+++ชีลับ...เจ้าสาวของพระเจ้า+++

ถาม-ตอบพระคัมภีร์ เรื่องเสริมศรัทธา ความรู้ และสาระ บทความ ในคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:22 am

บทนำ:

รูปภาพ

หลายต่อหลายครั้งที่วิถีชีวิตของคน บางกลุ่มบางลัทธิความเชื่อ ทำให้บุคคลภายนอกสงสัย ทึ่ง อยากรู้อยากเห็น ว่าชีวิต พวกเขาเป็นใคร แบบแผนชีวิตของเขาเป็นอย่างไร
และด้วยคำถามอีกว่าทำไม ๆๆๆ อยากรู้จนหายอยากรู้ สำหรับดิฉันเป็นคริสตชนนิกาย โปรเตสแตนต์หรือที่พี่น้องคริสตังเรียกเราว่าคริสเตียน เคยอาศัยอยู่แถวๆ ถนนสาทรเหนือ
เคยร่วมนมัสการที่คริสตจักรของโปรเตสแตนต์ ถนนสาทรเหนือ ก็คุ้นเคย กับ ชื่อ ของโรงเรียนคริสตังหลายโรง ตลอดทั้งโบสถ์ของคริสตังหลายโบสถ์ด้วยกัน
พบปะเจอะเจอ ซิสเตอร์ หรือที่คนไทยเรียกสั้นๆว่า “ชี” ดิฉันเองชอบเรียกซิสเตอร์ หรือภคินีมากกว่า บรรดาคณะซิสเตอร์หลายๆคณะ ดิฉันสนใจอยากรู้จัก คือ “ซิสเตอร์ หรือมาเซอร์
( ภาษาฝรั่งเศส ) อารามนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู” ของคณะคาร์แมล” เราเรียกเล่นๆว่า “อาราม กาแมว” ไม่ได้ดูถูกแต่คิดว่าเพื่อให้เรียกง่ายๆมากกว่า
คริสตจักรของโปรเตสแตนต์หลายแห่ง ใช้แผ่นปังที่ผลิตจากอารามนี้ ในพิธีมหาสนิท ดิฉันชอบคิดว่า มาเซอร์ที่นี่ทำแผ่นปังสวยมาก แต่ไม่อร่อย ( ฮา )
เพราะเมื่อตอนเรียนทำศาสนพิธีก็ได้เรียนทำขนมปังไร้เชื้อเผื่อใช้ในพิธิมหาสนิท รู้สึกว่าทำเองอร่อยดี คงเพราะมีเกลือจากมือเจือปนแน่นอน
และเมื่อเราทำพิธีมหาสนิท ตอนหักปัง ชูขึ้นให้ฆราวาส ดู แผ่นใหญ่ๆ กล่าวว่า พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “นี่คือกายของเรา” แล้วหักเสียงดังดี แต่ขนาดของแต่ละชิ้นไม่เท่ากัน
แผ่นปังจากอารามคาร์แมลสีขาวสะอาดขนาดเท่าๆกัน ง่ายแก่การแจก ปัจจุบันบางโบสถ์ที่ดิฉันร่วมนมัสการ เราก็ใช้แผ่นปังจากอารามคาร์แมลค่ะขอบคุณพระเจ้า ที่คำถามของคุณ ex
ใครทราบว่าแม่ชีที่โบส์ในซอยคอนแวนท์สวดมนต์ทั้งวันไม่ยุ่งเรื่องภายนอก จริงหรือเปล่าวคับ เพื่อนผมที่อยู่เซนโยบอกมาครับ อยากเอาไปทำหนังสั้นครับ ขอบคุณคับ
จากคุณ : ex - [ 29 เม.ย. 46 05:43:43 A:203.113.33.10 X: ]
ใน ห้องสมุดบอร์ดพันธุ์ทิพย์ กระตุ้นให้ดิฉันเรียบเรียงเรื่องนี้ กอรปกับมีข้อมูลในมืออยู่แล้ว และได้โทรศัพท์ไปสอบถามเพิ่มเติมจากผู้รู้บางท่าน
และหาเพื่อนร่วมพันธกิจในการโพสต์ ที่ ห้องสมุด เว็บบอร์ด ของพันธุ์ทิพย์ เพื่อให้ผู้สนใจได้รับประโยชน์และจะลิงก์ไปที่เว็บคริสเตียนบางเว็บ

ถ้า พี่น้องคริสตังท่านใด  เช่นคุณพ่อ คุณแม่อธิการิณี  ซิสเตอร์ บราเดอร์ และผู้รู้ทั้งหลาย อยากเพิ่มเติมให้เข้าใจมากขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่าน และ ดิฉันโปรดปราน ผู้เรียบเรียง
ขอความกรุณาเพิ่มเติมได้ค่ะ

ขอพระเจ้าอวยพรทุกๆท่าน
โปรดปราน  ผู้เรียบเรียง
X-Cross  ภาพ
--------------------------------
หมายเหตุ: ซิสเตอร์ หรือมาเซอร์ ศัพท์ภาษาไทยคือ ภคินี หรือบางที”ชี” ดิฉันจะใช้ชื่อเหล่านี้ตามความเหมาะสม
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:43 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:23 am

( ตอนที่ ๑ )
@@…ชีลับ ผู้สละโลก เจ้าสาวของพระเจ้า …@@


“ชีลับ” หรือ”ชีมืด” เป็นนักบวชหญิงของคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่ใช้ชีวิตอย่างผู้เสียสละความยินดีทางโลก ตัดขาดจากญาติมิตรและสังคมภายนอก
ซ่อนเร้นตนอยู่ในอารามเฉพาะเขตพรต มีชีวิตอยู่กับการรำพึงภาวนาอย่างเคร่งครัด โดยไม่ย่างเหยียบออกมาสู่โลกภายนอกตลอดชั่วชีวิต
ถือกันว่าเธอได้ตายไปแล้วจากโลกเดิม เพื่อดำเนินชีวิตใหม่ เป็น"นักโทษสมัครใจ" ของพระเจ้า

แม้พวกเธอได้ชื่อว่าเป็นผู้สละโลก แต่ไม่ได้ทอดทิ้งโลก ชีลับยังคงรับใช้ชาวโลกร่วมสัมผัสความทุกข์ยากของโลก และรำพึงภาวนาเพื่อผู้ที่เดือดร้อนลำบาก
นอกจากพวกเธอจะรำพึงภาวนาเผื่อพระศาสนจักร และคณะนักบวชแล้ว ตลอดชีวิตพวกเธอได้อุทิศตนอยู่กับการภาวนาและการทรมานตนเพื่อใช้โทษบาปเพื่อ เพื่อนมนุษย์
ดุจเดียวกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า และด้วยการอุทิศตนเพื่อรับใช้พระเจ้า ดังนั้นชีลับจึงได้ชื่อว่า ผู้สละโลกและเจ้าสาวของพระเจ้า
( สารคดี ฉบับที่ 116 ปีที่ 10 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2537  หน้า 10 )

รูปภาพ
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:55 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:25 am

( ตอนที่ ๒ )
@@..ประวัติของคณะคาร์แมล..@@


ผู้ที่ ดำเนินชีวิตอยู่ในอารามคาร์แมลแห่งนี้ คือ มาเซอร์คณะภคินีแห่งแม่พระคาร์แมล ซึ่งเป็นคณะที่เก่าแก่ ถือกำเนิดขึ้น ราวกลางศตวรรษที่ 12 ในสมัยสงครามครูเสด
การก่อตั้งคณะเกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายบนพื้นที่ซึ่งเป็นหินบนภูเขาคาร์แมล โดยดำเนินชีวิตเลียนแบบประกาศกเอลียาห์ 
ในเรื่องของความขยัน ความศรัทธาร้อนรน และการสละทิ้งซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดจนทรัพย์สมบัติฝ่ายโลก
ในสมัยกลางคนทั่วไปรู้จักบรรดาฤาษีคาร์แมล ในชื่อเป็นทางการว่า “ภราดาคณะแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล”
เพราะพวกเขามีแม่พระเป็นทั้งมารดา เป็นทั้งพี่สาวและคนกลางผู้เสนอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า พระนางยังทรงเป็นเช่นนี้เสมอมาสำหรับนักบวชคณะคาร์แมล ซึ่งสืบทอดต่อกันเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 21
ก็ไม่พ้นเรื่องของความ ทุกข์ร้อน ของผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ความลำบากที่สังคมโลกภายนอกเป็นผู้สร้างขึ้น นี่แหละคือ ชีวิตแห่งการรับใช้ของมาเซอร์คณะภคินีแห่งแม่พระคาร์แมล

