ (ชุดที่ 23 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 16, 2023 5:29 pm

มี 4 ตอน

💧วารีกู้ชีพ ตอนที่ ( 1 ))จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Barbara Sande Dimmitt และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ไมเคิล ลิตเติลขับรถกระบะสีเขียวตามรถของมาร์กพี่ชายไปบนถนนนอกเมืองยูบาซิตี้
(Yuba City) รัฐแคลิฟอร์เนีย ไมเคิลยิ้มอย่างเป็นสุขขณะชำเลืองมองลูกสาวทั้งสองซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ
มาร์ซาอายุ 12 ปีกางแขนโอบตัวรีเบกกาน้องสาววัย 10 ขวบที่นั่งหลับอยู่ตรงกลาง ทุกคนในครอบครัว
ล้วนชื่นชอบการเที่ยวพักผ่อนตกปลาครั้งนี้ ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2539

ทางข้างหน้าเป็นทางชันขึ้นสู่ถนนที่สร้างเป็นคันกั้นน้ำ ด้านตรงข้ามเป็นสะพานไม้ขนาดพอให้รถแล่นได้
ทางเดียวทอดอยู่เหนือสายน้ำไหลเอื่อยของคลองซัตเทอร์ (Sutter Bypass) ซี่งเป็นคลองระบายน้ำที่
เอ่อท้นจากแม่น้ำซาคราเมนโต (Sacramento River) สะพานข้ามไม่มีราวสะพาน มีเพียงไม้หมอนรถไฟ
ตอกติดไว้เป็นขอบกั้น

ไม่กี่วินาทีหลังจากรถของไมเคิลขับขึ้นไปอยู่บนคันถนน ก็มีรถยนต์สีขาววิ่งตัดหน้าผ่านไปอย่างกระชั้นชิด
ไมเคิลรีบลดเกียร์ลง แต่รถกระบะก็ยังไถลลื่นไปบนสะพานชนไม้หมอนทางด้านซ้ายแล้วแฉลบไปทางขวา
ปีนไม้หมอนที่กั้นด้านนั้นขึ้นไปโงนเงนอยู่เหนือสายน้ำสีขุ่น

ไมเคิลไม่กล้าขยับตัว มือจับพวงมาลัยนิ่ง รถกำลังจะตกจากสะพาน ขณะที่มาร์ซากรีดร้องดัง ไมเคิลได้
แต่ตะโกนว่า “อยู่นิ่ง ๆ นะลูก!

มาร์ก ลิตเติลกับหลานชายวัยรุ่น 2 คน พอลกับโจนาทาน เห็นรถของไมเคิลค้างเติ่งอยู่บนขอบสะพาน
ง่อนแง่นโงนเงนอยู่ชั่วอึดใจก่อนจะตกลงไปในน้ำลึก 4.50 เมตร

มาร์กและเด็กหนุ่มทั้งสองออกวิ่งเต็มฝีเท้าไปที่คลองทันที รถพลิกคว่ำล้อทั้งสี่หงายปริ่มน้ำ ชายสองคน
ที่ตกปลาอยู่ใกล้ ๆ วิ่งมาสมทบ มาร์กลุยน้ำเข้าไปและพยายามเปิดประตูรถ แล้วก็มีนักตกปลาอีก 3 คน
ตามเข้ามาช่วย คนหนึ่งใช้โทรศัพท์มือถือเรียกหมายเลขฉุกเฉิน 911 ขณะนั้นเป็นเวลา 16.43 น.
มาร์กรู้สึกว่ามีมือจากใต้น้ำมาจับขากางเกง “ไมเคิลนั่นเอง” เขารู้ดี “น้องผมยังมีชีวิตอยู่” เขาตะโกนและ
แล้วมือที่จับกางเกงคลายออกและหลุดไป
เมื่อหมดหนทาง ผู้มาช่วยตัดสินใจเสี่ยงจับรถตะแคงโดยหวังว่ารถคงไม่จมลึกลงไปอีก พวกเขาช่วยกัน
ผลักทางด้านคนนั่ง ในที่สุดรถก็เริ่มขยับ แล้วเอียงด้านข้างตั้งขึ้นได้ ประตูด้านคนนั่งปรากฏแก่สายตา
ไมเคิลและลูก ๆ จมอยู่ใต้น้ำหลายนาที ซึ่งเป็นหลายนาทีที่มีค่าอย่างยิ่ง

พวกเขาช่วยกันใช้แม่แรงยกรถและที่ขันดุมล้องัดประตู ในที่สุดประตูก็เปิดออก เผยให้เห็นร่างอ่อนปวกเปียก
ของมาร์ซา
คนหนึ่งช่วยตัดสายเข็มขัดนิรภัย อีกคนดึงตัวเด็กน้อยออกมา คนอื่น ๆ ช่วยกันผลักรถให้ตั้งตรง ชาย 4 คน
แบกร่างของไมเคิลขึ้นไปบนฝั่ง มาร์กกลับไปที่รถอีกครั้ง และเห็นโจนาทานอุ้มร่างที่แน่นิ่งของรีเบกกาตรงมา
มาร์กบอกตัวเองว่า

“หลานฉันต้องไม่เป็นอะไร”

เวลาผ่านไป 8 นาทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ไมเคิลและมาร์ซาฟื้นขึ้นแล้ว แต่รีเบกกายังนอนตัวเขียวคล้ำอยู่
เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์มาถึงและกำลังปฏิบัติการกู้ชีวิต

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 20, 2023 6:58 pm

💧วารีกู้ชีพ ตอนที่ ( 2 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Barbara Sande Dimmitt และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เฮลิคอปเตอร์นำมาร์ซาและรีเบกกาแยกไปคนละโรงพยาบาล ส่วนรถพยาบาลฉุกเฉินพาไมเคิล
แยกไปโรงพยาบาลแห่งที่สามที่ศูนย์การแพทย์เดวิสของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเมืองซาคราเมนโต
เจ้าหน้าที่พยาบาลเข็นเตียงรีเบกกาเข้าประตูห้องฉุกเฉินเวลา 18.00 น. เด็กน้อยอยู่ในอาการไม่รู้สึกตัว
และหายใจเองไม่ได้ แพทย์จึงใส่เครื่องช่วยหายใจให้

เลือดของรีเบกกามีระดับกรดสูงมาก แสดงว่าร่างกายขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง นายแพทย์มาร์โล
ว์ แพทย์เด็กประจำหน่วยวิกฤตบำบัดสงสัยว่าสมองของเธอจะถึงขั้นพิการหรือไม่ คงต้องใช้เวลาสัก
ระยะจึงจะพอบอกได้ ผลการตรวจระบบประสาทบ่งชี้ว่า ขณะนี้รีเบกกายังอาการทรงตัว แพทย์จึงมุ่ง
ความสนใจไปที่ปอดซึ่งกำลังต่อสู้กับความเป็นความตาย
ปอดของรีเบกกามีน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กน้อยเร่งต่อสู้กับเชื้อโรค
อย่างแข็งขัน เอนไซม์และโปรตีนที่เม็ดเลือดขาวผลิตออกมากำลังท่วมล้นเส้นเลือดฝอยในปอด
เมื่อเกิดแรงกดดันเช่นนี้ ของเหลวในเส้นเลือดฝอยจึงรั่วลงสู่ถุงลมขนาดจิ๋ว ทำให้ถุงลมสูญเสีย
ความยืดหยุ่นและเริ่มหดแฟบลง แม้แต่เครื่องช่วยหายใจก็ทำให้ถุงลมเสียหายมากขึ้น เพราะใช้
แรงดันสูงอัดออกซิเจนเข้าไปในถุงลมที่มีของเหลวเต็มและขยายออกไม่ได้อีกแล้ว

ภาวะที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เรียกว่า ถุงลมในปอดไม่ทำงานในเด็กเล็ก
(Acute Respiratory Distress Syndrome : ARDS) ครึ่งหนึ่งของเด็กที่อยู่ในภาวะนี้จะเสียชีวิต

เมื่อเรจินา ลิตเติล มารดาของรีเบกกาไปถึงโรงพยาบาล แพทย์บอกว่าลูกสาวของเธอคงอยู่ได้
ไม่เกินข้ามคืน กว่าโรงพยาบาลจะยอมให้เธอเข้าไปเยี่ยมรีเบกกาในห้องวิกฤตบำบัดได้ก็อีกหลาย
ชั่วโมงต่อมา เรจินาจ้องมองใบหน้าบวมเป่งและสายท่อระโยงระยาง ผมสีน้ำตาลของแกพันกันยุ่ง
อยู่บนผ้าปูขาวสะอาด รอยโคลนเปื้อนยังปรากฏอยู่บนแขนขาที่ขาวซีดทั้งสอง “หมอพยายาม
ช่วยชีวิตลูกหลายชั่วโมงเลยไม่มีเวลาเช็ดตัวให้ลูก” เรจินาคิดด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น
เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กน้อยยังคงอาการน่าวิตก นายแพทย์มาร์โลว์ประเมินสถานการณ์แล้วตัดสินใจ
โทรศัพท์หาเพื่อนร่วมงาน “แฮร์รี่ ผมมีคนไข้คนหนึ่งอยากให้คุณมาช่วยดู”

นายแพทย์แฮร์รี่ เจ. ดัลลัส วัย 33 ปีฟังนายแพทย์มาร์โลว์เล่าถึงอาการของรีเบกกา หมอคัลลัสเป็น
บุคคลหลักของศูนย์การแพทย์แห่งนี้ในการศึกษาค้นคว้าวิธีรักษาแบบใหม่เพื่อช่วยชีวิตคนไข้เด็ก
ที่อยู่ในภาวะถุงลมในปอดไม่ทำงาน

ที่มาของวิธีรักษาแบบใหม่ฟังคล้ายนิยายวิทยาศาสตร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการใช้สารเคมี
ชนิดหนึ่งในโครงการสร้างระเบิดปรมาณู สารเคมีนี้มีรหัสว่า “โจ สตัฟ” ตามชื่อของโจเซฟ ไซมอนผู้คิดค้น
สารดังกล่าวเป็นสารประกอบฟลูออไรต์ที่สามารถนำพาก๊าซ เป็นต้นว่าคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน
ได้เป็นจำนวนมาก

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 20, 2023 7:18 pm

💧วารีกู้ชีพ ตอนที่ ( 3 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Barbara Sande Dimmitt และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ประมาณ 10 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิทยาศาสตร์เกิดอยากรู้ว่า นักบินอวกาศหรือ
นักประดาน้ำลึกจะสามารถใช้ของเหลวเป็นตัวกลางเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับออกซิเจน
เช่นเดียวกับปลาได้หรือไม่ ราวปี 2510 นักวิจัยเริ่มทดลองสารประกอบฟลูออไรต์ชนิดหนึ่งที่มี
คุณสมบัติคล้ายกับ “โจ สตัฟ”โดยเอาหนูทดลองใส่ลงไปในสารเหลวที่ไร้สีและกลิ่นนี้ให้มันจม
อยู่ข้างใต้ พวกหนูดิ้นกระเสือกกระสนอยู่สักครู่ แล้วก็เริ่มสงบสบาย ทั้งนี้เพราะออกซิเจนที่อยู่
ในสารเหลวนั้นสามารถเดินทางผ่านเยื่อบาง ๆ ของถุงลมเข้าไปในเส้นเลือดได้ และเมื่อสูบเอา
ของเหลวออกจากปอดแล้ว พวกหนูก็ไม่มีทีท่าเจ็บป่วยแต่ประการใด

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า สารเหลวดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์อย่างมหาศาล
การใช้สารเหลวเป็นตัวนำออกซิเจนเข้าสู่ปอดจะช่วยล้างและปกป้องถุงลมที่ชำรุด แต่ความก้าวหน้า
ในเรื่องนี้ชะงักงันไปเนื่องจากขาดเครื่องมือที่สามารถปั๊มสารเหลวเข้าไปในปอดและทำหน้าที่สร้าง
ออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ยังต้องคิดค้นหาสารเหลวที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์ที่
เหมาะสมต่อไป
ในปี 2534 นักวิจัยค้นพบทางเลือกใหม่เรียกว่า “พีแอลวี” (PLV : Partial Liquid Ventilation)
โดยการใส่สารเหลวเข้าไปในปอดจนเกือบเต็ม แล้วใช้เครื่องช่วยหายใจแบบที่ใช้กันอยู่ปกติปั๊ม
ออกซิเจนเข้าไปในช่องว่างที่เหลืออยู่ในปอด

ก่อนอุบัติเหตุของรีเบกกาหลายเดือน องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯอนุมัติให้ทดลองใช้วิธีรักษา
แบบ “พีแอลวี” และสารเคมีเหลวที่เรียกว่า “ลิควิเวนต์” (LiquiVent) แก่คนไข้เด็กอย่างกว้างขวาง
เป็นครั้งแรก ตอนนี้หมอนึกสงสัยว่า พ่อแม่ของรีเบกกาจะยินยอมให้บุตรสาวเข้าโครงการทดลอง
วิธีรักษาแบบนี้หรือไม่

เย็นวันจันทร์รุ่งขึ้นหลังวันเกิดอุบัติเหตุ เรจินา ลิตเติลนั่งอยู่ในห้องประชุมเล็กของศูนย์การแพทย์ฯ
ไมเคิลและมาร์ซาอาการดึขึ้นแล้ว แต่รีเบกกายังไม่รู้สึกตัว หมอคัลลัสบอกเรจินาว่า

“อาการของรีเบกกาตอนนี้ยังทรงอยู่ แต่มีอะไรหลายอย่างบอกว่า ปอดของเธออาจแย่ลง”

หมอคัลลัสเอาแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ 2 แผ่นหนีบกับที่อ่านฟิล์มซึ่งมีไฟส่องสว่าง “นี่คือภาพปอดที่
ปกติจะดูมืดเพราะมีอากาศอยู่เต็ม เราจะไม่เห็นอากาศบนฟิล์มเอกซเรย์ และนี่คือภาพปอดทั้งสองข้าง
ของรีเบกกา ครึ่งล่างจะเห็นเป็นสีขาวเกือบทั้งหมดเนื่องจากมีเศษของเสียอยู่เต็มและถุงอากาศยุบตัว ลง
ปอดครึ่งบนเราเห็นรอยขาว ๆ ปรากฏมากขึ้น อาการลูกสาวของคุณตอนนี้เข้าข่ายรับการรักษาด้วย
สารเหลวทดลองได้ เราหวังว่ามันจะช่วยรักษาปอดของเธอได้”

