ผีเป้า ผีปอบ ประวัติศาสตร์บ้านซ่งแย้ อะไรทำให้คนอีสานเปลี่ยนความเชื่อจากศาสนาผีเป็นศาสนาคริสต์

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 918
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พุธ พ.ค. 15, 2024 9:21 pm

รูปภาพ

ในการรับรู้ของคนทั่วไป บ.ซ่งแย้ อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร จะอยู่ในฐานะหมู่บ้านที่มีโบสถ์คริสต์สร้างด้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือเป็นที่รับรู้ว่าที่นี่เต็มไปด้วยกิ้งก่าหรือในภาษาอีสานจะเรียกว่า “แย้” อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก แต่หารู้ไม่ว่าหมู่บ้านนี้คือชุมชนคาทอลิกที่เก่าแก่ มีอายุมากกว่า 100 ปี แสดงให้เห็นว่านอกจากความเก่าแก่แล้ว หมู่บ้านแห่งนี้มีพัฒนาการในทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์

หากทำความรู้จักกับหมู่บ้านซ่งแย้ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องและประวัติของหมู่บ้าน จะพบว่าบ้านซ่งแย้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมาก่อนหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่แถบเดียวกัน และเป็นหนึ่งในชุมชนคาทอลิกที่เกิดขึ้นมาในสมัยแรกของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในอีสาน อีกทั้งเหตุของการเกิดขึ้นของหมู่บ้านนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องศาสนาผีในอดีต เมื่อพิจารณาดูจากสภาพทั่วไปของหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ คนทั่วไปคงไม่ทราบว่าเหตุใดศาสนาผีจึงเกี่ยวข้องกับชาวบ้านแห่งนี้

เพื่อเป็นการขยายพื้นที่ของการรับรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและคริสตศาสนาในอีสาน ผู้เขียนจึงขอพาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจที่มาที่ไปของบ้านซ่งแย้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจระบบความเชี่อของผู้คนในสังคมอีสาน

อ่าน - ผีเป้า ผีปอบ ประวัติศาสตร์บ้านซ่งแย้ อะไรทำให้คนอีสานเปลี่ยนความเชื่อจากศาสนาผีเป็นศาสนาคริสต์ https://theisaanrecord.co/.../05/15/chr ... n-songyae/

---

เรื่อง: พงศธรณ์ ตันเจริญ

ภาพ: วัดอัครเทวดามีคาแอล ซ่งแย้

---

สนับสนุน The Isaan Record เพียงกดลิงก์นี้และบริจาค https://www.zfer.me/theisaanrecord/

#บ้านซ่งแย้ #ศาสนาผี #ศาสนาคริสต์

CR. : The Isaan Record
https://www.facebook.com/IsaanRecordTha ... 4YH7YpNPzl
Arttise
โพสต์: 918
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พุธ พ.ค. 15, 2024 9:27 pm

รูปภาพ
วัดอัครเทวดามีคาแอล ซ่งแย้ ภาพจากสังฆมลฑลอุบลราชธานี

ผู้เขียนเคยมีโอกาสทอดน่องเที่ยวไปยังจังหวัดยโสธร เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการท่องเที่ยวตามปกติที่มักจะลงเอยไปกับการกิน การดื่ม และการเที่ยวตะเวนตามที่ต่างๆ แล้วข้าพเจ้าได้รับประสบการณ์ที่น่าสนใจจากการที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมวัดอัครเทวดามีคาแอล ซ่งแย้ ตั้งอยู่ที่ บ้านซ่งแย้ ต.คำเตย อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร ห่างจาก อ.เมือง ประมาณ 45 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อีกทั้งบริเวณด้านหลังของโบสถ์ก็เป็นสุสานอันเป็นพื้นที่พักร่างไร้วิญญาณของคริสตชน หรือที่ผู้ที่นับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเรียกกันว่า “ป่าศักดิ์สิทธิ์” พื้นที่ตรงนี้เองทำให้ผู้เขียนได้พบกับหลุมศพของยอห์น ดร. พีรพันธุ์ พาลุสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 6 สมัย และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังกัดพรรคเพื่อไทย สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นอกจากนี้แล้วยังเป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันส่งเสริมให้วัดซ่งแย้ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดให้โบสถ์วัดซ่งแย้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว “UNSEEN in THAILAND” ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจที่มีต่อหมู่บ้านแห่งนี้ และทำให้ผู้เขียนต้องกลับมานั่งรื้อค้นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านซ่งแย้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องราวใหม่ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้

รูปภาพ

รูปภาพ
ป่าศักดิ์สิทธิ์ และหลุมศพยอห์น ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ภาพจากพงศธรณ์ ตันเจริญ

