---เทววิทยาเรื่องความตาย---

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ ก.พ. 08, 2009 2:53 pm

1. เทววิทยาเรื่องความตายในพระคัมภีร์

แม้ว่าเรื่องความตายไม่เป็นจุดศูนย์กลางในพระคัมภีร์ แต่พระคัมภีร์ก็มีคำสอนเรื่องความตายอยู่บ้าง ชาวยิวในสมัยโบราณตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตในโลกนี้มากกว่าที่จะคำนึงถึงความตายและชีวิตหน้า ดังนั้น เพื่อที่จะศึกษาข้อความในพระคัมภีร์เกี่ยวกับความตาย เราควรทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “ชีวิต” ตามความคิดของชาวยิวเสียก่อน จิตสำนึกของชาวยิวเรื่องคุณค่าของชีวิตทำให้พระคัมภีร์ยืนยันถึงความหวังต่อการมีชีวิตยืนยาวอยู่ในโลกนี้ ดังที่ข้อความในหนังสือปัญญาจารย์กล่าวไว้

“ส่วนคนใดที่มั่วสุมอยู่กับคนที่มีชีวิต คนนั้นก็มีความหวังใจได้ ด้วยว่าสุนัขที่เป็นก็ยังดีกว่าสิงห์ที่ตายแล้ว” (ปญจ 9:4)


รูปภาพ

1.1 ชีวิตมนุษย์ในทัศนะของชาวยิว

ชาวยิวเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้เป็นพระพรของพระเจ้า “สวรรค์เป็นสวรรค์ของพระเจ้า แต่พระองค์ประทานแผ่นดินให้แก่มนุษย์”(สดด 115:16) ชีวิตเป็นเรื่องราวที่เห็นได้และเข้าใจได้ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ชีวิตผูกติดกับร่างกาย ดังนั้น ถ้าลมหายใจหยุดลง ชีวิตบนโลกนี้ก็สิ้นสุดลงด้วย “เมื่อพระองค์ทรงเอาลมหายใจไป มนุษย์ก็ตายและกลับเป็นฝุ่นดิน” (สดด 104:29) “ถ้าพระเจ้าทรงรับจิตของพระองค์กลับคืนสู่พระองค์ และทรงรวบรวมลมหายใจของพระองค์กลับมาสู่พระองค์ เนื้อหนังทั้งสิ้นก็จะพินาศไป และมนุษย์ก็จะกลับไปเป็นฝุ่นดิน” (โยบ 34:14-15)

ชีวิตที่สมบูรณ์ เป็นดังพละกำลังที่แข็งแรง แต่โรคภัยไข้เจ็บ ความแก่ชรา และ การพักผ่อนค่อยๆทำให้เสื่อมสมรรถภาพลง มนุษย์จะบรรลุถึงชีวิตที่มีคุณภาพสูงสุด ต่อเมื่อเขาดำเนินชีวิตพร้อมกับพระเจ้าในหมู่คณะของผู้ที่มีความเชื่อ และหวังว่าจะมีชีวิตเช่นนี้ไปจนถึงวัยชรา “จงนับถือบิดามารดา เพื่อท่านจะได้มีอายุยืนอยู่ในแผ่นดินที่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านประทานให้ท่าน” (อพย 20:12) “ท่านทูลขอชีวิต และพระองค์ก็ประทานชีวิตที่ยืนนานตลอดไป” (สดด 21: 4) “พระยาห์เวห์ทรงเป็นชีวิตและความรอดพ้นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะกลัวผู้ใดเล่า พระยาห์เวห์ทรงเป็นพละกำลังของข้าพเจ้า”(สดด 27)

พระเจ้าทรงตั้งชีวิตและความตายไว้ต่อหน้ามนุษย์ (เทียบ ฉธบ 30:15) ความตายไม่ได้กีดขวางการมีชีวิต แต่เป็นเพียงวาระสุดท้ายของขบวนการการมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกเท่านั้น คือพลังแห่งชีวิตที่ลดลงจนถึงขั้นต่ำสุด

ดังนั้นสภาพของคนตายจึงอยู่ในที่ที่เรียกว่า “แดนผู้ตาย” หรือ “แดนมรณะ” (Sheol) หมายถึงชีวิตที่อยู่ขั้นต่ำสุด ความเข้าใจเช่นนี้เราพบได้ในบทภาวนาของกษัตริย์เฮเซคียาห์ขณะประชวรว่า “ข้าพเจ้ากล่าวว่า เมื่อชีวิตของข้าพเจ้ามาถึงวัยกลางคน ข้าพเจ้าจะต้องจากโลกนี้ไป และถูกมอบไว้ที่ประตูแดนผู้ตายตลอดชีวิตบั้นปลายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เห็นพระยาเห์เวห์อีก ในแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 38:10-11)

พระเจ้าทรงกำหนดเวลาให้มนุษย์แต่ละคนมีชีวิตอยู่บนโลก “มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง และมีเวลาสำหรับกิจการทุกอย่างภายใต้ท้องฟ้า มีเวลาเกิด มีเวลาตาย มีเวลาปลูก และเวลาถอน” (ปญจ 3:1-2) “พระองค์ทรงทำให้สรรพสิ่งงดงามตามเวลาของมัน” (ปญจ 3:11) เวลาของมนุษย์จะประเสริฐ ถ้าเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า “ความยำเกรงพระยาห์เวห์ จะทำให้ชีวิตยืนนาน แต่ปีของคนชั่วร้ายนั้นจะสั้นลง” (สภษ 10:27)


รูปภาพ

ชาวยิวคิดว่า ถ้ามนุษย์มีเวลาเป็นของตนเอง พระเจ้าก็ต้องมีเวลาเป็นของพระองค์เช่นเดียวกัน เช่นเวลาในการสร้างโลก (เทียบ ปฐม 1:1-2:4) เวลาของพระเจ้ามีก่อนเวลาอื่นๆและกำหนดเวลาของผู้อื่น “วันเป็นของพระองค์ คืนก็เป็นของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างแสงสว่างและดวงอาทิตย์” (สดด 74:16) “พระองค์ทรงเปลี่ยนเวลาและฤดูกาลต่างๆ” (ดนล 2:21) “ในเวลาที่เราโปรดปราน เราก็ตอบท่าน” (อสย 49:8) “ข้าแต่พระยาห์เวห์ ข้าพเจ้าอธิษฐานทูลพระองค์ สำหรับเวลาที่พระองค์โปรดปราน” (สดด 69:13)

