สงกรานต์ สรงน้ำ

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
Arttise
โพสต์: 875
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ก.พ. 19, 2017 3:45 pm

จันทร์ เม.ย. 15, 2024 10:47 pm

ตอนแรกที่แอดมินเห็นภาพนี้ แอดมินตกใจเลย! เพราะนึกว่าตั้งอยู่ที่วัดคาทอลิก แต่ที่ไหนได้ ด้วยความใจเย็นกับบทเรียนที่เคยผ่านมา แอดมินขยายภ่พ พร้อมตรวจรายละเอียด ก็เจอจุดๆหนึ่งที่ทำให้แอดมินสบายใจ

จุดอยู่ตรงป้ายตู้บริจาคฝั่งพระพุทธรูปด้านซ้ายล่างของภาพ “ตู้รับบริจาคงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๗ เทศบาลเมืองขลุง“ แสดงว่า จุดที่ตั้งเป็นงานเทศกาลของเทศบาลเมืองขลุง และเป็นเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ ไม่ใช่ตั้งอยู่ที่วัดคาทอลิก อันนี้สบายใจได้ เพราะไม่เป็นที่สะดุด แต่เป็นศาสนสัมพันธ์อันดีของเทศบาลเมือง

แต่ถ้าตั้งรูปเคารพของศาสนาอื่น แล้วสรงน้ำที่วัดคาทอลิก หรือสถานที่ต่างๆที่เป็นของคาทอลิก อันนี้ไม่เหมาะสมแน่ เพราะจะเป็นที่สะดุด และผิดต่อพระบัญญัติประการที่ 1 จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าพระองค์เดียวของท่าน เพราะเคยมีเคสที่โรงเรียนคาทอลิกทางภาคเหนือ หรือที่ไหนสักแห่งแอดมินจำไม่ได้แล้ว มีการสรงน้ำพระแม่มารีย์ แต่ข้างๆมีรูปปั้นอะไรสักอย่างสีใสๆที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ อันนี้เป็นที่สะดุดและผิด และศาสนสัมพันธ์ต้องตั้งอยู่โดยที่ไม่ขัดกับหลักความเชื่อของเรา

ส่วนประเด็นการสรงน้ำรูปปั้นทางศาสนาคริสต์ แอดมินมองว่า “มันเป็นประเพณี” เราไม่ได้กราบไหว้บูชา หรือสรงน้ำรูปปั้นเหล่านั้น เพราะว่ามันศักดิ์สิทธิ์หรือมีฤทธิ์อำนาจในตัวเอง เราสรงเพื่อระลึกถึงสิ่งที่รูปปั้นนั้นสื่อ เรานึกถึงว่า เราได้สรงน้ำพระเยซู เรารักพระเยซูและอยากจะแสดงความกตัญญูรู้คุณพระองค์

รูปภาพ

📜 พระบัญญัติประการที่ 1 จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าพระองค์เดียวของท่าน

พระบัญญัติประการนี้สั่งให้คริสตชนกราบนมัสการพระเป็นเจ้าแต่ผู้เดียวเท่านั้น เรื่องที่เราต้องพิจารณาก็คือ ทำไมต้องนมัสการพระเป็นเจ้าแต่ผู้เดียว คำตอบคือ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงสรรพานุภาพ เป็นพระผู้สูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุด หามีผู้ใดจะเทียบได้...ทรงเป็นพระผู้สร้าง เป็นพระผู้ดูแล พระผู้ประทานรางวัล ฯลฯ ดังที่เราได้ทราบมาแล้วในภาคที่หนึ่ง เรื่องข้อความเชื่อ (พระสัจธรรม)

ที่น่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่ง คือ คำว่า “นมัสการ” เป็นคำที่มีความหมายสำคัญ คือ หมายถึงการถวายเกียรติแด่พระ เช่น ในพุทธศาสนาก็ใช้คำว่า “นมัสการ” เวลาฆราวาสทักทายกับพระภิกษุด้วย แต่สำหรับเราที่เป็นคาทอลิก เราจะใช้คำนี้สำหรับพระเจ้าเท่านั้น เนื่องจากการนมัสการเป็นการแสดงความเคารพขั้นสูงสุด จึงสังเกตว่าเราจะไม่ใช้คำนี้กับบรรดานักบุญ แม่พระ หรือผู้หลักผู้ใหญ่หรือ พระสงฆ์ นักบวช เพราะเราสงวนคำ “นมัสการ” ไว้สำหรับพระเป็นเจ้า

การนมัสการพระผู้เป็นเจ้า เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า ดังนั้น จึงต้องเป็นทั้งเรื่องของจิตใจ อันได้แก่ ความเชื่อ ความไว้ใจ ความรัก และความเคารพอย่างสูงสุดต่อพระองค์

ในเวลาเดียวกัน ต้องแสดงออกภายนอกด้วย อาศัยกริยาต่างๆ ที่พึงปฏิบัติอย่างดีด้วยความสำนึกและรู้ตัวรู้คุณค่าแห่งการกระทำของตนด้วย เช่น การคุกเข่า การกราบ ก้มศีรษะ การไหว้ หรือ แม้กระทั่งรวมไปถึงการสวดมนต์ภาวนาออกเสียง ขับร้อง การรับศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

ดังนั้น การร่วมในพิธีกรรม เช่น การร่วมพิธีมิสซา การสวดภาวนา การร่วมกระทำวจนพิธีกรรม การร่วมพิธีแห่แหนในโอกาสต่างๆ จึงต้องกระทำด้วยความเอาใจใส่ สำรวม และตั้งใจกระทำให้ดีที่สุด นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการแต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมอีกด้วย

ในพระบัญญัติประการที่ 1 นี้ ห้ามบรรดาคริสตชนหันไปเคารพกราบไหว้หรือ นับถือผู้อื่นเสมอเหมือน หรือ ยิ่งใหญ่เท่าพระเจ้า… ดังนั้น ใครก็ตามที่ฝ่าฝืนกระทำผิดจะต้องถูกลงโทษจากพระศาสนจักร... เพราะเป็นการขาดความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักในพระเป็นเจ้านั่นเอง การกระทำผิดต่อพระบัญญัติประการที่ 1 นี้จึงเห็นได้ในหลายรูปแบบ คือ

1. การเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ที่จะถวายนมัสการพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ไม่สวดภาวนา ไม่รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (แก้บาป-รับศีล) ขาดมิสซาโดยไม่มีเหตุผลจำเป็น เฉื่อยชา ขี้เกียจต่อการปฏิบัติกิจศรัทธาต่างๆ

2. การถือผิดๆ จากความเชื่อ คือ การเชื่อว่ามีบุคคลหรือสรรพสิ่งสรรพสัตว์บางอย่างมีฤทธิ์อำนาจเสมอเหมือนพระเจ้า เช่น เชื่อในหมอดู เชื่อเรื่องบุญกรรมวาสนา เชื่อเครื่องรางของขลัง เชื่อฝัน รวมไปถึงดูฤกษ์ดูยาม และเรื่องราวทำนองคาถาอาคมต่างๆ ทั้งนี้ เพราะถ้าหากเรามีความเชื่อ ความไว้วางใจในพระเจ้าอย่างแท้จริงแล้ว เราย่อมมั่นใจว่าทุกอย่างนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ เป็นพระประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น ไม่มีฤทธิ์อำนาจใดๆ จะยิ่งใหญ่เท่าพระฤทธานุภาพของพระองค์

3. นอกจากนั้น การกระทำผิดต่อพระบัญญัติประการนี้ยังรวมไปถึง การทำร้าย หรือ ดูหมิ่นต่อบุคคล สถานที่ หรือ วัตถุที่ได้รับการเสกถวายแด่พระเจ้าแล้วด้วย ซึ่งเราเรียกว่าการทำทุราจาร อันได้แก่ พระสงฆ์ นักบวช วัด สุสาน รูปพระ รูปแม่พระ รูปนักบุญต่างๆ เป็นต้น เพราะหมายถึงการขาดความเชื่อความเคารพต่อองค์พระเจ้าด้วยเช่นกัน

ในชีวิตประจำวันบรรดาคริสตชนมักจะมีความสงสัยกันอยู่เสมอว่า ทำอย่างโน้นบาปไหม? ทำอย่างนี้บาปไหม? เช่น ดูหมอดูบาปหรือไม่? เชื่อฝันผิดไหม? ดูฤกษ์ดูยาม เช่น วันแต่งงาน วันขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ เป็นอย่างไรทำได้ไหม?... รวมไปถึงการทำบุญในศาสนาอื่นๆ จะบาปไหม? และคำถามทำนองนี้อีกมากมาย

จึงอยากอธิบายเป็นหลักปฏิบัติกว้างๆ ดังนี้ว่า... ก่อนอื่นหมดเราจะต้องรู้ตัวของเราก่อนว่า เรามีความเชื่อความศรัทธาและความรักในพระเจ้าอย่างแท้จริงหรือไม่? แน่นอนสำหรับผู้ที่มีความเชื่อมั่นในพระเจ้า ทุกอย่างจะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือพระเจ้า

โดยส่วนใหญ่แล้ว บรรดาคริสตชนจะบอกว่า ตัวเองเชื่อและมั่นใจในพระเจ้า แต่ในทางปฏิบัติและความเป็นจริงในชีวิตประจำวันอาจจะมีเหตุการณ์เรื่องราวบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้อดสงสัยไขว่เขวไปได้เหมือนกัน เช่น เคยเห็นคนเข้าเจ้าเข้าทรง รู้จักหมอดูแม่นๆ คนนี้คนนั้น คนเขารดน้ำหมากราดน้ำมนต์แล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ เป็นต้น

คำตอบตรงนี้ก็คือ ถ้าเราเชื่อและมั่นใจในพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงสร้างเรามาทรงเลี้ยงดูและค้ำชูเราอยู่ตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากพระองค์และเป็นของพระองค์แล้ว มันจะผิดอะไร ถ้าพระองค์จะทรงให้เราเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น มีสุขอย่างนี้มีทุกข์อย่างนั้น... ทำไมจะต้องคิดว่าผู้อื่น สิ่งอื่นสำคัญและช่วยเราได้ดีกว่าพระองค์

จะแต่งงานก็ต้องหาฤกษ์หายาม วันนี้เหมาะเวลานั้นดี ที่เห็นๆ มีเยอะแยะที่บอกว่าวันดีเวลาเยี่ยม... อยู่กันยังไม่ทันไรก็เลิกกันซะแล้ว หรือ ไปเลือกเอาวันจันทร์เวลา 9.00 น. มันจะดีได้อย่างไร พอไปแจกการ์ดพรรคพวกเพื่อนฝูงก็ต่อว่าเสียแล้วว่า “ทำไมไม่จัดวันหยุดวะ..ใครเขาจะขาดงานไปได้..” เหล่านี้ เป็นต้น

ขอพูดถึงเรื่องการทำบุญในศาสนาอื่นๆ อีกนิด คงจำได้ว่าในอดีตเคร่งมาก ห้ามทำบุญหรือช่วยงานในศาสนาอื่นทุกอย่างๆ... แต่ปัจจุบันพระศาสนจักรอธิบายว่า เราอยู่ในสังคมต้องมีหน้าที่ส่งเสริมกันและกันกระทำในสิ่งที่ดี การทำบุญซองผ้าป่า สร้างอาคารสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นวัดศาลาธรรม ศาลาการเปรียญหรือสาธารณสถานต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี...ช่วยสังคม ช่วยคนให้มีสถานที่มีโอกาสได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีแล้วมันจะผิดได้อย่างไร?

ข้อสำคัญที่ต้องคำนึง คือ เราจะประกอบพิธีกรรมในศาสนาอื่นๆ คงผิดแน่นอน เพราะผู้ที่จะประกอบพิธีกรรมจะต้องเป็นศาสนิกที่มีความเชื่อความศรัทธาในศาสนานั้นๆ เท่านั้น จึงจะมีความหมาย ตัวอย่างที่ชัดเจน อีกอย่างก็คือ ถ้าตัวเรามีสามีหรือภรรยาที่เป็นศาสนาอื่น เราที่เป็นคาทอลิกมีหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมเขาให้เป็นศาสนิกที่ดีตามความเชื่อถือของเขาด้วย เช่น การที่จะไปทำบุญตักบาตร ภรรยาที่เป็นตริสต์ย่อมมีหน้าที่ที่จะเตรียมอาหารไปให้เขาไปทำบุญตักบาตร แต่ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปตักบาตรกับเขา ดังนี้ เป็นต้น

ดังนั้น เราจะต้องมั่นใจในความเชื่อความศรัทธาของเราจริงๆ และพร้อมที่จะแสดงตนยืนยันว่า เราเป็นคริสตชน เวลาไปร่วมพิธีในศาสนาอื่น ต้องชัดเจนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และเช่นกันเราก็ต้องเคารพในความเชื่อถือความศรัทธาของผู้อื่นที่เขามีความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาของเขา อย่าไปโจมตีหรือว่ากล่าวเขาเป็นอันขาด พูดตรงๆ ก็คือเราต้องเคร่งครัดในศาสนาของเรา แต่อย่าคลั่งจนไม่เคารพผู้อื่น

ในพระบัญญัติประการที่หนึ่งนี้ยังส่งเสริมให้เราให้ความเคารพต่อพระแม่มารีย์และบรรดานักบุญ (ผู้ศักดิ์สิทธิ์) ทั้งหลายด้วย เราจึงสามารถวอนขอต่อพระเป็นเจ้าโดยผ่านทางคำเสนอวิงวอนของพระแม่มารีย์และบรรดานักบุญด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการขาดความเคารพหรือความเชื่อความวางใจต่อพระเจ้าแต่ประการใด เพราะเรายังคงกราบนมัสการพระเจ้าแต่ผู้เดียวอยู่ เพียงแต่โดยผ่านทางพระแม่มารีย์ และบรรดานักบุญเท่านั้นเอง

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)

http://www.kamsonbkk.com/10-commandments/2651-0071956

รูปภาพ

✝️ สิ่งคล้ายศีล
เรื่องแรกที่อยากจะนำมากล่าวถึงก็คือ “สิ่งคล้ายศีล” ซึ่งมีความหมายถึง วัตถุหรือจารีตพิธีกรรมบางอย่างที่พระศาสนจักรกำหนดให้มีพระคุณพิเศษอยู่กับวัตถุหรือพิธีกรรมนั้นๆ และผู้ที่ปฏิบัติหรือใช้ความเชื่อความศรัทธา ก็จะได้รับพระคุณ ตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า แต่ต้องระวังว่าสิ่งคล้ายศีลนี้ มิใช่เครื่องรางของขลังที่คนทั่วๆ ไปเชื่อถือกัน เพราะเราเชื่อว่าพระคุณหรือพระพรนั้นๆ มาจากพระเป็นเจ้าโดยผ่านทางวัตถุหรือพิธีกรรม และพระจะทรงประทานพระพรนั้นๆ หรือไม่อยู่ที่พระองค์จะทรงเห็นสมควร

วัตถุที่ได้รับการเสก เช่น เถ้าซึ่งใช้ในการโรยศีรษะในวันพุธรับเถ้า ใบลานอันเป็นใบไม้ที่ได้รับการเสกในวันอาทิตย์ใบลาน ระลึกถึงการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้า เทียน รูปกางเขน รูปแม่พระ รูปนักบุญ สายประคำ ฯลฯ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้รับการเสกก็ถือว่าเป็นสิ่งคล้ายศีล

เราจะต้องระวัง อย่าหลงว่าเป็นเครื่องรางของขลัง อย่างไรก็ตามวัตถุเหล่านี้ถือเป็นวัตถุที่ได้รับการเสก จึงต้องเก็บไว้อย่างดีในที่เหมาะสมด้วยความเคารพด้วยเช่นกัน
สิ่งคล้ายศีล ไม่มีฤทธิ์อำนาจด้วยตัวเอง หากแต่พระเป็นเจ้าทรงประทานพระพรให้มนุษย์โดยผ่านทางสิ่งคล้ายศีลต่างๆ สิ่งคล้ายศีลมีอำนาจยกบาปเบาได้ และส่งเสริมความเข้มแข็งแห่งความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักในพระเป็นเจ้าได้วิธีหนึ่ง

อ่านทั้งหมด
http://www.kamsonbkk.com/catholic.../ca ... 62-0071774

✝️ สิ่งคล้ายศีลคืออะไร (1667-1672, 1677-1678)

เป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ที่พระศาสนจักรตั้งขึ้น เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมของชีวิตศักดิ์สิทธิ์ไปได้ สิ่งคล้ายศีลเหล่านี้ประกอบด้วยการภาวนา ตามด้วยเครื่องหมายกางเขนและเครื่องหมายอื่นๆ ในบรรดาสิ่งคล้ายศีลที่สำคัญ เช่น การอวยพรซึ่งเป็นการสรรเสริญพระเป็นเจ้า บทภาวนาเพื่อขอพระพรต่างๆ การเจิมถวายบุคคลและการอุทิศสิ่งของเพื่อเป็นคารวกิจแด่พระเป็นเจ้า

http://www.kamsonbkk.com/catholic-catec ... ศีลคืออะไร

💞 ศาสนสัมพันธ์ที่คาทอลิกสนับสนุน ก็เพื่อการเข้าใจในศาสนาอื่นๆอย่างถูกต้องและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ใช่การให้เป็นพหุเทวนิยมหรือนับถือหลายศาสนา

CR. : จิต ศรัทธา

รูปภาพ

CR. : คริสต์ศรัทธา
https://www.facebook.com/photo?fbid=833 ... 5396579617
ตอบกลับโพส