เทียบลำดับชั้นสมณศักดิ์ของศาสนจักรคาทอลิกกับอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ ตอนที่ 1 & ตอนที่ 2

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 875
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

เสาร์ เม.ย. 13, 2024 10:35 pm

เทียบลำดับชั้นสมณศักดิ์ของศาสนจักรคาทอลิกกับอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ ตอนที่ 1 -ศาสนจักรคาทอลิก

เอาล่ะครับ สำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ แอดก็จะขอเขียนเกี่ยวกับลำดับชั้นสมณศักดิ์ของสองศาสนจักรนี้ละกันนะครับ(ตามคำแนะนำจากลูกเพจ)

ศีลอนุกรมหรือศีลบวชจัดเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้บุคคลเป็นบาทหลวงผู้รับใช้พระเป็นเจ้า โดยจะมีด้วยกันสามขั้นคือพระสังฆราช(บิชอป) บาทหลวงและสังฆานุกรตามพระคัมภีร์อย่างที่หลายๆท่านทราบกันดี ซึ่งวันเวลาผ่านไป ศาสนจักรขยายใหญ่ขึ้น ผู้เชื่อมากขึ้น ลำดับชั้นหรือสมณศักดิ์ก็ต้องมีหลากหลายขึ้นและซับซ้อนมากขึ้นแน่นอน

เนื่องจากสมณศักดิ์มีเยอะมาก แอดจะขออธิบายย่อๆละกันนะครับและทำใจร่มๆกันก่อนอ่านด้วยนะเพราะขนาดย่อแล้วยังยาวอยู่เลย 555

1.พระสันตะปาปาหรือพระสังฆราชแห่งโรม (Catholic Pope or Bishop of Rome) - เราจะมาเริ่มจากพี่ใหญ่สุดก่อน ท่านผู้นี้เป็นผู้นำศาสนจักรคาทอลิกทั้งมวลโดยสืบทอดอำนาจจากนักบุญเปโตร หัวหน้าอัครสาวก ผู้ซึ่งพระเยซูทรงประทานกุญแจสวรรค์ให้ ตามความเชื่อของคาทอลิกนั่นเอง

พระสันตะปาปาจะมีอำนาจเหนือพระสังฆราชคาทอลิกทั้งมวลและมีอำนาจปกครองสูงสุด เป็นผู้แทนพระคริสต์ปกครองศาสนจักรบนโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีผิดพลาด(ตามประกาศสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ค.ศ.1869-70)แต่ไม่ผิดพลาดกับเฉพาะหลักความเชื่อและหลักศีลธรรมจรรยาในเรื่องที่สำคัญๆเท่านั้นนะครับ ส่วนเรื่องการเมืองกับส่วนตัวอันนี้อีกเรื่องนึงนะ เพราะท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราๆนั่นแหละ

2.พระคาร์ดินัล (Cardinal) - ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งรองมาจากพระสันตะปาปา มักจะมีคำเรียกกันว่าเป็น "เจ้าชายของศาสนจักร" แต่งชุดและหมวกสีแดงเป็นเอกลักษณ์ โดยตอนที่พระสันตะปาปายังอยู่ พวกท่านจะมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระสันตะปาปา บางคนอาจจะเป็นคนดูแลงานด้านต่างๆของศาสนจักร นอกจากนั้นก็เป็นเหมือนตัวแทนประเทศของพระคาร์ดินัลเลยล่ะ และเมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ พวกท่านก็จะมีสิทธิ์เลือกและได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาต่อไปอีกด้วย ตราบใดที่ตนเองยังอยู่ในเกณฑ์

จริงๆตำแหน่งนี้ในอดีตก็ไม่ได้ให้เฉพาะแก่นักบวชเท่านั้นนะครับ ฆราวาสก็เป็นได้ซึ่งก็แล้วแต่พระสันตะปาปาจะแต่งตั้ง แต่ยุคหลังดันมีกฎว่าผู้เป็นพระคาร์ดินัลได้จะต้องเป็นพระสังฆราชเท่านั้น ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นพระสังฆราชก็ต้องอภิเษกให้เป็นพระสังฆราชเสียก่อนจึงจะเป็นได้ ฆราวาสอย่างเราๆเลยอดไป

3.พระอัยกา (Patriarch) - แอดว่าหลายคนคงงงตั้งแต่ดูภาพแล้วแน่ๆว่าคาทอลิกเองก็มีพระอัยกาเหมือนทางออร์โธด็อกซ์ด้วยเหรอ? แอดก็ขอตอบว่า "มี" แน่นอนทีเดียวครับ มีทั้งโรมันคาทอลิกเช่นพระอัยกาละตินแห่งเวนิส พระอัยกาละตินแห่งเยรูซาเล็ม เป็นต้น และศาสนจักรคาทอลิกตะวันออก(ศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ต่างๆที่หันมารวมกับคาทอลิกโดยยังปฏิบัติตามจารีตประเพณีเดิมของตนได้ครับ)

แต่กระนั้นมันจะแตกต่างกันเสียหน่อยตรงที่พระอัยกาของทางศาสนจักรโรมันคาทอลิก(พระอัยกาละติน)มักเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์เสียมากกว่าครับ ได้แล้วก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรเพิ่มขึ้นมาหรอก ในขณะที่ทางศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกจะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจปกครองเหมือนศาสนจักรออร์โธด็อกซ์และเป็นผู้นำศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกนั้นๆ สำหรับคาทอลิกตะวันออก จะเป็นรองเพียงพระสันตะปาปาเท่านั้น บางองค์ได้เป็นพระคาร์ดินัลด้วยนะ

เสริม:ในอดีต พระสันตะปาปาเคยมีสมณศักดิ์เป็น "พระอัยกาแห่งตะวันตก" (Patriarch of the West)ด้วยนะครับ แต่ได้ยกเลิกไปแล้วในปี 2006

4.พระอัครสังฆราชใหญ่ (Major Archbishop) - ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งเฉพาะในผู้นำศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกบางศาสนจักรครับ สามารถเทียบได้กับพระอัยกา มีสิทธิ์ มีอำนาจทุกอย่างเหมือนพระอัยกาเลยล่ะ มีผู้นำศาสนจักรคาทอลิกตะวันออก 4 ท่านที่ดำรงตำแหน่งนี้

บางคนอาจจะถามว่า อ้าว แล้วจะตั้งมาทำไมในเมื่อมีตำแหน่งพระอัยกาอยู่แล้ว ไม่ให้ตำแหน่งพระอัยกาเขาไปเลยล่ะ? คืองี้ครับ เนื่องจากว่าศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกมาจากศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ที่หันมารวมกับคาทอลิก ถ้าให้ตำแหน่งพระอัยกาไปแล้วในบางศาสนจักร อาจจะทำให้เกิดความยากลำบากเรื่องศาสนสัมพันธ์ในเวลาต่อมาและเป็นเหมือนการ"หยาม"พระอัยกาศาสนจักรออร์โธด็อกซ์เดิมได้ครับ

แอดจะยกตัวอย่างนะ เช่น ศาสนจักรยูเครนกรีกคาทอลิก หนึ่งในศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกในยูเครน ถ้าพระสันตะปาปาให้ตำแหน่งพระอัยกากับผู้นำเขา พระอัยการัสเซียออร์โธด็อกซ์ที่คุมเชิงศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ในยูเครนอยู่ก็ต้องไม่พอใจและโกรธจนลมออกหูแน่นอน ดังนั้นพระสันตะปาปาจึงยกตำแหน่งให้เป็น "พระอัครสังฆราชใหญ่" แทนพระอัยกา โดยมีอำนาจไม่ต่างจากพระอัยกานั่นเองครับ เหมือนเลี่ยงบาลียังไงก็ไม่รู้นะ

5.พระอัครสังฆราชหรืออาร์คบิชอป (Archbishop) - พระอัครสังฆราชก็คือพระสังฆราชหรือบิชอปนี่ล่ะครับ แต่ทำหน้าที่ปกครอง สังฆมณฑลใหญ่และมีความสำคัญที่เรียกว่าอัครสังฆมณฑล(Archdiocese) ซึ่งก็มักจะเป็นตำแหน่งนี้แหละครับที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล

พระอัครสังฆราชโรมันคาทอลิกนั้นมักจะเป็นพระสังฆราชมหานคร(Metropolitan bishop)ซึ่งปกครองแขวงพระศาสนจักรที่มีหลายสังฆมณฑลย่อยด้วยและแต่ละสังฆมณฑลย่อยก็มีพระสังฆราชปกครองอยู่ใต้ปกครอง(Suffragan bishop) ถ้าจะเขียนอีกนัยนึงก็คือมีอำนาจปกครองเหนือพระสังฆราชหรือบิชอปนั่นเอง ดังนั้นเราจึงเรียกพระอัครสังฆราชที่มีอำนาจปกครองลักษณะนี้ว่าพระอัครสังฆราชมหานคร(Metropolitan Archbishop) สังเกตง่ายๆว่าโดยส่วนใหญ่มักจะมีผ้าปัลลิอุมที่พระสันตะปาปามอบให้คล้องไหล่อยู่

ถ้าถามว่ามีพระอัครสังฆราชโรมันคาทอลิกองค์ไหนมั้ยที่เป็นตำแหน่งนี้เฉยๆ แต่ไม่ได้เป็นพระสังฆราชมหานครปกครองสังฆมณฑลย่อยด้วย ก็ขอตอบว่า "มี" นะครับ แต่ไม่เยอะนักหรอก โดยมากพระอัครสังฆราชก็มักจะควบตำแหน่งพระสังฆราชมหานครดูแลสังฆมณฑลย่อยด้วยแทบทั้งนั้นครับ เช่นในไทยเราเป็นต้น มีพระอัครสังฆราชมหานครถึง 2 องค์เลยทีเดียว

พระอัครสังฆราชเนี่ยจริงๆมีอีกหลายประเภท แต่ขอยกมาอันเดียวละกันคือพระอัครสังฆราชเกียรตินามหรือกิตติมศักดิ์(Titular Archbishop)ที่ไม่มีอำนาจสังฆมณฑลใดๆ แค่เป็นเกียรติ ได้ตำแหน่งกิตติมศักดิ์เฉยๆ

6.พระสังฆราชหรือบิชอป (Bishop) - พระสังฆราชหรือบิชอปเป็นผู้ปกครองสังฆมณฑลและดูแลกลุ่มคริสตชน เป็นผู้มีอำนาจโปรดศีลอนุกรมบวชพระสังฆราช บาทหลวงและสังฆานุกรได้ มีหลายประเภทเช่นพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล(diocesan bishop)และพระสังฆราชเกียรตินามที่ไม่มีอำนาจอะไร แค่ได้เป็นเกียรติเฉยๆ

พระสังฆราชต้องเป็นผู้ถือโสดทั้งโรมันคาทอลิกและคาทอลิกตะวันออกและจัดเป็นศีลอนุกรมขั้นสูงสุดแล้วครับ จะเป็นพระอัครสังฆราช พระสังฆราชมหานคร พระอัยกาหรือพระสันตะปาปาก็ตามแต่ ในทางศีลอนุกรมถือว่าเท่าเทียมกันเพราะเป็นพระสังฆราชหรือบิชอปเหมือนกันครับ ต่างกันเพียงอำนาจหน้าที่

7.บาทหลวง (Priest) - พอล่ะสำหรับชั้นบิชอป มาดูชั้นบาทหลวงกันบ้าง เป็นผู้นำคริสตชน อภิบาล เทศน์สอนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คริสตชนคาทอลิกเช่นศีลมหาสนิทและโปรดศีลอภัยบาปเป็นต้น มีทั้งแบบที่อยู่กับสังฆมณฑล(Diocesan Priest หรืออาจใช้ว่า Secular Priest ก็ได้)ซึ่งขึ้นกับพระสังฆราช และที่อยู่กับคณะนักบวช(Regular Priest)ซึ่งขึ้นกับเจ้าอธิการ

บาทหลวงในศาสนจักรโรมันคาทอลิกต้องถือโสดตลอดชีพอย่างที่เรารู้ๆกัน แต่สำหรับศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกแล้ว จะถือเหมือนออร์โธด็อกซ์คือผู้ที่แต่งงานแล้วสามารถมาเป็นบาทหลวงได้ เดี๋ยวตรงนี้จะเอาไว้กล่าวเพิ่มในตอนที่ 2 สมณศักดิ์อีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ซึ่งคาทอลิกตะวันออกถือเหมือนกัน

8.สังฆานุกร (Deacon) - สังฆานุกรจัดเป็นศีลอนุกรมขั้นต่ำสุดแล้ว มีหน้าที่ช่วยพระสังฆราชและบาทหลวงในการประกอบพิธีกรรมตลอดจนงานการของโบสถ์และการอภิบาลต่างๆ มีทั้งแบบถาวรที่เป็นตลอดไปและแบบชั่วคราวที่เตรียมเป็นบาทหลวง

สังฆานุกรโรมันคาทอลิกจะต่างจากบาทหลวงอีกอย่างนึงคือผู้ที่แต่งงานแล้วสามารถเป็นได้ครับ แต่อัพเวลไปเป็นบาทหลวงไม่ได้ เป็นมันตลอดชีพล่ะครับ ต่างกับคาทอลิกตะวันออกและออร์โธด็อกซ์ที่ยังสามารถอัพเวลไปเป็นบาทหลวงได้

9.อุปสังฆานุกร (Subdeacon) - ชาวโรมันคาทอลิกหลายคนอาจยังไม่ทราบและงงว่านอกจากสังฆานุกรแล้ว มันยังมี "อุปสังฆานุกร" อีกเหรอ ก็ต้องขอบอกว่า "เคยมี" ครับ ในช่วงก่อนสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ศีลอนุกรมจะมีด้วยกัน 4 ขั้น ซึ่งอุปสังฆานุกรนี่แหละเป็นขั้นต่ำสุดและมีหน้าที่ช่วยสังฆานุกรเขาในพิธีกรรมอีกทีนึงเช่นเตรียมปังและเหล้าองุ่นหรือขับร้องบทอ่านพระวรสาร(เป็นการช่วยพิธีกรรมInceptionเลยทีเดียว)

แต่ตำแหน่งนี้ถูกยกเลิกไปแล้วในศาสนจักรโรมันคาทอลิกโดยพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ปี 1972 ในปัจจุบันเราเลยไม่ค่อยเห็นอุปสังฆานุกรกันตามโบสถ์โรมันคาทอลิกทั่วๆไปอีกเลย ยกเว้นศาสนจักรคาทอลิกตะวันออกที่ถือจารีตแบบออร์โธด็อกซ์ซึ่งยังคงมีตำแหน่งนี้อยู่เป็นการทั่วไป

แต่แม้กระนั้น ทางโรมันคาทอลิกก็ยังพอมีอยู่บ้างนะครับ สำหรับคณะนักบวชโรมันคาทอลิกบางคณะที่ยังคงถือจารีตละตินดั้งเดิมก่อนสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เช่นคณะสงฆ์ภราดรภาพแห่งนักบุญเปโตร(FSSP)หรืออย่างสถาบันไครสต์เดอะคิงฯ(ICRSS) แต่อ่านจบแล้วก็ไม่ต้องไปเสียเวลาค้นหาในไทยหรอกครับ เพราะมันไม่มีในไทย 555

ถือว่าพอแค่นี้สำหรับสมณศักดิ์หลักๆ แต่แอดจะขอเพิ่มอีกสองตำแหน่งที่เราอาจจะได้เห็นในชีวิตประจำวันกันไม่มากก็น้อยคือ มงซินญอร์และพระอัครสงฆ์ ละกันนะครับ

10.มงซินญอร์ (Monsignor) - เป็นตำแหน่งทรงเกียรติที่พระสันตะปาปามอบให้บาทหลวงที่ทำงานให้กับศาสนจักรคาทอลิกดีเป็นพิเศษ โดยทั่วไปแล้วมักจะได้รับการแนะนำจากพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลนั้นๆ และเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์เท่านั้นนะครับ ไม่ได้มีผลต่อหน้าที่การงานของบาทหลวง ในบ้านเราที่เห็นกันตามข่าวหรือรายการบ่อยๆก็มีเช่นท่านมงซินญอร์วิษณุ ธัญญอนันต์ ชาวคาทอลิกไทยจะรู้จักกันดี

11.พระอัครสงฆ์ (Archpriest) - ในศาสนจักรโรมันคาทอลิกนั้น แต่ก่อนเป็นตำแหน่งบาทหลวงที่ทำหน้าที่ดูแลโบสถ์ต่างๆในสังฆมณฑลนั้นๆ ดูแลงานอภิบาลของศาสนจักรหรือเป็นอธิการโบสถ์และมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่มาตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่ปัจจุบัน ตำแหน่งนี้มักเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์มากกว่าครับ ผู้ที่เป็นก็มักจะเป็นอธิการโบสถ์หรือระดับมหาวิหารเช่นมหาวิหารนักบุญเปโตรก็มีพระอัครสงฆ์เหมือนกัน

จบแล้วครับสำหรับสมณศักดิ์คาทอลิก อ่านจะดูซับซ้อนไปนิด ตัวอักษรเยอะไปหน่อยแต่เอาเถอะ หวังว่าจะทำให้ทุกท่านเข้าใจสมณศักดิ์คาทอลิกแบบเบื้องต้นไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับคราวหน้าในตอนที่ 2 จะเป็นเกี่ยวกับสมณศักดิ์อีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ตามคำแนะนำของลูกเพจซึ่งทุกท่านก็ลองเทียบสมณศักดิ์ทั้งสองศาสนจักรกันดูนะครับ ว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรและถ้าบทความนี้ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

/AdminMichael

ปล.ในที่นี้แอดใช้ "ออร์โธด็อกซ์" เฉยๆ เพื่อสื่อถึงทั้งศาสนจักรอีสเทิร์นและออเรียนทัลออร์โธด็อกซ์นะครับ

ใครสงสัยเรื่องการยกเลิกอุปสังฆานุกร เข้าไปอ่านได้ที่นี่นะครับ:
http://www.ewtn.com/library/papaldoc/p6minors.htm

เกี่ยวกับมงซินญอร์:
http://catholicphilly.com/2017/04/think ... monsignor/

แนะนำมาโดยคุณ 坂道機憧 (อ่านไงเนี่ย มาอ่านชื่อให้ดูด้วยก็จะเป็นพระคุณมาก 555)

รูปภาพ

CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา
https://www.facebook.com/HistoryofChris ... 45/?type=3
Arttise
โพสต์: 875
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

เสาร์ เม.ย. 13, 2024 10:36 pm

เทียบลำดับชั้นสมณศักดิ์ของศาสนจักรคาทอลิกกับอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ ตอนที่ 2 - ศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์

เอาล่ะ หลังผ่านมา 2 อาทิตย์ ก็ได้เวลามาต่อกันที่ตอนที่ 2 นะครับสำหรับการเทียบสมณศักดิ์ระหว่างสองศาสนจักรนี้ ซึ่งแอดขอบอกเลยว่าตอนที่ 2 ของทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้นอาจจะดูซับซ้อนกว่าทางคาทอลิกพอสมควรเลยล่ะเพราะระบบการปกครองศาสนจักรจะแตกต่างจากคาทอลิก

และอีกครั้งครับ แม้ว่าแอดจะเขียนแบบย่อๆแล้ว ก็ทำใจร่มๆก่อนอ่านกันด้วยนะ เพราะยาวกว่าของคาทอลิกอีก 555

1.ผู้นำปกครองศาสนจักรอิสระ (Autocephalous Primates) - ผู้สนใจประวัติศาสตร์อาจมีงงกันบ้างว่าทำไมเมื่อมาอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์แล้วจึงไม่ขึ้นพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลไปเลยอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน เพื่อความไม่งงแอดจะขออธิบายคำบ่งบอกสถานะของศาสนจักรว่า Autocephalous กับ Autonomous ก่อนละกันนะ

Autocephalous แปลตรงตัวว่า "self-head" (มีผู้นำของตนเอง) คือเป็นศาสนจักรที่มีผู้นำปกครองตนเองที่ผู้นำไม่ขึ้นกับใครทั้งสิ้น คือไม่มีใครอยู่เหนือกว่าตนนั่นแหละครับ อิสระ ปกครองตนเอง เลือกผู้นำกันเอง อภิเษกหรือสถาปนาผู้นำได้เองเลย ไม่มีผู้นำหน้าไหนจากศาสนจักรออร์โธด็อกซ์อื่นมีสิทธิ์เข้ามายุ่มย่าม ขณะเดียวกันก็ให้อยู่เป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมเอกภาพกันกับศาสนจักรออร์โธด็อกซ์อื่นทั่วโลกโดยมี 15 ศาสนจักรที่ปกครองอิสระอันได้แก่ คอนสแตนติโนเปิล อันติออก เยรูซาเล็ม อเล็กซานเดรีย บัลแกเรีย จอร์เจีย เซอร์เบีย รัสเซีย โรมาเนีย ไซปรัส กรีซ อัลแบเนีย ดินแดนเช็คและสโลวาเกีย โปแลนด์และอเมริกา

ซึ่งแต่ละศาสนจักรจะมีผู้นำปกครองตนเอง ไม่ขึ้นกับใครและไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายกิจการภายในศาสนจักรอื่น ผู้นำมีสมณศักดิ์ตั้งแต่พระอัยกา พระสังฆราชมหานครจนถึงเพียงพระอัครสังฆราช โดยพวกเขาจะให้เกียรติพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลมากที่สุดซึ่งท่านจะมีตำแหน่งเป็น "พระอัยกาสากล" (Ecumenical Patriarch) และเป็น First Among Equals หรือ ที่หนึ่งท่ามกลางเท่าเทียม

(เป็นการใช้หลัก Primus Inter Pares หรือสูงสุดท่ามกลางเท่าเทียมตามที่เคยได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้นใครที่ไหนบอกว่าพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลเป็นผู้นำศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์เหมือนโป๊ปคาทอลิก ให้บอกเลยนะครับว่าผิดเพราะไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร)

และแม้ว่าผู้นำอีกคนจะเป็นพระอัยกา อีกคนจะเป็นเพียงพระอัครสังฆราช แต่หากเป็นผู้นำศาสนจักรแบบ Autocephalousซึ่งปกครองตนเองแล้ว จะมีสถานะเท่าเทียมกันหมดครับแค่ให้เกียรติพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลมากที่สุดแค่นั้นเองและผู้นำศาสนจักรระดับนี้ไม่ว่าจะสมณศักดิ์อะไร จะได้สวม Engolpion ที่เป็นสร้อยรูปพระแม่มารีย์อุ้มพระกุมาร(ที่เรียกว่า Panagia) กางเขนประดับเพชรและ Engolpion ที่เป็นสร้อยรูปพระเยซู

ส่วนอีกคำนึงที่จำต้องเขียนเอาไว้ด้วยคือ Autonomous แปลตรงตัวว่า "self-ruled" (ปกครองตนเอง) คือเป็นศาสนจักรที่ปกครองตนเองแต่ผู้นำต้องได้รับการแต่งตั้งหรือยืนยันจากผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalous เสียก่อนหรือพูดง่ายๆคือยังคงอยู่ใต้การกำกับของผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalousนั่นเองครับ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่อยู่ใต้พระอัยกาคอนสแตนติโนเปิลก็พระอัยการัสเซียนี่แหละครับ

แต่ก็ใช่ว่าทุกศาสนจักรจะยอมรับหรือ Recognized ความเป็นอิสระของศาสนจักรนั้นๆนะครับ

ยกตัวอย่างเช่นศาสนจักรยูเครนออร์โธด็อกซ์(เขตพระอัยกาแห่งมอสโคว์) ศาสนจักรนี้เป็นศาสนจักรปกครองตนเองแบบ Autonomous ได้ยอมรับให้ปกครองตนเองได้โดยพระอัยการัสเซียและยังอยู่ภายใต้พระอัยการัสเซียแต่ไม่ได้รับการยอมรับโดยพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิล แม้กระนั้นก็ทำให้เป็นศาสนจักรออร์โธด็อกซ์เดียวในยูเครนที่มีการรับรองโดยผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalous ซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาตามมาคือแต่ละชาติอยากจะมีศาสนจักรอิสระที่ตนเองคุมเอง ปราศจากการควบคุมจากภายนอก ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ซึ่งปัญหานี้ก็ยังคงเป็นปัญหาทางศาสนาของยูเครนมาจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

2.พระสังฆราชมหานคร (Metropolitan) - เป็นสมณศักดิ์ของพระสังฆราชที่ปกครองแขวงพระศาสนจักรที่มีหลายสังฆมณฑลย่อยด้วย มีพระสังฆราชปกครองอยู่ใต้ปกครอง(Suffragan bishop) ถ้าจะเขียนอีกนัยนึงก็คือมีอำนาจปกครองเหนือพระสังฆราชหรือบิชอปนั่นเอง สายสลาฟจะใส่หมวกผ้าสีขาวมีกางเขนเพชรปัก ส่วนสายทางกรีกใส่หมวกผ้าสีดำเช่นเดียวกับพระสังฆราชทุกระดับ

3.พระอัครสังฆราช (Archbishop) - ก็คือพระสังฆราชหรือบิชอปนี่ล่ะแต่ทำหน้าที่ปกครองสังฆมณฑลใหญ่และมีความสำคัญ สายสลาฟจะใส่หมวกผ้าสีดำมีกางเขนเพชรปัก
ทั้งสมณศักดิ์พระสังฆราชมหานครและพระอัครสังฆราชนั้นมักจะมอบแก่พระสังฆราชอาวุโส
แต่ที่แอดแยกออกพระสังฆราชมหานครมาเป็นอีกชั้นสมณศักดิ์ตามที่เห็นในภาพก็ไม่ใช่เพราะอะไรหรอกครับ คือเนื่องจากศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์มีหลายศาสนจักรปกครองอิสระและไม่มีผู้นำสูงสุด ทำให้หลายศาสนจักรในออร์โธด็อกซ์มีลำดับชั้นสมณศักดิ์ไม่เหมือนกันครับ ซึ่งเท่าที่แอดได้มานั่งสังเกตอยู่นานก็พบว่ามีอยู่ 3 แบบคือ

-พระสังฆราชมหานครสมณศักดิ์เหนือพระอัครสังฆราช(Metropolitan higher than Archbishop) เช่นศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์
-พระอัครสังฆราชก็เป็นพระสังฆราชมหานครด้วย (Archbishop is also Metropolitan) ค่อนข้างคล้ายโรมันคาทอลิก เช่นศาสนจักรกรีกออร์โธด็อกซ์แห่งอันติออก
-พระสังฆราชมหานครสมณศักดิ์ใต้พระอัครสังฆราชหรือเป็นสมณศักดิ์ที่มอบให้แก่พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลนี่แหละ (Metropolitan lower than Archbishop or Metropolitan is the title given to Diocesan Bishop) เช่นศาสนจักรกรีกออร์โธด็อกซ์แห่งคอนสแตนติโนเปิล

4.พระสังฆราชหรือบิชอป (Bishop) - พระสังฆราชหรือบิชอปเป็นผู้ปกครองสังฆมณฑลและดูแลกลุ่มคริสตชน เป็นผู้มีอำนาจโปรดศีลอนุกรมบวชพระสังฆราช บาทหลวงและสังฆานุกรได้ มีหลายประเภทเช่นพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล(diocesan bishop)และพระสังฆราชเกียรตินามที่ไม่มีอำนาจอะไร แค่ได้เป็นเกียรติเฉยๆ

พระสังฆราชและพระอัครสังฆราชกับพระสังฆราชมหานครที่ไม่ได้เป็นผู้นำศาสนจักรชั้น Autocephalous จะได้สวม Panagia และกางเขนประดับเพชร แต่ยามปกติเวลาไปไหนมาไหนหรือในพิธีธรรมดาๆก็มักจะใส่แค่ Panagia อย่างเดียวล่ะครับ มันหนักคอ 555
และยังต้องเป็นผู้ถือโสด ปฏิญาณตนเป็นนักพรต(Monk) ซึ่งก็จัดเป็นศีลอนุกรมขั้นสูงสุดแล้วครับ จะเป็นพระอัครสังฆราช พระสังฆราชมหานครหรือพระอัยกาก็ตามแต่ ในทางศีลอนุกรมถือว่าเท่าเทียมกันเพราะเป็นพระสังฆราชหรือบิชอปเหมือนกันครับ ต่างกันเพียงอำนาจหน้าที่

