มีข่าวว่าพระสันตะปาปาฟรังซิสรื้อฟื้นตำแหน่ง "อัครบิดรแห่งตะวันตก" (Patriarch of the West) หลังถูกถอดไป

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 875
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

เสาร์ เม.ย. 13, 2024 10:26 pm

มีข่าวว่าพระสันตะปาปาฟรังซิสรื้อฟื้นตำแหน่ง "อัครบิดรแห่งตะวันตก" (Patriarch of the West) หลังถูกถอดไป โดยกลับมาปรากฏอีกครั้งในรายงานประจำปี 2024 (Annuario Pontificio)

รูปภาพ

จริง ๆ ผมเห็นเป็นข่าวมาสักพักใหญ่ละ แต่เห็นลงสื่อเล็ก ๆ ส่วนสื่อคาทอลิกใหญ่ ๆ เพิ่งคอนเฟิร์ม กระนั้น ก็ไม่ได้มีการอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงกลับมาใช้ (ใครจะรู้ ท่านอาจเตรียม Deus Vult! ก็เป็นได้!-ฮา)

ต้องพูดว่าตำแหน่งของพระสันตะปาปามีเยอะครับ ทั้งที่เป็นตำแหน่งจริงเชิงอำนาจหรือแค่เป็นเกียรติ ไล่ตั้งแต่บิชอปแห่งโรม ผู้แทนพระคริสต์ (Vicar of Christ) ผู้สืบทอดเจ้าชายของอัครสาวก สมณะสูงสุดแห่งศาสนจักรสากล (Supreme Pontiff of the Universal Church) อัครบิดรแห่งตะวันตก (กลับมาใช้) บิชอปอาวุโสแห่งอิตาลี(Primate of Italy) อาร์คบิชอปประจำมณฑลโรม องค์อธิปัตย์แห่งนครรัฐวาติกัน ข้ารับใช้ของข้ารับใช้พระเจ้า...ยาวมากทีเดียว

ตอนนั้นถูกถอดโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อปี 2006 ด้วยเหตุผลว่ามันไม่ Make Sense แล้ว เพราะโรมันคาทอลิกแผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว จะให้เป็น Patriarch of the West มันก็กระไรอยู่ อีกอย่างเพื่อให้ทางคาทอลิกทำศาสนสัมพันธ์กับทางตะวันออกได้ง่ายขึ้นด้วย

จากประวัติ ตำแหน่งนี้เริ่มใช้ครั้งแรกโดยพระสันตะปาปาธีโอดอร์ในปี 643 และเริ่มเอามาใส่ในรายงานประจำปีครั้งปี 1863 สมัยพระสันตะปาปาปีโอที่ 9

เนื่องด้วยชื่อตำแหน่งสัมพันธ์กับทางตะวันออก อย่างไรก็ตามทางกรีกออร์โธด็อกซ์แห่งคอนสแตนติโนเปิลได้ออกมายินดีกับ move นี้ของพระสันตะปาปานะครับ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกันอีกครั้ง

อ้างอิงข่าวที่ว่า: https://www.ewtn.no/pope-francis-reinst ... jnfpNPzMxV

รูปภาพ

รูปภาพ

/AdminMichael

CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา
https://www.facebook.com/share/p/DfwKTj ... tid=WC7FNe
Arttise
โพสต์: 875
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

เสาร์ เม.ย. 13, 2024 10:33 pm

+ เทียบลำดับชั้นสมณศักดิ์ของศาสนจักรคาทอลิกกับอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ ตอนที่ 1 -ศาสนจักรคาทอลิก

เอาล่ะครับ สำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ แอดก็จะขอเขียนเกี่ยวกับลำดับชั้นสมณศักดิ์ของสองศาสนจักรนี้ละกันนะครับ(ตามคำแนะนำจากลูกเพจ)

ศีลอนุกรมหรือศีลบวชจัดเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้บุคคลเป็นบาทหลวงผู้รับใช้พระเป็นเจ้า โดยจะมีด้วยกันสามขั้นคือพระสังฆราช(บิชอป) บาทหลวงและสังฆานุกรตามพระคัมภีร์อย่างที่หลายๆท่านทราบกันดี ซึ่งวันเวลาผ่านไป ศาสนจักรขยายใหญ่ขึ้น ผู้เชื่อมากขึ้น ลำดับชั้นหรือสมณศักดิ์ก็ต้องมีหลากหลายขึ้นและซับซ้อนมากขึ้นแน่นอน

เนื่องจากสมณศักดิ์มีเยอะมาก แอดจะขออธิบายย่อๆละกันนะครับและทำใจร่มๆกันก่อนอ่านด้วยนะเพราะขนาดย่อแล้วยังยาวอยู่เลย 555

1.พระสันตะปาปาหรือพระสังฆราชแห่งโรม (Catholic Pope or Bishop of Rome) - เราจะมาเริ่มจากพี่ใหญ่สุดก่อน ท่านผู้นี้เป็นผู้นำศาสนจักรคาทอลิกทั้งมวลโดยสืบทอดอำนาจจากนักบุญเปโตร หัวหน้าอัครสาวก ผู้ซึ่งพระเยซูทรงประทานกุญแจสวรรค์ให้ ตามความเชื่อของคาทอลิกนั่นเอง

