ความเข้าใจเรื่องโรงเรียนคาทอลิก

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 808
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

พุธ เม.ย. 21, 2021 1:07 pm

การจัดบรรยากาศการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก

รูปภาพ

“บรรยากาศ” ทางการศึกษาได้แก่ บุคคล พื้นที่ เวลา สัมพันธภาพ การสอน การเรียน และกิจกรรมต่างๆที่โรงเรียนจัดขึ้น ที่ประกอบกันขึ้นอย่างเหมาะสมตามแนวคำสอนของคาทอลิก

สมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิกได้ชี้แนะว่า “นับแต่ชั่วขณะแรกที่นักเรียนคนหนึ่งเหยียบย่างเข้ามาในโรงเรียนคาทอลิก นักเรียนชายหรือหญิงผู้นั้นควรจะรู้สึกประทับใจว่าได้เข้ามาสู่ภาวะแวดล้อมแบบใหม่ เป็นภาวะแวดล้อมที่สว่างไสวด้วยแสงแห่งความเชื่อ และมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร สภาพระสังคายนาวาติกัน 2 ได้สรุปเรื่องนี้ โดยพูดถึงภาวะแวดล้อมที่ซึมซาบด้วยจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร คือ ความรักและอิสรภาพ”(มตส. 25)

เมื่อทุกคนก้าวเข้ามาในโรงเรียนคาทอลิก พวกเขารับรู้ได้ถึง “การประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า” ซึ่งเป็น “พระอาจารย์” และ “บรมครู” อย่างแท้จริง บรรยากาศภายนอกหรือทางกายภาพ เช่นการมี “ไม้กางเขน” อยู่ภายในโรงเรียนจะเตือนใจทุกคน ทั้งครูและนักเรียนให้ระลึกถึงการประทับอยู่ของพระองค์
โรงเรียนคาทอลิกมักจะมีรูปของ “พระแม่มารีย์” ประดิษฐานอยู่ในบริเวณต่างๆ รูปและภาพของพระแม่มารีย์นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศของบ้านในสถานศึกษาคาทอลิกแล้ว ยังช่วยสร้างจิตสำนึกในการประทับอยู่ของพระแม่มารีย์ ในฐานะที่เป็นมารดาและอาจารย์ของพระศาสนจักรที่ได้อยู่เคียงข้างกับองค์พระเยซูเจ้าตลอดเวลาที่ทรงเจริญพระวัยขึ้นมาอีกด้วย(เทียบ มตส. 29)

การที่โรงเรียนมี “วัด” หรือตั้งอยู่ใกล้วัด มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการทำให้การศึกษาคาทอลิกบรรลุผล โดยที่วัดไม่ควรถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตรงกันข้ามเราต้องถือว่าวัดเป็นสถานที่ที่ทำให้ครูและนักเรียนได้เกิดความคุ้นเคยและใกล้ชิดวัด ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัดได้โดยง่าย เป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดความสำนึกว่าพระเจ้าประทับอยู่ในโรงเรียนของเราอย่างแท้จริงและทุกคนสามารถเข้าหาพระเจ้าได้ (เทียบ มตส.30)

นอกจากนั้นโรงเรียนคาทอลิกหลายๆแห่งยังมีรูปปั้นหรือรูปภาพของบรรดานักบุญต่างๆที่เป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงเรียน นักบุญหรือผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเป็นแบบอย่างการเป็นคริสตชนที่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้าอย่างดี สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือการพิมพ์ประวัติของนักบุญเหล่านั้นติดไว้เพื่อผู้ที่พบเห็นจะได้รู้และเข้าใจว่าทำไมโรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับบุคคลนั้น

จุดประสงค์ของโรงเรียนคาทอลิก

รูปภาพ

พระศาสนจักรคาทอลิกส่งเสริมให้คณะนักบวชและสังฆมณฑลต่างๆได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น เพื่อเป็นหนทางให้พระศาสนาจักรได้มีโอกาสเข้าไปพบปะกับผู้คนในสังคมต่างๆเพื่อเป็นเกลือเชื้อแป้งแสงสว่าง ณ ที่พระศาสนจักรดำรงอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนรับใช้พระศาสนจักรในพันธกิจที่สำคัญ 2 ประการด้วยกัน คือ 1) เสริมสร้างพันธกิจแห่งการไถ่กู้ของพระศาสนจักร และ 2) เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมมนุษย์

พันธกิจทั้งสองมีความสำคัญและต้องกระทำด้วยความพากเพียร ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้โรงเรียนคาทอลิกยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่รับใช้พระศาสนจักรได้อย่างสมฤทธิ์ผลก็คือ “โรงเรียนคาทอลิกจะต้องได้รับการหล่อเลี้ยงและแรงบันดาลใจอย่างสม่ำเสมอจากแหล่งกำเนิดแห่งชีวิต นั้นคือ พระวาจาของพระเจ้า(พระคัมภีร์) พิธีกรรม ศีลศักดิ์สิทธิ์ และชีวิตที่เป็นประจักษ์ของบุคคลต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน”

