ประวัตินักบุญอย่างย่อเดือนธันวาคม (วันที่1-10)

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 04, 2020 7:44 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑ ธันวาคม
นักบุญเอ็ดมุนด์ แคมเปียน
St. Edmund Campion

เอ็ดมุนด์เกิดที่ลอนดอนในปี ๑๕๔๐ เขาได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบคาทอลิก ความมีสติปัญญาอันเปรื่องปราดของเขาเป็นที่ยกย่อง ด้วยวัยเพียง ๑๗ ปีเขาได้ร่วมเป็นสมาชิกผู้เยาว์ของสภานักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ในการเสด็จเยือนมหาวิทยาลัย พระราชินีเอลิซาเบ็ธทรงประทับใจในความเฉลียวฉลาดของเอ็นมุนด์เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงอนุญาตให้เขาทูลขออะไรก็ได้จากพระองค์ เกียรติยศและคำสรรเสริญที่ได้รับทำให้เอ็ดมุนด์หลงระเริงไปกับความฟุ้งเฟ้อ เขาทอดทิ้งความเชื่อคาทอลิก และสาบานรับองค์ราชินีเป็นผู้นำสูงสุดของศาสนจักร เขาได้เป็นอนุสงฆ์ของคริสตจักรแองกลิกันด้วย

อย่างไรก็ตาม มโนธรรมและความเฉลียวฉลาดที่มีทำให้เอ็ดมุนด์ไม่สามารถยอมรับความเป็นแองกลิกันได้นาน หลังจากใช้เวลาพำนักอยู่ในเมืองดับลินระยะเวลาหนึ่ง เอ็ดมุนด์ก็ได้คืนสู่ความเชื่อคาทอลิกเมื่อกลับมาอังกฤษ เขาพบเห็นการไต่สวนคาทอลิกผู้หนึ่งซึ่งต่อมาถูกสังหารเป็นมรณสักขี เหตุการณ์นี้สั่นสะเทือนเขา เอ็ดมุนด์มั่นใจแล้วว่ากระแสเรียกของเขาคือการเป็นผู้อภิบาลบรรดาชาวคาทอลิกในประเทศอังกฤษที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง เขายังรู้สึกถึงกระแสเรียกทำงานให้พวกโปรแตสแตนท์กลับใจด้วย

เอ็ดมุนด์จาริกด้วยเท้าเปล่าไปยังโรม และในปี ๑๕๗๓ เขาก็เข้าคณะเยสุอิต เขารับศีลบวชเป็นพระสงฆ์

ปี๑๕๗๘ เขาเห็นภาพนิมิตจากแม่พระว่าเขาจะเป็นมรณสักขีเมื่อกลับสู่อังกฤษ เอ็ดมุนด์ก็เริ่มทำงานอย่างน่าประทับใจ มีคนจำนวนมากมายกลับใจ

ปี ๑๕๘๑ เอ็ดมุนด์ถูกคาทอลิกคนหนึ่งทรยศเขาถูกจับขังคุก พระราชินีทรงสัญญาจะให้ความมั่งคั่งทุกอย่างเพียงเขาสละความภักดีต่อพระสันตะปาปา แต่เอ็ดมุนด์ปฏิเสธหลังจากถูกคุมขังในหอคอยแห่งลอนดอนช่วงเวลาหนึ่ง เอ็ดมุนด์ก็ถูกประหารด้วยการแขวนคอในวันที่๑ ธันวาคม ๑๕๘๑ การตายของเขานำคนจำนวนมากให้กลับคืนสู่ศาสนจักรคาทอลิก

พระสันตะปาปาเปาโล ที่ ๖ ทรงประกาศตั้งท่านเป็นนักบุญในปี ๑๙๗๐

CR. : Sinapis
แก้ไขล่าสุดโดย rosa-lee เมื่อ อาทิตย์ ก.พ. 28, 2021 10:53 pm, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 04, 2020 7:46 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๒ ธันวาคม
บุญราศีลีดูนา เมเนกูซซี
Blessed Liduina Memeguzzi

เอลีซา อังเจลา เมเนกูซซี เกิดในครอบครัวชาวนายากจนของเมืองปาดัว ประเทศอิตาลีเมื่อวันที่ ๑๒กันยายน ๑๙๐๑ เธอแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาแต่เยาว์วัยเธอใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการสวดภาวนา เธอร่วมมิสซาทุกวันและช่วยสอนคำสอน

ปี ๑๙๒๖ เธอสมัครเข้าคณะซิสเตอร์ของนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลล์ และได้รับชื่อว่าซิสเตอร์ลีดูนา เธอทำหน้าที่เป็นพยาบาลในโรงเรียนประจำเด็กหญิงก่อนจะถูกส่งตัวไปเป็นธรรมทูตที่เอธิโอเปียในปี ๑๙๓๗

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซิสเตอร์ลีดูนาดูแลผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลทหารใน เมือง Dire-Dawa ผู้อาศัยในเมืองนี้ส่วนมากเป็นชาวมุสลิม แต่หลายคนได้หันมารับเอาความเชื่อคาทอลิกเพราะตัวอย่างเยี่ยงนักบุญของเธอ ด้วยเหตุนี้เอง เธอได้รับชื่อว่า "เปลวเพลิงแห่งศาสนสัมพันธ์"

เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๑๙๔๑ ในโรงพยาบาลเมือง Dire-Dawa ประเทศเอธิโอเปีย ที่ซึ่งเธอใช้เวลาหลายปีสุดท้ายของชีวิต ร่างเธอถูกนำกลับสู่บ้านศูนย์กลางคณะในปี ๑๙๖๑
เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๐๐๑ โดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 04, 2020 7:47 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ 3 ธันวาคม
นักบุญฟรังซิส เซเวียร์
St. Francis Xavier