จากบทความเรื่อง “ไถ่ทาสจากกุลา ให้การศึกษาเด็กยากจน โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกที่อุบลฯ ร่องรอยคริสตชนในอีสาน” (สามารถตามอ่านได้ที่: ไถ่ทาสจากกุลา ให้การศึกษาเด็กยากจน โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกที่อุบลฯ ร่องรอยคริสตชนในอีสาน เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2023 https://theisaanrecord.co/2023/12/06/pr ... -in-isaan/) ผู้เขียนได้อธิบายเล่าถึงความเป็นมาของคริสตศาสนาในอีสานอันเป็นการอธิบายภาพรวมในเชิงประวัติศาสตร์แบบกว้างๆ ตั้งแต่การเข้ามาของคริสตศาสนาและการช่วยเหลือผู้คนกลุ่มต่างๆ ด้วยพันธกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการไถ่ทาส การช่วยชาวบ้านจากผีร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ความยากจน และจากการที่ผู้มีอำนาจคอยข่มเหงรังแก ซึ่งบทความคราวนี้จะเป็นเชื่อมต่อกันจากเรื่องดังกล่าวผ่านการนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนซ่งแย้มาให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักและได้เห็นความเชื่อมโยงถึงยุคมิสซังลาวอันเป็นยุคเริ่มแรกของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอีสาน

สำหรับการรับรู้ของคนทั่วไปหลายคนอาจคุ้นชื่อบ้านซ่งแย้ อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์สร้างด้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหรือไม่ก็เป็นพื้นที่ที่มีกิ้งก่าหรือที่ผู้คนในภาคอีสานเรียกว่า “แย้” อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก หารู้ไม่ว่าหมู่บ้านนี้คือชุมชนคาทอลิกที่เก่าแก่ ซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปี แสดงให้เห็นว่านอกจากความเก่าแก่แล้วชุมชนแห่งนี้มีพัฒนาการในทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์

บทความชิ้นนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับชุมชนซ่งแย้ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับที่มาที่ไปของหมู่บ้านเนื่องจากบ้านซ่งแย้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมาก่อนหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่แถบเดียวกันและเป็นหนึ่งในชุมชนคาทอลิกที่เกิดขึ้นมาในสมัยแรกของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในอีสาน อีกทั้งเหตุของการเกิดขึ้นของหมู่บ้านนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องศาสนาผีในอดีต เมื่อพิจารณาดูจากสภาพทั่วไปของหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ คนทั่วไปคงไม่ทราบว่าเหตุใดศาสนาผีจึงเกี่ยวข้องกับชาวบ้านแห่งนี้

ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายพื้นที่ของการรับรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและคริสตศาสนาในอีสาน ผู้เขียนจึงขอพาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจที่มาที่ไปของบ้านซ่งแย้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจระบบความเชี่อของผู้คนในสังคมอีสานก่อนการเข้ามาของคริสตศาสนา

รูปภาพ
ผาแต้มปรากฏภาพวาดเรื่องราวพิธีกรรรมของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนาผีในอีสาน ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ศาสนาผีในสังคมอีสาน

ลักษณะความเชื่อของศาสนาผี (Animism) ตามแนวคิดของสุจิตต์ วงษ์เทศคือความเชื่อที่นับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ (Supernatural) ที่อยู่เหนืออำนาจการควบคุมของมนุษย์และเป็นต้นธารของการสรรค์สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ความมืด แสงสว่าง อากาศ ฯลฯ รวมทั้งปรากฏการณ์ไม่ว่าดีหรือร้ายล้วนเกิดขึ้นมาจากฝีมือของผี (Tassana Puttaprasart, 2565, ออนไลน์) อีกทั้งยังเป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกิดขึ้นมาก่อนศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา

ซึ่งทั้งสองศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่ความเชื่อในภายหลัง แต่อิทธิพลจากความเชื่อของศาสนาผีก็มิได้สูญหายหรือลดความสำคัญลงในดินแดนอีสาน แต่กลับมีการผสมผสานความเชื่อที่หลากหลายทั้งผี พราหมณ์ และพุทธ ซึ่งปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตที่กลมกลืนอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านประเพณี 12 เดือนหรือฮีตสิบสอง อันเป็นจารีตที่ปฏิบัติในรอบปี (ธีระพงษ์ มีไธสง, 2564, หน้า 60)

