เรื่องดีๆจากหนังสือสรรสาระ (ชุดที่ 27 )

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 30, 2023 7:56 pm

………น่องเหล็กเจ้าถนน มีทั้งหมด ( 3 )ตอนจบ



น่องเหล็กเจ้าถนน ตอนที่ ( 1 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Charles Parmiter
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

มิเกล อินดูเรียน (Miguel Induráin เกิด 16 ก.ค. 2507) เป็นลูกคนที่สองในบรรดาพี่น้อง 5 คน
พ่อแม่เป็นชาวนาฐานะค่อนข้างมั่งคั่ง เขาโตในเมืองวิลลาวา (Villava) ในแหล่งเกษตรกรรมทางตอน
เหนือของประเทศสเปน เด็กชายมิเกลไม่ใช่เด็กเรียนดี “ไม่ใช่ว่ามิเกลไม่ฉลาดนะ เขาเป็นพวกไม่ชอบ
ไปโรงเรียนมากกว่า” เดวิดเพื่อนสมัยเด็กเล่าย้อนความหลัง

เมื่อเป็นเด็ก มิเกลมีโรคประจำตัว ทำให้ต้องทรมานจากอาการโพรงจมูกอักเสบและปอดบวม
อยู่บ่อยๆ นอกจากนั้นยังแพ้ละอองเกสรดอกไม้จนล้มเจ็บทุกฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นเวลาที่อากาศคละคลุ้งไป
ด้วยละอองเกสร แต่มิเกลก็ยังหลบหนีไม่ทำการบ้านมาเล่นกีฬาได้ เพราะชอบเล่นฟุตบอลและวิ่งแข่งมาก

พ่อซื้อจักรยานให้มิเกลตอนอายุ 11 ขวบ เขาเริ่มเข้าแข่งขันจักรยานใกล้ๆบ้านในช่วงวันหยุดสุด
สัปดาห์ตั้งแต่นั้นมา เด็กกำลังโตคนนี้กินจุจนมีน้ำหนักถึง 90 กิโลกรัมตอนอายุ 18 ปี

มิเกล อินดูเรียนไม่ได้ภาคภูมิใจกับชัยชนะครั้งแรกในชีวิตเมื่อชนะเลิศการแข่งขันจักรยานสมัครเล่น
ของสเปนประจำปี พ.ศ.2526 “ตอนนั้นไม่มีใครรู้จักผม หนังสือพิมพ์สะกดชื่อผมผิดด้วยซ้ำไป”

ที่จริง 2-3 เดือนก่อนหน้าชัยชนะครั้งแรกนั้น ยูเซบิโอ อันซู โคชหนุ่มหัวหน้าทีมสมัครเล่นทีมเรย์โนลด์
(Reynold) ก็เห็นแววของอินดูเรียนและพาเขาไปพบหมอโฮเซ่ คาลาบูอิก แพทย์ผู้ชำนาญด้านหัวใจที่
มหาวิทยาลัยนาวาร์รา (Navarra) ช่วยตรวจร่างกายก่อนรับเป็นลูกทีม

ผลการตรวจร่างกายนั้นน่าทึ่งมาก “หนุ่มคนนี้มีหวังจะได้เป็นยอดนักกีฬา” หมอโฮเซ่บอก มิเกล อินดูเรียน
มีหัวใจขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของหัวใจคนทั่วไป อัตราเต้นของชีพจรอยู่ระหว่าง 28 – 34 ครั้งต่อนาที ขณะที่
อัตราเฉลี่ยของคนทั่วไปคือ 79 ครั้งต่อนาที ปอดของเขาสามารถจุอากาศได้ถึง 8 ลิตรซึ่งเป็น 2 เท่าของชาย
อายุ 19 ปีทั่วไป กระดูกขาอ่อนที่ยาวกว่าปกติมีผลเพิ่มแรงส่งลูกถีบจักรยาน หมอโฮเซ่ช่วยรักษาโรคทางเดิน
หายใจจนหายขาด จัดโภชนาการและแผนการฝึกเข้มให้เข้มกับเป็นนักแข่งเต็มตัว

อินดูเรียนอยู่ในตำแหน่งตัวสำรองในช่วงหลายปีแรกที่ร่วมงานกับทีมเรย์โนลด์ มีหน้าที่สนับสนุนนักปั่น
ตัวเอกคนอื่นๆซึ่งเป็นดาราของทีม เขาเป็นสมาชิกที่ทรหดและลงแข่งบ่อยที่สุดคนหนึ่ง แต่อินดูเรียนคงจะยัง
เป็นไก่รองบ่อนในทีมต่อไปจนกระทั่งโค้ชเห็นฝีมือของเขาในการแข่งขันจักรยานวูเอลต้า (Vuelta a España)
ในปี 2531 ระหว่างทางลงเขา จักรยานของนักปั่นชาวละตินอเมริกันข้างหน้าอินดูเรียนเกิดเสียหลักล้ม เขาจึง
เสียหลักและล้มตามโดยใช้มือข้างหนึ่งช่วยยันรถไว้ จากนั้นก็ลากสังขารออกมาจากข้างทางและกระโดดขึ้น
อานแข่งต่อโดยมีหมอโฮเซ่พันข้อมือให้บนรถที่วิ่งตีคู่กันด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ระยะ 25 กิโลเมตรสุดท้ายเป็นทางขึ้นเขา เขายืนโหย่งตัวเพื่อปั่นขึ้นเนินเกือบตลอดทางโดยทิ้งน้ำหนักตัวลง
บนมือข้างที่เจ็บ และกัดฟันทำเวลาต่อสู้กับความเจ็บปวดจนเข้าเส้นชัยหลังผู้ชนะเพียงนาทีครึ่ง

วันรุ่งขึ้นหมอตรวจพบว่าอุบัติเหตุนี้ทำให้กระดูกข้อมือหักไป 2 ชิ้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 30, 2023 8:05 pm

น่องเหล็กเจ้าถนน ตอนที่ ( 2 )
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Charles Parmiter
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

การแข่งจักรยานตูร์เดอฟร้องซ์ (Tour de France) เป็นการแข่งขันกีฬาในยุโรปที่มีคนดูมากที่สุด
ทุกปี การแข่งขันกินเวลาทั้งสิ้น 3 สัปดาห์ในเดือนกรกฎาคมทุกปี แฟนกีฬานับล้านจะยืนเชียร์เหล่า
นักปั่นระดับโลกตลอดระยะทาง 4,000 กิโลเมตรรอบตะเข็บชายแดนประเทศฝรั่งเศส แฟนกีฬาอีกนับ
ล้านคน ทางบ้านจะมุงกันอยู่หน้าจอโทรทัศน์ทุกค่ำ ชมเทปบันทึกภาพช่วงระทึกใจของการแข่งขันแต่ละ
วันอย่างใจจดใจจ่อ

ชาวยุโรปทุกคนรักการขี่จักรยานตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ล้วนขี่จักรยานเป็นทุกคน แต่การ
ขี่จักรยานไปโรงเรียนหรือไปตลาดแตกต่างกันลิบลับกับการปั่นเสือหมอบวันละ 175 กิโลเมตรกลางแดด
ร้อนเปรี้ยงหรือการซอยลูกถีบถี่ยิบเพื่อขึ้นเนินสู่ช่องเขาสูง 2,000 เมตรของเทือกเขาอัลไพน์ จากนั้นก็เร่ง
ลงเขาด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือการล้ม ใช้มือปาดเลือดแล้วโดดขึ้นอานแข่งต่อไป
หรือการต่อสู้กับสังขารอย่างทรหดเมื่อกรดแล็กติกซึ่งร่างกายหลั่งออกมาเมื่ออ่อนล้ละลายกล้ามเนื้อที่
ฝึกฝนมาอย่างดีให้ปวกเปียก เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของความเจ็บปวดที่รอคอยผู้เข้าแข่งขัน
(กีฬาทารุณที่สุดในโลก) นี้ทุกคน
ในการแข่งขัน “Tour de France” ของอินดูเรียนในปี 2534 มีเพียงไม่กี่คนที่คาดว่าเขาจะชนะ ตอนนั้น
เขาอายุ 27 ปีแล้ว ตัวเต็งส่วนใหญ่เป็นมือเก่า เช่น เกร็ก เลอมองด์ (Greg LeMond) แชมป์เก่า 3 สมัย
จากสหรัฐฯ และโลร็อง ฟีญอง (Laurent Fignon) แชมป์เก่า 2 สมัยจากฝรั่งเศส เป็นต้น

การแข่งขันช่วง 2 สัปดาห์แรก อินดูเรียนออมแรงปล่อยให้พวกตัวนำขับเคี่ยวกันจนหมดพละกำลัง
ที่ต้องใช้ในการแข่งตลอด 3 สัปดาห์ และเมื่อการแข่งขันถึงวันที่ต้องข้ามเขาสูง 5 ลูกในเทือกเขาปิรีนิส
(Pyrenees) อินดูเรียนจึงเริ่มแสดงฝีมือ เมื่อจบการแข่งขันวันนั้น แชมป์เก่าทั้งสองคนก็บอบช้ำจนหมดรูป
และเมื่อถึงการแข่งขันวันสุดท้าย อินดูเรียนก็ลอยลำสู่ชัยชนะที่กรุงปารีสอย่างขาวสะอาด

อินดูเรียนตอบคำถามของบรรดาผู้สื่อขาวกีฬาอย่างสุภาพและถ่อมตน หลังจากนั้นก็ขอตัวไปโทรศัพท์
ถึงแม่ นักข่าวหัวเห็ดตามตัวจนพบคุณแม่แชมป์คนใหม่และสัมภาษณ์ผู้เป็นแม่ถึงเรื่องที่นางพูดคุยกับลูกชาย
ทางโทรศัพท์หลังได้รับชัยชนะ นักข่าวถามว่ามีการพูดคุยกันถึงเรื่องเงินรางวัล 400,000 ฟรังค์
(ราว 2 ล้านบาทในขณะนั้น) หรือแลกเปลี่ยนความปลาบปลื้มใจในชัยชนะใช่หรือไม่...

ผู้เป็นแม่ตอบว่า “เปล่าเลย ลูกมิเกลอยากรู้เรื่องเดียวคือถามแม่ว่า แม่เก็บข้าวบาร์เลย์เข้าไว้ในยุ้ง
ที่บ้านเสร็จหรือยังเท่านั้นเอง”

เรื่องเล่านี้ช่วยย้ำตำนานการเป็นลูกชาวนาของอินดูเรียน หลังจากนั้นในปีต่อๆ มา อินดูเรียนก็ชนะ
รายการนี้อีก คณะกรรมการจัดการแข่งขันพยายามศึกษาจุดอ่อนของเขา แล้วก็เปลี่ยนทางทุกปีให้ยากขึ้น
เพราะไม่ต้องการให้แชมป์ชาวสเปนคว้าชัยชนะได้ง่ายเกินไป แต่อินดูเรียนก็ยังคงชนะอีก

หลุยส์ โกเมซ ผู้สื่อข่าวชาวโปรตุเกสเคยติดตามอินดูเรียนอย่างใกล้ชิดระหว่างการแข่งขันปี 2537
เขาถึงกับออกปากว่า “อินดูเรียนเป็นนักปั่นที่มุ่งมั่นเพื่อความเป็นเลิศอย่างที่สุด และเป็นมืออาชีพ
100 เปอร์เซ็นต์”

ในวันพักระหว่างการแข่งขัน ขณะที่คู่แข่งพักเอาแรง อินดูเรียนกลับเดินทางสำรวจเส้นทางที่จะใช้
แข่งขันอย่างถี่ถ้วน ไม่มีโค้งอันตรายโค้งใด หรือแม้แต่รอยแตกตามทางเท้ารอยใดที่หลงหูหลงตาเขาไปได้

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 30, 2023 8:12 pm

น่องเหล็กเจ้าถนน ตอนที่ ( 3 ) (ตอนจบ)
เรื่องจริงจากหนังสือสรรสาระฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 โดย Charles Parmiter
และจากวิกิปีเดีย รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ระหว่างการแข่งขันวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ในช่วงลงเขาระยะ 2,115 เมตรจาก “Col du Tourmalet”
ตอนกลางของเทือกเขาปิรีนิส อยู่ดีๆอินดูเรียนก็เร่งความเร็วเป็นช่วงๆ ตามที่ได้คำนวณไว้จนทิ้งคู่แข่งคนอื่น
ที่กำลังงงอยู่เสียไกลลิบ เขาปราบผู้ท้าชิงโทนี่ โรมิงเกอร์ (Tony Rominger) ชาวสวิสซึ่งเป็นตัวเต็งหน้าใหม่
จนราบคาบ เย็นวันนั้น โรมิงเกอร์มีอาการเหนื่อยล้าและเป็นตะคริวที่ท้องจนต้องออกจากการแข่งขันไป

อินดูเรียนคำนวณการแซงในวันนั้นไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียด เขาจำตำแหน่งที่มีจังหวะแซงเป็นอย่างดี
และเก็บคะแนนจากการแซงทีละน้อยจนรวบรวมเป็นชัยชนะได้ในที่สุด
หลังจากชนะ 4 ปีซ้อน อินดูเรียนก็ไม่พ้นมีศัตรู มีคนไปปล่อยข่าวกับหนังสือพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2537 ว่า
อินดูเรียนไม่ผ่านการตรวจสอบการใช้ยาที่ฝรั่งเศส การใช้ยาเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก นักปั่นที่เพียงถูก
สงสัยว่าใช้ยาช่วย อาจหมดอนาคตในวงการกีฬาไปตลอดชีวิต