รูปภาพ
นักบุญเทเรซา แห่งอาวิลลา ผู้ก่อตั้งคณะคาร์แมล


@@..จุดเริ่มต้นภคินีคาร์แมล..@@
ตั้งแต่เริ่มต้น พระศาสนจักรได้มีขนบธรรมเนียบต่อกันมาว่า บรรดาสตรีผู้อุทิศชีวิตรับใช้พระเป็นเจ้า จะต้องรับภารกิจผู้มัดตัวเองตลอดชีวิต
และในระหว่างศตวรรษที่ 13 และ 14 มีสตรีใจศรัทธาจำนวนหนึ่งอาศัยคำแนะนำของภราดาคาร์แมล สตรีเหล่านั้นจึงได้เริ่มต้นถือ พระวินัยของคณะคาร์แมล แต่ละคนหรือรวมกันเป็นกลุ่ม
ๆ พวกเขาขังตัวเองอยู่คนเดียวตามลำพังเด็ดขาด และสวดภาวนาไม่หยุดหย่อน อีกหลายคนอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะมีชีวิตผูกผันกันอย่างหลวม ๆ โดยไม่มีการถวายปฏิญาณ
ในปี ค.ศ.1452 สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ได้ให้คำรับรองแก่บุญราศียอห์น โซแร็ธ อธิการใหญ่เจ้าคณะคาร์แมลที่จะจัดรวมสตรีใจศรัทธาเหล่านี้เข้าเป็นคณะนักบวช คาร์แมลชั้น 2 ดังนั้น
เท่ากับทำให้พวกเขาได้รับฐานะทางกฎหมายของพระศาสนจักร บุญราศี ฟรังซิส แห่งนักบุญอัมโบรซิโอ ดัชเชสแห่งแคว้นบริตานี ได้เป็นภคินีในพวกแรก ๆ ที่เข้าอารามแห่งหนึ่ง 
ซึ่งท่านดัชเชสได้บริจาคทรัพย์ก่อตั้งขึ้นมา   นี่คือการเริ่มต้นที่ซื่อ  ๆ  และสงบเสงี่ยบของคณะภคินี คาร์แมลชุดแรก ๆ ซึ่งได้ค่อย ๆ เจริญทวีจำนวน
จนถึงเกือบ 13,000 รูป อยู่ในอารามที่ตั้งกระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบันนี้

รูปภาพ
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:58 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:27 am

( ตอนที่ ๓ )
~@0@~..อารามคาร์แมลแห่งแรกในประเทศไทย..~@0@~


มาเซอร์คณะคาร์เมไลท์รุ่นแรกที่ถือกำเนิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2468 หลังจากที่มุขนายก เรอเน แปร์รอส ประมุขของมิสซังกรุงเทพฯ ในขณะนั้น
ได้เดินทางไปเยี่ยมอารามแม่พระแห่งความไว้วางใจ  ที่พึ่งก่อตั้งขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยพระคุณเจ้าได้แสดงความปรารถนาที่จะก่อตั้งอารามคาร์แมลในมิสซังของท่าน
ต่อคุณแม่แอนน์  แห่งพระเยซู – มาเรีย คุณแม่อธิการิณี ผู้ก่อตั้งอาราม ให้มาดำเนินงานในประเทศในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2468 อาศัยการนำของพระญาณสอดส่อง คุณแม่แอนน์ แห่งพระเยซู – มาเรียได้นำภคินีอีก 12 ท่านเดินทางมายังประเทศไทย
ถึงแม้การเดินทางในขณะนั้นจะยากลำบาก ภคินีทั้งหมดต้องเดินทางโดยรถยนต์ ต่อด้วยเรือ ซึ่งเรือที่นำภคินีคณะคาร์เมไลท์มาสู่ประเทศไทย คือ “เรือนิภา” ของบริษัทอิสเซีสติก
และในเช้าวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2468 ภคินีทั้งหมดได้เดินทางมาถึงประเทศไทย  และได้ตั้งอารามแห่งแรกขึ้นที่ ถ.คอนแวนต์ กรุงเทพฯ แต่ในช่วงแรกที่กำลังก่อสร้างอารามอยู่นั้น
ภคินีทั้งหมดได้ไปพักอยู่กับเซอร์คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ด ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์เป็นการชั่วคราว ระหว่างนั้น ทุก ๆ เช้าพระคุณเจ้าแปร์รอสจะมาเยี่ยมเยียน คุณแม่อธิการิณี
และพูดคุยตระเตรียมสิ่งที่จำเป็น สำหรับการถวายมิสซาในวัดน้อยเป็นครั้งแรกตามวันที่ 30 กันยายน อีกทั้งพระคุณเจ้าได้เร่งให้ คนงานก่อสร้างวัดน้อยให้เสร็จทันวันที่กำหนดไว้ด้วย
ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2468 คณะภคินีคาร์เมไลท์สวมเสื้อคลุมขาวและสวมผ้าคลุมอยู่ในวัด
ใคร ๆ คงเชื่อว่า คล้ายกับการก่อตั้งอารามเป็นปฐมฤกษ์ในสมัยของนักบุญเทเราซา มารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่จริงแล้วพระพรเดียวกันจากสวรรค์ลงมายังอารามคาร์แมลนี้
แม้จะห่างกันทั้งในระยะทางและระยะเวลา ( 3 ศตวรรษระหว่างอาณาจักรสเปนและอาณาจักรไทย) แต่ก็เป็นนักบุญเทเรซาผู้ก่อตั้งคณะคนเดียวกันที่ทำงาน
และคุณแม่แอนน์ แห่งพระเยซู – มาเรีย พร้อมกับธิดาของท่านที่อุทิศตนให้แก่ท่าน
เดือน พฤศจิกายนมาถึงอย่างรวดเร็ว มีการจัดเตรียมประดับวัดน้อยของอารามคุณแม่อธิการิณี ได้ไปที่อารามทุก ๆ เย็นเพื่อดูแลให้คนงานทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่คณะคาร์แมลต้องใช้สอย
คือใส่ตารางลูกกรง ทำตู้หมุน….

สุดท้ายวันแห่งความชื่นชมยินดีก็มาถึง วันที่ 29 พฤศจิกายน เป็นวันที่ภคินีคาร์แมลเข้าในอารามของตน ประตูอารามเปิดกว้างให้เห็น สวนของอาราม คุณแม่อธิการิณีก็เข้าสู่ภายในอารามเป็นคนแรก ภคินีคนอื่น ๆ ก็ไปคุกเข่ารับพรและจูบแหวนพระสังฆราช และเดินตามคุณแม่ อธิการิณีเข้าไปในเขตหวงห้ามตามลำดับ เมื่อภคินีทุกคนเข้าไปในเขตหวงห้ามแล้ว
ประตูอารามชั้นในก็ปิดด้วยลูกกุญแจ 2 ชั้น ตามกฎอย่างเคร่งครัด บรรดาผู้ถูกขังซึ่งมีบุญจึงได้เข้าไปที่สวดทำวัตรในวัดน้อย
การเข้าครอบครองอารามใหม่ของคณะคาร์แมลก็สำเร็จสมบูรณ์ลงตามกฎหมายของพระศาสนจักรทุกประการ
ปัจจุบันอารามของคณะคาร์เมไลท์ ในประเทศไทย มี
1.อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ ถนนคอนแวนต์ เขตบางรัก
2.อารามคาร์แมล สามพราน ถนนเพชรเกษม นครปฐม
3.อารามคาร์แมล จันทบุรี
4.อารามคาร์แมล นครสวรรค์

รูปภาพ
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:04 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:28 am

