@. เรียนรู้จาก Song Of Songs.@

รวม ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิ้ล
เข้าใจ พระคัมภีร์ ชีวิต และคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ ตามลำดับ อย่างง่ายๆ
ตอบกลับโพส
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 7:40 am

สวัสดีค่ะ คริสตชนที่รักในพระคริสต์

ลองมาฝึกสมอง ศึกษาพระคัมภีร์ ที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง ในพันธสัญญาเดิม หรือพระคัมภีร์เก่า คือ “เพลงซาโลมอน” ( Song of Solomon ) ซึ่งหนังสือล่มนี้ดิฉันเอง ได้ศึกษาแบบผ่านๆมาเสมอ เพราะแรกๆอ่านรู้สึกว่าไม่เข้าใจ แล้วไม่คิดว่า ทำไมถึงบรรจุหนังสือเล่มนี้ไว้ในสารบบพระคัมภีร์ด้วย เพราะมัวคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นลักษณะวรรณกรรมรัก ของชายหนุ่มและหญิงสาว ซึ่งเราไม่เกี่ยว

…เมื่อไม่นานมานี้ได้ตั้งใจอ่านอย่างจริงจัง และ ทูลขอความเข้าใจจากพระเจ้าโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ให้เข้าใจในมุมมองใหม่ ที่น่าสนใจทีเดียว ว่าพระเจ้าทรงสอนเราหลายๆรูปแบบด้วยกัน แต่เป้าหมายเดียวคือ ทรงสื่อถึงมนุษย์ว่าพระองค์ทรงรักเราเสมอ ถึงแม้ว่าเราจะนอกใจ เอาใจออกห่างจากพระองค์ เหมือนกับเราได้เอาใจออกห่างจากคู่รัก แต่พระองค์ทรงเป็นคู่รักที่สัตย์ซื่อ รอวันที่เรากลับใจใหม่ กลับมาหาพระองค์

อันที่จริงความรักและเรื่องเพศในมุมมองของคริสตชน และคำสอนในพระคัมภีร์ เป็นสิ่งที่ดีซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้มนุษย์ตั้งแต่เริ่มแรกที่พระองค์ทรงสร้างโลก การผูกพันของชายหญิงด้วยการสมรสของมนุษย์นั้นเป็นความศักดิ์สิทธิ์ เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งที่มนุษย์แสดงออกด้วยความรักและบริสุทธิ์ เพราะเป็นของประทานจากพระเจ้าก่อนที่มนุษย์คู่แรกของโลกจะล้มลงในความบาป หลังจากมนุษย์ทำบาปแล้ว ความสัมพันธ์ทางเพศ ก็เสื่อมไปด้วย มีคนจำนวนมากได้ฉวยโอกาสนำเรื่องความรักและเรื่องเพศมาบิดเบือน เพื่อสนองความต้องการฝ่ายเนื้อหนัง และแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบความรักและเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ จนทำให้สังคมฟอนเฟะไปด้วย

ดิฉันได้เข้าใจถึงความรัก ความสัมพันธ์ที่พระเจ้าทรงออกแบบไว้ และพระคัมภีร์เองได้อุทิศเนื้อหาพระธรรมขึ้นมา หนึ่งเล่ม เพื่อบรรยายถึงความลึกซึ้งของความสัมพันธ์นี้พระเจ้าทรงดลใจผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราเข้าใจว่า ไม่มีอำนาจใดชนะพลังแห่งความรัก ใครก็ตาม ที่คิดจะแลกเปลี่ยนความรักด้วยทรัพย์สิน เงินทอง ผู้นั้นทำผิดและจะถูกดูหมิ่นอย่างร้ายแรง “ น้ำมากหลายไม่อาจดับความรักให้มอดเสียได้ หรืออุทกธารทั้งหลายไม่อาจท่วมความรักให้สำลักตายเสียได้ แม้ว่าคนใดจะเอาทรัพย์สมบัติในเหย้าเรือนของตนทั้งสิ้น มาแลกกับความรักนั้น คนนั้นคงได้รับความหมิ่นประมาทจากคนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง” ( บทที่ 8.7 ) ผู้เขียนได้ใช้ภาพและสัญลักษณ์จำนวนมากในการบรรยายถึงความรักของคู่บ่าวสาว และยังได้ใช้บทเพลงเป็นส่วนประกอบเพื่อให้เรื่องความรักทั้งน่าสนใจและมีความไพเราะยิ่ง

เมื่อท่านอ่านหนังสือเล่มนี้จบ หวังว่าจะได้รับรู้ถึงความรักบริสุทธิ์ที่พระเจ้าทรงบรรจุไว้ในจิตวิญญาณของมนุษย์ และด้วยความหวังว่า ท่านจะรับทัศนะที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิต ความสัมพันธ์ทางเพศ และการสมรส ในมุมมองเดียวกับพระเจ้าผู้ทรงสร้างสิ่งสวยงามนี้ให้เรา

เช่นเคยดิฉันจะขอโพสต์เป็นตอนๆ เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน ดิฉันได้ ลอกพระคัมภีร์ ฉบับที่โปรเตสแตน์ต์หรือคริสเตียนใช้ หวังว่า พี่น้องคาทอลิกเอง ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากนัก

ขอพระเจ้าทรงประทานพระปัญญาแก่ทุกๆท่านเสมอ ;)
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 7:42 am

เพลงซาโลมอน
( Song of Solomon )


คำนำ

การตีความและจุดมุ่งหมาย


เพลงซาโลมอน (พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษบางฉบับเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า “บทเพลงแห่งเพลงทั้งหลาย”) อาจเป็นหนังสือที่เข้าใจยากและลึกลับที่สุดในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม เมื่อมองผาดๆ ถึงประวัติศาสตร์การตีความเพลงซาโลมอนเล่มนี้ จะเห็นว่ามีความคิดเห็นหลากหลาย อย่างที่ไม่ปรากฏในการศึกษาหนังสือเล่มใดในพระคัมภีร์ บทเพลงนี้ได้รับการตีความในฐานะ (ก) นิทานเปรียบเทียบ (allegory) (ข) ภาพเปรียบเทียบในลักษณะเรื่องยาว (extended type) (ค) บทละครที่มีตัวละครหลักสองหรือสามตัว (ง) หนังสือรวบรวมบทเพลงแต่งงานของชาวซีเรีย (เป็นความเห็นของ E. Renan, J. Wetxstein, Umberto Cassuto และคนอื่นๆ) ซึ่งเจ้าบ่าวแสดงบทเป็นพระราชา และเจ้าสาวเป็นพระราชินี (จ) หนังสือรวบรวมบทเพลงในพิธีของความเชื่อต่างศาสนาที่บูชาความอุดมสมบูรณ์ (ความเห็นของ Theophile Meek) และ (ฉ) หนังสือรวบรวมบทเพลงกล่าวถึงความรักของมนุษย์ ซึ่งแต่ละเพลงไม่มีความต่อเนื่องกัน (ความเห็นของ Robert Gordis)

หากมองว่าเพลงซาโลมอนเป็นนิทานเปรียบเทียบ รายละเอียดต่างๆ ในหนังสือนี้ย่อมมีความหมายแฝงฝ่ายวิญญาณ และความหมายตามปกติจะมีความสำคัญน้อยกว่าหรือไม่สำคัญเลย ธรรมเนียมดั้งเดิมของยิว (หนังสือมิชนาห์ หนังสือทัลมุด และหนังสือทาร์กุม) มองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นภาพความรักที่พระเจ้าทรงมีต่ออิสราเอล ซึ่งแสดงออกในลักษณะนิทานเปรียบเทียบ บรรดาผู้นำคริสตจักร ซึ่งรวมถึง ฮิปโปไลทัส ออริเจน เจอโรม อาธานาเซียส ออกัสติน และเบอร์นาร์ด แห่งแคลโวซ์ ก็มองหนังสือเล่มนี้เป็นนิทานเปรียบเทียบ ที่แสดงถึงความรักซึ่งพระคริสต์ทรงมีต่อเจ้าสาวของพระองค์คือ คริสตจักร ตัวอย่างเช่น ท่าน ออริเจนเขียนว่าเจ้าสาวกล่าวว่าเธอผิวดำคล้ำ (พซม. 1:5-6) นั่นหมายถึงคริสตจักรน่ารังเกียจเพราะความบาปแต่ความน่ารักของเธอ (1:5 – ภาษาไทยว่า “ดำขำ” ขำหมายถึงน่ารัก ตัวอย่างเช่น คมขำ งามขำ-ผู้แปล) หมายถึงความงามฝ่ายวิญญาณภายหลังการกลับใจ คนอื่นๆ กล่าวว่าเสียงคูของนกเขา (2:12) หมายถึงคำเทศนาของบรรดาอัครทูต และบางคนกล่าวว่าในบทที่ 5 ข้อ 1 หมายถึงพิธีมหาสนิท ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการตีความในลักษณะนิทานเปรียบเทียบจะทำให้เกิดการตีความแบบอัตวิสัย (ผู้ตีความแต่ละคนตีความไปต่างๆ กัน ตามภูมิหลัง ความรู้ แลประสบการณ์ของแต่ละคน) และไม่มีทางจะชี้ชัดว่าการตีความแบบไหนถูกต้อง ไม่มีตอนไหนในเพลงซาโลมอนที่บอกนักตีความว่า เขาควรมองหนังสือเล่มนี้เป็นนิทานเปรียบเทียบ

นักวิชาการบางคนมองหนังสือเล่มนี้เป็น ภาพเปรียบเทียบในลักษณะเรื่องยาว โดยที่ซาโลมอนเป็นภาพเล็งถึงพระคริสต์และเจ้าสาวเป็นภาพเล็งถึงคริสตจักร มุมมองแบบนี้ต่างจากมุมมองแบบนิทานเปรียบเทียบตรงที่มุมมองแบบภาพเปรียบเทียบเห็นว่าซาโลมอนเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์และไม่พยาามหาความหมายลี้ลับของรายละเอียดทุกอย่างในหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่บอกว่า แง่มุมหลากหลายในชีวิตซาโลมอนเป็นภาพที่พระเจ้าประสงค์ให้เล็งถึงพระคริสต์

กลุ่มคนที่มองหนังสือเล่มนี้เป็นบทละคร (เช่น Franz Delitzsch, H. Ewald, และ S.R. Driver) ลืมสังเกตไปว่ารูปแบบวรรณกรรมที่เป็นบทละครยาว ไม่เป็นที่รู้จักท่ามกลางชาวอิสราเอล และหนังสือเล่มนี้ก็ไม่สามารถแยกออกเป็นองค์ เป็นฉากเหมือนบทละครได้

บรรดานักวิชาการมีมุมมองแตกต่างกันมากมายในเรื่องโครงสร้างของเพลงซาโลมอน ในเรื่องเอกภาพหรือการขาดเอกภาพในเรื่องธรรมชาติ คำอุปมาอุปไมยของหนังสือเล่มนี้ และในเรื่องความรักที่บทเพลงนี้ยกย่องกล่าวสั้นๆ คือ แทบจะทุกข้อของหนังสือเล่มนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงของบรรดานักตีความเพลงซาโลมอน คงไม่มีหนังสือเล่มใดในพระคัมภีร์ที่มีการตีความหลากหลายเช่นนี้

นักวิชาการอีแวนเจลิคอล (คริสเตียนที่เชื่อเรื่องรอดโดยความเชื่อ) ตีความเพลงซาโลมอนว่าเป็นบทกวีที่มีทั้งเอกภาพและการเดินเรื่อง เพลงซาโลมอนแบ่งเป็นตอนหลักๆ ที่กล่าวถึง การเกี้ยวพาราสี (1:2-3:5) การแต่งงาน (3:6-5:1) การเติบโตในชีวิตสมรส (5:2-8:4) เพลงซาโลมอนสรุปด้วยจุดสูงสุดของเรื่อง คือประโยคที่กล่าวถึงธรรมชาติของความรัก (8:5-7) และมีบทลงท้ายบรรยายถึงจุดเริ่มต้นความรักของคู่รักในเรื่องนี้ (8:8-14)

นักวิชาการบางคนกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงตัวละครสามคน ไม่ใช่สอง สามคนนี้ได้แก่ เจ้าสาว คนรักของเธอที่เป็นคนเลี้ยงแกะ และซาโลมอนผู้มาเกี้ยวเธอให้เปลี่ยนใจจากคนเลี้ยงแกะ อย่างไรก็ตาม ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดที่จะมองว่าซาโลมอนก็เป็นคนเลี้ยงแกะ (มุมมองที่คิดว่ามีตัวละครสองคน) เนื่องจากพระองค์มีฝูงแพะแกะเป็นอันมาก (ปญจ. 2:7)

@@…จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้คือ..@@

เพื่อยกย่องความรักและการสมรสของมนุษย์ แม้ว่านี้อาจฟังดูแปลกเมื่อแรกได้ยิน แต่เมื่อใคร่ครวญดู ก็ไม่น่าแปลกใจที่พระเจ้าจะรวมหนังสือที่สนับสนุนความงามและความบริสุทธิ์แห่งความรักฉันสามีภรรยาไว้ในสารบบพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงสร้างชายและหญิง (ปฐก. 1:27; 2:20-23) ทั้งทรงสถาปนาและชำระการสมรสให้บริสุทธิ์ (ปฐก. 2:24) เนื่องจากโลกมองเรื่องเพศเป็นของโสมม ทั้งยังบิดเบือนและหาผลประโยชน์จากเรื่องเพศตลอดมา และเนื่องจากชีวิตสมรสของคนจำนวนมากเหลือเกินที่พังทลายเพราะขาดความรัก การรักษาสัญญา และการอุทิศกายใจ จึงเป็นประโยชน์ที่จะมีหนังสือเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์ กล่าวถึงข้อสนับสนุนของพระเจ้าในเรื่องชีวิตสมรส ในฐานะที่เป็นสิ่งบริสุทธิ์และหมดจด
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 7:45 am

ผู้เขียนและเวลาที่เขียน

เพลงซาโลมอน 1:1 “คำเพลงซึ่งเป็นของซาโลมอน* “ ( ดู 1 พกษ. 4:32 ) บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของกษัตริย์ซาโลมอน ในหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหกข้อที่กล่าวถึงนามของพระองค์ (1:5; 3:7, 9, 11; 8:11-12) และยังกล่าวถึงพระองค์โดยใช้คำว่า “พระราชา” หรือ “กษัตริย์” (1:4, 12; 3:9 (ข้อนี้ภาษาไทยแปลว่า กษัตริย์ซาโลมอน-ผู้แปล), 11; 7:5) เรื่องที่ว่ากษัตริย์คือเจ้าบ่าวซึ่งกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ ได้รับการยืนยันโดยคำบรรยายถึงพระวอที่หรูหรา (3:7-10) และรถม้าทรงพระราชา (6:12) ซาโลมอนเป็นผู้รักธรรมชาติ (1 พกษ. 4:33) และคำกล่าวมากมายที่พูดถึงสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนแง่มุมอื่นๆ ของธรรมชาติ ก็สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่าพระองค์เป็นผู้ประพันธ์บทเพลงนี้ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเขียน ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างการครองราชย์ของซาโลมอน คือระหว่าง ก.ค.ศ. 971-931 บางคนอาจสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ซาโลมอนจะยกย่องความสัตย์ซื่อในชีวิตสมรส ในเมื่อพระองค์ไม่สัตย์ซื่อเอาเสียเลย โดยมีมเหสี 700 คน และนางห้าม 300 คน (1 พกษ. 11:3) บางทีคำตอบอาจเป็นได้ว่า “เจ้าสาว” ในบทเพลงนี้คือมเหสีคนแรกของพระองค์ ถ้าเป็นดังนั้น หนังสือนี้ก็น่าจะประพันธ์ขึ้นหลังการอภิเษกสมรสของพระองค์ไม่นาน ก่อนที่พระองค์จะล้มลงสู่บาปแห่งการมีภรรยาหลายคน

นักตีความบางคนเสนอว่า หญิงสาวในหนังสือเล่มนี้คือ ธิดาของฟาโรห์ (1 พกษ. 3:1) แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่เรียกเจ้าสาวในเพลงซาโลมอนว่าพระราชินี เธออาจมาจากเลบานอน (พซม. 4:8) ไม่ใช่อียิปต์

เอกภาพ

นักตีความหมายหลายคนกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทเพลง คือ รวมเพลงรักที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และไม่สอนบทเรียนอะไร อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งบางประการที่ชี้ว่าหนังสือเล่มนี้มีเอกภาพ คือ (1) ตัวละครเดียวกันปรากฏตลอดทั้งเล่ม (เจ้าสาว เจ้าบ่าว และธิดาเยรูซาเล็ม) (2) มีการใช้รูปประโยคและคำแสดงภาพพจน์คล้ายคลึงกันตลอดทั้งเล่ม ตัวอย่างคือ ความรักของเอหวานกว่าเหล้าองุ่น (1:2; 4:10) กลิ่นน้ำมันหอม (1:3, 12; 3:6; 4:10) แก้มของเจ้าสาว (1:10; 5:13) ตาเธอเหมือนนกพิราบ (1:15; 4:1) ฟันของเธอเหมือนฝูงแกะ (4:2; 6:6) คำวิงวอนที่เธอขอธิดาเยรูซาเล็ม (2:7; 3:5; 8:4) เจ้าบ่าวเหมือนละมั่ง (2:9, 17; 8:14) เลบานอน (3:9; 4:8, 11, 15; 7:4) และคำบรรยายธรรมชาติอีกมากมาย (3) ไวยากรณ์ฮีบรูที่ใช้มีเอกลักษณะเฉพาะ พบในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น บ่งบอกว่าเขียนขึ้นโดยผู้เขียนคนเดียว (4) พัฒนาการของเนื้อเรื่อง (การเดินเรื่อง) แสดงว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นเดียว ไม่ใช่หนังสือรวมเพลง ดังที่กล่าก่อนหน้านี้ หนังสือเล่มนี้เดินเรื่องอย่างสมเหตุสมผลตั้งแต่การเกี้ยวพาราสี (1:2-3:5) ไปสู่คืนวันแต่งงาน (3:6-5:1) จนถึงชีวิตแต่งงานเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (5:2-8:4)

โครงเรื่อง

I. บทนำ (1:1)

II. เกี้ยวพาราสี (1:2-3:5)

ก. เกริ่นนำ : การแสดงออกถึงความอาวรณ์ ไม่มั่นใจ และการสรรเสริญ (1:2-11)
1.บทเพลงแห่งความอาวรณ์ (1:2-4)
2.บทเพลงแห่งความไม่มั่นใจ (1:5-8)
3.บทเพลงแห่งการสรรเสริญ (1:9-11)

ข. ความรักเจริญเติบโต และร้อนแรง (1:12-3:5)

1.เจ้าบ่าวเจ้าสาวสรรเสริญกันและกัน (1:12-2:6)
2.ท่อนสร้อย (2:7)
3.ชุมชนบท (2:8-17)
4.เจ้าสาวกลัวจะสูญเสียคนรัก (3:1-4)
5.ท่อนสร้อย (3:5)

III. การแต่งงาน (3:6-5:1)

ก. ขบวนแห่การแต่งงาน (3:6-11)
ข. คืนวันแต่งงาน (4:1-5:1)

1.ความงามของเจ้าสาว (4:1-7)
2.คำขอของกษัตริย์ (4:8)
3.กษัตริย์สรรเสริญความรักของเจ้าสาว (4:9-11)
4.กษัตริย์สรรเสริญความบริสุทธิ์ของเจ้าสาว (4:12-15)
5.การสมรสบรรลุสมบูรณ์ (4:16-5:1)

IV. ชีวิตสมรสเติบโต (5:2-8:4)

ก. ความเฉยเมยและทางแก้ไข (5:2-6:13)

1.ปัญหา : ความเฉยเมยของภรรยา และความห่างเหินของสามี (5:2-8)
2.ความน่าดึงดูดของเจ้าบ่าว (5:9-16)
3.เจ้าบ่าวในสวนของเขา (6:1-3)
4.การคืนดี : เจ้าบ่าวสรรเสริญเจ้าสาว (6:4-13)

ข. คำสรรเสริญเจ้าสาวและความรักของเธอ (7:1-10)

1.เสน่ห์ของเจ้าสาว (7:1-6)
2.ความปรารถนาของเจ้าบ่าว (7:7-9)
3.ท่อนสร้อยกล่าวถึงเจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นของกันและกัน (7:10)

ค. คำเชิญชวนของเจ้าสาว (7:11-13)

ง. เจ้าสาวปรารถนาจะใกล้ชิดลึกซึ้งยิ่งขึ้น (8:1-4)

V. บทสรุป : ธรรมชาติและอานุภาพของความรัก (8:5-7)

ก. ภาพของความรัก (8:5)
ข. คำอธิบายความรัก (8:6-7)

VI. บทส่งท้าย : ความรักนี้เริ่มขึ้นอย่างไร (8:8-14)
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 7:51 am

(ตอนที่ 3 )