พระสันตะปาปาจะมีอำนาจเหนือพระสังฆราชคาทอลิกทั้งมวลและมีอำนาจปกครองสูงสุด เป็นผู้แทนพระคริสต์ปกครองศาสนจักรบนโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีผิดพลาด(ตามประกาศสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ค.ศ.1869-70)แต่ไม่ผิดพลาดกับเฉพาะหลักความเชื่อและหลักศีลธรรมจรรยาในเรื่องที่สำคัญๆเท่านั้นนะครับ ส่วนเรื่องการเมืองกับส่วนตัวอันนี้อีกเรื่องนึงนะ เพราะท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราๆนั่นแหละ

2.พระคาร์ดินัล (Cardinal) - ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งรองมาจากพระสันตะปาปา มักจะมีคำเรียกกันว่าเป็น "เจ้าชายของศาสนจักร" แต่งชุดและหมวกสีแดงเป็นเอกลักษณ์ โดยตอนที่พระสันตะปาปายังอยู่ พวกท่านจะมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระสันตะปาปา บางคนอาจจะเป็นคนดูแลงานด้านต่างๆของศาสนจักร นอกจากนั้นก็เป็นเหมือนตัวแทนประเทศของพระคาร์ดินัลเลยล่ะ และเมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ พวกท่านก็จะมีสิทธิ์เลือกและได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาต่อไปอีกด้วย ตราบใดที่ตนเองยังอยู่ในเกณฑ์

จริงๆตำแหน่งนี้ในอดีตก็ไม่ได้ให้เฉพาะแก่นักบวชเท่านั้นนะครับ ฆราวาสก็เป็นได้ซึ่งก็แล้วแต่พระสันตะปาปาจะแต่งตั้ง แต่ยุคหลังดันมีกฎว่าผู้เป็นพระคาร์ดินัลได้จะต้องเป็นพระสังฆราชเท่านั้น ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นพระสังฆราชก็ต้องอภิเษกให้เป็นพระสังฆราชเสียก่อนจึงจะเป็นได้ ฆราวาสอย่างเราๆเลยอดไป

3.พระอัยกา (Patriarch) - แอดว่าหลายคนคงงงตั้งแต่ดูภาพแล้วแน่ๆว่าคาทอลิกเองก็มีพระอัยกาเหมือนทางออร์โธด็อกซ์ด้วยเหรอ? แอดก็ขอตอบว่า "มี" แน่นอนทีเดียวครับ มีทั้งโรมันคาทอลิกเช่นพระอัยกาละตินแห่งเวนิส พระอัยกาละตินแห่งเยรูซาเล็ม เป็นต้น และศาสนจักรคาทอลิกตะวันออก(ศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ต่างๆที่หันมารวมกับคาทอลิกโดยยังปฏิบัติตามจารีตประเพณีเดิมของตนได้ครับ)

แต่กระนั้นมันจะแตกต่างกันเสียหน่อยตรงที่พระอัยกาของทางศาสนจักรโรมันคาทอลิก(พระอัยกาละติน)มักเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์เสียมากกว่าครับ ได้แล้วก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรเพิ่มขึ้นมาหรอก ในขณะที่ทางศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกจะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจปกครองเหมือนศาสนจักรออร์โธด็อกซ์และเป็นผู้นำศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกนั้นๆ สำหรับคาทอลิกตะวันออก จะเป็นรองเพียงพระสันตะปาปาเท่านั้น บางองค์ได้เป็นพระคาร์ดินัลด้วยนะ

เสริม:ในอดีต พระสันตะปาปาเคยมีสมณศักดิ์เป็น "พระอัยกาแห่งตะวันตก" (Patriarch of the West)ด้วยนะครับ แต่ได้ยกเลิกไปแล้วในปี 2006

4.พระอัครสังฆราชใหญ่ (Major Archbishop) - ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งเฉพาะในผู้นำศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกบางศาสนจักรครับ สามารถเทียบได้กับพระอัยกา มีสิทธิ์ มีอำนาจทุกอย่างเหมือนพระอัยกาเลยล่ะ มีผู้นำศาสนจักรคาทอลิกตะวันออก 4 ท่านที่ดำรงตำแหน่งนี้

บางคนอาจจะถามว่า อ้าว แล้วจะตั้งมาทำไมในเมื่อมีตำแหน่งพระอัยกาอยู่แล้ว ไม่ให้ตำแหน่งพระอัยกาเขาไปเลยล่ะ? คืองี้ครับ เนื่องจากว่าศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกมาจากศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ที่หันมารวมกับคาทอลิก ถ้าให้ตำแหน่งพระอัยกาไปแล้วในบางศาสนจักร อาจจะทำให้เกิดความยากลำบากเรื่องศาสนสัมพันธ์ในเวลาต่อมาและเป็นเหมือนการ"หยาม"พระอัยกาศาสนจักรออร์โธด็อกซ์เดิมได้ครับ

แอดจะยกตัวอย่างนะ เช่น ศาสนจักรยูเครนกรีกคาทอลิก หนึ่งในศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกในยูเครน ถ้าพระสันตะปาปาให้ตำแหน่งพระอัยกากับผู้นำเขา พระอัยการัสเซียออร์โธด็อกซ์ที่คุมเชิงศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ในยูเครนอยู่ก็ต้องไม่พอใจและโกรธจนลมออกหูแน่นอน ดังนั้นพระสันตะปาปาจึงยกตำแหน่งให้เป็น "พระอัครสังฆราชใหญ่" แทนพระอัยกา โดยมีอำนาจไม่ต่างจากพระอัยกานั่นเองครับ เหมือนเลี่ยงบาลียังไงก็ไม่รู้นะ