ตัวยาที่ตรวจพบคือยาซัลบูตามอล (Salbutamol) ซึ่งอินดูเรียนใช้รักษาโรคภูมิแพ้ แม้การใช้ยานี้จะ
ได้รับอนุมัติเป็นกรณีๆไปจากสมาพันธ์กีฬาจักรยานสากล แต่กฎหมายฝรั่งเศสก็ระบุว่าอินดูเรียนต้องได้รับ
อนุญาตเป็นพิเศษจากแพทย์เสียก่อน สมาพันธ์กีฬาจักรยานแห่งฝรั่งเศสกำหนดให้มีการสอบสวน
ในวันที่ 6 กันยายน 2537

ขณะที่เรื่องนี้เป็นข่าว อินดูเรียนอยู่บนลู่แข่งสนามอินดอร์ที่เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส เขากำลัง
พยายามทำลายสถิติระยะทางไกลสุดในเวลา 1 ชั่วโมง นับเป็นการแข่งขันที่ท้าทาย “ความตั้งใจ” ครั้งสำคัญ
ที่สุด และเป็นผลการแข่งขันที่งดงามที่สุดในชีวิตของเขาเช่นกัน วันที่ 2 กันยายน เขาสร้างสถิติโลกอย่าง
สวยงามด้วยระยะทาง 53.040 กิโลเมตร

4 วันต่อมา อินดูเรียนก็ปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมการสมาพันธ์ในปารีส ที่ประชุมรับทราบอย่างเป็น
ทางการว่า หมอโฮเซ่ คาลาบูอิกเป็นผู้สั่งยาให้อินดูเรียนจริง ทางสมาพันธ์จึงยกฟ้องในที่สุด
คำถามที่บรรดาผู้สื่อข่าวชอบถามได้แก่ “เคล็ดลับ”ความสำเร็จของอินดูเรียนคืออะไร และคำตอบของเขา
ก็คือเขาอุทิศตนทั้งกายใจให้กับกีฬานี้ มีนักกีฬาน้อยคนนักที่อดใจไม่เที่ยวเตร่สักคืนเพื่อแก้เบื่อที่ต้องซ้อม
หนักตลอดเวลา แต่สำหรับอินดูเรียนแล้ว การได้ออกไปกินข้าวเย็นที่บ้านพ่อแม่ก็ถือเป็นการเที่ยวที่ยอด
เยี่ยมแล้ว และตัวเขาเองก็ดื่มไวน์เพียง 2-3 แก้วระหว่างอาหารเท่านั้น...

“ไวน์ช่วยเรื่องความดันครับ” เขาอธิบาย

อินดูเรียนมีความเป็นอยู่เรียบง่าย นอกจากการพักผ่อนกับภรรยานอกฤดูแข่งขันแล้ว เขามีจักรยาน
เป็นลมหายใจ แต่ละปีอินดูเรียนปั่นจักรยานเพื่อแข่งและฝึกหนักเป็นระยะทาง 30,000 กิโลเมตร เมื่อมีผู้
ถามเขาว่า “ชอบทำอะไรในยามว่าง” เขาตอบเรียบๆว่า “ปั่นจักรยานครับ ตอนแรกจักรยานเป็นแค่งาน
อดิเรก แต่ตอนนี้มันกลายเป็นชีวิตผมไปแล้ว ในชีวิตยังมีเรื่องอื่นๆที่ผมอยากทำอีกมาก ไว้รอให้เสร็จ
จากจักรยานก่อน ผมจึงค่อยหาเวลาไปทำเรื่องพวกนั้นบ้าง”

อินดูเรียนเป็นคนแรกที่ชนะการแข่งจักรยาน “Tour de France” 5 ปีติดต่อกัน (2534-2538)
เขาเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ “มิเกล อินดูเรียน” (Miguel Induráin Foundation) ในปี 2541 เพื่อส่งเสริมกีฬาใน
ภูมิภาคนาวาร์รา บ้านเกิดของเขา และทำงานร่วมกับคณะกรรมการโอลิมปิกของสเปนเพื่อส่งเสริมผู้สมัคร
รับเลือกตั้งของเซบีญา (Sevilla's candidature) สำหรับโอลิมปิก 2547 อินดูเรียนยังคงขี่จักรยาน 3-4 ครั้ง
ทุกสัปดาห์ และเข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานเช่น L'Étape du Tour, Mallorca312 และ
Cape Argus Pick & Pay Cycle Tour ในเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ เป็นต้น

อินดูเรียนกล่าวว่าชายที่เขาประทับใจมากที่สุดคือสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งเขาได้
แสดงออกด้วยการถวายเสื้อสีเหลือง (yellow jersey) จาก Tour de France และเสื้อสีชมพู (pink jersey)
จากการแข่งขันจักรยาน “Giro d'Italia” ของอิตาลีแด่พระองค์ ซึ่งปกตินักปั่นจักรยานในตำนานจะไม่มีวัน
ยอมสละสมบัติของแท้ดังกล่าวไปเป็น“ของสะสม” (collection) ของผู้อื่น

****************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 30, 2023 8:17 pm

……………พวกเขาพรากชีวิตผมไป มีทั้งหมด ( 4 )ตอนจบ


พวกเขาพรากชีวิตผมไป ตอนที่ ( 1 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004 โดย แกรม บั๊ก
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

หลังจากใช้เวลานานหลายปีในเรือนจำ เดวิด เชปเพิร์ดเปลี่ยนไปและโลกรอบตัวเขาก็เปลี่ยน
ไปด้วยในเวลาเพียงไม่กี่วัน ความยินดีที่ได้เสรีภาพกลับคืนมาก็จางหายไปกลายเป็นความหวาดระแวง
ที่เกาะกุมจิตใจจนทำอะไรไม่ได้ เขาไม่กล้าออกนอกบ้านอยู่หลายสัปดาห์ และเมื่อทำใจออกจากบ้านได้
ก็จะเก็บตั๋วรถประจำทางไว้เผื่อต้องใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าตัวเองไปที่ไหนมาบ้าง “ผมต้องการใช้ชีวิต
เหมือนเดิม แต่กลัวจะเกิดเรื่องซ้ำรอยอีก” เดวิดบอก เดวิดถูกจำคุก 12 ปีหลังศาลพิพากษาผิดตัวและ
ลงโทษเขาในข้อหาข่มขืนหญิงวัย 19 ปี การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) สมัยใหม่พิสูจน์ในภายหลังว่าเขา
บริสุทธิ์ วิบากกรรมของเขาเริ่มจากถูกจับกุมในที่ทำงาน พลัดพรากจากภรรยาและลูกชายแบเบาะ ทั้งยัง
ถูกจำคุกอีก 12 ปี ดังนั้นการเริ่มต้นชีวิตใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

9 ปีหลังจากได้รับอิสรภาพ เดวิดในวัย 41 ยังไม่สามารถสลัดความกลัวที่ว่า ถ้าเรื่องเกิดขึ้นได้หนหนึ่ง
ก็อาจเกิดซ้ำได้อีก นับถึงขณะที่เขียนเรื่องนี้ มีนักโทษ 143 คนในเรือนจำทั่วสหรัฐฯ ที่ได้รับการปล่อยตัว
โดยอาศัยหลักฐานดีเอ็นเอ 13 คนในจำนวน 143 คนนี้ต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต การกลับคำพิพากษา
ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในระบบศาลและยืนยันความจริงอันน่าเจ็บปวดที่ว่า ไม่อาจมีสิ่งใดมาชดเชย
ช่วงชีวิตที่สูญเสียไปได้ การให้เงินชดเชยไม่ว่าจะจำนวนมากเท่าใด รวมทั้งการฝึกงานหรือการให้คำปรึกษา
ล้วนไม่อาจประกันได้เลยว่า ชายบริสุทธิ์ผู้ถูกคุมขังมานานหลายปีจะสามารถหวนคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น

“คุกทำให้คนสุขภาพดีๆกลายเป็นคนเสียสติได้ นักโทษส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมื่อพ้นโทษจะหวนคืน
สู่ชีวิตเดิมได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์กล่าว

เมื่อพ่อของเดวิดทิ้งครอบครัวไป แม่ต้องเลี้ยงดูลูก 3 คนด้วยการทำงานสองกะ พอเดวิดเรียนชั้นมัธยม
ก็ต้องหยุดกลางคันเพื่อมาดูแลน้องสาวทั้งที่เขาเป็นเด็กเรียนดีและมุ่งจะเรียนต่อ “ผมพยายามใช้เวลาว่าง
ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดและไม่ชอบอยู่เฉยๆ” เดวิดบอก เขาอาสาทำงานในโครงการตรวจตราพื้นที่ละ
แวกบ้านจึงได้พบกับเพื่อนอาสาสมัครหญิงชื่อเอริกา แคลโลเวย์ ซึ่งแต่งงานกับเขาในเวลาต่อมา
ไม่นานหลังจากทั้งสองเริ่มคบหากัน เดวิดได้งานที่สนามบินนานาชาติ ปลายปี 2526 เดวิดวัย 20 ปีได้เลื่อน
เป็นหัวหน้ากะ ขณะที่เอริกาเพิ่งคลอดลูกชาย สองสามีภรรยาตั้งใจจะซื้อบ้านเป็นของตนเอง

“เรากำลังจะสร้างอนาคตด้วยกัน” เอริกาบอก

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 01, 2024 10:44 pm

พวกเขาพรากชีวิตผมไป ตอนที่ ( 2 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004 โดย แกรม บั๊ก
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เช้าวันหนึ่งในเดือนธันวาคม เดวิดตอกบัตรหลังเลิกงานกะกลางคืนและเดินไปที่รถ นักสืบ 2-3 คน
เรียกให้เขาหยุดเพื่อสอบถามเรื่องรถยนต์ถูกขโมย เขานั่งรถไปสถานีตำรวจกับชายกลุ่มนั้นและถูกบังคับ
ให้สารภาพข้อหาขโมยรถยนต์และข่มขืนผู้หญิง ตำรวจบอกเขาว่าหญิงวัยรุ่นผิวขาวถูกชายผิวดำ 2 คน
ลักพาตัวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม และถูกบังคับให้ขึ้นรถซึ่งขับไปยังที่เปลี่ยวก่อนจะถูกทุบตี ข่มขืน
และโยนลงข้างถนน

เมื่อนักสืบเริ่มซักเขาว่าไปไหนมาบ้างในวันที่ 24 ธันวาคม เดวิดตอบตะกุกตะกัก ตอนแรกบอกว่า
ออกไปนอกบ้านกับภรรยา ต่อมาจำได้ว่าเขาดูแลหลานสาวอยู่ที่บ้าน “พวกเขาสอบสวนผมนานเกือบ
6 ชั่วโมงและพูดย้ำทุกอย่างที่ผมพูด 3 หน ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเข้าเรื่องสักอย่าง” เดวิดเล่า

แต่ตำรวจสามารถรวบรวมหลักฐานได้มากพอที่จะเชื่อมเดวิดเข้ากับคดีอาชญากรรมได้ ตำรวจ
พาเหยื่อสาวไปที่ทำงานของเขา และเธอชี้ตัวระบุว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ข่มขืนเธอ

หลังจากได้หมายจับเดวิดในข้อหาละเมิดทางเพศจนได้รับอันตรายสาหัส ลักพาตัวและโจรกรรม
ตำรวจอนุญาตให้เขาโทรศัพท์ถึงแม่และภรรยาเพื่อเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น จากนั้นก็นำเขาไปเข้าห้องขังแล้ว
ใส่กุญแจ

หลายสัปดาห์ต่อมา ผลการตรวจอสุจิระบุว่า น้ำเชื้อที่พบในรถของเหยื่อสาวตรงกับกลุ่มเลือด
ของเดวิด ระหว่างการพิจารณาคดีนาน 1 สัปดาห์ช่วงปลายปี 2527 เดวิดกับแม่ขึ้นให้การและร้องเรียนว่า
ไม่ได้รับความยุติธรรม แต่หลังจากเหยื่อสาวชี้ตัวเดวิดซ้ำอีกครั้งว่าเป็นผู้ทำร้ายเธอ ทนายและผู้พิพากษา
ก็แนะให้เขารับสารภาพเพื่อจะได้รับการลดหย่อนโทษ แต่เดวิดไม่ยอม พอผู้พิพากษาตัดสินจำคุก 30 ปี
โลกของเดวิดก็พังพินาศ

สภาพโหดร้ายภายในเรือนจำทำให้เดวิดไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเอง นักโทษข่มขืนถูกจัดอยู่
ในกลุ่มชั้นต่ำ เขาตกเป็นเป้าตั้งแต่วันแรก นักโทษกลุ่มหนึ่งใช้คานยกน้ำหนักรุมตีเดวิดในโรงยิม

นักโทษอีกคนใช้ใบมีดโกนกรีดเนื้อเขา อีกคนขโมยอาหารและบุหรี่ของเขาเป็นประจำ
ในที่สุด นักโทษคร่ำหวอดคนหนึ่งแนะนำให้เดวิดลุกขึ้นสู้ถ้ายังไม่อยากตาย เขาจึงได้คิดและคว้าถาดอ
าหารฟาดศีรษะขโมยที่เข้ามาใกล้

“คุกเปลี่ยนคน ถ้าทำตัวหงอก็คงโดนรังแกตลอดไป” เดวิดบอก

เดวิดพยายามทำความเข้าใจโทษทัณฑ์ที่ได้รับและยื่นขออุทธรณ์อย่างต่อเนื่องพร้อมกับเลิกหวังว่าจะได้
รับความเห็นใจ เขาหันมาสร้างชีวิตในเรือนจำด้วยการเรียนต่อจนจบมัธยมปลายและทำงานในห้องซักรีด