แต่กระนั้นก็มีบางกรณีที่บาทหลวงที่แต่งงานแล้วสามารถเป็นพระสังฆราชได้ครับคือบาทหลวงที่ภรรยาเสียชีวิตไปแล้ว(พ่อหม้ายนั่นแหละ) อันนี้มีสิทธิ์เป็นได้ครับ ถ้าเขาเลือกล่ะก็นะ เพียงแต่เมื่อได้รับเลือกแล้วก็ต้องปฏิญาณตนเป็นนักพรตก่อนแล้วจึงจะได้เป็นพระสังฆราช

เอาล่ะครับ จบชั้นสังฆราชากันไปล่ะ เรามาดูชั้นบาทหลวงและสังฆานุกรกันบ้าง ซึ่งในทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์เนี่ย แอดจะแยกเป็นสาย Monastic ที่เป็นนักบวชที่ปฏิญาณตนในอารามและเป็นนักพรตกับสาย Non-Monastic ที่ไม่ได้ปฏิญาณตน โดยเราจะมาเริ่มจากสาย Monastic กันก่อนละกัน

5.เจ้าอาวาสหรือหัวหน้าอธิการอาราม (Archimandrite) - เป็นอธิการอารามใหญ่และสำคัญๆหรือเป็นหัวหน้าอธิการของกลุ่มอารามต่างๆในเขตนั้นๆครับ เป็นตำแหน่งใหญ่ที่รองเพียงพระสังฆราชเท่านั้น แต่ตำแหน่งนี้ก็ถูกใช้เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ได้ด้วยเช่นกันนะครับโดยที่ผู้ได้รับสมณศักดิ์นี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอารามสักแห่งเลยก็ได้ ให้เป็นเกียรติเฉยๆ และก็มักจะเป็นตำแหน่งนี้ล่ะครับ ที่จะได้รับเลือกเป็นพระสังฆราช

ในบ้านเรามีอยู่องค์นึงครับ ของทางศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์คือพ่อโอเล็ก เชียรีพานิน

ปล.ถ้าอธิการของอารามแต่ละแห่งนั้นๆจะเรียกว่า Hegumen ครับ แอดไม่ได้ใส่ไปด้วยเพราะมันจะเยอะเกินไปและแต่ละศาสนจักรอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยหรือลำดับสมณศักดิ์ที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย

6.บาทหลวงนักพรตหรือพระนักพรต (Hieromonk) - ก็คือบาทหลวงหรือ priest นี่ล่ะครับ แต่เป็นบาทหลวงที่ปฏิญาณตนเป็นนักพรตด้วย

7.สังฆานุกรนักพรต (Hierodeacon) - ทุกท่านคงเดาได้ไม่ยากล่ะ พิมพ์มาขนาดนี้แล้ว 555 ก็คือเป็นสังฆานุกรที่ปฏิญาณตนเป็นนักพรตด้วยนั่นเอง

นักพรตทุกคนและรวมไปถึงพระสังฆราชจะสวมหมวกผ้ายาวๆสีดำอันเกิดจากการเอาหมวกทรงสูงแบน(kamilavka)กับผ้าคลุม(epanokamelavkion)มาประกอบเข้าด้วยกัน มี 2 แบบคือ แบบเอาผ้าคลุมมาคลุมหมวกเฉยๆ กับอีกแบบคือเย็บติดไปกับหมวกเลย(ที่เรียกว่า "Klobuk" )และบางสมณศักดิ์อาจจะใส่แบบอื่นตามที่ได้กล่าวไปแล้วด้านบนครับ
หมดล่ะ เอาสาย Non-Monastic บ้างดีกว่า

8.พระอัครสงฆ์หรือพระอัครบาทหลวง (Archpriest) - ในทางของอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้น สมณศักดิ์นี้เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่จะให้แก่บาทหลวงที่แต่งงานแล้วครับ มักจะให้แก่ผู้ที่เป็นแบบอย่างในการทำงานด้านอภิบาล ทางสายสลาฟหรือรัสเซียจะมีสองระดับคือ Archpriest เฉยๆกับ Mitered Archpriest ซึ่งจะสวมมงกุฎ(พระมาลา)แบบพระสังฆราชได้ในพิธีกรรมแต่จะไม่มีกางเขนปักอยู่บนมงกุฎ
พระอัครสงฆ์ของทางสายรัสเซียนี้นั้นจะใส่หมวกทรงสูงแบนสีม่วงหรือแดงด้วย

ปล.ตำแหน่งนี้จะมีอีกชื่อหนึ่งว่า Protopresbyter - พอแปลไทยได้ว่า "บาทหลวงองค์เอก" แต่ทางสายสลาฟรัสเซียมักจะแยกสองตำแหน่งนี้ออกจากกันและให้ตำแหน่งบาทหลวงองค์เอกสูงกว่าพระอัครสงฆ์

9.บาทหลวง (Priest) - เป็นผู้นำคริสตชน อภิบาล เทศน์สอนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คริสตชนอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์เช่นศีลมหาสนิทและโปรดศีลอภัยบาปเป็นต้น มีทั้งแบบที่อยู่กับสังฆมณฑล(Diocesan Priest หรืออาจใช้ว่า Secular Priest ก็ได้)ซึ่งขึ้นกับพระสังฆราช และที่ปฏิญาณตนเป็นนักพรตในอาราม(Monastic Priest)ตามที่ได้กล่าวไปแล้วด้านบน

บาทหลวงในศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้นจะแตกต่างจากโรมันคาทอลิกคือผู้แต่งงานแล้วสามารถบวชเป็นบาทหลวงได้! แต่ไม่ใช่ว่าบวชไปแล้วแต่งงานได้แบบที่หลายคนพูดว่า "สงฆ์ตะวันออกแต่งงานได้!"นะ ผิดๆ หากแต่เขาอนุญาตตราบเท่าที่แต่งงานกันก่อนจะรับศีลบวชเป็นสังฆานุกรและไม่ได้ตั้งเป้าจะปฏิญาณตนเป็นนักพรตเพราะนักพรตต้องถือโสดเท่านั้นครับ

เอาล่ะ มาถึงช่วงสังฆานุกรกันบ้าง สังฆานุกรนั้นจัดเป็นศีลอนุกรมขั้นต่ำสุดแล้ว มีหน้าที่ช่วยพระสังฆราชและบาทหลวงในการประกอบพิธีกรรมตลอดจนงานการของโบสถ์และการอภิบาลต่างๆ มีทั้งแบบถาวรที่เป็นตลอดไปและแบบชั่วคราวที่เตรียมเป็นบาทหลวง

แม้ในทางศีลอนุกรมจะเสมอเป็นสังฆานุกรเหมือนกัน แต่สมณศักดิ์สังฆานุกรก็มีหลายระดับครับ

10.พระอัครสังฆานุกร (Archdeacon) - เป็นสังฆานุกรในสังฆมณฑลที่มีหน้าที่ช่วยพิธีกรรมในพิธีที่มีพระสังฆราชเป็นประธาน จะใส่หมวกทรงสูงแบนด้วย แต่ตำแหน่งนี้ก็สามารถเป็นได้ทั้งสังฆานุกรที่แต่งงานแล้วและสังฆานุกรนักพรตเหมือนกันนะครับ (สังเกตว่าคนที่เป็นพระอัครสังฆานุกรเสียงจะดีเป็นพิเศษตอนพิธีกรรม 555)

11.สังฆานุกร (Deacon) - ผู้ช่วยพิธีกรรมและงานอภิบาลของโบสถ์ ตามจารีตไบแซนไทน์นั้น สังฆานุกรของทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์จะต้องมาสวดตามบทพิธีกรรมในส่วนของตน เสมือนนำสัตบุรุษภาวนาและอาจจะอ่านพระคัมภีร์ด้วย

12.อุปสังฆานุกร (Subdeacon) - ผู้ช่วยพิธีกรรมเหมือนกันแต่จะได้รับหน้าที่เล็กๆน้อยๆมากกว่า เช่นถือเทียนให้หรือสวมอาภรณ์ให้พระสังฆราช

จริงๆแล้วแม้ว่าในทางโรมันคาทอลิก อุปสังฆานุกรจะเคยเป็นศีลอนุกรมใหญ่(Major Order) แต่สำหรับอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์นั้น อุปสังฆานุกรจัดเป็นศีลอนุกรมน้อย(Minor Order) ชั้นเดียวกับผู้อ่านพระคัมภีร์นั่นล่ะครับ แต่ต่างกันกับชั้นอนุกรมน้อยอื่นตรงที่อุปสังฆานุกรต้องแต่งงานก่อนจะได้เป็นครับ

ปล.มีอีกตำแหน่งหนึ่งคือ Protodeacon - พอแปลได้ว่า "พระเอกาสังฆานุกร" หรือ "สังฆานุกรองค์เอก" ซึ่งมักจะมอบให้แก่สังฆานุกรผู้อาวุโสของอาสนวิหารหรือโบสถ์หลักแต่แอดไม่ได้ใส่มาในภาพซึ่งก็อีกนั่นแหละครับ เพราะมันจะเยอะไป

จบแล้วครับสำหรับสมณศักดิ์ของทางอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ คงจะดูซับซ้อนกว่าทางคาทอลิกพอควร หากผิดพลาดก็ขออภัยด้วยนะ แอดพยายามเขียนให้ดีที่สุด(และย่อที่สุด)แล้วล่ะ 555 ส่วนไหนที่มันดูUniqueจากศาสนจักรอื่น แอดก็จะเน้นหน่อย ทุกท่านก็ลองเทียบสมณศักดิ์ทั้งสองศาสนจักรกันดูได้นะครับ ว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร

/AdminMichael

แนะนำมาโดยคุณ 坂道機憧

(สงฆ์พ่อหม้ายเป็นพระสังฆราชได้)https://oca.org/questions/priesthoodmon ... -significa

รูปภาพ

CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา
https://www.facebook.com/16741195761929 ... 98238/?d=n
ตอบกลับโพส