เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ ( ชุดที่26 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ย. 25, 2023 11:28 pm

เสียงแห่งความเด็ดเดี่ยว มีทั้งหมด ( 5 ตอนจบ)


เสียงแห่งความเด็ดเดี่ยว
ตอนที่ ( 1 )รวบรวมและเรียบเรียงจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2542
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ทิม ไฮด์เล่อร์ (Tim Hydler) อาสาสมัครวัย 21 จูบลาภรรยาแล้วควบจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปตาม
ถนนเพื่อจะไปร่วมฝึกดับเพลิงที่บริษัท ปกติเขาทำงานก่อสร้างในเมืองแอลทูนา รัฐเพนซิลเวเนีย
(Altoona Pennsylvania) แต่ชอบงานอาสาสมัคร และหวังจะเป็นพนักงานดับเพลิงเต็มตัวสักวัน
ทิมใช้เส้นทางลัดที่คุ้นเคย เขาควบรถด้วยความเร็ว 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมองไม่เห็นเส้นลวดที่ขึง
กันผู้รุกล้ำ จึงถูกสายลวดกระแทกที่คออย่างแรงจนตัวกระดอนไปฟาดพื้นเต็มที่ ทิมลุกขึ้นเดินโซซัดโซเซ
ไปยังสถานฝึกของบริษัทซึ่งอยู่ห่างไปราว 400 เมตร จากนั้นเพื่อน ๆ อาสาสมัครก็ช่วยเรียกรถพยาบาล

ที่โรงพยาบาล คณะแพทย์ลงความเห็นว่า หลอดลมและหลอดอาหารของทิมได้รับบาดเจ็บสาหัส
กล่องเสียง ซึ่งอยู่ระหว่างหลอดลมและโคนลิ้นแตก เขารอดชีวิตจากการผ่าตัดฉุกเฉินซึ่งนานถึง 8 ชั่วโมง
แต่แพทย์ ไม่อาจทำให้เสียงของเขาคืนมาได้

ทิมกินอาหารแข็งไม่ได้นานเกือบปี น้ำหนักลดจาก 85 กิโลกรัมเหลือ 42 กิโลกรัม และต้องใช้เวลาพัก
รักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 2 ปี กว่าจะได้กลับบ้านพร้อมกับความฝันที่แหลกสลาย เมื่อไม่มีเสียง เขาก็เป็น
พนักงานดับเพลิงเต็มตัวไม่ได้ ซ้ำยังต้องออกจากงานอาสาสมัครและเลิกร้องเพลงในโบสถ์ที่ชอบมาก

ชายหนุ่มเริ่มเก็บตัวมากขึ้น และในที่สุดก็หย่ากับภรรยาหลังเกิดอุบัติเหตุได้ 4 ปี

ทิมก็เหมือนผู้สูญเสียเสียงคนอื่น ๆ คือ รู้สึกว่าสูญเสียสิ่งที่สำคัญยิ่งไป เขาเฝ้าสวดภาวนาขอให้มี
ปาฏิหาริย์ทางการแพทย์ และเมื่อรู้สึกสิ้นหวังก็ได้แต่วิงวอนว่า ถ้าไม่มีหนทางเยียวยาจริง ๆ ก็ไม่ควร
มีชีวิตอยู่อย่างทรมานต่อไป

บ่ายวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2540 หลังอุบัติเหตุ 19 ปี ทิมนั่งกระสับกระส่ายอยู่ในห้องปรึกษาแพทย์
ที่คลินิกคลีฟแลนด์ในรัฐโอไฮโอ โดยมีนายแพทย์มาร์แชล สโตรม หัวหน้าแผนกหู คอ จมูกนั่งอยู่ตรงข้าม
ทิมกำลังตั้งใจฟังรายละเอียดเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียงซึ่งอาจทำได้และหวังอย่างแรงกล้าที่
จะพูดได้อีกครั้ง

“เราจะไม่พูดอ้อมค้อมนะครับ” นายแพทย์สโตรมเกริ่น “การผ่าตัดนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง และมีอีกหลายเรื่อง
ที่การศึกษายังไปไม่ถึง แต่ที่เรารู้ตอนนี้ก็คือ การผ่าตัดนั้นเสี่ยงมากในหลายด้าน คุณต้องทราบก่อนตัดสินใจว่า
จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่”

ทิมเอื้อมมือหยิบกล่องเสียงไฟฟ้าขนาดเท่าแท่งดินสอ ซึ่งเป็นเครื่องให้เสียงที่ทิมใช้ในการสื่อสารกับคนอื่น
ทิมกดเครื่องกับริมฝีปากแล้วตอบด้วยเสียงด้าน ๆ แบบหุ่นยนต์ว่า “ผมพร้อมแล้ว”

ศัลยแพทย์วัย 57 และคณะทำงานบอกเขาตรง ๆ ว่า กล่องเสียงใหม่นี้อาจไม่ทำงานก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น
ทิมก็ยังคงจะไม่มีเสียง แถมกลืนอาหารเช่นปกติไม่ได้ หรือกล่องเสียงใหม่อาจใช้การได้สักพักก่อนถูกร่างกาย
ปฏิเสธ ดังนั้น หมอจะต้องป้องกันด้วยการให้ยาสะกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย
“คุณอาจเสียชีวิตจากการผ่าตัดก็ได้” หมอสโตรมกล่าว “ซึ่งเป็นไปได้เสมอในการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะสำคัญ ๆ”

“ผมเข้าใจดี” ทิม ไฮด์เล่อร์ตอบ

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ พ.ย. 25, 2023 11:31 pm

เสียงแห่งความเด็ดเดี่ยว ตอนที่ ( 2 )
รวบรวมและเรียบเรียงจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2542
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

“ถามใจตัวเองให้ดี”

หมอสโตรมรู้ว่า ทิมกำลังซึมซับคำเตือนอันน่าพรั่นพรึง ทั้งยังหวังอย่างแรงกล้าที่จะได้เสียงกลับ
คืนมาเหตุการณ์นี้ทำให้หมอสโตรมนึกถึงคนไข้หลายรายที่ไม่ยอมให้ผ่าตัดเอากล่องเสียงที่เป็นมะเร็ง
ออกแม้การผ่าตัดนั้นจะชี้เป็นชี้ตายก็ตาม และหากประสบความสำเร็จ คนไข้ก็มีโอกาสรอดชีวิตสูง
หมอสโตรมตระหนักดีว่า ทิมตัดสินใจลำบาก เมื่อต้องเลือกระหว่างความต้องการแรงกล้าที่จะพูด กับ
ความกลัวว่าจะเสียสุขภาพหรือถึงขั้นเสียชีวิต หมอสโตรมบอกทิมอย่างนุ่มนวลว่า “คุณกลับบ้านไป
ไตร่ตรองให้ดีก่อน เมื่อตัดสินใจแล้วค่อยโทรฯ ถึงผม”

หลังพบหมอ ทิมปรึกษาครอบครัวและเพื่อน ๆ ว่า คุ้มไหมที่จะเสี่ยงสุขภาพหรืออาจถึงเสียชีวิตเพื่อแลก
กับเสียง นางลีล่า แม่วัย 67 ยังไม่ลืมที่ลูกชายต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 2 ปี
“ลูกก็สุขภาพดี อยู่แล้วนี่” เธอบอก “จะไปเสี่ยงทำไม”

แม่ของทิมไม่เข้าใจว่า ลูกชายเจ็บปวดเพียงใดกับการมีชีวิตอยู่แบบนี้ แค่จะแสดงความคิดอ่านผ่านเครื่อง
ช่วยพูดก็เหมือนคอยตอกย้ำความเจ็บปวด อย่างดีที่สุดที่เครื่องมือนี้ทำได้คือ ให้เสียงเรียบเสมอกันแบบ
เครื่องจักรกล แถมยังคงมีเสียงแทรกโกรกกรากบาดหูและมักไม่ชัดเจน บางคนถึงกับผงะเมื่อได้ยินเสียง
ของทิม และเรียกเขาว่า “มนุษย์ประหลาด”

ทิมหันไปปรึกษาเพื่อนซึ่งเป็นพยาบาล และขอความเห็นในเรื่องนี้
“ต้องถามใจตัวเองให้ดี” เธอบอก “คุณคนเดียวเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้”

หลายสัปดาห์ต่อมา ทิมโทรฯ ไปบอกหมอสโตรมว่า “ผมอยากผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียง”
หมอสโตรมประหลาดใจแต่ก็ดีใจพร้อมกับสัญญาว่า “เราจะช่วยคุณสุดฝีมือ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ พ.ย. 26, 2023 6:55 pm

เสียงแห่งความเด็ดเดี่ยว ตอนที่ ( 3 )
รวบรวมและเรียบเรียงจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2542
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เสี่ยงครั้งใหญ่

หมอสโตรมรู้ว่า ทั้งเขาและคนไข้ต่างกำลังเสี่ยงครั้งสำคัญ ซึ่งในแง่ของหมอก็แตกต่าง
กับคนไข้อย่างสิ้นเชิง หากการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะล้มเหลว วงการแพทย๋จะตำหนิหมอสโตรม
อย่างรุนแรง การผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียงครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อ 28 ปีก่อนในประเทศเบลเยี่ยม
ประสบความล้มเหลว ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรง เมื่อตำรวจวัย 62 ผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียง
ใหม่แทนกล่องเสียงที่เป็นมะเร็ง แล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยโรคมะเร็งที่กลับเป็นขึ้นมาอีก
ผู้เชี่ยวชาญบางคนโทษยาสะกดภูมิคุ้มกันว่าเป็นสาเหตุให้โรคมะเร็งกำเริบ บางคนเชื่อว่าเมื่อ
ใส่กล่องเสียงใหม่เข้าไป คนไข้จะกลืนอาหารไม่ได้ และในเมื่ออวัยวะนี้ไม่จำเป็นต่อการมีชีวิตรอด
จึงมีการตั้งคำถามว่า ควรหรือไม่ที่จะให้คนไข้ต้องเสี่ยงอันตรายสูงเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หมอสโตรมไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว แต่ก็รอจนถึงกลางทศวรรษ 1980 เมื่อการถกเถียงยุติลง
แล้วจึงมุ่งหน้าทำงานต่อไป โดยเริ่มต้นการศึกษาจากห้องปฏิบัติการที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ของฮาร์วาร์ด
และต่อมาที่คลินิกคลีฟแลนด์
หมอสโตรมคิดรูปแบบที่พิสูจน์ได้ว่ากล่องเสียงที่เปลี่ยนใหม่สามารถคงอยู่ได้ ทั้งนี้โดยได้ทดลองกับหนู
และยังสามารถกำหนดได้ว่า จะต้องสะกดภูมิคุ้มกันมากน้อยเพียงใด ร่างกายจึงจะไม่ต่อต้านอวัยวะใหม่
และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเกินไป

กลางปี 2539 หมอสโตรมก็พร้อมจะเปลี่ยนกล่องเสียงมนุษย์เป็นครั้งแรก และเริ่มค้นหาผู้ที่เหมาะสมซึ่ง
ต้องเป็นคนหนุ่ม อารมณ์มั่นคง สุขภาพดี และระดับสติปัญญาสูงพอที่จะตัดสินใจเรื่องยากเช่นนี้ได้
“ผมต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การเปลี่ยนอวัยวะครั้งนี้สำเร็จ” หมอสโตรมบอกภรรยา “มิฉะนั้นการผ่าตัด
เปลี่ยนกล่องเสียงจะต้องถอยหลังไปถึง 25 ปี” และหมายถึงผลเสียร้ายแรงต่ออาชีพของเขาด้วย ดังนั้น
เมื่อทิมโทรศัพท์มา หมอสโตรมก็รู้ว่าเขาทั้งคู่กำลังเผชิญกับการเสี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต

วันที่ 3 มกราคม 2541 ทิมไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้านเพื่อนซึ่งเป็นพยาบาลคนเดิม เธอเป็นผู้หญิง
กระฉับกระเฉงและมีเสียงหัวเราะที่ชวนให้คนอื่นหัวเราะไปด้วย เธอสัญญาว่าจะเฝ้าอยู่ข้าง ๆ ทิมตลอด
การผ่าตัด

เวลาประมาณ 21.00 น. เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น “เราได้ผู้บริจาคอวัยวะแล้ว คุณยังต้องการผ่าตัดเปลี่ยน
กล่องเสียงอยู่หรือเปล่า”

“ผมพร้อมแล้ว” ทิมกล่าวพลางวางหูโทรศัพท์ เขาก็ตัวเกร็งด้วยความตื่นเต้นและคาดหวัง

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 28, 2023 6:56 pm

เสียงแห่งความเด็ดเดี่ยว ตอนที่ ( 4 )
รวบรวมและเรียบเรียงจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2542
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

แคบเกินไป

เช้าวันรุ่งขึ้น หมอสโตรมถือกระติกใส่กล่องเสียงของผู้บริจาคเข้าไปในห้องผ่าตัดของ
คลินิกคลีฟแลนด์ เขาได้รับบริจาคอวัยวะนี้จากโรงพยาบาล”กู๊ด ซามารีตัน” (Good Samaritan)
เมืองซินซินเนติ โดยร่วมกับนายแพทย์รามอน ศัลยแพทย์เส้นโลหิตซึ่งผ่าตัดจากร่างชายวัย 41
ผู้เสียชีวิตด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองโป่งพอง

เวลา 7.30 น. บุรุษพยาบาลเข็นทิมเข้าห้องผ่าตัด หมอสโตรมกับผู้ช่วย 13 คนคอยอยู่แล้ว
แพทย์ให้ยาสลบทิมซึ่งหมดสติอย่างรวดเร็ว จากนั้นหมอสโตรมเอ่ยว่า “ลงมือได้”

นายแพทย์รามอน และเพื่อนศัลยแพทย์เส้นโลหิตอีกคนหนึ่งลงมือผ่าเนื้อเยื่อจนถึงเส้นโลหิต
ด้านนอก ของกล่องเสียงซึ่งทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล่องเสียง ขณะเดียวกันนั้น หมอสโตรม
ก็ทำความสะอาด กล่องเสียงขนาด 4 x 1 นิ้วของผู้บริจาคอย่างระมัดระวัง ยังมีการทดสอบที่
สำคัญยิ่งอีกอย่างก่อนผ่าตัดใส่อวัยวะใหม่ นั่นคือทดสอบว่ากล่องเสียงที่บริจาคยัง ทำงานได้
หรือไม่ หมอสโตรมกล่าวว่า “ลองเอากล่องเสียงเกี่ยวต่อเข้าและดูสิว่าเกิดอะไรขึ้น”

ศัลยแพทย์เส้นโลหิตทั้งคู่ต่อปลายเส้นโลหิตแดงและดำจากกล่องเสียงผู้บริจาคเข้ากับของทิม
ทันใดนั้นเลือดก็ไหลเข้าไปในกล่องเสียงบริจาคสีเทาไร้ชีวิต แต่กล่องเสียงจะกลับคืนชีวิตหรือ
ไม่หนอ หลายนาทีต่อมา อวัยวะนี้ก็สดใสขึ้นเป็นแห่ง ๆ หมอสโตรมกล่าวด้วยความโล่งใจว่า
“ดูท่าทางว่าเลือดจะไหลเข้าไปแล้ว” เมื่อกล่องเสียงที่รับบริจาคกลายเป็นสีชมพูทั้งกล่อง
หมอสโตรมก็ยิ่งลิงโลดและบอกว่า “เอากล่องเสียงของคนไข้ออกได้แล้ว”

คณะศัลยแพทย์ช่วยกันตัดรอบ ๆ กล่องเสียงที่ชำรุดของทิมแล้วดึงออก หมอสโตรมมองลงไป
ในช่องคอของทิม แล้วก็กังวลกับภาพที่เห็น “ช่องคอแคบไป เล็กกว่ากล่องเสียงบริจาค” หมอบอก

หมอสโตรมจะต้องขยายช่องคอ แล้วใช้ส่วนคอของผู้บริจาคแทนส่วนที่เป็นแผลเป็นของทิม หมอรู้
ว่าการ กลืนจะต้องอาศัยการประสานสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหว ดังนั้นปัญหาจึง
อยู่ที่ว่า จะต่อส่วนคอของผู้บริจาคเข้าไปได้สักเพียงใดโดยไม่เป็นอันตรายต่อการกลืนของทิม