คติความเชื่อเรื่องผีนั้นเป็นลักษณะการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่งของสังคมอีสาน ซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วความรู้สึกนึกคิดและมีอำนาจควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม การนับถือผีดังกล่าวได้เป็นที่ยอมรับของคนทุกระดับนับตั้งแต่ชนชั้นปกครองจนลงมาถึงราษฎร ผีตามความเชื่อของชาวอีสานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ (1) ผีชั้นสูง เช่น ผีแถนหรือผีฟ้า (2) ผีชั้นกลางหรือผีประจำทรัพยากร เช่น ผีปู่ตา นางตะเคียน เป็นต้น (3) ผีประจำบ้านหรือที่อยู่อาศัย เช่น ผีตาแฮก (ผีนา) ผีเรือน (ผีบรรพชน) เป็นต้น และ (4) ผีชั้นต่ำหรือผีร้าย เช่น ผีเป้าหรือผีโพง ผีแม่หม้าย ผีกองกอย ผีพราย และผีปอบ เป็นต้น

ความดีร้ายของผีแสดงให้เห็นการยอบรับและการกีดกันทางสังคม (ภัทรลดา ทองเถาว์ และสุวัฒนา เลี่ยมประวัติ, 2563, หน้า 229) ดังเช่นที่ปรากฏในกรณีของการทำพิธีขับไล่ผีปอบ เมื่อมีคนในหมู่บ้านที่มีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากบรรทัดฐานในสังคม คนเหล่านี้ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ (Ogre) สำหรับความหมายของผีปอบนั้นคือผีที่ผู้คนในอีสานเชื่อกันว่าเป็นผีร้ายที่ไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน จึงมักจะเข้าสิงในร่างมนุษย์เพื่อมุ้งร้ายทำลายชีวิตของผู้อื่น ทำให้คนที่ถูกสิงมีพฤติกรรมชอบกินของดิบและถูกผีปอบเข้าไปกินอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ถูกสิงอ่อนแอเจ็บป่วยและเสียชีวิตในที่สุด (กมลเลศ โพธิกนิษฐ, 2555, หน้า 123)

ลักษณะของผู้ที่ถูกกล่าวว่าเป็นผีปอบนอกจากจะเป็นคนที่เก็บเนื้อเก็บตัวไม่คบหาสมาคมแล้วอาจเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมขัดแย้งกับบรรทัดฐานของชุมชน เช่น เรียนวิชาอาคมที่เกี่ยวกับการอยู่ยงคงกระพันหรือเกี่ยวข้องกันมนตร์เสน่ห์แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อห้าม กินของดิบ จนในที่สุดก็จะถูกลือในหมู่บ้านว่าเป็นผีปอบส่งผลให้ผู้คนหวาดกลัวและเป็นที่รังเกียจ จนในที่สุดผู้ถูกกล่าวหาก็จะอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ (กมลเลศ โพธิกนิษฐ, 2555, หน้า 124)

กล่าวโดยสรุปได้ว่าปรากฏการณ์ผีปอบจัดว่าเป็นการควบคุมทางสังคม (Social Control) ผ่านระบบความเชื่อและอิทธิพลของศาสนาผี ซึ่งถือเป็นการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้ดำเนินชีวิตตามที่โครงสร้างสังคมเป็นตัวกำหนด หากปฏิบัติตัวนอกลู่นอกทางก็จะต้องพบกับการลงโทษทางสังคมดังเช่นที่อธิบายกรณีการขับไล่ผีปอบเมื่อข้างต้น (กมลเลศ โพธิกนิษฐ, 2555, หน้า 124)

นอกจากคำอธิบายในเชิงมิติทางวัฒนธรรมและมิติทางความเชื่อนั้นการกล่าวหาว่าคนในหมู่บ้านเดียวกันว่าเป็นผีปอบนั้นก็อาจเป็นผลมาจากความขัดแย้งของบุคคลรวมไปถึงความขัดแย้งภายในหมู่บ้าน เช่น คนรวยอาจกล่าวหาคนจนว่าเป็นผีปอบได้ บางครั้งผีปอบก็มักจะเป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยหรือเกี่ยวข้องกับคนในหมู่บ้าน และทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าโครงสร้างทางสังคมของหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไป จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบก็มี ดังนั้น ปอบจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของผีร้ายเพียงอย่างเดียว

ศาสนาผีในมุมมองของคริสตศาสนา

ศาสนาคริสต์ในฐานะที่เป็นศาสนาแบบเอกเทวนิยม (Monotheism) ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียวและเชื่อว่าไม่มีอำนาจใดเหนือกว่าอำนาจของพระเจ้า โดยแก่นความเชื่อนี้นอกเหนือจากจะปรากฏอยู่ในพระบัญญัติ 10 ประการของคริสตศาสนาที่ว่า “ข้อหนึ่งจงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าพระองค์เดียวของท่าน” (อพย 20 : 3, ฉธบ 5 : 7) อีกทั้งก็ยังถือเป็นรากฐานความเชื่อที่สำคัญของศาสนายูดายและศาสนาอิสลาม ซึ่งทั้งสามศาสนาก็ล้วนมีต้นกำเนิดจากรากเหง้าเดียวกันหรือที่เรียกว่าเป็นกลุ่มศาสนาอับราฮัม (Abrahamic religions)