5.พระอัครสังฆราชหรืออาร์คบิชอป (Archbishop) - พระอัครสังฆราชก็คือพระสังฆราชหรือบิชอปนี่ล่ะครับ แต่ทำหน้าที่ปกครอง สังฆมณฑลใหญ่และมีความสำคัญที่เรียกว่าอัครสังฆมณฑล(Archdiocese) ซึ่งก็มักจะเป็นตำแหน่งนี้แหละครับที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล

พระอัครสังฆราชโรมันคาทอลิกนั้นมักจะเป็นพระสังฆราชมหานคร(Metropolitan bishop)ซึ่งปกครองแขวงพระศาสนจักรที่มีหลายสังฆมณฑลย่อยด้วยและแต่ละสังฆมณฑลย่อยก็มีพระสังฆราชปกครองอยู่ใต้ปกครอง(Suffragan bishop) ถ้าจะเขียนอีกนัยนึงก็คือมีอำนาจปกครองเหนือพระสังฆราชหรือบิชอปนั่นเอง ดังนั้นเราจึงเรียกพระอัครสังฆราชที่มีอำนาจปกครองลักษณะนี้ว่าพระอัครสังฆราชมหานคร(Metropolitan Archbishop) สังเกตง่ายๆว่าโดยส่วนใหญ่มักจะมีผ้าปัลลิอุมที่พระสันตะปาปามอบให้คล้องไหล่อยู่

ถ้าถามว่ามีพระอัครสังฆราชโรมันคาทอลิกองค์ไหนมั้ยที่เป็นตำแหน่งนี้เฉยๆ แต่ไม่ได้เป็นพระสังฆราชมหานครปกครองสังฆมณฑลย่อยด้วย ก็ขอตอบว่า "มี" นะครับ แต่ไม่เยอะนักหรอก โดยมากพระอัครสังฆราชก็มักจะควบตำแหน่งพระสังฆราชมหานครดูแลสังฆมณฑลย่อยด้วยแทบทั้งนั้นครับ เช่นในไทยเราเป็นต้น มีพระอัครสังฆราชมหานครถึง 2 องค์เลยทีเดียว

พระอัครสังฆราชเนี่ยจริงๆมีอีกหลายประเภท แต่ขอยกมาอันเดียวละกันคือพระอัครสังฆราชเกียรตินามหรือกิตติมศักดิ์(Titular Archbishop)ที่ไม่มีอำนาจสังฆมณฑลใดๆ แค่เป็นเกียรติ ได้ตำแหน่งกิตติมศักดิ์เฉยๆ

6.พระสังฆราชหรือบิชอป (Bishop) - พระสังฆราชหรือบิชอปเป็นผู้ปกครองสังฆมณฑลและดูแลกลุ่มคริสตชน เป็นผู้มีอำนาจโปรดศีลอนุกรมบวชพระสังฆราช บาทหลวงและสังฆานุกรได้ มีหลายประเภทเช่นพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล(diocesan bishop)และพระสังฆราชเกียรตินามที่ไม่มีอำนาจอะไร แค่ได้เป็นเกียรติเฉยๆ

พระสังฆราชต้องเป็นผู้ถือโสดทั้งโรมันคาทอลิกและคาทอลิกตะวันออกและจัดเป็นศีลอนุกรมขั้นสูงสุดแล้วครับ จะเป็นพระอัครสังฆราช พระสังฆราชมหานคร พระอัยกาหรือพระสันตะปาปาก็ตามแต่ ในทางศีลอนุกรมถือว่าเท่าเทียมกันเพราะเป็นพระสังฆราชหรือบิชอปเหมือนกันครับ ต่างกันเพียงอำนาจหน้าที่

7.บาทหลวง (Priest) - พอล่ะสำหรับชั้นบิชอป มาดูชั้นบาทหลวงกันบ้าง เป็นผู้นำคริสตชน อภิบาล เทศน์สอนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คริสตชนคาทอลิกเช่นศีลมหาสนิทและโปรดศีลอภัยบาปเป็นต้น มีทั้งแบบที่อยู่กับสังฆมณฑล(Diocesan Priest หรืออาจใช้ว่า Secular Priest ก็ได้)ซึ่งขึ้นกับพระสังฆราช และที่อยู่กับคณะนักบวช(Regular Priest)ซึ่งขึ้นกับเจ้าอธิการ

บาทหลวงในศาสนจักรโรมันคาทอลิกต้องถือโสดตลอดชีพอย่างที่เรารู้ๆกัน แต่สำหรับศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกแล้ว จะถือเหมือนออร์โธด็อกซ์คือผู้ที่แต่งงานแล้วสามารถมาเป็นบาทหลวงได้ เดี๋ยวตรงนี้จะเอาไว้กล่าวเพิ่มในตอนที่ 2 สมณศักดิ์อีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ซึ่งคาทอลิกตะวันออกถือเหมือนกัน

