หนูน้อยเนลลี่แห่งพระเป็นเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์

ใครมาใหม่เชิญทางนี้ก่อน ทักทาย ทดลองโพส
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

จันทร์ ธ.ค. 28, 2020 1:42 pm

...หนูน้อยเนลลี่แห่งพระเป็นเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ (1906-1908)
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ตรัสว่า “นั่นคือเครื่องหมายที่เรารออยู่”
โดย Anne Marie Jacques, แปลเเละเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
หนูน้อยเอลเลน ออร์แกน (Ellen Organ) หรือ “เนลลี่” ชื่อที่คนในบ้านเรียก เนลลี่เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1903 เธอเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวที่มีลูกทั้งหมด 4 คน ตอนที่เธอเกิด วิลเลี่ยม ออร์แกน บิดาเป็นทหารอยู่ในกองทัพอังกฤษทึ่ยึดครองประเทศไอร์แลนด์อยู่ ครอบครัวจึงอาศัยอยู่ในค่ายทหารส่วนที่เป็น “ที่พักสำหรับทหารที่มีครอบครัว” ที่เมืองชายทะเลวอเตอร์ฟอร์ด (Waterford) มารดาของเนลลี่ชื่อแมรี่ ออร์แกน เป็นคนร่าเริง ศรัทธาและมีน้ำใจ เธอสอนลูก ๆ ให้รักพระและสวดสายประคำทุกวันด้วยกัน นอกจากนั้นยังสอนให้จูบด้วยความเคารพที่เครื่องหมายกางเขนและที่เม็ดสายประคำที่ใช้สวด “บทข้าแต่พระบิดา" ซึ่งเนลลี่ปฏิบัติตามเสมอมา เมื่อเนลลี่อายุได้ 3 ขวบ คุณแม่เสียชีวิตเนื่องจากป่วยเป็นวัณโรค ในช่วงเวลาที่คุณแม่เสียชีวิตนั้นครอบครัวซึ่งย้ายตามคุณพ่อกำลังประจำการอยู่ที่อ่าวคอร์คบนเกาะสไปค์ (Spike Island in Cork Harbour) นายออร์แกนพ่อหม้ายตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสารเพราะไม่สามารถดูแลลูกที่กำพร้าแม่ทั้งสี่คนได้ พระสงฆ์ประจำเขตวัดที่นั่นจึงเสนอความช่วยเหลือด้วยการจัดให้โทมัส ลูกชายคนโตซึ่งมีอายุเพียง 9 ขวบ ไปอยู่กับคณะ “ภราดาคริสตชน” (The Christian Brothers) และส่งเดวิดน้องชายคนรองไปอยู่กับคณะภคินีเมตตาธรรม ส่วนหนูน้อยแมรี่และเนลลี่ก็ส่งไปอยู่กับภคินีคณะภคินีศรีชุมพาบาล ที่ย่านซันเดย์สแวล (Sunday’s Well) ในบริเวณอ่าวคอร์ค
ไม่นานต่อมาภคินีคณะศรีชุมพาบาลทราบว่าหนูน้อยทั้งสองป่วยเป็นโรคไอกรนและส่งไปรักษาในโรงพยาบาลของคณะภคินีเมตตาธรรม หลังจากกลับจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้สองเดือน เนลลี่ยังคงอ่อนแอมากและไม่สามารถเดินได้ตรงทาง แม้จะยื่นมือทั้งสองข้างออกเพื่อทรงตัวขณะเดินก็ตาม เด็กหญิงที่นอนอยู่ข้างเนลลี่บอกกับซิสเตอร์ว่า ดูเหมือนเนลลี่จะเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา เธอร้องไห้เกือบค่อนคืนกว่าจะหลับได้
ซิสเตอร์ตรวจอาการของเธออย่างละเอียดและพบว่าเธอทรมานจากการมีกระดูกสันหลังผิดรูปและหลังคดเนื่องจากเคยตกจากที่สูงตั้งแต่เมื่อเป็นทารก ดังนั้นเธอจึงถูกส่งตัวไปอยู่ในห้องพยาบาลซึ่งพบว่าเธอยังป่วยเป็นวัณโรคขั้นรุนแรงและเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของมารดาเธออีกด้วย
หนูน้อยเนลลี่อยู่ในความดูแลของมิสฮอลล์ พยาบาลผู้มีประสบการณ์และเพิ่งกลับใจเป็นคาทอลิกได้ไม่นาน ขณะนั้นเนลลี่มีอายุได้ 3 ขวบ เธอรักพยาบาลของเธอมาก เนลลี่พูดกับพยาบาลของเธอในวันหนึ่งว่า “พระเป็นเจ้าทรงรับคุณแม่ผู้ใจดีของเธอไปแล้ว แต่พระองค์ก็ได้ประทานพี่พยาบาลมาเป็นคุณแม่คนใหม่ให้ค่ะ” มิสฮอลล์ดูแลเธอเป็นอย่างดีและบ่อยครั้งเฝ้าอยู่ข้างเตียงตลอดคืน ทุกครั้งที่มิสฮอลล์นั่งเฝ้าอยู่ข้างเตียง เนลลี่จะใช้มือน้อย ๆ ลอดซี่กรงที่ราวข้างเตียงออกไปกุม “มือของแม่และหลับ ๆ ตื่น ๆ ไปตลอดคืน” มิสฮอลล์พูดคุยกับเนลลี่เรื่องพระเป็นเจ้า, พระเยซูเจ้า, พระมารดา และนักบุญต่าง ๆ บางครั้งเธออุ้มเนลลี่พาไปในวัดน้อยและทั้งสองก็จะไปที่ภาพ ‘เดินรูป’ โดยมิสฮอลล์จะอธิบายถึงพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าตั้งแต่ต้นจนจบ ทุกครั้งที่ทำเช่นนี้ น้ำตาของหนูน้อยเนลลี่จะไหลพรากพร้อมกับส่งเสียงร้องอุทานเป็นระยะ ๆ ว่า “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสงสาร! พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสงสาร!” โปรดติดตามตอนที่( 2)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