หมอสโตรมตัดเนื้อเยื่อที่มีแผลเป็นออก แล้วใช้เข็มรูปเบ็ดกับปากคีบติดคอของผู้บริจาคเข้าไป
ขณะเดียวกัน ก็ขยายช่องคอและสร้างผนังส่วนคอของทิมขึ้นใหม่ กล่องเสียงเข้าที่เรียบร้อย แต่หมอ
ยังคงกังวลอยู่

ขั้นตอนถัดไปมีความสำคัญยิ่ง นั่นคือการเชื่อมประสานของกล่องเสียง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ
ของกล่อง เสียงใหม่ และถ้าการต่ออวัยวะสำเร็จด้วยดี จะช่วยให้ทิมสามารถกลืนได้เป็นปกติ แพพย์
จับเส้นประสาท ด้านความรู้สึกและการเคลื่อนไหวของทิมเข้าคู่กับของผู้บริจาค ดึงปลายเข้าบรรจบ
กันแล้ว เย็บปลอกหุ้มประสาทติดกัน

เวลา 20.00 น. การผ่าตัดกว่า 12 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้น “เอาละ” หมอสโตรมกล่าวด้วยสีหน้าที่แสดงถึง
ความมีชัยแม้จะอ่อนล้า “ทุกอย่างต่อเข้าที่เรียบร้อยแล้ว” แต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกว่า การผ่าตัดครั้งนี้
สำเร็จหรือไม่

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ย. 28, 2023 7:10 pm

เสียงแห่งความเด็ดเดี่ยว ตอนที่ ( 5 ) (ตอนจบ)
รวบรวมและเรียบเรียงจากนิตยสารสรรสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2542
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

“สวัสดี”

หลังการผ่าตัด 3 วัน หมอสโตรมเดินเข้าไปในห้องของทิม แล้วค่อย ๆ สอดกล้องส่อง
กล่องเสียงใยแก้วนำแสงลงไปในคอของคนไข้ เพื่อตรวจดูสายเสียงทางท่อเล็ก ๆ นี้ เมื่อดึง
เครื่องมือออกมาแล้ว หมอสโตรมก็บอกให้เขาพูดคำว่า "สวัสดี"

“สวัสดี” ทิมพูดด้วยเสียงต่ำแตกพร่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีที่เขาเปล่งเสียงพูดได้โดย
ไม่ต้องใช้กล่องเสียงไฟฟ้า นัยน์ตาเขาชื้นไปด้วยน้ำตา หมอสโตรมก็เช่นกัน ทั้งคู่ต่างคอยเวลานี้
มานานในวิถีทางและในโลกที่ต่างกัน

ทิมอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อแม่มาเยี่ยม เขาก็ลองพูดเต็มประโยคเป็นครั้งแรก
“วันนี้คือวันที่ผมรอคอย” เขากล่าวช้า ๆ พร้อมกับยิ้ม

“แม่ก็เหมือนกัน” เธอตอบพลางบีบมือลูกชาย

หมอสโตรมเห็นว่า อาการของทิมดีขึ้นมากเมื่อสามารถกลืนอาหารได้ ซึ่งพิสูจน์ว่าการผ่าตัด
เปลี่ยนกล่องเสียงไม่ทำให้สูญเสียความสามารถในการกลืนอาหารตามปกติ

“ทิม” หมอสโตรมบอกเขาในวันหนึ่ง “เสียงของคุณจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่เหมือนเสียงเดิมหรือ
เสียงของผู้บริจาค จะเป็นเสียงใหม่โดยสิ้นเชิง”

เสียงของทิมค่อย ๆ ดังและชัดเจนขึ้นหลังการผ่าตัด เขาไปร่วมร้องเพลงในโบสถ์ทุกวันอาทิตย์
และกลายเป็นนักพูดในที่สาธารณะ “เพื่อกระจายข่าวการผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียงของผม”
เขากล่าว “และยังอาจช่วยคนอื่นได้อีกด้วย”

**********************
จบบริบูรณ์

:s005: :s002:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 02, 2023 6:45 pm

…………บันทึกของครูคนใหม่ มีทั้งหมด ( 3 ) ตอนจบ


……บันทึกของครูคนใหม่ ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2543 โดย Esmé Raji Codell
เรียบเรียง โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ดิฉันอยากเป็นครูตั้งแต่เด็กเมื่อครั้งอยู่กับพ่อและน้องชายที่ห้องเช่าในนครชิคาโก
ส่วนแม่แยกทางกับพ่อไปแล้ว แม้ตู้เย็นในห้องจะเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง แต่ก็มีหนังสือเรียงรายอยู่
ทุกมุมห้อง และในไม่ช้าดิฉันก็ตระหนักว่า หนังสือเหล่านี้พาดิฉันไปได้ทุกแห่งหน

ขณะนี้ดิฉันกำลังยืนพิจารณาห้องเรียนที่ต้องรับผิดชอบเป็นครั้งแรกในฐานะครูประถมของ
โรงเรียนในย่านคนจนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากละแวกบ้านที่ดิฉันเติบโตมา

หน้าต่างในห้องนั้นกว้างและมีขอบสวย ด้านล่างมีชั้นวางของเรียงรายซึ่งดิฉันจะใช้เป็นตู้โชว์
แต่มีปัญหาอยู่หน่อยตรงที่ว่ามีรอยกระสุนปืน 4 รูอยู่ตามหน้าต่างข้างกระดาน ครูใหญ่บอกว่าจะ
จัดการเปลี่ยนให้ก่อนเปิดเทอม

ดิฉันปรับปรุงห้องเรียนขนานใหญ่ ครูอาวุโสหลายคนส่ายหน้าเมื่อเห็นผลงาน และบอกว่า
ห้องเรียนของดิฉันดูตื่นตาตื่นใจเกินไป แต่ดิฉันคิดว่าพวกเขาอิจฉาฉันมากกว่า

พอทุกอย่างลงตัวแล้วดิฉันก็คิดถึง’อิสมีน’ ครูพี่เลี้ยงสมัยที่ดิฉันเป็นครูฝึกสอน ทีแรกดิฉันไม่
ค่อยถูกชะตาด้วยเพราะครูอิสมินดูจะหัวโบราณมาก แต่คำแนะนำอย่างมีเมตตาของท่านทำให้ดิฉัน
เริ่มอาชีพครูต่อมาด้วยความตื่นเต้นและมั่นใจ

หลังจากนั้นเพียง 2 วัน ครูอิสมีนก็บอกดิฉันว่า “เธอพร้อมแล้ว” ซึ่งหมายความว่า ดิฉันได้รับ
ความไว้วางใจให้สอนเดี่ยวได้โดยไม่ต้องมีครูพี่เลี้ยงคอยสังเกตการณ์อีกต่อไป ครูอิสมีนให้ดิฉันรับ
ช่วงสอนนักเรียนชั้นประถม 5 ต่อซึ่งเหลือเวลาสอนอีกหลายร้อยชั่วโมง

ดิฉันยืนอยู่หน้าชั้นที่เพิ่งได้รับมอบหมายให้สอนเดี่ยวได้ ดิฉันอ่านหนังสือให้นักเรียนฟัง ตั้งคำถาม
สอนนับเลข เล่าเรื่องตลก ดุนักเรียน เล่นกลให้ดู แล้วก็แทรกบทเรียน

(@)ชั้นเรียนแรก

แล้ววันสำคัญก็มาถึง ในชั้นมีนักเรียน 31 คน ดิฉันคิดในใจว่า “อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับ
เด็กๆ เหล่านี้” ความรู้สึกตอนนั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน

ดิฉันแนะนำตัวแบบติดตลกว่าเป็นครูใจร้าย เคยสอนนักฟุตบอล โคบาล ไดโนเสาร์ และมนุษย์
ต่างดาวมาแล้ว ฉะนั้นนักเรียนชั้นประถม 5 เพียงไม่กี่คนนี้ไม่คณนามือหรอก นอกจากนี้ยังประกาศ
กฎเหล็กซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรสีทองว่า “ปฏิบัติต่อเพื่อนเหมือนอย่างที่อยากให้เพื่อนปฏิบัติต่อเรา”

สิ่งแรกที่ทำคือ บันทึกทักษะในการอ่านของนักเรียนแต่ละคน บางคนออกเสียงยังไม่ชัดเลย
ดิฉันรู้สึกปวดใจเมื่อเห็นนักเรียนตัวโตยืนอึกอักเพราะไม่รู้ว่าอักษรตรงหน้าออกเสียงอย่างไร ดิฉัน
จึงบอกเด็กๆ ว่านักเรียนชั้นเราจะช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์พยัญชนะสำหรับน้องชั้นอนุบาล โดยดิฉันจะ
ให้พยัญชนะ 1 ตัวแก่เด็กแล้วให้เด็กกลับไปคิดเป็นการบ้านทุกวัน แล้ววันรุ่งขึ้นให้นำสิ่งของที่น่าสนใจ
ซึ่งขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตัวนั้นมาอวดเพื่อนๆ นักเรียนในชั้นทบทวนการออกเสียงอักษรตัวต่างๆ และช่วย
สอนให้น้องชั้นอนุบาลอ่านอย่างถูกต้อง วิธีนี้ช่วยให้นักเรียนในชั้นที่ดิฉันสอนหัดอ่านและสะกดคำได้
อย่างราบรื่นในเวลาไม่นานต่อมา

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ เสาร์ ธ.ค. 02, 2023 6:55 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 02, 2023 6:50 pm

บันทึกของครูคนใหม่ ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2543 โดย Esmé Raji Codell
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)เรื่องดีมีคติ

ดิฉันใช้เงินส่วนตัวซื้อหนังสือเพื่อจัดเป็นมุมห้องสมุดในชั้นเรียน ซึ่งสวยมากเหมือนใน
ร้านขายหนังสือ เพราะมีหนังสืออัดเต็มชั้นไม้ ยิ่งกว่านั้น ชั้นหนังสือยังช่วยปิดรอยกระสุนปริศนา
บนหน้าต่างซึ่งจนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ซ่อม

ดิฉันอ่านนิทานเรื่อง”กระโปรง 100 ชุด” (The Hundred Dresses) ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กหญิง
ยากจนมีกระโปรงสำหรับสวมไปโรงเรียนเพียงชุดเดียว แต่ยืนยันกับทุกคนว่ามีกระโปรงร้อยชุด
อยู่ที่บ้าน เพื่อนนักเรียนพากันล้อเลียนอย่างไร้ความปรานีจนเธอต้องหนีหน้าไป ที่สุดเพื่อนใจร้าย
ก็พบความจริงว่า เธอมีกระโปรง 100 ชุดอยู่ที่บ้านจริงๆ แต่เป็นเพียง”ภาพวาดรูปกระโปรง” พออ่าน
นิทานจบ ดิฉันเองก็แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่

ทั้งห้องเรียนเงียบไปชั่วอึดใจ ทันใดนั้น นักเรียนชายคนหนึ่งก็เดินตรงเข้ามากระซิบข้างหูดิฉันว่า
“ผมมีเรื่องอยากบอกเพื่อนๆ ครับ” แล้วเขาก็ค่อยๆ ชูนิ้วที่เหลือเพียงครึ่งนิ้วให้ดิฉันดู

ดิฉันโอบไหล่แกจูงไปยืนหน้าชั้น เด็กชายตัวสั่นเทา “เพื่อนคนนี้มีเรื่องส่วนตัวบางอย่างอยากจะ
บอกเพื่อนๆ ครูหวังว่าทุกคนยังจำเรื่องที่ครูเพิ่งอ่านให้ฟังได้นะ”

“ผม... เอ้อ ผมมีแค่ 9 นิ้วครึ่ง เพื่อนๆ อย่าล้อผมเลยนะ”

นักเรียนคนนั้นพูดด้วยความอาย พร้อมกับชูมือทั้งสองข้างให้เพื่อนทุกคนเห็น

ทั้งห้องทำเสียงฮือฮาด้วยความประทับใจ แล้วก็มีเด็กชายคนหนึ่งลุกขึ้นยืนพูดดังๆ ว่า
“ถ้าใครบังอาจมาล้อเลียนนาย ฉันจะอัดมันให้เละ”

“ฉันเห็นด้วย” อีกคนรีบเสริม
เมื่อเห็นเพื่อนๆ ให้คำมั่นว่าจะอัดคนที่ล้อเลียนโดยพร้อมเพรียงกัน นักเรียนที่ยืนหน้าชั้นอยู่ก็
ถอนหายใจและหันมายิ้มให้ครู นี่แหละอิทธิพลของวรรณกรรม

(+)ไว้เนื้อเชื่อใจ

เกิดเรื่องร้ายขึ้น มีคนขโมยหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับโคลัมบัสไปจากตู้เก็บหนังสือของชั้นเรา
ดิฉันถามอย่างเอาเรื่องว่า “ใครหยิบไปขอให้นำมาคืน” แต่ก็ไม่ได้คืน ฉะนั้นหลังเลิกเรียน ดิฉันจึง
ใส่กุญแจตู้หนังสืออย่างแน่นหนา

“ไม่ยุติธรรมเลยค่ะ พวกเราทุกคนไม่ได้ขโมยสักหน่อย” เด็กหญิงคนหนึ่งบ่นในวันรุ่งขึ้น

“ฟังนะ สิ่งที่ไม่ยุติธรรมก็คือ ครูต้องทำงานพิเศษทุกวันเสาร์เพื่อซื้อหนังสือสนุกๆ เหล่านี้มา
ให้นักเรียนอ่าน แล้วหนังสือก็ถูกขโมยไป หนังสือของครูมีไว้ให้แบ่งกันอ่านกับเพื่อนเท่านั้น ครูจะ
ไม่วางสมบัติส่วนตัวทิ้งไว้เมื่อไว้ใจใครไม่ได้ ถ้าเป็นหนังสือของเธอล่ะ?”