( ตอนที่ ๔ )
@@..การดำเนินชีวิตตามจิตตารมณ์ของคณะ..@@


เมื่อ ทราบถึงความเป็นมาของอารามชีลับแห่งนี้แล้ว อาจมีหลายคนคิดและสงสัย ว่าทำไมพวกมาเซอร์คณะคาร์เมไลท์จึงสามารถอยู่ในบริเวณที่จำกัด อยู่ในกฎระเบียบที่เคร่งครัด
ตัดขาดจากโลกภายนอก โดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือเป็นทุกข์ใจ ก็เพราะว่า จิตตารมณ์ของคณะคาร์เมไลท์ คือ “การตัดใจสละโลกเพื่อรับความว่างเปล่า และยากจน ในขณะที่ยังให้ความนับถือต่อสิ่งต่าง ๆ ในโลก” และเครื่องมือที่ช่วยให้มาเซอร์คาเมไลท์สามารถปฏิบัติตามจิตารมณ์ของคณะได้ อย่างดี คือ ความเงียบ เพราะในความเงียบนี้เองที่ทำให้มาเซอร์คาเมไลท์พร้อมที่จะรับฟังพระวาจา
เพื่อให้มีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระมากขึ้น และจากความเงียบนี้ ได้นำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างสันโดษ เพื่อให้จิตใจไม่ยึดติดกับสิ่งสร้างใด ๆ อันเป็นทรัพย์สินและความสะดวกสบายฝ่ายร่างกาย
เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะถูกแทนที่ด้วยความรักของพระเป็นเจ้า
นอกจากความเงียบและ ความสันโดษแล้ว สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นชีวิตของมาเซอร์คาร์เมไลท์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ชีวิตแห่งการภาวนาและความสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้า
ซึ่งเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลาง เพราะทุก ๆ กิจการที่มาเซอร์ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น งานทำแผ่นศีล อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ประดับตกแต่ง วาดเขียน งานพิมพ์ เข้าเล่มหนังสือ ทำสวน ฯลฯ
เวลาส่วนมากจะถูกใช้ไปกับการสวดภาวนา ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของภารกิจที่ทำในแต่ละวัน เพราะทุกอย่างที่ทำนั้นต้องมีจุดมุ่งหมายคือการสวดภาวนาเสมอ
กรอบที่ช่วยให้การภาวนาและการดำเนินชีวิตที่พร้อมความสัตย์จริงและความสุภาพ คือ ความยากจนของคณะ ความยากจนทางวัตถุ
มาเซอร์คาร์เมไลท์  มีเพียงแค่เตียงไม้ที่ใช้พักผ่อน   และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเท่านั้น   
ด้วยจิตารมณ์นี้เอง ที่ทำให้มาเซอร์คาร์เมไลท์ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในเขตพรตได้อย่างไม่เป็นทุกข์ใจ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตในอาราม ในคณะของมาเซอร์คาร์เมไลท์คือ 
“ชีวิตแห่งการภาวนาและความสนิทสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้า โดยอาศัยความเชื่อ  ความไว้วางใจ  และความรัก ที่มาเซอร์ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังเสมอมา”

รูปภาพ
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:07 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:29 am

( ตอนที่ ๕ )
@@…จากโลกภายนอก สู่โลกภายใน..@@


บางคนที่ผ่านไปมาถนนคอนแวนต์ สังเกตฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ มีกำแพงสีเทาสูงทึบเป็นแนวยาวกั้น”โลกภายนอก”กับ”โลกภายใน” ไว้มิดชิด
แต่ว่าเมื่อใครได้มีโอกาสเข้าไปในเขตอารามที่รับรองให้ผู้มาเยือน เราก็จะพบกับภคินีภายนอกที่อยู่เวรรับรองแขกในอาภรณ์สีน้ำตาลห่มคลุมมิดชิด ออกมาทักทายถาม ไถ่อย่างอบอุ่นเสมอ

อารามคาร์แมล ( ขออนุญาตเรียกชื่อนี้ )ที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางคณะธรรมทูตคาร์เมไลท์ในประเทศไทย ได้เข้ามาตั้งแต่ 78 ปี ที่แล้ว ( เขียน ค.ศ.2003 ) ภายในอารามมีวัดน้อยสำหรับทำมิสซา
ของภคินีภายนอกและสัตบุรุษ ประตูแข็งแรงมั่นคง และแนวกำแพงเป็นกำแพงกั้นระหว่างอารามส่วนนอกและเขตพรตภายใน อันเป็นเขตจำกัดของ “ภคินีลับ” คณะคาร์เมไลท์
เป็นโลกของพวกเธอที่ซ่อนเร้น สละทุกสิ่งทางฝ่ายโลก เธอจะอยู่ภายในนั้นตลอดชีวิต พวกเธอได้ตายไปแล้วจากโลก เพื่อดำเนินชีวิตใหม่เป็น”นักโทษสมัครใจของพระเจ้า”

ด้วยความศรัทธาในพระกระแสเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้า จึงนำพวกเธอมาที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้สู่ชีวิตรำพึงภาวนาที่เคร่งครัดจนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะแบกรับไว้ได้ 
ใครมีโอกาสนั่งที่ห้องรับแขกซึ่งเป็นที่ใช้รับรองผู้มาเยือนจะสามารถมอง เห็นเห็นบริเวณสวนด้านนอกของอาราม ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่สะอาด ร่มรื่น สว่าง สงบ เรียบง่าย
ภายในห้องรับแขกมีรูปของพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน รูปพระคาร์ดินัล ไม เคิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขพระศาสนจักรไทย และรูปคุณพ่อ อธิการใหญ่ของคณะ คาร์เมไลท์

@@…คุณสมบัติของการเป็นภคินีของคณะคาร์เมล์ไลท์..@@
-สตรีเพศ นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
-อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
-มีความศรัทธาที่จะอุทิศตนเพื่อพระเยซูด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อหนีชีวิตทางโลก เพราะชีวิตในอารามไม่ได้สะดวกสบาย

แม้พระวินัยกำหนดให้ผู้สมัครเข้าอารามมีอายุอย่างต่ำ 18 ปี เพื่อไม่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับหมู่คณะ แต่ระยะหลังนี้มีผู้สนใจสมัคร อายุ ในวัย 30 เศษๆมากขี้น
ทั้งนี้คงเพราะการใช้ชีวิตอยู่ในโลกมาพอสมควร และเห็นความไม่เที่ยงแท้ของโลก จึงเข้าใจว่าพระเจ้าเป็นเครื่องมือที่ยึดเหนี่ยวที่มั่นคงกว่า

วุฒิการศึกษา: คณะคาร์เมไลท์ ไม่เน้นวุฒิการศึกษาเพราะถือว่าบุคคลมีความรักพระเจ้าไม่เหมือนกัน แต่ต้องดูที่ ความศรัทธาทางจิตใจมากกว่า
และเรื่องสุขภาพก็สำคัญ ผู้สมัครต้องสุขภาพดีพอสมควร ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อชีวิตรำพึงภาวนา และต้องศีลล้างบาป (บัพติสมา ) ศีลมหาสนิท  และศีลกำลัง

ตามพระวินัย หญิงม่ายสามารถสมัครบวชได้  ผู้จะบวชต้องมีใจแน่วแน่ ตามปกติทางอารามก็จะดูความตั้งใจ และให้บิดา มารดา ยินยอมด้วย เพราะหลายๆคนพ่อ แม่ไม่ยินยอม แต่ลูกสาวอยากบวช บางทีพ่อแม้อนุญาต แล้วแต่พอลูกสาวเข้าอารามจริงๆ ก็ตามมาที่อาราม ถ้ากรณีแบบนี้ทางอารามแนะนำให้บวชเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว ถึงอารามจะรับได้

ปกติผู้สนใจสมัครบวชจะมาติดต่อที่อาราม เพื่อพบกับแม่อธิการิณีก่อน เป็นระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้คุณแม่ทราบจิตตารมณ์ และการใช้ชีวิตในคณะ เพื่อว่าทางอารามเองจะได้รู้จักกับผู้สนใจ
จากนั้นเมื่อเข้าอารามแล้ว ภคินีที่ถวายตัวตลอดชีวิต ก็จะเข้ามาพูดคุยซักถาม ผู้เข้ามาใหม่ และลงคะแนนลับให้สมาชิกใหม่ของอารามได้ เมื่อผ่านการลงคะแนน ก็เข้าเป็นโปสตุลันต์หรือสมัครเณรี 1 ปี จึงได้รับเสื้อคณะเรียกโนวิส หรือนวกเณรี หลังจากได้รับเสื้อคณะครบ 1 ปี จึงปฏิญาณตนชั่วคราว ครั้งแรก 3 ปี หลังจากครบ 3 ปี แล้วปฏิญาณตนตลอดชีวิต ถือว่าเป็นนักบวชที่สมบูรณ์

รับน้องใหม่:

ต่อไปนี้บรรยากาศก้าวแรกในอาราม จากคำบอกเล่าของคุณแม่อธิการิณี ( คุณแม่อธิการิณีเทเรซีตาแห่งพระกุมารเยซู ) ว่า
“วันเข้าอารามครั้งแรก ผู้สมัครจะเข้าทางประตู ประตูนี้ไม่ค่อยได้เปิด เสียงมันจึงเอี๊ยดอ๊าด นานๆเปิดทีช่วยส่งบรรยากาศ ด้วย มาเซอร์ทุกคนที่ถวายตัวตลอดชีวิตแล้วจะไปรับที่ประตูใหญ่ข้างใน
โดยยืนเรียงสองแถว เป็นการให้เกียรติ และยินดีต้อนรับผู้มาใหม่ สมัยก่อนนี้ถือเคร่งครัดมาก ผ้าคลุมหน้าเราจะปิดลงมา ปิดหมดไม่ให้เห็นหน้าเลย พอประตูเปิด ผู้สมัครจะก้าวเข้ามา ประตูจะปิดทันทีคนที่ก้าวเข้ามาแล้ว ถือว่าเขาตัดขาดจากโลกภายนอกแล้ว ตัดขาดจากทุกสิ่งทุกอย่าง เขาจะไม่กลับออกไปอีกจากชีวิตที่อยู่ข้างนอก จากความวุ่นวายต่างๆ เขาจะมามีชีวิตอยู่กับพระ เคยถามเขา
เขาบอกว่าซึ้งใจ เมื่อปิดประตูแล้วก็จะสะเทือนใจ เขาก้าวแล้วจะไม่ถอยแล้วนะ พวกญาติพี่น้องอยู่ข้างนอกจะร้องไห้ บางคนปล่อยโฮออกมาเลย เขาสะเทือนใจ พวกเขากล่าวว่าทำไมตัดได้
เราตัดความสะดวกสบายเราละทิ้งหมด ชีวิตเราอุทิศเพื่อผู้อื่น “

เริ่มชีวิตในอาราม:

คุณ แม่อธิการเล่าว่าวันแรกที่ภคินีเข้าอาราม จะร้องไห้ สะเทือนใจ และงุนงง กับชีวิตใหม่ เพราะต้องเปลี่ยนสถานที่ และต้องปรับตัว ทางอารามจึงค่อยๆสอนค่อยๆเป็นค่อยไปไม่รีบร้อน
พอผ่านไปสักหนึ่งปี ก็จะคุ้นเคยกับชีวิตในอาราม

การแต่งกาย:

เดิม ผู้มาใหม่จะใส่ชุดเสื้อกระโปรงที่สุภาพเรียบร้อย ดังนั้นเสื้อขาวกระโปรงดำจึงพบเห็นทั่วไป จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นชุดสมัครเณรี ชุดนี้แต่ละอารามไม่เหมือนกัน
เช่นที่อารามกรุงเทพ จะเป็นสีเทาอมน้ำเงิน เหมือนกับอารามที่สามพราน แต่ที่จันทบุรีจะเป็นเสื้อสีขาวกระโปรงสีน้ำตาล เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้วจะมาพบญาติที่ห้องรับแขก
ปกติสมัครสามเณรีเมื่ออยู่ในอารามจะไม่คลุมผม เว้นแต่การมาพบแขกภายนอก
สมาชิกใหม่ของอารามจะมีนวกาจารย์ซึ่งเป็นมาเซอร์อาวุโส หรือผูที่แม่อธิการิณีพิจารณาว่ามีความเหมาะสมในการอบรมสั่งสอน

รูปภาพ
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:15 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:30 am

( ตอนที่ ๖ )

@@..ปฏิญาณตน..@@


รูปภาพ

หลังจากภคินีใหม่เข้าอารามครบปีจะมีพิธีรับเสื้อคณะ และปฏิญาณตนถวายตัว ภคินีจะถือเทียนใหญ่สีขาว เทียนนี้จะประดับดอกไม้สีขาว เทียนจะถูกจุดตลอดพิธี
เพราะว่าเทียนนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความสว่าง หมายถึงตัวภคินีต้องเป็นผู้ส่องสว่างให้แก่ชาวโลก

ในพิธีรับเสื้อคณะ หมายถึง ภคินีเป็นคู่หมั้นของพระเยซูเจ้าแล้ว ภคินีใส่ชุดขาว เหมือนชุดเจ้าสาว ใช้ผ้าเรียบง่ายเท่าที่จะหาได้ ชุดแขนยาว คอปิดเรียบร้อย มีมงกุฏเป็นดอกไม้สีขาว
ความหมายคือความบริสุทธิ์ตลอดนิรันดร ทุกครั้งที่รับเสื้อคณะ หรือเวลาถวายตัว ภคินีจะใส่มงกุฏ มงกุฏนี้มีความหมายเสมือนเจ้าสาว เพราะว่าพวกภคินีเชื่อว่าพวกเธอคือเจ้าสาวของพระเจ้า
คณะคาร์เมไลท์ไม่มีแหวน แต่เป็นการผูกมัดกันทางจิตใจ ในวันนี้จะมีการฉลองพิเศษ และวันวันรับเสื้อนี้ คุณแม่อธิการิณีจะเป็นผู้ตัดผมให้ ถ้ามีภคินีหลายรูป ก็จะให้นวกาจารย์อาจจะช่วยตัดให้
การตัดผมนี้มีความหมายถึงการตัดกิเลสทางโลกแล้ว เป็นการสละความสวยงามทางโลก  หลังจากพิธีแล้ว ภคินีจะเปลี่ยนเป็นชุดสีน้ำตาลซึ่งเป็นสีของคณะ


วันรับเสื้อของคณะ ถือเป็นวันหมั้น ส่วนวันปฏิญาณตนครั้งแรกเป็นวันแต่งงาน วันนี้ทุกคนในอารามจะชื่นชมยินดีและใครที่มาร่วมฉลองก็จะออกมาพบที่ห้องรับแขก
ถึงไม่ใช่ญาติก็พบได้เพราะถือว่าเป็นวันพิเศษ

พิธีถวายตัวปฏิญาณตนชั่วคราว และอีกสามปีต่อมาจึงเข้าสู่ถวายตัวปฏิญาณตนตลอดชีวิต ภคินีที่ปฏิญาณตนชั่วคราวถือว่าเป็นเจ้าสาวของพระเจ้า
และพิธีปฏิญาณตนตลอดชีวิตหมายถึงการตอกย้ำยืนยันในความรักมั่นคงของพระเจ้า อีกครั้งหนึ่ง

วันปฎิญาณตนทั้งชั่วคราวและตลอดชีวิต ภคินีต้องปฏิญาณศีลบน 3 ข้อ เป็นการรับ สัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้า เจ้าบ่าวแห่งสวรรค์ของเธอตลอดไป
ศีลบนข้อนี้ คือ 1.ความบริสุทธิ์ ( พรหมจรรย์ ) 2.ความยากจน และ 3.ความนบนอบ

>

เนื่องจากภคินีคาร์เมไลท์ถือหลักความยากจน  ความนบนอบ ชีวิตของภคินีจึงดำเนินไปด้วยความสมถะ เรียบง่าย ปราศจากสมบัติใดๆทางโลก
ภายในอารามทุกแห่งจะไม่มีกระจกสำหรับส่องรูปโฉมโนมพรรณ  ภายในห้องส่วนตัวของภคินีแต่ละรูป มีเพียง เก้าอี้ และตู้เล็กๆ สำหรับใส่หนังสือสวดและกล่องงานฝีมือ

ภคินีเหล่านี้สมถะมาก เช่น มีเสื้อผ้าคนละ 3 ชุด ช่วยกันซักเสื้อผ้าสัปดาห์ละครั้ง แต่ชุดข้างในสีขาวเครื่องแบบข้างในซักทุกวัน ชุดเครื่องแบบข้างในสีขาวของภคินีคาร์เมไลท์
( มีชุดสีน้ำตาลยาวสวมทับอีกชั้นหนึ่ง ) เรียก “ชีมิส” ส่วนผ้าคลุมผมชั้นในกับถุงคอสีขาว เรียกว่า “ต๊อก”

ภคินีไม่นอนฟูกจะนอนเตียงแบบโบราณ มีแผ่นกระดาน มีเสื่อปูทับ ไม่ใช้ฟูก หมอนเมื่อก่อนยัดด้วยฟาง แต่ปัจจุบันอนุโลมให้ยัดด้วยนุ่นได้

>

การ บำเพ็ญชีวิตอย่างเรียบง่าย ถือสันโดษ ภคินีจะประกอบอาหารรับประทานกันเอง หรือบางครั้งก็มีคนนำอาหารมาถวาย เช่นผู้มาขอให้สวดภาวนาให้ หรือเลี้ยงเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด
หรืองานฉลองเทศกาลต่างๆ

ในการปรุงอาหารจะปรุงอย่างเรียบง่าย ไม่เน้นรสชาติ เป็นการทรมานกายตามจิตตารมณ์ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์บก ยกเว้นป่วย ซึ่งต้องบำรุงร่างกาย
อย่างไรก็ตามอาหารที่ปรุงให้รสพิเศษที่เรียกว่าอร่อย คือในวันอาทิตย์และเทศกาลสำคัญ   การจ่ายตลาดจะมีคนนอกที่คุ้นเคยไปจ่ายให้ หรือร้านค้ามาส่งให้ที่อาราม
เรื่องที่อยู่อาศัย ภายในห้องส่วนตัวแต่ละห้องแคบๆเล็กเหมาะสำหรับอยู่คนเดียว เครื่องใช้ในห้องพัก มีเตียง ผ้าห่มนอน เสื่อ ผ้าคลุมเตียง ภคินีคณะคาร์เมไลท์ไม่นอนฟูก นอนบนเสื่อ เพื่อทรมานกาย
ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยอนุโลมได้ เพราะพระธรรมวินัยบอกว่าให้เอาใจใส่พยาบาลและดูแลเป็นพิเศษ ต่อจากนั้นก็มีตู้เล็กๆไว้ใส่พระคัมภีร์ หนังสือเสริมศรัทธา และกล่องงานฝีมือ  ไม่มีพัดลมใช้
หากเป็นฤดูร้อน ถือเป็นการทรมานกายและพลีกรรม ได้อย่างหนึ่ง

>

ในแต่ละวันก็จะมีชั่วโมงหย่อนใจ ภคินีก็จะทำงานเย็บปักถักร้อย ประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ทำเสื้อมิสซาของบาทหลวง ทำพวกเครื่องบูชาในศาสนพิธี ตามที่โบสถ์ต่างๆว่าจ้างให้ทำ
บางอารามก็จำหน่ายแก่คนภายนอกด้วย ซึ่งจะได้เป็นค่าใช้จ่ายในอาราม

ทั้งนี้ภคินีจะไม่ทำ พวกเครื่องหอม เสื้อเด็ก หรือการฝีมือที่ทำให้เกิด กิเลสในทางโลก อันจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านไม่สงบ

ในช่วงเย็นของการหย่อนใจ ภคินีมักจะเดินเล่น พูดคุย หรืออกกำลังกายร่วมกัน นอกจากนี้ในอารามยังมีเครื่องดนตรี เช่นอิเล็กโทน เม้าท์ออร์แกน กีต้าร์
สำหรับภคินีเล่นเพื่อเพลิดเพลินและผ่อนคลาย นานๆครั้งก็จะมีการหย่อนใจพิเศษด้วยการชมภาพยนต์ที่ดี ฟังดนตรีที่ดี และจะมีการแสดงสนุกสนานเพลิดเพลินกันภายใน
ถึงแม้ชีวิตจะเคร่งครัด เน้นชีวิตโดดเดี่ยว แต่ชีวิตของภคินีคาร์เมไลท์ ก็จะเน้นชีวิตส่วนรวม หรือหมู่คณะ เน้นพื้นฐานความรักฉันพี่-น้องในหมู่คณะ และมีความเบิกบานในการอยู่ร่วมกัน
มีความสุภาพ การรับใช้และช่วยเหลือกันและกันด้วยความจริงใจตามบัญญัติรักที่พระคริสตเจ้าทรงมอบไว้
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:18 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:31 am

( ตอนที่ ๗ )
@@..ใช้ชีวิตประจำวัน..@@

รูปภาพ

ภคินีคาร์เมไลท์เจริญชีวิตแต่ละวัน เช่นนักพรตทั่วไป คือ สวด ภาวนา ศึกษาพระคัมภีร์ และทรมานกาย ศูนย์รวมของชีวิตประจำวันอยู่ที่ พิธีบูชามิสซา ในการรื้อฟื้นรหัสธรรมปัสกาของพระองค์ทุกวัน
การรับใช้พระองค์ในศีลมหาสนิทจะทำให้ภคินีดำรงอยู่ในความรักและชิดสนิทกับ พระองค์มากที่สุด พระองค์จะเป็นพละกำลังให้พวกเธอดำเนินชีวิตตามพระองค์ด้วยใจมั่นคงเข้มแข็ง
และชีวิตของภคินีเหล่านี้จะประกาศความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า
พระวินัยกำหนดให้ภคินีใช้ชีวิตร่วมกันและอยู่ตามลำพัง ดังนี้

05.00 น. ตื่นนอน  05.30-06.30 น. รำพึงภาวนา
06.30-07.00 น. ร่วมพิธีบูชามิสซาโมทนาคุณศีลมหาสนิท
07.00-07.30 น. สวดทำวัตรเช้า และทำวัตรสาย
รับประทานอาหารเช้า ทำงานตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย
11.00 น. สวดทำวัตรเที่ยง และรับประทานอาหารกลางวัน
12.00 น. พักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน พร้อมกับทำงานเย็บปักถักร้อย
13.00 น. พักผ่อนในห้องพักส่วนตัว
13.45 น. สวดทำวัตรบ่าย
14.00-15.00 น. อ่านหนังสือศรัทธา ศึกษาพระคัมภีร์
ทำงานตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย
16.45 น. สวดทำวัตรเย็น
17.00-18.00 น. รำพึงภาวนา รับประทานอาหารเย็น
18.45 น. พักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน
19.45-21.00 น. สวดทำวัตรภาคดึก
22.30 น. เข้านอน

จะเห็นว่าพระวินัยกำหนดให้รำพึงภาวนาควบคู่ไปกับการพักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน
เพราะตระหนักว่าการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดของนักบวช จำต้องผ่อนคลายเพื่อจะสามารถปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าได้อย่างเต็มที่

@@..เขตพรต แดนหวงห้ามของคนนอก..@@


เพราะที่ไหนได้ชื่อว่าเป็นเขตหวงห้ามยิ่งทำให้ผู้ที่อยู่ข้างนอกมีความรู้อยากรู้อยากเห็นว่าภายในอารามของภคินีคาร์เมไลท์นั้นเป็นอย่างไร หรือมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ภายในกำแพงเนื่องจากเป็นเขตหวงห้าม
มาดูว่ามีใคร อยู่ในอารามบ้าง มีภคินี ภคินีคณะนี้แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ “ภคินีภายนอก และภคินีภายใน “ ทั้งนี้ตามความสมัครใจ และความเหมาะสม ภคินีภายในจะอยู่เฉพาะเขตพรต
ซึ่งคนภายนอกจะเข้าไปไม่ได้เป็นเขตหวงห้าม ภคินีภายนอกจะถือศีลเช่นเดียวกับภคินีภายใน แต่จะทำหน้าที่รับแขกเวลาคนมาติดต่ออาราม จัดวัด และทำหน้าที่ติดต่อกับคนภายนอก
ด้วยธุรกิจจำเป็น ภคินีภายนอกจะแบ่งกันอยู่คนละเขตกับภคินีภายใน อย่างไรก็ตามเขตภคินีภายนอก คนนอกก็จะเข้าไปไม่ได้
การติดต่อกันระหว่างภคินีภายนอก และภายใน คือการใช้ช่องหน้าต่าง นอกจากนั้นภคินีภายนอกและภคินีภายในจะมีการหย่อนใจร่วมกับเฉพาะในวันอาทิตย์ หรือวันฉลองเทศกาลเท่านั้น
ภคินีภายในจะไม่รับแขก ยกเว้นกรณีจำเป็น การพบญาติพี่น้องนั้นพบได้เดือนละครั้ง และต้องเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน เท่านั้น สำหรับเพื่อนฝูงต้องเป็นเพื่อนสนิทจริงๆ
การติดต่อกับคนภายนอก การส่งข่าวคราวถึงกันทำโดยผ่านทางตู้หมุน

ในเขตพรตภายในเป็นที่อยู่ ของภคินีภายในที่เป็นโนวิส หรือนวกเณรีกับภคินีที่ถวายตัวปฏิญาณตนแล้ว โนวิสและภคินีที่ถวายตัวตลอดชีวิตแล้วจะแยกกันอยู่คนละตึก
หรือคนละส่วนกันแต่รับประทานอาหารร่วมกัน และมีการหย่อนใจร่วมกันในวันอาทิตย์ และวันเทศกาลพิเศษต่างๆ
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:22 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:32 am

( ตอนที่ ๘ )
~@0@~..สละโลก แต่รับใช้โลก..~@0@~

รูปภาพ

แม้ชีวิตของภคินีลับจะได้ชื่อว่าผู้สละโลก แต่ไม่ได้ทอดทิ้งโลก เพราะว่าชีวิตของพวกเธอยังคงรับใช้โลก ร่วมสัมผัสกับความทุกข์ยากของโลก
แบกภาระในการรำพึงภาวนาเพื่อผู้ที่ทุกข์ร้อน ทุกหัวระแหง มิใช่รำพึงภาวนาเพื่อพระศาสนจักรตามที่บางคนเข้าใจ
ถึงแม้ว่าตามกฏของคณะ ภคินีจะไม่ฟังเพลงทางโลก ไม่ดูโทรทัศน์ หรือไม่อ่านหนังสือพิมพ์และหนังสือทางโลก แต่ภคินีจะอ่านหนังสือทางศาสนาเช่นอุดมสาร หนังสือลอสเซวาตอเรโรมา
จากกรุงโรม และหนังสือเสริมศรัทธาต่างๆ แต่สำหรับคุณแม่อธิการิณีอาจจะพิจารณาอ่านหนังสือพิมพ์ หรือข่าวสารได้บ้าง และข่าวต่างๆที่ภคินีสมควรรับรู้ ก็จะตัดข่าวนั้นให้พวกเธออ่าน
เพราะว่าคนที่มาขอคำภาวนา หรือขอคำปรึกษาก็จะมีการสวดให้ ปกติแล้วก็จะมี การภาวนาเพื่อผู้ปกครองบ้านเมืองให้เขาปกครองประเทศให้ดี การภาวนาเผื่อประเทศชาติ ก็จำเป็นมาก
จะเห็นว่าภคินีเหล่านี้ มีส่วนร่วมทุกข์และห่วงใยสังคม ไม่ใช่พวกเธอจะภาวนาเพื่อพระศาสนจักรเท่านั้น
สำหรับคนทั่วๆไปทีไปขอคำภาวนา พวกนักธุรกิจ ก็ขอภาวนาให้กิจการของเขารุ่งเรือง อย่างไรก็ตามพวกภคินีจะเน้นคำภาวนาเผื่อผู้ที่เดือดร้อนด้านจิตใจมากกว่า
สวดภาวนาให้พวกเขามีกำลังใจต่อสู้ชีวิต ภคินีเหล่านี้เป็นที่พึ่งทางใจแก่คนที่ทุกข์ยาก ปกติแล้วผู้ที่มาติดต่ออารามจะติดต่อผ่านตู้หมุนภคินีจะอยู่หลังตู้หมุน พูดคุยกันทางตู้หมุนไม่เห็นหน้ากัน
ภคินีที่ทำหน้าที่ทีตู้หมุนจะอาวุโส หรือความรอบคอบพอสมควร เพราะต้องติดต่อกับคนภายนอกที่มีปัญหาเข้ามาปรึกษา มีปัญหาหลายรูปแบบ เช่น
ปัญหาครอบครัว เรื่องสุขภาพ เรื่องลูก เรื่องงาน ฯลฯ บางคนร้องไห้ไปหา เพราะเขาไว้ใจ ดังนั้นทุกอย่างจะเป็นความลับ
ภคินีทั้งหลายสละโลก แต่ไม่ทิ้งโลก เพียงแต่ไม่ได้เอามาผูก พวกเธอสนใจ ห่วงใยความทุกข์ร้อนของผู้ที่อยู่ข้างนอกเสมอ

ตลอด 78 ปีอารามคาร์แมล: สถานที่แห่งการภาวนาและพลีกรรม  ถึงแม้มาเซอร์คาร์เมไลท์ จะดำเนินชีวิตอยู่ในเขตพรต ละทิ้งจากความวุ่นวายภายนอกแล้ว
แต่ชีวิตและคำภาวนาของท่านที่มีต่อพระเป็นเจ้านั้น หาได้พ้นจากความทุกข์ร้อนยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ภายนอกไม่ เพราะคาร์เมไลท์มีหน้าที่รับผิดชอบต่อโลก โดยทางคำภาวนา
แม้จะแยกตนออกมาจากความวุ่นวายและความสับสนของโลกแต่ยังคงเปิดใจต่อความ กังวล ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ใครที่สละโลกไม่ได้หมายความว่าเขาหนีโลก
แต่เขากลับไปเพื่อที่จะรับผิดชอบต่อหน้าพระเป็นเจ้า…….
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:27 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:34 am

( ตอนที่ ๙ )
~@0@~.. คณะชีลับกลาริสกาปูชิน ในประเทศไทย..~@0@~


ใน ประเทศแถบตะวันตก มีชีลับอยู่หลายคณะด้วยกัน สำหรับประเทศไทย มีเพียง 2 คณะ คือ คณะคาร์เมไลท์ และคณะ กลาริส กาปูชิน 
อารามการิสปูชิน เปิดอารามแรกที่บ้านโป่ง ราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2479 ปัจจุบันอารามชีลับกลาริส มีเพิ่มอีก 6 แห่ง รวมทั้งหมด 7 แห่ง คือ
อารามแห่งที่ 2 ที่ บ้านแสงอรุณ ทับสะแก ประจวบคีริขันธ์
อารามแห่งที่ 3 ที่อำเภอเมือง อุดรธานี 
อารามแห่งที่ 4 ที่สามพราน นครปฐม
อารามแห่งที่ 5 ที่ ท่าแร่ อำเภอเมือง สกลนคร 
อารามแห่งที่ 6 ที่อำเภอพนม สุราษฏร์ธานี
อารามแห่งที่ 7 ที่ อำเภอบ้านดุง อุดรธานี
>

คุณสมบัติของสตรีผู้สมัครใจจะบวชในคณะกลาริส กาปูชิน
1.อายุ อย่างต่ำ 15 ปี
2.การศึกษาอย่างต่ำ ชั้นประถม 4
3.สตรีโสด  นิกาย คริสต์โรมันคาทอลิก
4. กรณีอายุยังน้อย เมื่อเข้ามาใช้ชีวิตในอารามแล้ว ตามกฏของคณะต้องให้อายุครบ 18 ปี ก่อนถึงจะเข้านวกภาพ รับศีลบนได้
5. ถือจิตตารมณ์ 4 ข้อ คือ ความบริสุทธิ์ ความยากจน ความสุภาพนอบน้อม และ การเจริญชีวิตในเขตพรต 
เชือกที่ผูกเอวในชุดเครื่องแบบของภคินีจะมีอยู่ 4 ปม เป็นสัญลักษณ์จิตตารมณ์ทั้ง 4ข้อ