หลังจากอธิบายกรรมวิธีแล้ว หมอคัลลัสก็ฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับ”ลิควิเวนต์”และ “พีแอลวี”ให้ดู เรจินา
จ้องภาพบนจออย่างตั้งใจ หมอคัลลัสบอกเธอไม่ได้ว่าจะมีโอกาสสำเร็จสักเท่าใด “เราไม่ทราบด้วยซ้ำว่า
ผลกระทบในระยะยาวของ ‘พีแอลวี’จะเป็นอย่างไร หรือโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนมีหรือไม่”
หมอคัลลัสกล่าว

เรจินาดูจะเข้าใจดีว่า ลูกสาวของเธอมีโอกาสรอดน้อยมาก บางทีการทดลองรักษาแบบใหม่อาจช่วยได้
เธอมองหน้าหมอคัลลัสแล้วถามว่า “จะให้ดิฉันเซ็นชื่อตรงไหนคะ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 20, 2023 7:22 pm

💧วารีกู้ชีพ ตอนที่ ( 4 ) (ตอนจบ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2540
โดย Barbara Sande Dimmitt และจากวิกิปีเดีย 2565 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

คืนนั้น หมอคัลลัสหยิบขวด ’ลิควิเวนต์’ ขนาด 1 ลิตรออกมา ‘ลิควิเวนต์’ดูเหมือนน้ำแต่มีน้ำหนัก
มากกว่า 2 เท่า มีแรงดึงผิวต่ำมากจนเมื่อหยดออกมาจะแผ่กระจายอย่างรวดเร็ว ไม่เกาะกันเป็นรูป
หยดน้ำ หมอคัลลัสสูบสารเหลวเข้าไปในหลอดแก้วขนาดใหญ่อย่างระมัดระวัง แล้วเริ่มหยดมันลงไป
ในช่องด้านข้างท่อที่ต่อเข้าไปทางหลอดลมในปากของรีเบกกา

หลังจากนั้น เรจินานั่งอยู่ข้างเตียงลูก เฝ้ามองหยด’ลิควิเวนต์’ราวกับต้องมนต์ มันผุดเป็นพรายฟอง
ทุกครั้งที่รีเบกกาหายใจออก เธอโน้มตัวเข้าไปใกล้ พูดเบา ๆ ด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้นว่า
“อย่ายอมแพ้นะ มียาดีช่วยลูกแล้ว”

เช้าวันรุ่งขึ้น ปีเตอร์ รูทานบุรุษพยาบาลเอาภาชนะบรรจุของเหลวที่มีเม็ดทรายและน้ำสีเขียวคล้ำ
มีสิ่งปนเปื้อนดำ ๆ อยู่ด้วยให้เรจินาดู “สารเหลวที่เราใส่เข้าไปในปอดของรีเบกกาเข้าไปดันสิ่งสกปรก
เหล่านี้ขึ้นมา เราจึงสามารถดูดมันออกมาได้ เป็นสัญญาณดีครับ” เขาบอก เรจินาเกิดความหวัง
ขึ้นทันที แต่เธอไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงบนใบหน้าของลูกที่ยังคงเป็นสีเทาหม่นอยู่

วันรุ่งขึ้น ไมเคิลออกจากโรงพยาบาลได้ เขาไปที่ศูนย์การแพทย์เดวิสของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
พอก้าวออกจากลิฟต์ เรจินากอดเขาไว้พลางอุทานว่า “ในที่สุด” ครั้นแล้วเธอก็แหงนหน้าขึ้นมองเขา
และพูดอย่างหนักแน่นว่า “เมื่อเข้าไปในนั้น อย่าร้องไห้นะคะ อย่าพูดอะไรไม่ดี เราต้องทำเหมือนไม่มี
อะไรร้ายแรง ฉันรู้ว่าลูกจะได้ยินที่เราพูด”

ไมเคิลพยักหน้ารับและตอบว่า “อย่าห่วงเลย” แต่พอเห็นใบหน้าบวมเป่งปราศจากความรู้สึกของรีเบกกา
ก็ถึงกับผงะ ความทรงจำทั้งหลายทั้งปวงถาโถมเข้ามา : รีเบกกาเขียนเล่าเรื่องในสมุดบันทึก เล่นกับตุ๊กตา
ม้าเล็ก ๆ วิ่งเล่นลัดเลาะไปตามต้นไม้ในค่ายพักแรมที่ครอบครัวชอบไป “ลูกจะทำสิ่งเหล่านั้นอีกได้ไหมหนอ”
เขารำพึง

เรจินามิได้สังเกตความทุกขเวทนาของสามี แต่จิตใจแน่วแน่อยู่ที่ลูก เธอคิดว่าเห็นสีชมพูจาง ๆ ปรากฏ
บนผิวของรีเบกกา

คืนนั้น หมอคัลลัสหยุดให้’ลิควิเวนต์’เพื่อดูว่าปอดของรีเบกกาสามารถทำงานได้เองหรือไม่ เรจินาและไมเคิล
กลับบ้านไปตอนตีสองเพื่อพยายามงีบหลับสัก 2-3 ชั่วโมง เมื่อกลับมาอีกในตอนเช้าก็เห็นปีเตอร์ รูทาน
ยิ้มร่าอยู่ “เธอกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ” เขาบอก

หลังจากเกิดอุบัติเหตุได้ 11 วัน รีเบกกาก็สามารถหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วย พอฟื้นคืนสติขึ้นมา
ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เนื้อสมองของเธอเสียหายบางส่วน แต่เมื่อได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่เป็นเวลาหลายสัปดาห์
เธอก็เรียนรู้วิธีรับประทาน นั่ง ยืน เดินและพูดอีกครั้ง

เช้าวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 แพทย์และพยาบาลเข้ามารวมกันอยู่ในห้องของรีเบกกา

ไมเคิลถามลูกว่า “ว่าไงจ๊ะ พร้อมหรือยัง”

“กลับบ้าน!” เธอพูดอย่างตื่นเต้น เรียกรอยยิ้มจากทุกคน

รีเบกกา ลิตเติลยังคงรับการบำบัดรักษาต่อไป แต่เธอไปโรงเรียนได้แล้ว โดยเรียนสัปดาห์ละ 3 วัน
และเริ่มเขียนเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้อีก เธอขึ้นชั้นมัธยมปีที่หนึ่งในเดือนกันยายน 2539 ข้อมูลเกี่ยวกับ
การฟื้น.จากอาการป่วยของเธอในฐานะคนไข้รายแรกที่บำบัดรักษาด้วยการใช้สารเหลวช่วยหายใจ
ถูกนำไปรวมกับข้อมูลที่เก็บจากคนไข้อื่นๆ และในอนาคตอาจเป็นวัตถุดิบให้เกิดการค้นพบที่เป็น
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ต่อไป
*********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 22, 2023 1:09 pm

เรื่อง ผู้โดยสารคนสุดท้าย มีทั้งหมด ( 1 7 ) ตอนจบ

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 1 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังจากรออยู่นาน 5 ชั่วโมงจนหงุดหงิด เจอร์รี่ เช็มเมล (Jerry Schemmel) ก็ได้ตั๋วยืนยัน
เที่ยวบินไปชิคาโกสมดังที่เฝ้าคอยมาตั้งแต่เช้า พอเครื่องออก เขาก็นั่งเอนหลังด้วยความโล่งใจ
เป็นครั้งแรกในรอบวัน แต่แล้วก็ได้ยินเสียงระเบิดกึกก้อง

เช้าวันนั้น ผม(เจอร์รี่ เช็มเมล)ลืมตาก่อนนาฬิกาปลุกส่งเสียง 2-3 นาทีซึ่งเป็นอาการปกติเวลาที่รู้ว่า
จะต้องจับเที่ยวบินแต่เช้าตรู่ ผมค่อย ๆ ไถลตัวลุกจากเตียง พยายามไม่ทำให้ไดแอนภรรยาพลอยตื่น
ไปด้วย เวลาตอนนั้น 5.45 น.

ไดแอนรับปากว่าจะขับรถไปส่งผมที่สนามบินสากลสเตเปิลตัน (Stapleton Airport) เพื่อขึ้นเครื่องบิน
เที่ยว 7.00 น.จากเดนเวอร์ไปชิคาโก แล้วต่อเครื่องไปโคลัมบัสในรัฐโอไฮโอ ผมสัญญาว่าจะไม่ปลุก
เธอจนนาทีสุดท้ายก่อนออกจากบ้าน
ผมเป็นรองกรรมาธิการและที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสมาคมบาสเกตบอล คอนติเนนตัล ซึ่งเป็นระบบ
สายย่อยในเอ็นบีเอ (NBA) เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของสมาคมฯ ถึงโคลัมบัสแล้วเพื่อร่วมประชุม เหลือแต่ผม
กับเจย์ แรมส์เดล (Jay Ramsdell) กรรมาธิการอีกคนที่ยังต้องทำธุระในสำนักงานในเมืองเดนเวอร์
ให้เสร็จก่อนบินไปประชุมด้วยกัน

ผมคลำทางเข้าห้องน้ำอย่างเงียบเชียบที่สุด และจัดแจงเตรียมตัวเดินทางไปประชุม หลังจากดื่มกาแฟ
และอ่านรายงานไปได้สักพัก ก็ขึ้นไปปลุกภรรยา เราออกจากบ้านไปสนามบินตอน 6.30 น. ผมเป็นคนขับ
ขณะที่ไดแอนยังไม่ตื่นดีนั่งหลับตาพักไปในรถ จากบ้านไปสนามบินใช้เวลาขับรถเพียง 5 นาที

“ถึงโคลัมบัสแล้วผมจะโทรฯมา” ผมบอกภรรยาระหว่างที่ยกกระเป๋าลงจากท้ายรถ เรากอดลากันตรงหน้า
ประตูสายการบินยูไนเต็ด

ไดแอนขับรถออกไป คงใจจดจ่อกับงานที่จะต้องทำในวันนั้น ผมเดินไปตรวจว่าจะต้องใช้ประตูทางออก
หมายเลขอะไร หลังจากกวาดตาหาตารางเที่ยวบินไปชิคาโกพบแล้ว ก็เห็นคำว่า “ยกเลิก” ต่อท้ายเที่ยวบิน
ของผม

เนื่องจากเดนเวอร์และชิคาโกเป็นชุมทางของสายการบินยูไนเต็ด ผมจึงไม่ต้องวุ่นวายเรื่องเปลี่ยนสาย
การบิน ช่วงเช้านั้นยังมีเที่ยวบินไปชิคาโกอีก 3 เที่ยว จึงเป็นไปได้มากที่ผมกับเจย์จะได้ขึ้นเครื่องเที่ยวใด
เที่ยวหนึ่ง และถ้าโชคดีได้ต่อเที่ยวบินไปโคลัมบัส ก็ยังทันร่วมประชุมตอนเที่ยง

ขณะกำลังคิดคำนวณง่วนอยู่ ผมได้ยินเสียงผู้หญิงเรียกชื่อผม

“ได้ยินแล้วใช่มั้ยคะว่าเที่ยวบินคุณยกเลิก” ลอรี่ แฟนของเจย์พูดขึ้นด้วยน้ำเสียงค่อนข้างวิตก เธอไม่ชอบ
ให้เจย์เดินทางโดยเครื่องบินเพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของเขา ตามประสาคนเพิ่งรักกันที่ไม่อยากจากกัน
ผมเห็นเจย์ยืนตรงเคาน์เตอร์สายการบินยูไนเต็ด เขาพยักพเยิดให้ผมเดินไปหา พนักงานตั๋วอธิบายว่า
เครื่องยนต์มีปัญหาทำให้เครื่องบินไม่ได้ ส่วนเที่ยวบินเช้าอีก 3 เที่ยวก็เต็มหมด พนักงานใส่ชื่อของเราสำรอง
ไว้ทุกเที่ยวบิน และยืนยันที่นั่งเที่ยว 12.45 น.ไว้ให้ ผมกับเจย์จึงโทรฯเลื่อนนัดประชุมไป 6 โมงเย็น
ถึงเวลาที่ลอรี่ต้องไปทำงานแล้ว ผมมองตามเจย์เดินไปส่งลอรี่ที่รถ อดคิดถึงชีวิตแต่งงานของตัวเองไม่ได้
และรู้สึกว่าผมช่างมีชีวิตที่ดีเสียจริง ไดแอนเป็นทั้งคู่ชีวิตและเพื่อนของผม สักวันหนึ่งผมหวังว่าเธอจะเป็นแม่
ของลูก ๆ เรา ส่วนผมตอนนี้ จากอดีตนักกีฬามหาวิทยาลัยกลายมาเป็นนักกฎหมายที่ยังไม่ค่อยแน่ใจตัวเอง
มาช่วยบริหารงานสมาคมกีฬาที่ผมรัก โอกาสที่จะได้เข้าไปในรายการใหญ่ของบาสเกตบอลอยู่ใกล้แค่เอื้อม
ผมยังอายุไม่ถึง 30 ปี

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 25, 2023 9:51 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 2 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เจย์อายุแค่ 25 เด็กกว่าผมเสียอีก เขาเป็นกรรมาธิการหนุ่มที่สุดในวงการกีฬาอาชีพ
ผมรู้จักเขาเมื่อ 3 ปีก่อน ในเวลาเพียง 3 เดือนครึ่งที่เจย์จ้างผมทำงาน เราก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน

หลังจากที่เจย์ร่ำลาลอรี่เสร็จ เราสองคนจึงไปหาอาหารเช้าใส่ท้องและแวะดูว่าจะโชคดีได้ขึ้นเครื่องบิน
หรือเปล่าในฐานะผู้โดยสารสำรอง “สองเที่ยวแรกเต็มหมด โอกาสต่อไปเป็นเที่ยว 10.55 น. ผมโทรฯ
เล่าสถานการณ์ล่าสุดให้ไดแอนฟัง ราว 10.30 น. ผมกับเจย์ตรงไปที่ประตู 21 เพื่อดูลาดเลา
เที่ยว 10.55 น. เสียงประกาศเรียกเจย์ไปที่เคาน์เตอร์ เขาได้ที่นั่งเที่ยวนี้ ส่วนผมยังไม่ได้ไป
ตอนนี้เราสายเกือบ 4 ชั่วโมงแล้ว “ไปก่อนเถอะ” ผมยุเจย์

“ผมค่อยตามไปทีหลัง”

“ไม่ละ” เจย์ตอบ “ผมจะคอย”

ใบหน้ายิ้มบอกต่อว่า “มาด้วยกัน ก็ต้องไปด้วยกันสิ” เขาเดินไปที่เคาน์เตอร์ ยื่นบัตรที่นั่งคืน
ให้พนักงาน “เจย์ช่างมีน้ำใจจริง ๆ” ผมคิด

เรานั่งคอยต่ออีก 2 ชั่วโมงจนถึงเที่ยว 12.45 น. จึงได้ขึ้นยูไนเต็ดเที่ยวบิน 232 ผมก้าวเข้า
ประตูเวลา 12.20 น.