ระหว่างนั้นสายสัมพันธ์กับโลกภายนอกก็ค่อยๆขาดหายไป เขาไม่ให้แม่กับน้องสาวมาเยี่ยมนานเป็น
เดือนๆ และบอกให้ภรรยาเลือกดำเนินชีวิตตามที่ต้องการ เธอจึงเริ่มคบหาชายอื่นบ้างทั้งที่ไม่เต็มใจนัก
เดวิดเฝ้ามองลูกชายเติบโตแม้ว่าการมาเยี่ยมในวันเสาร์จะมีแต่ความอึดอัด “เราไม่ได้รู้จักกันดีนัก”
ลูกชายวัย 20 ปีเล่า

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ม.ค. 01, 2024 10:49 pm

พวกเขาพรากชีวิตผมไป ตอนที่ ( 3 )
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004 โดย แกรม บั๊ก
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

วันหนึ่ง ขณะทำงานอยู่ที่ห้องสมุดเรือนจำ เดวิดอ่านพบคดีของนักโทษข้อหาข่มขืนคนแรก
ในสหรัฐฯที่ใช้หลักฐานทางดีเอ็นเอช่วยให้ตัวเองพ้นผิดเมื่อปี 2532 เดวิดพยายามทำความเข้าใจ
ข้อมูลทางเทคนิคและกฎหมายในคดี และในปี 2535 เมื่อศาลอนุญาตให้ใช้หลักฐานดีเอ็นเอในการ
อุทธรณ์ เขาจึงยื่นคำร้องขอตรวจสอบหลักฐานทางชีววิทยาที่พบในที่เกิดเหตุคดีของเขาโดย
ใช้ดีเอ็นเอ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวยังเก็บอยู่ในตู้เซฟของตำรวจ

สามปีต่อมา คำร้องของเขาได้รับการอนุมัติและมีการตรวจสอบตามข้อเสนอ ผลลัพธ์ที่ออกมา
ชัดเจนแจ่มแจ้ง ตัวอย่างอสุจิชี้ชัดว่า มีดีเอ็นเอ 2 ชุดต่างกัน ซึ่งหมายถึงมีคนร้าย 2 คน แต่จากการ
ตรวจสอบซึ่งมั่นใจในความถูกต้องได้เกือบ 100% ไม่พบว่า มีชุดใดเลยที่ตรงกับดีเอ็นเอของเดวิด
อัยการจึงเสนอขอถอนทุกข้อหา แล้วเดวิดก็ได้รับอิสรภาพ

เดวิดกลับไปอยู่บ้านแม่ได้ไม่นานก็ย้ายออกมาอยู่กับภรรยาซึ่งเชื่อมาโดยตลอดว่าเขาบริสุทธิ์
เดวิดได้งานเป็นภารโรง เมื่อมีเงินในกระเป๋าก็ใช้โดยไม่คิดหน้าคิดหลังเพื่อชดเชยทุกสิ่งที่ไม่เคยได้รับ
ช่วงถูกจองจำ เขาเริ่มกลับบ้านดึกและขาดงาน “ผมรู้สึกเหมือนตัวเองกลับไปมีอายุ 19 อีกครั้ง” เดวิดบอก

“น่าจะมีใครสักคนหยุดผมและบอกให้ผมใจเย็นลง”

เดวิดถูกเล่นงานอีกครั้งในปี 2539 เมื่อรัฐพยายามเรียกเงินคืน 16,000 เหรียญที่สำนักสวัสดิการจ่ายให้
ภรรยาของเขาเป็นค่าเลี้ยงดูลูกชายในช่วงที่เขาถูกคุมขัง โดยอ้างว่า เมื่อนักโทษกลับไปทำงานใหม่ก็ต้อง
เป็นฝ่ายรับผิดชอบเงินค่าเลี้ยงดูบุตรที่มิได้จ่ายขณะถูกคุมขัง

“พวกเขายังไม่สะใจที่เอาเวลา 12 ปีไปจากชีวิตผม แต่อยากได้มากกว่านั้น” เดวิดบอกเมื่อต้องขึ้นศาลอีกครั้ง
ทนายแย้งว่า ไม่ควรลงโทษเดวิดเนื่องจากเขาถูกจำคุกโดยมิชอบ จากนั้นคำถามที่ตามมาคือ “ใครควรเป็น
ผู้จ่ายและจ่ายอย่างไรเพื่อชดเชยความผิดพลาดที่ทำให้เดวิดสูญเสียเวลาแห่งชีวิตไปนานถึง 12 ปี”

เขากับทนายตรวจสอบความเป็นไปได้ในการยื่นฟ้องทางแพ่ง แต่ปรากฏว่ามิได้มีใครปฏิบัติหน้าที่โดย
มีเจตนามุ่งร้าย (ตำรวจเชื่อคำให้การผิดๆของเหยื่อสาวผู้เคราะห์ร้าย) และยังไม่มีการตรวจสอบด้วยดีเอ็นเอ
ช่วงที่เดวิดถูกพิจารณาคดี การอ้างเหตุว่า ประมาทละเลยจึงฟังไม่ขึ้น

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 04, 2024 2:41 pm

พวกเขาพรากชีวิตผมไป ตอนที่ ( 4 ) (ตอนจบ)
จากหนังสือสรรสาระ ฉบับเดือนสิงหาคม 2547/2004 โดย แกรม บั๊ก
รวบรวมโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เดวิดพยายามอยู่นาน 2 ปีในการผลักดันให้สภานิติบัญญัติของรัฐออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้ที่
ถูกจำคุกในคดีซึ่งตัวเองมิได้ก่อได้รับค่าตอบแทนอย่างน้อย 2 เท่าของจำนวนเงินเดือนต่อปีที่เคยได้
รับก่อนต้องโทษ ทั้งนี้ตลอดช่วงเวลาที่ถูกจำคุก ร่างกฎหมายชดเชยผ่านสภาวันที่ 25 สิงหาคม 2540
ที่สุด เดวิดยอมรับเงินชดเชยรวม 240,000 เหรียญ

เงินที่ได้ละลายไปภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นค่าธรรมเนียมทางกฎหมายและจ่ายคืนหนี้
ให้แม่กับน้องสาวซึ่งเสียชีวิตทั้งคู่หลังจากเขาได้รับอิสรภาพไม่นาน ที่เหลือใช้จ่ายเป็นค่าตกแต่งห้อง
ที่บ้านพ่อแม่ของภรรยาซึ่งเขาใช้เป็นที่อาศัยอยู่กับภรรยา ลูก และหลานสาว

ในปี 2540 เดวิดออกจากงานภารโรง ตอนนั้นเขาเลิกดื่มและเลิกใช้จ่ายมือเติบ อีกทั้งมีความหวัง
ว่าจะได้งานที่มั่นคงกว่าเดิม แต่ช่วงเวลาที่หายไป 12 ปีในใบประวัติส่วนตัว ทำให้ผู้ที่คิดจะจ้างเขาข้องใจ
สงสัย ท้ายสุด เขาได้งานที่สำนักงานทนายความประชาชน แต่ก็ถูกปลดจากงานอีกครั้งในช่วงเศรษฐกิจ
ทรุดไม่นานต่อมา เดวิดจึงไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากไปรับลูกสาวและหลานจากโรงเรียนหรือ
ไปดูลูกชายเล่นฟุตบอล โรคไขข้อรูมาตอยด์ซึ่งเป็นผลจากการทำงานนานๆในแต่ละวันที่ห้องซักรีดของ
เรือนจำคอยรบกวนเขาอยู่บ่อยๆ สภาพเหล่านี้ทำให้เขาใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งอยู่ในอพาร์ทเมนท์

“ที่จริงตอนนั้นก็เหมือนกับอยู่ในห้องขังอีกครั้ง” เขาพูดถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้นเมื่อมองย้อนกลับไป
และยอมรับว่าจิตใจหดหู่มากจนอยากเข้ารับการบำบัด

ระยะหลัง เดวิดเริ่มลงมือทำลายกำแพงที่ “คุมขัง”เขา ต้นปีที่ผ่านมา เขากับภรรยาเข้าร่วมการประชุม
สำหรับผู้ที่พ้นความรับผิดด้วยกระบวนวิธีตรวจสอบดีเอ็นเอ เดวิดซึ่งเป็นหนึ่งในอดีตนักโทษผิดตัวที่ได้รับ
อิสรภาพนานที่สุด กลายเป็นที่ปรึกษาในเรื่องนี้ไปโดยปริยาย “วิธีฟันฝ่าอุปสรรคคือต้องค่อยๆแก้ปัญหา
ที่ละเปลาะ” เขาแนะบรรดาอดีตนักโทษ

ราว 2 สัปดาห์ต่อมา เดวิดหัวใจล้มเหลว แต่ก็ฟื้นสภาพมาได้จึงต้องกินยาลดความดันโลหิต อีกทั้ง
ต้องฉีดยาเข้าหัวเข่าเพื่อลดอาการปวดจากโรคไขข้ออักเสบ นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่สภาพจิตของ
เดวิดเป็นปกติอีกครั้ง และท้ายที่สุดก็ได้งานค่อนข้างดีที่สำนักงานสวัสดิการท้องที่โดยทำหน้าที่ประเมิน
ครอบครัวที่สมัครขอรับความช่วยเหลือ เดวิดตั้งใจว่าเมื่อเกษียณอายุจากงาน จะพาครอบครัวไปอยู่รัฐ
ฟลอริดาหรือแคลิฟอร์เนียซึ่งอากาศอบอุ่นกว่าที่อยู่ในปัจจุบัน เขายังอยากเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ก็เป็นครู
ฝึกฟุตบอล แต่จะไม่รีบเร่ง แม้ชีวิตที่ผ่านมาจะเดินช้ากว่าปกติ

“ผมจะเดินไปจนถึงจุดหมาย” เขาบอก “อาจใช้เวลานานกว่าคนอื่น แต่ผมก็จะไปจนถึงจุดนั้น
ผมยังมีเวลาอีกทั้งชีวิต”

**********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 04, 2024 2:47 pm

……………อุปมาเรื่องโดนัทกับความรอดพ้น มีทั้งหมด ( 3 )ตอนจบ


อุปมาเรื่องโดนัทกับความรอดพ้น ตอนที่ (1)
แปลจากเรื่อง The Parable of the Push-Ups and Donuts โดย กอบกิจ ครุวรรณ

มีศาสตราจารย์ด้านศาสนาคนหนึ่งชื่อ ดร. คริสเตียนสัน (Dr. Christianson) สอนที่มหาวิทยาลัย
เล็กๆ แห่งหนึ่งทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ท่านสอนวิชา “การสำรวจเกี่ยวกับศาสนาคริสต์” ซึ่งเป็น
วิชาบังคับที่นักศึกษาปีแรกทุกคนไม่ว่าจะเรียนวิชาเอกอะไรก็ต้องเรียนวิชานี้ แม้ว่าท่านได้พยายาม
อย่างหนักเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจแก่นแท้ของพระวรสารในชั้นเรียนของท่าน แต่กลับพบว่านักศึกษา
ส่วนใหญ่มองว่าวิชานี้เป็นเรื่องไร้สาระ และปฏิเสธที่จะนับถือศาสนาคริสต์ด้วยใจจริง

อย่างไรก็ตาม สำหรับปีการศึกษาใหม่นี้ ดร. คริสเตียนสันมีนักศึกษาน้องใหม่ที่มีบุคลิกพิเศษคนหนึ่ง
ชื่อสตีฟ แม้เขาเป็นเพียงน้องใหม่แต่ก็เรียนวิชานี้ด้วยความตั้งใจเกินร้อย เพื่อนๆ ชื่นชอบที่เห็นเขา
มีรูปร่างสมส่วนและเป็นนักกีฬาที่น่าเกรงขาม เป็นดารานำร่วมอยู่ในทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยและ
เป็นนักศึกษาที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชั้นเรียนของ ดร. คริสเตียนสัน

วันหนึ่ง ดร. คริสเตียนสันขอให้สตีฟอยู่หลังเลิกเรียนเพื่อจะพูดคุยกับเขาและถามเขาว่า

"เธอสามารถวิดพื้นได้กี่ครั้ง"

สตีฟตอบว่า "ผมทำประมาณ 200 ครั้งทุกคืน"

"200 ครั้งเชียวหรือ ? ดีมาก สตีฟ" และถามต่อไปว่า "เธอคิดว่าเธอจะทำได้ถึง 300 ครั้งไหม"

สตีฟตอบว่า "ไม่ทราบครับ...ผมไม่เคยวิดพื้นถึง 300 ครั้งมาก่อน"

"เธอคิดว่าเธอจะทำได้ไหมล่ะ" ดร. คริสเตียนสันถามอีกครั้ง

"ผมจะลองดูก่อนครับ" สตีฟตอบ

"ถ้าเธอมั่นใจว่าทำได้ 300 ครั้งโดยแบ่งเป็นเซ็ตละ 10 ครั้งละก็ ฉันมีแผนการสอนเรียนแนวใหม่อยู่
ในใจ และอยากให้เธอร่วมมือด้วยการวิดพื้นรวมประมาณ 300 ครั้งโดยแบ่งทำเป็นเซ็ตละ 10 ครั้ง
ฉันขอให้เธอรับปากว่าจะร่วมมือช่วยฉันด้วย” อาจารย์พูด

สตีฟพูดว่า "อืม...ผมคิดว่าผมทำได้...ตกลงครับ ผมจะช่วยแผนการสอนใหม่ของอาจารย์ให้สำเร็จครับ"

ดร. คริสเตียนสันพูดตอบว่า "ดีมาก! ฉันจะให้เธอวิดพื้นตามที่ตกลงกันนี้ในวันศุกร์หน้า แล้วฉันจะอธิบาย
แผนการสอนของฉันให้เธอและนักศึกษาทุกคนทราบพร้อมกันในวันนั้น"