ฟรังซิส เซเวียร์ เกิดในปี ๑๕๐๖ ในอาณาจักร Navarre ดินแดนซึ่งขณะนี้ถูกแบ่งเป็นของฝรั่งเศสและสเปน มารดาของฟรังซิสสืบสายเลือดผู้สูงศักดิ์ บิดาเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ยอห์น ที่ 3 พี่น้องของฟรังซิสสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพ แต่เขาสมัครเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปารีส ที่นั่น ฟรังซิสเรียนปรัชญาและทำหน้าที่สอนหลังจากได้รับปริญญาโท
ในปารีส ฟรังซิสจะพบเป้าหมายชีวิตของเขาโดยผ่านการช่วยเหลือของเพื่อนเก่าแก่ชื่อ ปีเตอร์เฟเบอร์และนักศึกษาอายุมากคนหนึ่งชื่ออิกญาซีโอ โลโยลา ซึ่งมาปารีสในปี ๑๕๒๘ เพื่อเรียนให้จบระดับปริญญา ฟรังซิสจะถูกชักนำเข้ากลุ่มชายหนุ่มที่มุ่งจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยชีวิตของพวกเขา

ทีแรกความทะเยอทะยานส่วนตัวทำให้ฟรังซิสไม่ฟังเสียงเรียกของพระ ความสุภาพถ่อมตนและรูปแบบชีวิตเคร่งครัดของอิกญาซีโอก็ไม่ได้ดึงดูดใจเขา แต่อิกญาซีโอผู้มีประสบการณ์กลับใจอย่างตื่นเต้นเร้าใจได้ถามคำถามของพระเยซูกับฟรังซิสเสมอๆ ว่า "จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราจะได้โลกทั้งโลกมาครองแต่สูญเสียวิญญาณ?"

ทีละน้อยอิกญาซีโอทำให้ฟรังซิสยกเลิกแผนการของเขาและเปิดใจรับพระประสงค์ของพระเจ้า ปี๑๕๓๔ ฟรังซิส เซเวียร์ ปีเตอร์ เฟเบอร์ และชายหนุ่มอีก ๔ คนร่วมกับอิกญาซีโอถวายคำสาบานถือความยากจน ความบริสุทธิ์และการอุทิศตนเพื่อทำงานประกาศพระวรสารโดยจะนบนอบคำสั่งของพระสันตะปาปา

ฟรังซิสบวชเป็นสงฆ์ในปี ๑๕๓๗ สามปีต่อมา พระสันตะปาปาเปาโล ที่ ๓ ทรงรับรองคณะนักบวชเยสุอิตของอิกญาซีโอและสหายระหว่างปีนั้นเองกษัตริย์โปรตุเกสทรงขอร้องให้พระสันตะปาปาส่งธรรมทูตไปยังแว่นแคว้นอินเดียที่พระองค์เพิ่งได้ครอบครอง

ฟรังซิสกับเพื่อนเยสุอิตอีกคนหนึ่งชื่อ ซีมอน โรดริเกซ ใช้เวลาอยู่ในโปรตุเกสเพื่อดูแลคนเจ็บป่วยและสอนเรื่องความเชื่อแล้วในวันเกิดอายุ ๓๕ ปีเขาก็ล่องเรือเดินทางไปกัว ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย อย่างไรก็ตาม เขาพบว่าชาวอาณานิคมโปรตุเกสสร้างความเสื่อมเสียให้พระศาสนจักรโดยพฤติกรรมเลวทราม

ในสถานการณ์เช่นนี้ฟรังซิสทำงานทันที เขาเยี่ยมเยียนนักโทษและคนป่วย รวมรวมเด็กเป็นกลุ่มเพื่อสอนเรื่องพระเจ้า เขาเทศน์ประกาศแก่ทั้งชาวโปรตุเกสและชาวอินเดียเขาปรับตัวเข้ากับความเป็นอยู่ของคนที่นั่นด้วยการกินข้าวและอยู่ในกระท่อมพื้นดิน

งานธรรมทูตของฟรังซิสกับคนท้องถิ่นประสบความสำเร็จ แต่การทำให้คนชั้นสูงกลับใจยากลำบาก
กว่า เขาพบเจอการต่อต้านจากทั้งชาวฮินดูและมุสลิม ปี ๑๕๔๕ ฟรังซิสเดินทางขยายเขตการทำงานไปถึงมาเลเซีย ก่อนจะไปถึงญี่ปุ่นในปี๑๕๔๙

เมื่อพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแล้ว ฟรังซิสก็สอนคนญี่ปุ่นรุ่นแรกให้รับเชื่อเป็นคาทอลิก คาทอลิกญี่ปุ่น
เหล่านี้หลายคนกล่าวว่ายินดีจะรับทรมานเป็นมรณสักขียิ่งกว่าจะสละความเชื่อที่นำมาสู่พวกเขาโดย
เยสุอิตจากแดนไกล

ฟรังซิสล้มป่วยและเสียชีวิตในวันที่ ๓ ธันวาคม ๑๕๕๒ ขณะนั้น เขากำลังหาวิธีเดินทางเข้าไปใน
อาณาจักรจีน ปี ๑๖๒๒ ฟรังซิส เซเวียร์และอิกญาซีโอโลโยลา ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในวัน
เดียวกัน