อรรถาธิบาย
เพลงซาโลมอนบทที่ 1


เจ้าสาวและบุตรีของเยรูซาเล็ม

1 คำเพลงซึ่งเป็นของซาโลมอน*
1 พกษ. 4:32
2 ขอเขาจุบดิฉัน ด้วยจุบจากปากของเขา เพราะว่าความรักของเธอดีกว่าเหล้าองุ่น
3 น้ำมันเจิมของเธอนั้นหอมฟุ้ง นามของเธอหอมเหมือนน้ำมันที่เทออกแล้ว เพราะฉะนั้นสาวๆจึงรักเธอ
4 ขอพาดิฉันไป ให้เรารีบไป พระราชาได้นำดิฉันไปในห้องโถงของพระองค์
เราจะเต้นโลดและเปรมปรีดิ์ในตัวเธอ เราจะพรรณนาถึงความรักของเธอให้ยิ่งกว่าเหล้าองุ่น
ที่เขาทั้งหลายรักเธอนั้นชอบแล้ว
5 โอ บุตรีแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย ดิฉันผิวดำๆ แต่ว่าดำขำ ดังเต็นท์ของพวกเคดาร์ ดังวิสูตรของซาโลมอน
6 อย่ามองค่อนขอดดิฉัน เพราะดิฉันผิวคล้ำ เนื่องด้วยแสงแดดแผดเผาดิฉัน
พวกพี่ชายร่วมมารดาของดิฉันได้ขึ้งโกรธดิฉัน เขาทั้งหลายใช้ดิฉันให้เป็นคนดูแลสวนองุ่น
แต่สวนของดิฉันเอง ดิฉันไม่ได้ดูแล
7 อ้อ เธอผู้ที่ดิฉันรัก ขอบอกดิฉันว่า เธอเลี้ยงฝูงสัตว์อยู่ที่ไหน ในเวลาเที่ยงวัน เธอให้มันนอนพักที่ไหน
เพราะเหตุใดเล่าดิฉันจะต้องเอาผ้าปิดตา ไปตามฝูงสัตว์ของพวกเพื่อนเธอ
8 โอ แม่งามเลิศในท่ามกลางหญิงทั้งหลาย ถ้าเธอไม่รู้ จงเดินไปตามรอยตีนฝูงแพะแกะ
แล้วจงเลี้ยงฝูงแพะแกะของเธอไว้ ที่ข้างเต็นท์ของเมษบาลเถิด

เจ้าสาวและเจ้าบ่าว
9 โอ ที่รักของฉันเอ๋ย ฉันขอเปรียบเธอ ประหนึ่งอาชาเทียมราชรถของฟาโรห์
10 แก้มทั้งสองของเธองามด้วยอาภรณ์ ลำคอของเธอก็สวยมีสร้อยประดับเพชร
11 พวกฉันจะทำเครื่องประดับทองคำ มีลูกปัดเงินประกอบ
12 เมื่อพระราชากำลังประทับที่โต๊ะอยู่ น้ำมันแฝกหอมของดิฉันก็ส่งกลิ่นฟุ้งไป
13 ที่รักของดิฉัน เป็นเหมือนห่อมดยอบ สำหรับดิฉัน ห้อยอยู่ระหว่างสองถันของดิฉัน
14 ที่รักของดิฉันนั้น สำหรับดิฉันเธอเป็นเหมือนช่อดอกเทียนขาว อยู่ในสวนองุ่นเอนเกดี
15 ดูเถิด ที่รักของฉัน ดูช่างสวยงาม ดูเถิด เธอสวยงาม ดวงตาทั้งสองของเธอดังนกพิราบ
16 ดูเถิด ที่รัก เธอเป็นคนสวยงาม จริงเจ้าค่ะ เธอเป็นคนน่าชมจริงๆ ที่นอนของเราเขียวสด
17 ขื่อเรือนของเราทำด้วยไม้สนสีดาร์ และแปของเรานั้นทำด้วยไม้สนสามใบ


I. บทนำ (1:1)

1:1 ข้อนี้ระบุว่าผู้เขียนเพลงซาโลมอนคือซาโลมอน ในฐานะกษัตริย์องค์ที่สามของอิสราเอล กษัตริย์องค์นี้ปกครองตั้งแต่ ก.ค.ศ. 971 ถึง 931 ซาโลมอนอาจเป็นกษัตริย์ที่มีทักษะทางภาษาดียิ่งกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ ทุกองค์ เพราะได้เขียนสุภาษิต 3,000 บท และเพลง 1,005 บท (1 พกษ. 4:32) ช่างเหมาะสมที่หัวข้อดีเยี่ยมอย่างความรักหวานชื่นนี้ได้รับการบรรยายด้วยภาษาที่วิจิตร ซึ่งเขียนโดยนักประพันธ์ผู้มีความสามารถ แน่นอน การเขียนนี้อยู่ภายใต้การดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ น่าสนใจที่จากบทเพลงกว่า 1,000 บท ซึ่งซาโลมอนแต่งมีเพียงบทเพลงนี้เท่านั้น ที่พระเจ้าดำริให้อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ ชื่อซาโลมอนได้รับการกล่าวถึงในอีกหกข้อ คือเพลงซาโลมอน 1:5; 3:7, 9, 11; 8:11-12

ชื่อภาษาอังกฤษคือ บทเพลงแห่งเพลงทั้งหลาย (Song of Songs) บอกเงื่อนงำในการตีความงานประพันธ์ชิ้นนี้ มันเป็นเพลงหนึ่งจากบทเพลงมากมาย ดังนั้น ผู้อ่านจึงไม่ควรมองบทประพันธ์นี้เป็นหนังสือรวมบทเพลง แต่ต้องมองว่าเป็นเพลงยาวเพลงเดียว คำว่า “บทเพลงแห่งเพลงทั้งหลาย” สื่อถึงคุณลักษณะที่เหนือกว่า เหมือนคำว่า “บริสุทธิ์ที่สุด” (อพย. 29:37) ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “บริสุทธิ์แห่งบริสุทธิ์ทั้งหลาย” ในเมื่อชื่อนี้บ่งบอกความเหนือกว่า มันจึงอาจหมายความว่า นี่คือบทเพลงที่ดีที่สุดในบรรดาเพลง 1,005 บทของซาโลมอน หรืออาจเป็นไปได้ยิ่งกว่านั้นว่า นี่คือบทเพลงที่ดีเลิศเหนือบทเพลงทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นความหมายไหน บทเพลงนี้ก็ยังมอบกระบวนทัศน์ (แนวคิด) เกี่ยวกับความรักหวานชื่นในการเกี้ยวพาราสีและการแต่งงาน

II. การเกี้ยวพาราสี (1:2-3:5)

บทเพลงท่อนนี้แตกต่างจากอีกสองท่อนหลักอย่างเห็นได้ชัด (3:5-5:1; 5:2-8:4) แม้บทเพลงท่อนนี้ (1:2-3:5) จะเต็มไปด้วยการแสดงออกถึงความปรารถนาทางเพศ แต่คู่รักก็พยายามอดกลั้นใจไว้ อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า ความอดกลั้นใจดังกล่าวไม่ปรากฏในเพลงซาโลมอนอีก หลังจากเสร็จสิ้นขบวนแห่แต่งงาน (3:6-11) ดังนั้น บทเพลงท่อนนี้จึงชี้ให้เห็นความจริงว่าคู่รักต้องมีความอดกลั้นใจเมื่อทั้งสองเกี้ยวพาราสีกัน

ก.เกริ่นนำ : การแสดงออกถึงความอาวรณ์ ไม่มั่นใจ และการสรรเสริญ (1:2-11)

1.บทเพลงแห่งความอาวรณ์ (1:2-4)

1:2-4ก ตามที่ระบุไว้ตรงขอบหน้ากระดาษ พระคัมภีร์ฉบับ NIV เรียกผู้พูดชายว่า “คนรัก” Lover) และผู้พูดหญิงว่า “นางผู้เป็นที่รัก” (Beloved) (ฉบับภาษาไทยเรียกว่า “เจ้าบ่าว” และ “เจ้าสาว” ดังนั้น คำแปลนี้จะเรียกตาฉบับภาษาไทย เพื่อสะดวกในการศึกษา รวมทั้งจะใช้สรรพนามแทนเจ้าบ่าวว่า “เขา” ตามที่ฉบับภาษาไทยใช้เป็นส่วนมาก – ผู้แปล) ผู้พูดคนอื่นๆ ฉบับ NIV เรียกว่า “มิตรสหาย” (Friends) ในข้อ 5:2, 9; 6:1, 13; 8:5, 8-9 ในบางสถานการณ์ ยากจะจำแนกว่าใครเป็นผู้พูด ดังนั้นจึงกลายเป็นประเด็นถกเถียง ข้อเสนอในเรื่องผู้พูดนี้สรุปไว้ในแผนภูมิ “ผู้พูดในเพลงซาโลมอน” โดยมีบางจุดที่แตกต่างจากฉบับ NIV

บทเพลงเริ่มต้นด้วยคำรำพึงรำพันของเจ้าสาว ซึ่งเธอเป็นฝ่ายเริ่มแสดงความปรารถนาร้อนแรงที่จะได้รับความรักใคร่ซึ่งแสดงออกทางกาย จากคนรักของเธอ (ซาโลมอน) (จุบ 1:2) การใช้คำสลับไปมา ระหว่างสรรพนามบุรุษที่สาม (เขา ข้อ 2ก และ ของเขา ข้อ 2ก และ ของพระองค์ ข้อ 4ข) กับสรรพนามบุรุษที่สอง (ของเธอ และ เธอ ข้อ 2ข – ข้อ 4ก) อาจทำให้ผู้อ่านในปัจจุบันสับสน แต่นี่เป็นลักษณะปกติของบทกวีรักในแถบตะวันออกใกล้สมัยโบราณ รูปแบบวรรณศิลป์นี้ทำให้บทกวีถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเธอพูดถึงความรักของเจ้าบ่าว (ข้อ 2ข) เธอกำลังกล่าวถึงการแสดงความรักทางกาย (คำว่า “รัก” ภาษาฮีบรูในที่นี้ เป็นรูปพหูพจน์ โดดิม คำนี้ใช้ใน 4:10 ด้วย) คำกล่าวที่ว่า ความรักของเธอดีกว่าเหล้าองุ่น หมายความว่า ความรักใคร่ที่เขาแสดงออกทางกายนั้น ทำให้เบิกบานและสดชื่น ทั้งยังเป็นบ่อเกิดแห่งความยินดีล้นพ้น

กลิ่นหอมฟุ้งจากน้ำมันเจิมของเขา ทำให้เขายิ่งน่าหลงไหลสำหรับเธอ การกล่าวถึงน้ำมันเจิม (น้ำมันหอม) ทำให้เธอเปรียบนามของเขากับน้ำมัน (หอม) ชื่อของบุคคลแสดงถึงลักษณะนิสัยหรือชื่อเสียงของเขา (ดู 2 ซมอ. 7:9 เปรียบเทียบ) ดังนั้นการเปรียบนามของซาโลมอนกับน้ำหอม หมายความว่า บุคลิกลักษณะ ของเขาเป็นที่พอใจและชวนหลงไหลสำหรับเจ้าสาว เธอกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้สาวๆ จึงรักเขา

ผู้พูดในเพลงซาโลมอนเจ้าสาว เพื่อนของเจ้าสาว ซาโลมอน (เจ้าบ่าว) พระเจ้า พวกพี่ชายของเจ้าสาว
1:2-4ก 1:4ข1:4ค-7 1:8* 1:9-10 1:11*1:12-14 1:151:16-2:1* 2:22:3-13 2:142:15-3:11* 4:1-154:16 5:1ก-2 5:1จ*5:2-8 5:95:10-16 6:16:2-3 6:4-9 6:10*6:11-12* 6:13ก 6:13ข- 7:9ก7:9ข-8:4 8:5ก8:5ข-7 8:8-98:10-12

8:138:14* ในข้อเหล่านี้ ผู้พูดที่เสนอ ณ ที่นี่ แตกต่างจากที่ฉบับ NIV ระบุ

คำกล่าวที่ว่าพระราชา (ดู พซม. 1:12; 3:9, 11; 7:5 เปรียบเทียบ) ได้นำดิฉันไปในห้องโถงของพระองค์ อาจกล่าวในลักษณะคำขอร้อง คือ “ขอให้พระราชาดิฉันสู่ห้องโถงของพระองค์” ในความหมายนี้ เธอกำลังแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะใกล้ชิดลึกซึ้ง และแต่งงานกับเจ้าบ่าว และนี่ก็สอดคล้องกับตอนต้นของ 1:4 ที่ว่า ขอพาดิฉันไป ให้เรารีบไป โดยสรุปแล้ว คำรำพึงรำพันนี้บอกว่า ความปรารถนาทางกายเป็นลักษณะของความรักหวานชื่นระหว่างหนุ่มสาว และความปรารถนานี้ ถ้าปฏิบัติในทางที่ถูก ก็เป็นสิ่งดี ไม่ใช่สิ่งชั่ว คนเราต้อง “ดื่มดำ” (หรือเมา) ด้วยความรักที่มีต่อคู่ชีวิตของตน (ดู สภษ. 5:18-19 เปรียบเทียบ) มิใช่มัวเมาเหล้าองุ่น ยาเสพติด หรือคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของคู่สมรส ควรวางรากฐานบนการพิจารณาที่กว้างไกลกว่าความต้องการทางกายเพียงอย่างเดียว คำพูดของเจ้าสาวชี้ให้เห็นว่า ลักษณะนิสัย (“ชื่อ”) ของบุคคล เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเลือกคู่ครองของตน

1:4ข “เพื่อนๆ” ของเจ้าสาว (ดูขอบหน้ากระดาษฉบับ NIV) ซึ่งในตอนอื่นๆ เรียกว่า “บุตรีเยรูซาเล็ม” (ข้อ 5; 3:10; 5:8, 16) และ “บุตรีแห่งศิโยน” (3:11) พูดข้อความใน 1:4ข มีความเห็นมากมายเกี่ยวกับฐานะของ “บุตรีเยรูซาเล็ม” อาทิพวกเธออาจเป็น แขกสตรีสนงานแต่งงานสตรีสูงศักดิ์ในพระราชสำนัก นางห้ามในฮาเร็มของกษัตริย์ ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ คำนี้หมายถึงสตรีชาวเยรูซาเล็ม (ดู อสย. 51:18; 60:4; อสค. 19:2, 10; ฮชย. 2:2, 5 เปรียบเทียบ)

ท่อนสร้อยนี้เป็นวรรณศิลป์ของเพลงบทนี้ ซึ่งเจ้าสาวและคนรักของเธอแสดงออกถึงความรู้สึก และความคิดคำนึงได้อย่างเต็มที่ โดยการสรรเสริญซาโลมอน (คำว่าเธอ เป็นคำเพศชาย เอกพจน์) ในเพลงซาโลมอน 1:4 บรรดา “บุตร” ดูเหมือนจะเห็นพ้องกันว่า คู่รักคู่นี้มีความหวานชื่นที่ทุกคนใฝ่ฝัน บรรทัดสุดท้ายของข้อ 4 อาจเป็นคำพูดของเจ้าสาว (ดูขอบหน้ากระดาษฉบับ NIV) หรือเป็นไปได้มากที่อาจเป็นคำของพวกเพื่อนๆ

2.บทเพลงแห่งความไม่มั่นใจ (1:5-8)

1:5-6 ผิวพรรณสีเข้มของเจ้าสาว (ดิฉันผิวดำ) บ่งบอกว่าเธอทำงานในท้องทุ่ง เรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกไม่มั่นใจ (อย่ามองค่อนขอดดิฉัน) เมื่ออยู่ท่ามกลางชาวเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีในเยรูซาเล็ม เธอเปรียบผิวเข้มของเธอกับเต็นท์ของพวกเคดาร์ ซึ่งทำจากขนแพะสีดำ ชาวเคดาร์เป็นเผ่าเร่ร่อนที่อยู่ทางตอนเหนือของอาระเบีย สืบเชื้อสายมาจากอิชมาเอล (ปฐก. 25:13) พวกเขาเป็นที่รู้จักในเรื่องการยิงธนู (อสย. 21:16-17) และฝูงสัตว์ (อสย. 60:7; ยรม. 49:28-29; อสค. 27:21; และดู สดด. 120:5; อสย. 42:11; ยรม. 2:10 ด้วย) เห็นได้ชัดว่าวิสูตร (ม่านเต็นท์) ของซาโลมอนก็เป็นสีดำด้วย

คำบรรยายผิวพรรณสีเข้มของเธอนั้นแทบจะเป็นคำขอโทษ เนื่องจากงานหนักกลางแจ้งในสวนองุ่น ซึ่งพวกพี่ๆ สั่งให้เธอทำ เธอถูกบังคับให้ละเลยการดูแลสวนองุ่นของตนเอง นั่นคือ ตัวเธอและผิวพรรณของเธอ (ดู พซม. 8:12 เปรียบเทียบ)

1:7 ความรู้สึกไม่มั่นใจของเจ้าสาวปลุกเร้าความปรารถนาอยากให้คนรักมาอยู่ใกล้ เธอพูดกับเขาดุจพูดกับผู้เลี้ยงแกะ (คำเปรียบเปรยตัวละครชายที่พบบ่อยในบทกวีรักแถบตะวันออกใกล้สมัยโบราณ) พระคัมภีร์ข้อนี้อาจเป็นคำรำพึงรำพัน (โดยอนุมานว่าเจ้าบ่าวไม่อยู่กับเธอ) หรือถ้าเขาอยู่กับเธอ ข้อนี้ก็อาจเป็นคำขอร้องที่จะพบกันในวันข้างหน้าก็ได้ เธอกล่าวว่าถ้าเธอไม่อาจอยู่กับเขา เธอก็จะเป็นเหมือนหญิงที่เอาผ้าปิดตา (คลุมหน้า) วลีชวนฉงนนี้อาจหมายความว่า คนอื่นจะเข้าใจผิดว่าเธอเป็นโสเภณี (ดู ปฐก. 38:14-15 เปรียบเทียบ) หรือที่เป็นไปได้มากกว่านั้น คืออาจหมายความว่า ถ้าปราศจากซาโลมอน เธอคงโศกเศร้าเหมือนคนกำลังไว้ทุกข์ (ดู อสค. 24:17, 22 เปรียบเทียบ)

1:8 คำตอบในข้อนี้มักยกให้เป็นคำพูดของเจ้าบ่าว เนื่องจากคำถามก่อนหน้านั้นเอ่ยแก่เขา (ข้อ 7) ถ้าซาโลมอนเป็นผู้พูด ข้อนี้ก็น่าจะเป็นคำตอบกระเซ้าหรือหยอกเย้า อย่างไรก็ตาม ข้อความนี้ฟังดูเย็นชาและห่างเหินเกินกว่าซาโลมอนจะเป็นผู้พูด ดังนั้น มันอาจเป็นคำตอบแบบดูถูกของพวกเพื่อนๆ แม่งามเลิศในท่ามกลางหญิงทั้งหลาย “ถ้าเธอไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน ก็จงไปหาเมษบาอื่นๆ ที่เป็นของเจ้าเถิด” (จงเลี้ยงฝูงแพะแกะของเธอไว้)

3.บทเพลงแห่งการสรรเสริญ (1:9-11)

1:9-11 คำตอบสำหรับความรู้สึกไม่มั่นใจของเจ้าสาว (ข้อ 5-6) คือคำสรรเสริญจากคนรักของเธอ บ่อยครั้งที่เขาเรียกเธอว่าที่รักของเขา (ข้อ 9, 15; 2:2, 10, 13; 4:1, 7; 5:2; 6:4) บทกวีอาหรับโบราณ บางครั้งก็เปรียบผู้หญิงกับม้า ในฐานะสิ่งสวยงาม แต่คำกล่าวใน 1:9 น่าจะเจาะจงกว่านั้น วลี อาชาเทียมราชรถของฟาโรห์ นั้น มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ม้าตัวเมียท่ามกลางรถรบทั้งหลายของฟาโรห์” หน้าที่ลากรถรบเป็นของม้าหนุ่ม ไม่ใช่ม้าตัวเมีย ดังนั้น การที่ม้าตัวเมียมาอยู่ ท่ามกลาง รถรบอาจก่อให้เกิดความโกลาหล ประเด็นของคำเปรียบเทียบนี้คือ ในความเห็นของซาโลมอน เธองดงามและน่าเสาะหา ประหนึ่งว่าเธอเป็นหญิงคนเดียวท่ามกลางโลกที่มีแต่ชาย เมื่อเจ้าบ่าวกล่าวต่อว่า เธองามด้วยเครื่องประดับ (อาภรณ์ (ต่างหู) และสร้อยค้อ ข้อ 10) พวกบุตรีเยรูซาเล็ม (พวกฉัน ในข้อ 11) ก็จำต้องเปลี่ยนท่าทีแห่งการดูถูก (ข้อ 6) และต้องเห็นด้วยกับความเห็นของพระราชา พวกเธอยังเห็นพ้องกันที่จะทำเครื่องประดับของเจ้าสาว ข้อ 10 ยังมีคำชมครั้งแรกจากหลายๆ ครั้ง ที่เจ้าบ่าวชมว่าเจ้าสาวสวยงาม (ดูข้อ 15 [สองครั้ง]; 2:10, 13; 4:1 [สองครั้ง], 7; 6:4; 7:1; 6 เปรียบเทียบ) กล่าวโดยสรุปคือ เนื่องจากเจ้าสาวรู้สึกเขินอายผิวพรรณของเธอ เจ้าบ่าวจึงสรรเสริญความงามฝ่ายร่างกายของเธอ เพื่อคนที่ให้ร้ายเธอจะต้องเห็นด้วยกับเขา

ข. ความรักเจริญเติบโตและร้อนแรง (1:12-3:5)

บทเพลงช่วงนี้ประกอบด้วยท่อนสั้นๆ รวมกันเป็นชุด ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการในการเกี้ยวราพาสีของคู่รักคู่นี้ ความรู้สึกโหยหาและคำสรรเสริญซึ่งกันและกันได้ขยายความและเข้มข้นขึ้น และความไม่มั่นใจของเจ้าสาวก็ได้รับการบรรเทาท่อนแรก (1:12-2:6) กล่าวถึงความปรารถนา การสรรเสริญและความมั่นใจที่เข้มข้นขึ้น ท่อนสร้อย (2:7) เป็นคำวิงวอนให้อดทน เนื่องจากความรักไม่สามารถบังคับกันได้ ท่อนที่สอง (2:8-17) กล่าวถึงรางวัลของความอดทน และความใกล้ชิดที่พัฒนาไป ท่อนที่สาม (3:1-4) กล่าวถึงความโหยหาที่เข้มข้นยิ่ง และหลังจากท่อนสร้อยอันเหมาะสม ซึ่งเป็นคำวอนของให้อดทน (3:5) ความโหยหาก็ตามมาด้วยรางวัล คือการแต่งงาน (3:6-5:1)

