นักบุญที่ฉลอง วันที่ 12 มกราคม

วันระลึกถึงนักบุญ 365-6วัน ประวัตินักบุญ และวันฉลองสำคัญของคริสตศาสนา
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
Veritas
โพสต์: 483
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ พ.ค. 01, 2010 1:24 pm

เสาร์ ม.ค. 08, 2011 1:32 pm

นักบุญที่ฉลอง วันที่ 12 มกราคม


Blessed Nicholas Bunkerd Kitbamrung
บุญราศี นิโคลัส บุญเกิด กิจบำรุง



รูปภาพ







คุณพ่อนิโคลัสเกิดวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1895 รับศีลล้างบาปวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1895 ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐุม ได้รับชื่อนักบุญศีลล้างบาปว่า “เบเนดิกโต” เป็นบุตรคนโตของยอแซฟ โปฉัง และอักแนส เที่ยง มีพี่น้อง 5 คน ผู้หญิง 2 คน ผู้ชาย 3 คน

เข้าบ้านเณรเล็กบางช้างในปี ค.ศ. 1908 เรียนที่บ้านเณรบางช้างเป็นเวลา 8 ปี เป็นครูสอนหนังสือตามวัดอีก 4 ปี ต่อจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่บ้านเณรใหญ่ปีนังอีก 6 ปี ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่วัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ โดยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก 4 องค์


เมื่อบวชแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวกจนถึงปี ค.ศ.1928 ปี ค.ศ.1929 ได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ที่วัดพิษณุโลก กับคุณพ่อมิราแบล ช่วยสอนภาษาจีนและภาษาไทยให้กับคุณพ่อมิราแบล เพราะที่นั่นมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คุณพ่อทั้งสองได้ช่วยกันรวบคริสตังชาวจีน เมื่อเห็นว่ามีจำนวนมากขึ้น จึงตัดสินใจสร้างวัดใหม่แทนวัดน้อยหลังเดิมซึ่งคุณพ่ออังเดร พลอย เคยสร้างไว้ก่อน



ปี ค.ศ. 1930 คุณพ่อมิราแบลขึ้นไปบุกเบิกที่เชียงใหม่ และให้คุณพ่อนิโคลัสไปอยู่ที่ลำปาง คุณพ่อนิโคลัสได้สร้างวัดน้อยหลังแรกที่ลำปางในปี ค.ศ. 1930 ได้ไปสอนคำสอนตามบ้าน และได้ส่งชินแสไปสอนศาสนาที่เมืองพานและเชียงรายด้วย ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีใจร้อนรน และยอมเสียสละตนเองเพื่อการประกาศพระวรสาร สามารถเทศน์หรือสอนคำสอนตลอดวันโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เอาใจใส่งานอภิบาลเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็ฯเรื่องการทำมิสซาหรือการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของบรรดาคริสตชน ปี ค.ศ. 1933 คุณพ่อมิราแบล และคุณพ่อนิโคลัสได้ตัดสินใจเดินทางไปพม่าเพื่อสำรวจพื้นที่และความเป็นไปได้ในการขยายมิสซัง



ปี ค.ศ. 1937 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโคราช ท่านเอาใจใส่งานอภิบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางด้านวิญญาณท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีพรสวรรค์ในการเทศน์ และเทศน์ได้น่าฟัง ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังบทเทศน์ของท่านต่างก็รู้สึกประทับใจ ท่านยังเอาใจใส่คริสตังที่อยู่ตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในที่ห่างไกล ไม่มีพระสงฆ์ไปดูแลประจำ หรือบางกลุ่มก็ยังไม่วัด ท่านเป็นห่วงวิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น อย่างเช่น ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีสัตบุรุษคริสตังบางครอบครัวอาศัยอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีวัดและไม่มีพระสงฆ์ไปประจำ ท่านได้ไปเยี่ยมสัตบุรุษเหล่านี้ เพื่อให้เขาเตรียมตัวรับศีลในโอกาสปัสกา



ปี ค.ศ. 1938 ท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโนนแก้ว นอกจากการเผยแพร่พระวรสารให้คนกลับใจแล้ว ท่านยังเอาใจใส่คริสตังทั้งทางด้านวิญญาณและด้านร่างกาย ท่านได้ช่วยเหลือคริสตังในเรื่องการทำมาหากินโดยเฉพาะคนยากจน โดยไม่เลือกว่าจะเป็นคริสตังหรือไม่ แม้แต่คนต่างศาสนาที่มาขอความช่วยเหลือท่านก็ช่วยด้วยความเมตตา



ปี ค.ศ.1939 ไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ทางราชการและคนไทยชาตินิยมมีความคิดว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งเศส ดังนั้นพวกเขาจึงกลัวว่าพวกคริสต์จะพากันเข้าข้างฝรั่งเศส ทางราชการได้เริ่มสั่งปิดโรงเรียนคาทอลิก และพยายามทำให้พวกคริสตังละทิ้งศาสนา นักเรียนต้องไปเรียนที่โรงเรียนพุทธ มีคำสั่งจากกรมตำรวจเรียกชาวฝรั่งเศสทุกคนที่อยู่ในจังหวัดภาคอีสานและตะวันออกของประเทศไทย ออกจากจังหวัดนั้น โดยด่วนภายในเวลา 48 ชั่วโมง และในจังหวัดดังกล่าว คนเชื้อชาติฝรั่งเศสจะอยู่หรือผ่านไปไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจ บรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสต้องเดินทางเข้ามาอยู่ในพระนคร เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดต่างๆ ต้องเปลี่ยนเป็นพระสงฆ์ไทยชั่วคราว พระสงฆ์ช่วยฝรั่งเศสบางองค์ถูกทำร้ายร่างกาย มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะเลือดไทย” จากจังหวัดต่างๆ คอยทำการต่อต้านศาสนา ออกใบปลิว, จดหมาย ให้คนไทยที่นับถือศาสนาคาทอลิกเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ห้ามทำกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ทั้งสิ้น


สมัยนั้นพระสงฆ์ไทยเข้าเงียบประจำปีเวลาค่ำของวันจันทร์หลังวันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในปีนั้นตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคา ค.ศ.1941 คุณพ่อนิโคลัสออกจากโนนแก้ว ถึงโคราชวันที่ 10 มกราคม เพื่อรับคุณพ่อเลโอนาร์ด สิงหนาท ผลสุวรรณ เข้ากรุงเทพฯ ด้วยกัน แต่คุณพ่อเลโอนาร์ดได้ฟังวิทยุรายการ “สนทนาของนายมั่น-นายคง) อันเป็นรายการที่หว่านความหวาดกลัวลงสู่จิตใจหมู่คริสตังทั่วประเทศ ท่านจึงตกใจกลัวหนีไปหาที่หลบภัยที่วัดหัวไผ่ คุณพ่ออัมบรอซิโอก็ไม่อยู่ ดังนั้น เย็นวันที่ 11 มกราคม คุณพ่อนิโคลัส จึงย่ำระฆังที่วัดบ้านหัน เรียกคริสตังมาสวดภาวนาค่ำ และแจ้งให้คริสตังมาฟังมิสซาในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์และเป็นวันฉลองพญาสามองค์ ในระหว่างที่กำลังสวดภาวนาอยู่ มีสมาชิกเลือดไทยคนหนึ่งขึ้นไปบนพุ่มไม้ใกล้หน้าต่าง คอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของพวกคริสตัง ขณะที่คุณพ่อนิโคลัสกำลังก่อสวดบทเร้าวิงวอนแม่พระและสัตบุรุษก็ตอบรับว่า “ช่วยวิงวอนเพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายนี้เถิด” ตามสูตรบทสวดลิทาเนีย สมาชิกเลือดไทยคนนั้นได้ไปรายงานแก่นายอำเภอสีคิ้วและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า คุณพ่อนิโคลัสก่อสวดออกชื่อใครต่อใครก็ไม่ทราบ แต่ให้พวกคริสตังรับเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอให้ฝรั่งเศสชนะไทยนี้เถิด”



วันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1941 คุณพ่อนิโคลัสจึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมพร้อมกับหัวหน้าครอบครัวคริสตังจำนวน 9 คน ในข้อหา “กบฎภายนอกราชอาณาจักร” คุณพ่อนิโคลัสถูกตัดสินจำคุก 15 ปี พระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายถึงหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจเพื่อชี้แจงว่าคุณนิโคลัสไม่มีความผิด ท่านถูกคนเกลียดชังใส่ความว่าเป็นแนวที่ห้าซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีความผิดเลย ขอให้พิจารณาความและปล่อยตัวตามข้อ 13 แห่งรัฐธรรมนูญ



คุณพ่อนิโคลัสได้เขียนจดหมายถึงพระสังฆราชแปร์รอสด้วยลายมือของท่านเองจากเรือนจำกลางบางขวาง บอกว่าสิ่งที่ทำให้ท่านมีความอดทนก็คือการสวดภาวนา สวดสายประคำ และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวด ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ท่านก็ขอน้อมรับโทษอันนี้ตามน้ำพระทัยของพระเพื่อชดเชยความบาป ท่านยังได้สวดขอพระทัยให้ยกโทษให้กับผู้ที่กล่าวหาและทำร้ายท่านอีกด้วย


ตลอดเวลาที่อยู่ในคุกท่านได้รับความลำบากมาก ห้องขังสกปรกคับแคบไม่มีอากาศถ่ายเท อยู่กันอย่างแออัด แต่ท่านก็ไม่เคยบ่นถึงความลำบาก ท่านมีความอดทนและคอยให้กำลังใจพวกที่ถูกจับด้วยกัน นอกจากนี้ ท่านยังได้สอนคำสอนให้กับนักโทษทั้งที่เป็นคริสตังและที่เป็นคนต่างศาสนา เมื่อมีคนมาเยี่ยมและนำอาหารมาให้ท่านก็แบ่งปันให้กับนักโทษคนอื่นๆ ด้วยความเมตตา การที่ท่านถูกขังอยู่ในห้องขังที่สกปรก อากาศไม่ดีท่านจึงป่วยและถูกนำตัวไปตรวจ ทางเรือนจำแจ้งให้ทราบว่าท่านป่วนเป็นวัณโรค และแยกไปขังไว้ในเรือนจำของคนโรคปอด อยู่รวมกับนักโทษที่ป่วยเป็นวัณโรค ท่านได้สอนคำสอน และช่วยดูแลนักโทษที่ป่วย ได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่นักโทษ โดยเฉพาะคนใกล้จะตายจำนวน 68 คน



ท่านถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1944 ที่เรือนจำกลางบางขวาง เนื่องจากป่วยเป็นวัณโรค ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรก ซึ่งเป็นวัดพุทธที่อยู่ใกล้กับเรือนจำ ประมาณ 2 เดือนต่อมา พระสังฆราชแปร์รอส ได้ให้ญาติพี่น้องของท่านไปขุดศพมาจากวัดบางแพรเพื่อนำมาฝังไว้ในอุโมงค์ใต้พระแท่นวัดอัสสัมชัญ ผู้ที่ไปขุดศพเล่าว่าศพของท่านถูกฝังอยู่ในดินซึ่งขุดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีลักษณะคุดคู้ ไม่มีโลงไม่มีอะไรห่อศพ เนื้อหนังและเส้นผมอยู่ แต่ไม่มีกลิ่น

คุณพ่อนิโคลัสได้รับการสถาปนาให้เป็นบุญราศีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม ค.ศ.2000 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม
littleseal
โพสต์: 1029
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ มิ.ย. 13, 2010 9:53 pm

เสาร์ ม.ค. 08, 2011 4:07 pm

ขอให้ท่านโปรดช่วยวิงวอนต่อพระเจ้าให้ประเทศนี้มีความสามัคคีกัน
อย่าได้เกิดการเบียดเบียนคริสตชนเช่นในอดีตที่ท่านเคยเผชิญด้วยเทอญ
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5972
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ม.ค. 12, 2011 10:02 am

ยืนหยัดต่อพระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ รางวัลก็คือสวรรค์
ขอบุญราศรีนิโคลาส บุญเกิด ช่วยวิงวอนเทอญ :s002: :s002: :s002:
ตอบกลับโพส