พระเจ้าทรงกำหนดขอบเขตของกาลเวลาให้แก่มนุษย์แต่ละคน “พระยาห์เวห์ตรัสว่า 'จิตของเราจะไม่อยู่กับมนุษย์ตลอดไป เพราะเขาเป็นเพียงสิ่งอ่อนแอ ชีวิตของเขาจะจำกัดเพียงร้อยยี่สิบปี’” (ปฐก 6:3) ชีวิตที่สมบูรณ์คือ ชีวิตที่ยืนยาวเช่นนี้ ดังภาพนิมิตที่ประกาศกอิสยาห์ได้เห็นเมื่อพระเจ้าทรงฟื้นฟูประชากรของพระองค์และโลกของเขา “ที่นั่นจะไม่มีทารกที่มีชีวิตเพียงสองสามวันหรือคนแก่ที่มีอายุไม่ครบกำหนด ผู้ที่มีอายุเพียงหนึ่งร้อยปีนับว่ายังเป็นเด็ก แต่ผู้ที่มีอายุไม่ถึงหนึ่งร้อยปีจะนับว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสาบแช่ง” (อสย 65:20)

เราสามารถสรุปได้ว่า ความเข้าใจทางเทววิทยาของชาวยิวเรื่อง“ชีวิต” คือ ชีวิตเป็นพระพรของพระเจ้า แต่เนื่องจากมนุษย์มีขอบเขตและความอ่อนแอ เขาจึงต้องยอมรับว่าชีวิตของตนมีขีดจำกัด มีทั้งความสุขและความทุกข์ ชีวิตจะมีความหมายเมื่อเขายอมรับความเป็นจริงนี้ มนุษย์ยอมรับชีวิตฉันใด ก็จะต้องยอมรับความตายฉันนั้น เขาจะต้องยอมรับว่าชีวิตของตนเป็น ธรรมล้ำลึกของพระเจ้า เพราะว่าวิธีการของพระองค์อยู่เหนือสติปัญญาของมนุษย์เกินที่จะเข้าใจได้ บทภาวนาของโยบสรุปถึงการยอมรับเช่นนี้อย่างดี “ข้าพเจ้ามาจากครรภ์มารดาตัวเปล่า และข้าพเจ้าจะกลับไปตัวเปล่า พระยาห์เวห์ประทาน และพระองค์ทรงเอากลับคืน ขอถวายพระพรแด่พระนามของพระยาห์เวห์” (โยบ 1:21)
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ ก.พ. 08, 2009 3:05 pm

1.2 ความตายในพันธสัญญาเดิม

หนังสือพันธสัญญาเดิมเช่นเดียวกับหนังสือพันธสัญญาใหม่ เสนอมุมมองเกี่ยวกับความตายไว้หลายแง่ เพราะมีพัฒนาการทางความคิดผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นพันปีอย่างไม่ต่อเนื่อง ถึงกระนั้นก็ดี หนังสือทุกเล่มของพระคัมภีร์ไม่ว่าเขียนในสมัยไหน ต่างยอมรับว่าความตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน พระเจ้าทรงรู้วันเวลาของชีวิตของมนุษย์แต่ละคนและทรงกำหนดขอบเขตของชีวิตของเขา “วันเวลาของมนุษย์ถูกกำหนดไว้แล้ว และจำนวนวันเดือนของเขาก็อยู่กับพระองค์ พระองค์ทรงกำหนดขอบเขตของเขา ไม่ให้เขาผ่านไปได้” (โยบ 14:5)

โดยทั่วไป หนังสือพันธสัญญาเดิมเสนอความคิดที่ว่า ความตายเป็นเหตุการณ์ธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งมนุษย์ควรยอมรับอย่างใจสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีชีวิตยืนนานเช่น เมื่อโยชูวารู้สึกว่าใกล้จะตาย เขากล่าวว่า

“บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังจะเป็นไปตามทางของโลกแล้ว ท่านทุกคนได้ทราบในจิตใจของท่านแล้วว่าไม่มีสักสิ่งเดียวซึ่งพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน ทรงสัญญากับท่านแล้วประสบความล้มเหลว แต่ทุกอย่างสำเร็จไป” (ยชว 23:14)

พระเจ้าตรัสล่วงหน้าถึงอับราฮัมว่า เขาจะกลับไปอยู่กับบรรพบุรุษอย่างสันติในวัยชราและหนังสือปฐมกาลเล่าเหตุการณ์ถึงความตายของอับราฮัมว่า

“อับราฮัมมีอายุหนึ่งร้อยเจ็ดสิบห้าปี จึงสิ้นชีวิตในวัยชราอันยาวนานและผาสุก ไปรวมอยู่กับบรรดาบรรพบุรุษ อิสอัคและอิชมาเอลบุตรชายฝังเขาไว้ในถ้ำมัคเปลาห์ตรงข้ามมัมเร ในทุ่งนาของเอโฟรน บุตรของโศหาร์ ชาวฮิตไทต์ อับราฮัมซื้อที่นาผืนนี้จากชาวฮิตไทต์ อับราฮัมและนางซาราห์ ภรรยาถูกฝังไว้ที่นั่น หลังจากอับราฮัมสิ้นชีวิตแล้ว พระเจ้าทรงอวยพรอิสอัค ผู้เป็นบุตร อิสอัคอาศัยอยู่ใกล้บ่อน้ำลาไฮ โรอี” (ปฐก 25:7-11)

ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ได้รับพระสัญญาว่า พระเจ้าจะทรงอวยพรเขา “ท่านจะเห็นแสงสว่าง เมื่อวันของท่านจะบริบูรณ์” (อสย 53:11)

หนังสือบุตรสิราแนะนำเราให้มีปรีชาญาณในการยอมรับความตายว่า “อย่ากลัวว่าท่านจะต้องตาย จงจำไว้เถิดว่า ผู้มีชีวิตอยู่ก่อนท่านก็ตายไปแล้ว และผู้ที่จะมีชีวิตหลังท่านก็จะต้องตายเช่นกัน” (บสร 41:3)

ชาวยิวสมัยโบราณไม่เข้าใจว่า วิญญาณมนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย หญิงชาวเทโคอา แสดงความคิดแบบโบราณ เกี่ยวกับความตายเมื่อทูลกษัตริย์ดาวิดว่า

“เมื่อเราตาย เราเป็นเหมือนน้ำที่หกลงพื้น แล้วจะเก็บคืนมาไม่ได้ พระเจ้าไม่ทรงต้องการเอาชีวิต พระองค์ย่อมทรงหาทางให้ผู้ถูกเนรเทศกลับบ้านเมืองได้อีก” (2 ซมอ 14:14)

คนโบราณไม่สามารถเข้าใจชีวิตมนุษย์หลังจากความตาย ไม่สามารถคิดว่า หลังจากที่กายและวิญญาณแยกจากกัน มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ดังนั้นความปรารถนาของคนโบราณก็คือ การมีชีวิตที่เป็นสุขอย่างยืนนานบนโลกนี้ “ทุกยามเช้า ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเปี่ยมไปด้วยความรักมั่นคงของพระองค์ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้ร้องเพลงและมีความสุขสำราญไปตลอดทุกวันวาร” (สดด 90:14)


รูปภาพ

ธรรมบัญญัติของโมเสสบันทึกบทบัญญัติของพระเจ้าที่เชิญชวนให้ชาวอิสราเอลเลือกสิ่งที่ทำให้มีชีวิตยืนยาวบนแผ่นดินนี้ว่า