“คุณเช็มเมล” พนักงานบอก
“เราไม่มีที่นั่งสำหรับคุณค่ะ คุณอยู่ในกลุ่มสำรอง”

ผมพยายามทำใจเย็น แต่ถึงตอนนั้น ผมรอมา 5 ชั่วโมงกว่าแล้ว ผมบอกไปว่าได้รับการยืนยัน
ที่นั่งแล้ว และผมจำเป็นต้องไปเที่ยวนี้

“เสียใจด้วยค่ะ” พนักงานกล่าว
ผมสูดหายใจลึก “แล้วเจย์ แรมส์เดลล่ะ ได้ที่นั่งหรือเปล่า”

“คุณแรมส์เดลมีที่นั่งยืนยันเรียบร้อยค่ะ”

ผมคงหัวเราะออกถ้าไม่หงุดหงิดขนาดนี้ ตอนที่เดินออกจากเคาน์เตอร์ตั๋ว ผมเหลือบดูนาฬิกา
เวลา 12.30 น.
ไม่กี่นาทีต่อมา ผมได้ยินเสียงประกาศแว่วมาไพเราะราวกับเสียงดนตรี “คุณเช็มเมล” เสียงประกาศ
ดังขึ้น “กรุณามาติดต่อที่เคาน์เตอร์ด้วยค่ะ”

แล้วการรอคอยก็สิ้นสุดลง ผมกับเจย์ได้เดินทางด้วยกัน ช่วงที่กำลังขึ้นเครื่อง ผมรู้สึกโชคดีเป็น
พิเศษเมื่อไม่ได้ยินเสียงเรียกผู้โดยสารสำรองคนอื่นอีก
ขณะกำลังเดินเรียงแถวขึ้นเครื่องบินยูไนเต็ด 232 ผมสังเกตว่าผมเป็นผู้โดยสารคนสุดท้าย!

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 25, 2023 9:54 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 3 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)เสียงกึกก้องเขย่าขวัญ

ผมกับเจย์เดินขึ้นเครื่องดีซี-10 ท่าทางคงจะดูไม่ได้เพราะโทรมเต็มที พนักงานประจำเครื่อง
ที่เดินไปด้วยคงสังเกตเห็นท่าทางอ่อนล้าของเรา

“คุณทั้งสองอาจจะงีบไม่ค่อยสบายนักนะคะ” เธอพูดยิ้ม ๆ “วันนี้มีผู้โดยสารประเภทพ่อแม่ลูกเยอะเลยค่ะ”

ผมไม่สนใจ “ได้ขึ้นเครื่องก็ดีใจจะแย่แล้วครับ” ผมบอก

ผมกับเจย์ไม่ได้นั่งด้วยกัน เนื่องจากเช้านั้นมีผู้โดยสารตกค้างหลายคน ต้องแบ่งตั๋วกันไป จึงยาก
ที่จะได้นั่งติดกันสองที่

เจย์ได้ที่นั่ง 30J ผมได้ที่นั่งถัดขึ้นไปข้างหน้าสองแถวคือ 28 F แต่พอมองไปตามทางเดิน
ก็เห็นที่นั่งของผมมีคนนั่งอยู่ก่อนแล้ว แทบไม่อยากเชื่อเลย

คนนั่งที่ผมเป็นเด็กชายอายุราว 8-9 ขวบ ผมตรวจเลขที่นั่งบนบัตรขึ้นเครื่องอีกครั้ง ชายวัยกลางคน
นั่งอยู่ข้างเด็กเอ่ยขึ้นก่อน “เลขที่คุณ 28 F หรือครับ” เขาถามเขิน ๆ

ผมพยายามตอบอย่างสุภาพที่สุดว่าใช่

“นี่ลูกชายผม” เขาพูดต่อ “ที่นั่งผม 28 G แต่เราอยากนั่งด้วยกัน ถ้าไม่ขัดข้องขอแลกที่นั่งกันได้มั้ยครับ
ที่นั่งของผมติดทางเดิน”

ผมดีใจที่จะได้ที่นั่งติดทางเดิน จึงไม่มีปัญหาที่จะให้สองพ่อลูกนั่งด้วยกัน ผมหันไปมองหาเจย์ ซึ่ง
เดิมอยู่ถัดไปข้างหลัง 2 แถว ตอนนี้เรานั่งห่างกัน 7 แถว ถึงตอนนั้นผมไม่คิดอะไรแล้ว นอกจากรู้สึกว่า
ตั้งแต่นั่งเครื่องบินมา ยังไม่เคยสุขใจอย่างนี้มาก่อน

พอเครื่องออก ผมเริ่มอ่านเอกสารที่ทีมงานรวบรวมไว้ให้ เงยหน้าดูหนังวีดีโอที่ฉายบนเครื่อง
เป็นครั้งคราว หนังที่ฉายประกอบกับความเครียดตลอดช่วงเช้าทำให้รู้สึกอยากเอนหลัง ผมเอนพนัก
เก้าอี้ลงและงีบหลับไป

เสียงพนักงานประจำเที่ยวบินเข็นรถอาหารไปตามทางปลุกผมตื่น เด็ก ๆ รอบตัวดูเหมือนกำลัง
เอร็ดอร่อยกับอาหาร ท่าทางมีความสุขและไม่ซุกซน ต่างกับที่พนักงานประจำเที่ยวบินขู่ไว้ก่อนหน้านี้
ท้องฟ้าราบเรียบและสดใส ผมรู้สึกผ่อนคลายเป็นครั้งแรกในวันนั้น

ทันใดก็เกิดเสียงระเบิดมาจากด้านหลัง เป็นเสียงดังลั่นสนั่นไปทั้งลำ ผมตกใจรีบนั่งตัวตรง
และรัดเข็มขัดนิรภัย

แล้วเครื่องก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ เสียระดับต่างกับเวลาที่เครื่องบินเจอสภาพอากาศแปรปรวน
รู้สึกเหมือนกับเครื่องหมดแรงบินในฉับพลัน ผมใจหายวาบด่วนสรุปว่าเรากำลังดิ่งลง

ผมทำถ้วยกาแฟเปล่าบนถาดหน้าที่นั่งล้ม ขณะพยายามยึดที่วางแขนสองข้างไว้แน่น ทั้งที่น่าจะรู้ว่า
ทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรในระดับความสูง 37,000 ฟุต เครื่องบินยังดิ่งลงเรื่อย ๆ ภาพแห่งมรณะ
ปรากฏชัดขึ้นทุกที

ผมได้ยินเสียงผู้หญิงหวีดร้อง ความกลัวจุกอยู่ที่ลำคอ หัวใจผมเต้นดังมากจนรู้สึกสั่นไปทั้งตัว
หายใจไม่ออก ได้ยินเสียงเด็กร้องเป็นครั้งแรกตั้งแต่ขึ้นเครื่อง

โปรดติดตามตอนที่ (4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ส.ค. 25, 2023 9:59 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 4 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ภายในห้องนักบิน กัปตันอัล เฮนส์ (Al Haynes) นั่งเก้าอี้ตัวซ้ายกำลังดื่มกาแฟและมองโลกข้างล่าง
ที่เคลื่อนผ่านในระยะห่างเกือบ 10 กิโลเมตร กัปตันและลูกเรือเพิ่งรับประทานอาหารเที่ยงเสร็จ และโดย
ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเขาได้ยินเสียงตูมใหญ่ จากนั้นเครื่องบินก็เสียการทรงตัว

“เกิดอะไรขึ้น” กัปตันเฮนส์ร้องถามพร้อมกับรีบตรวจเครื่องวัดต่าง ๆ ปิดระบบบังคับการบินอัตโนมัติ
บิล เรกคอร์ด (Bill Records) นักบินที่สองคว้าคันบังคับ

กัปตันเฮนส์และดัดลีย์ (Dudley Dvorak) นักบินที่สามซึ่งเป็นนายช่างประจำอากาศยานกวาดตามองแผง
ควบคุมอย่างรวดเร็ว หน้าปัดวัดเครื่องยนต์หมายเลข 2 ตกลงมาที่ศูนย์ เครื่องยนต์ดับ

กัปตันเฮนส์เรียกหารายการตรวจเช็กเมื่อเครื่องยนต์ดับ ตลอดชีวิตการบิน เขาไม่เคยต้องปิดเครื่องยนต์
ไอพ่นในระหว่างบินเลย ปกติเครื่องยนต์พวกนี้ไว้ใจได้ แต่การฝึกอบรมสอนให้เขารู้ว่าต้องทำอย่างไร
ดัดลีย์อ่านรายการแรก “ปิดคันเร่ง”

กัปตันเฮนส์เอื้อมมือดึงคันเร่งถอยหลัง แต่มันไม่ขยับ ขั้นที่สองต้องปิดเชื้อเพลิงที่จ่ายไปยังเครื่องยนต์
คันโยกเปิดปิดเชื้อเพลิงขยับไม่ได้อีกเช่นกัน ตอนนี้เขารู้แล้วว่า ปัญหาไม่ใช่แค่เครื่องยนต์ดับ

กัปตันเฮนส์ตัดน้ำมันด้วยการดึงคันโยกน้ำมันที่จ่ายจากถังน้ำมันใหญ่ เหตุการณ์ผ่านไปแล้วเกือบ
15 วินาทีหลังระเบิด เรกคอร์ดนักบินที่สองโวยวายขึ้นว่า “กัปตันฯ ผมควบคุมเครื่องไม่ได้”

เครื่องดีซี-10 มีเครื่องยนต์ 3 เครื่อง เครื่องแรกอยู่ปีกซ้าย เครื่องสามปีกขวา และเครื่องสองยึดติด
กับหาง ภายในเครื่องสอง แกนวงแหวนที่ยึดชุดใบพัดไทเทเนียมขนาด 1.8 เมตรร้าวเพราะวัสดุใช้งาน
จนกร่อนและแตก เศษใบพัดกระจายทะลุห้องเครื่อง ชิ้นส่วนกระเด็นไปฉีกส่วนหาง โดนท่อไฮดรอลิก
ทั้งสามระบบของเครื่องบิน แรงระเบิดทำให้ท่อของระบบที่ 3 แตก

คนออกแบบเครื่องดีซี-10 สร้างเครื่องบินให้มีระบบไฮดรอลิก 3 ตัวทำงานเป็นอิสระจากกันเพื่อควบคุม
เครื่องบิน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งไม่ทำงาน อีก 2 ตัวยังทำงานต่อไปได้ และถ้าตัวที่ 2 เสีย ยังมีตัวที่ 3 ทำงานได้

โอกาสที่ทั้งสามระบบไม่ทำงานเลยเกิดขึ้นได้น้อยมากจนองค์กรการบินสหรัฐอเมริกา
(FAA : The Federal Aviation Administration) เห็นว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เคยมีคนบอก
กัปตันเฮนส์ว่า โอกาสแบบนี้เกิดขึ้นหนึ่งในพันล้าน

แต่ตอนนี้ กัปตันเฮนส์และลูกเรือแทบจะบังคับระดับความสูงหรือทิศทางไม่ได้เลย จะนำเครื่องลงจอด
ตามปกติก็ไม่ได้ และถ้าลงพื้นได้ เครื่องก็ไม่มีเบรก

กัปตันเฮนส์เหลียวไปเห็นอะไรบางอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดชีวิตการทำงาน 33 ปี
นักบินที่สอง ดึงคันบังคับเข้ามาชิดตัก เอียงไปซ้ายสุด ซึ่งนาจะดึงเครื่องขึ้นและไปซ้าย
แต่เครื่องกลับดิ่งลงและเอียงขวาเรื่อย ๆ

ถ้าไม่รีบแก้ปัญหาโดยเร็ว เครื่องจะตีลังกาและโหม่งโลกแน่นอน ด้วยสัญชาตญาณ กัปตันเฮนส์
ผ่อนเครื่องยนต์ซ้ายและเร่งเครื่องยนต์ขวาเต็มที่ เครื่องค่อย ๆ ตั้งลำได้

2-3 นาทีต่อมา นักบินทั้งสองได้แต่ปลุกปล้ำคันบังคับ สลับใช้เครื่องยนต์ซ้ายและขวาเพื่อบังคับทิศทาง
ของเครื่องบิน
แต่เครื่องยังเลี้ยวขวาอยู่ อาจเป็นเพราะความเสียหายที่ส่วนหางทำให้เครื่องบินเป็นวงเหนือท้องทุ่ง
ในรัฐไอโอวา ลูกเรือวิทยุแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หอบังคับการบินเริ่มบอกทางให้บินไปยังสนามบิน
ใกล้เคียงที่เมืองซูซิตี้ (Sioux City)