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงในยุคเริ่มแรกของคริสตศาสนา ณ เวลานั้นก็จะพบว่าความเชื่อที่รายล้อมศาสนาคริสต์นั้นผู้คนในพื้นที่ดินแดนตะวันออกกลางและในยุโรปล้วนนับถือความเชื่อแบบพหุเทวนิยม (polytheism) ที่บูชาเทพเจ้าหลายองค์กันทั้งสิ้น แต่ภายหลังศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา หลังจากที่จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ให้เสรีภาพในการนับถือคริสตศาสนา และในเวลาต่อมาคริสตศาสนาก็กลายเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมัน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนหันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมากรวมทั้งศาสนาคริสต์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายในอาณาจักรโรมัน จึงทำให้ศาสนาคริสต์มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมการเมือง ส่งผลให้พระศาสนจักรเริ่มมีอำนาจในฝั่งโลกตะวันตก (นงเยาว์ ชาญณรงค์, 2547, หน้า 141-142) เมื่อคริสตศาสนาเริ่มมีอำนาจมากยิ่งขึ้น

จึงทำให้ศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ที่นับถือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ นอกเหนือไปจากพระเจ้าก็ถูกแทนที่ด้วยคริสตศาสนา เนื่องจากมุมมองของผู้ที่นับถือคริสตศาสนาในโลกตะวันตกมองว่าศาสนาที่ผู้คนนับถือ พระเจ้าหลายองค์หรือศาสนาพื้นบ้าน (folk religion) ถูกจัดให้เป็นความเชื่อแบบ Pagan คือ ศาสนานอกศาสนา ซึ่งคำว่า Pagan นี้มาจากภาษาละติน paganus แปลว่า “ผู้ที่อยู่ในชนบท” (ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์, 2558, ออนไลน์)

นอกจากนี้แล้วความเชื่อที่นับถือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ นอกจากพระเจ้าก็ถูกประกาศให้เป็นพวกนอกรีต (Heresy) ส่งผลให้การกระทำอันใดก็ตามที่เป็นการบูชาสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากพระเจ้าล้วนเป็นเรื่องที่ขัดต่อ กฎของศาสนจักร ถึงแม้ว่าศาสนาผีจะกำเนิดขึ้นมาก่อนศาสนาคริสต์ แต่หลังจากที่ศาสนาคริสต์ได้รับความนิยมจนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในศาสนาหลัก ศาสนาผีก็ถูกจัดให้เป็นการกระทำของคนนอกรีตไป เพราะสนับสนุนให้ผู้คนเชื่อในเรื่องพลังงานของผีสาง และเทพเจ้าองค์อื่นๆ นอกเหนือจากพระเจ้า

ด้วยลักษณะแห่งความเชื่อตามหลักการคริสตศาสนา ซึ่งบรรดาคริสตนิกชนจะต้องยึดถือปฏิบัตินั้น นับว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อดั้งเดิมของชาวอีสาน ราษฎรส่วนใหญ่มีความเชื่อถือและยึดมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เป็นอำนาจลึกลับมองไม่เห็นด้วยตนเองที่เรียกว่าผีหรือวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับราษฎรหัวเมืองอีสาน วิถีการดำเนินชีวิตตั้งแต่การเกิดกระทั่งตายมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าวมาตลอด ดังเช่นความเชื่อทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับเวทมนต์คาถา และพวกผีต่างๆ อันเป็นความเชื่อที่ปะปนมากับความเชื่อในพุทธศาสนาจนยากจะแยกออกจากกัน

ทั้งนี้เนื่องจากหลักคำสอนในคริสตศาสนานั้นไม่เห็นด้วยกับการนับถือสิ่งใดนอกจากพระเยซูคริสต์เท่านั้น (พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 195) จึงทำให้คำอธิบายข้างต้นเป็นไปในทางเดียวกันกับที่ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก (François Marie Xavier Guego) ซึ่งเป็นมิชชันนารีผู้บุกเบิกการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอีสานก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี เอาไว้ว่า