8.สังฆานุกร (Deacon) - สังฆานุกรจัดเป็นศีลอนุกรมขั้นต่ำสุดแล้ว มีหน้าที่ช่วยพระสังฆราชและบาทหลวงในการประกอบพิธีกรรมตลอดจนงานการของโบสถ์และการอภิบาลต่างๆ มีทั้งแบบถาวรที่เป็นตลอดไปและแบบชั่วคราวที่เตรียมเป็นบาทหลวง

สังฆานุกรโรมันคาทอลิกจะต่างจากบาทหลวงอีกอย่างนึงคือผู้ที่แต่งงานแล้วสามารถเป็นได้ครับ แต่อัพเวลไปเป็นบาทหลวงไม่ได้ เป็นมันตลอดชีพล่ะครับ ต่างกับคาทอลิกตะวันออกและออร์โธด็อกซ์ที่ยังสามารถอัพเวลไปเป็นบาทหลวงได้

9.อุปสังฆานุกร (Subdeacon) - ชาวโรมันคาทอลิกหลายคนอาจยังไม่ทราบและงงว่านอกจากสังฆานุกรแล้ว มันยังมี "อุปสังฆานุกร" อีกเหรอ ก็ต้องขอบอกว่า "เคยมี" ครับ ในช่วงก่อนสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ศีลอนุกรมจะมีด้วยกัน 4 ขั้น ซึ่งอุปสังฆานุกรนี่แหละเป็นขั้นต่ำสุดและมีหน้าที่ช่วยสังฆานุกรเขาในพิธีกรรมอีกทีนึงเช่นเตรียมปังและเหล้าองุ่นหรือขับร้องบทอ่านพระวรสาร(เป็นการช่วยพิธีกรรมInceptionเลยทีเดียว)

แต่ตำแหน่งนี้ถูกยกเลิกไปแล้วในศาสนจักรโรมันคาทอลิกโดยพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ปี 1972 ในปัจจุบันเราเลยไม่ค่อยเห็นอุปสังฆานุกรกันตามโบสถ์โรมันคาทอลิกทั่วๆไปอีกเลย ยกเว้นศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกที่ถือจารีตแบบออร์โธด็อกซ์ซึ่งยังคงมีตำแหน่งนี้อยู่เป็นการทั่วไป

แต่แม้กระนั้น ทางโรมันคาทอลิกก็ยังพอมีอยู่บ้างนะครับ สำหรับคณะนักบวชโรมันคาทอลิกบางคณะที่ยังคงถือจารีตละตินดั้งเดิมก่อนสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เช่นคณะสงฆ์ภราดรภาพแห่งนักบุญเปโตร(FSSP)หรืออย่างสถาบันไครสต์เดอะคิงฯ(ICRSS) แต่อ่านจบแล้วก็ไม่ต้องไปเสียเวลาค้นหาในไทยหรอกครับ เพราะมันไม่มีในไทย 555

ถือว่าพอแค่นี้สำหรับสมณศักดิ์หลักๆ แต่แอดจะขอเพิ่มอีกสองตำแหน่งที่เราอาจจะได้เห็นในชีวิตประจำวันกันไม่มากก็น้อยคือ มงซินญอร์และพระอัครสงฆ์ ละกันนะครับ

10.มงซินญอร์ (Monsignor) - เป็นตำแหน่งทรงเกียรติที่พระสันตะปาปามอบให้บาทหลวงที่ทำงานให้กับศาสนจักรคาทอลิกดีเป็นพิเศษ โดยทั่วไปแล้วมักจะได้รับการแนะนำจากพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลนั้นๆ และเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์เท่านั้นนะครับ ไม่ได้มีผลต่อหน้าที่การงานของบาทหลวง ในบ้านเราที่เห็นกันตามข่าวหรือรายการบ่อยๆก็มีเช่นท่านมงซินญอร์วิษณุ ธัญญอนันต์ ชาวคาทอลิกไทยจะรู้จักกันดี

11.พระอัครสงฆ์ (Archpriest) - ในศาสนจักรโรมันคาทอลิกนั้น แต่ก่อนเป็นตำแหน่งบาทหลวงที่ทำหน้าที่ดูแลโบสถ์ต่างๆในสังฆมณฑลนั้นๆ ดูแลงานอภิบาลของศาสนจักรหรือเป็นอธิการโบสถ์และมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่มาตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่ปัจจุบัน ตำแหน่งนี้มักเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์มากกว่าครับ ผู้ที่เป็นก็มักจะเป็นอธิการโบสถ์หรือระดับมหาวิหารเช่นมหาวิหารนักบุญเปโตรก็มีพระอัครสงฆ์เหมือนกัน

จบแล้วครับสำหรับสมณศักดิ์คาทอลิก อ่านจะดูซับซ้อนไปนิด ตัวอักษรเยอะไปหน่อยแต่เอาเถอะ หวังว่าจะทำให้ทุกท่านเข้าใจสมณศักดิ์คาทอลิกแบบเบื้องต้นไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับคราวหน้าในตอนที่ 2 จะเป็นเกี่ยวกับสมณศักดิ์อีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ตามคำแนะนำของลูกเพจซึ่งทุกท่านก็ลองเทียบสมณศักดิ์ทั้งสองศาสนจักรกันดูนะครับ ว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรและถ้าบทความนี้ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