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 04, 2024 2:52 pm

อุปมาเรื่องโดนัทกับความรอดพ้น ตอนที่ ( 2 )
แปลจากเรื่อง The Parable of the Push-Ups and Donuts โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อถึงวันศุกร์ต่อมาซึ่งเป็นวันเรียนสุดท้ายของทุกสัปดาห์มาถึง ในชั่วโมงเรียนสุดท้ายของวัน
สตีฟเข้าชั้นเรียนและนั่งอยู่แถวหน้าเช่นเคย ดร. คริสเตียนสันอาจารย์ผู้สอนเข้าสอนพร้อมกับแบกกล่อง
โดนัทขนาดใหญ่หลายกล่อง ข้างในแต่ละกล่องมีโดนัทขนาดพิเศษฉาบหน้าด้วยน้ำตาลไอซิ่งและมีครีม
ประดับตรงกลางของส่วนบนทุกก้อน

ทุกคนค่อนข้างตื่นเต้นและคิดกันว่า พวกเขาคงมีงานปาร์ตี้ฉลองวันหยุดสุดสัปดาห์ในชั้นเรียนนี้เป็นแน่

ดร. คริสเตียนสันหันไปที่นักศึกษาหญิงคนแรกในแถวแรกและถามว่า "ซินเทีย เธออยากได้โดนัทสักชิ้นไหม"

ซินเทียพูดตอบว่า "อยากได้สิคะ"

จากนั้น ดร.คริสเตียนสันก็หันไปที่สตีฟและถามเขาว่า

"สตีฟ เธอจะวิดพื้น 10 ครั้งเพื่อที่ซินเธียจะได้กินโดนัทได้ไหม"

"ด้วยความเต็มใจครับ" สตีฟรีบออกมาจากแถวนั่งข้าง ๆ และวิดพื้น 10 ครั้งอย่างรวดเร็ว จากนั้นสตีฟ
ก็กลับไปนั่งที่เดิมของเขา

ดร.คริสเตียนสันวางโดนัทชิ้นหนึ่งไว้บนโต๊ะของซินเทีย ก่อนจะหันหาโจที่นั่งอยู่ถัดซินเทียไป แล้วถามว่า

"โจ เธออยากได้โดนัทไหม"

โจตอบว่า "อยากสิครับอาจารย์"

ดร. คริสเตียนสันถามว่า "สตีฟ เธอจะวิดพื้น 10 ครั้งเพื่อที่โจจะได้กินโดนัทได้ไหม"

จากนั้น สตีฟก็ออกมาวิดพื้น 10 ครั้ง และโจก็มีโดนัทวางอยู่ที่โต๊ะของเขา 1 ชิ้น

ดร. คริสเตียนสันถามสตีฟเหมือนเดิมและสตีฟก็วิดพื้น 10 ครั้งสำหรับเพื่อนนักศึกษาแถวหน้าจนทุกคน
ได้รับโดนัทคนละ 1 ชิ้นวางอยู่บนโต๊ะของตน ...เหตุการณ์ยังคงดำเนินต่อไปสำหรับนักศึกษาในแถว
ที่สอง จนกระทั่งมาถึงนักศึกษาชื่อสก็อตซึ่งเป็นนักกีฬาอยู่ในทีมบาสเก็ตบอลของมหาวิทยาลัย สก็อต
แข็งแรงพอ ๆ กับสตีฟแถมยังเป็นดาราในหมู่สาวๆ อีกด้วย เมื่อถูกถามว่า "สก็อต เธออยากได้โดนัทไหม"

คำตอบของสก็อตคือ "อยากได้ครับ แต่ผมขอวิดพื้นเองครับ"

ดร. คริสเตียนสันตอบว่า "ไม่ได้หรอก สตีฟต้องเป็นคนวิดพื้นเท่านั้น"

สก็อตจึงพูดว่า "ถ้าอย่างนั้น ผมไม่เอาโดนัทครับ"

ดร. คริสเตียนสันยักไหล่แล้วหันไปที่สตีฟอีก ก่อนจะพูดขึ้นว่า "สตีฟ เธอจะวิดพื้น 10 ครั้งเพื่อสก็อตที่จะมี
โดนัทที่เขาไม่ต้องการได้ไหม"

สตีฟเริ่มวิดพื้น 10 ครั้งตามที่เคยรับปากไว้ว่าจะวิดพื้นตามแผนการสอนแนวใหม่ของอาจารย์

ขณะที่อาจารย์กำลังจะวางโดนัทไว้บนโต๊ะของสก็อต ๆ พูดย้ำขึ้นว่า "ไม่นะ ผมบอกแล้วว่า ผมไม่เอา
โดนัทนะครับ อาจารย์!"

ดร. คริสเตียนสันจึงพูดตอบว่า "ฟังนะสก็อต นี่เป็นห้องเรียนที่ฉันกำลังสอนอยู่ และโดนัททั้งหมดในกล่อง
ก็เป็นของฉัน ถ้าเธอไม่อยากได้ก็ปล่อยทิ้งไว้บนโต๊ะก็ได้นี่" และอาจารย์ก็วางโดนัท 1 ชิ้นไว้บนโต๊ะของสก็อต

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ม.ค. 05, 2024 10:54 pm

อุปมาเรื่องโดนัทกับความรอดพ้น ตอนที่ ( 3 ) (ตอนจบ)
แปลจากเรื่อง The Parable of the Push-Ups and Donuts โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ถึงตอนนี้ สตีฟเริ่มวิดพื้นได้ช้าลงกว่าเดิมเล็กน้อย ทุกคนเริ่มเห็นเม็ดเหงื่อผุดขึ้นที่รอบๆ
คิ้วทั้งสองข้างของเขา ดร. คริสเตียนสันยังคงทำเช่นเดิม และเมื่อถึงนักศึกษาแถวที่สาม พวกเขา
เริ่มแสดงอาการไม่พอใจกับสิ่งที่อาจารย์กำลังทำอยู่

อย่างไรก็ตาม ดร. คริสเตียนสันยังคงรักษาอารมณ์ที่เยือกเย็นของท่านต่อไป และก็ถามเจนนี่ที่อยู่
ในแถวที่สามว่า "เจนนี่ เธออยากได้โดนัทไหม"

เจนนี่ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "ไม่ค่ะ" จากนั้น ดร. คริสเตียนสันก็ถามสตีฟเช่นเดิมว่า "สตีฟ เธอ
จะวิดพื้นอีก 10 ครั้งได้ไหม เพื่อเจนนี่ที่จะมีโดนัทที่เธอไม่ต้องการ" ...

แล้วสตีฟก็วิดพื้น 10 ครั้งก่อนที่บนโต๊ะของเจนนี่จะมีโดนัทวางอยู่ 1 ชิ้น

ถึงตอนนี้ นักศึกษาทั้งห้องรู้สึกอึดอัดและเริ่มปฏิเสธไม่ต้องการโดนัท แต่ก็ยังคงมีโดนัท 1 ชิ้นวางที่หน้า
โต๊ะของแต่ละคน ขณะที่สตีฟต้องใช้ความพยายามวิดพื้นมากขึ้น เหงื่อที่ไหลเต็มใบหน้าของเขาและ
เริ่มหยดลงบนพื้นห้อง

เมื่อถึงแถวที่สี่ ดร. คริสเตียนสัน เริ่มรู้สึกเป็นกังวลว่าสตีฟจะทำตามแผนได้สำเร็จหรือไม่ เพราะจำนวน
นักศึกษาที่อยู่ในห้องทั้งหมดมีถึง 34 คน อย่างไรก็ตาม ดร. คริสเตียนสัน ยังคงทำตามแผนของตนต่อไป
และเมื่อใกล้สุดแถวที่สี่ เขาก็สังเกตเห็นว่า สตีฟกำลังลำบากจริงๆ กว่าจะวิดพื้นได้ครบเซ็ตในช่วงหลัง ๆ

สตีฟถามคุณคริสเตียนสันว่า “การวิดพื้นแต่ละครั้ง ต้องให้จมูกแตะถึงพื้นไหม”

ดร. คริสเตียนสันคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบว่า “ที่จริง มันเป็นการวิดพื้นของเธอ... เธอจึงเป็นคนกำหนดวิธี
การนับแต่ละครั้งได้เองตามสบาย”

ไม่กี่อึดใจต่อมา เจสันนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่มาสายกำลังเดินเข้ามาในห้อง นักศึกษาทุกคนในห้องต่าง
ร้องตะโกนแทบจะพร้อมกันว่า “อย่าเข้ามาในห้องนะ! ออกไป!”

เจสันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในห้อง ขณะที่สตีฟเงยหน้าขึ้นและพูดว่า “ไม่เป็นไรครับ ให้เขาเข้ามาเถอะครับ”

ดร. คริสเตียนสันจึงพูดขึ้นว่า “เธอก็รู้แล้วนะว่า ถ้าเจสันเข้ามาอีกคน เธอจะต้องวิดพื้นอีก 10 ครั้งเพื่อเขาด้วย”

สตีฟตอบว่า “ทราบครับ แต่ให้เขาเข้ามาเถอะครับ อาจารย์”

จากนั้น ดร. คริสเตียนสันก็ถามเจสันว่า “ เจสัน เธออยากได้โดนัทไหม”

"อยากได้ครับ"

“สตีฟ เธอจะวิดพื้น 10 ครั้งเพื่อให้เจสันได้กินโดนัทได้ไหม”

สตีฟวิดพื้น 10 ครั้งอย่างช้าๆ ด้วยความลำบากอย่างที่สุด หลังจากนั้น เจสันก็รับโดนัทไว้ 1 ชิ้นด้วย
ความงุนงงและเข้าที่นั่งที่ของตน

ถึงตอนนี้แขนของสตีฟสั่นทุกครั้งที่พยายามยกตัวขึ้นในการวิดพื้นแต่ละครั้ง นักศึกษาในห้องทุกคน
ต่างเช็ดน้ำตาของตนด้วยความสงสารสตีฟ แต่ก็ยังเหลือนักศึกษาหญิงอีก 2 คนสุดท้ายซึ่งเป็นเชียร์
ลีดเดอร์และเป็นดาวของห้อง เมื่อ ดร. คริสเตียนสัน ถามคนแรกตอบด้วยความเศร้าใจว่า
“ไม่ค่ะ ขอบคุณ”

แต่ ดร. คริสเตียนสันก็ยังคงถามสตีฟเช่นเดิมว่า “สตีฟ คุณจะวิดพื้นสิบครั้งเพื่อที่ลินดาจะได้กินโดนัท
ที่เธอไม่ต้องการไหม”

จากนั้นสตีฟก็กัดฟันพยายาม วิดพื้นช้าๆ สิบครั้งให้ลินดา
ที่สุด ดร.คริสเตียนสันก็หันไปถามซูซาน นักศึกษาสาวคนสุดท้ายว่า “ซูซาน คุณต้องการโดนัทไหม”

ซูซานน้ำตาไหลอาบหน้าพูดว่า “ดร. คริสเตียนสันคะ ขอให้หนูช่วยเขาได้ไหม”

ดร. คริสเตียนสันพูดทั้งน้ำตาเช่นกันว่า “ไม่ได้ครับ เขาต้องวิดพื้นคนเดียว ---

สตีฟ เธอจะวิดพื้น 10 ครั้งเพื่อที่ซูซานจะได้กินโดนัทไหม”

ขณะที่สตีฟวิดพื้นครั้งสุดท้ายอย่างช้า ๆ เป็นครั้งที่ 350 และมั่นใจว่าได้วิดพื้นจนสำเร็จตามที่ได้รับ
ปากไว้เพื่อร่วมปฏิบัติการตามแผนการสอนใหม่ของอาจารย์แล้ว สตีฟก็ล้มตัวลงเหยียดยาวอยู่กับพื้น

ดร. คริสเตียนสันจึงมองไปที่ใบหน้าของนักศึกษาแต่ละคนพร้อมกับกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

“พวกเธอตระหนักหรือยังว่า สิ่งที่เกิดกับสตีฟของเราในวันนี้ ก็คล้ายกับพระภารกิจที่เกิดกับพระผู้ช่วย
ให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ตรัสกับพระบิดาว่า

‘เราฝากจิตวิญญาณของเราไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์’ และเมื่อพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจ
ของพระบิดาสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ทรุดพระกายลงบนไม้กางเขนและสิ้นพระชนม์—

พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ให้กับมนุษย์ทุกคน รวมถึงผู้ที่ไม่ต้องการบุญกุศลของพระองค์ด้วย
เช่นเดียวกับพวกเธอหลายคนในห้องนี้เลือกที่จะไม่รับโดนัทที่สตีฟ ‘วิดพื้น’ เพื่อพวกเขา

*********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 20, 2024 8:19 pm

……………(4 ตอนจบ)

ความจงรักภักดีของ ‘เอลาเวีย’ ตอนที่ ( 1 )

Moral stories จาก Google เรื่อง Eklavya’s Loyalty -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

นี่เป็นเรื่องของยุคโบราณในประเทศอินเดียเมื่อเกือบห้าพันปีมาแล้ว มีเด็กชายคนหนึ่ง
ชื่อ‘เอลาเวีย’(Eklavya) เขาเป็นบุตรชายของหัวหน้าเผ่าในป่า‘ฮัสตินาปุระ’(Hastinapura)
‘เอลาเวีย’เป็นเด็กชายกล้าหาญหน้าตาดีและเป็นที่รักของทุกคน แต่เป็นเด็กที่ไม่มีความสุข
ผู้เป็นพ่อสังเกตว่ามีบางอย่างที่ลูกไม่เหมือนเด็กคนอื่น บ่อยครั้งเขาพบว่าลูกชายของเขามัก
จะจมอยู่กับความคิดอะไรสักอย่าง วันหนึ่งพ่อจึงถามลูกชายว่า ทำไมลูกถึงดูไม่มีความสุข
ไม่เล่นกับเพื่อนๆ หรือไม่อยากล่าสัตว์บ้างล่ะ?