ไม่กี่วันต่อมา ดิฉันก็เห็นหนังสือการ์ตูนเล่มที่หายไปกลับมาวางสงบนิ่งอยู่บนโต๊ะทำงาน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 02, 2023 6:54 pm

บันทึกของครูคนใหม่ ตอนที่ ( 3 ) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2543 โดย Esmé Raji Codell
เรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(+)ชีวิตอีกด้าน

นักเรียนบางคนมีชีวิตลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นแมรี่มาโรงเรียนสายเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันแล้ว
แทนที่ดิฉันจะดุทั้งที่คิดจะทำอยู่เหมือนกันตอนแรก แต่แล้วก็เปลี่ยนเป็นเรียกหนูน้อยมาคุยตาม
ลำพัง “ทำไมถึงมาโรงเรียนสายล่ะ”

“อาทิตย์นี้พ่อแม่ต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านสงเคราะห์ หนูต้องไปส่งน้องก่อนถึงค่อยนั่งรถไฟมา
โรงเรียนได้ค่ะ” แมรี่อธิบาย

ดิฉันบอกว่า ภูมิใจมากที่แกมาโรงเรียนทุกวัน และสัญญาว่าจะช่วยสอนเสริมบทเรียน
ที่ตามเพื่อนไม่ทันให้

รุ่งขึ้นแมรี่พาน้องชายวัย 2 ขวบมาโรงเรียนด้วยโดยไม่มีจดหมายบอกกล่าวหรือคำอธิบายใดๆ
และไม่มีแม่มาด้วย ดิฉันพยายามโทรศัพท์ไปที่ห้องพักของครอบครัวแก แต่ที่นั่นไม่มีโทรศัพท์
ในที่สุดดิฉันก็ต้องกระเตงเด็กน้อยไว้ที่เอวขณะสอนหนังสือไปด้วยทั้งวัน

คืนหนึ่ง จอยกับน้องสาวต้องไปนอนค้างที่ห้องพักดิฉัน เพราะศาลสั่งขังแม่และสามีซึ่งยิงเธอที่แขน
เธออ้อนวอนให้ดิฉันช่วยรับลูกทั้งสองคนไปช่วยดูแลให้ด้วย ดิฉันหนักใจมาก คิดในใจว่า
“หน้าที่การงานอาจจบลงก็เพราะเรื่องนี้แหละ” แต่ดิฉันก็รับปาก เด็กทั้งคู่มารยาทเรียบร้อยน่ารัก

วันรุ่งขึ้น ดิฉันรีบไปแจ้ง”อาจารย์แนะแนว”ให้ช่วยปิดเรื่องนี้ ท่านสงสารเด็กมากจนน้ำตาไหลและ
จับมือดิฉัน ยิ่งกว่านั้นยังสัญญาว่าจะไม่รายงานครูใหญ่

(+)จุดเริ่มต้น

ต้นเดือนมิถุนายน ที่ปรึกษาโรงเรียนนำผลการทดสอบมาตรฐานการอ่านและทักษะด้าน
คณิตศาสตร์ของนักเรียนในความดูแลของดิฉันมาให้ดู ปรากฏว่าผลออกมาดีที่สุดในโรงเรียน
เกือบทุกคนจะได้ข้ามชั้น 1 ปี หลายคนได้เลื่อน 2 หรือ 3 ปี

คำพูดของครูพี่เลี้ยงยังก้องอยู่ในหัว “ครูใหม่แตกต่างจากครูเก่า ครูใหม่จะถามว่า : ฉันสอน
ดีไหม แต่ครูที่มีประสบการณ์จะพูดว่า : นักเรียนเข้าใจไหม”

เด็กนักเรียนของดิฉันพิสูจน์ความสามารถของตนได้อย่างงดงาม

วันสุดท้ายที่ดูแลนักเรียนซึ่งสอบผ่านยกชั้น ดิฉันคิดในใจว่า ส่งผู้โดยสารตัวน้อย 31 คน
ถึงฝั่งเรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดคืออนาคตของชาติถึง 31 คน

ไม่ว่าเด็กๆ จะประกอบอาชีพอะไรในอนาคต ดิฉันก็มีส่วนอยู่ด้วย และทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับ
ตัวดิฉัน พวกเขาก็มีส่วนช่วยสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ เยี่ยมชมเว็บไซต์ของผู้เขียน (Esmé Raji Codell) ได้ที่ www.planetesme.com
ซึ่งรวบรวมรายชื่อหนังสือสำหรับเด็กวัยต่างๆ ที่เธอโปรดปรานเป็นพิเศษ รวมทั้งเคล็ดลับ
ในการอ่านหนังสือและข้อแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมเสริมการอ่าน

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 04, 2023 8:25 pm

……… 🛳 ไขปริศนาเรือไททานิก มีทั้งหมด ( 4 )ตอนจบ


ไขปริศนาเรือไททานิก 🛳 ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2539 โดย Robert Gannon
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ที่ห้องทดลองของกระทรวงกลาโหมแคนาดาในเมืองฮาลิแฟกซ์ (Halifax)
เมื่อเดือนสิงหาคม 2537 ผมนำชิ้นส่วนของตัวเรือไททานิกขนาดเท่าจานข้าวซึ่งได้มาจาก
ใต้ทะเลลึก 4,000 เมตร ขณะที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเตรียมตัดบางส่วนของชิ้นส่วนนี้มาทุบเพื่อ
ค้นหาสาเหตุลึกลับที่ทำให้เรือไททานิกจมลงสู่ก้นมหาสมุทรหลังจากออกเดินเรือครั้งแรก
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2455

เรือไททานิกยาวเกือบ 270
เมตร ระวางขับน้ำกว่า 46,000 ตัน เป็นเรือที่มีการออกแบบดีที่สุดในยุคนั้น เรือออกจากเมือง
เซาแธมป์ตัน (Southampton) ประเทศอังกฤษไปยังนครนิวยอร์ก โดยแวะที่ประเทศฝรั่งเศส
และไอร์แลนด์ มีผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำเรือ 2,224 คน ในจำนวนนั้น มีบุคคลชั้นนำใน
วงการอุตสาหกรรมเช่นอิสิดอร์ สเตราซ์ (Isidor Strauss) ผู้ก่อตั้งห้างเมซีส์
(Macy’s Department Store) ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และโธมัส แอนดรูส์
(Thomas Andrews) ผู้ออกแบบเรือ เป็นต้น

เรือไททานิกได้ชื่อว่าเป็นเรือที่ไม่มีวันจม เพราะตลอดความยาวของลำเรือแบ่งออกเป็นตอนๆ
โดยที่แต่ละตอนผนึกไว้และแยกออกจากกันได้โดยง่าย ถ้าเรือรั่วที่จุดใดจุดหนึ่ง น้ำก็จะท่วมได้เฉพาะ
ตอนนั้น ผู้สร้างคาดเผื่อไว้ในกรณีเกิดเหตุร้ายน้ำเข้าเรือได้ 2-3 จุดก็ต้องใช้เวลา 2-3 วันกว่าเรือจะจม
ซึ่งมีเวลามากพอให้เรือในบริเวณใกล้เคียงมาช่วยเหลือได้ทัน

คืนวันที่ 14 เมษายน 2455 เวลาประมาณ 19.30 น. เจ้าหน้าที่วิทยุของเรือไททานิกได้รับข่าวจาก
เรือที่อยู่ใกล้ๆหลายลำแจ้งว่า “มีภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์ 3 ก้อนลอยอยู่ทางใต้ แต่เรือยังคงแล่นฝ่า
ความมืดต่อไป

นายยาม 2 คนประจำอยู่บนเสากระโดงสูงตัวสั่นด้วยความหนาวเหน็บเพราะอุณหภูมิใกล้จุด
เยือกแข็ง หากคืนนั้นมีแสงจันทร์พวกเขาคงจะเห็นภูเขาน้ำแข็งลอยอยู่ข้างๆเรือ และถ้ามีคลื่นลมที่
ซัดกระทบก้อนน้ำแข็งก็คงจะส่องประกายท่ามกลางแสงดาว แต่คืนนั้นไร้จันทร์และท้องทะเลก็สงบเงียบ

ก่อน 23.40 น.เล็กน้อย เฟรเดริก ฟลีต (Frederick Fleet) นายยามเพ่งมองฝ่าความมืดจากจุด
ที่อยู่ห่างจากแกรนด์แบงค์(Grand Banks) ของนิวฟาวด์แลนด์ฝั่งตะวันออกของแคนาดาไปทางใต้
ราว 160 กิโลเมตร นายยามเริ่มสังเกตเห็นดาวที่ขอบฟ้าข้างหน้าถูกบดบังก่อนจะเห็นลักษณะของ
วัตถุขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร นายยามรีบเคาะระฆังเตือนและโทรศัพท์แจ้ง
สะพานเดินเรือทันที

“ภูเขาน้ำแข็งอยู่ตรงหน้า” เขาตะโกนสุดเสียง

ต้นหนรีบออกคำสั่งให้ห้องเครื่อง “ถอยหลังเต็มตัว” และสั่งนายท้ายว่า “หันขวาสุด” นายยาม
เตรียมรับแรงปะทะ แต่เรือก็ค่อยๆเบี่ยงหลบและไถครูดกับภูเขาน้ำแข็ง

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 04, 2023 8:30 pm

ไขปริศนาเรือไททานิก 🛳 ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2539 โดย Robert Gannon
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตามรายงานนั้นบอกว่า กำแพงภูเขา”เหมือนเรือใบที่มีใบเรือเปียกชุ่ม” ตัวกำแพงภูเขาเคลื่อน
ผ่านราวกราบขวาเรือ ก้อนน้ำแข็งร่วงพรูตกลงบนดาดฟ้า ผู้โดยสารบางคนเก็บเศษก้อนน้ำแข็ง
ขึ้นมาขว้างเล่นใส่กัน แล้วภูเขาน้ำแข็งก็กระทบลำเรือ หลายคนคิดว่าคงไม่เสียหายมากจนถึงกับ
น่าเป็นห่วง ไม่กี่วินาทีต่อมาภูเขาน้ำแข็งก็ลับหายไปในความมืดทางท้ายเรือ แต่ทว่าในห้องหม้อน้ำ
ที่ร้อนระอุอยู่ระหว่างหัวเรือกับกลางลำเรือ ช่างหม้อน้ำรีบลอดผ่านประตูกันน้ำและปิดไล่หลังอย่างรวดเร็ว
น้ำจากลำเรือพุ่งฉีดใส่พวกเขาจนเปียกโชก ส่วนของเรือตอนถัดมาก็มีน้ำไหลทะลักเข้ามาเช่นกัน

แอนดรูว์ผู้ออกแบบเรือไททานิกรู้ทันทีว่าเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงมากหลังจากตรวจดูความเสียหาย
เขาปรึกษากับกัปตันเรือสมิธ (Captain Edward Smith) อย่างเคร่งเครียด ภูเขาน้ำแข็งทำให้ 6 ตอนแรก
ของลำเรือเสียหาย ทั้งสองมองเห็นหายนะที่จะมาถึงเมื่อน้ำท่วมเต็มทั้ง 6 ตอนนี้ น้ำหนักส่วนหัวเรือเพิ่ม
มากขึ้นอย่างรวดเร็วและกดหัวเรือลง ทำให้น้ำล้นข้ามเพดานตอนบนซึ่งไม่ได้มีผนังกั้น น้ำจึงผ่านเข้าไป
ในตอนต่อๆไปของเรือทุกตอน กัปตันสมิธตัดสินใจให้สละเรือ

ยิ่งน้ำไหลทะลักเข้าเรือ หัวเรือก็ยิ่งจมลงจนในที่สุดก็ยกใบจักรท้ายเรือพ้นผิวน้ำ มีเสียงดังจากภายใน
เรือเหมือนชามกระเบื้องแตก ทันใดนั้นปล่องไฟใหญ่ข้างหน้าเรือก็จุ่มลงในมหาสมุทรพร้อมกับเสียงแหลม
แสบแก้วหูของโลหะที่ฉีกขาด

เรือชูชีพลำแรกลอยลงทะเลเวลา 00.25 น. แต่เรือชูชีพที่มีอยู่ทั้งหมดรับผู้โดยสารในเรือได้เกินครึ่งเพียง
เล็กน้อย หลังตีสองเล็กน้อย เรือไททานิกก็ปักหัวทำมุม 45 องศา คนบนเรือชูชีพได้ยินเสียงลั่นครืน
ท้ายเรือดูเหมือนกับลอยขึ้นสูง มีคนพูดขึ้นว่า “ดูโน่นสิ เรือกลับขึ้นมาแล้ว” จากนั้นท้ายเรือก็เริ่มจมดิ่งลง

02.20 น. เรือไททานิกทั้งลำก็จมหายไปใต้ผิวน้ำพร้อมผู้โดยสารกว่า 1,500 คนรวมทั้งสเตราซ์ แอนดรูว์
และกัปตันสมิธ เรือโดยสารเดินสมุทรที่ใหญ่ที่สุดซึ่งออกแบบให้อยู่ได้อย่างน้อย 2 วันก่อนจม ก็ถึงกาล
อวสานในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงนับแต่เกิดเหตุ

ตามความเห็นของวิศวกรผู้วิเคราะห์เหตุการณ์ภายหลังเรือจมนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าการที่ภูเขาน้ำแข็ง
ครูดข้างเรือ จะสร้างความเสียหายรุนแรงเช่นนี้ได้ พวกเขาคิดว่าภูเขาน้ำแข็งกดดันตัวเรือซึ่งสร้างจาก
แผ่นเหล็กหนากว่า 2 เซนติเมตรจนหมุดเหล็กยึดลำเรือหลุดกระเด็นออก และฉีกลำเรือให้ขาดออกตามรอยต่อ

แต่บางคนคิดว่าทฤษฎีที่กล่าวมานี้ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้จึงเป็นปริศนามาเกือบ 73 ปี จนกระทั่งเดือนกันยายน
ปี 2528 นักธรณีวิทยาทางทะเลชื่อบัลลาร์ด (Robert Ballard) สำรวจซากเรือไททานิกซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
คือหัวเรือกับท้ายเรือ มีเศษซากชิ้นส่วนกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้างคั่นอยู่ บัลลาร์ดพบว่าส่วนหัวเรือจมอยู่
ใต้โคลนหนากว่า 10 เมตรเนื่องจากกระแทกก้นมหาสมุทร

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 ) ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 05, 2023 5:43 pm

ไขปริศนาเรือไททานิก 🛳 ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2539 โดย Robert Gannon
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

6 ปีผ่านไป ทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรลงไปสำรวจอีกครั้งในปี 2534 โดยมีบลาสโค
(Steve Blasko) นักธรณีวิทยาทางทะเลชาวแคนาดาวัย 45 ปีเป็นหัวหน้า คณะสำรวจใช้
เรือดำน้ำ คู่ที่สามารถดำน้ำลึกได้นานครั้งละกว่า 20 ชั่วโมง

พวกเขาได้ชิ้นโลหะซึ่งเป็นส่วนของลำเรือ โลหะแผ่นที่นำขึ้นนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
25 เซนติเมตร หนาเกือบ 3 เซนติเมตร มีรูสำหรับหมุดยึด 3 รู แต่ละรูกว้าง 3 เซนติเมตร เมื่อนำ
กลับขึ้นมาก็จัดการทำความสะอาดและเช็ดชิ้นโลหะนี้อย่างระมัดระวัง

บรรดานักวิจัยต่างประหลาดใจเมื่อพบสะเก็ดสีทาเรือในสภาพเดิมทั้งๆที่น่าจะผุกร่อนไปมากแล้ว
เพราะจมอยู่ใต้น้ำเย็นจัดนับสิบๆปี สิ่งที่บรรดานักวิจัยสนใจคือรอยขอบแผ่นโลหะมีสภาพหยักและ
แตกละเอียดราวกับเป็นชิ้นส่วนของชามกระเบื้องแตก นักโลหะวิทยาต่างรู้ดีว่า ปกติเหล็กคุณภาพสูง
ที่ใช้สร้างเรือมีความแข็งแรงมากซึ่งจะไม่เกิดลักษณะเช่นนี้อย่างแน่นอน ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร
กันแน่?

3 ปีต่อมา มีการนำชิ้นส่วนเรือไททานิกไปที่ห้องทดลองที่เมืองฮาลิแฟกซ์ จากนั้นก็ตัดชิ้นส่วนเป็น
เส้นตรงเหมือนไม้บรรทัดเป็นมันวาว 2-3 ชิ้น แต่ละชิ้นมีขนาดเท่ามวนบุหรี่เรียกว่า “คูปอง” นำคูปองนี้
ยึดติดแน่นกับอุปกรณ์เพื่อทดสอบความแข็งแรงและวัดความเปราะของโลหะซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายมาก
คือหลังจากยึดชิ้นคูปองอย่างแน่นหนาไว้กับเหล็กจับแล้ว ก็ใช้ลูกตุ้มหนัก 27 กิโลกรัมแกว่งลงมา
กระแทกชิ้นคูปองทดสอบ จุดกระทบจะต่อกับอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกที่บันทึกความแรงได้ละเอียดถึง
ระดับ 1 ใน 1,000,000 ของวินาที

ผู้ทดสอบคือ คาริสอัลเลน (Ken KarisAllen) วัย 35 ปีผู้เชี่ยวชาญด้านการแตกและการกัดกร่อน
ของโลหะ ในการนี้ คาริสอัลเลนทดสอบคูปอง 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นเหล็กที่ใช้สร้างเรือสมัยใหม่ อีกชิ้นหนึ่ง
จากไททานิก คูปองทั้งสองชิ้นนำมาแช่ในอ่างแอลกอฮอล์อุณหภูมิ -1.6 องศาเซลเซียส เพื่อให้เหมือน
กับอุณหภูมิของน้ำในคืนเรืออัปปางเมื่อ 82 ปีก่อนหน้านั้น เขาต้องรีบนำคูปองจากอ่างแอลกอออล์ไปที่
เหล็กจับภายใน 5 วินาที

คาริสอัลเลนหยิบคูปองของเหล็กสมัยใหม่จากอ่างมาสะบัดแล้วนำไปไว้ที่ตัวจับก่อนจะกระชากคัน
โยกสีแดง ลูกตุ้มแกว่งลงมาชนคูปองดังโครมแล้วหยุดนิ่ง ผลปรากฏว่า คูปองเหล็กสมัยใหม่งอเป็นรูป
“ตัววี” (V)

จากนั้นก็ทำแบบเดียวกันกับเหล็กที่ใช้สร้างเรือไททานิก คราวนี้ลูกตุ้มกระทบคูปองเหล็กดังเปรี้ยง
แล้วกระดอนกลับ ส่วนคูปองนั้นหักเป็น 2 ท่อนลอยข้ามห้องไปกระทบกับถังขยะเหล็กในห้องทดลอง