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

ศุกร์ ธ.ค. 04, 2020 7:47 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๔ ธันวาคม
นักบุญยอห์น แห่งดามัสกัส
St. John of Damascus

นักบุญยอห์นแห่งเมืองดามัสกัส (ปี๖๗๖-๗๔๙) เป็นที่รู้จักดีที่สุดในฐานะผู้ปกป้องศิลปศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชน โดยเฉพาะในรูปแบบของไอคอน (icons) พระศาสนจักรแห่งโรมและคอนสแตนติโนเปิลยัง
คงเป็นหนึ่งเดียวกันในช่วงอายุของยอห์น แต่จักรพรรดิเลโอ ที่๓ แห่งไบแซนไทน์ได้แยกตัวออกจากธรรมเนียมเก่าแก่ของพระศาสนจักรโดยกล่าวหาว่าการนมัสการภาพไอคอนถือเป็นบาปกราบกรานรูปเคารพ

ยอห์นเติบโตมาภายใต้การปกครองของมุสลิมในเมืองดามัสกัส แต่บิดามารดาของท่านเป็นคริสตชนที่มีความเชื่อแน่นแฟ้น การศึกษาดีเลิศของยอห์น โดยเฉพาะในด้านเทววิทยาได้เตรียมความพร้อมแก่ท่านในการปกป้องรักษาธรรมเนียมภาพไอคอนศักดิ์สิทธิ์

ในปี ๗๒๐ ยอห์นเริ่มต่อต้านอย่างเปิดเผยต่อคำสั่งของจักรพรรดิที่ห้ามมีภาพศักดิ์สิทธิ์ท่านเขียนหนังสือหลายเล่ม ประเด็นสำคัญของข้อโต้แย้งมี ๒ ประการคือ ๑. คริสตชนไม่ได้นมัสการภาพ แต่โดยอาศัยภาพเหล่านั้น พวกเขานมัสการพระเจ้าและให้ความเคารพในการระลึกถึงพวกนักบุญ และ ๒. ยอห์นยืนยันว่าการที่พระคริสต์บังเกิดมารับสภาพเป็นมนุษย์ก็คือข้อสนับสนุนให้พระศาสนจักรวาดภาพพระองค์ได้

ปี ๗๓๐ ยอห์น ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องศิลปศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์อย่างเป็นทางการได้เป็นศัตรูอย่างถาวรของจักรพรรดิ พระองค์ใช้ให้คนเขียนจดหมายปลอมลายเซ็นของยอห์นว่าได้รับข้อเสนอที่จะหักหลังผู้ปกครองชาวมุสลิมแห่งเมืองดามัสกัส

คาลิฟผู้ครองนครเชื่อว่าจดหมายนั้นเป็นจริง พระองค์ออกคำสั่งให้ตัดศีรษะยอห์น แต่ตามชีวประวัติของท่านที่คงเหลือเพียงเล่มเดียวกล่าวว่าพระนางมารีย์ได้ต่อคืนศีรษะให้ท่านอย่างน่าอัศจรรย์ และยอห์นสามารถทำให้ผู้ปกครองมุสลิมเชื่อในความบริสุทธิ์ของท่านได้ในที่สุด หลังจากนั้น ยอห์นตัดสินใจเป็นฤษีและบวชเป็นพระสงฆ์

งานเขียนด้านเทววิทยาของยอห์นมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อนักบุญโทมัส อไควนัส และอีกหลายศตวรรษให้หลัง บทเทศน์ของท่านเรื่องการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ทางกายของพระนางมารีย์ก็ถูกอ้างอิงโดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒ เมื่อพระองค์ทรงให้นิยามข้อความเชื่อเรื่องนี้

บทขับร้องและกวีนิพนธ์ของยอห์นแห่งดามัสกัสยังถูกใช้ในพิธีกรรมของศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ตะวันออกมาจนทุกวันนี้

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 05, 2020 2:42 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๕ ธันวาคม
บุญราศีฟิลิป รีนัลดี
Blessed Phillip Rinaldi

ฟิลิปเกิดวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๑๘๕๖ ในเมือง Piedmont ประเทศอิตาลีเขาพบดอนบอสโกเมื่ออายุเพียง ๕ ขวบ แต่รู้ด้วยสัญชาตญาณว่าท่านเป็นบุรุษผู้มีภารกิจยิ่งใหญ่

เมื่ออายุ ๒๒ ปีฟิลิปเข้าคณะซาเลเซียนภายหลังต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อกระแสเรียก และแม้กระทั่งก่อนถวายตัวเขาก็ถูกตั้งให้เป็นผู้ช่วยนวกจารย์และให้ดูแลพวกผู้มีกระแสเรียกที่อายุมากแล้ว

ฟิลิปบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ๑๘๘๒ไม่นาน ฟิลิปได้เป็นอธิการเจ้าคณะแขวงในสเปน ท่านเปิดบ้านใหม่หลายหลังและรับหน้าที่เป็นรองมหาอธิการของคณะซาเลเซียนก่อนจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งคนที่ ๓ ต่อจากดอนบอสโกในปี ๑๙๒๒

ท่านปกครองดูแลคณะอย่างสุภาพถ่อมตนและเงียบๆ ท่านชอบที่จะอยู่เบื้องหลัง ไม่เป็นที่สังเกตของฝูงชน ท่านมีคุณธรรมเยี่ยงนักบุญและความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสารการเยียวยาให้หายอย่างอัศจรรย์จากผู้สวดขอต่อท่าน ในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้เริ่มกระบวนการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ

ท่านเสียชีวิตวันที่ ๕ ธันวาคม ๑๙๓๑ ในเมืองตูริน และรับการประกาศเป็นบุญราศีวันที่ ๒๙ เมษายน ๑๙๙๐ โดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒

"เธอต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดรน่ะหรือ? ก่อนอื่นหมด สิ่งแรกที่เธอต้องทำคือสวดภาวนาขอความกล้าหาญทุกวัน ให้แบกกางเขนที่พระเจ้ามอบให้เธอจากนั้น เธอแต่ละคนจงทำงานของตัวเองอย่างดี งานที่เหมาะกับสภาพของเธออย่างที่พระเจ้าทรงต้องการ" บุญราศีฟิลิป รีนัลดี

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อาทิตย์ ธ.ค. 06, 2020 1:41 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๖ ธันวาคม
นักบุญนิโคลาส แห่งไมรา
St. Nicholas of Myra

วันนี้คริสตชนรำลึกถึงสังฆราชท่านหนึ่งในยุคแรกของพระศาสนจักร ซึ่งมีชื่อเสียงในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรักพวกเด็กๆ ท่านเกิดเมื่อปลายศตวรรษที่ ๓ หรือ ๔ ใน Lycia ซึ่งอยู่ในเอเชียไมเนอร์

นักบุญนิโคลาสแห่งไมราเป็นแรงบันดาลใจและเป็นที่มาของซานตาคลอสในยุคของเรา
เมื่อเป็นหนุ่ม ท่านจาริกแสวงบุญไปที่ปาเลสไตน์และอียิปต์เพื่อศึกษาในสำนักของปิตาจารย์ทะเลทราย

เมื่อเดินทางกลับถิ่นเกิดในอีกหลายปีให้หลัง ท่านก็ได้รับการบวชเป็นสังฆราชแห่งไมราแทบจะในทันที ไมราปัจจุบันคือเมือง Demre เป็นเมืองชายฝั่งของประเทศตุรกี

ในยุคเบียดเบียนศาสนาคริสต์โดยจักรพรรดิ Diocletian ท่านถูกจับขังคุกและได้รับการปล่อยตัวหลังจากพระเจ้าคอนสแตนตินมหาราชก้าวขึ้นสู่อำนาจและประกาศให้คริสตศาสนาเป็นศาสนาทางการของจักรวรรดิโรมัน

เรื่องเล่าถึงความเอื้อเฟื้อของท่านที่มีชื่อเสียงมากเรื่องหนึ่งคือท่านโยนถุงบรรจุทองคำผ่านหน้าต่างบ้านของชายยากจนคนหนึ่งเพื่อให้เขาใช้เป็นเงินหมั้นหมายของลูกสาว ซึ่งมิฉะนั้นจะถูกขายเป็นทาส

เล่ากันว่าทองหล่นลงในถุงเท้าของคนในครอบครัว ซึ่งผึ่งใกล้ไฟ นี่เองจึงเป็นเหตุที่พวกเด็กๆ แขวนถุงเท้าไว้ที่ประตูหรือเตาผิงเพื่อรอรับของขวัญในวันก่อนวันฉลองของท่าน

นักบุญนิโคลาสเกี่ยวข้องกับคริสต์มาสเพราะมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าท่านมักจะแอบให้ของขวัญอย่างลับๆ แก่พวกเด็กเสมอ นอกจากนั้น ตัวท่านนักบุญซึ่งใส่ชุดสีแดงและไว้เครายาวได้ถูกปรับแปลงตาม
วัฒนธรรมจนเป็นคนร่างอ้วนใหญ่นั่งบนเลื่อนลากด้วยกวางเรนเดียร์บรรทุกของเล่นเต็มคัน เพราะว่าในภาษาเยอรมัน ชื่อของท่าน San Nikolaus ก็ออกเสียงคล้ายๆ Santa Claus (ซานตาคลอส) น่ะเอง

พระศาสนจักรตะวันออกรู้จักท่านในนามนักบุญนิโคลาสแห่งไมรา ตามชื่อเมืองที่ท่านปกครอง แต่สำหรับศาสนจักรตะวันตก ท่านถูกเรียกว่านักบุญนิโคลาสแห่งบารี (Bari) เพราะในช่วงที่ชาวมุสลิมพิชิตตุรกีปี ๑๐๘๗ พระธาตุของท่านถูกนำไปเมืองบารีโดยชาวอิตาเลียน

ท่านเป็นนักบุญอุปถัมถ์ของเด็กๆ และกลาสีผู้คนสวดขอความช่วยเหลือจากท่านเมื่อเกิดเหตุเรืออัปปาง เกิดสภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจและประสบอัคคีภัย

ท่านสิ้นใจในวันที่๖ ธันวาคม ๓๔๕

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 09, 2020 7:36 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๗ ธันวาคม
นักบุญอัมโบรส
St. Ambrose

วันนี้พระศาสนจักรคาทอลิกฉลองนักบุญอัมโบรส สังฆราชผู้ปราดเปรื่องแห่งมิลาน ท่านมีอิทธิพลต่อการกลับใจของนักบุญออกัสติน และท่านได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร

อัมโบรสเกิดประมาณปีมี ๓๔๐ ท่านได้รับการศึกษาอย่างดีและเป็นเหมือนปัญญาชนในยุคนั้นที่ต้องการจะประสานวัฒนธรรมทางสติปัญญาของกรีกกับโรมันด้วยความเชื่อคาทอลิก ท่านฝึกฝนเป็นทนายความ และที่สุดได้เป็นผู้ว่าการเมืองมิลาน ท่านแสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ด้านสติปัญญาในการปกป้องความเชื่อคาทอลิกก่อนท่านจะรับศีลล้างบาปเสียอีก

ขณะที่อัมโบรสเป็นผู้ว่าการเมืองมิลานอยู่นั้น สังฆราชชื่อออเซนติอุส (Auxentius) เป็นผู้นำของสังฆมณฑล สังฆราชผู้นี้แม้จะเป็นนักเทศน์ชั้นเลิศและมีบุคลิกทรงอำนาจแต่เขาก็เห็นด้วยกับความคิดอันผิดพลาดของอาริอุส (Arius) ซึ่งปฏิเสธสภาวะพระเจ้าของพระคริสต์

สังคายนาแห่งเมืองนีเชีย (Nicaea) ยืนยันในคำสอนตามธรรมประเพณีเรื่องความเป็นพระเจ้าของพระเยซู แต่สมาชิกศาสนจักรที่มีการศึกษาสูงจำนวนมากรวมทั้งสังฆราชส่วนใหญ่ในช่วงเวลาหนึ่ง ได้ถือว่าลัทธิของอาริอุสมีความลึกซึ้งและเหมาะกับประชากรคริสตชนที่อาศัยอยู่ในเมือง สังฆราชออเซนติอุสบังคับให้พระสงฆ์ในสังฆมณฑลยอมรับข้อความเชื่อของอาริอุส

เมื่อสังฆราชออเซนติอุสเสียชีวิต อัมโบรสยังไม่ได้รับศีลล้างบาป แต่ความเข้าใจลึกซึ้งและความรักในความเชื่อตามธรรมประเพณีของท่านได้ปรากฏชัดแจ้งแก่คริสตชนเมืองมิลาน พวกเขาเห็นว่าท่านเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะสืบทอดตำแหน่งสังฆราช แม้ว่าขณะนั้นท่านยังเป็นเพียงผู้เรียนคำสอน

แล้วด้วยความช่วยเหลือของจักรพรรดิวาเลนเทียน (Valentian) ฝูงชนคาทอลิกชาวมิลานกลุ่มหนึ่งก็บังคับให้อัมโบรสเป็นสังฆราชของพวกเขา เพียง ๘ วันภายหลังรับศีลล้างบาป อัมโบรสก็รับการอภิเษกเป็นสังฆราชในวันที่ ๗ ธันวาคม ๓๗๔ ซึ่งวันดังกล่าวนี้เองที่ได้เป็นวันฉลองรำลึกถึงท่านตามปฏิทินพิธีกรรมศาสนจักร

สังฆราชอัมโบรสไม่สร้างความผิดหวังให้กับผู้แต่งตั้งและอภิเษกท่าน ท่านเริ่มงานอภิบาลด้วยการแจกจ่ายทุกอย่างที่มีให้กับคนยากจนและพระศาสนจักร ท่านใช้งานเขียนของนักเทววิทยาชาวกรีกอย่างเช่นนักบุญบาซิลเพื่อช่วยอธิบายคำสอนตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักรในช่วงเวลาที่เกิดความสับสนในด้านข้อคำสอน

และเช่นเดียวกับปิตาจารย์ของพระศาสนจักรตะวันออก อัมโบรสได้นำเอาปรีชาญาณที่มีในปรัชญาและวรรณกรรมก่อนยุคคริสตศาสนามาช่วยอธิบายให้เรื่องความเชื่อเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับสัตบุรุษ
ทั่วไป ความกลมกลืนของความเชื่อกับแหล่งความรู้อื่นๆ เช่นนี้ได้ดึงดูดหลายๆ คน รวมทั้งอาจารย์หนุ่มชื่อออเรลิอุส ออกัสติน (Aurelius Augustinus) ให้ติดตามคำสอนของท่าน อัมโบรสสอนและล้างบาปให้อาจารย์หนุ่มคนนี้ ผู้ซึ่งประวัติศาสตร์จะรู้จักในนามนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป

อัมโบรสใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเขียนหนังสือมากมายและทำมิสซาทุกวัน แต่กระนั้น ท่านยังมีเวลาให้คำ
แนะนำเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ตอบคำถามคนต่างศาสนา อธิบายความเชื่อแก่คาทอลิกที่สับสน และ
บรรเทาใจคนบาปที่เป็นทุกข์ ประชาชนชาวมิลานไม่ต้องสำนึกเสียใจเลยที่พวกเขายืนยันให้ผู้บริหาร
ฝ่ายบ้านเมืองคนนี้มาเป็นผู้นำศาสนจักรท้องถิ่นของพวกตน

ความเป็นที่นิยมยกย่องของอัมโบรสได้ช่วยปกป้องท่านจากบรรดาผู้ต้องการจะบีบบังคับให้ท่านออก
จากสังฆมณฑล หนึ่งในนั้นคือจักรพรรดินีจัสตินา (Justina) และกลุ่มที่ปรึกษาของพระนาง อัมโบรส
ปฏิเสธพระนางอย่างกล้าหาญในการที่พระนางพยายามจะแต่งตั้งพวกสังฆราชที่เป็นเฮเรติก (ถือความเชื่อผิด) ในอิตาลี รวมทั้งความพยายามจะยึดครองศาสนจักรต่างๆ ให้ถือเชื่อตามลัทธิของอาริอุส

เมื่อจักรพรรดิธีโอโดซีอุส (Theodosius) สั่งประหารพลเมืองเธสะโลนิกา ๗ พันคน อัมโบรสก็ได้แสดง
ความกล้าหาญอย่างที่สุดโดยประกาศห้ามไม่ให้จักรพรรดิรับศีลมหาสนิท จักรพรรดิซึ่งเกิดความ
สำนึก ได้แสดงความเป็นทุกข์เสียพระทัยและประกอบกิจการใช้โทษบาปเพื่อผู้ที่พระองค์ได้สังหาร