ลูกจึงตอบว่า “พ่อครับ ผมอยากเป็นนักยิงธนูครับ ผมอยากเป็นศิษย์ของอาจารย์‘โดรน่า’
(Dronacharya)ผู้ยิ่งใหญ่ อาจารย์สอนยิงธนูอยู่อีกด้านหนึ่งของป่าที่เราอยู่ครับ สำนักของท่าน
เป็นสถานที่มหัศจรรย์ที่สามารถเปลี่ยนเด็กชายธรรมดากลายเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ได้”

เมื่อลูกเห็นพ่อของเขานิ่งเงียบอยู่ไม่พูดตอบ ผู้เป็นลูกจึงพูดต่ออีกว่า “พ่อครับ ผมรู้ว่าพวกเรา
เป็นเผ่าล่าสัตว์ก็จริง แต่ผมอยากจะเป็นนักรบครับ ไม่ใช่เป็นแค่พรานล่าสัตว์ ขอให้ผมออก
จากบ้านไปเป็นศิษย์ของอาจารย์‘โดรน่า’นะครับ”

ผู้เป็นพ่อรู้สึกหนักใจเพราะทราบดีว่าความใฝ่ฝันของลูกชายไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แต่เนื่อง
จาก เขาเป็นพ่อที่น่ารักและไม่อยากขัดใจลูกชายคนเดียวของเขา เขาจึงอวยพรลูกและอนุญาต
ให้ลูก ไปศึกษาที่สำนักของอาจารย์‘โดรน่า’

หลังจาก‘เอลาเวีย’ออกเดินทางได้ไม่นานก็เข้ามาในบริเวณป่าที่อาจารย์‘โดรน่า’ใช้เป็นที่พักและ
ที่ฝึกสอนลูกศิษย์ยิงธนู ในสมัยนั้นยังไม่มีระบบโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย สำนักของ
อาจารย์‘โดรน่า’ มีลักษณะเป็นโรงเรียนฮินดูโบราณที่กูรู(guru)หรือเกจิอาจารย์พักอาศัยอยู่ตาม
ธรรมชาติร่วมกับศิษย์(shisyas) โดยถือว่าศิษย์ทุกคนมีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกัน ศิษย์นอก
จากได้เรียนรู้จากกูรูแล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยงานในชีวิตประจำวันของกูรูด้วย เช่น ช่วยซักผ้า
และทำอาหารให้ เป็นต้น

เมื่อ‘เอลาเวีย’ไปถึงสำนักของอาจารย์‘โดรน่า’ เขาแลเห็นกระท่อมหลายหลังห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้
และมีลานยิงธนูอยู่ใกล้ๆ ขณะเดียวกันก็เห็นศิษย์หลายคนกำลังฝึกยิงธนูกันอยู่ เป็นภาพที่น่าตื่นตา
ตื่นใจเป็นยิ่งนัก สายตาของ‘เอลาเวีย’สอดส่ายมองหาอาจารย์‘โดรน่า’อยู่ครู่ใหญ่ แล้วเขาก็สังเกต
เห็นชายผู้หนึ่งยืนอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการอธิบายวิธีการยิงธนูให้กับศิษย์ผู้
โด่งดังคนหนึ่งซึ่งเขารู้ชื่อในภายหลังว่า ‘อรชุน’(Arjuna) ศิษย์ผู้นี้เป็นเจ้าชายองค์ที่ 3 แห่งปาณฑพ
(Pandava) แม้ว่า‘เอลาเวีย’จะไม่เคยเห็นอาจารย์‘โดรน่า’มาก่อน แต่เขาก็เดาว่าชายผู้ที่กำลังสอน
ศิษย์อยู่นั้นคืออาจารย์‘โดรน่า’ เขาจึงเดินเข้าไปใกล้และโค้งคำนับท่านอย่างสุภาพ
อาจารย์‘โดรน่า’รู้สึกประหลาดใจที่จู่ ๆ ก็มีเด็กหนุ่มแปลกหน้ามาโค้งคำนับเขาจึงถามว่า
“เธอเป็นใครหรือ?”

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 20, 2024 8:25 pm

ความจงรักภักดีของ ‘เอลาเวีย’ ตอนที่ ( 2 )

Moral stories จาก Google เรื่อง Eklavya’s Loyalty -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

‘เอลาเวีย’บอกชื่อของตนและกล่าวเสริมว่า เขาเป็นลูกชายของหัวหน้าเผ่าทางตะวันตกของป่า
‘ฮัสตินาปุระ’ และขอให้ท่านอาจารย์ได้โปรดรับตนเป็นศิษย์และสอนวิชายิงธนูวิเศษให้ด้วย

อาจารย์‘โดรน่า’ถอนหายใจกล่าวตอบว่า “‘เอลาเวีย’เอ๋ย … ถ้าเธอเป็นคนเผ่าล่าสัตว์ เธอก็อยู่
ในวรรณะศูทร (Shudra : ซึ่งเป็นคนประเภททาส กรรมกร หรือคนที่ใช้แรงงาน เปรียบได้กับเท้า
ซึ่งถือเป็นอวัยวะต่ำที่สุดของมนุษย์ มีหน้าที่พยุงร่างกายให้เคลื่อนไหวได้เท่านั้น) ส่วนตัวเราเป็น
‘พราหมณ์’ อยู่ในวรรณะสูงสุดในอาณาจักร เราจึงไม่สามารถสอนให้แก่ผู้ที่อยู่ในวรรณศูทรได้”

ทันทีที่อาจารย์‘โดรน่า’ กล่าวจบ เจ้าชายอรชุนก็พูดเสริมขึ้นว่า “นอกจากนั้น ท่านอาจารย์ยังเป็น
‘ราชครู’อีกด้วย เพราะท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระราชาเพื่อฝึกสอนพวกเราซึ่งเป็นเจ้าชายและ
คนชั้นสูง แล้วนี่แกกล้าดียังไงถึงได้เข้ามาในสำนักนี้ รีบกลับออกไปเดี๋ยวนี้นะ!" พูดเสร็จ เขาก็ถ่ม
น้ำลายด้วยสีหน้าบึ้งตึงไปที่ขาของ‘เอลาเวีย’

‘เอลาเวีย’ ตกตะลึงกับพฤติกรรมของเจ้าชายอรชุนมาก เพราะตัวเขาเองก็เป็นลูกชายของหัวหน้าเผ่า
เช่นกัน แต่เขาไม่เคยพูดจาดูถูกผู้ที่มีสถานะต่ำกว่าเขามาก่อนเลย เขาจึงชายตามองไปที่อาจารย์
‘โดรน่า’เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่อาจารย์สงวนท่าทีและนิ่งเงียบอยู่ซึ่งเท่ากับยืนยันคำพูดเดิม
ของท่าน คือท่านจะไม่สอนให้เขา ‘เอลาเวีย’รู้สึกเจ็บปวดมากที่ถูกปฏิเสธและคิดอย่างสิ้นหวังว่า
“พระเจ้าประทานความรู้ให้กับมนุษย์ทุกคน แต่น่าเสียดายที่มนุษย์กลับมาแบ่งแยกกันเองเป็น
วรรณะต่างๆ”

‘เอลาเวีย’ เดินออกจากบริเวณสำนักฯ ไปด้วยหัวใจที่แตกสลาย อย่างไรก็ตามการถูกอาจารย์ปฏิเสธ
ไม่สามารถทำลายความใฝ่ฝันที่จะเป็นนายขมังธนูได้ เขายังคงมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้การยิงธนูและพูดกับ
ตัวเองว่า “ฉันอยู่ในวรรณะศูทรก็จริง แต่วันหนึ่งฉันจะแข็งแกร่งและเป็นนักยิงธนูไร้เทียมทานให้ได้
เพราะฉันมีความกระตือรือร้นไม่น้อยไปกว่าเจ้าชายและพวกศิษย์ของอาจารย์‘โดรน่า’ ฉันจะฝึกศิลปะ
การยิงธนูทุกวัน และจะเป็นนักธนูให้จงได้อย่างแน่นอน”

‘เอลาเวีย’ เดินทางกลับไปที่ป่า‘ฮัสตินาปุระ’ของบิดา วันรุ่งขึ้น เขาใช้ดินเหนียวจากแม่น้ำในบริเวณนั้น
ปั้นรูปของอาจารย์‘โดรน่า’ และก็นำรูปปั้นของเขาไปตั้งไว้ในบริเวณที่เงียบสงบไม่ไกลจากบ้านของ
บิดานัก เหตุผลที่เขาปั้นรูปอาจารย์’โดรน่า’ขึ้นมา ก็เพราะเขาเชื่อมั่นในความสามารถของอาจารย์
และเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออาจารย์ เขามั่นใจว่าถ้าเขาฝึกฝนการยิงธนูทุกวันต่อหน้ารูปปั้น
เกจิอาจารย์ท่านนี้แล้ว เขาจะกลายเป็นนักธนูที่เก่งกาจได้ แม้ว่าท่านกูรูจะรังเกียจเขาแต่เขาก็ยังคง
จงรักภักดีต่อท่านเป็นอย่างสูงและถือว่าท่านยังคงเป็นผู้ประสาทวิชาการยิงธนูให้เขาอยู่

วันแล้ววันเล่า ‘เอลาเวีย’จับคันธนูและลูกธนูฝึกยิงต่อหน้ารูปปั้นของอาจารย์ ‘โดรน่า’ด้วยความศรัทธา
ความกล้าหาญและความอุตสาหะ หลังจากฝึกฝนโดยไม่ย่อท้ออยู่ทุกวันเช่นนี้ ที่สุด‘เอลาเวีย’ที่เป็น
คนเผ่าล่าสัตว์ ก็กลายเป็นนักยิงธนูที่เก่งกาจ และมีความสามารถยิ่งกว่าเจ้าชายอรชุน ศิษย์คนโปรด
ของอาจารย์ ‘โดรน่า’อีกด้วย

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 20, 2024 8:30 pm

ความจงรักภักดีของ ‘เอลาเวีย’ ตอนที่ ( 3 )

Moral stories จาก Google เรื่อง Eklavya’s Loyalty -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

อยู่มาวันหนึ่งขณะที่‘เอลาเวีย’กำลังฝึกยิงธนูอยู่ เขาได้ยินเสียงสุนัขเห่า ทีแรกเขาก็ไม่ได้
สนใจเสียงเห่าของสุนัขนัก แต่สุนัขยังคงเห่าถี่และดังขึ้นรบกวนการฝึกยิงธนูของเขาอย่างต่อเนื่อง
เขาเริ่มรู้สึกโกรธและหยุดยิง หันหน้าไปทางที่มาของเสียงเห่า และทันทีที่เขาเห็นสุนัขกำลังอ้าปาก
เพื่อจะเห่าต่อ เขาก็ยิงธนู 7 ดอกติดต่อกันอย่างรวดเร็วและสามารถปิดปากของสุนัขก่อนที่มันจะ
หุบปากได้ทันโดยไม่ทำให้มันบาดเจ็บแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้มันวิ่งหนีไปพร้อมกับปากที่อ้าค้างอยู่
โดยมีลูกธนูเสียบอยู่เต็มปาก

ที่จริง‘เอลาเวีย’ไม่ได้อยู่คนเดียวในปฏิบัติการครั้งนี้ ราวกับโชคชะตากำหนดไว้เพราะไม่ไกลจาก
ที่นั่น เจ้าชายอรชุนและอาจารย์ ‘โดรน่า’ก็อยู่ในป่านั้นด้วย เนื่องจากวันนั้น อาจารย์ตั้งใจจะสอน
วิธียิงธนู ในสภาพชีวิตจริงของป่าเปิด และขณะที่ทั้งสองกำลังวุ่นอยู่กับการเรียนการสอนอยู่นั้น จู่ๆ
ทั้งสองก็ เห็นสุนัขอ้าปากค้างอยู่โดยมีลูกธนูเสียบอยู่เต็มปาก ทั้งสองประหลาดใจมากและคิดว่า
เป็นผู้ใดหรือ ที่มีฝีมือยิงธนูได้เก่งกาจขนาดนั้น เพราะการยิงไปที่เป้าหมายที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ มีแต่
นายขมังธนูผู้ยิ่งใหญ่ เท่านั้นที่สามารถทำได้

อาจารย์ ‘โดรน่า’ ให้เจ้าชายอรชุนพักการฝึกยิง และช่วยกันค้นหาผู้ที่มีฝีมือเช่นนี้ ไม่นานทั้งสองก็พบ
ชายหนุ่มผิวคล้ำคนหนึ่งสวมชุดดำ เนื้อตัวสกปรกมอมแมม ทั้งสองจึงเดินเข้าไปใกล้ จากนั้นอาจารย์
‘โดรน่า’ก็ถามเขาว่า “ฝีมือยิงธนูของคุณเฉียบขาดจริงๆ! – คุณเรียนวิธียิงธนูกับใครหรือ?"

‘เอลาเวีย’รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ยินคำชมของอาจารย์‘โดรน่า’ จึงพูดตอบซื่อๆ ด้วยความนอบน้อมว่า

“ผมเรียนกับท่านครับ ท่านคืออาจารย์ของผม”

อาจารย์‘โดรน่า’ถึงกับอุทานขึ้นด้วยความประหลาดใจว่า “ฉันจะเป็นกูรูของคุณได้อย่างไร ฉันไม่เคย
เห็นคุณมาก่อนเลยนี่!”