ดังนั้นการที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งดำเนินการโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ เช่น ไม่มีการนำพระวาจาของพระเจ้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำของโรงเรียน ไม่จัดให้มีพิธีกรรมทางศาสนา ไม่จัดให้นักเรียนคาทอลิกได้เรียนคำสอนและรับศีลศักดิ์สิทธิ์ตามกำหนด ชีวิตของผู้รับผิดชอบในโรงเรียนไม่ได้เป็นประจักษ์พยานที่ดีแก่ผู้ร่วมงาน โรงเรียนนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำให้โรงเรียนห่างไกลจากจุดมุ่งหมายที่แท้จริงที่พระศาสนจักรได้กำหนดขึ้น “โรงเรียนคาทอลิกจะสูญเสียจุดมุ่งหมายของตนหากไม่มีการอ้างอิงถึงพระวรสาร และ การมีสัมพันธภาพกับพระคริสต์เจ้าอย่างสม่ำเสมอ”

จุดมุ่งหมายของการศึกษาในโรงเรียน คือ การฝึกอบรมนักเรียนให้เป็น “ผู้รับใช้” และ “รับผิดชอบ” ทั้งต่อตนเองและสังคม “การศึกษามิใช่มีไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจอย่างสมบูรณ์ขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์และสิ่งต่างๆที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เราต้องไม่ถือว่าความรู้เป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งความเจริญทางวัตถุหรือความสำเร็จ แต่เป็นการเรียกร้องให้เรารับใช้และมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น” (โรงเรียนคาทอลิก,1977 ข้อ 8,25,54,55,56)

กว่าจะถึงบ้านเณรก็สายเสียแล้ว

เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับจำนวนของ “เณรเล็ก” ของแต่ละบ้านเณร ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนของของ “เณรกลาง” ที่โคราช และ “เณรใหญ่” ที่บ้านเณรแสงธรรม สามพราน จนมีผู้ให้การอบรมหลายท่านคาดการณ์ว่า “ถ้าตัวเลขของเณรเล็กยังคงเป็นอย่างนี้(คือน้อยลงไปทุกปี) คงจะต้องมีการปิดบ้านเณรเล็กลงอย่างแน่นอน”

ปรากฏการณ์นี้คงไม่เหมือนกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างที่เราไม่ทันรู้ตัว จึงยากแก่การป้องกัน สาเหตุที่ว่าทำไมเณรหรือเด็ก ๆ ไม่สนใจเข้ารับการอบรมเพื่อเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชมาจากอะไร นี่เป็นคำถามปลายเปิดที่อยากให้ทุกคนช่วยกันระดมความคิดเห็น และหาทางออก หลายคนเสนอแนะว่า ปัญหานี้ควรเป็นวาระของพระศาสนจักร ของสังฆมณฑล ของวัด ของชุมชน ของโรงเรียน และขององค์กรที่อยู่ภายใต้ชื่อว่าคาทอลิกทุกองค์กร

สนามความคิดขอเสนอความคิดเล็กๆ ประการหนึ่ง คือ ถ้าเราต้องการให้มีกระแสเรียกเป็นสงฆ์ นักบวชชายหญิง(บราเดอร์ ซิสเตอร์) เราต้องให้ความสำคัญกับการอภิบาลเด็กและเยาวชนของเรา

ถ้าวัดทุกวัด โรงเรียนคาทอลิกทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับการอภิบาลเด็กๆและเยาวชน เอาใจใส่จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อดึงดูดเด็กๆให้เกิดความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับวัดเป็นต้นคุ้นเคยกับคุณพ่อ บราเดอร์ ซิสเตอร์ ก็หวังได้ว่าแบบอย่างต่างๆที่เด็กๆได้พบจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกระแสเรียกของการเป็นสงฆ์นักบวชมากขึ้น

ตัวอย่างที่วัดต่างๆได้กระทำให้เห็นแล้ว คือ การจัดการเรียนคำสอนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในวันอาทิตย์ปรกติ และเป็นต้นในระว่างปิดภาคเรียน การจัดให้มีคณะเด็กช่วยมิสซาฯ คณะขับร้อง จัดการแสวงบุญ เข้าเงียบ เล่นเกม ไปฉลองวัด ไปเที่ยว พักผ่อนร่วมกัน แข่งขันกีฬาระหว่างวัด ฯลฯ

ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กสมัครเข้าบ้านเณรนั้น มีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีเด็กคาทอลิกน้อยมากไม่ถึง 30 คน แต่ปรากฏว่ามีเด็กสมัครเข้าบ้านเณรเกือบทุกปี น่าสนใจมากว่าเขาทำอย่างไรจึงเพาะบ่มกระแสเรียนเบื้องต้นได้ขนาดนี้ เขามีผู้รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยงกับเด็กคาทอลิกหรือไม่ มีการสอนคำสอนสม่ำเสมอและอย่างมีคุณภาพหรือไม่ มีกิจกรรมคาทอลิกอะไรที่เสริมให้เด็กๆได้เป็นคาทอลิกที่ดี ฯลฯ

ถ้าเราไม่เอาใจใส่ที่เด็ก ไม่ทุ่มเทลงไปที่เด็ก ก็คิดว่า “กว่าจะถึงบ้านเณรก็สายเสียแล้ว”

รูปภาพ

เขียนโดย คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ

รูปภาพ

CR. : https://louismariebangkae.wordpress.com ... ่องโรงเรี/

:s002: :s007: :s021:
ตอบกลับโพส