การตรวจสอบจากจอคอมพิวเตอร์และการวิเคราะห์ภายหลังยืนยันผลการทดสอบว่า เหล็กของ
เรือไททานิกเปราะผิดปกติตอนที่เรือชนกับภูเขาน้ำแข็ง เพราะลำเรือมิได้ยุบงอเข้า แต่แตกหักทันที

อนึ่ง เหล็กจากเรือไททานิกที่ใช้ทดสอบไม่ได้เปราะเพราะการจมอยู่ใต้มหาสมุทรเป็นเวลาเกือบ
ศตวรรษ แต่เป็นเหล็กทำขึ้นให้มีลักษณะทางโลหะวิทยาเช่นเดียวกับเหล็กก้อนที่ได้จากอู่ต่อเรือไททานิก
ในปี 2454 ซึ่งแสดงว่าเนื้อเหล็กเปราะมาตั้งแต่ออกจากโรงงาน และยิ่งเปราะมากขึ้นเมื่อจมอยู่ในน้ำเย็น
จัดเป็นน้ำแข็ง

ดันแคน เฟอร์กูสัน วิศวกรเครื่องกลซึ่งร่วมอยู่ในห้องทดสอบด้วยกล่าวว่า “ในสมัยนั้น ผู้คนยังไม่
เข้าใจเรื่องความเปราะถ้าเนื้อเหล็กมีซัลเฟอร์ (Sulphur) ผสมอยู่มาก และเหล็กของเรือไททานิกก็ผสม
ซัลเฟอร์ไว้เยอะมาก ซึ่งถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ คงไม่มีใครปล่อยให้เรือเช่นนี้ออกจากอู่ได้”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 10, 2023 7:55 pm

ไขปริศนาเรือไททานิก 🛳 ตอนที่ ( 4 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนพฤศจิกายน 2539 โดย Robert Gannon
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

สถาปนิกต่อเรือของบริษัท “Gibbs and Cox” ในนครนิวยอร์กใช้กระบวนการทางนิติเวชจำลอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนดึกของปี พ.ศ.2455 รวมทั้งตรวจสอบอื่นๆ และได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ดังนี้ ……

(+)23.39 น. วันที่ 14 เมษายน 2455 นายยามประจำบนเสากระโดงเรือสังเกตเห็นภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งที่จริง
ถ้าไม่เห็นเลยจะดีกว่า เพราะถ้าพวกเขาไม่แจ้งเหตุ เรือไททานิกก็คงเอาหัวเรือชนภูเขาน้ำแข็ง ความเสียหาย
อาจจะเกิดเพียงแค่ 2-3 ตอนแรกซึ่งเป็นส่วนของหัวเรือ และน้ำหนักของน้ำที่เข้าเรือไม่สามารถกดหัวเรือจมได้
มากนัก อาจมีคนบาดเจ็บหลายคนและมีคนตายบ้าง แต่ไททานิกจะไม่ถึงกับอับปาง

(+)23.40 น. ด้านข้างเรือถูกกับภูเขาน้ำแข็ง ถ้าลำเรือทำจากเหล็กที่มีซัลเฟอร์น้อย ลำเรือคงจะยืดและยุบ
แต่ไม่ถึงกับแตก แผ่นเหล็กจะแยกตามรอยต่อทำให้น้ำทะลักเข้ามาได้ แต่เหล็กก็จะต้านทานแรงกดดัน
มหาศาลนั้นได้ เรือจะแล่นช้าลงทันทีหรือกระดอนเพราะการชน ทำให้เรือโดยเฉพาะส่วนหน้าเสียหายมาก
แต่จะยังลอยอยู่ได้นานพอให้เรือกู้ภัยมาถึงก่อนจม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ ภูเขาน้ำแข็งครูดไปตามด้าน
ข้างลำเรือและบดผนังเรือที่เปราะให้แตก น้ำจึงรั่วเข้าไปจนเต็มลำเรือ 6 ตอนแรก และยังท่วมข้ามต่อไปยัง
ส่วนอื่นของลำเรืออีกด้วย

(+)02.00 น. ถึง 02.20 น. วันที่ 15 เมษายน เรือไททานิกจมดิ่งทำมุมประมาณ 45 องศา ท้ายเรือโผล่พ้น
น้ำขึ้นมาสูงเท่าตึก 20 ชั้น ความกดดันที่กลางลำเรือสูงเกือบ 15 ตันต่อตารางนิ้ว และทันใดนั้นเรือยักษ์
ก็ถูกฉีกออกตรงระดับผิวน้ำหรือต่ำกว่าเล็กน้อย กระดูกงูเรืองอ พื้นเรือบิดพับ ทำให้คนบนเรือชูชีพ
ได้ยินเสียงลั่นครืนของเหล็กที่แตกตัวออก

ขณะที่หัวเรือกับท้ายเรือฉีกขาดจากกัน ส่วนท้ายเรือดูจะลอยกลับขึ้นมาใหม่ แต่แล้วก็ตั้งลำยกขึ้นตรง
และจมดิ่งหายลงไปในมหาสมุทร แรงกดดันของน้ำไล่อากาศที่เหลืออยู่ภายในเรือออกมาสาดวัสดุต่างๆ
ในเรือกระจายออกไปทั่วห้วงน้ำ

(+)02.30 น. ถึง 03.00 น. หัวเรือจมถึงก้นมหาสมุทรแล้วไถลึกลงไปในพื้นโคลน ส่วนท้ายเรือทางหางเสือ
ถึงก้นมหาสมุทรก่อน และอยู่ห่างจากหัวเรือไปประมาณ 600 เมตร ชิ้นส่วนต่างๆร่วงหล่นกระจัดกระจายไป
ใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะตกถึงพื้นทะเลทุกชิ้น

บทเรียนจากเรือไททานิกครั้งนั้นทำให้บริษัทเดินเรือเปลี่ยนวิธีจัดเตรียมเรือใหม่ แต่นักวิทยาศาสตร์ต้อง
ใช้เวลากว่า 80 ปี จึงทราบถึงสาเหตุของหายนะครั้งนั้นซึ่งน่าจะเกิดจากเหล็กที่ใช้สร้างเรือนั่นเอง สรุปคือ
“เทคโนโลยีโลหะวิทยาก้าวตามเทคโนโลยีการต่อเรือไม่ทัน”

***************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 10, 2023 8:07 pm

รางวัลของคนกล้าฝัน มีทั้งหมด ( 3 )ตอนจบ

รางวัลของคนกล้าฝัน ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนตุลาคม 2539 โดย Malcolm McConnel และจาก Google
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

……เส้นตาย

คืนหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงปี 2532 สก็อต แม็คเกรเกอร์ (Scott McGregor) วัย 45 ปีกำลังทำงาน
อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้านในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อละสายตาเหนื่อยล้าจากจอ เขาก็เห็นคริสกับทราวิส
ลูกชายฝาแฝดวัยรุ่นและไดแอน ภรรยาของเขากำลังเจียดสตางค์ในครัวเพื่อเอาเงินไปซื้อนม
สก็อตรู้สึกผิดทันที จึงลุกขึ้นตรงไปที่ครัว “พ่อจะเลิกทำต่อแล้ว” เขาพูด “พรุ่งนี้ พ่อจะออกไปหางานทำ”

“แต่พ่อจะหยุดตอนนี้ไม่ได้นะครับ” ภรรยาท้วงขึ้น ขณะเดียวกันคริสก็พูดเสริมว่า
“พ่อเกือบจะทำสำเร็จแล้วครับ”

สองปีก่อนหน้านี้ สก็อตลาออกจากงานที่มั่นคงเพื่อมาสานความคิดของตนเอง เขาเคยเป็นที่ปรึกษา
ในบริษัทให้เช่าโทรศัพท์เซลลูลาร์แบบพับเก็บได้แก่นักธุรกิจที่สนามบินและโรงแรม แต่โทรศัพท์
ดังกล่าวไม่มีระบบคิดเงินภายในเครื่อง และถ้าไม่มีใบเสร็จ ผู้เช่าซึ่งเป็นพนักงานบริษัทก็เบิกเงินกับ
บริษัทของตนเองไม่ได้ ทางแก้ซึ่งสก็อตคิดขึ้นคือต้องติดชิปคอมพิวเตอร์ลงไปในเครื่องโทรศัพท์
เพื่อบันทึกการใช้แต่ละครั้งสำหรับเรียกเก็บเงินในภายหลัง

สก็อตรู้ดีว่าความคิดของเขาจะต้องสำเร็จ ครอบครัวช่วยสนับสนุนให้เขาติดต่อผู้ลงทุนแต่ไม่มีอะไร
คืบหน้า ชีวิตมาถึงจุดวิกฤตในวันศุกร์หนึ่งของเดือนมีนาคมปี 2533 เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการมาเคาะ
ประตูบ้านและบอกว่า ถ้าเขาไม่จ่ายค่าเช่าบ้านภายในวันจันทร์หน้า ทั้งครอบครัวจะต้องระเห็จไปหา
ที่อื่นนอนอย่างแน่นอน สก็อตหมดหนทาง จึงต้องดิ้นรน.โทรศัพท์หาผู้ลงทุนตลอดสุดสัปดาห์นั้น
ในที่สุดตอน 5 ทุ่มของคืนวันอาทิตย์ ผู้ลงทุนรายหนึ่งสัญญาจะส่งเช็คมาให้

เขานึกขึ้นมาได้เรื่องค่าเช่าบ้าน จึงขอร้องว่า “ช่วยโอนเงินผ่านระบบคอมพิวเตอร์ธนาคารเลยได้ไหมครับ”

สก็อตเอาเงินก้อนนั้นไปใช้หนี้ รวมทั้งจ้างวิศวกรที่ปรึกษา แต่วิศวกรเปรยขึ้นหลังจากทำงานไปได้
หลายเดือนว่าระบบที่สก็อตอยากได้นั้นทำไม่ได้ “พยายามทำต่อไป” สก็อตบอก

ในเดือนพฤษภาคม 2534 ครอบครัวประสบกับปัญหาการเงินขั้นวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง สก็อตโทรฯ
หาบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ชื่อเบลล์เซาธ์ (Bell South) เพื่อเสนอระบบที่คิดค้นขึ้น

“คุณจะมาสาธิตผลงานต้นแบบในวันที่ 24 มิถุนายนได้ไหมล่ะ” ผู้บริหารบริษัทฯถาม

สก็อตหลับตาเห็นภาพวิศวกรใจไม่สู้ และตัวเขาเองที่จะต้องทำงานอดหลับอดนอนกับชิ้นส่วนที่ยัง
ใช้ไม่ได้ แต่ก็กัดฟันตอบไปว่า “แน่นอนครับ” เขาพูดด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูหนักแน่น

จากนั้นสก็อตก็โทรฯหาเกร็กลูกชายคนโตทันที และเล่าให้ฟังถึงงานที่ท้าทายอย่างใหญ่หลวง เกร็กซึ่ง
ขณะนั้นศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานวันละ 18 ชั่วโมงเพื่อสร้างวงจรอัตโนมัติ
ซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังยกนิ้วให้ แต่โจทย์ข้อนี้ไม่ง่ายเลย เพราะว่าเขาต้องคิดค้นระบบการคิดเงินที่รวม
การคิดบัญชีแบบบัตรเครดิตและซอฟต์แวร์ซึ่งทำหน้าที่บันทึกเวลา โดยใช้ระบบที่สามารถติตตามเลขหมาย
ทั้งโทรฯเข้าและโทรฯออก ทั้งหมดนี้จะบรรจุอยู่ในชิปคอมพิวเตอร์ขนาดเท่าปลายนิ้ว...

และวันที่ 23 มิถุนายน 2534 สก็อตและเกร็กก็นั่งเครื่องบินไปเมืองแอตแลนตาพร้อมกับผลลัพธ์ที่ยังต้อง
รอการพิสูจน์ หลังจากสก็อตแนะนำลูกชายวัย 22 ให้คณะผู้บริหารของบริษัทเบลล์เซาธ์รู้จักแล้ว เกร็กก็ยื่น
โทรศัพท์ต้นแบบให้กับผู้บริหารคนหนึ่ง “เชิญทดลองได้เลยครับ” เกร็กพูด

ผู้บริหารหญิงคนนั้นสอดบัตรเครดิตเข้าไปในโทรศัพท์และกดเบอร์ทันที สัญญาณส่งผ่านโดยไม่ติดขัด
จากนั้นเกร็กก็ยื่นใบเสร็จที่พิมพ์ออกมาพร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของบริษัทเบลล์เซาธ์

ทุกวันนี้ บริษัทเทเลคอม เซลลูลาร์ คอร์ป (Telecom Cellular Corp) ซึ่งเป็นธุรกิจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์
ของครอบครัวแม็คเกรเกอร์ กลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมด้านนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปวันเก่าๆที่เห็นความพ่ายแพ้
อยู่รำไร สก็อต แม็คเกรเกอร์พูดถึงภรรยาและลูกด้วยความภาคภูมิใจอย่างยิ่งยวด

“พวกเราถูกทดสอบแล้ว” เขาบอก “ผลลัพธ์คือครอบครัวของเราแข็งแกร่งครับ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 10, 2023 8:16 pm

รางวัลของคนกล้าฝัน ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนตุลาคม 2539 โดย Malcolm McConnel และจาก Google
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)อัศวินดาบมหัศจรรย์

อยากจอห์น ฟลาเฮอร์ตี (John Flaherty) วัย 25 ปีเล่าถึงอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งหนึ่งให้แบรด
ฮาฟริลลาวัย 28 ปีว่า ในปี 2530 สมัยที่เขาเพิ่งเข้าทำงานใหม่ๆ มีรถ 18 ล้อคันหนึ่งพลิกคว่ำตกคลอง
ในรถมีคนขับ ภรรยาและลูก 2 คน “เรารู้ว่ามีเด็กติดอยู่ข้างใน” จอห์นบอก “ทีมช่วยเหลือพยายาม
ใช้เครื่องง้างไฮดรอลิกเปิดหลังคา รถบรรทุกที่ยุบตัวงเข้าไป แต่ก็ไม่สามารถงัดง้างในสภาพโคลนได้
อีกทั้งใบเลื่อยที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ก็ทำงานใต้น้ำไม่ได้ ต้องรอจนกระทั่งรถยกดึงส่วนหัวรถบรรทุก
ขึ้นมาจากคลอง จึงนำคนออกมาจากซากรถได้ ...