“…ในช่วงปี พ.ศ. 2430 ข้าพเจ้าได้ตระเวนเยี่ยมหมู่บ้านชาวโซ่ ได้พบเห็นแท่นบูชาผีผู้พิทักษ์คุ้มครอง แท่นนั้นทำด้วยแผ่นกระดาษตอกติดฝา บนแท่นมีของขลังสารพัดรูปต่าง ๆ เช่น คางคก ช้าง สุนัข ฯลฯ อันเป็นผีต่างๆ ที่คุ้มครองของปู่ย่าตายายแต่เดิมมา….ข้าพเจ้าได้กล่าวกับหมู่ชาวโซ่ว่า…เพื่อนรักทั้งหลายพากันโยนท่อนไม้เหล้านนั้นใส่ไฟเสีย เพราะมันไม่มีฤทธิ์เดชอะไร มาไหว้พระเจ้าซึ่งมีฤทธิ์เก่งกว่าพิทักษ์ที่จะปกป้องไม่ให้มีอันตราย…”

(พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 196)

นอกจากนี้แล้วจากบันทึกของพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ประมุขสังฆมลฑลอุบลราชธานี (ในเวลานั้นเขตปกครองมีพื้นที่ครอบคลุมประกอบไปด้วย อุบลฯ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953-1969 ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งพระสังฆราชองค์ที่ห้าและองค์สุดท้ายของมิสซังลาว โดยพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ก็ได้อธิบายการนับถือผีของผู้คนในอีสาน เอาไว้ว่า

“…ชาวภาคอีสานและคนในประเทศลาวเกือบทุกคนถือผีและอยู่ใต้อิทธิพลของผี พอเกิดอะไรขึ้นมา เป็นไข้หรือมีเหตุร้ายอื่นๆ พวกนี้จะต้องนำไก่ หมู ไปฆ่าบูชาถวายผี เพราะเขาเชื่อว่าถ้าผีโกรธแล้วผู้คนจะพากันเจ็บป่วยหรือได้รับความเดือดร้อยไปตามๆ กัน ฉะนั้นจะทำอะไรเขามักพยายามไม่ทำสิ่งที่เขาคิดว่าจะเป็นการขัดใจผีที่สุดพวกเขาก็รู้สึกว่าเป็นภาระหนักเมื่อบรรดามิสชันนารีได้มาอยู่หลายปีแล้ว ชาวบ้านก็เห็นว่าพวกถือศาสนาของมิสชันนารีไม่เคยนำสัตว์สิ่งของไปบูชาถวายผีเลย และเขาไม่เห็นกลัวผีด้วย ฉะนั้นจึงมีหมู่บ้านหรือหลายๆ ครอบคร้วมาขอเข้าศาสนาของมิสชันนารี เพื่อพ้นจากการรบกวนของผี…”

(พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 196-197)

รูปภาพ
พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ประมุขสังฆมลฑลอุบลราชธานี จากสถาบันวิจัยฝรั่งเศส-เอเชีย Institut de recherche France-Asie: IRFA

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเข้ามาดำเนินงานของมิสชันนารีคาทอลิกนอกจากจะก่อให้เกิดการยอมรับความเชื่อใหม่แล้ว ยังส่งผลให้ผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบได้ย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมมาพึ่งพาเหล่าบรรดามิชชันนารี เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่กระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งราษฎรยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องผีในหมู่คริสตังจะสูญหายไปเพราะมิชชันนารีได้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านเลิกนับถือ โดยเห็นว่าเป็นความเชื่อที่ไม่มีแก่นสาร (พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 196) และอีกทั้งคริสตังไม่เชื่ออำนาจของผี

เพราะเหตุนี้เขาจะไปสร้างถิ่นที่อยู่ในที่ที่ชาวบ้านทั่วไปเชื่อว่ามีผีดุและชุกชุม พื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นพื้นที่ดินและอุดมสมบูรณ์ เช่น ที่บุ่งกะแทว สีถานและเซซ่ง เป็นต้น (โรแบ โกสเต, 2543, หน้า 20) จากความเชื่อในเรื่องผีที่ปะปนหรือควบคู่กับความเชื่อในพุทธศาสนาของผู้คนในดินแดนอีสาน นับว่ามีส่วนอย่างสำคัญต่อการกลับใจเข้าเป็นคริสตังของราษฎรในดินแดนส่วนนี้ จากหลักฐานของมิสชันนารีผู้ประกาศศาสนาในดินแดนอีสาน ทำให้ทราบว่าได้รับบุคคลผู้เข้ารีตเป็นจำนวนมาก จากผู้ที่กล่าวหวาว่าเป็นผี โดยเฉพาะผีปอบ ซึ่งต้องถูกไล่ออกจากหมู่บ้านที่อาศัยพร้อมทั้งครอบครัว หรือกลุ่มหมู่บ้านที่อาศัยบริเวณที่เชื่อกันว่ามีผีดุอาศัยอยู่ด้วย (พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 197)
Arttise
โพสต์: 918
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พุธ พ.ค. 15, 2024 9:31 pm