รูปภาพ
นักบุญ คลารา แห่งอัสซีซี ผู้ก่อตั้งคณะ กลาริส กาปูชิน


>

รูปภาพ
โดย ทั่วๆไป ก็เหมือนๆ กับภคินีอารามคาร์เมไลท์ คือใช้ชีวิตในเขตพรต ไม่เหยียบย่างออกไปข้างนอก ( ยกเว้นกรณีจำเป็นจริงๆ เช่นเจ็บป่วย ) ใช้ชีวิตอยู่กับการรำพึงภาวนา
ตัดขาดความยินดีจากโลก ในอารามภคินีลับนี้ก็ไม่มีกระจกสำหรับส่องรูปโฉมโนมพรรณ ทั้งนี้เพราะถือว่าภคินีทั้งหลายได้สละความสวยงามทางโลกแล้ว การใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยไม่ต้องปรุงแต่ง
ภคินีกาปูชินจะมีเฉพาะภคินีภายใน ไม่มีภคินีภายนอก ทางอารามจะมีฆราวาสทำหน้าที่ไปซื้อของ และทำกิจธุระข้างนอกให้

เอกลักษณ์พิเศษของคณะคือความยากจนและความรักกันฉันพี่น้อง ชีวิตจะเรียบง่าย เหมือนกับภคินีคาร์เมไลท์ มีสมบัติส่วนตัวตามความจำเป็นเท่านั้น ชีวิตของภคินีก็อยู่เพื่ออุทิศการรำพึงภาวนา
และพลีกรรม
ปกติแล้วถ้าเทศกาลสำคัญๆ เช่นงานฉลองนักบุญกลาราและนักบุญฟรังซีส นักบุญองค์อุปถัมภ์ของคณะ หรือวันฉลองนักบุญเปโตร นักบุญเปาโล หรือวันแม่พระยกขึ้นสวรรค์
ภคินีจะเฝ้าศีลมหาสนิท เป็นชั่วโมงๆ
มีสองเทศกาลที่ภคินีเตรียมจิตใจฉลอง สมโภช และเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อการชดใช้โทษบาป นับเป็นช่วงข้มข้นการพลีกรรม  การรำพึงภาวนาพิเศษคือเทศกาลมหาพรต ก่อนปัสกา 40 วัน
และเทศกาลเตรียมรับเสด็จช่วง 40 วันก่อนคริสตมาส ช่วงนี้ภคินีจะถือศีลเงียบ ไม่ติดต่อกับโลกภายนอก มัธยัสถ์เรื่องการกินมากขึ้น และมีกิจส่วนรวมมากขึ้นในการภาวนา เช่นเดินรูป 14 ภาค
เพื่อระลึกถึงพระมหาทรมาน ปกติทำเฉพาะวันศุกร์ในเทศกาลนี้จะทำมากขึ้น

>
ปกติ อารามภคินีลับทุกแห่งจะมีรายได้จากเงินบริจาค ( เงินถวาย –โปรเตสแตนต์ )ของผู้มีจิตศรัทธา หรือผู้ที่มาขอให้สวดภาวนา นอกจากนี้ยังมีรายได้ประจำจาก งานฝีมือ เช่น ทำเสื้อมิสซา
ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ของบาทหลวง เช่นรัดประคด คือเชือกคาดเอวเสื้อหล่อ ที่อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ ได้จากการทำแผ่นศีล ( แผ่นปัง )ส่งไปทั่วประเทศ และบางที่ก็มีผลิตผลจากการเกษตรกรรม เป็นต้น  เนื่องจากภคินีลับ ถือความยากจน  ใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ ปราศจากสมบัติใดๆในทางโลก ดังนั้นการใช้จ่ายจึงไม่มากนัก

>
ภคินี กาปูชินรับประทานเนื้อสัตว์บกได้ ตามที่พระวินัยกำหนด ทั้งนี้เพื่อถือความสะดวกแก่ผู้มาทำบุญถวายอาหาร ยกเว้นทุกวันจันทร์ พุธ และวันศุกร์ จะไม่รับประทานเนื้อสัตว์บก เพื่อการพลีกรรม ภคินีคณะนี้นอนบนฟูกบางๆได้ ทำจากนุ่นและหนุนหมอนที่ยัดด้วยแกลบ ภายในห้องนอนไม่มีพัดลม ในหน้าร้อนอาจมีพัดเล็กๆ ช่วยพัดให้ความเย็นเท่านั้น 
เวลานอนภคินีจะใส่เครื่องแบบสีน้ำตาลห่มคลุมมิดชิด เหมือนชุดปกติ ทั้งนี้เพราะต้องอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย เนื่องจากชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ภคินีเตรียมพร้อมเสมอที่จะเฝ้าพระเจ้า
หากหมดลมหายใจในกรณีภคินีเสีย ชีวิตพระวินัยไม่ได้กำหนดตายตัวบางอารามมีเนื้อที่มาก ก็ฝังร่างภคินีในสุสานของอารามเขตพรต บางอารามมีที่น้อย ก็ฝังที่สุสานภายนอก
หากพ่อแม่ป่วยหนัก หรือเสียชีวิต เป็นการตัดสินใจของภคินีรูปนั้นว่าจะไปเยี่ยม หรือร่วมพิธีศพ ทั้งนี้ส่วนมากภคินีจะไม่ไป ถือการพลีกรรมและการสวดภาวนาให้มากกว่า

~@.ขั้นตอนการบวช

1. เป็นอาสปิลันต์ คือเป็นเพียงผู้ที่รู้ตนเองว่ามีพระกระแสเรียกมาทดลอง อยู่ในอาราม ซึ่งไม่เกิน 6 เดือน หรือ 1 ปี
2.เป็นโปสตุลันต์ ขั้นนี้นาน 1 ปี ขั้นนี้เรียกว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะแล้ว
3. เป็นโนวิส เป็นระยะเวลา 2 ปี ถือว่าเข้าร่วมกับชีวิตนักบวช เมื่อผ่านขั้นโนวิสจะเป็นการปฏิญาณตนถวายตัวครั้งแรก เป็นการถวายตัวชั่วคราว 3 ปี จากนั้น ก็จะปฏิญาณตนถวายตัวตลอดชีวิต

ภคินี เข้าอารามใหม่ๆ จะมีนวกาจารย์ คอยเป็นพี่เลี้ยง ดูแลให้คำปรึกษาแนะนำ และในวันปฏิญาณตนตลอดชีวิต ในพิธีจะมีสังฆราชของสังฆมณฑล จะเป็นผู้มอบแหวนทองซึ่งภคินีจะสวมไว้ที่นิ้วนางซ้าย เป็นสัญลักษณ์การเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์ แหวนนี้จะใส่เป็นสัญลักษณ์วิวาห์ในสวรรค์เท่านั้น หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ภคินีจะคืนแหวนแก่คุณแม่อธิการิณี ทั้งนี้เนื่องจากชีวิตถือความยากจน ภคินีจะสวมแหวนวงเล็กๆ ไม่มีราคาค่างวดทางโลกเป็นแหวนรูปพระเยซูตรึงบนไม้กางเขนและมีรอยกลมๆเล็กๆ อยู่บนแหวน สำหรับสวดนับลูกประคำไว้แทน
พระวินัยกำหนดให้ภคินีใช้ชีวิตร่วมกันและอยู่ตามลำพัง ดังนี้

05.10 น. ตื่นนอน 
05.30 น.เข้าวัดสวดทำวัตรเช้ารำพึงและมิสซา
07.45 น. รับประทานอาหารเช้า
08.00 น.ทำงานตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย ภคินีแต่ละรูปจะได้รับมอบหมายงานเช่น ทำครัว ทำสวน ทำแผ่นศีล เป็นต้น ยกเว้น ภคินี ป่วย หรือชรา ถือเป็นกฏยกเว้นในการทำงาน
10.00 น. เข้าทำงานร่วมกัน
11.00 น. เข้าวัดสวดบทประจำโมงต่อด้วยสวดลูกสายประคำ
11.30 น. รับประทานอาหารเที่ยง หลังอาหารเที่ยงมีเวลาส่วนตัวเล็กน้อย
12.30 น.เป็นเวลาหย่อนใจร่วมกัน
13.00 น. เวลาส่วนตัวภคินีบางรูปอาจรำพึงภาวนาส่วนตัว หรือพักผ่อนตามอัธยาศัย
14.00น. เข้าวัดสวดบทประจำโมงและรำพึงจนถึงเวลา
14.30 น. เข้าห้องทำงานถือชีวิตร่วมและภาวนา
17.30 น. สวดทำวัตรเย็น และรำพึงจนถึง 18.50 น.
18.50 น. จบการรำพึง รับประทานอาหารเย็นเข้าวัดสวดทำวัตรค่ำ ( ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ จะมีการมัธยัสถ์ และการพลีกรรมในชีวิตส่วนรวมด้วยกัน เพื่อระลึกถึงพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า )
21.30 น. เข้านอน และเวลา 24.00 น.ภคินีจะลุกขึ้นสวดอีกครั้งแล้วนอนต่อ จนถึงเช้ามืด 05.10 น. จึงตื่นมาต้อนรับวันใหม่อีกครั้ง
รูปภาพ
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:32 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Zion
~@
โพสต์: 3777
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 8:37 pm
ติดต่อ:

อังคาร ต.ค. 14, 2008 7:39 am

( ตอนที่ ๑๐ )
~@0@~..บทสรุป..~@0@~


รูปภาพ
จาก เรื่องราวของชีวิต และตารางประจำวันของภคินีลับทั้งสองคณะเราจะเห็นว่าชีวิตของภคินีลับ ผู้สละโลกมีชีวิตมุ่งที่การรำพึงภาวนา และก็ถือชีวิตส่วนรวม ความรักและความเบิกบาน
ยินดีร่วมกันในหมู่คณะ ชีวิตเรียบๆอยู่กับการรำพึงภาวนา  การกินการดื่มนั้นเพื่อประทังชีวิต ไม่ใช่เห็นแก่รสชาติ ยิ่งกว่านั้นเน้นการพลีกรรม
หากสตรีเหล่านี้ไม่มีความมั่นคงพอ ไม่มีหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักจากองค์คือพระผู้เป็นเจ้าที่เต็มหัวใจ คงไม่สามารถใช้ชีวิตภายในที่จำกัดเขตพรตได้
จากการอ่านเรื่องที่ ดิฉันเรียบเรียง เชื่อว่าผู้อ่านคงได้คำตอบ ตามที่หลายๆคนสงสัยและมักจะมองในแง่ลบ หรือใส่ร้ายป้ายสีให้ดูน่าสยดสยองเรื่องของ”ชีมืด หรือชีลับ”
เช่นถ้าใครเข้าในอารามของชีมืดแล้ว ต้องปิดหน้า ปิดตามิชิด ถูกขังในห้องมืดๆ กินอาหารอดๆอยากๆ พบใครไม่ได้เลยตลอดชีวิต
หรือว่ากันว่า อารามชีลับนี้เป็นที่รองรับหรือพักพิงใจแก่สตรีที่พลาดพลั้งในชีวิต หรืออกหักจนต้องหนีโลก
…ความจริงแล้วบรรดาภคินีลับเหล่านี้ มาจากพื้นฐานชีวิตที่หลากหลาย การศึกษาทางฝ่ายโลก หลายระดับเช่น บางคน จบปริญญาตรี โท หรือ กระทั่งเอก
สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ กระแสเรียกจากองค์พระผู้เป็นเจ้า พวกเธอ ได้ดำเนินชีวิตในอารามชีลับด้วยความรัก ความศรัทธาพระเจ้า ตามพระกระแสเรียกด้วยจิตใจมั่นคง เด็ดเดี่ยว โดยการเสียสละ และ อุทิศตัวเองในการรำพึงภาวนา การพลีกรรม ชดใช้โทษบาป เพื่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ในที่คับแคบ และเขตหวงห้าม ในโลกแห่งการพันธการของเขตพรต
เราได้รับการยืนยัน ประจักษ์พยานในชีวิตของภคินีเหล่านี้ว่าพวกเธอได้รับความอิสระอย่างแท้จริง และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
จึงไม่แปลกที่จะเรียกพวกเธอว่าเจ้าสาวของพระเจ้า

“ ข้าแต่พระเจ้า ขอความรักมั่นคง ของพระองค์มาถึงข้าพระองค์  คือความรอดของพระองค์ ตามพระสัญญาของพระองค์
… ขอทรงระลึกถึงพระวจนะของพระองค์ที่มีต่อผู้รับใช้ของพระองค์  ซึ่งพระองค์ทรงกระทำให้ข้าพระองค์หวังอยู่นั้น 
นี่คือการเล้าโลมในความทุกข์ยากของข้าพระองค์  คือพระสัญญาของพระองค์ให้ชีวิตแก่ข้าพระองค์
…บรรดาพระโอวาทของพระองค์ ข้าพระองค์รับไว้เป็นมรดกเป็นนิตย์  พระเจ้าข้า เป็นความชื่นบานแก่ใจข้าพระองค์ 
ข้าพระองค์โน้มจิตใจข้าพระองค์ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์  เป็นนิตย์จนอวสาน “  ( สดุดี 119.41,49-50,111-112)

อ้างอิง:
1. จากหนังสืออนุสรณ์  75 คณะคาร์เมไลท์แห่งประเทศไทย
2.หนังสือ สารคดี ฉบับที่ 116 ปีที่ 10 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2537  หน้า 10, 99-133
___________________

อนึ่ง ต้นฉบับบทความนี้ มาจากคลังกระทู้เก่า ห้องสมุด เว็บพันทิป ครับ
http://topicstock.pantip.com/writer/top ... 53195.html
แก้ไขล่าสุดโดย Anonymous เมื่อ อังคาร ต.ค. 14, 2008 8:35 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
ignatius
.
.
โพสต์: 2597
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ก.พ. 07, 2008 12:48 pm

อังคาร ต.ค. 14, 2008 11:49 am

ขอบคุณมากคะ  ::001::
Viridian
โพสต์: 2762
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 30, 2008 11:40 pm

อังคาร ต.ค. 14, 2008 1:32 pm

ขอบคุณมากค่ะ : xemo026 :

ใครอยากฟังบทสัมภาษณ์พิเศษ คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ จิตตาธิการอารามคาร์แมล (กรุงเทพฯ) เชิญที่นี่ค่ะ
http://www.catholic.or.th/spiritual/art ... le081.html
bububoyz
โพสต์: 11
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ก.พ. 22, 2008 5:02 pm

อังคาร ต.ค. 14, 2008 2:37 pm

ขอบคุณครับกำลังสนใจอยู่พอดี  :cheesy:
Jeab Agape
~@
โพสต์: 8259
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:56 pm
ที่อยู่: Bangkok

เสาร์ ต.ค. 18, 2008 1:33 pm

ขอบคุณครับเจ๊ยศ น่าจะจัดเรียงพิมพ์ใหม่ให้น่าอ่านนะขอรับ : emo036 :
พระเจ้าสถิตย์กับเราเสมอ
~@
โพสต์: 2546
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 10:54 pm

อาทิตย์ ต.ค. 19, 2008 10:48 pm

ขอบคุณมากสำหรับบทความครับ

นับถือท่านเจ้าสาวของพระเจ้าจริงๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
เด็ก น้อย ผู้ หลง ทาง
โพสต์: 89
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ ม.ค. 10, 2009 2:20 pm

พุธ ม.ค. 21, 2009 9:03 pm

ขอบคุณครับผม  ::011::
ภาพประจำตัวสมาชิก
(⊙△⊙)คุณxuู๓้uxoม(⊙△⊙)
โพสต์: 892
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ต.ค. 10, 2008 12:38 am

พฤหัสฯ. ม.ค. 22, 2009 1:13 pm

ดูสงบ มีความสุขดีจังเลยนะคะ
siriya
โพสต์: 311
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ ต.ค. 26, 2008 9:04 am

อังคาร ม.ค. 27, 2009 3:46 pm

ขอบคุณมากค่ะสำหรับฐานของมูลที่ได้อ่าน  ทำให้รู้จักมากขึ้น  ดีจริง  แต่ทุกคณะแม่ชีก็เป็นเจ้าสาวของพระเจ้าหมดไม่ใช่หรือ
ตอบกลับโพส