เราช้าเกินไปเสียแล้ว ภาพจากไฟฉายที่สาดไปยังร่างปวกเปียกของเด็กหญิงวัย 3 ขวบยังคงฝังอยู่ใน
ความทรงจำของผม ทั้งครอบครัวจมน้ำและไม่มีใครรอดชีวิต”

แบรดจึงเล่าถึงประสบการณ์รถคว่ำในปี 2532 ว่า “คนขับวัยรุ่นติดอยู่ในซากรถที่หงายท้องอยู่
หลังคายุบ ทำให้ศีรษะคนขับติดอยู่ในกระจกแตก เด็กหนุ่มร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด
ทีมของเขาต้องใช้ เครื่องง้างไฮดรอลิกเปิดประตู แต่ไม่สำเร็จเพราะตัวถังรถบุบบู้บี้เกินไป ในที่สุด
เด็กหนุ่มก็หลุดออกมาได้ แต่เขาต้องใช้เวลานานมากถึง 45 นาที”

“น่าจะมีวิธีที่ดีกว่า” จอห์นพูดขึ้น เขาเริ่มนึกถึงเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ได้จริงๆ แทนที่จะแงะง้างซาก
ที่ยับเยิน เขานึกภาพถึงการตัดเข้าไป เครื่องมือตัดจะต้องมีน้ำหนักเบาและเล็กพอที่จะทำงานใน
ที่แคบๆได้ และต้องไม่อาศัยเครื่องเบนซินหรือไฟฟ้า

“คุณคิดว่าจะมีคนคิดประดิษฐ์เครื่องมือแบบนี้ไหมล่ะ แบรดถาม

“บางที ผมอาจจะลองทำเองก็ได้”

แบรดเห็นท่าทีจริงจังของเพื่อน “ผมจะช่วยคุณ” เขาบอก

บทสนทนาในปี 2534 นั้นเริ่มจุดประกายความฝัน ทั้งสองได้เฟรด แฮมป์ตัน (Fred Hampton)
เพื่อนอีกคนมาช่วยพัฒนาเลื่อยแบบพกพาได้สะดวก มีใบเลื่อยสั้นและเปลี่ยนได้ ทำงานด้วยแรงกด
อากาศจากถังอากาศที่ใช้ในการดับเพลิงจึงใช้ใต้น้ำได้ และเนื่องจากจังหวะการเลื่อยที่สั้น ใบเลื่อยจึง
ไม่ทำอันตรายผู้ที่ติดอยู่ในรถ

พวกเขาเริ่มสร้างเครื่องมือต้นแบบ และทดสอบกับเหล็กอัลลอยด์เพื่อเลือกมาใช้เป็นใบเลื่อยซึ่งต้องทน
ความเร็วถึง 22,000 รอบต่อนาทีได้ แต่เครื่องมือต้นแบบกลับติดขัดเมื่อใช้ตัดกระจกหน้ารถซึ่งเป็น
พลาสติกประกบกับกระจก ยิ่งค้นหาคำตอบไม่ได้ พวกเขาก็ยิ่งทุ่มเทเงินทองและทำงานหามรุ่งหามค่ำ
แต่ไม่มีใครยอมแพ้

ในที่สุดในปี 2537 พวกเขาก็ค้นพบใบเลื่อยเหล็กคู่ที่มีฟันเลื่อยแข็งเป็นพิเศษติดกับใบเลื่อยที่อ่อนกว่า
และดูดซับความร้อนได้ดีกว่า อีกทั้งยังใช้ติดพลาสติกและเหล็กกล้าได้โดยไม่ติดขัด
สิ่งประดิษฐ์นี้ทำงานได้อย่างมหัศจรรย์ พวกเขาตั้งชื่อเครื่องมือนี้ว่า “เอ็กซ์คาลิเบอร์” (Excalibur)
ตามชื่อดาบวิเศษในตำนานพระเจ้าอาร์เธอร์ หลังจากนั้นไม่นาน แบรดก็ถูกเรียกตัวไปยังสถานที่เกิด
อุบัติเหตุรถยนต์ เด็กสาววัยรุ่นติดอยู่ในซากรถสปอร์ตที่พังยับเยิน แบรดสอดมือที่ใส่ถุงมือเข้าไปใน
ซากเหล็กแหลมเพื่อหาช่องที่จะใช้เครื่องมือช่วยชีวิตของเขา “มีที่พอให้เครื่องมือทำงานได้” เขาบอก
กับทีมงาน “ส่งเอ็กซ์คาลิเบอร์ให้ผมหน่อย” เสียงเครื่องยนต์ทำงาน ใบมีดเฉือดผ่านเหล็กบิดเบี้ยว
ที่ติดอยู่กับลำคอของเด็กสาว อีก 2-3 นาทีต่อมาเธอก็ปลอดภัย

อีลีมิเนเตอร์ อินดัสตรีส์ (Eliminator industries Inc.) เป็นบริษัทที่เกิดจากความฝันของจอห์น ขณะที่
เขียนเรื่องนี้ ขายเครื่องเอ็กซ์คาลิเบอร์ได้มากกว่า 1,000 เครื่องให้กับหน่วยงานดับเพลิงและกองทัพ
พวกเขาไม่ได้ร่ำรวยจากธุรกิจนี้ แต่เมื่อนึกถึงความพยายามในการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายที่ประสบอุบัติเหตุ
เบรด ฮาฟริลลาบอกว่า “ทุกครั้งที่เอ็กซ์คาลิเบอร์ช่วยชีวิตได้อีก 1 ชีวิต นั่นคือรางวัลสำหรับผม”

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 10, 2023 8:27 pm

รางวัลของคนกล้าฝัน ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนตุลาคม 2539 โดย Malcolm McConnel และจาก Google
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

(@)เพราะโซฟาจากสเปนแท้ๆ

ในปี 2533 จิน่า เอลลิส (Gina Ellis) วัย 29 ปีและบิลล์ สามีวัย 31 ปีมีชีวิตที่สุขสบายใน
ลอสแอนเจลิส เธอทำงานระดับบริหารของโรงแรมแห่งหนึ่ง ส่วนสามีเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์
ในบริษัทโฆษณา พวกเขากำลังจะมีลูกคนแรกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

แต่แล้วตอนกลางเดือนธันวาคมปีนั้นเอง บิลล์ก็ถูกปลดออกจากงานโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพื่อให้ลืม
ความขมขื่นครั้งนี้ สองสามีภรรยานั่งดูแบบสเก็ตซ์โซฟาตัวหนึ่งซึ่งจิน่าเคยเห็นในประเทศสเปน เป็นโซฟา
ที่มีผ้าคลุมถอดซักและเปลี่ยนได้ตามฤดูกาล แบบสวยและเหมาะกับการใช้งานแต่ไม่มีขายในสหรัฐฯ
จิน่ากับบิลล์จึงต้องสั่งทำขึ้นมา พวกเพื่อนๆพากันชอบใจแบบโซฟาตัวนี้ ทั้งสองจึงทำสเก็ตซ์เฟอร์นิเจอร์
แบบเดียวกันอีกหลายชิ้น

บิลล์เหลือบตาดูแบบที่ร่างไว้ จู่ๆก็โพล่งขึ้นมาว่า “รู้มั้ย จิน่า เราน่าจะทำขายนะ”

จิน่ารู้สึกเหมือนตัวลอยขึ้นในบัดดล “เรายังมีบ้านเป็นทรัพย์สินนี่นา” เธอพูด

อาทิตย์ต่อมา สองสามีภรรยาเอาบ้านไปจำนองและเปิดตัว “ควอตริน เฟอร์นิเจอร์ซักได้”
(Quartrin furniture) โดยเช่าร้านเล็กๆ และจ้างช่างคนหนี่งมาทำเก้าอี้และโซฟา 5 ตัวแรก

“ถ้าเราล้มละลาย” ทั้งสองปลอบใจกันและกัน “ก็เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ” เฟอร์นิเจอร์เป็นที่ถูกใจผู้คน
แต่ราคาแพงเกินไป เปิดร้านแล้ว 3 เดือน จิน่ากับบิลล์ยังขายเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้เลยสักชิ้น จิน่าให้
กำเนิดลูกคนแรกและทั้งครอบครัวต้องยังชีพโดยอาศัยเงินจาก บัตรเครดิต แม้จะจ้างพี่เลี้ยงเด็กยัง
ไม่มีเงินพอเลย ลูกสาวจึงต้องนอนหลับอยู่ในเปลหลังเคาน์เตอร์ในร้าน

“หรือเราทำอะไรผิดพลาดไปหรือ” บิลล์เปรยขึ้นในค่ำวันหนึ่งขณะที่กำลังปิดร้าน “ไม่หรอก”
จิน่ายืนกราน “ถ้าเราไม่ลองเสี่ยงดู เราเองจะต้องเสียใจไปตลอดนะ”

หลายวันต่อมา ผู้หญิงแต่งตัวทันสมัยคนหนึ่งเข้ามาในร้าน เลือกเฟอร์นิเจอร์ดีๆไปหลายชิ้น
และเขียนเช็ค 14,000 ดอลลาร์ให้อย่างใจเย็น ทันทีที่ลูกค้าออกจากร้าน จิน่าส่งเช็คให้บิลล์
“รีบไปขึ้นเงินที่ธนาคารก่อนที่เธอจะเปลี่ยนใจ”

ทั้งคู่นำเงินบางส่วนไปผ่อนชำระหนี้ แล้วสั่งทำเฟอร์นิเจอร์แบบใหม่เพิ่มด้วยราคาที่ไม่แพงนัก
ในฤดูร้อนปีนั้น เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ๆก็เริ่มขายได้

สองปีต่อมา สองสามีภรรยากับลูกย้ายไปยังชานเมืองดีทรอยต์ และได้รับใบสั่งซื้อมากมายจน
แทบจะรับงานไม่ไหว ขณะเขียนเรื่องนี้ “ควอตริน”ทำยอดขายรวมได้มากกว่า 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี
และเปิดสาขาในเมืองดัลลัส ชิคาโก และเดนเวอร์

บางครั้งจิน่าถึงกับร้องไห้เมื่อนึกถึงวันแห่งความไม่แน่นอนเมื่อครั้งโน้น “ถ้าบิลล์ไม่ตกงาน”
เธอบอก “ครอบครัวเราก็ไม่มีวันถึงจุดที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้”

ความยากลำบากสอนให้ทั้งสองรู้ถึงสิ่งที่เจ้าของกิจการผู้ประสบความสำเร็จ ทุกคนรู้ดีว่า
รางวัลกับความเสี่ยงนั้นเป็นของคู่กัน

***************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 10, 2023 8:38 pm

………จดหมายวันแม่ มีทั้งหมด ( 3 ) ตอนจบ

จดหมายวันแม่ ตอนที่ (1)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนสิงหาคม 2539 โดย Kathie Lee Gifford
พิธีกรรายการสดทางโทรทัศน์ในสหรัฐฯ คัดเรื่องที่ผู้ชมเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับแม่ที่แสนวิเศษ
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

…………“ความพยายามอยู่ที่ไหน...”

ดิฉันเป็นลูกคนที่สาม เกิดตอนแม่อายุ 20 ปี เมื่อแม่คลอด นางพยาบาลรีบอุ้มดิฉันออกไปจาก
ห้องก่อนที่แม่จะได้เห็นดิฉันด้วยซ้ำ คุณหมออธิบายและปลอบโยนแม่ว่า ดิฉันเกิดมาแขนซ้ายด้วน
ตั้งแต่ข้อศอกลงไป จากนั้นจึงให้คำแนะนำแม่ว่า

“อย่าเลี้ยงลูกให้ต่างไปจากเด็กผู้หญิงคนอื่นนะครับ คุณแม่น่าจะเรียกร้องจากแกมากกว่า
เด็กปกติด้วยซ้ำไป” แม่ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นทุกประการ

แม่กลับไปทำงานเพื่อจุนเจือครอบครัวก่อนที่พ่อจะทิ้งพวกเราไปเสียอีก พวกเราเด็กผู้หญิง 5 คน
ในบ้านต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ครั้งหนึ่งตอนอายุราว 7 ขวบ ดิฉันออกมาจากครัวแล้ว
โวยวายว่า “แม่ หนูปอกมันฝรั่งไม่ได้หรอก ก็หนูมีมือข้างเดียวนี่นา”

แม่ไม่เงยหน้าจากงานเย็บปักที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าด้วยซ้ำขณะบอกดิฉันว่า “หนูกลับเข้าไป
ในครัวนะ ปอกมันฝรั่งให้เสร็จและอย่าเอาเรื่องแขนมาเป็นข้ออ้างอีกเป็นอันขาด”

ดิฉันจึงใช้มือข้างที่ดีปอกมันฝรั่ง ขณะใช้แขนอีกข้างช่วย แม่รู้ดีว่าเราทำได้ “ถ้าพยายามมากขึ้น
ลูกก็จะทำได้ทุกอย่าง”

ตอนอายุ 7 ขวบ ครูบอกให้ชั้นของเราเข้าแถวที่สนามเด็กเล่น แล้วให้นักเรียนวิ่งไปปีนเหล็กไต่ราว
ทีละคน โดยโหนจากราวหนึ่งไปอีกราวหนึ่งจนสุดราวเหล็ก พอถึงคราวของดิฉัน ดิฉันส่ายหน้า
ไม่เอาด้วย เพื่อนๆที่ต่อแถวอยู่หัวเราะกันใหญ่ ดิฉันเลยร้องไห้โฮกลับบ้าน

คืนนั้นดิฉันเล่าเรื่องชั่วโมงพละให้แม่ฟัง แม่กอดดิฉันไว้และมองด้วยสายตาที่อ่านได้ว่า
“ดูซิว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง” บ่ายวันรุ่งขึ้นหลังเลิกงาน แม่พาดิฉันไปที่สนามเด็กเล่นร้างผู้คน
ในโรงเรียน พินิจพิเคราะห์ราวเหล็กอย่างถี่ถ้วน “เอาละ ใช้แขนขวาเหนี่ยวราวไว้นะลูก” แม่แนะ
และคอยยืนอยู่ข้างๆขณะที่ดิฉันพยายามใช้แขนขวาดึงตัวขึ้นจนสามารถใช้ข้อศอกอีกข้างยึดราว
เหล็กไว้ได้ เรากลับไปฝึกทุกวัน แม่จะชมเชยให้กำลังใจทุกครั้งที่ดิฉันเอื้อมแขนไปโหนราวอันใหม่ได้
ต่อมาเมื่อชั้นเรียนของเราเข้าแถวหน้าเหล็กไต่ราวนั้น ดิฉันปีนขึ้นไต่พลางก้มลงมองเพื่อนๆที่เคย
หัวเราะเยาะ ทุกคนพากันยืนอ้าปากค้าง

แม่ใช้วิธีเดียวกันนี้กับเรื่องอื่นๆด้วย คือแทนที่แม่จะทำอะไรให้หรืออนุโลมให้ดิฉัน แม่กลับยืนกราน
ให้ดิฉันหาวิธีช่วยเหลือตัวเอง บางครั้งดิฉันโกรธแม่ คิดแต่ว่าแม่ไม่รู้หรอกว่าชีวิตคนพิการเป็นอย่างไร
แม่ไม่เคยสนใจว่ามันยากลำบากเพียงไหน คืนวันหนึ่งหลังกลับจากงานเต้นรำในโรงเรียนมัธยมที่ดิฉัน
เพิ่งเข้าเรียน ดิฉันนอนร้องไห้อยู่บนเตียงแล้วได้ยินเสียงแม่เดินเข้ามาในห้อง

“เกิดอะไรขึ้นจ๊ะลูก” แม่ถามอย่างอ่อนโยน

“แม่คะ” ดิฉันพูดปนสะอื้น “ไม่มีหนุ่มคนไหนเต้นรำกับหนูเลย เพราะแขนหนูนี่แหละ” แม่นิ่งเงียบไปนาน
ก่อนพูดขึ้นว่า “ลูกรัก สักวันหนุ่มๆพวกนั้นต้องมาง้อลูก คอยดูสิ” เสียงแม่แผ่วเบาขาดห้วง

ดิฉันเงยหน้าขึ้นมอง เห็นแม่น้ำตาไหลอาบแก้ม ดิฉันจึงรู้ว่า แม่เป็นทุกข์ทรมานแทนดิฉันมากเสมอมา
แต่ไม่ยอมให้เห็นน้ำตาเพราะไม่ต้องการให้ดิฉันน้อยใจ

ต่อมา ดิฉันแต่งงานกับผู้ชายคนแรกที่คิดว่าเขายอมรับดิฉันได้ แต่เขากลับไม่เป็นผู้ใหญ่และขาดความ
รับผิดชอบ เมื่อ’เจสสิกา’ลูกสาวคนแรกออกมาดูโลก ดิฉันต้องการปกป้องเธอจากชีวิตแต่งงานที่ไม่มี
ความสุข ดิฉันจึงขอหย่า

แม่เป็นที่พึ่งพิงของดิฉันตลอด 5 ปีที่ดิฉันเลี้ยงลูกเพียงลำพัง เมื่อดิฉันรู้สึกอยากร้องไห้ แม่จะสวมกอด
ดิฉันไว้ ถ้าดิฉันบ่นเรื่องที่ต้องคอยวิ่งไล่ตามลูกวัยเตาะแตะหลังเลิกงานกับเวลาพาลูกไปโรงเรียน
แม่ก็จะหัวเราะ

แต่เมื่อใดที่ดิฉันเริ่มรู้สึกสงสารตัวเอง ดิฉันจะมองหน้าแม่แล้วก็นึกได้ว่า แม่เองเลี้ยงลูกมาแล้วตั้ง 5 คน