กัปตันเฮนส์เรียกหัวหน้าพนักงานประจำเที่ยวบินมาที่ห้องนักบินเพื่อแจ้งให้เธอเตรียมผู้โดยสาร
ในการลงฉุกเฉิน พนักงานประจำเที่ยวบินรายงานกัปตันฯว่า ครูฝึกบินที่เชียวชาญเครื่องดีซี-10
เป็นพิเศษชื่อเดนนิส ฟิตซ์ (Dennis Fitch) บังเอิญอยู่บนเครื่องด้วยและอาสาช่วย กัปตันฯขอให้
ฟิตช์มาที่ห้องนักบิน เมื่อฟิตช์มองปราดไปทั่วแผงหน้าปัด เขาก็รู้ว่ากำลังพบเหตุวิกฤต ชั่วชีวิต
การบินของเขา ไม่เคยเจอสถานการณ์อย่างนี้เลย

เครื่องยังบินวนอยู่ 15 นาที นักบินยังควบคุมหรือรักษาระดับการบินไม่ได้ กัปตันเฮนส์หันไปบอก
ลูกเรือว่า “สหาย เราคงไม่มีโอกาสลงจอดธรรมดา เห็นทีจะต้องลงฉุกเฉินและภาวนาให้โชคดี”

ไม่มีใครคัดค้าน

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 27, 2023 10:14 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 5. )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ผมพร้อมแล้ว

หลังจากเกิดระเบิดราว 30 วินาที พอเครื่องบินเอียงขวา ถ้วยกาแฟผมกลิ้งตกจากถาดลงบน
พื้นที่ทางเดิน ผมก็ปักใจ แล้วว่า ผมและทุกคนบนเครื่องกำลังดิ่งลงสู่จุดจบของชีวิต
แขนของผมยังเกาะที่เท้าแขนแน่น หัวใจยังไม่หยุดเต้นตูมตาม ชั่วประเดี๋ยวกลับรู้สึกดีใจว่า เครื่องหยุด
ดิ่งลงและกำลังรักษาระดับไว้ได้ ผมเริ่มโล่งอก เครื่องดูเหมือนจะบินเป็นปกติอีกครั้ง แต่แล้วก็ปรากฏว่า
เรายังบินเอียงขวาอยู่ ผมพยายามทำความเข้าใจและประเมินสถานการณ์ ผมสูดหายใจลึก พยายาม
ผ่อนคลาย ติดตามทุกจังหวะที่เครื่องโยนและเหวี่ยงอย่างใกล้ชิด
ผมไม่เคยเป็นคนเคร่งศาสนา แต่ตอนนี้ผมกำลังสวดภาวนา แปลกที่บทสวดแรกของผมเป็นบทขอบพระคุณ
ผมขอบคุณพระเจ้าที่ไดแอนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์น่ากลัวครั้งนี้กับผม พอสวดเสร็จ ผมกวาดตาดูรอบ ๆ ว่า
คนอื่นทำอะไรกัน ผมเห็นความกลัวฉายในแววตาพวกเขา แต่การที่เครื่องยังบินอยู่ได้ไม่โหม่งพื้น
ดูเหมือนจะช่วยให้คนยังสงบอยู่ และยิ่งมั่นใจขึ้นเมื่อได้ยินเสียงนักบินประกาศ
เขาบอกว่า เครื่องยนต์หมายเลข 2 ขัดข้องและสั่งปิดเครื่องไปแล้ว แต่เครื่องดีซี-10 มีเครื่องยนต์อีก 2 ตัว
ที่ยังใช้บินได้ เราคงเดินทางถึงชิคาโกล่ากว่ากำหนด

ผมเห็นผู้คนรอบตัวทำท่าโล่งอก ถึงนักบินจะรับปากแบบนั้น ผมยังไม่เชื่อสนิทใจ มีอะไรบางอย่างไม่ปกติ
เป็นความรู้สึกลึกๆ แล้วก็จริงอย่างที่ผมกลัว เมื่อเสียงกัปตันประกาศขึ้นอีก เขาอธิบายด้วยน้ำเสียงที่
เยือกเย็นว่า เกิดระเบิดทำลายส่วนท้ายของเครื่องรวมทั้งเครื่องยนต์ด้วย เขาเว้นจังหวะ ก่อนที่จะพูดต่อว่า
มีปัญหาในการบังคับเครื่องบินและเราคงจะต้องลงจอดฉุกเฉินที่เมืองซูซิตี้

กัปตันบอกว่า ก่อนลงจอด 30 วินาที จะให้สัญญาณเตือนเพื่อให้ทุกคนเตรียมยึดให้มั่น
เขาพูดตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม

“ทุกท่าน ผมจะไม่หลอกคุณ เพราะการลงจอดคราวนี้คงจะสะเทือนมาก หนักกว่าครั้งไหน ๆ ที่คุณเคยประสบ”

ตอนนี้มีเสียงร้องระงมจากทุกทิศทาง ไม่มีอาการแตกตื่นแต่มีความรู้สึกเหมือนความตายกำลังจะมาถึง

พนักงานประจำเครื่องเตรียมตัวผู้โดยสารเพื่อลงจอดฉุกเฉิน เรามีทางเลือก 2 แบบ จะโน้มตัวไปข้างหน้า
และจับข้อเท้าไว้ หรือจะไขว้มือยึดส่วนบนของเก้าอี้ตัวหน้าและกดหน้าผากลงกับหลังมือ ผมเลือกแบบ
หลังเพราะรู้สึกว่าน่าจะปลอดภัยกว่า. พนักงานประจำเครื่องบอกให้เรามองหาทางออกฉุกเฉินใกล้ที่สุด
และจะใช้ทางลงฉุกเฉิน ไม่ให้นำสัมภาระใดๆ ติดตัวไปด้วย

ผมพยายามจดจำรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติ แต่สมองกลับหมุนติ้ว ใจหวนไปคิดถึงลำดับเหตุการณ์
ในชีวิต ผมมีชีวิตแต่งงานที่ดีกับผู้หญิงที่ผมชื่นชม ผมประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยความ
มานะอุตสาหะ ไม่คดโกงหรือรังแกใคร เสียดายอยู่แต่ว่าผมไม่มีโอกาสจะได้เป็นพ่อคน แต่โดยรวมแล้ว
ชีวิตราบรื่นดี
ดังนั้นผมจึงสวดภาวนา พระเจ้าเอาตัวผมไปเถอะ ผมพร้อมแล้ว ผมขอให้พระเจ้าทรงดูแลภรรยาผมด้วย
และนึกสงสัยว่าเธอจะแต่งงานใหม่ไหม

โปรดติดตามตอนที่ ( 6 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ส.ค. 27, 2023 10:17 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 6.)จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เสียงบางอย่างทำให้ผมตื่นจากภวังค์ มองไปทางขวา เห็นผู้หญิงอายุประมาณ 40 ปีตรงที่นั่ง
ริมทางเดินแถวหน้าผม มือซ้ายของเธอกำก้อนกระดาษทิชชู เธอหันหน้าไปด้านริมทางเดินเป็นระยะๆ
และแอบเช็ดตา เด็กชายอายุราว 7-8 ขวบนั่งอยู่ด้านขวา เธอคงไม่อยากให้เด็กน้อยเห็นน้ำตาของเธอ

คุณแม่รายนี้ควบคุมตัวเองได้ดีหลายนาทีก่อนจะสุดกลั้นต่อไปไหว ทำนบพังทลาย น้ำตาไหล
พรากจนถึงกับสะอื้น เด็กน้อยเห็นความกล้าหาญมลายไปจากสีหน้าผู้เป็นแม่ จึงเกิดความกลัวขึ้นมา
และเริ่มร้องไห้บ้าง

เด็กน้อยมองตาแม่และถามว่า
“แม่ครับ เราจะตายมั้ยครับ”

ผมทนนั่งต่อไปโดยไม่ทำอะไรไม่ได้ ผมปลดเข็มขัดนิรภัย ก้าวไปข้างหน้า คุกเข่าลงตรงทางเดินข้างๆ
ผู้เป็นแม่และพูดขึ้นว่า

“เราไม่ตายหรอกเพื่อน ฉันเป็นนักบิน เคยบินเวลาเครื่องเสียมาแล้ว เหลือแค่เครื่องยนต์เดียวเครื่องบิน
ก็ยังบินได้ เราจะไม่เป็นอะไรหรอก”

จริง ๆ แล้วความรู้เรื่องเครื่องบินของผมมีแค่หางอึ่ง แต่สิ่งที่ผมพูดดูจะได้ผลดี เด็กน้อยหยุดร้องไห้
และความกลัวดูเหมือนเลือนหายไปจากใบหน้า

ผมลุกขึ้นและกำลังจะกลับไปที่นั่งเดิม แม่ของเจ้าหนูแตะแขนผมและพูดด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า “ขอบคุณค่ะ”
เธอคงรู้ว่าผมกุเรื่องขึ้นพูดกับเด็ก แต่เธอก็ซาบซึ้งที่ผมพยายามช่วย

พนักงานประจำเครื่องพูดอะไรบางอย่างกับชายคนที่นั่งหน้าเยื้องไปทางซ้าย เขาพยักหน้า ปลดเข็มขัด
นิรภัยและย้ายไปนั่งเก้าอี้ตัวอื่น สักครู่คุณแม่และลูกชายตัวเล็กอายุสัก 2 ขวบเข้ามานั่งแทน พนักงาน
เอาหมอนวางรอบตัวเด็ก พร้อมกับอธิบายว่า จะต้องให้เด็กนั่งที่พื้นระหว่างขาของแม่ และจะต้องเอา
หมอนหนุนกันกระเทือนระหว่างเครื่องลง

แต่เด็กวัย 2 ขวบไม่อยู่นิ่ง หนูน้อยยืนบนตักแม่ หันมามองผมซึ่งนั่งอยู่ข้างหลังและยิ้มให้
ใบหน้าฉีกยิ้มของเด็กทำให้ผมลืมไปชั่วขณะว่ากำลังอยู่ที่ไหน

โปรดติดตามตอนที่ (. 7 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ส.ค. 29, 2023 10:24 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 7 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ลงได้อย่างเหลือเชื่อ

เครื่องบินเสียหายหนักมากจนคนบนภาคพื้นดินแทบไม่เชื่อ ระหว่างที่บิน ลูกเรือย้ำไปทางวิทยุ
หลายครั้งว่า สถานการณ์เลวร้ายขนาดไหน หลังระเบิด ดัดลีย์นักบินที่สามแจ้งฝ่ายช่างของยูไนเต็ดว่า
“เครื่องยนต์ที่ 2 ระเบิดและระบบไฮดรอลิกทั้งหมดใช้การไม่ได้”

แต่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายช่างกลับถามย้อนมาอย่างไม่เชื่อว่า “แล้วระบบ 1 และ 3 ล่ะ ยังทำงานเป็นปกตีดีรึเปล่า”

ดัดลีย์ให้คำตอบที่ฟังแล้วขนลุก “เนกาทีฟ (ไม่ทำงาน) ไฮดรอลิกทั้งหมดไม่ทำงาน”

เมื่อเครื่องบินโขยกเขยกใกล้ถึงเมืองซูซิตี้ กัปตันเฮนส์เริ่มกังวลใจว่าจะไปไม่ถึงลานวิ่ง แต่ยิ่งเครื่องดีซี-10
บินต่ำลง อากาศในระดับต่ำเริ่มหนาแน่น ทำให้ควบคุมเครื่องได้ดีขึ้น กัปตันเฮนส์วิทยุรายงานว่า
“เอาล่ะ ตอนนี้เราควบคุมเครื่องได้บ้างแล้ว”

นักบินจัดการนำเครื่องบินปัดเป๋มุ่งหน้าไปทางสนามบินเมืองซูซิตี้ แต่ปัญหาไม่ได้หมดแค่นั้น เครื่องบิน
ยังมีอาการส่ายขึ้นลงเหมือนปลาโลมา เรกคอร์ดและฟิตซ์พยายามลดอาการส่ายของเครื่อง แต่เมื่อไม่มี
เครื่องยนต์ตัวกลางและระบบบังคับปกติใช้การได้ ย่อมหนีไม่พ้นอาการแบบนี้ ยิ่งใกล้ถึงสนามบิน
ยิ่งอันตรายมากขึ้นอีกไม่ถึง 16 กิโลเมตรเครื่องจะลง กัปตันเฮนส์วิทยุไปยังหอบังคับการ
“เห็นทางวิ่งแล้ว จะถึงในไม่ช้า”

บนภาคพื้นดิน ทางวิ่งที่ใช้งานประจำปลอดโปร่ง โรงพยาบาลท้องถิ่นและกองกำลังรักษาดินแดนที่
ประจำอยู่สนามบินได้รับแจ้งให้เตรียมพร้อมเผื่อเครื่องตก รถฉุกเฉินจอดรอตลอดแนวทางวิ่งที่ปกติ
ไม่ได้ใช้นาน “ยูไนเต็ด 232” หอบังคับการบินเรียก “ลงทางวิ่งไหนก็ได้ ปลอดโปร่งตลอด”

ขนาดมีปัญหากับเครื่องบิน กัปตันเฮนส์ยังมีอารมณ์ขัน “อยากให้ชัดเจน ทำเป็นทางหนีเลยดีมั้ย”

ตลกเสร็จ เขาเปลี่ยนมาพูดธุระจริงจัง “ช่วยแจ้งเรื่องลม (ทิศทางและความเร็ว) อีกครั้งครับ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 8 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 30, 2023 6:35 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 8 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live”
และจากกูเกิ้ล 2565 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตั้งแต่เกิดระเบิด ผมพยายามหันกลับไปสบตาเจย์แต่ไม่สำเร็จ ผมลองหันไปดูอีกครั้ง แต่ไม่มี
โอกาสสบตากัน เจย์กำลังพูดกับผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ ท่าทางเขาคุมสติได้ดีกว่าผม

พนักงานบนเครื่องสรุปขั้นตอนการลงฉุกเฉินเสร็จแล้ว ที่เหลือตอนนี้คือคอย ครึ่งชั่วโมงที่แล้ว ผมใช้
เวลาส่วนใหญ่เตรียมตัวตาย ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ชักไม่แน่ใจแล้วว่าจะตาย ผมคิดว่า “บางที
แค่บางทีนะ เราอาจจะไม่ตายก็ได้”