กำเนิดบ้านซ่งแย้

สำหรับบ้านซ่งแย้นั้นแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “บ้านหนองซ่งแย้” การตั้งชื่อหมู่บ้านนี้อาจมีสาเหตุมาจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ใกล้หนองน้ำที่เรียกกันว่า “หนองซ่งแย้” จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านให้สอดคล้องกับชื่อเรียกของหนองน้ำ ก่อนหน้าที่จะมีการหมู่บ้านซ่งแย้นั้นพื้นที่บริเวณแห่งนี้เคยมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่หลายครั้งเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ด้วยกันถึง 3 แห่ง ได้แก่ หนองค่าย หนองม่วง และหนองซ่งแย้ อีกทั้งยังมีลำห้วยไหลผ่านตัดผ่าน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่หมายปองของผู้คนในสมัยนั้นส่งผลให้มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินแต่แล้วก็ต้องพากันอพยพหลบหนีออกไป เพราะว่าผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นมีความเชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งที่อยู่ของผีร้าย จึงเป็นเหตุทำให้ผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยมักพากันป่วยและล้มตายเป็นประจำ อีกทั้งซ้ำร้ายยังต้องผจญกับการปล้นจี้ของพวกโจร ทำให้ผู้คนต้องอพยพหนีไปหาที่อยู่แห่งใหม่

แม้ว่าจะมีการอพยพหนีไปหลายครั้งหลายกลุ่มก็ตาม แต่เนื่องจากบริเวณบ้านซ่งแย้นั้นเป็นทำเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีผู้คนกลุ่มใหม่ๆ พยายามอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และเสี่ยงชีวิตกันอยู่เรื่อยๆ ต่อมาเมื่อมีกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาสำรวจพื้นที่แห่งนี้เพื่อหาที่ทำกินแห่งใหม่และเห็นว่าที่แห่งนี้มีความเหมาะสมแก่การตั้งรกราก จึงได้เชิญชวนญาติพี่น้องให้พากันอพยพเข้ามาตั้งหมู่บ้านซ่งแย้ ซึ่งในบรรดาผู้คนที่พยายามอพยพเข้ามานั้นมีครอบครัวของนายมหาธิราช เป็นผู้อพยพมาจากบ้านไผ่สร้างช้างและครอบครัวของนายอินทวงศ์อพยพมาจากบ้านเกี้ยง

ซึ่งทั้งสองครอบครัวอพยพมาจากหมู่บ้านอื่น เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบจึงถูกขับไล่ออกมาจากหมู่บ้าน นอกจากสองครอบครัวดังกล่าวแล้วยังมีครอบครัวของนายคำวงศ์ษา ครอบครัวนายเสมียน อ้วน และครอบครัวนายอินทรโคตรก็ได้อพยพเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านนี้ในระยะเวลาใกล้เคียงกันก็คือราวปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) ซึ่งทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่มีคนใหม่ๆ ที่พยายามเข้ามาตั้งรกรากกันอยู่เรื่อยๆ แต่จำนวนผู้อาศัยกลับมีจำนวนน้อยและอยู่รวมกันเป็นกระจุก ในปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) บ้านซ่งแย้มีประชากรอยู่เพียง 5 ครอบครัว (กิตติธัช ชัยประสิทธิ์, 2557, หน้า 145)

ในปีเดียวกันนั้นชาวบ้านซ่งแย้ได้ทราบข่าวว่าบาทหลวงเดซาแวลและบาทหลวงอัมโปรซิโอที่บ้านเซซ้ง (ปัจจุบันคือบ้านเซซ่ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร) นั้นเป็นผู้ที่สามารถปราบผีได้ จึงมีการส่งคนเดินทางไปพบบาทหลวงและชาวบ้านซ่งแย้ก็แสดงเจตจํานงต้องการจะเข้าศาสนาเป็นคริสตังเพื่อจะได้หลุดพ้นจากอำนาจของผีปอบ อีกทั้งยังได้เชิญให้คุณพ่อมาดูหมู่บ้านด้วย ขณะนั้นบาทหลวงเดซาแวลและ บาทหลวงอัมโปรซิโอเป็นเจ้าอาวาสวัดประจำที่บ้านเซซ่ง บาทหลวงทั้งสองท่านก็ได้มาที่บ้านซ่งแย้ตามคำเชิญของชาวบ้าน โดยทั้งสองท่านก็ได้ช่วยขับไล่ผีปอบที่ให้กับชาวบ้าน ภายหลังจากเหตุการณ์สงบลงชาวบ้านซ่งแย้ทั้ง 5 ครอบครัวก็ได้หันมากลับใจนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนี้จึงเป็นต้นทางแห่งความเชื่อของชาวบ้านซ่งแย้