"หลังจากนั้น ไม่มีสักวันที่พระองค์ไม่เป็นทุกข์เศร้าพระทัยในความผิดของพระองค์" อัมโบรสเทศน์ใน
พิธีฝังพระศพของจักรพรรดิ การติเตียนของอัมโบรสครั้งนี้ยังสร้างผลเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งแก่จักร
พรรดิธีโอโดซีอุส พระองค์ทรงกลับคืนดีกับพระศาสนจักรและสังฆราชอัมโบรส ผู้ซึ่งได้เฝ้าอยู่ข้างเตียงในวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย

อัมโบรสเสียชีวิตในปี ๓๙๗ งานรับใช้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเป็นเวลา ๒๓ ปีของท่านได้ทำให้สังฆมณฑลที่มีปัญหาฝังรากลึก กลายเป็นสังฆมณฑลตัวอย่างในการถือปฏิบัติความเชื่อ งานเขียนของท่านยังเป็นหมุดหมายอ้างอิงสำคัญของพระศาสนจักรตราบจนกระทั่งยุคกลางและภายหลัง

ในการประชุมสังคายสากลครั้งที่ ๕ ของพระศาสนจักรคาทอลิกที่เมืองคอนสแตนติโนเปิลปี ๕๕๓ ซึ่งได้กำหนดคำสอนที่ยังส่งอิทธิพลต่อคาทอลิกและคริสตชนออร์โธดอกซ์ตะวันออกมาจนถึงปัจจุบัน
บรรดาสังฆราชที่เข้าร่วมประชุมได้ประกาศว่าอัมโบรส พร้อมกับผู้เป็นศิษย์ของท่าน ออกัสติน เป็น"ปิตาจารย์ศักดิ์สิทธิ์" ของพระศาสนจักรและสังฆราชทุกคนควรจะถือตามคำสอนของพวกท่าน "ในทุกวิถีทาง"

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 09, 2020 7:37 pm

วันที่ ๘ ธันวาคม
สมโภชการปฏิสนธินิรมลของพระนางมารีย์พรหมจารี
Solemnity of the Immaculate Conception of the Blessed Virgin Mary

"นับจากขณะแรกเริ่มของการปฏิสนธิของพระนางมารีย์พรหมจารีโดยพระหรรษทานและสิทธิพิเศษจากพระเจ้า และโดยคุณความดีของพระเยซูคริสต์ผู้ไถ่แห่งมนุษยชาติพระนางทรงรับการยกเว้นจากมลทินแห่งบาปกำเนิด" พระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๙ จากสมณสาสน์ Ineffabilis Deus

การประกาศอย่างสง่าของพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๙ ในปี ๑๘๕๔ เป็นการยืนยันถึงความเชื่อของพระศาสนจักรที่ยึดถือมานานว่าพระนางมารีย์ทรงปฏิสนธิโดยปราศจากบาปกำเนิด

พระนางมารีย์ได้รับสิทธิพิเศษนี้เพราะบทบาทอันเป็นเอกลักษณ์ในประวัติศาสตร์ของพระนางคือเป็นพระมารดาของพระเจ้า พระนางได้รับของขวัญแห่งความรอดในพระคริสต์จากขณะแรกของการปฏิสนธิของพระนาง

แม้พระนางจะพิเศษกว่ามนุษย์ทั้งมวลเพราะถือกำเนิดโดยปราศจากบาป แต่พระศาสนจักรก็ยึดถือพระนางเป็นตัวอย่างสำหรับมนุษย์ทั้งหลายในความศักดิ์สิทธิ์และความบริสุทธิ์ในความเต็มใจที่จะยอมรับแผนการของพระเจ้าสำหรับพระนาง

เราแต่ละคนถูกเรียกให้รู้จักและตอบสนองเสียงเรียกของพระตามกระแสเรียกของตน เพื่อจะได้ดำเนินตามแผนการของพระเจ้าในชีวิตนี้และปฏิบัติภารกิจที่ทรงจัดเตรียมให้เราก่อนเริ่มกาลเวลา

คำตอบของพระนางมารีย์ที่ทรงให้แก่ทูตสวรรค์คาเบรียลว่า "จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้าตามวาทะของท่าน" คือการตอบรับของคริสตชนทุกคนต่อแผนการของพระเจ้า

การสมโภชการปฏิสนธินิรมลของแม่พระเป็นเวลาเฉลิมฉลองด้วยความเบิกบานยินดีในของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานแก่มนุษย์คือพระนางมารีย์และการได้ตระหนักว่ามนุษย์แต่ละคนถูกพระเจ้าสร้างมาเพื่อให้มีส่วนร่วมในภารกิจเฉพาะที่มีเพียงบุคคลนั้นจะกระทำให้สำเร็จลุล่วงได้

"เราได้รู้จักเจ้าก่อนที่เราได้ก่อร่างตัวเจ้าขึ้นในครรภ์ และก่อนที่เจ้าคลอดจากครรภ์ เราก็ได้กำหนดตัวเจ้าไว้เราได้แต่งตั้งเจ้าเป็นผู้เผยพระวจนะแก่บรรดาประชาชาติ" เยเรมีย์ ๑:๕-๖

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 09, 2020 7:39 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๙ ธันวาคม
นักบุญฮวน ดีเอโก
St. Juan Diego