ดิฉันแต่งงานใหม่กับทิม เรามีครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมลูก 4 คน แม่ทุ่มเทเวลาให้หลานๆ คงเพื่อทดแทน
ที่เมื่อก่อนไม่ค่อยได้ให้เวลากับลูกๆ หลายครั้งดิฉันเฝ้ามองแม่กล่อมเจสสิกาพร้อมกับลูบผมของเด็กน้อย
“แม่จะตามใจให้เสียเด็กเลย แล้วค่อยส่งให้ลูกไปดัดนิสัยใหม่” แม่บอกดิฉัน “ถึงทีของแม่บ้างละ” อย่างไร
ก็ตาม แม่ไม่ได้ทำหลานเสียเด็กตามที่แม่บอก แต่กลับอดทนและให้ความรักแก่พวกเด็กๆอย่างล้นเหลือ

ในปี 2534 หมอตรวจพบว่าแม่เป็นมะเร็งที่ปอด และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่หลัง
จากนั้นแม่ยังอยู่กับเราอีก 3 ปีกว่า หมอบอกว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ทีเดียว ดิฉันคิดว่าความรักที่แม่มีต่อ
หลานๆทำให้แม่ต่อสู้จนถึงวันสุดท้าย แม่เสียชีวิตหลังจากฉลองวันเกิดอายุครบ 53 ปีได้ 5 วัน

ทุกวันนี้ดิฉันยังรู้สึกเจ็บปวดเมื่อคิดว่า คนที่เผชิญความลำบากมาชั่วชีวิตต้องทุกข์ทรมานในวาระสุดท้าย

ขณะเดียวกัน แม่ได้สอนให้ดิฉันเข้าใจชีวิต เมื่อเป็นเด็กดิฉันเคยสงสัยว่าทำไมดิฉันต้องดิ้นรนพยายาม
ตอนนี้ดิฉันรู้แล้วว่า ความลำบากทำให้เราเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ ดิฉันรู้สึกตลอดเวลาว่าแม่ยังอยู่กับเรา
บางครั้งเมื่อกลัวว่าตัวเองไม่อาจแก้ปัญหาได้ ดิฉันจะนึกถึงรอยยิ้มสดใสของแม่ผู้มีหัวใจที่พร้อมเผชิญหน้า
กับทุกสิ่ง และได้ปลูกฝังใจดวงเดียวกันนั้นไว้ให้ลูกสาว

-สเตซี่ นาซาลโรด

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 12, 2023 11:29 pm

จดหมายวันแม่ ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนสิงหาคม 2539 โดย Kathie Lee Gifford
พิธีกรรายการสดทางโทรทัศน์ในสหรัฐฯ
คัดเรื่องที่ผู้ชมเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับแม่ที่แสนวิเศษ
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

…………ไม่มีรักใดยิ่งใหญ่กว่านี้

เมื่อ 37 ปีก่อน ดิฉันเป็นทารกในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนี่งในประเทศกรีซ ซึ่งขาดแคลนยา
นมและน้ำประปา แต่ดิฉันรอดชีวิตมาได้ในขณะที่เด็กหลายคนไม่โชคดีอย่างนั้น ทั้งนี้ต้องขอบคุณ
ผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ห่างไกลกว่า 8,000 กิโลเมตรถึงรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

แม่กับพ่อพยายามจะมีลูกอยู่นานถึง 15 ปี รวมทั้งหาทางขอรับอุปการะเด็ก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ในวัย 39 ปีแม่รู้ดีว่าโอกาสที่จะมีบุตรเองนั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ แต่แม่เล่าว่า “ลึกๆในใจแล้ว แม่ไม่เคย
หมดหวัง”

แม่ทำงานเป็นเลขานุการทนายความซึ่งจัดการเรื่องการรับเด็กในกรีซเป็นบุตรบุญธรรม แม่ถาม
เจ้านายว่า “จะช่วยเราบ้างได้ไหมคะ”

ในปี 2500 เจ้านายช่วยให้แม่กับพ่อได้อุปการะเด็กชื่อ’เจมส์’ซึ่งมาเป็นพี่ชายของดิฉัน และในปีต่อมา
ก็รับดิฉันมาเป็นบุตรบุญธรรม

แม่ยังคงมีรูปพี่ชายกับดิฉันสมัยเป็นเด็กๆ ก่อนรับอุปการะเรา ตอนนั้นเราทั้งคู่มอมแมมมาก
ผมโกนเกลี้ยงและเสื้อผ้าเก่าขาด เจมส์ยังคลานอยู่ทั้งที่ถึงวัยเดินได้แล้ว ส่วนดิฉันเป็นแผลติดเชื้อ
แต่แม่โอบอุ้มพวกเราอย่างเต็มหัวใจ และในไม่ช้าสุขภาพของเราก็แข็งแรงสมบูรณ์

แม่พร่ำบอกเสมอว่าพวกเรานั้นเป็นลูกหัวแก้วหัวแหวน แม่แขวนรูปเครื่องบินไว้ในห้องของเรา
เพื่อเตือนว่าเครื่องบินพาเรามาหาแม่ “ลูกมาอยู่ที่นี่เพราะว่าเราต้องการลูก” แม่บอก “ใครก็ตามที่ทิ้ง
ลูกได้คงต้องเป็นคนที่เหนือมนุษย์จริงๆ เพราะการมีเด็กสักคนและทิ้งไปได้เป็นเรื่องยากแสนสาหัส”

เมื่อดิฉันอายุ 10 ขวบ พ่อก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย ทิ้งภาระบ้านกับรถยนต์ที่ยังต้องผ่อนไว้
โดยมีเงินประกันชีวิตนิดหน่อย แม่ไม่มีเงินสะสมหรือใครอื่นนอกจากคุณยายที่อยู่กับเรา แม่จึงกลับไป
ทำงาน เราไม่เคยได้ยินแม่บ่นสักคำ “อย่าสงสารดิฉันเลยค่ะ” แม่บอกคนอื่นๆ “ดิฉันยังมีลูกอยู่ด้วย”

แม่อดออมเก็บเงินไว้จ่ายค่าเรียนเปียโนของเรา พร้อมทั้งคอยดูแลให้พวกเราขยันเรียนหนังสือ
และเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แถมทำตามสัญญาของพ่อที่ว่า ถ้าพวกเราไม่สูบบุหรี่จนอายุ 21 ปี
พ่อจะซื้อรถยนต์ให้พวกเราคนละคัน

ทุกวันนี้พี่ชายดิฉันเป็นครูสอนดนตรีที่ประสบความสำเร็จ ส่วนดิฉันเป็นนางพยาบาล ดิฉันและ
สามีพยายามให้ความรักอย่างเต็มเปี่ยมแก่ลูกๆทั้งสามของเราเหมือนกับที่แม่เคยให้ดิฉัน

เพราะแม่ไม่ยอมสิ้นหวัง แม่จึงได้เปลี่ยนชีวิตของเราสองคน. สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะรับเด็กมาอุปการะ
ดิฉันและครอบครัวพร้อมเสมอที่จะเป็นพยานยืนยันว่า ไม่มีรักใดยิ่งใหญ่เกินกว่ารักของแม่อีกแล้ว

- มาร์ซา ฮัตสัน

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 12, 2023 11:33 pm

จดหมายวันแม่ ตอนที่ ( 3 ) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนสิงหาคม 2539 โดย Kathie Lee Gifford
พิธีกรรายการสดทางโทรทัศน์ในสหรัฐฯ คัดเรื่องที่ผู้ชมเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับแม่ที่แสนวิเศษ
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

………พ่อคือแม่ที่ดีที่สุด

ดิฉันอายุ 15 ปีตอนแม่จากพวกเราไป ขณะที่ดิฉันออกมาจากโบสถ์หลังเสร็จงานศพ ดิฉันคิด
แต่ว่าคงไม่มีวันได้พูดคุยเปิดอกประสาแม่ๆลูกๆอีกแล้ว

เบื้องหน้านั้น พ่อกำลังอุ้มไมเคิลน้องชายวัย 3 ขวบ แก้มน้องแนบสูทสีดำของพ่อ นิ้วที่มักจะอม
อยู่เป็นนิจหลุดจากปาก น้องคงหลับไปในช่วงพิธีและตอนนี้ก็มาอาศัยไหล่กว้างของพ่อซบนอนต่อ
น้องคงรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ในวินาทีนั้นเอง ดิฉันเชื่อว่าพระเจ้าคงกำหนดชะตาชีวิตไว้ให้เราเช่นนี้
และด้วยความคิดถึงแม่อย่างมากมายนี่เองที่ทำให้เราเริ่มเรียนรู้ที่จะรู้จักพ่อ

พ่อเป็นพ่อที่น่ารักมาโดยตลอด แต่ก็เป็นผู้ใข้”พระเดช”ในบ้านด้วย พ่อทำงานหนักโดยเป็น
ครูประจำแผนกช่าง ถ้าดิฉันอยากออกไปเที่ยวในวันเสาร์ ก็ต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งพ่อจะบอกว่า
“แล้วค่อยพูดกัน” พ่อจะยังไม่อนุญาตจนกว่างานบ้านที่ดิฉันรับผิดชอบจะเสร็จเรียบร้อย

เมื่อก่อนพ่อมักจะให้แม่เป็นคนพูดคุยกับเราถึงเรื่องส่วนตัวแบบผู้หญิงๆ

ถึงตอนนี้ พ่อต้องรับมือกับลูกสาววัยรุ่น 3 คน

พ่อต้องเจอกับเรื่องผู้หญิงๆอย่างเช่นการมีนัดหรือการเลือกเสื้อชั้นใน ผู้ชายที่แทบจะไม่
เคยแสดงความรู้สึกกลายเป็นคนที่ต้องรับฟังปัญหาจากก้นบึ้งของหัวใจพวกเรา

เมื่อดิฉันศึกษาต่อในวิทยาลัย พอลแฟนของดิฉันมาบอกเลิก ดิฉันรู้สึกว่าโลกพังทลายลงตรงหน้า
พอดิฉันกลับบ้านตอนสุดสัปดาห์ พ่อเห็นความผิดปกติทันทีที่ดิฉันก้าวเข้าประตู

“อยากจะเล่าให้พ่อฟังรึเปล่า” พ่อถามแล้วดิฉันก็ตรงเข้าไปหาพ่อ เล่าเรื่องราวทุกอย่างพรั่งพรู
จากปาก แม้พ่อไม่มีคำตอบให้มากนัก แต่พ่อก็อยู่ตรงนั้นรับฟัง ดิฉันคิดว่าแม่ก็คงทำเช่นเดียวกัน

กำลังใจของพ่อทำให้ดิฉันเข้าใจเรื่องต่างๆกระจ่างยิ่งขึ้น พอลและดิฉันตัดสินใจแต่งงานกัน
ใกล้วันแต่ง พ่อก็รับอาสาจัดการเรื่องงานเลี้ยงวันก่อนจะถึงพิธีแต่งงาน พ่อวุ่นอยู่ในครัวทั้งปอกมันฝรั่ง
ทำแซนด์วิช และจัดข้าวของทุกอย่างเพื่อเตรียมนำไปที่โบสถ์

ดิฉันมีความสุขมากที่ได้เข้าพิธีแต่งงานจนไม่เคยคิดว่า ตัวเองจะตื้นตันถึงเพียงนี้ที่ได้เป็นเจ้าสาว
หลังจากที่พ่อจูงมือดิฉันเข้าในโบสถ์ ดิฉันก็เริ่มสะอื้น พอหันกลับไปมองพ่อ พ่อก็กำลังร้องไห้เหมือนกัน

ทุกวันนี้ พอลและดิฉันมีลูกด้วยกัน 3 คน และคุณตาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหลานๆด้วย ทุกวันขอบคุณ
พระเจ้าและวันคริสต์มาส เราจะกลับไปที่บ้านพ่อ โดยพ่อจะทำกับข้าวเลี้ยงพวกเรา เมื่อไม่นานมานี้เรา
ทุกคนรวมทั้งพี่สาวและน้องชายดิฉัน ตัดสินใจไปแคมป์ปิงเหมือนสมัยที่แม่ยังอยู่

เราตั้งแคมป์กันหนึ่งอาทิตย์ พวกเราทั้งหมด 12 คน รวมตั้งแต่พ่อ ลูกทุกคนและหลานๆ แม้ฝนจะตก
ตลอดเวลา แต่พ่อก็สนุก ดิฉันคิดว่าถ้าแม่เฝ้ามองและได้เห็นพวกเรากลมเกลียวกัน แม่คงจะมีความสุข
กับเราด้วย

พ่อช่วยให้พวกเราเข้าใจว่าทุกคนมีเหตุผลในการดำรงอยู่ และเราต่างมีส่วนในชีวิตของผู้อื่นโดยที่
เราไม่อาจรู้ได้ เราทุกคนคิดถึงแม่มากเหลือเกิน แต่กลับได้พ่อที่ทำหน้าที่เป็นแม่ได้อย่างวิเศษสุด

-บาร์บี สตรีด

*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ธ.ค. 14, 2023 10:53 pm

…………เปิดม่านบังตา มีทั้งหมด ( 3 )ตอนจบ

เปิดม่านบังตา ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนสิงหาคม 2539 โดย David Lambourne
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตอนบ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง ประธานบริษัทผมซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯสั่งงานชนิดที่ไม่ให้
โอกาส ผมเตรียมตัวเลย ท่านบอกให้ผมพานักธุรกิจชาวจีนสำคัญคนหนึ่งไปเที่ยวเชียงใหม่
ผมได้แต่ฉุนอยู่ในใจ หันไปดูโต๊ะทำงานแสนรก กองกระดาษสุมเป็นตั้งฟ้องว่ายังมีงานค้างอยู่
มากมายทั้งที่ผมทำงานอาทิตย์ละ 7 วันมาหลายอาทิตย์แล้ว ผมสงสัยว่า ทำยังไงถึงจะสะสางงาน
พวกนี้ได้ทันเสียที

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ผมได้พบกับชายท่าทางสุภาพ รูปร่างสง่า แต่งตัวดี หลังจากเดินทางโดยเครื่องบิน
1 ชั่วโมง เราก็ได้ไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวพร้อมกับนักท่องเที่ยวอื่นอีกนับร้อย ส่วนใหญ่สะพาย
กล้องและหิ้วของที่ระลึกพะรุงพะรัง

เย็นวันนั้น อาคันตุกะชาวจีนกับผมขึ้นรถสองแถวไปกินอาหารเย็นและดูการแสดงซึ่งผมเคยดูมาแล้ว
หลายครั้ง ขณะที่เขากำลังคุยกับนักท่องเที่ยวคนอื่น ผมหันไปสนทนากับชายคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ในมุมมืด
ข้างหน้าผม เขาเป็นชาวเบลเยียมพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ผมสงสัยว่าทำไมเขาถึงตั้งศีรษะตรงไม่
กระดุกกระดิกราวกับเข้าสมาธิอยู่ แล้วผมก็รู้ความจริงเมื่อเห็นไม้เท้าสีเทาวางอยู่ข้างตัว ชายคนนี้ตาบอด

เขาบอกผมว่า เขาสูญเสียดวงตาเนื่องจากอุบัติเหตุสมัยยังเป็นวัยรุ่น แต่ก็ยังเดินทางคนเดียวได้
ทุกวันนี้อายุเกือบ 70 ปีแล้ว เขายังเชี่ยวชาญเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่ต้องใช้สายตา
แต่ใช้เพียง ประสาทสัมผัสที่เหลืออีก 4 อย่างช่วยสร้างภาพขึ้นในใจ

เขาหันหน้ามา แล้วค่อยๆยื่นมือมาลูบคลำเพื่อ”ดู”ใบหน้าผม มือของเขาคล้ายตัวนิ่มๆอะไรสักอย่าง
มีคนเปิดไฟข้างหลังผม ทำให้มองเห็นเส้นผมสีเงินดกและใบหน้ากร้านแกร่งของเขา ดวงตาเขาดูขุ่น
ลึกลงไปในกระบอกตา “ให้ผมนั่งข้างๆคุณเวลากินอาหารได้ไหมครับ”
เขาออกปากขอ “และผมจะดีใจมากถ้าคุณจะช่วยบรรยายสิ่งที่คุณเห็นให้ผมฟังบ้างครับ”

“ยินดีครับ” ผมตอบ

แขกชาวจีนของผมเดินนำหน้าไปยังห้องอาหารพร้อมกับเพื่อนใหม่ ส่วนชายตาบอดกับผมเดินตามไป
กับแถวนักท่องเที่ยวยาวเหยียด มือผมจับข้อศอกเขาเพื่อช่วยนำทาง แต่เขาก้าวเดินไปข้างหน้าเองได้
โดยไม่ซวนเซ อกผายไหล่ผึ่ง ศีรษะตั้งตรงราวกับเป็นคนนำทางผมเสียด้วยซ้ำ

