ผู้ดูแลบอร์ดขออณุญาติ แก้ไข จัดหน้า ให้อ่านง่าย เนื่องจากบทความมีประโยชน์ดีมาก แต่อ่านลำบากครับ
Defender of lawSขอเพิ่มอีกหน่อยจากที่เคยแปลไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ชื่อเรื่อง คุณแม่อังเชลีกากับสถานีโทรทัศน์คาทอลิกในอเมริกา
เขียนโดย แอลลา กรังชีส นำลงพิมพ์ในนิตยสารแม่พระยุคใหม่ฉบับ 149 กันยายน-ตุลาคม 2006 ชื่อ
"แม่ชีกับเคเบิลทีวีในอเมริกา"เรื่องข้างล่างนี้แปลจากต้นฉบับ ยาวหน่อยครับต้องใช้ความพยายาม มีสเก็ตคร่าวๆ ถึงสถานที่เฉพาะที่เกี่ยวข้องตอนท้ายประกอบ ขอพระเจ้าอวยพรท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
--------------------------------------------------------
“ดิฉันไม่ต้องการคุณ ดิฉันต้องการเพียงพระเป็นเจ้า! ถ้าคุณไม่พอใจ ดิฉันก็จะไปสร้างห้องสตูดิโอใหม่, ซื้อกล้องถ่ายภาพใหม่ และจดทะเบียนขอใบอนุญาตตั้งสถานีโทรทัศน์ออกรายการเองก็ได้...” นี่คือข้อความที่คุณแม่อังเชลีกา ตอบโต้ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เบอร์มิงแฮม รัฐอะลาบามาเมื่อ 25 ปีก่อน
ทั้งนี้เพราะผู้อำนวยการยืนยันที่จะฉายภาพยนต์ที่มีเนื้อหาปฏิเสธการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า. นอกจากคุณแม่อังเชลีกา จะคัดค้านทุกรายการที่ขัดแย้งต่อพระศาสนาแล้ว เธอยังยึดมั่นในพระเป็นเจ้า และสวดขอให้พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางอยู่เสมอ
หลังจากที่แตกหักกับทางสถานีโทรทัศน์เบอร์มิงแฮมได้ไม่นาน ในวันที่ 15 สิงหาคม 1981 เธอก็ใช้เงินของอารามที่มีเพียง 200 ดอลล่าร์ เริ่มต้นก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เครือข่ายเคเบิลคาทอลิก ETWN (the Eternal World Television Network : เครือข่ายโทรทัศน์ “พระวาจานิรันดร”) โดยให้คนงานโบกปูนกั้นโรงรถของอาราม ทำเป็นห้องสตูดิโอแรกของสถานีโทรทัศน์. กิจการเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันเป็นสถานีโทรทัศน์เครือข่ายเคเบิลคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา
การใช้ความงามนำผู้ชมสู่พระสัจธรรม ทุกค่ำวันอังคารและวันพุธ (2 ทุ่มตามเวลาในฝรั่งเศส) คุณแม่อังเชลีกาจะออกรายการโทรทัศน์ โดยนั่งอยู่บนเก้าอี้นวมในห้องส่งที่ตกแต่งไว้อย่างเหมาะสม. บนตักของเธอ มีพระคัมภีร์เปิดวางอยู่ และมีพระสงฆ์หรือฆราวาสคนหนึ่งร่วมสนทนาด้วย. คุณแม่อังเชลีกาจะเริ่มกล่าวถึงเรื่องที่น่าสนใจในปัจจุบัน เช่นเรื่องความยากลำบากที่ทุกคนกำลังประสบอยู่ หรือเรื่องการให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นต้น. เธอหัวเราะและหยอกล้ออย่างออกรสตลอดเวลา ขณะดำเนินรายการ ...เธอรู้วิธีทำให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลายในการติดตามรายการที่มี “แฟนรายการ” 20-30 คนร่วมอยู่ในห้องส่ง และเป็นรายการที่มีผู้ชมติดตามทางเคเบิลทีวีอีกประมาณ 66 ล้านคนจาก 43 ประเทศ
สิ่งที่คุณแม่อังเชลีกาชื่นชอบที่สุดในการจัดทำรายการที่นี่ เพราะทุกรายการเป็น
“ส่วนเสริมของพระศาสนจักร มิใช่เป็นส่วนทดแทนสิ่งที่พระศาสนจักรมีอยู่แล้ว”.
รายการของเธอ มีผลช่วยให้ผู้ที่ทิ้งวัดเป็นเวลานาน 20-30 ปี หรือแม้แต่ 70 ปีกลับคืนสู่ “พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นแสงสว่างของโลก พระองค์ทรงใช้รายการของเรา เอาชนะความมืดแห่งสติปัญญา, ความมัวเมาในบาป และความสิ้นหวัง” รายการของสถานีเครือข่ายนี้ มีตลอด 24 ชั่วโมง
เป็นรายการที่แสดงให้เห็นภาพพจน์ของพระศาสนาอย่างลึกซึ้ง, มีส่วนช่วยให้ผู้ชมเป็นทหารกล้าของพระคริสต์ และเป็นบุตรที่ดีของพระศาสนจักร. ทุกรายการเน้นถึงความสวยงามเพื่อนำผู้ติดตามไปสู่พระสัจธรรม และเพื่อให้พวกเขามีพื้นความเชื่อของพระศาสนาที่แข็งแกร่ง ตัวอย่างรายการต่างๆ ของสถานีได้แก่
การถ่ายทอดการถวายบูชามิสซาจากวัดของอาราม ที่มีผู้แสวงบุญและภคินีฟังมิสซาร่วมกัน, ประวัตินักบุญต่างๆ, เพลงสดุดี, บทเร้าวิงวอน, สถาปัตยกรรมทางศาสนา, ศาสนศิลป์, การสวดสายประคำแบบธรรมดา, การสวดสายประคำพระเมตตาตามแบบของซิสเตอร์โฟสตินา, พระสมณสาสน์, การประจักษ์ต่างๆ ของแม่พระ, เอกสารพระสังคายนาสากลครั้งที่ 2, การเคารพต่อชีวิต : เวลาที่ใช้ในการสวดภาวนา และเรื่องที่น่าสนใจสลับกับสารคดี เช่นการเสด็จไปยังประเทศต่างๆ ของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นปอลที่ 2, สถานที่จาริกแสวงบุญ, รายการเจาะใจสำหรับคนหนุ่มสาว และรายการสำหรับคริสตังใหม่ เป็นต้น
ประวัติย่อของคุณแม่อังเชลีกาคุณแม่อังเชลีกา เดิมชื่อริต้า อันตัวแน็ต ริซโซ่ (Rita Antoinette Rizzo) เกิดที่เมืองแคนตัน (Canton) รัฐโอไฮโอ ค.ศ.1923. เธอเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวที่ยากจนมาก และมีชีวิตในวัยเด็กที่ยากลำบาก โดยเฉพาะหลังจากที่จอห์น ริซโซ่(John Rizzo) บิดาทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เธอยังเล็กอยู่ และดังนั้นนางมาเอะ (Mae) มารดาจึงต้องฟันฝ่าความยากจนและต่อสู้ชีวิตกับลูกสาวตามลำพัง ด้วยการทำธุรกิจซักแห้งเสื้อผ้า. ทั้งสองอาศัยอยู่ในห้องที่หนาวเหน็บ, มีหนูวิ่งพล่านตอนกลางคืนและหาเงินได้แทบไม่พอประทังชีวิต. ที่โรงเรียน ทุกคนตราหน้าเธอว่า พ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกัน ซิสเตอร์ที่สอนเธอก็ล้วนแต่ “ร้ายกาจ” กับเธอ . เมื่อหวนระลึกถึงความหลัง เธอกล่าวว่า “ดิฉันไม่มีความสุขเลย เพราะไม่มีใครคบด้วย และดิฉันคงพูดไม่ได้ว่า ดิฉันมีชีวิตในวัยเด็กอย่างที่เด็กควรจะได้รับ”.
สองแม่ลูกต้องช่วยกันทำธุรกิจอย่างหนัก ซึ่งมีผลเสียต่อการเรียนของเธอ. สองแม่ลูกขาดวัดวันอาทิตย์อยู่บ่อยๆ
แต่พวกเธอก็ยังคงยึดมั่นในความเชื่อคาทอลิกและพระญาณสอดส่อง. เธอชอบบทเพลงสดุดี โดยเฉพาะบทเพลงที่มีเนื้อหาวิงวอนร้องขอความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพวันหนึ่งขณะที่เธอกำลังนำเสื้อผ้าไปส่งให้ลูกค้า เธอรอดชีวิตจากการถูกรถบรรทุกชนอย่างหวุดหวิด เธอกล่าวว่า
คล้ายกับมีมือที่แข็งแรงมาคว้าตัวเธอไปยังที่ปลอดภัย. เธอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้มารดาฟัง และทั้งสองก็ถือว่าเหตุการณ์นี้คือลางบอกเหตุที่สำคัญ.