แต่ทันใดนั้นอาจารย์ก็นึกออกว่า ท่านเคยเห็นเด็กหนุ่มที่กระตือรือร้นคนนี้ที่มาขอให้ท่านเป็น
กูรูของเขาในวันนั้น จึงพูดขึ้นว่า “อ๋อ...จริงสิ เธอคือคนที่ฉันเคยปฏิเสธไม่รับเป็นศิษย์คนนั้นใช่ไหม?”

‘เอลาเวีย’ผงกศีรษะรับพร้อมกับพูดตอบว่า “ใช่แล้วครับ ท่านอาจารย์... หลังจากที่ผมกลับจากสำนัก
ของท่าน ผมก็กลับบ้านและสร้างรูปปั้นเหมือนท่าน ผมเคารพบูชาท่านอยู่ทุกวัน ผมฝึกยิงธนูต่อหน้า
รูปปั้นของท่าน... แม้ท่านปฏิเสธที่จะสอนผมก็จริง แต่รูปปั้นของท่านไม่เคยปฏิเสธผมเลย ด้วยเหตุนี้
ผมจึงกลายเป็นนักยิงธนูที่พอจะมีฝีมือครับ”

เมื่อได้ยินคำตอบของ‘เอลาเวีย’ เจ้าชายอรชุนรู้สึกโกรธขึ้นมาทันทีและพูดจาต่อว่าอาจารย์ว่า “แต่
อาจารย์เคยสัญญากับผมไว้ว่า จะสอนให้ผมเป็นนักยิงธนูที่เก่งที่สุดในโลกไม่ใช่หรือ! ... แล้วทำไม
ตอนนี้จึงมีคนชั้นต่ำจากเผ่าล่าสัตว์มีฝีมือยิงธนูเก่งกว่าผมล่ะ?”

โปรดติดตามตอนที่ ( 4 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 20, 2024 8:34 pm

ความจงรักภักดีของ ‘เอลาเวีย’ ตอนที่ ( 4 )(ตอนจบ)

Moral stories จาก Google เรื่อง Eklavya’s Loyalty -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

อาจารย์ ‘โดรน่า’ไม่สามารถตอบคำถามของเจ้าชายอรชุนได้ จึงนิ่งเงียบ ขณะเดียวกัน
ก็รู้สึกโกรธตัวเองที่ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเจ้าชายอรชุน นอกจากนี้อาจารย์
ยังโกรธ‘เอลาเวีย’ที่ไม่เชื่อฟังเขาและแอบไปฝึกเองโดยยึดเขาเป็นอาจารย์ ดังนั้นเขาจึงคิด
หาทางลงโทษ‘เอลาเวีย’ และก็พบวิธีลงโทษ‘เอลาเวีย’ที่ไม่เชื่อฟังเขาด้วยการตั้งคำถามว่า

“แล้วค่ายกครูของเธออยู่ที่ไหนล่ะ? เธอก็รู้มิใช่หรือว่า ในการเรียนรู้ต้องมีค่ายกครูเมื่อสำเร็จการศึกษา”

ค่ายกครูในที่นี้หมายถึง “guru-shishya parampara” ซึ่งเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู
ที่ศิษย์จะมอบให้กูรูผู้สอนในตอนท้ายของการศึกษาก่อนที่จะออกจากสำนัก
‘เอลาเวีย’ตอบด้วยความสัตย์ซื่อว่า “ท่านอาจารย์ครับ ผมจะเป็นผู้ที่มีความสุขที่สุดในโลกที่
จะได้ตอบแทนพระคุณของท่าน ท่านอาจารย์จะเรียกร้องอะไรจากผมก็ได้ ผมยินดีจะมอบให้
ด้วยความจงรักภักดีเสมอครับ”

อาจารย์ ‘โดรน่า’จึงพูดขึ้นอย่างคนเจ้าเล่ห์ว่า “ฉันอาจจะขอสิ่งที่เธอไม่ชอบก็ได้นะ แล้วเธอก็
คงจะปฏิเสธไม่ให้ค่ายกครูกับฉันใช่ไหมล่ะ?”

‘เอลาเวีย’ตกใจมากเมื่อได้ยินเช่นนี้ เพราะถือเป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรงและเป็นบาปอย่างยิ่ง
หากผู้เป็นศิษย์จะปฎิเสธไม่ให้ค่ายกครู ดังนั้นเขาจึงตอบอย่างแข็งขันว่า "ไม่มีทางหรอกครับ
ผมจะทำอย่างนั้นกับท่านอาจารย์ได้อย่างไร? ผมไม่ใช่คนอกตัญญูนะครับ ผมจะไม่ปฏิเสธอะไร
ทั้งสิ้นไม่ว่าท่านอาจารย์จะเรียกร้องอะไรจากผม”

เมื่อได้ยินคำสัญญายืนยันเช่นนั้น อาจารย์ ‘โดรน่า’จึงไม่รอช้าอีกต่อไป และพูดด้วยน้ำเสียงที่
เย็นชาว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ฉันขอแค่นิ้วหัวแม่มือขวาของเธอเป็นค่ายกครูของฉันก็แล้วกัน”
ทันทีที่พูดจบเกิดความเงียบงันขึ้นชั่วขณะ แม้แต่เจ้าชายอรชุนเองก็ถึงกับหันไปมองหน้าอาจารย์
ด้วยความสยดสยองและแทบไม่เชื่อหูว่ากูรูของเขาโหดร้ายกับเด็กหนุ่มได้ขนาดนั้น!

‘เอลาเวีย’ ยืนนิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง และรู้ดีว่าหากไม่มีนิ้วหัวแม่มือขวา เขาก็ไม่สามารถจะยิงธนู
ได้อีกต่อไป แต่ขณะนี้หน้าที่ของเขาคือการทำให้ผู้เป็นอาจารย์พอใจ ดังนั้นเขาจึงพูดตอบด้วย
ความเต็มใจว่า “ตกลงครับ ท่านอาจารย์” และทันทีที่พูดเสร็จ เขาก็ชักมีดออกมาโดยไม่ลังเล
ก่อนจะฟันฉับเข้าที่นิ้วหัวแม่มือของเขาขาด! เจ้าชายอรชุนถึงกับอ้าปากค้างเมื่อได้เห็นความ
กล้าหาญของ‘เอลาเวีย’ที่ฟันนิ้วหัวแม่มือของตัวเองโดยไม่แสดงความเจ็บปวดออกมาให้เห็น
แม้แต่น้อย

จากนั้น‘เอลาเวีย’ ก็ก้มลงเก็บนิ้วที่ขาดขึ้นมาและมอบให้กับอาจารย์พร้อมกับพูดด้วยน้ำเสียงที่
แสดงถึงความจงรักดีต่อท่านว่า “นี่เป็นค่ายกครูของผมครับ ผมดีใจมากที่ท่านยอมรับผมเป็น
ศิษย์แม้ว่าผมจะเป็นเพียงพรานล่าสัตว์ในวรรณะศูทรก็ตาม”

อาจารย์ ‘โดรน่า’ รู้สึกละอายใจและเสียใจกับวิธีการแก้แค้นของตนเอง ท่านพูดตะกุกตะกัก
ขณะกล่าวอวยพรหนุ่มนักยิงธนูผู้กล้าว่า “แม้เธอจะไม่มีนิ้วหัวแม่มือขวาอีกต่อไป แต่เธอก็จะเป็น
ที่รู้จักกันในฐานะนักธนูผู้ยิ่งใหญ่ ฉันขออวยพรให้เธอประสบความสำเร็จเป็นที่จดจำตลอดไป
สำหรับความจงรักภักดีต่อกูรูของเธอ”

เมื่อกล่าวอวยพรแล้ว อาจารย์และเจ้าชายอรชุนก็กลับไปที่สำนักฯ แม้อาจารย์จะรู้สึกสะเทือนใจ
และเสียใจกับการกระทำของตัวเอง แต่ก็พอใจที่ไม่ผิดคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเจ้าชายอรชุน

อย่างไรก็ตาม พระเป็นเจ้าทรงเป็นพยานในเรื่องนี้และประทานพรให้กับ‘เอลาเวีย’ จากเบื้องบน
ดังนั้น แม้‘เอลาเวีย’จะมีนิ้วหัวแม่มือขวาพิการ แต่ทันทีที่บาดแผลหาย เขาก็ฝึกยิงธนูต่อไป เนื่อง
จากคนเราเมื่ออุทิศตนเพื่อสิ่งใดแล้ว แม้มีภูเขาสูงขวางกั้น ผู้นั้นก็สามารถสยบภูเขาสูงได้ เขาฝึก
ยิงธนูต่อไปโดยใข้นิ้วชี้และนิ้วกลาง และที่สุดก็กลายเป็นนักธนูผู้ยิ่งใหญ่ ชื่อเสียงของเขาขจรขจาย
ไปทั่ว เมื่ออาจารย์ทราบถึงความโด่งดังของเขา ท่านก็อวยพรเขาอยู่เงียบๆ พร้อมกับวิงวอนขอการ
ให้อภัยจากสวรรค์ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับ‘เอลาเวีย’ก็เป็นไปตามคำอวยพรของท่าน ทุกวันนี้‘เอลาเวีย’
ยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นศิษย์ที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญที่สุดที่มีบันทึกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ
(the epic of Mahabharata)

*******************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 20, 2024 8:39 pm

…………………………3 ตอนจบ

ขอข้อมูลครับ ตอนที่ ( 1 )
Moral stories จาก Google เรื่อง Information Please -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ที่บ้านของผมมีโทรศัพท์เป็นเครื่องแรกในละแวกบ้านของเรา
ผมจำได้ดีถึงกล่องพลาสติกเก่าๆ ที่มันเป็นเงาติดอยู่กับผนังที่มีหูฟังรับโทรศัพท์แขวนอยู่ที่ด้าน
ข้างของกล่อง

ตอนนั้น ผมอายุน้อยเกินไปที่จะรับโทรศัพท์เป็น แต่ผมก็รู้สึกหลงใหลทุกครั้งเมื่อแม่พูดถึงความ
วิเศษของกล่องนี้กับผม จากนั้นผมก็เรียนรู้ว่า ในอุปกรณ์วิเศษนั้นมีคนที่น่าทึ่งอยู่ฝในนั้น เธอชื่อ
“ขอข้อมูลค่ะ/ครับ” (Information Please) และก็ไม่มีอะไรที่เธอตอบไม่ได้
“ขอข้อมูลค่ะ/ครับ” รู้จักหมายเลขโทรศัพท์ของทุกคนและคุณแม่สามารถเทียบเวลาที่ถูกต้องกับ
เธอได้ตลอดเวลา

ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวครั้งแรกกับ“ผู้วิเศษในกล่อง”(genie_in_the_bottle)ในเช้าวันหนึ่ง
ตอนที่แม่ของผมไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน ผมนึกสนุกขึ้นมาจึงเดินลงไปในห้องชั้นล่างที่เก็บเครื่องมือต่างๆ
ของพ่อ ผมใช้ค้อนเล่นได้ไม่นานก็เกิดพลาดใช้ค้อนทุบนิ้วมือตัวเองอย่างแรง ผมเจ็บปวดมากแต่
ก็ไม่ได้ร้องไห้เพราะไม่มีใครอยู่บ้านช่วยปลอบใจผมอยู่ดี ผมจึงเดินดูดนิ้วที่สั่นอยู่ด้วยความเจ็บปวด
กลับขึ้นข้างบนแล้วก็นึกถึง “ผู้วิเศษในกล่อง!”
ผมรีบวิ่งไปที่เก้าอี้สูงในห้องนั่งเล่นแล้วลากไปที่ผนังที่มีหูฟังรับโทรศัพท์ก่อนจะปีนเก้าอี้ขึ้นไปยกหูฟัง
ขึ้นถือไว้แนบหู จากนั้นผมก็พูดเข้าไปว่า “ขอข้อมูลครับ” ผมก็ได้ยินเสียงคลิก 1-2 ครั้งแล้วก็มีเสียง
แหลมใสๆ ตอบเข้าหูผมว่า "ข้อมูลค่ะ"

“ผมเจ็บนิ้วมาก…” ผมโอดครวญใส่โทรศัพท์ น้ำตาไหลพรากออกมาทันทีที่ผมรู้ว่า
มีคนรับฟังสิ่งที่ผมพูดอยู่

“แม่หนูไม่อยู่บ้านเหรอคะ”

“ผมอยู่บ้านคนเดียวครับ” ผมสะอึกสะอื้น

“นิ้วหนูมีเลือดออกหรือเปล่าคะ” เสียงถามต่อ

“ไม่ครับ ... ผมเอาค้อนทุบโดนนิ้วเจ็บจะตายอยู่แล้ว”

“เอายังงี้สิ หนูไปเปิดกล่องที่มีน้ำแข็งในตู้เย็นได้ไหมคะ” เธอถาม

ผมตอบเธอไปว่า “ได้ครับ”

“หนูไปเอาน้ำแข็งในกล่องมาทำให้เป็นก้อนเล็กๆ แล้วจับก้อนน้ำแข็งไว้ให้ติดอยู่กับนิ้ว
ที่เจ็บสัก 2-3 นาทีก็จะหายเจ็บค่ะ” เสียงพูดตอบ

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.พ. 22, 2024 11:50 pm

ขอข้อมูลครับ ตอนที่ ( 2 )
Moral stories จาก Google เรื่อง Information Please -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมใช้โทรศัพท์ถึง "ขอข้อมูลครับ" กับทุกเรื่อง ผมขอให้เธอ
ช่วยเกี่ยวกับวิชาภูมิศาสตร์ของผม และเธอก็ตอบให้ผมทราบว่าเมืองฟิลาเดลเฟียอยู่
ตรงส่วนไหนของประเทศ เธอช่วยผมแก้โจทย์คณิตศาสตร์ เธออธิบายวิธีเลี้ยงกระรอก
ที่ผมจับได้ในสวนสาธารณะเมื่อวันก่อนว่าต้องให้ผลไม้และถั่ว ฯลฯ