เหตุผลค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ความหดหู่หมดหวัง ผมอยากเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อเครื่องกระแทกพื้น
“อย่าตื่นตกใจ” ผมบอกตัวเอง “เยือกเย็นไว้ อย่ารีบหนีลงจากเครื่อง อยู่ช่วยคนอื่นก่อน”

ทันใดนั้น ผมจำอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ผมเพิ่งซื้อประกันชีวิตเมื่อหลายอาทิตย์ก่อนแต่ลืมบอกไดแอน
ใจกลัวว่าอาจจะไม่รอด ผมรีบเปิดกระเป๋าเอกสารหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนว่า “19 กรกฎาคม 1989
ขึ้นเครื่องยูไนเต็ด เที่ยวบิน 232 ใครก็ตามที่พบโน้ตใบนี้ ผมเพิ่งทำประกันชีวิตใหม่ เอกสารอยู่ในตู้
ห้องนอนสำหรับแขก” ผมลงชื่อเจอร์รี่ เช็มเมล และยัดกระดาษโน้ตใส่กระเป๋าเอกสาร คะเนว่ากระดาษ
คงมีโอกาสรอดมากกว่าตัวผม จากนั้นจึงวางกระเป๋าไว้ใต้เก้าอี้
เรียบร้อยไปเรื่อง ผมวางแผนว่าจะทำอะไรหลังเครื่องตก จะไปดูผู้หญิงแถวหน้าและลูกเล็กของเธอว่า
ปลอดภัยดีหรือเปล่า แล้วค่อยไปช่วยแม่และลูกชายที่ผมคุยด้วยก่อนหน้านี้ ผมมองหาทางออกฉุกเฉิน
ซึ่งอยู่ห่างจากที่ผมนั่งไม่ถึงเมตร
การเตรียมใจเสร็จสิ้น ที่เหลือตอนนี้คือการรอคอยอย่างทรมาน ผมเหลียวไปข้างหลัง คราวนี้เจย์
กำลังมองตรงมาทางผมพอดี เขายิ้มและชูนิ้วโป้งให้ ผมชูนิ้วตอบ

จากนั้นเสียงประกาศสุดท้ายจากห้องนักบินบอกให้ทุกคนเตรียมตัวตรึงให้แน่น ความคิดต่างๆนานา
ในใจไม่ว่าจะเป็นปรัชญาการเตรียมตัว การทบทวนจบสิ้นลงแล้ว ตอนนี้เหลือเพียงพลังที่มองไม่เห็นซึ่ง
กำลังพาเราดิ่งสู่ชะตากรรม
ขณะกำลังยกแขนขึ้นไขว้และเริ่มตรึงหน้าผากตัวเองกับเก้าอี้ตัวหน้า ผมเหลือบไปเห็นแม่ที่นั่งแถวหน้า
กำลังปลุกปล้ำกับลูกน้อยซึ่งไม่ยอมนั่งนิ่งๆบนพื้น ผมลังเลใจว่าจะเข้าไปช่วยเธอดีหรือไม่ขณะที่สถานการณ์
กำลังคับขันเต็มที วินาทีนั้น ผมรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้คิดก่อนหน้านี้ว่าควรย้ายไปนั่งข้างๆเพื่อจะช่วยเธอในยามนี้

“พระเจ้า โปรดช่วยเธอด้วยเถิด” ผมกระซิบ

ความรู้สึกแปลกๆ เข้าแทนที่ขณะที่เรานั่งเงียบนับถอยหลัง 30 วินาทีก่อนเครื่องกระแทกพื้น ผมหันไปดู
หน้าต่างทางขวา เห็นแต่ท้องฟ้าใสของหน้าร้อนในไอโอวา รู้สึกสงบและเยือกเย็น พร้อมแล้วไม่ว่าอะไร
จะเกิดขึ้น ดูเหมือนเวลาผ่านไปนานเหลือเกินตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้ตรึงกับที่ ผมชักไม่แน่ใจว่ากัปตันเปลี่ยนใจ
ไปวนอีกรอบเพื่อหาทางลงให้เหมาะหรือเปล่า

“เกิน 30 วินาทีแล้ว” จำได้ว่าผมบอกกับตัวเองอย่างนั้นขณะที่คิดเรื่องนี้ เครื่องก็กระแทกพื้นพอดี

เมื่อลูกเรือนำเครื่องลงถึงระดับ 3,500 ฟุต ทางวิ่งอยู่ตรงหน้า กัปตันเฮนส์เล็งตรงเป้าหมาย แต่เป้าหมาย
ของเขากลับไม่ใช่จุดที่ผู้ควบคุมหอบังคับการเตรียมไว้ เครื่องยูไนต็ด 232 กำลังบินลงทางวิ่งที่รถฉุกเฉิน
จอดอยู่ เขารีบสั่งการให้รถทุกคันออกจากทางวิ่งอันตราย เวลาเครื่องลง หัวเครื่องทิ่มลงเป็นครั้งสุดท้าย
ก่อนจะเพิ่มความเร็ว ตอนนี้เครื่องดีซี-10 เคลื่อนที่ด้วยความเร็วราว 390 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่า
เวลาลงจอดปกติมากกว่า 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะเครื่องเกือบแตะพื้น ปีกขวาเริ่มตก เรกคอร์ดนักบินที่หนึ่งสังเกตเห็น จึงระล่ำระลักบอก
“ซ้าย กัปตันฯ คันเร่งซ้าย ซ้าย ซ้าย ซ้าย...”

ใครบางคนในห้องนักบินอุทานขึ้นมาว่า “พระเจ้า...” และเสียงสุดท้ายที่กล่องดำในห้องนักบินบันทึกไว้
คือเสียงดังของเครื่องกระแทกพื้น”

โปรดติดตามตอนที่ ( 9 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ส.ค. 30, 2023 6:44 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 9 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)ภาพจากนรก

ส่วนแรกของเครื่องบินที่กระทบพื้นคือปลายปีกขวา ล้อหลักด้านขวาและเครื่องยนต์ขวา
ถัดมาเป็นล้อใต้หัวเครื่องกระทบพื้น ตามด้วยล้อด้านซ้าย
ความเร็วสูงประกอบกับน้ำหนักหลายหมื่นกิโลกรัมของเครื่องไอพ่นทำให้เกิดแรงปะทะมหาศาล
จนล้อของเครื่องบินทะลวงลึกลงไปในพื้นทางวิ่งคอนกรีตที่หนาเป็นฟุต หางและปลายปีกขวา
ฉีกขาด เกือบจะพร้อมกัน ทางวิ่งผิวคอนกรีตแตกเป็นร่องลึก น้ำมันไหลหกทั่วพื้น

สักครู่ เครื่องบินกระเด้งขึ้นแล้วกระแทกลง หนึ่ง สอง และสามครั้งที่ส่วนหัวของเครื่อง จนห้องนักบิน
กระเด็น หลุดบู้บี้จนจำรูปไม่ได้ แรงกระแทกทำให้บริเวณที่นั่งชั้นหนึ่งปริเปลือย ส่วนที่เหลือของเครื่อง
เอียงข้างไถล หลุดออกจากทางวิ่งข้ามไปยังทางวิ่งอีกฝั่ง ตีลังกาและเกิดไฟลุก จนท้ายสุดจอดแน่นิ่ง
ในไร่ข้าวโพด

จะให้ผมสาธยายแรงกระแทกอย่างไรดี เสียงดูเหมือนจะมาจากทั้งภายในและภายนอกหัวผม
นี่ไม่ใช่การลงฉุกเฉิน และที่แน่ ๆ ไม่ใช่การนำเครื่องลงด้วยซ้ำ เป็นการกระแทกพื้นมากกว่า
ตอนที่เครื่องกระทบพื้น มือผมหลุดจากเก้าอี้ตัวหน้าซึ่งจับไว้แน่น หัวผมกระดอนไปข้างหลัง แรง
กระทบ ที่หนักหน่วงส่งตัวผมเด้งขึ้นจากเก้าอี้จนรู้สึกเหมือนลอยอยู่ในอากาศชั่ววูบ ดีว่ามีเข็มขัด
นิรภัยยึดไว้ แรงกระแทกเบาลงตามลำดับจนรู้สึกตัวเองค่อย ๆ เอนหลังพิงเบาะ ผมยื่นมือไปยึด
พนักเก้าอี้ตัวหน้าอีกครั้ง แต่ไม่มีอะไรอยู่เลย เก้าอี้หายไปแล้ว ผมลนลานควานหาที่เท้าแขนเป็นที่
ยึดเพื่อต่อสู้กับแรงกระแทกที่พยายามเหวี่ยงตัวผมหลุดจากเก้าอี้
แสงไฟในเครื่องดับ เสียงกรีดร้องแทรกฝ่าเสียงเครื่องตกกระแทกดังกึกก้อง ผมได้ยินเสียงร้อง
ครวญครางมากขึ้น ในความสลัวของห้องผู้โดยสาร ผมเห็นร่างมนุษย์ปลิวผ่านหน้าหกคะเมนมาจาก
ทางซ้าย ผู้หญิงคนหนึ่งยังคาดเข็มขัดนิรภัยติดกับเก้าอี้ปลิวผ่านมาจากอีกด้าน ซากหักพังปลิวว่อนรอบ
ตัวผมเหมือนพายุเฮอร์ริเคน

ลูกไฟจากด้านหน้าห้องโดยสารวิ่งผ่านมาทางขวา ผมนึกในใจว่าอีกไม่นานต้องมีอะไรปลิวมาโดนแน่
ผมรีบมุดศีรษะลงต่ำ พยายามบังส่วนหน้าไว้ เครื่องบินยังคงไถลไปตามพื้นด้วยความเร็วที่น่าตกใจ
และแล้วการเคลื่อนไหวของเครื่องค่อยนิ่งขึ้น ใจผมคิดว่าเราผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดแล้ว เครื่องคงหยุด
ตรงนี้ และผมจะเดินออกไปจากเหตุการณ์นี้ได้ด้วยซ้ำ

ตอนนั้นแหละที่เครื่องพลิกคว่ำ ผมรู้สึกเจ็บแปลบที่สันหลัง รู้สึกว่าตัวเองกลิ้งไปข้างหน้าตามแรง
เหวี่ยง ความรู้สึกปวดแปลบวิ่งผ่านไขสันหลังจนสงสัยว่ากำลังถูกไฟช็อต หรือกระดูกสันหลังหัก

สักครู่ต่อมา ผมอยู่ในอาการห้อยหัวจากเก้าอี้ คอยว่าเมื่อไหร่เครื่องจะพลิกให้เรากลับสู่ท่าปกติ
แต่เครื่อง ก็ไม่พลิกอีกรอบ อาการปวดที่สันหลังแล่นลงไปถึงเท้า ขณะที่เครื่องยังคงไถลต่อไปในท่า
หกคะเมน มือผมหลุดจากที่วางแขนอย่างหมดท่าและห้อยต่องแต่งชี้พื้นซึ่งเคยเป็นเพดาน

เครื่องดูเหมือนจะไม่หยุดไถลเสียที จากนั้นเครื่องมีอาการกระตุก หยุดอย่างกะทันหันจนหัวผมเหวี่ยง
กลับไปชนเก้าอี้ ต่อมาร่างผมกลับกลายมายืนบนเพดาน ผมจำไม่ได้แล้วว่าจัดการปลดเข็มขัดนิรภัย
และหย่อนตัวสู่พื้นซึ่งเดิมคือเพดานได้อย่างไร

ผมสำรวจเสื้อผ้าตัวเอง ไม่พบรอยเลือดแต่ชาจนไม่รู้สึกเจ็บปวด จึงนึกว่าตัวเองตายไปแล้ว มาแน่ใจว่า
ยังไม่ตายเมื่อรู้สึกเจ็บจี๊ดจนต้องหดมือขวา มองเห็นเปลวไฟกระหน่ำ ไฟไหม้ข้อนิ้วมือผม หมายความว่า
ผมยังมีชีวิตอยู่

โปรดติดตามตอนที่ ( 10 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ย. 01, 2023 6:43 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 10 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตาผมค่อย ๆ ปรับให้ชินกับความมืดในห้องผู้โดยสาร ซึ่งตอนนี้ลุกโชนด้วยแสงเพลิง ถึงแม้แสง
จะสลัวและควันคลุ้งไปหมด แต่ภาพที่เห็นช่างน่าสยดสยอง คนนับสิบยังคาดติดกับเก้าอี้ห้อยหัวลง
บางคนพยายามปลดเข็มขัดให้ตัวเองเป็นอิสระ บางคนห้อยโตงเตงไร้ชีวิต ผู้โดยสารคนหนึ่งนั่งห้อยหัว
เลือดหยดติ๋งลงพื้น อีกคนเลือดไหลเป็นทาง รายที่สามเป็นร่างไร้ชีวิตถูกไฟคลอก ร่างมนุษย์เกลื่อนกลาด
ทั่วเครื่อง บ้างกำลังขยับตัว หลายร่างนั้นไม่ไหวติง ผมเห็นที่นั่งแถวหนึ่งถูกขยี้จนแบน น่าทึ่งที่ยังมีเงาตะคุ่ม
เคลื่อนไหวให้เห็นกลางม่านควัน ผมจะจำภาพแรกของซากเที่ยวบินยูไนเต็ด 232 ไปตลอดชีวิต

ภายในซากเครื่องบินไม่มีแสงตะวันสาดถึง มีแต่แสงเพลิง ทั้งควันและไฟทำให้ผมหาทางออกฉุกเฉินไม่เจอ
ในใจนึกว่า นี่ผมรอดชีวิตจากเครื่องบินตก แต่ต้องมาตายเพราะสำลักควันหรือไฟคลอก หรือทั้งสองอย่าง
เช่นนั้นหรือ

