พระเยซูเจ้าไม่ได้นอนเฉยๆรอกลับคืนชีพ

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ เม.ย. 20, 2019 6:26 pm

+ พระเยซูไม่ได้นอนเฉยๆรอกลับคืนชีพ แต่ทรงไปทำบางสิ่งที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในพระคัมภีร์(พระธรรมเดิม) +

- ไม่ใช่โตแล้วจะไปไหนก็ได้ แต่เพราะเป็นพระเจ้าจึงจะทำอะไรก็ได้

ธรรมเนียมการอธิษฐานเพื่อผู้ตาย หรือทำกิจกุศลหรือกิจศรัทธาต่างๆเพื่อผู้ตาย ปรากฎเป็นธรรมเนียมยิว มีหลักฐานบันทึกมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล โดยเล่าถึงสิ่งที่ยูดา มัคคาบี วีรบุรุษชาวยิวซึ่งมีชีวิตอยู่และสร้างวีรกรรมกู้ชาติก่อนพระเยซูประสูติ(166-160 ก.ค.ศ.) ได้ทำ

(2มคบ 12:42-45) เขาอธิษฐานภาวนาวอนขอพระเจ้าให้ทรงลบล้างบาปให้หมดสิ้นไป ยูดาผู้ทรงศักดิ์เตือนบรรดาทหารให้รักษาตนให้พ้นจากบาปเพราะเขาทั้งหลายได้เห็นกับตาแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นแก่ผู้ที่ตายเพราะได้ทำบาปยูดาจึงเรี่ยไรเงินจากทหารแต่ละคน ได้เงินจำนวนสองพันเหรียญดรักมา ส่งไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อจัดให้มีการถวายบูชาชดเชยบาป

--------------------------------------------

ต้องยอมรับความจริงว่า พระคัมภีร์คริสตศาสนาทั้งพระธรรมเดิมและพระธรรมใหม่ มีการกล่าวถึงรายละเอียดของโลกหลังความตายไว้น้อยและกำกวมมาก เมื่อเทียบกับศาสนาอื่นๆ แม้แต่ศาสนาร่วมสมัยอย่างอียิปต์หรือกรีก ดังนั้นเทววิทยาในเรื่องโลกหลังความตายจึงอยู่ที่ความรอดและสวรรค์ผ่านพระเยซูคริสต์ แต่รายละเอียดว่า มีสภาพอย่างไร ที่ไหน ยังไง มีแต่การพูดถึงพาดพิงไปมา แต่ไม่มีส่วนของการอธิบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะเลย

ศาสนายิวอันเป็นรากของศาสนาคริสต์ ยอมรับสถานะของที่ซึ่งไม่ใช่ทั้งสวรรค์และนรก แต่เป็นดังที่ซึ่งวิญญาณไปอยู่ สะท้อนในเรื่องเล่าของพระเยซูคือ เศรษฐีกับลาซารัส ซึ่งที่ๆเศรษฐีและลาซารัสไปอยู่ไม่ใช่ทั้งสวรรค์และนรกอย่างที่พระวิวรณ์เล่า ไม่พบว่ามีพระบิดา มีแต่อับราฮัม แถมสนทนาคุยกันได้อย่างอิสระแค่มีเหวกั้น ในศาสนายิวพูดถึง เกเฮนน่า(Gehenna) หรือแดนผู้ตาย ซึ่งบางครั้งถึงกับใช้คำว่า แดนชำระ(purgatory)เพื่ออธิบายถึงเกเฮนน่า

ในคำสอนของพระเยซูเองยังสะท้อนแนวคิดแบบนี้หลายครั้ง เช่นเมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถึงสถานะของการชำระความผิดที่ครบกำหนดแล้วจะออกมา
(มธ 5:25-26) จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้น คู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย

พระเยซูเจ้าตรัสถึงการให้อภัยในชีวิตหลังความตาย
(มธ 12:31-32)ดังนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า มนุษย์จะได้รับการอภัยบาปทุกชนิดรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าด้วย แต่คำดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย ใครที่กล่าวร้ายต่อบุตรแห่งมนุษย์จะได้รับการอภัย แต่ใครที่กล่าวร้ายต่อพระจิตของพระเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลยทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

และที่สุด ในจดหมายของเปโตรอัครสาวก ได้อธิบายว่าพระเยซูเจ้าสามารถปลดปล่อยวิญญาณออกจากที่คุมขังได้แม้เขาจะตายไปแล้ว โดยระหว่างสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพนั้นได้เสด็จสู่แดนผู้ตายไปปลดปล่อยวิญญาณในยุคพระธรรมเดิม
(1ปต3:18-20)พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพียงครั้งเดียวเพราะบาป พระองค์ผู้ทรงชอบธรรมสิ้นพระชนม์เพื่อคนอธรรม พระองค์จะทรงนำเราไปเฝ้าพระเจ้าพระองค์ทรงถูกประหารในสภาพมนุษย์ แต่พระจิตเจ้าประทานชีวิตให้พระองค์อีก พระจิตเจ้ายังทรงนำพระองค์ไปประกาศความรอดพ้นแก่จิตที่ถูกจองจำในกาลก่อน จิตเหล่านี้ไม่ยอมเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงอดทนรอคอย ขณะที่โนอาห์กำลังต่อเรือ ซึ่งช่วยชีวิตคนจำนวนน้อยนั่นคือเพียงแปดชีวิตให้รอดพ้นจากน้ำวินาศ

--------------------------------------------------

ดังนั้นแทนที่จะมีแค่รอดไปสวรรค์ ไม่รอดแล้วตกนรกหมกไหม้ คริสตชนในยุคแรกจึงมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อผู้ที่ตนรักเสียชีวิตลงแล้ว ไม่ว่าจะเพราะเขาไม่เชื่อพระเจ้า หรือเพราะเขาอาจเชื่อพระเจ้าแล้วแต่อาจประพฤติไม่เหมาะสมจนน่าห่วงว่าเขาจะมีบาป อาศัยความเชื่อว่า พระเยซูนั้นนอกจากมีอำนาจยกบาปผู้เป็น ยังมีอำนาจยกบาปผู้ตายได้ คริสตชนยุคแรกจึงมีธรรมเนียมนี้เช่นเดียวกับที่ชาวยิวมี เพื่อขอพระเมตตาจากพระเจ้าเพื่อดวงวิญญาณ

เปาโล อัครทูต ยังกล่าวถึงการชำระบาปให้ผู้ตายโดยญาติสนิทมิตรสหายไว้ในจดหมายถึงชาวโครินทร์
(1คร 15:29) บางท่านรับศีลล้างบาปเพื่อผู้ตาย ถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ จะมีประโยชน์ใดที่จะรับศีลล้างบาปเพื่อเขาเหล่านั้น ถ้าไม่มีการกลับคืนชีพ

------------------------------------------------

หนังสือพิธีกรรมคริสตศาสนายุคแรกๆ มีบทภาวนาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ

ท่านแตร์ตู-เลียนปิตาจารย์พระศาสนจักร และผู้บันทึกประวัติศาสตร์พระศาสนจักร (ค.ศ. 160-230) กล่าวถึง “การถวายเครื่องบูชาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ"

นักบุญซีริลแห่งเยรูซาเล็ม (ค.ศ. 315-386) ได้กล่าวถึง "การอธิษฐานวอนขอให้กับบรรดาผู้หลับพักผ่อนไปแล้ว”

นักบุญออกัสติน บอกเราไว้ในหนังสือ “คำสารภาพ” เกี่ยวกับคำขอร้องของมารดาของท่านที่กำลังสิ้นใจ คือ นักบุญมอนิกา ว่า “สิ่งที่แม่ขอลูกคือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ขอให้ลูกระลึกถึงแม่ที่พระแท่นบูชาพระเจ้า” คำขอนี้มีขึ้นในปี ค.ศ. 387

ในพระศาสนจักรคาทอลิกตะวันตก ตะวันออก และออโธดอกซ์ ล้วนมีธรรมประเพณีนี้คงอยู่ ในโปรแตสแตนท์แองกลีกัน ยังคงธรรมประเพณีนี้ไว้ จอห์น เวสลีย์ ผู้ก่อตั้งคณะเมทอดิสต์ เชื่อในสถานะกลางระหว่างความตายกับการพิพากษาครั้งสุดท้ายและเชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะมี "การเติบโตอย่างต่อเนื่องของพระคุณ"

แต่โปรแตสแตนท์2สายใหญ่ๆที่ตัดเรื่องนี้ออกไป คือ มาร์ติน ลูเธอร์และคาลวิน

มาร์ติน ลูเธอร์ มีจุดแตกหักกับพระศาสนจักรคาทอลิกในเวลานั้นคือเรื่องพระคุณการุยณ์ ที่ถูกออกใบอนุโมทนาจนมีชื่อเล่นว่า ใบล้างบาป (ซึ่งปัจจุบันคนจำนวนมากเข้าใจผิดกับเหตุการณ์ทั้งหมดเพราะชื่อเล่นนี้) ซึ่งพระคุณการุยณ์นั้น สามารถครอบคลุม การอุทิศแก่ผู้ตาย เมื่อลูเธอร์คัดค้านเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นช่องทางให้เกิดการคอรัปชั่นในพระศาสนจักรต่อไปได้ เขาจึงตัดพระคัมภีร์สาระบบที่2ออก เพราะถูกนักเทวศาสตร์ฝ่ายคาทอลิกยกเรื่องมัคคาบีขึ้นมาตอบโต้ นอกจากนี้ มาร์ติน ลูเธอร์ ยังคิดจะตัดพระคัมภีร์ในสาระบบหลักอย่างจดหมายของยากอบออก เพราะไปขัดกับหลักที่เขายึดจากจดหมายของเปาโล เรื่องความรอดจากความเชื่อเพียงอย่างเดียว

ในส่วนของคาลวินนั้น มีอุดมการณ์สำคัญ ในการลดอำนาจของบาทหลวงและลดความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร และเขาเห็นว่า การมีอำนาจยกบาปจากศีลอภัยบาปเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บาทหลวงนั้นอภิสิทธิ์กว่าคนทั่วไป การมีศีลต่างๆที่บาทหลวงเท่านั้นทำได้ล้วนไปทำให้สถานะนี้"พิเศษ" จะแก้ต้องรื้อทำลายระบบนี้ทั้งหมด ดังนั้น หลังจากเขาการลดทอนศีลมหาสนิทที่ทำให้แตกหักกับลูเธอร์ขนาดแช่งด่ากันเป็นซาตานไปแล้ว เพื่อตัดทิ้งศีลอภัยบาป เขาก็ตีความหลักข้อเชื่อว่า หลังการรับเชื่อรับบัสติสมาได้ความรอดแล้ว ไม่มีทางตกนรกอีกแล้วจะทำผิดบาปยังไงก็ยังมีความรอดอยู่ ไม่ต้องมีศีลอภัยบาปอีกต่อไป ซึ่งแม้ลูเธอร์จะตัดศีลอภัยบาปออกเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับวิธีตีความเช่นนี้ของคาลวิน

กาลเวลาผ่านไป หลักข้อเชื่อฝ่ายโปรแตสแตนท์ส่งต่อกันโดยไม่นำความรู้เรื่องประวัติศาสตร์คริสตจักรตัวเองส่งตามไปด้วย วิธีตีความของของคาลวินซึ่งเคยขัดแย้งกับลูเธอร์ จึงไหลปนเปลงไปในคริสตจักรโปรแตสตนท์จนไม่รู้ว่าการตีความแบบนี้มาจากสายไหน และเหตุผลอะไร แต่ที่แน่ๆ ในปัจจุบัน คริสตจักรโปรแตสแตนท์ส่วนใหญ่ (ยกเว้นแองกลีกันและเมทอดิสต์) ไม่เชื่อเรื่องการอธิษฐานอุทิศแก่ผู้ตาย และไม่เชื่อว่า คนตายแล้วยังมีโอกาสรับความรอดได้อีก โดยมักอ้างว่า "พระคัมภีร์ไม่ได้เขียน"(แบบไม่ได้เขียนสั่งว่าให้ทำนะ) แต่ที่จริง พระคัมภีร์ ได้กล่าวถึงสิทธิอำนาจของพระเยซูเหนือแดนผู้ตาย และ สามารถปลดปล่อยแม้แต่ผู้ตายที่เกิดก่อนพระองค์มาประสูติในโลกเป็นพันปี เกิดมาแล้วตายไปโดยไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินและไม่เคยรับเชื่อพระองค์ด้วยซ้ำ

สุดท้ายนี้ ก็มี2แนวคิดว่า ถ้าพระคัมภีร์ไม่เขียนแบบสั่งให้ทำจะๆ แปลว่าพระเยซูก็ทำไม่ได้หรือ พระเยซูไม่มีสิทธิ์ละเมิดพระคัมภีร์ไปทำอะไรคลูๆนอกคู่มือแบบนี้ได้ ใครรับเชื่อก็รอด ใครไม่เชื่อก็ตกนรกอย่างเดียว

หรือ จะยังมีความหวังในพระเมตตาของพระเยซูว่า พระเมตตายิ่งใหญ่ไม่มีวันสูญสิ้นเลย เรายังสามารถวอนขอพระเมตตาจากพระเจ้าเพื่อผู้ที่เรารักและห่วงใยได้ แม้เขาได้ตายกลายเป็นวิญญาณไปแล้วก็ตาม เพราะพระเยซูคือพระเจ้า ต่อให้พระคัมภีร์ไม่เขียนสั่งให้ทำแต่ไม่ได้ห้าม ถ้าพระเยซูจะอยากทำก็ทำได้ใครก็หาห้ามได้ไม่ นี่เป็นพระเจ้าสูงสุดนะ

ภาพ-พระเยซูในพระคูหา และล่างพระเยซูเสด็จไปยังแดนผู้ตาย ดึงแขน อาดัม และ เอวา และปลดปล่อยบรรดาประกาศกและบรรพบุรุษชาวยิวที่ตายไปก่อนพระองค์ประสูติมาในโลก
รุ่งอรุณ
โพสต์: 477
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ ธ.ค. 06, 2010 9:26 pm
ที่อยู่: Bangkok

จันทร์ เม.ย. 22, 2019 12:29 pm

ขอบคุณมากค่ะ
ตอบกลับโพส