/AdminMichael

ปล.ในที่นี้แอดใช้ "ออร์โธด็อกซ์" เฉยๆ เพื่อสื่อถึงทั้งศาสนจักรอีสเทิร์นและออเรียนทัลออร์โธด็อกซ์นะครับ

ใครสงสัยเรื่องการยกเลิกอุปสังฆานุกร เข้าไปอ่านได้ที่นี่นะครับ:
http://www.ewtn.com/library/papaldoc/p6minors.htm

เกี่ยวกับมงซินญอร์:
http://catholicphilly.com/2017/04/think ... monsignor/

แนะนำมาโดยคุณ 坂道機憧 (อ่านไงเนี่ย มาอ่านชื่อให้ดูด้วยก็จะเป็นพระคุณมาก 555)

รูปภาพ

CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา
https://www.facebook.com/HistoryofChris ... 45/?type=3
Arttise
โพสต์: 875
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

เสาร์ เม.ย. 13, 2024 10:33 pm

+ เทียบลำดับชั้นสมณศักดิ์ของศาสนจักรคาทอลิกกับอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ ตอนที่ 2 - ศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์

เอาล่ะ หลังผ่านมา 2 อาทิตย์ ก็ได้เวลามาต่อกันที่ตอนที่ 2 นะครับสำหรับการเทียบสมณศักดิ์ระหว่างสองศาสนจักรนี้ ซึ่งแอดขอบอกเลยว่าตอนที่ 2 ของทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้นอาจจะดูซับซ้อนกว่าทางคาทอลิกพอสมควรเลยล่ะเพราะระบบการปกครองศาสนจักรจะแตกต่างจากคาทอลิก

และอีกครั้งครับ แม้ว่าแอดจะเขียนแบบย่อๆแล้ว ก็ทำใจร่มๆก่อนอ่านกันด้วยนะ เพราะยาวกว่าของคาทอลิกอีก 555

1.ผู้นำปกครองศาสนจักรอิสระ (Autocephalous Primates) - ผู้สนใจประวัติศาสตร์อาจมีงงกันบ้างว่าทำไมเมื่อมาอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์แล้วจึงไม่ขึ้นพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลไปเลยอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน เพื่อความไม่งงแอดจะขออธิบายคำบ่งบอกสถานะของศาสนจักรว่า Autocephalous กับ Autonomous ก่อนละกันนะ

Autocephalous แปลตรงตัวว่า "self-head" (มีผู้นำของตนเอง) คือเป็นศาสนจักรที่มีผู้นำปกครองตนเองที่ผู้นำไม่ขึ้นกับใครทั้งสิ้น คือไม่มีใครอยู่เหนือกว่าตนนั่นแหละครับ อิสระ ปกครองตนเอง เลือกผู้นำกันเอง อภิเษกหรือสถาปนาผู้นำได้เองเลย ไม่มีผู้นำหน้าไหนจากศาสนจักรออร์โธด็อกซ์อื่นมีสิทธิ์เข้ามายุ่มย่าม ขณะเดียวกันก็ให้อยู่เป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมเอกภาพกันกับศาสนจักรออร์โธด็อกซ์อื่นทั่วโลกโดยมี 15 ศาสนจักรที่ปกครองอิสระอันได้แก่ คอนสแตนติโนเปิล อันติออก เยรูซาเล็ม อเล็กซานเดรีย บัลแกเรีย จอร์เจีย เซอร์เบีย รัสเซีย โรมาเนีย ไซปรัส กรีซ อัลแบเนีย ดินแดนเช็คและสโลวาเกีย โปแลนด์และอเมริกา

ซึ่งแต่ละศาสนจักรจะมีผู้นำปกครองตนเอง ไม่ขึ้นกับใครและไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายกิจการภายในศาสนจักรอื่น ผู้นำมีสมณศักดิ์ตั้งแต่พระอัยกา พระสังฆราชมหานครจนถึงเพียงพระอัครสังฆราช โดยพวกเขาจะให้เกียรติพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลมากที่สุดซึ่งท่านจะมีตำแหน่งเป็น "พระอัยกาสากล" (Ecumenical Patriarch) และเป็น First Among Equals หรือ ที่หนึ่งท่ามกลางเท่าเทียม

(เป็นการใช้หลัก Primus Inter Pares หรือสูงสุดท่ามกลางเท่าเทียมตามที่เคยได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้นใครที่ไหนบอกว่าพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลเป็นผู้นำศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์เหมือนโป๊ปคาทอลิก ให้บอกเลยนะครับว่าผิดเพราะไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร)

และแม้ว่าผู้นำอีกคนจะเป็นพระอัยกา อีกคนจะเป็นเพียงพระอัครสังฆราช แต่หากเป็นผู้นำศาสนจักรแบบ Autocephalousซึ่งปกครองตนเองแล้ว จะมีสถานะเท่าเทียมกันหมดครับแค่ให้เกียรติพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลมากที่สุดแค่นั้นเองและผู้นำศาสนจักรระดับนี้ไม่ว่าจะสมณศักดิ์อะไร จะได้สวม Engolpion ที่เป็นสร้อยรูปพระแม่มารีย์อุ้มพระกุมาร(ที่เรียกว่า Panagia) กางเขนประดับเพชรและ Engolpion ที่เป็นสร้อยรูปพระเยซู