เราได้นั่งตรงโต๊ะใกล้เวที ขณะรอเครื่องดื่ม ชายตาบอดก็พูดขึ้นว่า “เสียงดนตรีฟังแปลกๆไม่คุ้นหู
ชาวตะวันตกอย่างเราเลยนะ แต่ก็มีเสน่ห์ดี คุณช่วยบรรยายเกี่ยวกับนักดนตรีหน่อยครับ”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 15, 2023 8:29 pm

เปิดม่านบังตา ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนสิงหาคม 2539 โดย David Lambourne
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ผมยังไม่ได้สังเกตดูนักดนตรีชาย 5 คนที่กำลังเล่นดนตรีอยู่ข้างเวทีเป็นการโหมโรงก่อนเปิด
การแสดงเลย

“นักดนตรีนั่งขัดสมาธิ ใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวปล่อยชายกับกางเกงหลวมๆสีดำ มีผ้าคาดเอวสีแดงสด
สามคนอายุยังน้อย คนหนึ่งอยู่ในวัยกลางคน และอีกคนหนึ่งค่อนข้างสูงอายุ คนหนึ่งตีกลองเล็ก
อีกคนดีดเครื่องดนตรีซึ่งทำด้วยไม้ประเภทเครื่องสาย ส่วนอีกสามคนใช้คันชักสีซอคันเล็กกว่า”

เขายิ้ม “แล้วซอคันเล็กๆพวกนี้ทำด้วยอะไร”

ผมมองอีกครั้ง “ทำด้วยไม้ครับ

แต่กล่องเสียงรูปกลมๆนั้นทำด้วยกะลามะพร้าวทั้งลูก” ผมเล่า ซ่อนความประหลาดใจไว้
พอแสงไฟเริ่มสลัว ชายตาบอดถามผมว่า “นักท่องเที่ยวที่มานี่เป็นยังไงกันบ้างครับ”

“มีทุกชาติครับ ทั้งสีผิว รูปร่าง และขนาด” ผมกระซิบ “มีไม่กี่คนหรอกครับที่แต่งตัวเรียบร้อย
หรือมีรสนิยม”

ขณะที่ผมลดเสียงให้ค่อยลงและพูดใกล้หูเขา ชายตาบอดเอียงศีรษะฟังผมอย่างตั้งใจ ไม่เคยมี
ใครสนใจฟังผมอย่างใจจดจ่อเช่นนี้มาก่อนเลย

“ข้างๆเรามีผู้หญิงญี่ปุ่นค่อนข้างสูงอายุคนหนึ่ง แสงไฟจากเวทีช่วยให้เห็นใบหน้าเธอบางส่วน”
ผมบอกต่อ “ถัดไปมีเด็กผู้ชายชาวสแกนดิเนเวียนผมสีทองอายุราว 5 ขวบ จมูกเชิดน่าเอ็นดูกำลัง
โน้มตัวไปข้างหน้า แสงจับใบหน้าเขาซ้อนอยู่ใต้ใบหน้าของผู้หญิงญี่ปุ่นคนนั้น ทั้งสองคนนิ่งเงียบ
ไม่กระดุกกระดิก กำลังรอดูการแสดงที่จะเริ่มขึ้น เป็นเสมือนภาพชีวิตที่แสดงถึงวัยเยาว์และ
ความชราของยุโรปและเอเชีย”

“ใช่ ใช่ ผมมองเห็นครับ” ชายตาบอดพูดเบาๆพลางยิ้ม
ผ้าม่านด้านหลังเวทีเปิดออกเผยให้เห็นเด็กสาว 6 คน ผมบรรยายต่อไปว่าพวกเธอนุ่งกระโปรง
ผ้าไหมคล้ายโสร่ง สวมเสื้อสีขาวมีผ้าพาดบ่าและเครื่องประดับศีรษะสีทองคล้ายมงกุฎเล็กๆ
มีตุ้มแกว่งไปมาเข้ากับจังหวะของการฟ้อนรำ “พวกเธอสวมเล็บโลหะสีทองที่ปลายนิ้ว ยาวสักสี่นิ้ว
เห็นจะได้” ผมบอกชายตาบอด “เล็บสีทองช่วยเน้นให้มือดูสง่างามยิ่งขึ้นเวลาเคลื่อนไหว เป็นภาพ
ที่น่าดูจริงๆครับ”

เขายิ้มและพยักหน้า “ดีเหลือเกินครับ ผมอยากลองสัมผัสเล็บพวกนั้นจัง”

เมื่อการแสดงชุดแรกจบลง ผมก็ขอตัวและเดินไปหาผู้จัดการแสดง พอกลับมาผมบอกเพื่อนว่า
“คุณได้รับเชิญให้เข้าไปหลังเวทีครับ”

หลังจากนั้น 2-3 นาที เขาก็มายืนอยู่ใกล้นางรำคนหนึ่ง ยอดมงกุฎที่เธอสวมอยู่สูงไม่ถึงหน้าอก
ของเขาด้วยซ้ำ เธอยื่นมือทั้งสองออกมาข้างหน้าเขาด้วยอาการตื่นนิดๆ เล็บโลหะส่องประกายรับกับ
แสงไฟจากเบื้องบน มือของเขาซึ่งใหญ่กว่าถึง 4 เท่าค่อยๆยื่นออกไป แล้วจับมือเด็กสาวไว้ ท่าทาง
ราวกับว่าเขากำลังพยุงลูกนกเมืองร้อนตัวเล็กกระจิดริดสองตัว ขณะที่เขาคลำปลายเล็บโลหะแหลม
เรียบ และโค้งมน เด็กสาวได้แต่ยืนนิ่งจ้องหน้าเขาด้วยความตื่นกลัว ผมเองรู้สึกตื้นตันคล้ายกับมี
ก้อนอะไรมาจุกตรงคอหอย

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 16, 2023 8:33 pm

เปิดม่านบังตา ตอนที่ (3 ) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนสิงหาคม 2539 โดย David Lambourne
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

พอผมได้สังเกตรายละเอียดต่างๆมากขึ้นในค่ำนั้นและเห็นเพื่อนตาบอดพยักหน้าด้วยความ
ตื่นเต้น ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าได้ค้นพบอะไรต่ออะไรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสี ลวดลายเครื่องแต่งกายของ
คนท้องถิ่น และผิวพรรณภายใต้แสงไฟอ่อนๆ อีกทั้งยังได้เห็นเส้นผมดำขลับพลิ้วไหวเมื่อผู้แสดง
โคลงศีรษะอันสง่างามไปมาตามจังหวะดนตรี สีหน้าของนักดนตรีแสดงความรู้สึกเอาจริงเอาจัง
ขณะเล่นดนตรี หรือแม้แต่รอยยิ้มเห็นฟันขาวของบริกรซึ่งยืนอยู่ในที่สลัวๆ
เมื่อกลับมาถึงโรงแรม แขกชาวจีนของผมยังคงอยู่กับกลุ่มเพื่อนฝูง ชายตาบอดยื่นมือมาจับมือผม
อย่างเป็นมิตร แล้วเลื่อนมาจับศอกและไหล่ผม ไม้เท้าของเขาตกลงกระทบพื้นหินอ่อน ทำให้หลายคน
หันมามองทางเรา เขาไม่สนใจจะหยิบไม้เท้าขึ้น แต่กลับดึงตัวผมเข้าไปกอดไว้แน่น “คุณมองทุกอย่าง
แทนผมได้สวยงามจริงๆ” เขากระซิบ “ผมไม่ทราบจะขอบคุณคุณยังไงถึงจะพอ”

ต่อมาผมกลับรู้สึกว่า ผมต่างหากที่น่าจะเป็นฝ่ายขอบคุณเขา ผมต่างหากที่เป็นคนตาบอด เขาเป็น
ผู้ช่วยเปิดม่านที่ได้ปิดตาคนอย่างพวกเราในโลกแห่งความสับสนเร่งรีบ เขาทำให้ผมได้เห็นสิ่งที่ผม
ไม่เคยรู้สึกชื่นชมมาก่อนมากมาย
ประมาณหนึ่งอาทิตย์หลังกลับจากเชียงใหม่ ประธานบริษัทเรียกผมเข้าไปพบที่ห้องทำงานและแจ้ง
ให้ทราบว่าได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหารชาวจีนที่ผมพาไปเที่ยวแสดงความพอใจอย่างยิ่งกับการเดินทาง
คราวนั้น “คุณทำดีมาก” ประธานบริษัทบอกแล้วยิ้มให้ “ผมรู้ว่าคุณเนรมิตสิ่งมหัศจรรย์ได้”

ผมไม่ได้บอกท่านประธานหรอกว่า ที่จริงเป็นตัวผมต่างหากที่เพิ่งรู้จักเปิดตาค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ที่มีอยู่แล้ว”

*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 17, 2023 8:45 pm

……………จงอางมัจจุราช! มีทั้งหมด ( 5 ) ตอนจบ


🐍จงอางมัจจุราช! ตอนที่ (one)
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Mike Thomas
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

จอร์จ แวนฮอร์น (George VanHorn) รู้สึกหลงใหลชอบงูตั้งแต่ได้เห็นครั้งแรกที่บ้านเกิดใน
ไมอามีตอนเป็นเด็ก 5 ขวบ จากนั้นไม่นาน เขาก็เอางูเข้าบ้านและเก็บไว้ใต้เตียง เมื่ออายุได้ 11 ขวบ
เขาแอบเข้าไปในห้องทดลองสวนงูในไมอามี คนดูแลสถานที่จับได้ขณะที่เขากำลังลองหัดจับงูใส่ถุง
เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เขารีดพิษงู (snake-milking) ในห้องใต้ดินของคุณย่าและเอาไปขาย
นักวิจัยในมหาวิทยาลัยไมอามี

หลังรับราชการในสงครามเวียดนาม จอร์จได้รับปริญญาด้านชีววิทยาและก่อตั้งสวนงูขึ้นที่เมือง
เซนต์คลาวด์ (the Reptile World Serpentarium in St. Cloud) รัฐฟลอริดา ในปี พ.ศ.2515 เขารวบ
รวมงูนับพันชนิดจากทั่วโลก ขายพิษงูให้กับห้องทดลองวิจัยทางการแพทย์ และยังเปิดสวนงูของตนที่
มีงูมากกว่า 1,000 ตัวพร้อมกับร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับงู

จอร์จเป็นเหมือนนักเลี้ยงงูทั่วไปตรงที่ไม่สวมถุงมือเวลาจับงู เพราะต้องการสัมผัสงูโดยตรง
สำหรับคนที่รีดพิษงูถึงวันละ 90 ตัวเช่นเขานั้น การถูกงูกัดไม่ถึง 10 ครั้งใน 23 ปีถือเป็นสถิติความ
ปลอดภัยที่ดีมาก

งูจงอางเคยกัดเขาเมื่อปี 2520 แต่เขาก็ปลอดภัยเพราะรักษาทันท่วงทีด้วยยาแก้พิษงู แต่พิษงูที่
สะสมอยู่จากครั้งนั้นและจากการถูกกัดระหว่างทำงานทำให้ร่างกายเขาแพ้พิษงูจงอาง และจะช็อก
หมดสติหากถูกงูกัดอีกครั้ง

บอนนี่ วัดกินส์ (Bonnie Watkins) อายุ 44 ปีทำงานเป็นผู้ช่วยของจอร์จมา 22 ปี เธอมีหน้า
ที่ช่วยเขาจับงูในระหว่างการรีดพิษ

วันที่ 21 มิถุนายน 2538 อันเป็นวันเกิดเหตุ บอนนี่เลื่อนแผ่นฝากล่องใส่งูจงอางยักษ์ออก มันเป็นงู
ที่มีอันตรายมากที่สุดและมีพิษในตัวมากที่สุดในบรรดางูจงอาง 15 ชนิดด้วยกัน จอร์จฟักมันจากไข่
และเลี้ยงมาได้ 6 ปีจนลำตัวยาวเกือบ 4 เมตร
ขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังชมการสาธิตโดยมีกระจกหนาหนึ่งกระเบียดกั้นอยู่ จอร์จเดินเข้าไปหา
จงอางตัวนั้น มือถือไม้ตะขอยาว 3 ฟุตเพื่อจะจับมันไปยังโต๊ะสำหรับรีดพิษ แต่ก่อนที่จะเกี่ยวงูทัน
เจ้าจงอางตัวนั้นก็ฉกแขนซ้ายของเขาแล้ว

จอร์จเจ็บแปลบขณะที่จงอางร้าย “เดิน” น้ำพิษเพชฌฆาตขึ้นมาตามแขน มันขย้ำเนื้อของเขาเหมือน
เป็นฝักข้าวโพด ถอนเขี้ยวซ้ายออกแล้วหันไปฝังเขี้ยวยาวเกือบครึ่งนิ้วอีกแผลเหนือท้องแขนสูงขึ้นไป
จากนั้นจึงถอนเขี้ยวขวาแล้วกัดซ้ำอีกแบบเดียวกัน ทุกครั้งที่ฝังเขี้ยวใหม่ มันปล่อยพิษทำลายเนื้อ
เยื่อประสาทที่รุนแรงถึงตายผ่านเข้าสู่ร่างกายของจอร์จตามแรงสูบฉีดของเลือด

ในที่สุดจอร์จสะบัดแขนอย่างแรงจนงูกระเด็นตกพื้น แต่เขาเองไม่ได้ขยับตัวอีก ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกกลัว
บางทีการอยู่ดูโลกจนอายุ 51 ปีอาจช่วยให้เขายอมรับความตายได้ ชั่วอึดใจนั้น เขาคิดว่าน่าจะล้ม
ตัวลงนอนเพื่อรอให้สั่นชักกระตุก และรอความตายที่จะมาเยือนในอีก 5 นาที ซึ่งง่ายกว่าการที่จะต่อสู้
เพื่อให้รอดชีวิต ถ้ายังมีทางรอดอยู่... แต่แล้วจอร์จก็เลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 19, 2023 10:23 pm

🐍จงอางมัจจุราช! ตอนที่ ( 2 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Mike Thomas
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังจากสะบัดงูหลุด จอร์จรีบเดินไปที่ห้องทดลองซึ่งอยู่ในประตูถัดไป เขารู้ว่าการวิ่งจะช่วย
เร่งพิษงูให้แผ่ทั่วร่างเร็วขึ้น. บอนนี่ผู้ช่วยทิ้งจงอางร้ายไว้บนพื้นแล้วเดินตามจอร์จไปพร้อมกับปิด
ประตูอย่างแน่นหนา

ในห้องทดลอง จอร์จฉวยเข็มฉีดยาสำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง พร้อมกับยา 2 หลอดที่ทำให้
หลอดเลือดหดตัวเพื่อใช้ช่วยยับยั้งพิษงู บอนนี่รวบยาแก้พิษออกมา 1 กล่องแล้วก็ได้ยินจอร์จ
พูดว่า เราต้องรีบไปแล้ว ไม่มีเวลาจะหยิบยากล่องที่ 2 เพราะจอร์จอาจหมดสติไปเมื่อไรก็ได้
บอนนี่ตะโกน บอกพนักงานให้แจ้งโรงพยาบาลเซนต์คลาวด์ขณะที่วิ่งออกไป
ระหว่างที่บอนนี่กำลังขับรถ จอร์จเอาเข็มฉีดยาจากหลอดและปักเข็มลงบนสะโพก เขาฉีดเข็มที่สอง
ที่แขนและได้แต่หวังว่า ยาที่ฉีดจะช่วยให้มีชีวิตรอดจนไปถึงห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล

พิษร้ายเริ่มออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดขยายตัวและความดันโลหิตลดลง เขาเริ่มหายใจขัด
และพูดกับตัวเองว่า “ฉันจะต้องไม่ตาย” เขาทรุดตัวลงไปในที่นั่ง บอนนี่ใช้มือขวาจิกผมของเขาและ
ดึงศีรษะให้แหงนไปข้างหลังเพื่อช่วยให้กระบังลมเปิดรับอากาศมากขึ้น “ทำใจดีๆไว้นะคะ” เธอบอก
ขณะที่จอร์จหมดสติและเนื้อตัวเริ่มมีสีคล้ำ เธอใช้มือซ้ายบังคับรถซึ่งวิ่งเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
และบีบแตรขณะขับฝ่าไฟแดงไปตลอดทาง เธอครองสติได้ดีและนึกถึงเรื่องที่จะต้องรีบทำ อย่างแรก
จะต้องฉีดยาแก้พิษในห้องฉุกเฉินและจะต้องกลับไปเอายาแก้พิษกล่องที่ 2 จากสวนงู และหาเพิ่มอีก
หลายๆหลอด รวมถึงเรื่องการจับเจ้าจงอางที่หลุดออกมานั้นด้วย

ดร.โดนัลด์ เกรย์ (Dr.Donald W. Gray) ศัลยแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินได้รับแจ้งว่า ผู้ป่วยถูกงูจงอางกัด
กำลังจะมาถึงโรงพยาบาล หมอเกรย์ไม่เคยรักษาคนไข้แบบนี้มาก่อน จึงรีบค้นตำราแพทย์ของ
โรงพยาบาลแต่ไม่พบข้อมูลใดๆเลย

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 22, 2023 11:13 pm

🐍จงอางมัจจุราช! ตอนที่ ( 3 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Mike Thomas
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ขณะที่พยาบาลเข็นเตียงจอร์จมา ระบบหายใจของเขาเริ่มหยุดทำงาน หมอเกรย์รู้ว่า
นั่นคืออาการช็อกหมดสติเนื่องจากพิษหลังจากที่พยาบาลสอดท่อหายใจเสร็จ หมอฉีดสาร
ทำให้หลอดเลือดหดตัวเข้าปอดของจอร์จ เจ้าหน้าที่ต่อเครื่องวัดและเจาะเส้นเลือดดำเพื่อให้
ยาช่วยความดัน บอนนี่อธิบายให้หมอเกรย์ฟังคร่าวๆและส่งยาแก้พิษให้เพื่อให้แน่ใจว่าจอร์จ
จะได้รับยาทันที แล้วเธอก็ออกมา งานของเธอที่นี่จบแล้ว

ข้อแตกต่างระหว่างงูจงอางกับงูพิษอื่นๆ คือปริมาณของพิษ ตัวอย่างเช่น งูปล้องหวาย
(rattan snake) ซึ่งมีพิษร้ายแรงเช่นกัน จะปล่อยพิษออกมาครั้งละ 1-2 หยดเท่านั้น ในขณะที่
งูจงอางปล่อยพิษแต่ละครั้งประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ สารพิษหลักในน้ำพิษของงูจงอางคือ สารพิษ
ทำลายเนื้อเยื่อประสาท ผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกกัดส่วนใหญ่จะหายใจไม่ออกเนื่องจากกะบังลมเป็น
อัมพาต พิษของมันยังประกอบไปด้วยสารพิษชนิดที่สอง ซึ่งจะเจาะผนังเส้นเลือดให้เป็นรูพรุน
ทำให้เลือดตกจากภายใน โดยเลือดจะไหลออกทางจมูกก่อน
การถูกงูจงอางกัดนั้นมีอันตรายถึงชีวิต การรักษาจะได้ผลก็ต่อเมื่อใช้ยาแก้พิษได้ทันท่วงที
ยาแก้พิษนี้ได้จากการฉีดพิษงูเข้าไปในตัวม้า โดยค่อยๆเพิ่มปริมาณพิษขึ้นและสกัดเซรุ่มจาก
เลือดม้าซึ่งเซลล์ได้สร้างขึ้น เซรุ่มนี้จะแก้พิษงูได้

การรักษางูกัดที่โรงพยาบาลในสหรัฐฯ อาจต้องใช้เงินมากระหว่าง 3.5 -7 ล้านบาทขึ้นอยู่
กับปริมาณยาต้านพิษที่ใช้ ยาต้านพิษของงูปะการัง (Coral Snake) มีราคาหลอดละ 7,200
ดอลล่าร์ (ราว 250,000 บาท)
หมอเกรย์รู้ดีถึงความสำคัญของการใช้ยาแก้พิษว่า ต้องใช้อย่างรวดเร็ว เขารู้จากการ
อ่านฉลากยาด้วยว่า บอนนี่ได้ให้ยาแก้พิษของงูเสือ (งูที่มีพิษต่อระบบประสาท มีมากทางใต้ของ
ออสเตรเลีย มีลายเหมือนเสือโคร่ง ไม่มีในประเทศไทย) ซึ่งไม่ใช่งูจงอาง และที่แย่ไปกว่านั้นคือ
ฉลากระบุวันหมดอายุปี 2522 (ซึ่งเท่ากับหมดอายุไป 16 ปีแล้ว!)

อาการของจอร์จยังทรงๆด้วยฤทธิ์ยา หมอเกรย์จึงเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องเสี่ยงใช้ยาไม่ถูกชนิด
และเป็นยาหมดอายุให้คนไข้ ควรจะค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้รักษาดีกว่า เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินโทรศัพท์
ติดต่อไปหลายแห่ง เช่นห้องทดลอง สวนสัตว์ และทุกคนที่มีความรู้เกี่ยวกับงู คำตอบที่ได้รับนั้นไม่ตรงกัน
วงการแพทย์อเมริกันยังไม่มีข้อมูลการรักษาพิษจากงูจงอาง

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 22, 2023 11:19 pm

🐍จงอางมัจจุราช! ตอนที่ ( 4. )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Mike Thomas
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

บอนนี่ย้อนกลับมาที่สวนงูและพบสุนัข 2 ตัวกำลังเห่าอยู่ที่ประตูกระจกห้องสกัดพิษงู งูจงอาง
กำลังชูคอแผ่แม่เบี้ยอยู่ที่ริมห้องอีกด้านหนึ่งและหันมาทางเธอ เธอโยนหนูตายให้มัน 2-3 ตัว เพราะ
คิดว่าอาหารจะช่วยให้มันสงบลง แต่มันกลับไม่สนใจเลย บอนนี่ตัดสินใจว่าจะกลับมาจัดการกับมัน
ทีหลัง เธอเข้าไปเอายาแก้พิษงูเสือกล่องที่สองจากห้องทดลองและสั่งให้พนักงานที่อยู่ทั้ง 4 คนออก
จากสวนงู

เมื่อเธอกลับมาถึงห้องฉุกเฉิน ความดันโลหิตของจอร์จลดลง การรักษาไม่สามารถควบคุมพิษงู
ที่กำลังทำให้ร่างกายของเขาหยุดทำงานได้ หมอเกรย์กำลังพูดโทรศัพท์อยู่กับศูนย์พิษในแอตแลนตา

“หมอทำอย่างนั้นทำไมนะ” บอนนี่สงสัย ความคิดแวบเข้ามาว่า “หมอยังไม่ได้ให้ยาแก้พิษแน่”
เธอต้องอธิบายให้หมอเข้าใจว่า ยาแก้พิษงูเสือใช้รักษาคนถูกงูจงอางกัดเป็นประจำ และเหยื่อไม่รอด
แน่หากไม่ได้รับยาแก้พิษชนิดนี้

เมื่อหมดปัญญาในการเปลี่ยนการตัดสินใจของหมอได้ เธอจึงโทรศัพท์ไปถึงจิม เกล็น (Jim Glen)
ผู้ชำนาญห้องทดลองพิษงูของรัฐบาลที่ซอลต์เลคซิตี้ (Salt Lake City) ซึ่งรู้จักกับจอร์จ ทันทีที่จิม เกล็น
ทราบเรื่อง เขารีบติดต่อ ดร.เอ็ดเวิร์ด ฮอลล์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญด้านบาดแผลงูจงอางกัด จากนั้น ดร.ฮอลล์
โทรศัพท์ทันทีแจ้งหมอเกรย์ว่า “รีบให้ยาแก้พิษงูเสือทันที ยาที่เก็บไว้ในตู้เย็นยังคงใช้ต่อไปได้อีกหลายปี
นับจากวันหมดอายุบนฉลาก”

หมอเกรย์รีบฉีดยาแก้พิษให้จอร์จหมดทั้ง 17 หลอดที่บอนนี่เอามา และรอดูอาการบอนนี่เดินช้าๆ
เข้าไปในห้องสกัดพิษ อาวุธในมือมีเพียงตะขอและหนู 2 ตัว ภายในห้องเต็มไปด้วยหิ้งไม้ที่ใช้วางลังใส่งู
และเป็นช่องทางเดินทั้งสองด้าน

เธอก้มลงดูใต้ทางเดินช่องแรกแต่ไม่พบงูจงอางตัวนั้น เธอจึงดูใต้ทางเดินช่องที่สองและเห็นหาง
ของมันโผล่ออกมาจากหิ้ง จึงค่อยๆย่องเข้าไปหาอย่างระมัดระวัง แล้วงูก็โผล่หัวออกมา

งูจงอางคาบหนูที่บอนนี่โยนให้แต่ไม่กลืนลงไป เธอใช้ห่วงดึงงูเข้ามาใกล้ งูยังมีพิษเหลืออยู่
ในต่อมพิษ แต่จากประสบการณ์ 22 ปี บอนนี่รู้ว่าเมื่อไรงูถึงจะกัด เธอจึงไม่กลัวมัน

เธอลากงูมาใกล้กับกล่องไม้ เจ้างูคายหนูและหันมาแผ่แม่เบี้ยใส่เธอ เธอจึงโยนหนูให้มันอีกตัว
มันคาบหนูไว้ แต่บอนนี่เห็นได้ว่ามันยังอิ่มซึมเซาจากอาหารที่เพิ่งกินก่อนหน้านั้น เธอจึงเอา ตะขอเกี่ยว
มันใส่กล่องแล้วปิดฝา หลังจากนั้นก็ถอนหายใจอย่างโล่งอก และขับรถไปโรงพยาบาลเป็นครั้งที่สาม

ยาแก้พิษงูเสือช่วยรักษาไม่ให้ความดันโลหิตของจอร์จลดต่ำลงได้เพียงชั่วคราว อาการของจอร์จ
อยู่ในขั้นวิกฤต มีการประสานงานให้เฮลิคอปเตอร์มารับจอร์จไปส่งที่ศูนย์การแพทย์ออลันโด ดร.เลวี
หัวหน้าศัลยแพทย์เฉพาะทางรออยู่ที่นั่นและรีบฉีดยาแก้พิษงูเสือที่เพื่อนๆของจอร์จช่วยกันรวบรวมมา
ดร.เลวีเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงรีบสั่งให้ค้นหายาแก้พิษงูจงอางทันที

ในระหว่างนั้น แขนซ้ายของจอร์จบวมขึ้นอีกเท่าตัว มือของเขาซีดขาวและเย็น กล้ามเนื้อบวมจนกด
ทับเส้นเลือด กล้ามเนื้อซึ่งขาดเลือดจะตายและกลายเป็นเนื้อร้าย ดร.เลวีจึงตัดสินใจโทรศัพท์เรียก
หมอเควิน ศัลยแพทย์กระดูก

โปรดติดตามตอนที่ ( 5 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 22, 2023 11:23 pm

🐍จงอางมัจจุราช! ตอนที่ ( 5 ) (ตอนจบ)
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Mike Thomas
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ราว 21.45 น. หมอเควินผ่ามือข้างซ้ายของจอร์จ ผ่านพังผืดเข้าไปถึงเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ
เมื่อไม่มีเยื่อรัดไว้ กล้ามเนื้อที่บวมก็ปริเป่งออกจากรอยผ่าเหมือนไส้กรอกที่ถูกย่างจนบวมปริ
ทำให้แรงกดที่เส้นเลือดลดลง เลือดวิ่งผ่านไปที่มือของจอร์จทำให้มือมีสีเลือดและอุ่นขึ้นทันที

หมอเควินผ่าตัดต่อไปถึงข้อศอกและเปิดแผลอีก 2 แห่งที่มือ แผลนี้จะต้องถูกเปิดทิ้งไว้จน
กว่าอาการบวมจะลดลง ในที่สุดยาแก้พิษงูจงอางจากสวนงูไมอามีก็มาถึง ดร.เลวีจัดการฉีด
ให้จอร์จ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น และยังฉีดยาแก้พิษจากสวนสัตว์เบอร์มิงแฮม รัฐอลาสกาอีก 10 หลอด
จอร์จได้รับยาแก้พิษไปแล้ว 50 หลอด แต่อาการก็ยังน่าวิตกอยู่

ดร.เลวีเฝ้าเครื่องตรวจอยู่ข้างเตียงของจอร์จทั้งคืนและยังฉีดยาป้องกันไตวาย รวมทั้งพลาสมา
และเกล็ดเลือดเพื่อช่วยเลือดที่ไหลออกทางจมูกและมือ ในที่สุดเมื่อเวลา 8.00 น. เครื่องตรวจชี้ให้เห็น
ข่าวดีว่า คนไข้พ้นขีดอันตรายแล้ว

จอร์จหมดสติไปสองวันครึ่ง หลังจากออกจากห้องผู้ป่วยวิกฤตแล้ว ดร.เลวีกล่าวว่า “จอร์จรอด
มาได้เพราะได้รับยาต้านพิษและส่งถึงโรงพยาบาลได้เร็ว”

จอร์จกล่าวในภายหลังว่า “แรงจูงใจที่งูฉกเป็นเพราะงูกำลังหิวอยู่ เมื่อมันเห็นมือของผมขยับ
มันก็คิดว่าเป็น ‘หนู’ จึงฉกทันที และเมื่อผมมาถึงรถ ผมก็เริ่มมีปัญหาในการหายใจ ผมรู้สึกคันมาก
เหมือนตัวเราเป็นลูกโป่งที่กำลังพองโตขึ้นโดยที่ไม่มีอากาศเข้าไปข้างใน”

ในวันที่ 15 สิงหาคม 2538 แปดอาทิตย์หลังจากที่จอร์จเฉียดเข้าใกล้ความตาย บอนนี่ก็เลื่อน
ฝากล่องใส่งูออกมาอย่างเคร่งเครียด ในกล่องมีงูจงอางที่ไม่ดุเท่าตัวก่อน จอร์จซึ่งขณะนี้น้ำหนักลดลง
ไป 9 กิโลกรัม ใช้ห่วงเกี่ยวเจ้างูยาว 3.6 เมตรออกมาเพื่อนำมันมารีดพิษบนโต๊ะ คราวนี้มันไม่ฉกทำร้าย

จอร์จต้องรีดพิษด้วยมือขวา เพราะมือซ้ายยังใช้งานไม่ได้ เขาได้รับการผ่าตัดถึง 6 ครั้งเพื่อนำกล้าม
เนื้อจากด้านหลังและผิวหนังจากสะโพกมาปิดแขนซ้าย ตอนนี้เขาบีบลูกเทนนิสได้เบาๆ คงต้องใช้เวลา
อีกหลายเดือนกว่าจะใช้แขนซ้ายรีดพิษงูได้อีก

บอนนี่ตรึงงูจงอางไว้บนโต๊ะด้วยปากคีบ จอร์จจับมันไว้ด้วยมือขวา งูดิ้นไปมา นักท่องเที่ยวที่มอง
ผ่านกระจกหนาได้ยินเสียงบอนนี่ตะโกนบรรยาย ในที่สุดจอร์จก็จับงูและกดเขี้ยวของมันลงบนแผ่นพลาสติก
เหนือถ้วยแก้ว พิษงูไหลออกมา เขาจับงูจงอางกลัลงกล่อง บอนนี่เลื่อนปิดฝากล่อง

บอนนี่และจอร์จไม่ได้จับเจ้างูยักษ์ตัวนั้นอีกเลยตั้งแต่วันที่เกิดเรื่อง มันยังฉกฝากล่องทุกครั้งที่มีคนเข้าใกล้

“คราวนี้เราต้องระวังตัวมากขึ้น” บอนนี่กล่าว “มันรู้ว่ามันกัดคนไปแล้ว” ทั้งสองจะต้องรีดพิษเจ้าจงอางยักษ์อีก
และจอร์จก็ไม่ได้รู้สึกลำบากใจแม้แต่น้อย เขายังคงสุขุมเหมือนเดิมโดยมีอสรพิษที่ดุร้ายที่สุดในโลก
นับร้อยตัวอยู่รอบตัวเขา

*****************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส