พระวาจา ปจว 5 พ.ย. โดยคุณพ่อ สมเกียรติ ตรีนิกร

รวม ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิ้ล
เข้าใจ พระคัมภีร์ ชีวิต และคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ ตามลำดับ อย่างง่ายๆ
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
tuztiz
โพสต์: 423
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ก.พ. 19, 2007 7:45 pm

อาทิตย์ พ.ย. 04, 2012 7:08 pm

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2012 สัปดาห์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา
“ความสงสาร” “ความเมตตา” นี่คือสองคำที่มีเสน่ห์มากๆ พ่อกำลังสงสัยอะไรหนอคือพลังขับเคลื่อนชีวิตคนเราได้อย่างรุนแรงมากๆที่ช่วยขับเคลื่อนชีวิตของเรามนุษย์ได้ดีที่สุดหนอ.... “สงสาร....หรือจิตใจเมตตานี่แหละคือหัวใจสำคัญ คำว่า “สงสารหรือเมตตา” เป็นอย่างไรจริงๆหนอ บัดนี้เรามาถึงบทจดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี เป็นบทจดหมายบทที่พ่อชอบมากๆ ชอบมากที่สุดเพราะบทที่สองนี่แหละที่เราจะอ่านวันนี้กับพรุ่งนี้ เนื้อหาสำคัญและแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าได้เป็นประจักษ์พยานแสดงออกถึงความรัก ความสงสาร และเมตตาต่อเรามนุษย์จริงๆ วันนี้กับพรุ่งนี้อ่านพระวาจาดีๆ นะครับ ตัวอย่างพระเยซูเจ้าชัดที่สุด
วันนี้พ่ออยากจะอธิบายกระบวนการของความสงสารหรือเมตตาหน่อยครับ
ความหมายของ “ความเมตตา” (misericordia)
• รากศัพท์นี้พบในพันธสัญญาใหม่ คือ คำว่า “eleein” หรือ “eleos” ดังนั้นเราจะเน้นพิจารณา รากศัพท์ที่สำคัญคือ “เมตตา”
• รากนี้ในรูปคุณศัพท์ “เมตตา” (elemon) ในพระวรสารพบในพันธสัญญาใหม่ เฉพาะ 2 ครั้ง คือ มธ 5:7 และ ฮบ 2:17 และพบในคำแปลพันธสัญญาเดิม LXX 30 ครั้ง
• ฮบ 2:17 กล่าวถึงพระเยซูเจ้าในฐานะที่เป็นมหาสมณะ “จึงจำเป็นที่พระองค์จะต้องทรงเป็นเหมือนกับบรรดาพี่น้องทุกประการ เพื่อพระองค์จะทรงเป็นมหาสมณะที่เพียบพร้อมด้วยพระกรุณาและทรงซื่อสัตย์ในการติดต่อกับพระเจ้า ไถ่โทษชดเชยบาปของประชากรได้ ในฐานะที่พระองค์ทรงรับการทรมานและทรงผ่านการทดลองมาแล้ว พระองค์จึงทรงช่วยเหลือผู้ที่ถูกทดลองได้ด้วย” เป็นครั้งแรกในบทจดหมายฉบับนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่พระเยซูเจ้าถูกเรียกว่า “มหาสมณะ” (เป็นคำที่ใช้เรียกพระเยซูเจ้าในจดหมายฉบับนี้โดยเฉพาะ 17 ครั้ง)
• มหาสมณะ ได้รับการกล่าวถึงลักษณะเฉพาะเจาะจง คือ เมตตากรุณาและซื่อสัตย์ โดยเน้นความที่พระองค์ทรงเป็นคนกลางเชื่อมโยงพระเจ้ากับมนุษย์ และในข้อที่ 18 เราพบว่าความเมตตากรุณาของพระเยซูเจ้านั้น แสดงออกโดยการยอมรับความทุกข์ยากและการทดลอง
• คุณลักษณะเช่นนี้ของพระเยซูเจ้าเราจะพบอีกครั้งใน ฮบ 4:15f “15เพราะเหตุว่าเราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป 16ดังนั้น เราจงเข้าไปสู่พระบัลลังก์แห่งพระหรรษทานด้วยความมั่นใจเพื่อรับพระกรุณา และพบพระหรรษทานเกื้อกูลในยามที่เราต้องการ” ดูเหมือนสองอย่างที่คู่กันอย่างแยกกันไม่ออก สองประการ คือ
o พระกรุณา (Compassion) และ
o การเกื้อกูลด้วยความเข้าใจ (Comprehension)
• ความเมตตากรุณาของพระเยซูคริสตเจ้า มหาสมณะอันที่จริงนั้นคือสาระสำคัญที่สุดเช่นเดียวกับความสุภาพอ่อนโยน
• ความหมายของคำว่า “ใจเมตตา” (misericordia= Miserere+Cordia) หัวใจที่เปี่ยมด้วยความสงสาร เราเห็นในข้อนี้ว่า ทัศนคติของมนุษย์และการกระทำของพระเจ้านั้นถูกแสดงออกด้วยคำที่มีรากศัพท์เดียวกันอย่างแท้จริง “ใจเมตตา และพระเมตตา”
• ภาษากรีกโดยทั่วไปทางโลกใช้คำนี้ “eleison” เพื่อหมายถึง “Compassion” และที่สำคัญคำว่า “Compassion” นี้ใช้ในพันธสัญญาใหม่เพื่อหมายถึง “การให้ทาน หรือให้สิ่งที่จำเป็นจริงๆ แก่ผู้ที่มีความต้องการที่สุด” สังเกตคำว่า “Compassion= Com+passion หรือ ภาษาลาติน cum+passio”
• ในพระวรสารเน้น “ความเมตตา” เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากมนุษย์ และดูเหมือนพระเยซูเจ้าจะสอนเรื่องนี้โดยเรียกร้องอย่างมากเช่นกัน และที่สำคัญ พระองค์เรียกร้องความเมตตา ไม่ใช่เครื่องบูชา
• เมื่อฟาริสีสะดุดเพราะพระเยซูเจ้าทรงนั่งร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป (มธ 9:10-13) พระองค์ทรงยืนยันว่า “จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป”
• ทรงตำหนิฟาริสีที่กล่าวว่าศิษย์ของพระองค์ที่เก็บรวงข้าวในวันสับบาโต “ถ้าท่านเข้าใจความหมายของข้อความที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ ท่านคงจะไม่กล่าวโทษผู้ไม่มีความผิด เพราะบุตรแห่งมนุษย์เป็นนายเหนือวันสับบาโต” (12:7)
• ข้อสังเกต พระวรสารเน้นการแสดงความเมตตานี้โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ที่อยู่ชายขอบสังคม หรือผู้ที่มีความต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10) เราพบว่า เนื้อหาสาระของ “ความเมตตา” สรุปได้คือ
o ความอ่อนแอหรือความจำเป็นของเพื่อนพี่น้อง
o ความสงสาร “Compassion”
o การช่วยเหลือสุดความสามารถ
พี่น้องที่รัก เอาเป็นวัน พ่ออยากให้เราเป็นคริสตชนแท้จริงๆ เราต้องมี “ใจเมตตา” ดังเช่นพระเยซูเจ้าครับ อ่านพระวาจาและจะรู้ว่าเราต้องเลียนแบบพระคริสตเจ้าจริงๆในเรื่องความเมตตากรุณา และพ่อเชื่อว่า เรื่องความเมตตานี้ เป็นเสน่ห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วขอพระศาสนจักรคาทอลิกของเราครับ ขอพระเจ้าอวยพรครับ... เมตตากันมากๆนะครับ

ฟป 2:1-4 ……………………….
1ถ้าท่านได้รับกำลังใจจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ถ้าท่านได้รับกำลังใจจากความรัก ถ้าท่านเป็นหนึ่งเดียวกันในพระจิตเจ้า ถ้าท่านเห็นอกเห็นใจสงสารกัน 2ท่านจงทำให้ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างเต็มเปี่ยมโดยการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรักแบบเดียวกัน มีความรู้สึกนึกคิดอย่างเดียวกัน 3อย่ากระทำการใดเพื่อชิงดีกันหรือเพื่อโอ้อวด แต่จงถ่อมตนคิดว่าผู้อื่นดีกว่าตน 4อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จงเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย
ตอบกลับโพส