อังคาร ธ.ค. 29, 2020 8:54 pm

หนูน้อยเนลลี่แห่งพระเป็นเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ (1906-1908) ตอนที่ (2)
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ตรัสว่า “นั่นคือเครื่องหมายที่เรารออยู่”
โดย Anne Marie Jacques, แปลเเละเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
ในห้องพยาบาลที่เนลลี่นอนอยู่ มีรูปพระกุมารแห่งกรุงปรากตั้งอยู่บนพระแท่น วันหนึ่งเนลลี่ถามมิสฮอลล์ถึงเรื่องการประสูติของพระเยซูเจ้า ชีวประวัติของพระองค์ในวัยเยาว์ และความรักที่พระองค์ทรงมีต่อมนุษย์ทุกคน เนลลี่กระตือรือร้นตั้งใจฟังคำอธิบาย เธอรู้สึกซาบซึ้งมากเมื่อทราบว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็เคยเป็นเด็กน้อยเช่นเดียวกับตัวเธอ และหลังจากนั้น บ่อยครั้งเธอก็สนทนาสั้น ๆ ประสาเด็กกับพระองค์ เมื่อซิสเตอร์ที่นั่นทราบเรื่องก็เริ่มทำนพวารเพื่อขอให้เธอหายป่วยและรู้สึกประหลาดใจเป็นล้นพ้นเมื่อทราบว่าเนลลี่มีอาการดีขึ้นจนสามารถจูงไปเดินเล่นในสวนได้ แม้ว่าเหตุการณ์นี้กินเวลาไม่นานมาก แต่ก็นานพอที่ทำให้เนลลี่มีความวางใจในพระกุมารเยซูอย่างเต็มที่และทำให้เธอคุ้นเคยกับการสนทนากับพระองค์ยิ่งขึ้น
วันหนึ่งมิสฮอลล์ไม่สบาย เนลลี่บอกให้คนที่นั่นนำพระรูปพระกุมารแห่งกรุงปรากไปตั้งบนเก้าอี้ข้างเตียงนอนของมิสฮอลล์ จากนั้นเธอก็เล่าให้พระกุมารเยซูทราบว่าพยาบาลของเธอป่วยและทูลพระองค์ว่า “โปรดช่วยให้เธอหายป่วยด้วยค่ะ” เนลลี่ไม่ประหลาดใจเลยเมื่อทราบว่ามิสฮอลล์หายป่วยอย่างรวดเร็วเพราะเธอได้ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เธอมั่นใจว่า พระกุมารน้อย พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์จะทรงเข้าช่วยเหลืออย่างแน่นอน
ความเข้าใจของเนลลี่เกี่ยวกับการประทับอยู่ในศีลมหาสนิทของพระเยซูเจ้าเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับเด็กเยาว์วัยเช่นเธอ เธอตั้งใจฟังคำอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ ของมิสฮอลล์เกี่ยวกับศีลมหาสนิทที่อยู่ในตู้ศีลข้างพระแท่น และกระซิบเบา ๆ ด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความโล่งใจอย่างเป็นสุขกับมิสฮอลล์ว่า “โอ้ หนูดีใจมากที่พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ไม่ทรงถูกบีบอัดจนหายใจไม่ออกอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ นั้น!” เพราะดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวที่เธอเป็นกังวล! และเมื่อมิสฮอลล์พาเธอเป็นครั้งแรกไปร่วมพิธีอวยพรศีลมหาสนิทในวัดน้อย เนลลี่ชี้ไปที่พระรัศมีพลางยิ้มและพูดว่า “คุณแม่คะ พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นไง ตอนนี้มีพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์แล้ว” นับแต่นั้นมาดูเหมือนเธอจะหยั่งทราบได้ในใจทุกครั้งที่มีพิธีอวยพรศีลมหาสนิทในวัดน้อย
เนลลี่รักพระเยซูเจ้ามาก พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ของเธอและปรารถนาจะรับพระองค์ในศีลมหาสนิทเช่นเดียวกับการรับศีลมหาสนิทของบรรดาซิสเตอร์และพยาบาล แต่เนื่องจากเธอมีอายุน้อยมาก ทุกคนจึงบอกว่าเธอยังรับศีลมหาสนิทไม่ได้ เนื่องจากเนลลี่เป็นเด็กน้อยที่มุ่งมั่น เธอตัดสินใจขอร้องผู้ที่เต็มใจร่วมมือกับเธอในการ “ขอให้รีบกลับมาหาเธอทันทีหลังมิสซาและจุมพิตเธอ” การทำเช่นนี้ทำให้เธอรู้สึกว่าอย่างน้อยเธอก็ยังสามารถ “จุมพิต” พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทที่ยังคงอยู่ในกายของทุกคนที่รับศีลมหาสนิทได้
พยาบาลสาวคนหนึ่งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการไปวัดตอนเช้า และบ่อยครั้งก็ไม่ไปวัด ดูเหมือนเนลลี่จะหยั่งทราบวันที่พยาบาลสาวผู้นี้ขาดวัด จากนั้นเธอก็จะต่อว่าพยาบาลผู้นี้ที่ไม่ไปรับพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ในศีลมหาสนิท ทั้งนี้เพราะนับวันเธอกระหายที่จะรับพระองค์มากขึ้น โปรดติดตามตอนที่ (3)ในวันพรุ่งนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
rosa-lee
โพสต์: 5937
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ ม.ค. 29, 2010 2:37 pm