1.เจ้าบ่าวเจ้าสาวสรรเสริญกันและกัน (1:12-2:6)

1:12-14 เจ้าสาวสรรเสริญพระราชา ในเรื่องบุคลิกลักษณะที่น่าพึงใจและดึงดูดใจ ซึ่งเปรียบได้กับน้ำหอม (ดูคำอธิบายของข้อ 3 เปรียบเทียบ) ซึ่งทำหน้าที่ดึงดูด มากกว่าจะขับไล่ เขาอยู่ในความคิดของเธอเสมอ เฉกเช่น กลิ่นมดยอบ (ในห่อผ้าห้อยคอเธอ) ที่ประวิงอยู่ในจมูกของเธอเสมอ มดยอบเป็นยางไม้กลิ่นหอมชื่นใจ ซึ่งไหลซึมจากต้นไม้เล็กๆ ในอาระเบียมดยอบได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งในเพลงซาโลมอน (ข้อ 13; 3:6; 4:6; 14; 5:1, 5 [สองครั้ง], 13) ผู้ชายอื่นๆ เมื่อเปรียบกับเขาแล้วก็เหมือนทะเลทราย ท่ามกลางคนเหล่านั้น เขาโดดเด่นเหมือนหมู่ดอกไม้ในโอเอซิสกลางทะเลทราย ดอกเทียนขาว (ดู 4:13 เปรียบเทียบ) มีสีสะอาดตาและ เอนเกดี ก็เป็นโอเอซิสททางฝั่งตะวันตกของทะเลตาย ก่อนนั้น กษัตริย์ดาวิดเคยหลบมาที่เอนเกดี เมื่อครั้งพระองค์หนีจากกษัตริย์ซาอูล (1 ซมอ. 23:29; 24:1) 1:15 เจ้าบ่าวตอบแทนคำสรรเสริญของเธอ โดยไม่เพียงชมความงามของเธอเท่านั้น (คำว่าสวยงาม ปรากฏสองครั้งในข้อนี้) แต่ยังชมบุคลิกลักษณะที่สงบของเธอด้วย ในสมัยโบราณนกพิราบ (ดู 2:12, 14; 4:1; 5:2, 12; 6:9) มีลักษณะเด่นคือ ความสะอาดและความสงบ “ตามคำสอนของพวกรับบี เจ้าสาวที่มีนัตย์ดางดงาม ก็มีลักษณะนิสัยงาม นัยน์ตาคือดัชนีที่ชี้ถึงลักษณะนิสัย” (S.M. Lehrman, “The Song of Songs,” in the Five Megilloth, p. 4)

1:16-17 ทั้งสองข้อนี้อาจกล่าวโดยเจ้าสาว (แทนที่จะเป็น ข้อ 16 โดยเจ้าสาว และข้อ 17 โดยเจ้าบ่าว ดังที่ฉบับ NIV เสนอไว้) แม้เธอจะยอมรับความงามทางร่างกายของเขา (สวยงาม) แต่เธอก็หลงไหลเสน่ห์แห่งบุคลิกภาพของเขามากกว่า (เธอเป็นคนน่าชมจริงๆ) คำว่า “น่าชม” หมายความว่า “น่าพึงใจ” หรือ “น่ารัก” และคนที่ทั้งหล่อและน่าพึงใจนั้นหายากทั้งในสมัยนั้นและสมัยนี้ นี่เป็นครั้งแรก จากนับสิบๆ ครั้ง ที่เธอเรียกเขาว่า ที่รัก สำหรับ ขื่อเรือนไม้สนสีดาร์ และแปไม้สนสามใบ อาจไม่ได้หมายถึงสิ่งก่อสร้างจริงตามตัวอักษร แต่เป็นคำอุปมาอุปไมย เปรียบถึงฉากท้องทุ่งซึ่งทั้งสองพบกันเป็นครั้งแรก เรื่อนี้ยังมีข้อสนับสนุนจากคำว่าที่นอนเขียวสด ทุ่งหญ้าที่ทั้งสองพบรักและนั่งสนทนากันนั้นเป็นสีเขียว
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 7:54 am

(ตอนที่ 4 )

เพลงซาโลมอนบทที่ 2

1 ดิฉันเหมือนดอกฝรั่นในทุ่งชาโรน เหมือนดอกซ่อนกลิ่นในลุ่มแม่น้ำ
2 ดอกพลับพลึงท่ามกลางต้นกระชับนั้นอย่างไร ที่รักของฉันก็อยู่เด่นในท่ามกลางสาวอื่นๆอย่างนั้น
3 ต้นท้อขึ้นอยู่กลางต้นไม้ป่าอย่างไร ที่รักของดิฉันก็อยู่ท่ามกลางชายหนุ่มอื่นๆอย่างนั้น ดิฉันอยากนั่งอยู่ใต้ร่มของเขา
และผลของเขา ดิฉันได้ลิ้มรสหวาน
4 เขาได้พาดิฉันให้เข้าในอาคารเลี้ยง และธงสำคัญของเขาซึ่งห้อยอยู่เหนือดิฉันนั้นคือความรัก
5 จงชูกำลังของดิฉันด้วยขนมองุ่นแห้ง ขอทำให้ดิฉันชื่นใจด้วยผลลูกท้อ เพราะดิฉันป่วยเป็นโรครัก
6 ขอแขนซ้ายของเขาช้อนใต้ศีรษะของดิฉันไว้ และแขนขวาของเขาสอดกอดดิฉันไว้
7 โอ เหล่าบุตรีแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย ดิฉันขอให้เธอทั้งหลายสาบานต่อละมั่งหรือกวางตัวเมียในทุ่งว่า
เธอทั้งหลายจะไม่เร้าหรือจะไม่ปลุกความรักให้ตื่นกระตือขึ้น จนกว่าความรักจะจุใจแล้ว
8 แน่ะ เสียงที่รักของดิฉัน ดูเถิด เขามาแล้ว กำลังเต้นโลดอยู่บนภูเขา กำลังกระโดดอยู่บนเนินเขา
9 ที่รักของดิฉันเป็นดุจดังละมั่ง หรือดุจดังกวางหนุ่ม ดูเถิด เขากำลังยืน อยู่ที่ข้างหลังกำแพงของเรา
ขาชะโงกหน้าต่างเข้ามา เขาสอดมองดูทางตาข่าย
10 ที่รักของดิฉันได้เอ่ยปากพูดกับดิฉันว่า "ที่รักของฉันเอ๋ย เธอจงลุกขึ้นเถอะ คนสวยงามของฉันเอ๋ย จงมาเถิด
11 ด้วยว่า นี่แน่ะ ฤดูหนาวล่วงไปแล้ว และฝนก็วายแล้ว
12 ดอกไม้ต่างๆนานากำลังปรากฏบนพื้นแผ่นดิน เวลาสำหรับวิหคร้องเพลงมาถึงแล้ว และเสียงคูของนกเขา
ก็ได้ยินอยู่ในแผ่นดินของเรา
13 ต้นมะเดื่อกำลังบ่มผลดิบให้สุก และเถาองุ่นมีดอกบานอยู่ มันส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ที่รักของฉันเอ๋ย จงลุกขึ้นเถอะ
คนสวยงามของฉันเอ๋ย จงมาเถิด
14 โอ แม่นกเขาของฉันเอ๋ย แม่นกตัวที่อยู่ซอกผา ในซุ้มลับแห่งเขาชัน ขอให้ฉันได้ชมรูปโฉมของเธอหน่อยเถอะ
ขอให้ฉันได้ยินสำเนียงของเธอหน่อย ด้วยว่าน้ำเสียงของเธอก็หวาน และรูปโฉมของเธอก็งามวิไล
15 จงจับสุนัขจิ้งจอกมาให้เรา คือสุนัขจิ้งจอกตัวเล็ก ที่ทำลายสวนองุ่น เพราะว่าสวนองุ่นของเรากำลังมีดอกแล้ว"
16 ที่รักของดิฉันเป็นกรรมสิทธิ์ของดิฉัน และตัวดิฉันก็เป็นของเขา
เขากำลังเลี้ยงฝูงสัตว์ของเขาท่ามกลางหมู่ต้นพลับพลึงแดง
17 โอ ที่รักของดิฉัน จงเต้นโลดจนเวลาเย็น และเงาหมดไปแล้ว ขอเธอเป็นดั่งละมั่ง
หรือกวางหนุ่มที่เทือกเขาเบเธอร์เถิด


2:1 ในข้อนี้ เจ้าสาวเรียกตนเองว่า ดอกฝรั่นในทุ่งชาโรน ชาโรนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางชายฝั่งทะเล จากเมืองซีซารียาถึงเมืองยัฟฟา คำว่า ดอกฝรั่นในภาษาฮีบรูคือ คาบาสเซเลท พบอีกครั้งเดียวในพระคัมภีร์เดิม ที่อิสยาห์. 35:1 ดอกไม้ชนิดนี้เป็นดอกไม้ธรรมดาๆ ในท้องทุ่ง ดอกพลับพลึงก็เป็นดอกไม้ธรรมดาๆ ซึ่งมีการเอ่ยถึงบ่อยครั้งในเพลงซาโลมอน (2:1-2, 16; 4:5; 5:13; 6:2-3; 7:2) แม้เธอจะเปรียบตนเองด้วยความถ่อมตัวโดยบอกว่า เธอเป็นเหมือนดอกไม้ธรรมดาๆ ในท้องทุ่ง แต่คำกล่าวของเธอ (2:1) ก็สะท้อนชัดถึงความรู้สึกต่อตนเองที่เปลี่ยนไปจากเดิม (1:5-6) พัฒนาการของเธอนี้อาจเป็นเพราะคนรักสรรเสริญเธอ (1:9-10, 15)

2:3-6 คำสรรเสริญที่รัก ซึ่งเจ้าสาวกล่าวตอบแทน ก็แสดงออกแบบอุปมาอุปไมยเช่นกัน ต้นท้อเมื่อพบมันอยู่ในป่า ย่อมเป็นความเบิกบานอันน่าประหลาดในฉันใด ชายเฉกเช่นซาโลมอนก็น่าพึงใจและ “หา” ยากท่ามกลางชายหนุ่มอื่นๆ ฉันนั้น เขาไม่เหมือนใคร ทั้งยังหวานชื่นและหอมหวล

คำที่เจ้าสาวสรรเสริญเจ้าบ่าวเปิดเผยสามแง่มุมในความรักหวานชื่นระหว่งชายหญิง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้หญิง แง่มุมแรก เธอสัมผัสได้ว่าเขาปกป้องเธอ คำว่า นั่งใต้ร่มของเขา เป็นคำเปรียบเปรยแสดงถึงการคุ้มครอง ไม่เพียงในพระคัมภีร์เท่านั้น วรรณกรรมตะวันออกใกล้สมัยโบราณก็ใช้คำเปรียบนี้ด้วย เธอเคยทำงานกลางแดด (1:6) แต่เวลานี้เธอมีความสุขเมื่อได้พักผ่อนภายใต้การปกปักของเขา แง่มุมที่สอง ทั้งสองปลูกฝังวามสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้พวกเขารู้จักกันและกันอย่างลึกซึ้ง คำว่า ลิ้มรส แสดงถึงความรู้เกี่ยวกับใครสักคน ซึ่งได้รับผ่านทางประสบการณ์ส่วนตัวที่ลึกซึ้ง (ดู สดด. 34:8 เปรียบเทียบ “เชิญชิมดูแล้วจะเห็นว่า พระเจ้าประเสริฐ) แง่มุมที่สาม เจ้าสาวประทับใจที่ ซาโลมอนยอมให้คนอื่นเห็นความรักที่เขามีต่อเธอ เช่นเดียวกับที่ธง (มาตรฐานทางการทหาร) เป็นเครื่องหมายเด่นชัดสำหรับกองพลที่กำลังสวนสนาม ความรักที่ซาโลมอนมีต่อเจ้าสวก็เด่นชัดสำหรับทุกคนที่สังเกตความสัมพันธ์ของทั้งสอง เขาไม่รู้สึกอายที่รักเธอ ตรงข้ามเขาพึงพอใจเธอและคนอื่นก็เห็นเรื่องนี้ชัดเจน วิธีหนึ่งที่เขาแสดงให้คนอื่นเห็นคือ การพาเธอไปในอาคารเลี้ยง (ดูคำว่า “โต๊ะ” ใน พซม. 1:12 เปรียบเทียบ) ในพระราชวัง

สามสิ่งนี้คือ การปกป้องโดยคนรัก การรู้จักเขาอย่างลึกซึ้ง และการแสดงความรักอย่างชัดเจน คือองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงมั่นและรู้สึกว่าตนมีค่า อันจะทำให้เธอเป็นสุขกับชีวิตสมรสที่มั่นคง

เจ้าสาวเริ่มประสบสามสิ่งนี้เมื่ออยู่กับซาโลมอน ขณะทั้งสองเกี้ยวพาราสี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เธอ ป่วยเป็นโรครัก (2:5 ดู 5:8 เปรียบเทียบ) สำนวน ป่วยเป็นโรครัก เป็นสำนวนธรรมดาๆ ในบทกวีรักตะวันออกใกล้สมัยโบราณ ดังนั้น เธอจึงแสดงความปรารถนาที่จะได้รับกำลังและการโอบกอดจากเขา เนื่องจากเธออ่อนแอฝ่ายร่างกาย เธอจึงต้องการแรงกระตุ้นจากอาหาร เช่น ขนมองุ่นแห้ง และ ผลลูกท้อ “ขนมลูกองุ่นแห้ง” เป็นอาหารโอชะของชาวตะวันออกใกล้ (1 พศด. 12:40; อสย. 16:7; ฮชย. 3:1)

เนื่องจากเพลงซาโลมอน 2:5 เป็นคำขอร้อง จึงเป็นไปได้ว่า ข้อ 6 ก็ควรจะแปลเป็นคำขอร้อง (ขอแขนซ้ายของเขาช้อนใต้ศีรษะของดิฉันและขอให้แขวนขวาของเขาสอดกอดดิฉันไว้) แทนที่จะเป็นประโยคบรรยาย

2.ท่อนสร้อย (2:7)

2:7 ท่อนสร้อยนี้ ซึ่งเจ้าสาวกล่าวแก่บุตรี (ชาวเมือง ดูคำอธิบาย 1:4 เปรียบเทียบ) เยรูซาเล็ม ปรากฏอีกครั้งใน 3:5 และปรากฏบางส่วนใน 8:4 ในสามข้อนี้ ท่อนสร้อยทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายบ่งชี้ตามโครงสร้างบทกวี คือเป็นเครื่องหมายบอกว่าจบตอนหนึ่ง และกำลังจะขึ้นต้นอีกตอนหนึ่ง ความหมายของท่อนสร้อยคือ เราไม่สามารถบังคับให้เกิดความรักได้ แต่เราต้องรอคอยความรักด้วยความอดทน เจ้าสาวเตือนทุกคนที่ปรารถนาความสัมพันธ์อย่างที่เธอและซาโลมอนมีต่อกัน ให้รอคอยพระเจ้าด้วยความอดทนเพื่อพระองค์จะนำความสัมพันธ์เช่นนี้มาสู่ชีวิตพวกเขา ละมั่ง (2:17; ดูข้อ 17; 3:5; 4:5; 7:3; 8:14 เปรียบเทียบ) และกวางตัวเมีย เป็นสัตว์ที่งามสง่าและคล่องแคล่ว เป็นธรรมดาสำหรับคนผู้เป็นที่รัก ซึ่งกำลังคิดถึงท้องทุ่งและป่าไม้ ที่จะสาบานต่อสัตว์บนภูเขา

3.ชมชนบท (2:8-17)

ท่อนก่อนหน้านี้ (1:2-2:7) ดูเหมือนจะอยู่ในฉากพระราชวัง (1:4-2:4) ถึงแม้จะมีการกล่าวถึงฉากกลางแจ้ง (เช่น 1:14; 2:1-3) แต่ฉากใน 2:8-3:5 เป็นชนบทใกล้ๆ บ้านเจ้าสาว เธออาจอาศัยในเลบานอน เหนืออิสราเอลขึ้นไป (ดู 4:8, 15 เปรียบเทียบ) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ความรู้สึกที่คู่รักถวิลหากันและกันนั้นเข้มข้นขึ้น และความใกล้ชิดลึกซึ้งก็เพิ่มขึ้น

2:8-9 เมื่อซาโลมอนมาเกือบถึงบ้านเจ้าสาว เธอก็บรรยายการมาของเขาด้วยความตื่นเต้นว่า เขาเหมือนละมั่งหรือดุจดังกวางหนุ่ม (ดู ข้อ 17; 8:14 เปรียบเทียบ) ข้อนี้เน้นย้ำถึงรูปกายน่าดึงดูด พละกำลังและความกระฉับกระเฉงของเขา (ดูคำอธิบายคำว่าละมั่งใน 2:7) เขามาใกล้กำแพงบ้านบิดามารดาเธอ แล้วสอดมองดูทางตาข่ายหน้าต่าง เขาตื่นเต้นอยากเห็นเธอ

2:10-13 ซาโลมอน คนรักของเธอ ชวนที่รักของตนออกไปเดินเล่นในชนบท เขาขึ้นต้นและลงท้ายคำชวนของเขาด้วยคำว่า จงมาเถิด (ข้อ 10, 13; ดู 8:14 เปรียบเทียบ) คำบรรยายภาพฤดูใบไม้ผลิอย่างละเอียด อาจมีเจตนามากกว่าการชี้ให้เห็นความงดงามของฉากเพียงอย่างเดียว ดูเหมือนเขากำลังบรรยายความสัมพันธ์ของเขากับคนรักด้วย ในแง่หนึ่ง เมื่อคนอยู่ในห้วงความรัก ความรู้สึกของเขาก็เหมือนฤดูใบไม้ผลิ เพราะทุกอย่างดูสดชื่นและใหม่ เขามองโลกนี้ด้วยมุมมองใหม่ นั่นคือความรู้สึกของซาโลมอน เมื่อเขาอยู่กับคนรักของเขา มีหลายประโยคที่กล่าวถึงความงามของฤดูใบไม้ผลิคือ (1) ฤดูหนาวล่วงไปแล้ว คำว่าฤดูหนาว (สะทาว ใช้ที่นี่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์เดิม) หมายถึงฤดูที่มีเมฆครึ้มในเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งจบลงด้วยฝน (2) ดอกไม้ต่างๆ นานาปรากฏในฤดูใบไม้ผลิ เพิ่มสีสันแก่ทิวทัศน์ เป็นเหตุให้คนร้องเพลงด้วยความชื่นบาน (3) นกเขาส่งเสียงคู “ประกาศ” ว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึง (4) ต้นมะเดื่อบ่มผลดิบให้สุก (ดู นฮม. 3:12 เปรียบเทียบ) ผลดิบอาจเป็นมะเดื่อที่คาต้นอยู่ตั้งแต่ฤดูร้อนที่แล้วแล้วมาสุกเมื่อเริ่มฤดูใบไม้ผลิ หรือไม่ก็เป็นมะเดื่อพวงเล็กๆ ที่ออกในเดือนมีนาคม (5) เถาองุ่นผลิดอก ส่งกลิ่นหอม ไม่นานก่อนผลองุ่นจะปรากฏคำว่า มีดอกบาน แปลมาจาก สะมาดาร์ ซึ่งปรากฏเฉพาะที่นี่ และในเพลงซาโลมอน 2:15 (“กำลังมีดอก”) ดังนั้น ฤดูใบไม้ผลิจึงปลุกเร้าประสาทสัมผัส ทั้งประสาทรับภาพ เสียง รส และกลิ่น

2:14 ลักษณะอีกประการของความรักแท้คือ ความปรารถนาจะอยู่กับคนรักของตนตามลำพัง ความปรารถนานี้สัมผัสได้ง่ายขณะที่คู่รักเกี้ยวพาราสี แต่น่าเสียดายที่มันมักจางหายไปในชีวิตสมรส กระนั้น ถ้าจะให้ความรักเติบโต คู่สมรสก็ต้องหาเวลาอยู่กันตามลำพัง นกเขา (ดูข้อ 12 และคำอธิบาย 1:15 เปรียบเทียบ) ซ่อนในซอกผา ลังเลที่จะออกมาโผบิน เจ้าบ่าวเปรียบคนรักของตนกับนกเขาที่ทำเช่นนั้น คือ เธอลังเลที่จะออกไปเดินเล่นกับเขาในชนบท ดังนั้นเขาจึงเรียกอีกครั้ง (ดู 2:10 เปรียบเทียบ) ให้เธอออกจากบ้านและไปกับเขา เพื่อเขาจะได้ยินเสียงหวานๆ และรูปโฉม (ใบหน้า) งามวิไลิของเธอ

2:15 เจ้าสาวน่าจะเป็นผู้พูดประโยคนี้ มากกว่าจะเป็นเจ้าบ่าว เธออาจกล่าวในลักษณะบทกวี เปรียบเทียบความสัมพันธ์ของเธอกับคนรัก มากกว่าจะกล่าวถึงสุนัขจิ้งจอกและสวนองุ่นจริงๆ ตามตัวอักษร สุนัขจิ้งจอกขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการทำลายพืชผลแห่งท้องทุ่ง ดังนั้นการที่เธอกล่าวถึงสัตว์ชนิดนี้ จึงน่าจะเป็นอุปมาอุปไมย หมายถึงปัญหาบางประการในความสัมพันธ์ของพวกเขา เจ้าสาวขอให้คนรักของเธอริเริ่มแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่อันตรายต่อความสัมพันธ์ของทั้งสอง “สุนัขจิ้งจอก” (พหูพจน์) เป็นตัวแทนอุปสรรคและการทดลองนานัปการ ที่ทำลายคู่รักมาตลอดหลายศตวรรษ บางทีมันอาจเป็นสุนัขจิ้งจอกแห่งความปรารถนาที่ไม่มีการควบคุม ซึ่งตอกลิ่มแห่งความรู้สึกผิดลงระหว่างคู่รัก มันอาจเป็นสุนัขจิ้งจอกแห่งความไม่ไว้ใจและหึงหวง ซึ่งทำลายพันธความรักลง หรือมันอาจเป็นสุนัขจิ้งจอกแห่งความเห็นแก่ตัวและหยิ่งยโส ซึ่งปฏิเสธไม่ยอมให้ใครรับรู้ความผิดที่ตนทำต่ออีกฝ่าย หรือมันอาจเป็นจิตวิญญาณที่ไม่ยอมให้อภัย ซึ่งไม่ยอมรับคำขอโทษของอีกฝ่าย สุนัขจิ้งจอกเหล่านี้ทำลายสวนองุ่นมาเป็นปีๆ และยังมองไม่เห็นว่าความเสียหายที่พวกมันก่อจะจบลงตรงไหน” (S. Craig Glickman, A Song for Lovers, pp. 49-50) แม้แต่คู่รักหรือคู่สมรสที่ดีดุจดั่งอุดมคติก็ยังประสบปัญหาร้ายแรงบางอย่าง ความเต็มใจของทั้งสองที่จะแก้ปัญหาร่วมกันคือ ข้อพิสูจน์ถึงความเป็นผู้ใหญ่ของทั้งสอง

2:16-17 ถึงแม้ว่าทั้งสองจะมีปัญหาบางประการในความสัมพันธ์ (ดูคำอธิบายของข้อ 15) เจ้าสาวก็ยังรู้ว่า ที่รักของเธอเป็นกรรมสิทธิ์ของเธอและเธอก็เป็นของเขา ทั้งสองมีใจมั่นคงต่อกันและกัน แม้ทั้งสองจะต้องต่อสู้ร่วมกัน แต่เธอก็สามารถพักสงบในความรัก ที่เปรียบประดุจผู้เลี้ยงแกะ ของเจ้าบ่าว เธอกล่าวว่า เขากำลังเลี้ยงฝูงสัตว์ของเขา (แปลตามตัวอักษรว่า “เขาพา” ฝูงสัตว์ของเขากินหญ้า) ท่ามกลางหมู่ต้นพลับพลึงแดง (ดู 6:3 เปรียบเทียบ) การที่เธอพูดกับตัวเอง (ใช้คำสรรพนามส่วนตัว ของดิฉันของเขา และ เขา) ในข้อ 2:16 ทำให้ข้อ 17 ก็อาจเป็นคำรำพึงรำพันด้วยเมื่อเธอคิดว่าเธอและคนรักเป็นของกันและกัน ความคิดนั้นก็นำให้เธอเกิดความปรารถนาที่จะใกล้ชิดลึกซึ้งทางร่างกาย เธอจึงเชิญเขาในใจให้เต้นโลด (ฉบับภาษาอังกฤษมีคำว่า ให้เจ้าบ่าวหัน นั่นคือหันมาหาเธอ) ด้วยกำลังและความกระฉับกระเฉงของละมั่ง หรือกวางหนุ่ม (ดูข้อ 9; 8:14 เปรียบเทียบ) คำว่า เทือกเขาเบเธอร์ ฮาเร บาเทอร์ แปลตามตัวอักษรคือ “เนินเขาหรือภูเขาที่มีรอยแยกหรือหว่างเขา” บางคนกล่าวว่า คำนี้หมายถึงภูเขาจริงๆ บางทีอาจเป็น “เนินเขาเบเธอร์ (ขอบหน้ากระดาษของฉบับ NIV) ถึงแม้ตำแหน่งของสถานที่นี้จะไม่เป็นที่รู้จัก ถ้าเป็นความหมายนั้น เนินเขาแยกคู่รักคู่นี้จากกัน แต่ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากเจ้าบ่าวมาถึงกำแพงบ้านและตาข่ายหน้าต่างของเธอแล้ว (2:9) ดูเหมือนเราน่าจะมองว่านี่เป็นคำกล่าวอย่างละเมียดละไมถึงหน้าอกของเธอ (ดู 4:6 เปรียบเทียบ) ซึ่งก็เล็งถึงความอาวรณ์ถึงคืนวันแต่งงาน ที่ทั้งสองจะเป็นของกันและกันอย่างสมบูรณ์ ถ้านี่คือความหมายที่ถูกต้อง ก็หมายความว่า เธอต้องการความใกล้ชิดลึกซึ้ง ที่เนิ่นนานตลอดคืน จนถึงเวลาเย็น (หรือค่ำคืน) หมดไป (แปลตามตัวอักษรคือ “สูดลมหายใจ”) เมื่อรุ่งสางมาถึงและเงาแห่งค่ำคืนอันตรธาน เมื่อการสมรสของทั้งสองบรรลุสมบูรณ์ พวกเขาทำสิ่งนี้ (ดู 4:5-6) ตามที่กล่าวไปแล้วระหว่างการเกี้ยวพาราสี เมื่อทั้งสองแสดงความรักต่อกัน ทั้งเจ้าสาวและเจ้าบ่าวยังมีการหักห้ามใจ ถึงกระนั้นเนื่องจากความรักที่ลึกซึ้งและการทุ่มเทใจให้กันและกัน ทั้งสองจึงถวิลหาวันที่จะได้แต่งงานกัน
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 7:57 am

(ตอนที่ 5 )

เพลงซาโลมอนบทที่ 3


คำรำพึงของเจ้าสาว

1 ยามราตรีกาลเมื่อดิฉันนอนอยู่ ดิฉันมองหาเขาผู้นั้น ที่ดวงใจของดิฉันรักใคร่ ดิฉันมองหาเขา แต่หาได้พบไม่
2 "บัดนี้ดิฉันจะลุกขึ้น แล้วจะเที่ยวไปในเมืองให้ตลอด ไปตามตรอกน้อยและลานเมือง
ดิฉันจะแสวงหาเขาผู้นั้น ที่ดวงใจของดิฉันรักใคร่" ดิฉันมองหาเขา แต่หาได้พบไม่
3 พวกพลตระเวนที่ลาดตระเวนในเมืองนั้น ได้พบดิฉัน แล้วดิฉันถามเขาว่า
"ท่านเห็นเขาผู้นั้น ที่ดวงใจของดิฉันรักใคร่ไหม"
4 พอดิฉันผ่านพลตระเวนพ้นมาหน่อยเดียว ดิฉันก็พบเขาผู้นั้น ที่ดวงใจของดิฉันรักใคร่ ดิฉันจับตัวเขากุมไว้แน่น
และไม่ยอมปล่อยมือให้เขาหลุดไปเลย จนดิฉันพาเขาให้เข้ามาในเรือนของมารดาดิฉัน
และให้เข้ามาในห้องของผู้ที่ให้ดิฉันได้ปฏิสนธิ
5 โอ เหล่าบุตรีแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย ดิฉันขอให้เธอทั้งหลายสาบานต่อละมั่งหรือกวางตัวเมียว่า
เธอทั้งหลายจะไม่เร้าหรือจะไม่ปลุกความรักให้ตื่นกระตือขึ้น จนกว่าความรักจะจุใจแล้ว

กระบวนแห่การแต่งงาน
6 นั่นอะไรหนอที่กำลังขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร ดูประดุจเสาควัน หอมไปด้วยกลิ่นมดยอบและกำยาน
ทำด้วยเครื่องหอมของพ่อค้า
7 ดูเถิด เป็นพระวอของซาโลมอน ห้อมล้อมมาด้วยทแกล้วทหารหกสิบคน เป็นทแกล้วทหารคนอิสราเอล
8 เขาทั้งหลายถือดาบ และเป็นผู้ชำนาญศึก เขาทุกคนเหน็บกระบี่ไว้ที่ต้นขาของตน เพราะเกรงภัยในราตรีกาล
9 กษัตริย์ซาโลมอนสร้างพระวอสำหรับพระองค์ ด้วยไม้มาจากเลบานอน
10 พระองค์ทรงทำเสาพระวอนั้นด้วยเงิน แท่นประทับทำด้วยทองคำและยี่ภู่ลาดด้วยผ้าสีม่วง
ข้างในพระวอนั้นบุไว้ด้วยหนัง โดยบุตรีแห่งเยรูซาเล็ม
11 โอ บุตรีแห่งศิโยนเอ๋ย จงออกไป ไปดูกษัตริย์ซาโลมอนเถิด ทรงมงกุฎซึ่งพระราชชนนีได้สวมให้
ในวันที่พระองค์ได้ทรงอภิเษกมเหสีนั้น ในวันเมื่อพระทัยของพระองค์ทรงเบิกบานอยู่


4.เจ้าสาวกลัวจะสูญเสียคนรัก (3:1-4)

3:1-4 พระราชาเสด็จกลับกรุงเยรูซาเล็ม ปล่อยให้เจ้าสาวอยู่ในชนบท วลี ยามราตรีกาล เมื่อดิฉันนอนอยู่ ชี้ให้เห็นว่า ประสบการณ์ที่เธอกำลังจะบรรยายนี้ เกิดขึ้นในความฝัน เมื่อคนหนึ่งรักอีกคนอย่างลึกซึ้ง มันก็เป็นธรรมดาที่คนนั้นจะกลัวสูญเสียเธอหรือเขาไป ในฝัน เธอสูญเสียคนรักของเธอและพยายามมองหาเขา เธอทวนคำว่า ผู้ที่ดวงใจของฉันรัก (ในสี่ข้อนี้ แต่ละข้อปรากฏวลีนี้หนึ่งครั้ง) ซึ่งเปิดเผยถึงความลึกซึ้งของความรักที่เธอมีให้ซาโลมอน

ในฝันนั้น เธอเข้าไปในเมือง (อาจเป็นเมืองใกล้บ้าน หรือกรุงเยรูซาเล็มก็ได้) เพื่อเสาะหาเขา แต่เธอไม่ประสบความสำเร็จ เธอถึงกับถาม พลลาดตระเวน ที่เฝ้าเมืองตอนกลางคืนว่า พวกเขาเห็นเจ้าบ่าวหรือไม่ เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่เห็น เมื่อเธอพบเขาในฝัน เธอพาเขาไปยังบ้านของมารดาเธอ นั่นคือสถานที่ปลอดภัยที่สุดที่เธอรู้จัก

5.ท่อนสร้อย (3:5)

3:5 ท่อนสร้อยเป็นเครื่องหมายบอกว่าจบท่อนเกี้ยวพาราสี (1:2-3:5) และเริ่มต้นท่อนที่เล่าถึงพิธีแต่งงาน (3:6-5:1) บางทีผู้อ่านอาจมองว่าการแต่งงานเป็นรางวัลสำหรับเจ้าสาว สำหรับความหมายของ 3:5 ดูคำอธิบายของ 2:7

III. การแต่งงาน (3:6-5:1)

ก.ขบวนการแห่การแต่งงาน (3:6-11)

การแต่งงานครั้งโบราณในตะวันออกใกล้ มักจะได้รับการรับรองโดยสัญญาทางสังคม มากกว่าโดยพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากสุภาษิต 2:17 และมาลาคี 2:14 แล้ว ไม่มีการกล่าวถึงพันธสัญญาแห่งการสมรสเลยในพระคัมภีร์เดิม อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างสัญญาสมรสของชาวยิวถูกค้นพบในซากนิคมคนยิว ที่เอลิแฟนทีน (Elephantine) ในอียิปต์ ซึ่งนับอายุได้ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก.ค.ศ. การแต่งงานของรูธและโบอาสกระทำพิธีต่อหน้าพวกผู้ใหญ่ ไม่ใช่ต่อหน้าปุโรหิต (ดู นรธ. 4:10-11) และการแต่งงานนี้ก็แสดงลักษณะพิธีแบบ “ชาวบ้าน” มากว่าพิธีทางศาสนา ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่งานแต่งงานไม่ได้จัดขึ้นที่พระวิหาร (หรือธรรมศาลาในยุคหลัง) แต่จัดขึ้นที่บ้านคู่บ่าวสาว

ศูนย์รวมความสนใจในพิธีแต่งงานอยู่ทีกระบวนแห่ ซึ่งนำโดยเจ้าบ่าวมุ่งสู่บ้านของเจ้าสาว ผู้ซึ่งภายหลังจะเดินทางไปบ้านใหม่พร้อมกับเจ้าบ่าว เมื่อขบวนแห่ไปถึงแล้วก็จะมีงานเลี้ยงฉลองนานถึงหนึ่งสัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น แม้งานเลี้ยงจะกินเวลานาน แต่คู่บ่าวสาวก็หลับนอนกันตั้งแต่คืนแรก งานเลี้ยงฉลองแต่งงานนี้ไม่มีคำบรรยายในเพลงซาโลมอน แต่มีการบรรยายขบวนแห่แต่งงาน (3:6-11) และคืนวันแต่งงาน (4:1-5:1) ไว้ละเอียดพอสมควร บทที่ 3 ข้อ 11 เอ่ยถึง “งานแต่งงาน” นี้ และ “ซาโลมอน” แน่นอน เขาเป็นเจ้าบ่าวในงานสมรสนี้

ความเอิกเกริกและงดงามของขบวนแห่นี้เป็นเรื่องเหมาะสมอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของเหตุการณ์ พระคัมภีร์สอนว่าการแต่งงานคือหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมที่จะทำให้การผูกพันของคู่บ่าวสาวเป็นอนุสรณ์ที่ติดตรึงใจเป็นพิเศษ ความประพฤติของคู่รักสมัยนี้ที่อยู่กันตามอำเภอใจ โดยไม่มีพันธะแห่งการสมรสแสดงให้เห็นว่า สังคมปัจจุบันมองการอุทิศตนเพื่ออีกฝ่ายอย่างแท้จริงเป็นเรื่องล้าสมัย การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดต่อความบริสุทธิ์แห่งการสมรสและขัดแย้งต่อมาตรฐานความบริสุทธิ์ของพระเจ้า

3:7-8 ทหารหกสิบคนที่มากับพระวอของซาโลมอน (ดูข้อ 9 เปรียบเทียบ) คือเพื่อนๆ ของเจ้าบ่าว เป็นเรื่องปกติที่เพื่อนๆ จะเดินทางไปกับเจ้าบ่าวในขบวนแห่แต่งงาน แต่พวกเขายังเป็นถึงทแกล้วทหาร (ทหารหาญ) และเป็นผู้ชำนาญศึกที่สุดของอิสราเอล บางทีพวกเขาอาจเป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ของซาโลมอนก็ได้ กษัตริย์ดาวิดก็มีทหารรักษาพระองค์ (2 ซมอ. 23:23) และซาโลมอนก็น่าจะมีด้วย เนื่องจากขบวนแห่นี้อาจต้องเดินทางมาไกล (ดูคำว่า “ขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร” พซม. 3:6 และสังเกตการเอ่ยถึงเลบานอนใน 4:8, 15) กษัตริย์ซาโลมอนไม่ยอมเสี่ยงเลยแม้แต่น้อย ในเรื่องความปลอดภัยของเจ้าสาว ถ้ากองโจรโผล่มากลางค่ำคืนและคุกคามเจ้าสาว ทหารเหล่านี้ก็พร้อมจะรับมือ บทเรียนนี้ยังใช้ได้ในปัจจุบัน มันยังเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังจะเป็นสามี เขาควรคิดให้ดีและวางแผนเพื่อปกป้องเจ้าสาวของตน รูปแบบหนึ่งของการเตรียมการนี้คือ การจัดเตรียมความมั่นคงทางเศรษฐกิจไว้สำหรับเธอ


3:9-11 พระวอของซาโลมอนทำจากวัสดุอย่างดีที่สุด นั่นคือ ไม้จากเลบานอน (ที่นั่นอาจเป็นบ้านเกิดของเจ้าสาว ดู 4:8, 15 เปรียบเทียบ) พระวอนั้นยังประดับประดาด้วยวัสดุที่แพงที่สุด คือ เงิน ทองคำ และ ผ้าสีม่วง (สัญลักษณ์ของความเป็นกษัติรย์) ซาโลมอนมองสิ่งดีที่สุดที่เขามีแก่เจ้าสาวและความรักของเขาก็นำสิ่งดีที่สิดในตัวเขาออกมา คนอื่นๆ ร่วมยินดีกับคู่บ่าวสาว โดยช่วยกันจัดเตรียมขบวนแห่ (บุตรีแห่ง – คือสตรีชาวเมือง – เยรูซาเล็ม ช่วยบุด้านในของพระวอและช่วยด้วยความเบิกบาน) และออกมาดูด้วย (ไปดูกษัตริย์ซาโลมอนเถิด) ในขบวนแห่นี้ เขาสวม มงกุฎ นี่ไม่ใช่มงกุฎกษัตริย์ แต่เป็นมงกุฎซึ่งพระราชชนนี (คือพระนางบัทเชบา 1 พกษ. 2:13) สวมให้พระองค์ มันจึงแสดงถึงความสุขมากกว่าความเป็นกษัตริย์
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 8:00 am

( ตอนที่ 6 )



เพลงซาโลมอนบทที่ 4

เจ้าบ่าวสรรเสริญเจ้าสาว

1 ที่รักของฉันเอ๋ย ดูเถิด เธอช่างสวยงาม ดูซี เธอสวยงาม ดวงตาของเธอดังนกพิราบ อยู่ในผ้าคลุม
ผมของเธอดุจฝูงแพะ ที่เคลื่อนมาตามเนินลาดภูเขากิเลอาด
2 ซี่ฟันของเธอดังฝูงแกะที่กำลังจะตัดขน เพิ่งขึ้นมาจากการชำระล้าง มีลูกแฝดติดมาทุกตัว และหามีตัวใดแท้งลูกไม่
3 ริมฝีปากของเธอแดงดุจด้ายสีครั่ง และปากของเธอก็งามขำ ขมับของเธอเหมือนผลทับทิมผ่าซีก อยู่ในผ้าคลุม
4 ลำคอของเธอดุจป้อมของดาวิด ที่ได้ก่อสร้างไว้เพื่อเก็บเครื่องอาวุธ มีเกราะพันหนึ่งแขวนไว้
กับมีโล่ของทแกล้วทหารเก็บไว้ที่นั่นทั้งหมด
5 ถันทั้งสองของเธอดังลูกสองตัว ซึ่งเป็นละมั่งฝาแฝด ที่กำลังหากินในท่ามกลางหมู่ต้นพลับพลึงแดง
6 จนเวลาเย็น และเงาหมดไปแล้ว ฉันจะไปยังภูเขามดยอบ และยังภูผากำยาน
7 โอ ที่รักของฉันเอ๋ย เธอช่างงามสะพรั่งไปทั้งนั้น ในตัวเธอจะหาตำหนิสักนิดก็ไม่มี
8 จงจากเลบานอนไปกับฉันเถิด เจ้าสาวของฉันจ๋า จงจากเลบานอนไปกับฉันนะ ให้ลงไปจากยอดเขาอามานา
จากยอดเขาเสนีร์ และยอดเขาเฮอร์โมน ไปจากถ้ำราชสีห์ จากเขาเสือดาว
9 น้องของฉันจ๋า น้องได้ปล้นเอาดวงใจของพี่ไปเสียแล้วละ เจ้าสาวของฉันเอ๋ย
เจ้าได้ปล้นเอาดวงใจของฉันไปด้วยการชายตาเพียงแวบเดียวเท่านั้นหรือ ด้วยสร้อยคอสายเดียวของเจ้า
10 น้องของฉันจ๊ะ เจ้าสาวของฉันจ๋า ความรักของเธอช่างหวานเสียนี่กระไร
ความรักของเธอนั้นช่างหวานกว่าเหล้าองุ่น และกลิ่นน้ำมันของเธอช่างหอมกว่าเครื่องเทศทั้งหลาย
11 โอ เจ้าสาวของฉันจ๋า ริมฝีปากของเธอเสมือนน้ำผึ้งกำลังจะหยดย้อย น้ำผึ้งและน้ำนมอยู่ใต้ลิ้นของเธอ
กลิ่นเสื้อผ้าของเธอหอมดุจกลิ่นมาจากเลบานอน
12 เจ้าสาวของฉันเอ๋ย น้องของฉันเปรียบประดุจสวนสงวน ดุจอุทยานที่หวงห้ามไว้ และดุจน้ำพุที่ถูกประทับตราไว้
13 ผลิตผลของเธอดุจสวนต้นทับทิม อีกทั้งผลไม้อันโอชาอย่างอื่นๆ อีกทั้งเทียนขาวและแฝกหอม
14 ต้นแฝกหอมและต้นฝรั่น ต้นตะไคร้และอบเชย อีกทั้งเหล่าไม้สำหรับทำกำยาน คือต้นมดยอบและต้นกฤษณา
อีกทั้งเครื่องหอมชั้นเยี่ยมทั้งสิ้น
15 ตัวเธอประดุจดังน้ำพุในอุทยานประดุจบ่อน้ำไหล และประดุจลำธารไหลจากเลบานอน
16 โอ ลมเหนือเอ๋ย จงตื่นขึ้นเถิด โอ ลมใต้เอ๋ย จงพัดมาเถิด จงพัดโชยสวนของดิฉัน
เพื่อของหอมในสวนนั้นจะหอมฟุ้งออกไป ขอให้ที่รักของดิฉันเข้ามาในสวนของเขา
และรับประทานผลไม้อันโอชาเถิด


ข. คืนวันแต่งงาน (4:1-5:1)

1.ความงามของเจ้าสาว (4:1-7)

4:1 ฝ่ายแรกที่เอ่ยปากในคืนวันแต่งงานคือกษัตริย์ซาโลมอนและคำพูดของเขาเป็นการสรรเสริญความงามของเจ้าสาวในคืนวิวาห์นั้น เขาพูดกับเธอสามครั้งว่าเธอสวยงาม (ข้อ 1 สองครั้งและข้อ 7 ดูคำอธิบายของ 1:10 เปรียบเทียบ) ตามปกติ สตรีตะวันออกใกล้ในสมัยโบราณไม่สวมผ้าคลุมหน้า ยกเว้นในวันที่เธอแต่งงาน แล้วจึงจะถอดออกภายหลัง ในห้องโถงที่จัดพิธีแต่งงาน (นี่คือเหตุผลที่เรเบคาห์รีบคลุมหน้า เมื่อเธอรู้ฐานะของอิสอัค ว่าที่สามีของเธอ ปฐก. 24:65 เรื่องนี้ยังอธิบายเหตุผลที่ลาบันสามารถหลอกยาโคบให้แต่งงานกับเลอาห์ได้ในคืนวิวาห์ ปฐก. 29:19-25) ดังนั้น เมื่อซาโลมอนเห็นดวงตาของเธออยู่ในผ้าคลุม (ดู พซม. 4:3 เปรียบเทียบ) จึงพูดว่ามันเหมือนนกพิราบ ในสมัยโบราณ นกพิราบเป็นที่รู้จักในเรื่องความสงบและเนื่องจาก “ตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ซึ่งสะท้อนบุคลิกลักษณะของบุคคล ซาโลมอนจึงกำลังยกย่องความสงบและไร้เดียงสาของเธอ (ดู 1:15 เปรียบเทียบ)

การพูดว่า ผมของเธอเหมือนฝูงแพะที่ลงมาจากภูเขากิเลอาด (ดู 6:5 เปรียบเทียบ) ฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นคำชม แต่มันก็เป็นเช่นนั้น เวลามองจากระยะไกล ขนดำขลับของฝูงแพะปาเลสไตน์งดงามเมื่อต้องแสงแดดยามเย็น ขณะที่พวกมันเคลื่อนมาเป็นฝูงตามเนินลาดของภูเขา และผมสีเข้มของเจ้าสาวก็งดงามเฉกเช่นนั้น ภูเขากิเลอาดเป็นแนวเขาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน ตั้งอยู่ในแคว้นกิเลอาด ภูเขานี้เป็นที่รู้จักในเรื่องทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์และฝูงสัตว์มากมาย (ดู มคา. 7:14 เปรียบเทียบ)

4:2-3 ซี่ฟันของเธอขาว (ดังฝูงแกะเพิ่งขึ้นมาจากการชำระล้าง) และเป็นระเบียบ (มีลูกแฝดติดมาทุกตัว) ริมฝีปากของเธอแดงและบาง ดุจด้านสีครั่ง คำว่าด้ายนี้แสดงถึงขอบปากที่คมชัดและรูปปากที่งดงาม ฟันและริมฝีปากทำให้ปากของเธองามขำ ขมับของเธอ ซึ่งอาจรวมถึงแก้มด้วยมีสีแดงเรื่อและหอมหวานเหมือนผลทับทิม

4:4 ป้อมของดาวิด อาจเป็นหอคอย (ดู นหม. 3:25 เปรียบเทียบ) ในพระราชวัง ป้อมนี้อาจสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ดาวิด เพื่อจุดมุ่งหมายทางการทหารหรืออาจสร้างขึ้นโดยซาโลมอนและขนานนามตามกษัตริย์ดาวิดก็ได้ธรรมเนียมการแขวนเกราะไว้บนป้อมเป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดีและความกล้าหาญ ซึ่งนับรบมอบแด่กษัตริย์หรือประเทศของตน (ดู อสค. 27:10-11 เปรียบเทียบ) ทแกล้วทหารในที่นี้ อาจหมายถึงเหล่าทหารเอกของดาวิด (2 ซมอ. 23:8-39) เมื่อซาโลมอนเปรียบเทียบคำลอของเธอกับป้อม เขาไม่ได้เน้นเรื่องลำคอที่สวยงามและได้ส่วน มากเท่ากับชมเชยบุคลิกของเธอ เธอมีท่วงทีและรูปลักษณ์ประดุจราชินี งามสง่าและน่าเกรงขามดังป้อมของกษัตริย์ดาวิด

4:5 เมื่อเจ้าบ่าวกล่าวว่าถันทั้งสองของเจ้าสาวเหมือนดังลูกละมั่งฝาแฝด เขากำลังเปรียบถึงความนุ่มนวล ไม่ใช่สีสันหรือรูปร่าง เมื่อมองขนนุ่มๆ ของลูกละมั่งตัวน้อย คนที่มองก็อยากลูบ ซาโลกมอนต้องการให้เจ้าสาวของเขารู้ว่า ความงามอันนุ่มนวลของเธอได้เร้าความปรารถนาของเขาและเขาต้องการแสดงความปรารถนานั้นโดยการลูบไล้

4:6 ถึงเวลานี้ ซาโลมอนก็พ่ายแพ้ต่อความปรารถนาที่มีต่อเจ้าสาวของเขาและตัดสินใจตอบสนองคำขอเงียบๆ ในจิตใจเธอ (ดูคำอธิบายของ 2:17) ภูเขามดยอบและภูผากำยานหมายถึงหน้าอก (ถัน) ของเจ้าสาว สิ่งสำคัญที่ซาโลมอนต้องการเปรียบเทียบไม่ใช่รูปทรงหรือสีสัน แต่เป็นคุณประโยชน์และมูลค่า มดยอบและกำยานใช้สำหรับประทินกลิ่นหอมแก่ร่างกายรวมทั้งห้องนอน เพื่อให้คนและสิ่งแวดล้อมน่าดึงดูดใจยิ่งขึ้น (ดู 3:6 เปรียบเทียบ) ทั้งสองจะมอบความรักแก่กันและกันจนรุ่งเช้า มดยอบ (ดูคำ อธิบายของ 1:13) และกำยาน (เป็นยางไม้กลิ่นหอมซึ่งซึมจากเนื้อไม้ ทั้งไม้พุ่มและไม้ยืนต้นในสกุล Boswellia) ต่างไม่ใช่พืชพื้นเมืองปาเลสไตน์ เครื่องหอมทั้งสองชนิดเป็นสินค้าหรูหรา ซึ่งต้องนำเข้าด้วยราคาค่อนข้างแพง ภูเขา มดยอบ หรือภูผากำยาน ย่อมต้องมีมูลค่ามาก ดังนั้นสำหรับซาโลมอนหน้าอกของเจ้าสาวจึงน่าดึงดูดและมีค่ายิ่ง

4:7 ซาโลมอนสรุปคำสรรเสริญของเขา โดยการยอว่าเจ้าสาวงดงามหมดจด เธอไม่มีตำหนิ หรือริ้วรอยใดๆ ในร่างกาย เธอมีรูปโฉมงามสะพรั่งทั้งตัว (ภายหลังเขาเรียกเธอว่า “แม่คนงามหมดจดของฉัน” 5:2) ซาโลมอนสรรเสริญอวัยวะแปดอย่างในร่างกายเจ้าสาวคือ ดวงตา เส้นผม ฟัน ริมฝีปาก ปาก ขมับ ลำคอ และหน้าอก

เมื่อเปรียบตนเองกับคำสรรเสริญเลิศหรู ซึ่งกล่าวถึงความงามของเจ้าสาว ผู้เป็นำภรรยาบางคนในปัจจุบันอาจรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับรูปโฉมของตนเอง อย่างไรก็ตามเราต้องจำไว้ว่าในช่วงแรกบุตรีเยรูซาเล็มไม่ได้มองว่าเจ้าสาวเป็นหญิงงาม เธอไม่เหมือนหญิงในรั้วในวังคนอื่นที่มีผิวละเอียด อันเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของความงามในสมัยโบราณ (ดูคำอธิบาย 1:5-6) กระนั้นในสายตาของเจ้าบ่าว เธองดงาม แม้เธอจะไม่ได้สวยตามมาตรฐานความงามในสังคม พูดอีกอย่างคือ แม้ว่าในแต่ละยุคสมัยจะมีน้อยคนที่สวยตามมาตรฐานวัฒนธรรมของตน แต่ผู้หญิงก็ยังสวยงามได้ในสายตาของคนรัก เพียงเพราะเขารักเธอ สามีทุกคนที่รักภรรยาอย่างแท้จริง ย่อมสามารถพูดว่า “สำหรับฉัน เธอสวยงาม และไม่มีตำหนิ”

ใน 4:1-7 มีสองเรื่องที่ควรอธิบาย ประการแรก ในเจ็ดข้อนี้มีคำที่ใช้เรียกบุรุษที่หนึ่งเพียงหนึ่งคำ “ฉัน” ในข้อ 6) ความสนใจทั้งหมดของเขาจับจ้องที่เจ้าสาวและความงามของเธอ ข้อสรุปจากเรื่องนี้คือ เมื่อเรามีความสัมพันธ์อย่างเหมาะสมภายในการสมรส เรื่องเพศก็จะดึงความสนใจจากตนเองไปยังคู่สมรสของตน ไปสู่ความต้องการและความพึงพอใจของเขาหรือเธอ ประการที่สอง คำเปรียบเปรยและภาพอุปมาอุปไมยที่ซาโลมอนใช้สรรเสริญเจ้าสาว เป็นเรื่องในฉากท้องทุ่ง อาทิ นกเขา ฝูงแพะ ฝูงแกะ ผลทับทิม ลูกละมั่ง ภูเขา ภูผา เจ้าสาวของซาโลมอนได้รับการเลี้ยงดูมาในชนบท เธอจึงเข้าใจและประทับใจภาพเปรียบเทียบเหล่านี้ คำสรรเสริญซึ่งมาจากสิ่งต่างๆ ที่เธอรู้จักจะทำให้เธอเกิดสันติสุขและความมั่นใจ ในคืนที่น่าหวั่นไหว ในคืนที่ชีวิตใหม่ของเธอจะเริ่มขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หลังจากนี้ (7:1-9) เมื่อเธอคุ้นเคยกับชีวิต “ในวัง” แล้วซาโลมอนจึงใช้ภาพเปรียบจากบรรยากาศในวัง (และฉากท้องทุ่งด้วย) เพื่อสรรเสริญเธอ

2.คำขอของกษัตริย์ (4:8)

4:8 เจ้าสาวอาจเคยอยู่ในเลบานอน ใกล้กับภูเขาที่กล่าวถึงในข้อนี้ อามานา เป็นพื้นที่ทางตะวันออกตรงข้ามเลบานอน หันหน้าไปทางเมืองดามัสกัส เสนีร์และเฮอร์โมน ก็เป็นยอดเขาสองยอดในแถบเฮอร์โมน (แม้ใน ฉธบ. 3:9 จะใช้คำว่าเสนีร์ในความหมายกับเฮอร์โมน) อย่างไรก็ตามดูเหมือนเธอไม่น่าจะอาศัยใกล้ถ้ำราชสีห์ หรือเขาเสือดาว สิงห์โตและเสือดาวอาจแสดงถึงสถานที่หรือสถานการณ์น่ากลัว พูดอีกอย่างคือ ซาโลมอนกำลังขอให้เจ้าสาวสลัดความคิดถึงบ้าน และทิ้งความกลัวไว้ข้างหลังเพื่อจะจดจ่อที่เขาเท่านั้น เหมือนอย่างที่เขาจดจ่ออยู่ที่เธอ เนื่องจากซาโลมอนเรียกเธอว่า เจ้าสาวของฉันห้าครั้ง (ข้อ 8-12) จึงเป็นการยืนยันว่าบทที่ 4 นี้กล่าวถึงคืนวันแต่งงานของทั้งสอง

3.กษัตริย์สรรเสริญความรักของเจ้าสาว (4:9-11)
เห็นได้ว่า เจ้าสาวทำตามคำขอของซาโลมอน (ข้อ 8) โดยหันความสนใจทั้งหมดมายังเขา เพราะในท่อนนี้ เขากล่าวถึงความรักที่เธอแสดงออกทางกายและผลที่มันทีต่อเขา

4:9 คำว่า ปล้นเอาดวงใจของพี่ หมายความว่า คนนั้นถูกชิงความสามารถในการตัดสินใจและการคิดอย่างแจ่มชัด ผลที่เกิดจากความรักของเจ้าสาวมีพลังมหาศาล จนแม้แต่การชายตามองด้วยดวงตางดงามของเธอ (ดู ข้อ 1; 1:15 เปรียบเทียบ) หรือการเห็นบางส่วนของเครื่องประดับหรือเสื้อผ้าของเธอ ก็ทำให้ซาโลมอนรู้สึกเหมือนต้องมนตร์ เขาเรียกเธอว่าน้องสาวห้าครั้ง (4:9-10, 12; 5:1-2) เพราะในตะวันออกใกล้โบราณคำว่า “น้องสาว” เป็นคำแสดงความรักใคร่ที่ผู้ชายใช้เรียกภรรยาของตน

4:10 คำที่แปลว่าความรัก (โดดิม ดู 1: 2 เปรียบเทียบ) ใช้แสดงถึงการแสดงความรักทางกายระหว่างชายหญิง ข้อนี้อาจแปลให้ถูกต้องยิ่งขึ้นเป็น “จุมพิตของเธอหวานชื่นใจ การลูบไล้ของเธอก็ยิ่งน่าพึงใจกว่าเหล้าองุ่น” ความรักที่เธอแสดงออกทางกายส่งผลที่ทำให้เขาชื่นใจและดื่มด่ำ (มึนเมา) ยิ่งกว่าผลที่เกิดจากเหล้าองุ่น เช่นเดียวกับที่การแสดงความรักของเขามีผลต่อเธอก่อนหน้านี้ (ดู 1:2 เปรียบเทียบ) แม้แต่น้ำมันหอมของเธอก็เพิ่มความตื่นเต้นแก่ความรักของทั้งสอง ประสาทสัมผัส ทั้งการมองเห็น สัมผัส ดมกลิ่น และฟัง ล้วนมีบทบาทในเพศสัมพันธ์ของทั้งสอง

4:11 เจ้าสาวปล่อยให้ตนเองเบิกบานเต็มที่ เธอไม่ได้นิ่งเฉยในเพศสัมพันธ์นี้ จุมพิตของเธอน่าปรารถนาดุจน้ำนม และหวานดังน้ำผึ้ง การกล่าวถึงนมและน้ำผึ้งควบคู่กันนี้ อาจเป็นการกล่าวอ้อมๆ ถึงข้อเท็จจริงที่ว่าคานาอันเป็นดินแดนแห่งน้ำนมและน้ำผึ้ง (ดูคำอธิบายของ อพย. 3:8) แผ่นดินซึ่งอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรนี้ เป็นแหล่งพระพรและความยินดีสำหรับคนมากมายฉันใด จุบของเธอก็เป็นแหล่งแห่งความปีติสำหรับเขาฉันนั้น ไม่เพียรพรมน้ำหอมที่ร่างกายเท่านั้น เธอยังพรมน้ำหอมที่เสื้อผ้าด้วยเลบานอนเป็นที่รู้จักในเรื่องกลิ่นหอม (ฮชย. 14:6) เนื่องจากไม้สนสีดาร์ในประเทศนี้ (1 พกษ. 5:6; สดด. 29:5; 92:12; 104:16; อสย. 2:13; 14:8; ฮชย. 14:5)

4.กษัตริย์สรรเสริญความบริสุทธิ์ของเจ้าสาว (4:12-15)

4:12 คำว่า สวนสงวน…อุทยานหวงห้าม และน้ำพุที่ถูกประทับตราทั้งหมดนี้สื่อความหมายถึง “การปิดไม่ให้ผู้ใดผ่านเข้าไป” เห็นได้ชัดว่ากษัตริย์กำลังสรรเสริญความบริสุทธิ์ของเจ้าสาว สวนมีกำแพงล้อมเพื่อป้องกันผู้บุกรุก (ดู อสย. 5:5 เปรียบเทียบ และเทียบคำว่า “กำแพง” ใน พซม. 2:9) บ่อน้ำบางครั้งปิดไว้และน้ำพุก็มีตราดินเหนียวประทับด้านข้างเพื่อบอกว่าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล เช่นกัน เธอรักษาตัวไว้จากคนอื่นดุจสตรีที่มีตราประทับเพื่อสงวนความบริสุทธิ์ไว้สำหรับสามี

4:13-14 โดยการขยายภาพเปรียบเปรยที่กล่าวถึงสวน (เริ่มตั้งแต่ข้อ 12) ซาโลมอนสื่อสารกับเจ้าสาวว่า เขาเห็นคุณค่าความบริสุทธิ์ของเธอมากเพียงไร เธอเปรียบเหมือนสวนงดงาม เต็มไปด้วยพันธ์ไม้มีค่าและหายาก ดังนั้นสวนเช่นนี้จึงล้ำค่า ดึงดูดใจและน่าปรารถนา ในสวนนั้นมีทั้งผลไม้ ดอกไม้ ไม้ใบ ไม้ยืนต้น และเครื่องหอม ทับทิม (ดูข้อ 3 เปรียบเทียบ) เป็นอาหารโอชาในสมัยพระคัมภีร์ เทียนขาว (ดูคำอธิบายของ 1:14) เป็นดอกไม้กลีบขาว แฝกหอมเป็นน้ำมันหอมที่ได้จากพืชที่มีแหล่งกำเนิดในอินเดีย (ดู มก. 14:3 และ ยน. 12:3 เปรียบเทียบ) และผงฝรั่น คือแป้งที่ได้จากก้านเกสรตัวเมียของดอกไม้ในตระกูลหญ้าฝรั่น (ดูคำอธิบายคำว่า “ดอกฝรั่น” ใน พซม. 6:20; อสค. 27:19) อาจเป็นพืชปล้องที่มีรสหวาน เครื่องหอมอื่นๆ ได้แก่ อบเชย ได้จากเปลือกไม้ยืนต้น มดยอบ (ดูคำอธิบาย พซม.1:13) และต้นกฤษณา พืชที่มีถิ่นกำเนิดบนเกาะในทะเลแดง ซึ่งส่งกลิ่นหอมเมื่อเนื้อไม้บางส่วนเน่าเปื่อย พืชพันธ์เหล่านี้ประกอบกันเป็นสวนที่พิเศษ ล้ำค่า ด้วยรสชาติ ความงาม และกลิ่นหอม เช่นเดียวกัน ซาโลมอนก็ยกย่องเจ้าสาวเพราะเธอมีเสน่ห์อันน่าพึงใจ

4:15 ภาพอุปมาอุปไมยในส่วนนี้แตกต่างจากในข้อ 12 ซึ่งเปรียบเธอเป็นสวนและแหล่งน้ำที่ไม่มีใครเข้าถึงได้ น้ำนั้นบริสุทธิ์หมดจด เฉกเช่น ลำธารไหลจากเลบานอน (ดูคำว่า “เลบานอน” ในข้อ 8, 11 เปรียบเทียบ) และเวลานี้ซาโลมอนสามารถเข้าถึงธารน้ำนั้นได้ เมื่อเจ้าสาวยอมสละหรหมจรรย์ของตนแด่เจ้าบ่าว เธอก็ไม่ได้บริสุทธิ์น้อยลง การเรียงร้อยคำจากน้ำพุในอุทยาน ต่อด้วยบ่อน้ำไหล จนไปถึง “ลำธารไหล” ชี้ให้เห็นว่าเจ้าสาวเป็นที่ชื่นใจต่อความปรารถนาของซาโลมอน และทำให้เขาพึงพอใจอย่างเต็มล้น ธารน้ำจากภูเขาให้ความสดชื่นฉันใด เธอก็ทำให้เขาชื่นใจฉันนั้น

5.การแต่งงานบรรลุสมบูรณ์ (4:16-5:1)

4:16 เจ้าสาวขอให้ลมพัดโชยสวนของเธอ คือตัวเธอเอง (ดูข้อ 12, 15 เปรียบเทียบ) นี่เป็นคำเชื้อเชิญในลักษณะบทกวี ที่ละเมียดละไมและงดงาม เป็นคำเชิญเจ้าบ่าวให้เป็นเจ้าของเธอย่างสมบูรณ์ (เข้ามาในเธอ) เธอปรารถนาจะเป็นของเขาและเสน่ห์ของเธอก็พร้อมสำหรับเขา ดุจผลไม้ที่อยู่บนต้น (ดูข้อ 13 เปรียบเทียบ)
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 8:03 am

( ตอนที่ 7 )

เพลงซาโลมอนบทที่ 5

1 น้องของฉันจ๊ะ เจ้าสาวของฉันจ๋า ฉันเข้ามาในสวนของฉันแล้วนะ
ฉันมาเก็บเอามดยอบของฉันพร้อมกับไม้สีเสียดของฉันแล้ว ฉันรับประทานรวงผึ้งกับน้ำผึ้งของฉันแล้ว
ฉันดื่มเหล้าองุ่นกับน้ำนมของฉันแล้ว โอ สหายทั้งหลาย จงรับประทานและจงดื่มเถิด
ท่านผู้เป็นที่รักเอ๋ย จงดื่มให้อิ่มหนำเถิด

ความทุกข์ใจที่ต้องแยก
2 ดิฉันหลับแล้ว แต่ใจของดิฉันยังตื่นอยู่ คือมีเสียงเคาะของที่รักของดิฉันพูดว่า
"น้องสาวจ๋า ที่รักของฉันจ๋า เปิดประตูให้ฉันซิจ๊ะ แม่นกพิราบของฉันจ๊ะ แม่คนงามหมดจดของฉันจ๋า
เพราะศีรษะของฉันก็ถูกน้ำค้างชื้น และเส้นผมของฉันก็ชุ่มด้วยละอองน้ำฟ้าแห่งราตรีกาล"
3 ดิฉันเปลื้องเสื้อของดิฉันออกเสียแล้ว ดิฉันจะสวมกลับเข้าไปอีกอย่างไรได้ ดิฉันล้างเท้าของดิฉันแล้ว
ทำไมจะให้เท้าของดิฉันกลับเปื้อนไปอีกเล่า
4 ที่รักของดิฉันสอดมือของเขาเข้ามาทางรูประตู และใจดิฉันก็กระสันถึงเขา
5 ดิฉันลุกขึ้นไปเปิดประตูให้ที่รักของดิฉัน และมือของดิฉันทำให้มดยอบหยด
และนิ้วของดิฉันทำให้น้ำมดยอบย้อยบนลูกสลักกลอน
6 ดิฉันเปิดประตูให้ที่รักของดิฉัน แต่ที่รักของดิฉันกลับไปเสียแล้ว เมื่อเขากลับไป ดิฉันมัวตกตะลึง
ดิฉันแสวงหาเขา แต่ดิฉันหาเขาไม่พบ ดิฉันร้องเรียกเขา แต่เขามิได้ขานตอบ
7 พลตระเวนพบดิฉัน ขณะที่ลาดตระเวนในเมือง เขาตีดิฉัน เขาทำให้ดิฉันบาดเจ็บ
พลตระเวนรักษากำแพงเมือง ฉกชิงเอาผ้าคลุมตัวจากดิฉันไป
8 โอ บุตรีแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย ดิฉันขอให้พวกเธอสาบานว่า ถ้าเธอคนใดได้พบที่รักของดิฉัน
เธอจะรับปากบอกเขาว่า ดิฉันกำลังเป็นไข้ใจ

เจ้าสาวสรรเสริญเจ้าบ่าว
9 โอ คู่รักของเธอนั้นวิเศษอะไรไปกว่าคู่รักของใครๆหรือ แม่สาวงามล้ำเลิศในท่ามกลางสาวอื่นๆ
คู่รักของเธอนั้นวิเศษอะไรไปกว่าคู่รักของใครอื่นหรือ เธอจึงได้มาให้พวกฉันสาบานให้เช่นนั้น
10 ที่รักของดิฉัน ผิวเปล่งปลั่งอมเลือด เขาเป็นเอกในท่ามกลางหมื่นคน
11 ศีรษะของเขาดังทองคำนพคุณ ผมของเขาหยิกและดำเหมือนนกกา
12 ตาของเขาเปรียบเหมือนนกพิราบ ที่ริมห้วย อาบน้ำนม และจับอยู่ที่ริมกระแสน้ำเต็มฝั่ง
13 แก้มของเขาเหมือนอย่างลานปลูกไม้สีเสียด ส่งกลิ่นหอมหวน ริมฝีปากของเขาเหมือนดอกพลับพลึงแดง
หยดน้ำมดยอบ
14 มือของเขาดุจวงแหวนทองคำ อันประดับด้วยพลอยเขียว กายของเขาดุจเสางาช้าง และประดับด้วยไพฑูรย์
15 ขาของเขาดุจเสาหินอ่อน ตั้งบนฐานทองคำนพคุณ ทรวดทรงของเขามีสง่าดังเลบานอน
ประเสริฐอย่างไม้สนสีดาร์
16 วาจาของเขาอ่อนหวานที่สุด ทั่วทั้งสรรพางค์ของเขาล้วนแต่น่ารักน่าใคร่ โอ เหล่าบุตรีแห่งเยรูซาเล็มจ๋า นี่คือที่รักของดิฉัน และนี่คือเพื่อนยากของดิฉัน


5:1 ด้วยความเบิกบาน ซาโลมอนประกาศว่าสมรสของทั้งสองเสร็จสมบูรณ์ เขาเชยชมสวนของเขาทั้งหมด (ดูข้อ 12, 15-16 เปรียบเทียบ) นั่นคือ เจ้าของเขา การได้เป็นเจ้าของเธอน่าชื่นใจกว่าการเก็บมดยอบในสวน และหวานชื่นเหมือนกินน้ำผึ้ง และเบิกบานดังได้ดื่มเหล้าองุ่นชั้นเลิศและน้ำนม

ขอบหน้ากระดาษฉบับ NIV ยกส่วนสุดท้ายของข้อนี้ ให้เป็นคำพูดของ “เหล่ามิตรสหาย” ของคู่บ่าวสาว คือประโยคที่ว่า โอ สหายทั้งหลาย จงรับประทานและจงดื่มเถิด ท่านผู้เป็นที่รักเอ๋ย จงดื่มให้อิ่มหนำเถิด อย่างไรก็ตาม มิตรสหาย แขกในงาน หรือบุคคลอื่นใด ก็ไม่น่าจะอยู่ในห้องนอน ขณะที่คู่บ่าวสาวทำให้การสมรสบรรลุสมบูรณ์ ข้อเสนอที่น่าจะสมเหตุสมผลกว่าคือ พระเจ้าเองเป็นผู้ตรัสประโยคนี้ มีเพียงพระผู้สร้างของเขาทั้งสองเท่านั้นที่สามารถเป็น “แขก” ในโอกาสเช่นนั้น เนื่องจากความรักของทั้งสองมาจากพระองค์ จึงเป็นการสมควรที่พระองค์จะเป็นผู้รับรองความรักนั้น พระองค์เชิญชวนให้ทั้งสองรื่นรมย์กับความรักที่แสดงออกทางเพศสัมพันธ์ในการแต่งงาน ประดุจดั่งความรื่นเริงในงานเลี้ยง (“จงรับประทาน… และจงดื่มเถิด”) เรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดถึงการที่พระเจ้ารับรองการสมรส ซึ่งพระองค์กำหนดไว้ในสวนเอเดน (ดู ปฐก. 2:24 เปรียบเทียบ)

IV. ชีวิตสมรสเติบโต (5:2-8:4)

เพลงซาโลมอนท่อนนี้กล่าวถึงการเติบโตในชีวิตสมรสของคู่สามีภรรยา ความลึกซึ้ง ความชื่นชมยินดี และความปรารถนาทางกายในคืนวันแต่งงานไม่ได้จืดจางไปเหมือนที่เกิดกับคู่สมรสหลายๆ คู่ ทั้งสองหล่อเลี้ยงชีวิตร่วมกัน เพื่อความยินดีในชีวิตสมรสจะเพิ่มขึ้น มากกวาจะลดลง อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งสองจะไม่ประสบปัญหาที่อาจเป็นอันตรยต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพลงท่อนนี้ เริ่มด้วยปัญหาความเฉยเมย และตามด้วยการให้แนวคิด เกี่ยวกับทางแก้ไขที่ประสบผลสำเร็จ เมื่อชีวิตสมรสเผชิญปัญหาหนักๆ

ก. ความเฉยเมยและทางแก้ไข (5:2-6:13)

เรื่องราวความเฉยเมยของเจ้าสาวนี้ ขึ้นต้นโดยความฝันของเธอ (5:2-7) ปัญหานี้เป็นเหตุให้คนรักผู้เป็นสามีห่างเหินเธอไปชั่วคราว เมื่อเธอขอให้บุตรีเยรูซาเล็มช่วยเธอหาเขา (5:8) เธอบรรยายลักษณะที่น่าดึงดูดของเขา การสนทนาระหว่างเจ้าสาวและธิดาเยรูซาเล็ม ช่วยวางรากฐานสำหรับการคืนดีของสามีและภรรยาคู่นี้ (6:4-13)

1.ปัญหา : ความเฉยเมยของภรรยาและความห่างเหินของสามี (5:2-8)

5:2 ในฝัน (ดิฉันหลับแล้ว แต่ใจของดิฉันยังตื่นอยู่ ดูความฝันอีกครั้งที่บันทึกไว้ใน 3:1-4 เปรียบเทียบ) ผู้เป็นสามีมาหาภรรยา เขากล่าวว่าเปิดประตูให้ฉันซิจ๊ะ (ดู 5:6 เปรียบเทียบ) การที่เจ้าบ่าวไม่ได้เรียกเธอว่า “เจ้าสาวของฉัน” ชี้ให้เห็นว่า มีช่วงเวลาคั่นระหว่างข้อ 1 (คืนวันแต่งงาน) และข้อ 2 เราไม่ควรมองว่าคู่รักคู่นี้เป็นคู่แต่งงานใหม่อีกต่อไป เขาเรียกเธอด้วยคำแสดงความรักใคร่อีกคำคือ น้องสาว (ดูคำอธิบายของ 4:9) ที่รักของฉัน (ดู 1:9, 15; 2:2, 10; 13; 4:1, 7; 6:4) แม่นกพิราบของฉันและแม่คนงามหมดจดของฉัน (ดู 4:7 เปรียบเทียบ) นี่เป็นท่อนแรกที่บันทึกการที่เขาใช้คำแสดงความรักเหล่านี้ทั้งหมด ศีรษะและเส้นผมของเขาเปียกน้ำค้าง เพราะเขาอยู่นอกบ้าน น้ำค้างในอิสราเอลตกหนักบ่อยๆ

5:3-4 เธอพูดในความฝันนั้นว่า เธอเตรียมเข้านอนเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อแก้ตัวที่เธอไม่เปิดประตูนี้ เปิดเผยถึงความเฉยเมย หรือเย็นชาต่อสามีเธอด้วยเหตุผลบางอย่าง เธอเย็นชาต่อการรุกเร้าของเขา แต่เขาไม่ยอมรับคำแก้ตัวของเธอ เขาพยายามเปิดประตูแต่ไม่สำเร็จ จากนั้นเขาจึงจากไป สำนวนฮีบรูที่แปลว่า ใจดิฉันเริ่มเต้นรัวเพราะเขา (ภาษาไทยแปลว่า ใจดิฉันก็กระสันถึงเขา) มิใช้ในพระคัมภีร์ตอนอื่น เพื่อแสดงความสงสารหรือเห็นอกเห็นใจ (เช่น อสย. 16:11; ยรม. 31:20) มันไม่ได้ใช้เพื่อแสดงการปลุกเร้าความรู้สึกทางเพศ อย่างที่นักวิชาการหลายคนยืนยัน

5:5-7 ในความฝัน เมื่อเจ้าสาวลุกไปที่ประตู เพื่อเปิดให้สามีของเธอ (คำว่า ที่รักของดิฉัน ใช้เรียกเจ้าบ่าวหกครั้ง ในข้อ 2, 4-6, 8) เธอพบมดยอบที่สลักของกลอนประตู และทำหยดบนมือเธอบ้าง บางครั้งมดยอบมีความเกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ (สภษ. 7:17; พซม. 4:6; 5:13) บางทีเจ้าบ่าวอาจแต้มน้ำมันมดยอบที่กลอนประตู เป็นเครื่องหมายบอกความรักใคร่เจ้าสาว เขาต้องการบางสิ่งที่มากกว่าการบรรเทาความรู้สึกชื้นแฉะ ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศกลางคืน

อย่างไรก็ตาม เจ้าสาวตอบสนองช้าเกินไป (ข้อ 6-7) เมื่อเธอออกมาค้นหาเขา พลตระเวนในเมืองพบเธอและทุบตีเธอ ในความฝันครั้งแรกพลตระเวนช่วยเธอต้นหาคนรักของเธอ (3:3) แต่ครั้งนี้พวกเขาเข้าใจว่าเธอเป็นอาชญากร ในฝันของเธอ การกระทำของพลตระเวนนี้ อาจชี้ให้เห็นว่าการที่เธอต้องแยกห่างจากคนรักในครั้งนี้เป็นความผิดของเธอ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ความฝันนี้เป็นภาพสัญลักษณ์ แสดงถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากการแยกห่างจากกัน ซึ่งเกิดจากความเห็นแก่ตัวของเธอ และความฝันยังยกเรื่องราวเปรียบเทียบถึงการที่เธอต้องพึ่งพาเจ้าบ่าว เพื่อจะได้รับการปกป้องและความเป็นอยู่ที่ผาสุก

5:8 เจ้าสาวขอความช่วยเหลือจากบุตรีเยรูซาเล็ม (ดูคำอธิบายของ 1:5) เพื่อค้นหาที่รักของเธอ ข่าวที่พวกเธอต้องบอกเขาคือ ดิฉันกำลังเป็นไข้ใจ หมายความว่า เวลานี้เธอต้องการให้เขาโอบกอด (ดู 2:5-6 เปรียบเทียบ) แม้เธอจะเคยเฉยเมอยต่อเขา (5:2-3) แต่ทัศนคติของเธอได้เปลี่ยนไปแล้ว จนเวลานี้เธอกระวนกระวายเรื่องตัวเขา

2.ความน่าดึงดูดของเจ้าบ่าว (5:9-10)

5:9 พวกบุตรี (ข้อ 8) ถามเจ้าสาวว่า คนรักเธอมีอะไรพิเศษนักพวกเธอจึงจะต้องช่วยค้นหาเขา คำถามนี้เปิดโอกาสให้เจ้าสาวสรรเสริญสามีของเธอ ซึ่งเป็นการช่วยเร้าความรู้สึกรักใคร่ในอดีตของเธอให้ลุกโซนอีกครั้ง

5:10-16 เมื่อดูลักษณะภายนอก เขาผิดเปล่งปลั่งอมเลือด และเมื่อดูบุคลิกลักษณะ เขาก็เป็นเอก คำเปรียบเปรยในข้อ 11-15 ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้เราเข้าใจว่าข้อความส่วนใหญ่เป็นการเปรียบเทียบรูปลักษณะที่มองเห็นด้วยสายตา ข้อความเหล่านี้ชี้ให้เห็นคุณค่าและความน่าดึงดูดของสามี ตัวอย่างเช่น ศีรษะเขาไม่ได้มีสีทอง (ข้อ 11) แต่มีค่าเหมือนทองคำ (เส้นผมของเขาดำและหยิก ดูคำที่เจ้าบ่าวบรรยายเส้นผมเจ้าสาวใน 4:1 เปรียบเทียบ) นัยน์ตาของเขาไม่ได้มีรูปร่างเหมือนนกพิราบ (5:12) แต่มันดูสงบสุขและอ่อนโยนเหมือนนกพิราบ สะท้อนถึงนิสัยที่สงบและอ่อนสุภาพของเขา (ดูคำที่เจ้าบ่าวบรรยายดวงตาของเจ้าสาวในลักษณะคล้ายคลึงกันใน 1:15; 4:1 เปรียบเทียบ) นกพิราบสีเทาหรือดำลงอาบน้ำนม เป็นภาพแสดงถึงม่านตาดำขลับของเขาที่โดดเด่นตัดกับตาขาว แก้มของเขาน่าพึงใจและน่าปรารถนาดุจเครื่องเทศหรือเครื่องหอม คือไม้สีเสียด ริมฝีปากของเขานุ่มนวลและสวยงามเหมือนดอกพลับพลึงแดง ซึ่งใช้ประกอบกับมดยอบหยดย้อย (513; ดูข้อ 5 เปรียบเทียบ) เพื่อเพิ่มกลิ่นหอม มือของเขาน่าดึงดูดและมีค่าดุจทองคำ (เหมือนศีรษะของเขาในข้อ 11 และขาของเขาในข้อ 15) ร่างกายของเขา (แปลตามตัวอักษรคือ “หน้าท้องของเขา”) งามดุจงาช้างและไพฑูรย์ (ข้อ 14) งาช้างเรียบหรือขัดมันอาจหมายถึงกล้ามเนื้อหน้าท้องของเขาที่แข็งแกร่งเป็นลอน ขาของเขาแข็งแรง งดงาม และล้ำค่าดังหินอ่อนและทองคำ (ดูข้อ 11, 14 เปรียบเทียบ) โดยรวมแล้ว ซวดทรงของเขาน่าทึ่ง เขาสูงประดุจสนสีดาร์ตระหง่านของเลบานอน (ข้อ 15 ดู อมส. 2:9 เปรียบเทียบ) ปากของเขา (วาจาและจุมพิต) ก็น่าปรารถนายิ่งนัก เขาหล่อเหลาไปหมดทุกด้าน (พซม. 5:16)
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 8:06 am

( ตอนที่ 8 )

เพลงซาโลมอนบทที่ 6

1 อ้อ แม่สาวงามล้ำเลิศในท่ามกลางสาวอื่นๆ คู่รักของเธอไปไหนเสีย คู่รักของเธอกลับไปไหนเสียแล้วเล่า
เพื่อพวกเราจะไปสืบหากับเธอ
2 ที่รักของดิฉัน ลงไปยังสวนของเขา เพื่อจะไปที่ลานปลูกไม้สีเสียด และเพื่อจะไปเลี้ยงฝูงสัตว์ในสวน
กับเพื่อจะเก็บดอกพลับพลึงแดง
3 ตัวดิฉันเป็นกรรมสิทธิ์ของที่รักของดิฉัน และที่รักก็เป็นของดิฉัน เขาเลี้ยงฝูงสัตว์อยู่ท่ามกลางหมู่ต้นพลับพลึงแดง

เจ้าบ่าวสรรเสริญเจ้าสาว
4 ที่รักของฉันเอ๋ย แม่ช่างสวยงามประหนึ่งเมืองทีรซาห์ และงามเย็นตาดังเยรูซาเล็ม
แม่เป็นสง่าน่าคร้ามเกรงดังกองทัพมีธงประจำ
5 ขอเบือนเนตรไปจากฉันเถอะ เพราะว่าฉันแพ้นัยน์ตาของเธอแล้ว ผมของน้องดุจฝูงแพะ
ที่เคลื่อนมาตามเนินลาดภูเขากิเลอาด
6 ซี่ฟันของเธอดังฝูงแกะตัวเมีย เพิ่งขึ้นมาจากการชำระล้าง มีลูกแฝดติดมาทุกตัว และหามีตัวใดแท้งลูกไม่
7 ขมับของเธอเหมือนผลทับทิมผ่าซีก อยู่ในผ้าคลุม
8 มีมเหสีหกสิบองค์ และนางห้ามแปดสิบคน สาวๆอีกมากเหลือจะคณนา
9 แม่นกพิราบของฉัน แม่คนงามหมดจดของฉัน เป็นคนเดียว เธอเป็นคนเดียวของมารดา
ที่เป็นหัวรักหัวใคร่ของผู้ให้กำเนิด สาวๆทั้งหลายเห็นเธอ และเรียกเธอว่า ผาสุก ทั้งเหล่ามเหสีและเหล่านางห้าม
ก็สรรเสริญเยินยอเธอว่า
10 "แม่สาวคนนี้เป็นผู้ใดหนอ เมื่อมองลงก็ดังอรุโณทัย แจ่มจรัสดังดวงจันทร์ กระจ่างจ้าดังดวงสุริยัน
สง่าน่าเกรงขามดังกองทัพมีธงประจำ
11 ดิฉันลงไปในสวนมันฮ่อ เพื่อจะดูหมู่ไม้เขียวตามหุบเขา ว่าเถาองุ่นมีดอกตูมออกหรือเปล่า
และเพื่อจะดูว่าผลทับทิมมีดอกแล้วหรือยัง
12 เมื่อดิฉันยังไม่ทันรู้ตัว มโนคติของดิฉันได้กระทำให้ดิฉันเคลิ้มไป ว่าได้อยู่ในรถทรงเคียงข้างเจ้านายของดิฉัน
13 กลับมาเถอะ กลับมาเถิด แม่ชาวชูเลมจ๋า กลับมาเถิด กลับมาเถอะจ๊ะ เพื่อพวกดิฉันจะได้เธอไว้ชมเชย
นี่กระไรนะ เธอทั้งหลายจงมองตัวแม่ชาวชูเลม ดังมองการเต้นรำแห่งมาหะนาอิม


3.เจ้าบ่าวในสวนของเขา

6:1-3 สาเหตุของการแยกตัวห่างเหินของคู่สมรสคู่นี้ (คือความเฉยเมยของเจ้าสาว) ได้รับการแก้ไขแล้ว ข้อพิสูจน์คือถ้อยคำที่เธอสรรเสริญที่รักของเธอ (5:10-16) กระนั้นเวลานี้พวกเขาก็ยังคงแยกห่างกัน ดังนั้นคำถามของพวกบุตรีเยรูซาเล็ม (5:8) ที่ว่า คู่รักของเธอไปไหนเสีย (6:1) จึงสื่อถึงปัญหาที่ทั้งสองไม่ได้อยู่ด้วยกัน เมื่อได้ยินถึงรูปลักษณะที่หล่เหลาของเขา บรรดาบุตรีเยรูซาเล็มจึงกระตือรือร้นที่จะช่วยค้นหา คู่รักของเธอกลับไปไหนเสียแล้วเล่า พวกเธออยากรู้

เธอตอบว่า เขาอยู่ในสวนซึ่งปลูกไม้สีเสียดและดอกพลับพลึง (6:2) เรื่องนี้ชี้ว่า การแยกตัวห่างเหินของทั้งสอง เป็นเรื่องทางความรู้สึก มากกว่าความห่างไกลของระยะทาง เพราะเห็นชัดว่า เธอรู้อยู่เสมอว่าเขาไปที่ไหน คำกล่าวของเธอที่ว่าเธอและสามีเป็นของกันและกัน (ตัวดิฉันเป็นกรรมสิทธิ์ของที่รักของดิฉัน และที่รักก็เป็นของดิฉัน ข้อ 3) เป็นการกลับประโยคเดิมที่เธอเคยกล่าวแสดงความรักใคร่ (2:16ก; ดู 7:10 เปรียบเทียบ) ถ้อยคำนี้ชี้ให้เห็นว่า ความห่างเหินทางความรู้สึกได้ถูกพิชิตลงแล้วในส่วนของเธอและเธอมั่นใจว่ามันก็ถูกพิชิตลงในส่วนของเขาด้วย สิ่งที่จำเป็นสำหรับการคืนดีอย่างสมบูรณ์ก็คือ คำแสดงการให้อภัยและการยอมรับจากเจ้าบ่าว เขาเลี้ยงฝูงสัตว์ แปลตามตัวอักษรคือ “เขาพาฝูงสัตว์ของเขากินหญ้า” (ดู 2:16ข เปรียบเทียบ)

4.การคืนดี : เจ้าบ่าวสรรเสริญเจ้าสาว

6:4-10 ในการคืนดีของทั้งสอง คำแรกที่เจ้าบ่าวกล่าวแก่เจ้าสาวคือคำสรรเสริญ เธอสวยงามประหนึ่งเมืองทีรซาห์ นครงดงามที่ภายหลังเป็นเมืองหลวงของกษัตริย์อาณาจักรเหนือสี่พระองค์คือ บาอาชา เอลาห์ ศิมรีและอมรี (1 พกษ. 15:21, 33; 16:8, 15, 23) เจ้าสาวยังงามเย็นตาดังกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ความงามหมดจด” (พคค. 2:15) ความสวยงามของเจ้าสาวนั้นน่าตื่นตาตื่นใจ จนทำให้เขา “คร้ามเกรง” เหมือนต้องเผชิญกองทัพมีธงประจำ ดวงตาของเธอก็งดงามตรึงใจมาก (ดู พซม. 1:15; 4:1 เปรียบเทียบ) จนเขาพ่ายแพ้ต่อตาคู่นั้น โดยการทวนคำสรรเสริญที่เขากล่าวแก่เธอในคืนวันแต่งงาน (4:1-3) เขากำลังบอกเธอทางอ้อมว่า ความรักที่เขามีต่อเธอนั้นยังไม่เสื่อมคลายไปจากคืนแรกของทั้งสอง (สำหรับความหมายของคำอุปมาอุปไมยเรื่อง เส้นผม…ฟัน และขมับในข้อ 6:5-7 ให้ดูคำอธิบายของ 4:1-3) ที่จริงความรักและชื่นชมที่เขามีต่อเธอได้เติบโตขึ้นนับจากเวลานั้น เขายืนยันให้เธอมั่นใจว่า เธอเป็นคนเดียวที่ไม่เหมือนใครจริงๆ (6:8-9ก) ในฐานะนกพิราบของเขา (ดู 5:2 เปรียบเทียบ) ซึ่งตรงกับความเห็นของมารดาเธอ (6:9ข) รวมทั้งความเห็นของพวกหญิงสาว (แปลตามตัวอักษรคือ “พวกบุตรี”) ของบรรดามเหสีและนางห้าม (ข้อ 9ค) ในโอกาสที่ได้เห็นสามีและภรรยาคู่นี้คืนดีกัน พวกผู้หญิงเหล่านี้ก็ตื่นตะลึงในความงามของเธอ เขาบอกว่า พวกเขาเยินยอเธอ (ข้อ 9) โดยกล่าวว่า เธองดงามดังอรุโณทัย… ดวงจันทร์… สุริยัน และดวงดาว

6:11-13 สามข้อนี้เล่าเรื่องราวการคืนดีของคู่สมรส จากมุมมองของเจ้าสาว เธอรู้ว่า เขาได้ “ลงไปยังสวนของเขา” (ข้อ 2) ดังนั้นเธอจึงลงไปที่นั่น เพื่อจะดูว่าความรักของเธอและสามียังผลิดอกหรือไม่ (ข้อ 11) ในฤดูใบไม้ผลิ คนเรามองหาหมู่ไม้เขียว ช่อดอกในเถาองุ่น และดอกทับทิมผลิบานฉันใด เธอก็มองหาหลักฐานใหม่ๆ ที่ยืนยันความรักของเขาและเธอฉันนั้น เมื่อเธอพบเขาที่นั่น คำแรกๆ ที่เขากล่าวคือคำยกย่องสรรเสริญ (ข้อ 4-10) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความรักของทั้งสองกำลังเบ่งบานจริงๆ

ข้อพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่ยากแก่การตีความที่สุดคือ ข้อ 12 (ดูขอบหน้ากระดาษฉบับ NIV) ต้นฉบับภาษา ฮีบรูสามารถแปลได้หลายความหมาย คำแปลหนึ่งที่น่าชมเชยคือ “ฉันเคลิบเคลิ้ม เพราะเขาพาฉันนั่งบนรถทรงของประชาชนแห่งเจ้านายผู้นี้”

เมื่อคำแรกๆ ที่สามีกล่าวในสวนเป็นคำสรรเสริญ เธอจึง “เคลิบเคลิ้ม” เธอชื่นชมยินดีจนควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วเขาก็พาเธอนั่งบนรถม้าของเขาเอง ซึ่งอยู่หน้าขบวนผู้ติดตาม ขณะที่ทั้งสองลาจากสถานที่นั้น ผู้คนที่นั่นก็ขอร้องให้เธออยู่ต่อ (คำว่า กลับมาเถิด กล่าวไว้ 4 ครั้งในข้อ 13) และเจ้าบ่าวก็สังเกตเห็นความปรารถนาที่เข้มข้นของพวกเขา ที่ต้องการจ้องมองแม่ชาวชูเลม คำฮีบรูที่มีผู้แปลว่า แม่ชาวชูเลมนี้แท้จริงเป็นรูปคำเพศหญิงของชื่อซาโลมอน ดังนั้นคำนี้จึงหมายถึง “นางซาโลมอน” เธอมองเสียจริง…” (ข้อ 13ข) ก็ดีกว่า นี่กระไรนะ ทำไมเธอจึงมอง…” เขากล่าวว่า พวกเขาจ้องมองเธอและความงามของเธอ อย่างกับกำลังจ้องมองการเต้นรำที่สง่างามในบางด้าน เมืองมาหะนาอิมในที่นี้มีความเกี่ยวข้องกับการเต้นรำ แม้ว่าประเด็นของความเกี่ยวข้องจะไม่ชัดเจนก็ตาม มาหะนาอิมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เป็นที่ซึ่งดาวิดหลบหนีมาซ่อนจากอับซาโลม

ข. คำสรรเสริญเจ้าสาวและความรักของเธอ (7:1-10)

บทเพลงท่อนนี้แสดงภาพการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในชีวิตสมรสของคู่รักคู่นี้พัฒนาการความรักของทั้งสองเปิดเผยในสองลักษณะ ประการแรก คำพูดบรรยายภาพในสิบข้อนี้ เปิดเผยและใกล้ชิดลึกซึ้งกว่าคำพูดบรรยายภาพ ที่เจ้าบ่าวกล่าวในคืนวันแต่งงาน (4:1-11) อิสรภาพทางเพศที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นส่วนประกอบตามปกติของชีวิตสมรสที่ดีและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประการที่สอง ลักษณะท่อนสร้อยที่แสดงจุดสูงสุดของเรื่อง ในข้อ 7:10 ก็แสดงถึงการเติบโตนี้
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 8:08 am

( ตอนที่ 9 )

เพลงซาโลมอนบทที่ 7

1 โอ แม่ธิดาของเจ้า เท้าสวมรองเท้าผูกของเธอนั้นนวยนาดนี่กระไร ตะโพกของเธอกลมดิกราวกับเม็ดเพชร
ที่ช่างผู้ชำนาญได้เจียระไนไว้
2 สะดือของเธอดุจอ่างกลม ที่มิได้ขาดเหล้าองุ่นประสม ท้องของเธอดังกองข้าวสาลี
ที่มีดอกพลับพลึงแดงปักไว้ล้อมรอบ
3 ถันทั้งสองของเธอเหมือนลูกละมั่งสองตัว ซึ่งเป็นละมั่งฝาแฝด
4 ลำคอของเธอประหนึ่งหอคอยสร้างด้วยงาช้าง เนตรทั้งสองของเธอดุจสระในเมืองเฮชโบน ที่ริมประตูบัทรับบิม
จมูกของเธอเหมือนหอแห่งเลบานอน ซึ่งมองลงเห็นเมืองดามัสกัส
5 ศีรษะของเธอดังยอดภูเขาคารเมล ผมของเธอดุจด้ายสีม่วง กษัตริย์ก็ต้องมนต์เสน่ห์ด้วยเส้นผมนั้น

เจ้าสาวกับเจ้าบ่าวพอใจซึ่งกันและกัน
6 เออ แม่ช่างน่ารัก แม่ช่างชื่นชม เธอนี่ช่างสวยงามต้องตาจริง
7 เธองามระหงดุจต้นอินทผลัม และถันทั้งสองของเธอดังพวงอินทผลัม
8 ฉันจึงคิดว่า ฉันจะปีนขึ้นต้นอินทผลัมนั้น ฉันจะจับพวงเหนี่ยวไว้ ขอให้ถันทั้งสองของเธองามดังพวงองุ่นเถอะ
และขอให้ลมหายใจของเธอหอมดังลูกท้อเถิด
9 และขอให้จุบของเธอดุจเหล้าองุ่นอย่างดียิ่ง ดื่มคล่องคอจริงๆ ไหลไปตามริมฝีปากและฟัน
10 ตัวดิฉันเป็นกรรมสิทธิ์ของที่รักของดิฉัน และความปรารถนาของเขาก็เจาะจงเอาตัวดิฉัน
11 ที่รักของดิฉันจ๋า มาเถอะจ๊ะ ให้เราพากันออกไปในทุ่งนา ให้เราพักอยู่ตามหมู่บ้าน
12 ให้เราตื่นแต่เช้าตรู่ไปยังสวนองุ่น ให้เราดูว่าเถาองุ่นมีดอกตูมออกหรือเปล่า หรือว่ามีดอกบานแล้ว
ให้เราดูว่าต้นทับทิมมีดอกหรือยัง ณ ที่นั่นแหละดิฉันจะมอบความรักของดิฉันให้แก่เธอ
13 ที่รักของดิฉันจ๋า ผลมะเขือดูดาอิมส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปแล้ว ที่ประตูบ้านของพวกดิฉันมีผลไม้อร่อยนานาชนิด
มีทั้งผลใหม่และผลเก่า ที่ดิฉันได้เก็บรวบรวมไว้สำหรับเธอ


1.เสน่ห์ของเจ้าสาว (7:1-6)

7:1 เจ้าบ่าวกล่าวว่า เท้าของเจ้าสาวนวยนาด (งดงาม) และรูปร่างสะโพกของเธอทำให้เขานึกถึงงานศิลปะวิจิตร ซึ่งเป็นงานเจียระไนของช่างแกะสลักมือเอก

7:2 การเปรียบเทียบสะดือของเจ้าสาวกับอ่างกลมที่ใช้ใส่เหล้าองุ่นอาจฟังดูพิลึกถ้าเราเข้าใจว่ามันเป็นการเปรียบเทียบรูปลักษณะที่มองเห็นเจ้าบ่าวหมายความว่าร่างกายของเธอน่าปรารถนาและทำให้เคลิบเคลิ้มดุจดังเหล้าองุ่น (ดู 4:10 เปรียบเทียบ) ทำนองเดียวกับการเปรียบเทียบท้องของเธอกับกองข้าวสาลี คงฟังดูโง่เง่า ถ้าเราตีความเป็นภาพ ข้าวสาลีเป็นแหล่งอาหารหลักอย่างหนึ่งในปาเลสไตน์โบราณ (ฉธบ. 32:14; 2 ซมอ. 4:6; 17อ28) โดยเหตุนี้ ภรรยาของเขาจึงเป็นทั้ง “อาหาร” (ข้าวสาลี) และ “เครื่องดื่ม” (เหล้าองุ่น) ในความหมายว่าการที่เธอแสดงความรักทางร่างกายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเขาและทำให้เขาถึงพอใจ

7:3-4 สำหรับการเปรียบถันทั้งสองของเธอกับลูกละมั่ง ให้ดูคำอธิบายของ 4:5 คอของเธองดงามและล้ำค่าประหนึ่งหอคอยงาช้าง (ดู 4:4 เปรียบเทียบ) นัยน์ตาของเธอสวยงามและสายตาเธอมีผลต่อความรู้สึกของเขา เป็นผลที่น่าชื่นใจ ดุจสระน้ำในเมืองเฮชโบน เมืองของชาวโมอับ (กดว. 21:25) ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความอุดมสมบูรณ์และแหล่งกักเก็บน้ำ “การชายตามองของเธอสะท้อนถึงความสงบและงดงามของสระน้ำในเฮชโบน” (Lehrman, “The Song of Songs,” p. 26) สระน้ำเหล่านี้อยู่ใกล้ประตูทับทิมของเมืองนั้น ตำแหน่งของประตูนี้ไม่เป็นที่รู้จัก เป็นไปได้ว่าบัทรับบิมเป็นชื่อประตู จมูกงามได้รูปของเธอเหมือนหอแห่งเลบานอน…ซึ่งมองลงเห็นเมืองดามัสกัส หอคอยแข็งแกร่งนี้ช่วยปกป้องเมืองดามัสกัส ดังนั้นลักษณะภายนอกที่น่ารักของเธอก็สะท้อนบุคลิกที่เข้มแข็งภายในของเธอ

7:5 โดยการเปรียบศีรษะเธอกับภูเขาคารเมล เขาหมายความว่าเธอมีลักษณะดุจราชินี ทั้งงามสง่าและน่าเกรงขาม (เรื่องความงามสง่าของภูเขาคารเมล ดู อสย. 35:2; ยรม. 46:18) เส้นผมของเจ้าสาว (ดู พซม. 4:1; 6:5 เปรียบเทียบ) ก็สวยมาก จนกษัตริย์ที่ทรงอำนาจอย่างซาโลมอนยังต้องมนตร์เสน่ห์ความงามนั้น

7:6 เจ้าบาวลงท้ายคำสรรเสริญเสน่ห์ของเจ้าสาว โดยประโยคสรุป ซึ่งกล่าวถึงความงามหมดจดของเธอ โดยเรียกเธอว่า เออ แม่ช่างน่ารัก

2.ความปรารถนาของเจ้าบ่าว (7:7-9)

7:7-9ก ในคำพูดส่วนที่เหลือของเจ้าบ่าว เขาเปรียบเรือนร่างของภรรยากับต้นอินทผลัมสูงระหง และเปรียบถันทั้งสองของเธอกับพวงอินทผาลัม เขายังกล่าวว่าเขาปรารถนาถันทั้งสองของเธอ โดยเปรียบถันนั้นกับพวงองุ่นที่น่าปรารถนาและมีรสชาติ เขาต้องการลิ้มรสผลไม้แห่งความรักของเธอ ซึ่งทั้งหอมหวานและทำให้เคลิบเคลิ้ม แม้แต่ลมหายใจเธอก็หอมหวานดังลูกท้อ และจุมพิตจากปากเธอก็หวานดุจเหล้าองุ่น (ดู 4:10 เปรียบเทียบ)

7:9ข เจ้าสาวใช้ภาพเหล้าองุ่นเช่นกัน (ดูข้อ 9ก เปรียบเทียบ) เพื่อแสดงความปรารถนาของเธอ ที่จะตอบสนองความต้องการของสามี การสลับผู้พูดอย่างรวดเร็ว (ไม่มีการแนะนำว่าเจ้าสาวเป็นผู้พูดข้อ 9ข) สะท้อนถึงความตื่นเต้นของทั้งสองในการมอบและรับทั้งจุมพิตและการลูบไล้ การจูบริมฝีปากกันและกัน ได้รับการบรรยายโดยวรรณศิลป์ของบทกวี ที่ให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวพูดสลับกัน

3.ท่อนสร้อย กล่าวถึงการเป็นของกันและกัน (7:10)

7:10 ท่อนสร้อยกล่าวถึงการเป็นของกันและกัน เคยบันทึกไว้แล้วใน 2:16 และ 6:3 อย่างไรก็ตาม ในข้อนี้ วลีที่ว่า ที่รักของฉัน “เป็นกรรมสิทธิ์ของฉัน” ถูกแทนที่โดยวลี ความปรารถนาของเขาก็เจาะจงเอาตัวดิฉัน นี่เป็นการกล่าวในลักษณะเน้นย้ำถึงความเป็นเจ้าของ สามีจะเป็นของภรรยามากไปกว่าเวลาที่เขาปรารถนาเธอเพียงคนเดียวได้อย่างไร เธอมั่นใจในความรักของเขามากขึ้น จนเวลาเธอสามารถพูดได้ว่า ความปรารถนาของเขาก็เจาะจงแต่เธอเท่านั้น ความรักของเขาท่วมท้นเธอ จนเธอไม่ได้กล่าวตรงนี้เลยว่า เขาเป็นของเธอ

ค. คำเชื้อเชิญจากเจ้าสาว (7:11-13)

7:11-13 ในช่วงก่อนหน้านี้ (ข้อ 1-10) ผู้เป็นสามีเป็นฝ่ายริเริ่มการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ (ข้อ 11-13) เธอเป็นฝ่ายริเริ่มบ้าง นี่เป็นครั้งแรกในเพลงซาโลมอน ที่เจ้าสาวกล่าวเชิญชวนตรงๆ อย่างไม่ขัดเขินให้สามีและเธอมีเพศสัมพันธ์กัน ก่อนหน้านี้ ความปรารถนาของเธอแสดงออกในรูปบุรุษที่สาม (เช่น 1:2ก; 2:6) เวลานี้ เมื่อเธอมั่นใจในความรักของสามีมากขึ้น เธอก็รู้สึกเปิดเผยที่จะเป็นฝ่ายริเริ่มการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเธอจึงชวนเขาให้ไปทุ่งนา ไปตามหมู่บ้าน ซึ่งทั้งสองจะสามารถพักแรมด้วยกันทั้งคืนได้

ฤดูใบไม้ผลิ เป็นสัญลักษณ์สากลที่แสดงถึงความรัก เจ้าสาวยกภาพฤดูใบไม้ผลิ เพื่อถามว่าความสดชื่นและความหวังซึ่งหล่อหลอมความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้น ยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ (ดู 2:10-13 เปรียบเทียบ) คำตอบ ซึ่งเธอตอบตนเอง คือใช่ สัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิคือช่อดอกองุ่น ดอกส้มโอเบ่งบาน และกลิ่นหอมของต้นแมนเดรก แมนเดรก ต้นไม้ที่มีขนาดเท่าๆ กับต้นแอ็ปเปิ้ล และมีสีแดง อาจกระตุ้นความต้องการทางเพศ (ดู ปฐก. 30:14-16 เปรียบเทียบ)
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 8:12 am

( ตอนที่ 10 )

เพลงซาโลมอนบทที่ 8

1 แหม ถ้าเธอได้เป็นพี่ชายของดิฉัน ผู้ได้ดูดนมจากอกมารดาของดิฉันก็จะดี เพราะเมื่อดิฉันพบเธอนอกบ้าน
ดิฉันจะได้จุบเธอได้ แล้วคนทั้งหลายจะได้ไม่ดูถูกดูหมิ่นดิฉัน
2 แล้วดิฉันจะได้เดินนำเธอ พาเธอให้เข้ามาในเรือนมารดาของดิฉัน เข้าไปในห้องของผู้ที่ให้ดิฉันได้ปฏิสนธิ
ดิฉันจะได้ให้เธอดื่มเหล้าองุ่นใส่เครื่องเทศ และดื่มน้ำทับทิมของดิฉัน
3 แล้วแขนซ้ายของเขาจะช้อนใต้ศีรษะของดิฉันไว้ และแขนขวาของเขาจะสอดกอดดิฉันไว้
4 โอ บุตรีแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย ดิฉันขอให้เธอทั้งหลายสาบานว่า
เธอทั้งหลายจะไม่เร้าหรือจะไม่ปลุกความรักให้ตื่นกระตือขึ้น จนกว่าความรักจะจุใจแล้ว

ความรักเข้มแข็งดังความตาย
5 แม่คนนี้ที่ขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร อิงแอบแนบมากับคู่รัก คือใครที่ไหนหนอ ดิฉันได้ปลุกเธอเมื่อเธออยู่ใต้ต้นท้อ
ที่นั่นแหละที่มารดาของเธอได้ปวดร้าวเพราะเธอ ที่ตรงนั้นแหละผู้ที่คลอดเธอได้เจ็บครรภ์
6 จงแนบดิฉันไว้ให้เป็นเนื้อเดียว ดุจดวงตราแขวนอยู่ที่ใจของเธอ ประดุจดวงตราบนแขนของเธอ
เพราะความรักนั้นเข้มแข็งอย่างความตาย ความรักรุนแรงก็ดุเดือดเหมือนแดนคนตาย
และประกายแห่งความรักรุนแรงนั้นก็คือประกายเพลิง คือประกายเพลิงที่แสนรุนแรง
7 น้ำมากหลายไม่อาจดับความรักให้มอดเสียได้ หรืออุทกธารทั้งหลายไม่อาจท่วมความรักให้สำลักตายเสียได้
แม้ว่าคนใดจะเอาทรัพย์สมบัติในเหย้าเรือนของตนทั้งสิ้น มาแลกกับความรักนั้น
คนนั้นคงได้รับความหมิ่นประมาทจากคนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง
8 เรามีน้องสาวคนหนึ่ง และเธอยังไม่มีถัน เราจะทำอย่างไรกับน้องสาวของเรา เมื่อถึงวันที่เขามาสู่ขอน้องของเรา
9 ถ้าหากน้องสาวนั้นเป็นกำแพง เราก็จะสร้างสันปราการเงินไว้ และถ้าหากน้องเป็นประตู
พวกเราจะเอากลอนไม้สนสีดาร์ขัดบานประตูเสีย
10 ดิฉันเป็นกำแพง ถันทั้งสองของดิฉันเหมือนดังหอคอย เพราะฉะนั้นในสายตาของเขา
ดิฉันเป็นดังผู้นำความเกษมศานต์มา
11 ซาโลมอนทรงมีสวนองุ่นอยู่แปลงหนึ่งที่เมืองบาอัลฮาโมน พระองค์ทรงมอบสวนองุ่นนั้นให้แก่ผู้รักษาสวนเช่า
ทุกคนต้องส่งเงินคนละพันแผ่นเป็นค่าผลไม้
12 สวนองุ่นของดิฉัน ซึ่งเป็นของดิฉันเอง อยู่ต่อหน้าดิฉัน ข้าแต่ซาโลมอน พันนั้นพระองค์เอาไปเถิด
และผู้ดูแลผลไม้ในสวนนั้นก็เอาไป คนละสองร้อยเถิด
13 โอ เธอ ผู้อยู่ในสวน พวกเพื่อนๆของเธอคอยฟังเสียงของเธออยู่ ขอให้ฉันได้ยินเสียงเธอ
14 ที่รักของดิฉันจ๋า เร็วๆเข้าเถอะจ๊ะ ขอให้เธอเป็นดังละมั่ง หรือกวางหนุ่ม บนภูเขาต้นสีเสียดเถิด


ง. เจ้าสาวปรารถนาความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (8:1-4)

ในสี่ข้อนี้เจ้าสาวเปิดเผยความปรารถนาที่ทวีขึ้น ซึ่งเธอต้องการใกล้ชิดลึกซึ้งกับคนรัก ผู้เป็นสามีเธอ มากกว่าเดิม และเธอชื่นชมยินดีในความสัมพันธ์ที่มีหลายแง่มุมนี้

8:1 ในตะวันออกใกล้สมัยโบราณ การแสดงความรักใคร่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องต้องห้าม ยกเว้นในกรณีของสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ดังนั้นเจ้าสาวจึงปรารถนาจะให้สามีของเธอเป็นพี่ชายของเธอ เพื่อคนอื่นจะยอมรับได้ในทุกโอกาสที่เธอแสดงความรักใคร่ต่อเขา

8:2-4 เจ้าสาวสวมบทบาทพี่สาวอย่างร่าเริง (ฉันจะได้เดินนำเธอ – คำกริยา นาฮาก ใช้สำหรับผู้ใหญ่นำผู้น้อยเสมอ) และแม้แต่สวมบทบาทของมารดา นายหญิงของบ้านคือคนที่จะให้แขกดื่มเหล้าองุ่นพิเศษ ดังนั้นในความสัมพันธ์กับสามีของเธอ เจ้าสาวจึงมีลักษณะของทั้งน้องสาว พี่สาว และแม่ เพลงซาโลมอนยังแสดงภาพคู่รักนี้ว่าทั้งสองเป็นเพื่อนกัน (ดู 5:1, 16 เปรียบเทียบ) ดังนั้นคู่รักคู่นี้จึงมีความสัมพันธ์ที่มีหลากหลายแง่มุม

ในฐานะภรรยาของเขา เธอปรารถนาให้เขาลูบไล้ ภาษาฮีบรูใน 8:3 สามารถแปลได้ว่า “ขอให้แขนซ้ายของเขาซ้อนใต้ศีรษะของดิฉัน และแขนขวาของเขาสอดกอดดิฉัน” (ดู 2:6 เปรียบเทียบ) แต่เธอก็ขอเหล่าบุตรีเยรูซาเล็มอีกครั้งว่า (ดูคำอธิบายของ 1:5 เปรียบเทียบ) อย่างบังคับให้เธอแสดงความรักต่อสามี (ดู 2:7; 3:5 เปรียบเทียบ)

V.บทสรุป : ธรรมชาติและอานุภาพของความรัก (8:5-7)

บทเพลงท่อนนี้รวบยอดเนื้อหาของเพลงซาโลมอนด้วยภาพล้ำลึกแห่งความรัก (ข้อ 5) และคำอธิบายที่ตามมา (ข้อ 6-7)

ก. ภาพของความรัก (8:5)

8:5 ไม่มีคำตอบใดสำหรับคำถามที่ว่า แม่คนที่ขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร อิงแอบแนบมากับคู่รัก คือใครที่ไหนหนอ เพราะไม่จำเป็นต้องให้คำตอบ (ใน 3:6 คำถามถามถึงเจ้าบ่าวว่า “อะไรหนอที่กำลังขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร”) ภาพสุดท้ายของคู่รักในเพลงซาโลมอนปรากฏที่นี่ ถิ่นทุรกันดารหรือทะเลทรายเป็นสัญลักษณ์ของสองสิ่งในพระคัมภีร์เดิม ประการแรก ถิ่นทุรกันดารเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาทดสอบชนชาติอิสราเอล 40 ปี ในความรักของพวกเขา คู่รักคู่นี้ได้พิชิตการทดสอบซึ่งคุกคามความสัมพันธ์ของทั้งสอง (อาทิ ความไม่มั่นใจของเจ้าสาว ใน 1:5-6 พวกสุนัขจิ้งจอกใน 2:15 และความเฉยเมยใน 5:2-7) ประการที่สอง ทะเลทรายหรือถิ่นทุรกันดารเป็นภาพแสดงถึงการสาปแช่งของพระเจ้า (ดู ยรม. 22:6, ยอล. 2:3 เปรียบเทียบ) การที่คู่รักขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร บ่งบอกว่า ในแง่หนึ่ง พวกเขาได้พิชิตคำสาปแห่งการไม่ลงรอยซึ่งอาดัมและเอวาได้รับ (ปฐก. 3:16ข และดูคำอธิบายของข้อนี้)

ภาพทะเลทรายในเพลงซาโลมอน 8:5ก เปิดโอกาสให้ใช้ภาพต้นท้อในข้อ 5ข ซึ่งเป็นคำพูดของเจ้าสาว ในสมัยโบราณ บางครั้งต้นท้อก็เป็นสัญลักษณ์ของความรักและความหวานชื่น ภาพ ณ ที่นี้ทำให้นึกถึงจุดเริ่มต้นแห่งความรักของทั้งสอง เจ้าสาวปลุก คนรักของเธอสู่ความรัก “การตื่นขึ้น” เป็นภาพอุปมาอุปไมยสำหรับชีวิตใหม่ หรือการรับรู้ชีวิตในลักษณะใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ความรักของเธอนำมาสู่เขา เช่นเดียวกับที่เขาเป็นผลซึ่งเกิดจากความรักของพ่อแม่ และถือกำเนิดมาในโลกนี้โดยการคลอดบุตร เวลานี้เขาก็ได้ “บังเกิด” หรือ “ตื่นขึ้น” เป็นครั้งที่สอง โดยความรักของหญิงผู้เป็นที่รักของเขา

ข. คำอธิบายความรัก (8:6-7)

สองข้อนี้อาจแบ่งเป็นสามส่วน คือ คำขอของเจ้าสาว (ข้อ 6ก) คำอธิบายพลังอำนาจของความรัก (ข้อ 6ข-7ก) และแนวทางประยุกต์ใช้ซึ่งเป็นข้อสรุป (ข้อ 7ข)

8:6ก ในพระคัมภีร์เดิม ดวงตราใช้เพื่อบ่งบอกความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์สินที่มีค่า ดังนั้นเจ้าสาวจึงขอเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดของคนรัก สมบัติที่จะมีอิทธิพลต่อความคิด (ที่ใจของเธอ) และการกระทำ (บนแขนของเธอ) คำขอรุกเร้าเช่นนี้จำเป็นต้องมีคำอธิบาย ซึ่งเธอกล่าวต่อมาในข้อ 6ข-7ก

8:6ข-7ก สองข้อนี้สรุปธรรมชาติและพลังอำนาจของความรักซึ่งบรรยายในเพลงซาโลมอน ความรักเป็นสากลและไม่มีใครอาจต้านทานเฉกเช่นความตาย เป็นเรื่องส่วนตัวและหวงแหน (ในความหมายของการห่วงหาอาทรต่อคนที่ตนรักอย่างแท้จริง) เหมือนดังแดนคนตาย ร้อนแรง (อย่างประกายเพลิง) ทั้งยังไม่ยอมเลิกราและเพียรอดทน ประหนึ่งสายน้ำมากหลายและอุทกธารทั้งหลาย และทั้งหมดนี้เป็นความจริง เนื่องจากความรักได้รับการสนับสนุนโดยพระผู้สร้าง ผู้ทรงครอบครองฤทธานุภาพทั้งสิ้น คำว่า คือประกายเพลิงที่แสนรุนแรง ถ้าแปลตามตัวอักษรคือ “ดุจเพลิงแห่งพระผู้เป็นเจ้า” (ดูขอบหน้ากระดาษฉบับ NIV เปรียบเทียบ) โดยข้อความนี้พระผู้เป็นเจ้าจึงได้รับการกล่าวถึงในฐานะแหล่งแห่งความรักที่ทรงพลังอำนาจ

8:7ข ประโยคสุดท้ายเกี่ยวกับความรักที่บรรยายไว้ในเพลงซาโลมอนคือ มันประเมินค่ามิได้ ทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของบุคคลก็ไม่คู่ควรจะใช้แลกความรักเลยแม้แต่น้อย ที่จริง เงินจำนวนนั้นคงได้รับความหมิ่นประมาท เพราะความรักไม่สามารถซื้อได้ ความพยายามใดๆ ที่จะ “ซื้อ” ความรัก ก็เท่ากับการลดคุณค่าของความรัก

VI.ปัจฉิมบท : ความรักนี้เริ่มขึ้นอย่างไร (8:8-14)

ข้อ 8-12 เป็นคำอธิบายย้อนหลังซึ่งกล่าวถึง (ก) การปกป้องเจ้าสาวเมื่อเธอยังเด็ก โดยพวกพี่ชายของเธอและ (ข) การที่เธอได้พบซาโลมอนครั้งแรกในภายหลัง เพลงซาโลมอนลงท้ายในข้อ 13-14 ด้วยประโยคที่แสดงให้เห็นว่า ความรักของคู่รักคู่นี้ไม่เคยจืดจางเลย

8:8-9 เจ้าสาวเติบโตมาในครอบครัวที่พวกพี่ชายวางแผนแน่ชัดเพื่อเตรียมการแต่งงานของเธอ (วันที่มีเขามาสู่ขอน้องของเรา) ถ้าเธอแสดงนิสัยและวิจารณญาณที่ดีและชนะการล่อลวง (ถ้าหากน้องสาวนั้นเป็นกำแพง) พวกเขาจะอนุญาตให้เธอมีอิสระมากขึ้น และจะให้รางวัลเธอ สันปราการเงิน (พหูพจน์) อาจแปลว่า “ป้อมเงิน” (เอกพจน์) หมายถึงเครื่องประดับศีรษะที่สวยงามและราคาแพง หรือมันอาจเป็นแค่คำเปรียบให้เห็นภาพว่า พวกเขาประดับประดาเธอ เหมือนประชาชนประดับประดาป้อมปราการด้วยเงิน แต่ถ้าเธอเหลวไหลและเอนเอียงไปในทางผิดศีลธรรม (ถ้าหากน้องปล่อยตัวเหมือนดังประตู) พวกเขาก็วางแผนจะจำกัดเสรีภาพของเธอ (ใช้สำนวนเปรียบว่า เอากลอนไม้สนสีดาร์ขัดประตูเสีย เหมือนการปิดประตูตายด้วยไม้กระดาน)

8:10 คำพยานที่เจ้าสาวเล่าเรื่องตนเองคือ เธอรักษาความบริสุทธิ์ทางเพศ (ดิฉันเป็นกำแพง) ดังนั้นเธอจึงไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอย่างที่พวกพี่ชายกล่าวไว้ เมื่อร่างกายเธอเติบโตและเป็นผู้ใหญ่ เธอจึงบริสุทธิ์สำหรับสามีซึ่งทำให้เธอสามารถมอบความพึงพอใจแก่เขา (ซาโลมอน) คำฮีบรูที่แปลว่าความพึงพอใจ ชาโลม แสดงถึงการเล่นคำอย่างน่าสนใจ เพราะมันออกเสียงคล้ายกับพระนามของซาโลมอนมาก ชะโลโม

8:11-12 เห็นได้ชัดว่า ทั้งสองพบกันครั้งแรกในสวนองุ่นที่ซาโลมอนให้พวกพี่ชายของเธอเช่า (ตำแหน่งของบาอัลฮาโมนนั้นไม่เป็นที่รู้จัก) คนเช่าสวนแต่ละคนต้องปลูกองุ่นให้มากพอที่จะแลกเป็นเงินหนัก 1,000 แผ่น (เชเขล) (ประมาณ 25 ปอนด์) สำหรับเจ้าของที่ดิน แล้วคนเช่าสวนทุกคนจะได้รับเงินหนัก 200 แผ่น (เชเขล) (ประมาณ 5 ปอนด์) เป็นค่าจ้างอย่างที่กล่าวไว้ในช่วงเริ่มต้นหนังสือเล่มนี้ (1:6) เจ้าสาวเคยทำงานในสวนองุ่น เป็นการยอมอยู่ในโอวาทของพวกพี่ชาย ที่นั่นเธอได้พบซาโลมอน และเขาตกหลุมรักเธอ คำว่า สวนองุ่นของดิฉัน เป็นคำเปรียบเปรยถึงตัวเจ้าสาวเอง (ดู 1:6 เปรียบเทียบ) เธอเท่านั้นที่สามารถมอบตัวเธอแก่คนอื่นได้ (เธอกล่าวว่า “สวนองุ่นของดิฉัน ซึ่งเป็นของดิฉันเอง อยู่ต่อหน้าดิฉัน” ภาษาอังกฤษแปลข้อนี้ว่า “สวนองุ่นของเธอ เธอก็ต้องเป็นผู้ให้”) และเธอเลือกมอบตัวเธอแด่ซาโลมอนไม่มีใครบังคับ แม้แต่สมบัติของเธอ (รวมทั้งรายได้ 1,000 แผ่นของเธอ) ก็เป็นของเขา

8:13-14 คำสนทนาของคู่รักในสองข้อนี้ ทำให้นึกถึงคำขอที่เต็มด้วยความปรารถนา ซึ่งกล่าวในวันเวลาที่ทั้งสองเกี้ยวพาราสีกัน เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความรักของทั้งสองยังไม่จืดจาง เขากล่าวแก่เธอว่า ขอให้ฉันได้ยินเสียงเธอ (ดู 2:14 เปรียบเทียบ) และเธอขอให้เขา (ซึ่งเธอเรียกว่าที่รักของดิฉันอีกครั้ง) เป็นเหมือนละมั่งหรือกวางหนุ่ม (ดู 2:17 เปรียบเทียบ และดู 2:9) เมื่อครั้งทั้งสองเกี้ยวพาราสีกัน เธอรอคอยให้เขารับเธอเป็นเจ้าสาว (ดูคำอธิบาย 2:17) เวลานี้ในชีวิตสมรส เธอก็รอคอยกำลังและความกระฉับกระเฉงของเขา ด้วยความปรารถนาแบบเดิม เช่นเดียวกับคำว่า “เนินเขา” ใน 2:17 ภูเขาใน 8:14 ก็อาจหมายถึงหน้าอกของเธอ การที่มันปกคลุมด้วยต้นสีเสียด หมายความว่ามันพรมด้วยน้ำหอม (ดูคำอธิบายเครื่องหอมบางชนิดใน 4:13-14)

เพลงซาโลมอนเป็นภาพงดงามที่แสดงถึง “การสนับสนุน” ของพระเจ้าในเรื่องความรักทางกายระหว่างสามีภรรยา การสมรสต้องมีลักษณะผัวเดียวเมียเดียว ยั่งยืน ผูกพันเป็นหนึ่งด้วยการเสียสละตนเอง ซึ่งคู่สมรสต้องอุทิศตัวและมั่นคงต่อกันและกันอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งต้องพึงพอใจในกันและกัน “ด้วยเหตุนี้ ชายจึงจากบิดามารดาของตน เพื่อไปผูกพันกับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน” (ปฐก. 2:24)

เพลงซาโลมอนแสดงให้เห็นว่า เรื่องเพศในชีวิตสมรสไม่ใช่เรื่อง “สกปรก” ความดึงดูดใจทางร่างกายที่ชายและควาโหยหาในชีวิตสมรส เป็นเรื่องธรรมชาติและมีเกียรติ แต่หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงยกย่องความดึงดูดทางร่างกายระหว่างชายและหญิง มันยังให้เกียรติแก่บุคลิกที่น่าพึงพอใจของคู่รักคู่นี้ ความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมก่อนการแต่งงานก็ได้รับการสรรเสริญด้วย (เช่น พซม. 4:12) เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานไม่มีอยู่ในแผนการของพระเจ้า (2:7; 3:5) ความสัตย์ซื่อทั้งก่อนและหลังแต่งงานเป็นสิ่งที่พระเจ้าคาดหวัง และให้เกียรติ (6:3; 7:10; 8:12) ความสัตย์ซื่อต่อความรักในชีวิตสมรสเช่นนี้ แสดงให้เห็นภาพความรักของพระเจ้าและความตั้งใจแน่วแน่ที่พระองค์มีต่อประชากรของพระองค์
Jeremy
โพสต์: 211
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ม.ค. 20, 2005 9:49 am

พุธ มี.ค. 09, 2005 9:07 am

เข้ามาเซฟ ประกอบการศึกษา บทหน้า(module 3) เรียนเรื่องนี้

ขอบคุณครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
~@Little lamb@~
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 9396
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:00 pm
ติดต่อ:

พุธ มี.ค. 09, 2005 10:33 am

+_+ เยอะจัง
จะค่อยๆอ่านนะคะ
DokPeepHorm

พุธ มี.ค. 09, 2005 11:11 am

~@Little lamb@~ เขียน: +_+ เยอะจัง
จะค่อยๆอ่านนะคะ
ด้วยคนค่ะ ...

ขอบคุณมากนะคะพี่พีพี :-*
peach_peach

พุธ มี.ค. 09, 2005 12:08 pm

อ่านไม่หมดในวันเดียวแน่ๆค่ะ
แต่ยังไงก็ขอบคุณนะคะ
Batholomew
~@
โพสต์: 12724
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 2:28 pm
ที่อยู่: Thailand

พุธ มี.ค. 09, 2005 12:08 pm

ขอบคุณครับพี่พีพี..*thx
ภาพประจำตัวสมาชิก
Andreas
~@
โพสต์: 3131
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร ม.ค. 18, 2005 7:47 am
ที่อยู่: Bangkok
ติดต่อ:

พุธ มี.ค. 09, 2005 8:28 pm

พี่พีพีครับ คริสเตียนส่วนมากต้องศึกษาพระคัมภีร์แบบละเอียดแบบนี้เลยหรือเปล่าครับ เพราะทางคาทอลิกไม่ค่อยมี ถ้าจะรู้ลึกแบบนี้ต้องสำหรับคนที่จะเป็นพระสงฆ์ หรือไม่ก็ต้องเรียนปริญญาทางด้านพระคัมภีร์โดยเฉพาะเลย
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 10:03 pm

Andreas เขียน: พี่พีพีครับ คริสเตียนส่วนมากต้องศึกษาพระคัมภีร์แบบละเอียดแบบนี้เลยหรือเปล่าครับ เพราะทางคาทอลิกไม่ค่อยมี ถ้าจะรู้ลึกแบบนี้ต้องสำหรับคนที่จะเป็นพระสงฆ์ หรือไม่ก็ต้องเรียนปริญญาทางด้านพระคัมภีร์โดยเฉพาะเลย
โดยปกติ ในคริสตจักร ที่ค่อนข้างจะมี Sunday School ชัดเจน เราจะศึกษา พระคัมภีร์ เป็นเล่มๆค่ะ

หรือไม่ก็ชั้นเรียนตอนบ่าย จะเลือกเรียน เป็น Topic ในพระคัมภีร์ แต่ละเล่ม
เมื่อเราสอน ก็จะพูดถึงกรอบกว้างๆ ของพระคัมภีร์เล่มนั้นๆทั้งเล่มค่ะ แล้วจึง
มาที่ประเด็น ที่เราเลือกศึกษาค่ะ ;D
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

พุธ มี.ค. 09, 2005 10:04 pm

peach เขียน: อ่านไม่หมดในวันเดียวแน่ๆค่ะ
แต่ยังไงก็ขอบคุณนะคะ
ค่อยๆอ่านวันละบท ก็ดีค่ะ ;D
อุ

พุธ มี.ค. 09, 2005 10:37 pm

Prod Pran เขียน:
peach เขียน: อ่านไม่หมดในวันเดียวแน่ๆค่ะ
แต่ยังไงก็ขอบคุณนะคะ
ค่อยๆอ่านวันละบท ก็ดีค่ะ ;D
เห็นด้วยครับวันเดียวไม่หมดแน่???
ภาพประจำตัวสมาชิก
Holy
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 10011
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 3:06 pm

อาทิตย์ พ.ค. 02, 2010 1:34 am

จากการที่มานั่งซ่อมกระทู้นี้ ทำให้ตระหนักว่ามันเยอะและยาว ทำให้รู้ว่า คนตั้งต้องพากเพียรเพียงไร ขออนุโมทนามายังพี่พีพีที่ให้ความรู้แก่เราอย่างยิ่งครับ

ข้อมูลกระทู้นี้พิมพ์หนังสือได้เล่มหนึ่งเลยนะครับ
littleseal
โพสต์: 1029
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ มิ.ย. 13, 2010 9:53 pm

พฤหัสฯ. ก.ค. 22, 2010 6:38 am

เคยอ่านแต่ไม่จบและมีความคิดว่าไม่เห็นเกี่ยวข้องกับ
เนื้อหาก่อนหน้าเลย จึงไม่ได้อ่านต่อ

ครั้งนี้มีคู่มืออ่านแล้ว ขอขอบคุณมากค่ะที่ให้ปัญญา
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

ศุกร์ ก.ค. 23, 2010 3:18 pm

ในการอ่านพระคัมภีร์นั้น พี่ได้เรื่องที่ได้ข้อคิดจาก นักวิชาการพระคัมภีร์ ดังนี้

เพราะเรา/ผู้อ่านมักจะบ่นว่าอ่านไม่เข้าใจ (อะไรทำนองนี้แหละ)

นักวิชาการพระคัมภีร์ ตอบว่า

1.ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ อย่ากังวล เพราะพระวจนะ(พระวาจา)ของพระเจ้ายังไม่มาถึงเรา คือพระเจ้ายังไม่ตรัสอะไรกับเรานั่นเอง

2.ถ้าอ่านแล้ว เข้าใจ นั่นคือพระเจ้าตรัสกับเรา/ผู้อ่าน ผ่านพระวาจา แล้ว แต่ที่ต้องกังวล คือปฏิบัติตามได้ไหม เพราะนั่นคือน้ำพระทัย พระเจ้า หรือพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อพวกเรา ค่ะ :s023:
littleseal
โพสต์: 1029
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ มิ.ย. 13, 2010 9:53 pm

ศุกร์ ก.ค. 23, 2010 4:26 pm

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ ขอน้อมรับคำแนะนำนี้เพื่อไปทบทวนสิ่งที่อ่านผ่านมา

:s002:
Prod Pran
Defender of lawS
Defender of lawS
โพสต์: 3324
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ม.ค. 17, 2005 9:54 pm
ที่อยู่: Bangkok

จันทร์ ส.ค. 23, 2010 9:43 pm

เผื่อใครอยากศึกษาพระคัมภีร์เล่มนี้ค่ะ
ตอบกลับโพส