ส่วนอีกคำนึงที่จำต้องเขียนเอาไว้ด้วยคือ Autonomous แปลตรงตัวว่า "self-ruled" (ปกครองตนเอง) คือเป็นศาสนจักรที่ปกครองตนเองแต่ผู้นำต้องได้รับการแต่งตั้งหรือยืนยันจากผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalous เสียก่อนหรือพูดง่ายๆคือยังคงอยู่ใต้การกำกับของผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalousนั่นเองครับ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่อยู่ใต้พระอัยกาคอนสแตนติโนเปิลก็พระอัยการัสเซียนี่แหละครับ

แต่ก็ใช่ว่าทุกศาสนจักรจะยอมรับหรือ Recognized ความเป็นอิสระของศาสนจักรนั้นๆนะครับ

ยกตัวอย่างเช่นศาสนจักรยูเครนออร์โธด็อกซ์(เขตพระอัยกาแห่งมอสโคว์) ศาสนจักรนี้เป็นศาสนจักรปกครองตนเองแบบ Autonomous ได้ยอมรับให้ปกครองตนเองได้โดยพระอัยการัสเซียและยังอยู่ภายใต้พระอัยการัสเซียแต่ไม่ได้รับการยอมรับโดยพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิล แม้กระนั้นก็ทำให้เป็นศาสนจักรออร์โธด็อกซ์เดียวในยูเครนที่มีการรับรองโดยผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalous ซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาตามมาคือแต่ละชาติอยากจะมีศาสนจักรอิสระที่ตนเองคุมเอง ปราศจากการควบคุมจากภายนอก ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ซึ่งปัญหานี้ก็ยังคงเป็นปัญหาทางศาสนาของยูเครนมาจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

2.พระสังฆราชมหานคร (Metropolitan) - เป็นสมณศักดิ์ของพระสังฆราชที่ปกครองแขวงพระศาสนจักรที่มีหลายสังฆมณฑลย่อยด้วย มีพระสังฆราชปกครองอยู่ใต้ปกครอง(Suffragan bishop) ถ้าจะเขียนอีกนัยนึงก็คือมีอำนาจปกครองเหนือพระสังฆราชหรือบิชอปนั่นเอง สายสลาฟจะใส่หมวกผ้าสีขาวมีกางเขนเพชรปัก ส่วนสายทางกรีกใส่หมวกผ้าสีดำเช่นเดียวกับพระสังฆราชทุกระดับ

3.พระอัครสังฆราช (Archbishop) - ก็คือพระสังฆราชหรือบิชอปนี่ล่ะแต่ทำหน้าที่ปกครองสังฆมณฑลใหญ่และมีความสำคัญ สายสลาฟจะใส่หมวกผ้าสีดำมีกางเขนเพชรปัก
ทั้งสมณศักดิ์พระสังฆราชมหานครและพระอัครสังฆราชนั้นมักจะมอบแก่พระสังฆราชอาวุโส
แต่ที่แอดแยกออกพระสังฆราชมหานครมาเป็นอีกชั้นสมณศักดิ์ตามที่เห็นในภาพก็ไม่ใช่เพราะอะไรหรอกครับ คือเนื่องจากศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์มีหลายศาสนจักรปกครองอิสระและไม่มีผู้นำสูงสุด ทำให้หลายศาสนจักรในออร์โธด็อกซ์มีลำดับชั้นสมณศักดิ์ไม่เหมือนกันครับ ซึ่งเท่าที่แอดได้มานั่งสังเกตอยู่นานก็พบว่ามีอยู่ 3 แบบคือ

-พระสังฆราชมหานครสมณศักดิ์เหนือพระอัครสังฆราช(Metropolitan higher than Archbishop) เช่นศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์
-พระอัครสังฆราชก็เป็นพระสังฆราชมหานครด้วย (Archbishop is also Metropolitan) ค่อนข้างคล้ายโรมันคาทอลิก เช่นศาสนจักรกรีกออร์โธด็อกซ์แห่งอันติออก
-พระสังฆราชมหานครสมณศักดิ์ใต้พระอัครสังฆราชหรือเป็นสมณศักดิ์ที่มอบให้แก่พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลนี่แหละ (Metropolitan lower than Archbishop or Metropolitan is the title given to Diocesan Bishop) เช่นศาสนจักรกรีกออร์โธด็อกซ์แห่งคอนสแตนติโนเปิล

4.พระสังฆราชหรือบิชอป (Bishop) - พระสังฆราชหรือบิชอปเป็นผู้ปกครองสังฆมณฑลและดูแลกลุ่มคริสตชน เป็นผู้มีอำนาจโปรดศีลอนุกรมบวชพระสังฆราช บาทหลวงและสังฆานุกรได้ มีหลายประเภทเช่นพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล(diocesan bishop)และพระสังฆราชเกียรตินามที่ไม่มีอำนาจอะไร แค่ได้เป็นเกียรติเฉยๆ