ผมพยายามรวบรวมสติปัญญา ควันดำทึบเต็มห้องผู้โดยสาร ผมเริ่มสำลักและพยายามหาผ้าห่ม หมอน
หรืออะไรก็ได้ที่จะใช้ปิดจมูกและปาก แต่โชคไม่ดีไม่เจออะไรเลย ผมจึงใช้มือป้องหน้าและเคลื่อนตัวไปตาม
เงาราง ๆ ของผู้รอดชีวิตรายอื่น ผู้หญิงคนหนึ่งนอนกองกับพื้น ผมช่วยให้เธอลุกขึ้น ขาข้างหนึ่งดูเหมือนจะหัก
แต่เธอกลับดูตื่นตัวและไม่ตื่นตระหนก พอมีคนเข้ามาช่วยเธอแล้ว ผมรีบไปช่วยชายชราอีกคนปลดเข็มขัด
นิรภัยจากที่นั่งและพยุงเขาลงเดิน หน้าเขาเปื้อนเลือดเต็มไปหมด แต่เขายืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าไม่เป็นอะไร

ผมหันไปตามเสียง เห็นแสงตะวันสาดส่องเข้ามาในห้องผู้โดยสาร มีทางออกแล้ว ผู้คนกำลังเคลื่อนไปยังช่อง
ที่เปิดและหายไปในแสงสว่าง ชั่วขณะนั้นผมจึงรู้ว่าจะรอดชีวิตจากเที่ยวบิน 232

การกู้ภัยเคลื่อนย้ายคนเป็นไปอย่างสงบแทบไม่น่าเชื่อ ชายวัยกลางคน 2 คนยืนข้างช่องที่เปิด คอยช่วยผู้
โดยสารออกจากเครื่อง ผมเข้าไปร่วมขบวนการช่วยเหลือ ส่งผู้หญิงคนหนึ่งต่อไปให้ชายทั้งสอง จากนั้น
ผมเห็นผู้หญิงอีกคนมุ่งหน้าไปผิดทาง หันหลังให้แสงตะวันและเดินย้อนกลับเข้าไปในกลุ่มควันและไฟ
ผมคว้ามือเธอไว้ เธอหันกลับ เป็นผู้หญิงคนที่นั่งหน้าผม เหลือเธอตามลำพัง แวดตาเธอหวาดหวั่น

“คุณต้องออกไปจากนี่” ผมบอก

“ทางออกอยู่ทางนี้”

“ไม่ค่ะ ไม่ได้ ฉันหาลูกไม่เจอ ฉันจะไปโดยไม่มีลูกไม่ได้ ได้โปรดเถอะค่ะ ช่วยหาลูกชายฉันด้วย”
เธอวอนขออย่างคลุ้มคลั่ง “ช่วยหาลูกด้วย”

ไฟลุกหนักขึ้นทุกที ไม่มีเวลาคิดแล้ว “ผมจะหาลูกให้” ผมโพล่งออกไป “แต่คุณต้องออกไปจากที่นี่ เดี๋ยวนี้”

ผมจำไม่ได้ว่าเธอตอบตกลงหรือเปล่า จำได้แต่ว่าผมพาเธอไปส่งให้ชายสองคนตรงทางออก สักครู่ผม
เห็นเธอก้าวออกไปสู่แสงตะวัน

โอกาสที่ผมจะพบเด็กนั้นน้อยมาก เด็กอาจจะอยู่ตรงไหนก็ได้ท่ามกลางซากหักพังเหล่านี้ ผมภาวนาขอให้
มีใครพาเด็กออกไปแล้ว ที่ผมรู้คือผู้หญิงคนนั้นจะต้องออกไปจากที่นี่ ไม่เช่นนั้นเธอเองจะไม่รอด

ไฟและควันเต็มคลุ้งห้องผู้โดยสาร ผมและชายทั้งสองตรงทางออกมองไม่เห็นใครเหลือให้ช่วยอีก คนหนึ่ง
ก้าวผ่านช่องออกไปสู่แสงสว่างข้างนอก ผมสบตาชายคนที่สอง เขาพูดขึ้นอย่างใจเย็นว่า “ไปกันเถอะ”

ผมมองเช้าไปดูซากหักพังเป็นครั้งสุดท้าย เห็นแต่ควันหนาและเปลวไฟลุกหนัก ผมรู้ว่าต้องออกจากที่นี่
จึงก้าวผ่านช่องที่เปิดไปสู่อีกโลกหนึ่ง

แสงตะวันทำให้ตาผมพร่าไปชั่วครู่ สัมผัสแรกของภายนอกจึงไม่ใช่จากการมองเห็น แต่เป็นความรู้สึก
และกลิ่น เมื่อม่านตาปรับตัวได้แล้ว ผมจึงประจักษ์ว่า เราอยู่กลางไร่ข้าวโพด

ผมเห็นชายคนที่ออกมาก่อนหน้าผมเตรียมวิ่ง ใจแวบคิดว่าเครื่องบินกำลังจะระเบิด ผมวิ่งอ้าวเหมือนกัน
พยายามห้อไปบนดินที่ร่วนเพื่อหนีให้ไกลจากเครื่องบินไหม้ไฟ แต่ไปได้แค่ 2-3 ก้าว ก็ได้ยินเสียงที่ทำ
ให้ต้องหยุดชะงัก เป็นเสียงร้องอู้อี้ของเด็กและมาจากซากเครื่องบิน

โปรดติดตามตอนที่ ( 11 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ก.ย. 01, 2023 6:47 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 11 )จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ค้นหาจ้าละหวั่น

เหตุการณ์ต่อไปสื่อมวลชนอาจขยายความเกินจริงจนกลายเป็นการกระทำที่เหลือเชื่อเยี่ยงวีรบุรุษ
ความจริงที่ผมทำไปเป็นการตอบสนองตามวิสัยมนุษย์เมื่อได้ยินเสียงเด็กร้องให้ช่วย ไม่ได้วางแผน
ไม่ได้ชั่งด้วยเหตุผล ผมวิ่งแน่วกลับไปที่เครื่องบินซึ่งกำลังไฟไหม้

ไม่กี่นาทีต่อมา ผมกลับเข้าไปในซากเครื่องบิน แต่ควันหนาทึบทำให้มองอะไรไม่เห็น ได้แต่เดินตาม
เสียงร้อง “ร้องต่อไป” ผมภาวนาเงียบๆ “ร้องต่อไปนะเจ้าหนู”

ผมขยับไปตามทิศทางของเสียงจนดูเหมือนว่ายืนอยู่เหนือที่มาของเสียงร้อง ใช้มือคลำไปที่พื้น จึงรู้ว่า
เด็กน้อยอยู่ใต้ซากหักพัง ตอนนี้ภายในเครื่องมืดสนิท ผมคว้าทุกอย่างที่อยู่ระหว่างผมกับเสียง ดึงอะไร
บางอย่างออกมาเหมือนถุงผ้าใบ ต่อมาเป็นผ้าห่ม จากนั้นเป็นแผ่นเหล็กขนาดใหญ่ เป็นช่องเปิดเข้าไป
บริเวณที่ดูเหมือนรูบนพื้น อาจจะเป็นที่เก็บกระเป๋าเดินทางบนเพดานของเครื่องบินที่ตีลังกาอยู่
ผมเอื้อมเข้าไปในรูและสัมผัสโดนแขนเด็ก จึงอุ้มตัวออกมา กดหน้าไว้กับเสื้อของผม พยายามป้องกัน
ไม่ให้เด็กสำลักควัน

เหตุการณ์ที่จำได้ถัดมาคือพยายามวิ่งเต็มเหยียดเข้าไปในไร่ข้าวโพด พอวิ่งห่างออกมาจากเครื่องได้
เกือบ 50 เมตร ไกลพอที่จะรู้สึกว่าปลอดภัยจากระเบิด ผมจึงหยุดดูเด็กที่ช่วยออกมา เป็นเด็กหญิงในชุดสีฟ้า
เธอหยุดร้องไห้แล้ว ผมรีบตรวจดูว่าเธอบาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า ไม่เห็นมีเลือด รอยถลอกหรือรอยไหม้ใดๆ
มีแต่รอยบาดเล็กๆใต้ตาข้างหนึ่ง ดูเหมือนหนูน้อยจะไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ผมไม่มีทางรู้ว่าวินิจฉัยถูกหรือไม่
จนกระทั่งเธอส่งยิ้มน่ารักให้นั่นแหละถึงแน่ใจ

ผมรีบจ้ำต่ออย่างรวดเร็วจนมาถึงที่ว่างเล็กๆท่ามกลางทิวแถวต้นข้าวโพด ผู้ร่วมชะตากรรมบนเครื่องบิน
สิบกว่าคนยืน นั่งและนอนในบริเวณนั้น ผมจำผู้หญิงคนหนึ่งที่เห็นบนเครื่องบินได้ จำได้ว่าตอนนั้นท่าทาง
เธอสงบมากทั้งๆที่บาดเจ็บตรงขา แต่ตอนนี้เธอกำลังครางด้วยความเจ็บปวด ผู้หญิงอีกคนจับมือเธอไว้

ต้นข้าวโพดสูงจนมองไม่เห็นเครื่องบิน เห็นแต่ควันลอยพวยพุ่ง ผมกวาดตาไปดูอีกทาง เห็นหมู่ไม้อีกแห่ง
ที่ผู้รอดชีวิตพักหลบภัย หวังว่าเจย์จะอยู่ในกลุ่มนี้

ผมเห็นหญิงสาวคนหนึ่งท่าทางไม่ได้รับบาดเจ็บ ยืนอยู่ใกล้ๆ “ช่วยดูแลเด็กคนนี้ได้มั้ยครับ” ผมถามขึ้น
“ผมไม่รู้ว่าเธอเป็นใครหรือครอบครัวอยู่ที่ไหน ผมคว้าตัวมาจากเครื่องบิน”

“ได้ค่ะ” เธอตอบและรับเด็กไป
จากนั้น ผมเดินตัดทุ่งข้าวโพดมุ่งหน้ากลับไปที่ซากเครื่องบินอีกครั้ง ไม่รู้เหมือนกันว่าไปทำไม อาจเป็น
เพราะผมเห็นอะไรบางอย่างและรู้สึกว่าจะต้องกลับไปตรวจดูให้แน่ว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือติดอยู่
ผมเข้าไปใกล้ซากเครื่องบินมากเท่าที่จะทำได้ แต่ถึงตอนนั้นเปลวไฟโหมหนัก ผมเข้าใกล้ได้แค่ 6 เมตรก็
ไม่ไหวแล้วเพราะความร้อน ผมจ้องดูไฟไหม้เครื่องที่เพิ่งหนีกันออกมาเมื่อครู่ คิดแล้วรู้สึกสะท้านไปทั้งตัว
เหมือนลมหนาววูบผ่าน ตอนนี้เองที่ผมเพิ่งเห็นชัดว่า ซากนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเครื่องดีซี-10 “แย่แล้ว ผมคิด
แล้วส่วนที่เหลือของเครื่องบินล่ะ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 12 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ก.ย. 02, 2023 8:26 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 12 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)โทรฯกลับบ้าน

กัปตันเฮนส์จำได้แค่ว่า มีแรงกระแทกครั้งแรก “ผมรู้สึกว่า เสียงที่ได้ยินเหมือนกับเสียง.ที่เกิด
เวลาคุณพับแพยางเป่าลมและไล่อากาศออกจนหมด เสียงดังวู้..ว นั่นแหละเสียงที่ผมจำได้ จากนั้นผม
ก็สลบเหมือด” เขาบอก “ฟื้นมาอีกที” กัปตันเล่าต่อ “มีแต่ความเงียบ ไม่มีเสียงหวอ ไม่เห็นหรือไม่ได้
ยินอะไรเลย แล้วผมก็หมดสติอีกครั้ง”

“ต่อมา ดัดลีย์เล่าว่า ผมพูดกับเขาหลังจากที่เครื่องหยุดไถล ผมถามเขาว่า ‘คุณอยู่ไหน’ “

“เขาตอบว่า ‘ทับคุณอยู่ไงล่ะ’ “

“ผมตอบกลับไปว่า ‘คุณต้องลดน้ำหนักหน่อยนะ ตัวหนักเหลือเกิน’ “

ทีแรก หน่วยกู้ภัยจำสภาพห้องนักบินไม่ได้ เพราะบู้บี้จนเหลือเป็นเศษเหล็กสูงแค่เอว หลังจากนั้น
ราว 35 นาที เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาดินแดนประจำทัพฟ้าในรัฐไอโอวาจึงเห็นว่ามีลูกเรือติดอยู่ในห้อง
นักบินและยังมีชีวิตอยู่ มหัศจรรย์จริงๆที่กัปตันเฮนส์ไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือกระดูกหักตรงไหนเลย
ถึงแม้จะต้องเย็บรอยแตกที่ศีรษะถึง 92 เข็ม หลังจากที่ช่วยตัวกัปตันออกมา จากซากเครื่องบินได้ เขาถามว่า

“รอดหมดทุกคนมั้ย”

ใครบางคนตอบว่า “ไม่” กัปตันพูดขึ้นว่า “ผมฆ่าคน”

กัปตันเฮนส์ยังจำคำตอบที่สวนกลับมาว่า “เปล่า คุณไม่ได้ฆ่า คุณช่วยคนไว้ต่างหาก”

ไม่ช้าผมก็เดินเปะปะไปกับคนอื่น บางคนใบหน้ามีคราบเลือดไหลเป็นริ้ว พยายามหาทางออกจาก
ไร่ข้าวโพดต้นเขียวสูง ตรงที่ว่างแห่งหนึ่ง ผมเห็นชายคนหนึ่งคุกเข่าข้างๆแม่ชีสูงอายุซึ่งนั่งในท่า
ตกตะลึง ผมนั่งยองๆลงข้างตัวแม่ชีแล้วถามท่านว่า มีอะไรให้ผมช่วยได้บ้าง ท่านกำลูกประคำ
ไว้แน่นและตอบว่า

“ไม่มีอะไร แม่ไม่ได้บาดเจ็บตรงไหน แต่อยากนั่งพักตรงนี้แล้วสวดมนต์”

เบือนหน้าจากจุดนั้น สายตาผมพลันไปสะดุดภาพผู้โดยสารบาดเจ็บอีกราย ชาย 2 คนกำลังช่วยเขาอยู่
ชายทั้งสองสวมชุดฝึกแบบทหาร 2-3 วินาทีถัดมาผมจึงรู้ว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาถึงแล้ว และทันใดนั้นเอง
คนในเครื่องแบบดูเหมือนจะอยู่เต็มทั่วทุกหนแห่ง