วันที่ “เจ้าปีเตอร์” นกคีรีบูนที่บ้านผมเลี้ยงไว้ตาย ผมก็โทรไป “ขอข้อมูลครับ” และเล่าเรื่อง
เศร้านี้ให้เธอฟัง เธอรับฟังแล้วพูดอย่างที่ผู้ใหญ่มักพูดเพื่อปลอบใจเด็ก แต่ผมก็ยังคงไม่สบายใจ
และถามเธอต่อไปว่า “ทำไมนกที่ร้องเพลงได้ไพเราะและนำความสุขมาให้ทุกคนในบ้าน กลับจบ
ชีวิตเหลือแค่ขนนกกองหนึ่งที่ก้นกรงล่ะครับ”

เธอคงรับรู้ได้ถึงความกังวลลึกๆ ของผม เธอจึงพูดปลอบผมต่อไปด้วยน้ำเสียงที่นิ่มนวลเบาๆ ว่า

“พอล ขอให้หนูจำไว้เสมอว่ายังมีโลกอื่นให้นกไปร้องเพลงได้อีกนะคะ”

คำปลอบใจสุดท้ายนี้ช่วยทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นเป็นอย่างมาก

รุ่งขึ้นอีกวันผมก็โทรไป “ขอข้อมูลครับ”

“ข้อมูลค่ะ” เสียงที่คุ้นเคยพูดตอบ

“ช่วยสะกดคำว่า “ฟิกซ์” (fix) ให้ผมหน่อยครับ”

เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตอนที่ผมมีอายุได้เก้าขวบและมีบ้านอยู่ในเมืองเล็กๆ
ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก หลังจากนั้นไม่นานครอบครัว
ของเราได้ย้ายข้ามประเทศไปอยู่ที่เมืองบอสตัน ผมยังคงคิดถึงสหายผู้ให้ข้อมูลอยู่
เสมอแต่ผมก็ไม่เคยคิดที่จะลองใช้โทรศัพท์เครื่องใหม่ที่มันวาวตั้งอยู่บนโต๊ะในห้อง
รับแขกเลย แม้กระทั่งเมื่อผมโตเป็นวัยรุ่น ความทรงจำถึงเรื่องที่คุยกับ “ขอข้อมูลครับ”
ในวัยเด็กเหล่านั้นยังคงเก็บอยู่ในสมองของผม บ่อยครั้งเมื่อผมมีเรื่องสงสัยและไม่แน่ใจ
ผมก็จะนึกถึงความรู้สึกมั่นใจที่ผมเคยได้รับจาก“เธอผู้ให้ข้อมูล”ในตอนนั้น และตอนนี้ผมรู้
สึกชื่นชมความอดทน ความเข้าใจ และความเมตตาที่เธอสละเวลาให้กับเด็กเล็กๆ เช่นตัวผม

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ก.พ. 22, 2024 11:52 pm

ขอข้อมูลครับ ตอนที่ ( 3 )(ตอนจบ)
Moral stories จาก Google เรื่อง Information Please -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ไม่กี่ปีต่อมา ขณะที่ผมเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปเรียนต่อที่วิทยาลัยทางฝั่งตะวันตก
เครื่องบินของผมแวะจอดที่เมืองซีแอตเติลซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของผม ผมมีเวลาว่างครึ่ง
ชั่วโมงกว่า ผมจึงใช้เวลาราว 15 นาทีโทรศัพท์ไปคุยกับพี่สาวซึ่งยังคงอาศัยอยู่ที่เมืองนี้
หลังจากนั้น ผมก็โทรศัพท์ไปที่พนักงานรับโทรศัพท์ของเมืองนี้และพูดว่า "ขอข้อมูลครับ"

อัศจรรย์มีจริงเมื่อผมได้ยินเสียงแหลมใสๆ ตอบ เป็นเสียงที่ผมคุ้นหูมาตั้งแต่เด็กเป็นอย่างดี

"ข้อมูลค่ะ"

เนื่องจากผมไม่ได้คิดถึงเรื่องที่จะพูดมาก่อน เพราะค่อนข้างแน่ใจว่าผู้ตอบคงเป็นพนักงาน
คนใหม่แล้ว ดังนั้นผมจึงได้ยินเสียงของตัวเองพูดตอบเธอว่า

“ช่วยสะกดคำว่า “ฟิกซ์” ให้ผมหน่อยครับ”...

ไม่มีเสียงตอบอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็มีเสียงที่คุ้นหูตอบผมเบา ๆ ว่า

“ฉันเดาว่านิ้วของเธอคงต้องหายดีแล้วนะตอนนี้”

ผมหัวเราะลั่น “เป็นคุณจริงๆ ด้วย... ผมไม่แน่ใจว่าคุณทราบหรือไม่ว่าคุณมีความหมายต่อผม
มากขนาดไหนในตอนนั้น”

“ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เธอรู้หรือเปล่าว่าการโทรของเธอมาคุยกับฉันมีความหมายมาก
ขนาดไหนเช่นกัน เพราะฉันไม่มีลูก วัน ๆ เอาแต่นั่งรอรับโทรศัพท์ของเธอ”

ผมเล่าให้เธอฟังว่า ผมคิดถึงเธออยู่บ่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และถามเธอว่า อีก 3 เดือน
ผมจะบินมาแวะเยี่ยมพี่สาวที่เมืองนี้อีกครั้ง ผมจะโทรถึงเธอได้ไหม

“ได้แน่นอน แค่ขอพูดสายกับคนชื่อแซลลี่ก็พอค่ะ” เธอพูดตอบ

3 เดือนต่อมา ผมบินกลับมาที่ซีแอตเติล เมื่อผมโทรศัพท์ไป

“ขอข้อมูลครับ” ก็มีเสียงที่ไม่คุ้นหูตอบว่า

“ข้อมูลค่ะ”

ผมจึงขอสายพูดกับคุณแซลลี่ เธอถามผมว่า “คุณเป็นเพื่อนเธอหรือเปล่า?”

“ใช่ครับ เพื่อนเก่า” ผมตอบ

“ฉันเสียใจที่ต้องบอกคุณว่า คุณแซลลี่ทำงานพาร์ทไทม์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพราะเธอ
ไม่ค่อยสบาย และเธอก็ได้จากพวกเราไปได้เดือนกว่าแล้ว

อ้อ... คุณบอกว่าคุณชื่อพอลใช่ไหมค่ะ?”

"ใช่ครับ"

“คุณแซลลี่ฝากข้อความถึงคุณไว้ค่ะ เธอเขียนใส่กระดาษโน้ตไว้และบอกว่า ถ้าคุณโทรมา
ขอให้ฉันช่วยอ่านให้คุณฟังด้วย...

ในแผ่นโน้ตเธอเขียนว่า ‘บอกเขาว่า ขอให้จำไว้เสมอว่ายังมีโลกอื่นให้ไปร้องเพลงได้
อีกนะคะ’ เธอบอกฉันว่า พอลเขาจะเข้าใจดีว่าเธอหมายถึงอะไร"

ผมขอบคุณเธอก่อนจะวางสาย และผมก็เข้าใจดีว่าคุณแซลลี่หมายถึงอะไร

คติพจน์ : จงอย่าประเมินความประทับใจที่คุณมีต่อผู้อื่นต่ำเกินไป

***********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มี.ค. 01, 2024 11:39 pm

(เรื่องรักษาสัญญา 2ตอนจบ)

รักษาสัญญา ตอนที่ (|)
Moral stories จาก Google เรื่อง Fulfilling a Promise -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

ตั้งแต่เราเริ่มคบกัน พ่อแม่ของหญิงสาวไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์ของเธอกับเด็กหนุ่ม
คนหนึ่ง พวกเขาบอกเธอว่าพื้นฐานครอบครัวของเราทั้งสองเข้ากันไม่ได้ และถ้าเธอยืนยันที่
จะคบกับเขาต่อไป เธอจะต้องเสียใจและทนทุกข์ไปตลอดชีวิต

สาเหตุจากการที่เธอถูกพ่อแม่ของเธอกดดันดังกล่าวทำให้เธอมีเรื่องทะเลาะกับเขาอยู่บ่อยๆ
ที่จริงเธอก็รักเขามากและยังเคยถามเขาด้วยว่า "คุณรักฉันมากขนาดไหน"

แต่เนื่องจากเขาเป็นคนพูดไม่เก่ง การพูดคุยของเขาจึงมักทำให้เธออารมณ์เสีย อีกทั้งเธอยังถูก
พ่อแม่ซ้ำเติมก็ยิ่งทำให้อารมณ์ของเธอเสียหนักขึ้นไปอีก เด็กหนุ่มจึงกลายเป็น "ที่ระบายอารมณ์"
ของเธอและเขาก็ปล่อยให้เธอระบายอารมณ์ไปเงียบ ๆ

ต่อมาเด็กหนุ่มเรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและวางแผนจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ก่อนที่จะ
ออกเดินทางไป เด็กหนุ่มขอเธอแต่งงานโดยพูดกับเธอว่า ” ผมไม่รู้จะพูดกับคุณยังไงดี แต่ผมรู้ว่าผมรักคุณ
ถ้าคุณตอบตกลง ผมยินดีจะดูแลคุณไปตลอดชีวิต ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อแม่คุณนั้น ผมจะขยันทำงาน
หนักเพื่อพิสูจน์ให้ท่านทั้งสองเห็นด้วยกับการแต่งงานของเรา คุณตกลงจะแต่งงานกับผมไหมครับ?”

“ตกลงค่ะ” หญิงสาวตอบ

หลังจากที่พ่อแม่ของหญิงสาวเห็นความตั้งใจจริงและความขยันขันแข็งของเด็กหนุ่มตลอดเวลา
ที่ผ่านมา ทั้งสองก็เห็นด้วยกับเรื่องการแต่งงานลูกสาว และได้จัดการหมั้นหมายกันเรียบร้อยก่อนที่
เด็กหนุ่มจะเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากนั้น หญิงสาวก็เข้าสู่สังคมการทำงานในเมืองและอยู่กับ
พ่อแม่ของเธอต่อไป ขณะที่เด็กหนุ่มเรียนต่อที่ต่างประเทศ วันเวลาผ่านไป ทั้งสองเขียนจดหมายและ
ใช้โทรศัพท์ติดต่อถึงกันอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ย่อท้อ

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่หญิงสาวออกจากบ้านไปทำงานตามปกติ ระหว่างทางไปขึ้นรถเมล์ มีรถยนต์
คันหนึ่งเสียการควบคุมและชนเธอเข้าอย่างแรงจนเธอหมดสติและถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล เมื่อเธอ
ตื่นขึ้นจากอาการหมดสติ เธอเห็นพ่อแม่ของเธอและรับรู้ด้วยว่าเธอได้รับบาดเจ็บสาหัสมากแต่ก็ยังโชคดี
ที่ไม่ถึงกับเสียชีวิต

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มี.ค. 01, 2024 11:47 pm

รักษาสัญญา ตอนที่ ( 2 )(ตอนจบ)
Moral stories จาก Google เรื่อง Fulfilling a Promise -- แปลและเรียบเรียง
โดย กอบกิจ ครุวรรณ

เธอเห็นใบหน้าของพ่อแม่นองไปด้วยน้ำตา เธอพยายามจะพูดปลอบพ่อแม่ แต่อนิจจา
เธอเปล่งเสียงออกมาไม่ได้เลย! เธอทำได้เพียงหายใจเข้าออกเบาๆ ...

แพทย์แจ้งว่าอาการบาดเจ็บของเธอมีผลต่อสมอง เธอจะพูดไม่ได้ไปตลอดชีวิต เธอได้แต่ฟัง
พ่อแม่พูดให้กำลังใจ แต่ไม่สามารถพูดตอบได้เลยแม้แต่คำเดียว สิ่งเดียวที่เธอทำได้นับแต่นั้นมา
คือการร้องไห้อยู่คนเดียวกับความโชคร้ายที่เกิดกับตัวเธอ

ราว 1 เดือนต่อมา แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ เมื่อพ่อแม่รับเธอกลับไปถึงบ้าน
เธอพบว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เว้นแต่ทุกครั้งที่มีเสียงโทรศัพท์ถึงเธอ การพูดตอบไม่ได้กลาย
เป็นฝันร้ายที่สุดของเธอและกระตุ้นความเจ็บปวดของเธอ เนื่องจากเธอพูดไม่ได้และไม่ต้องการ
เป็นภาระของเด็กหนุ่ม เธอจึงเขียนจดหมายบอกให้เขาไม่ต้องรอเธอแต่งงานอีกต่อไป และส่ง
แหวนหมั้นคืนให้เขาด้วย

หลังจากนั้นพ่อแม่ของเธอก็ตัดสินใจย้ายบ้านเพราะไม่อยากให้ลูกสาวต้องเจ็บปวดกับสภาพ
แวดล้อมเดิมๆ และหวังว่าเธอจะลืมอดีตได้และมีความสุขมากขึ้นในสภาพแวดล้อมใหม่

เธอเริ่มเรียนภาษามือและเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาวันหนึ่งเพื่อนสนิทของเธอบอกเธอว่า หนุ่มคนนั้นสำเร็จการศึกษาและกลับมาแล้วอีกทั้งยัง
กำลังตามหาเธอไปทั่ว เธอจึงใช้ภาษามือห้ามไม่ให้เพื่อนสนิทของเธอบอกเขาเกี่ยวกับตัวเธอและ
ให้ลืมเธอได้แล้ว

วันเวลาผ่านไปราวหนึ่งปี ไม่มีข่าวคราวของหนุ่มคนนั้นเลย จนวันหนึ่งเพื่อนสนิทของเธอบอกเธอว่า
หนุ่มคนนั้นกำลังจะแต่งงานในเร็วๆ นี้ และส่งการ์ดแต่งงานมาให้เธอด้วย เธอค่อยๆ เปิดการ์ดด้วย
ความเศร้า และเมื่ออ่านข้อความในการ์ด เธอก็ตกใจมากเมื่อพบว่าชื่อของเธอคือชื่อเจ้าสาวในการ์ด
ใบนั้น ขณะที่เธอกำลังหันหน้าไปถามสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนสนิท ชายหนุ่มก็ปรากฏตัวต่อหน้าเธอ
พร้อมกับ ใช้ภาษามือที่มีความหมายว่า

"ผมใช้เวลา 1 ปีเพื่อเรียนภาษามือ และตอนนี้ผมก็สื่อสารกับคุณได้แล้ว ผมได้รักษาสัญญาของเราเสมอ
ต่อไปนี้โปรดให้โอกาสผมเป็นกระบอกเสียงแทนคุณนะครับ ผมยังรักคุณเหมือนเดิม"

เธอใช้สายตาอ่านภาษามือของชายหนุ่ม และเห็นแหวนหมั้นวงเดิมที่เธอส่งคืนให้เขา แล้วในที่สุดเธอ
ก็ยิ้มออกมาพร้อมกับน้ำตาแห่งความยินดีเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

คติพจน์ : จงอย่าเป็นคนขี้ขลาดและหนีปัญหา และโปรดจำไว้ว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ

***********************
จบบริบูรณ์
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 14, 2024 7:59 pm

หวนสู่ความเรียบง่าย มีทั้งหมด ( 3 )ตอนจบ

หวนสู่ความเรียบง่าย ตอนที่ ( 1 ) โดย Sarah Scott จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนตุลาคม 2546 รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

เมื่อสี่ปีก่อน วิกกี้ สไตก์แมนทำให้เพื่อนฝูงประหลาดใจเมื่อลาออกจากงานในวงการโฆษณา
อย่างกะทันหันทั้งที่กำลังก้าวหน้า เหตุผลคืออยากออกมาอยู่เฉยๆ คนที่ทราบข่าวได้แต่พากันงง
เพราะวิกกี้ไม่มีสามีและลูก จึงไม่เห็นมีเหตุผลที่จะต้องลาออก เพื่อนฝูงที่พบเธอตามงานเลี้ยงหลัง
จากนั้นมักจะถามเธอว่า “ทำอะไรอยู่” วิกกี้ตอบง่ายๆ ว่า “ไม่ได้ทำอะไรเลย” คำถามที่ได้ยินต่อคือ
“กำลังมองหางานใหม่หรือ” – คำตอบของเธอคือ “เปล่า”

จากนั้นพวกเขาก็สรุปว่า “ถ้างั้นก็กำลังวางแผนเดินทางท่องเที่ยวล่ะสิ”
ซึ่งคำตอบของเธอก็ยังคง “เปล่า” อีก

“ช่วงนั้นชีวิตลำบากมากแต่ก็มีรสชาติไปอีกแบบ” วิกกี้วัย 42 ปีกล่าว “เวลากลับไปถึงบ้านมัก
รู้สึกโหวงเหวงไม่รู้จะทำอะไร” จะว่าไปแล้ว ช่วงที่เป็นรองประธานของบริษัทโฆษณาชื่อดัง วิกกี้ต้อง
วิ่งเข้าออกห้องประชุมตลอดเวลาและยุ่งจนไม่มีเวลาพัก แม้งานจะสนุกแต่ก็หมดแรงแทบทุกวัน

เราทำกิจกรรมมากมายเพราะอยากให้รู้สึกว่า ตัวเองมีความสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ วิกกี้จึงลาออกและเริ่มไตร่ตรองว่าตัวเองต้องการชีวิตแบบไหนกันแน่ “เหมือนกระโจน
ลงเรือแจวโดยไม่มีพาย” วิกกี้ทวนความหลัง เธอเดินทางท่องเที่ยวอยู่ 6 เดือนแล้วก็ตระหนักว่า สิ่งมี
ค่าที่สุดสำหรับตนคือเพื่อนๆ และครอบครัว ตลอดจนการผจญภัย ความสนุกสนาน อิสรภาพและ
ความสามารถที่จะควบคุมชีวิตตัวเอง

วิกกี้ปฏิเสธงานที่มีคนมาเสนอให้อย่างไม่ไยดีและเลือกที่จะเป็นที่ปรึกษาอิสระซึ่งเป็นงานไม่ผูกมัด
ทำให้เธอมีเวลาไปเยี่ยมเพื่อนที่อยู่ต่างเมือง ไปพายเรือคายัค ทำอาหารและถักนิตติ้ง

“ฉันมีเวลาที่จะชื่นชมสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น แทนที่จะวิ่งหัวฟูอยู่ทุกวัน “วิกกี้กล่าว “พูดถึงรายได้ตอนนี้
ก็ไม่เลวไปกว่าตอนที่ทำงานเป็นบ้าเป็นหลังแบบนั้น”

แม้การลาออกจากงานประจำมาเป็นที่ปรึกษาจะเหมาะสำหรับบางคน แต่ประสบการณ์ของวิกกี้
ก็เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่อยากใช้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาว่าอะไรสำคัญที่สุด
ในชีวิต จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งมีค่าเหล่านั้น และกำจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรค
ขวางกั้นให้หมดไป

สิ่งแรกที่ต้องทำคือแยกแยะว่า อะไรสำคัญและไม่สำคัญ “ก่อนจะปรับชีวิตให้ง่ายขึ้น เราต้อง
สรุปให้ได้ก่อนว่า ชีวิตที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

โปรดติดตามตอนที่ ( 2 )ในวันพรุ่งนี้
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ พฤหัสฯ. มี.ค. 14, 2024 8:05 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 14, 2024 8:03 pm

หวนสู่ความเรียบง่าย ตอนที่ ( 2 ) โดย Sarah Scott จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนตุลาคม 2546 รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ดูเหมือนว่าความคิดเรื่องการใช้ชีวิตเรียบง่ายจะสวนทางกับวิถีชีวิตที่เน้นการบริโภคมาก
เกินไป ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนเราชอบสะสมสิ่งของไว้มากๆ เพียงเพื่อจะได้เอาไปเก็บไว้
ในบ้านหลังใหญ่ขึ้น

ไม่ใช่เฉพาะสิ่งของที่จับต้องได้เท่านั้น “หลายคนสะสมกิจกรรมต่างๆ มากมาย” ที่ปรึกษา
ด้านการบริหารเวลากล่าว “คนเรากำลังจะกลายเป็นหนูถีบจักรเพราะรู้สึกผิดเวลาต้องบอกปฏิเสธ
คนอื่น” เราลุกลี้ลุกลนวิ่งจากกิจกรรมหนึ่งเพื่อไปทำอีกกิจกรรมหนึ่ง รีบร้อนเต็มที่แต่ก็ยังไปไม่
ทันบ่อยๆ การกระทำเช่นนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นที่ต้องการและมีความสำคัญ แต่ไม่ได้ทำให้เรา
สุขใจอย่างแท้จริง

เมื่อวุ่นวายมากๆ เข้า เราก็ต้องแสวงหาความเงียบสงบเป็นบางเวลา คนที่ชำนาญเรื่องการ
ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอาจแฝงตัวอยู่ในหลายอาชีพ นับแต่แม่บ้านที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับ
งานบ้านพื้นๆ ไปจนถึงผู้ศึกษาปรัชญาของมหาตมะ คานธี ลูกศิษย์คนหนึ่งของมหาตมะ คานธีเคย
เขียนไว้ในนิตยสาร “วิศวะ-ภารตี”เมื่อปี พ.ศ.2479 ว่า “ความเรียบง่ายหมายถึงการมีจุดหมายที่
ชัดเจนเพียงอย่างเดียว โดยมีความจริงใจและซื่อสัตย์พร้อมสรรพอยู่ในตัว ผู้ที่ต้องการความเรียบ
ง่ายต้องขจัดความยุ่งเหยิงวุ่นวายภายนอกออกไป รวมทั้งทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นต่อเป้าหมายหลักในชีวิต”

ลองมาดูเรื่องของแคโรลีน โทมัสวัย 53 ปี ซึ่งเคยทำงานเป็นโฆษกของสำนักงานโคลัมเบียในแคนาดาบ้าง
เมื่อปี พ.ศ.2538 เธอทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน มีบ้านราคาแพง ชอบเชิญแขกมางานเลี้ยงสนุกสนาน
ในสวนสวยที่บ้าน เงินเดือนส่วนใหญ่หมดไปกับค่าใช้จ่ายในการดูแลบ้านทั้งที่ภาระการงานทำให้
เธอมีเวลาอยู่บ้านน้อยมาก นอกจากเธอแล้ว ในบ้านยังมีลูกสาวลูกชายวัยรุ่น 2 คน “ฉันทำงานเหมือน
เครื่องจักร ยิ่งวิ่งก็ยิ่งต้องรีบ ไม่มีหยุด”

โปรดติดตามตอนที่ ( 3 )ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5975
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ มี.ค. 15, 2024 1:18 pm

หวนสู่ความเรียบง่าย ตอนที่ ( 3 )ตอนจบ โดย Sarah Scott จากหนังสือสรรสาระ
ฉบับเดือนตุลาคม 2546 รวบรวมและเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ

ต่อมา หมอตรวจพบว่าแคโรลีนป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก เธอมองเห็นสัจธรรมขณะรับการรักษา
จึงตัดสินใจขายบ้านหรูหลังนั้นแล้วซื้อทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆ เพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้ธนาคาร แคโรลีน
ลาออกจากงานโฆษกแล้วหันไปเป็นประชาสัมพันธ์ที่สมาคมการกุศลแห่งหนึ่ง เธอทำงานสัปดาห์
ละ 4 วัน รับเงินเดือนน้อยกว่าเดิมถึงครึ่ง ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่งานใหม่ทำให้
เธอเข้าใจโลกมากขึ้น

“ฉันได้พบคนที่ขาดแคลนและไม่มีอะไรเลย แต่มีความสุขมาก” แคโรลีนกล่าว สามปีต่อมา เธอย้าย
ไปทำงานที่สถานดูแลผู้ป่วยขั้นสุดท้าย ตอนนี้เธอทำงานสัปดาห์ละ 3 วัน “ทุกวันจะมีเหตุการณ์เตือน
ให้ฉันได้คิดว่า ชีวิตคนเราสั้นแค่ไหน และสิ่งที่มีคุณค่าควรลงมือกระทำนั้นมีเพียงไม่กี่อย่างหรอก”
แคโรลีนกล่าว ในวันหยุดเธอจะทำสวนที่บ้านทาวน์เฮาส์ซึ่งมองเห็นทะเล

เราสามารถนำหลักการนี้ไปปรับใช้กับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงการวางตารางว่าจะทำนั่นนี่
มากเกินไปโดยจัดตารางแค่ร้อยละ 25 ถึง 30 ก็พอ มิฉะนั้นจะไม่มีเวลาทำอย่างอื่น เช่น ออกไปเดินเล่น
ในสวนสาธารณะหรือรับงานที่ตื่นเต้นแบบไม่คาดฝัน การบริหารเวลาหมายถึงการทำงานน้อยลงแต่เอา
ใจใส่มากขึ้น แทนที่จะทำงานมากขึ้นแต่มีเวลาดูแลรายละเอียดน้อยลง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เบรนด้า โบเรนสไตน์ นักธุรกิจหญิงซึ่งต้องคิดถึงเวลาส่วนตัวให้มาก เพราะเลี้ยง
ลูกชายวัย 6 ขวบกับ 8 ขวบตามลำพัง “บางครั้งก็ต้องยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
อย่างอื่นและทำให้งานลุล่วงไปได้” เบรนด้า กล่าว เธอจ่ายค่าซักผ้า 50 เหรียญต่อ 2 สัปดาห์แต่ก็
ประหยัดค่าไฟฟ้าและมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ต่อมา เธอหาสุนัขมาให้ลูกเลี้ยงตามที่เด็กๆ ต้องการ
“ต้องพาหมา ออกไปเดินเล่นวันละ 2 หน จัดว่าเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่สนุกมาก” เบรนด้ากล่าว

ที่สุดแล้ว การใช้ชีวิตเรียบง่ายเป็นปรัชญาชีวิตอย่างหนึ่ง คือเป็นการปลดเปลื้องภาระออกจากตัว
หันมาหาชีวิตสบายๆ ปลอดโปร่งและกระฉับกระเฉง ทั้งนี้ต้องสานสัมพันธ์อันราบรื่น ไม่เสแสร้งและ
ตรงไปตรงมากับทุกแง่มุมในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราบริโภค งานที่เราทำ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ความผูกพันกับธรรมชาติและจักรวาล
สำหรับบางคน ขีวิตเรียบง่ายคือการปลูกพืชไว้กินเอง ขี่จักรยาน ทำงานน้อยลง ใช้เวลากล่อมเกลา
จิตใจตัวเองมากขึ้น ลดการสะสมวัตถุลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตและไม่รีบร้อน
ตรงกันข้ามกับการสะสมความมั่งคั่งและอำนาจ

ทั้งหมดนี้อาจจะต้องอาศัยเวลาสำหรับคิดและไตร่ตรอง แต่ผลที่ได้คุ้มค่าแน่ เพราะอาจเปลี่ยนชีวิตของเราได้

*****************
จบบริบูรณ์
ตอบกลับโพส