พระสังฆราชและพระอัครสังฆราชกับพระสังฆราชมหานครที่ไม่ได้เป็นผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalous จะได้สวม Panagia และกางเขนประดับเพชร แต่ยามปกติเวลาไปไหนมาไหนหรือในพิธีธรรมดาๆก็มักจะใส่แค่ Panagia อย่างเดียวล่ะครับ มันหนักคอ 555
และยังต้องเป็นผู้ถือโสด ปฏิญาณตนเป็นนักพรต(Monk) ซึ่งก็จัดเป็นศีลอนุกรมขั้นสูงสุดแล้วครับ จะเป็นพระอัครสังฆราช พระสังฆราชมหานครหรือพระอัยกาก็ตามแต่ ในทางศีลอนุกรมถือว่าเท่าเทียมกันเพราะเป็นพระสังฆราชหรือบิชอปเหมือนกันครับ ต่างกันเพียงอำนาจหน้าที่

แต่กระนั้นก็มีบางกรณีที่บาทหลวงที่แต่งงานแล้วสามารถเป็นพระสังฆราชได้ครับคือบาทหลวงที่ภรรยาเสียชีวิตไปแล้ว(พ่อหม้ายนั่นแหละ) อันนี้มีสิทธิ์เป็นได้ครับ ถ้าเขาเลือกล่ะก็นะ เพียงแต่เมื่อได้รับเลือกแล้วก็ต้องปฏิญาณตนเป็นนักพรตก่อนแล้วจึงจะได้เป็นพระสังฆราช

เอาล่ะครับ จบชั้นสังฆราชากันไปล่ะ เรามาดูชั้นบาทหลวงและสังฆานุกรกันบ้าง ซึ่งในทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์เนี่ย แอดจะแยกเป็นสาย Monastic ที่เป็นนักบวชที่ปฏิญาณตนในอารามและเป็นนักพรตกับสาย Non-Monastic ที่ไม่ได้ปฏิญาณตน โดยเราจะมาเริ่มจากสาย Monastic กันก่อนละกัน

5.เจ้าอาวาสหรือหัวหน้าอธิการอาราม (Archimandrite) - เป็นอธิการอารามใหญ่และสำคัญๆหรือเป็นหัวหน้าอธิการของกลุ่มอารามต่างๆในเขตนั้นๆครับ เป็นตำแหน่งใหญ่ที่รองเพียงพระสังฆราชเท่านั้น แต่ตำแหน่งนี้ก็ถูกใช้เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ได้ด้วยเช่นกันนะครับโดยที่ผู้ได้รับสมณศักดิ์นี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอารามสักแห่งเลยก็ได้ ให้เป็นเกียรติเฉยๆ และก็มักจะเป็นตำแหน่งนี้ล่ะครับ ที่จะได้รับเลือกเป็นพระสังฆราช

ในบ้านเรามีอยู่องค์นึงครับ ของทางศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์คือพ่อโอเล็ก เชียรีพานิน

ปล.ถ้าอธิการของอารามแต่ละแห่งนั้นๆจะเรียกว่า Hegumen ครับ แอดไม่ได้ใส่ไปด้วยเพราะมันจะเยอะเกินไปและแต่ละศาสนจักรอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยหรือลำดับสมณศักดิ์ที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย

6.บาทหลวงนักพรตหรือพระนักพรต (Hieromonk) - ก็คือบาทหลวงหรือ priest นี่ล่ะครับ แต่เป็นบาทหลวงที่ปฏิญาณตนเป็นนักพรตด้วย

7.สังฆานุกรนักพรต (Hierodeacon) - ทุกท่านคงเดาได้ไม่ยากล่ะ พิมพ์มาขนาดนี้แล้ว 555 ก็คือเป็นสังฆานุกรที่ปฏิญาณตนเป็นนักพรตด้วยนั่นเอง

นักพรตทุกคนและรวมไปถึงพระสังฆราชจะสวมหมวกผ้ายาวๆสีดำอันเกิดจากการเอาหมวกทรงสูงแบน(kamilavka)กับผ้าคลุม(epanokamelavkion)มาประกอบเข้าด้วยกัน มี 2 แบบคือ แบบเอาผ้าคลุมมาคลุมหมวกเฉยๆ กับอีกแบบคือเย็บติดไปกับหมวกเลย(ที่เรียกว่า "Klobuk" )และบางสมณศักดิ์อาจจะใส่แบบอื่นตามที่ได้กล่าวไปแล้วด้านบนครับ
หมดล่ะ เอาสาย Non-Monastic บ้างดีกว่า

8.พระอัครสงฆ์หรือพระอัครบาทหลวง (Archpriest) - ในทางของอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้น สมณศักดิ์นี้เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่จะให้แก่บาทหลวงที่แต่งงานแล้วครับ มักจะให้แก่ผู้ที่เป็นแบบอย่างในการทำงานด้านอภิบาล ทางสายสลาฟหรือรัสเซียจะมีสองระดับคือ Archpriest เฉยๆกับ Mitered Archpriest ซึ่งจะสวมมงกุฎ(พระมาลา)แบบพระสังฆราชได้ในพิธีกรรมแต่จะไม่มีกางเขนปักอยู่บนมงกุฎ
พระอัครสงฆ์ของทางสายรัสเซียนี้นั้นจะใส่หมวกทรงสูงแบนสีม่วงหรือแดงด้วย

ปล.ตำแหน่งนี้จะมีอีกชื่อหนึ่งว่า Protopresbyter - พอแปลไทยได้ว่า "บาทหลวงองค์เอก" แต่ทางสายสลาฟรัสเซียมักจะแยกสองตำแหน่งนี้ออกจากกันและให้ตำแหน่งบาทหลวงองค์เอกสูงกว่าพระอัครสงฆ์