พุธ ธ.ค. 30, 2020 9:27 am

หนูน้อยเนลลี่แห่งพระเป็นเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ (1906-1908) ตอนที่ (3)
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ตรัสว่า “นั่นคือเครื่องหมายที่เรารออยู่”
โดย Anne Marie Jacques, แปลเเละเรียบเรียงโดย กอบกิจ ครุวรรณ
เมื่อหนูน้อยเนลลี่อายุครบ 4 ขวบ ร่างกายของเธอทรุดหนักเพราะเป็นวัณโรคกระดูกที่กัดกร่อน,กระดูกฟันกรามของเธอส่งกลิ่นเน่าเหม็นอย่างรุนแรงจนทุกคนที่เข้าใกล้เธอแทบจะทนไม่ได้ มีการใช้กระบอกฉีดน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อวันละหลายครั้งซึ่งทุกครั้งเธอจะเจ็บปวดเป็นอย่างมาก แต่หนูน้อยก็ไม่เคยแสดงปฏิกิริยาต่อต้านการทำความสะอาดในปากของเธอเลย เธอนอนนิ่งบนเตียงน้อยพร้อมกับกุมไม้กางเขนไว้ในมือ เธอศรัทธาต่อพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นอย่างมากและเธอก็เข้าใจเป็นอย่างดีเรื่องการมีส่วนร่วมในพระมหาทรมานของพระองค์ ทุกครั้งที่เธอรู้สึกเจ็บมากจนแทบจะทนไม่ได้ เธอจะจ้องไปที่กางเขนในมือพร้อมกับกระซิบเบา ๆ ว่า “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสงสาร! โอ้ พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสงสาร!” เธอเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทุกคนขณะที่พบเธอกำลังสวดภาวนา เธอถวายความทุกข์ทรมานประจำวัน คำภาวนาและโดยเฉพาะการสวดสายประคำให้กับทุกคนที่เป็นที่รักของเธอ : ซิสเตอร์และพยาบาล เพื่อน ๆ ที่มีอายุน้อยทุกคน พระสันตะปาปา พระสังฆราชและพระศาสนจักร
ที่สุดวันนั้นก็มาถึง เมื่อคุณพ่อ บิวรี่ (Fr. Bury) ผู้เทศน์เข้าเงียบให้กับซิสเตอร์ที่นั่นเพื่อเตรียมรับเสด็จพระคริสตสมภพทราบถึงความปรารถนายิ่งใหญ่ในการรับศีลมหาสนิทของหนูน้อยเนลลี่ คุณพ่อถามเธอว่า “ศีลมหาสนิทคืออะไร” เธอตอบโดยไม่ลังเลทันทีว่า “คือพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ค่ะ”
คุณพ่อบิวรี่แจ้งเรื่องให้พระสังฆราชของท่านทราบและขออนุญาตพิเศษให้หนูน้อยผู้มีความปรารถนาจะรับพระเยซูเจ้ามากยิ่งกว่าความเจ็บปวดที่เธอได้รับอยู่ พระสังฆราชให้อนุญาตและดังนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม 1907 หนูน้อยเนลลี่วัย 4 ขวบก็ได้รับศีลมหาสนิทเป็นครั้งแรก ซิสเตอร์ที่นั่นช่วยกันแต่งตัวเธอในชุดขาวและนำเธอไปในวัดน้อย จัดให้เธอนั่งบนเก้าอี้เบื้องหน้าตู้ศีล เนลลี่นิ่งเงียบพร้อมกับก้มศีรษะสวดภาวนา เมื่อถึงตอนที่คุณพ่อบิวรี่ส่งศีลมหาสนิทให้ นัยน์ตาของเธอเป็นประกายแสดงถึงความดีใจเป็นล้นพ้น คุณพ่อเขียนบันทึกเกี่ยวกับเธอในภายหลังว่า “พูดตรง ๆ นะ หนูน้อยคนนั้นกระหายที่จะรับองค์พระเจ้าของเธอ และรับพระองค์ด้วยความดีใจจนตัวลอย” และในบัดดลนั้นเองกลิ่นเน่าเหม็นที่เกิดจากกระดูกกรามผุในปากก็จากเธอไปตลอดกาล!
แม้ว่าเนลลี่จะมีความสุขมากจนไม่อาจบรรยายได้หลังการรับศีลมหาสนิทครั้งแรกแต่อาการป่วยเป็นวัณโรคกระดูกยังคงกัดกร่อนกระดูกในร่างน้อย ๆ ของเธอต่อไปพร้อมกับทวีความเจ็บปวดมากขึ้นเป็นลำดับ ที่สุดเธอไม่สามารถรับประทานอาหารใด ๆ ได้แม้แต่การกลืนน้ำซุปเพียงช้อนเดียว แต่เธอยังคงสงบนิ่งตลอดช่วงเวลาแห่งความทรมานที่ยาวนาน บัดนี้เหลือเพียงอาหารชนิดเดียวที่เธอกระหายจะได้รับคือศีลมหาสนิท และที่สุดเช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1908 เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเธอกำลังจะจากไป ซิสเตอร์หลายท่านคุกเข่ารอบเตียงที่เธอนอน เนลลี่สงบนิ่ง นัยน์ตาของเธอ เพ่งมองไปยังบางสิ่งที่เธอมองเห็นอยู่ที่ปลายเตียง เธอพยายามลุกขึ้นเข้าใกล้สิ่งนั้น ริมฝีปากของเธอสวดพึมพำพร้อมกับน้ำตาที่ไหลพราก จากนั้นเธอก็ยกสายตาขึ้นเบื้องบน, ยิ้มด้วยความพอใจเป็นที่สุดขณะที่ดวงวิญญาณของเธอล่องลอยไปยังบ้านของพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เธอรักด้วยความสัตย์ซื่อเป็นอย่างยิ่ง
ในปี 1908 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงทราบเรื่องชีวิตของหนูน้อยเนลลี่ ออร์แกน พระองค์ทรงประกาศว่า “นั่นคือเครื่องหมายที่เรารออยู่” และด้วยเครื่องหมายที่ได้รับจากเบื้องบนนี้เอง ในปี 1910 พระองค์ทรงประกาศสมณกฤษฎีกา “Quam Singulari” ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญคือการลดอายุเด็กที่จะรับศีลมหาสนิทครั้งแรกจาก 12 ปีเป็นประมาณ 7 ขวบเมื่อเด็กรู้ความพอสมควร

******************* จบบริบูรณ์
:s002: :s002: :s002:
ตอบกลับโพส