วันนี้พระศาสนจักรคาทอลิกฉลองนักบุญฮวน ดีเอโก ชาวชนเผ่าเม็กซิกันที่กลับใจเป็นคาทอลิก

เหตุการณ์แม่พระประจักษ์แก่เขาได้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งศรัทธามหาชนต่อแม่พระแห่งกัวดาลูป (Our Lady of Guadalupe)

ปี ๑๔๗๔ ห้าสิบปีก่อนจะได้รับชื่อว่าฮวน ดีเอโกจากพิธีศีลล้างบาป เด็กน้อยชื่อ Cuauhtlatoatzin ซึ่งแปลว่า "นกอินทรีย์ร้องเพลง" เกิดในหุบเขา Anahuac ดินแดนที่เป็นประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน แม้เขาจะได้รับการเลี้ยงดูตามศาสนาและวัฒนธรรม Aztec แต่เขาก็แสดงให้เห็นอย่างพิเศษถึงสัมผัสต่อเรื่องเร้นลับก่อนจะได้ยินพระวรสารจากมิสชันนารีคณะฟรังซิสกัน

ในปี ๑๕๒๔ Cuauhtlatoatzin และภรรยาได้รับศีลล้างบาปเข้าสู่พระศาสนจักรคาทอลิก ชาวไร่ชาวนาผู้นี้ซึ่งบัดนี้มีชื่อว่าฮวน ดีโอโกยึดมั่นในความเชื่อของเขา เขาเดินทางเป็นระยะไกลเพื่อเรียนคำสอน

วันที่ ๙ ธันวาคม ปี ๑๕๓๑ ฮวน ดีเอโกรีบร้อนจะไปร่วมมิสซาฉลองการปฏิสนธินิรมลของแม่พระ แต่สตรีที่เขากำลังจะไปที่วัดเพื่อเฉลิมฉลองนั้น กลับปรากฏมาพบเขา

สตรีผู้มีแสงสว่างรุ่งเรืองพูดด้วยภาษาแอ็ซแท็กท้องถิ่นว่าพระนางคือ "มารีย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์เสมอมา ผู้ได้รับเกียรติเป็นพระมารดาของพระเจ้าเที่ยงแท้"

"เราคือมารดาผู้เมตตาต่อเธอ ครอบครัวเธอและทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินนี้" เธอกล่าวต่อ "และมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์"พระนางบอกให้ฮวน ดีเอโกไปแจ้งต่อสังฆราชท้องถิ่น "เราอยากให้พวกเขาสร้างบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งที่นี่" บ้านนี้จะอุทิศถวายแด่พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระนางและจะสร้างบนวิหารของคนต่างศาสนา เพื่อ "แสดงพระองค์ให้เป็นที่รู้จัก" แก่ชาวเม็กซิกันทุกคนและ "ยกย่องเชิดชูพระองค์" ไปทั่วโลก

เรื่องที่พระนางขอให้ชาวนาธรรมดาๆ คนนี้กระทำเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อฮวน ดีเอโกแจ้งพระสังฆราช Juan de Zumárraga ตามคำบอก ท่านจึงไม่เชื่อแต่ฮวน ดีเอโกกล่าวกับท่านว่าเขามีสิ่งที่จะพิสูจน์ยืนยันการประจักษ์ของแม่พระ แต่เขาจะต้องดูแลลุงของเขาที่กำลังป่วยหนักเสียก่อน

แล้วในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ขณะที่ฮวน ดีเอโกเดินทางไปวัดเพื่อตามพระสงฆ์มาโปรดศีลเจิมคนไข้ให้ลุงของเขา เขาก็พบพระนางพรหมจารีย์มารีย์อีกครั้ง พระนางสัญญาว่าจะรักษาลุงของเขาให้หาย และจะให้เครื่องหมายอย่างหนึ่งไปแสดงกับสังฆราช นั่นคือให้เขาขึ้นไปบนเนินเขาที่แม่พระประจักษ์มาครั้ง
แรก ที่นั่น เขาจะได้พบเจอดอกกุหลาบและดอกไม้อื่นๆ แม้ว่าขณะนั้นเป็นฤดูหนาว

เมื่อทำตามที่พระนางบอกฮวน ดีเอโกก็พบดอกไม้มากมายและนำกลับมาถวายพระนาง พระนางมารีย์
วางดอกไม้เหล่านั้นภายในเสื้อคลุมที่เขาสวม เธอบอกให้เขาพันห่อดอกไม้ไว้จนกว่าจะไปถึงบ้านพัก
สังฆราช

เมื่อเขาทำอย่างที่พระนางบอก สังฆราช Zumarraga ก็เชื่อเขาได้พบแม่พระแห่งกัวดาลูปโดยผ่านทาง
ภาพของพระนางที่ประทับรอยอยู่ท่ามกลางดอกไม้ในเสื้อคลุม

ปัจจุบัน สักการสถานแม่พระที่เม็กซิโก ซิตี้ซึ่งเก็บรักษาเสื้อคลุมนั้น เป็นสถานที่ที่คาทอลิกจาริกมา
นมัสการกันมากที่สุดในโลก

อัศจรรย์นี้นำข่าวดีของพระวรสารมาสู่ชาวเม็กซิกันล้านๆ คน และยังมีผลลึกซึ้งต่อชีวิตจิตของฮวน ดีเอ
โก หลังประสบการณ์แม่พระประจักษ์เขาใช้ชีวิตสันโดษเพื่อภาวนาและทำงานในบ้านเล็กหลังหนึ่ง
ใกล้กับวัดที่ภาพพระนางถูกเก็บแสดงครั้งแรก ผู้แสวงบุญได้หลั่งไหลมายังสถานที่แห่งนั้นอย่าง
มากมายแล้วในเวลาที่เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม อันเป็นวันครบรอบปีของการประจักษ์ครั้งแรก

พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ทรงประกาศตั้งฮวน ดีเอโกเป็นบุญราศีในปี ๑๙๙๐ และเป็นนักบุญ
ในปี ๒๐๐๒

CR. : Sinapis
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

เสาร์ ธ.ค. 12, 2020 5:54 pm

ฉลองนักบุญ วันที่ ๑๐ ธันวาคม
นักบุญ ยูลาเลียแห่งเมริดา
St. Eulalia of Mérida

ยูลาเลียเกิดในตระกูลสำคัญตระกูลหนึ่งของสเปน เธอได้รับการอบรมแบบคริสตชน และถูกสอนให้มีความศรัทธาที่สมบูรณ์เพียบพร้อม นับแต่วัยเยาว์เธอแสดงให้เห็นถึงความอ่อนหวาน ความสำรวมตนและจิตใจศรัทธา

ยูลาเลียรักความเป็นพรหมจรรย์ เธอไม่ใส่ใจกับเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับประดา หรือกลุ่มเพื่อนพูดคุยเรื่องทางโลก เธอแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะดำเนินชีวิตดุจชาวสวรรค์บนโลกนี้ หัวใจของเธอถูกยกขึ้นเหนือโลก ดังนั้น ความเพลิดเพลินใดๆ ที่คนรุ่นหนุ่มสาวอย่างเธอจะหลงใหลคลั่งไคล้จึงไม่มีเสน่ห์ดึงดูดเธอได้เลย แต่ละวันในชีวิต เธอเติบโตก้าวหน้าในคุณธรรม

ยูลาเลียอายุเพียง ๑๒ ปีเมื่อจักรพรรดิ Diocletian ประกาศกฎหมายให้ทุกคน ไม่ว่าอายุเพศหรืออาชีพใด จะต้องถวายเครื่องบูชาแด่เทพเจ้าของจักรวรรดิโรม

แม้จะอายุยังน้อยแต่ยูลาเลียถือว่าคำสั่งที่ประกาศออกมานี้เป็นเครื่องหมายที่เธอต้องสู้รบต่อต้าน ทว่ามารดาของเธอพาเธอหนีออกไปยังชนบท อย่างไรก็ตาม นักบุญองค์น้อยนี้ก็หาวิธีการหลบหนีออกมาได้ในเวลากลางคืน และหลังจากเดินทางอย่างเหนื่อยอ่อน เธอก็มาถึงเมืองเมริดาก่อนรุ่งอรุณ

เช้าวันนั้น ทันทีที่ศาลเปิดทำการเธอก็มายืนต่อหน้าผู้พิพากษาผู้โหดร้าย ชื่อ Dacian และตำหนิถึงความไร้ศรัทธาของเขาที่พยายามทำลายดวงวิญญาณด้วยการบีบบังคับให้ละทิ้งพระเจ้าผู้เที่ยงแท้แต่องค์เดียว

ผู้ปกครองเมืองสั่งให้จับยูลาเลีย ในระหว่างการควบคุมตัว Dacian หว่านล้อมให้เธอเห็นถึงผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูล อายุยังเยาว์และทรัพย์สมบัติที่เธอได้รับ และความทุกข์โศกเศร้าที่จะเกิดกับพ่อแม่ของเธอหากเธอไม่เชื่อฟังคำสั่งของกฎหมาย แต่เมื่อเห็นว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลเขาก็เริ่มข่มขู่เธอ เขานำเครื่องทรมานที่ร้ายแรงที่สุดมาให้เธอเห็น กล่าวกับเธอว่า "เธอจะไม่ต้องพบเจอความทุกข์ทรมานจากมันถ้าหากเธอเพียงแต่แตะเกลือและกำยานด้วยปลายนิ้ว"

แต่ยูลาเลียกลับขว้างรูปปั้นของเทพเจ้าลงกับพื้น เหยียบขนมที่ถูกนำมาถวายเป็นเครื่องบูชาและถ่มน้ำลายใส่ผู้พิพากษาผู้พิพากษาออกคำสั่งทันที มือประหารสองคนใช้ห่วงเหล็กคล้องและกระชากร่างเธอฉีกขาดเห็นกระดูกยูลาเลียเปล่งเสียงออกพระนามพระคริสต์จากนั้น พวกเขาเอาคบไฟนาบทรวงอกและสีข้างเธอ แต่เธอไม่ส่งเสียงครวญคราง มีแต่การร้องสรรเสริญขอบพระคุณพระเจ้า ในที่สุด ไฟก็ลามไหม้เส้นผม ศีรษะและหน้าตาของเธอร่างของเธอท่วมด้วยควันไฟและเปลวเพลิง

ประวัติศาสตร์เล่าว่านกพิราบขาวตัวหนึ่งเหมือนจะบินออกจากปากเธอสู่เบื้องบนพร้อมลมหายใจ
สุดท้าย พวกที่ร่วมกันทรมานเธอตกใจกลัวจนวิ่งหนี

พระธาตุของเธอถูกเก็บรักษาเพื่อแสดงความเคารพศรัทธาที่เมือง Oviedo ที่ซึ่งเธอได้ชื่อเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ บันทึกมรณสักขีของโรมจารึกชื่อเธอในวันฉลอง ๑๐ ธันวาคม

CR. : Sinapis
ตอบกลับโพส