9.บาทหลวง (Priest) - เป็นผู้นำคริสตชน อภิบาล เทศน์สอนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คริสตชนอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์เช่นศีลมหาสนิทและโปรดศีลอภัยบาปเป็นต้น มีทั้งแบบที่อยู่กับสังฆมณฑล(Diocesan Priest หรืออาจใช้ว่า Secular Priest ก็ได้)ซึ่งขึ้นกับพระสังฆราช และที่ปฏิญาณตนเป็นนักพรตในอาราม(Monastic Priest)ตามที่ได้กล่าวไปแล้วด้านบน

บาทหลวงในศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้นจะแตกต่างจากโรมันคาทอลิกคือผู้แต่งงานแล้วสามารถบวชเป็นบาทหลวงได้! แต่ไม่ใช่ว่าบวชไปแล้วแต่งงานได้แบบที่หลายคนพูดว่า "สงฆ์ตะวันออกแต่งงานได้!"นะ ผิดๆ หากแต่เขาอนุญาตตราบเท่าที่แต่งงานกันก่อนจะรับศีลบวชเป็นสังฆานุกรและไม่ได้ตั้งเป้าจะปฏิญาณตนเป็นนักพรตเพราะนักพรตต้องถือโสดเท่านั้นครับ

เอาล่ะ มาถึงช่วงสังฆานุกรกันบ้าง สังฆานุกรนั้นจัดเป็นศีลอนุกรมขั้นต่ำสุดแล้ว มีหน้าที่ช่วยพระสังฆราชและบาทหลวงในการประกอบพิธีกรรมตลอดจนงานการของโบสถ์และการอภิบาลต่างๆ มีทั้งแบบถาวรที่เป็นตลอดไปและแบบชั่วคราวที่เตรียมเป็นบาทหลวง

แม้ในทางศีลอนุกรมจะเสมอเป็นสังฆานุกรเหมือนกัน แต่สมณศักดิ์สังฆานุกรก็มีหลายระดับครับ

10.พระอัครสังฆานุกร (Archdeacon) - เป็นสังฆานุกรในสังฆมณฑลที่มีหน้าที่ช่วยพิธีกรรมในพิธีที่มีพระสังฆราชเป็นประธาน จะใส่หมวกทรงสูงแบนด้วย แต่ตำแหน่งนี้ก็สามารถเป็นได้ทั้งสังฆานุกรที่แต่งงานแล้วและสังฆานุกรนักพรตเหมือนกันนะครับ (สังเกตว่าคนที่เป็นพระอัครสังฆานุกรเสียงจะดีเป็นพิเศษตอนพิธีกรรม 555)

11.สังฆานุกร (Deacon) - ผู้ช่วยพิธีกรรมและงานอภิบาลของโบสถ์ ตามจารีตไบแซนไทน์นั้น สังฆานุกรของทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์จะต้องมาสวดตามบทพิธีกรรมในส่วนของตน เสมือนนำสัตบุรุษภาวนาและอาจจะอ่านพระคัมภีร์ด้วย

12.อุปสังฆานุกร (Subdeacon) - ผู้ช่วยพิธีกรรมเหมือนกันแต่จะได้รับหน้าที่เล็กๆน้อยๆมากกว่า เช่นถือเทียนให้หรือสวมอาภรณ์ให้พระสังฆราช

จริงๆแล้วแม้ว่าในทางโรมันคาทอลิก อุปสังฆานุกรจะเคยเป็นศีลอนุกรมใหญ่(Major Order) แต่สำหรับอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้น อุปสังฆานุกรจัดเป็นศีลอนุกรมน้อย(Minor Order) ชั้นเดียวกับผู้อ่านพระคัมภีร์นั่นล่ะครับ แต่ต่างกันกับชั้นอนุกรมน้อยอื่นตรงที่อุปสังฆานุกรต้องแต่งงานก่อนจะได้เป็นครับ

ปล.มีอีกตำแหน่งหนึ่งคือ Protodeacon - พอแปลได้ว่า "พระเอกาสังฆานุกร" หรือ "สังฆานุกรองค์เอก" ซึ่งมักจะมอบให้แก่สังฆานุกรผู้อาวุโสของอาสนวิหารหรือโบสถ์หลักแต่แอดไม่ได้ใส่มาในภาพซึ่งก็อีกนั่นแหละครับ เพราะมันจะเยอะไป

จบแล้วครับสำหรับสมณศักดิ์ของทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ คงจะดูซับซ้อนกว่าทางคาทอลิกพอควร หากผิดพลาดก็ขออภัยด้วยนะ แอดพยายามเขียนให้ดีที่สุด(และย่อที่สุด)แล้วล่ะ 555 ส่วนไหนที่มันดูUniqueจากศาสนจักรอื่น แอดก็จะเน้นหน่อย ทุกท่านก็ลองเทียบสมณศักดิ์ทั้งสองศาสนจักรกันดูได้นะครับ ว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร

/AdminMichael

แนะนำมาโดยคุณ 坂道機憧

(สงฆ์พ่อหม้ายเป็นพระสังฆราชได้)https://oca.org/questions/priesthoodmon ... -significa

รูปภาพ

CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา
https://www.facebook.com/16741195761929 ... 98238/?d=n
ตอบกลับโพส