ผมยังคงเดินเรื่อยเปื่อยงงอยู่จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยคนหนึ่งพาผมไปยังทางวิ่ง ณ ที่นั้น ผมเห็นซาก
เครื่องบินพังเป็นเศษกระจายทั่วบริเวณ ผ้าห่มสีขาวคลุมร่างผู้เสียชีวิตบางคนไว้ ไฟแวบบนหลังคา
รถดับเพลิงและรถพยาบาลกะพริบเหมือนหิ่งห้อยเวลากลางวัน

เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งลงจอดขณะที่อีกลำบินขึ้น ผู้คนขวักไขว่ทุกทิศทาง กลางทางวิ่ง ผมเห็นเก้าอี้ 5-6 ตัว
ซ้อนทับเป็นกอง ขยับเข้าไปใกล้จึงเห็นว่ายังมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งติดอยู่กับเก้าอี้ ผู้หญิงอีกคนนั่งข้างๆ
ผมรีบวิ่งเข้าไปคิดว่ายังไม่มีใครเห็นพวกเขา แต่พอถึงที่ก็เห็นป้ายสีแดงติดข้อมือ มีคนเห็นพวกเขาก่อนแล้ว
ผู้เสียชีวิตได้รับการระบุชื่อเรียบร้อย
รถพยาบาลพาผมไปยังตึกที่จัดไว้เป็นที่พักของผู้รอดชีวิตซึ่งไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นห้องใหญ่มีคน
ราวร้อยคน ส่วนใหญ่นั่งบนพื้นเรียงรายตามกำแพง ผมรีบกวาดตามองหา แต่ไม่เห็นเจย์ เขาอาจจะยัง
อยู่ที่ไร่ข้าวโพด หรือกำลังไปโรงพยาบาล หรือไม่ก็ยังอยู่ท่ามกลางความสับสนอลหม่านข้างนอก

ผมยังไม่อาจสรุปชะตากรรมของเจย์จนกว่าจะหาโทรศัพท์และโทรฯไปถามโรงพยาบาลท้องถิ่น
ทุกแห่งก่อน นอกจากนี้ ผมต้องโทรฯแจ้งครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน

ผมเข้าไปถามเจ้าหน้าที่กู้ภัยคนหนึ่ง หญิงชรากำลังรินน้ำส้มใส่ถ้วยกระดาษ

“ผมอยากใช้โทรศัพท์หน่อยครับ”

“มีอยู่เครื่องหนึ่ง สุดห้องโถงทางนั้น”

ผมเดินไปตามทางห้องโถง ไปได้แค่ 2-3 ก้าวก็ได้ยินเสียงขรึมๆ และแสงกะพริบจากจอโทรทัศน์
เสียงผู้ประกาศกำลังพูดถึงเหตุการณ์เครื่องบินตกดังแว่วเข้าหู

มีคนดูโทรทัศน์อยู่ 6-7 คน ผมมองตามและเห็นภาพเครื่องบินทะยานลงตามทางวิ่งเหมือนการลงจอดปกติ
เพียงแต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของภาพสยดสยองของเครื่องบินตก ทั้งควัน ไฟ และเศษชิ้นส่วนกระจัดกระจาย

โปรดติดตามตอนที่ ( 13 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ก.ย. 03, 2023 3:21 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 13 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live”
และจากกูเกิ้ล 2565 รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ“

เครื่องบินตกที่ไหนครับนั่น” ผมถาม ทุกคนเงียบไปทันที เหมือนกับไม่เชื่อว่า จะมีใครถามแบบนี้
“เครื่องบินที่ตกวันนี้ไงล่ะ” ใครบางคนโพล่งออกมาในที่สุด

ความรู้สึกที่ปะทุขึ้นตอนนั้นคือ ตกใจ ไม่มีทางที่ใครจะรอดชีวิตจากภาพที่ผมเพิ่งเห็นบนจอเมื่อสักครู่

จากนั้นเสียงผู้ประกาศโทรทัศน์แทรกขึ้นว่า “เราจะฉายเทปภาพเหตุการณ์เครื่องบินตกเมื่อสักครู่ที่
เมืองซูซิตี้ รัฐไอโอวา...”
ท้ายสุด ชายคนหนึ่งก้าวฝ่ากลุ่มคนที่นั่นออกมาปิดโทรทัศน์
ผมเดินไปหาโทรศัพท์ต่อ คิดว่าไดแอนอาจจะเห็นภาพข่าวเดียวกันนี้แล้ว มีคนเข้าแถวรอใช้โทรศัพท์
ราว 10-12 คน โชคดีผมเจอห้องทำงานที่ไม่ได้ล็อกประตู

ผมแอบเข้าไปในห้อง หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา — แต่สมองว่างเปล่า ผมนึกหมายเลขที่ทำงานของไดแอนไม่ออก
เธอเพิ่งเริ่มงานใหม่ ผมจดหมายเลขเธอไว้ในกระเป๋าเอกสารซึ่งตอนนี้คงกลายเป็นขยะหรือเถ้าถ่านไปแล้ว
ผมคิดว่าทางที่ดีน่าจะโทรฯไปที่สำนักงานของผม ถ้าไดแอนได้ข่าวเครื่องบินตก เธอจะต้องโทรฯไปถามข่าว
จากสำนักงานผม ผมหมุนหมายเลข
ข่าวหายนะแพร่กระจายรวดเร็วทั่วเดนเวอร์ “คุณพระช่วย เจอร์รี่!” ซูซาน มาลินเลขาฯของเราอุทานขึ้นทันที

เธอบอกว่าโทรฯไปถามยูไนเต็ดแล้วและรู้ว่าผมกับเจย์ถูกยัดให้ขึ้นเครื่องเที่ยวบินนั้น ผมบอกเธอว่า ผมไม่
เป็นอะไรแต่ยังไม่เห็นเจย์ ซูซานบอกว่าเธอจะตามหาไดแอนและแจ้งให้ทราบว่าผมปลอดภัย

ข่าวเครื่องบินตกแพร่ไปเร็วมาก ผมต้องรีบโทรฯไปหาพ่อแม่ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาหมุนหมายเลขอีกครั้ง
พ่อผมเป็นคนรับสาย

“พ่อครับ ผมเจอร์รี่” ผมพูด เสียงเริ่มสั่น

“เอ้า เจอร์รี่!เป็นไงมาไง! ท่านถามกลับ เสียงรื่นเริงและกระฉับกระเฉงเช่นเคย พ่อคงยังไม่ได้ยินข่าว
ผมลังเลสักครู่

“ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับพ่อ”
เงียบอึดอัดไม่รู้จะพูดอะไรต่อชั่วขณะ ผมพยายามควบคุมอารมณ์และพูดอย่างระมัดระวัง

“พ่อครับ ผมประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก แต่ตอนนี้ไม่เป็นไรแล้วครับ”

การที่ได้พูดออกไปดังๆ ทำให้ทุกอย่างเป็นจริงมากขึ้น ความรู้สึกที่กลั้นไว้มลายลง น้ำตาเริ่มไหลพราก
จนถึงกับสะอึกสะอื้น เล่าบรรยายเหตุการณ์ไประหว่างหยุดหายใจสั้นๆ

“เราพยายามลงจอดฉุกเฉินครับพ่อ แต่เครื่องตก... ผมปลอดภัยดี... แต่หลายคนรอบตัวผมตาย
พ่อครับ...แล้วเราก็อยู่กลางไร่ข้าวโพด... เครื่องบินไหม้หมดทั้งลำ...พ่อครับ คนตายเยอะแยะไปหมด...”

พ่อผมอุทานออกมาแบบเดียวกับซูซาน “คุณพระช่วย! พ่อได้ยินว่ามีเครื่องบินตก แต่ไม่รู้เลยว่าลูกอยู่
ในเครื่องลำนั้น... คุณพระคุณเจ้า” พ่อพูดได้แค่นั้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 14 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ก.ย. 04, 2023 2:05 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ (14 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ใบหน้าบนจอ

ผู้รอดชีวิตหลายคนในกลุ่มผมถูกส่งตัวไปที่ศูนย์การแพทย์ภูมิภาคเซนต์ลุค ผมหาโทรศัพท์สาธารณะ
และโทรฯไปที่ทำงานอีกครั้ง คราวนี้ไดแอนรออยู่แล้ว เราคุยกันเป็นครั้งแรกจากเช้าวันนั้น ผมนึกหาคำ
พูดไม่ออก แต่พอได้เล่าเรื่องน้ำตาก็พาลไหลพรากเหมือนกับทุกครั้งที่พูดเรื่องนี้ในวันนั้น
เจ้าหน้าที่พาตัวผมไปที่ห้องตรวจเพื่อเช็กร่างกายคร่าวๆ หมอบอกว่าไม่มีอะไรน่าห่วงในตอนนี้
(ภายหลังพบว่าสันหลังส่วนบนได้รับความกระทบกระเทือนและมีปัญหาจากการหายใจเอาควันเข้าไป)
จากนั้นผมไปนั่งรอในห้องใหญ่ที่กันไว้สำหรับผู้รอดชีวิตซึ่งบาดเจ็บไม่มาก

ตอนนี้จะให้ทำอะไรก็ได้ดีกว่านั่งรอเฉยๆ ดังนั้นพอมีคนถามว่าใครสนใจจะไปให้สัมภาษณ์ที่สถานี
โทรทัศน์ท้องถิ่น ผมกระโดดตัวลอย “ถ้าที่นั่นมีโทรศัพท์ ผมขออาสา”

ที่สถานีฯ ผมหาโทรศัพท์ได้และเริ่มโทรฯไปทุกแห่งที่นึกออก – โรงพยาบาล สนามบิน สายการบิน
ทุกที่ตอบเหมือนกันหมด “ไม่มีเจย์ แรมส์เดล” เครื่องตกนานกว่า 5 ชั่วโมงแล้ว ผู้รอดชีวิตทุกคนถูก
ส่งตัวเข้าโรงพยาบาลแล้ว

ผมอยู่ที่สถานีโทรทัศน์เกือบ 5 ชั่วโมง แต่เวลาส่วนใหญ่มัวแต่ใช้โทรศัพท์ ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์
แต่ดูผู้โดยสารคนอื่นคุยกับนักข่าว เรื่องราวของชายคนหนึ่งที่เล่าว่า ครอบครัวเขารอดชีวิตจาก
เครื่องบินตกได้อย่างไรสะดุดความสนใจผม เขาและภรรยาพร้อมลูกชายวัย 5 ขวบและ 7 ขวบต่าง
รัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่ง ภรรยาเขาอุ้มลูกสาววัย 11 เดือนไว้กับตัว ภรรยาเขาทำตามที่พนักงาน
ประจำเครื่องสอน คือวางทารกไว้ที่พื้น ใช้หมอนและผ้าห่มทำเป็นเบาะกันกระเทือน หลังจาก
เครื่องกระแทกพื้น เธอจับลูกไว้แน่นด้วยความกลัวว่า ลูกจะเป็นอันตราย แต่พอเครื่องพลิกคว่ำ
ลูกเธอพลัดหลุดหายไป เธอคว้าลูกชายคนหนึ่งไว้ พาออกจากเครื่องและสักครู่ก็พบลูกชายอีกคน
ที่รอดมาได้เพราะ ผู้โดยสารคนอื่นช่วย

ส่วนผู้เป็นพ่อยังรีรออยู่เพื่อค้นหาลูกสาวในซากเครื่องบินที่ควันไฟกำลังคลุ้ง เขาได้ยินเสียงร้องไห้
ของลูก
แต่พอเดินตามหา เสียงกลับเงียบหายไป ในที่สุดควันและไฟหนาทึบจนเขาต้องออกจากที่นั่น

อีกราว 40 นาทีต่อมา เขาเห็นผู้หญิงอุ้มเด็กคนหนึ่งไว้ ลูกของเขานั่นเอง หญิงคนนั้นเล่าว่า
ผู้โดยสารอีกคนพบเด็กคนนี้ ครอบครัวจึงได้กลับมาพบกัน ช่างมหัศจรรย์จริงๆ

ภาพของเด็กหญิงซาบรินา ไมเคิลสันปรากฏบนจอ เป็นเด็กคนเดียวกับที่ผมส่งให้ผู้หญิงคนนั้นใน
ไร่ข้าวโพด หลังจากนั้น คงมีใครบอกมาร์ก ไมเคิลสันว่า ผู้ที่ช่วยชีวิตลูกเขาไว้อยู่ที่สถานีโทรทัศน์
เขาตามหาตัวผมจนเจอ เรายืนมองหน้ากัน ต่างคนต่างไม่รู้จะพูดอะไร เราทั้งคู่รู้สึกซึ้งใจในสิ่งที่
เกิดขึ้น แต่ก็อึดอัดใจ

“ผมแค่อยากขอบคุณที่ช่วยชีวิตลูกผมไว้” มาร์กพูดขึ้น

“คุณเป็นวีรบุรุษ” เขาเริ่มร้องไห้
ผมเองกลั้นน้ำตาไว้แทบไม่อยู่เหมือนกัน “เป็นสัญชาตญาณน่ะครับ” ผมตอบ “ผมเดินตามเสียงร้อง”

วันรุ่งขึ้นผมกลับไปที่สนามบินและขึ้นเครื่องส่วนตัวที่ยูไนเต็ดจัดไว้ให้ รู้สึกแปลก ๆ เวลาเดินขึ้นเครื่อง
กลัวก็กลัว แต่อยากเห็นหน้าไดแอนก็อยาก ความคิดถึงมีมากกว่าทั้งสองอย่าง พอเข้านั่งที่
ผมสูดหายใจลึกและปิดตาลง เสียงที่ได้ยินต่อมาคือเสียงยางกระทบทางวิ่ง ผมหลับมาตลอดทาง
จนถึงเดนเวอร์

โปรดติดตามตอนที่ ( 15 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.ย. 05, 2023 3:39 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 15 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(at)ควันหลง

วันอาทิตย์แรกหลังจากเหตุเครื่องบินตก ผมกับไดแอนไปสวดที่โบสถ์คาทอลิก
เซนต์ วินเซนต์ เดอ ปอล ในเดนเวอร์เพื่อขอบคุณสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้รอดชีวิต และสวดภาวนา
ให้กับผู้เสียชีวิต

บ่ายวันเดียวกัน เพื่อนร่วมงานช่วยกันจัดเลี้ยงให้กำลังใจ – แอบแฝงในรูปของงานกินเลี้ยง
ในสวนบ้านเพื่อนคนหนึ่ง โทรศัพท์ดังขึ้นหลังจากที่งานเริ่มไปได้สักชั่วโมง ถึงผมจะอยู่ที่นอกชาน
แต่ลางสังหรณ์บอกให้ผมรู้ว่าใครโทรฯ และโทรฯมาทำไม

โทรศัพท์ยืนยันมาว่า เจย์ แรมส์เดลเสียชีวิต ชายที่ผมไม่เพียงแต่นับถือในด้านการงาน
แต่ยังเป็นเพื่อนสนิทจากไปแล้ว

ค่ำคืนนั้นเมื่อถึงเวลาเข้านอน ผมกับไดแอนรู้สึกหมดแรง ขณะที่ไดแอนหลับไปแล้ว ผมยังทำใจ
ให้สงบไม่ได้ เที่ยงคืนแล้ว ผมลุกขึ้นเดินไปห้องรับแขกและนั่งคิด

ขณะนั่งในความมืด ภาพสะเทือนใจปรากฏแจ่มชัดขึ้นในใจและติดแน่น เป็นภาพผู้หญิงที่นั่ง
แถวหน้าผม เธอขอร้องให้ผมช่วยหาลูกชายของเธอ

ผมลุกขึ้นเดินไปห้องครัว เมื่อตอนกลางวันผมตัดข่าวคืบหน้าจากหนังสือพิมพ์ลงรายงานล่าสุด
เกี่ยวกับผู้โดยสารเครื่องยูไนเต็ด 232 นับตั้งแต่เกิดเหตุหลายวันมานี้ ผมเริ่มจำชื่อผู้โดยสารบางคน
ได้แล้ว ผมเอื้อมมือไปเปิดไฟ กวาดตามองตัวพิมพ์ขนาดจิ๋ว และทราบว่าผู้หญิงที่นั่งแถวหน้าคนนั้นรอดชีวิต
แต่ยังหาตัวลูกน้อยของเธอไม่พบ

ผมปิดไฟและเดินกลับไปนั่งที่ห้องรับแขก จำได้ว่าตอนนั้นผมตั้งใจเอาตัวผู้หญิงคลุ้มคลั่งคนนั้น
ออกจากเครื่องด้วยเชื่อว่าเครื่องบินกำลังจะระเบิดในอีกไม่กี่นาที วิธีนั้นอาจช่วยชีวิตผู้เป็นแม่ แต่ตอนนี้
ผมชักไม่แน่ใจในเหตุผลที่ตัดสินใจอย่างนั้น

อีก 2 วันต่อมามีข่าวคืบหน้ายืนยันว่าเด็กคนนั้นเสียชีวิตแล้ว ความหวังที่ผมเอาใจช่วยแม่ของเด็ก
มลายสิ้น แต่คำสวดภาวนาของผมที่ให้เธอยังคงอยู่

หลังจากเครื่องบินตกไม่นาน ผมพยายามหาตัวแม่และลูกชายคนที่ผมช่วยพูดปลอบใจโดยโกหกว่า
ผมเป็นนักบิน ผมตรวจหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและรายงานทุกชิ้นที่หาได้ ใส่ชื่อลงในผังตำแหน่งที่นั่งของ
ผู้เคราะห์ร้ายและผู้รอดชีวิตซึ่งเปิดเผยออกมาสู่สาธารณชน แต่หาไม่เจอว่าใครนั่งตรงนั้น

ผมโทรฯหาสายการบินยูไนเต็ดหลายครั้งในช่วงหลายปีและถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้โดยสาร 2 คนนั้น
แต่ไม่มีใครเคยให้คำตอบผมได้เลย ไม่ว่าแม่ลูกคู่นี้จะเป็นใคร ผมขอให้ทั้งคู่รอดชีวิต

ตั้งแต่เกิดเหตุยูไนเต็ด 232 ชีวิตของผมก็เหมือนกับเครื่องดีซี-10 ที่มีทั้งขึ้นและลงตามสันดอนของ
อารมณ์อย่างที่ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งพูดกับผมในงานรำลึกผู้เสียชีวิตว่า “เราจะไม่มีวันกลับไปเป็นคน
ไร้เดียงสาเหมือนเมื่อก่อนเกิดเหตุการณ์ 232 ได้อีก”

พวกเราที่รอดคงอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมฉันถึงรอด เราอาจแกล้งไม่สนใจได้พักหนึ่ง แต่ที่สุดแล้ว
เราจะต้องเผชิญหน้ากับความจริงและหาเหตุผลว่าทำไมเราถึงยังอยู่ บางคนจะบอกว่า ผมรอดเพื่อ
ให้หนูน้อยซาบรินา ไมเคิลสันรอดด้วย

โปรดติดตามตอนที่ ( 16 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ก.ย. 06, 2023 10:49 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 16 ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังเครื่องบินตก 1 เดือน ผมได้รับการ์ดจากมาร์กและลอรี่ ไมเคิลสัน มีรูปซาบรินาฉลองครบรอบ
วันเกิด 1 ขวบที่บ้านมาด้วย คริสต์มาสทุกปี ครอบครัวไมเคิลสันจะส่งการ์ดมาให้ทางไปรษณีย์พร้อม
รูปซาบรินา – จนโต ผมสีทอง – ผมเอารูปเธอติดแม่เหล็กไว้ที่ตู้เย็นและคอยเปลี่ยนทุกปีเมื่อได้รับรูปใหม่
ยิ่งวันเวลาผ่านไป ผมอดคิดไม่ได้ว่า เธอคงไม่มีวันจำเหตุการณ์เครื่องบินตกได้ ส่วนผมก็จะไม่มีวันลืมเลย

ผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 112 คน และรอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ 184 คน ทุกคนเป็นหนี้ชีวิตกัปตัน อัล เฮนส์และ
ลูกเรือ คณะกรรมการความปลอดภัยทางการขนส่งแห่งชาติก็เห็นพ้องกับเรา ในรายงานสุดท้ายเกี่ยวกับ
อุบัติเหตุครั้งนั้น คณะกรรมการสรุปว่า การนำเครื่องดีซี-10 ในสภาพพิการให้ลงอย่างปลอดภัยช่วงนั้น
“เป็นไปไม่ได้เลย” และการปฏิบัติหน้าที่ของ ลูกเรือเที่ยวนั้น “น่าชมเชยอย่างยิ่งและดีเกินคาด”

ลูกเรือทั้งสามและครูฝึกบินหายเป็นปกติและกลับไปบินตามเดิม วันที่ 25 สิงหาคม 2534 เครื่องดีซี-10
บินจากเดนเวอร์ไปสนามบินสากลซีแอตเติล-ทาโคมา โดยมีบิล เรกคอร์ด และดัดลีย์ซึ่งตอนนี้เลื่อนเป็น
กัปตันและนักบินที่หนึ่งตามลำดับนั่งที่นั่งสำรองในห้องนักบิน ส่วนกัปตันเฮนส์นั่งเก้าอี้กัปตันเหมือนเดิม
พนักงานประจำเครื่อง 8 คนล้วนเคยบินเที่ยวบิน 232 ผมได้รับเกียรติให้ร่วมเดินทางในเที่ยวนี้พร้อมกับ
นั่งที่ 23J อีกครั้ง

คราวนี้ไดแอนนั่งข้างผม
เรากลับมาชุมนุมกันครั้งนี้เพื่อฉลองเที่ยวบินสุดท้ายของกัปตันอัล เฮนส์ที่ครบอายุเกษียณ 60 ปี

หลังเสร็จงาน นักข่าวถามเขาเกี่ยวกับชีวิตนักบิน “ก็เป็นอาชีพที่ดี” เขาสรุปอย่างถ่อมตัว ยกเว้น
“ช่วง 45 นาทีที่หวังว่าไม่น่าจะเกิด”

วันนี้งานของเขาในฐานะนักบินพาณิชย์เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ความทรงจำของเขาเช่นเดียวกับของผม
นั้นยังไม่จบ หลายปีมานี้ เขาใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้รอดชีวิตบางราย และวันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปี
เขาจะลดธงครึ่งเสาที่บ้านในซีแอตเติลเพื่อรำลึกถึงเที่ยวบิน 232

หลังจากที่กัปตันเฮนส์เกษียณได้ 2-3 ปี ผมมีโอกาสคุยกับเขา ผมอยากฟังจากปากเขาเรื่องการที่เขา
และลูกเรือพาเครื่องพิการหมดสภาพอย่างดีซี-10 ลำนั้นลงถึงพื้น ที่ซึ่งมีทั้งโศกนาฏกรรมและ
ความมหัศจรรย์เกิดตามมา

เขายอมรับว่ายังสงสัยเหมือนกันว่าควบคุมเครื่องได้อย่างไร เมื่อผมถามว่าคิดออกได้อย่างไรว่า
ต้องใช้เครื่องยนต์อีก 2 ตัวบังคับทิศทาง เขาบอกว่า “ไม่รู้เลยจริงๆ ก็ไม่มีอะไรเหลือให้ทำอีกแล้วนี่”

“เขาเล่าว่า นักบินคนอื่นพยายามเลียนแบบที่เขาทำในสถานการณ์จำลองสภาพเหตุการณ์และเงื่อนไขต่างๆ
ในวันนั้น แต่ไม่ได้ผล เขาอาจจะรอช้าไปเสี้ยววินาที หรือเร็วไปแค่ 2 วินาที ไม่มีเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไม
ที่ผมทำไปถึงได้ผล ทันทีที่เครื่องยนต์ระเบิด เราน่าจะพลิกคว่ำตีลังกา แล้วดิ่งลงแบบนี้”

เขาอธิบายพร้อมกับทำมือประกอบท่าเครื่องบินตก “ทำไมเครื่องยังบินอยู่ได้อีกตั้งหลายนาที ผมเองยังไม่มี
คำตอบจนถึงทุกวันนี้”

ที่สุดแล้วก็ช่างเถอะ ถ้าจะเอาชนะดวง แค่ครั้งเดียวก็พอ!

โปรดติดตามตอนที่ ( 17 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.ย. 07, 2023 2:11 pm

ผู้โดยสารคนสุดท้าย ตอนที่ ( 17 ) (ตอนจบ) จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤษภาคม 2540
โดย Jerry Schemmel และ Kevin Simpson จาก “Chosen to live” และจากกูเกิ้ล 2565
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หมายเหตุ :

1. กัปตันเฮนส์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ในโรงพยาบาลซีแอตเติลหลังจากป่วยอยู่ใน
โรงพยาบาลเป็นเวลาสั้นๆ 6 วันก่อนวันเกิดปีที่ 88 ของเขาและ 37 ปีหลังวันครบรอบ 30 ปีของเครื่องบินตก
สายการบินยูไนเต็ด (United Airlines) ออกแถลงการณ์ขอบคุณเขาสำหรับ "ความพยายามพิเศษของเขา
บนเที่ยวบิน UA232"

2. ซาบรินา ไมเคิลสัน (Sabrina Michaelson : 28 ก.ค.2531 – 8 ก.ค. 2551) หนูน้อยวัย 11 เดือน…
เธอฆ่าตัวตายโดยไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุ 20 วันก่อนอายุครบ 20 ปี
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2544 ตอนที่เธออายุ 12 ขวบ ผู้รวบรวมขอคัดข้อความตอนหนึ่งในอีเมลที่เธอส่งไปถึง
คุณเจอรี่ เช็มเมล (Jerry Schemmel) ผู้ช่วยชีวิตเธอมีดังนี้ “...ตอนนั้น หนูจำอะไรไม่ได้เลย แต่รู้สึกโชคดี
มากที่รอดมาได้ และการที่ทั้งครอบครัวของหนูรอดชีวิตทุกคนทำให้หนูรู้สึกโชคดีมากๆ หนู คิดว่าถ้าไม่มี
คุณเจอรี่อยู่ด้วยในวันนั้น หนูคงไม่มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้... หนูอยากจะขอบคุณคุณเจอรี่อีกครั้งที่ช่วยชีวิตหนูไว้...
ตอนนี้หนูอายุ 12 ขวบ กำลังเรียนอยู่เกรด 7 ค่ะ”

3. เจอรี่ เช็มเมล ผู้เขียนเรื่องนี้ (เกิด 26 พ.ย. 2502) เป็นผู้ช่วยชีวิตหนูน้อยซาบรินาวัย 11 เดือนจากอุบัติ
เหตุเครื่องบิน UA232 และเขียนหนังสือเรื่อง “Chosen to Live” (ผู้ได้รับเลือกให้รอดชีวิต) ปัจจุบันเป็น
นักพากย์กีฬาในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ระหว่างปี 2553-2562 เป็นผู้ดำเนินรายการ
"Amazing Americans" ซึ่งเป็นรายการวิทยุแห่งชาติทุกสัปดาห์
เดือนมิถุนายน 2558 เจอรี่ เช็มเมลเข้าร่วมการแข่งขัน “จักรยานข้ามทวีปอเมริกา” (Race Across America)
ระยะทาง 3,000 ไมล์ (4,800 กม.) จาก“โอเชียนไซด์” (Oceanside) เมืองซานดีเอโก (San Diego) ไปสิ้นสุด
ที่เมือง”แอนนาโปลิส” (Annapolis) รัฐแมริแลนด์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของทีมจักรยานผลัด 2 คน
เขาและแบรด คูเปอร์ (Brad Cooper) คว้าแชมป์ในประเภทผลัด 2 คนโดยจบใน 7 วัน 14 ชั่วโมง

นอกจากลงแข่งขันจักรยานทางไกลหลายรายการแล้ว เจอรี่ เช็มเมลยังร่วมแข่งขันไตรกีฬามาแล้ว 9 รายการ
และวิ่งมาราธอนอีก 3 รายการ โดยวิ่งจนครบระยะทางทุกครั้ง

****************************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส