หน้า 1 จากทั้งหมด 1

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ต.ค. 10, 2010 11:46 pm
โดย Holy
สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 7 ขวบ ท่านได้บันทึกความรู้สึกในวันนั้นว่า "ภาพของทะเลนั้นประทับใจดิฉันมากเหลือเกิน ดิฉันไม่อยากละสายตาไปจากภาพนี้เลย พลังของน้ำในทะเลกว้าง และเสียงของคลื่นที่ซัดฝั่งกระทบใจดิฉันให้มองเห็นความยิ่งใหญ่และพลานุภาพ ของพระเจ้า"

ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นในธรรมชาติ อาจเป็นเครื่องหมายของสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งมองเห็นไม่ได้ สำหรับผู้ที่มีความเชื่อ สิ่งสร้างทั้งหลายมีอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับพระเจ้าผู้สร้างคุณลักษณะ ที่ดีของสิ่งสร้างสะท้อนให้เห็นคุณลักษณะบางอย่างในพระเจ้าแม้ยังไม่สมบูรณ์ และมีขอบเขตจำกัด แต่ภาษาเปรียบเทียบเช่นนี้เป็นวิธีเดียวที่มนุษย์มีใช้เพื่อเข้าใจพระเจ้า และกล่าวถึงพระองค์

สัญลักษณ์ คือสิ่งซึ่งตัวของมันเองเสนอแนะหรือให้ความหมายโยงใยถึงอีกสิ่งหนึ่ง เช่น นกพิราบ นอกจากเป็นนกชนิดหนึ่งแล้ว ก็ยังเสนอความหมายสากลถึงสันติภาพ ในพระคัมภีร์เราพบสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าหลายประการ ผู้เขียนพระคัมภีร์คิดสัญลักษณ์ขึ้นมาเฉพาะตัว โดยแนะจินตนาการให้ผู้อ่านได้แลเห็นและมีความรู้สึกร่วมจนสามารถตีความให้ เข้าใจความหมายได้ พระคัมภีร์ใช ้สัญลักษณ์ 9 อย่างเพื่อกล่าวถึงพระจิตเจ้า คือ ลม น้ำ ไฟ ก้อนเมฆที่ส่องสว่าง การเจิม ตราประทับ มือ นิ้ว และนกพิราบ

1. ลม หรือลมหายใจ
รูปภาพ

พระ นาม พระจิตเจ้า เป็นเพียงคำแปลไม่ใช่พระนามเฉพาะของพระองค์ที่ชาวยิวใช้ พระนามพระองค์ในภาษาฮีบรูเรียกว่า รวกฮ์ ซึ่งหมายถึงลมหรือลมหายใจ เป็นการยากสำหรับเราที่จะเข้าใจว่า คนสมัยก่อนเมื่ออ่านพระคัมภีร์ ในภาษาฮิบรู, กรีก หรือลาติน ทุกครั้งที่ฉบับแปลภาษาไทยมีคำว่าลม เขาก็คิดถึงพระจิตเจ้าด้วย และทุกครั้งที่เราอ่านคำว่า พระจิตเจ้า เขาก็คิดถึงลมด้วย เพราะคำว่า รวกฮ์ ชวนให้ระลึกถึงประสบการณ์ที่เขาสัมผัสกับพระจิตเจ้า ในหนังสือกิจการอัครสาวก เล่าเรื่องการเสด็จมาของพระจิตเจ้าในวันเปนเตกอสเต โดยใช้ลมพาย ุ แรงกล้า เป็นเครื่องหมาย “ทันใดนั้นก็มีเสียงจากฟ้าเหมือนเสียงลมพัดแรงกล้า ทุกคนในบ้านได้ยิน” (กจ. 2:2) และในพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญยอห์น พระเยซูเจ้าผู้ทรงคืนพระชนม์ชีพ ทรงมอบพระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้แก่บรรดาอัครสาวกโดยใช้การระบายลมหายใจเป็น เครื่องหมาย “พระองค์ ทรงเป่าลมเหนือ พวกเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” (ยน. 20:22)

นัก บุญยอห์นยังใช้ภาพของลมแรงเพื่ออธิบายถึงบทบาทของพระจิตเจ้า เมื่อบันทึกพระวาจาของ พระคริสตเจ้าที่ว่า “ลมย่อมพัดไปในที่ที่ลมต้องการ ท่านได้ยินเสียงลมพัด แต่ไม่ทราบว่าลมพัดมาจากไหน และจะพัดไปไหน ทุกคนที่เกิดจากพระจิตเจ้าก็เป็นเช่นนี้” (ยน. 3:8) ภาพของลมแรงหรือพายุช่วยอธิบายพระอานุภาพอันสูงส่งและเสรีภาพของพระจิตเจ้า ผู้อยู่เหนือมนุษย์ เพราะลมแสดงพลังที่ไม่มีอะไรต่อต้านหรือควบคุมได้ ทั้งหนังสือธรรมชาติและหนังสือพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าลมสามารถ “พัดพังภูเขาและทำให้หินแตกเป็นก้อน ๆ” (1 พกษ. 19:11) สามารถ “ทำให้คลื่นทำเลชัดขึ้นไปสู่ท้องฟ้าและลงไปสู่ที่ลึก (เทียบ สดด. 107:25 – 26 ) ไม่มีอะไรสามารถเขย่าให้มหาสมุทรเคลื่อนไหว ได้นอกจากลมเท่านั้น

พระ จิตเจ้าทรงเป็นพละกำลังที่แท้จริง ทรงเป็นอำนาจเดียวที่สามารถค้ำจุนช่วยเหลือพระศาสนจักรและผู้มีความเชื่อแต่ ละคน เพราะไม่ว่าส่วนตัวหรือส่วนรวม เราทุกคนไม่สามารถมีชีวิตด้วยพลังของตนเอง ดังที่ประกาศกเศคาริยาห์กล่าวแก่เศรุบบาเบล หัวหน้าชาวยิวว่า “มิใช่ด้วยกำลังมิใช่ด้วยฤทธานุภาพ แต่เดชะพระจิตของเรา พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้แหละ…ภูเขาใหญ่เอ๋ย เจ้าเป็นอะไรเล่า ต่อหน้าเศรุบบาเบล เจ้าจะเป็นที่ราบ” (ศคย. 4:6 – 7 )

เมื่อปิตาจารย์แตร์ตูเลียนกล่าวถึงคริสตชนที่ถูก ลงโทษให้ต่อสู้กับสัตว์ร้ายในสนามกีฬาเพื่อความเพลิดเพลินของชาวโรมัน เขาเปรียบเทียบบทบาท ของพระจิตเจ้ากับบทบาทของโค้ชนักกีฬา จึงเรียกพระจิตเจ้าว่าเป็นโค้ชของมรณสักขี เพราะเป็นพระจิตเจ้านี่เองที่ประทานความกล้าหาญแก่มรณสักขี ตามธรรมชาติแล้ว คนที่ขี้ขลาดจะให้ความกล้าหาญแก่ตนเองไม่ได้ แต่ในชีวิตเหนือธรรมชาตินั้นเป็นไปได้ ผู้ที่ขาดความกล้าหาญก็สามารถรับความกล้าหาญ จากพระจิตเจ้าเพราะ “พระจิตเจ้าเสด็จมาช่วยเหลือเราผู้อ่อนแอ” (รม. 8:26) ความอ่อนแออาจจะเป็นโอกาศพิเศษที่เราจะประสบพระพลานุภาพของพระจิตเจ้า

ส่วนภาพ ของลมหายใจ หรือลมเบา ๆ ช่วยอธิบายถึงน้ำพระทัยดี ความรักอ่อนโยนความสงบนิ่งของพระจิตเจ้าผู้สถิตอยู่ในใจมนุษย์ ลมหายใจเป็นสิ่งที่อยู่ภายในมนุษย์ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต เป็นสิ่งที่เป็นของส่วนตัวมากที่สุด
ใน ภาษาฮิบรูและภาษาเซมิติคอื่น ๆ เช่น ภาษาซีเรียโบราณคำว่า รวกฮ์ เป็นศัพท์ที่มีเพศหญิง ผู้พูดภาษาเหล่านี้ก็รู้สึกว่าพระจิตเจ้าทรงมีลักษณะเหมือนกับแม่ คือมีบุคลิกภาพที่อ่อนโยนและอ่อนหวาน ในสมัยก่อนสตรีไม่มีสิทธิในสังคมเท่าเทียมผู้ชาย ไม่ว่าจะในด้านการเมือง การศึกษา ศิลป ปรัชญา ฯลฯ นอกจากภายในครอบครัว แต่ในทุกสมัยทั้งชายและหญิงมีสิทธิเท่ากันที่จะเป็นคนศักดิ์สิทธิ์เพราะพระ จิตเจ้าประทานความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้ที่อ่อนน้อมต่อพระองค์ โดยเคารพต่อบุคลิกภาพของแต่ละคน พระจิตเจ้า มักจะแสดงธรรมล้ำลึกแห่งความรัก อ่อนโยน การดูแลเอาใจใส่ในนักบุญที่เป็นหญิง

2. น้ำ
รูปภาพ

ในพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญยอห์นเราอ่านพระวาจาของพระ เยซูเจ้าพร้อมกับคำอธิบายของผู้เขียนว่า “ผู้ใดกระหายจงมาหาเราเถิด ผู้ที่เชื่อในเรา จงดื่มเถิด ตามที่พระคัมภีร์กล่าวว่า ‘ลำธารน้ำที่ให้ชีวิตจะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น’ พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้หมายถึงพระจิตเจ้า ซึ่งผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับ” (ยน. 7:37 – 39) น้ำ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ถ้าน้ำเป็นสัญลักษณืของพระจิตเจ้าก็หมายความว่า พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้บันดาลชีวิต “พระจิตเจ้าเป็นผู้ประทานชีวิตลำพังมนุษย์ทำอะไรไม่ได้ วาจาที่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายนั้นให้ชีวิต เพราะมาจากพระจิตเจ้า” (ยน. 6:63) ชีวิติที่พระจิตเจ้าประทานนั้นเป็นชีวิตเหนือธรรมชาติที่เรารับอาศัยพระวาจา ของพระเจ้าและศีลศักดิ์สิทธิ์ เราสามารถเลือกชีวิตใหม่นี้ได้โดยอิสระ ไม่เหมือนชีวิต ธรรมชาติที่เราไม่สามารถตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับและเราเลือกชีวิตใหม่นี้ ได้ อาศัยความเชื่อดังที่นักบุญเปาโลเขียนถึงคริสตชนชาวเธสะโลนิกาว่า เขา “จะรับความรอดพ้นอาศัยความเชื่อในความจริง และด้วยเดชะพระจิตเจ้า ผู้ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์” (ธส. 2:13) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์หมายถึงกิจการของพระจิตเจ้าในศีลล้างบาปทำนองเดียว กันสภาพการณ์ปฏิสนธิในครรภ์ครั้งแรกของเราดำเนินไปในน้ำฉันใด น้ำแห่งศีลล้างบาปก็มีความหมายอย่างแท้จริงว่า เราได้รับการเกิดสู่ชีวิตพระซึ่งเป็นของประทานจากพระจิตเจ้า การใช้น้ำในศีลล้างบาปยังหมายถึง การชำระล้างมนุษย์จากบาปอีกด้วย ดังที่นักบุญเปาโลเขียนว่า “เดชะพระจิตเจ้าองค์เดียวเราทุกคนจึงได้รับการล้าง มารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกันำไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่ว่าจะเป็นทาสหรือไทยก็ตามและเราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน” (1 คร.12 – 13)

3. ไฟ
รูปภาพ

เรา ไม่ต้องรู้สึกแปลกใจที่ไฟ ซึ่งตรงกันข้ามกับน้ำ ก็ยังเป็น สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าด้วย พระเยซูเจ้าก็เช่นกันได้รับการขานพระนามว่า "สิงโตแห่งยูดาห์" และ "ลูกแกะของพระเจ้า" ภาพเปรียบเทียบตรงกันข้ามเหล่านี้ ต่างเสนอลักษณะบางอย่างของพระจิตเจ้า ถ้าน้ำเป็นสัญลักษณ์ว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้บันดาลชีวิต ไฟบอกเราว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ชำระเราให้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์เต็มเปี่ยม น้ำ ชำระล้างก็จริง แต่บางอย่างไม่สามารถใช้น้ำ ต้องใช้ไฟเท่านั้น “ท่านจงชื่นชมยินดี แม้ว่าในเวลานี้ท่านจะต้องทนทุกข์จากการถูกทดสอบต่าง ๆ ชั่วขณะหนึ่ง เพื่อคุณค่าที่แท้จริงแห่งความเชื่อของท่านจะได้รับการสรรเสริญ รับสิริรุ่งโรจน์ และรับเกียรติเมื่อพระเยซูคริสตเจ้าจะทรงสำแดงพระองค์ ความเชื่อนี้ประเสริฐยิ่งกว่าทองคำอันเสื่อมสลายได้ แต่ก็ยังถูกทดสอบด้วยไฟ” (1 ปต. 1:6-7]

พระจิตเจ้าทรงช่วยชำระบาปไป จากจิตใจเรา ตามกระบวนการดังต่อไปนี้ คือ ทรงเคาะประตูมโนธรรมของเราให้สำนึกผิด ทรงช่วยเราให้เป็นทุกข์กลับใจ ทรงชวนเราให้สารภาพบาป ทรงอภัยบาปทำให้เราเป็นอิสระประทานความศักดิ์สิทธิ์แก่เราเสียใหม่ และในที่สุดทรงให้เราเร่าร้อนด้วยความรักต่อพระเจ้า ดังนั้น ในขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์แห่งชีวิตที่ได้รับการประทานมา จากพระจิตเจ้า ไฟก็เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังการเปลี่ยนแปลง ที่มีอยู่ในกิจการของพระจิตเจ้า พระเยซูเจ้าตรัสว่า "เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ" (ลก. 12:49) ในวันเปนเตกอสเตบรรดาสาวกได้เห็น "เปลว ไฟ ลักษณะเหมือนลิ้นแยกไปอยู่เหนือศีรษะของเขาแต่ละคน ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม" (กจ. 2:3-4) นักบุญเปาโลจึงเตือนคริสตชนว่า "อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า" (1ธส. 5:9)

4. ก้อนเมฆที่ส่องแสงสว่าง
รูปภาพ

ใน หนังสืออพยพก้อนเมฆที่ส่องสว่างให้ชาวอิสราแอลเดินทางไปได้ ในเวลากลางคืนเป็นสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าผู้ทรงนำเขา ไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา พันธ สัญญาเดิมยังกล่าวว่า "โมเสสขึ้นบนภูเขา แล้วเมฆก็มาปกคลุมภูเขาไว้ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์ลงมาอยู่บนภูเขาซีนาย" (อพย. 24:15 –16) เมฆยังลงมาในกระโจมนัดพบในถิ่นทุรกันดาล และในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม เมื่อกษัติย์ซาโลมอนทำพิธีอภิเษกพระจิตเจ้าเสด็จลงมา เหนือพระนางพรหมจารีมารีย์เหมือนเมฆมาแผ่เงาปกคลุมนาง (เทียบ ลก.1:35) บนภูเขาทาบอร์ที่พระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ เป็นพระจิตเจ้าที่เสด็จมาในก้อนเมฆที่ปกคลุมพระเยซูเจ้า โมเสส และประกาศกดเอลียาห์ สุดท้ายเมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จของสวรรค์ต่อหน้าบรรดาอัครสาวก เมฆก้อนเดียวกันนี้เองที่บังพระองค์ไปจากสายตาของเขา (เทียบ กจ. 1:9) ก้อนเมฆที่ส่องแสงสว่างจึงเป็นสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าผู้นำทางเราไปสู่พระ คริสตเจ้า

5. การเจิม

การ เจิมด้วยน้ำมัน เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระจิตเจ้า ทั้งในศีลล้าง บาปและในศีลกำลัง เพราะพระองค์ทรงบันดาลให้เราเป็นเหมือนพระคริสตเจ้า ผู้ได้รับเจิมจากพระจิตเจ้าให้เป็นกษัตริย์ สมณะ และประกาศก น้ำมันที่ใช้ในการเจิมนี้เป็นน้ำมันหอม แสดง ว่าพระจิตเจ้าบันดาลให้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า มาสู่พระศาสนจักร เหมือนดังกลิ่นของน้ำหอมที่กำจายไปทั่วห้องเมื่อเปิดขวด

การเจิมด้วยน้ำมันนี้ ยังหมายความว่าพระจิตเจ้าทรงบันดาลความเลื่อมใสศรัทธาแก่ดวงใจของเรา ซึ่งเป็นดังความรู้สึกอ่อนหวานถึงความรักพระเจ้า หรือความรู้สึกมีกำลังใจในการระลึกถึงพระพรต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานให้ ในทำนองเดียวกัน การเจิมนี้ยังแสดงว่าเราได้รับพละกำลัง และอำนาจที่จะปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ของตน ตามแบบฉบับของพระคริสตเจ้า

6. ตราประทับ

ตราประทับ เป็นสัญลักษณ์ของการรับรอง เช่น พระเยซูเจ้าตรัสว่า "พระเจ้าพระบิดาทรงประทับตรารับรองบุตรแห่งมนุษย์ไว้แล้ว" (ยน. 6:27) ตราประทับเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายใกล้เคียงกับการเจิม เป็นการตอกย้ำผลของการเจิมของพระจิตเจ้าที่ลบออกไม่ได้ เช่น ในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช

7. มือ
รูปภาพ

พระ เยซูเจ้าทรงปกพระหัตถ์รักษาผู้ป่วย หรือประทานพรแก่เด็ก ๆ บรรดาอัครสาวกก็กระทำเช่นเดียวกันในพระนามของพระองค์ นอกจากนั้นเขายังปกมือแก่ ผู้ที่จะรับพระจิตเจ้า ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูยอมรับว่าคำสอนเรื่องการปกมือเป็นสิ่งสำคัญ (เทียบ ฮบ. 6:2) พระศาสนจักรยังรักษาเครื่องหมายการปกมือนี้ ไว้ในการภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้าในมิสซา เพื่อพระองค์จะได้ทรงเปลี่ยนขนมปังเป็นพระวรกายของพระคริสตเจ้า มือจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จมาของพระจิตเจ้า

8. นิ้ว

ในพระคัมภีร์เราพบสำนวนที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ว่า “ถ้าเราขับไล่ปีศาจ ด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า ก็หมายความว่า พระอาณาจักร ของพระเจ้ามาถึงท่านแล้ว" (ลก. 11:20) สำนวนเช่นเดียวกันนี้เรายังพบในพันธสัญญาเดิมเมื่อกล่าวถึงตอนที่โมเสสรับ แผ่นศิลาพันธสัญญาจากพระเจ้าว่า "แล้วพระองค์ประทานแผ่นศิลาจารึก สองแผ่นให้เขา เป็นแผ่นศิลาที่ทรงจารึกด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์"(อพย. 31:18) ไมเคิล อันเจโล เมื่อวาดภาพพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ในโบสถ์ซิกข์ตินนั้น เขาวาดเป็นรูปพระบิดาทรงกำลังยื่นพระหัตถ์ จนพระดรรชนีของพระองค์เกือบแตะนิ้วมือของอาดัมที่กำลังนอนแหงนมองพระเจ้า อยู่บนพื้นดิน
ชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์นั้นมาจากการสัมผัสของนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์

9. นกพิราบ
รูปภาพ

ใน เรื่องน้ำวินาศ นกพิราบซึ่งโนอาห์ปล่อยไป ได้บินกลับมาพร้อมกิ่ง มะกอกสดคาบอยู่ในปากนั้น เป็นสัญลักษณ์ว่าแผ่นดินอยู่ในสภาพที่พำนักอาศัยได้แล้ว จึงเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ (เทียบ ปฐก. 8:8-12) เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จขึ้นจากน้ำที่หลังจากทรงรับพิธีล้างแล้วนั้น “พระองค์ทรงเห็นพระจิตเจ้าลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบ” (มธ. 3:16) พระจิตเจ้า ยังประทับอยู่ในหัวใจที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วของผู้รับศีลล้างบาป

พระจิตเจ้าทรงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตามหนทางที่นำไปสู่สันติภาพ (เทียบ ลก. 1:79) ในโลกนี้เราอาจจะมีประสบการณ์ของสันติสุขที่เรารอคอย จะได้รับในสวรรค์อยู่บ้าง นักบุญเทเรซาแห่งอาวิลลาเล่าว่า วันเปนเตกอสเตวันหนึ่ง เธอได้เข้าฌานขณะที่อธิษฐานภาวนา เธอเห็นนกพิราบตัวหนึ่งมาเกาะบนศีรษะของตน นกตัวนั้นมีปีกที่ส่องแสงสุกใส เธอไม่รู้สึกตกใจเลย ตรงกันข้ามกลับสงบและมีความผาสุขอย่างยิ่ง

พระเจ้าประทานสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าเหล่า นี้แก่เรา แต่เราต้องมีตาที่จะมองเห็นได้คือต้องมีความเชื่อ น่าเสียดายที่น้อยคนพยายามแสวงหาเครื่องหมาย ของพระองค์นี้ เรื่องเล่าของชาวยิวต่อไปนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์ได้ดี เขาเล่าว่า "เด็กคนหนึ่งเล่นซ่อนตัวอย่างดีและรอคอยให้เพื่อนมาหา เขาคอยแล้วคอยเล่า แต่ไม่มีใครมาหาจนกระทั่งเขาเหนื่อยและออกมาจากที่ซ่อน และพบว่าเพื่อนหลอกเขา ไม่ได้ตามหาเขา เขาจึงร้องไห้รีบกลับบ้านไปพบกับลุงบรุคซึ่งเป็นรับไบ แล้วเล่าเรื่องให้ลุงฟัง ลุงได้ฟังแล้วพลอยร้องไห้ไปกับเขาด้วย กล่าวว่า "พระเจ้าก็เช่นเดียวกับหลาน ทรงซ่อนพระองค์ และไม่มีใครสนใจพยายามตามหา เพื่อจะพบพระองค์"

ที่มา : คุณพ่อฟรังซีส ไกส์ (สู่ปี 2000 เล่มที่ 12)

Re: สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 12, 2010 7:26 pm
โดย Jeab Agape
ขอบคุณครับที่แปะให้อ่าน

โปรฯก็ใช้ นกพิราป เป็นสัญญลักษณ์พระวิญญาณบริสุทธิ์ (พระจิต)
แต่ถ้าในกิจการ บทที่ 2 ใช่้สัณฐานรูปลิ้นลุกเป็นไฟฮะ :s023:

Re: สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 09, 2013 6:37 pm
โดย siritawatss
ขอบคุณที่เเบ่งปันความรู้ครับ :s002:

Re: สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 09, 2013 10:40 pm
โดย kanya Muang-in
:s002: ขอบคุณนะค่ะ ที่นำเรื่องราวมาแบ่งปัน