เมื่อสำรวจสภาพพื้นที่แล้วก็พบว่ามีความเหมาะสมในการตั้งรกราก บาทหลวงทั้งสองท่านจึงขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างที่พักเพื่อจะใช้เป็นโรงสวดประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยโรงสวดแห่งนี้มีสภาพเป็นกระต๊อบไม้ขัดแตะหลังเล็กๆ มุงด้วยหญ้าคาธรรมดา ซึ่งโรงสวดหลังนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของการก่อตั้งวัดคาทอลิกบ้านซ่งแย้ในภายหลัง จากนั้นบาทหลวงทั้งสองท่านก็ได้สลับเปลี่ยนแวะเวียนมาดูแลเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว เดือนละครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 วัน โดยได้พักอาศัยภายในโรงสวด

เมื่อเวลาผ่านไปคนในหมู่บ้านได้ขอเข้ามานับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกแล้วไม่ปรากฎว่ามีอันตรายใดๆ จึงทำให้ข่าวนี้ก็ได้แพร่กระจายกัน ผู้คนในเวลานั้นเชื่อและเข้าใจว่าบาทหลวงฝรั่งปราบผีดุได้ นั่นจึงเป็นเหตุให้มีคนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านซ่งแย้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาก็มีสามครอบครัวจากบ้านเซซ้งย้ายมาตั้งหลักแหล่งอยู่ด้วยและแล้วก็มีมาจากบ้านหนองคู บ้านเซซ้งและจากบ้านอื่นซึ่งเป็นญาติกับผู้ที่มาก่อนแล้วได้ทยายมาตั้งหลักแหล่งอยู่ด้วย ในปี พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1912) บาทหลวงกังแตงได้พาอีกสิบครอบครัวจากบ้านดอนเขืองใกล้กับลุมพุก มาอยู่ที่บ้านซ่งแย้ด้วย (เกลาดิอุส บาเยต์, 2527, หน้า 148)

สาธารณสุขและยาสมัยใหม่

เรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มการตั้งบ้านเรือนขึ้นในระยะแรกนั้น บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านซ่งแย้นั้นก่อนหน้าที่จะมีพวกคริสตังมาตั้งบ้านเรือนอยู่นั้น ผู้คนมีความเชื่อว่าบริเวณที่หมู่บ้านซ่งแย้นั้นเป็นสถานที่ที่มี “ผีดุ ผีแข็ง” อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเจ็บป่วย และล้มตายกันลงไป บาทหลวงฝรั่งได้ลบล้างความเชื่อเรื่องผี ด้วยการขับไล่ผีร้ายและพิสูจน์ให้ชาวบ้านเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีผีร้าย แท้จริงแล้วการที่มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยแล้วต้องเจ็บป่วยและล้มตาย มีสาเหตุมาจากบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านซ่งแย้ไปด้วยป่าไม้ และมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จึงน่าจะเป็นสถานที่ที่ซึ่งมีโรคไข้ป่า หรือโรคมาเลเรียอยู่ชุกชุม (วรวิทย์ บ่วงนาวา, 2541, หน้า 106-107) ดังนั้น ชาวบ้านซ่งแย้จึงเลิกการนับถือผี

หลังจากที่บาทหลวงฝรั่งสามารถปราบผีได้ก็ทำให้มีผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านซ่งแย้ได้หลายครอบครัวแล้วก็ได้ทราบข่าวว่าบาทหลวงฝรั่งได้ทำการรักษาโรคไข้ป่าให้กับชาวบ้าน ปรากฏว่าการเจ็บไข้ได้ป่วย และการตายของชาวบ้านหายไป จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อในคริสตศาสนามากยิ่งขึ้น ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของการที่ทำให้ชาวบ้านหายจากการเจ็บป่วยล้มตายคงเป็นเพราะยารักษาโรคที่บาทหลวงให้ชาวบ้านกินมากกว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อชาวบ้านคนใดได้รับการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะพากันไปหาบาทหลวงเพื่อให้ช่วยทำการรักษา ซึ่งวิธีการรักษานั้นก็จะมีการให้คนไข้ได้กินยา (วรวิทย์ บ่วงนาวา, 2541, หน้า 107) แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการอนามัยขั้นพื้นฐานชาวบ้านที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

สรุป

กล่าวโดยสรุปจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอีสาน โดยมิชชันนารี คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Étrangères de Paris) มีผลทำให้ผู้คนในชุมชนซ่งแย้และเหล่าผู้คนที่ไร้ที่พึง ซึ่งถูกสังคม เบียดขับออกมาจากการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบนั้นได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากอำนาจของผีร้าย จนในที่สุดชาวบ้านก็หันมานับถือคริสตศาสนา อีกทั้งจากความสามารถรวมถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ของบาทหลวงฝรั่งก็มีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้ชาวบ้านซ่งแย้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ส่งผลทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาและกลายเป็นชุมชนคริสตังที่มีขนาดใหญ่อย่างในปัจจุบัน

แม้ว่าในปัจจุบันเรื่องราวการไล่ล่าผีปอบจะทำให้เราได้พบเห็นข่าวดังกล่าวอยู่เนื่องๆ แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของผู้เขียนต่อเรื่องนี้มีมุมมองว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้รับผลกระทบจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ ซึ่งในปัจจุบันสิ่งที่สำคัญอย่างมากที่มนุษย์ทุกสังคมพึงมีนั้นคือ ขันติธรรม (Toleration) ต่อความเชื่ออื่นๆ รวมถึงการที่ไม่ใช้ความรุนแรงเพียงเพราะว่านับถือต่างความเชื่อหรือปฏิบัติตนผิดแปลกไปจากขนบธรรมเนียมและประเพณี สิ่งนี้แลควรเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับทุกคนในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก

เอกสารอ้างอิง

กมเลศ โพธิกนิษฐ. (2552). การทำให้เป็น “ผีปอบ” และการกีดกันทางสังคมในมุมมองของการบริหารความขัดแย้ง.วารสารสถาบันพระปกเกล้า. 10(2). พฤษภาคม-สิงหาคม 2555. หน้า 121-143. สืบค้นจาก https://so06.tci-thaijo.org/index.php/k ... 393/165726.
กิตติธัช ชัยประสิทธิ์. (2552). การนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมวัดคาทอลิกในประเทศไทย: กรณีศึกษา วัดคาทอลิกบ้านซ่งแย้ จังหวัดยโสธร. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เกลาดิอุส บาเย. (2527). ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว. (ไมเคิ้ล เกี้ยน เสมอพิทักษ์, ผู้แปล). ม.ป.ท.
ธีระพงษ์ มีไธสง. (2565). การปรับตัวและต่อรองทางวัฒนธรรมของคริสตชนบ้านซ่งแย้ ตําบลคําเตย อําเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร. วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ. 29(1). มกราคม-มิถุนายน 2565. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 149-166. สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/a ... 260/175365.
ธีระพงษ์ มีไธสง. (2564). การปรับตัวทางวัฒนธรรมความเชื่อในสังคมอีสาน. วารสารศรีปทุมปริทัศน์ ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 21(2). กรกฎาคม-ธันวาคม 2564. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. หน้า 56-70. สืบค้นจาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/s ... 194/172467.
นงเยาว์ ชาญณรงค์. (2547). ศาสนากับสังคม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง : กรุงเทพฯ .
พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากรและอำนาจ พลไชยขา. (2543). แกะรอยมิสชันนารีฝรั่งเศสแพร่ธรรมภาคอีสาน. ม.ป.ท.
ภัทรลดา ทองเถาว์และสุวัฒนา เลี่ยม. (2563). ประวัติบทบาทของความเชื่อเรื่องผีต่อสังคมอีสาน : กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี. วารสารศิลปศาสตร์. 15(2). มกราคม-มิถุนายน 2563. มหาวิทยาลัยรังสิต. หน้า 221-236. สืบค้นจาก https://rsujournals.rsu.ac.th/index.php ... 1565/1264/.
โรแบต์ โกสเต. (2543). ย้อนรอยประวัติศาสตร์การแพร่ธรรมนำความรอดสู่อีสานบ้านเฮา. ม.ป.ท.
วรวิทย์ บ่วงนาวา. (2541). พัฒนาการชุมชนคาทอลิกพื้นฐาน : ศึกษากรณีบ้านซ่งแย้ ตำบลคำเตย กิ่งอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์. (2558). เพเกิ้น “ศาสนานอกศาสนา”. sinchaichao.blogspot. เผยแผ่เมื่อวันที่ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558. สืบค้นจาก https://sinchaichao.blogspot.com/2015/06/pagan.html. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567.
Tassana Puttaprasart. (2565). นั่นก็ผี นู่นก็ผี ว่าด้วยศาสนาผีที่อยู่ในทุกอย่างของไทย ตามแนวคิดของสุจิตต์ วงษ์เทศ. The MATTER. เผยแผ่เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/animism-in- ... alk/187213. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567.
ตอบกลับโพส