“จงฟังเถิด ในวันนี้ ข้าพเจ้ากำลังเสนอให้ท่านเลือกระหว่างชีวิตและความตาย ระหว่างความดีและความชั่ว ข้าพเจ้าจึงสั่งท่านในวันนี้ ให้รักพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน และเดินตามหนทางของพระองค์ ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของพระองค์ แล้วท่านจะมีชีวิตและทวีจำนวนขึ้น พระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน จะทรงอวยพระพรท่านในแผ่นดินที่ท่านกำลังจะเข้าไปยึดครอง” (ฉธบ 30:15-16)

ความคิดของชาวยิวในสมัยแรกๆเกี่ยวกับความตาย คล้ายกับความคิดของชนชาติอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ คือบรรดาผู้ตายจะลงไปในแดนมรณะ (เชโอล) และอยู่ในสภาพที่ไม่เรียกว่ามีชีวิต เพราะในที่นั่นผู้ตายไม่ได้รับรางวัลหรือการลงโทษ แต่จะดำรงอยู่เป็นเหมือน “เงา” เท่านั้น ประวัติศาสตร์ ของพระคัมภีร์จึงชี้ให้เราเห็นว่า ศาสนาไม่มีรากฐานอยู่บนความปรารถนาของมนุษย์ที่จะมีชีวิตหลังจากความตาย หรือได้รับรางวัลเป็นการตอบแทนนิรันดร สิ่งสำคัญสำหรับคนสมัยโบราณคือคุณภาพของชีวิตในโลกนี้ ไม่ใช่ความหวังที่จะได้มีชีวิตที่ดีกว่าในโลกหน้า

กระนั้นก็ดี การที่มนุษย์ตายภายหลังจากการมีชีวิตที่สมบูรณ์ในโลกนี้ ไม่ได้เป็นประสบการณ์ของทุกคน หลายคนมีชีวิตที่ทุกข์ทรมานมากโดยไม่รู้เหตุผล อีกหลายคนต้องตายไปก่อนที่จะบรรลุวุฒิภาวะด้วยซ้ำ ภาพของบรรพบุรุษที่ตายในวัยชราอย่างมีความสุข เพราะได้เห็นลูกหลานมากมายมายืนอำลาอยู่รอบๆนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบกับความตายในลักษณะที่ผาสุกเช่นนี้ ชีวิตดูเหมือนไม่ยุติธรรมสำหรับอีกหลายๆคน ข้อเท็จจริงที่หลายคนตายไปในขณะที่ยังมีอายุน้อยจะสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า พระเจ้าทรงสร้างโลก และทรงทำพันธสัญญากับชาวอิสราเอลด้วยพระทัยดีได้อย่างไร

ความคิดเห็นที่เราพบในพันธสัญญาเดิมซึ่งต่อเนื่องในพันธสัญญาใหม่ก็คือ ความแน่ใจที่ว่ามนุษย์ประสบความตายเพราะบาปที่ได้กระทำ ข้อความที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ พระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับมนุษย์คู่แรกว่า “อย่ากินผลจากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว วันใดที่ท่านกินผลจากต้นนั้น ท่านจะต้องตาย” (ปฐก 2:17)

แน่นอนข้อความนี้ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า ความตายด้านกายภาพเป็นผลของบาป พระคัมภีร์เข้าใจชีวิตและความตายในความหมายที่มากกว่าเรื่องของกายภาพ เป็นไปได้ที่มนุษย์คนหนึ่งยังมีชีวิตด้านกายภาพแต่เหมือนกับตายไปแล้วในมิติหนึ่งของชีวิตของตน เราจะพบชีวิตที่สมบูรณ์กว่าด้านกายภาพเมื่อมีความสัมพันธ์เป็นหนี่งเดียวกับผู้อื่น มีชีวิตอย่างสันติ มีสุขภาพดี มีโชคลาภ และมีความปลอดภัย พระเจ้าผู้ทรงทำพันธสัญญากับชาวอิสราเอลทรงต้องการให้ประชากรของพระองค์มีชีวิตตามความหมายที่กล่าวมานี้ทั้งหมด พระเจ้าแห่งพันธสัญญาเป็นพระเจ้าแห่งชีวิต การมีชีวิต จึงหมายถึงการดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า และกับประชากรของพระองค์ การที่คนหนึ่งแยกตัวออกจากประชากรของพระองค์หรือจากพระเจ้านั้น จึงเสมือนเป็นผู้ที่ตายแล้วทั้งๆที่ยังคงมีชีวิตอยู่ทางด้านกายภาพ

รูปภาพ

ตามความคิดของพระคัมภีร์ สภาพของมนุษย์ที่ได้ทำบาปเป็นความตายแบบหนึ่ง ถ้าชีวิตที่สมบูรณ์เป็นพระพรของพระเจ้า สิ่งใด ๆ ก็ตามที่ลดคุณค่าของชีวิตลงหรือคุกคามชีวิต นับว่าสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความตาย ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ทรมาน หรือความยากจน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความตาย และในเทววิทยาของชาวยิวสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาพบาปของมนุษยชาติ ซึ่งไม่ใช่สภาพบาปของแต่ละคน แต่กับสภาพบาปของมนุษยชาติ

ประสบการณ์แห่งความตายสำหรับบุคคลจำนวนมาก ไม่ว่าเป็นผู้ชอบธรรมหรือคนอธรรมเป็นสิ่งเลวร้ายมากกว่าที่จะเป็นการจบชีวิตลงอย่างดี บุคคลส่วนมากตายก่อนที่จะบรรลุถึงความสำเร็จในชีวิต ข้อเท็จจริงนี้ทำให้พระคัมภีร์ยืนยันว่า ความตายเป็นเหตุการณ์ที่ขัดกับธรรมชาติ เพราะชาวยิวมองว่า ธรรมชาติของมนุษย์รวมลักษณะที่เป็นคู่พันธสัญญากับพระเจ้าผู้ทรงต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ ดังนั้นถ้าเราประสบความตายก็หมายความว่า สิ่งนี้ไม่เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการสำหรับมนุษย์

การไตร่ตรองที่ลึกซึ้งกว่าเกี่ยวกับความตาย พบได้ในหนังสือประเภทปรีชาญาณ ความคิดในหนังสือปัญญาจารย์ (1:12 – 2:26) พยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ โดยสรุปว่า แม้คนหนึ่งได้ดำเนินชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมและร่ำรวย ถึงกระนั้น ชีวิตนั้นก็ยังเป็นเหมือนกับ “ความพยายามที่เปล่าประโยชน์ เหมือนกับลมที่พัดผ่านไป” (ปญจ 2:26) ถ้าความตายเป็นชะตากรรมของมนุษย์ทุกคน ในที่สุดอะไรเป็นความแตกต่างกันระหว่างคนบาปกับนักบุญ หรือระหว่างคนโง่กับคนฉลาด ชีวิตดูเหมือนว่าเป็นการเล่นละครที่ไร้ประโยชน์ ดูเหมือนว่าไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนและสมเหตุสมผลเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตมนุษย์ แต่หนังสือประเภทปรีชาญาณฉบับอื่นๆให้ความคิดที่ว่าพระเจ้าจะทรงตอบสนองผู้ชอบธรรม และสันนิฐานว่ามนุษย์จะรับชีวิตหลังจากความตายเป็นการตอบแทน เช่นโยบ จากประสบการณ์ที่ท่านได้ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่ยังยืนยันอย่างน่าประทับใจว่า “ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า พระผู้ช่วยให้รอดของข้าพเจ้าทรงดำรงชีพ ….. และหลังจากผิวหนังของข้าพเจ้าถูกทำลายไปแล้ว เนื้อหนังของข้าพเจ้าจะได้แลเห็นพระเจ้า” (โยบ. 19:25-26)

ต่อมาความหวังที่พระเจ้าจะทรงตอบแทนผู้ชอบธรรมที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง ช่วยทำให้เข้าใจชะตากรรมของบรรดามรณสักขีที่ตายเพราะความเชื่อ และส่งเสริมความหวังที่จะมีชีวิตอยู่หลังจากความตาย ความคิดในสมัยก่อนกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในลักษณะเป็นเงาในแดนผู้ตายสำหรับทุกคนไม่ว่าเป็นคนดีหรือคนชั่วนั้นได้เปลี่ยนไป โดยหวังว่าคนดีจะได้รับการตอบแทนและคนชั่วจะได้รับการลงโทษ ความคิดนี้ยังพัฒนาต่อไปอีกจนกว่ามีความหวังที่พระเจ้าจะบันดาลให้คนตายกลับคืนชีพ (สดด 16:10, 73:23-28; ดนล 12:2; 2 มลค 7:9) ความคิดเรื่องการกลับคืนชีพนี้จึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงความหวังว่าพระเจ้าจะฟื้นฟูโลกขึ้นใหม่
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ ก.พ. 08, 2009 11:50 pm

1.3 ความตายในพันธสัญญาใหม่

1.3.1 พระวรสารสหทรรศน์

ความคิดและรูปแบบของการไตร่ตรองเรื่องความตายที่เราพบในพันธสัญญาเดิมก็ยังต่อเนื่องในพันธสัญญาใหม่ ชีวิตและความตายจึงไม่ได้เข้าใจเพียงแค่ในลักษณะทางด้านกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า หรือแยกตัวออกจากพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเรียกมนุษย์ให้กลับใจ โดยการเปิดตัวเองต่อพระเจ้า และต่อพระประสงค์ที่พระองค์ทรงแสดงแก่มนุษย์ทุกคนในเหตุการณ์แห่งชีวิตของตน ผู้ใดที่ยอมกลับใจเปลี่ยนชีวิตของตนเองจากการยึดมั่นในตนเอง กลับไปรับใช้พระเจ้า และเพื่อนมนุษย์อย่างมีใจกว้างเท่านั้นย่อมพบชีวิตแท้จริง “พระเยซูเจ้าทรงเรียกประชาชนและบรรดาศิษย์เข้ามา แล้วตรัสว่า ‘ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้” (มก 8:34-35)

ความตายไม่เป็นเรื่องที่หนังสือพระวรสารเน้นเป็นพิเศษ เพราะได้สูญเสียความสำคัญที่มีในพันธสัญญาเดิม เวลานี้เรื่องสำคัญก็คือ ชีวิตนิรันดรและการกลับคืนชีพ ดังที่พระเยซูเจ้าทรงแนะนำบรรดาศิษย์ว่า “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย แต่ไม่อาจฆ่าวิญญาณได้ จงกลัวผู้ที่สามารถทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรกได้” (มธ 10:28)

เราต้องเข้าใจพระวาจานี้ในบริบทของการเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ผู้ที่อยากเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า จะต้องเลือกพระองค์เหนือสิ่งใดในโลกนี้ และไม่หวังค่าตอบแทนในชีวิตนี้อีกด้วย “แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมจะกลับคืนชีวิต” (ลก.14.14)

รูปภาพ

อย่างไรก็ตามความตายเป็นที่ยอมรับในฐานะเป็นความจริงของชีวิต หนังสือพระวรสารไม่ยอมรับความเชื่อโบราณ ที่ว่าความตายที่เป็นโศกนาฏกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายก่อนวัยอันควรหรือความตายที่เกิดจากความรุนแรง หรือภัยพิบัติ ล้วนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบาปส่วนบุคคล “ในเวลานั้น คนบางคนเข้ามาทูลพระเยซูเจ้าถึงเรื่องชาวกาลิลี ซึ่งถูกปิลาตสั่งประหารชีวิตในขณะที่เขากำลังถวายเครื่องบูชา พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า ท่านคิดว่าชาวกาลิลีเหล่านี้เป็นคนบาปมากกว่าชาวกาลิลีทุกคนหรือ จึงต้องถูกฆ่าเช่นนี้? มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่าถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นกัน” (ลก.13:1-3 )

พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า ความตายมีความสัมพันธ์กับความชั่ว จึงทำให้ในพระอาณาจักรที่พระองค์ทรงสถาปนานั้น จะไม่มีความตายอีกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์ทั้งสิบสองคนเข้ามาพบ ประทานอำนาจให้เขาขับไล่ปีศาจได้ ให้รักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดได้… พระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกทั้งสิบสองคนนี้ออกไป ทรงสั่งเขาว่า “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย …จงรักษาคนเจ็บไข้ จงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ จงรักษาคนโรคเรื้อนให้สะอาด จงขับไล่ปีศาจให้ออกไป ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทนก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ10:1,5,8)

ดังนั้นหนังสือพระวรสารพูดถึงความตายทางด้านกายภาพ ไม่เหมือนกับเปาโลซึ่งใช้คำนี้หลายครั้งในลักษณะเปรียบเทียบ เราพบเพียงครั้งเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ คำตายในภาษาเปรียบเทียบที่ตรัสว่า “จงตามเรามา และปล่อยให้คนตายฝังคนตายของตนเถิด” (มธ 8:22)
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ ก.พ. 08, 2009 11:54 pm

1.3.2 นักบุญเปาโล

นักบุญเปาโลได้พัฒนาและเน้นเป็นพิเศษ ความสัมพันธ์ระหว่างบาปกับความตาย สำหรับท่านความตายไม่เป็นเพียงเหตุการณ์ทางกายภาพ แต่หมายถึงทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง เป็นอำนาจที่ทำให้มนุษย์ตกอยู่ใต้อำนาจของตน แต่อำนาจนี้ถูกทำลายอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า “บุตรทุกคนย่อมมีเลือดเนื้อร่วมกันฉันใด พระองค์ก็ทรงมีเลือดเนื้อร่วมกับมนุษย์ทุกคนด้วยฉันนั้น เพื่อว่าโดยการสิ้นพระชนม์ พระองค์จะทรงทำลายมารผู้มีอำนาจเหนือความตายลงได้” (ฮบ 2:14) “แต่เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยโดยการสำแดงพระองค์ของพระผู้ไถ่คือพระคริสตเยซู พระองค์ได้ทรงทำลายความตาย และทรงนำชีวิตและความไม่รู้จักตายให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งโดยทางข่าวดี”(2 ทธ 1:10)

นักบุญเปาโลได้พัฒนาความคิดนี้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบลักษณะตรงกันข้ามของสภาพมนุษย์ที่อยู่ใต้อำนาจของบาปและความตาย กับสภาพมนุษย์ที่ได้รับพระหรรษทานและการไถ่กู้ จากพระคริสตเจ้า

“ดังนั้น บาปได้เข้ามาในโลกเพราะมนุษย์คนเดียว และความตายเข้ามาเพราะบาปฉันใด ความตายก็ได้แพร่กระจายไปถึงมนุษย์ทุกคนเพราะทุกคนได้กระทำบาปฉันนั้น ก่อนที่จะมีธรรมบัญญัติบาปมีอยู่ในโลกแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีธรรมบัญญัติก็ไม่นับว่าเป็นบาป ถึงกระนั้น ความตายได้มีอานุภาพเหนือมนุษยชาติตั้งแต่อาดัมมาจนถึงโมเสส มีอานุภาพเหนือแม้คนที่ไม่ได้ทำบาปเหมือนกับอาดัมที่ได้ล่วงละเมิดก็ตาม อาดัมเป็นรูปแบบล่วงหน้าของผู้ที่จะมาในภายหลัง แต่การล่วงละเมิดจะเปรียบกันกับของประทานเปล่าๆหาได้ไม่ ถ้ามวลมนุษย์ต้องตายเพราะการล่วงละเมิดของคนคนเดียว พระหรรษทานของพระเจ้าและของประทานให้เปล่าๆถึงมวลมนุษย์ เดชะมนุษย์คนเดียวคือพระเยซูคริสตเจ้า ก็ยิ่งอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ไม่มีข้อเปรียบเทียบได้ระหว่างของประทานให้เปล่ากับการล่วงละเมิดของคนเดียวที่ได้ทำบาป บาปของมนุษย์คนเดียวเป็นเหตุให้มนุษยชาติถูกพระเจ้าลงโทษ แต่เมื่อมนุษย์ทำบาปมากมายแล้ว ของประทานโดยอาศัยมนุษย์คนเดียวกลับนำความชอบธรรมมาให้ ถ้าเนื่องจากการล่วงละเมิดของคนคนเดียว ความตายมีอานุภาพเหนือมนุษยชาติ เดชะพระเยซูคริสตเจ้าแต่องค์เดียว ทุกคนที่ได้รับพระหรรษทานอย่างอุดมสมบูรณ์และความชอบธรรมเป็นของประทาน ก็ยิ่งจะร่วมมีชีวิตที่ทรงอานุภาพยิ่งขึ้นกว่านั้นสักเท่าใด ด้วยเหตุนี้ การล่วงละเมิดของมนุษย์คนเดียวเป็นเหตุให้มนุษย์ทุกคนถูกลงโทษฉันใด กิจการชอบธรรมของมนุษย์คนเดียวก็นำความชอบธรรมที่บันดาลชีวิตมาให้แก่มนุษย์ทุกคนฉันนั้น มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาป เพราะความไม่เชื่อฟังของคนคนเดียวฉันใด มวลมนุษย์ก็จะเป็นผู้ชอบธรรมเพราะความเชื่อฟังของคนคนเดียวฉันนั้น ธรรมบัญญัติได้เข้ามาเพื่อการล่วงละเมิดจะได้ทวีมากขึ้น ที่ใดบาปทวีขึ้นที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า ดังนี้ บาปเข้ามามีอานุภาพนำความตายมาให้ฉันใด พระหรรษทานจะได้ทรงอานุภาพอาศัยความชอบธรรมที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร เดชะพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราฉันนั้น” (รม. 5:12-21) “เหตุว่า ค่าจ้างที่บาปให้คือความตาย ส่วนของประทานที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆนั้นคือชีวิตนิรันดรในพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (รม 6:23)

ข้อความนี้บรรยายความสมานฉันท์ของมนุษยชาติในประวัติศาสตร์ของบาป และความสมานฉันท์ของมนุษย์ทุกคนในพระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่บาปและพระหรรษทาน บาปจึงเป็นพลังที่แทรกซึมเข้าไปในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และนำไปสู่ความตายชีวิตฝ่ายจิตแก่มนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และอาจจะนำความตายนิรันดรในชีวิตหน้าด้วย แต่พระอานุภาพของพระเจ้าผู้ช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นในพระคริสตเจ้า ได้ทำลายบาปและความตายตลอดจนได้เปิดประตูประวัติศาสตร์ของมนุษย์ให้เข้าสู่ความเป็นไปได้ของชีวิตใหม่อีกด้วย เมื่อความตายซึ่งเป็นศัตรูตัวสุดท้ายของพระเจ้าได้ถูกทำลายไปแล้ว พระคริสตเจ้าจะทรงมอบพระอาณาจักรแก่พระบิดาเจ้า “แต่จะเป็นไปตามลำดับของแต่ละคน พระคริสตเจ้าทรงเป็นผลแรก ต่อไปก็คือผู้ที่เป็นของพระคริสตเจ้า เมื่อพระองค์จะเสด็จมา แล้วจะถึงวาระสุดท้าย เวลานั้นพระองค์จะทรงมอบพระอาณาจักรให้แก่พระเจ้า พระบิดา หลังจากได้ทรงทำลายการปกครอง อำนาจและอานุภาพทั้งหลาย เพราะพระคริสตเจ้าจะต้องทรงครองราชย์จนกว่าพระเจ้าจะทรงปราบศัตรูทั้งมวลให้อยู่ใต้พระบาทของพระองค์ ศัตรูสุดท้ายที่จะถูกทำลายคือความตาย เพราะพระเจ้าทรงปราบทุกสิ่งอยู่ใต้พระบาทของพระองค์” (1คร 15:23-26)

ในแสงสว่างแห่งธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า ความเชื่อของคริสตชนกลับมาสู่ความสำนึกรู้ที่ว่า เป้าหมายของชีวิตมนุษย์ก็คือความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่การแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก เป็นเรื่องของชีวิต ไม่ใช่เรื่องของความตาย

ข้อความจริงที่สำคัญในคำสอนคริสตชนไม่ใช่ความจริงเกี่ยวกับความตายแต่เป็นธรรมล้ำลึกแห่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะคริสตชนสมัยแรกๆได้เข้าใจความหมายลึกซึ้งของพระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าในแสงสว่างของการกลับคืนพระชนมชีพ ทั้งวิถีดำเนินชีวิตและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า แสดงความหมายลึกซึ้งของชีวิตและความตายของมนุษย์

รูปภาพ

ในการไตร่ตรองของคริสตชนสมัยแรกๆ สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าไม่ใช่รูปแบบภายนอกที่ถูกประหาร แต่ท่าทีภายในของผู้ที่อ่อนน้อมต่อพระเจ้าและมอบความไว้ใจต่อพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อ จะเป็นข้อคิดสำคัญสำหรับเทววิทยาเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า ถ้าปราศจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแล้ว การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าจะเป็นรูปแบบของชีวิตที่ไร้ความหมาย แต่พร้อมกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า พระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์แสดงความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าผู้ทรงรับเครื่องบูชา และทรงตอบสนองโดยประทานชีวิตใหม่ ในความหมายนี้ ความตายจึงหมดพิษสงไป “เมื่อสิ่งที่เน่าเปื่อยนี้จะสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อย และเมื่อธรรมชาติที่ต้องตายจะสวมใส่ความไม่รู้จักตายแล้ว ก็จะเป็นจริงตามคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ความตายได้ถูกกลืนเข้าในชัยชนะ ความตายเอ๋ย ชัยชนะของเจ้าอยู่ไหน? ความตายเอ๋ย! พิษสงของเจ้าอยู่ไหน?” (1 คร 15:54-55)

ความตายจึงไม่ใช่การรับรองชีวิตที่ไร้ความหมายและสิ้นหวังอีกต่อไป แต่มันเป็นขั้นตอนสำคัญในการเกิดใหม่รับชีวิตที่สมบูรณ์ ตามพระสัญญาของพระเจ้าแห่งชีวิต

จากความเข้าใจเรื่องความตายแบบนี้ เราสามารถมองประสบการณ์ชีวิตและเห็นว่าเราประสบความตายต่อตนเองเพื่อผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง เป็นเครื่องหมายประกาศล่วงหน้าว่าเวลาแห่งความตายจะเป็นเวลาแห่งการเกิดใหม่ รับชีวิตจากพระเจ้า ความตายเล็กน้อยที่เราได้ประสบในชีวิตไม่เป็นการเสียหายแต่เป็นการเกิดมาร่วมชีวิตกับผู้อื่นอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนความตายที่ใหญ่ที่รอคอยเมื่อเราจบชีวิตของตนก็เป็นการเกิดใหม่ในการร่วมชีวิตกับพระคริสตเจ้าอย่างมากที่สุด

นักบุญเปาโลได้บรรยายถึงความจริงนี้ว่าเป็นการร่วมกับพระคริสตเจ้าทั้งในความตายและการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ สำหรับท่าน นี่เป็นประสบการณ์ชีวิตของคริสตชนตั้งแต่วันรับศีลล้างบาปจนถึงสิ้นชีวิต ในประสบการณ์ส่วนตัวของท่าน ท่านได้เข้าใจงานของผู้แพร่ธรรมของตนว่า เป็นการตายทุกวันร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าเสี่ยงชีวิตอยู่ทุกวันเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้ามีความภูมิใจในท่านที่มีความเชื่อในพระคริสตเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (1 คร. 15:31)

การร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้ามีชัยชนะเหนือความตาย คือเมื่อผู้ที่มีความเชื่อเปิดชีวิตของตนต่อการเรียกร้องของพระเจ้า โดยละทิ้งความเห็นแก่ตัวและเลือกดำเนินชีวิตเพื่อผู้อื่นและเพื่อพระเจ้า เมื่อดำเนินชีวิตเช่นนี้ความตายทางกายภาพก็ยังมีอยู่ แต่ลดความหมายลงเพราะชีวิตยังมีมิติอื่นๆอีกด้วย
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ ก.พ. 08, 2009 11:59 pm

1.3.3 พระวรสารนักบุญยอห์น

ทัศนะของเปาโลได้รับการรับรองจากธรรมประเพณีที่มาจากนักบุญยอห์น ท่านเขียนไว้ว่า “เรารู้ว่า เราได้ผ่านจากความตายไปสู่ชีวิต เพราะเรารักกันและกัน เหมือนกับว่าเราเป็นพี่น้องกัน และเขาผู้ซึ่งไม่รักกันก็จะคงอยู่ในความตายตลอดไป “ (1 ยน 3:14)

ในหนังสือวิวรณ์ มีการกล่าวถึงความเป็นจริงในวาระสุดท้าย คือความตาย การพิพากษาและการกลับคืนชีพของผู้ที่ถูกเบียดเบียน ซึ่งจะได้ร่วมอยู่กับพระคริสตเจ้าและจะเห็นพระองค์ทรงทำลายบาป ซาตานและศัตรูของพระศาสนจักรอย่างสิ้นเชิง

ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังจากพระบัลลังก์ว่า “นี่คือที่พำนักของพระเจ้าท่ามกลางมนุษย์ พระองค์จะทรงพำนักอยู่ท่ามกลางเขา เขาจะเป็นประชากรของพระองค์ และพระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าของเขา พระเจ้า-สถิต-กับเขา พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเขา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป เพราะโลกเดิมได้ผ่านพ้นไปแล้ว” (วว 21: 3-4)

ความตายถูกมองว่าเป็นความชั่วร้ายที่เกิดมาจากกิจการของปีศาจและยังก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและโชคร้ายด้วย (เทียบ วว 9:1-11) แต่พระคริสตเจ้าจะได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ในสวรรค์และอำนาจปกครองของพระองค์จะแผ่ไปทั่วโลก และชัยชนะสุดท้ายก็คือการมีชัยชนะเหนืออำนาจของซาตาน ความตาย และแดนมรณะ

“ส่วนปีศาจที่หลอกลวงพวกเขาให้หลงผิดถูกโยนลงไปในทะเลไฟและกำมะถัน ที่นั่นมีทั้งสัตว์ร้ายและประกาศกเทียมอยู่ด้วย ปีศาจ สัตว์ร้าย และประกาศกเทียมจะถูกทรมานทั้งกลางวันกลางคืนตลอดนิรันดร” ( วว 20:10)

“ความตายและแดนผู้ตายก็ได้คืนบรรดาผู้ตายที่อยู่ในแดนผู้ตาย ทุกคนถูกพิพากษาตามกิจการของตน ความตายและแดนผู้ตายถูกโยนลงไปในทะเลไฟ ทะเลไฟนี้คือความตายครั้งที่สอง” (วว 20:14)


รูปภาพ

1.3.4 สรุป

หนังสือพันธสัญญาใหม่ร่วมกับคำสอนในพันธสัญญาเดิมนั้น สอนว่าความตายมีความหมาย อันดับแรกในด้านกายภาพ ไม่มีข้อความใดที่เสนอความคิดที่ว่า มนุษย์อาจจะตายหลายครั้งไม่มีความคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเลย ตรงกันข้ามจดหมายถึงชาวฮีบรูสอนชัดเจนว่า “มนุษย์ถูกกำหนดไว้ให้ตายเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นจะมีการพิพากษา” ( ฮบ 9:27 )

การพิจารณาเรื่องความตายในพระคัมภีร์เพียงพอที่จะแสดงความหมายของ คำว่า “ชีวิตและความตาย” ซึ่งมีความหมายมากกว่าด้านกายภาพ ลักษณะที่สำคัญของชีวิตคือ การที่มนุษย์เข้าไปมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นและกับพระเจ้า เพราะพระเจ้าแห่งพันธสัญญาทรงเรียกเราให้มีชีวิตเช่นนี้ ชีวิตมนุษย์ที่ปราศจากคุณลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะมีชีวิตฝ่ายกายก็เท่ากับว่าตายไปแล้ว ความหวังของชาวยิวที่จะมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าแข็งแรงกว่าความตาย เพราะพระองค์ทรงซื่อสัตย์ ประทานการกลับคืนพระชนมชีพแก่พระเยซูเจ้า การไว้ใจในอำนาจการประทานชีวิตของพระเจ้าผู้ซื่อสัตย์ ทำให้ความหวังของคริสตชนมีหลักฐานแน่นอน ที่จะมีชีวิตนิรันดรร่วมกับพระเจ้า.

------------------------------------------

อ่านภาค2ได้ที่นี่ครับ viewtopic.php?f=2&t=10181&start=0
แก้ไขล่าสุดโดย Holy เมื่อ อาทิตย์ ก.พ. 22, 2009 2:11 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

จันทร์ ก.พ. 09, 2009 5:41 am

เข้ามาดู และรอดูภาค2 : xemo017 :
Alphonse
โพสต์: 1792
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ส.ค. 23, 2006 10:45 pm
ที่อยู่: Thailand

จันทร์ ก.พ. 09, 2009 5:46 am

รออ่านภาค ๒ ขรับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
ignatius
.
.
โพสต์: 2597
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ก.พ. 07, 2008 12:48 pm

จันทร์ ก.พ. 09, 2009 9:29 am

ขอบพระคุณมากคะ รออ่านอยู่นะคะ  :angel:
ภาพประจำตัวสมาชิก
dark-kanita
โพสต์: 317
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ก.ย. 18, 2007 2:37 pm

อังคาร ก.พ. 10, 2009 10:49 am

: emo045 : ขอบคุณคะพี่Holy  หนูรออ่านอยู่คะ อุอุ
ภาพประจำตัวสมาชิก
(⊙△⊙)คุณxuู๓้uxoม(⊙△⊙)
โพสต์: 892
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ต.ค. 10, 2008 12:38 am

อังคาร ก.พ. 10, 2009 1:28 pm

ขอบคุณค่า
ภาพประจำตัวสมาชิก
reccanohono
โพสต์: 1045
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ส.ค. 03, 2008 7:06 pm
ที่อยู่: thailand

พุธ ก.พ. 11, 2009 12:12 pm

ขอบพระคุณมากค่ะ  : xemo026 :
ภาพประจำตัวสมาชิก
yack
โพสต์: 816
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ส.ค. 11, 2008 11:01 am

พฤหัสฯ. ก.พ. 12, 2009 11:38 am

ขอบคุณมากครับ ::011::
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ ก.พ. 22, 2009 2:10 am

อ่านภาค2ได้ที่นี่ครับ http://www.newmana.com/yabb/index.php?topic=10181.0
s.gabriel
โพสต์: 1011
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ก.พ. 27, 2009 2:21 pm

พุธ มี.ค. 11, 2009 9:16 pm

ตามความคิดของผมที่อ่านนะครับ แล้วมาเปรียบเทียบกับความเชื่อของพุทธศาสนา(ที่ผมเข้าใจ)
สรุปคริสต์ชนเรา ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนศาสนาพุทธ
คือตายแล้วรอวันพระเจ้าเสด็จกลับมาอีกครั้ง เพื่อพิพากษา แล้วกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย รับกายทิพย์ที่ไม่มีเน่าเปื่อยอีกต่อไป
(ศาสนาคริสต์ ทำดีมาก ทำบาปน้อย ไปไฟชำระ เพื่อชำระบาปที่ทำไว้แล้วรอขึ้นสวรรค์ตลอดกาล)
(ศาสนาพุทธ  ทำดีมาก ทำบาปน้อย ไปใช้กรรม แล้วไปสวรรค์ชั้นเทพชั้นพรหมต่างๆ)

(ศาสนาพุทธ  ทำบาปเยอะทำดีน้อย ไปชดใช้กรรมในนรกขุมต่างๆแล้ว มาเกิดชดใช้กรรมที่เคยทำไว้ในชาติที่แล้วหรือไปสวรรค์)
(ศาสนาคริสต์ ทำบาปเยอะทำดีน้อย ไปสู่ไฟนรกตลอดกาลไม่มีทางขึ้นสวรรค์ได้)

(ศาสนาพุทธถ้ามีศีลเป็นคนดีประพฤติดี ทำดี ฝึกสมาธิถึงขั้น คิดจะไปนิพพาน ก็จะไปนิพพาน
นิพพานไม่ใช่สวรรค์หรือนรก แต่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งหมดจากการเวียนว่ายตายเกิด)

(ศาสนาคริสต์ ทำบาปมีศีลอภัยบาป เพื่อลบล้างความผิดได้ ถ้าสำนึก)
(ศาสนาพุทธ ทำดีมากๆบาปกรรมจะได้ตามไม่ทัน หรือยังไม่ก่อให้เกิดในชาติปัจจุบัน แต่ถ้าไปนิพพานได้ กรรมที่เคยก่อไว้ก็จะตามไม่ได้หรือเจ้ากรรมนายเวรที่เคยก่อไว้ ในอดีตชาติหรือชาตินี้ก็จะตามไม่ได้อีกต่อไป)
(ปล.มีอะไรแนะนำได้เลยนะครับ เป็นแนวคิดของผมที่ได้ไปอ่านของทางพุทธมานิดหน่อยนะครับ)
Man of Macedonia
โพสต์: 973
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ธ.ค. 04, 2006 9:33 pm
ที่อยู่: Virtusian's House of Prayer,Thailand
ติดต่อ:

พุธ มี.ค. 11, 2009 10:11 pm

s.gabriel เขียน: ตามความคิดของผมที่อ่านนะครับ แล้วมาเปรียบเทียบกับความเชื่อของพุทธศาสนา(ที่ผมเข้าใจ)
สรุปคริสต์ชนเรา ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนศาสนาพุทธ
คือตายแล้วรอวันพระเจ้าเสด็จกลับมาอีกครั้ง เพื่อพิพากษา แล้วกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย รับกายทิพย์ที่ไม่มีเน่าเปื่อยอีกต่อไป
(ศาสนาคริสต์ ทำดีมาก ทำบาปน้อย ไปไฟชำระ เพื่อชำระบาปที่ทำไว้แล้วรอขึ้นสวรรค์ตลอดกาล)
(ศาสนาพุทธ  ทำดีมาก ทำบาปน้อย ไปใช้กรรม แล้วไปสวรรค์ชั้นเทพชั้นพรหมต่างๆ)

(ศาสนาพุทธ  ทำบาปเยอะทำดีน้อย ไปชดใช้กรรมในนรกขุมต่างๆแล้ว มาเกิดชดใช้กรรมที่เคยทำไว้ในชาติที่แล้วหรือไปสวรรค์)
(ศาสนาคริสต์ ทำบาปเยอะทำดีน้อย ไปสู่ไฟนรกตลอดกาลไม่มีทางขึ้นสวรรค์ได้)

(ศาสนาพุทธถ้ามีศีลเป็นคนดีประพฤติดี ทำดี ฝึกสมาธิถึงขั้น คิดจะไปนิพพาน ก็จะไปนิพพาน
นิพพานไม่ใช่สวรรค์หรือนรก แต่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งหมดจากการเวียนว่ายตายเกิด)

(ศาสนาคริสต์ ทำบาปมีศีลอภัยบาป เพื่อลบล้างความผิดได้ ถ้าสำนึก)
(ศาสนาพุทธ ทำดีมากๆบาปกรรมจะได้ตามไม่ทัน หรือยังไม่ก่อให้เกิดในชาติปัจจุบัน แต่ถ้าไปนิพพานได้ กรรมที่เคยก่อไว้ก็จะตามไม่ได้หรือเจ้ากรรมนายเวรที่เคยก่อไว้ ในอดีตชาติหรือชาตินี้ก็จะตามไม่ได้อีกต่อไป)
(ปล.มีอะไรแนะนำได้เลยนะครับ เป็นแนวคิดของผมที่ได้ไปอ่านของทางพุทธมานิดหน่อยนะครับ)
"สรุปคริสต์ชนเรา ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนศาสนาพุทธ"
ต้องกล่าวว่า ณ เวลานี้ เป็นเงื่อนไขที่เพียงพอที่จะสรุปว่า ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
(นั่นคือ จะมีการเวียนว่ายตายเกิด หรือไม่เวียนว่ายตายเกิด เป็นประเด็นของอนาคต เป็นภาวะหลังตาย โดยทั่วไปคำสอนจะเน้นถึงชีวิต ณ ปัจจุบันนี้ คือการ"เป็น"(=มีชีวิต))
ข้อนี้ เป็นประเด็นกว้างทางวิชาการในภายหน้าครับ ถ้าสนใจศึกษาก็ได้เหมือนกัน แต่อย่างที่บอก เน้นที่ความเป็น!
เทียบ,กีรติ บุญเจือ.ปรัชญาอินเดียสำหรับนักปรัชญาคริสต์

(1)ถ้าเรามองกระบวนของไฟชำระเป็นกระบวนการ
จะตอบได้ว่า
คริสต์:ทำดีมาก ทำบาปน้อย ต้องไปสู่กระบวนการที่เรียก"ไฟชำระ"
พุทธ:ทำดีมาก ทำบาปน้อย "กรรมส่งให้เกิด มีเหตุปัจจัยต่างๆ" เวียนว่ายในภพภูมิต่างๆ ไม่จำเป็นที่ทำดีมาก ทำบาปน้อยจะไปเกิดสุคติภูมิ เคยมีกรณีที่ไม่เกิดในสุคติภูมิ เพราะจิตก่อนจะดับไปของผุ้นั้นล่วงไปสู่ทุคติ (ถ้าพิจารณาเรื่องความเป็นไปของกรรมมากมันจะเข้าข่าย อจินไตย)

(2)ไฟนรกตลอดกาล
คริสต์:เป็นกระบวนการที่จิตใจผู้นั้นตัดขาดจากความรักของพระเป็นเจ้า,หรือ ถ้าจากนิมิตก็จะมีเป็นสถานที่ ปัจจุบันพระศาสนจักรนิยมสอนแบบแรกมากกว่า
พุทธ:ทำบาปเยอะ ทำดีน้อย นี่ต้องหมายความลึกไปถึง ทุกๆชาติทำแต่บาป และทำดีน้อย ถ้าคำนึงแต่ปัจจุบันชาติ เช่น องคุลิมาล ยังบรรลุอรหันต์ได้

(3)"คิดจะไปนิพพาน จะถึงนิพพาน" ข้อนี้ ไม่ใช่อยากไปนิพพาน แต่ตั้งอธิษฐานไว้ ว่าหมายนิพพานเป็นเบื้องหน้า และ นิพพานไม่ใช่สถานที่ครับ! เป็นอนัตตา=ไม่ใช่ตัวใช่ตน

(4)คริสต์:ทำบาปมีศีลอภัยบาป มิได้ลบล้างความผิด เรายังต้องเสวยผลของบาปที่ทำต่อไป ผลของบาปไม่ได้จางหายไป แต่เรามี"โอกาส"ที่จะห่างไกลบาปนั้นมากขึ้น(เช่น ยกบาปโลภ แต่ผลแห่งความโลภที่เราไปทำไว้ เราต้องชดใช้มันอยู่ดี)

(5)นิพพาน,คือ ภาวะสิ้นกรรม พระโมคคัลลานะต้องเสวยกรรมถูกโจรทุบตีจนตายจึงจะเข้าปรินิพพานได้ พระองคุลิมาล ช่วงเป็นพระอริยบุคคล(ยังไม่ถึงอรหันต์)ต้องเสวยเศษกรรม ถูกขว้างปาจนหัวแตก "ทำอะไรไว้ต้องได้อย่างนั้น นี้เป็นกฎ การนิพพานไม่ได้ตัดกฎไปเฉยๆ แต่ดำเนินมาจนยุติพอดี อาศัยเหตุปัจจัย"

กฎทอง:"ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด"(มัทธิว7:12)(Possitive)
สมมูลกับ"อย่าทำสิ่งที่ไม่อยากให้เขาทำ ถ้าไม่อยากเป็นโดนเช่นนั้นบ้าง"(Negative,Jewish)
ข้อนี้:อาจเทียบเคียงกับเรื่องกฎแห่งกรรมได้บ้าง

เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุด PM มาหลังไมค์ดีกว่าครับ
พระอวยพร,
s.gabriel
โพสต์: 1011
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ก.พ. 27, 2009 2:21 pm

พฤหัสฯ. มี.ค. 12, 2009 10:55 am

ขอบคุณที่เข้ามาแนะนำครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ เม.ย. 17, 2011 8:53 am

มหาพรตปีนี้ลองอ่านกันเล่นๆครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5974
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร พ.ค. 22, 2012 11:48 pm

อ่านได้ตลอดค่ะ เพราะทุกคนต้องถึงวันนั้นแน่นอน..... :s015:
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5974
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ม.ค. 26, 2014 3:23 pm

ชีวิตในโลกน๊้ก็ชั่วคราว หมั่นทำความดี แสวงหาพระเจ้า นำผู้อี่นให้มารู้จักพระเจ้า
พวกเราจะได้ไปอยู่สวรรค์กลับพระองค์ตลอดนิรันดร.....
:s021:
เมจิ
โพสต์: 3257
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ส.ค. 22, 2011 6:44 pm

อาทิตย์ ม.ค. 26, 2014 7:11 pm

:s002: :s002: :s002:
ตอบกลับโพส