15 ข้อคิดปลูกนิสัยรักการเรียนรู้

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พฤหัสฯ. ม.ค. 03, 2019 4:49 pm

15 ข้อคิด ปลูกฝั่งนิสัยรักการเรียนรู้
พศิน อินทรวงค์

1. ระหว่างการฟัง และการพูด พื้นฐานชีวิตควรเป็นการฟัง มิใช่การพูด ฟังให้มาก พูดเท่าที่จำเป็น พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะสมกาลเทศะ เมื่อพูดน้อยลง คมคิดวิเคราะห์ ย่อมเพิ่มพูน ได้ยินอะไร ๆ รับรู้อะไร ๆ จะแปลความหมายได้กว้างและลึกยิ่งขึ้น

2. การฟังมิใช่สักแต่ได้ยินเสียง ทว่า เป็นการรับรู้ด้วยใจที่เปิดกว้าง จับประเด็นเป็น จับแก่นเป็น รู้ชัดเจนว่า อะไรคือเนื้อ อะไรคือน้ำ มององค์รวมพร้อมบริบท มิใช่ยึดติดกับบางวรรคบางตอนแล้วทำลายความหมายทั้งหมด แม้ฟังอย่างมีอคติ การแปลความหมายย่อมคับแคบ ตื้นเขิน

3. อยากรู้เรื่องดินฟ้า ไม่ควรไปถามนักดนตรี แต่ควรแหงนหน้ามองฟ้า และสังเกตอุณหภูมิรอบตัว ใคร่รู้สิ่งใด รู้จักหาแหล่งข้อมูล ถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา

4. หนังสือหนึ่งเล่ม ถักทอจากประสบการณ์ชีวิตอย่างน้อยห้าพันวัน ชีวิตแสนสั้นเกินกว่าจะค้นคว้าใหม่ด้วยตนเองทุกเรื่อง คนฉลาดต้องรู้จักต่อยอดจากภูมิปัญญาโลก

5. นาน ๆ อ่านหนังสือ ชีวิตจึงพัฒนาช้า นาน ๆ พบผู้รู้ ชีวิตจึงหลงทางยาวไกล ในยุคสมัยใหม่ ที่เครื่องบินเร็วกว่าเสียง ยังมีคนจำนวนมากยอมจำนนเพราะความไม่รู้ ความรู้ล้นโลกแล้ว รอเพียงให้เราศึกษา ในเจ็ดวัน อย่างน้อยให้อ่านหนังสือหนึ่งเล่ม ไม่มาก ไม่น้อย เพียงพอให้มีความรู้ประทังชีวิตไปได้ แม้ต้องการกระโดดสู่ยอดเขาสูงรวดเร็ว อ่านต้องอ่านเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัว

6. ความรู้ที่ได้อ่าน ได้ฟัง ยังมิใช่ความรู้ของเรา หากไม่ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ โลกภายนอกคือห้องเรียนใหญ่ โลกภายในคือการทบทวนความรู้ อ่านฟัง แล้วต้องคิดวิเคราะห์ การวิเคราะห์ต้องใช้เวลา ต้องคิดซ้ำ ทบทวนซ้ำ ๆ ตั้งคำถาม ค้นคว้าต่อ ทดลอง และพิสูจน์ผล จึงเรียกได้ว่า สังเคราะห์ความรู้เป็น แหล่งเรียนรู้หยิบยื่นข้อมูลดิบ ยังไม่ได้ปรุงเป็นอาหารคาวหวาน วัตถุดิบเต็มตู้เย็นก็ไร้ประโยชน์หากไม่คิดหยิบมาหุง ต้ม ทอด แกง

7. กระบวนการตั้งคำถาม คือกระบวนการที่สอง ยังมิใช่สิ่งแรกที่ต้องกระทำ หนึ่งคือ ฟังและอ่าน สองคือการคิด วิเคราะห์ แม้ตั้งคำถามโดยยังไม่ผ่านกระบวนการที่หนึ่งและสอง คำถามนั้นย่อมไร้ประโยชน์ ยังมิใช่หนทางแห่งความรอบรู้ ทว่า เป็นกลลวงของความขี้เกียจ ไม่พึ่งพาตนเอง อย่าสักแต่สาด เท คำถามตามใจ จงเลือกเฟ้นคำถามที่แหลมคม บุกบั่น ฝ่าฟันด้วยลำแค้งตนเองก่อน ติดขัด จึงไต่ถามผู้รู้ภายหลัง

8. แก้วบรรจุน้ำเต็มแล้ว ย่อมบรรจุน้ำมิได้อีก เทน้ำก่อน จึงก้าวขาออกจากบ้านเพื่อเรียนรู้ ประสบการณ์เก่าแก่เป็นสัมภาระรกรุงรัง ร่ายยาวเรื่องความสำเร็จก่อนกาล ช่างน่าเบื่อ เป็นจุดอ่อนของผู้เป็นโรคขี้อวด จิตแห่งนักศึกษา สูงค่า กว้างขวาง จิตที่ยึดตนว่าเป็นบัณฑิต คับแคบ ต้อยต่ำ สิ่งที่รู้น้อยนิด สิ่งไม่รู้มากล้น ยิ่งกว่าฟ้ากว้าง คือสิ่งที่ไม่รู้ว่าตนไม่รู้ สูงสุดจักรวาล คือไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้แต่คิดว่ารู้ ความโง่เขลามิควรคิดเอาชนะ ศิโรราบย่อมรับความโง่ คือหนทางแห่งปัญญา

9. ดินสอ กระดาษ ปากกา คือสิ่งควรพกพาเสมอ ความรู้หลั่งไหลมาก็กักเก็บไว้ได้ กล้องวิดีโอ บันทึกไว้ แต่มิเคยเปิดดูช่างไร้ประโยชน์ เทคโนโลยีควรใช้สร้อยเท่าที่จำเป็น จดบันทึกด้วยมือตนเอง เข้าสู่ความจำได้ง่ายกว่า

10. ความรู้ในความคิด และความคิดในความรู้ คล้ายการเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ แม้จับ โยน ยัด ไร้ระเบียบ มีหรือจะจำได้ว่า ผ่อนวางไว้ที่ไหน ค่อย ๆ พับ ค่อย ๆ ผ่อน ค่อย ๆ จัด ได้ความรู้มาแล้วเป็นข้อมูลดิบ จดจำอย่างเป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการ จำโครงสร้างใหญ่ แล้วจึงย่อยสู่ภาพเล็ก ดังจิตรกรวาดรูป วาดจากภาพรวม แล้วจึงใส่รายละเอียด สู่การลงสีสัน แสงเงา ถอยห่างจากภาพ แล้วจึงตกแต่ง เข้าสู่ความสมบูรณ์ภายหลัง

11. ความรู้แรก กว่าจะเข้าใจเนิ่นนาน ความรู้สอง ค่อย ๆ เร็วขึ้น ความรู้ที่ร้อย รู้ได้ไม่ยาก ความรู้ที่หนึ่งพัน ฟังมาแล้ว แตกยอดเป็นความรู้อีกล้านประการโดยมิผ่านผู้ใดบอกกล่าว อ่านหนังสือเล่มแรก ผู้เขียนให้ร้อย ได้เพียงสิบ อ่านหนังสือเล่มที่หมื่น ผู้เขียนให้ร้อย แต่ต่อยอดได้แสนล้าน การเพิ่มพูนความรู้ คือผลคูณมิใช่ผลบวก ระหว่างผู้บูรณาการเป็นกับผู้ฝึกวิเคราะห์มือใหม่ ปัญญาช่างแตกต่างราวตะปูใต้รองเท้ากับดวงดาวบนฟากฟ้า

12. สิบคนมองภูเขา เก้าคนจะเห็นทิวทัศน์ มีเพียงหนึ่ง ที่เห็นภาพกว้าง ภาพขยาย ภาพเฉพาะจุด บนภูเขาลูกใหญ่ยังมีรอยเท้ามด ใต้รอยเท้ามด หิมาลัยสูงชัดมิเคยไปไหน ความสร้างสรรค์ มิได้เกิดจากภาพภายนอก ทว่า เกิดจากพลิกมุมคิดจากภายนอก เกิดจากย้อนทวนสิ่งที่เห็น จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน หนทางเข้าบ้าน จงอย่าคิดว่า ต้องเข้าทางประตู ดำดินมาก็ได้ ปีนหน้าต่างมาก็ได้ ทะลุหลังคามาก็ได้ หายตัวมาก็ได้ บ้านหนึ่งหลังเข้าได้หลายทาง บางครั้งอาจตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเข้าบ้าน นอนอยู่นอกบ้านได้ไหม ในฟ้ามีดิน ในดินมีฟ้า ความสร้างสรรค์คือความย้อนแย้งที่มีสมดุล

13. ความรู้ในจักรวาลเชื่อมโยงถึงกัน ยอดยุทธวิทยาศาสตร์ คือคนเดียวกับยอดยุทธศิลปะ ยอดยุทธศิลปะคือคนเดียวกับยอดยุทธเทคโนโลยี ผู้คิดค้นนวตกรรม อาจบรรลุธรรมได้ง่ายดาย เพียงใช้เครื่องมือเดียวกันสังเกตความจริง ส่วนผู้บรรลุถึงความจริงแล้ว อาจสร้างนวตกรรมใหม่พลิกโลกได้ เมื่อใช้เครื่องมือเดียวกันสังเกตโลกภายนอก

14. สมาธิคือบ่อเกิดแห่งปัญญา ความเงียบคือพื้นฐานแห่งการเรียนรู้อัศจรรย์ ยิ่งนิ่ง ยิ่งเก็บเกี่ยววัตถุดิบได้มาก ยิ่งพูดมาก ยิ่งหมดเปลืองเวลา ปัญญาฐานเล็ก คือฟัง อ่าน ปัญญาฐานกลาง คือเขียน วิเคราะห์ ปัญญาฐานใหญ่ คือมีสติหยั่งรู้ความเคลื่อนไหวของโลกภายในภายนอก ปัญญาทั้งสามฐานสมควรหลอมรวมเป็นหนึ่ง จึงเกิดการบูรณาการบริสุทธิ์ พลิกโลกได้แท้จริง ไม่ตกค้างเป็นพิษทำลายเพื่อนมนุษย์

15. ยิ้ม และจูงมือความไม่รู้ แต่งงานกับความโง่เขลา มีบาตรหลวงชื่อสดับเป็นผู้ทำพิธี เพื่อนรักชื่อจินตนาการเคียงข้าง เมื่อพบเจอกล่องของขวัญในงานเลี้ยง จงสงสัยอย่างเบิกบาน มิใช่ร้อนรน ลองเขย่าดู ลองทาย แล้วจึงเปิดออก จงเรียกบาตรหลวง และเพื่อนรักมาร่วมเป็นพยานว่าในกล่องมีสิ่งใดอาศัยอยู่ จงใช้ชีวิตท่ามกลางความสงบในความปั่นป่วน และความปั่นป่วนในความสงบ คิดก่อนคิด มิใช่คิดทุกเรื่อง ถามก่อนถาม มิใช่ถามทุกเรื่อง สงสัยก่อนสงสัย มิใช่สงสัยทุกเรื่อง ความรอบรู้ เกิดจากความรู้รอบค่อย ๆ สะสม มิใช่สร้างในวันเดียว จงมีลมหายใจอยู่เพื่อการเรียนรู้โลกภายใน เพื่อเปิดพื้นที่ไพศาลให้โลกภายนอก ค่อย ๆ นะ อย่าเร่งรีบ ไม่ต้องเพียรเกินไป แต่จงอย่าหยุดพัก ทำให้จริง แต่ทำแบบเล่น ๆ เร็วดังสายฟ้า สงบนิ่งดังโพธิ์ใหญ่ มิต้องลุ่มลึกเช่นมหาสมุทร ทว่า เป็นมิตรกับไส้เดือนน้อย เป็นอากาศที่อยู่ทุกแห่งหน

ติดต่อ *พศิน อินทรวงค์*
เพื่อบรรยาย/วิทยากร/ อ่านบทความ/หนังสือได้ที่...
https://www.facebook.com/talktopasin2013
ตอบกลับโพส