2 ปีต่อมา ขณะที่เธออายุได้ 16 ปี ก็เกิดป่วยเป็นลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง และต้องทนทุกข์ทรมานนานติดต่อกันถึง 3 ปี. แพทย์ไม่ทราบสาเหตุและไม่สามารถรักษาเธอได้. ไม่นานต่อมา คุณแม่ของเธอได้ยินคนเล่าว่า มีหญิงอายุ 50-60 ปี เพิ่งหายจากโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย หญิงผู้นี้มีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ในลักษณะเดียวกับนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี. เธอจึงแนะนำบุตรีให้ไปทำนพวารที่วัดนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู.
เนื่องจากเธอไม่มีอะไรที่จะเลวร้ายไปกว่าสภาพที่เธอกำลังเป็นอยู่ เธอจึงทำตามที่มารดาแนะนำ... และหลังจากที่ได้ทำนพวารจนครบเก้าครั้งแล้ว ในค่ำวันนั้น อาการของเธอก็ยังคงไม่ทุเลาลง เธอจึงเข้านอนอย่างหมดหวัง
แต่เมื่อถึงเช้าวันรุ่งขึ้น เธอกลับรู้สึกหายเป็นปลิดทิ้ง.การหายจากโรคอย่างอัศจรรย์นี้ ทำให้เธอตั้งใจอุทิศถวายชีวิตแด่พระผู้สร้างอย่างจริงจัง
“เป็นครั้งแรกที่ดิฉันเริ่มทำกิจการต่างๆ อย่างกระฉับกระเฉงเพื่อถวายแด่พระเป็นเจ้า. ดิฉันเริ่มสวดภาวนาในลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง”เธอไปฟังมิสซาทุกวัน และสวดรำพึงตามภาคต่างๆ ของการเดินรูป. ในการไปค้างแรมที่วัดนักบุญอันตน เธอได้คุกเข่าสวดต่อหน้าพระรูปแม่พระมหาทุกข์ และก็เกิดสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดคือ
“ทันทีที่ดิฉันคุกเข่า ดิฉันก็ทราบในขณะนั้นเลยว่า ดิฉันจะต้องอุทิศชีวิตเป็นภคินีเพื่อพระเป็นเจ้าที่ดิฉันรัก”. จากนั้น เธอก็ได้ปรึกษากับพระคุณเจ้า และต่อมาในวันที่ 15 ส.ค.1944 เธอก็ได้ถวายตัวและได้รับนามใหม่คือ ภคินีแมรี่ อังเชลีกา แห่งการถือสาสน์ของเทวทูต ในคณะภคินีฟรังซิสกันแห่งศีลมหาสนิท (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คณะภคินีนักบุญคลารา) ซึ่งเป็นคณะที่ตั้งขึ้นในปี 1854 ที่กรุงปารีส และเป็นคณะที่เน้นเรื่องการสรรเสริญพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท.
เหตุที่คุณแม่อังเชลีกาย้ายไปปักหลักที่รัฐอะลาบามา ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ ทั้งนี้เพราะหลังจากที่เธอบวชเป็นภคินีได้ 2 ปี วันหนึ่งในปี 1946 ขณะที่เธอกำลังขัดพื้นพระอารามด้วยเครื่องขัดพื้นไฟฟ้าที่หนักอึ้งอยู่นั้น เครื่องขัดพื้นเกิดพลัดหลุดมือและหมุนไปตรึงเธอติดกับผนังห้องของอาราม... ก่อนที่แพทย์จะผ่าตัดบริเวณกระดูกไขสันหลัง แพทย์ได้กล่าวกับเธอว่า
“โอกาสจะกลับมาเดินได้ใหม่มีเพียงครึ่งเดียว” แต่เธอก็วางใจในพระญาณสอดส่อง และภาวนาว่า
"ข้าแต่พระเป็นเจ้า พระองค์คงมิได้ทรงนำพาดิฉันมาไกลถึงเพียงนี้ เพียงเพื่อให้ดิฉันนอนอยู่กับเตียงไปจนตลอดชีวิตนะคะ. ข้าแต่พระเยซูเจ้า หากพระองค์โปรดให้ดิฉันเดินได้อีก ดิฉันจะสร้างอารามเพื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ และดิฉันจะสร้างขึ้นทางใต้." เธอเองก็ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเลือก “ทางใต้” แต่เธอจะไม่เสียเวลาคิดหาเหตุผลในสิ่งที่พระเป็นเจ้าทรงดลใจเธอได้รับการรักษาพยาบาลประมาณ 4 เดือน ก็สามารถเดินกลับเข้าสู่อารามนักบุญคลาร่าที่เมืองแคนตัน รัฐโอไฮโอ ได้อีกครั้งหนึ่ง แม้จะมีแท่งโลหะฝังอยู่ที่หลังและใช้ไม้ยันรักแร้ช่วยในการเดิน. เธอยังคงรู้สึกเจ็บอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เดินได้
ดังนั้นเธอจึงพูดติดตลกว่า “ต่อไปเวลาจะสวดขอพระ ต้องบอกรายละเอียดด้วย ครั้งนี้ดิฉันขอแต่เพียงให้เดินได้ พระองค์ก็ประทานให้ แต่ดิฉันปากหนักไปหน่อย มิได้ขอให้เดินได้อย่างสะดวกสบายเช่นคนปกติ” การสร้างอารามที่รัฐอะลาบามา เมื่อกลับมาเดินได้อีกครั้งหนึ่ง เธอก็ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพระ แต่เธอไม่มีเงินเลย !. เมื่อได้รับอนุญาตจากคุณแม่อธิการิณี ให้ดำเนินการสร้างอารามใหม่ได้ เธอและเพื่อนภคินีในอารามก็ได้จัดโครงการ
“เหยื่อตกปลาของนักบุญเปโตร” ซึ่งเป็นธุรกิจการสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ เพื่อหารายได้สำหรับสร้างอารามทางใต้. เธอเขียนจดหมายถึงพระสังฆราชทางใต้หลายองค์ เพื่อสอบถามว่า มีพระสังฆราชทางใต้องค์ใดสนใจให้เธอไปสร้างอารามในเขตสังฆมณฑลของพระคุณเจ้าบ้าง. พระสังฆราชโทมัส ทูเล็น (Thomas Toolen) แห่งสังฆมณฑลอะลาบามาตอบรับเป็นองค์แรก และในเดือนก.ค.1961 เธอพร้อมกับเพื่อนภคินี 4 คนจึงได้เดินทางไปยังย่านไอออนเดล (Irondale) ชานเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐอะลาบามา ซึ่งเป็นรัฐที่มีคาทอลิกเพียง 2.5%. เธอได้สร้างอารามนักบุญ คลาราขึ้นใหม่ที่นี่ และเมื่อมีการเปิดอารามใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อ 20 พ.ค.1962 เธอก็ได้รับตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการิณีของอาราม
เมื่อครั้งที่เธอขออนุญาตมารดาไปเข้าอารามที่เมืองเคลฟแลนด์ (Cleveland) รัฐโอไฮโอนั้น มารดาของเธอแทบจะเป็นลม เพราะเธอเป็นทั้งลูกและเพื่อนเพียงคนเดียวของนาง. อย่างไรก็ตาม ต่อมานางก็ปรับตัวได้ และที่สุดในปี 1961 นางก็ได้สมัครเป็น นวกเณรีคนแรกของอารามใหม่ที่ยังมิได้เปิดเป็นทางการ และเมื่อถวายตัว ก็ได้รับชื่อใหม่ว่า ภคินีแมรี่ เดวิด. 2-3 เดือนต่อมา คุณแม่ อธิการิณี แมรี่ เวโรนิกา ที่อารามนักบุญคลาราเดิมก็ได้ย้ายมาประจำอยู่ที่อารามใหม่นี้เช่นกัน. กิจการของอารามเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี และก็เป็นที่บริเวณ
“โรงจอดรถของอาราม”นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสถานี EWTN ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นของเรื่อง ยิ่งกว่านั้น ในปี 1981 มีการนำภคินีแมรี่ เดวิด ออกรายการที่สถานี EWTN ด้วย (ระหว่างดำเนินรายการ คุณแม่อังเชลีกา หัวเราะล้อเล่น เมื่อมารดาเรียกเธอด้วยความเคารพว่า “คุณแม่”ในฐานะที่เธอเป็นคุณแม่อธิการิณี). ภคินีแมรี่ เดวิด มรณภาพในปี 1982, อายุ 83 ปี และฝังไว้ที่สุสานใต้ดินที่เมืองแฮนซ์วิล (Hanceville : อยู่ทางเหนือของอารามที่ย่านไอออนเดลประมาณ 50 ไมล์) เช่นเดียวกับภคินีทุกคนของอารามที่นั่น
รายการโทรทัศน์คาทอลิกงานด้านสื่อมวลชนของคุณแม่อังเชลีกา ถือกำเนิดในทศวรรษ 1970 เริ่มจากการที่เธอได้รับเชิญไปบรรยายในหัวเรื่อง ที่เกี่ยวกับศาสนาคาทอลิกอยู่บ่อยๆ และมีผู้ฟังจำนวนมากขอสำเนาเรื่องที่เธอได้บรรยายไปแล้ว. เพื่อนภคินีจึงช่วยกันเรียบเรียง, จัดพิมพ์แต่ละเรื่องเป็นหนังสือเล็กๆ และส่งให้ทางไปรษณีย์. ในปัจจุบัน ก็ยังมีการแจกฟรีหนังสือเหล่านี้ รวมทั้งสายประคำด้วย แก่ผู้ติดตามรายการสถานี EWTN ที่ขอมา. รายการทางโทรทัศน์ของเธอ ก็เริ่มขึ้นในปลายทศวรรษเดียวกัน โดยเริ่มจากการทำรายการเป็นตอนๆ ในลักษณะของเทปวีดีโอ และแพร่ภาพที่สถานีโทรทัศน์เบอร์มิงแฮม และเมื่อเกิดมีปัญหากับทางสถานี เธอจึงต้องแพร่ภาพต่อที่สถานีที่ดัดแปลงจากโรงจอดรถของอาราม
ในตอนแรก สถานีเครือข่าย EWTN ของเธอแพร่ภาพเพียงวันละ 2-3 ชั่วโมง และมีผู้รับสัญญาณได้ประมาณ 60,000 ครัวเรือน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี เครือข่ายของเธอก็ได้ขยายกว้างออกไปมากกว่า 1000 เท่า ! นอกจากนั้น ในปี 1993 เธอยังเป็นเจ้าของสถานีวิทยุคลื่นสั้น WEWN (กำลังส่ง 500 กิโลวัตต์) ซึ่งเป็นสถานีวิทยุส่วนบุคคลที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้ย่านไอออนเดล ชานเมืองเบอร์มิงแฮม. เธอได้รับเงินในการสร้างสถานีนี้จากนายพีธ เดิร์คเซ็น (Piet Derksen) อดีตเจ้าของอุตสาหกรรมมูลค่านับพันล้านดอลล่าร์ชาวดัช ที่ไม่เคยรู้จักคุณแม่อังเชลิกามาก่อนเลย จนกระทั่งได้พบกันโดยบังเอิญในห้องโถงของโรงแรมแห่งหนึ่งที่กรุงโรม
ปี 1996 สถานี EWTN แพร่ภาพไปได้ทั่วโลกโดยใช้สัญญาณส่งผ่านดาวเทียม. ผู้ชมที่เป็นเป้าหมายสำคัญส่วนหนึ่งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ที่ใช้ภาษาสเปน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 14 ล้านคน. ทั้งเครือข่ายโทรทัศน์ EWTN และเครือข่ายวิทยุคลื่นสั้น WEWNสามารถรับได้ในทวีปยุโรป, เขตมหาสมุทรแปซิฟิก และส่วนหนึ่งของทวีปแอฟริกา
ที่จริง ก่อนหน้าการตั้งสถานี EWTN ในปี 1981 ก็มีกลุ่มศาสนาทั้งที่เป็นคาทอลิกและมิใช่คาทอลิก ทำการแพร่ภาพในเครือข่ายในระบบเคเบิลทีวีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเหลือเพียงสถานีเครือข่าย EWTN เท่านั้น ที่ยังคงดำเนินการอยู่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. นายมีคาแอล วอร์ซอ (Michael Warsaw) ประธานเครือข่าย ให้เหตุผลว่า
“เป็นเพราะ EWTN ดำเนินการตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า.” คุณแม่อังเชลีกากล่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีว่า
“เรามิได้สำรวจผลการดำเนินงาน แต่เราสำรวจดูว่า เราได้ดำเนินการที่ผ่านมาอย่างไร. เราไม่เคยมีแผนงาน และไม่เคยสำรวจว่างานจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งดิฉันทราบดีว่า มิใช่เป็นวิธีการทำธุรกิจที่ดี เพราะในโลกธุรกิจนั้น ถ้าคุณคิดจะขายเน็คไท ก็เพราะมีคนอยากซื้อเน็คไท. แต่คุณจะใช้วิธีการนี้กับงานของพระไม่ได้ เพราะคุณไม่ทราบว่าพระองค์มีพระประสงค์จะขายอะไร และก็ไม่มีการประกันในเรื่องความสำเร็จด้วย สิ่งเดียวที่รับประกัน คือการดำเนินงานให้เป็นที่พอพระทัยของพระเป็นเจ้า” ทุกคนที่ร่วมทำงานกับเครือข่าย EWTN กล่าวตรงกันว่า เป็นเครือข่ายที่ดำเนินการได้อย่างอัศจรรย์.
พวกเขาเล่าว่า ญาติๆ ของพวกเขา หันกลับมาปฏิบัติศาสนกิจอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้ชมรายการสดของคุณแม่อังเชลีกา...หลายคนที่ชมรายการ เขียนจดหมายขอบคุณรายการ เพราะขณะที่กำลังคิดจะกระทำอัตวิบาตรกรรม ก็เป็นจังหวะที่ดูรายการของคุณแม่อังเชลีกาอยู่พอดี และรายการของเธอก็ได้เปลี่ยนมุมมองของชีวิตของพวกเขาใหม่
หลังจากประสบอุบัติเหตุในปี 1946 เธอต้องใช้ไม้ยันรักแร้ช่วยการเดินตลอดมา
52 ปีต่อมา ก็เกิดอัศจรรย์กับเธออีกครั้งหนึ่งในเดือน ม.ค.1998 วันนั้น หลังจากที่เธอสวดสายประคำในห้องทำงานพร้อมกับสตรีชาวอิตาลีคนหนึ่งแล้ว เธอก็รู้สึกว่าความเจ็บปวดที่เคยเป็นอยู่ตั้งแต่อุบัติเหตุได้อันตรธานหายไป เธอทิ้งไม้ยันรักแร้ และลุกขึ้นเดินด้วยตัวเองเพื่อไปออกรายการโทรทัศน์ตามปกติ. พนักงาน EWTN ทุกคนทันทีที่ทราบข่าว ต่างก็พากันลิงโลดแสดงความดีใจกับอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดนั้น. ในโอกาสฉลองวันแม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ปี 2001 มีผู้แสวงบุญและพระสังฆราชจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลก พากันมาชุมนุมที่สถานีแม่ของเครือข่าย EWTN ที่ย่านไอออนเดล ชานเมืองเบอร์มิงแฮม เพื่อฉลองวันครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสถานี. วันนั้นคุณแม่อังเชลีกา ออกรายการสด และใช้เวลานานเป็นพิเศษถึง 2 ชั่วโมง จากที่กำหนดไว้เพียง 1 ชั่วโมง.
เรื่องจริงเกี่ยวกับอาราม “แม่พระแห่งทูตสวรรค์” ภคินีคณะนักบุญคลารา หรือคณะภคินีฟรังซิสกันแห่งศีลมหาสนิท อาศัยอยู่รวมกันในลักษณะของอารามชีลับ. ทุกคนปฏิญาณความยากจน, ความบริสุทธิ์ และความนบนอบ. ทุกวันภคินีที่นี่จะใช้เวลา 5 ชั่วโมงเฝ้าศีลมหาสนิท. ต่อจากนั้น ก็จะทำงานตามการดลใจที่ได้รับจากการเฝ้าศีล ซึ่งสิ่งที่เธอได้รับจากการดลใจ มีเพียงสิ่งเดียว คือทำให้ผู้คนจำนวนมากที่สุดเข้ามาสัมผัสกับความรักของพระเป็นเจ้า. เนื่องจากสถานีแม่ของเครือข่าย EWTN ตั้งอยู่ในอารามใหม่ที่ไอออนเดล ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้คนเข้าออกเพื่อจัดรายการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และอารามก็ค่อนข้างคับแคบ ภคินีในอารามจึงขาดบรรยากาศที่สงบเพื่อสวดภาวนา และก่อนที่คุณแม่อังเชลิกาจะคิดวางแผนแก้ไขปรับปรุงใดๆ พระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าก็ทำงานกับเธออีกครั้งหนึ่ง.
ปกติภคินีของคณะนี้มีกฎข้อหนึ่ง คือไม่อนุญาตให้สมาชิกเดินทางได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปา. ในปี 1995 คุณแม่อังเชลีกา ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังเมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย.
ที่โบโกต้า ขณะที่เธอกำลังจะเริ่มสวดภาวนา สายตาของเธอก็แลเห็นพระกุมารเยซูอายุประมาณ 9-10 ขวบ เดินเข้ามาหาและตรัสกับเธอว่า “จงสร้างวิหารถวายเรา และเราจะอวยพรทุกคนที่มีส่วนช่วยเธอสร้าง”. ตอนแรกเธอไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “วิหาร”ที่ใช้กับวัดคาทอลิก แต่ต่อมาก็เข้าใจว่า อัครมหาวิหารนักบุญเปโตร ก็จัดเป็นวัดคาทอลิกและเป็นสถานที่สรรเสริญบูชาพระเป็นเจ้าเช่นกัน เมื่อเธอกลับจากการเดินทางแล้ว เธอก็เริ่มหาที่ดินก่อสร้าง “วิหาร”อีกครั้งหนึ่ง และที่สุดก็พบสถานที่เหมาะสม ซึ่งเป็นที่ดิน 18 แปลงติดกัน มีเนื้อที่กว้างเกือบ 2000 ไร่ (มากกว่า 3 ตร.กม.) ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ 3 สาย. ที่ดินผืนนี้อยู่ในเขตเมืองแฮนซ์วิล (Hanceville). เธอได้เจรจากับเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นสตรีวัย 90 ปีและลูกๆ ของเธอซึ่งไม่มีใครเป็นคริสตังเลย เธอให้เหตุผลในการขอซื้อว่า
“ดิฉันอยากจะสร้างสิ่งที่สวยงามสำหรับพระเป็นเจ้า” และก็ได้รับคำตอบว่า
“นั่นเป็นเหตุผลที่ดีพอสำหรับฉันแล้ว” ปัญหาต่อไปก็คือการรณรงค์หาเงินซื้อที่ดินและค่าก่อสร้างอารามรวมทั้งสักการะสถาน
ซึ่งก็เป็นเรื่องอัศจรรย์อีก ที่มีสามีภรรยาคาทอลิกไม่ประสงค์จะออกนาม 4 คู่ ยินดีรับเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด.. ...ต่อจากนั้น เธอก็เดินทางไปต่างประเทศอีก เพื่อว่าจ้างช่างที่มีฝีมือระดับโลก และเสาะหาวัสดุที่ดีที่สุดในการสร้างส่วนประกอบแต่ละชิ้น ทั้งนี้เพราะเธอตั้งใจสร้างสิ่งที่สวยงามที่สุดเพื่อถวายพระ. อารามใหม่นี้ชื่อว่า
“แม่พระแห่งทูตสวรรค์” เป็นศิลปะผสมโกธิค-โรมัน เลียนแบบวัดที่เมืองอัสซีซีในศตวรรษที่ 13. นอกจากนั้น ในบริเวณยังได้สร้างสักการะสถาน
“ศีลมหาสนิทสูงสุด” เพื่อระลึกถึงอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับเธอที่โบโกต้า
โดยสร้างพระรูปพระกุมารเยซูทำจากหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ ประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดวงพระหฤทัยที่ทำด้วยหินโมรายื่นออกสู่ชาวโลก. ทุกสัปดาห์ มีผู้แสวงบุญประมาณ 2000 คนเดินทางมาที่นี่. บริษัทก่อสร้างไบร้ซ์ (Brice Construction)ใช้เวลา 5 ปี ในการสร้างอาราม, สักการะสถาน และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ. คนงานก่อสร้างมีมากกว่า 200 คน เกือบทั้งหมดมิได้เป็นคาทอลิก. ปัจจุบันมีภคินี 32 คนย้ายมาอาศัยอยู่ที่อารามนี้พร้อมกับคุณแม่อังเชลีกาตั้งแต่เดือน ธ.ค.1999
สตรีที่มาสวดที่สักการะสถานนี้เป็นประจำคนหนึ่งกล่าวกับเพื่อนของเธอว่า เธอเคยไปสักการะสถานต่างๆ ในยุโรปมาแล้วหลายแห่ง และขอยืนยันว่า
“คุณไม่จำเป็นต้องไปถึงยุโรปเลย เพราะที่นี่สวยกว่าที่เคยไปเห็นมาแล้วทุกแห่ง”.
นักท่องเที่ยวโปรเตสแตนท์คนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันตะลึงในความกว้างขวางของสถานที่ ทีแรกก็เดินชมในลักษณะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง และรู้สึกไม่พอใจที่ไม่สามารถหามุมถ่ายรูปบริเวณภายในได้. แต่หลังจากที่ได้เดินชมจนทั่วบริเวณแล้ว ก็ตระหนักได้ว่า ถึงจะถ่ายภาพไปเท่าใดก็คงไม่มีทางปะติดปะต่อเป็นความงามที่แท้จริงของสถานที่ได้ เพราะที่นี่เป็นความงามที่ต้องมาสัมผัสด้วยตนเอง” ใครบ้างจะเชื่อว่า สิ่งต่างๆ ที่เล่ามาเพียงบางส่วนนี้ เป็นผลงานของภคินี “ลับ”คนหนึ่งจากเมืองแคนตัน?
เธอเองก็ไม่ยอมรับว่าเป็นฝีมือของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างอารามและเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับสถานีเครือข่าย EWTN ที่ยืนหยัดมาเป็นเวลากว่า 25 ปี. เธอทราบดีว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่โตและจริงจังเกินไปสำหรับเธอ. เมื่อมีผู้ถามถึงความสำเร็จเหล่านี้ เธอหัวเราะและกล่าวว่า
“เมื่อใดที่คุณเป็นคนโง่จริงๆ พระเป็นเจ้าก็จะช่วยคุณเอง มิฉะนั้นคุณก็อาจต้องไปลงเอยในคุก” • รายละเอียดเพิ่มเติมค้นคว้าได้จาก
www.ewtn.comข้างล่างนี้ คือ website และต้นฉบับเรื่องประกอบที่ผมแปลย่อเพิ่มเติม และจัดเรียบเรียงใหม่ให้สอดคล้องกับต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสครับ. ผม copy ภาพประกอบและแผนที่มาด้วย เพราะถ้าไม่ทราบว่าแต่ละสถานที่อยู่ที่ไหน อ่านแล้วคงงงพอสมควร เนื่องจากมีชื่อเมืองที่เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย. นอกจากนั้นก็มีภาพล่าสุดของคุณแม่ฯ ในโอกาสครบรอบวันเกิด 83 ปี
แผนที่ผ่านดาวเทียม
http://local.live.com/default.aspx?cp=3 ... lvl=13&v=1 ภาพสักการะสถาน “ศีลมหาสนิทสูงสุด” (the Most Blessed Sacrament) และภาพพระกุมาร
Mother Angelica Update: Monday, June 05, 2006
Happy Birthday Mother Angelica!
Most days find Mother Angelica praying and resting quietly in her room. In the last couple of months it has become more and more laborious for her to come to community activities in the monastery, but it is always a joy when she is feeling up to it.
In honor of her 83rd birthday some friends surprised Mother with a Mariachi band! The day, thanks be to God, found her well enough to come to the parlor and enjoy the playing and singing.
Map of the Shrine of the Most Blessed Sacrament, Hanceville
http://www.ewtn.com/pilgrimage/map_shrine.htmรัฐโอไฮโอ (Ohio) . เคลฟแลนด์ (Cleveland) อาราม 1
. แคนตัน (Canton) บ้านเกิด
………………………………………………….....................
รัฐเคนตั๊กกี้ (Kentucky)
……………………………………...................
รัฐเทนเนสซี่ (Tennessee)
………………………………………………........................
. แฮนซ์วิล (Hanceville) อาราม 3 และสักการะสถาน
รัฐอะลาบามา (Alabama)
.เบอร์มิงแฮม (Birmingham)
.ไอออนเดล (Irondale) สถานีเครือข่ายหลัก และอาราม 2